อาสวะที่พระอรหันต์ละได้เด็ดขาด

ใกล้จะออกพรรษาแล้ว พรุ่งนี้ออกพรรษา ช่วงนี้กิจกรรมพิเศษในวัดเยอะ ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องไปช่วยคอร์สจีนกัน หลายองค์ไปช่วยกันสอน แล้วต่อด้วยงานศพโยมพ่อพระอาจารย์อ๊า เพิ่งหยุดได้ 2 วัน พัก พรุ่งนี้ก็ออกพรรษา วันจันทร์วันเทโวโรหณะ เป็นอย่างไรก็ไปดูถาม Google เอา วัน อาทิตย์ถัดไปทอดกฐิน แล้ววันเสาร์ต่อไปมีงานของหลวงปู่สุจินต์ แล้วก็มีงานบ้านจิตสบายต่อไปอีก ฉะนั้นเทศน์ที่วัดมันจะน้อยลง แต่งานไม่น้อยลงเลย งานเยอะ

 

สังเกตกิเลสในสภาวะที่จิตใจปกติ

ช่วงนี้คนภาวนาแปลกๆ ก็มาเยอะขึ้น บางทีก็มาถามได้โสดาบันมาแล้ว ได้รับการรับรองจากสถาบันอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน รับรองมาจากที่โน่นที่นี่ จะมาถามหลวงพ่อใช่ไม่ใช่ โอ๊ย เราไม่ตอบให้หรอก คือที่อื่นเขารับรอง เราบอกไม่ใช่ ทะเลาะกันอีก อยากใช่ก็ใช่ไปเถอะ หลวงพ่อก็ช่วยได้นิดหน่อยเท่านั้น ก็บอกเขาว่าถ้าเรายังไม่มีสติ ยังไม่ได้เจริญสติ ก็ไม่มีสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ ก็ไม่ได้เจริญปัญญา ถ้าไม่ได้เจริญปัญญา ก็ไม่ต้องพูดถึงมรรคผลหรอก ก็ไปดูเอาก็แล้วกัน มีสติที่ถูกต้องไหม มีสัมมาสมาธิที่ถูกต้องไหม เมื่อเจริญปัญญา คิดเอาหรือเห็นเอา ไปพิจารณาเอาเอง ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน หาความเดือดร้อนมาให้เรา ขืนเราบอกว่าใช่ไม่ใช่ มีแต่เรื่องเสียหาย ไม่ใช่หน้าที่

งานพยากรณ์มรรคผลไม่ใช่เรื่องของสาวก ก็ให้สังเกตตัวเองเอาว่ากิเลสอะไรเรายังเหลืออยู่ กิเลสอะไรละแล้ว ที่ละนั้นละด้วยอะไร ละด้วยสติ หรือละด้วยสมาธิ หรือละด้วยปัญญา หรือละด้วยมรรค ก็ไปสังเกตเอา ละได้หลายแบบ ต้องสังเกตเอาเอง แล้วก็ดูกิเลส อันไหนละแล้ว กิเลสอันไหนยังเหลืออยู่ สังเกตเอา การสังเกตกิเลส ต้องสังเกตในสภาวะที่จิตใจปกติ ถ้าไปนั่งเพ่งนิ่งๆ อยู่ แล้วบอกไม่มีกิเลส ไม่ได้ กิเลสมันไม่โผล่ขึ้นมาให้ดูต่างหาก ไปข่มเอาไว้ ด้วยกำลังของสมาธิ ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านแนะนำบอก ถ้าใครสงสัยว่าบรรลุมรรคผลหรือยัง ให้ใช้ชีวิตปกตินี่ล่ะ จิตใจปกตินี้ ดูไปเรื่อยๆ สัก 3 เดือน ถ้าเป็นของปลอม เดี๋ยวกิเลสมันก็โผล่มาให้ดูเอง

หลวงพ่อก็ใช้วิธีนี้ล่ะ ในการภาวนา ไม่ได้ไปถามครูบาอาจารย์ว่า “ผมบรรลุชั้นนั้นชั้นนี้หรือเปล่า” ไม่ได้ถามหรอก จะถามทำไม สังเกตเอาเอง ส่วนใหญ่ที่สังเกตไม่ออก เพราะไปนั่งเพ่งเอาไว้ ทำจิตนิ่งๆ ทื่อๆ ไว้ แล้วก็มอง บอกไม่เห็นมีราคะโทสะอะไรเลย ไม่มีกามราคะจริง เพราะมันเกิดไม่ไหว ก็ไปเพ่งเอาไว้ ไม่มีโทสะ เพราะว่ายังไม่ได้ออกมากระทบอารมณ์ แต่มันมีราคะที่ละเอียดเข้าไปอีก มีราคะที่จิตมันไปติดอกติดใจในสมาธิ

ใช้ความสังเกตเอา ค่อยๆ สังเกตเอา ตอนหลวงพ่อเป็นโยม หลวงพ่อถึงขนาดว่า สังเกต เคยสงสัยว่าได้อนาคามีหรือยัง ตอนนั้นหลวงปู่ดูลย์ไม่อยู่แล้ว ตามสังเกตจิตว่ามันจะมีกามราคะไหม ดูอยู่ตั้งนานก็ไม่มี ก็เลยไปยืมหนังสือโป๊ของเพื่อนมาอ่าน มาดูอยู่อาทิตย์หนึ่ง ใจมันก็กระเพื่อมขึ้นมา โอ๊ย ดีใจ ดีใจไม่หลงกลกิเลสไปเชื่อว่า ได้ธรรมะชั้นนั้นชั้นนี้ ก็กิเลสยังอยู่

