พอจิตมีแรง เราก็ต้องเอาจิตไปทำงาน ไปทำวิปัสสนา

คำถาม:

ภาวนาในรูปแบบโดยเดินจงกรมวันละ 1 ชั่วโมง ดูกายเคลื่อนไหว เห็นความคิด เห็นอารมณ์โกรธ เห็นความอยากได้บ่อยขึ้น ในชีวิตประจำวัน รู้อาการเคลื่อนไหว ตามรู้ความคิด เห็นว่าเมื่อมีการเพ่งร่างกาย จะหยุดหายใจชั่วคราว ขอคำแนะนำจากหลวงพ่อด้วยค่ะ

หลวงพ่อ:

ดี ทำอีก ทำไป ดูกายดูใจมันทำงานไปเรื่อยๆ แล้วก็หมายรู้มันสักนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรา ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ความรู้สึกนึกคิดก็เป็นสิ่งที่เราสั่งไม่ได้ รู้สึกไหม สั่งไม่ได้ ดูในมุมนี้เลย เป็นของสั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ เลือกไม่ได้

หัดดูไปเรื่อย แล้วทำในรูปแบบทุกวัน จิตจะได้มีแรง จิตก็ดี เริ่มมีแรงแล้วล่ะ พอจิตมีแรง เราก็ต้องเอาจิตไปทำงาน ไปทำวิปัสสนา การทำวิปัสสนา อย่างน้อยมันต้องมีเครื่องมือ 3 ตัว หนึ่ง มีจิตที่ตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ อันที่สอง สติระลึกรู้รูปธรรมหรือนามธรรม ไม่ใช่สติล่องลอยไปคิดถึงเรื่องอื่น สติรู้กายสติรู้ใจ อันที่สาม มีสัญญา หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจ

สัญญาเป็นคำที่พูดยากที่สุด มันคล้ายๆ คำว่าวิตก อย่างถ้าเราดูกายแล้วเราคิดว่าร่างกายเราไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้ยังไม่ใช่สัญญา อันนี้เป็นการคิดเอา เป็นการตรึกเอา เป็นวิตก แต่ทีแรกก็อาจจะต้องอาศัยวิตก อาศัยการตรึกว่าร่างกายไม่ใช่เราอะไรอย่างนี้จิตใจไม่ใช่เรา แต่พอถึงช่วงหนึ่ง ตรงที่สัญญามันทำงานได้เองแล้ว มันจะไม่ต้องคิด ไม่ต้องคิดหรอก

พอสติระลึกรู้กายด้วยจิตที่ตั้งมั่นปั๊บ มันจะรู้สึกเลย มันรู้สึกๆ เลยกายไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้ความสุขความทุกข์ สัญญามันจะเห็น ไม่ใช่เรา ความสุขความทุกข์ก็ไม่ใช่เรา เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ทนอยู่ไม่ได้ ทีแรกอาจจะต้องมีวิตก มีการช่วยมันคิด แต่ถ้าจิตมันหัดมองจนมันมองเป็นแล้ว มันมีสัญญาที่จะหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ได้แล้ว

ถึงตรงนั้นไม่ต้องไปคิดแล้ว เราก็จะมีจิตที่ตั้งมั่น คือสัมมาสมาธิ มีสติรู้กายรู้ใจ นั่นคือสัมมาสติ แล้วก็หมายรู้โดยที่ไม่ได้เจตนา หมายรู้กายหมายรู้จิตด้วยความเป็นไตรลักษณ์ มันเห็นเอง อย่างบางคนแปรงฟันอยู่ แปรงฟัน มือขยับๆ อยู่ๆ ปุ๊บ จิตมันหมายรู้เลย นี่เป็นท่อนๆ อะไรก็ไม่รู้ ไม่ใช่ตัวเราแล้ว อย่างนี้เรียกมันไปหมายรู้แต่ว่าหมายรู้นี้ยังน่าสงสาร เห็นแต่แค่มือ เห็นแต่แขน

ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ไม่ใช่คิด แต่เบื้องต้นก็อาศัยคิด หลวงปู่ดูลย์บอกว่า “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงจะรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิด” อาศัยคิดเพื่ออะไร เพื่อคิดลงเป็นไตรลักษณ์ มีจิตตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย คิดถึงกายว่าเป็นไตรลักษณ์ มีจิตตั้งมั่น สติระลึกรู้เวทนา รู้สัญญา รู้สังขาร รู้จิต ก็หมายถึงความเป็นไตรลักษณ์ หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของมัน อย่างนี้ดี ถ้าไปคิดเอาอย่างเดียว ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา ต้องให้จิตมันหมายรู้เอง ถึงจะเป็น

บางคนเคยภาวนามาแล้ว พอจิตสงบ ตั้งมั่นปุ๊บ มันหมายรู้เองเลย ถ้าบางคนมันไม่เคยทำวิปัสสนา ก็ช่วยมันหมายรู้ด้วยการตรึกเอาด้วยการมีวิตก ตรึกเอา เพราะฉะนั้นตรงที่สัญญาเข้าไปหมาย ไม่ได้คิดเอา เป็นการเข้าไปหมายรู้เอา ค่อยๆ ฝึก เดี๋ยววันหนึ่งมันก็ดีขึ้น

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 19 พฤศจิกายน 2566