เมื่อวันจันทร์หลวงพ่อไปเทศน์งานศพ ที่วัดเขาดินวนาราม ที่ใกล้ๆ สวนเสือ ลูกศิษย์ลูกหาตายไปเยอะแล้ว คนนั้นตายคนนี้ตาย ชีวิตมันไม่แน่นอน ถ้าเรารู้ว่าชีวิตเราเป็นของไม่แน่นอน เราจะตายเมื่อไหร่ก็ได้ เราควรใช้ชีวิตของเราให้มีคุณค่ามากที่สุด
ชีวิตเราบางคนก็ให้ค่าต่างๆ กันไป บางคนคิดว่ารวยๆ คือคำตอบของชีวิต มีสมบัติมาก มีชื่อเสียงมาก มีเมียสวยๆ มีแฟนหล่อๆ เป็นการให้ค่าของแต่ละคน สำหรับคนที่อยู่มาจนแก่อย่างหลวงพ่อ เรารู้เลยว่าที่ในโลกเขาให้ค่าเพื่อแย่งชิงกัน เอาเข้าจริงก็หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้ สิ่งที่คนเราต้องการจริงๆ มันมีไม่มากหรอก โดยเฉพาะถ้าเราภาวนา เราจะรู้เลยการปฏิบัติธรรม คือคำตอบให้กับชีวิตเราอย่างแท้จริง การรวย การเก่ง การอย่างโน้นอย่างนี้ มันไม่ใช่คำตอบของชีวิตที่แท้จริง
หลวงพ่อเรียนรัฐศาสตร์ เพื่อนหลวงพ่อที่เรียนด้วยกัน บางคนเป็นเอกอัครราชทูตอยู่อเมริกา อยู่ในประเทศใหญ่ๆ เป็นผู้ว่าฯ เป็นอธิบดี เป็นโน้นเป็นนี้ เป็นแล้วอยู่ได้ไม่นาน ตอนนี้เกษียณหมดแล้ว ในรุ่นหลวงพ่อตายไป 30 กว่าคนแล้วกระมัง เวลาเจอกันก็จะถามกันแค่ว่า ใครไม่สบายบ้าง ไม่ถามหรอกว่าใครมีเมียใหม่ เพราะสังขารไม่อำนวยแล้ว คนไหนตายแล้ว แค่มีชีวิตอยู่รอด ไม่เจ็บไม่ป่วย พิกลพิการอะไรก็ดีแล้ว พอใจแล้ว ของที่เคยให้ความสำคัญ มาถึงจุดหนึ่ง มันไม่มีความสำคัญอีกต่อไป จะมีชื่อเสียงเกียรติยศ จะร่ำรวยแค่ไหน สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไร
บางคนมีเงินเป็นหมื่นๆ ล้าน ยังไม่พอต้องการต่อไปเรื่อยๆ มีเงินแล้วก็อยากได้อำนาจ มีอำนาจแล้วก็อยากอยู่ถาวร อย่างจิ๋นซีฮ่องเต้ มีอำนาจแล้วอยากไม่ตาย อยากเป็นอมตะ ไปเชื่อใครก็ไม่รู้ให้กินปรอทเข้าไป แทนที่จะอยู่ได้นานกว่านั้นเลยอยู่ไม่ได้ พอมีอำนาจ มีเงิน มีทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ก็กลัวการสูญเสียอีก ชีวิตไม่ได้มีความเต็มความอิ่มอะไรในตัวของมันเลย พออยู่มานานๆ จะรู้ แต่ละวัน basic minimum need จริงๆ ที่คนเราต้องการ กินข้าวได้ ขับถ่ายได้ นอนได้ ได้แค่นี้ก็อยู่ได้แล้ว มีความสุขได้แล้ว อันนั้นมันเป็นความสุขแบบโลกๆ ธรรมะให้ความสุขที่มหาศาลกว่านั้น เทียบกันไม่ติดหรอก
เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ถ้าเราหัดทำสมาธิภาวนาของเราไปเรื่อย คำว่า สมาธิภาวนา เป็นคำกลางๆ การภาวนามี 2 อัน สมถภาวนา กับวิปัสสนาภาวนา สมถภาวนาก็ต้องมีสมาธิ วิปัสสนาก็ต้องมีสมาธิ เรียกรวมๆ เป็นสมาธิภาวนา ถ้าเราฝึกสมาธิภาวนา เราจะได้ประโยชน์มากมาย วัตถุประสงค์ของการทำสมาธิภาวนา อันแรกเลยเราจะได้เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ในโลกนั้นคนไม่ค่อยมีความสุข คนจะคิดถึงความสุขในอนาคต เพราะความสุขในปัจจุบันมันยังไม่มี คนส่วนหนึ่งก็จะคิดถึงความสุขในอดีตที่มันจบไปแล้ว ก็คร่ำครวญ ใครจะสามารถมีความสุขอยู่กับปัจจุบันได้ อันนี้พวกเราชาวพุทธสามารถทำได้
อย่างเราภาวนาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรืออย่างพระในวัดนี้ บางองค์จิตฟุ้งซ่านมาก หลวงพ่อให้พิจารณากระดูก ดูกระดูกจนกระดูกใสสว่างขึ้นมา ใจก็สงบ ใจก็มีความสุข การทำสมาธิภาวนาที่จะให้มีเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน มันไม่เฉพาะการเข้าฌานสมาบัติ ถ้าเราภาวนาเป็นเราจะรู้ว่า ตอนที่จิตเกิดปัญญามันก็เกิดความสุขเหมือนกัน สมาธิทำให้จิตมีความสุขในปัจจุบัน การเจริญปัญญาจะให้ความสุขเวลาที่ปัญญาเกิด จะมีความสุข ยิ่งถ้าเป็นปัญญาในอริยมรรค ความสุขที่เกิดขึ้นอันนั้น สำหรับบางองค์นะมันมหาศาลมากเลย หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกว่า จิตยิ้ม