บางท่านภาวนาดี ท่านก็สงสัยว่า ท่านพ้นหรือยัง หลวงพ่อก็แนะนำให้ท่านสังเกต จิตมันยังสร้างภพอยู่หรือเปล่า ถ้าจิตยังสร้างภพ มันก็ยังเกิดอีก ไม่จบหรอก ตรงนี้ที่หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า นักปฏิบัติส่วนใหญ่เป็นผีใหญ่ เป็นพรหม ก็คือไปสร้างภพที่ละเอียดอยู่ มองไม่ออกว่านี่เป็นภพอันหนึ่ง ที่จริงสังเกตง่ายๆ เลย ถ้าจิตมันพ้นจริงๆ จิตมันวางขันธ์ได้ มันเห็นความจริง ขันธ์ทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร แล้วก็จิตตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ มันวาง จิตมันจะมีอาการชนิดหนึ่งขึ้นมา ถัดจากนั้นจิตมันจะพรากจากขันธ์ แยกออกจากขันธ์เลย ไม่เข้าไปคลุกในขันธ์อีกแล้ว ที่จิตมันไม่เข้าไปคลุกในขันธ์แล้ว เพราะว่ามันสิ้นอาสวะแล้ว

 

อาสวะ 4 ตัวที่พระอรหันต์ละได้เด็ดขาด

ถ้ามันยังมีกามาสวะ อาสวะคือกาม มันจะมายั่ว ให้กิเลสไหลออกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือหลงไปอยู่ในโลกความคิด เกี่ยวกับกามเรียกกามธรรม ความคุ้นเคยกับกาม มันดึงดูดจิตไป อย่างจิตพวกเรานี้ ทุกคนมันยังอยู่ในกามาวจร จิตมันถูกดึงดูดไปด้วยกามตลอดเวลา แส่ส่ายหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็คิดเพลิดเพลินไปในอารมณ์ทางใจ ถ้าจิตมันพ้นแล้ว กามไม่มีแรงดึงดูด ให้จิตไหลเข้าไปหาแล้ว

จิตที่มันพ้นแล้วมันก็ละทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ ความคิดความเห็นอะไรต่างๆ จิตไม่เข้าไปยึดไปถือ ความคิดความเห็นต่างๆ ไม่สามารถยั่วให้จิตปรุงแต่ง ไปตามอำนาจของมันได้ อีกตัวหนึ่ง ตัวนี้ดูง่าย ภวาสวะ อาสวะคือภพ ภพก็คือความปรุงแต่งของจิต

ถ้าหากเราภาวนา แล้วจิตยังมีตัณหาอยู่ มันจะไปสร้างภพขึ้นมา ตรงนี้ล่ะที่นักปฏิบัติเกือบทั้งหมด มาติดมาตายอยู่ที่นี้ มาหลงอยู่ในภพที่ละเอียด บางทีก็วาดมโน มโนภาพพระอรหันต์ต้องเป็นอย่างนั้น พระอรหันต์ต้องเป็นอย่างนี้ แล้วก็ไปปรุงจิตขึ้นมา เช่น ปรุงจิตให้อยู่กับความว่าง ก็ปรุงไปเรื่อย หรือปรุงจิตให้นิ่งๆ ไม่คิด สะกดมันไว้นิ่ง ว่าง มีเยอะที่ภาวนาที่ว่าดีๆๆ จะไปสร้างภพที่ละเอียดขึ้นมา ถ้ามองออก มีตัณหา ไปสร้างภพขึ้นมา แล้วจิตมันติดอยู่ในภพอันนั้น นึกว่าไม่ใช่ภพ นึกว่ามันไม่ใช่ภพ ไม่ใช่ภพมันก็เป็นภพล่ะ ตัวนี้ดูไม่ยาก ถ้าเราสังเกตให้ดี จิตเราจมลงไปในภพ ภพน้อยๆ เกิดทั้งวัน

อย่างพอเราเป็นนักปฏิบัติ เรารู้สึกเราเป็นนักปฏิบัติ ก็สร้างภพของนักปฏิบัติ พอเราเจอแฟนเรา ก็สร้างภพของแฟนขึ้นมา สร้างภพของสามีภรรยา เจอลูกก็สร้างภพของพ่อของแม่ขึ้นมา เจอพ่อแม่ก็สร้างภพของลูกขึ้นมา เจอเพื่อนก็สร้างภพของเพื่อนขึ้นมา เคยรู้สึกไหมว่าเรา เหมือนเราเปลี่ยนหน้ากากไปเรื่อยๆ เจอคนนี้เราใส่หน้ากากอันนี้ เจอคนนี้ใส่หน้ากากอันนี้ มันแต่งไปเรื่อยๆ ภาวนาไปเรื่อย สังเกตเอา จิตเข้าไปติดไปข้อง อยู่ในความปรุงแต่งชนิดใด คอยรู้ไป อย่างติดสมาธิ สมาธิก็เป็นภพอันหนึ่ง ติดในรูปภพ อรูปภพ ก็สังเกตเอา จิตยังติดภพอยู่ ยังไม่จบหรอก หรือรู้แจ้งแทงตลอดอวิชชาไหม อวิชชาสวะ

อาสวะ 4 ตัวนี้พระอรหันต์ละได้เด็ดขาด กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ คือละในเรื่องความคิดความเห็นผิดๆ กระทั่งความเห็นถูกยังไม่ยึดเลย อย่าว่าแต่ความเห็นผิดเลย แล้วก็อวิชชาสวะ อวิชชาสวะนี้เป็นตัวหัวโจกของอาสวะเลย ถ้าล้างตัวนี้ได้ ล้างได้ตัวเดียว ล้างอวิชชาสวะ อวิชชาก็จะไม่เกิด อวิชชาคือความไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ 4

ภูมิจิตภูมิธรรมของสาวก มันก็จะเห็นแค่บางด้าน เห็นว่าถ้ารู้ทุกข์ก็เป็นอันละสมุทัย ถ้าละสมุทัย ก็เป็นอันแจ้งนิโรธ ถ้าแจ้งนิโรธ ก็เป็นอันเจริญมรรคเรียบร้อยแล้ว ในขณะจิตเดียวกัน รู้อริยสัจ ซึ่งเข้าใจยาก ต้องภาวนากันนาน ไม่ใช่ไปท่องได้ ทุกข์เป็นอย่างไร สมุทัยเป็นอย่างไร นิโรธ มรรค เป็นอย่างไร เด็กๆ มันก็ท่องได้ ยิ่งเด็กยิ่งท่องเก่งเลย จำแม่น แล้วถ้าจิตมันยังไม่เห็นความจริงว่า รูปนามขันธ์ 5 นี้คือตัวทุกข์ สมุทัยคือตัณหาก็ยังเกิด ถ้าสมุทัยเกิด ภพก็ต้องเกิด ฉะนั้นตัณหามันเป็นผู้สร้างภพ

