เมื่อวานหลวงพ่อสอนพวกเราเรื่องการพัฒนาตัวรู้ขึ้นมา ให้มีตัวรู้แล้วเราจะเดินปัญญาได้ การปฏิบัติต้องแยกระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่เรียกว่าผู้รู้คือตัวจิต ซึ่งมีคุณภาพมีสติมีสมาธิที่ถูกต้อง สิ่งที่ถูกรู้คือตัวอารมณ์
ทีนี้พอเรามีตัวรู้มีสิ่งที่ถูกรู้แล้ว เวลาเราต้องการทำสมถะ เราใช้อารมณ์อะไรก็ได้สมถกรรมฐานไม่เลือกอารมณ์ ใช้อารมณ์บัญญัติคือเรื่องราวที่เราคิดก็ได้ อย่างเช่นคำว่า พุทโธ พุทโธ ถ้าใจมาอยู่กับพุทโธไม่ไปที่อื่นใจก็สงบ ได้สมถกรรมฐานอยู่กับลมหายใจ ใจไม่หนีไปไหนใจอยู่กับลมก็ได้สมถกรรมฐาน ตัวลมหายใจเป็นอารมณ์ที่เป็นรูปธรรม พุทโธเป็นอารมณ์บัญญัติ หรือดูจิตใจ ดูความสุข ความทุกข์ดูอะไรก็ได้ไม่เลือกหรอก ถ้าอารมณ์นิพพานก็มาทำสมถะได้ สำหรับท่านที่เคยเห็นพระนิพพานมาแล้วตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ฉะนั้นอารมณ์ของสมถกรรมฐานนี่อะไรก็ได้ อารมณ์บัญญัติก็ได้ รูปธรรมก็ได้ นามธรรมก็ได้ อารมณ์นิพพานก็ได้ ก็แค่น้อมใจไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่องได้ความสงบ แต่ถ้าขาดสติก็จะกลายเป็นมิจฉาสมาธิใช้ไม่ได้ มีสติอยู่สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวก็เป็นสมาธิที่ดี เอาไว้เหมือนกับเราชาร์จพลังให้จิตมีกำลัง
จิตมีกำลังแล้วและเรามีตัวรู้อยู่แล้วด้วย พอจิตมีกำลังแล้วตัวรู้มันจะเด่นดวงขึ้นมา จิตมันเคลื่อนนิดเดียวเราจะเห็นเอง จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่น จิตจะเป็นคนรู้คนดู สมาธิมี 2 อันที่ดี สมาธิที่เลวพวกมิจฉาสมาธิทั้งหลาย สมาธิที่ไม่ประกอบด้วยสติเป็นสมาธิที่เลว สมาธิที่ดีที่มีสติมี 2 อย่าง อันหนึ่งเป็นสมาธิที่จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ได้ขอเพียงเป็นอารมณ์ที่จิตอยู่ด้วยแล้วมีความสุข อันนี้เอาไว้พักผ่อนทำให้จิตมีเรี่ยวมีแรงที่จะไปทำวิปัสสนาต่อไป สมาธิอีกอย่างหนึ่ง คือสมาธิที่จิตตั้งมั่นอย่างที่เมื่อวานสอน สมาธิพอจิตตั้งมั่นแล้วตัวรู้มันจะเกิดขึ้น อันนั้นเอาไว้ทำวิปัสสนา
ทำสมถะไม่เลือกอารมณ์ ทำวิปัสสนาเลือกอารมณ์ คำว่าอารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้ มี 4 อย่าง อารมณ์ที่เป็นบัญญัติคือเรื่องราวที่คิดนึก อารมณ์ที่เป็นรูปธรรม อย่างลมหายใจเข้าออก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ท้องพองยุบ มือขยับ อะไรอย่างนี้เป็นอารมณ์ที่เป็นรูป อารมณ์ที่เป็นนาม เช่น ดูความรู้สึกสุขทุกข์ดีชั่วทั้งหลาย โลภ โกรธหลงอะไรผุดขึ้นมาแล้วรู้ นี้เป็นนาม อารมณ์นิพพานเป็นอีกอันหนึ่ง พ้นจากรูปนามไป ทีนี้ถ้าเราจะทำวิปัสสนาใช้ได้เฉพาะอารมณ์ที่เป็นรูปธรรมกับนามธรรม เอาอารมณ์บัญญัติมาทำวิปัสสนาไม่ได้ เพราะอารมณ์บัญญัติเจืออยู่กับการคิด วิปัสสนาต้องรู้ ต้องเห็นสภาวะตามความเป็นจริง เราคิดเอา ใช้ไม่ได้ ไม่เป็นวิปัสสนา อารมณ์นิพพานเอามาทำวิปัสสนาไม่ได้ อารมณ์นิพพานไม่มีไตรลักษณ์ นิพพานมีสามัญลักษณะอันเดียว คืออนัตตลักษณะ มีความเป็นอนัตตา แต่นิพพานนั้นเที่ยงนิพพานเป็นสุข ฉะนั้นเอานิพพานมาทำวิปัสสนาทำไม่ได้หรอก ที่สำคัญที่สุดก็คือเราเป็นปุถุชนเราไม่เห็นนิพพาน เราจะเอาของที่เราไม่รู้ไม่เห็นเอามาทำกรรมฐานเป็นไปไม่ได้ ได้แต่มโนเอา คิดเอา คิดเอาเองว่านิพพานเป็นอย่างนั้นนิพพานเป็นอย่างนี้ แล้วก็นั่งคิดถึงนิพพาน ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่การใช้นิพพานเป็นอารมณ์ แต่เป็นใช้บัญญัติเป็นอารมณ์
