เดินทางเดียวไม่เหยียบรอยกัน

เสาร์อาทิตย์หน้าหลวงพ่อไม่อยู่ จริงๆ ไม่อยู่ตั้งแต่วันศุกร์แล้ว ไปเผาศพพระอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์หลวงพ่อท่านชื่อสมศักดิ์ เป็นหลานแท้ๆ ของหลวงปู่ดูลย์ ท่านเป็นคนมองโลกแง่ดี มองโลกแบบขำๆ ได้ อะไรเกิดขึ้นท่านก็หัวเราะได้ เรียกมองโลกแง่ดีมีความสุข ท่านเล่าว่าตอนเด็กๆ หลวงปู่ไปที่บ้านท่าน ก็ไปบอกพ่อท่านว่ามีลูกหลายคน ขอลูกชายมาบวชสักคนหนึ่ง บอกพ่อหันไปหันมา ชี้ท่านเลย เอาคนนี้ มันไม่ทันเพื่อน หากินไม่ได้เท่าคนอื่นเขาหรอก คนนี้ล่ะไปบวช ก็เลยอยู่กับหลวงปู่มาตั้งแต่เป็นเณร อุปัฏฐากหลวงปู่มาตลอด

พอหลวงปู่เป็นเจ้าคณะจังหวัด ท่านก็เป็นเลขา ไปทำงานแทนหลวงปู่มาตลอด กระทั่งตระกรุด ตระกรุดของหลวงปู่ดูลย์อะไรนี่ อุปัชฌาย์หลวงพ่อเป็นคนจารแทนหลวงปู่ ท่านดูแลหลวงปู่มา 40 กว่าปี รู้เรื่องของหลวงปู่มากที่สุด เขียนหนังสือหลวงปู่ฝากไว้ น่าอ่านมากเลย อ่านแล้วก็รู้ว่าบุคลิกภาพหลวงปู่เป็นอย่างไร

ท่านเล่าเรื่องขำๆ เยอะก่อนนี้ ท่านบอกมีครั้งหนึ่งหลวงปู่ไปเยี่ยมบ้าน บ้านพี่น้องท่าน หลานสาวเป็นครูก็จัดที่ให้ท่านนอน ต้องพักที่บ้าน เขาก็ไปจัดที่นอนให้ หลวงปู่ก็นั่งคุยข้างล่าง พอเขาจัดที่นอนเสร็จ ลงมากราบหลวงปู่ บอกจัดที่นอนเสร็จแล้ว นิมนต์หลวงปู่ไปมรณภาพได้แล้ว บอก โอ้ คนอยากพูดภาษาพระๆ ใช้ศัพท์ไม่ถูก ท่านก็เล่าให้ฟังขำๆ อยู่กับท่านจะมีเรื่องแบบนี้เยอะ มองโลกขำดี มองอย่างนี้ ท่านเป็นเบาหวาน แล้วท่านก็บอกว่า เวลาคนเขาเอาของมาถวาย เราเป็นพระ เราเลือกไม่ได้ พระก็มีหน้าที่ฉัน หมอก็มีหน้าที่รักษา เป็นเรื่องของหมอ น้ำตาลขึ้นอะไรอย่างนี้ เป็นหน้าที่หมอต่างหาก ไม่ใช่หน้าที่ท่าน ท่านก็สบายๆ ของท่านอย่างนี้มาตลอดแต่ว่าฉลาด รู้จักมองโลกในมุมซึ่งมันไม่เครียด ฉะนั้นท่านไม่ใช่คนเครียด

มีคราวหนึ่งท่านลงมาอยู่ที่วัดนรนาถฯที่กรุงเทพฯ มาธุระ อันนี้ไหนๆ ก็จะเผาศพท่านแล้ว แอบเล่าเรื่องท่านให้ฟัง พอดีมีการปฏิวัติ พันเอกประจักษ์สมัยนั้นปฏิวัติ หลวงพ่อก็ออกจากที่ทำงานมาจากทำเนียบ ทางบกกลับบ้านไม่ได้แล้ววุ่นวายไปหมด ยิงกัน ก็กะจะมาลงเรือที่เทเวศร์ก็ผ่านวัดนรนาถฯ เลยแวะเข้าไป ไปเจอท่าน ไปนั่งอยู่กับท่านพักหนึ่ง ลูกศิษย์ที่วัดนรนาถฯเข้ามาบอกท่านว่าเขาเลิกยิงกันแล้วล่ะ ท่านบอกอย่างนั้นท่านตามหลวงพ่อไปด้วย ไปอยู่ทางเมืองนนท์ดีกว่า กรุงเทพฯมันวุ่นวาย พอพาท่านไปที่ท่าน้ำเทเวศร์ ไปลงเรือ เขายิงกัน ใช้ปืนรถถังยิงกันตูมๆ ท่านบอก โห มันหลอกเรา หนีกลับเข้าวัดนรนาถฯใหม่ เคยตกทุกข์ได้ยากกับท่านครั้งหนึ่ง

ตั้งแต่บวชหลวงพ่อก็ทำหน้าที่ของลูกศิษย์ตลอด ทุกปีก็ขึ้นไปทำสามีจิกรรม ไปกราบครูบาอาจารย์ก่อนเข้าพรรษา มีข้าวของ มีบาตร มีจีวร ของกินของใช้อะไร จะส่งไปให้ท่าน ทีหนึ่งเป็นรถบรรทุกเลยส่งไป ท่านก็เอาไปแจก ท่านบอกพระทั้งเมืองสุรินทร์ใช้จีวรหลวงพ่อ ไม่ใช่จีวรหลวงพ่อหรอก จีวรที่พวกเราให้ล่ะ ท่านทำประโยชน์ของท่านมาเรื่อยๆ เราก็ช่วยท่านเท่าที่ช่วยได้ ตอนนี้ทางสุรินทร์ครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์จริงๆ ก็ไม่มีแล้ว ที่เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่เห็นแล้ว ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่แบบเดิมแล้ว ไม่ใช่แบบกรรมฐาน ทางอิสานหลวงพ่อก็เหลือพระกรรมวาจาอยู่องค์ หลวงปู่ทอง องค์นี้ท่านจะนักเลงหน่อย ไม่ได้นักเลงไปตีกับใคร หมายถึงจิตใจห้าวหาญ เป็นอีกแบบหนึ่ง คนละแบบกับเจ้าคุณโพธิ์ ก็คิดอยู่ว่าสิ้น 2 องค์นี้ก็คงไม่ออกไปอิสานแล้ว ทำหน้าที่ของลูกศิษย์เสร็จแล้ว

