ทุกอย่างเป็นของชั่วคราว

แต่เดิมจิตใจก็วอกแวกเหมือนพวกเราทางโน้น อาศัยการได้ยินได้ฟังธรรมะแล้วลงมือปฏิบัติ ก็ยกระดับจิตใจสูงขึ้น รู้จักความสงบสุขในจิตใจ เวลาฟังหลวงพ่อเทศน์ ไม่ต้องพนมมือก็ได้ เดี๋ยวจะเมื่อย ให้รักษาใจให้เรียบร้อยเท่านั้น

งานศพพวกเราหนีไม่พ้น วันหนึ่งเราก็ต้องมานอนอยู่ตรงนี้ ให้คนอื่นเค้ามาร่วมงานศพของเรา แล้วเราก็เห็นคนมาเยอะแยะคุยกันสนุกสนานเฮฮา เรานอนอยู่ในโลงไม่ได้คุยกับใคร คงรู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ฉะนั้นเวลามางานศพ เวลามางานศพมันไม่ใช่เวลารื่นเริง เป็นเวลาที่เราจะได้สั่งสอนตัวเอง ว่าวันหนึ่งเราก็ต้องเจอกับสภาพอย่างนี้ คนทั่วไป ใช้ชีวิตอยู่กับโลกไปวันๆ ไม่มีทิศทางไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม คล้ายๆ เกิดมาแล้ว ก็อยู่ตามๆ กันไปวันหนึ่งวันหนึ่งเท่านั้นเอง เห็นเขาเรียนหนังสือก็เรียนบ้าง เห็นเขาทำงานก็ทำบ้าง เห็นเขามีครอบครัวก็มีบ้าง ก็หาเงินหาทองหาความสุขอะไรไป แต่สุดท้ายก็ว่างเปล่า ไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัวไปได้เลย เพราะฉะนั้นทางที่ดี เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งที หาสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดให้กับตัวเองไว้

 

ตั้งใจพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นสูงขึ้น ตายไปจะได้ไม่ลำบาก

ตอนหลวงพ่อเป็นฆราวาส หลวงพ่อมีทุกอย่างที่ฆราวาสต้องการ ทรัพย์สินเงินทองอะไรก็มี แต่ว่าหลวงพ่อรู้สึกว่า ทุกอย่างมันก็ของชั่วคราว สิ่งซึ่งเหนือกว่าเรื่องโลกๆ มันก็คือธรรมะ พอดีได้ภาวนากับครูบาอาจารย์ตั้งแต่ 7 ขวบ ทีแรกก็ทำแต่สมาธิ เดินปัญญาไม่เป็น ฝึกให้จิตสงบ เรียนกับท่านพ่อลีที่วัดอโศการามตั้งแต่ 7 ขวบ ปี 2502 ก็ฝึกหายใจเข้าพุทหายใจออกโธ ฝึกทุกวันทุกวัน ใจก็ค่อยๆ สงบอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วค่อยๆ สังเกตไป

เรื่องของสมาธิ แต่เดิมไม่เข้าใจ ก็มุ่งไปที่ความสงบของจิตอย่างเดียว วันไหนภาวนาแล้วจิตสงบก็ว่าดี วันไหนภาวนาแล้วจิตไม่สงบก็ว่าไม่ดี ภาวนาอยู่นานก็ค่อยๆ สังเกตไป สมาธิมันมี 2 ประเภท เราต้องฝึก สมาธิมันมี 2 แบบ แบบหนึ่งเราน้อมจิตให้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง อันนี้เราจะได้สมาธิชนิดที่จิตใจเราสงบ อย่างเวลาโลกมันวุ่นวาย ชีวิตเรามีปัญหามากมาย หาความสงบไม่ได้เลย ก็ลองมานั่งหายใจดู หายใจเข้าพุทหายใจออกโธ ทำไปเรื่อยๆ ต่อไปเราก็เริ่มรู้ว่า ชีวิตเราก็อยู่แค่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกเท่านั้นเอง หายใจเข้าแล้วไม่ได้หายใจออกก็ตาย หายใจออกแล้วไม่ได้หายใจเข้าก็ตาย ฉะนั้นชีวิตเรามีนิดเดียวอยู่แค่ปลายจมูกเท่านั้นเอง พอใจมันเข้าใจอย่างนี้ใจมันก็สงบ

