เรียนย่อลงมาที่กายกับใจ

จริงๆแล้วภาวนาเอาเอง อยู่ที่ไหนถ้ารู้หลักภาวนาถูก มันก็ได้ผลเหมือนๆกัน ไม่ใช่ทุกคนมาเจอครูบาอาจารย์แล้วจะต้องดีเสมอไปหรอก อย่าว่าแต่เจอหลวงพ่อเลย คนที่เจอพระพุทธเจ้าแล้วตกนรกก็มีตั้งเยอะตั้งแยะ อยู่ที่ตัวเองจะเลือกรับธรรมะหรือว่าจะเลือกเปิดใจให้กิเลส

เราแต่ละคน เราก็อยากมีความสุข มีความเจริญ ถ้าเรางดเว้นทางแห่งความเสื่อม คือเรื่องอบายมุขทั้งหลาย งดเว้นมันเสีย แล้วดำเนินอยู่ในเส้นทางของความสุขความเจริญ อันนี้ไปดูในเรื่องของมงคล 38 ประการ บางคนก็อยากเฮงอย่างโน้นดีอย่างนี้ อยากมีโชคดีอะไรอย่างนี้ ยกให้ดวงดีบ้างอะไรบ้าง ไร้สาระ จะชั่วหรือดีอยู่ที่ตัวเองทำ เราอยากให้ชีวิตเราเจริญรุ่งเรือง มีสิริมงคลแล้วเจริญ ธรรมะในมงคลสูตรมีตั้ง 38 ประการ แต่ตัวหลักจริงๆ ที่เป็นเบสิกพื้นฐานจริงๆ ก็มีเรื่องไม่คบคนพาล คบบัณฑิต เคารพคนที่ควรเคารพ ถ้าเรามีเงื่อนไข 3 ตัวนี้แล้ว มงคลที่เหลือมันจะตามมาเอง จะไม่ยากอะไร

ถ้าคบคนพาลนี่มันเข้าข่ายไปทางอบายมุขแล้ว คบคนชั่วเป็นมิตร มันก็พาเราเสื่อมเสียไปเรื่อยๆ เราไม่คบคนพาล คนไม่รู้ผิดชอบชั่วดีอะไรอย่างนี้ คบบัณฑิต คือคบคนที่รู้จักผิดชอบชั่วดี แนะนำสิ่งที่มีประโยชน์ให้เราได้ เราเคารพคนที่ควรเคารพ คนนี้เป็นคนดีแนะนำประโยชน์ให้เรา ทำให้ชีวิตเราก้าวหน้าอะไรอย่างนี้ เราให้ความเคารพนับถือ ไม่ได้วัดรอยเท้า เคารพคนที่ควรเคารพ ถ้าเรามีธรรมะ 3 ตัวนี้ก่อนเป็นพื้นฐาน จิตใจของเรามันจะดำเนินไปในเส้นทางที่เจริญขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็รู้จัก ตอนท้ายๆ เราจะรู้จักอริยสัจ 4

ก่อนจะถึงตรงนี้เราก็ต้องอาศัยว่าเราได้เห็นสมณะ คือเห็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอะไรอย่างนี้ มีศรัทธาเข้าไปนั่งใกล้ เข้าไปฟังธรรม ฟังธรรมตามกาลเป็นมงคลอย่างยิ่ง ฟังธรรมแล้วน้อมนำมาปฏิบัติเอาจนรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ แล้วจะสัมผัสพระนิพพาน จะไปเห็นพระนิพพาน เข้าถึงนิพพาน ถัดจากนั้นเราจะได้มงคล 4 ข้อสุดท้ายอัตโนมัติ ก็คือพอเราสัมผัสพระนิพพานแล้ว จิตเราจะไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง ไม่หวั่นไหวตามโลก โลกธรรม 8 ประการมากระทบแต่มันไม่กระเทือนเข้าถึงจิต เพราะฉะนั้นใจเราจะไม่ฟูขึ้น ไม่แฟบลง ใจมันสม่ำเสมอ สบาย

 

ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ พัฒนาไป แล้วชีวิตเราจะดีโดยไม่ต้องถือฤกษ์ถือยาม

 