 

คนหลายคนกินน้ำบ่อเดียว
เดินทางเดียวไม่เหยียบรอยกัน

ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านเมตตา แต่วิธีแสดงความเมตตาของท่าน ไม่ใช่มานั่งโอ๋เรา หลวงปู่ดูลย์ไม่ใช่พระที่โอ๋ใครเลย ตรงไปตรงมาที่สุดเลย ไปหาท่านถ้าใจเราไม่ได้คิดเรื่องภาวนา ท่านก็นั่งนิ่งๆ ไม่พูด ใครอยากพูดอะไรก็พูดไป ท่านเฉยๆ พูดสักชั่วโมง 2 ชั่วโมงท่านก็เฉยๆ ถ้าเราภาวนา เราเข้าไปหา ก็ไม่ต้องพูดมาก เข้าไปกราบแล้วเราก็นั่งเงียบๆ ไป หลวงปู่ก็นั่งสมาธิของท่านไป พอสมควรแก่เวลา ท่านก็ลืมตาขึ้นมาแล้วก็สอน ท่านสอนแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ละคนก็มีทางเดินเฉพาะตัว แต่เมื่อเดินไปสุดทางแล้วก็ไปที่เดียวกัน

คุณแม่ชีน้อยอยู่หินหมากเป้ง ท่านก็เคยพูดเรื่อยๆ บอก “คนหลายคนกินน้ำบ่อเดียวกัน เดินทางเดียวไม่เหยียบรอยกัน” น้ำบ่อเดียวกันหมายถึงพระนิพพาน คนที่ปฏิบัติมุ่งไปที่เดียวกัน ไปพระนิพพาน เดินทางเดียวกันคือทางของเอกายนมรรค ทางของสติปัฏฐานนี่ล่ะ แต่ไม่เหยียบรอยกัน หมายถึงวิธีการปฏิบัติในรายละเอียดแตกต่างกัน

หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนแต่ละคนก็แตกต่างกัน เพราะการที่จะไปสู่พระนิพพาน ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านยังไม่ถึงที่สุดคล้ายๆ ท่านเดินขึ้นภูเขา ท่านเคยเดินขึ้นภูเขาทางตะวันออก ใครมาถามท่านถึงทางขึ้นเขา ท่านก็บอกมีอยู่ทางตะวันออก องค์หนึ่งขึ้นมาทางเหนือ ใครไปถามท่าน ท่านก็บอกขึ้นทางเหนือ บางองค์ก็ขึ้นทางใต้ แต่ละองค์ขึ้นมาคนละทางกัน ก็จะคิดว่าทางของตัวเองถูก ทางอื่นไม่มั่นใจ แต่พอขึ้นถึงยอดเขาได้แล้วถึงจะมองออกมา 360 องศาได้ จะรู้เลยวิธีปฏิบัติมันมหาศาลหลากหลาย แต่ก็อยู่ใน 4 ทิศทางหลักคือกาย เวทนา จิต ธรรม ใน 4 ทิศทางหลัก มุ่งไปสู่จุดเดียวกันคือพระนิพพาน

ทีนี้คนที่ขึ้นเขาทางตะวันออกก็ไม่ได้ขึ้นเส้นเดียวกัน แต่ละคนก็มอง เอ๊ะ ถ้าเราเดินทางนี้น่าจะสะดวก อีกคนหนึ่งรู้สึกทางที่สะดวกไม่สะใจ ต้องปีนภูเขาด้วยถึงจะสะใจ เพราะฉะนั้นวิธีปฏิบัติแต่ละคนมันจะมีทางเฉพาะตัว เลียนแบบกันไม่ได้หรอก อย่างลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ที่ดีๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่เหลือ บางองค์จุดสตาร์ต จุดเริ่มต้นหลวงปู่ให้ทำสมถะด้วยการพิจารณาผมเส้นเดียว พิจารณาผมเส้นเดียว 2 เส้นก็ไม่ได้ 3 เส้นก็ไม่ได้ พิจารณาอย่างอื่นก็ไม่ได้ จิตไม่รวม พอทำอย่างอื่นมาเต็มที่แล้วก็ไม่สำเร็จ ก็ลองทำอย่างที่หลวงปู่บอก พิจารณาผมเส้นเดียว ผมมีรูปร่างอย่างนี้ มีสีอย่างนี้ มีกลิ่นอย่างนี้ ไม่สะอาด ไม่เที่ยง หลุดออกมาแล้วมันก็เห็นผมที่ร่วงออกมาไม่ใช่เรา พอคิดพิจารณาอย่างนี้จิตรวมได้สมาธิแล้ว แล้วจิตมันก็ขึ้นปัญญา มันก็เห็นร่างกายมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา พิจารณา องค์นี้ก็มาแนวหนึ่ง

อีกองค์หนึ่งท่านดูกระดูก มีสมาธิดูร่างกายเห็นกระดูก แล้วท่านชอบเดินจงกรม ท่านก็เห็นกระดูกเดินจงกรม เดินไปๆ จิตมันขยายความรับรู้ออกไป ก็เห็นมีโครงกระดูกเดินจงกรมล้อมท่านไป ข้างหน้า 1 โครง ข้างหลัง 1 โครง ซ้ายขวาอีกอย่างละโครง เดินไปด้วยกัน นี่ลีลาอาการ อันนี้เป็นเรื่องของสมาธิ คือก่อนที่จะขึ้นปัญญามันทิ้งสมาธิไม่ได้หรอก แต่วิธีทำสมาธิของแต่ละคนมันหลากหลาย แต่ละคนเดินไปทางเดียวกันในเอกายนมรรค คือหลักของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน แต่ไม่เหยียบรอยกัน ทางใครทางมัน องค์นี้ท่านดูกระดูก เดินไปๆ กระดูกล้มลงไป สลายไปหมด เหลือแต่จิตดวงเดียว แล้วพอจิตมันกลับมามีร่างกาย เห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา

จิตเองก็วิจิตรพิสดาร เราบังคับอะไรมันไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แต่ละองค์จะมีวิธีที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเราไม่ต้องไปเอาอย่างคนอื่น ใครเขาทำกรรมฐานอะไรมันเรื่องของเขาแต่ต้องอยู่ในเอกายนมรรค เดินอยู่ในเส้นทางของมรรค มีศีล มีสมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา หลวงพ่อสอนอยู่ทุกวันๆ อยู่แล้ว ไปทบทวนเอาเอง ทำอย่างไรถึงจะเกิดศีล การเรียนที่จะทำให้เกิดศีล เรียกว่าอธิศีลสิกขา การเรียนที่จะทำให้ได้สมาธิเรียกว่าอธิจิตตสิกขา มาเรียนเรื่องจิตจะได้สมาธิ การเรียนให้รู้แจ้งเห็นจริงในรูปนามขันธ์ 5 จนกระทั่งปล่อยวางได้เรียกว่า อธิปัญญาสิกขา อันนี้คือเส้นทางของมรรค เราจะต้องเดินไปในเส้นทางนี้

