ฝึกให้ได้จิตผู้รู้ จึงพร้อมเดินปัญญา

วันนี้มีการไลฟ์สดครั้งแรก หลวงพ่อไม่เคยเทศน์แบบนี้ เคยแต่ teleconference ไปเฉพาะที่ อันนี้มันกว้าง ได้ยินว่าในต่างประเทศเค้ามีถ่ายทอดไป แล้วก็แปลภาษากัน real time ในเมืองไทยก็มีทั้งตามวัดต่างๆ กับตามบ้าน ในขณะฟังธรรมหลวงพ่อขอร้องให้พวกเราตั้งใจฟังธรรมจริงๆ ฟังธรรมะเพื่อธรรมะ การกดไลค์ การคอมเมนต์อะไรมันไร้สาระ มันทำให้ใจเราวอกแวก คนอื่นมาเห็นคอมเมนต์ก็อยากคอมเมนต์บ้าง มันไม่ใช่วิถีทางของนักปฏิบัติ เราใช้เทคโนโลยีมาเพื่อประโยชน์สำหรับศึกษาธรรมะภาคปฏิบัติ แต่เราไม่เอานิสัยของชาวโลกมาใช้ ต้องแสดงความมีตัวตน จะทำอะไรก็ต้องย้ำความมีตัวตน การเข้าไปกดไลค์ การคอมเมนต์อะไรแบบนี้คือการประกาศตัวตนอย่างหนึ่งเหมือนกัน ของเราปฏิบัติธรรมเพื่อถอดถอนความมีตัวตน ตัวตนนั่นล่ะมันเป็นที่รองรับความทุกข์

ฉะนั้นการที่เรามาศึกษาธรรมะเป็นทางที่เฉพาะตัว เพื่อปลดตัวเองออกจากความทุกข์ให้ได้ ไม่ใช่เพื่อการรวมกลุ่มกันเฮฮามีสมัครพรรคพวก ทำอันโน้นทำอันนี้ให้มันวุ่นวายใจ ธรรมะจริงๆ นะเป็นเรื่องของเราเอง เป็นเรื่องเฉพาะตัว เราก็พยายามมีสติ ศึกษาลงไปในร่างกายในจิตใจของตนเอง สิ่งที่เรียกว่าตัวเรา ๆ มันก็ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนที่เป็นรูปธรรม และส่วนที่เป็นนามธรรม ถ้าเราสังเกตให้ดี ความทุกข์มันก็มีอยู่ 2 อย่าง ความทุกข์ทางกาย และความทุกข์ทางจิตใจ ตัวรูปธรรมตัวนามธรรมนั่นล่ะมันเป็นที่ตั้งของความทุกข์

เราจะภาวนาปฏิบัติไปจนกระทั่งมีกาย กายก็ไม่ได้เป็นที่ตั้งของความทุกข์ในใจเรา มีความรู้สึกนึกคิดอะไรนั่นแหละแต่ว่าใจเราไม่มีความทุกข์ การฝึกถอดถอนตัวเองออกจากกองทุกข์ ตราบใดที่เรายึดถือกายเราก็ยังทุกข์เพราะกาย ตราบใดที่ยึดถือความรู้สึกนึกคิด ความรับรู้ทางใจ เราก็ยังทุกข์เพราะใจ ทำยังไงเราจะหมดความยึดถือในกาย หมดความยึดถือในใจ เราจะหมดความยึดถือกาย หมดความยึดถือใจได้ ถ้าเราเห็นความจริงของกาย เห็นความจริงของจิตใจ การเรียนเพื่อให้เห็นความจริงของกายของใจที่เรียกว่า “วิปัสสนากรรมฐาน” นอกเหนือจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ไม่มีทางพ้นทุกข์ได้เด็ดขาด เพราะวิปัสสนากรรมฐานจะทำให้เราเกิดปัญญาเห็นความจริงของกายของใจ ปัญญาจะทำให้เราเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น

พระพุทธเจ้าท่านก็บอกบุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา แต่ปัญญาอยู่เฉยๆ มันไม่เกิด มันต้องมีสมาธิรองรับ สมาธิจะมั่นคงเมื่อมีศีลรองรับ สิ่งที่เราจะต้องฝึกคือเรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ เรื่องของปัญญา ในเรื่องของปัญญา ในเวลาจำกัด หลวงพ่อพูดเรื่องปัญญาก่อน การเจริญปัญญา คือการเห็นความจริงของกาย ของใจ เห็นความจริงของรูปนาม พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ความเกิดสิ้นแล้ว ความทุกข์ทั้งหลายในใจไม่มีอีกแล้ว กิจการที่จะถอดถอนใจออกจากความทุกข์ไม่มีอีกแล้ว งั้นการที่เราจะเข้าถึงมรรคผลนิพพาน รู้แจ้งเห็นจริงจนกระทั่งปล่อยวางได้ เราก็ต้องมาหัดรู้ความจริงของกาย หัดรู้ความจริงของใจ มันมีเครื่องมือที่สำคัญอยู่ 2 ตัวที่จะทำให้เรารู้ความจริงของกายของใจได้ ก็คือสติกับสมาธิ