เราต้องพยายามฝึกนะ สมาธิชนิดสงบทำให้จิตมีกำลัง สมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นทำให้จิตมีความพร้อมที่จะเจริญปัญญา จิตมันตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้รูป มันจะเห็นรูปเป็นของถูกรู้เป็นอารมณ์ สติระลึกรู้นาม มันก็จะเห็นว่านามธรรมทั้งหลายสุขทุกข์ดีชั่วทั้งหลายเป็นของถูกรู้ คือเป็นตัวอารมณ์ จิตเป็นคนดู มีจิตที่เป็นคนดู จะเห็นอารมณ์ทั้งหลายหมุนเวียนเกิดดับ มันจะแสดงไตรลักษณ์ให้เราเห็นเอง ไม่ใช่คิดเรื่องไตรลักษณ์ ตราบใดที่ยังใช้ความคิดอยู่ยังไม่ขึ้นวิปัสสนากรรมฐานที่แท้จริง เราค่อยๆ ฝึก ทีนี้เมื่อวานหลวงพ่อบอกแล้วว่าวิธีฝึกให้ได้สมาธิชนิดตั้งมั่น หรือได้ทำให้จิตใจกลายเป็นผู้รู้ขึ้นมา อยู่ที่เราคอยรู้ทัน ทำกรรมฐานสักอันหนึ่งก่อน แล้วจิตหลงไปอยู่ที่อื่นรู้ทันว่าจิตหลงไปแล้ว เช่น พุทโธ พุทโธอยู่ เห็นจิตหลงไปคิด รู้ทันว่าจิตหลงไปคิด หายใจอยู่จิตหลงไปคิด รู้ว่าจิตหลงไปคิด หรือหายใจอยู่แล้วจิตมันไหลเข้าไปอยู่ที่ลมหายใจ อย่างพวกเราเวลาทำกรรมฐาน สมาธิเราไม่ดีพอเราหายใจๆ จิตมันจะไหลไปอยู่ที่ลม ดูท้องพองยุบ จิตไหลไปอยู่ที่ท้อง ตรงที่เรารู้ทันว่าจิตไหล จะไหลหนีจากอารมณ์กรรมฐาน หรือไหลไปแช่อยู่กับอารมณ์กรรมฐานก็ใช้ได้ ขอให้เรารู้เท่านั้น สมาธิที่ดีจะเกิดขึ้น สมาธิชนิดตั้งมั่นจะเกิดขึ้น
ทีนี้สมาธิชนิดที่จิตมีความสุขมีความสงบทำยังไง เอาไว้พักผ่อนจำเป็นนะมีประโยชน์ ถ้าจะพูดถึงความจำเป็น สมาธิ 2 อย่างเนี่ยจำเป็นไม่เท่ากัน สมาธิชนิดตั้งมั่นจำเป็น ถ้าขาดสมาธิชนิดตั้งมั่นจะทำทำวิปัสสนาไม่ได้ ส่วนสมาธิชนิดสงบมีประโยชน์ ไม่ถึงขั้นจำเป็นว่าขาดไม่ได้ แต่ว่ามีประโยชน์ มีประโยชน์ตรงที่มันช่วยหนุนช่วยเสริมจิตใจเราให้มีกำลัง เวลาที่ใจเราไม่มีกำลัง เวลาเราไปดูอารมณ์กรรมฐานอะไรแป๊บเดียวก็หลงไปที่อื่นแล้ว มันฟุ้งซ่าน แต่ถ้าจิตเรามีกำลัง มันก็จะตั้งมั่นอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องรักษา อย่างตั้งมั่นได้โดยที่ไม่ต้องรักษา อย่างพวกเรามาอยู่กับหลวงพ่อนี่ขั้นแรกเลย ช่วงแรกๆ หลวงพ่อฝึกสมาธิให้ใหม่ทั้งนั้นเลย เพราะสมาธิส่วนใหญ่ที่พวกเราฝึกมาตอนเป็นฆราวาสนั้นมันเป็นมิจฉาสมาธิ สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิต้องมาฝึกกันใหม่เลย อย่างคนไหนไม่มี basic เลยในเรื่องของสมาธิ อย่างฝึกจิตให้ตั้งมั่นก็ไม่ไหว อันนี้ก็ทำสมาธิชนิดสงบไปก่อน
หลักการที่จะทำสมาธิชนิดสงบ แตกต่างกันหลักการที่ทำสมาธิชนิดตั้งมั่น สมาธิสงบให้เราน้อมใจแล้วเราไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข ทีนี้ความสุขของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน อารมณ์ที่ทำให้มีความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนพุทโธแล้วมีความสุข ก็ใช้พุทโธ บางคนหายใจแล้วมีความสุข ก็ใช้ลมหายใจ บางคนหายใจเข้าพุทหายใจออกโธแล้วมีความสุข ก็หายใจเข้าพุทหายใจออกโธ บางคนเดินจงกรมแล้วมีความสุข บางคนสวดมนต์แล้วมีความสุข ก็สวดมนต์เอา เดินจงกรมเอา แล้วดูตัวเองว่าทำกรรมฐานอะไรแล้วเรามีความสุข