เราเรียนธรรมะ สิ่งที่เราจะได้มาก็คือตัวสัมมาทิฏฐิ ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ไม่ได้อย่างอื่น สิ่งที่ได้จริงๆ แค่สัมมาทิฏฐิ ถ้าเรารู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ เรียกเรารู้จักสัมมาทิฏฐิแล้ว ใจเราก็จะหมดตัณหา หมดความยึดถือ หมดความอยาก หมดความยึด หมดความดิ้นรน ความอยากคือตัณหา ความยึดถือคืออุปาทาน ความดิ้นรนของจิตคือภพ ถ้าหมดสิ่งเหล่านี้ จิตก็จะไม่ไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันจะไม่ไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา ขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ ถ้าจิตเราไม่ไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา จิตมันก็พ้นทุกข์ คือพ้นจากขันธ์ 5
ฉะนั้นตัวสัมมาทิฏฐิที่เราจะต้องเรียน ก็คือเรื่องทุกข์ เรื่องสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ เรียนวิธีปฏิบัติเพื่อละสมุทัย ไม่ใช่ละทุกข์ ทุกข์เราต้องรู้ สมุทัยเราต้องละ มรรคก็คือวิธีที่จะทำให้จิตเราละสมุทัยได้ ถ้าจิตเราละสมุทัยได้ ก็เข้าถึงนิโรธคือความดับทุกข์ หลักจริงๆ คืออันนี้ล่ะ ที่พูดธรรมะมากมาย ก็วนเวียนอยู่ในเรื่องของอริยสัจ 4 ทั้งหมด อย่างเราเรียนรู้ขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 พวกนี้มันก็กองทุกข์ทั้งนั้น
เรียนรู้ทุกข์ เรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็ละสมุทัย ละสมุทัยได้ก็เกิดอริยมรรค เข้าถึงนิโรธ เป็นลำดับไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดก็คือตัวสัมมาทิฏฐิ แล้วสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือตัวมิจฉาทิฏฐิ พวกเราตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ เรายังมีมิจฉาทิฏฐิอยู่ เพราะมิจฉาทิฏฐินี้ก็เลยพาให้เราร่อนเร่ วนเวียนในสังสารวัฏไม่มีที่จบสิ้น เกิดมาด้วยความไม่รู้ มีชีวิตอยู่ด้วยความไม่รู้ แล้วก็ตายไปด้วยความไม่รู้ ก็วนเวียนอยู่อย่างนั้นไม่รู้จักจบ ตายแล้วก็เวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ
มิจฉาทิฏฐิมันกว้างขวาง พระพุทธเจ้าแสดงเรื่องมิจฉาทิฏฐิเอาไว้ อยู่ในพระสูตรที่หนึ่งเลย สูตรแรกเลย ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ชื่อพรหมชาลสูตร พรหมชาลสูตรจะสอนให้เรารู้จักมิจฉาทิฏฐินานาชนิด ทุกวันนี้มิจฉาทิฏฐิก็ยังครองโลกอยู่ หลากหลายมากเลย แล้วก็ออกลูกออกหลาน งอกในรายละเอียดออกมามากมายของมิจฉาทิฏฐิ เราไปตามแก้มิจฉาทิฏฐิทีละตัวๆ มันตามแก้ไม่ไหว ฉะนั้นเราก็พยายามมาสร้างสัมมาทิฏฐิ
ถ้าเราสร้างสัมมาทิฏฐิสำเร็จ เรารู้จักอริยสัจแล้ว มิจฉาทิฏฐิจะมีกี่สิบตัว ก็ไม่มีความหมาย เราก็จะไม่หลงกลมัน หลวงพ่อยกตัวอย่างมิจฉาทิฏฐิที่คนเป็นมากๆ มีเยอะเลย พวกหนึ่งเรียกว่าสัสสตทิฏฐิ พวกที่รู้สึกว่าอย่างพวกเรานี้ ถ้าตายไปแล้วจิต วิญญาณดวงเดิมออกจากร่างไป แล้วจิตดวงเดิมนี้ล่ะ ไปอาศัยสร้างร่างใหม่ขึ้นมา คล้ายๆ เหมือนปูเสฉวนตัวโตขึ้น ก็ทิ้งเปลือกหอยที่เล็ก ไปหาเปลือกหอยที่โตขึ้น เราคิดว่าการเวียนว่ายตายเกิด มันตายเฉพาะร่างกาย แต่จิตไม่ตาย จิตเป็นอมตะ
อีกพวกหนึ่งคิดว่าตายแล้วสูญเลย จิตใจก็เป็นแค่วัตถุ เกิดมาจากวัตถุ พอร่างกายเราตาย จิตใจก็ดับ ทุกอย่างก็สูญหมด นี่ตัวอย่างของมิจฉาทิฏฐิ ทุกวันนี้อย่างกลุ่มคนทั่วๆ ไป ก็จะคิดว่าตายแล้วไปเกิดใหม่ อย่างพวกนักฟิสิกส์ทั้งหลาย พวกที่ยึดถือเอาวัตถุ เอาสิ่งที่จับต้องได้เท่านั้น ถึงจะเป็นความจริง พวกนี้ก็คิดว่าตายแล้วสูญ แล้วก็นั่งเถียงกันว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วสูญ ในความเป็นจริงแล้วมันผิดทั้งคู่
ถ้าเรามาภาวนา เราจะพบว่าตัวเราไม่มีตั้งแต่ขณะนี้ ตายแล้วมันจะเอาอะไรไปเกิด หรือถ้าตัวเราไม่มีตั้งแต่ขณะนี้ ตายแล้วมันจะเอาอะไรไปสูญ มันมีความหลงผิดว่าตัวเรามีอยู่ พอมันหลงผิดว่าตัวเรามีอยู่ มันก็เริ่มจินตนาการต่อ พวกหนึ่งไม่อยากตาย ก็จินตนาการว่า ถ้าตายไปจิตเราก็ยังดวงเดิมไปเกิดใหม่ อีกพวกหนึ่งก็เชื่อว่าตายแล้วก็สูญไปเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น
ขั้นแรกเราตั้งใจก่อนว่า
เราจะลองปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าสอน
ถ้าเราภาวนา อาศัยเบื้องต้นเราไม่ได้มีญาณทัสสนะ ที่จะรู้แจ้งเห็นจริงได้ด้วยตัวเอง เราอาศัยศรัทธาไปก่อน ศรัทธาอะไร ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ศรัทธาในพระธรรมคำสอน ศรัทธาในพระสงฆ์ แต่ศรัทธาพวกนี้มันก็ลำบาก คนทั่วไปก็คิดว่าตัวเองศรัทธา แยกไม่ออกระหว่างศรัทธากับงมงายเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นขั้นแรกพวกเราอย่าคิดเยอะ เราตั้งใจก่อนว่า เราจะลองปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าสอน
ศรัทธาของเราไม่ใช่ศรัทธางมงาย พระพุทธเจ้าสอนแล้วถูกทั้งหมด พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านบอกว่าไม่เชื่อกระทั่งสิ่งที่พระพุทธเจ้าบอก ท่านไม่ได้ให้เชื่อว่า ครูบาอาจารย์สอนอย่างนี้แล้วเราต้องเชื่อ ท่านให้ฟัง ฟังไว้ก่อน แล้วก็พิสูจน์ด้วยตัวเอง ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงๆ ตามแนวทางที่ท่านบอก แล้วเราเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองได้ไหม
อย่างหลายคนเรียนกับหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ไม่ได้บอกว่าต้องเชื่อที่หลวงพ่อพูด แต่ว่าลองทำดู ท้าทายให้ลองพิสูจน์ดู ลองมีสติรู้กายรู้ใจสิ ลองฝึกไปเรื่อยๆ แล้วเราจะพบว่าศีลเราดีขึ้น เราเริ่มเห็นผลแล้ว แต่เดิมเราทำผิดศีลหน้าตาเฉย พอเราหัดเจริญสติ เราก็รู้เลยทุกครั้งที่ผิดศีล เพราะกิเลสมันครอบงำจิต เรารู้อย่างนี้ กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ มันไม่อยากทำผิดศีล ไม่รู้จะไปทำไปทำไม ไม่มีคุณประโยชน์ มีแต่โทษ
เพราะฉะนั้นพอเราลงมือเจริญสติ อาศัยว่าศรัทธา พระพุทธเจ้าสอนให้เราเจริญสติ ท้าให้เราพิสูจน์ด้วยตัวเอง วิธีพิสูจน์ก็คือลงมือปฏิบัติธรรม ลงมือรักษาศีล ลงมือฝึกจิตให้มีสมาธิ ลงมือเจริญปัญญาไป การที่จะพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาได้ จุดสำคัญ เครื่องมือสำคัญคือสติ เพราะฉะนั้นเราพัฒนาสติขึ้นมาก่อน หัดรู้สภาวธรรม รูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ เอาที่เราถนัด อย่างหลวงพ่อถนัด เริ่มต้นหลวงพ่อถนัดรู้นามธรรม เห็นจิตนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พอจิตมันโกรธขึ้นมาเราก็รู้ จิตไม่โกรธเราก็รู้ ประเดี๋ยวโกรธอีกแล้วก็รู้อีก รู้ซ้ำๆๆ เพราะหลวงพ่อเป็นคนขี้โมโห
จิตมันโกรธเรารู้ จิตมันโกรธเรารู้ไปเรื่อย ต่อไปพอจิตมันโกรธปุ๊บ เราไม่ได้เจตนาจะรู้ สติมันเกิดขึ้นเอง เพราะจิตมันจำสภาวะของความโกรธได้ คนไหนไม่ได้ขี้โมโห ขี้โลภ เห็นอะไรก็อยากได้ เราก็หัดดูสภาวะ ใจโลภขึ้นมาเราก็รู้ ใจไม่โลภเราก็รู้ ฝึกแค่นี้เอง ใจโลภขึ้นมาก็รู้ อยากโน้นอยากนี้ ใจตอนนี้หายอยากแล้ว ก็รู้เอา แล้วต่อไปพอหัดรู้บ่อยๆ จิตจำสภาวะของความโลภได้ พอความโลภเกิดปุ๊บ สติมันระลึกได้เอง มันรู้เลย อ้าว โลภแล้ว
อย่างของหลวงพ่อเริ่มมาจากโกรธ เพราะเป็นคนขี้โมโห ใจร้อน รวดเร็ว แล้วหัดดูจิตมันโกรธ เดี๋ยวตาเห็นรูปอันนี้ จิตก็รำคาญ อย่างเห็นคนเยอะๆ แต่ก่อนหลวงพ่อดูไม่ได้ คนเยอะๆ เห็นแล้วรำคาญ เข้าไปตามศูนย์การค้าเห็นคนเยอะๆ ไม่ชอบ รำคาญ ยิ่งถ้าเป็นที่ๆ พวกวัยรุ่นไปสุมกันอยู่ ยิ่งรำคาญมาก หลวงพ่อไม่ได้ฝึกที่ไม่ให้รำคาญ แต่พอเราเห็นคนเยอะๆ จิตรำคาญ นี่ก็โทสะแล้ว เราก็เห็นจิตมันหงุดหงิดขึ้นมาแล้ว เดินออกไปจากตรงนั้น อ้าว จิตหายหงุดหงิดแล้ว
เดินดูต้นไม้ ดูน้ำ ดูนก ดูดอกไม้ จิตมันก็หายหงุดหงิดก็เห็นตอนนี้จิตไม่โกรธ เดินดูต้นไม้ ต้นไม้ต้นนี้หนอนมากินหมดเลย หนอนเต็มไปหมดเลย หงุดหงิดอีกแล้วก็เห็นใจที่กำลังหงุดหงิด พอเห็นบ่อยๆ ต่อไปเราไม่ได้เจตนาจะรู้ สติมันระลึกเอง ตาเห็นรูป ใจหงุดหงิดขึ้นมา สติรู้ว่าใจหงุดหงิดแล้ว หูได้ยินเสียง จิตใจเราหงุดหงิดขึ้นมา ก็รู้ว่าหงุดหงิดแล้ว มันจำสภาวะที่จิตใจหงุดหงิดได้ เพราะฉะนั้นสติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น จิตจำสภาวะได้แม่น เพราะเห็นสภาวะบ่อยๆ