ฉะนั้นความสุขจากการปฏิบัติ เราทำสมถะได้ จิตไม่วุ่นวายร่อนเร่ จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว อารมณ์นั้นค่อยๆ ละเอียด ค่อยๆ ประณีตเข้าไป อย่างทีแรกเราพิจารณากระดูก กระดูกมันก็ด้านๆ เหมือนกระดูกเป็ด กระดูกไก่ พอใจมันสงบดูไปที่กระดูกจริงๆ กระดูกจะเริ่มใสๆ ขึ้น หรือเรารู้ลมหายใจ พอจิตสงบลมก็ค่อยๆ ตื้นขึ้นๆ ในที่สุดลมหายใจก็กลายเป็นแสงสว่าง จิตก็อยู่กับความสุข มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งเกิดขึ้น
สมาธิบางอย่างทำได้แค่อุปจารสมาธิ กรรมฐานบางอย่างทำได้ถึงอัปปนาสมาธิ บางอย่างได้แค่รูปฌาน บางอย่างถึงอรูปฌาน อย่างพวกเราถ้าดูจิตๆ มันจะไปทางอรูปได้ง่าย เพราะจิตเป็นอรูป อย่างถ้าเราต้องการความสงบ แล้วจะทำสมถะ อย่างถ้าเราดูร่างกาย เราก็เห็นร่างกายหายใจไป หรือดูกระดูก จะหันซ้ายหันขวา เห็นกระดูกมันเคลื่อนไหวอยู่ จะก้าวเดินเหมือนเห็นโครงกระดูก โครงกระดูกทั้งตัวนี้มันเดิน อย่างนี้ใจก็จะมีความสุข มีความสงบ บางทีก็เกิดนิมิตได้
ที่สุรินทร์เมื่อก่อนมีองค์หนึ่งชื่อหลวงพ่องาน เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์เหมือนกัน ท่านสิ้นไปนานแล้ว ท่านก็ดูกระดูก เวลาท่านเดินจงกรม ท่านจะเห็นตัวเองเป็นกระดูกเดินอยู่ แล้วมีกระดูกโครงหนึ่งอยู่ข้างหน้า โครงหนึ่งอยู่ข้างหลัง โครงหนึ่งอยู่ข้างซ้าย โครงหนึ่งอยู่ข้างขวา เดินกันไป 5 ตัวด้วยกัน เห็นใจก็มีสมาธิ มีความสุขอะไรขึ้นมา แล้วค่อยมาเดินวิปัสสนา มาทำปัญญา เห็นความจริงของร่างกายอะไรพวกนี้ ในที่สุดก็เข้าใจ โอ้ ร่างกายเรานี้ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา จิตใจนี้ก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
ตรงที่เราจะเห็นกาย เห็นใจ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ต้องเดินปัญญา ในสติปัฏฐาน 4 จะมีส่วนของสมถะด้วย ส่วนของวิปัสสนาด้วย แต่ไม่ว่าจะทำกาย ทำเวทนา จะดูจิต หรือดูธรรม ท่านก็บอกว่ามันจะเห็นว่ากาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เห็นตรงนี้เหมือนกัน
ถ้าเราต้องการความสุข ความสงบ ไม่ใช่หลงโลก โลกไม่เคยสุข โลกไม่เคยสงบ โลกเป็นของที่กระเพื่อมไหวอยู่ตลอดเวลา เวลาเราหลงอยู่กับโลก เดี๋ยวใจเราก็ฟูขึ้น เดี๋ยวใจเราก็แฟบลง ใจไม่มีความสุขความสงบ มันแกว่งตลอดเวลา เรามาอยู่กับกรรมฐานของเรา พุทโธๆๆ ทำอะไรไม่ได้นั่งสวดมนต์สบายๆ ไปเรื่อยๆ สวดมนต์สบายๆ ไม่ได้แปลว่านอนสวด ถ้าไม่ได้เจ็บได้ป่วยก็นั่งสวด เดินสวด ยืนสวดอะไรแบบนี้ สวดมนต์แล้วคิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงพระธรรม คิดถึงคุณของพระสงฆ์ ใจมันก็สงบได้ หรือแต่ละวันเราพิจารณาร่างกายเราเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เป็นของไม่สวยไม่งาม จิตที่เคยมีราคะรุนแรงมันก็จะดับไป เกิดจิตที่สงบขึ้นมาแทน อย่างเราพิจารณาปฏิกูลอสุภะ ร่างกายเรา หรือร่างกายคนที่เรารัก แต่เดิมเราเห็นว่ามันสวย มันงาม น่าหลงใหล
เราค่อยๆ ดูลงไปทีละส่วน สาวงามที่เราชอบ ผมของเขาเป็นอย่างไร ผมนี้โดยตัวมันก็เป็นเส้น ตรงกลางมีรู ที่โคนมันมีต่อมน้ำมันสกปรก ตัวผมเองไม่สระผม ไม่อาบน้ำ วันสองวันก็เหม็นสาบ ไม่ได้ต่างกับหมาเลย ค่อยๆ ดูลงไป บางทีก็ผมหงอกไปย้อมผม ทำอย่างโน้นทำอย่างนี้เพื่อจะให้สวย มันสวยมันหลอกสายตาคน แต่ในความเป็นจริง มันก็ยังสกปรกอยู่นั่นล่ะ ประเดี๋ยวเดียวมันก็สกปรกแล้ว