อย่างหลวงพ่อตั้งแต่เด็กหลวงพ่อเรียนกับท่านพ่อลี ท่านพ่อลีสอนหลวงพ่อให้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ท่านสอนให้นับด้วย หายใจเข้าพุทธออกโธนับหนึ่ง หายใจเข้าพุทธออกโธนับสอง หลวงพ่อก็ทำมาแล้วใจมันชอบ ใจมันชอบ เวลาไม่มีอะไรทำก็นั่งหายใจไป รู้สึกสบายใจ ถ้าเราทำกรรมฐานที่เราสบายใจ ใจเราก็จะไม่หิวอารมณ์อันอื่น แต่ถ้าเราไปทำกรรมฐานที่เราไม่มีความสุข ใจมันจะหิวความสุข มันจะดิ้นไปหาอารมณ์อันอื่นที่มีความสุขมากกว่า ตรงที่ใจมันดิ้นไปนั้นใจมันฟุ้งซ่าน ใจมันไม่ได้สมาธิชนิดสงบ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักเทคนิค มีศิลปะในการปฏิบัติ
ถ้าเราต้องการให้จิตได้พักผ่อนเราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข ต้องดูตัวเองอยู่กับอะไรแล้วมีความสุข บางคนสวดมนต์แล้วมีความสุข พวกสวดมนต์ก็สวดคนละบทกันอีก บางคนชอบสวดยาวๆ มีความสุข แต่ยาวเกินไปหลวงพ่อไม่แนะนำ อย่างสวดชินบัญชรยาวๆ อย่างนี้ ระหว่างที่สวดหลงไป 500 รอบแล้ว อย่างนั้นไม่ได้เรื่อง ไม่ต้องยาวมากเอาบทที่มีความสุขน่ะใช้ได้ ในสมัยพุทธกาลมีพระองค์หนึ่งในชื่อพระจูฬปันถก เป็นน้องของพระมหาปันถกเป็นผู้มีปัญญามาก ท่านบรรลุพระอรหันต์แล้วก็ไปเรียกน้องของท่านมาบวชด้วย ท่านแต่งบทสรรเสริญพระพุทธเจ้าให้น้องบริกรรม เห็นไหมคำบริกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นพุทโธเสมอ ไม่จำเป็นต้องนะมะพะทะ ไม่จำเป็นต้องเป็นสัมมาอะระหัง แต่งเองก็ได้ ขอให้ใจมันชอบ
ทีนี้พระมหาปันถกท่านเป็นคนฉลาด มีปัญญามากท่านก็แต่งบทสรรเสริญพระพุทธเจ้าเสียยาวเลย พระจูฬปันถกท่องไม่ได้ ใจก็ไม่มีความสงบเลยมีแต่ความเครียด ทำกรรมฐานแล้วก็เครียดๆๆ สุดท้ายพี่ชายทนไม่ไหว พระมหาปันถกบอกน้องชายบอก “เธอสึกไปเถอะ ไม่มีวาสนาในทางจะบวชแล้ว โง่เหลือเกิน กรรมฐานแค่นี้ก็ทำไม่ได้” พระจูฬปันถกท่านก็เสียใจ ถูกไล่ออกจากวัด อยากภาวนาแต่กรรมฐานที่พี่ชายให้มันทำไม่ได้ ท่านก็เดินร้องไห้จะออกจากวัด ทีนี้บารมีท่านเต็มแล้ว แล้วท่านจะต้องบรรลุพระอรหันต์ด้วยการสอนของพระพุทธเจ้า คนอื่นสอนไม่บรรลุต้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านก็ดักเจอ ก่อนที่จะสึกไป แล้วท่านก็ถามว่า “มาบวชนี่ มาบวชเพื่อใคร และนับถือใครเป็นศาสดา” พระจูฬปันถกบอกมาบวชอุทิศพระพุทธเจ้า หมายถึงจะเอาพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่อาศัย ท่านบอก “พี่ชายไล่แต่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ไล่ ทำไมจะไปซะล่ะ” พระพุทธเจ้าท่านก็ให้ผ้าขาวไปผืนหนึ่ง บอกเอาผ้าเช็ดหน้าผืนนี้สีขาวๆ ไปนั่งขยี้แล้วบริกรรม บริกรรมสั้นๆ หลวงพ่อบอกคำเดียว พวกเราครั้งเดียวพวกเราคงจำได้แล้ว มันง่าย คำที่พระพุทธเจ้าให้คำนี้ “ระโชหะระนัง ระชังหะระติๆ” แปลว่าผ้าเช็ดฝุ่นย่อมเช็ดฝุ่น ท่านก็ไปนั่งขยี้ ถึงเวลามีคนนิมนต์พระทั้งวัดไปฉัน พระจูฬปันถกไม่รู้เรื่องหรอก พี่ชายไม่เรียกไปฉันด้วยหรอก พี่ชายนึกว่าสึกไปแล้ว ก็พาพระทั้งวัดไปกับพระพุทธเจ้า จูฬปันถกก็นั่งขยี้ผ้าไปเรื่อย “ระโชหะระนัง ระชังหะระติ” ไปเรื่อย จิตรวม