คนที่วุ่นวาย ตะกละตะกลาม หิวโหย แย่งชิงทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งกันและกัน เพราะลืมไปว่าวันหนึ่งจะต้องตาย ต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่อุตส่าห์ไปแย่งกันมา สุดท้ายก็ว่างเปล่า มานอนให้เขารดน้ำ มานอนให้เขามัดตราสัง ถึงเวลาก็เอาไปเผา ไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ฎีกาใดๆทั้งสิ้น

หลวงพ่อภาวนาตั้งแต่เด็ก ทีแรกก็ได้แต่สมาธิชนิดสงบ พอมันสงบนิดๆ หน่อยๆ มันก็เกิดแสงสว่างขึ้น แล้วจากแสงสว่าง จิตมันหลงไปในแสง ออกไปดูข้างนอก ก็รู้เลยว่าเทวดามีจริงสวรรค์มีจริงนรกมีจริง ภูตผีปีศาจมีจริง แต่ว่าใจที่มันไปรู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก มันก็เห็นว่าการออกไปรู้แบบนี้ไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย เราไปเห็นเทวดาเราก็อยู่กับเทวดาไม่ได้ เขามีสวนดอกไม้สวยงาม เราก็ไปดูได้ผ่านๆ ไปเท่านั้นเอง ไม่ได้อยู่ตรงนั้น เขามีอาหารการกินดีๆ เราก็ไม่ได้กินกับเขา มันคล้ายๆ เราเป็นคนยากจน แล้วเราไปเที่ยวบ้านเศรษฐี ก็เลยรู้สึกว่าไม่เห็นจะได้สาระเลย ถ้าเรายังยากจนอยู่ไปดูบ้านคนรวยก็ไม่มีประโยชน์อะไร แล้วก็ต่อมาใจมันก็นึกว่า ถ้าเห็นเทวดาได้ ก็เห็นผีได้ แต่เดิมหลวงพ่อเป็นคนกลัวผี กลัวมากเลย ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็น ตอนนั้นกลัวทั้งๆ ที่ไม่เห็น พอเห็นบ่อยๆ มันก็เลิกกลัวไปเอง

ทีนี้พอกลัวผีก็พยายามทำสมาธิ ไม่ให้จิตมันไหลออกไปข้างนอก เวลาเราทำสมาธิจิตสงบ มันจะสว่างขึ้นมา แล้วถ้าเราไปจ้องอยู่ในแสงสว่างนั้น จิตมันไหลออกไปข้างนอก มันก็ออกรู้ออกเห็นอะไรต่ออะไรข้างนอก คราวนี้พวกนิมิตพวกอะไรมันก็จะเกิดขึ้น บางทีก็รู้อดีตรู้อนาคต รู้ว่าใครเป็นยังไง รู้ถึงผีสางเทวดาอะไรพวกนี้ พวกนี้ไม่มีสาระแก่นสารเพื่อความพ้นทุกข์ แต่ก็มีข้อดี ข้อดีก็คือ เรารู้ว่าชาติหน้ามีจริง ชีวิตเราไม่ได้มีแค่ชีวิตนี้ชีวิตเดียว ถ้าเราจะต้องตายไปแล้วตายแบบไม่มีคุณงามความดีติดตัวไป ชีวิตข้างหน้าของเราลำบากแน่นอน ฉะนั้นเราก็ต้องตั้งใจพัฒนาตัวเอง ให้จิตใจมันสูงขึ้นสูงขึ้น ต่อไปตายไปจะได้ไม่ลำบาก การที่ออกไปรู้ไปเห็นอะไรสิ่งเหล่านี้ก็มีข้อดีตรงนี้ มันทำให้กลัวบาป มันทำให้อยากทำบุญ อยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันก็รู้สึกว่า มันยังไม่พอ สมาธิเราก็รู้เห็นอะไรไปเรื่อยๆ มันเสี่ยง ไปเห็นของน่ากลัว เดี๋ยวสติแตก

คราวนี้หลวงพ่อเลยเอาใหม่ นั่งสมาธิพอจิตมันสงบ สว่างขึ้นมา ไม่ให้จิตไหลเข้าไปในแสงสว่าง ให้จิตอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ ในที่สุดจิตมันก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เข้าถึงความสงบอีกประเภทหนึ่ง รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดสายของการปฏิบัติ จะไม่หลงไม่เผลอไป จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน อันนี้ด้วยกำลังของสมาธิอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สมาธิที่สงบ

สมาธิสงบนั้นเราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่องจิตก็สงบ แต่สมาธิชนิดนี้เป็นสมาธิที่เกิดจากการที่เรารู้ทันจิตใจตัวเอง อย่างหลวงพ่อหายใจไป พอจิตมันสว่างขึ้นมา จิตมันจะเคลื่อนเข้าไปในแสงสว่าง เรารู้แล้วถ้าเคลื่อนเข้าไปในแสงสว่างมันจะออกรู้ออกเห็นอะไรข้างนอก มันไม่ดี รู้สึกมันไม่ดี ก็มีสติอยู่ไม่ให้จิตมันไหลเข้าไปในแสงสว่าง จิตใจมันก็ตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ จนกระทั่งในที่สุดจิตมันก็เด่นดวงขึ้นมา มันสามารถแยกได้ว่า อันนี้จิตมันหลงไปไหลไป อันนี้จิตมันรู้เนื้อรู้ตัวตั้งมั่น

 

จิตที่รู้ตื่นเบิกบานตั้งมั่นเด่นดวง

ตรงที่จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาตัวนี้สำคัญมาก ถ้าเราอยากเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง แค่ทำความสงบไม่พอ เพราะสมาธิชนิดสงบมีมาก่อนพระพุทธเจ้าอีก ฤๅษีชีไพรเขาก็ทำได้ สมาธิแล้วจิตสงบ แต่สมาธิที่จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน มันไม่มีในคำสอนต่างๆ อาศัยการปฏิบัติธรรมตามที่พระพุทธเจ้าบอก คือเรามีสติไว้ เราหายใจไปพุทโธไป พอจิตมันไหลไปคิดเรารู้ทัน มันจะไหลไปคิดแล้ว หายใจไปพุทโธไปจิตมันสว่างขึ้นมา จิตมันจะไหลเข้าไปในแสงสว่างเรารู้ทัน ทันทีที่เรารู้ทันว่าจิตมันไหลไป จิตมันจะหยุดการไหลทันที เพราะจิตที่ไหลไปเป็นจิตที่ฟุ้งซ่าน ภาษาบาลีบอกมันมีอุทธัจ คือเป็นโมหะมันเป็นความหลงชนิดฟุ้งซ่าน แล้วถ้าเรามีสติรู้ทันจิตที่ไหลไป จิตที่ไหลมันจะดับ จิตที่รู้ตื่นเบิกบานตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

เพราะฉะนั้นเราต้องทำหัดทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งก่อน ทุกวันต้องทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด ทำไปแล้วไม่ใช่ให้จิตสงบอย่างเดียว แต่ทำแล้วคอยรู้ทันพฤติกรรมของจิต เราหายใจไปพุทโธไป จิตหนีไปคิดเรารู้ทัน หายใจไปพุทโธไป จิตถลำลงไปเพ่งลมหายใจเรารู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันจิตตัวเองนั่นแหละ จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา จิตที่ตั้งมั่นนั่นแหละเป็นจิตที่จะใช้ในการเจริญปัญญา

การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาเป็นของประณีตลึกซึ้ง มี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นการฝึกให้จิตตั้งมั่นเด่นดวงมีกำลัง อีกส่วนหนึ่งก็คือเป็นการพาจิตที่ตั้งมั่นแล้วไปเรียนรู้ความจริงของกายของใจของรูปนาม ภาษาไทยเราบอกพูดง่ายๆ รู้ความจริงของกายของใจ ถ้าเรารู้ความจริงของกายของใจได้ ความทุกข์ในใจจะไม่เกิดขึ้น อย่างพวกเรามีความทุกข์ในใจเยอะแยะเลย อย่างในงานศพ เราพลัดพรากจากคนที่เรารัก การพลัดพรากจากคนที่รักเป็นทุกข์ แต่ถ้าเราภาวนาจนเราชำนาญ เราได้เห็นความจริง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราเป็นของชั่วคราว เพราะฉะนั้นการที่จะแก่จะเจ็บจะตายอะไร เป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องธรรมดา