เราพิจาณาไป ขน เล็บ ฟัน หนัง กรรมฐาน 5 ตัวผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ดูลงไป มันเป็นตัวเราของเราจริงไหม ถ้าดูตัวเอง ดูอย่างผมเป็นตัวเราหรือเปล่า เวลาเราตัดผมออกมา เรารู้สึกไหมว่าผมที่ตัดออกไปแล้วเป็นตัวเรา มันก็ไม่รู้สึกแล้ว เล็บที่เราตัดกันอยู่ ตัดเล็บออกไป เล็บที่ตัดออกไปแล้วก็ไม่เป็นตัวเรา ขน อย่างโกนหนวด โกนเครา โกนขนหน้าแข้ง บางคนโกนขนรักแร้ สาวๆ ขนที่โกนออกไปก็ไม่เป็นตัวเราของเรา ฟัน นี่ยิ่งหนักใหญ่ เวลาฟันเน่า ฟันผุ ถอนออกมาเสียดายไหม รักใคร่หวงแหนไหม รู้สึกว่าฟันนี้เป็นตัวเราไหม หนังของเรา เราว่าสวยว่างาม เวลามีแผลถลอก น้ำเลือดน้ำหนองไหล ก็ไม่เห็นว่าจะสวยจะงามตรงไหน
ถ้าเราพิจารณาร่างกาย อันนี้ดูด้วยกรรมฐาน 5 มันก็อยู่ในส่วนของกายคตาสติ ดูลงไปๆ มันก็ข่มราคะได้ ความรักความหวงแหน ว่านี่คือตัวเรา นี่คือของเรา นี่เมียเรา นี่ลูกเรา เอาเข้าจริงมันก็เป็นของสกปรก หรือดูในมุมของความเป็นธาตุก็ได้ มันเป็นวัตถุธาตุ ลูกเรากินข้าวเข้าไปแล้ว มันก็อึออกมาเหม็นๆ มันก็ไม่ได้ว่าร่างกายนี้เป็นของดีของวิเศษอะไร ร่างกายเหมือนเครื่องจักรอะไรที่แย่ๆ อย่างหนึ่ง เอาของดีของวิเศษใส่เข้าไปเท่าไหร่ ก็ถ่ายทอดของสกปรกออกมาทั้งหมดเลย ตั้งแต่ขี้หัวถึงขี้ตีนเต็มไปด้วยของสกปรก ถ้าเราพิจารณาอยู่อย่างนี้ ใจก็จะข่มราคะได้ คนอื่นที่ว่าสวยว่างาม มันสวยมันงามเพราะว่าหลงเท่านั้นเอง ถ้าเราไม่หลง มันก็ไม่สวยไม่งามหรอก มันก็เป็นแค่ก้อนดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ตัวเราก็เหมือนกัน ดูไปเรื่อยๆ มันก็จะได้สมาธิ ทำอย่างนี้จิตจะมีความสุข มีความสุขอยู่กับปัจจุบัน
ประโยชน์ของสมาธิภาวนาอันแรก คือมีเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อย่างหลวงพ่อถ้าอยู่กับลมหายใจ อยู่กับพุทโธแล้วมีความสุข ดูกระดูก ดูร่างกายอะไรก็มีความสุข ฝึกทีแรกก็แค่อานาปานสติอันเดียว พอภาวนาเป็นแล้วจับกรรมฐานอะไรเข้าไป ส่วนใหญ่ก็จะใช้ได้หมด มันจะมีความสุข มีความสงบเกิดขึ้น ใช้ได้หมด พิจารณาความตายก็มีความสุข คิดถึงพระพุทธเจ้าก็มีความสุข คิดถึงพระธรรม คิดถึงพระสงฆ์
จะมีจืดๆ อยู่อย่างหนึ่ง อย่างทำทานบริจาคที่โน้น บริจาคที่นี้ไปเรื่อยๆ ใจมันเฉยๆ มันคล้ายๆ มันเกิน เราเจอความสุขที่ใหญ่กว่านั้นแล้ว แต่ก่อนถ้าได้ใส่บาตรทีเดียวก็มีความสุขแล้ว เช้าๆ ตามผู้ใหญ่ออกไปใส่บาตรหน้าบ้าน มีหน้าที่ยกโต๊ะออกไป ผู้ใหญ่เขาก็ยกขันข้าว ยกถาดกับข้าว ใส่บาตรก็มีความสุข พอโตๆ ขึ้นมา เราทำสมาธิได้อะไรได้ เรื่องทำทานเป็นเรื่องความสุขเล็กน้อยไปแล้ว มันเฉยๆ มันคล้ายๆ เราเจอของอร่อยแล้ว ไปกินของธรรมดาแล้ว มันไม่ค่อยอร่อย มันเฉยๆ ฉะนั้นมันจะมีดีกรีของมัน กรรมฐานอย่างเรานึกถึงการทำทานของเรา มีความสุข บางคนก็สุขเยอะ บางคนไม่มีความสุข ทำทานเพื่อจะสร้างภาพ ทำทานเพื่อสร้างกระแสทางการเมือง พวกนี้ทำไปอย่างนั้น ล่ะ ไม่มีความสุขหรอก ไม่ได้บุญด้วย ไม่ได้ทำด้วยใจที่เสียสละ
อย่างเวลาเรานึกถึงศีล เรารักษาศีลมาดี พอเรานึกถึงศีลนะจิตก็มีความสุข ที่ผ่านมาพรรษาหนึ่งเราไม่ได้กินเหล้าเลย ไม่ได้สูบบุหรี่เลย แค่นึกถึงก็มีความสุขแล้ว นึกถึงลมหายใจ หายใจออก หายใจเข้า เห็นชีวิตหมดไป สิ้นไป ทุกลมหายใจเข้าออก จิตใจก็มีความสุขได้ ไม่ต้องเข้าฌาน ถ้าหายใจเข้าฌานไปก็มีความสุขอีก ฉะนั้นการทำสมาธิภาวนา พวกเราควรจะทำ ทำให้ได้อย่างน้อยก็สักอันหนึ่ง ให้เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ถนัดอันไหนเอาอันนั้น ทำแล้วจิตสงบ จิตสบายเอาอันนั้น
ญาณทัสสนะเกิด เห็นถูกในกาย เห็นถูกในใจ
สมาธิภาวนาไม่ได้มีแค่นี้ สมาธิภาวนามีประโยชน์อย่างที่สอง ทำให้เกิดญาณทัสสนะ ทัสสนะ แปลว่าการเห็น ญาณเป็นตัวปัญญา การเห็นความจริงนั่นล่ะ การเห็นด้วยปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำวิปัสสนากรรมฐาน แล้วจะได้ญาณทัสสนะ คือได้วิปัสสนาญาณขึ้นมา เวลาที่เราภาวนาไป จิตมันเกิดปัญญาขึ้นมา อย่างเราดูรูป ดูนาม เห็นมันเกิดดับๆ ไป มันปิ๊งขึ้นมา จิตวางปุ๊บลงไป ยังไม่บรรลุมรรคผลหรอก จิตมันวางชั่วคราว มันก็มีความสุขผุดขึ้นมา มีความอิ่มเอิบเบิกบานผุดขึ้นมา ตัวที่เราภาวนาสมาธิภาวนา เวลาที่เกิดญาณทัสสนะ มันพ่วงความสุขเข้ามาให้ด้วย มันจะแถมความสุขเข้ามาให้ด้วย แต่ญาณทัสสนะขั้นต้นๆ บางทีถ้าไม่ระวัง สติไม่พอมันจะทุกข์