ตอนนั้นพระพุทธเจ้าอยู่ในที่ฉันแล้ว คนก็จะถวายอาหาร ท่านก็บอกว่ารอก่อน รออยู่ก่อนยังไม่ต้องถวาย พอจิตของพระจูฬปันถกรวมแล้ว พระพุทธเจ้าท่านใช้เทเลคอนเฟอเรนซ์ ท่านส่งพลังจิตของท่านสร้างรูปนิมิตขึ้นมา ถ้าพูดสมัยรุ่นหลังบอกมีกายทิพย์ของพระพุทธเจ้าโผล่ขึ้นมา ที่จริงก็คือเป็นรูปนิมิตที่ท่านอธิษฐานขึ้นมา สอนธรรมะ พระจูฬปันถกฟังจบก็บรรลุพระอรหันต์เลย แล้วเป็นพระอรหันต์ที่มีฤทธิ์มากด้วย จากคนซึ่งไม่มีสมาธิกลายเป็นมีสมาธิมหาศาล เล่นอภิญญาได้ ที่ไม่มีปัญญาเลยเพราะว่ามีกรรมเก่า เคยบวชสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ แล้วฉลาดมาก ชอบหัวเราะเยาะพระที่โง่กว่า ว่าแค่นี้ก็ท่องไม่ได้หัวเราะเยาะเขา ฉะนั้นพวกเราเป็นพระเราเห็นเพื่อนสหธรรมิกไม่เข้มแข็งอะไรนี่ อย่าไปว่าเขาให้เขาเสียกำลังใจนะ อย่าไปกระแนะกระแหนเขา อย่าไปอะไรๆ บาปมากๆ เลย มันขวางการปฏิบัติของตัวเอง
ทีนี้พระจูฬปันถกพอท่านบรรลุพระอรหันต์แล้วก็มีฤทธิ์ด้วย ท่านก็ไม่ได้อยากกินข้าวหรอก วันที่บรรลุพระอรหันต์ไม่มีใครอยากกินข้าวหรอก จิตมันอิ่มจนไม่รู้จะอิ่มยังไงแล้ว ทีนี้เขาก็จะตักข้าวถวายคณะสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ท่านบอกว่าพระยังมาไม่ครบ ยังเหลือพระอีกองค์หนึ่งที่วัดให้คนไปตาม พระมหาปันถกก็บอกว่าหมดแล้วไม่มีแล้ว พระพุทธเจ้าบอกมีอีกองค์หนึ่ง โยมก็ไปตาม ทีนี้พระจูฬปันถก ท่านแบ่งร่างของท่านเป็นจำนวนมาก บางองค์ก็กวาดวัดบางองค์ก็ทำโน้นทำนี้เต็มวัดเลย คนจะไปนิมนต์งงว่าพระเต็มวัดเลย แล้วบอกว่าพระพุทธเจ้าบอกมีองค์เดียว ก็กลับมาทูลพระพุทธเจ้าว่ามีพระเยอะแยะเลย พระพุทธเจ้าท่านก็สอนวิธีอย่างเราเห็นคนหน้าตาเหมือนๆ กันเยอะๆ นี่ พระพุทธเจ้าท่านสอนวิธีไปบอกให้ไปเรียกชื่อคนไหนขานรับคนแรกให้คว้าข้อมือไว้เลย นี่ก็ไปคว้าข้อมือพระจูฬปันถกมา รูปนิมิตทั้งหมดก็หายไป พามาฉันข้าวด้วยกันได้ เลี้ยงฉลอง
ทำไมท่านบรรลุมรรคผลได้ เพราะสมาธิท่านเกิดขึ้นมา ทำไมท่านมีสมาธิ เพราะท่านได้กรรมฐานที่สบายใจ ไม่ซับซ้อน นั่งขยี้ผ้าขาวไป ขยี้ไปๆ บริกรรมไปเรื่อยๆ ที่จริงกรรมฐานที่ทำให้ท่านได้สมาธิที่แท้จริงไม่ใช่ตัวคำบริกรรมหรอก แต่ตรงที่ท่านขยี้ผ้าขาวไปเรื่อย สักพักหนึ่งท่านไปดูผ้า ผ้านี้เดิมขาวสะอาดตอนนี้มอมไปแล้ว เปื้อนขี้มือไปแล้ว เปื้อนขี้เหงื่อไปแล้ว ร่างกายนี้เป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ พระจูฬปันถกได้สมาธิชนิดสงบมาเพราะเห็นอสุภกรรมฐาน ไม่ใช่เพราะบริกรรมหรอก แต่บริกรรมนั้นเป็นอุบาย ทำให้จิตมีกำลังและก็ย้อนมาเห็นความเป็นอสุภกรรมฐาน
เราต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เลือกเอา ไปดูเอาเองว่าเราทำกรรมฐานอะไรแล้วมีความสุขก็เอาอันนั้น ไม่ใช่เรียนกับหลวงพ่อ หลวงพ่อทำกรรมฐานโดยการทำหายใจเข้าพุทออกโธ พวกเราจะต้องทำอย่างหลวงพ่อ ไม่ใช่ ทางใครทางมัน ดูตัวเอง บางองค์ก็ชอบสวดมนต์ก็สวดไป แต่ไม่ใช่สวดเอาขลังนะ ถ้าสวดเอาขลังไม่ใช่กรรมฐานหรอก มันสวดด้วยความโลภ ไม่มีสติ สวดเป็นเครื่องอยู่ของจิต พอจิตมันมีความสุขกับการสวดมนต์ มันจะไหลไปอยู่ที่การสวดมนต์ ไม่หนีไปอยู่ที่อื่น จิตนี้มันก็เหมือนเด็ก ปกติมันก็ซนวิ่งออกนอกบ้านไปซนเรื่องโน้นซนเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าผู้ใหญ่ฉลาดไม่อยากให้เด็กออกไปซนข้างนอกบ้าน ก็หาอารมณ์กรรมฐานที่เด็กชอบ ถ้าเป็นเด็กรุ่นหลวงพ่อ เขาก็จะหาหนังสือสนุกๆ นิทานอะไรอย่างนี้มาไว้ในบ้าน เด็กว่างๆ เด็กก็มานั่งอ่านนิทานมีความสุข อ่านเองไม่เป็นก็ให้พี่อ่านให้ฟัง มันก็มีความสุข เด็กมันก็ไม่ไปซนนอกบ้าน บางบ้านก็หาขนมที่เด็กชอบมาล่อ เด็กชอบกินอะไรก็หาขนมมาไว้เต็มบ้านเลย เด็กมันก็ชอบกินขนมมันก็ไม่หนีไปที่อื่น หลักของการทำสมถกรรมฐานก็แบบเดียวกับที่เราเลี้ยงเด็ก เราไม่อยากให้เด็กซนไปที่อื่น เราก็หาอารมณ์ที่เด็กชอบใจมาล่อ มาล่อจิต เด็กก็คือตัวจิต เอาอารมณ์ที่ชอบใจที่มีความสุขมาล่อ เด็กชอบกินขนมเอาขนมมาล่อ เด็กชอบอ่านหนังสือการ์ตูนก็เอาหนังสือการ์ตูนมาล่อ มันก็จดจ่ออยู่กับการดูหนังสือไม่ไปไหน จิตนี้ก็เหมือนกัน เราก็ไปดูเอาว่าเราอยู่กับอารมณ์อะไรแล้วมีความสุขแล้วก็อยู่กับอารมณ์อันนั้น
ทีนี้อารมณ์กรรมฐานแต่ละชนิด มันให้สมาธิที่ไม่เท่ากัน อารมณ์กรรมฐานบางอย่างให้สมาธิตื้นๆ ให้อุปจารสมาธิ บางอันตื้นกว่านั้น ได้แค่ขณิกสมาธิ อารมณ์กรรมฐานบางอย่างได้ถึงอัปปนาสมาธิได้ถึงฌาน บางอย่างได้รูปฌาน บางอย่างได้ถึงอรูปฌาน อย่างเราหายใจเข้าหายใจออก ที่แรกหายใจเข้าพุทหายใจออกโธไป พอจิตสงบคำบริกรรมมันหายเหลือแต่ลมหายใจ ใจก็สบายมีความสุขอยู่กับการหายใจไม่หนีไปที่อื่น โดยที่ไม่ได้บังคับเลย มันอยู่อย่างมีความสุข พออยู่ไปๆ ใจมันสงบมากขึ้นๆ ลมหายใจหาย ลมหายใจระงับไป มันจะเกิดเป็นแสงสว่างขึ้นมาแทนที่ลมหายใจ แสงสว่างนั้นเป็นอารมณ์แทนลมหายใจ แสงมันจะอยู่แถวปลายจมูก สว่างเป็นดวงขึ้นมา เราก็รู้ที่ดวงสว่างนี้ รู้อย่างมีความสุขไป แต่ถ้ารู้แล้วโลภ อุ้ย สว่างแล้ว ดีอย่างโน้นดีอย่างนี้ อยากเห็นอะไร อยากเห็นอะไรนี้ แสงนี้มันวิ่งไปได้นะ อยากเห็นสิ่งโน้น อยากเห็นสิ่งนี้ อยากเห็นนรก อยากเห็นสวรรค์อะไรนี่ แสงมันจะฉายไปเลย แสงฉายไปถึงสวรรค์ จิตตามแสงไปถึงสวรรค์ก็ไปเห็นสวรรค์ ฉายไปถึงนรกมันก็เห็นนรก อันนี้ใช้ไม่ได้แล้ว จิตฟุ้งซ่านแล้ว เราไม่ได้ฝึกสมาธิเพื่อจะเอาของเล่นพวกนี้หรือได้ยินเสียง หรือรู้เห็นวาระจิตของคนอื่นอะไรนี่ อันนี้ไม่ใช่เป้าหมายของการปฏิบัติ มันเป็นของแถมสำหรับบางคน ส่วนใหญ่ไม่มีหรอก
ของแถมทั้งหลาย ระลึกชาติได้ พวกระลึกชาติได้ส่วนใหญ่มโนเอา อย่างหลวงพ่อเคยเจอคนที่บอกว่าตัวเองเป็นพระนเรศวรมาเกิดมีตั้งเยอะตั้งแยะ พระนเรศวรทั้งนั้นเลย เลยไม่รู้ว่าพระนเรศวรทำไมแตกหน่อออกมาได้เยอะแยะอย่างนั้น มันถูกหลอก อย่างพอภาวนาจิตเริ่มสงบลงไป เห็นพระนเรศวรขึ้นมาอะไรอย่างนี้ ก็เลยนึกว่าตัวเองเป็นพระนเรศวร ความจริงในขณะนั้นอาจจะเป็นม้าอยู่ในกองทัพพระนเรศวร เป็นช้างในกองทัพพระนเรศวรก็ได้ หรือเป็นพลทหารก็ได้ แต่มันไปประทับใจพระนเรศวรเข้า แล้วพอมาภาวนาเห็นหน้าพระนเรศวรขึ้นมาก็บอกตัวเองเคยเป็นพระนเรศวรนี้เยอะเลยนะแบบนี้ เพราะฉะนั้นกรรมฐานอะไรที่ออกไปรู้อดีตรู้อนาคตทายโน่นทายนี่ อย่าไปเชื่อมัน มองในมุมอย่างเดียวว่าสังสารวัฏนี้ยาวไกล สังสารวัฏนี้น่ากลัว มองให้มันเป็นประโยชน์ อย่าไปมองแล้วก็กูเป็นโน่น กูเป็นนี่ หลวงพ่อเคยเจอหลายคนเลย มาภาวนาพอจิตสงบมีสมาธิ นี่เรื่องของสมาธินะ สมถะเนี่ย มันจะมีของที่หลอกลวงเราเกิดขึ้นได้มากมาย เกิดนิมิตแล้วก็ตามนิมิตไปเห็นโน้นเห็นนี้ก็ได้ เกิดรู้อดีตรู้อนาคตก็ได้ จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ เชื่อถืออะไรไม่ได้พิสูจน์ไม่ได้
