คำถาม:
หลวงพ่อ:
จิตยังฟุ้งอยู่ จิตฟุ้งมันก็ไม่ตั้งหรอก จิตฟุ้งมันก็โคลงเคลงๆ รู้สึกร่างกายไปสบายๆ อย่าไปเริ่มต้นด้วยการไปดูจิตเอา จิตมันดูยาก มันไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน มันหนีเก่ง ร่างกายนี้มันไม่หนีไปไหนหรอก รู้สึก ร่างกายหายใจรู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก พยายามรู้สึกตัวเยอะๆ แล้วต่อไปอะไรเกิดขึ้นในจิต มันจะเห็นได้เอง ฉะนั้นจิตเราจะฟุ้ง เราไปดูจิตมันจะยิ่งฟุ้งใหญ่ ทำไมดูจิตแล้วฟุ้ง เพราะมันดูไม่ถึงจิต มันดูไม่ถึงจิตมันก็ฟุ้ง มันจะหลงอาการที่จิตปรุงแต่ง ฉะนั้นถ้าแทนที่จะปล่อย ให้มันหลงอาการที่จิตปรุงแต่ง มารู้สึกร่างกายไว้ดีกว่า พอจิตมันมีกำลัง เดี๋ยวมันเห็นจิตได้เอง
จิตฟุ้งซ่านก็ให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน คอยรู้ทันจิตใจตัวเองไป ถ้ารู้ไม่ได้ก็ดูกายไป ถ้ารู้ไม่ได้อีกก็หายใจเข้าพุท ออกโธไว้ ก็ยังดีที่สุดแล้ว ทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง สวดมนต์ไปเรื่อยๆ ก็ได้ หางานให้จิตทำ เราจะไม่ปล่อยจิตให้ร่อนเร่สะเปะสะปะ เราจะหางานให้จิตทำ งานที่ให้จิตทำเราเรียกว่ากรรมฐาน ถ้าทำวิปัสสนาได้ เราก็ทำวิปัสสนากรรมฐาน เห็นไตรลักษณ์ของจิต เห็นไตรลักษณ์ของกาย
ถ้าทำไม่ได้เราก็ทำสมถกรรมฐาน เช่น เห็นร่างกาย ไม่ได้มองไตรลักษณ์ เห็นร่างกายหายใจ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน หรือไหว้พระ สวดมนต์ บริกรรม “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” “นะ มะ พะ ทะ” อะไรก็ได้เหมือนกันหมด ให้จิตมันมีงานทำ อย่าปล่อยจิตไว้โดยที่ไม่พามันทำงาน มันจะหนีไปทำอย่างอื่นในทางอกุศลแทน ฉะนั้นสำหรับนักปฏิบัติเรา ยกเว้นเวลาที่ทำงานที่ต้องคิดแล้ว จิตเรามีงานทำตลอด ไม่ทำวิปัสสนาก็ต้องทำสมถะ ถ้าไม่ทำอะไรเลย จิตมันจะแอบไปปรุงแต่งความชั่วขึ้นมา
ฉะนั้นเวลาอยู่เฉยๆ ไม่มีอะไรทำ เช่น สมมติเรานั่งรถเมล์ รถไฟฟ้าอะไร เราไม่ต้องขับเอง เราก็หายใจไป พุทโธไปก็ได้ อะไรก็ได้ หรือรู้สึกร่างกายก็ได้ แต่รู้สึกร่างกายจะลำบากนิดหนึ่ง เพราะร่างกายมันอยู่นิ่งๆ ทำอะไรไม่ได้ก็ขยับ ถ้าอยู่ในรถไฟฟ้า มือหนึ่งโหน มือหนึ่งขยับ คนเขาจะหวาดระแวง ไอ้นี่จะชักปืนมาไล่ยิงแบบที่ภูเก็ตหรือเปล่า เราก็ทำกรรมฐานที่คนเขาไม่รู้ นั่งเหมือนเคาะจังหวะเพลงเล่น (หลวงพ่อกำมือเคาะจังหวะ) ดูแล้วอารมณ์ดี แต่เรารู้สึกๆ หรือขยับเล่นๆ (หลวงพ่อแบมือแล้วขยับนิ้วต่างๆ) ขยับทำเล็กๆ (หลวงพ่อถูนิ้วโป้งเข้ากับนิ้วชี้) ถ้าอย่างนี้ (หลวงพ่อยกมือขึ้นแล้วกำแบมืออย่างจริงจัง) คนมันกลัว ขยับไปรู้สึกไป ขยับไปรู้สึกไป แค่นั้นก็ดีถมไปแล้ว
ขณะที่ขยับไป รู้สึกไป จิตไม่ไปทำชั่วหรอก อกุศลไม่มีหรอกขณะนั้น แล้วขณะที่เราขยับ ร่างกายเคลื่อนไหว เรารู้สึก อันนั้นมีสติ จิตเป็นกุศลเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นเราไปโหนรถไฟฟ้าอยู่ จิตเราก็เป็นกุศลได้ ทำอะไรจิตเราก็เป็นกุศลได้ ให้เรามีสติไป แล้วถ้าจิตเรามีแรงพอ ก็เห็นกายส่วนกาย จิตส่วนจิต เวทนาอีกส่วนหนึ่ง สังขารอีกส่วนหนึ่ง แยกออกไป
