ใช้อานาปานสติ มีลมหายใจเป็นวิหารธรรม มีความต้องการที่จะละสักกายทิฏฐิในชาตินี้ให้ได้

คำถาม:

ภาวนาในรูปแบบ ใช้อานาปานสติ มีลมหายใจเป็นวิหารธรรม ในชีวิตประจำวัน จะใช้การดูกายและจิต มีความต้องการที่จะละสักกายทิฏฐิในชาตินี้ ไม่ทราบมีอะไรติดข้องหรือเปล่าขอคำแนะนำด้วยค่ะ

หลวงพ่อ:

ทำอานาปานสติ มันไม่ได้ละสักกายทิฏฐิหรอก เพราะมันเป็นเรื่องของสมาธิ อย่างเราชอบคิดว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยอานาปานสติ ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าทำอานาปานสติ พอจิตตั้งมั่นมีกำลังแล้ว ท่านพิจารณาปฏิจจสมุปบาท พิจารณาว่าความทุกข์เกิดได้อย่างไร ความทุกข์เกิดจากจิตเข้าไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ที่ไปหยิบฉวยก็เพราะมันไปยึดถือ เพราะมันไปดิ้นรนปรุงแต่ง ดิ้นรนปรุงแต่งเพราะมันยึดถือ มันยึดถือเพราะมันมีความอยาก ท่านพิจารณา ท่านดูของจริง

เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากทำลายสักกายทิฏฐิ ดูลงไปสิ สักกายทิฏฐิเป็นความเห็นผิดของจิตว่ากายนี้ใจนี้ หรือรูปนาม ขันธ์ 5 นี้คือตัวเราของเรา เพราะฉะนั้นเราทำอานาปานสติ พอจิตเราตั้งมั่นแล้ว ดูลงไป ร่างกายที่นั่งอยู่เป็นตัวเราหรือเปล่า ร่างกายที่นั่งอยู่นี้เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ค่อยๆ ล้างความเห็นผิดว่ามีตัวตนไป ความรู้สึกสุขทุกข์มันเที่ยงไหม เที่ยง มันสั่งให้เกิดได้ไหม มันห้ามได้ไหม มันสั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ มันไม่ใช่ตัวเรา เพราะเราบังคับอะไรมันไม่ได้เลย นี่เวทนา ไม่ใช่ตัวเรา

ความจำได้หมายรู้ บางทีก็จำได้ บางทีก็จำไม่ได้ สั่งไม่ได้ ความปรุงดีปรุงชั่ว คือตัวสังขาร จิตจะดีหรือจิตจะชั่วสั่งได้ไหม อย่าชั่ว มันก็ชั่ว จงดี มันก็ไม่ยอมดี ดูของจริง ส่วนตัววิญญาณก็คือจิตที่เกิดทางอายตนะทั้ง 6 จิตจะไปดูรูป หรือจิตจะไปฟังเสียง หรือจิตจะไปคิด มันเป็นของมันเอง เราสั่งไม่ได้หรอก นี่หัดดูของจริง

ทำอานาปานสติให้จิตมีกำลัง ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว ดูธาตุดูขันธ์มันไปเลย แต่ละธาตุแต่ละขันธ์ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ค่อยๆ สังเกตเอา ไปทำอย่างนี้ ทำสมาธิมากไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา คนละเรื่องกันเลย เรื่องของสมาธิมันเป็นเรื่องทำจิตให้สงบกับทำจิตให้ตั้งมั่น ส่วนการเจริญปัญญา เป็นการฝึกจิตที่ตั้งมั่นแล้วให้มันฉลาด

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 19 พฤศจิกายน 2566