ธรรมะของพุทธเจ้าแท้ๆ ต้องพิสูจน์ได้อย่างอริยสัจ 4 ไม่มีใครต้านทานได้ พุทธเจ้าท่านบอก พอท่านหมุนกงล้อของธรรมจักร คืออริยสัจ 4 ประกาศอริยสัจไม่มีใครสามารถทานได้อีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่มีความกำกวม ของเล่นพวกนี้เป็นผลของสมาธิ สมาธิชนิดสงบ นี่บางทีก็ระลึกนะ เคยเจอหลายราย ผู้ชายระลึกไป อุ้ย ผู้หญิงคนนี้ชาติโน้นเคยเป็นเมียเรา ผู้หญิงก็ระลึกไป ผู้ชายคนนี้ เคยเป็นสามีเรา เพราะฉะนั้นต้องกลับมาเป็นคู่กันใหม่ แบบนี้ก็มีนะ อย่างนี้เหลวไหล ครูบาอาจารย์ท่านเรียกว่ากรรมฐานหาผัวหาเมีย ถูกกิเลสมันหลอกแล้ว แทนที่จะปฏิบัติเพื่อปล่อยวางจางคลาย แต่ปฏิบัติเพื่อจะเอา มโนเอาว่าคนนี้เป็นคู่เรา จีบเขาเลย มีคนหนึ่งอายุก็เยอะแล้ว ไปเห็นเด็กรับใช้ของบ้านคนรู้จัก มันหน้าตาน่าเอ็นดู ทีแรกก็นั่งสมาธิว่า โอ้ เด็กเนี่ยเคยเป็นลูก เป็นลูกสาวในอดีตชาติ ภาวนาไปเรื่อยๆ ใจมันมีกิเลส เห็นใหม่แล้วครั้งใหม่ก็คือเด็กนี่เคยเป็นเมีย จะเอาเด็กมาทำเมียแล้ว นี่กิเลสทั้งนั้นเลย ฉะนั้นเวลาที่เราทำสมถกรรมฐาน พยายามมีสติไว้ อะไรที่เกิดจากความรู้สึกตัวไป สงบก็ต้องสงบด้วยความรู้สึกตัว ถ้าจิตเคลื่อนไปเห็นโน่นเห็นนี่อะไรนี่ อย่าเอา อันตรายที่สุดเลย เราจะถูกกิเลสหลอกให้ยับเยินไปหมด บางคนกระทั่งเห็นผู้ชาย อุ้ย คนนี้ชาติโน้นก็เคยเป็นเมียเรา จะเอาผู้ชายมาทำเมียอีกแล้ว อย่างนี้ก็มีไม่ใช่ไม่มี ฉะนั้นอย่าไปหลงเรื่องบ้าๆ บอๆ อะไรพวกนี้ ทำไปเพื่อพอกพูนกิเลส ไม่ใช่เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน ไม่ได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์
สมถกรรมฐานชนิดสงบ ถ้าเราทำได้จิตใจจะมีกำลัง ตัวรู้พวกเรานี้จะตั้งมั่นขึ้นมาเด่นดวงขึ้นมาโดยที่เราไม่ต้องรักษา แต่ตัวรู้ไม่ได้เกิดจากการทำสมถะอย่างนี้ ตัวรู้เกิดจากเรารู้ทันจิตที่เคลื่อน พอรู้ทันจิตที่เคลื่อนและตัวรู้เกิดขึ้นมา ถ้าเรามีกำลังของสมาธิหนุนหลังสมถะหนุนหลัง ตัวรู้จะเด่นดวงอยู่ ยิ่งถ้าเราเข้าฌานได้ ออกจากฌานมา ตัวรู้นี้จะเด่นอยู่ 7 วัน เด่นอยู่ได้เป็นวันๆ แต่ไม่เกิน 7 วันก็จะเสื่อม อันนี้ในตำราไม่มีนะ อันนี้ครูบาอาจารย์ท่านถ่ายทอดสอนๆ กันมา เราภาวนาดูว่าจริงไม่จริง ฉะนั้นอย่างใจมันทรงฌานขึ้นมา ออกจากฌานมานี่ ถ้าทำฌานที่ถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องแล้วสงบลงไปเข้าฌานไป ตอนถอยออกมานี่จิตจะตั้งมั่นอยู่ได้นาน ไม่ใช่ตั้งแวบล้ม แวบล้ม อันนั้นเป็นขณิกสมาธิ ตั้งขึ้นชั่วขณะแล้วก็ดับๆ ตัวสมาธิชนิดสงบนี่มันช่วยเราให้ทรงตัวรู้อยู่ได้นานโดยที่ไม่ต้องจงใจ ไม่ต้องทำอะไรมันทรงขึ้นมาได้เอง
พวกเราควรจะฝึกควรจะค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ หัดไป ทำกรรมฐานแล้วสังเกตตัวเองอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข เราใช้อารมณ์อันนั้น ไม่ต้องมาเรียนแบบคนอื่น อย่างเพื่อนสหธรรมิกเราเขาพุทโธ พุทโธ เราก็ไม่ต้องไปพุทโธตามเขา แต่ถ้าเราพุทโธแล้วจิตใจเรามีความสุข ไม่ฟุ้งซ่านไปที่อื่น อันนั้นเหมาะกับเรา เราก็พุทโธ ดูตัวเอง กรรมฐานนี่ไม่เลียนแบบคนอื่น แต่ดูตัวเองสำรวจตัวเองต้องมีปัญญา รู้ว่ากรรมฐานอะไรเหมาะกับตัวเรา ปัญญาที่รู้ว่ากรรมฐานอะไรเหมาะสมกับตัวเราเรียกว่า สัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นสติกับสัมปชัญญะเป็นธรรมะที่คู่กัน มีสติแต่ไม่มีสัมปชัญญะก็ยังมีสติแบบโง่ๆ ไป ก็นั่งเพ่งนั่งจ้องอะไรไป ไม่ลืมเลยนะนั่งเพ่งนิ่งๆ อยู่อย่างนั้น ถ้ามีสัมปชัญญะเราจะรู้ว่าเราจะทำอะไรจะทำเพื่ออะไร เราไม่ได้ทำความสงบเพื่อจะสงบ แต่เราทำความสงบเพื่อให้จิตมีกำลัง เรารู้วัตถุประสงค์ เรารู้ว่าเราทำแบบไหนแล้วสงบ เราก็ทำกรรมฐานอันนั้นมากๆ ทำบ่อยๆ มีเวลาว่างปุ๊บทำปั๊บ