 

แต่ละทางแต่ละคนมีเส้นทางของตัวเอง

แต่การจะรักษาศีลอย่างไรให้ดี ก็ดูตัวเอง บางคนจิตใจอ่อนแอยอมแพ้ง่ายก็ต้องรักษาศีลเบื้องต้นจะต้องคอยหลบคอยเลี่ยง ไม่ไปยุ่งกับคนอื่น อย่างถ้าใจอ่อน เพื่อนชวนกินเหล้าก็กิน ก็อย่าไปคบเพื่อนที่ชวนกินเหล้า เป็นทางเฉพาะตัว ถ้าคนใจแข็งไปนั่งอยู่ในวงเหล้า ไม่กินเหล้าก็ได้ มีวิธีที่เอาตัวรอดได้ไม่ให้ผิดศีล ยิ่งเรื่องสมาธิยิ่งหลากหลายหนักเข้าไปอีก สมาธิในแง่ของสมถกรรมฐาน ให้จิตสงบในอารมณ์อันเดียว ในตำราพูดถึงกรรมฐาน 40 40 ข้อ

อย่างเมื่อวานใครได้ฟังหลวงพ่อสอนไหมเมื่อวาน หลวงพ่อสอนคนๆ หนึ่งให้ดูน้ำ แต่คนนี้สมาธิเขาเยอะอยู่แล้วล่ะ แต่ใจเขาเร่าร้อน ใจร้อน หลวงพ่อให้กำหนดกสิณน้ำ หลับตาลงไปนึกถึงภาพน้ำก็เห็นเลย ก็เห็นน้ำได้เลย เห็นลมพัดน้ำมาแผ่วๆ เป็นระลอกพลิ้วๆ พลิ้วๆ ก็นั่งดูระลอกน้ำในใจ จิตใจก็มีความสุข พอจิตใจมีความสุขสมาธิที่ดีมันก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้สมาธิที่น้อมนำให้มันเกิด แต่มันเกิดเอง เพราะจิตใจมันมีความสุขอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง

พอจิตใจมันมีความสุข หลวงพ่อสอนต่อไปอีกช็อตหนึ่ง ให้ดูน้ำในกาย ในร่างกายมันก็เหมือนมีแม่น้ำสายใหญ่สายเล็ก คือตามเส้นเลือดใหญ่เส้นเลือดเล็ก น้ำก็ไหลไปตามเส้นเลือด ดูลงไปเรื่อยๆ ถ้าทำไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นร่างกายนี้ก็เป็นแค่ธาตุ ตลิ่งก็เหมือนธาตุดิน มีน้ำไหลไปเป็นธาตุน้ำ การที่มันขับเคลื่อนไปได้เป็นธาตุลม มันมีความอบอุ่นกระตุ้นให้น้ำนี้เคลื่อนที่ อย่างน้ำในมหาสมุทรนี้มันไหลได้เพราะมันร้อนมันเย็นไม่เท่ากัน มันก็เลยเกิดการเคลื่อนไหว อันนี้คือธาตุไฟ ดูลงมา อันนี้ต้องมีสมาธิมากพอ ก็จะทำธาตุกรรมฐาน ดูดิน น้ำ ไฟ ลมในร่างกายได้

ลีลาแต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันด้วย ทำอย่างไร อยู่กับอารมณ์อะไรแล้วจิตมีความสุขมีความสงบได้ ก็เอาอันนั้นล่ะ ไว้เป็นที่พักผ่อน แล้วถ้าเราต้องการให้จิตตั้งมั่น เราพลิกมุมมองนิดเดียว พลิกนิดเดียว แทนที่เราจะรู้ตัวอารมณ์ เราก็มารู้ตัวทางจิต อย่างเรากำลังดูกสิณน้ำ เห็นน้ำไหวกระเพื่อมอยู่ น้ำไหวๆๆ อยู่ในใจ ในมโนภาพ

แต่ละทางแต่ละคนมีเส้นทางของตัวเอง อย่างบางคนก็ใช้กสิณน้ำ บางคนใช้กสิณไฟ ใช้กสิณลม ใช้กสิณดิน แต่จำหลักไว้ข้อหนึ่ง ไม่ว่าจะกสิณดิน น้ำ ไฟ ลมอะไร สุดท้ายให้ย้อนเข้ามาที่กายตัวเอง ให้ย้อนกลับมาที่ร่างกายตัวเอง แล้วก็ดูธาตุทั้งหลายลงเป็นไตรลักษณ์ เส้นทางนี้ก็ไปได้ แต่ถ้าไปดูน้ำแล้วจิตก็ไปเพลินอยู่กับน้ำ อันนั้นไม่ไปต่อแล้ว ได้แต่สมาธิ ถ้าจะให้ไปต่อก็น้อมกลับเข้ามาในตัวเอง แล้วก็เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของธาตุแต่ละธาตุไป เรียกว่าขึ้นวิปัสสนาไป จะเห็นร่างกายมันก็แค่ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นธาตุหมุนไปหมุนมาอยู่ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดินไม่ใช่ของเรา ดินเป็นของโลก มีอยู่ประจำโลกอยู่แล้ว เราไปยืมดินมาใช้ น้ำก็ไม่ใช่ของเรา เป็นของประจำโลก เราไปยืมมาใช้ ลม ไฟก็เป็นของประจำโลก ไม่ใช่ของเรา ดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็จะเห็นร่างกายไม่ใช่ของเราหรอก

ถัดจากนั้นถึงจะเข้ามาที่จิตจนวันหนึ่งก็เห็นว่าจิตก็ไม่ใช่ของเรา จิตเป็นก้อนทุกข์ ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร ส่วนร่างกายนี้ถ้าดูในเชิงธาตุจะเห็นอนัตตา เป็นแค่วัตถุธาตุ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา เล่นธาตุกรรมฐาน เล่นกัน ไม่ยากถ้าสมาธิเราพอ ทีนี้เราไม่ถนัดแบบนี้ เราก็เอาอย่างที่เราถนัด