ถ้าจิตมีกำลังมากกว่านั้น ก็เห็นแต่ละอันมันมีไตรลักษณ์ ร่างกายที่กำลังโหนรถไฟฟ้า โหนรถเมล์อยู่ ไม่ใช่ตัวเรา มันถูกรู้ถูกดู ความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้น อย่างเราขึ้นรถไฟฟ้าเห็นผู้หญิงสวย ใจเรามีความสุข เห็นอะไรสวยๆ งามๆ มีความสุข รู้ว่ามีความสุข หรือจะรู้ลึกลงไปอีกอันหนึ่งก็ได้ ในความสุขนั้นมีราคะ ตรงที่เราเห็นผู้หญิงสวย นี่คือการเห็นรูป เห็นผู้หญิงเราเห็นรูป ที่จริงไม่ได้เห็นผู้หญิง เราเห็นรูปอย่างหนึ่ง แล้วมันมีความสุข รูปนี้มันเป็นที่พอใจ เรียกอิฏฐารมณ์ รูปที่พอใจ เรามีความสุขเกิดขึ้น นี่เข้ามาที่เวทนาแล้ว
จากตัวรูปมาเวทนา ในความสุขเราดูลึกลงไปได้ บางคนดูได้ บางคนดูไม่ได้ ก็ดูแค่นี้ ถ้าดูได้เราจะเห็นเลย ในความสุขนั้นมีราคะ ชอบอกชอบใจแฝงอยู่ ดูลึกลงมา ลึกลงมา สุดท้ายเราก็เห็นตัวรูปมันก็ของข้างนอก ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเวทนามันก็ของถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา ตัวราคะ ตัวสังขาร ก็ถูกรู้ไม่ใช่เรา มันจะเข้ามาที่จิต จิตก็ทรงสมาธิขึ้นมา คราวนี้พอจิตมันทรงสมาธิขึ้นมาแล้ว ถ้าจิตมันเคยเดินปัญญามาช่ำชอง มันจะเห็นโลกธาตุทั้งโลกธาตุนั่น รวมตั้งแต่ร่างกายนี้ออกไป ไม่มีตัวเรา แล้วตัวจิตเองที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็ไม่ใช่ตัวเรา
ค่อยๆ ฝึก ไม่ยากหรอก บางคนขึ้นรถทัวร์ เขาได้ดีมาแล้ว เคยมีมา นั่งรถทัวร์นี่ล่ะ นั่งภาวนาไปเรื่อยๆ จิตมันเบิกบานยิ้มแย้มขึ้นมา ก็มี บางคนนั่งฟังธรรม แล้วจิตเบิกบานขึ้นมา เข้าใจธรรมะขึ้นมา บางคนแสดงธรรมอยู่ แล้วจิตมันก็แจ่มแจ้งในธรรมะขึ้นมา หลวงพ่อพุธท่านเคยเล่า ท่านแจ้งพ้นทุกข์ขึ้นมาบนธรรมมาสน์ เทศน์ๆ อยู่ จิตมันกำลังเทศน์ๆ แล้วจิตมันพิจารณาธรรมะที่เทศน์อยู่ พิจารณาธรรมะแล้วถ่ายทอดไปเรื่อยๆๆๆ
เวลาครูบาอาจารย์เทศน์ ไม่ใช่ท่องมา แต่ธรรมะมันถ่ายทอดจากจิต ถ่ายทอดๆ ไป แล้วสติ สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์ในขณะนั้น จิตรวมลงในขณะนั้น ก็ล้างกิเลสในขณะนั้นเลย แล้วท่านบอกว่าจิตมันถอนขึ้นมา ใช้เวลาชั่วพริบตาเดียว จิตมันถอนกลับขึ้นมา ท่านรีบนึกเลยว่าเมื่อกี้เทศน์ถึงอะไร แล้วก็เทศน์ต่อ คนที่นั่งฟังไม่รู้หรอกว่าเกิดอะไรขึ้น มันใช้เวลาสั้นนิดเดียว ชั่ว 2 – 3 ขณะเท่านั้นเอง แวบเดียวเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นเราพยายามมีสติ รู้เนื้อรู้ตัว ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่ เวลาไหนถ้าเรามีสติ มีสมาธิอยู่ ก็อาจจะเกิดมรรคผลเวลานั้นได้ ไม่มีใครรู้ว่ามันจะเกิดตอนไหน ถ้าเราทำบ้างไม่ทำบ้างมันไม่ได้เรื่องหรอก สมมติว่าบารมีเต็มมันก็ไม่ตัดหรอก เพราะว่ามันหลงไปเสียก่อน อกุศลมันเกิดขึ้นแทนที่ไป ฉะนั้นเราอย่าประมาท พยายามรู้สึกตัวไว้ตลอดเวลา อ่านจิตอ่านใจตัวเองเรื่อยๆ ไป ไม่ได้หวังผลว่าจะดีเมื่อไร แต่มันมีโอกาสจะดี แต่ถ้าจิตใจเราล่องลอย ไม่มีโอกาสได้ดีเลย
วัดสวนสันติธรรม 11 กุมภาพันธ์ 2566