อย่างสมัยพุทธกาลมีพระพิจารณาปฏิกูลอสุภะ แล้วท่านเกิดญาณทัสสนะขึ้น เกิดความเบื่อหน่าย แต่มันยังไม่ใช่ญาณที่แท้จริง ถ้านิพพิทาญาณที่แท้จริง มันจะเบื่อสุขและทุกข์เหมือนๆ กัน เบื่อดีและชั่วเหมือนๆ กัน เบื่อความหยาบและละเอียดเหมือนๆ กัน เบื่อที่ใกล้ที่ไกล ภายในภายนอก มันเสมอกันไปหมด แต่อันนี้จิตมันพลิกไป ที่พวกพระยุคนั้นท่านทำกรรมฐาน เกิดความเกลียดชังร่างกาย อันนี้ไม่เรียกว่ามีญาณทัสสนะ แต่ว่าทำผิดแล้ว พอเกลียดร่างกายก็ไปฆ่าตัวตายเสียตั้งหลายร้อยองค์ พระพุทธเจ้ากลับมาที่วัด ถามพวกพระทำไมเหลือนิดเดียว ฆ่าตัวตายไปเยอะเลย อันนั้นทำกรรมฐานผิด พระพุทธเจ้าท่านเลยสอนอานาปานสติให้ทำ
ฉะนั้นคนที่จะพิจารณากาย อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์สักหน่อยก็จะดี หรือพิจารณาไปแล้วจิตมันเกิดเกลียดชังร่างกาย ให้มีสติรู้ทันเลย ถ้าภาวนาจริงมันเบื่อหน่ายในร่างกาย แต่มันไม่เกลียดชัง เบื่อหน่ายกับเกลียดชังไม่เหมือนกัน เบื่อหน่าย คือไม่เห็นมันไม่มีสาระแก่นสารอะไร เกลียดชัง อยากทำลายให้มันหมดไปสิ้นไป นี่แค่เบื่อหน่ายคลายความยึดถือเท่านั้นเอง ไม่ได้ทำลาย
ฉะนั้นถ้าเราทำกรรมฐาน เราดูกาย ดูกายไปแล้วมันเบื่อหน่ายขึ้นมา แล้วมันเกลียดชังร่างกายขึ้นมา ให้มีสติรู้ทันเลย ตรงนี้ถูกกิเลสหลอกแล้ว โทสะเข้ามาแทรกแล้ว ถ้าเรารู้ว่านี่โทสะแทรก โทสะก็ดับ จิตก็สงบเข้ามาอีก การภาวนามันสนุกตรงนี้ มันมีลีลามากมาย มีกลเม็ดมากมายในการฝึก สนุก ทำกรรมฐานนี้ ทำแล้วเกิดญาณทัสสนะ
อย่างญาณทัสสนะอันแรกเลย ค่อยๆ แยกไป กายกับใจคนละอันกัน อย่างขณะนี้ร่างกายนั่งอยู่ ใจเป็นคนรู้ว่าร่างกายนั่ง ร่างกายหายใจ ใจเป็นคนรู้ว่าร่างกายหายใจ อันนี้แยกรูป แยกนาม เป็นญาณขั้นที่หนึ่ง เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ต่อไปเราก็จะเห็นสภาวะแต่ละสภาวะ มันต้องมีเหตุมันถึงจะเกิด นี่ก็เป็นญาณทัสสนะที่สูงขึ้นไปอีก ต่อมาก็จะเห็นอีกว่าสภาวะทั้งหลาย ที่เกิดแล้วล้วนแต่ดับทั้งสิ้น จิตของเราวันนี้ กับจิตเมื่อวานก็ไม่เหมือนกัน ตรงนี้ก็เป็นญาณทัสสนะอีกชนิดหนึ่ง ระดับที่สาม ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา ขึ้นวิปัสสนาถึงระดับที่สี่แล้ว เรียก อุทยัพพยญาณ มันจะเห็นสภาวะรูปธรรม หรือนามธรรมอันใดอันหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วสภาวะอันนั้นตั้งอยู่ สภาวะอันนั้นดับไป จะเห็นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ใช่ว่าเมื่อวานจิตเป็นอย่างนี้ วันนี้จิตเป็นอย่างนี้ อันนั้นมันจิตคนละดวงกัน เอาจิต 2 เวลามาเปรียบเทียบกัน อันนั้นไม่ใช่วิปัสสนา
วิปัสสนาต้องเป็นปัจจุบัน จิตใจเราเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์อยู่ในปัจจุบันนี้ จิตสุขเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เห็นเกิดดับๆ ไปเรื่อย มันก็จะเป็นญาณทัสสนะที่สูงขึ้นมา เป็นปัญญาที่สูงขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ดูไปเรื่อยๆ ต่อไปก็เบื่อหน่าย คลายความยึดถือ จนกระทั่งตรงที่หมดความยึดถือ คลายความยึดถือ จิตมันเป็นกลาง กลางต่อสุข กลางต่อทุกข์ กลางต่อดี กลางต่อชั่ว เป็นกลางต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้นสุขกับทุกข์ในความรู้สึกเท่าเทียมกัน เพราะมันเป็นไตรลักษณ์ด้วยกัน ดีกับชั่วมันก็เท่าเทียมกันในความรู้สึก เพราะมันเป็นไตรลักษณ์ด้วยกัน เพราะเห็นไตรลักษณ์ อย่างนี้จิตก็จะเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา ตัวนี้เป็นญาณทัสสนะที่ดี ถัดจากนั้นจะเกิดญาณทัสสนะที่เป็นโลกุตตระ เกิดมรรคญาณ เกิดผลญาณขึ้นมา อันนั้นเป็นส่วนของโลกุตตระ