ธรรมะคือธรรมดา คือเรื่องธรรมดาเองไม่ใช่เรื่องพิสดารอะไร เรื่องเห็นผีเห็นนรกเห็นสวรรค์อะไรมันมีก่อนพระพุทธเจ้าแต่มันไม่ใช่ทางแห่งความพ้นทุกข์ มันเป็นทางของคนดีเท่านั้นแหละ ใจมันอยากทำบุญทำกุศลกลัวบาปกลัวกรรมเป็นเรื่องดีไม่ใช่ไม่ดี แต่ถ้าเราอยากพ้นทุกข์จริงๆ เราต้องเรียนให้สูงกว่านั้น ต้องมาฝึกจิตให้ตั้งมั่นให้ได้ก่อน วิธีที่จะฝึกให้จิตตั้งมั่นคือมีสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น เราไม่สามารถสั่งจิตให้ตั้งมั่นได้ แต่ถ้าเรารู้ทันว่าจิตของเราหลงไป ส่วนใหญ่ทั้งวันจิตหลงไปคิด ถ้าจิตหลงไปคิดเรารู้ทัน จิตหลงไปคิดเรารู้ทันอย่างนี้ จิตเราจะตั้งมั่นขึ้นมา

ทีนี้ปกติจิตมันหลงคิดทั้งวันเราดูไม่ออก เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกดู วิธีฝึกดูก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ กรรมฐานเดิมที่เราเคยฝึกก็ได้ อย่างหายใจเข้าพุทออกโธอะไรก็ได้ แต่คราวนี้ไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบแล้ว ไม่ได้มุ่งให้จิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นเฉยๆ เรามุ่งฝึกไป ให้คอยรู้ทันจิตตัวเอง ไม่ต้องอยากให้มันตั้งมั่น ถ้าอยากให้มันตั้งมั่น มันจะไม่ตั้งมั่น อยากให้มันสงบ มันจะไม่สงบ จิตเป็นของพิสดาร ยิ่งสั่งมันยิ่งบังคับมัน มันยิ่งไม่เชื่อ งั้นเราก็อย่าไปบังคับมัน เราก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราพอใจที่เราถนัด อย่างหลวงพ่อถนัดในการทำอานาปานสติ เพราะเรียนจากครูบาอาจารย์มาแต่เด็ก หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป แล้วคราวนี้ จิตไหลไปคิดรู้ทัน จิตไหลไปเพ่งลมหายใจรู้ทัน คอยรู้ทันจิตที่มันไหลไปไหลมา หัดรู้ตรงนี้ให้ดี

เวลาฟังธรรมไม่ได้เป็นเวลาที่มากมายอะไร อย่างมากก็อีกไม่กี่นาที ทุ่มเทกับการศึกษาหน่อย ไปคุยกันทีหลังก็ได้ ถ้าเวลาที่ฟังธรรมเอาไปคุย เมื่อไหร่มันจะเข้าใจ ฉะนั้นตั้งอกตั้งใจฟังนิดหนึ่ง

ให้ไปทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วถ้าเราอยากสงบ ให้น้อมจิตอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอันนั้นไม่ฟุ้งซ่านไปที่อื่นแค่นี้มันก็สงบแล้ว แล้วถ้าใจมันฟุ้งขึ้นมาให้รู้ทันไป ถ้าใจอยากฟุ้ง ถ้ารู้ทันใจที่อยากความอยากมันหาย ความอยากมันหายจิตมันสงบทันทีเลย การทำให้จิตสงบไม่ใช่เรื่องยากเลย มันสงบได้อย่างรวดเร็ว แล้วถ้าอยากให้จิตตั้งมั่น ให้มีสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น จิตไหลไปคิดรู้ทัน จิตไหลไปคิดรู้ทันเรื่อยๆ แล้วจิตมันจะตั้งมั่นขึ้นเอง พอจิตมันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว ต่อไปมันเจริญปัญญาได้

หลวงพ่อได้จิตที่ตั้งมั่นได้มาตอนอายุ 10 ขวบ วันนั้นไฟไหม้ข้างๆ บ้าน พอไฟไหม้ เราอยู่หน้าบ้านเล่นอยู่หน้าบ้านกับเพื่อนเด็กๆ ด้วยกันหลายคน เห็นมันไฟไหม้ใกล้ๆ บ้าน ตกใจ พอตกใจก็ลุกขึ้นวิ่งเลย จะไปบอกพ่อว่าไฟไหม้ ก้าวที่ 1 ตกใจ ก้าวที่ 2 ตกใจ พอก้าวที่ 3 จิตมันดีดผางขึ้นมา เป็นผู้รู้ผู้ตื่น ไม่ตกใจแล้ว มันเห็นความตกใจเป็นของถูกรู้ถูกดูไป จิตไม่ตกใจ ก็เดินไปบอกผู้ใหญ่ คราวนี้เราก็ดูคนอื่นตกใจ ใจเราเป็นแค่คนเห็น เราไม่ตกใจอีกต่อไปแล้ว ครั้งแรกเลยตอนนั้น 10 ขวบเอง อาศัยฝึกตัวเองเรื่อยๆ เรื่อยๆ คอยรู้ทันจิตใจตัวเองไป