ค่อยๆ ภาวนา ใจเราไม่หวั่นไหว ใจเราเวลาเกิดเรื่องร้ายอะไรขึ้นมา ไม่เศร้าโศก อย่างคนที่เรารักตายไปอะไรอย่างนี้ ใจไม่เศร้าโศก ร่างกายเราเจ็บป่วย ทำท่าจะตายแล้ว ใจก็ไม่เศร้าโศก นี่จิตเป็นมงคลมากเลย จิตใจสะอาดหมดจด นี่ก็เป็นมงคลสูง จิตเข้าถึงความปลอดภัย ไม่มีสิ่งใดมาทำร้ายมันได้อีกแล้ว นี่มงคล 38 ข้อ ตรงกลางไปหาอ่านเอาเอง ถามได้ แต่ที่หลวงพ่อพิจารณาดูนี่ ถ้าเรามี 3 ข้อแรก อีก 35 ข้อหลังมันมาเอง

ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ พัฒนาไป แล้วชีวิตเราจะดีโดยไม่ต้องถือฤกษ์ถือยาม ถือโน่นถือนี่ ซึ่งมันไร้สาระ บางทีจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ดูฤกษ์ดูยาม พยายามมีชีวิตที่มีเหตุมีผล ธรรมะของพระพุทธเจ้าสมบูรณ์ด้วยเหตุด้วยผล ทำเหตุที่ดีก็มีผลที่ดี ทำเหตุที่ชั่วก็มีผลที่ชั่วก็เท่านี้ล่ะ ฉะนั้นพยายามพัฒนาตัวเอง อะไรชั่วก็ละเสีย อะไรที่ดียังไม่ได้ทำก็ทำเสีย ที่ทำแล้วก็รักษาไว้ พัฒนาความดีให้มันมากขึ้นๆ อย่างคนโบราณมีอุบายบอกว่า เวลาเข้าพรรษาให้งดเหล้า งดกินเหล้า มันดีนะ ถือศีลได้ งดกินเหล้า 3 เดือนส่วนใหญ่พอออกพรรษาแล้วไปกินต่อ อันนี้มีความดีแต่รักษาไว้ไม่ได้ ถ้ามีความดีแล้วอยากรักษาให้ได้ ก็ถือต่อไปเลย ก็ไม่กินต่อไปเลย ความดีหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้ หรือถอยหลังไม่ได้ ต้องค่อยๆ พัฒนาให้มันมากขึ้นๆ ไป

อย่างไม่เคยมีสติอย่างนี้ พยายามพัฒนาให้เกิดสติ สติเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะพาเราเข้าถึงมรรคผลนิพพาน อีกตัวหนึ่งก็คือตัวสมาธิที่ถูกต้อง ขาดสติ ขาดสมาธิที่ถูกต้องสองตัวนี้ ปัญญามันจะไม่เกิด เพราะปัญญามันเกิดจากมีสมาธิที่ถูกต้องเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ฉะนั้นถ้าพวกเราเรียนกับหลวงพ่อนานๆ จะรู้ หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชมาก เรื่องสติกับเรื่องสมาธินี่ เครื่องมือที่เราจะพัฒนาตัวเอง สร้างมงคลชีวิตให้ตัวเองได้ดีขึ้นๆ ละเอียดประณีตขึ้นเป็นลำดับๆ ไป

สติใครๆ ก็ชอบพูด ข้างขวดเหล้ายังมีคำเตือนเลย กินเหล้าทำให้ขาดสติ แต่ถ้าไม่กินก็เสียใจ คนขายเสียใจ ก็รู้ว่าทำให้เขาขาดสติก็ยังทำ สติมีเหตุสติถึงจะเกิด สติก็เป็นอนัตตา สั่งให้เกิดไม่ได้ ต้องมีเหตุ เหตุใกล้ของสติคือการที่จิตจำสภาวธรรมได้แม่น จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ ถ้าจิตมันจำสภาวะได้แม่นล่ะก็สติมันจะเกิดอัตโนมัติ

อย่างตอนหลวงพ่อหัดภาวนา หลวงพ่อดูนามธรรมเป็นหลัก เรียนกับหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ไม่ได้สอนให้หลวงพ่อดูกาย ไม่พูดถึงกายเลย เพราะท่านสอบประวัติแล้ว หลวงพ่อเคยดูกายมาแล้ว เคยดูกายจนกายมันแตก มันระเบิดสลายไป ท่านสอนเข้ามาที่จิต หลวงพ่อก็มาหัดดู จิตสุขอย่างนี้ จิตทุกข์อย่างนี้ จิตไม่สุขไม่ทุกข์อย่างนี้ จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ จิตลังเลสงสัยอะไรอย่างนี้ เฝ้ารู้เฝ้าดูสภาวะบ่อยๆ จนกระทั่งมันอัตโนมัติ พอความรู้สึกอะไรแปลกปลอมขึ้นในจิตใจ สติระลึกเองเลย

อย่างเราหัดดูทุกวันๆ สภาวะโน้นสภาวะนี้เกิดขึ้นกับจิต เราคอยรู้เท่าทันไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งสติอัตโนมัติมันเกิด อย่างไปเปียกฝนมา ใจมันกังวลอย่างนี้ ทันทีที่กังวล สติมันระลึกรู้ได้ถึงความกังวลที่เกิดขึ้น ความกังวลเป็นอกุศลเป็นโทสะ อยู่ในตระกูลโทสะ ทันทีที่สติระลึกได้ อกุศลดับอัตโนมัติ ความกังวลดับอัตโนมัติเลย สมาธิมันก็เกิดต่อเลย ฉะนั้นเวลาที่เรารู้สภาวธรรมถูกต้องตรงตามความเป็นจริง สมาธิที่ดีมันจะเกิดโดยอัตโนมัติเหมือนกัน เพราะเวลาที่จิตมันมีสติรู้สภาวะถูกต้องตามความเป็นจริง จิตมันเป็นกุศล

จิตที่เป็นกุศลมันมีความสุขอยู่โดยตัวของมันเอง บางทีก็เป็นความสุขที่เรียกว่า โสมนัส บางทีก็เป็นความสุขในระดับอุเบกขา ประณีตขึ้นไปอีก ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ เพราะฉะนั้นพอเรามีสติ เราเห็นสภาวะบ่อยๆ พอสติเกิด สมาธิมันจะเกิด อย่างพวกเราหัดภาวนาใหม่ๆ บางทีอยู่ดีๆ ความสุขผุดขึ้นมากลางอก ความสุขผุดขึ้นมา ไม่ได้ทำอะไร บอกไม่ได้ทำอะไร แต่จริงๆ ตอนนั้นมีสติ จิตไม่ได้หลงตามกิเลสไป พอสติเกิดปุ๊บ อกุศลดับ กุศลเกิด

จิตที่เป็นกุศลมันมีเวทนา มีความรู้สึกได้ 2 อย่าง ความสุขทางใจกับความไม่สุขไม่ทุกข์เฉยๆ เฉยๆ นี่ประณีตกว่าสุข เป็นอารมณ์ที่ประณีตกว่า เป็นความสุขที่ละเอียดกว่า อย่างความสุขเรานึกว่าดี ความทุกข์นี่เลวมาก ความทุกข์ทำให้จิตใจกระสับกระส่าย ความสุขจริงๆ ก็ทำให้จิตใจกระสับกระส่ายเหมือนกัน กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงเหมือนกัน อุเบกขานี่จิตมันไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง มันสูงกว่ากันชั้นหนึ่ง

ฉะนั้นตรงที่เรารู้สภาวะถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จิตมันจะมีความสุข แล้วก็สมาธิมันจะเกิดอัตโนมัติขึ้นมา อย่างเวลาสอนคร่าวๆ เราก็จะบอกว่า คอยรู้ทันจิตมันหลงคิด จิตหลงคิดจริงๆ ก็คือจิตฟุ้งซ่าน คือจิตมันหลงไปคิด เรารู้ทันปุ๊บว่าจิตคิด จิตรู้ก็เกิด ตรงจิตรู้ นั่นคือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้อง มันเกิดขึ้นมาแล้ว ฉะนั้นเวลาจิตรู้เกิด จะมีความรู้สึกสุขเกิดขึ้น หรือบางทีก็เป็นอุเบกขาเกิดขึ้นกับจิตใจเรา