ถ้ามีภพก็ต้องมีชาติเกิดขึ้นทันที คือการที่หยิบฉวยเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมา เป็นตัวกูของกู บางทีละสักกายทิฏฐิไปแล้ว เห็นแล้ว จิตก็ไม่ใช่ตัวเราของเราแล้ว แต่มันก็ยังหยิบฉวยจิตอยู่ ไม่ยอมวางจิต เพราะมันยังไม่รู้จริง ตัวจิตเป็นตัวทุกข์ เรียกว่ายังมีอวิชชาอยู่ อาสวะ 4 ตัวนี้ เป็นกิเลสที่ย้อมจิตวิญญาณของเราเอาไว้ ที่ทำให้เราติดอยู่ในภพทั้งหลาย วันนี้พวกเรายังเรียนไม่ถึงหรอก หลวงพ่อบอกล่วงหน้าไว้ เดี๋ยววันหนึ่งก็ถึง ถ้าวันหนึ่งถึงก็จะได้ใช้เลย

ธรรมะที่หลวงพ่อบอก ไม่ใช่ว่าพวกเราจะสามารถย่อยได้ในวันเดียว บางเรื่องที่หลวงพ่อสอนเมื่อเช้าก็มีญาติธรรมคนหนึ่ง เป็นกำลังหลักช่วยหลวงพ่อทำงาน เรียนกับหลวงพ่อตั้งแต่หลวงพ่ออยู่สวนโพธิ์ฯ ที่เมืองกาญจน์ฯ บอกว่าธรรมะหลายอย่างที่หลวงพ่อสอน เพิ่งเข้าใจเพิ่งเห็น ผ่านมา 20 ปี เกือบ 20 ปีกว่าจะเข้าใจ ธรรมะที่หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อบางเรื่อง ก็ใช้เวลา 20 ปีถึงจะเข้าใจเหมือนกัน เพราะฉะนั้นบางอย่างเราฟังไว้ แต่ว่า พอเราภาวนาไป แล้วเราไปเจอ อ๋อ อันนี้เอง เข้าใจแล้ว หรือบางทีภาวนาไป เกิดสภาวะอะไร เอ๊ะ อันนี้เคยรู้เคยเห็นมาแล้ว อันนี้คล้ายๆ เดจาวู อันนี้เคยเห็นมาแล้ว จิตมันพิสดารอย่างนั้น

ค่อยๆ ภาวนา ค่อยภาวนาไป วันที่ปล่อยวางจิตได้ จิตมันจะพรากออกจากขันธ์ คำนี้ดี คำว่า “พรากออก” พราก พรากออกจากกัน แยกออกจากกัน เมื่อจิตมันพรากจากขันธ์แล้ว ก็ยังเจริญสติปัฏฐานอยู่ กระทั่งพระอรหันต์ท่านยังเจริญสติปัฏฐานอยู่ แต่พวกเราเจริญสติปัฏฐานเพื่อ อันแรกเพื่อให้เกิดสติ อันที่สองเพื่อให้เกิดปัญญา ส่วนพระอรหันต์ท่านเจริญสติปัฏฐานเป็นเครื่องอยู่ แล้วจิตมันพรากจากขันธ์ ยังรู้สึกร่างกายหันซ้าย หันขวา จิตมันไม่เกาะไม่เกี่ยวอะไร จิตมันหยุด ไม่เกี่ยวข้องเลย มันว่าง สว่าง เบิกบาน สงบอยู่ภายในของมัน ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไป วันนี้ยังไม่รู้ไม่เป็นไร แต่ก็พากเพียรไว้ เมื่อเช้าก็มีคนมาส่งการบ้าน ก็เพ่งเอา ยังเพ่งอยู่ ก็ต้องใช้ความสังเกต อันไหนยังไม่ถูก สังเกตเอา

 

ธาตุกรรมฐาน

เมื่อวันที่หลวงพ่อไปงานศพ เมื่อวันอาทิตย์ได้ยินพระท่านเทศน์ ท่านอ่านคัมภีร์อภิธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวคัมภีร์ มันเป็นคล้ายๆ บทความที่คนแต่งขึ้นมา เป็นเทศนาโวหาร ไปสอนถึงอภิธรรม เพราะอยู่ในงานศพ สอนถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เขาก็แต่ง คนแต่ง ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกมหาเก่า สึกออกไปแล้วไปแต่งหนังสือขายกัน เขาบอกว่ารูปดูง่าย นามดูยาก ต้องมีปัญญามากๆ ถึงจะดูได้ นามธรรม จริงหรือเปล่า ก็ถ้าถนัดรู้รูป มันก็รู้รูปง่าย ถนัดรู้นาม มันก็รู้นามง่าย ไม่เห็นมันจะยากตรงไหนเลย ถ้ากางตำราว่า รูปมันของหยาบ มันดูง่าย รูปจริงๆ ดูยาก รูปแท้ดูยาก รูปที่เราดูได้ รูปหายใจออก รูปหายใจเข้า รูปยืน เดิน นั่ง นอน รูปเคลื่อนไหว รูปหยุดนิ่ง อันนี้ในตำราเขาไม่ถือว่าเป็นรูปที่แท้จริง เป็น เขาเรียก อุปาทายรูป เรียกชื่อไปพวกเราก็เวียนหัวเปล่าๆ