หลวงพ่อเคยเล่า อย่างหลวงพ่อทำอานาปานสติบวกกับพุทโธ ใช้อานาปานสติบวกกับพุทโธ พอจิตสงบแล้วพุทโธหายเหลือแต่ลม พอจิตสงบลมก็หาย เหลือแต่ความว่างสว่าง พระอาจารย์อ๊าอยู่กับหลวงพ่อมาตั้ง 20 กว่าปีแล้ว พระอาจารย์อ๊าทำอานาปานสติอย่างหลวงพ่อไม่ได้ เป็นโรคจมูก หายใจไม่ค่อยออก ก็ใช้พุทโธ พุทโธๆ เมื่อเช้าหลวงพ่อยังแซวพระอาจารย์อ๊าในห้องนี้เลย พระอาจารย์อ๊าบอก โอ๊ย หายใจไม่ออก บอกก็ใช้วิธีนี้สิ บริกรรมไปเลย หายใจไม่ออกเข้าพุท หายใจไม่ออกโธ พระอาจารย์อ๊าบอกอย่างนั้นขอพุทโธเฉยๆ ก็แล้วกัน

มันไม่ยากหรอก สังเกตตัวเอง เราอยู่กับอารมณ์อะไรแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้น จิตจะได้สมาธิชนิดสงบ พอจิตได้สมาธิสงบแล้ว สังเกตจิต จิตไหลไปอยู่กับสมาธิที่สงบก็รู้ทัน จิตหนีไปจากอารมณ์กรรมฐานอันนั้นก็รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันจิตนั่นล่ะ จิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติขึ้นมา ที่จริงถ้าเราสามารถรู้สภาวะ รู้สภาวธรรมอย่างอื่น จิตก็ตั้งมั่นได้ แต่ส่วนใหญ่สภาวธรรมที่เกิดบ่อยที่สุดคือหลง ครูบาอาจารย์ก็เลยมาย้ำจิตที่หลงไป อย่างถ้าเราโกรธแล้วสติระลึกได้ว่าโกรธ ความโกรธดับปั๊บ จิตตั้งมั่นเองเลย ส่วนใหญ่ทำไม่ได้ พอโกรธแล้วเห็นว่าโกรธก็โมโหตัวเองว่าทำไมขี้โมโห โกรธซ้อนโกรธเข้าไปเรื่อยๆ ทำอย่างไรจะละความโกรธ มันจะกลายเป็นอย่างนั้น ยืดเยื้อยาวนานไป

 

สติรู้ทันจิตที่หลง จิตก็จะตั้งมั่นเด่นดวงเป็นจิตรู้

ในความเป็นจริง ถ้าเราภาวนาชำนาญ ไม่ว่าเราเห็นสภาวธรรมตัวไหน จิตก็ตั้งมั่นได้เอง แต่ตัวที่เกิดบ่อยที่สุดคือหลง ถ้าเราสังเกตตัวนี้ก็คือเราทำการบ้านได้ตลอดเวลาเลย อย่างถ้าใช้ตัวโกรธ เราไม่ได้โกรธทั้งวัน บางคนชาติหนึ่งยังไม่เคยโกรธเลย ทำบุญมาดี สัมผัสแต่อารมณ์ที่น่าเพลิดเพลินพอใจ บางคนโกรธเก่ง บางคนไม่โกรธ จะใช้โกรธเป็นอารมณ์กรรมฐานสำหรับคนไม่ค่อยโกรธ ไม่ได้ผล นานๆ มันเกิดที แต่หลงเป็นสากลเลย ทุกคนหลงเก่ง

ในโลกแทบไม่มีคนรู้สึกตัว ในโลกมีแต่คนหลง หลงไปในทางดีก็มี หลงไปในทางเลวก็มี หลงไปในทางเลวก็คือหลงเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หลงเพลินไปในความคิด นึก ปรุง แต่ง หลงไปในทางดีก็คือหลงเพ่ง หลงเพ่งอารมณ์กรรมฐาน นิ่งๆ ทื่อๆ สงบ เงียบๆ อยู่อย่างนั้น มันก็หลง เพราะฉะนั้นอย่างที่พวกเราหลายคนหลวงพ่อคอยโขกเรื่อยๆ นั่งสมาธิแล้วจิตติดนิ่งๆ เพ่งนิ่งๆ ไว้ เพ่งกายบ้าง เพ่งจิตบ้าง เพ่งความว่างบ้าง บอก เฮ้ย มันหลง คือจิตมันถลำลงไปเพ่งไปจ้องแล้วไม่เห็นว่าจิตกำลังถลำไปเพ่งไปจ้อง นั่นหลงแล้ว ไม่ได้รู้กายไม่ได้รู้ใจตามความเป็นจริงแล้ว ตัวนี้เข้าใจยาก

หลงไปในทางย่อหย่อน หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หลงไปคิดนึกอะไรนี่ยังดูง่าย แต่หลงไปจ้องไปเพ่งอะไรนี่ดูยากกว่า มันหลงของคนดี ละยากเพราะว่าพวกเราเป็นคนดี เราอยากพ้นทุกข์ อยากปฏิบัติธรรม นี่พวกเราเป็นคนดี มีศีลมีธรรม สิ่งที่คนดีละยากก็คือความดีนั่นล่ะ สิ่งที่คนชั่วละยากก็คือความชั่วนั่นล่ะ คนที่ไม่เคยฝึกกรรมฐาน ใจมันจะไหลตามกิเลสตลอดเวลา ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กว่าจะสอนให้มันรู้ทันจิตที่ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน

พอแก้ตัวนี้เสร็จ ก็จะมาไหลด้วยการไปนิ่งๆ ไปเพ่งๆ อารมณ์กรรมฐานอันใดอันหนึ่งไว้ เพราะว่าอยากดี อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี อยากได้มรรคผลนิพพานอะไรขึ้นมา ฉะนั้นมันก็หลง มีหลงเผลอกับหลงเพ่ง กามสุขัลลิกานุโยคกับอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค หลงตามกิเลสไปนั่นล่ะ ไปอบาย หลงเพ่ง ให้มันแน่วแน่ในอารมณ์อันเดียว ก็ยังหลงอยู่ ก็ยังพาจิตไปเกิด แต่ไปเกิดในภพภูมิที่ดี ไปสุคติภูมิได้ แต่ไปสุคติภูมิก็คือเกิดนั่นล่ะ ยังไม่ได้พ้นจริงหรอก ฉะนั้นจะไม่เกิด ต้องไม่หลง ถ้าหลงอยู่ก็ยังเกิดอยู่

