มาดูความจริงของขันธ์ 5

เอามือลงได้ไม่ต้องนั่งพนมมือหรอก เมื่อย เรียนกับหลวงพ่อเน้นที่จิตใจ จะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ขอแค่ไม่โป๊เท่านั้นล่ะ ไม่ต้องสีขาว ชาวพุทธจริงๆ ก็ไม่ได้เน้นสีขาว สีขาวมันเรื่องของเชน เรื่องของนิครนถ์ เขาเรียก เศวตัมพร เศวตัมพรแต่งขาว อีกพวกหนึ่งไม่มีเสื้อผ้าเลย พวกฑิฆัมพร ชาวพุทธเรารับศาสนาสมณะ ชี พราหมณ์ รับเข้ามาปนๆ กันมารวมกับผีดั้งเดิมของเรา ก็เลยเป็นศาสนาพุทธแบบไทยๆ เรียนศาสนาพุทธลองศึกษาบ้าง อย่าเชื่อตามๆ กันไม่ได้หรอก

อย่างเมื่อวานหรือวานซืนมีข่าวคนแต่งเครื่องแบบพระ เป็นพระหรือเปล่าไม่รู้ยังไม่ได้พิสูจน์ แต่ที่ระยอง 6 – 7 คนนั้นเป็นฆราวาส แต่งชุดพระไปหลอกเอาเงินคน ที่ลำพูนมีแต่งชุดพระ 3 คนเข้าไปในงานวัดเขา ไปเที่ยวเรี่ยไร เขาไล่เอา มาขึ้นรถขับรถเองด้วย ผู้สื่อข่าวเขาบอกว่าพระขับรถเป็นโลกวัชชะ ฟังแล้วฟังเป็นธรรมะธัมโมดี มีศัพท์โลกวัชชะ โลกวัชชะไม่ได้แปลอย่างที่เราแปลกัน เราแปลมั่ว โลกวัชชะจริงๆ หมายถึงว่าเป็นความผิด ที่แม้แต่ชาวโลกกระทำก็ไม่ถูกต้อง อย่างหนีภาษีเป็นโลกวัชชะเพราะชาวโลกทำก็ไม่ถูก ตามพระวินัยพระหนีภาษีผ่านด่านศุลกากรจะต้องจ่าย ไม่จ่าย อันนี้อาบัติด้วย ความผิดบางอย่างเป็นทั้งอาบัติของพระ เป็นทั้งโลกวัชชะ บางอย่างอาบัติอย่างเดียวไม่มีโลกวัชชะ บางอย่างเป็นโลกวัชชะไม่ได้อาบัติ ฉะนั้นที่พูดๆ กันทุกวันนี้ไม่เป็นกระทั่งโลกวัชชะ อย่างสมัยก่อนพระพายเรือเราคุ้นๆ พระพายเรือไม่เป็นไร ถ้าเปลี่ยนเป็นพระขับเรือหางยาว เดี๋ยวนี้ไม่พายแล้ว เราบอกโลกวัชชะอีกแล้ว มันพูดเอาเองทั้งหมด

ฉะนั้นศัพท์ธรรมะเวลาใช้ก็ต้องระมัดระวังนิดหนึ่ง ศัพท์เพี้ยนๆ เกิดขึ้นมากมาย โลกวัชชะจริงๆ หมายถึงว่า เป็นความผิดที่แม้แต่ชาวโลกทำก็ไม่สมควร ก็ไม่ถูก ก็ดูจากกฎหมายนั้นล่ะ มันผิดกฎหมายก็เป็นโลกวัชชะจริงๆ พระขับรถถ้าเขามีใบขับขี่ไม่ใช่โลกวัชชะ ชาวบ้านจะนั่งนินทาก็ไม่ใช่ โลกวัชชะ แต่ถ้าไม่มีใบขับขี่เป็นโลกวัชชะ ผิด ชาวโลกทำก็ผิด มีศัพท์มากมายที่เราเอามาใช้แล้วก็เพี้ยนไป อย่างคำว่ามโน มโนแปลว่าใจ เราก็เอามาเป็นพวกคิดเอาเอง เรียกมโน คำว่าเวทนาแปลว่าความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ เราก็แปลว่าน่าสงสาร มีศัพท์จำนวนมากที่เราไปใช้แล้วมั่ว

พวกเราเรียนกรรมฐานอย่างน้อยก็รู้ศัพท์ไว้บ้าง จะได้ไม่ช่วยกันปลอมแปลงคำสอนดั้งเดิม คำสอนดั้งเดิมของเราชาวพุทธ อย่างเมืองไทยถือว่าเถรวาท เป็นมติของพระเถระ เราเป็นเถรวาท ฉะนั้นเรานับถือทั้งพระพุทธเจ้า นับถือกระทั่งพระเถระ ถ้าเชื่อแต่อาจารย์เรียกอาจริยวาท อย่างอาจารย์บอกว่าต้องเชื่อเฉพาะที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ อะไรอย่างนี้ นี่อาจารย์บอก ถ้าเราเชื่อเมื่อไรเราก็เป็นอาจริยวาท ไม่ใช่เถรวาทแล้ว มันมีความคลาดเคลื่อนจำนวนมากสับสนปน แล้วคนทั่วๆ ไปก็ชอบเอาไปพูดธรรมะ ก็เพี้ยนๆๆ ออกไปเรื่อยๆ สุดท้ายเลยไม่รู้ว่าหลักเกณฑ์มันเป็นอย่างไร อย่างถ้าเรานินทาพระก็ถือว่าเป็นโลกวัชชะ ไม่ใช่ พระพุทธเจ้ายังถูกนินทาเลย คนเขาด่าพระพุทธเจ้าก็มี ไม่ใช่ไม่มี ฉะนั้นท่านไม่ได้เป็นโลกวัชชะ