สติจะเป็นตัวระลึกรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ความปรากฏอยู่ของกายของใจ ของรูปธรรมนามธรรม ทีนี้ถ้ามีสติรู้กายรู้ใจอยู่เฉยๆ ปัญญายังไม่เกิด เพราะตัวที่ทำให้เกิดปัญญาได้คือสมาธิ ในตำราสอนกันบอกว่าสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา การที่เรามีสติรู้สึกกายรู้สึกใจอยู่ยังไม่ทำให้เกิดปัญญาจริง อย่างช่วงหลายสิบปีแล้ว หลวงพ่อสอนเพื่อนๆ ให้รู้สึกตัว รู้สึกตัวเป็นแล้วก็ดูความจริงของกายของใจไป ตรงที่รู้สึกตัวนี่คือใจที่ตั้งมั่น และตรงที่สามารถดูกายดูใจได้ ตัวนี้คือตัวสติ ใหม่ๆ หลวงพ่อบอกให้รู้สึกตัวไว้ๆ บางคนหัวเราะ บอกหลวงพ่อปราโมทย์สอนอะไรไม่เข้าเรื่อง สอนให้รู้สึกตัว ทำไมไม่สอนหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ อะไรอย่างนี้ อันนั้นเป็นกรรมวิธีในการปฏิบัติ จุดสำคัญที่เราไปหายใจ หรือไปทำกรรมฐานใดๆ ก็ตาม เพื่อจะปลุกความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น ความรู้สึกตัวนี่เป็นจุดตั้งต้นที่เราจะเจริญปัญญาต่อไป แต่มันยังไม่ใช่การเจริญปัญญา เป็นแค่จุดตั้งต้นเท่านั้นเอง ความรู้สึกตัวก็คือ ร่างกายมีอยู่ เราก็รู้ว่ามีอยู่ จิตใจมีอยู่ เราก็รู้ว่ามีอยู่ มีใจเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมา นี่เป็นอีก step หนึ่ง จากรู้สึกตัวนี่ไม่ใช่รู้เฉยๆ รู้ไปแล้วก็มีใจเป็นคนดู ตรงที่มีใจเป็นคนดู มันก็มีใจเป็นคนดูกับมีอารมณ์ที่ถูกใจดู มี 2 อย่างเกิดขึ้น พอมี 2 อย่าง คือจิตคือตัวผู้รู้ กับอารมณ์คือสิ่งที่ถูกรู้ มี 2 อย่างนี้ขึ้นมาได้แล้ว เรียกว่าเรามีสมาธิที่ถูกต้องแล้ว ปัญญามันถึงจะเกิด แต่ก่อนที่จะถึงขั้นที่แยกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ได้ ก็หัดรู้สึกตัวก่อน ถ้าจิตใจเราฟุ้งซ่านล่องลอยตลอดเวลา มันไม่มีทางที่จะแยกธาตุแยกขันธ์ได้

ในเบื้องต้นก็ฝึกที่จะคอยรู้สึกตัวเรื่อยๆ วิธีการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้สึกตัว ก็คือทำกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราถนัด ทำกรรมฐานไปแล้วพอจิตมันหลงไปก็รู้ จิตมันหลงไปก็รู้ ฝึกไปเรื่อยๆ อย่างนี้แหละ เดี๋ยวจิตก็รู้สึกตัวขึ้นมาได้ ตั้งมั่นขึ้นมาได้ พอรู้สึกตัวแล้วอย่ารู้สึกอยู่เฉยๆ ก็ต้องดูความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ตรงนั้นถึงจะเป็นวิปัสสนา ลำพังรู้สึกตัวอยู่เฉยๆ ยังไม่ถึงวิปัสสนา ฉะนั้นบางคนบอกหลวงพ่อปราโมทย์สอนให้รู้สึกตัวอยู่เฉยๆ แล้ววันหนึ่งก็บรรลุมรรคผล อันนั้นเป็นการกล่าวตู่ ไม่ใช่เรื่องจริง แต่ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นที่พวกเราต้องฝึกก่อน คนในโลกรักตัวเองที่สุด แต่ลืมตัวเองตลอดเวลา คนในโลกหาคนที่รู้สึกตัวได้น้อยเต็มที

เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน หลวงพ่อสอนเพื่อนๆ อยู่กลุ่มหนึ่ง จนกระทั่งขยายตัวออกมาได้ 10 คนก็พาไปกราบครูบาอาจารย์ นั่งรถตู้ไปด้วยกัน ครูบาอาจารย์บางองค์จิตท่านไวมากเลย พอรถเราเข้าวัดท่านนะรถจอด ท่านหันขวับเลย ท่านมอง เข้าไปฟังธรรม บางองค์ท่านอุทานนะ มันไปรวมกันอย่างนี้ได้อย่างไร ที่ไปรวมมาไม่ใช่รวมพระอริยะมานะ ยังไม่ได้ถึงพระอริยะอะไรหรอก แค่รู้สึกตัวเท่านั้นเอง ไม่ใช่ใจล่องลอย มีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึกไว้ ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด คนทั่วๆ มันไปจะหลงไปอยู่ในโลกของความคิดเป็นส่วนใหญ่ แล้วเวลาดูรูป มันก็หลงไปดู เวลาได้ยินเสียง มันก็หลงไปฟัง เวลาได้กลิ่นก็หลงไปดมกลิ่น เวลากระทบรส ลิ้นกระทบรสก็หลงไปกับรส เพลินเมามันในการรับประทาน เวลามีอะไรมาสัมผัสร่างกาย อย่างยุงมากัด ใจก็พุ่งออกไปที่ร่างกาย พุ่งออกไปที่ยุง อาฆาตแค้นยุงขึ้นมา ไม่เห็น ต้องตบยุงให้ตาย ยุงบินหนีไปก็เดินตามไปหาทางตีให้ได้แก้แค้น นี่ไม่เห็น ฉะนั้นเราพยายามมาฝึกให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว นี่เป็นจุดตั้งต้นเลยที่เราจะปฏิบัติกัน อย่าปล่อยใจให้ล่องลอยหนีไปตลอดเวลา คนในโลกนี้เต็มไปด้วยคนหลง ในโลกนี้จะหาคนรู้สึกตัวหายากเต็มที มีแต่คนหลง

