วิธีสังเกตตัวเองว่า เราบังคับมากไป หรือเพ่งมากไปหรือเปล่า

คำถาม:

สวดมนต์ เดินจงกรม เห็นร่างกายหายใจสลับกับรู้สึกกาย และเห็นจิตเผลอไปคิด ไปทำงานได้บ้าง มีพื้นจิตเป็นโทสจริต อยากทำอะไรให้เสร็จเร็วๆ เสมอ หงุดหงิดง่าย ระหว่างวันดูกาย กิน เดิน ยืน นั่ง นอน รู้ทันบ้าง รู้ไม่ทันบ้าง ปัญหาคือรู้สึกจิตไม่ค่อยตั้งมั่น เด่นดวง ขอคำชี้แนะจากหลวงพ่อค่ะ

หลวงพ่อ:

มันยังทำไม่พอ แล้วก็มันเป็นตุ่มรั่วด้วย เลยไม่เต็มเสียที ทำให้สม่ำเสมอ อะไรที่จะทำให้สมาธิของเราเสีย ความวุ่นวายที่ไม่มีความจำเป็นทั้งหลาย ลดลงบ้าง แล้วก็จะภาวนาได้ดีขึ้น รู้สึกกายไว้ ดีแล้ว ถ้าเรารู้สึกกายได้ชำนิชำนาญ ต่อไปจิตมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเอง แล้วพอจิตจะมีความรู้สึกอะไร มันก็เห็นได้เอง ค่อยๆ สะสมไป ทำไป เราอย่าเอาเวลาไปยุ่งกับโลกมากเกินจำเป็น คือไม่เป็นตุ่มรั่ว อยู่กับตัวเองเยอะๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็ดีเอง ตรงนี้มันยังบังคับตัวเองอยู่

วิธีสังเกตตัวเองว่า เราบังคับมากไป หรือเพ่งมากไปหรือเปล่า ก็คือใจเรามันจะแน่นขึ้นมา จะหนักๆ แน่นๆ แข็งๆ ขึ้นมา ถ้าใจเราปกติธรรมดาๆ ดี แต่ถ้าใจเราเผลอๆ เตลิดเปิดเปิงไป อันนั้นก็สุดโต่งไปข้างหลง ไม่ดี จิตเราเวลามันจะผิด ทำให้สมาธิเราเสีย มันมี 2 อัน อันหนึ่งมันเตลิดเปิดเปิงออกไป ยิ่งยุ่งกับโลกมากๆ ไม่ต้องพูดเรื่องสมาธิหรอก อันนั้นจิตมันย่อหย่อนไป แล้วภาวนาก็บังคับตัวเองมากเกินไปจนเคร่งเครียด อันนั้นก็ใช้ไม่ได้ ตึงเกินไป รู้สึกด้วยใจธรรมดา ถ้าหนักๆ ก็แสดงว่าตึงเกินไป ถ้าอ่านตัวเองไม่ออก แสดงว่าหลงไป

สังเกตอย่างนี้เรื่อยๆ ใจมันก็จะค่อยๆ ผิดน้อยลงๆ ต่อไปมันไม่ผิด ไม่ผิดมันก็ถูกเอง ไม่ต้องพยายามทำให้ถูกหรอก ยิ่งพยายามทำให้ถูก ยิ่งไม่ถูก เพราะตรงที่พยายามทำให้ถูกนั้น มันโลภไปเรียบร้อยแล้ว จิตเป็นอกุศลไปเรียบร้อยแล้ว ทุกสิ่งที่ทำไปโดยมีความโลภอยู่เบื้องหลัง อันนั้นความโลภยังคงอยู่ ตลอดสายของการปฏิบัตินั้น เรียกกิเลสเป็นอาหารปัจจัยของกรรม กรรมคือการกระทำ ทำอะไร ทำกรรมฐาน ถ้ายังมีกิเลสบงการอยู่ ทำกรรมฐานไป มันก็ทำไปด้วยอำนาจกิเลส ที่จะรู้แจ้งเห็นจริงอะไร ไม่มีหรอก เพราะฉะนั้นถ้าจิตถูก กรรมฐานก็ถูก ถ้าจิตผิด กรรมฐานเราก็ผิด

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 13 เมษายน 2567