การทำสมาธิชนิดสงบนี่มีเวลาว่าง 5 นาทีก็ทำ 5 นาที อย่างเวลาเช้าๆ เรามานี่ มารอครูบาอาจารย์อยู่ มานั่งจะฟังธรรมอย่างนี้ เรามีเวลา 5 นาทีก่อนที่ครูบาอาจารย์จะมาเราไม่รู้จะทำอะไรเราก็ทำความสงบ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรือกรรมฐานอะไรก็ได้ อย่าทิ้งเวลาเปล่าๆ เวลา 5 นาทีมีความสำคัญมากนะ 5 นาทีนี่รวมแล้ววันหนึ่ง สมมุติเราตื่นอยู่ 12 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 5 นาทีมันคือ 60 นาที 1 ชั่วโมงแล้วที่เราได้ทำกรรมฐาน ถ้ามี 5 นาทีก็ทิ้ง 10 นาทีก็ทิ้ง เหลือเวลาน้อย ใช้ไม่ได้หรอก ฟุ้งซ่านทั้งวัน พอตกค่ำจะไปทำสมาธิ จิตมันฟุ้งซ่านมาเต็มที่แล้ว มันจะเหนื่อย เหมือนเด็กเล่นซนมาเต็มที่แล้ว พอเข้าบ้านก็เอาหัวซุกเข้าไปที่นอนหลับเลย หัวซุกหมอนหลับเลย บางคนไม่ถึงหมอนก็หลับกลางทางก็มี นี่เด็กมันซนมาก ถ้าเราเก็บสแปร์เรื่อยๆ เก็บคะแนนไปเรื่อยๆ ในระหว่างวัน 5 นาที 10 นาทีไม่ทิ้ง เก็บไปเรื่อยๆ
ในหลวงองค์ก่อนท่านภาวนาเก่ง ท่านเคยเล่าไม่ใช่เล่าให้หลวงพ่อฟังนะ เราไม่มีบุญบารมีเข้าใกล้ท่านอย่างนั้นหรอก ท่านเล่าครูบาอาจารย์องค์ไหนหลวงพ่อจำไม่ได้แล้ว มันนานมาแล้ว บอกว่าท่านแบ่งเวลาท่านซอยเวลาของท่านเป็นช่วงเล็กๆ ท่านไม่มีเวลายาวๆ เป็นชั่วโมงๆ ที่จะมานั่งสมาธิ งานท่านมาก ฉะนั้นท่านแบ่งเวลาเป็นช่วงเล็กๆ 5 นาทีนี้ว่าง ท่านทำ 5 นาที ว่าง 10 นาที ทำ 10 นาที ท่านถึงภาวนาเก่ง ครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อไปศึกษาด้วยยกย่องมากว่าในหลวงท่านภาวนาดีมากๆ เลย เก่งมากๆ เลย ไม่ธรรมดาในระดับไม่ธรรมดาเลย นี่เพราะว่าท่านไม่ละเลยมีเวลา 5 นาที 10 นาทีก็ทำ ฉะนั้นพวกเราทำ เราจะมาอ้างว่าไม่มีเวลาไม่จริงหรอก ขนาดพระเจ้าแผ่นดินงานเยอะกว่าเรายังมีเวลาเลย เรามันโง่เอง เราไม่ใส่ใจเราไม่สนใจที่จะฝึกตัวเอง ใส่ใจที่จะฝึกตัวเองมันทำได้เต็มไปหมด ยิ่งเป็นพระอย่างนี้เดินบิณฑบาตรมันคือเดินจงกรมนั่นล่ะ ทำไมวันหนึ่งจะไม่มีเวลา ไปรดน้ำต้นไม้พวกเราช่วยกันปลูกป่า ตกเย็นเราไปรดต้นไม้กัน ไปใส่ปุ๋ยอะไรอย่างนี้ เราก็สามารถเจริญสติได้ตลอด
ถ้าเรามีสติจดจ่ออยู่กับการทำงานของเรา เราจะได้สมถะได้สมาธิ แต่ถ้าเรามีสติอยู่ แล้วเรารู้ทันว่าใจเราหนีไปแล้ว เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่น ถ้าใจตั้งมั่น ใจเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว เห็นร่างกายเคลื่อนไหวใจเป็นคนดู ร่างกายที่เคลื่อนไหวเป็นของถูกรู้ถูกดู มันจะแสดงไตรลักษณ์ให้เราเห็น ร่างกายนี้ไม่ใช่เรานี่ ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นนี่ ร่างกายนี้ไม่คงที่ จะเห็นอย่างนี้ ความสุขความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในกาย หรือสุข ทุกข์ เฉยๆ ที่เกิดขึ้นในใจก็ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดู อะไรที่ถูกดูนี่มันจะง่ายที่เห็นว่ามันไม่ใช่ตัวเราของเรา จะเห็นอนัตตาได้ง่ายๆ เห็นแก้วน้ำนี่ไหม แก้วน้ำนี่เป็นของที่เรารู้ เรารู้จักแก้วน้ำนี้ด้วยตา สิ่งที่เรามองเห็นนี่ ไม่มีใครเห็นว่าแก้วน้ำนี้คือตัวเราหรอก มันบ้าแล้ว เพราะฉะนั้นเรามีใจเป็นคนรู้ แล้วก็ไปรู้อารมณ์ทั้งหลายแล้วจะเห็นอารมณ์ทั้งหลายไม่ใช่เราหรอก ของถูกรู้ถูกดูไป จิตก็ของถูกรู้ถูกดู เจตสิก คือสุขทุกข์ ดีชั่วก็ถูกรู้ถูกดู ร่างกายก็ถูกรู้ถูกดู ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้เราเดินปัญญา
ทีนี้เดินปัญญาไปช่วงหนึ่งจิตหมดแรง ถ้าจิตหมดแรงกลับมาทำสมถะ มาอยู่กับลมหายใจ มาอยู่กับพุทโธ อะไรที่เราทำแล้วมีความสุข บางคนเล่นทางลัด นึกถึงครูบาอาจารย์แล้วมีความสุข อันนี้เป็นสังฆานุสติ นึกถึงครูบาอาจารย์ต้องเลือกนึกถึงนะ ไปนึกถึงครูบาอาจารย์เดียรถีย์ จิตเพี้ยนๆ อะไรอย่างนั้นไม่ได้ ใจเราไปเชื่อมอย่างนั้นก็เพี้ยนตามไปเลย เราต้องมั่นใจว่าครูบาอาจารย์องค์นี้ดูท่านสะอาดหมดจด ตัวท่านก็สะอาดหมดจด ธรรมะที่ท่านสอนก็ไปเป็นไปเพื่อความสะอาดหมดจดจริงๆ เราเชื่อมั่นได้ ดูท่านผ่องใส ความผ่องใสดูด้วยตาธรรมดาไม่ได้ เชื่อถือไม่ได้ บางคนมันไปแต่งหน้าเมคอัพ ไปดึงหน้าให้ตึง ฉีดอะไรต่ออะไรเข้าไปให้ดูสวยงามมีราศี แต่ใจมันมอม ดูตรงผ่องใสไม่ได้ ให้ดูเวลาเราเข้าไปใกล้ชิด เราไปดูเขามีศีลอันงามไหม ถ้าเรามั่นใจแล้วครูบาอาจารย์เราดีจริง เราระลึกถึงท่าน หลวงพ่อบางทีฟุ้งซ่านหลวงพ่อนึกถึงหลวงปู่ดูลย์ เราจะนึกถึงพระพุทธเจ้า เราก็วาดภาพพระพุทธเจ้าไม่ออก กลายเป็นนึกถึงพระพุทธรูปไป เรานึกถึงหลวงปู่ดุลย์ ใจของเรากับหลวงปู่ดุลย์รู้สึกเหมือนเชื่อมต่อกัน ใจเราก็มีปีติ มีความสุข มีสมาธิขึ้นมาทันทีเลย ฉะนั้นเป็นวิธีทำสมถกรรมฐานแบบง่ายๆ แต่ก็ต้องหัดทำถึงจะเป็น แต่ตัวนี้อันตรายอย่างหนึ่งถ้ามันไปเชื่อมครูบาอาจารย์ได้ต่อไปมันก็ไปเชื่อมคนอื่นได้ มันจะออกไปรู้ไปเห็นจิตใจของคนอื่น ถ้าเรายังเป็นปุถุชนอยู่แล้วไปรู้จิตใจคนอื่น จิตมันจะไม่เข้าบ้านแล้ว จิตมันจะหนีเพลินออกไปข้างนอก เพราะฉะนั้นห้ามเล่นเด็ดขาด หลวงปู่ดุลย์ห้ามเลยออกไปรู้ไปเห็นอะไรข้างนอกไปรู้วาระจิตคนอื่นท่านห้ามเด็ดขาด ถ้าไปทำเข้า บางคนก็บ้า บางคนถึงขนาดฆ่าตัวตายเลย สุดท้ายทนไม่ไหวเพี้ยนไปเลย ฉะนั้นเราอย่านอกลู่นอกทาง ครูบาอาจารย์ห้ามอะไรก็เชื่อฟังไว้บ้าง ครูบาอาจารย์ไม่ได้ห้ามลอยๆ ห้ามมาจากสิ่งที่ได้รู้ได้เห็นมาแล้ว
ทีนี้อย่างเรานึกถึงครูบาอาจารย์องค์นี้แล้วใจเราเบิกบานสงบสุข ถ้าระลึกถึงแล้วกิเลสเกิดนี่ไม่ใช่แล้วนะ ไม่ใช่แล้ว ระลึกถึงแล้วสงบสุขอะไรนี้อย่างนี้ถึงใช้ได้ ใจก็จะสงบทันที นี่หลักของการทำสมถะชนิดสงบ ฉะนั้นวันนี้สอนสมถะชนิดตั้งมั่น สอนมาแต่เมื่อวานชนิดสงบคืออยู่กับอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข พอใจสงบมีกำลังแล้วพัฒนาใจที่ตั้งมั่นขึ้นมา แล้วเรียนรู้ความจริงของกายของใจ กายกับใจล้วนเป็นของถูกรู้ถูกดู ดูไปเรื่อยๆ มันก็แสดงไตรลักษณ์
โยมที่ฟังที่บ้าน ที่อื่นน่ะนะ รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี อย่าประมาท รักษาตัวให้ดี อะไรที่ราชการเขาแนะนำก็ทำ จะได้ปลอดภัย จะได้มีโอกาสมาฟังธรรมกับหลวงพ่อตัวเป็นๆ ได้อีก ไม่ต้องถอดจิตมาหาหลวงพ่อ
วัดสวนสันติธรรม
24 พฤษภาคม 2563