อย่างหลวงพ่อสอนพรรคพวกได้ 10 คนพาไปกราบครูบาอาจารย์ ท่านอุทานเลยว่ามันไปรวมกันมามากขนาดนี้ได้ยังไง 10 คนว่ามากแล้วในยุคโน้น เพราะคนเอาแต่ทำสมถะให้สงบอย่างเดียว มุ่งแต่ความสงบไม่ได้มุ่งที่ความรู้สึกตัว มุ่งที่ความรู้สึกตัวมันจะเดินปัญญาต่อได้ มุ่งไปที่ความสงบอย่างเดียวมันไม่เดินปัญญาหรอก มันก็สบายเพลินๆ ไป ตายไปก็ไปอยู่ในพรหมโลก ถ้าสงบมากๆ ก็ไปเป็นพระพรหม สงบน้อยหน่อยจิตไปบุญเป็นกุศลก็เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ที่ดีอะไรอย่างนี้ ก็ได้แค่นั้นเอง มันยังไม่เกี่ยวอะไรกับทางพ้นทุกข์จริงๆ

แต่การที่เรามาฝึกตัวเองให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว มันจะเป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้เราเจริญปัญญา คือสามารถเห็นความจริงของกายของใจได้ ถ้าเรามีกายก็ลืมกาย มีใจก็ลืมใจ เราจะไม่สามารถเห็นความจริงของกายของใจ เพราะมันลืมไปแล้วไม่สนใจซะแล้ว มัวสนใจของข้างนอก สนใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะในสิ่งที่สัมผัสกาย ในเรื่องราวที่คิดนึกทางใจ หลงออกไปหาอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ละเลยที่จะรู้กายรู้ใจของตัวเอง จิตมันหลงออกนอกไป ฉะนั้นเราต้องพยายามฝึกให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว อย่าให้มันล่องลอยหนีไปตลอดเวลา วิธีที่ฝึกให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ต้องทำนะกรรมฐาน ไม่ใช่อยู่ๆ ก็รู้สึกตัวลอยๆ ขึ้นมาได้ ไม่มีหรอก วาสนาบารมีของคนรุ่นเรา อยู่ๆ ก็รู้สึกตัวไม่มีหรอก ต้องฝึก ทีนี้บางคนนะชาติก่อนๆ เคยฝึกมาแล้ว อันนี้เป็นข้อยกเว้น ชาติก่อนๆ เคยฝึกมาแล้ว แต่ว่าตอนตายมันลืม ลืมเรื่องความรู้สึกตัว ต่อมาพอถึงช่วงเวลาหนึ่งจิตเกิดไปสัมผัสอารมณ์ที่รุนแรงขึ้นมา โดยเฉพาะอารมณ์ในตระกูลความตกใจ อันนี้ไม่มีในทฤษฏี ไม่มีในตำราหรอก เป็นประสบการณ์ที่หลวงพ่อรู้จักมักคุ้นกับนักปฏิบัติ หลายท่านตัวรู้มันเกิดขึ้นมา มีเรื่องตกใจ

อย่างหลวงพ่อตอนเด็กๆ อายุ 10 ขวบ ไฟไหม้ข้างบ้าน เรากำลังเล่นอยู่หน้าบ้าน ไฟไหม้ บ้านเป็นตึกแถวเห็นเลย 4-5 ห้องถัดไป ไฟกำลังพลุ่งควันโขมงออกมา คนกำลังโวยวายตกใจ พอตกใจก็วิ่งจะไปบอกพ่อ วิ่งเข้าบ้านก้าวที่ 1 ตกใจ ก้าวที่ 2 ตกใจ ก้าวที่ 3 เห็นจิตที่ตกใจ ความตกใจขาดสะบั้นไปเลย จิตก็เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา เป็นภาวะซึ่งแปลกประหลาด เรารู้สึกสภาวะนี้มาทบทวนทีหลัง เป็นสภาวะที่เราเคยคุ้น เคยคุ้นเคยอย่างนี้แต่มันลืมไปแล้ว แล้วไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเกิดขึ้นเองตอนที่ตกใจแรงๆ พอมันเห็นความตกใจ ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าไปเห็นความตกใจเข้า รู้สึกว่าวิ่งก้าวที่ 1 กลัว ตกใจ วิ่งก้าวที่ 2 ตกใจ ก้าวที่ 3 นี่เหมือนเปิดสวิตช์ไฟจากข้างในออกมา สว่างพรึบออกมา ความตกใจขาดสะบั้นไป มีพระองค์หนึ่งท่านเคยมาเล่าให้ฟัง ตอนท่านเป็นวัยรุ่นยังไม่ได้บวช ท่านไปเที่ยวงานลอยกระทง แล้วไม่ทันสังเกต ไปยืนอยู่ตรงที่เขาจะจุดพลุ พอถึงเวลาเขาจุดพลุเปรี้ยงๆๆ ขึ้นมา ท่านบอกท่านตกใจ พอตกใจมันเห็นความตกใจ จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา เข้าถึงภาวะแห่งความตื่นขึ้นมา แต่ก็ไม่รู้เหตุรู้ผล เหมือนอย่างหลวงพ่อตอนเด็กๆ ไม่รู้เหตุรู้ผลว่าทำไมมันตื่นขึ้นมา แล้วไม่เรียกว่าตื่นด้วย เป็นสภาวะอะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้จัก แต่ว่ามันเคยเห็น มันรู้สึกว่ามันเคยเห็นอย่างนี้
อันนี้ถ้าเราเคยฝึกมา ค่อยๆ ฝึกมา สะสมของเราไป ชาตินี้เกิดยังภาวนาไม่ได้อะไรขึ้นมา ได้ความรู้สึกตัวไว้ เคยชินที่จะรู้สึกตัวไว้ ชาติต่อไปเวลาจิตไปกระทบอารมณ์ที่รุนแรง ความรู้สึกตัวมันจะเกิดขึ้นเอง ความรู้สึกตัวนั้นเป็นสภาวะของจิตใจที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตมันดีดตัวขึ้นมาเป็นผู้รู้ ไม่ใช่ผู้หลงแล้ว ฉะนั้นเราต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ตอนนั้นไม่รู้เหตุรู้ผล รู้แต่ว่าอยู่ๆ มันก็หลุดขึ้นมา มารู้เหตุรู้ผลทีหลัง ต้องฝึก ของฟรีไม่มี ของฟลุกไม่มี ไม่ใช่ฟลุก ตกใจแล้วก็ฟลุกเข้าถึงภาวะอันนั้น ไม่ใช่ ต้องฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง พุทโธก็ได้ หายใจก็ได้ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธก็ได้ หรือทำกรรมฐานอย่างอื่นก็ได้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันเวลาจิตมันหลงไป

เราทำกรรมฐานจิตมันจะหลงได้ 2 ลักษณะ อันหนึ่งหลงมันไปคิดเรื่องอื่น ลืมกรรมฐาน เช่น พอหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอยู่ จิตหลงไปคิดเรื่องอื่น ไม่ใช่เรื่องพุทโธแล้ว ถ้าเรารู้ทัน “อ้าว หลงไปแล้วนี่” ตรงที่เรารู้ทันสภาวะว่าหลงไปแล้ว จิตก็จะดีดตัวขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานโดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นว่าต้องกลัวถึงจะเกิดตัวผู้รู้ ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจิตจะรู้สภาวธรรมตัวใด ถ้ารู้ได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงเป็นปัจจุบันละก็ ตัวรู้ก็จะเกิดขึ้นทั้งสิ้น เช่นใจเราโลภ ใจเราอยาก เห็นเขามีตู้ ตู้เขาเรียกอะไร ตู้ปันสุข ใช่ไหม? ตู้แบ่งข้าวของให้คนที่ไม่มี เห็นเขามีตู้ ใจมันอยากได้ อยากได้ของในตู้ ถ้าดีที่สุดคืออยากได้ทั้งตู้เลย ใจมันอยากขึ้นมา ถ้าเรารู้ว่าใจมันโลภ ความโลภจะดับ แล้วความรู้สึกตัว หรือจิตที่เป็นผู้รู้จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ นี้เราเห็นคนที่อยู่ข้างหน้าเรา มันโกยไปเกือบหมดตู้แล้วไม่ยอมเลิก โทสะเราเกิด ถ้าเราเห็นจิตมีโทสะ โทสะก็จะดับ ตัวรู้ก็จะเกิด เราเห็นสภาวธรรมอันใดอันหนึ่งก็ได้ ถ้าเห็นสภาวธรรมได้ถูกต้องตัวรู้จะเกิดขึ้น

เราหัดทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง พอจิตมันเคลื่อนไปที่อื่น ส่วนใหญ่ก็เคลื่อนไปคิด บางทีก็เคลื่อนไปดู อย่างเมื่อกี้เห็นคนมาเปิดตู้ใจมันเคลื่อนไปที่คน นี้หลงไปทางตา ใจมันเคลื่อนไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เราคอยรู้ทัน ใจมันเคลื่อนไปคิดทางใจ คอยรู้ทัน แล้วตัวรู้มันจะเกิดขึ้น การเคลื่อนมีอีกลักษณะหนึ่ง เวลาเราทำกรรมฐาน เช่น เราหายใจเข้า หายใจออก เราดูท้องพองยุบ เราขยับมือทำจังหวะอย่างสายหลวงพ่อเทียน หรือทำกรรมฐานอะไรก็ได้ การเคลื่อนมันจะมีลักษณะหนึ่ง เคลื่อนไปแช่นิ่งๆ จมอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน อันหนึ่งเคลื่อนหลงไปจากอารมณ์กรรมฐาน อันที่ 2 เคลื่อนไปเพ่งอยู่ที่ตัวอารมณ์กรรมฐาน ฉะนั้นเวลาที่จิตเคลื่อนไปตามอารมณ์อย่างอื่น จิตมันจะหลงไปที่อื่น พอมันมาเคลื่อนมาจมอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน มันหลงอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ก็เคลื่อนเหมือนกัน ให้เรารู้ทันว่าตอนนี้จิตจมแช่ลงไปในอารมณ์กรรมฐานแล้ว เช่น เราดูท้องพองยุบ แล้วจิตไหลไป concentrate ไปสนใจแน่วแน่ แนบนิ่งอยู่ที่ท้อง รู้ทันว่าจิตไหลไปอยู่ที่ท้อง ทันทีที่เรารู้สภาวะถูกต้องว่าจิตไหลไปอยู่ที่ท้อง จิตรู้จะเกิดขึ้นจิตไหลจะดับ จิตรู้จะเกิด จิตที่ไหลไปเป็นจิตที่มีโมหะชนิดอุทธัจจะ ฟุ้งซ่าน มันลืมเนื้อลืมตัว มันฟุ้งซ่าน มันไหลออกไป เรารู้ทันว่ามันไหลไปอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ความฟุ้งซ่านคือการไหลจะดับ จะเกิดจิตผู้รู้ขึ้นมาแทน จิตผู้รู้นี่อยู่ๆ อย่าไปจงใจทำให้เกิด ไม่มีใครจงใจทำจิตผู้รู้ให้เกิดได้ เพราะจิตผู้รู้เองก็เป็นอนัตตา แต่ว่าเมื่อไรจิตไม่หลงเมื่อนั้นจิตผู้รู้ก็เกิด

