คำถาม:
หลวงพ่อ:
อะไรก็สู้โยนิโสมนสิการไม่ได้ เวลาเราเดินจิตผิด แล้วมันไปสร้างภพขึ้นมาอันหนึ่ง แล้วมันไปว่างๆ อยู่ ไปสงบนิ่งๆ เฉยๆ คงที่ ให้สังเกตว่านี่ไม่ใช่แล้ว อันนี้เราเรียกว่าโยนิโสมนสิการ ของมันไม่เที่ยง ทำไมมันเที่ยง นี่มันต้องผิดแล้ว ของที่มันเป็นทุกข์ ทำไมทำแล้วมันเป็นสุข อันนี้ต้องผิดแล้ว ของบังคับไม่ได้ ทำไมบังคับได้ อันนี้ต้องผิดแล้ว สังเกตดู เอ๊ะ ทำไมมันผิด มันผิดตรงไหน
วิธีสังเกต ก็คือลืมมันไปก่อน หรือนอนหลับอยู่ ตอนตื่นขึ้นมา พอตื่นขึ้นมาปุ๊บ คิดถึงการปฏิบัติปั๊บ จิตมันจะสร้างของที่เคยชินขึ้นมา เราก็จะรู้ อ๋อ จิตมันทำอย่างนี้ มันก็เลยไปติดสภาวะอันนี้อยู่ ตอนที่เราหลับ เราไม่ได้สร้างสภาวะอันนั้น จิตไม่ได้ไปค้างอยู่ พอเราตื่นขึ้นมา พอเราคิดถึงธรรมะขึ้นมา คิดถึงการปฏิบัติขึ้นมา จิตจะรีบไปสร้างของที่คุ้นเคยขึ้นมา เราดูอย่างนี้ปุ๊บ มันสร้างขึ้นมาแบบนี้เอง เราก็จะไม่เข้าไปติดมัน
เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะช่วยเรา ในการปฏิบัติมี 2 อย่าง หนึ่งคือกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ซึ่งยุคนี้ยากมาก ที่จะบอกว่าใครคือกัลยาณมิตร แต่สิ่งที่ดีมากๆ เลยคือโยนิโสมนสิการ สังเกตจิตใจของตัวเองอย่างแยบคาย อย่างแยบคายก็คือ สังเกตไป มันขัดแย้งกับที่พระพุทธเจ้าสอนไหม ท่านว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง อันนี้เที่ยงไหม สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ อันนี้เป็นสุขอย่างเดียวหรือเปล่า เป็นทุกข์ไหม
สังเกตอย่างนี้ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา โอ๊ย กูเก่ง กูทำได้ ไม่เป็นอนัตตาแล้ว สังเกตอย่างนี้นะ แล้วมันจะประคับประคองตัวเอง เดินผ่านเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยอันนี้ได้ อะไรๆ สู้โยนิโสมนสิการ ไม่ได้ กัลยาณมิตร ถ้ามีก็ดี แต่มันพิสูจน์ไม่ได้ ว่าใครคือกัลยาณมิตร แต่โยนิโสมนสิการ ดูในพระไตรปิฎก คำสอนดีๆ ในพระสูตรมีเยอะแยะเลย
สังเกตเอา ถ้าภาวนาแล้ว รูปนามขันธ์ 5 เที่ยง ไม่ใช่แล้ว ภาวนาแล้ว ไม่เห็นทุกข์เลย มีแต่สุข ไม่ใช่แล้ว ภาวนาแล้วบังคับได้ ไม่ใช่แล้ว แล้วก็สังเกตเอามันผิดตรงไหน ถ้ารู้ที่ผิดมันก็ไม่ผิด ไม่ผิดมันก็ถูก มันก็เดินต่อได้ จับหลักตัวนี้ให้แม่นๆ แล้วเราจะช่วยตัวเองได้ หลวงพ่อใช้หลักอันนี้ล่ะ ภาวนามา หลวงพ่อเป็นคนกรุงเทพฯ รับราชการ วันหยุดมีไม่มาก ทีแรกมีวันพักผ่อน 10 วัน ปีหนึ่ง ตอนหลังได้ 15 วัน ทำงานนาน
แต่เวลาจะลาจริง แทบจะชกกับผู้อำนวยการ ไม่ยอมให้ลา ให้ทำงานอย่างเดียว โอ๊ย กว่าจะลาไปวัดได้ ยากเย็นแสนเข็ญ อาศัยไปวันเสาร์ ไปวันอาทิตย์ แล้วก็อยู่บ้าน สังเกตตัวเองเอา มีโยนิโสมนสิการ คลำทางไปเรื่อยๆ เลย มีคราวหนึ่งภาวนาแล้วจิตว่าง โลกธาตุว่าง ว่างไปหมดเลย สว่างไสว มีแต่ความสุข อยู่อย่างนั้นนานอยู่เป็นปี ไม่ได้มีครูบาอาจารย์มาเขกกบาลให้ ว่าเอ็งทำผิดแล้ว ก็สังเกต เอ๊ะ ทำไมมันว่าง ทำไมมันเที่ยง ทำไมมันมีแต่ความสุข ทำไมเราบังคับได้ เราสร้างขึ้นได้
มันต้องผิด มันผิดที่ไหน ดูอย่างไรดูไม่ออก ดูตั้งนาน พอดีเจอหลวงตามหาบัว ท่านบอกว่า “ที่ว่าดูจิต ดูไม่ถึงจิตแล้ว จิตมันออกข้างนอก” จิตมันไปข้างนอก มันเข้ามาไม่ถึงจิตแล้ว ท่านสะกิดนิดหนึ่ง แล้วท่านบอกให้ไปบริกรรม หลวงพ่อบริกรรมแล้ว ใจมันไม่ชอบ พุทโธ อย่างเดียวไม่ชอบ ก็เลยพ่วงลมหายใจไปด้วย เพราะว่าเราถนัดหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พอหายใจเข้าพุทออกโธ จิตรวม รู้เลยว่าที่ผ่านมา จิตอยู่ข้างนอก ว่างอยู่อย่างนั้น ติดอยู่ในว่าง ถึงพูดกับพวกเราเรื่อยๆ ระวังจิตติดว่าง ไม่ใช่ว่าว่างแล้วดี เพราะว่างด้วยสมาธิ ไม่เหมือนว่างด้วยปัญญา.
วัดสวนสันติธรรม 25 พฤษภาคม 2567