รูปแท้ รูปไม่แท้ ฟังก็เวียนหัวอีก ถ้ารูปแท้มันก็เป็น เรียกมหาภูตรูปอะไรพวกนี้ ดูยาก รูปไม่แท้ก็ดูง่าย ฉะนั้นมันอยู่ที่ความถนัด ใครถนัดรู้รูป มันก็รู้รูปไป ถนัดรู้นาม ก็รู้นามไป ทางใครทางมัน เมื่อวันจันทร์หลวงพ่อเลยเทศน์ ให้คนที่มาวัดฟังเกี่ยวกับเรื่องนี้ ลองฟังดูว่าการทำธาตุกรรมฐานจริงๆ ยากง่ายอย่างไร ลองฟังดู เอ้า ลองเปิดดู เป็นการเทศน์ไปแล้วก็ ไม่ต้องมาเทศน์ซ้ำ เชิญฟัง

 

ช่วงนี้มีคอร์สจีน คนจีนเขาเรียนกันเยอะแล้ว ฟังมาเยอะแล้ว ฟังอย่างเดียวไม่ได้ผลหรอก ต้องลงมือทำจริงๆ วันนี้หลวงพ่อดูคนไทยบ้าง คนจีนเรียนเยอะแล้ว สังเกตจิตใจของเรา มันปรุงแต่งตลอดเวลา ความปรุงแต่งมันเกิดขึ้นในใจตลอด มันไม่เคยหยุดหรอก จิตทุกดวงจะมีความปรุงแต่งเกิดร่วมด้วย เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง หัดสังเกตความปรุงแต่งของจิตไว้ ในใจเราขณะนี้เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเฉยๆ มี 3 อย่างเท่านั้น ใจเราขณะนี้สุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ หัดรู้ไป ง่ายที่สุดแล้ว ถ้าเราเป็นคนขี้โมโห เราก็ดูใจขณะนี้หงุดหงิดไหม รำคาญไหม หรือว่าไม่รำคาญ ไม่หงุดหงิด สบายใจ หัดดูความปรุงแต่ง ความรู้สึกทั้งหลาย ที่เกิดร่วมกับจิตไว้

เมื่อวานหลวงพ่อไปงานศพ โยมพ่อพระอาจารย์อ๊า ที่วัดนั้นเขามีศพอยู่ใกล้ๆ กัน แล้วพระเขาเทศน์อภิธรรม เอาคัมภีร์อภิธรรรมมาอ่าน เขาบอกว่าตัวรูป ตัวร่างกายอะไรนี้ มันดูง่าย แต่คนที่จะเห็นจิตใจตัวเอง นามธรรม ต้องเป็นคนฉลาดถึงจะเห็น พวกเราโง่หรือฉลาด มันไม่ยากหรอก นามธรรมจะไปยากอะไร อย่างใจเราขณะนี้มีความสุข รู้ได้ไหม รู้ได้ ตอนนี้กลุ้มใจ รู้ได้ไหม ก็รู้ได้ นี้คนส่วนใหญ่มันพลาดตรงนี้ มันไม่ดู มันไม่ใช่ดูไม่ได้ ถ้ามันจะรู้มันก็รู้ได้ แต่มันไม่อยากรู้

เวลามีความสุข แทนที่จะรู้ว่าใจกำลังมีความสุข มันก็เพลินไปดูสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข อย่างเราเห็นดอกไม้สวยๆ เห็นภูเขา เห็นเมฆ เห็นอะไร เห็นบึงน้ำ ดู แหม มันสบายตา ชอบ ก็มัวแต่สนใจของข้างนอก ไม่สนใจว่าจิตใจกำลังเพลิดเพลินมีความสุข หรือเราขับรถอยู่ คนมาปาดหน้าเรา มาขับปาด เราโกรธ มันไม่ยากหรอก ที่จะรู้ว่ากำลังโกรธ แต่ละเลยที่จะรู้ พอถูกเขาปาดหน้า ก็จะไปมองคนที่ขับรถปาดหน้าเรา จะต้องไปแก้แค้น รีบขับรถให้เร็วๆ จะไปปาดคืน

 

นามธรรมดูง่าย รูปธรรมดูยาก

ฉะนั้นจริงๆ นามธรรมรู้ไม่ยากหรอก นามธรรมจะว่าไปมันตรงไปตรงมา อย่างความรู้สึกสุข มันก็ไม่พลิกแพลงอะไร ความรู้สึกสุขมันก็สุขล่ะ ความรู้สึกทุกข์ในใจเรา มันก็ทุกข์ล่ะ ไม่มีอะไรซับซ้อน เรารัก ความรักเกิดขึ้น มันก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน อย่างเราเห็นลูกเรา หรือเห็นแฟนเรา เรารู้สึกรัก ก็แค่รู้สึก นี้คนพอเกิดความรู้สึกรัก ก็ไม่มอง ก็จะไปดูลูกเราน่ารัก มันก็มองลูกทั้งวันเลย หรือหมาเราน่ารัก แมวของเราน่ารัก ก็มัวแต่มองหมามองแมว ไม่ย้อนมามองจิตใจตัวเอง

เพราะฉะนั้นการจะอ่านจิตใจตัวเอง อ่านนามธรรมไม่ใช่เรื่องยาก มันละเลยที่จะทำต่างหาก อย่างบางคนมีแมว รักแมว เวลาที่เรารักแมว เราก็มองที่แมว แมวจะทำอะไร จะกระดุกกระดิก จะกระโดด จะหงายท้อง รู้หมดเลย แต่ใจตัวเองในขณะนั้น กำลังเพลิดเพลินมีความสุข ที่ได้ดูแมวน่ารัก ไม่ดู ไม่ใช่ดูไม่ได้ แต่ไม่ดู เพราะฉะนั้นปัญหาใหญ่ ของการจะเรียนรู้นามธรรม ไม่ใช่ว่ารู้ไม่ได้ แต่มันละเลยที่จะรู้

รูปธรรม คนชอบคิดว่าดูง่าย ที่จริงรูปธรรมซับซ้อน ซับซ้อนมาก อย่างเราเห็นร่างกาย ร่างกายนั่งอยู่อย่างนี้ อันนี้ยังไม่ใช่รูปตัวจริง สิ่งที่เป็นรูปธรรมตัวจริงคือธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ต้องอาศัยกำลังของสมาธิมากถึงจะแยกธาตุได้