ที่นี้พอจิตมันตั้งมั่นได้ หลวงพ่อไปต่อไม่เป็นแล้ว ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติยังไงดี ก็พยายามหาวิธีปฏิบัติ ไปอ่านพระไตรปิฎก อ่านแล้วอ่านอีกก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง ในพระไตรปิฎกเต็มไปด้วยธรรมะมากมาย ไม่รู้จะเริ่มยังไงพยายามหาอยู่หลายปี จนอายุ 29 พออายุ 29 ถึงได้เจอหลวงปู่ดูลย์

หลวงพ่อดูลย์เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของหลวงปู่มั่น พอเจอหลวงปู่ดูลย์ก็ไปบอกท่าน บอกหลวงปู่ผมอยากปฏิบัติ หลวงปู่บอกว่าการปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้วต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง เพราะฉะนั้นงานหลักของที่หลวงพ่อทำ ไม่ใช่แค่ทำจิตให้สงบ ไม่ใช่แค่ทำจิตให้ตั้งมั่น แต่หลวงพ่ออ่านจิตตัวเองเรื่อยๆ เวลาเราอ่านจิต มันก็เหมือนอ่านหนังสือนิยายอะไรสักเล่มหนึ่ง ในนิยายใช่ไหมเดี๋ยวก็มีบทรักเดี๋ยวก็มีบทโกรธ เดี๋ยวก็มีดีใจ เดี๋ยวก็มีเสียใจ เราก็อ่านจิตใจของเรา เหมือนเราอ่านหนังสือสักเล่มหนึ่ง

จิตใจเราโกรธรู้ว่าโกรธ จิตใจเราโลภรู้ว่าโลภ จิตใจรักรู้ว่ารัก จิตใจเกลียดรู้ว่าเกลียด จิตใจอิจฉารู้ว่าอิจฉา จิตใจกลัวรู้ว่ากลัว จิตใจอยากพูด จิตใจอยากพูดก็รู้ว่าอยากพูด มันดันขึ้นมากลางอกเลยเวลามันอยากพูด เพราะฉะนั้นเวลาภาวนา หัดอ่านจิตใจตัวเองไป จิตใจเราเป็นยังไงรู้ว่าเป็นอย่างนั้น ตามรู้ตามดูมันไปไม่ใช่ไปบังคับให้นิ่ง ถ้าบังคับจิตให้นิ่งมันก็ไปทำแค่สมถะ ทำจิตนิ่งๆ เฉยๆ แต่ถ้าเราอยากเจริญปัญญา ตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไป จิตใจมีความสุขก็รู้ จิตใจมีความทุกข์ก็รู้ จิตใจดีก็รู้ จิตใจชั่วก็รู้ มันโลภมันโกรธมันหลงอะไรรู้ไปเรื่อยๆ

 

สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา

ถ้าเราตามรู้ตามเห็น ต่อไปเราจะพบสิ่งที่แปลกประหลาดอันหนึ่ง เราจะพบว่าความรู้สึกทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในจิตเราเป็นของชั่วคราวทั้งสิ้นเลย อย่างเวลามีความสุขเกิดขึ้นในจิตใจ ความสุขก็อยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป เวลาความทุกข์เกิดขึ้น เราก็จะเห็นความทุกข์อยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป เวลากุศลเกิดขึ้นบางทีอยากฟังธรรมะ กุศลเกิดแล้ว เราพอเห็นเพื่อนเรามาแล้วดีใจฟุ้งซ่าน อกุศลเกิดแล้ว จิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นอกุศลเกิดแล้วก็ดับ เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป ในที่สุดมันก็เข้าใจความจริงอันหนึ่ง ว่าจิตที่สุขเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ดีเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ชั่วเกิดแล้วก็ดับ ถึงจุดหนึ่งมันสรุปได้ด้วยตัวของมันเองว่า จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ ความรู้สึกทุกชนิดที่เกิดขึ้นกับจิตไม่ว่าสุขทุกข์หรือดีชั่วเกิดแล้วก็ดับเช่นเดียวกัน