จะหลงทางชั่วคือหลงไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หลงคิดนึกฟุ้งซ่านไป หรือหลงในทางดี หลงกำหนดลมหายใจ กำหนดท้องพองยุบ บริกรรมนะ มะ พะ ทะ สัมมาอะระหัง บริกรรมพุทโธ แล้วจิตเราเคลื่อนที่ไป ไปทำงาน ไปดูไปจ้องสิ่งเหล่านี้แล้วไม่เห็น อันนั้นหลง หลงดี หลงดีก็พาไปเกิดในที่ดี หลงชั่วก็พาไปเกิดในที่ชั่ว แต่เกิด จะพ้นความเกิดได้ ก็ต้องไม่หลง เพราะฉะนั้นเราจะต้องมาคอยรู้เท่าทัน ทำกรรมฐานของเราไป จิตทิ้งอารมณ์กรรมฐาน หลงไปแล้ว หลงไปทางชั่วแล้ว รู้ทัน ไม่ต้องไปด่ามัน ห้ามมันไม่ได้

จิตหลงไปในทางดี เช่น รู้ลมหายใจ จิตไหลไปจมอยู่กับลมหายใจ ให้รู้ทัน อันนี้หลงดีแล้ว ตายไปดีไม่ดีไปเป็นพระพรหม เขาก็จะเชิญมาเฝ้าโรงแรมแทนแขกยาม สมัยก่อนนี้เขาจะจ้างแขกยามมาเฝ้า หลังๆ นี้ก็เชิญเทพมาเฝ้า น่าสงสารเทพ อุตส่าห์ทำความดี ก็ต้องมารับใช้มนุษย์ เพราะฉะนั้นเราอย่าไปหลง ไม่ว่าหลงดีหรือหลงชั่ว รวมแล้วมันไม่ดีทั้งนั้นล่ะ หลงทีไรก็เกิดทุกทีล่ะ เพราะฉะนั้นพยายามฝึกตัวเอง ทำกรรมฐานไป จิตหลงไปคิด รู้ทัน จิตหลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน รู้บ่อยๆ ต่อไปพอหลงปุ๊บ สติเกิดเลย สติรู้ทันจิตที่หลง จิตก็จะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาได้ ไม่หลง เป็นจิตรู้

 

มหากุศลจิต ญาณสัมปยุต อสังขาริกัง

จิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นจิตที่ดีที่สุด เป็นจิตที่วิเศษที่สุดในโลกิยวิสัย เป็นจิตที่สูงสุด ในทางโลกิยะ จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พวกอภิธรรมเขาไม่รู้จัก ครูบาอาจารย์กรรมฐานท่านจะรู้จัก เรียกพุทโธ จิตที่เป็นพุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แต่ถ้าจะพูดให้พวกเรียนอภิธรรมฟัง ก็พูดได้เหมือนกัน ลักษณะของจิตที่เป็นผู้รู้ เป็นมหากุศลจิต ลักษณะของมหากุศลจิตคือไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง มีความเบา อ่อนโยน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว ควรแก่การงาน ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ นี่ลักษณะประการที่หนึ่ง อันที่สองเป็นจิตที่พร้อมจะเจริญปัญญา ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน สามารถเจริญปัญญาได้ คือสามารถตั้งมั่นแล้วเห็นสภาวะของรูปธรรมนามธรรมแสดงไตรลักษณ์ได้ เรียกว่าจิตมันทรงอารัมมณูปนิชญานอยู่

แล้วประการสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือจิตดวงนี้เกิดเอง ไม่ต้องโน้มน้าว ชักชวน หรือบีบบังคับให้เกิด จะเป็นมหากุศลจิต ญาณสัมปยุต ประกอบด้วยปัญญา อสังขาริกัง ไม่ต้องชักชวนโน้มนำให้เกิด จิตที่เป็นกุศลหรือจิตที่เป็นอกุศล ถ้าเป็นชนิดที่ไม่ต้องชักชวนให้เกิด จะเป็นกุศลหรืออกุศลที่มีกำลังแรง ถ้าต้องชักชวนให้เกิด จะเป็นกุศลหรืออกุศลที่มีกำลังอ่อน อย่างถ้าเราเห็นพระบิณฑบาต เราเกิดอยากใส่บาตรด้วยตัวเราเอง จิตเป็นกุศล ไม่มีใครชักชวน เป็นกุศลที่มีกำลังกล้า

ถ้าขี้เกียจ ต้องให้คนในบ้านเรียก ไปวัด ใส่บาตรด้วยกัน อย่างโน้นอย่างนี้ ชักชวนมากมาย ถึงยอมไปใส่บาตร ใส่บาตรอย่างนี้เป็นกุศลที่มีกำลังอ่อน ต้องถูกชักชวน โน้มนำ บางทีก็ต้องบิลต์ ตัวเอง จะนั่งสมาธิ บางทีจิตเป็นกุศลมีกำลังกล้า มันก็อยากปฏิบัติ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ไม่ต้องมีใครบังคับ จิตไม่มีกำลังก็ต้องเข้าหมู่เข้าคณะ หมู่คณะเขาภาวนา เราก็ต้องภาวนา หรืออยู่คนเดียวก็ต้องบิลต์ตัวเองมากเลยกว่าจะลุกขึ้นมาเดินจงกรมนั่งสมาธิได้ อย่างนี้เป็นกุศลที่มีกำลังอ่อน

อกุศลก็เหมือนกัน อกุศลที่ไม่ต้องบิลต์ให้เกิดเป็นอกุศลที่แรง อย่างเราเห็นหมาเดินมา กระโดดเตะหมา เห็นแมวมาก็เตะแมว ไม่มีใครชวนเลย จิตมันเอาเอง มันชั่วของมันเอง หรือเห็นของใครเขาก็อยากหยิบ ขโมยอัตโนมัติ ไม่มีใครชักชวนเลย อย่างนี้เป็นจิตชั่วที่มีกำลังแรงกล้า แต่ถ้าเป็นจิตชั่วที่มีกำลังอ่อน เช่น เพื่อนชวนกินเหล้า โอ้ ไม่เอาๆๆ อะไร สุดท้ายยอมแพ้เสียไม่ได้ กิน กินไปกินมาชอบ จิตชั่วมีกำลังอ่อน ต้องบิลต์กันนาน หรือเพื่อนชวนไปปล้นธนาคาร ชวนอยู่หลายวันกว่าจะยอมไปปล้น อันนี้มันก็จะเป็นจิตชั่วที่มีกำลังอ่อน