ฉะนั้นเริ่มต้นเราดูอะไรของเราที่มันเกิดบ่อย เราขี้โมโห เราก็ดูจิตเดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หาย ทีแรกก็ต้องจงใจรู้หน่อย คอยเตือนตัวเองให้รู้ แต่อย่าไปเฝ้าจ้องไว้ ถ้าไปเพ่งไปจ้องจิตไว้อยู่ ไม่เห็นอะไรหรอก ใช้จิตใจธรรมดานี้ล่ะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้มันกระทบอารมณ์ไปตามธรรมชาติธรรมดา แต่คอยชำเลืองเป็นระยะๆ ไม่ต้องถี่ ชำเลืองถี่เกินไปจะกลายเป็นเพ่งจ้อง อึดอัด แล้วไม่มีอะไรให้ดู นานๆ ก็แอบมาดูทีหนึ่ง ใจเราตอนนี้เป็นอย่างไร
หลวงพ่อหัดมาแบบนี้ หัดชำเลืองดูใจตัวเองเป็นระยะๆ ไป แล้วมันก็เห็น เห็นอันนี้ก็หงุดหงิด ได้ยินอันนี้ก็หงุดหงิด ได้กลิ่นอย่างนี้ก็หงุดหงิด ได้รสอาหารอย่างนี้ก็หงุดหงิด คิดเรื่องนี้ขึ้นมาก็หงุดหงิดอีก จิตมันจำความหงุดหงิดได้ ต่อไปไม่ได้เจตนา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ปุ๊บ จิตเกิดความหงุดหงิดใจขึ้นมา สติมันระลึกได้เองว่าหงุดหงิดแล้ว นี่ล่ะคือสติตัวจริง ไม่ได้เจตนาทำให้เกิด สติตัวนี้ดีมาก เป็นสติที่มีกำลังแก่กล้า ถ้าต้องคอยบิล์ดเตือนตัวเองให้รู้สึก เตือนตัวเองให้รู้สึก ยังอ่อน เป็นกุศลที่มีกำลังอ่อน แต่ถ้าเป็นกุศลที่เกิดอัตโนมัติ เป็นกุศลที่มีกำลังกล้าแล้ว
เบื้องต้นเราดูสิ่งที่เกิดบ่อยๆ ในตัวเราเอง ขี้โกรธก็ดูโกรธเป็นหลัก แล้วก็เห็นจิตเดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ ขี้โลภก็ดูจิตที่โลภเป็นหลัก หลวงพ่อใช้คำว่า “เป็นหลัก” ไม่ใช่ว่าดูตัวเดียว แต่ว่าดูตัวนี้เป็นตัวหลัก เป็นตัวประจำ ดูบ่อยๆ ขี้โลภก็ดูตัวโลภ เดี๋ยวจิตก็โลภ เดี๋ยวจิตก็ไม่โลภ ฟุ้งซ่าน พวกฟุ้งซ่านดูยากนิดหนึ่ง อยู่ๆ จะไปดูจิตฟุ้งซ่านกับจิตไม่ฟุ้งซ่าน ดูลำบาก เพราะฉะนั้นตัวโมหะเริ่มดูยาก
ความสำคัญของการมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่
ตัวโทสะดูง่ายที่สุด ตัวราคะ ตัวโลภะ ราคะ ดูยากปานกลางแต่ตัวโมหะยากที่สุด อย่างใจฟุ้งซ่านแล้วจะให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน ต้องฝึกกันนาน ต้องมีตัวช่วย ทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป ต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วพอจิตมันหลงไป ฟุ้งซ่านไป หนีไปคิดเรื่องอื่น ลืมลมหายใจ ลืมพุทโธ ถ้าเรามีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ พอจิตมันหนีไปจากเครื่องอยู่ โอกาสที่เราจะระลึกได้ว่า เฮ้ย ลืมลมหายใจแล้ว ลืมพุทโธแล้ว มันก็มีมากขึ้น ถ้าเราไม่มีเครื่องอยู่ จิตมันก็จะหนีไปทั้งวันเลย ไม่เคยรู้สึกตัวขึ้นมาเลย
เพราะฉะนั้นถ้าเราจะสู้กับโมหะ จำเป็นมากๆ เลย ต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ ที่จริงแล้วจะสู้กับโทสะ หรือสู้กับโลภะ ราคะ ก็ต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ อย่างหลวงพ่อเวลาภาวนา ที่หลวงพ่อดูจิตใจมีโทสะ ไม่มีโทสะ หลวงพ่อเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน อาศัยจิตเป็นวิหารธรรม ไม่ได้ไปเพ่งจ้องให้จิตอยู่นิ่งๆ คอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงของจิตไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้เจตนา เพราะจิตมันชอบ หลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิต โอ๊ย ชอบมากเลย จิตนี้ทำไมมันวิจิตรพิสดารอย่างนี้ หลวงพ่อก็เลยใช้จิตเป็นวิหารธรรม
แต่พวกเรา ถ้ากำลังของสติอะไรพวกเรายังไม่แข็งแรง สมาธิเราไม่แข็งแรง แนะนำให้ใช้กรรมฐานที่หยาบขึ้น ใช้กาย กายเป็นของที่หยาบที่สุดในขันธ์ 5 แต่ที่ชั่วที่สุดก็คือจิตวิญญาณ กายไม่มีความดีความชั่วอะไร แต่กายเป็นของหยาบ ดูง่ายๆ ฉะนั้นเราคอยรู้สึกร่างกายไป เช่น ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก พอมันลืมที่จะรู้สึกการหายใจออกหายใจเข้า ก็คือหลง พอลืมเมื่อไรแล้ว เฮ้ย หลงแล้วนี่ ทีแรกก็บอกมันหน่อย เฮ้ย หลงไปแล้ว กลับมาหายใจต่อ
หรือเรารู้สึกร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง เราคอยรู้สึกเรื่อยๆ แล้วต่อมา พอเราขาดสติ เราลืมร่างกายแล้ว ขาดสติจิตก็หนีออกไปที่อื่น พอร่างกายเราเกิดขยับขึ้นมา สติเกิดเอง อันนี้หลวงพ่อก็เคยทดลอง ตอนนั้นเข้าไปกราบหลวงพ่อเทียนที่วัดสนามใน ตอนนั้นหลวงพ่อภาวนา หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า หลวงพ่อภาวนาช่วยตัวเองได้แล้ว หลวงพ่อถึงกล้าออกไปดูการปฏิบัติอย่างโน้นอย่างนี้ หาประสบการณ์ที่หลากหลายขึ้น