ฉะนั้นการที่เราฝึกสมาธิภาวนาของเราทุกวันๆ บางส่วนเราก็ได้เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน บางส่วนถ้าเราเจริญวิปัสสนา เราก็จะได้ญาณทัสสนะที่แก่กล้ามากขึ้นๆ ทำสมถะเฉยๆ จะไม่ได้ญาณทัสสนะแบบนี้ มันเป็นสมถะก็ได้แต่สงบ แต่ถ้าทำสมาธิชนิดตั้งมั่น เดินวิปัสสนาไปเรื่อยๆ จิตจะได้ทั้งความสงบ แล้วได้ทั้งปัญญา แล้วมันจะเกิดญาณทัสสนะขึ้น เราค่อยๆ ภาวนาจะได้ของดีของวิเศษ
สติสัมปชัญญะในชีวิตธรรมดา
ญาณทัสสนะก็ไม่ได้เกิดตลอดเวลา แต่การที่เราภาวนาสม่ำเสมออยู่ เราจะได้ประโยชน์อันที่สามของสมาธิภาวนา คือเราจะได้สติสัมปชัญญะอยู่ในชีวิตนี่ล่ะ ไม่ได้เดินวิปัสสนาไม่ได้ทำสมถะ แต่ร่างกายขยับเกิดสติรู้ จิตใจเคลื่อนไหวสติรู้ รู้อย่างรวดเร็วเลย แล้วก็ไม่หลงลืมกาย ไม่หลงลืมจิตใจของตัวเอง นี่เป็นผลจากการที่เราทำสมถะ ทำวิปัสสนามามากแล้ว สติสัมปชัญญะของเราจะดีขึ้นๆ อยู่ในชีวิตธรรมดา ไม่ได้คิดถึงการปฏิบัติเลย ร่างกายขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว สติมันหยั่งรู้ลงไป รู้เท่าทันความเคลื่อนไหว ปัญญาสอดส่องลงไปเลย ตัวที่เคลื่อนไหวมันเป็นสักแต่ว่ารูป หรือจิตใจมันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว สติเป็นตัวรู้ว่ามันขยับเขยื้อน ปัญญาก็หยั่งรู้ลงไป มันเขยื้อนของมันเอง มันไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ของเราหรอก มันรู้สึกของมันเอง เป็นประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นๆ
อย่างประโยชน์อันแรกเลย เราได้รับความสุขในปัจจุบัน มีเครื่องอยู่ที่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่ต้องหาความสุขจากอดีต ไม่ต้องหาความสุขจากอนาคต อยู่กับปัจจุบันนี้ อยู่กับตัวเอง ไม่ต้องหาคนอื่น มาช่วยให้มีความสุขด้วย ไม่ต้องมีชื่อเสียงเกียรติยศ ทรัพย์สินเงินทองอะไรมากมาย มีแค่พออยู่พอกิน แต่จิตใจที่มันมีสมาธิมันมีความสุข นี่ประโยชน์ตัวที่หนึ่ง มีความสุขในปัจจุบัน
ตัวที่สอง ทำให้เกิดญาณทัสสนะ เกิดการเห็นถูกในกาย เห็นถูกในใจ อันที่สาม พอเราฝึกมากๆ เข้าแล้ว เราจะได้สติสัมปชัญญะที่ดี จะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไร สติสัมปชัญญะมันทำงานอัตโนมัติ อย่างหลวงพ่อตั้งแต่เป็นโยม ไม่ต้องมาเป็นพระหรอก ตั้งแต่เป็นโยม หลวงปู่สิมท่านเรียกหลวงพ่อผู้รู้ เพราะหลวงพ่อไม่ใช่ผู้หลง หลงก็มีบ้าง เพราะว่ายังมีกิเลส ก็ยังมีหลงแต่ว่าหลงไม่นาน หลงแวบก็รู้สึกแล้ว แวบเดียวก็รู้สึกแล้ว อย่างเวลามีวันหนึ่งเปียกฝน พายุเข้ากรุงเทพฯ เปียกฝนทั้งตัวเลย ใจมันกังวลว่าเดี๋ยวจะเป็นหวัด แค่มันกังวล สติระลึกรู้ จิตมันกังวลแล้ว ความกังวลมันดับเลย สมาธิมันก็เกิดขึ้นเองเลย
ฉะนั้นเวลาที่เราฝึก อย่าละเลย ตรงที่ฝึกให้มีสติสัมปชัญญะ ที่สำคัญที่สุดคือมีสติสัมปชัญญะในชีวิตธรรมดา ไม่ใช่มีสติสัมปชัญญะเฉพาะตอนนั่งสมาธิ หรือตอนเดินจงกรม การฝึกสมาธิภาวนา พอเราฝึกได้เข้มข้นจริงๆ เราจะมีสติสัมปชัญญะอยู่ในชีวิตธรรมดานี่เอง ฉะนั้นหลวงพ่อเคยสอน บอกว่าครูบาอาจารย์ท่านบอก “ทำสมาธิมากก็เนิ่นช้า พิจารณามากก็ฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติ คือการมีสติในชีวิตประจำวัน” ยากนะ สติในชีวิตประจำวัน บางคนมีหน้ามาบอกหลวงพ่อด้วยว่า เจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างเดียว ไม่ทำในรูปแบบ ไม่ทำอะไรเลย บอก โอ๊ย มันทำไม่ได้จริงหรอก คนที่จะเจริญสติในชีวิตประจำวัน มันผ่านการทำสมาธิ ทั้งเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ทั้งเพื่อญาณทัสสนะ ต้องฝึกมาอย่างดีแล้ว มันถึงจะสามารถมีสติสัมปชัญญะอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ ต้องค่อยๆ ฝึกไป