ถ้าเรารู้ทันจิตที่หลง จิตที่หลงเป็นอกุศล เมื่อไรเรามีสติรู้ทันจิตที่หลง จิตที่หลงจะดับ จิตที่รู้จะเกิดขึ้นเอง ตัวรู้นี่จิตรู้นี่เราไม่จงใจทำให้เกิด มันจะเกิดของมันเอง หน้าที่ของเราก็แค่ทำกรรมฐานอันหนึ่ง จิตหลงไปคิดรู้ทัน พอจิตหลงไปคิดรู้ทัน จิตหลงไปคิดก็ดับ เกิดจิตรู้ขึ้นแทน จิตหลงไปดูเกิดขึ้น เรามีสติรู้ทันจิตที่หลงไปดู จิตที่หลงไปดูก็ดับ เกิดจิตที่รู้ขึ้นมาแทน มันเกิดเองไม่ต้องเรียกร้องให้เกิด เรียกร้องให้เกิดเป็นจิตโลภ เวลาอยากรู้สึกตัวจิตมันโลภ จิตโลภไม่มีทางจะเป็นจิตรู้หรอกเพราะเป็นจิตอกุศล แต่ถ้าเรารู้ว่า อุ๊ย ตอนนี้กำลังลุ้นอยู่ อยากจะมีผู้รู้ อยากให้จิตสงบ อยากให้จิตตั้งมั่น รู้ทันว่ากำลังอยากอยู่ ความอยากจะดับอัตโนมัติ และจิตรู้จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จิตรู้เราสร้างขึ้นไม่ได้ แต่เรารู้ทันจิตหลง การจะรู้ทันจิตหลงเราก็รู้ทันไม่ได้ จงใจรู้ทันไม่ได้จะคอยรู้จิตหลง มันจะกลายเป็นจิตเพ่ง เป็นหลงเพ่ง เราก็ทำกรรมฐานอันหนึ่งแล้วพอจิตหลงแล้วคอยรู้บ่อยๆ ต่อไปจิตจำสภาวะที่หลงได้ พอจิตหลงปุ๊บ สติจะเกิดเอง แล้วจิตรู้ก็จะเกิดขึ้นเอง ฝึกจนมันเกิดเอง

หรือบางทีไม่หลงไปดูข้างนอก ไม่หลงไปฟังเสียง ไม่หลงไปดมกลิ่นลิ้มรส ไม่หลงไปรู้สัมผัสทางกาย ไม่หลงไปคิดเรื่องอื่น แต่มันถลำลงไป นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อย นี่พูดแบบสุภาพ คนปฏิบัติใหม่ร้อยละร้อยเริ่มต้นเพ่งทุกคน เป็นเรื่องธรรมชาติไม่ต้องตกใจ อย่างจะพุทโธก็เพ่งจิตให้นิ่งอยู่กับพุทโธ จะรู้ลมหายใจก็เพ่งจิตให้นิ่งอยู่กับลมหายใจ ดูท้องพองยุบก็เพ่งจิตให้ไปนิ่งอยู่ที่ท้อง ขยับมือก็เพ่งอยู่ที่มือ ทำอะไรก็เพ่งตลอด หัดใหม่เป็นอย่างนั้นทุกคนไม่ต้องตกใจ แต่ว่าไม่ใช่เพ่งไปทั้งชาติ ซื่อบื้ออย่างนั้นไปทั้งชาติมันก็ไม่ไหวไม่พัฒนา ทีนี้ถ้าเราคอยฝึกรู้ทันจิตไว้ พอจิตไหลไปเพ่ง ทีแรกอาจจะเพ่งไปพักหนึ่งแล้วถึงจะรู้ว่าไหลไปเพ่ง ต่อมาเราเห็นมันไหลไปเพ่งบ่อยๆ ต่อไปพอไหลไปปุ๊บ มันไหลไปจะไปเพ่งแล้ว มันจะรู้ทันเลยว่าจิตไหลไปเพ่ง ทันทีที่รู้ว่าจิตไหล จิตไหลจะดับ จิตไหลเป็นจิตอกุศล เป็นจิตมีโมหะชนิดอุทธัจจะ ฟุ้งซ่าน ทันทีที่เรารู้ว่าจิตไหล อกุศลจะดับโดยอัตโนมัติ เราไม่ต้องดับอกุศล โลภ โกรธ หลงไม่ต้องดับมันหรอก ทันทีที่เราเกิดสติมันไม่มีโลภ โกรธ หลงให้ดับแล้ว ที่เราฝึกกันแทบเป็นแทบตาย ไม่ใช่เพื่อละกิเลสมันไม่มีกิเลสให้ละ แต่มันละอนุสัย พอเราไม่ตามใจกิเลสบ่อยๆ สันดานของเราที่ไม่ดีค่อยลดละลงไปเรื่อยๆ ที่เราเจริญสตินี่มันไปละอนุสัย มันไม่มีกิเลสจะให้ เพราะทันทีที่เกิดสติกิเลสมันดับไปแล้ว