พอเราเห็นอย่างนี้เราก็จะลึกซึ้งต่อไปอีกชั้นหนึ่ง เราจะเห็นว่าจิตจะสุขหรือจิตจะทุกข์ จิตจะดีหรือจิตจะชั่ว เราสั่งไม่ได้ อย่างเราตั้งใจว่าจะไม่โกรธ เผลอแป๊บเดียวก็โกรธแล้ว เราตั้งใจว่าเราจะฟังธรรมะ ไม่คุยไม่เล่น เผลอแป๊บเดียวคุยแล้ว มันจะเห็นเลยว่ากระทั่งกุศล มันก็สั่งให้เกิดไม่ได้ เกิดแล้วสั่งให้อยู่ก็ไม่ได้ อกุศลอย่างความฟุ้งซ่านอยากคุยอยากเล่นอะไรอย่างนี้ เราก็ห้ามมันไม่ได้ มันเกิดเราก็ห้ามไม่ได้ มันผุดขึ้นมา

นี้เราทำอย่างไร เราเฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเข้าใจ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา อนัตตาหมายถึงมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเรา ร่างกายเราก็เป็นอนัตตาเราสั่งไม่ได้ อย่าแก่ไม่ได้ อย่าเจ็บก็ไม่ได้ อย่าตายก็ไม่ได้ ทีนี้จิตใจยังดูง่ายใหญ่ เพราะจิตใจเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วเราก็พบว่าเราสั่งไม่ได้ เราสั่งให้จิตมีความสุขตลอดเวลาไม่ได้ เราห้ามจิตไม่ให้ทุกข์ไม่ได้ เราสั่งจิตให้ดีไม่ได้ เราสั่งจิตว่าอย่าชั่วสั่งไม่ได้ สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาโดยที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ตัวนี้เป็นธรรมะที่เรียกว่าอนัตตา ตรงที่เห็นมันเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับนั้น เราเห็นอนิจจัง แต่ตรงที่เราเห็นว่าเราเข้าไปควบคุมบังคับแทรกแซงอะไรไม่ได้เลย นั่นเรียกเห็นอนัตตา

แล้วการเห็นอย่างนี้มันมีประโยชน์อะไร ถ้าเราเห็นซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่ง จิตมันเกิดความรู้รวบยอดขึ้นมา มันสรุปได้เลยว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นสิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรที่เราเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง ร่างกายนี้เราก็ไม่ใช่เป็นเจ้าของที่แท้จริง ฉะนั้นเราสั่งมันไม่ได้ มันจะแก่มันจะเจ็บมันจะตายเราสั่งมันไม่ได้ จิตใจก็เป็นของสั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้

ให้เรียนรู้มันจนกระทั่งมันยอมรับความจริง กระทั่งจิตใจก็ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายไม่ใช่เรา จิตใจก็ไม่ใช่เรา เป็นสมบัติของโลกที่เรายืมมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว ตรงนี้พวกลูกศิษย์เก่าๆ ที่เรียนมากับหลวงพ่อ เขาเข้าใจตรงนี้ คนที่ฟังครั้งแรกอาจจะไม่เข้าใจไม่ต้องตกใจ ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้ตื้นๆ แค่ว่าเวลามีคนตายก็มาฟังสวด ไม่ได้มีแค่นั้น วัดไม่ใช่เป็นที่เผาศพอย่างเดียว วัดเป็นที่รักษาสืบทอดศาสนา เพียงแต่รุ่นเราเข้าวัด รอให้ตายก่อนถึงจะมากัน ฉะนั้นถ้าเราเรียนธรรมะ อย่ารอให้ตาย ตายแล้วเรียนไม่ได้ เรียนตั้งแต่ตอนนี้

วิธีเรียนธรรมะ วันไหนใจเราฟุ้งซ่านไหว้พระสวดมนต์ไป หายใจเข้าพุทหายใจออกโธไป ทำทุกวันๆ เดี๋ยวมันก็สงบเอง แล้ววันไหนจิตใจเรามีกำลังพอ เราก็สังเกตจิตใจของเรา เราหายใจไปแล้วจิตเราหนีไปคิดเรารู้ จิตเราถลำลงไปเพ่งลมหายใจเรารู้ จิตเราจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา พอจิตเราตั้งมั่น เราจะเริ่มเดินปัญญาได้ ทันทีที่จิตเรามีสมาธิอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วสติระลึกลงในร่างกาย เราจะเห็นว่าร่างกายกับจิตนั้นเป็นคนละอันกัน ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู ร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา จิตมันก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา

ค่อยๆ หัดแยกไปเรื่อยๆ ไม่เฉพาะร่างกายพอสติระลึกรู้ความรู้สึกสุขทุกข์ที่เกิดในกาย เราก็จะเห็นอีก ความสุขทุกข์ในกายไม่ใช่ตัวเรา สติระลึกรู้ความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดทางใจ เราก็จะเห็นอีก ตัวนี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา เราสั่งไม่ได้ หรือจิตจะเป็นกุศล จิตจะเป็นอกุศลเราก็สั่งไม่ได้ ตัวจิตเองก็เป็นของที่เราสั่งไม่ได้เหมือนกัน เราสั่งให้จิตดีตลอดก็ไม่ได้ห้ามชั่วก็ไม่ได้

 

ธรรมะคือธรรมดา

ดูไปเรื่อยๆ เราจะเข้าใจธรรมะ ธรรมะคือความจริง ไม่ใช่เรื่องลึกลับ ที่ลึกลับเพราะเราไม่มีดวงตาที่จะไปเห็นมัน ที่เราไม่มีดวงตาไปเห็นธรรมเพราะว่าเราหลงอย่างเดียว วันๆ มีแต่เรื่องหลงมีแต่เรื่องฟุ้งซ่าน แล้วมันจะไปเห็นของจริงได้ยังไง เพราะฉะนั้นพยายามฝึกตัวเองแบ่งเวลาไว้เลย ขั้นต้นถือศีล 5 ไว้ก่อน ถือศีลจำเป็นถ้าจิตใจเราไม่มีศีล จิตใจเราจะหาความสงบไม่ได้ ถ้าเราถือศีลในช่วงหนึ่ง การทำความสงบจะง่าย เพราะจิตใจที่ผิดศีลนั้นมันฟุ้งซ่าน ถ้าเรามีจิตใจที่ไม่ไปหลงตามกิเลสไป จิตใจก็มีศีลขึ้นมา จิตใจก็สงบง่าย เพราะว่าจิตใจที่ไม่สงบ คือจิตใจที่หลงตามกิเลสเท่านั้นเอง

ถ้าเราค่อยรู้เท่าทันใจของตัวเองเรื่อยๆ จิตเราไม่หลงตามกิเลส ศีลมันเกิดอัตโนมัติ ไม่ต้องตั้งใจมาขอพระเลย ศีลมันเกิดเอง ใจมันจะเป็นปกติเป็นธรรมดา ไม่หลงตามกิเลส ศีลกี่ข้อๆ เราก็ไม่ผิดหรอก แล้วการที่เราคอยรู้เท่าทันอ่านจิตตนเองเรื่อยๆ ต่อไปสมาธิมันก็เกิด เวลาจิตเราฟุ้งซ่านเรามีสติรู้ทันว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านจะดับ จิตสงบจะเกิดขึ้นแทน แล้วก็เราก็เรียนรู้เจริญปัญญาไป

การเจริญปัญญาคือการเรียนรู้ความจริงของร่างกายของจิตใจ เรียนอย่างที่บอกนั่นแหละ ตามรู้ตามเห็นมันไป รู้ว่ามันไม่เที่ยง มันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันบังคับไม่ได้ เห็นซ้ำๆๆ ไปจนวันหนึ่งจิตมันยอมรับได้ สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ ไม่มีอะไรคงทนถาวรเป็นอมตะ พอเราเห็นอย่างนี้แล้วต่อไป ในชีวิตเรา ทุกคนวันหนึ่งก็ต้องเจอปัญหา ไม่ได้มีชีวิตที่มีความสุขตลอดกาลหรอก เช่นเพื่อนรักของเราตาย เพราะเราเคยเห็นมาแล้ว ว่าสิ่งใดเกิดสิ่งไหนก็ดับ เพราะฉะนั้นการที่คนรักของเราตาย เพื่อนรักของเราตายหรือพ่อแม่ปู่ย่าตายายลูกเมียของเราตาย มันก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะทุกอย่างในชีวิตเราเป็นของชั่วคราว เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งสิ้น ไม่มีอะไรคงทนถาวรตลอดไป