มี “ภิกษุณี” เขียนจดหมายมาถึงหลวงพ่อ มาเล่าเรื่องสำนักภิกษุณี หลวงพ่อไม่เกี่ยว สำนักอะไรไม่เกี่ยว บอกว่าตัวเองเป็นนักบวช จะขอฟังธรรมะที่หลวงพ่อสอนพระ หลวงพ่อสอนพระในวัด สอนต่างหากไม่ได้สอนปนกับโยม เมื่อก่อนก็มีพระมาขอ พระจริงๆ มาขออัดเทปออกไป จะไม่ให้โยมฟังหรอก สุดท้ายก็หลุดออกไปลงเน็ต หลวงพ่อเลยไม่ให้เด็ดขาด อย่าว่าแต่ภิกษุณีจะมาขอเลย พระมาขอยังไม่ให้เลย แล้วพระในวัดมาขอเองมาฟังหลวงพ่ออยู่นี่แล้วขออัดไว้ขอบันทึกไว้ หลวงพ่อยังไม่ให้เลย เดี๋ยวก็หลุดออกไปจนได้ ธรรมะที่สอนพระก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่สอนญาติโยมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราก็ต้องพยายามรักษาพระวินัยไว้

 

ก่อนจะเห็นความจริงของขันธ์ 5 ต้องแยกขันธ์ให้ออกก่อน

การภาวนา เข้าเรื่องธรรมะสักที การภาวนานั้นไม่ได้ยากอะไรหรอก เรียนรู้ตัวเองจนเข้าใจตัวเอง ถ้าเข้าใจเบื้องต้นก็รู้ว่าตัวเราไม่มีหรอก เข้าใจเบื้องปลายก็รู้ว่าสิ่งที่มีคือขันธ์ 5 แล้วขันธ์ 5 นี้คือตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรามันคือตัวทุกข์ เราจะต้องพัฒนาปัญญามาในเส้นทางอันนี้ เบื้องต้นภาวนาไปจนเห็นความจริง เมื่อตัวเราไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา แยกออกไปก็เป็นขันธ์ 5 แล้วมาดูความจริงของขันธ์ 5 จนเห็นความจริงว่าไม่ใช่เราหรอก ของหยาบที่สุดในขันธ์ 5 คือตัวรูป อย่างเราก็เห็นรูปที่หายใจออก เห็นรูปที่หายใจเข้า อะไรมันหายใจ รูปมันหายใจ ร่างกายมันหายใจ พูดภาษาสมัยนี้คือร่างกายมันหายใจ

คนที่ไม่ได้ภาวนาไม่สามารถแยกขันธ์ได้ เวลาเห็นร่างกายหายใจก็คิดว่าเราหายใจ แต่ถ้าดูไปเรื่อยร่างกายมันหายใจต่างหาก ร่างกายมันหายใจเข้า ร่างกายมันหายใจออก นี่มันไม่เที่ยง ทำไมมันต้องหายใจเข้าแล้วก็หายใจออก ทำไมหายใจออกแล้วหายใจเข้า เพราะมันถูกความทุกข์บีบคั้น นั่นคือเป็นทุกข์ แล้วดูลงไปอย่างแท้จริงร่างกายเป็นแค่วัตถุ เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สมบัติของโลก เรามายืมใช้ชั่วคราวเอง ฉะนั้นร่างกายเป็นแค่วัตถุธาตุของโลก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ยืมเขามาใช้วันหนึ่งก็ต้องคืนเจ้าของ อย่างนี้เราเห็นอนัตตา เรามารู้ความจริง ดูลงในกาย เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้ถือว่าเราเจริญปัญญาแล้ว

แต่ก่อนจะเห็นตรงนี้ได้ เราก็ต้องแยกขันธ์ให้ออกก่อน แยกร่างกายกับจิตคนละอันกัน ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดู กายกับจิตคนละส่วนกัน ถ้ากายกับจิตรวมกันมันจะกลายเป็นตัวเรา กลายเป็นเราขึ้นมาแล้ว แต่ถ้าเราสามารถแยกขันธ์ออกไปได้ ขันธ์แต่ละขันธ์ๆ กายก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง เวทนาก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง สัญญาอันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง สังขารอันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง วิญญาณก็คือตัวจิตที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ละตัวๆ จิตที่เกิดที่ตาก็อันหนึ่ง จิตที่เกิดที่หูก็อันหนึ่ง จิตที่เกิดที่ใจก็เป็นอีกอันหนึ่ง คนละอันกัน ก็ค่อยๆ แยกๆๆ ไป สุดท้ายจะพบว่าแต่ละอย่างไม่มีตัวเราหรอก

อย่างหยาบที่สุดเลยก็ดูลงในร่างกาย ร่างกายกำลังนั่งอยู่ รู้สึกลงไปร่างกายมันนั่ง สังเกตดูร่างกายที่นั่งมันบอกไหมว่ามันเป็นตัวเรา หรือร่างกายที่เดินมันบอกไหมว่าร่างกายเป็นตัวเรา ร่างกายไม่เคยพูดอะไรเลย ใจเราต่างหากเป็นคนพากย์ เป็นคนคิด ฉะนั้นตัวกายจริงๆ มันเป็นวัตถุเท่านั้นเอง เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง ไม่มีชีวิตจิตใจอะไรหรอก เป็นแค่ก้อนธาตุ ดูความจริงลงไปจะเห็นร่างกายนี้ไม่ใช่เราหรอก อย่างนั่งอยู่ คนไม่ได้ภาวนาถามว่านั่งอยู่รู้ไหม รู้ เรากำลังนั่ง มันมีเราขึ้นมาแล้ว แต่ถ้าจิตมันแยกมาเป็นคนดูได้ มันนั่งอยู่นี่มันก็จะเห็นร่างกายมันนั่งจิตเป็นคนรู้คนดู ร่างกายมันยืนจิตเป็นคนรู้คนดู ร่างกายมันเดินจิตเป็นคนรู้คนดู ร่างกายมันนอนจิตเป็นคนรู้คนดู ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า จิตเป็นคนรู้คนดู ต้องมีจิตที่แยกออกมา เราถึงจะแยกขันธ์ได้ พอแยกขันธ์ได้แล้ว เราจะเห็นว่าขันธ์แต่ละขันธ์ไม่ใช่ตัวเราหรอก

 

วิธีแยกขันธ์ที่ง่ายที่สุด

ฉะนั้นเราต้องพยายามฝึก ค่อยๆ รู้สึกไป คนไหนยังแยกขันธ์ไม่เป็น ทำใจให้สบาย จะสอนวิธีแยกขันธ์ที่เบสิกที่สุด ง่ายที่สุด ทำใจสบายๆ อย่าคิดเรื่องแยกขันธ์ อย่าคิดเรื่องธรรมะ รู้สึก รู้สึกไหมร่างกายกำลังนั่งอยู่ รู้สึก ถ้าเรารู้สึกร่างกายกำลังนั่งอยู่ ค่อยๆ รู้สึกไป จะเห็นเลยร่างกายมันเป็นของถูกรู้สึก เป็นของถูกรู้ ทันทีที่มีสิ่งที่ถูกรู้ มันก็มีจิตผู้รู้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เป็นเรื่องง่ายๆ แค่นี้เอง คือเมื่อไรเรารู้สภาวะได้ เมื่อนั้นจิตผู้รู้มันจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ อย่างส่วนใหญ่ที่ครูบาอาจารย์สอน จิตหนีไปคิด จิตหนีไปคิดเรารู้ จิตหนีไปคิดคือจิตอะไร คือจิตฟุ้งซ่าน ทันทีที่รู้ว่าจิตหนีไปคิด หรือรู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน เรารู้สภาวะแล้ว จิตฟุ้งซ่านคือจิตที่มีอุทธัจจะ พอเรารู้สภาวะปุ๊บ จิตฟุ้งซ่านมันเป็นอกุศล มันดับทันทีที่สติเกิด แล้วตัวรู้มันจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ

การที่เราจิตไหลไปแล้วเรารู้ ก็เกิดผู้รู้ขึ้นมา อันนี้ไม่ได้มีวิธีแค่นี้หรอก อย่างเรานั่งอยู่ รูปนั่ง ตัวรูปธรรมนี้เป็นสภาวธรรม รูปนี้มันนั่งอยู่ แล้วเราเห็นว่ารูปมันนั่ง นี่เรียกว่าเราเห็นสภาวะแล้ว ผู้รู้มันก็เกิด ลองยิ้มหวานสิ ทุกคนลองยิ้มหวานๆ ยิ้ม รู้สึกถึงร่างกายที่ยิ้ม แค่รู้สึก เห็นร่างกายมันยิ้ม แค่นี้ตัวผู้รู้มันก็เกิดแล้ว เห็นไหมธรรมะจริงๆ ไม่ได้วิเศษวิโสแบบยากเย็นเข็ญใจ มนุษย์ธรรมดาทำไม่ได้ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนเป็นธรรมะระดับกลางๆ เท่านั้นเอง เป็นระดับที่มนุษย์ธรรมดาๆ อย่างพวกเราทำได้ สิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ท่านไม่สอนหรอก อย่างท่านสอนเทวดาท่านสอนอภิธรรม ทำไมท่านไม่สอนอภิธรรมให้มนุษย์ เพราะมนุษย์เอาไปทำอะไรไม่ได้ อย่างเรียนอภิธรรมก็เอาไว้สอบ สอบเสร็จแล้วก็ลืมไม่ได้อะไรเท่าไร สิ่งที่ท่านสอนมนุษย์มันรวมอยู่ในพระสูตร ที่พระสาวกผู้ใหญ่ท่านสอนรวมอยู่ในพระสูตร อันนี้ล่ะเป็นสิ่งที่เราทำได้จริง

ฉะนั้นธรรมะไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยที่เราจะทำได้ เป็นเรื่องที่คนธรรมดาทำได้ ขอให้สนใจที่จะทำเท่านั้น อย่างตอนนี้นั่งอยู่รู้สึกไหม ร่างกายมันนั่งรู้สึกไหม พยักหน้ารู้สึกไหม แค่รู้สึก รู้สึกไปเรื่อยๆ รู้สภาวะไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งมันจะสังเกตเห็น นี่มันแค่ของถูกรู้ รู้สึกไหมร่างกายมันของถูกรู้ ตัวนี้ถูกรู้ พอมันถูกรู้ผู้รู้มันมีเอง ผู้รู้มันเกิดอัตโนมัติแล้ว แต่แรกๆ มันเกิดแรกๆ ยังจับมันไม่ถูก ยังดูมันไม่ออกไม่เป็นไร รู้สภาวะไปเรื่อยๆ อย่างรู้ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ถึงจุดหนึ่งก็จะรู้สึก จะรู้ขึ้นมาร่างกายที่หายใจออก หายใจเข้ามันของถูกรู้ถูกดู มันไม่ใช่ตัวเราหรอก ของมันง่ายๆ แค่นี้ล่ะ ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน มันถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเราหรอก บางคนเรียนเห็นร่างกายหายใจ ก็เรียนมุ่งไปทางอานาปานสติ สูงสุดเลยละเอียดที่สุดเลยมี 16 ขั้น แบ่งเป็น 4 – 4 – 4 – 4

4 อันแรกอยู่ในกายานุปัสสนา 4 อันที่สองอยู่ในเวทนานุปัสสนา 4 อันที่สามอยู่ในจิตตานุปัสสนา 4 อันที่สี่อยู่ในธัมมานุปัสสนา รวมแล้ว 16 ขั้น ในยุคนี้หลวงพ่อยังเห็นคนที่ทำอานาปานสติทั้ง 16 ขั้น ยังไม่เคยเจอเลย ฉะนั้นเราทำแค่เบื้องต้นก่อน ถ้าทำได้แค่ 4 ขั้นก็ถือว่าโอเคแล้ว เราได้อัปปนาสมาธิที่เข้มแข็งแล้ว แต่ว่าจริงๆ แล้วยังไม่ค่อยจะได้กันเท่าไร นี้จะไปมุ่งทำหายใจเพื่อให้เกิดฌาน หรือหายใจเพื่อให้เกิดปัญญา อย่าง 16 ขั้นนี้ครอบคลุมถึงปัญญาเลย หรือจะหายใจแค่เพื่อความสงบถึงฌานที่ 4 แค่นี้ก็ทำยากแล้ว วิธีที่ง่ายกว่านั้น เห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนรู้สึก ไม่ใช่ไปรู้ลมหายใจ ถ้ารู้ลมหายใจ ลมจะค่อยระงับกลายเป็นแสง จากแสงสว่างย่อได้ขยายได้ จิตก็จะเข้าสู่ฌาน ก็เข้าไปถึงฌาน 1 2 3 4 ลมหายใจระงับไป เหมือนกับไม่หายใจ อันนั้นพวกเราทำยากในยุคนี้

 