วิธีฝึกคือทำกรรมฐานอันหนึ่ง จิตหลงไปจากอารมณ์กรรมฐานรู้ทัน จิตไหลไปอยู่ที่อารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน ฝึกตัวนี้ให้ได้ จะใช้กรรมฐานอะไรก็เสมอกันหมด ไม่มีกรรมฐานอะไรดีเลวกว่ากันหรอก ไม่ใช่พุทโธดีที่สุด หายใจดีที่สุด พองยุบดีที่สุด ขยับมือทำจังหวะดีที่สุด อะไรแบบนี้ ไม่ใช่ ไม่มีกรรมฐานอะไรดีที่สุดหรอก กรรมฐานใดที่ทำแล้วเกิดสติ กรรมฐานนั้นะเหมาะสมสำหรับเรา กรรมฐานแค่เหมาะสมสำหรับเรา ไม่ใช่ดีที่สุด เพราะคนอื่นมาทำกรรมฐานอย่างเรา อาจจะไม่มีสติก็ได้ มันไม่เหมาะกับจริตนิสัยของเขา ฉะนั้นกรรมฐานที่เราฝึกได้ เราอย่าไปคุยอวดคนว่ากรรมฐานของเราดีที่สุด กรรมฐานของใครก็ของคนนั้น ของใครของมัน ทางใครทางมัน ไม่เหยียบรอยกัน

ครูบาอาจารย์ท่านเคยบอก เหมือนจะเดินไปกินน้ำในบ่อเดียวกัน เดินไปทางเดียวกัน แต่ไม่เหยียบรอยกัน ทำกรรมฐานก็ต่างใครต่างคนต่างทำของตัวเองไป ไม่ไปเหยียบรอยเท้ากัน ยุคนี้ไม่ใช่แค่เหยียบรอยเท้านะ พยายามเหยียบเท้ากันด้วย เอาชนะกันอยากจะเก่ง อยากจะดี ปัดแข้งปัดขาอะไรกัน นี่ก็เรื่องของกิเลสทั้งนั้นเลย ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติจริงเราคอยทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด เอากรรมฐานที่เราถนัดทำแล้วสติเกิดบ่อย สามารถรู้ได้ว่าจิตหลงไปคิด ลืมอารมณ์กรรมฐาน หรือจิตไหลไปแช่นิ่งๆ อยู่ในอารมณ์กรรมฐาน คอยรู้อย่างนี้บ่อยๆ ในที่สุดจิตรู้มันก็จะเกิดขึ้นมา พอเราได้จิตรู้ขึ้นมาแล้ว เราพร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว เราจะต้องมาทำสิ่งที่เรียกว่า การแยกรูปนามแยกธาตุแยกขันธ์ ถ้าจิตรู้ยังไม่มี แยกธาตุแยกขันธ์ไม่ได้หรอก

การแยกธาตุแยกขันธ์นั้น เป็นปัญญาเบื้องต้นเรียกว่า นามรูปปริจจเฉทญาณ เป็นปัญญาเบื้องต้น แยกธาตุแยกขันธ์ได้เป็นปัญญาเบื้องต้น ยังไม่ถึงวิปัสสนา ยังไม่ถึงขั้นวิปัสสนา แต่ต้องแยกธาตุแยกขันธ์ให้ได้ก่อน จะแยกธาตุแยกขันธ์ได้ เราแยกให้ได้ก่อนว่าอันใดเป็นผู้รู้ อันใดเป็นสิ่งที่ถูกรู้ เวลาแยกต้องแยกผู้รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่แยกอารมณ์อันหนึ่งกับอารมณ์อีกอันหนึ่ง อันนั้นไม่มีทางเป็นวิปัสสนาเลย อย่างเมื่อกี้โกรธ ตอนนี้ไม่โกรธอะไรแบบนี้ไม่ใช่วิปัสสนา บอกว่าเห็นไตรลักษณ์ เมื่อกี้โกรธ ตอนนี้ไม่โกรธ มันไม่ใช่การแยกรูปนาม แต่มันเป็นการจำแนก อย่างโกรธเมื่อกี้กับตอนนี้ไม่โกรธ เป็นการเปรียบเทียบสภาวธรรม 2 อันที่เกิดขึ้นคนละห้วงเวลา ลองเปรียบเทียบสภาวะ 2 อันเข้าด้วยกัน ไม่ใช่วิปัสสนากรรมฐาน