ตัวจิตผู้รู้จะต้องเป็นมหากุศลจิต ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ มีความเบา มีความนุ่มนวล อ่อนโยน คล่องแคล่ว ว่องไว ควรแก่การงาน คือมีอารัมมณูปนิชฌาน แล้วก็ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ รู้ซื่อๆ รู้แล้วไม่เข้าไปแทรกแซง แล้วก็เป็นจิตที่มีลักขณูปนิชฌาน ตั้งมั่นพร้อมที่จะเจริญปัญญาได้ แล้วก็เกิดอัตโนมัติ จิตชนิดนี้จะเกิดอัตโนมัติได้ เราต้องฝึกให้มากๆ ฝึกแรกๆ ก็หลงแล้วรู้ๆ ไปล่ะ มันจะหลงไปทางชั่วหรือหลงไปทางดีก็คอยรู้เอาไว้ จิตมันจะค่อยตั้งมั่นๆๆ ขึ้น พอตั้งมั่นขึ้น มันก็จะเป็นจิตที่เป็นมหากุศลขึ้นมา แต่ว่าอินทรีย์ยังอ่อน ต้องบิลต์กันนาน อันนี้ก็ยังอ่อน ยังอ่อนแอ

บางทีตั้งแล้วก็เฉย ไม่ยอมเดินปัญญา พอใจในความสงบ ในความรู้เนื้อรู้ตัว เฉยๆ อยู่ อันนี้จิตมันยังไม่ควรแก่การเดินปัญญา ยังขี้เกียจขี้คร้านอยู่ ติดอกติดใจในความสงบอยู่ ยังหลงความสงบอยู่ ให้รู้ทันอีกจะไม่หลงความสงบ ก็จะสามารถให้จิตมันไปทำงานอย่างอิสระได้ ไม่เข้าไปแทรกแซงบังคับมัน

พอตากระทบรูป มีสัญญาณ คลื่นสัญญาณเข้ามาที่ใจ มีการแปลความหมาย แต่ว่ามีกระบวนการ พอแปลความหมายเสร็จ มีการให้ค่าว่าอันนี้อารมณ์ดี อันนี้อารมณ์ไม่ดี ถัดจากนั้นก็เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศลขึ้น จิตมันเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู เป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู เห็นกระบวนการทำงาน ความโกรธเกิดขึ้น ก็เห็นว่าความโกรธ มันมีเหตุมันก็เกิด ถ้าเราเป็นผู้รู้ผู้ดูเฉยๆ มันก็ตัดต้นเหตุไป คือเราไม่ไปปรุงต่อ ความโกรธมันก็ดับ

พวกเราชอบถามเรื่อยเลยว่าโกรธขึ้นมาแล้วทำอย่างไร ทำไมมันไม่หาย บอกซื่อๆ เลย ไม่มีใครละกิเลสได้ แล้วเราไม่มีหน้าที่ละกิเลสด้วย เข้มแข็งหน่อย เวลากิเลสเกิดดูมันเข้าไปตรงๆ เลย มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง ดูมันเข้าไปอย่างนี้ ไม่ใช่เมื่อไรมันจะดับเมื่อไรมันจะดี อย่างนั้นยังหลงอยู่ เข้มแข็งกล้าหาญ ทำตัวเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดูไว้ นั่นล่ะจิตผู้รู้ล่ะ กิเลสเกิดแล้วไม่ต้องละ กุศลเกิดก็ไม่ต้องไปรักษามัน ให้มีสติตั้งมั่น มีจิตตั้งมั่น มีสติระลึกรู้สิ่งที่กำลังมีกำลังเป็น แล้วเราก็จะเห็น ไม่ว่ากุศลหรืออกุศล ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ เกิดแล้วดับเสมอกันหมด

ในด้านโลกิยธรรมในด้านจริยธรรมดีกับชั่วไม่เท่าเทียมกัน แต่เวลาที่เราทำวิปัสสนากรรมฐาน ดีกับชั่วเท่าเทียมกัน (ด้วยความเป็นไตรลักษณ์) ต้องวงเล็บเสมอ มิฉะนั้นเดี๋ยวพวกมิจฉาทิฏฐิมันจะบอกดีกับชั่วเท่ากัน ถ้าอย่างนั้นโกรธใครก็ได้ จะไปฆ่ามันก็ได้ ไม่เป็นไร เราไม่ยึดถือ อันนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไปฆ่าเขาก็ได้เพราะว่าทุกอย่างว่างเปล่า ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขา ฆ่าใครก็ได้ ถือว่าฆ่าความว่าง อันนั้นมิจฉาทิฏฐิ ฉะนั้นเวลาภาวนาทำไปตามขั้นตอนของอริยมรรค เอกายนมรรค เดินไป มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เห็นไหมทำไมต้องมีศีลไว้ก่อน เผื่อพวกปัญญาล้ำหน้า โน่นก็ไม่มีนี่ก็ไม่มี พระพุทธเจ้าก็ไม่มี ครูบาอาจารย์ก็ไม่มี พ่อแม่ก็ไม่มี เพราะอะไร เพราะว่าในโลกนี้ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เพราะฉะนั้นเราก็ทำอะไรก็ได้ตามใจกิเลส เห็นไหมกลายเป็นหายนะ หายนธรรม

 

ทางใครทางมัน แต่ต้องอยู่ในทางของศีล สมาธิ ปัญญา

ปัญญาล้ำหน้าแล้วไม่มีศีลก็จะมีปัญหา ฉะนั้นถึงต้องมีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญา 3 สิ่งนี้เหมือนก้อนหิน 3 ก้อนเอาไว้ตั้งหม้อข้าวได้ ยุคนี้ก็ไม่รู้จักแล้ว สมัยก่อนมันจะมีก้อนเส้า แต่เดี๋ยวนี้เตาแก๊สมันก็มีขา 3 ขา มี 3 ขาที่เอาหม้อไปตั้ง มันก็ยังมีอยู่ นั่นล่ะคือศีล คือสมาธิ คือปัญญา ดึงอันใดอันหนึ่งออกไป ก็ล้มเหลวแล้ว ฉะนั้นละไม่ได้ เลิกไม่ได้ ค่อยฝึกเอา ทางใครทางมัน แต่ทุกคนต้องอยู่ในทางนี้ รายละเอียดปลีกย่อยแต่ละคนไม่เหมือนกัน