ทำลายอาสวะกิเลส
แล้วประโยชน์สูงสุดเลยของการทำสมาธิภาวนา บอกแต่แรกแล้วไม่ใช่ทำสมถะอย่างเดียว วิปัสสนาอย่างเดียว มันเป็นคำกลางครอบคลุมทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา ประโยชน์สูงสุดของสมาธิภาวนา ก็คือการทำลายอาสวะกิเลสได้ อาสวะกิเลส คือกิเลสที่ซ่อนอยู่ในจิตสันดานของเรา แล้วมันก็จะสร้างสิ่งห่อหุ้มจิตขึ้นมา มันมีอาสวะอยู่ในจิตของเรา ซ่อนเร้นอยู่ในจิตของเรานี่ล่ะ
อย่างตัวหนึ่ง คือกาม กามาสวะ มันแฝงอยู่ในใจเรา ไม่ได้คิดเรื่องกามเลย มันกระตุ้นความรู้สึกเรื่องกามขึ้นมาได้ มันกระตุ้นให้จิตทำงานได้ เรียกว่า ภวาสวะ มันกระตุ้นให้จิตยึดถือในความเห็นผิดต่างๆ ได้ เรียกทิฏฐาสวะ แล้วก็มีอวิชชา อวิชชาสวะเป็นหัวโจกของมัน คือความไม่หยั่งรู้อริยสัจ 4 ฉะนั้นเวลาภาวนา ถ้ายังไม่รู้อริยสัจ 4 ยังทำลายอาสวะไม่ได้ ถ้ารู้แจ้งอริยสัจ 4 ถึงจะทำลายอาสวะได้ นี้เป็นการภาวนาขั้นเข้มข้นสุดขีดแล้ว ถึงขั้นที่จะทำลายอาสวะ ถ้าทำลายอาสวะได้หมดจด ก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรที่จะต้องไปเกิดกันต่อไปแล้ว กำหนดจิตดู 3 แดนโลกธาตุ ไม่มีที่ให้จิตหยั่งลงอีกต่อไปแล้ว เพราะที่ไหนก็ทุกข์ทั้งสิ้น มันเห็นอย่างนี้ ที่ไหนก็ทุกข์ทั้งสิ้น ฉะนั้นไม่มีอะไรที่รื่นรมย์ ที่จะดึงดูดให้จิตไปเกิดที่ตรงนั้น
ค่อยๆ ฝึกไป อันแรกฝึกให้ได้ 2 ตัวแรกก่อน มีเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน กับให้ญาณทัสสนะ คือวิปัสสนาญาณของเราเกิดขึ้น ดูความจริงของกายของใจไป แล้วพอเราฝึกเข้มข้น เราจะได้สติสัมปชัญญะในชีวิตธรรมดานี่ล่ะ วิเศษที่สุดเลย แล้วเราฝึกต่อไป เราจะล้างอาสวะออกจากจิตได้
สมาธิภาวนาครอบคลุมทั้งสมถะกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เวลาเราต้องการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เราก็ทำสมถะกัน พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พิจารณาความตาย พิจารณากระดูก คิดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คิดถึงทาน คิดถึงศีล คิดถึงความสงบ คิดถึงความตาย คิดถึงลมหายใจ คิดถึงร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อย่างนี้จิตมันก็สงบ หรืออยู่กับพุทโธ อยู่กับอะไรก็ทำไปเถอะ จิตมันก็สงบได้ ตรงที่อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ถ้าเรามีเครื่องอยู่ด้วยปัญญา ทำได้เหมือนกัน หรือพิจารณาธรรมะไป แต่ต้องระวังอย่าให้จิตฟุ้ง ถ้าสมาธิเรามากพอแล้วเราพิจารณาธรรมะลงไป จิตจะมีความสุขในปัจจุบันได้ด้วย แต่ตัวนี้ทำไม่ดีจะพลาดเลย วิปัสสนูปกิเลสจะกินเอา จริงๆ แล้วธรรมะพูดแล้ว โอ้ เยอะแยะไปหมด พูดนานได้เป็นวันๆ ไม่จบหรอก ขยายความตรงโน้นตรงนี้ไปเรื่อยๆ แก่นแท้จริงๆ มีไม่มากหรอก
เวลาที่เราฝึก อย่างพระพุทธเจ้าสอนกรรมฐานไว้มากมายก่ายกอง แต่กรรมฐานสำหรับคนๆ หนึ่ง เพื่อความสงบ หรือเพื่อความพ้นทุกข์มีไม่มากหรอก ไม่ใช่ทุกคนต้องเรียนกรรมฐานทุกแบบ เคยมีพระอรหันต์องค์หนึ่ง ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว หลวงพ่อจำชื่อท่านไม่ได้ เป็นพระอรหันต์เตี้ยๆ เหมือนเด็ก บางทีพระอื่นมาเห็นไปลูบหัวเล่น นึกว่าเด็ก นึกว่าเณร ที่จริงท่านเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้ายกย่องว่าท่านองค์นี้ ทำสมาบัติได้มากมาย มากมายคือหลายชนิด สมาบัติไม่ได้มีแค่ที่เรารู้จัก สมาบัติมีเยอะแยะไปหมดเลย อย่างสัญญาสมาบัติเราไม่เคยได้ยิน เรื่องอิทธิบาท เรื่องอะไรต่ออะไร เมตตาสมาบัติ กรุณา มุทิตา