วิปัสสนาต้องเห็นสภาวะอันนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่ถึงจะเป็นวิปัสสนาเพราะอย่างนั้นถ้ามาเห็นท้องพองก็อันหนึ่ง ท้องยุบก็อันหนึ่ง ยกเท้าก็อันหนึ่ง ย่างเท้าก็อันหนึ่ง ไม่ใช่วิปัสสนาหรอก อันนั้นแยกรูปกับรูป ไม่ใช่แยกรูปนาม แล้วรูปนามที่เราแยกจะต้องมีตัวผู้รู้ นามยังมี 2 อย่าง นามจิตกับนามเจตสิก ต้องแยกให้ได้นามจิตขึ้นมาก่อน ที่เราฝึกเราฝึกให้ได้จิตผู้รู้นั่นคือตัวนามจิต แล้วจะมีนามเจตสิก สุข ทุกข์ ดี ชั่ว เราก็จะเห็นสุข ทุกข์ ดี ชั่ว ก็เป็นคนละอันกัน อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าแยกเป็น หรือร่างกายมันเดินจิตเป็นคนดู อันนี้เรียกว่าแยกเป็น ท้องมันพอง ท้องมันยุบ จิตเป็นคนดู อันนี้เรียกว่าแยกเป็น ถ้าเห็นว่าท้องพองก็อันหนึ่ง ท้องยุบก็อันหนึ่ง หายใจเข้าก็อันหนึ่ง หายใจออกก็อันหนึ่งยังไม่เรียกว่าแยก หรือเห็นว่าร่างกายที่เดินกระทืบเท้าโครมๆ กับโทสะเป็นคนละตัวกัน อันนี้ก็ยังไม่เข้าเป้า จะต้องฝึกจนกระทั่งได้จิตที่เป็นผู้รู้ขึ้นมา แยกเอานามจิตขึ้นมาให้ได้ ถ้าไม่ได้จิตจะไม่ได้ธรรมะ
ฉะนั้นเราต้องเอาให้ได้จิตก่อนถึงจะได้ธรรมะ เราต้องฝึกจนกระทั่งเราได้จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา พอสติระลึกรู้ลงในกายมันจะเห็นเลย ร่างกายเป็นของถูกรู้ ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันระลึกรู้ลงในนามเจตสิก เช่นความสุข จะเห็นเลยความสุขเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นผู้รู้ ผู้ดูอยู่ต่างหาก ความสุขไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เวลามันเห็นความทุกข์จะเห็นความทุกข์เป็นของถูกรู้ ถูกดู เห็นกิเลส เห็นกุศล จะเห็นทั้งกิเลส ทั้งกุศลเป็นของถูกรู้ ถูกดู จิตเป็นคนดูเฉย ๆ

ไม่มีความยุ่งยากอะไรที่จะปฏิบัติ พยายามฝึกให้ได้จิตที่เป็นคนดูขึ้นมาให้ได้ก่อน พอเราได้จิตที่เป็นคนดูแล้ว สติระลึกรู้ที่กาย ตรงที่สติเป็นผู้ดูคือจิตมีสมาธิที่ถูกต้องแล้ว สติระลึกรู้กายด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง มีสมาธิเป็นผู้ดู มันจะเห็นความจริงของกาย ถ้าไม่มีสมาธิคือจิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดู จิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูไม่ใช่ตัวสมาธิ แต่จิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูคือจิตที่มีสมาธิ จิตกับสมาธิเป็นองค์ธรรมคนละตัวกัน สมาธิเป็นเจตสิก จิตเป็นตัวรู้ แต่เป็นตัวรู้ที่ประกอบด้วยความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตั้งมั่นอยู่ นั่นล่ะเรียกว่าจิตผู้รู้ มีจิตผู้รู้คือจิตทรงสมาธิที่ถูกต้องแล้ว เพราะสติระลึกรู้กาย มันจะเห็นความจริงของกายว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

พอสติระลึกรู้เวทนา สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ มันจะเห็นว่าเวทนาทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สติระลึกถึงสังขารที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง มันก็จะเห็นจิตเป็นผู้รู้ ผู้ดู แล้วมันจะเห็นแล้วว่าสังขารทั้งหลาย จะดีหรือชั่ว ล้วนแต่ถูกรู้ถูกดู ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วต่อไปเราค่อยมาเห็นตัวจิต จิตที่ดูก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตที่ฟัง จิตที่ดมกลิ่น จิตที่ลิ้มรส จิตที่รู้สัมผัสทางกาย จิตที่คิดนึกปรุงแต่งทางใจ ก็ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ตัวที่ดูยากที่สุดคือจิตรู้ ถ้าเราเห็นได้ว่าตัวจิตผู้รู้เองไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตรงนั้นล่ะจิตจะปล่อยวางจิตได้ แต่ว่าตรงนี้เป็นการปฏิบัติในขั้นที่สูงแล้ว ขั้นแตกหักแล้ว ของเรายังไม่ต้องถึงตรงนั้นหรอก เราเห็นว่าร่างกายและความรู้สึกทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นตัวนี้ไปก่อน แล้วก็เห็นจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกวิญญาณ วิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือความรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ขั้นสุดท้ายนี้มาแตกหักกันตรงที่ตัวจิตผู้รู้นี่ล่ะ เพราะฉะนั้นถ้าเราได้จิตผู้รู้ เราใช้เดินปัญญาได้ ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสุดท้ายเลย ถ้าปราศจากตัวจิตผู้รู้ซะแล้วเดินปัญญาไม่ได้จริงหรอก มันจะเจือคิดเข้าไป เจือการคิด เพราะผู้รู้กับผู้คิดมันตรงกันข้ามกัน เมื่อไม่มีผู้รู้มันก็เป็นผู้คิด ไม่ใช่วิปัสสนาหรอก วิปัสสนาไม่ใช่การคิดเอา เป็นการเห็นเอา เป็นการรู้เอา