ส่วนนามธรรมไม่ต้องอาศัยสมาธิมากมาย รู้สึกได้อยู่แล้ว มีความสุขรู้ไหม มีความสุข หรือคนจีนมาอยู่เมืองไทยหลายวัน คิดถึงอาหารจีน เวลาคิดถึงอาหารจีน ใจอยากกิน อยากกินเราไม่ดูว่ากำลังอยากกิน เราก็ไปคิดถึงอาหาร มันแค่นี้เอง มันไม่ใช่รู้ไม่ได้ แต่มันละเลยที่จะรู้ เพราะฉะนั้นตัวนามธรรม เวลาจะรู้นามธรรม ใช้สมาธิธรรมดาๆ อย่างที่พวกเรามีนี่ล่ะ สามารถรู้ได้ ถ้าสนใจ ถ้าใส่ใจที่จะรู้ แต่ตัวรูปธรรมต้องใช้สมาธิระดับสูง ถ้าเข้าฌานไม่ได้ เราจะแยกออกไหม ดิน น้ำ ไฟ ลมในร่างกายนี้ แยกไม่ออกหรอก

เมื่อวานหลวงพ่อเทศน์ ใครได้ฟังไหมเมื่อวาน ที่หลวงพ่อเล่าว่า หลวงพ่อไปเห็นขี้หมา ถ้าเราเห็นขี้หมา เราจะรู้สึกขยะแขยง ถ้าเราจะดูจิต เราก็รู้ว่าจิตตอนนี้ขยะแขยง เกลียดขี้หมา แค่นี้จบ แต่ถ้าจะดูขี้หมาให้เป็น เห็นรูปมัน ไม่ใช่ง่าย จิตต้องทรงสมาธิจริงๆ มองลงไปปุ๊บ มันแยกธาตุแยกขันธ์ของขี้หมาออกไปเลย เราพบว่าขี้หมาประกอบด้วยอะไรบ้าง ประกอบด้วยสีใช่ไหม มีสี สีไม่มีปฏิกูลอสุภะ ที่เราเห็นสีต่างๆ มันไม่มีปฏิกูลอสุภะอะไร ขี้หมามีกลิ่น กลิ่นมันก็แค่กระทบจมูก

อย่างบางคนบ้านอยู่ใกล้ๆ ที่ทิ้งขยะ เหม็นทุกวันเลย เหม็นจนชิน ไม่รู้สึก หรือบางคนกลิ่นอย่างนี้บอกว่าเหม็น พวกเดียวกัน อีกคนหนึ่งบอกว่า ของอย่างเดียวกัน หอม อย่างบางคนบอกทุเรียนเหม็นมากเลย มันก็แค่กลิ่น แต่บางคนบอกทุเรียนหอม มันก็กลิ่น เหม็น หอม ไม่ใช่ของจริง แต่กลิ่นเป็นของจริง เสียงที่พูดนี้ ตัวเสียงเป็นของจริง เป็นคลื่นเสียงที่มากระทบหู แต่เสียงนั้นจะเพราะหรือไม่เพราะ จะสุภาพหรือหยาบคาย อันนั้นไม่ใช่เรื่องของเสียงแล้ว ใจเราคิดเอา ใจเราตีค่า

ขี้หมาเหมือนกัน เราว่าเหม็น แมลงวันมันตอมเยอะแยะเลย แมลงวันมันว่าหอม เหม็น หอม ไม่ใช่ของจริง เขาเรียกว่าเป็นบัญญัติ ส่วนกลิ่นเป็นของจริง แมลงวันมันได้กลิ่น ก็เหมือนเราได้กลิ่น แต่การให้ค่าไม่เหมือนกัน ถ้าไม่ทรงสมาธิแยกไม่ออก แล้วจิตมันลงไป หยั่งลงไปในกองขี้หมา แยกไปอีก มันเปียกๆ มันก็เห็นที่เปียกเป็นธาตุน้ำ แล้วจิตที่มีสมาธิมาก สามารถแยกน้ำออกไปได้ แยกน้ำออกไปก็เหลือแต่ดิน เป็นขี้หมาแห้งๆ เป็นก้อนดิน เป็นผงๆ ดิน น้ำ ไฟ ลม แยก

เวลาแยกร่างกาย ถ้าสมาธิดีก็แยกได้ นี่ยกตัวอย่างของเล็กๆ คือขี้หมา ถ้าเราแยก สมาธิเราดีเราแยกธาตุในกายนี้ แยกได้ เห็นไหมว่ามันยาก คนทั่วไปชอบคิดว่าดูรูปมันง่าย ดูนามธรรมยาก โกรธแล้วรู้ว่าโกรธ ยากไหม ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย ถ้าโกรธแล้วรู้ว่าโกรธ รักแล้วรู้ว่ารัก อยากได้รู้ว่าอยากได้ ดีใจรู้ว่าดีใจ เสียใจรู้ว่าเสียใจ เพราะฉะนั้นนามธรรมจริงๆ ไม่ได้ดูยาก ดูง่าย

รูปธรรมยังมี 2 อย่าง รูปที่แท้จริง คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อันนี้ดูยาก ส่วนมากเวลาเขาภาวนากัน เขาก็เลยไม่ไปดูธาตุ ดูไม่ถึงธาตุ เขาจะดูตัวนี้ทั้งตัว เรียกว่ารูป รูปนี้ยืน รูปนี้เดิน รูปนี้นั่ง รูปนี้นอน รูปเคลื่อนไหว รูปหายใจออก รูปหายใจเข้า รูปยืน เดิน นั่ง นอน รูปเคลื่อนไหว รูปหยุดนิ่ง อันนี้มันไม่ใช่รูปแท้ๆ ตัวนี้แท้ๆ คือดิน น้ำ ไฟ ลม แต่ไปเรียนเข้าถึงดิน น้ำ ไฟ ลม น้อยคนที่จะเรียนได้ เขาก็เลยเรียนรูปอีกชนิดหนึ่ง เขาเรียกภาษาบาลี ภาษาจีนไม่รู้จะมีแปลไหม เรียกอุปาทายรูป รูปมี 2 ส่วน มหาภูตรูป เป็นตัวธาตุจริงๆ ของรูป กับอุปาทายรูป รูปที่ดิน น้ำ ไฟ ลม ปรุงแต่งขึ้นมา อย่างนี้เป็นรูปที่ดิน น้ำ ไฟ ลม ปรุงแต่ง รูปนี้ดิน น้ำ ไฟ ลม ปรุงแต่งขึ้นมา รูปที่เคลื่อนไหว