ไปเห็นหลวงพ่อเทียนสอนลูกศิษย์อยู่ ตอนนั้นเป็นฆราวาสหมดเลยที่ท่านสอน เวลาสอนพระท่านคงแยกสอนต่างหาก พวกโยมมาเรียนอยู่ ท่านก็สอนขยับมือทำจังหวะ หลวงพ่อก็ดู ท่านมี 14 จังหวะ ข้างหนึ่งมี 7 จังหวะ แล้วสังเกตดู ท่านก็ดีเหมือนกัน ท่านขยับไป จิตของท่านรู้ตื่นเบิกบานขึ้นมา เราดูได้ ดูกิริยาท่าทางหน้าตาท่าน มันรู้เนื้อรู้ตัว คนหลงกับคนรู้สึกตัว หน้าตาไม่เหมือนกัน ถ้าพวกเราหัดสังเกต เราภาวนาเรื่อยๆ เรารู้สึกตัวเป็น เราเห็นคนนี้ปุ๊บเรารู้เลย นี่มันกำลังหลงอยู่ ไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์อะไร ไม่ใช่ปาฏิหาริย์อะไร เป็นเรื่องปกติเลย หลวงพ่อดูว่าหลวงพ่อเทียนดี ท่านพูดอยู่แท้ๆ ท่านก็ยังรู้เนื้อรู้ตัว ไม่หลง
หลวงพ่อก็ลองไปนั่งใต้ต้นไม้ที่วัดของท่าน แล้วก็ลองขยับมือตามไป จำไว้มี 14 จังหวะ ทำ 2 ข้าง ข้างละ 7 ทำไปทำมารำคาญ บอกแล้วเป็นคนขี้โมโห 14 จังหวะเยอะเกินไป รำคาญ ก็ย่อลงมาเหลือ 2 จังหวะ เหลือแค่นี้เอง มันแทน 14 จังหวะ ขยับอย่างนี้ เราก็หัดขยับแล้วรู้สึก ขยับแล้วรู้สึก ขยับแล้วถ้าจิตหนีไปก็รู้ทัน ลืมการขยับ เล่นอยู่ไม่กี่วัน วันหนึ่งเดินอยู่ริมถนน เห็นเพื่อนเก่าแก่เดินอยู่คนละฟากถนน ตอนนั้นดีใจ เพื่อนคนนี้ไม่เจอนาน สนิทกันด้วย เพื่อนสนิท แต่มาถึงวันนี้ลืมไปแล้วว่ามันคือใคร ไม่รู้จำไม่ได้ว่าใคร
พอเห็นเพื่อนก็ดีใจ ดีใจไม่รู้ว่าดีใจ นี่ขาดสตินะ แล้วเริ่มจะก้าวเท้าไปข้ามถนน มองขวามองซ้าย มองขวาก็ไม่มีรถ เท้าก็เริ่มเคลื่อน พอเท้าขยับสติเกิดเอง เพราะเราเคยฝึกขยับแล้วรู้สึก ขยับแล้วรู้สึก ตอนฝึกขยับมือ แต่พอเราขาดสติ พอเท้าเราขยับ สติเกิดเองเลย เหมือนเปิดสวิตช์ตื่นพรึบขึ้นมาเลย ก็รู้ โอ้ วิธีของท่านใช้ได้จริงๆ ทำไปแล้วสติเกิดได้จริงๆ ถ้าสติเกิดได้ แล้วรู้วิธีที่จะรักษาศีล รู้วิธีที่จะฝึกจิต รู้วิธีเจริญปัญญา สามารถทำได้
เพราะฉะนั้นถ้ามีสติ ก็สามารถพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาได้ ถ้าขาดสติตัวเดียว ไม่ต้องพูดถึงศีล สมาธิ ปัญญา คราวหนึ่งหลวงพ่อเคยไปเยี่ยมหลวงพ่อคำเขียน ตอนนั้นท่านเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ท่านอยู่โรงพยาบาลจุฬาฯ หลวงพ่อก็ไปเยี่ยมท่าน ไม่เคยเจอท่าน ลูกศิษย์ท่านมาเรียนกับหลวงพ่อเยอะเลย ก็บอกท่านก็พูดถึงหลวงพ่ออยู่ว่ามันแนวเดียวกัน พอเข้าไปถึง ไปกราบท่าน ท่านนอนลุกไม่ไหว พอท่านเห็นหน้า ท่านก็บอก โอ้ ไปได้แล้ว ไปได้แล้ว “ไปได้แล้ว” หมายถึงท่านบอกขยายความ บอกพระศาสนาก็ไปได้แล้ว มีคนสืบทอดแล้ว สืบทอดอะไร สืบทอดการเจริญสติ
แล้วท่านก็เล่าให้ฟัง ว่าท่านไปเทศน์ที่แห่งหนึ่ง หลวงพ่อจำได้แต่ไม่เอ่ย มันน่าเกลียด เดี๋ยวจะไปกระทบกระทั่ง ท่านไปเทศน์ที่แห่งหนึ่ง พอเทศน์เสร็จ คนจัดก็มาต่อว่าท่าน “หลวงพ่อทำไมไม่เทศน์เรื่องศีล สมาธิ ปัญญา พูดอยู่ได้เรื่องเดียว เรื่องสติ แล้วอย่างนี้มันจะดีหรือ” ท่านก็เล่าเสร็จแล้ว ท่านก็หัวเราะหึๆ ท่านก็บอกว่า “เขาก็ถูกของเขา เราก็ถูกอย่างของเราเนอะอาจารย์ปราโมทย์” ท่านว่าอย่างนี้ เพราะอะไร มีสติก็มีศีล มีสติก็มีสมาธิ มีสติก็มีปัญญา ขาดสติตัวเดียว ไม่ต้องพูดถึงแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา มันมีไม่ได้หรอก
การภาวนา หลวงพ่อไม่ได้พวกเราให้ละกิเลสเลย
หลวงพ่อสอนให้พวกเรามีสติ
ฉะนั้นเบื้องต้นพวกเราหัดสติให้ดี ทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง แล้วถ้าจิตใจเราหนีไป คอยรู้ หรือจะฝึกกรรมฐานเกี่ยวกับกายก็ได้ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก รู้สึกเรื่อยๆ ต่อไปพอขาดสติแล้วร่างกายขยับปุ๊บ สติเกิดเอง ต้องฝึกจนสติอัตโนมัติมันเกิดขึ้น พอสติมันเกิด เวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรากระทบอารมณ์แล้ว กิเลสอะไรเกิดขึ้นในใจ ให้คอยรู้ทันไว้
อย่างเราเห็นคนนี้ เราเกลียดมากเลย เห็นนักการเมืองคนนี้ เราไม่ชอบ โทสะมันพุ่งขึ้นมาแล้ว นิ้วจะขยับคีย์บอร์ดไปด่าเขาแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ได้เจอตัวก็ด่าได้ ขยับ เราก็จะเห็นสติมันเกิด เห็น เฮ้ย จิตมันมีโทสะแล้ว คิดจะเล่นงานเขาแล้ว พอเห็นอย่างนี้ปุ๊บ โทสะมันจะดับ กิเลสมันสู้สติไม่ได้หรอก ขอให้มีสติที่จริงๆ สติที่แท้จริงอัตโนมัติขึ้นมา กิเลสดับหมด ไม่ต้องห่วง
เพราะฉะนั้นการภาวนา หลวงพ่อไม่ได้พวกเราให้ละกิเลสเลย หลวงพ่อสอนให้พวกเรามีสติ ทันทีที่เรามีสติ ไม่มีกิเลสให้ละหรอก กิเลสมันดับหมดแล้ว ทันทีที่สติเกิด ก็กิเลสดับหมดแล้ว แล้วกิเลสกับสติไม่เกิดร่วมกัน นี้ถ้าเรา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ แล้วมันเกิดกิเลสขึ้นมา เห็นผู้หญิงสวย จิตมีราคะขึ้นมา รู้ทันจิตที่มีราคะ ราคะก็ครอบงำใจไม่ได้
หรือถ้าเราเคยฝึกร่างกาย เห็นผู้หญิงสวย เราก็จะเดินไปปะแป้งเขา เอาแป้งไปทาเขาตอนสงกรานต์ ใจคิดลามก มันเห็น ใจมันคิดลามกแล้ว ถ้ายังไม่เห็นตอนใจคิดลามก ตอนที่มือเคลื่อนอย่างนี้ เคยฝึกร่างกายเคลื่อนไหวแล้วรู้สึก มือเคลื่อนจะเอาแป้งไปทาเขา ขยับอย่างนี้สติเกิดเลย สติเกิดเองเลย เฮ้ย นี่มันเอาประเพณีอันดีงาม มาใช้ในทางที่ไม่ถูก สติมันรู้อะไรควร อะไรไม่ควร รับรองว่าไม่ผิดศีล
ถ้าสติของเราเกิด กิเลสมันจะเกิดขึ้นมา เรารู้ทันปั๊บ กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ เราจะไม่ทำผิดศีลหรอก นี่คือศีลอัตโนมัติ พอสติอัตโนมัติรู้ทันจิตอย่างอัตโนมัติ ศีลอัตโนมัติก็เกิด แล้วตอนที่จิตมันเคลื่อนไปตามกิเลส ตรงนั้นสมาธิมันเสื่อม จิตไม่ตั้งมั่นแล้ว จิตไหลไปแล้ว อย่างเอื้อมมือจะไปเอาแป้งไปทาสาว เอื้อมมือไป สติรู้ทันปั๊บ ราคะดับ พอราคะดับ จิตที่เคลื่อนไปหาสาวก็ดับไปด้วย จิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติขึ้นมา สมาธิเกิดแล้ว
เพราะฉะนั้นถ้าเรามีสติที่ถูกต้องอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติก็จะเกิดขึ้น สมาธิไม่ได้แปลว่าสงบ สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ฉะนั้นบางครั้งจิตเราฟุ้งซ่าน เคลื่อนไหวพิจารณาธรรมะ แต่จิตตั้งมั่นอยู่ นี่จิตไม่ได้สงบเฉยๆ อยู่ จิตกำลังเดินปัญญาอยู่ จิตเดินปัญญา ไม่ได้นิ่งๆ ก็มีสมาธิอยู่ พอเดินปัญญาไปช่วงหนึ่ง จิตหยุดการเจริญปัญญา พักผ่อน จิตรวมเข้ามาพักผ่อน จิตก็ทรงสมาธิอีกลักษณะหนึ่ง
สมาธิมี 2 ลักษณะ ลักษณะหนึ่งสงบนิ่งพักผ่อนอยู่ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ อีกอันหนึ่งก็คือจิตตั้งมั่นอยู่ แล้วก็เห็นสภาวะทั้งหลายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตเป็นแค่คนรู้คนดู เพราะฉะนั้นอย่างจิตเราเกิดราคะ เราจะเอาแป้งไปทาสาว มือเคลื่อน เราเคยฝึกเคลื่อนไหวแล้วรู้สึก เคลื่อนปุ๊บเรารู้เลย นี่เราขาดสติ เมื่อกี้เรากำลังหลง มีโมหะ แล้วก็มีราคะเกิดขึ้น กำลังคิดลวนลามเขา โดยเอาประเพณีมาบังหน้า พอรู้ปุ๊บ ศีลก็เกิด ไม่คิดจะทำผิดแล้ว สมาธิก็เกิด จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมาเลย โดยไม่ได้เจตนาให้ตั้งมั่น
เพราะฉะนั้นเรามีสติ เราก็จะมีศีลอัตโนมัติ ถ้าเรามีสติถูกต้อง รู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดขึ้น แต่บอกแล้วสมาธิที่ถูกต้องมี 2 แบบ อันหนึ่งสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวไว้พักผ่อน อันหนึ่งตั้งมั่น แล้วสติระลึกรู้สภาวธรรมทั้งหลาย ก็จะเห็น เกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์ ฉะนั้นเป็นสมาธิชนิดที่เอาไว้เดินปัญญา กับสมาธิที่เอาไว้พักผ่อน ทั้งหมดนี้ต้องมีสติ
ในการเจริญปัญญา ถ้ามีสติก็สามารถพัฒนาการเจริญปัญญาได้ เราต้องรู้หลักสูตรวิธีเจริญปัญญาทำอย่างไร ฝึกจิตให้ตั้งมั่น แล้วก็สติระลึกรู้รูปธรรม หรือสติระลึกรู้นามธรรม ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ปัญญามันจะเกิด ปัญญาก็คือความรู้ถูก ความเข้าใจถูก รู้ถูกเข้าใจถูกว่าอะไร รู้ถูกเข้าใจถูกว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้น มันตั้งอยู่แล้วมันดับไปทั้งสิ้น นี่ปัญญามันเกิด
อย่างเราเกิดราคะ เราจะเอาแป้งไปทาผู้หญิง แล้วสติเราระลึกรู้ เราก็รู้สึกนี่มันลวนลามเขาแล้ว มันก็ผิดศีล เราก็ไม่ทำ มันไม่อยากทำแล้ว แล้วขณะนั้นจิตที่กำลังทะยานออกไปหาผู้หญิง ดับ เกิดจิตที่ตั้งมั่น เราได้สมาธิแล้ว แล้วเกิดสมาธิ จิตตั้งมั่นอย่างนี้ แล้วก็เห็นจิตมันทำงานบ่อยๆ หรือเห็นกายทำงานไปบ่อยๆ ต่อไปปัญญามันจะเกิด มีสติรู้กายบ่อยๆ แล้วก็จิตตั้งมั่นเป็นคนดู ต่อไปมันก็จะเห็นความจริง
ความจริงของร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตที่ไปรู้ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือเราดูเวทนาทางกาย เราก็จะเห็นเวทนาทางกายก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เวทนาทางใจ ความสุข ทุกข์ เฉยๆ ทางใจ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่คือการเจริญปัญญา ไม่ใช่คิด แต่เป็นการเห็นเอา ถ้ายังคิดเอายังไม่ใช่วิปัสสนา เป็นปัญญาเบื้องต้น อย่างเราสามารถแยกกายกับจิตออกจากกันได้ เราได้ปัญญาเบื้องต้น แต่ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา
หลักสูตรวิธีเจริญปัญญา
แต่ถ้าจิตเราตั้งมั่น เราเห็นร่างกายเคลื่อนไหว มันจะรู้สึกเลย สติระลึกลงในกายปุ๊บ จิตตั้งมั่นอยู่รู้สึกเลย ตัวนี้ไม่ใช่เรา ร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง เป็นแค่วัตถุธาตุอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง เคลื่อนไหวไปมา ต่อไปก็แตกสลาย ใจมันรู้สึก นี่ปัญญามันเกิด หรือเราเห็นความสุขความทุกข์ทางร่างกาย นั่งอยู่อย่างนี้ ทีแรกก็นั่งสบาย ซื้อเก้าอี้มาแพงๆ ตัวละหมื่น ตัวละแสนมานั่ง มีความสุขจัง เก้าอี้บางตัวมันนวดได้ด้วย นวดๆๆ ไป ถามว่ามีความสุขไหม ทีแรกก็สุข ขืนให้มานวดทั้งวัน ทรมานเลย เห็นไหมความสุขไม่เที่ยงแล้ว ความสุขไม่ยั่งยืน
ตรงสิ่งใดที่เคยทำแล้วมีความสุข ทำไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีความสุขแล้ว ดูไปก็เห็นแต่ของไม่เที่ยง เห็นแต่ของที่เปลี่ยนแปลงบังคับไม่ได้ หรือเราดูจิตที่เป็นกุศลอกุศล เราก็จะเห็น จิตทุกชนิด จิตโลภเกิดแล้วดับ จิตโกรธเกิดแล้วดับ จิตหลงเกิดแล้วดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดแล้วดับ จิตหดหู่เกิดแล้วดับ เราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตใจแล้ว หรือถ้าเวลาเราทรงสมาธิ เวลาเราทรงสมาธิจิตก็เกิดดับ อย่างจิตที่ทรงฌานขึ้นมา จิตเกิดดับไม่ใช่จิตมีดวงเดียว เพียงแต่ว่าจิตที่เกิดใหม่ มันเหมือนตัวเก่า
อย่างมันทรงปฐมฌานอยู่ จิตดวงถัดมามันก็ได้ปฐมฌานอีก เราก็เลยรู้สึกว่าจิตมันเที่ยง แต่ถ้าสติเราเร็ว เราจะรู้เลย อย่างเราทรงปฐมฌานอยู่ เราก็เห็นจิตมันเกิดดับๆ แต่ตัวนี้ดูยาก ไม่ค่อยมีคนเห็นหรอก เราดูที่หยาบขึ้นมาหน่อย เราจะเห็นว่าจิตที่มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง มันกำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันแตกสลายไปอย่างไร อย่างจิตมีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง ดูไปเรื่อยๆ บางทีปีติดับไปแล้ว เหลือแต่ความสุขกับความเป็นหนึ่ง
ดูไปอีกความสุขก็ดับไปอีกแล้ว กลายเป็นอุเบกขา ดูไปอีก อ้าว อุเบกขาดับแล้ว จิตหลุดออกมาจากสมาธิแล้ว มันหมุนเวียน เราก็จะรู้เลย จิตทุกดวงมันถูกบีบคั้น ไม่ว่าจะเป็นจิตเข้าฌานระดับไหนก็ตาม ล้วนแต่ถูกบีบคั้นให้แตกสลายทั้งสิ้นเลย เพราะฉะนั้นการเข้าฌาน เลยไม่ตอบโจทย์ ยังไม่ตอบโจทย์เพราะมันไม่เที่ยง เพราะมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ตรงที่เราจะเห็นจิตถูกบีบคั้นได้ เหมาะกับคนที่เล่นฌาน
เพราะฉะนั้นเวลาท่านที่บรรลุพระอรหันต์ แล้วท่านทรงฌาน ส่วนใหญ่ท่านจะเห็นทุกข์ ทุกข์ก็คือจิตนั้น มันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย จิตในฌานที่ 1 ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ในฌานที่ 2 3 4 5 6 7 8 ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย นี่จะเห็นทุกข์ แต่ถ้าเราจิตไม่ได้ทรงฌาน มันเกิดดับเร็ว มันก็จะเห็นว่าเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ แล้วเห็นอีกมุมหนึ่งก็คือบังคับไม่ได้ จิตเราจะสุข หรือจิตเราจะทุกข์ เราสั่งไม่ได้ จิตเราจะดี หรือจิตเราจะชั่ว เราสั่งไม่ได้ นี่คือการเจริญปัญญาเห็นอนัตตาของจิต