อย่างหลวงพ่อทำอานาปานสติบวกกับพุทโธเพื่อทำสมถะ หลวงพ่อเจริญปัญญาด้วยการดูจิตในจิตเกิดดับ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเป็นหลัก ส่วนกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนามันเป็นของแถม มันเนื่องกันหมด กาย เวทนา จิต ธรรม หยิบมุมใดมุมหนึ่งขึ้นมา มันก็ได้มาทั้งหมดเหมือนกัน เหมือนโต๊ะนี้มี 4 มุม เราจะหยิบมันมุมเดียวแล้วลากไป โต๊ะนี้ก็เคลื่อนที่ได้หมด เพราะฉะนั้นไม่นั่งเถียงกันว่าสายไหนดีกว่าสายไหน ถ้ายังเถียงอยู่ก็ยังโง่อยู่ล่ะ คือพวกเดินขึ้นเขายังไม่ถึงภูเขา ไม่ขึ้นยอดหรอก เดินไปตีนเขาแล้วบอกทางนี้ดี ก็ชวนคนอื่นว่าทางนี้ดีที่สุด ทางอื่นไม่ดี ที่จริงทางใครทางมัน

เราก็ดูตัวเองทำอันไหนแล้วศีลของเราดี เช่น ไม่ยุ่งกับคนอื่นแล้วศีลเราดี หรือยุ่งกับคนอื่นแล้วศีลเราก็ยังดีได้ สำรวมระวังที่ใจ ถ้าจิตใจยังอ่อนแอ ก็สำรวมระวังที่พฤติกรรมของตัวเอง เรื่องสมาธิก็เหมือนกัน ถนัดอะไรเอาอันนั้นล่ะ ถ้าจิตใจมีความสุขกับอารมณ์อันไหน อยู่กับอารมณ์นั้น จิตก็มีสมาธิขึ้นมา อย่างคนเมื่อวาน บอกจิตไม่ยอมสงบเลย บอกให้ดูน้ำลงไปเลยในใจ ดูกสิณน้ำ กำหนด สงบทันทีเลย เพราะว่ามันชอบ มันชอบใจ แต่ถ้าวันหลังอยากสงบ แล้วก็รีบมาดูกสิณน้ำ ไม่มีทางสงบเลย เพราะอะไร เพราะอยาก แต่ถ้าไม่ได้อยาก กำหนดจิตดูกสิณน้ำปุ๊บ ก็สงบเลย ถ้าอยากไม่มีทางสงบหรอก ทางใครทางมัน ของหลวงพ่อใช้อานาปานสติบวกกับพุทโธ เวลาเจริญปัญญา ใช้จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นหลัก แต่ตัวอื่นมันเนื่องกันหมด

พระพุทธเจ้าทำสมถกรรมฐานด้วยอานาปานสติ 16 ขั้นเลย ภูมิของท่านเต็มภูมิพระศาสดา พวกเราที่ว่าทำ 16 ขั้น ขั้นที่สี่ยังไม่ค่อยรอดเลย อย่าว่าแต่ 16 ขั้นเลย ที่เห็นทำๆ กัน ห่างไกลมาก เพราะฉะนั้นอานาปานสติ 16 ขั้นแท้ๆ เป็นของระดับพระมหาบุรุษ ระดับพระพุทธเจ้าทำได้ ของเราทำได้ 4 ขั้นก็บุญโขแล้ว ยาก ขั้นที่สี่อะไรรู้ไหม ลมหายใจระงับ ระงับไหวไหม มันไม่ได้ระงับ ด้วยการไม่หายใจจริงหรอก แต่จิตมันตัดการรับรู้ลมหายใจไป แล้วลมหายใจนี้แผ่วเบามากเลย เหมือนเกือบไม่หายใจ แผ่ว แล้วการแลกเปลี่ยนออกซิเจนมันจะทำทางผิวหนัง ไม่จำเป็นต้องอาศัยลมเข้าจมูกเยอะๆ ผิวหนังมันก็แลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ ไหวไหมขั้นที่สี่ เพราะฉะนั้นเราอย่าเพ้อฝัน เอาเท่าที่เราทำได้

พระพุทธเจ้าท่านทำอานาปานสติได้สมาธิ ที่จริงท่านทำถึงฌานที่สี่ แต่ไม่ใช่อานาปานสติ ขั้นที่สี่ คนละอันกัน แต่อานาปานสติขั้นที่สี่ก็เข้าถึงฌานที่สี่ได้ แล้วท่านเจริญปัญญาด้วยธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านดูอะไร ท่านดูปฏิจจสมุปบาท ฉะนั้นปฏิจจสมุปบาท พวกเรามาพูดกันเพ้อๆ บางทีก็สอนปฏิจจสมุปบาทกันเหยงๆ เลย สติสักตัวหนึ่งยังไม่มีเลย จะไปสอนปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมะที่ยากมาก ยกเว้นสำหรับพระโสดาบันที่มีปัญญาแก่กล้าขึ้นไป

อย่างพระอานนท์เคยไปบอกพระพุทธเจ้าว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์บอกว่า ปฏิจจสมุปบาทที่พระองค์ว่าเป็นของยากมากปรากฏแก่ข้าพระองค์เป็นของตื้น พระพุทธเจ้าบอกอานนท์อย่าพูดอย่างนั้น ปฏิจจสมุปบาทยากนัก ลึกซึ้งนัก ถ้าไม่รู้แจ้งแทงตลอดปฏิจจสมุปบาทหรืออริยสัจนั่นล่ะ แต่ลงรายละเอียดไป ถ้าไม่รู้แจ้งแทงตลอด ก็ยังไม่พ้นจากวัฏฏะหรอก อย่างที่เราพูดปฏิจจสมุปบาทๆ มันไปไม่ถึงจริง ก็เห็นที่ท่านผ่านด้วยปฏิจจสมุปบาท ก็เห็นแต่พระพุทธเจ้า ส่วนใหญ่อย่างครูบาอาจารย์วัดป่า ท่านก็กายานุปัสสนาแทบทั้งนั้น หลวงปู่ดูลย์ ท่านก็ใช้จิตตานุปัสสนา ท่านก็ไม่ได้คิดเอง หลวงปู่มั่นสอนจิตตานุปัสสนาให้ท่าน ไม่ใช่หลวงปู่ดูลย์ คิดเองหรอก เพราะหลวงปู่มั่นท่านเก่งมาก ท่านขึ้นยอดเขาได้แล้วท่านก็สอน บารมีท่านเยอะ

 