เพราะฉะนั้นเราดูได้ไม่ถึงรูปแท้ ที่เราปฏิบัติกันเกือบทั้งหมด ก็จะดูรูปอีกเกรดหนึ่ง ถามว่าใช้ได้ไหม ก็ได้เหมือนกัน อย่างขณะนี้เราหายใจอยู่ รู้ไหมว่าหายใจ ยากไหม ไม่ยาก เพราะฉะนั้นตัวรูปที่เคลื่อนไหวอะไรนี้ ดูไม่ยาก แต่พวกที่เรียนอภิธรรม บอกว่าทำวิปัสสนาไม่ได้ ไม่ใช่รูปแท้ พวกนี้มันก็พูดไปอย่างนั้นล่ะ คิดเอาเอง กางตำราว่า

 

การปฏิบัติต้องดูให้ถึงกายถึงใจของตัวเอง

พระพุทธเจ้าสอนไว้ ถ้าเราเห็นรูปหายใจออก เรารู้สึก เห็นรูปหายใจเข้า รู้สึก เราก็ดูรูป เห็นรูปยืน เดิน นั่ง นอน ยืนอยู่ก็รู้สึก เดินอยู่ก็รู้สึก นั่งอยู่ก็รู้สึก นอนอยู่ก็รู้สึก ไม่ยาก เพราะฉะนั้นรูปมันมีทั้งส่วนที่ดูยาก กับส่วนที่ดูไม่ยาก รูปที่เป็นรากเป็นเหง้าของรูปทั้งหลาย คือธาตุ 4 ดูยาก ในผม 1 เส้นมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ครบเลย ในนิ้วของเรานิ้วหนึ่ง มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ครบเลย ดูมันยาก ดูไม่ได้ ก็ดูรูปที่เราดูได้ เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า รู้สึกไปเรื่อยๆ

เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกไปเรื่อยๆ เห็นร่างกายเคลื่อนไหว เคลื่อนไหว เคลื่อนไปเคลื่อนมาแล้วก็หยุด ร่างกายหยุดนิ่ง ร่างกายเคลื่อนไหว รู้ไป แล้วต่อไปปัญญามันจะมองลึกลงไปได้ รูปนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก รูปที่หายใจออก เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา รูปที่หายใจเข้า เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา รูปยืน เดิน นั่ง นอน เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ถ้าเราภาวนาเป็นดูรูปก็ง่าย แต่เลือกรูปที่จะดู

ส่วนนามธรรมดูง่ายมากเลย รู้จักอิจฉาไหมๆ ยากไหมที่จะรู้ว่าอิจฉา ไม่ยาก แต่เวลาเราอิจฉาใคร เราจะไปดูคนนั้น ไปดูคนที่ทำให้เราอิจฉา หรือเวลาเราเกลียดใครสักคน สังเกตไหมเราเกลียดใครคนนั้น เรายิ่งคิดถึงบ่อย คนนี้เกลียดมาก คิดถึงบ่อย เราก็เลยไม่ได้ดูว่าใจกำลังเกลียด

การปฏิบัติต้องดูให้ถึงกายถึงใจของตัวเอง ถ้าดูรูปไม่ต้องคำนึงหรอก ว่าเป็นมหาภูตรูปหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ ดูรูปที่เราดูได้ พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วในกายานุปัสสนา มีส่วนที่เป็นมหาภูตรูป รูปดิน น้ำ ไฟ ลม คือเรื่องธาตุ รูปหายใจออก รูปหายใจเข้า รู้สึกไว้ แล้วต่อไปเราเห็น รูปที่หายใจออกไม่ใช่เรา รูปที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา ร่างกายทั้งหมดนี้จะไม่ใช่เรา มันจะเห็นว่าร่างกายทั้งหมดไม่ใช่เรา ถ้าเห็นรูปมันยืน ไม่ใช่เรา รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน ไม่ใช่เรา

ต่อไปปัญญาความรู้รวบยอดมันก็เกิด รูปทั้งหมดไม่ใช่เรา ตัวนี้ไม่เป็นเรา ที่เรามาหัดดูรูป ดูนาม ดูกาย ดูใจ เพื่อจะได้เห็นความจริงว่ามันไม่ใช่เรา มันก็แค่รูปธรรมที่ประกอบด้วยธาตุ 4 ธาตุ 4 เป็นสมบัติของโลก ร่างกายเราที่มีดินอยู่นี้ ก็ดินของโลก น้ำที่เรามีอยู่นี้ ก็เป็นน้ำของโลก ฉะนั้นตัวธาตุจริงๆ ไม่ใช่ของเรา

แต่ถ้าดูตรงนั้นไม่ถึง ดูไม่เห็นธาตุ ดูร่างกายที่เรารู้สึกได้นี่ล่ะ ถ้าเราเห็นร่างกายที่หายใจออก ไม่ใช่เรา ร่างกายหายใจเข้า ไม่ใช่เรา ร่างกายก็ไม่ใช่เราเหมือนกัน ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรา ร่างกายทั้งหมดก็ไม่ใช่เราเหมือนกัน ดูของที่ดูได้ ไม่ต้องพิสดารอะไรมากมายหรอก มันก็ถอดถอนความเห็นผิดได้ ว่าร่างกายไม่ใช่เรา การที่จะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ง่ายแสนง่ายเลย เป็นเรื่องง่าย แต่จะไปเห็นธาตุจริงๆ ยาก แต่จะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรานี้ง่าย

พระพุทธเจ้าบอกว่า คนที่ไม่เคยเรียนธรรมะก็สามารถเห็นได้ว่า นี่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา เพราะเราเห็นคนนั้นก็ตาย คนนี้ก็ตาย ตัวนี้อีกหน่อยก็ตาย เพราะฉะนั้นไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่อมตะ สิ่งที่เราเห็นเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา ก็คือจิตใจของเรา เราจะรู้สึกนี่เรา มีเรา มีเราอยู่ตัวนี้ ภาวนาตัดตรงเข้ามาเรียนให้ถึงจิตถึงใจ ถ้าเห็นจิตใจไม่ใช่เรา คราวนี้ไม่มีอะไรเป็นเราอีกแล้ว

อย่างร่างกาย คนที่ภาวนาไม่เป็น ก็รู้สึกว่าร่างกายนี้คือตัวเรา แต่คนภาวนาได้ จิตมันตั้งมั่นออกมา มันเห็นว่าร่างกายเป็นของถูกรู้ ร่างกายเปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนสถานะจากตัวเรา มาเป็นร่างกายของเราเท่านั้นเอง แล้วดูไปเรื่อยๆ ก็พบ มันไม่ใช่ของเรา เราสั่งอะไรมันไม่ได้จริง สั่งไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย ก็ทำไม่ได้ ปัญญามันละเอียดขึ้นเรื่อยๆ

 

สะสมสมบัติที่แท้จริงติดตัวไว้

ตอนหลวงพ่อเด็กๆ หลวงพ่อเล่นกับเพื่อน วิ่งไล่จับกัน กติกาก็คือ ให้หนีไป แล้วคนจับจะวิ่งตามไปจับ ถ้าจับตัวได้ คนนั้นก็ต้องเป็นคนไปไล่คนอื่น เมืองจีนมีไหมเล่นแบบนี้ มีเด็กวิ่งไล่จับกันมีไหม ไม่มีเล่นอย่างนี้หรือ เด็กไทยแต่ก่อนก็มีวิ่งไล่จับกัน ใครถูกจับก็ต้องเป็นคนไล่ เป็นคนวิ่งไล่จับคนอื่นต่อ สลับกันไป

พอเริ่มเล่นเพื่อนๆ มันก็วิ่งกันใหญ่เลย หลวงพ่อก็ยืน เดินช้าๆ ไม่หนีเร็ว ไม่ต้องวิ่งเร็ว คนที่ไล่มันก็ปราดเข้ามาหาหลวงพ่อ แล้วมันคว้าข้อมือเลย พอคว้าแล้วมันก็ประกาศ “จับตัวได้แล้ว” หลวงพ่อบอก “นี่ไม่ได้จับตัว นี่จับมือ เอ็งยังไม่ได้จับตัวข้าเลย มันจับมือ” มันก็ชักงง มันก็คว้าแขน “จับตัวได้แล้ว” บอก “ไม่ใช่ นี่จับแขน” มันงง มันกอดอย่างนี้เลย “นี่จับตัวได้แล้ว” บอก “เฮ้ย นี่มันโอบรอบเอวแล้ว ยังจับตัวเราไม่ได้เลย”

ตอนนั้นเด็กๆ ยังไม่ได้เรียนวิปัสสนาด้วยซ้ำไป แต่ว่าเรื่องสมาธิทำมานาน ตั้งแต่ 7 ขวบ ตอนที่วิ่งเล่นนี้ยังเด็กๆ อยู่ แต่ทำไมจิตมันบอกได้ นี่ไม่ใช่ตัวเรา นี่ไม่ใช่ตัวเรา นี่ก็ไม่ใช่ตัวเรา อันนี้มันแสดงว่า มันต้องเคยเจริญปัญญามาแต่ชาติก่อนๆ ถ้าเด็กไม่รู้เรื่องเลย มันคิดอย่างนี้ไม่ได้ แล้วหลวงพ่อพูดออกมาหน้าตาเฉยเลย มันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ว่านี่มันไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นเวลาวิ่งไล่จับ ถ้าจับได้ก็จะต้องประกาศว่า “จับตัวได้แล้ว” ปรากฎว่าจับหลวงพ่อไม่ได้ เพราะจับลงตรงไหน ไม่มีตัวเลย มีแต่จับแขนจับขา ไม่ใช่ตัวทั้งนั้น มันก็เลยสรุป “ไอ้ขี้โกง” บอก “โอ๊ย เอ็งโง่เอง แล้วมาว่าเราโกง” ก็โกงจริง

หัดเอาไว้ แล้วการที่เราประพฤติปฏิบัติ มันจะฝังลงไปในจิตใต้สำนึกของเรา ในภวังคจิต ความรู้ความเข้าใจของการปฏิบัติ ไม่สูญหายไป แต่ถ้าเรียนแต่ปริยัติ ยังไม่ทันจะแก่มันก็ลืมแล้ว สอบเสร็จมันก็ลืมแล้ว ปริยัติ อย่างมากก็จำได้ พอแก่ๆ ก็จำเลอะเลือนแล้ว ในขณะที่เราปฏิบัติ อย่างเราหัดดูร่างกายแต่ละส่วน ไม่เห็นมีตัวเราอะไรอย่างนี้ ตายไป ไปเกิดอีก ความรู้สึกนี้มันกลับมาง่ายๆ หรือหลวงพ่อตอนเด็กๆ จิตมันดีดตัวขึ้นมาเป็นผู้รู้ จิตผู้รู้เกิดได้ง่ายๆ เพราะมันเคยทำ