อุเบกขาสมาบัติ สมาบัติจริงๆ มีเยอะแยะมากเลย เรื่องของสมาธิ แต่ว่าไม่ใช่ว่าทุกคนต้องรู้ทุกอย่าง มีอย่างเดียวก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีทุกอย่าง เหมือนเราไม่ได้ร่ำรวย เราไม่ได้มีอาหาร 500 ชนิดอยู่ในบ้าน เรามีแต่มาม่าอยู่บ้าน กินมาม่าอย่างเดียวก็อิ่มได้เหมือนกัน ไม่ใช่ต้องกินอาหารเป็นร้อยๆ ชนิดหรอก ท่านสร้างบารมีมา ท่านมีอาหารเป็นร้อยๆ ชนิด คือท่านทำสมาบัติได้นับจำนวนไม่ถ้วน เยอะแยะไปหมดเลย เราไม่ได้ร่ำรวยในบุญกุศลขนาดของท่าน ฉะนั้นเรามีกรรมฐานอะไรของเราสักอย่าง 2 อย่างก็บุญนักหนาแล้ว ฝึกทุกวันๆ นั่นล่ะตัวสำคัญ ทำให้มันจริงจังลงไป อย่าทำเล่น กรรมฐานไม่ใช่ของเล่น เป็นของจริง ของจริงก็ต้องจริงจัง
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ (ปราโมช) แกบอกว่าคนโบราณเก่งจริงๆ เขาสร้างพระพุทธรูป พระอู่ทอง พระเชียงแสน พระสุโขทัย บอกเป็น symbolic เป็นสัญลักษณ์ สะท้อนธรรมะ อย่างพระอู่ทอง หน้าตาดุๆ เคร่งเครียด ต้องการบอกว่าธรรมะนั้นเป็นของจริงจัง ไม่ใช่ของเล่น พระเชียงแสนจะอ้วนๆ หน้าตายิ้มๆ อ้วนๆ ดูมีความสุข ดูสบาย อ้วนๆ หน่อย อันนี้เป็นสื่อสัญญาณบอกว่า ธรรมะทำให้เกิดความอิ่มเอิบ ส่วนพระสุโขทัย จะพลิ้วเลย ลายเส้นจะพลิ้ว บาง พระเดิน พระลีลาที่วัดเบญจมบพิตร มีพระลีลาอยู่คู่หนึ่งงามจริงๆ เหมือนท่านพลิ้ว เหมือนท่านลอยได้เลยทั้งๆ ที่เป็นพระโลหะ ท่านเป็นพระลีลาแบบสุโขทัยพลิ้วไปหมดเลย เส้นจีวรก็พลิ้ว อันนี้ต้องการสื่อสัญญาณว่าทำแล้วเบา ธรรมะปฏิบัติแล้วเบา มีความสุข แล้วก็เบิกบาน เบา พระสุโขทัยเราไปดูแล้ว เราจะเบิกบาน พระชินราช ไปดูแล้วเราเบิกบาน ไปดูพระแก้วจะไม่ได้เบิกบาน พระแก้วเป็นพระเชียงแสน แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน
ฉะนั้นธรรมะนี่ในช่วงเวลาที่จำเป็นต้องเข้มงวดกับตัวเอง ก็ต้องเข้มงวด ตอนไหนควรจะต้องพักก็พัก ตอนไหนจะลิ้มรสผลของการปฏิบัติ ที่มีความสุข ความสงบ ความเบิกบาน ก็ค่อยลิ้มรสเอา ตอนเบื้องต้นนี่อย่าเพิ่งเอาความสุขมากเกินไป ขยันเรียนรู้ตัวเอง มันขี้เกียจนั่งสมาธิก็นั่งมัน นั่งจนกระทั่งมันเลิกขี้เกียจ ฝึกตัวเองให้ได้เลย ลองดู มันขี้เกียจนั่งสมาธิก็นั่งมันไปเลย ถ้ามึงยังไม่เลิกขี้เกียจ กูก็ไม่เปลี่ยนอิริยาบถไป ใจเด็ดๆ หน่อย
หลวงพ่อเคยทำตอนเป็นโยม กลางคืนหลวงพ่อจะกินน้ำเยอะๆ เพื่อหลวงพ่อจะได้ตื่น ไม่อย่างนั้นถ้าเรานอนรวดเดียวยันสว่าง มันนอนเหมือนหมู เหมือนหมามากไป ไม่ได้ประโยชน์ หลวงพ่อกินน้ำแล้วชั่วโมงกว่าๆ ก็ตื่นขึ้นมาแล้ว ตื่นทีแรกงัวเงีย ตื่นงัวเงียหลวงพ่อไม่ลุกขึ้นเดินหรอก เราไปฉี่เสียก่อน กินน้ำใหม่แล้วก็เริ่มนั่ง ตั้งใจไว้เลย ถ้ายังไม่หายงัวเงียจะไม่นอน ช่วงแรกๆ ทรมานหัวซุกหัวซุนแทบจะนั่งหลับเลย ถ้านั่งหลับก็นั่งขอบเตียง หลับแล้วจะได้ลงมาข้างล่าง แต่ถ้าคนไหนมีบุญวาสนาก็หงายท้องลงบนเตียงพอดี ถ้าบุญสูงกว่านั้นก็ตกลงมาจากเตียง หลวงพ่อจะไม่เดิน กลางคืนจะนั่งอยู่บนเตียงนั่นล่ะ แล้วถ้าไม่หายซึม ไม่หายง่วง จิตยังมืดยังมัวจะไม่นอน แต่พวกเราไม่จำเป็นต้องทำอย่างหลวงพ่อ บางองค์ทำไม่ได้ ธาตุขันธ์มันไม่อำนวย ถ้าธาตุขันธ์ไม่อำนวย ทำไปยิ่งเครียดหนักเข้าไปอีก ใช้ไม่ได้หรอก พอทำอย่างนี้นานๆ ไป ต่อมาพอตื่นขึ้นมาปุ๊บ จิตมันไม่ยอมงัวเงียแล้ว จิตมันกลัวจะถูกพานั่งสมาธินาน ตื่นปุ๊บสว่างปั๊บเลย จิตสว่างโพลงขึ้นมาทันทีเลย คำว่างัวเงียๆ ไม่มีหรอก