อานาปานสติ

ฉะนั้นถ้าเราจะรู้การหายใจ เอาง่ายๆ เลยเห็นร่างกายหายใจ ไม่ใช่เห็นลมหายใจ ถ้าเห็นลมหายใจมันจะมุ่งไปทางกสิณ กสิณลมอะไรพวกนี้ลูกเล่นมันเยอะ อานาปานสติเป็นกรรมฐานที่พิสดารกว้างขวางที่สุดเลยในกรรมฐานทั้งหลาย เรียกว่าเป็นเหมือนเป็นกรรมฐานแม่บท ครอบคลุมกรรมฐานอื่นๆ ไว้ทั้งนั้น เราเล่นอย่างนั้นไม่ไหว เล่นไม่ไหวเราเอาของง่าย เอาที่เราทำได้ หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก แค่รู้สึก

ลองไปดูในสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าสอน “ดูกรภิกษุทั้งหลายให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง” คู้บัลลังก์คือนั่งขัดสมาธิ ทำไมต้องนั่งขัดสมาธิ มันเป็นท่านั่งกับพื้นที่นั่งได้นานที่สุด ถ้าของเรายุคนี้นั่งกับพื้นไม่เป็น นั่งเก้าอี้ก็ได้แต่อย่าถึงขนาดเก้าอี้นวม นั่งแล้วหลับก็แล้วกัน หรือเก้าอี้นั่งแล้วก็นวดไปด้วย ไม่ได้เรื่องหรอก เก้าอี้ธรรมดาอย่างนี้ล่ะ นั่ง ถนัดนั่งเก้าอี้ก็นั่งเอา นั่งแล้วก็เห็นร่างกายมันหายใจ “ดูกรภิกษุทั้งหลายให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง” ตั้งกายตรงก็คือตรงตามสภาพของเรา ไม่ได้ตรงแบบนักเรียนนายร้อย นักเรียนเตรียมทหารตรงเป๊ะเลย ตรงทื่อๆอันนั้นโอเวอร์ไปเราไม่ได้เป็นทหาร หรือเป็นทหารเราก็ไม่ได้อยู่ในแถวตลอดเวลา ฉะนั้นเราตัวตรงๆ ก็คือไม่ได้นั่งระทดระทวย เดี๋ยวก็หลับ เอาแค่ตรงๆ ไม่ต้องตรงเป๊ะอย่างนี้หรอก เมื่อย

“คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า” สติเฉพาะหน้า คืออยู่กับปัจจุบัน เห็นร่างกายหายใจออกยาว รู้ว่าร่างกายหายใจออกยาว เห็นไหม รู้ว่าร่างกายหายใจออกยาว ร่างกายหายใจเข้ายาวก็รู้ว่าร่างกายหายใจเข้ายาว ท่านบอกว่าหายใจออกยาว ก็รู้ว่าหายใจออกยาว ใครเป็นคนหายใจออกยาว ร่างกายหายใจออกยาว เราก็เห็นร่างกายหายใจออกยาว ร่างกายหายใจเข้ายาว ร่างกายหายใจออกสั้น ร่างกายหายใจเข้าสั้น ร่างกายหยุดหายใจ มันจะหยุดเป็นระยะๆ เวลามันสงบรวมลงไป มันเหมือนไม่หายใจได้ชั่วคราว ให้รู้ที่ร่างกายไม่ใช่รู้ที่ลม แค่รู้สึกร่างกายไปเรื่อยๆ

ถ้าไม่ถนัดที่จะรู้ร่างกายหายใจ ก็ดูร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน นั่งอยู่รู้สึกร่างกายนั่ง หรือรู้ละเอียดลงไปอีก ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ร่างกายเคลื่อนไหว เช่น ร่างกายยิ้มๆ ยิ้ม ร่างกายยิ้ม ก็เห็น คือรู้สึก รู้สึกว่าร่างกายมันกำลังยิ้ม พยักหน้า รู้สึกว่าร่างกายพยักหน้า รู้สึกๆๆ ไป สุดท้ายเราจะดูออกเลยว่า ร่างกายนี้มันของถูกรู้ถูกดู มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก ไปฝึก เอาเท่านี้ก่อนก็พอ

 

เวทนาในกายในใจ

ใครไม่ถนัดรู้ร่างกายก็ดูเวทนาไปก็ได้ ความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในกาย ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ เกิดขึ้นในใจ ไม่ได้ดูเพื่อให้หาย อย่างความทุกข์เกิดในร่างกาย ไม่ได้ดูเพื่อให้หายปวดหายเมื่อย แต่ดูไปเรื่อยๆ มันเป็นของถูกรู้ มันไม่เที่ยงหรอก ความทุกข์ในร่างกายมันขยับขึ้นขยับลง เดี๋ยวทุกข์มาก เดี๋ยวทุกข์น้อย ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวหายไป เดี๋ยวมาใหม่ มีแต่ของไม่เที่ยง หรือความสุขเกิดขึ้น ความสุขก็ทนอยู่ไม่ได้นาน เดี๋ยวก็หายไป เกิดความเฉยๆ ขึ้นมาแทน หรือเกิดความทุกข์ขึ้นมาแทน มันหมุนตลอดเวลา

ฉะนั้นตัวเวทนาในกายในใจนี้ มีแต่ความเปลี่ยนแปลง ในกายนี้เปลี่ยนแปลงช้าหน่อย แต่ในใจนี้เปลี่ยนเร็วมาก คิดเรื่องนี้ปุ๊บมีความสุข คิดเรื่องนี้ปุ๊บมีความทุกข์ เปลี่ยนรวดเร็ว แต่เวทนาทางกายก็เปลี่ยนช้าหน่อย อย่างเวลาความปวดความเมื่อยเกิดขึ้น จะไปนั่งดูให้มันหายปวดหายเมื่อย นาน อย่างนั่งสมาธิขาเป็นเหน็บชา รู้จักไหมเป็นเหน็บชา เป็นเหน็บชาแล้วถ้าใจแข็งนั่งมันไปเรื่อยๆ ไม่ลุกขึ้นมา สุดท้ายมันหายเหน็บชามันหายได้เอง เพราะมันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นร่างกายมันจะสุข หรือมันจะทุกข์อะไร มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน

เวลามันทุกข์ วิธีดูให้เห็นว่ามันเป็นอนิจจัง ดูดีกรีของความทุกข์ อย่างเราปวดหัว เราสังเกตไปหัวมันปวดเราดูไป เราจะพบว่าความปวดมันขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวปวดมาก เดี๋ยวปวดน้อย เดี๋ยวปวดมากเหมือนหัวจะแตกแล้ว เดี๋ยวก็เบาลงนิดหนึ่ง เดี๋ยวแรงขึ้น หัดรู้หัดดูไป ต่อไปเราจะเห็นเลยความปวดนี้มันไม่เที่ยง แกว่งขึ้นแกว่งลง แต่ถ้าเป็นความทุกข์ในใจ หรือสุขในใจเกิดดับรวดเร็ว แต่ในกายดูดีกรีของมัน มันเปลี่ยนแปลง ค่อยๆ ดู ดูไปๆ ก็จะเห็นมีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของที่ถูกบีบคั้น อย่างร่างกายนี้ความทุกข์เกิดขึ้น ความทุกข์ก็ถูกบีบคั้นแต่มันนาน อย่างนั่งไปหลายชั่วโมงที่เป็นเหน็บแล้วหาย มันใช้เวลานาน แต่ถ้าเวทนาทางใจนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเลย หลวงพ่อเลยแนะนำให้ดูเวทนาทางใจ

 

จิตทรงตัวจากขณิกสมาธิ

เวทนาทางกายเราจะทำได้ ถ้าจิตเราทรงพลังจริงๆ มีสมาธิจริงๆ ถ้าจิตไม่มีสมาธิพอไปดูเวทนาทางกายเดี๋ยวสติแตก ทุรนทุราย ฉะนั้นเข้าฌานไม่ได้ก็ดูเวทนาทางใจ ดูง่าย เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็เฉยๆ สลับไปเรื่อยๆ แล้วเราก็เห็นความรู้สึกสุข มันเป็นคนละอันกับจิตที่เป็นคนรู้ว่าสุข เราจะเห็นเริ่มเห็นแล้วขันธ์มันแยกออกไปอีก เวทนากับจิตมันก็คนละอันกัน คือเราเห็นสภาวะคือตัวเวทนาทางใจ พอเราเห็นสภาวะเราก็จะรู้เลย ความสุขนี้ก็ของถูกรู้ ความทุกข์นี้ก็ของถูกรู้ พอเห็นว่ามันเป็นของถูกรู้ ผู้รู้มันเกิดขึ้นอัตโนมัติ แรกๆ เรายังไม่รู้จักหรอก มันเกิดสั้นๆ แวบหนึ่งก็ดับ แต่เรารู้บ่อยๆ รู้บ่อยๆ ผู้รู้เกิดถี่ๆ ขึ้นมา จิตเราจะมีสมาธิทรงตัวขึ้นมาได้ จากจุดเล็กๆ มีสมาธิเป็นขณะๆๆ รู้สภาวะถูกต้อง จิตก็จะมีสมาธิขึ้นขณะหนึ่ง เป็นขณิกสมาธิ

ฉะนั้นรู้สภาวะถ้ารู้ได้ถี่ๆ รู้ได้ถี่ๆ ขณิกสมาธิเกิดบ่อยๆ จนเกิดถี่ยิบ ตรงที่มันเกิดถี่ยิบมันเหมือนจิตผู้รู้ซึ่งผ่านฌานมา เพียงแต่อายุมันสั้นกว่าเท่านั้น มันทรงตัวอยู่ได้ช่วงหนึ่ง แต่ถ้าออกจากฌานมาตัวผู้รู้มันก็จะทรงตัวเด่นดวงอยู่ได้ แต่ก็ไม่เกินอาทิตย์หนึ่งก็เสื่อม แต่ถ้าเรารู้สภาวะปุ๊บจิตผู้รู้ก็จะเกิดขึ้นชั่วขณะ เดี๋ยวก็เกิดอีกๆ รู้ไปเรื่อยๆ พอมันเกิดถี่ๆๆๆ แล้วรู้เรื่อยๆ มันจะเหมือนทรงตัวอยู่ ที่จริงจิตไม่เคยทรงตัวอยู่หรอก เพราะจิตเกิดดับรวดเร็ว เกิดปุ๊บดับปั๊บ เรารู้สึกว่าจิตเราทรงเยอะ เพราะว่าจิตรู้มันเกิดบ่อย มันเกิดถี่ๆๆ ขึ้นมามันเหมือนรู้อยู่ได้ทั้งวัน ค่อยๆ ฝึกไปแล้วจะเห็น สุขทุกข์มันถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ค่อยๆ ล้างความเห็นผิดลงไป

ถ้าดูกายก็เห็นกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ความสุข ความทุกข์ ก็ของถูกรู้ถูกดูไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดูลงไปเลยกุศล อกุศลทั้งหลาย กุศล อกุศลทั้งหลาย มันตามหลังสัญญาและเวทนามา ตัวเวทนาคือตัวความรู้สึกสุขทุกข์ กับตัวสัญญาการจำได้หมายรู้ บางทีเวทนามันเด่น กระทบเวทนาปุ๊บ อย่างเราเจ็บถูกไม้ฟาดขาเปรี้ยง ขาหัก ร่างกายมันเจ็บมีเวทนารุนแรง จิตใจก็หวั่นไหว แต่ก่อนจะหวั่นไหวมันมีการหมายรู้ก่อน อุ๊ย ขาของเราเจ็บแล้ว ขาของเราจะหักแล้ว มันมีการหมายรู้ผิดๆ หมายรู้วัตถุอันนี้ว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา ใจก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา กังวล ขาเราหักแล้ว

กระบวนการทำงานมันจะทำงานอย่างนี้ แต่เราไม่ต้องดูละเอียดขนาดนี้ มันเห็นเอง ค่อยภาวนาเรื่อยๆ แล้วมันเห็นเอง ตอนนี้เอาแค่ง่ายๆ ก็คือใจเรามีความสุขเรารู้ ใจเรามีความทุกข์เรารู้ ใจเราเฉยๆ เรารู้ ก็จะเห็นสุขทุกข์เฉยๆ ไม่ใช่เรา ใจมีความโลภเกิดขึ้นก็รู้ ใจมีความโกรธเกิดขึ้นก็รู้ ใจหลงไปก็รู้ หรือในทางกลับกันใจไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงก็รู้ ฉะนั้นอย่างถ้าคนขี้โมโหเราก็สังเกตไป จิตเดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ ดูอย่างนี้ แล้วต่อไปก็จะเห็นเลยความโกรธมันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ นี่แสดงไม่เที่ยง ความโกรธก็ไม่ยั่งยืน อยู่แล้วก็เดี๋ยวก็แตกสลายไป มันทนอยู่ไม่ได้คือทุกขัง แล้วจิตจะโกรธหรือจิตจะไม่โกรธสั่งไม่ได้ มันโกรธได้เอง มันหายโกรธได้เอง อันนั้นคืออนัตตา ที่สำคัญง่ายๆ เลย มันเป็นของถูกรู้ถูกดู

ถ้าเราเห็นว่าความโกรธเป็นของถูกรู้ เราจะรู้สึกเลยว่าความโกรธไม่ใช่ตัวเราหรอก มันเป็นของถูกรู้ถูกดู คนที่รู้ที่ดูมันอยู่ต่างหาก คือจิตที่เป็นคนรู้คนดูมันอยู่ต่างหาก ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่วทั้งหลายล้วนแต่ของถูกรู้ถูกดู เพราะฉะนั้นเราดูไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นร่างกายก็ของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เรา เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ก็ของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเราเพราะเราสั่งมันไม่ได้ คำว่าอนัตตา มองได้หลายแง่มุม ไม่ใช่แปลว่าสั่งไม่ได้อย่างเดียว หรือไม่ได้แปลว่าไม่ใช่ตัวเราอย่างเดียว ทั้งหมดไม่ใช่ตัวเรา แต่มันมองได้หลายแง่หลายมุม อย่างวัตถุ ร่างกายมันเป็นวัตถุ เป็นสมบัติของโลกอย่างนี้ ดูได้ง่ายว่าไม่ใช่เรา

จิตใจนี้เราเฝ้ารู้เฝ้าดูไว้สุข ทุกข์ ดี ชั่ว หรือจิตที่ออกรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีแต่เกิดแล้วดับ ตรงที่สุขเกิดแล้วดับ ทุกข์เกิดแล้วดับ ดีเกิดแล้วดับ ชั่วเกิดแล้วดับ จิตที่ไปดู ไปฟัง ไปดมกลิ่น ลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ มีแต่เกิดแล้วดับ อันนี้เห็นอนิจจัง แล้วเราเห็นว่าเราสั่งไม่ได้ เราสั่งให้จิตมีความสุขตลอดกาลไม่ได้ ห้ามจิตอย่าทุกข์ไม่ได้ ตรงที่เราไม่มีอำนาจเหนือ นี่เป็นการเห็นอนัตตาอีกมุมหนึ่ง เราไม่มีอำนาจเหนือมัน ถ้ามันเป็นอัตตาเป็นตัวเราจริงๆ เราต้องมีอำนาจเหนือมัน แต่นี้เราไม่มี

 

ล้างความเห็นผิดเป็นลำดับๆ ไป

เฝ้ารู้เฝ้าดู เราจะค่อยๆ ล้างความเห็นผิดเป็นลำดับๆ ไป รูปนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เวทนาคือความรู้สึกสุข ทุกข์ ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ ก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นแค่ของถูกรู้ถูกดู เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป สังขารทั้งหลาย ความปรุงดี ความปรุงชั่วทั้งหลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา สั่งไม่ได้ จิตเองก็สั่งมันไม่ได้ เดี๋ยวจิตก็ไปดูรูป เดี๋ยวจิตก็ไปฟังเสียง เดี๋ยวจิตก็ไปคิด เลือกไม่ได้ ทดสอบดูก็ได้ลองมองอะไรข้างหน้า มองตอนนี้ส่วนใหญ่ก็มองจออยู่ใช่ไหม ลองมองจอภาพแล้วมองให้เห็นหลวงพ่อให้ชัดเจนตลอดเวลา ลองดูสิทำได้ไหม สังเกตไหมเห็นหลวงพ่อชัดแวบเดียวเท่านั้น แล้วมันจะเบลอๆ แล้วต้องดูใหม่ ต้องตั้งใจดูอีกทีก็ชัดขึ้นอีกนิดหนึ่ง เดี๋ยวก็เบลออีกแล้วก็ต้องดูอีก นี่จิตที่เกิดที่ตา เกิดแล้วดับ เห็นรูปนี้เห็นชัดอยู่แวบเดียว เดี๋ยวก็ไม่เห็นแล้ว ทำไมเรารู้สึกว่าเราเห็นได้ตลอดเวลา ที่เราเห็นอย่างนั้นเพราะสัญญามันหลอกเรา มันจำรูปเก่าได้ พอเห็นรูปใหม่มันก็เอามาลิงก์กัน ก็เลยรู้สึกว่าเราเห็นอยู่ตลอดเวลา ที่จริงไม่ใช่ เราเห็นเป็นขณะๆ เท่านั้นเอง

ค่อยๆ เรียนค่อยๆ รู้ลงไป เราก็จะค่อยๆ รู้ถูกเข้าใจถูก จิตจะเกิดที่ตา หรือจิตจะเกิดที่หู หรือจิตจะคิด สั่งไม่ได้ เลือกไม่ได้ ลองดูลองสั่งต่อไปนี้ห้ามคิด ลองดูสักแป๊บหนึ่ง ห้ามคิด คิดไหม บางคนบอกไม่ได้คิดท่องพุทโธอยู่ อ้าว พุทโธก็คิดนั่นล่ะ แต่ว่าคิดพุทโธ มันก็คิดนั่นล่ะ จิตจะคิดห้ามไม่ได้เห็นไหม เขาแสดงอะไร เขาแสดงอนัตตาให้ดู ฉะนั้นเราดูลงในขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณก็คือตัวจิตที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งหมดเต็มไปด้วยความไม่เที่ยง ทั้งหมดทนอยู่ไม่ได้ในสภาวะอันใดอันหนึ่ง ทั้งหมดไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อย่างร่างกายก็เป็นสมบัติของโลก นามธรรมทั้งหลายก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ คำว่าอนัตตามันมีหลายมุม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับก็เป็นมุมของอนัตตาอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สมบัติของเราก็เป็นมุมหนึ่ง ดูได้หลายอย่าง

 