หัดรู้หัดดูอย่างนี้บ่อยๆ รู้สภาวะเนืองๆ สติจะเกิด พอสติเกิดจิตก็เป็นกุศล จิตเป็นกุศล จิตมีความสุข จิตมีความสุข จิตก็เกิดสมาธิ นี้พอจิตมีสมาธิ จิตมันก็จะถอนตัวออกมา จากผู้แสดงมาเป็นผู้รู้ ผู้ดู ผู้เห็น จิตมันถอนตัวออกมา อย่างพอร่างกายหายใจ จิตเป็นคนเห็น ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน จิตเป็นคนเห็น ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง จิตเป็นคนเห็น ร่างกายมีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก อย่างร่างกายมันเคี้ยวอาหาร กลืนอาหาร ร่างกายมันขับถ่ายอะไรอย่างนี้ จิตเป็นคนเห็นอีก

 

จิตผู้รู้ คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้อง

ฉะนั้นเราต้องมีจิตที่เป็นคนเห็น ก็คือตัวที่ ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าท่านเรียกว่า ตัวจิตผู้รู้ จิตผู้รู้ก็คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้อง ถามว่าจิตที่ทรงสมาธิถูกต้องมีสติไหม มี ถ้าไม่มีสติ มันก็ไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง นี้พอจิตมันสามารถถอนตัวออกมาจากปรากฏการณ์ทั้งหลาย มาเป็นแค่ผู้รู้ผู้เห็น มันก็จะเริ่มเห็นปรากฏการณ์ทั้งหลายตามที่มันเป็น จะเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉะนั้นถ้าเราไม่สามารถพัฒนาจิตขึ้นมาให้เป็นผู้เห็น ผู้รู้ ผู้ดู ผู้เห็นอะไรนี่ เราไม่สามารถเจริญปัญญาได้จริง จิตมันจะกระโจนลงไปคลุกอยู่ในปรากฏการณ์ เกิดดับ ล้มตายไป กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงไปตามปรากฏการณ์

แต่จิตที่มันเป็นผู้รู้ มันเป็นคนดูอยู่ มันจะเห็นเลย จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดี จิตชั่วก็รู้ ร่างกายหายใจออกก็รู้ ร่างกายหายใจเข้าก็รู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนก็รู้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่งก็รู้ มีธาตุไหลเข้า ธาตุไหลออกในร่างกายก็รู้ จะเห็นความเป็นธาตุของร่างกาย จิตก็เป็นผู้รู้ มีความสุข ความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย จิตก็เป็นผู้รู้ มีความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เกิดขึ้นในจิตใจ จิตก็เป็นผู้รู้ ฉะนั้นถ้าเราไม่สามารถพัฒนาจนเราเกิดจิตผู้รู้ขึ้นมานี่ เราทำวิปัสสนากรรมฐานไม่ได้จริงหรอก

ตอนที่หลวงพ่อภาวนา หลวงปู่ดูลย์รับรองว่าหลวงพ่อเข้าใจแล้ว ช่วยตัวเองได้ หลวงพ่อก็ออกตระเวนดูการปฏิบัติของคนอื่น หาประสบการณ์ ดูไปๆ โอ้ หลายที่เลย บอกทำวิปัสสนา แต่จริงๆ ไม่ได้ทำวิปัสสนาเลย ไปเพ่งเอาๆ ดูลมหายใจก็เพ่งลม ดูท้องก็เพ่งท้อง ดูเท้าก็เพ่งเท้า บางคนไปคิดถึงคำว่า รู้ตัวทั่วพร้อม เพ่งมันทั้งตัวเลย เพ่งร่างกายทั้งร่างกาย เหมือนอยู่ข้างบนแล้วดูลงมา ดู โอ้ ไม่มีจิตที่เป็นคนดูนี่ มันมีแต่จิตที่เข้าไปเพ่ง อีกพวกหนึ่งก็จิตฟุ้งซ่าน ไม่มีจิตเป็นคนดู แต่ว่าคิดๆๆๆ พิจารณาร่างกายไปเรื่อย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คิดไปเรื่อยๆ ไม่มีจิตผู้รู้ คือไม่มีจิตซึ่งทรงสมาธิ เป็นคนรู้คนดู มันก็ได้แต่ความฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นไม่มีสมาธิเลย ไปเดินปัญญามันจะฟุ้งซ่าน

ฉะนั้นเราพยายามฝึก ฝึกให้มากๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วตามรู้ตามดูสภาวะไป ค่อยๆ ดูไป อย่างใจเราไหลไปคิด ก็เป็นสภาวะที่จิตฟุ้งซ่าน เรารู้ โอ้ จิตมันหลงคิดแล้ว รู้ว่าจิตหลงคิด จิตมันจะดีดตัวผางขึ้นมาเลย จะเกิดจิตผู้รู้ขึ้นมา จิตที่หลงคิดดับ เกิดจิตดวงใหม่ คือจิตผู้รู้ขึ้นมาแทน พอมีจิตผู้รู้ ฝึกให้ชำนิชำนาญ เราจะมีจิตผู้รู้เยอะเลย วันๆ หนึ่ง ตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ มันจะมีแต่จิตผู้หลง แต่พอเราฝึกมีสติบ่อยๆ ตัวจิตผู้รู้มันก็เกิดขึ้น ดูสภาวะไป สติมันจะเกิดถี่ขึ้นๆ แล้วจิตผู้รู้มันจะเกิดขึ้น

พอมีจิตผู้รู้ จิตมันถอนตัวออกจากปรากฏการณ์ทั้งหลาย อย่างร่างกายมันเคลื่อนไหว จิตไม่ได้ไปวุ่นวาย จิตมันเป็นคนดู มันจะเห็นเลย ร่างกายที่เคลื่อนไหวไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ร่างกายนี้ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ที่มันเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขา เพราะหมายรู้ผิด ถ้าจิตมันมีสมาธิตั้งมั่น แล้วมันหมายรู้ลงในกายนะเห็น มันจะมีสัญญาที่ดีเกิดขึ้น จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกาย สติระลึกรู้นามธรรมก็จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในนามธรรม

ฝึกอย่างนี้ ฝึกไปให้มากๆๆ ทุกวันๆ ตื่นนอนมาก็รู้สภาวะทันที บางคนตื่นนอนมา อยากภาวนา ยังไม่ภาวนา ต้องไหว้พระสวดมนต์ก่อน จุดธูปจุดเทียน อาราธนากรรมฐาน พิธีกรรมยาวมากเลย บางคนพิธีกรรมตรงนี้ ครึ่งชั่วโมง เสียเวลา มันดีเหมือนกันล่ะ สำหรับคนที่อินทรีย์อ่อนมากๆ ก็ต้อง build กระตุ้นให้มันอยากภาวนา มีพิธีกรรมมาล่อ แต่ถ้าเราจะเป็นนักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์จริงๆ ตื่นนอนมารู้เลย ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้นเลย จิตใจเราเป็นอย่างไรรู้สึกเลย ร่างกายมันนอนอยู่ท่าไหน รู้สึกเลย ไม่ต้องเสียเวลา

คล้ายๆ จะชกมวย รำอยู่นั่นไม่ชกเสียทีเลย เลยไม่ได้แต้ม บางคนรำมาก มวยไทยมันจะต้องมีไหว้ครู ไหว้มากเลย เพราะ แหมครูนี่เยอะ เรียนมาเยอะ ไหว้จนกระทั่งหมดแรงเลย ถึงเวลาชกไม่มีแรงชกแล้ว จะทำกรรมฐานก็เหมือนกัน บางคนเรื่องมาก ต้องทำพิธีอะไรต่ออะไรเยอะแยะเลย จนกระทั่งมันหมดแรงที่จะทำกรรมฐาน เสียเวลา อะไรที่เป็นเครื่องพะรุงพะรังเกะกะ ทิ้งมันไป เอาไว้เวลาสมควรแล้ว เราจะไหว้พระสวดมนต์อะไรนี่ควรทำ แล้วควรทำทุกวันด้วย แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องไหว้พระสวดมนต์ให้ได้เสียก่อน ถึงจะเริ่มทำกรรมฐาน มีสติเมื่อไรทำกรรมฐานเมื่อนั้น เราไหว้พระสวดมนต์เป็นเรื่องดี ไม่ใช่ไม่ดีแต่ว่าอย่าเอามาเป็นเจ้านายของเราจนกระทั่งทิ้งงานหลักของเรา

บางคนต้องไหว้พระสวดมนต์ก่อน เพราะจิตฟุ้งซ่านมาก ไม่มีสมาธิ ฉะนั้นครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่เลย ท่านก็จะบอกไปไหว้พระสวดมนต์ก่อน ช่วงที่ไหว้พระสวดมนต์นี่ จิตมันมีสมาธิขึ้นมา พอจิตมีสมาธิขึ้นมาแล้วก็ไปภาวนาต่อเอา ฉะนั้นไหว้พระสวดมนต์ก็ได้สมาธิ แต่ถ้าเรามีสมาธิ เรามีจิตเป็นผู้รู้แล้ว อย่าเสียเวลาอีกแล้ว ดูกายดูใจมันทำงานไปเลย พอมันเหน็ดเหนื่อย เราก็กลับมาไหว้พระสวดมนต์เพิ่มพลังสมาธิก็ได้ หรือแต่ละวันแบ่งเวลาไว้การไหว้พระสวดมนต์มันก็เหมือนการระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั่นเอง ระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์ แล้วก็เตือนตัวเอง

ไหว้พระสวดมนต์ ถ้าเราไปดูให้ดี บทสวดมาตรฐานทั้งหลาย ไม่มีบทร้องขออะไรเลย อย่างบทสรรเสริญพระพุทธคุณอย่างนี้ พูดถึงคุณงามความดีของพระพุทธเจ้า พุทธคุณ 9 อย่างอะไรนี่ บทสรรเสริญพระธรรม ก็เป็นสอนเรื่องธรรมคุณ ลักษณะคุณธรรมของธรรมะ พระสังฆคุณนี่ คุณธรรมของพระสงฆ์ พระสงฆ์คืออะไร บอกคู่แห่งบุรุษ 4 คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ 8 บุรุษอะไรอย่างนี้ ท่านเหล่านี้ เป็นควรรับทักษิณาทาน ควรต้อนรับอะไรอย่างนี้ เป็นเนื้อนาบุญอะไรต่ออะไร จะมีแต่คำอธิบายอย่างนี้ ในบทที่เราสวดกัน อะระหังสัมมาอะไร อิติปิโส ภะคะวา สวากขาโต สุปฏิปันโน ไปดูให้ดีเถอะ ไม่มีการร้องขออะไรทั้งสิ้นเลย แต่บทสวดรุ่นหลังๆ เริ่มขี้อ้อน อ่อนแอลงเรื่อยๆ มีเรียกร้องขอโน่นขอนี่ ขอมีลาภ ขอมียศ ขอไม่มีโรค ขอโน่นขอนี่ ธรรมะมันย่อหย่อนลง เพราะว่าอินทรีย์ของคนมันอ่อน

ถ้าพวกเราจะภาวนาเอามรรคผลนิพพานจริงๆ มัวแต่ร้องขออะไรเสียเวลา นึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านมีคุณงามความดีตั้งเยอะตั้งแยะ เรานึกถึงคุณความดีของท่าน จิตใจเราก็ฮึกเหิม มีสมาธิ มีกำลังขึ้นมา โอ้ ครูของเราเก่ง ครูของเราดี เป็นตัวอย่างที่ดีอะไรอย่างนี้ ใจเราก็มีกำลังขึ้นมา เพราะฉะนั้นเวลาไหว้พระสวดมนต์ ไม่ใช่เพื่อร้องขออะไรทั้งสิ้น ไหว้พระสวดมนต์เพื่อระลึกถึงคุณความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วพอเราระลึกถึงคุณความดีของท่านแล้ว เราก็น้อมนำความดีนั้นมาสู่ตัวเราเอง ด้วยการปฏิบัติตาม

ไหว้พระสวดมนต์อย่างชาวพุทธไม่ใช่ขอให้มีโชค มีลาภ มีท่องคาถาให้ร่ำรวย เป็นไปได้ไหม คาถาให้รวย ถ้าเป็นไปได้ เราก็ต้องยุบกระทรวงการคลัง สอนการท่องคาถาแทน ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ท่องเฉยๆ ก็รวยแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่มีเหตุมีผล จะจนหรือจะรวยก็เพราะกรรม ทำกรรมที่จะรวยมันก็รวย ทำกรรมที่จะจนมันก็จน อยากจน อยากหายนะก็ไปเล่นการพนัน ไปคบคนชั่วเป็นมิตร ไปติดยาเสพติดอะไรนี่ ทำอย่างไรมันก็ไม่รวย เพราะฉะนั้นมันต้องมีเหตุมีผล

 

พัฒนาสติของเราให้ดีโดยการทำสติปัฏฐาน

เราค่อยๆ ฝึกตัวเองไป อย่างมงาย แล้วก็พัฒนาสติของเราให้ดีโดยการทำสติปัฏฐาน ระลึกรู้กาย ระลึกรู้เวทนา ระลึกรู้จิต ระลึกรู้ธรรม ธรรมะทั้งที่เป็นกุศล ทั้งที่เป็นอกุศล ธัมมานุปัสสนานี่เราจะเห็นกระบวนการของธรรมะ ไม่ใช่ตัวสภาวธรรมโดดๆ อย่างกายานุปัสสนา เราเห็นร่างกายหายใจออกหายใจเข้า เราเห็นโดดๆ อย่างนี้ เวทนา เราก็เห็นความสุข ความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดขึ้น บางทีมีสุขเพราะกาม มีทุกข์เพราะกาม เฉยๆ เพราะกามก็มี หรือบางที มันมีความสุขขึ้นมาเองด้วยสมาธิ ไม่มีเหยื่อล่อ ไม่มีกามมาล่อ สังเกตใจของเรา ใจเรามีความสุขด้วยตัวเราเองได้ อันนั้นดีที่สุด ถ้ามีความสุขเพราะมีเหยื่อล่อ ต้องได้เห็นรูปสวยถึงจะมีความสุขอะไรอย่างนี้ อันนี้อ่อนหัดเกินไป นั่นมันชาวบ้านไม่ใช่นักปฏิบัติหรอก นักปฏิบัติต้องสามารถมีความสุขด้วยความสุขที่ไม่มีอามิส ความสุขที่ไม่มีกามมาล่อ มีความสุขในตัวของตัวเอง ใจมันทรงสมาธิขึ้นมา มันก็มีความสุขแล้ว

ค่อยๆ ฝึก หัดดูสภาวะไป ดูไปเรื่อยๆ สติก็จะถี่ขึ้นๆๆ แล้วก็ใจก็จะตั้งมั่นมากขึ้นๆ ก็จะเห็นสภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงก็คือ สภาวะทั้งหลายมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นดับทั้งสิ้น นี่จะเห็นอย่างนี้ เห็นจนกระทั่งมันเชื่อแน่ จิตใจมันเชื่อมั่นเต็มร้อยแล้วว่า จริงๆ สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับจริงๆ ใจมันก็จะละความเห็นผิดว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ

สิ่งที่เรียกว่าตัวเรา มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว เอาเข้าจริงมันก็ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นแค่รูป เป็นแค่เวทนา สัญญา สังขาร เป็นแค่จิตวิญญาณอะไรพวกนี้ แต่ละตัวๆ มันก็ล้วนแต่เกิดแต่ดับไป ไม่มีตัวตนถาวรที่ตรงไหนเลย ก็จะเห็นบ่อยๆ ปัญญาในขั้นโลกุตตระ เข้าไปล้างความเห็นผิด ตัวรูปนาม ขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อะไรอย่างนี้ บางคนเรียนมุมโน้น เรียนมุมนี้ต่างๆ กัน สุดท้ายก็ทั้งหมดทั้งมวลนั่นล่ะเกิดแล้วดับทั้งสิ้น เรียนก็ไม่ต้องเรียนเยอะขนาดที่หลวงพ่อเล่าหรอก อันใดอันหนึ่ง เห็นขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา มันก็ไม่มีเราที่ไหนอีกแล้ว เห็นอายตนะ 6 ไม่ใช่เรา มันก็ไม่มีเราที่ไหนอีกแล้ว เห็นธาตุ 18 ไม่ใช่เรา เห็นอินทรีย์ 22 ไม่ใช่เรา มันก็ไม่มีเราที่ไหนอีกแล้ว เป็นการแยกแยะออกไปให้เยอะๆ บางคนมันชอบเยอะๆ

อย่างพระพุทธเจ้านี่ท่านแสดงธรรม ท่านจะดูคนฟัง วันนี้เจตนาจะสงเคราะห์คนนี้ ท่านจะสอนธรรมะให้สอดคล้องกับจิตใจของคนนั้น อย่างพวกที่ชอบดูนามธรรมมากกว่ารูปธรรม ท่านจะสอนเรื่องขันธ์ 5 พวกที่ชอบดูรูปธรรมมากกว่านามธรรม ท่านจะสอนเรื่องอายตนะ 6 เพราะตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นส่วนของรูป มีใจอันเดียวที่เป็นนาม ในขณะที่ขันธ์ 5 มีรูปอยู่อันเดียว อีก 4 อัน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นนามทั้งหมดเลย ฉะนั้นเหมาะกับพวกชอบเรียนรู้นามธรรม

ถ้าพวกชอบเรียนรู้รูปธรรมก็ดูอายตนะ ถ้าพวกชอบรู้มากก็เรียนเรื่องธาตุ เรื่องอินทรีย์ ในธาตุ ในอินทรีย์ มีทั้งรูปธรรม นามธรรมเยอะแยะไปหมด แล้วแต่คนชอบ ฉะนั้นจริงๆ แล้ว เราเรียนในสิ่งที่พอดีกับเรา ไม่ต้องเรียนเยอะหรอก เรียนเยอะๆ แล้วท่องๆ เอาไว้สอบแล้วก็สอบเสร็จแล้วก็ลืม เรียนจริงๆ ย่อลงมาก็คือกายกับใจเรานี้ ดูกาย ถ้ากายไม่ใช่เรา ใจไม่ใช่เรา มันก็ไม่มีเราที่ไหนอีกแล้ว เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆ ปัญญามันเกิดมันก็ล้างความเห็นผิดได้

วันนี้วันอะไรนะ เห็นเขาเปิดเพลง วันวาเลนไทน์ใช่ไหม วาเลนไทน์อะไรก็ไม่รู้ เสียเวลา สู้พุทโธไม่ได้หรอก มันไม่ใช่ของเก่าแก่ในบ้านเมืองเราหรอก วาเลนไทน์มันเพิ่งมีตอนหลวงพ่อเข้ามหาวิทยาลัยนี่เอง ยุคสองพันห้าร้อยสิบกว่าๆ มันเพิ่งเข้ามา ก็เข้าไปตามมหาวิทยาลัยอะไรอย่างนี้ ค่อยๆ กระจายออกไป ไม่เห็นมีสาระอะไรเลย เราก็เพี้ยนออกไปเรื่อยๆ ทีแรกก็เป็นวันแห่งความรัก หลังๆ เป็นวันแห่งความใคร่ ล้มเหลว

ฉะนั้นเราอย่าไปหลงกับโลก วันอะไรมันก็มีอยู่แค่นี้ คือมีกลางวันกับกลางคืน ทุกวันเหมือนๆ กันหมด ไม่มีหรอกวันดีวันโน้น วันนี้ สมมติเอาทั้งนั้น วันไหนเรามีสติ มีสมาธิ มีปัญญาวันนั้นล่ะเป็นวันดี วันไหนขาดสติ ขาดสมาธิ ขาดปัญญา วันนั้นเป็นวันเลว ถ้านาทีไหนที่มีสติ นาทีนั้นดี ฤกษ์ยามของเราอยู่ตรงนี้นะชาวพุทธ เพราะฉะนั้นพยายามฝึกตัวเองไป อ่านสภาวะทั้งหลายอย่างที่มันเป็น ดูมันไปเรื่อยๆๆๆ อย่างสมาธิเกิด ปัญญามันจะเกิดตามมาเอง กรรมฐานจริงๆ ก็มีแค่นี้ ลีลาชั้นเชิงในการปฏิบัติของแต่ละคนเป็นเรื่องเฉพาะตัว ส่วนหลักของการปฏิบัติก็มีคร่าวๆ อย่างนี้ ค่อยๆ ฝึกไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
14 กุมภาพันธ์ 2564