ฉะนั้นพวกเราตั้งอกตั้งใจปฏิบัติไว้ ฝึกทุกวันๆ ไม่สูญหายไปไหนหรอก สมบัติอันนี้จะติดเนื้อติดตัวเราไปเป็นอริยทรัพย์ เหมือนกับสติเป็นอริยทรัพย์ เราฝึกของเราไปเรื่อย ปัญญาเป็นอริยทรัพย์ เป็นสมบัติที่จะติดเนื้อติดตัวเราไปได้ ส่วนสมบัติข้างนอก เป็นสมบัติผลัดกันชม เรามีเงินเยอะแยะ วันหนึ่งโจรมาปล้น ไม่ใช่สมบัติเราแล้ว เป็นสมบัติของโจรแล้ว หรือเราตาย คนอื่นก็มาเอาไปหมด ฉะนั้นสมบัติอย่างนี้ไม่ยั่งยืนอะไร ไม่ใช่สมบัติที่แท้จริง การที่เราประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วมันฝังลึกเข้าไปในจิตใจของเรา อันนั้นเป็นสมบัติที่แท้จริง พาเราข้ามภพข้ามชาติไป ก็ยังอยู่กับเรา

อันนี้ไม่เฉพาะของดี ความชั่วก็เหมือนกัน เป็นสมบัติเหมือนกัน เวลาเราขี้โมโห สะสมแต่ความขี้โมโห ไปเกิดอีก มันก็ขี้โมโหอีก มันจะพร้อมจะขี้โมโหง่าย เพราะจิตมันมีความเคยชิน มันเคยชิน เพราะฉะนั้นเราสร้างสมบัติที่ดีติดตัวไว้ รักษาศีล ต่อไปรักษาศีลง่าย ฝึกสติ ต่อไปสติก็เกิดง่าย ฝึกให้จิตอยู่กับเนื้อกับตัว ต่อไปจิตใจก็อยู่กับเนื้อกับตัวง่ายๆ แล้วก็เดินปัญญาดูกายดูใจทำงานไป สะสมไปเรื่อยๆ

ชาตินี้บางคนบุญบารมีพอ ก็อาจจะได้มรรคผลไป บางคนยังไม่พอ ก็ไปต่อชาติต่อไป ตายแล้วไม่สูญหรอก ถ้าเรามีหูมีตา เราจะรู้ ตายแล้วไม่ได้สูญไปไหนหรอก ร่างกายมันแตกสลาย จิตดวงเดิมดับไป มันเกิดจิตดวงใหม่ ซึ่งรับสมบัติที่สะสมไปทั้งดีและชั่ว มันเหมือนลูกของจิตดวงเก่านี้

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 ตุลาคม 2566

 

ความรู้ความเข้าใจธรรมะจะชัดเจนขึ้นตามลำดับ

เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ต้องทำนะ ธรรมะนี้ไม่ปฏิบัติ ไม่มีวันเข้าใจ แล้วเวลาฟังหลวงพ่อเทศน์ ไม่ต้องกลัวว่าฟังไม่รู้เรื่อง ฟังแล้วก็รู้สึกกายรู้สึกใจไป ความรู้ความเข้าใจ มันจะชัดเจนขึ้นเป็นลำดับๆ ไป หลวงพ่อสอน มันค่อนข้างออกไปไกลหน่อย เพราะว่าพวกเราในห้องนี้ มันมีหลายระดับ คนหัดใหม่ฟังก็เข้าใจที่หลวงพ่อสอน พอเข้าใจไประดับหนึ่ง คนที่ภาวนาได้แล้ว ก็เข้าใจไปอีกระดับหนึ่ง ในประโยคเดียวกันนั่นล่ะ แต่ความรู้ความเข้าใจมันจะไม่เท่ากัน

พระอาจารย์อ๊าชอบบ่นบอกว่า “โอ๊ย ไปเทศน์ไม่รู้จะเทศน์อะไรแล้ว เทศน์ทีไรเหมือนกันทุกที” บอก “ไม่ต้องกลัว เทศน์เหมือนกันทุกวันก็ไม่เป็นไร เพราะคนฟังไม่เคยเหมือนกันสักวัน ความรู้ความเข้าใจของเขา มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ” เพราะฉะนั้นฟังแล้วฟังอีก ไม่เสียอะไรหรอก ที่จริงถ้าฟังเป็น ไม่ต้องฟังเยอะหรอก ฟังพุทโธตัวเดียวก็จบได้ แต่ความเข้าใจค่อยๆ พัฒนา ทีแรกที่ให้พุทโธ ไปท่องพุทโธๆ ไปเรื่อยก็สงบ ต่อมาก็พัฒนาอีก บอกไปพุทโธแล้วรู้ทันจิตใจตัวเอง พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจไป มันก็ขึ้นมาเดินปัญญาได้ เห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตใจไป

สิ่งที่เรียกว่าพุทโธ ที่เราท่องทีแรก มันแค่ความคิด ไม่ใช่พุทโธตัวจริง พุทโธตัวจริง ก็คือตัวจิตของเรานั่นเอง พอพุทโธไปเรื่อย จิตเราก็ตั้งมั่นเด่นดวง เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา แล้วถึงจุดนั้น เราท่องพุทโธ เราจะรู้เลยว่ามันเป็นภาระ แล้วก็ตัวจิตเองก็เป็นตัวเป็นภาระ ขันธ์ทั้ง 5 ก็เป็นภาระ ฉะนั้นจิตมันก็วางขันธ์ พุทโธตัวเดียว ทำให้ได้ตลอดสายเลยก็ยังได้ ฉะนั้นความเข้าใจธรรมะ ฟังแล้วฟังอีก แล้วปฏิบัติไป ความรู้ความเข้าใจแต่ละช่วงเวลานั้น จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะจริงๆ มันเป็นอย่างนั้น ฟังอันนี้ก็นึกว่าเข้าใจ ภาวนาไปอีก เฮ้ย ที่เคยเข้าใจไม่ใช่หรอก แต่ไม่ผิดหรอก แต่มันมีที่ถูกมากขึ้นๆ เพราะถ้าถูกจริง ถูกแท้ มันจะวาง ถ้าจิตมันเข้าใจถูกต้อง แล้วมันจะวาง เกิดอาการวางขึ้นมา ปล่อยวาง ไม่ได้เอาไว้

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
28 ตุลาคม 2566