ค่อยๆ ฝึกตัวเองไปเรื่อยๆ สะสมไป ต้องจริงจัง แต่ว่าจริงจังของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ตรงนี้ต้องระวัง เมื่อวานซืนสัก 3-4 วัน มีพระองค์หนึ่งไปทำหน้าที่เช็ดหน้าต่างให้หลวงพ่อ หลวงพ่อถามไปทำอะไรมา วันนี้เต็มไปด้วยโมหะ วันนี้ไปทำไม้กวาดมา คือตอนที่ง่วงจัดๆ ไม่ยอมนอน จะเร่งความเพียร ก็ฝืนไปทำไม้กวาด คราวนี้เบลอทั้งวันเลย บอกไปนอนซะไป บางองค์ก็ต้องนอนนะ จะมาไม่นอนไม่ได้ ไม่นอนแล้วภาวนาไม่ได้เลย กลางวันนอนสักงีบหนึ่ง หลวงพ่อยังไม่ว่าเลยสำหรับบางคน สำหรับบางคนกลางวันก็ไม่ควรนอน กลางคืนก็ไม่ควรนอน ดูไม่ได้เรื่อง เรื่องกิน เรื่องฉันอาหารก็ต้องดู แค่ไหนพอดีกับเรา แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ดูไป ตรงไหนทำไปแล้วสติสัมปชัญญะเกิดก็เอา ตรงไหนทำไปแล้วจิตใจสงบสุข แต่ไม่ใช่สงบสุขโง่ๆ สงบสุขแบบมีสติอยู่อย่างนั้นก็ใช้ได้
ทำไปแล้วเห็นรูปนามมันแยกออกจากกัน อย่างนี้ก็ดี แล้วแต่ว่าตอนนั้นจะทำสมถะ หรือทำวิปัสสนา ถ้าทำวิปัสสนาเห็นรูปนามแยกกัน ก็ยังไม่เป็นวิปัสสนา ต้องเห็นว่ารูปแต่ละรูป นามแต่ละนามมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ รูปอันนี้ ล่ะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นามอันนี้ ล่ะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อันนี้ถึงจะขึ้นญาณทัสสนะที่เป็นวิปัสสนา ส่วนญาณทัสสนะที่เป็นวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นปัญญาในขั้นวิมุตติ เป็นวิปัสสนาในขั้นโลกุตตระ อันนั้นมันจะเกิดเอง เราฝึกพื้นฐานของเราให้ดี แล้วถึงจุดหนึ่งญาณทัสสนะในระดับที่เป็นโลกุตตระ มันก็จะเกิดขึ้น แล้วสุดท้ายก็จะเกิดญาณอีกตัว เรียกวิมุตติญาณทัสสนะ ตอนเกิดวิมุตติ เกิดมรรค เกิดผล ก็มีปัญญาของมัน ตอนที่วิมุตติญาณทัสสนะ มันเป็นการเข้าไปประเมินจิตใจตนเอง ว่ากิเลสอะไรละเด็ดขาดแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ละ กิเลสอะไรละชั่วคราวด้วยสติ ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ทำได้ ละชั่วคราว ถ้าละด้วยมรรค ผล ละด้วยมรรค จะละเด็ดขาด ตัวไหนที่ถูกละจะไม่มีอีกแล้ว ไม่ต้องละซ้ำครั้งที่สองแล้ว
ค่อยๆ ฝึก สนุกออก กรรมฐานเรียนไปนะกว้างขวาง แต่หลวงพ่อไม่ได้ให้พวกเราเรียนเยอะก่อน หลวงพ่อให้เราภาวนาให้เยอะๆ กันก่อน พอภาวนาเป็นแล้ว เราไปเรียนกรรมฐานอะไร มันไปมันต่อกันได้หมดแล้ว อย่างถ้าเราดูกระดูก สมมติเราดูกระดูกจนกระทั่งมันเกิดนิมิต เกิดกสิณขึ้นมา เป็นแสงสว่างขึ้นมา ดูกระดูกก็ได้แสง ดูลมหายใจก็ไปที่แสงเหมือนกัน เราเล่นปฏิภาคนิมิตอยู่ที่แสงได้แล้ว ตอนนี้จิตมันมีวิตก คือมันตรึกอยู่กับแสง มีวิจารมันเคล้าอยู่กับแสง มันมีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งเกิดขึ้น ก็ได้ปฐมฌาน
ค่อยๆ ฝึกเราก็จะมีเครื่องอยู่เป็นสุข ถ้าทำได้ถึงฌานก็มีเครื่องอยู่ที่มีกำลังแรง ถ้าเข้าฌานได้ จิตใจสงบ สบายอยู่ได้ประมาณอาทิตย์หนึ่ง ไม่เกินนั้นหรอกเดี๋ยวก็เสื่อม เพราะมันเป็นของเสื่อม ถ้าเราฝึกของเราทุกวันมันก็ไม่ทันเสื่อม มันก็สบายทุกวันๆ แต่อย่าติดความสบาย ก็ต้องมาเจริญปัญญาให้เกิดญาณทัสสนะ ฝึกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสติสัมปชัญญะ กับชีวิตเรามันเป็นอันเดียวกันเลย อย่างนี้ใช้ได้แล้ว แล้วต่อไปๆ มันจะค่อยๆ ล้างอาสวะในส่วนลึกออกไป ประโยชน์ยิ่งใหญ่ของการทำสมาธิภาวนา
ไปทำเอา บอกแล้วก็ไปทำเอา บอกแล้วไม่ทำก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาหรอก แล้วจะนึกว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ดีจริง ธรรมะของพระพุทธเจ้าดีเสมอ กี่ยุคกี่สมัย ถ้าเราตั้งใจปฏิบัติ เราก็ได้ประโยชน์ ประโยชน์ 4 ข้อนี้เราได้แน่นอน ถ้าเราฝึกของเรา แต่ถ้าทำบ้าง ไม่ทำบ้าง ขี้เกียจบ้าง โลเลบ้าง วันนี้ทำอันนี้ วันนี้เปลี่ยนอีกแล้ว วันโน้นเปลี่ยนอีกแล้ว เอาดีไม่ได้หรอก กรรมฐานใดดูแล้วเหมาะกับเราแล้วต้องลุยเลย ทำจับๆ จดๆ ไม่ได้กินหรอก
วัดสวนสันติธรรม
13 กุมภาพันธ์ 2564