เฝ้ารู้เฝ้าดู ไปทำเอา ธรรมะเรียนด้วยการฟังไม่ได้เรื่องหรอก เรียนด้วยการฟัง ด้วยการอ่าน เดี๋ยวก็ลืม แต่เรียนด้วยการเห็นของจริง ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านบอกมีดวงตาเห็นธรรม ท่านไม่ได้บอกว่ามีสมองไว้ฟังไปจำธรรมะ ไม่ได้สอนอย่างนั้น ไม่ได้บอกว่าเอาหูไปฟังธรรม หูมันฟังอะไรได้ หูมันฟังเสียงได้ แต่จิตมันฟังธรรมได้ มันเห็น เห็นความจริง เขาเรียกว่ามันกำลังเรียนธรรมะอยู่ ฉะนั้นเราพาจิตใจของเรานี้เรียนความจริง ร่างกายนี้ถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ความรู้สึกสุข ทุกข์ มันถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา กุศล อกุศลทั้งหลายถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา วิญญาณคือจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดดับๆ สั่งไม่ได้ เลือกไม่ได้ มันไม่ใช่ตัวเรา

เราลองดูสิว่าสั่งไม่ได้ เลือกไม่ได้จริงไหม สังเกตให้ดีตอนที่นั่งดูหลวงพ่อเทศน์อยู่นี้ เราดูจออยู่ใช่ไหม สังเกตไหมเดี๋ยวก็เห็นรูปหลวงพ่อชัด เดี๋ยวเสียงหลวงพ่อก็ชัด ช่วงที่ได้ยินเสียงหลวงพ่อตาเราจะเบลอลงไปแล้ว จะเห็นรูปไม่ชัดหรอก เพราะอะไร เพราะจิตไปอยู่ที่หู จิตมันเกิดดับ ถ้าจิตเกิดที่ตามันก็เห็นรูปชัด แต่เห็นได้แวบเดียวไปฟังเสียงที่หลวงพ่อเทศน์แล้ว จิตไปเกิดที่หูฟังเสียงได้ชัด ฟังได้นิดเดียวเข้ามาคิดทบทวนสิ่งที่หลวงพ่อพูด สังเกตไหมฟังไปคิดไป ถ้าฟังแล้วไม่ทบทวนจะสักแต่ว่าได้ยิน ไม่ได้อะไรเลย

เพราะฉะนั้นที่เราเข้าใจธรรมะ เข้าใจ ฟังหลวงพ่อเทศน์แล้วเข้าใจๆ รู้หรือยังว่าไม่ได้เข้าใจหรอก คิดเอา ฟังหลวงพ่อพูดใช่ไหม ตาก็ดูสลับกับหูฟัง ถัดจากนั้นสลับลงไปที่ใจมันคิด ขณะที่นั่งดูจอภาพอยู่นี้ อายตนะ 3 ตัวที่ทำงานหลักๆ คือตา หู ใจ 3 ตัวนี้สลับกันตลอดเวลา ไปรู้ไปดูแล้วจะรู้เลยว่า เออ จิตที่เกิดที่ตาแล้วก็ดับ เกิดที่หูแล้วก็ดับ เกิดที่ใจคือจิตที่ไปคิดก็เกิดแล้วก็ดับ กำลังคิดๆ อยู่ อ้าว หลวงพ่อพูดเสียงดังขึ้นมา จิตมันสนใจมันมาเกิดที่หูแล้ว หรือหลวงพ่อเกิดทำท่าแปลกๆ อะไรขึ้นมา จิตมันสนใจหลวงพ่อทำท่าแปลกๆ ใบ้หวยหรือเปล่า นี่ให้หวยๆ พวกเล่นหวยมันก็จะดูอะไรก็เป็นหวยหมดล่ะ มันก็ลืม ขณะนั้นลืมคิดธรรมะแล้วไปคิดเรื่องหวย เห็นมือนี้ สังเกตเรื่อยๆ ตัววิญญาณมันเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เวลาซ้อม ซ้อม 3 ช่อง ดูจอภาพ ดูยูทูปที่หลวงพ่อเทศน์ เราจะเห็นเลยเดี๋ยวก็ใช้ตา เดี๋ยวก็ใช้หู เดี๋ยวก็ใช้ใจไปคิดทบทวน สลับไปเรื่อยๆ แล้วตาจะดู หรือหูจะฟัง หรือใจจะคิด มันทำงานได้เอง เราไม่ใช่ตั้งใจว่าจะฟัง 1 นาทีแล้วจะมาคิดอะไรอย่างนี้ สั่งไม่ได้ ทำไม่ได้ ตรงสั่งไม่ได้ทำไม่ได้ตรงนั้นล่ะ อนัตตา

เรามาเฝ้ารู้ลงในขันธ์ 5 ทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สัญญานี่หลวงพ่อเว้นไว้ก่อน มันยาก ที่จริงมันไม่ยากหรอกถ้าภาวนา อย่างเรานั่งๆ อยู่ดีๆ ไม่ได้คิดไม่ได้นึกอะไรเลย นั่งของเราพุทโธๆ ของเราสบายๆ คิดพุทโธอยู่อย่างเดียว อยู่ๆ หน้าของคนๆ หนึ่งโผล่ขึ้นมา หน้าของคนนี้โผล่ขึ้นมา มันผุดขึ้นมาเองเราไม่ได้เจตนา พอมันผุดขึ้นมาเราก็จำได้นี่ศัตรูเรา โทสะก็เกิดสังขารทำงานต่อ สัญญามันผุดขึ้นมา สังขารก็ผุดขึ้นมา หรือเวทนามันเกิดขึ้นมา สังขารมันก็ผุดขึ้นมา สัญญากับเวทนานั่นล่ะ มันเลยเป็นตัวที่ทำให้สังขารมันทำงานขึ้นมา เลยมีชื่อว่าจิตตสังขาร สิ่งที่เรียกว่าจิตตสังขาร สิ่งที่มาปรุงจิตก็คือตัวสัญญากับเวทนา สิ่งที่ปรุงกายคือลมหายใจ ถ้าไม่หายใจแล้วร่างกายนี้ก็หยุดทำงาน ก็แตกสลาย