ทำกรรมฐานที่เราทำได้

เพราะฉะนั้นแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราก็ดูเอา ทำกรรมฐานอะไรแล้วใจสงบ ไปสังเกตเอา อยู่กับอารมณ์ที่มีความสุขล่ะ ใจสงบ พอใจสงบแล้ว สังเกตจิตมันหลงไปคิด รู้ทัน มันทิ้งอารมณ์กรรมฐานไปแล้ว จิตถลำลงไปเพ่งจ้องอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน แล้วเราจะได้จิตที่ตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่นนี่ล่ะคือจิตที่ควรแก่การงานแล้ว มีลักขณูปณิชฌานแล้ว คราวนี้สติระลึกรู้รูป ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของรูป ระลึกรู้นามก็เห็นไตรลักษณ์ของนาม

ถนัดรู้กาย ใช้กายเป็นหลัก ถนัดรู้เวทนา ใช้เวทนาเป็นหลัก ถนัดรู้จิต ใช้จิตเป็นหลัก ถนัดรู้ธัมมานุปัสสนา ก็ใช้ธัมมานุปัสสนาเป็นหลักซึ่งตัวนี้ไม่ค่อยมีหรอก ยากมาก ธัมมานุปัสสนา แต่ไม่ว่าจะเจริญกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา สุดท้ายทุกคนจะมาลงที่ธัมมานุปัสสนาเหมือนกันหมด ลงมาตัดที่จิตนั่นเอง ก็รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ แทงตลอดปฏิจจสมุปบาทที่จิตนั่นเอง เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องเริ่มต้นในสิ่งที่เราทำไม่ได้

เราชอบนั่งสมาธิ นั่งสมาธิสงบแล้ว น้อมจิตออกดูกายไปเลย กายานุปัสสนาและเวทนานุปัสสนา เหมาะกับสมถยานิก เหมาะกับคนเล่นฌาน จิตตานุปัสสนากับธัมมานุปัสสนาเหมาะกับวิปัสสนายานิก กายานุปัสสนาเป็นสมถยานิกแบบง่าย ถ้าพวกได้สมถยานิกมี 2 อัน มีกายกับเวทนา กายนี้เป็นแบบพวกง่ายๆ เวทนายากกว่ากาย เพราะดูเวทนา มันก็ต้องควบกายเข้าไปด้วย จิตกับธรรมก็เหมือนกัน อันนี้เหมาะกับพวกทิฏฐิจริต เจ้าความคิดเจ้าความเห็น เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นของง่าย ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นของยาก เราก็เอาของง่าย ยังไม่ต้องเอาของยากหรอก

อินทรีย์ของเราอ่อน ถ้าอินทรีย์ไม่อ่อน ไม่มานั่งโด่เด่อยู่ที่นี่หรอก คงนิพพานไปหมดแล้ว ฉะนั้นอินทรีย์เรายังอ่อน แถมเราก็ไม่ใช่พวกทรงฌานด้วย ฉะนั้นกรรมฐานที่เราจะทำได้ก็คือจิตตานุปัสสนานั่นล่ะ หัดดูไป ทำกรรมฐานไป จิตหนีแล้วรู้ จิตถลำลงไปแล้วรู้ จิตไปเพ่งแล้วรู้ ฝึกไป ในที่สุดจิตตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นขึ้นมา มันก็เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตแสดงไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ จิตมีราคะก็รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะก็รู้ จิตมีโทสะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตไม่หลงก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ จิตเป็นอุปจารสมาธิก็รู้ อันนี้ไม่ค่อยมีแล้วล่ะ เพราะว่าพวกนี้ไม่ค่อยได้เล่นฌาน จิตเป็นอุปจารสมาธิก็รู้ จิตเป็นขณิกสมาธิก็รู้ เป็นอุปจารสมาธิก็รู้ เป็นอัปปนาสมาธิก็รู้ จิตหลุดพ้นก็รู้ จิตไม่หลุดพ้นก็รู้

ตรงนี้บางคนงง จิตหลุดพ้นแล้วทำไมมีจิตไม่หลุดพ้น จิตหลุดพ้นบางทีมันหลุดพ้นชั่วคราว มันไม่ได้เป็นสมุจเฉท บางทีภาวนาไป จิตก็ปล่อยวางจิต แต่ปล่อยวางจิตเราก็รู้ว่าตอนนี้จิตปล่อยวางจิต เราไม่ได้เจตนาปล่อย จิตมันปล่อยวางจิตเอง เสร็จแล้วจิตมันก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาเอง จิตปล่อยวางจิตไปแล้วก็รู้ จิตหยิบฉวยจิตขึ้นมาก็รู้ คือจิตหลุดพ้นก็รู้ จิตไม่หลุดพ้นก็รู้ รู้ทันลงไปเรื่อยๆ หลุดพ้น มันวางขันธ์ 5 ลงไป เป็นขันธวิมุตติ ก็หลุดจากขันธ์ 5 ทีนี้มันยังไม่สมุจเฉท บางทีวางแล้วก็หยิบขึ้นมาอีก ก็ฝึกกันต่อไปจนกระทั่งวางแล้วไม่หยิบอีก เรียกว่าขันธ์ทั้ง 5 รวมทั้งจิตเป็นภาระ

บุคคลทั้งหลายแบกภาระไว้ก็ไม่มีทางพ้นจากทุกข์ทั้งปวง พระอริยเจ้าคือพระอรหันต์วางภาระลงแล้ว แล้วก็ไม่หยิบฉวยขึ้นมาอีก สิ่งที่เป็นภาระคือขันธ์ 5 แล้วขันธ์ 5 ที่วางยากที่สุดคือจิตนั่นล่ะ ถ้าจิตปล่อยวางจิตได้แล้วไม่หยิบฉวยมาอีก ก็พ้นจากความทุกข์แล้ว หมดภาระที่นั่น เราดูจิตดูใจ แล้วสุดท้ายมันจะมาลงตรงนี้ ลงที่จิตปล่อยวางจิตได้ พอจิตยึดจิตอย่างเดียว จิตก็ยึดขันธ์ 5 ได้ จิตยึดขันธ์ 5 ได้ จิตก็ยึดโลกได้ จิตปล่อยวางจิตได้อย่างเดียว จิตก็วางขันธ์ 5 จิตก็วางโลก จิตก็ไม่มีที่ไปเกิดอีกต่อไป เพราะมันสิ้นหลงตรงนั้น ที่มันปล่อยวางจิตได้เพราะมันหมดหลง มันทำลายอวิชชาได้แล้ว มันรู้แจ้งแทงตลอดว่าจิตนี้คือตัวทุกข์มันวางจิตลงไป

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
3 ธันวาคม 2566