การที่เราปฏิบัติธรรมได้ จนกระทั่งจิตเข้าถึงธรรมะได้ มันจะรู้เลยว่าทุกอย่างเกิดมาชั่วคราวแล้วก็ดับไปทั้งสิ้น ถ้าใจมันยอมรับตรงนี้ได้ ไม่ใช่รู้ด้วยการคิดเอาด้วยการฟังเอาด้วยการอ่านเอา แต่มันเห็นจากการภาวนาจริงๆ อ่านกายอ่านใจตัวเองไป จนเห็นอย่างถ่องแท้เลยว่า ทุกอย่างมันเป็นของชั่วคราว ทุกอย่างมันเกิดแล้วก็ดับ คราวนี้ชีวิตเรา เราจะแก่มันก็เรื่องธรรมดา มันเกิดมาแล้วมันก็ต้องแก่ เราจะเจ็บมันก็เรื่องธรรมดา เราจะตายก็เรื่องธรรมดา คนที่เรารักจะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายก็เรื่องธรรมดา เราจะต้องเจอกับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบใจ นี่ก็เรื่องธรรมดา

ธรรมะไม่ใช่ของประหลาดบอกแล้ว ธรรมะคือธรรมดา แต่ว่าเราใจมันถูกกิเลสครอบมันเลยไม่เห็นธรรมดา ยอมไม่ได้ อย่างคนที่เรารักตายยอมไม่ได้ ไม่อยากให้ตาย พยายามมาเคาะโลงเรียกให้ฟื้น ถ้าฟื้นจริงๆ ก็กลัวอีกแหละ รักใคร่หวงแหนแต่พอตายปุ๊บรีบเอามาไว้วัดเลยไม่กล้าไว้ที่บ้านแล้ว แล้วก็บอกขอให้ไปที่ชอบๆ ถ้ามาบอกหลวงพ่อว่าไปที่ชอบๆ หลวงพ่อจะบอกว่ากูชอบอยู่กับมึงอ่ะ จะไปที่ชอบที่ไหนก็อยู่บ้านเลย

ถ้าฉลาดค่อยๆ ดูไปทุกอย่างในชีวิตเรา มีแต่ความไม่แน่นอน เป็นของชั่วคราวทั้งหมดเลย ถ้าใจเข้าใจตรงนี้แล้ว ต่อไปเราจะไม่ทุกข์เพราะความแก่ ไม่ทุกข์เพราะความเจ็บ ไม่ทุกข์เพราะความตาย ไม่ทุกข์เพราะพลัดพรากจากคนที่รัก ไม่ทุกข์เพราะเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจ ไม่ทุกข์เพราะความอยากบีบคั้นให้ดิ้นรนไป นี่คือใจความย่อๆ สำหรับการปฏิบัติ

จำไว้ว่าเข้าวัดไม่ใช่แค่มางานศพ วัดมีอะไรที่ดีกว่านั้นเยอะแยะ มีธรรมะให้เราเรียน ได้ยินได้ฟังแล้วก็เอาไปปฏิบัติเอา อย่างที่เรามาฟังสวดอภิธรรม เสียดายว่าเราฟังไม่ออก อภิธรรมดีมากๆ เลย อภิธรรมจะสอนให้เราเห็นว่า จริงๆ แล้วเราไม่มีตัวมีตนที่แท้จริง ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา จิตใจไม่ใช่เรา ถ้าเห็นอย่างนี้ได้ ก็จะไม่ทุกข์ไม่โศก เพราะความพลัดพรากจากคนที่เรารัก นี้พอเราฟังอภิธรรมไม่รู้เรื่องเห็นไหม พอพระเริ่มสวดเราก็คุยกัน คล้ายๆ เป็นที่สังสรรค์ ไม่เจอคนนี้มานาน มาเจอกันในงานวัด เฮฮาปาร์ตี้ บางวัดหนักกว่านี้ คุยกันจนกระทั่งพระท่านบ่นเลย หลวงพ่อเคยไปวัดที่หนึ่ง พระท่านก็มานั่งเทศน์ๆๆ แล้วท่านก็สรุป มีแต่ผีฟัง โยมไม่ยอมฟังเลย เพราะฉะนั้นหัดฟังเสียบ้าง เปิดใจรับอะไรที่มันใหม่ๆ บ้าง ชีวิตมันจะได้ไม่ซ้ำซากจำเจย่ำอยู่ที่เดิม ไม่ใช่ต้องทุกข์ เกิดมาทุกข์แล้วก็ทุกข์แล้วทุกข์อีก ตายไปก็ทุกข์อีก ชาติหน้าเกิดอีกก็ทุกข์อีก ย่ำอยู่ที่เดิมไม่ได้ไปไหนเสียที มาฟังธรรมะแล้วรีบลงมือปฏิบัติเสียก่อนที่จะสายเกินไป ถ้าตายแล้วไม่ได้ปฏิบัติแล้ว วันนี้หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังเท่านี้

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 ตุลาคม 2566