เฝ้ารู้ลงไป สุดท้ายก็จะเห็นเลยว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วก็หายไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นอย่างนี้ เห็น ไม่ใช่คิด ถ้าใจเราประจักษ์แจ้งความจริงอันนี้ นี่คือภูมิธรรมของพระโสดาบัน ขั้นที่หนึ่ง นี่คือพระโสดาบัน ถัดจากนั้นก็ภาวนาต่อไปอีก จนกระทั่งเรารู้เลยกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นของโลก แล้วดูเรื่อยๆ ไปต่อไปมันจะรู้ กายนี้คือตัวทุกข์ มันทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะไม่อยู่ในอำนาจควบคุมบังคับ สั่งไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ สั่งไม่ให้เจ็บก็ไม่ได้ สั่งไม่ให้ตายก็ไม่ได้ รู้ความจริงกายนี้เป็นทุกข์จริงๆ ไม่ใช่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ถ้าเห็นอย่างนี้เป็นภูมิของพระอนาคามี

สุดท้ายการปฏิบัติมันจะตะลุมบอนลงที่จิต ขั้นต้นเราเห็นแล้วจิตไม่ใช่เราหรอก แล้วต่อไปก็จะเห็นเลยจิตนั้นคือตัวทุกข์ เห็นไหมมันมาลงที่ตัวทุกข์ เห็นกายเป็นตัวทุกข์ จิตก็จะปล่อยวางกาย เพราะเรื่องอะไรจะไปอุ้มตัวทุกข์เอาไว้ เห็นจิตเป็นตัวทุกข์มันก็ปล่อยวางจิต เรื่องอะไรมันจะไปอุ้มตัวทุกข์เอาไว้ เพราะฉะนั้นการเห็นทุกข์นั่นล่ะถึงจะปล่อยวางได้ ไม่เห็นทุกข์ไม่ปล่อยหรอก อย่างถ้าเรานั่งสมาธิ จิตมีแต่ความสุข ถามว่าจะปล่อยวางได้ไหม ไม่ได้หรอก ปล่อยไม่ได้หรอก หรือบางทีภาวนา ภาวนาไปคิดว่าภูมิธรรมเราเต็มที่แล้ว แต่ว่ายังห่วงจิตอยู่ กลัวจิตจะฟุ้งซ่าน ก็ประคองจิตอยู่ในรูปฌาน อรูปฌาน ทรงอยู่อย่างนี้ตลอดเลย จิตก็มีแต่ความสงบอยู่อย่างนั้น วิเวก ดูดีทุกสิ่งทุกอย่างเลย แต่ว่ามันยังติดอยู่ ยังติด ยังมีความหวงอยู่ อยากให้จิตนี้มันดีตลอด ให้มันเห็นแต่ความว่างตลอดเลย ตัวนี้ยังไม่พ้นขั้นสุดท้าย หลวงปู่ดูลย์ท่านถึงบอกว่า “นักปฏิบัติส่วนใหญ่ กระทั่งระดับครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่เป็นผีใหญ่” คือเป็นพระอนาคามี ปล่อยวางจิตไม่ได้จริง หวงจิต กลัวจิตจะไม่ดีก็ประคองจิตเอาไว้อย่างนั้น หรือฝึกจิตให้ทรงสมาธิอยู่ตลอดเวลา ทรงฌานอยู่ตลอดเวลา ทำไมต้องไปทรงไว้ตลอดเวลา ก็ยังรักมันอยู่กลัวมันไม่ดี

 

 

ค่อยๆ เรียนค่อยๆ ฝึกไป แล้วใจเราจะค่อยๆ พัฒนา ขั้นแรกเอาที่หลวงพ่อบอกนั่นล่ะ คอยรู้สึกลงในกาย ในเวทนา ในสังขาร ในจิต ดูไปเรื่อยเห็นแต่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูไปอย่างนี้ล่ะ ถ้าได้พระโสดาบันแล้ว ที่เหลืออย่างไรมันก็มาเอง เป็นปุถุชนมันก็เป็นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะภาวนาจนได้พระโสดาบัน แต่พอเป็นพระโสดาบันแล้ว อย่างไรวันหนึ่งก็ต้องเป็นพระอรหันต์ ไม่มีทางเลือกอย่างอื่นหรอก อย่างไรก็ต้องจบ เพราะฉะนั้นตรงการเป็นพระโสดาบันสำคัญที่สุดเลย ถ้าตัวนี้ไม่ผ่านโอกาสที่จะไปสูงกว่านั้นมันไม่มี แต่ถ้าตัวนี้ผ่านแล้ว อย่างไรก็ต้องจบจนได้ในวันหนึ่งข้างหน้า ฉะนั้นตัวนี้สำคัญที่สุด การเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ เรามีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม มีปัญญาเข้าใจความเป็นจริงของรูปธรรมนามธรรม ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะเข้าใจได้จิตต้องตั้งมั่น มีสมาธิที่ถูกต้อง จิตเป็นแค่คนดู ร่างกายนี้ถูกดูจิตเป็นคนดู อย่างนี้เรียกเรามีจิตตั้งมั่น พอเห็นความจริง กายนี้คือทุกข์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นทุกข์ มันจะค่อยๆ ปล่อย ปล่อยเป็นลำดับๆ ไป ปล่อยกายก่อนเพราะมันหยาบมันดูง่าย แล้วสุดท้ายมันก็ไปปล่อยจิตอีกทีหนึ่ง

ฉะนั้นตอนนี้นั่งอยู่รู้สึกไหม สังเกตไหมตอนที่ฟังหลวงพ่อเทศน์ นั่งอยู่ไม่รู้สึก รู้สึกไหม นึกได้หรือยัง ตอนที่นั่งฟังหลวงพ่อเทศน์ นั่งอยู่ก็ไม่รู้หรอก เพราะอะไร จิตมันสนใจที่จะฟัง ขณะนั้นจิตมันสนใจที่จะฟัง มันไม่สนใจที่จะรู้ว่าร่างกายกำลังนั่ง มันรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว เพราะฉะนั้นต่อไปนี้อย่ามัวแต่สนใจสิ่งอื่น ให้สนใจตัวเองไว้ ร่างกายหายใจออกรู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่งรู้สึกไป เช่น ยิ้มรู้สึก หน้าบึ้งรู้สึกไว้ รู้สึกไป รู้ไปเรื่อยๆ เราก็เห็นไตรลักษณ์ ทีแรกก็เห็นแค่ว่ามันไม่ใช่ตัวเรา ต่อไปก็เห็นลึกซึ้งลงไปมันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นตัวทุกข์ พอเห็นถึงตัวทุกข์นี่มันจะปล่อยวาง.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
5 มีนาคม 2565