ถ้าเห็นอนัตตาของกาย ก็เห็นมันเป็นแค่วัตถุธาตุ เป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ของเรา แล้วเราเห็นร่างกายมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย อย่างเรานั่งอยู่นี่เราหายใจเข้า ร่างกายที่หายใจเข้าก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย เดี๋ยวก็ต้องหายใจออกแล้ว ร่างกายที่หายใจออกก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย เดี๋ยวก็ต้องหายใจเข้า ร่างกายที่นั่งอยู่ก็กำลังถูกบีบคั้น เดี๋ยวก็ต้องลุกขึ้นเดิน ลุกขึ้นยืน ลุกขึ้นเดิน หรือลงไปนอน เห็นมันถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
ค่อยดูค่อยรู้ นี่คือการเจริญปัญญา การเจริญปัญญานั้น เครื่องมือสำคัญมีสติ แล้วก็มีจิตตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่น แล้วมีสัญญาเข้าไปหมายรู้ ความเป็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม สัญญามันไปหมายรู้ ไม่ใช่คิดเอาเอง ถ้าคิดเอาเองก็เป็นวิตก ไม่ใช่สัญญาเข้าไปหมายรู้ แล้วค่อยๆ หัด มันมีองค์ธรรมที่จะสำคัญๆ ถ้าเราค่อยพัฒนาสติ แล้วฝึกจนจิตเราตั้งมั่นได้ การเจริญปัญญาจะไม่ใช่เรื่องยาก
ถ้าจิตเราตั้งมั่น มันถอนตัวออกจากปรากฏการณ์ สติระลึกรู้ปรากฏการณ์ของรูปธรรมนามธรรมที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตตั้งมั่นอยู่ แล้วมันก็จะเกิดปัญญา มันจะเห็นว่าทุกอย่างที่เกิด เกิดแล้วก็ดับหมด ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา กระทั่งจิตที่เป็นคนไปรู้ จิตที่ตั้งมั่นนี้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเช่นเดียวกัน นี่เรียกว่าเรารู้ขันธ์ 5 แล้ว
ทั้งร่างกายคือตัวรูป ตัวเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ ตัวสัญญาการหมายรู้ เดี๋ยวก็หมายรู้ถูก เดี๋ยวก็หมายรู้ผิด เดี๋ยวก็จำได้ เดี๋ยวก็จำไม่ได้ ตัวสังขารเดี๋ยวก็ปรุงดี เดี๋ยวก็ปรุงชั่ว ตัววิญญาณ เดี๋ยวก็วิ่งไปรับรู้ทางตา เดี๋ยวก็ไปรับรู้ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางใจเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง เราจะเห็นทุกตัวในขันธ์ 5 ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งหมดเลย ใครเป็นคนรู้มัน สติเป็นคนรู้มัน
ถ้าจิตมันตั้งมั่น ปัญญาจะเป็นตัวเข้าใจ สติเป็นตัวรู้ทันรูปธรรมนามธรรมที่มีอยู่เป็นอยู่ ปัญญาเป็นตัวเข้าใจ รู้ถูก เข้าใจถูก แล้วปัญญาจะเกิดได้ ต้องอาศัยสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา เพราะฉะนั้นมีสติไปรู้กายอย่างเดียว ยังไม่เกิดหรอก กลายเป็นเพ่งกาย ไปดูท้องพองท้องยุบ แล้วสติหยั่งลงที่ท้อง จิตไม่ได้ตั้งมั่น ปัญญาไม่เกิด
เพราะสัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา หลักเราต้องแม่น อันนี้ในอภิธรรมมีอยู่ แล้วถ้าเราฝึกในพระสูตร ก็มีร่องรอยให้เราเห็น อย่างท่านพูดถึงการปฏิบัติ ท่านสอนให้ฝึกเข้าฌาน ถึงฌานที่ 4 จิตตั้งมั่นแล้ว ควรแก่การงาน ท่านก็บอกโน้มน้อมจิตดวงนี้ไปเพื่อญาณทัสสนะ จิตต้องตั้งมั่น แล้วถึงจะเอาไปเจริญปัญญาได้ เพราะฉะนั้นทางฝ่ายพระสูตร ฝ่ายพระอภิธรรม ตรงนี้ลงกัน
แต่ถ้าเป็นอภิธรรมชั้นหลังๆ บางทีเฝือไป โดยเฉพาะการอธิบายเรื่องรูป มันเป็นเทคโนโลยีโบราณ ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า เป็นของพระชั้นหลัง ท่านพยายามแต่งขึ้นมา เพื่อจะให้ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อจะตอบโจทย์ทุกเรื่อง เพื่อจะได้ไปสู้กับลัทธิศาสนาอื่นๆ ที่เขาอธิบายแล้วถูกใจชาวบ้าน พยายามจะอธิบาย แต่ตัวธรรมะในส่วนของจิตใจนี้ ดีมากๆ เลย ถ้าเราไปศึกษาดู
ฉะนั้นเราต้องพยายามฝึกให้มีสติ ขาดสติอย่างเดียว ไม่มีทางพัฒนาศีล ไม่มีทางพัฒนาสมาธิที่ถูกต้อง ไม่มีทางพัฒนาปัญญา สมาธิที่ถูกต้องมี 2 อัน สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว เอาไว้พักผ่อน แต่ต้องมีสติ ขาดสติเมื่อไร หลงเลย เคลิ้มไปเลย หรือถูกนิมิตหลอกไปเลย แล้วก็สมาธิชนิดตั้งมั่น เอาไว้เดินปัญญา
เกิดสัมมาทิฏฐิ
จะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุ
ค่อยๆ ฝึกแล้วต่อไปเราจะเกิดสัมมาทิฏฐิ เราจะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มันเกิดขึ้นมาเพราะมันมีเหตุ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ ใจมันจะเห็น หยั่งรู้ลงไป เพราะฉะนั้นมันจะไม่มาสงสัยเอา ว่าตายแล้วจิตดวงนี้ จะออกจากร่างไปเกิดใหม่ไหม ไม่มี เพราะจิตมันเกิดดับ ตลอดเวลาอยู่แล้ว มันไม่มีจิตดวงเดียว ออกจากร่างนี้ไปเกิดในร่างใหม่ อันนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือตายแล้วสูญ ถ้าเหตุยังอยู่ มันก็ยังเกิดอีก มันไม่สูญ แล้วมันเป็นไปตามเหตุ อย่างตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ มันก็มีเชื้อ จะเกิดจิตดวงนี้ดับลงในชาตินี้ ดวงสุดท้ายดับลง เรียกจุติจิตเกิดขึ้น มันจะเกิดปฏิสนธิจิตดวงใหม่ ไม่ใช่ดวงเดิม ดวงเก่าในชาตินี้ ดวงสุดท้ายในชาตินี้ดับปั๊บ ดวงใหม่ในชาติใหม่เกิดขึ้นมาแล้ว
เพราะฉะนั้นจิตดวงใหม่ในชาติใหม่ มันไม่ใช่ดวงเดิม แต่มันก็เป็นทายาทของจิตดวงเดิม มันคล้ายๆ พ่อกับลูก หรือแม่กับลูก ตัวพ่อตัวแม่สร้างมรดกไว้ดี พอพ่อแม่ตายไป มรดกมันก็ไปที่ลูก ฉะนั้นจิตของเรา เราสะสมคุณงามความดีไว้เยอะ เวลาเราตาย คุณงามความดีก็ถ่ายทอดไปสู่จิตดวงใหม่ ถ้าเราสะสมความชั่วไว้ ความชั่วมันก็ถ่ายทอดเป็นมรดก คล้ายๆ พ่อแม่ไปก่อหนี้ไว้เยอะ ลูกไปรับมรดกปุ๊บ ก็คือรับหนี้ไปเลย เพราะฉะนั้นจิตมันเกิดแบบนี้ มันไม่ใช่ดวงเดิม ออกจากร่างนี้ แล้วไปเข้าอีกร่างหนึ่ง แล้วก็ไม่ใช่ตายแล้วสูญ
ถ้าเราค่อยภาวนา เราจะเห็นความจริงมากขึ้นๆ เราจะรู้เลย สารพัดสัตว์ในภพภูมิต่างๆ มากมายก่ายกอง พวกเรารุ่นหลังๆ เราไม่มีทิพยจักษุญาณ เราก็มักจะโดนมโนญาณหลอกเอา มโนญาณ มโนภาษาสมัยใหม่ คือมั่วเอา เราชอบถามคนนี้ตายแล้วไปไหน หลวงพ่อตอบได้ ถ้าใครถามว่าตายแล้วไปไหน ไปตามกรรม ไม่มีผิดหรอก มันก็เป็นไปตามกรรมของแต่ละคน พวกเราชาวพุทธไม่มีการศึกษาศาสนาให้ถ่องแท้ เราก็งมงาย ความงมงายเป็นคุณสมบัติของปุถุชน งมงาย อย่างเราก็นับถือสารพัดเลย นับถือผี นับถือเปรต
อย่างมีสิ่งหนึ่งที่คนไทยตอนนี้นับถือเยอะเลย พูดไปแล้วกระเทือนใจ คือพญานาค พญานาคอยู่ในทุคติ อยู่ในทุคติภูมิ พูดตรงๆ ก็น่าเกลียด กระเทือนใจ บรรลุมรรคผลไม่ได้ๆ เราก็ไปหลงนับถือพญานาค เยอะแยะเลยที่เราไปนับถือ นับถือผี นับถือเปรต อย่างพวกนางไม้ นางตะเคียน พวกนี้ก็มี 2 กลุ่ม พวกหนึ่งเป็นเทพชั้นจาตุมหาราช พวกหนึ่งก็พวกผี พวกเปรต เราก็มั่วไปหมด ไหว้ไปหมด หวังพึ่งคนซึ่งเขายังพึ่งตัวเองไม่ได้ น่าสงสาร สงสารใครดี ก็สงสารทั้งหมด เราก็งมงาย น่าสงสาร เราไปเรียกร้องให้คนซึ่งเขาลำบากอยู่แล้ว ให้มาช่วยเรา เขาก็น่าสงสารอีก
อย่างที่มีเด็กอะไรบอกว่าเป็นพระอนาคามี แล้วเป็นพญานาคมาเกิด ไม่เข้าใจหรอก พญานาคอยู่ในทุคติ อยู่ในทุคติภูมิ ในตำรับตำราก็มี มีคน 2 คน เขามีอาจารย์ของตัวเอง อาจารย์เป็นพระดีก็ไปภาวนา องค์หนึ่งไปภาวนาในสวรรค์ชั้นดุสิต อีกองค์หนึ่งไปภาวนาในเมืองของพญานาค พญานาคเป็นทุคติก็จริงแต่บุญเก่าเขาก็มี เพราะฉะนั้นในถ้ำของเขา ในที่อยู่ของเขาก็ดูสวยสดงดงาม เอามาเล่าให้ลูกศิษย์ฟัง ลูกศิษย์ที่อาจารย์ไปอยู่สวรรค์ ก็อยากไปสวรรค์
ลูกศิษย์ที่อาจารย์ไปอยู่กับพญานาค อยากไปเป็นพญานาค รู้สึกดี พอเป็นนาคขึ้นจริงๆ โห คับแค้นเลยว่า มันปิดกั้นมรรคผล ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้ ต้องใช้ความเพียรพยายามมากมาย กว่าจะกลับมาเป็นมนุษย์ กว่าจะมาภาวนาต่อได้ ถ้าเราไม่ได้ศึกษา เราก็จะเชื่ออะไรที่คนเขาปั่นตามกระแสงมงายไป แต่อย่าไปด่าเด็กนั้น เด็กน่าสงสาร แล้วก็อย่าเอาเด็กไปเปรียบเทียบกัน เด็กคนนี้ดี เราเกลียดเด็กคนนี้ปุ๊บ เราก็ไปเอาเด็กอีกคนที่ดีๆ เอามาเทียบ มาบลัฟกัน นี่คือการเอาเด็กมาใช้เป็นเครื่องมือเหมือนๆ กัน มันก็คือการกดดันเด็กเหมือนกัน
ฉะนั้นแต่ละคนเขามีกรรมของเขา มีทิศทางของเขา เราตั้งใจที่เป็นกลางไว้ ไม่หลงยินดีข้างนี้ ไม่หลงยินร้ายข้างนี้ แล้วเห็นสัตว์ทั้งหลาย มันก็เคลื่อนไปตามกรรมของตัวเอง คนสร้างบุญบารมีมาเยอะ เขาก็เคลื่อนใกล้ฝั่งของนิพพานไป คนซึ่งสะสมความหลงผิดมาเยอะ ก็เคลื่อนไกลออกจากฝั่งของพระนิพพานไป คำว่า “ฝั่ง” เป็นคำเปรียบเทียบ นิพพานไม่มีฝั่ง เทียบให้ฟังเท่านั้นเอง น่าสงสารนะ
วัดสวนสันติธรรม
11 พฤษภาคม 2567