เป็นคนรักกายมาก แต่ดูกายแล้วไม่มีความสุข ใจมันเฉย ไม่สดชื่น พอมาดูจิต ใจตื่นเบิกบาน

คำถาม:

ส่งการบ้านครั้งแรก เดินจงกรม ดูร่างกายเคลื่อนไหว ใจเป็นคนดู หลงไปคิดแล้วรู้ นั่งสมาธิใช้พุทโธรู้ลมหายใจ นั่งนานๆ ปวดขามากๆ เห็นความปวด ร่างกาย จิตใจ แยกออกเป็น 3 ส่วน เป็นคนรักกายมาก แต่ดูกายแล้วไม่มีความสุข ใจมันเฉย ไม่สดชื่น พอมาดูจิต ใจตื่นเบิกบาน ดูจิตส่วนมากจะเห็นในมุมอนัตตาชัดเจน กราบขอหลวงพ่อแนะนำเพื่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติต่อไปเจ้าค่ะ

 

หลวงพ่อ:

พวกปัญญากล้าก็เป็นอย่างนั้นล่ะ มีปัญญาแก่กล้า ดูกายแล้วจืดๆ เฉยๆ ถ้าดูจิตมันโลดโผน ทำงานสารพัด ดูจิตก็ได้ แต่ไม่ทิ้งสมาธิ ถ้าทิ้งสมาธิแล้วจะดูจิตไม่ได้จริง จิตมันจะไปว่างๆ อยู่ข้างนอก ฉะนั้นเราก็ไม่ทิ้งกรรมฐานของเรา อย่างเราหายใจไป พุทโธไปอะไรอย่างนี้ แล้วจิตมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง อย่างนี้ดี ถ้าเราไม่มีกรรมฐานเลย จะไปดูจิตล้วนๆ อะไรอย่างนี้ แป๊บเดียวจิตจะหลงไปอยู่ในความว่าง ว่างๆ เฉยๆ ฉะนั้นเราก็อยู่กับกรรมฐานของเราไป หายใจไป พุทโธไป จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตสงบก็รู้ จิตหนีไปก็รู้ ถ้าจิตไม่มีที่อยู่ มันหนีไปเราไม่รู้หรอกว่ามันหนี แต่ถ้าจิตมันมีฐานที่มั่นอยู่ พอมันหลุดออกจากที่มั่นของมัน เราจะรู้ว่ามันเคลื่อนไปแล้ว เพราะฉะนั้นการที่เรามีวิหารธรรมเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าไม่จำเป็นพระพุทธเจ้าไม่สอนหรอก ในสติปัฏฐาน 4 ตัวแรกเลยที่ท่านสอนคือการมีวิหารธรรม ให้ใช้กายในกายเป็นวิหารธรรม เวทนาในเวทนาเป็นวิหารธรรม เริ่มต้นก็คือต้องมีวิหารธรรมก่อน

แล้วถัดจากนั้นก็มีความเพียรแผดเผากิเลส เรียกอาตาปี สัมปชาโน มีความรู้ว่าเราทำอะไรเพื่ออะไรอยู่ มีสติ มีสภาวะอะไรเกิดขึ้นในกาย รู้สึก อะไรเกิดขึ้นในใจ รู้สึก แล้วก็ถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้ โลกก็คือรูป นาม กาย ใจนี่เอง เราภาวนาไปแล้ว มันเกิดยินดีพอใจ เรารู้ ภาวนาแล้วมันไม่พอใจ เรารู้ จิตก็เป็นกลาง นี่หลักของมันก็อย่างนี้ มีเครื่องอยู่ไว้ก่อน มีเครื่องอยู่ไว้ ถ้าจิตมันหนีไป เราจะรู้ง่าย ที่เรามีเครื่องอยู่ก็เพื่อแผดเผากิเลส ไม่ใช่มาอยู่ตรงนี้เพื่อจะเอาความสุข ไม่ได้มุ่งมาที่ความสุข ความสงบหรือความดี เรามีอาตาปีคือมีเครื่องแผดเผากิเลส อย่างการที่เรามีความสุขแล้วเราติดอยู่ตรงนั้น อันนั้นไม่ได้แผดเผากิเลส อันนั้นสนองกิเลส ถ้านั่งสมาธิก็นั่งสนองกิเลส ไม่ใช่อาตาปี อาตาปีแปลว่าเป็นเครื่องแผดเผากิเลสให้เร่าร้อน หมายถึงเราภาวนา อย่าภาวนาโดยการตกเป็นทาสของกิเลส ภาวนาเพื่อสู้เอาชนะกิเลส อย่างภาวนาแล้วจิตติดสุข ติดสงบ ติดสบายอะไรอย่างนี้ นี่เสียท่ากิเลสแล้ว ฉะนั้นเรามีสัมปชัญญะ เรารู้ว่าเราควรจะทำอะไร ตอนนี้จะต้องทำสมถะ ตอนนี้จะต้องทำวิปัสสนาอะไรอย่างนี้ ต้องรู้ แล้วก็ไม่ว่าจะทำสมถะหรือวิปัสสนา ต้องมีสติ

แล้วก็มีสติแค่นั้นยังไม่พอ ต้องเป็นกลางด้วย จิตต้องตั้งมั่นแล้วก็เป็นกลาง ตรงนั้นจะไม่ยินดียินร้าย ฉะนั้นเวลาภาวนา เราก็สังเกตไปเรื่อยเลย เราไปพลาดตรงไหน อย่างถ้าเราไม่มีวิหารธรรม ก็หาให้มันอยู่เสีย หาบ้านให้จิตอยู่สักหลังหนึ่ง แต่ไม่ใช่คุก ไม่ใช่บังคับว่าจิตต้องอยู่ตรงนี้ตลอด มีบ้านอยู่ เพื่อว่าเมื่อไหร่มันออกจากบ้าน เราจะได้รู้ เราจะได้รู้ไวๆ แล้วก็ไม่ได้บังคับจิตให้ดี ให้สุข ให้สงบ แต่เราทำไปเพื่อให้เห็นความจริงของจิต เพื่อลดละกิเลส เพื่อให้เกิดปัญญา ความรู้ถูก ความเข้าใจถูกว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นี่ภาวนาอย่าทิ้งสมาธิ แล้วจิตต้องมีฐานที่อยู่ ถ้าทิ้งแล้วเจริญปัญญารวดไป ฟุ้งซ่าน

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 15 สิงหาคม 2564