วันนี้เทศน์ดุเดือดหน่อยนะ หลวงพ่อเก็บกดมานานไม่ได้เทศน์ วันนี้เลยเทศน์ธรรมะดุเดือดหน่อย ปกติจริงๆ เทศน์ทุกวันสอนพระในวัด นี้พวกที่ดูไลฟ์สดดูยูทูปอะไรนี่จะเห็นพระของหลวงพ่อ ที่เห็นทั้งหมดคือพระที่อยู่ในนี้ พระประจำนั่งห่างๆ กัน ที่จริงไม่จำเป็นต้องนั่งห่างกัน อยู่ในนี้กันมาหลายเดือนแล้ว ไม่เคยไปไหนเลย คนในไม่ออกคนนอกไม่เข้า ไม่ได้ติดเชื้อที่ไหนหรอก เชื้อไม่ได้ลอยมาตามอากาศ แต่ว่าทดลองนั่งให้พวกเราดู ว่าต่อไปถ้าโยมมาก็ต้องนั่งกันอย่างนี้ ต้องนั่งกันห่างๆ ในศาลานี้จุได้แค่ 40 คนเท่านั้น นี้พระประมาณ 20 องค์ ครึ่งศาลา พระไม่ได้ใส่แมสก์ เพราะพระอยู่ในนี้เหมือนคนอยู่ในบ้าน ในบ้านนี้ปลอดเชื้ออยู่ ก็เลยไม่ได้ใส่แมสก์ แต่ข้างหลังเราจะเห็นว่ามีโยมอยู่บ้าง โยมพวกนี้ใส่แมสก์ โยมพวกนี้ไม่ได้มาจากที่อื่นหรอก คือทีมแม่ครัวของวัด ถ้าเราจะเข้มงวดไม่ให้แม่ครัวเข้าวัดเราคงอยู่ไม่ไหว บิณฑบาตไม่พอฉันหรอก พระบิณฑบาตฉันได้องค์ ๒ องค์เท่านั้นเองต้องมีแม่ครัว แม่ครัวจะเป็นตัวกลาง ออกไปข้างนอกไปซื้อกับข้าวมา แล้วทำกับข้าวทำอะไรถวายพระ แต่ปกติแม่ครัวไม่ได้เข้าศาลานี้แม่ครัวก็ยังอยู่ข้างนอก ทำอาหารมาส่ง มีคนรับเอามาถวายพระอีกที ในวัดหลวงพ่อเนี่ยป้องกันเข้มแข็งมาก เริ่มป้องกันมาก่อน ก่อนที่ ครม.จะมีมติว่าจะต้องรักษาห่าง เรามีทีมหมอเป็นที่ปรึกษา พวกเราไม่ต้องมาให้คำปรึกษานะ ขอร้อง อย่ามาเสนออะไรมากมาย เวียนหัว แล้วหลวงพ่อต้องมาคอยตอบคำถามว่า อันนี้ทำแล้วๆ อันนี้ไม่จำเป็นต้องทำหรอก อันนี้ทำไม่ได้หรอก อะไรแบบนี้ หลวงพ่อมีทีม มีหมอเป็นทีมที่จะดูแลอยู่แล้ว

พวกเรามีหน้าที่เรียนกรรมฐานอย่างเดียว ไม่ต้องฟุ้งซ่าน คิดว่าจะทำยังไง เสนอโน้นเสนอนี้ เป็นภาระกับหลวงพ่อ ไม่ต้องเสนอความคิดเห็นอะไรมากมายหรอก ภาวนาไป เรียนไปแล้วภาวนาไป ในนี้จัดระบบที่แข็งแกร่งมากอยู่แล้ว ระดับต้น ๆ เลย เพียงแต่พระไม่ได้ใส่ชุดอะไร เขาเรียกชุดอะไร PPE อะไรไม่ได้ใส่เท่านั้นเอง นอกนั้นดูแลกันอย่างดี วันนี้สมควรแก่เวลานะ สมควรแก่เวลาแล้ว ก็ขอจบเท่านี้

พวกเราก็ฟังกรรมฐานแล้ว ตั้งอกตั้งใจฝึกปฏิบัติเอา ถ้าไม่ฝึกปฏิบัติที่หลวงพ่อสอนไปนี่หาประโยชน์ไม่ได้ ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านเปรียบเทียบ สอนธรรมะให้ดีๆ แล้วก็ไม่เอา ท่านเปรียบเทียบเหมือนตักน้ำสาดใส่หลังหมา เอาน้ำราดหลังหมา หมาสะบัดปุ๊บๆๆ น้ำแห้งแล้ว เราอย่าทำตัวอย่างนั้น เราเป็นมนุษย์เป็นผู้มีใจสูง เมื่อได้ยินได้ฟังธรรมะแล้วลงมือปฏิบัติธรรม ให้สมควรแก่ธรรม ถือศีล 5 ไว้ แล้วทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันเวลาใจหลงไปที่อื่นจากกรรมฐาน หรือใจไหลไปอยู่ที่อารมณ์กรรมฐาน คอยรู้ตัวนี้ไว้ ในที่สุดเราจะได้ใจที่เป็นผู้รู้ขึ้นมา แล้วก็มาเจริญปัญญาต่อ แยกขันธ์ แยกธาตุ แยกขันธ์ แล้วก็ในที่สุดความพ้นทุกข์มันก็มาถึงเราจนได้

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
23 พฤษภาคม 2563
วัดสวนสันติธรรม
อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี