สังคมมันเปลี่ยนเร็วมาก มันเปลี่ยนหลักๆ มา 2 รอบแล้ว ช่วงที่วิถีชีวิตการทำมาหากินอะไรเปลี่ยนครั้งใหญ่เลย ตรงที่เรามีระบบดิจิทัลเข้ามา เทคโนโลยีเปลี่ยน วิถีชีวิตก็เปลี่ยน ตอนนี้มีโรคระบาดมาก วิถีชีวิตเราก็เปลี่ยนไปอีก บางคนก็นึกเสียดายอดีต เมื่อก่อนสบาย อยู่ที่ไหนก็มีความสุข ในน้ำมีปลาในนามีข้าวอะไร อยากเที่ยว อยากเล่น อยากทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ สังคมที่ทำได้อย่างเก่ามันทำไม่ได้แล้ว ทำอย่างเก่าไม่ได้
เมื่อก่อนเราอยู่กับพื้น บ้านเราอยู่ติดพื้น เดี๋ยวนี้ก็ขึ้นไปอยู่บนตึกสูงๆ กัน วัฒนธรรม แบบแผน การดำเนินชีวิตของคนที่อยู่กับพื้นดิน กับคนที่อยู่ตึกสูงมันไม่เหมือนกัน ถ้าเอานิสัยของคนที่อยู่ข้างล่างนี้ไปใช้บนตึกสูง คงวุ่นวาย อย่างอยู่ข้างล่าง นึกอยากทำอะไรก็ได้ มันไม่กวนใคร อยู่ห่างๆ กัน มันกลายเป็นชีวิตอีกชนิดหนึ่งขึ้นมา ตึกบางตึกคนอยู่เยอะกว่าคนหมู่บ้านหนึ่งเสียอีก ฉะนั้นมันก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนอะไรไป
พอเกิดโรคระบาดก็ต้องเปลี่ยนอีก จะมาคร่ำครวญหาอดีตอะไรนี่ไม่มีประโยชน์อะไร มันผ่านไปหมดแล้ว มันอยู่ที่ว่าปรับตัวได้ไหม ถ้าปรับตัวได้ก็อยู่รอดได้ ปรับตัวไม่ได้ก็อยู่รอดไม่ได้ อย่างการทำมาหากินอะไรพวกนี้ ก็ต้องปรับตัว คนไทยชอบบ่นว่าว่างงาน แต่เราว่างงานเยอะ ที่จริงไม่ทำงาน ถ้าว่างงานจริง ถ้าคนไทยไม่มีงานทำ ทำไมเราต้องรับคนต่างด้าวเข้ามาเป็นล้านๆ มาทำงาน มันมีตำแหน่งงานแต่เราไม่ทำอะไรอย่างนี้ อยากอยู่กันสบายๆ มีเงินเยอะๆ บริโภคเยอะๆ เรียนจบใหม่ก็เรียกร้องเงินเดือนเยอะๆ ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความสามารถอะไรเท่าไหร่ ไม่ได้เยอะๆ ก็ไม่เอา ไม่ทำอะไรอย่างนี้ พวกนี้ยังปรับตัวเข้ากับสังคมสมัยใหม่ไม่ได้ ไม่ยอมทำงาน ค่าครองชีพมันก็สูงแต่งานการไม่อยากทำ ก็จะอยู่กันยาก คนรุ่นหลังๆ อ่อนแอ เป็นคุณหนูทั้งนั้นเลยส่วนใหญ่ คนไทยเราเลี้ยงลูกออกมาเป็นคุณหนูหมด แล้วคุณหนูปรับตัวไม่เป็น ชาร์ลส์ ดาร์วิน แกรู้มาตั้งนานแล้วว่า ปรับตัวไม่ได้ก็สูญพันธุ์ไป
พวกเราชาวพุทธเราก็รู้วิธีดำเนินชีวิตอย่างมีเหตุมีผล แต่เดิมคนไทยเราทำมาหากินอะไรลำบาก คนชอบวาดภาพว่าคนสมัยก่อนสบาย เขาไม่สบายหรอก ทำมาหากินทำไร่ทำนาอะไร ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหนื่อยเสี่ยงสูง ทำนาบางปีก็ได้ข้าวบางปีก็ไม่ได้ข้าว ยิ่งถ้าบริโภคมากก็หนี้สินมาก ในที่สุดก็เสียที่ดินไป มีสมบัติก็ขายไปเรื่อยๆ จริงๆ แล้วถ้ามีธรรมะอยู่ มันก็จะรู้จักว่าแค่ไหนพอดีที่จะอยู่ได้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านพูดเรื่องพอเพียง พอเพียงก็เป็นหัวใจอันหนึ่งของธรรมะตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง ถ้าเราไม่รู้จักพอ เราต้องการบริโภคเกินกำลังการผลิต เราก็เป็นหนี้ก็แค่นั้นเอง พระพุทธเจ้าก็บอก “ความไม่มีหนี้ดี ความมีหนี้เป็นทุกข์ในโลก” เราก็ไปสร้างค่านิยมว่าเป็นหนี้ดี ถือว่ามีเครดิต เพราะฉะนั้นชีวิตก็เลยต้องเหนื่อยดิ้นรนหาเงินกัน บางคนก็หาเป็น บางคนก็หาไม่เป็นขอพ่อขอแม่ไปเรื่อยๆ เด็กๆ ก็น่าห่วงว่ามันจะอยู่กันอย่างไรวันข้างหน้า
วันข้างหน้าก็ช่างมันเถอะ กรรมของใครของมัน เราก็ภาวนาของเราไป คนไหนมีธรรมะก็จะอยู่ได้ในทุกๆ สถานการณ์ อย่างมีโรคระบาดอย่างนี้ เรามีธรรมะ เราอยู่กับบ้านเรา เราก็อยู่ได้อย่างมีความสุข ความสุขเราไม่ต้องอิงอาศัยคนอื่น ไม่ต้องอิงอาศัยสิ่งอื่น ไม่ต้องออกจากบ้านไปไหนก็ทำมาหากินได้ อยู่ได้ ไม่ต้องวิ่งเต้นอะไร ชีวิตมันรู้จักพอก็สอดคล้องกับสถานการณ์ ไม่ต้องวุ่นวาย ภาวนามีเวลาว่าง เขาให้ทำงานอยู่ที่บ้าน ก็ทำงานไป ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ประหยัดเวลาเดินทางได้ชั่วโมง 2 ชั่วโมงอะไรอย่างนี้ เวลาส่วนที่เหลือก็เอามาภาวนาเสีย ไม่ใช่เอาไปเล่นอินเทอร์เน็ต ปรับตัวมีเวลาภาวนามากขึ้นเสียอีก ไม่ต้องนั่งรถไปทำงาน โรคระบาดเราไม่วุ่นวายไม่ยุ่งกับคนอื่น มันก็ระบาดเราไม่ได้หรอก โรคติดต่อเราไม่ติดต่อกับใคร มันก็มาติดต่อเราไม่ได้ พยายามอยู่กับตัวเอง เอาเวลามาภาวนาให้มากๆ
การภาวนาถ้าเริ่มต้นก็ถือศีล 5 ไว้ จะถือศีล 5 ได้ดีก็อย่าไปดูอินเทอร์เน็ตเยอะนัก เห็นเขาเขียนอะไรมาก็คอมเมนต์กัน ด่ากันไปด่ากันมา มันผิดศีล จิตใจก็ฟุ้งซ่าน มีแต่ทะเลาะกัน เรื่องจริงก็มี เรื่องโกหกก็เยอะอะไรอย่างนี้ มันมุสาวาทเต็มไปหมด ฉะนั้นเราตั้งใจรักษาศีล คนอื่นไม่รักษาก็เรื่องของเขา เรารักษาของเราไว้ให้ได้ รักษาศีล ปฏิบัติธรรม เราก็ฝึกของเราไป ไม่ต้องโฆษณาหรอก ถ้าคนอื่นมันรู้ว่าเราถือศีลอะไรอย่างนี้ มันชอบหัวเราะเยาะ มันชอบชวนให้เราผิดศีลผิดธรรม สังคมมันเป็นอย่างนั้น เป็นแบบนี้มานานแล้ว
หลวงพ่อตอนเป็นโยมทำงาน ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่อะไรอย่างนี้ ไม่เที่ยว บางคนก็มาบอกให้ไปเที่ยวบ้าง ไปเฮฮาไปกินเหล้า ไปสังสรรค์อะไรอย่างนี้ บางทีก็จำเป็นต้องไปก็ต้องไป เขาตั้งวงกินเหล้า เราจะถือศีลของเราได้อย่างไรท่ามกลางคนที่กินเหล้า เขากินเหล้า เราก็กินกับไป ไม่ต้องไปว่าเขาหรอก ไม่ต้องไปขึ้นธรรมาสน์เทศน์ว่ากินเหล้าไม่ดี ก็เขากินกันทั้งวง บางทีหลวงพ่อก็กลมกลืน กินโซดา เหยาะโค้กเข้าไป 2-3 หยด เหมือนวิสกี้เปี๊ยบเลย นั่งกลืนๆ ไปกับเขา ก็ดูเขาคุยโน่นคุยนี่ หาสาระแก่นสารไม่ได้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่มีสาระแก่นสาร เรามีสาระแก่นสารอยู่ได้ เราก็ภาวนาของเราไป เขาหัวเราะเราก็หัวเราะกับเขาไป บางทีเราหัวเราะอะไร เรื่องที่เขาเล่าเราไม่ขำหรอก ส่วนใหญ่ก็เรื่องลามกอะไรอย่างนี้ เราหัวเราะคนที่หัวเราะ ดูมันตลกดีอะไรอย่างนี้
ถือศีลก็ต้องถือฉลาด ถือเอาไว้โอ้อวดว่ามีศีลก็จะมีเรื่องกับคนอื่น ศีลเราก็ด่างพร้อยง่าย นั่งสมาธิเดินจงกรมอะไร หลวงพ่อก็ไม่ทำให้คนรู้หรอก อย่างไปที่ทำงานนี่ กินข้าวกลางวันแล้วก็เดิน เดินไปวัดใกล้ๆ ที่ทำงานนี่ ที่จริงคือเดินจงกรมนั่นล่ะ เดินไปด้วยความรู้สึกตัว ทุกก้าวที่เดินมีความรู้สึกตัวอยู่ เห็นรูปมันเดิน ใจเป็นคนรู้ พอเดินไปถึงวัดก็ไปยกมือไหว้พระทีหนึ่ง ไหว้ที่โบสถ์ มีเวลามากก็เข้าไปไหว้ข้างใน อย่างถ้าไปวัดเบญจมบพิตรอะไรอย่างนี้ ไปไหว้พระชินราช ถ้ามีเวลาพอก็เข้าไปไหว้ได้ ถ้าไปอีกฝั่งหนึ่งข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไป อยู่ทำเนียบรัฐบาล ไปทางวัดโสมนัส อะไรอย่างนี้ โบสถ์เขาไม่เคยเปิดหรอก ก็ไหว้หน้าโบสถ์ ก็เดินกลับ ก็เดินจงกรม แล้วคนเขาถามไปไหนทุกวันๆ ถ้าเราบอกว่าเดินจงกรม เขาก็จะว่าเราบ้า บอกไปไหว้พระ เขาก็แค่ขำๆ โอ้ ตานี่มันชอบไหว้พระ นานๆ เขาก็ชินเอง นี่กลืนๆ อยู่กับโลก เราไม่ทะเลาะกับโลกหรอก แต่ถ้าเราไม่ระวัง โลกมันทะเลาะกับเรา มันจะว่าเราบ้า พระพุทธเจ้าท่านก็บอก เราไม่ทะเลาะกับโลก แต่โลกมันพร้อมจะทะเลาะกับเรา
ภาวนามันเป็นเรื่องงานของใจ ภาวนาอยู่ที่จิตที่ใจของเรา ใครมันจะมารู้ ยกเว้นพวกที่เขามีญาณทัศนะเฉพาะตัว เราภาวนาอย่างไรเขาก็รู้ บางทีเขาไม่เจอเราหรอก เขายังรู้เลยว่าเราภาวนาอย่างไร อย่างครูบาอาจารย์ท่านก็เคยเล่า แต่ก่อนหลวงพ่อรู้จักครูบาอาจารย์องค์หนึ่งชื่อ อาจารย์ทองอินทร์ เป็นลูกศิษย์รุ่นใหญ่ของหลวงปู่สิมเลยคุ้นกับท่าน คุยธรรมะกันรู้เรื่อง ท่านก็เล่าให้ฟังว่าสมัยบวชใหม่ๆ ท่านออกธุดงค์ไปจิตท่านเกิดราคะ แต่จิตท่านมีราคะ มันห้ามไม่ได้ยังหนุ่มอยู่ ฮอร์โมนเพศมันทำงานขึ้นมา จิตก็เกิดราคะขึ้นมา พอมีราคะแล้วบอกผีมันมาบีบคอท่านเลย ทำอย่างไรมันก็ไม่หาย แก้มันไม่ได้ นึกถึงหลวงปู่ เห็นหลวงปู่เหาะมาลอยมา ผีมันก็หนีไป กลับมาหาหลวงปู่ หลวงปู่สิมกลับมาโดนเฉ่งเลยว่า ไปภาวนาคิดแต่เรื่องไม่ดี ผีมันก็จะหักคอสิ ไม่ทันจะส่งการบ้านเลย โดนแล้ว
ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าๆ ท่านเก่งจริง มีโยมไปภาวนาด้วยกัน ไปวัดกับหลวงพ่อ หลวงปู่ หลวงปู่เทสก์ ท่านชรา ช่วงท้ายๆ ท่านก็ไม่ได้ออกมาเดินข้างนอกให้คนเห็นเท่าไหร่ มีออกมารับบาตรที่โรงครัวหน่อยหนึ่ง พออายุเยอะขึ้นก็ไม่ได้เดินมา พวกนี้นั่งภาวนากัน ขี้เกียจ กลางคืนขี้เกียจก็ลงไปนอน พอลงไปนอนก็มองเห็น ได้ยินเสียงหลวงปู่ถือไม้เท้าเดินก๊อกๆๆ มายืนอยู่หน้าประตูห้อง ประตูห้องมันก็ปิดอยู่ จริงๆ คือหลวงปู่ไม่ได้ไป เขาเห็นของเขาเอง ไม่กล้าขี้เกียจ คนรุ่นโน้น ครูบาอาจารย์ท่านเข้มแข็ง แล้วคนภาวนาก็เข้มแข็ง ถ้าเราภาวนาเข้มแข็ง เวลาเราทำอะไรไม่ดี หรือเรามีข้อติดขัดเรื่องกรรมฐาน บางทีเราก็มีนิมิตเห็นครูบาอาจารย์มาสอนเรา สอนกรรมฐานให้ แก้กรรมฐานให้
บางทีมีอันตรายก็เห็นครูบาอาจารย์มาช่วย ท่านช่วยไม่ช่วยไม่รู้หรอก นี่ก็ฟังครูบาอาจารย์ท่านเล่าๆ กันมา ใจพอจดจ่ออยู่กับธรรมะ ธรรมะก็คุ้มครอง เวลาเกิดภัยเกิดอันตรายไม่ขาดสติ มีสติอยู่ก็สู้ได้ มีพวกเราคนหนึ่ง ตอนสาวๆ แกเป็นอาจารย์สอนวรรณคดีจีนอยู่ธรรมศาสตร์ งานอดิเรกคือดำน้ำ เป็นครูสอนดำน้ำด้วย ก็พาลูกศิษย์ไปดำน้ำ น้ำทะเล พอปลาฉลามมาอะไรอย่างนี้ คนฝึกใหม่มันตกใจทำอะไรไม่ถูก มันว่ายน้ำไปหาปลาฉลาม ต้องไปลากกลับมาให้อยู่นิ่งๆ นี่ขาดสติก็จะตายเอาง่ายๆ เลย
ฉะนั้นเราพยายามฝึกของเราไปเรื่อยๆ รักษาศีลให้ดี ฝึกสมาธิของเราให้ดี สมาธิเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าสมาธิไม่มีหรือสมาธิมีแต่ไม่ถูกต้อง ไม่สามารถเจริญวิปัสสนาปัญญาได้ ฉะนั้นเราพยายามฝึก อยากให้จิตสงบ ก็หาอารมณ์กรรมฐานที่มีความสุขมาเป็นเครื่องอยู่ ระลึก มีสติระลึกอยู่ในอารมณ์กรรมฐานนั้น จิตก็สงบแนบอยู่กับอารมณ์กรรมฐานนั้น จิตก็ได้สมาธิชนิดสงบ เอาไว้พักผ่อนจะทำให้จิตมีกำลัง จิตกับร่างกายต่างกัน ร่างกายเคลื่อนไหวแล้วมีกำลัง จิตไม่เคลื่อนไหวแล้วจะมีกำลัง ฉะนั้นจิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตจะมีกำลังขึ้นมา
ฝึกสมาธิอีกชนิดหนึ่ง สมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น วิธีฝึกสมาธิที่จิตตั้งมั่นคืออาศัยสติรู้ทันสภาวธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างจิตเราไหลไปคิด นี่คือจิตฟุ้งซ่าน เรามีสติรู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านจะดับ จะเกิดจิตรู้ขึ้นมาแทน ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์เขาเน้นกันตรงนี้ จิตหลงไปคิดแล้วรู้ที่จริงไม่ใช่ จิตหลงคิดก็ใช้ได้เหมือนกัน อย่างจิตโลภขึ้นมาแล้วรู้อย่างนี้ ก็เกิดผู้รู้เหมือนกัน จิตโกรธขึ้นมารู้ก็ได้ผู้รู้เหมือนกัน มีความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ หรือเกิดขึ้นในร่างกาย มีสติรู้ก็เกิดตัวรู้ได้ ร่างกายหายใจออก มีสติ ก็เกิดตัวรู้ ร่างกายหายใจเข้า มีสติ ก็เกิดตัวรู้ ฉะนั้นตัวรู้จริงๆ อาศัยสติรู้สภาวธรรมถูกต้อง สภาวธรรมใดปรากฏอยู่ ก็รู้ว่ามีสภาวะอันนั้นปรากฏอยู่ จิตผู้รู้ก็เกิดขึ้น แต่ตรงที่เรามีสติรู้ตัวสภาวะที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งรูปธรรมนามธรรม เราได้สมาธิ
ส่วนที่จะได้วิปัสสนาปัญญามันต้องเห็นว่า สภาวธรรมที่ปรากฏอยู่นั้นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สภาวธรรมทุกๆ ตัวมีลักษณะร่วมกันคือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ลักษณะร่วมภาษาแขกเขาเรียก สามัญลักษณะ ส่วนลักษณะเฉพาะตัว เช่น รูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน ไม่เหมือนกัน ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมอะไรอย่างนี้ ไม่เหมือนกัน สุข ทุกข์ ไม่เหมือนกัน โลภ ไม่โลภ โกรธ ไม่โกรธ หลง ไม่หลง ฟุ้งซ่าน หดหู่อะไรอย่างนี้ แต่ละตัวๆ ไม่เหมือนกัน แต่ละตัวมีลักษณะเฉพาะของตัวเองเรียกว่า วิเสสลักษณะ เป็นลักษณะพิเศษ เรามีสติบ่อยๆ มีสภาวะอะไรเกิดขึ้นเราจะรู้ ทำไมเรารู้ว่าตอนนี้ความโลภเกิดขึ้น เพราะความโลภมีลักษณะเฉพาะของมันที่ทำให้เรารู้ว่า ความโลภหน้าตาเป็นอย่างนี้ ความโกรธเกิดขึ้นเรามีสติรู้ทัน ทำไมเรารู้ได้ เพราะความโกรธก็มีลักษณะเฉพาะของความโกรธ ตรงที่เราเห็นลักษณะเฉพาะของสภาวะแต่ละตัวๆ ทำให้เราเห็นว่าสภาวธรรมแต่ละตัวไม่เหมือนกัน เดี๋ยวก็เป็นตัวนี้ๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
พอเราเห็นสภาวะแต่ละตัวเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ต่อไปเราก็จะเห็นลักษณะร่วมของทุกๆ สภาวะ เราจะเห็นลักษณะร่วมอย่างไร เช่น ความโลภเกิดแล้วก็ดับ ความโกรธเกิดแล้วก็ดับ ความฟุ้งซ่านหดหู่เกิดแล้วก็ดับ ความดีความชั่วอะไรเกิดแล้วดับหมดเลย เพราะฉะนั้นสภาวะที่มีแล้วก็ไม่มีนี่ เป็นลักษณะร่วมของสังขาร ของรูปธรรมนามธรรมทั้งปวง มันมีแล้วมันก็ไม่มี มันมีแล้วมันก็ไม่มี ฉะนั้นแต่ละตัวมีลักษณะของตัวเอง ทำให้เรารู้ว่า มันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ มันดับไป แต่ตรงที่เราเห็นว่าทั้งหมดทั้งมวลนั้น ทุกๆ ตัวนั้น มีลักษณะร่วมกันว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนั้นเรียกว่าเห็นสามัญลักษณะ
จะทำวิปัสสนากรรมฐานต้องเห็นสามัญลักษณะ เพราะฉะนั้นเวลาบรรลุมรรคผลจะไม่ได้บรรลุเพราะว่า เห็นว่าจิตโลภเกิดแล้วดับ จิตโกรธเกิดแล้วดับหรอก แต่จะเห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา คือเห็นภาพรวมเลย ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ ตรงที่เห็นว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่แล้วก็ไม่มี เรียกเห็นอนิจจัง เห็นสิ่งซึ่งกำลังมีอยู่ กำลังถูกบีบคั้นให้หมดไปสิ้นไป นั่นเรียกว่าเห็นทุกขัง เห็นทุกขตา ทุกขลักษณะ เห็นว่าสิ่งทั้งหลายจะมีหรือสิ่งทั้งหลายจะตั้งอยู่ หรือสิ่งทั้งหลายจะดับไป มีขึ้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ใช่เพราะใครสั่ง แต่เป็นเพราะมีเหตุ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ อันนั้นเรียกว่า เราเห็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นลักษณะร่วมของสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวง ยกเว้นพระนิพพานเท่านั้น นอกนั้นเรียกว่าสังขตธรรม ธรรมซึ่งมันยังมีเหตุมันก็เกิด ถ้าเหตุมันดับ มันก็ดับ เราเฝ้ารู้เฝ้าดู เรียนสิ่งที่เกิดดับ ถึงจุดหนึ่งจะเจอสิ่งที่ไม่เกิดไม่ดับคือพระนิพพาน พระนิพพานไม่ได้มีไตรลักษณ์ในด้านอนิจจัง ทุกขัง แต่มีเอกลักษณ์อันเดียว คือเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับของใครทั้งสิ้น ไม่มีเจ้าของ ไม่มีใครครอบครองได้
ก็หัดรู้ ทีแรกเราก็รักษาศีล 5 ไว้ แล้วก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่จิตอยู่กับกรรมฐานนั้นแล้วมีความสุข จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นแล้วก็สังเกตไป เวลามีสภาวะอะไรเกิดขึ้น ทีแรกมันก็ตั้งว่างๆ อยู่ ต่อมามันมีความคิดผุดขึ้นมา คิดเรื่องนี้เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่วอะไร มีสติรู้ทันเข้าไปอีก เราจะเห็นเลยสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้นตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
ในที่สุดจิตมันก็สรุปรวบยอดว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา ตรงที่มันรู้รวบยอดนั้นเรียกว่า มันมีดวงตาเห็นธรรม ดวงตาเห็นธรรมไม่ใช่ว่าเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสอะไรแค่นั้น ดวงตาเห็นธรรมก็คือเห็นธรรมดาของสภาวธรรมทั้งหลาย ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนอะไรของเราหรอก เป็นสิ่งที่มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้นดวงตาเห็นธรรมนี่ ไม่ใช่เห็นอย่างโน้นไม่ได้เห็นอย่างนี้ แต่เป็นความรู้รวบยอด ว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ ก็เท่านั้นเอง
ค่อยๆ ฝึกไป ทีแรกเราก็รู้สึกว่าร่างกายจิตใจนี้คือตัวเราของเรา พอเราหัดภาวนา สติปัญญามันมากขึ้น มันก็จะเห็นร่างกายมันไม่ใช่ตัวเราหรอก มันเป็นร่างกายของเรา แต่จิตใจมันยังเป็นตัวเราอยู่ ภาวนามากขึ้นไปอีก ถึงจุดหนึ่งมันจะเห็นว่าจิตใจก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่มีตัวเราตรงไหนเลย ตรงนั้นเราได้ธรรมะ เราได้ธรรมะแล้ว ไม่มีตัวเราของเราตรงไหนเลย
ฟังแล้วยาก แต่ลงมือทำทุกวันๆ ถึงเวลามันก็ได้ของมันเอง เหมือนที่บอกเมื่อวาน เหมือนกินข้าว มีหน้าที่กินก็กินไป ถึงเวลามันก็อิ่มของมันเอง ที่อิ่มตรงนี้ไม่ใช่อิ่มท้อง มันอิ่มที่ใจ ใจมันเห็นความจริง มันยอมรับในความจริง มันก็ไม่กระเพื่อมหวั่นไหวกับสิ่งไม่จริง สิ่งไม่จริง เช่น อยากได้สุขถาวร ที่ดิ้นรนแทบเป็นแทบตายทุกวันนี้ ล้วนแต่อยากมีความสุขถาวรทั้งนั้น อยากจะหนีจากความทุกข์อย่างถาวร หนีชั่วคราวก็ยังไม่พอใจ อยากหนีถาวร มันก็ไม่มีจริงอีก ของถาวรไม่มีในโลก สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ สิ่งทั้งหลายเกิดแต่เหตุ เมื่อเหตุดับตัวมันก็ดับ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา
เฝ้ารู้เฝ้าดูของจริง ของจริงก็คือรูปธรรมนามธรรม นี่เป็นของจริง รู้ไปจนเห็นความคือเห็นสามัญลักษณะ เห็นว่าสภาวธรรมทั้งหลายล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอเห็นอย่างนี้ มันจะรู้เลยว่าตัวตนที่แท้จริงไม่มี ที่คนในโลกมันทะเลาะกัน มันเซลฟ์จัด มันอะไรนี่ มันเป็นเรื่องตัวตนทั้งนั้น ฉะนั้นจริงๆ ตัวตนมันไม่มีหรอก มันเกิดขึ้นมาเป็นคราวๆ เมื่อเราไปหมายรู้สภาวะแบบผิดๆ มีสัญญาวิปลาส พอมีสัญญาวิปลาส เราก็เกิดจิตตวิปลาส เกิดความคิดผิด ทีแรกเราหมายรู้ผิดแล้วก็คิดผิด สุดท้ายเราก็เกิดทิฏฐิวิปลาส เกิดความเห็นผิด
ในโลกนี้เต็มไปด้วยคนวิปลาส วิปลาสไม่ได้แปลว่าบ้า วิปลาสหมายถึงมันคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง คนในโลกนี้เต็มไปด้วยความเห็นผิด เห็นของไม่ใช่ตัวเราว่าเป็นตัวเรา แล้วก็อยากได้ของซึ่งมันไม่เที่ยงให้มันเที่ยง อยากให้ของที่มันเป็นทุกข์หมดไปสิ้นไป ให้มีแต่ความสุข ปฏิเสธความจริงคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยังปฏิเสธอยู่เพราะว่ายังไม่เข้าใจธรรมะ
เพราะฉะนั้นต้องเรียน พาจิตมาเรียนรู้ความจริงของรูปธรรมของนามธรรมทั้งหลายทั้งปวง ดูแล้วดูอีก บางคนเคยอบรมปัญญามาแต่ชาติก่อนๆ ชาตินี้พอมีสติขึ้นมา รู้สภาวะที่กำลังปรากฏ มีจิตตั้งมั่นขึ้นมา ปัญญามันก็เกิดอย่างรวดเร็ว ในที่สุดโลกุตระปัญญามันเกิด มันเห็นเลย สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ ฉะนั้นจริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนเลย ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวเราในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่มีตัวเรานอกเหนือจากขันธ์ 5 อีก ไม่มีตัวเราที่ไหนเลย มันจะเห็นแจ่มแจ้งอยู่อย่างนี้
ในเมื่อขันธ์ 5 ไม่เป็นตัวเราแล้ว เป็นที่อาศัยอยู่ของจิต เวลาขันธ์ 5 แปรปรวนขึ้นมาจิตใจของเรามันยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันก็กระเพื่อมหวั่นไหว เห็นอยู่แล้วไม่มีตัวเรา ไม่มีของเรา มีแต่ของยืมโลกมาใช้ ร่างกายนี้เราก็ยืมโลกมาใช้ ยืมวัตถุ เบื้องต้นยืมจากพ่อจากแม่ คนละครึ่งเซลล์ แล้วก็มายืมอาหาร ยืมอากาศ ยืมน้ำของโลกมาใช้ มันจะเห็นว่าขันธ์ 5 มันเป็นของที่ยืมมา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของยืม ยืมมานานก็หวง ไม่ยอมคืนเจ้าของ พอเจ้าของทวงจิตชักจะหวั่นไหวเหมือนกัน
แล้วภาวนาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นขันธ์ 5 นอกจากมันไม่ใช่ตัวเรา ตอนเป็นพระโสดาบันนี้จะเห็นขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา เป็นของที่ยืมโลกมาใช้ แต่พอปัญญาแก่กล้าขึ้น มันรู้มากกว่านั้นอีก ขันธ์ 5 นอกจากไม่ใช่ตัวเราแล้ว มันยังเป็นตัวทุกข์ มันจะเห็นว่าขันธ์เป็นตัวทุกข์ มันจะเริ่มเห็นตัวรูปขันธ์ก่อน มันจะเห็นรูปขันธ์เป็นตัวทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์ หายใจออกก็ทุกข์ ยืนก็ทุกข์ เดินก็ทุกข์ นั่งก็ทุกข์ นอนก็ทุกข์ เคลื่อนไหวมากไปก็ทุกข์ หยุดนิ่งมากไปก็ทุกข์ ร่างกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ เดี๋ยวหิว เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวกระหายน้ำ เดี๋ยวปวดอึ เดี๋ยวปวดฉี่ เดี๋ยวก็เจ็บไข้ เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ สุดท้ายก็ตาย ฉะนั้นร่างกายนี้เป็นตัวทุกข์จริงๆ มันเห็นเอง
ภาวนาปกติของเรานี่ล่ะ ดูสภาวะเกิดดับไปเรื่อยๆ ปัญญาเบื้องต้นมันจะเห็นมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ปัญญาระดับกลางมันจะเห็นตัวรูป ตัวร่างกายอะไรนี่เป็นตัวทุกข์ นอกจากไม่ใช่ตัวเราแล้วยังเป็นตัวทุกข์อีก พอมันเป็นตัวทุกข์นี่ ความรักความหวงแหนในกายมันก็จะหมดไป ถ้าจะต้องคืนเจ้าของก็คืนได้อย่างหน้าตาเฉย ฉะนั้นเวลาจะตาย หน้าตาเฉยเลยพระอนาคามี เพราะว่าตัวทุกข์มันจะแตกแล้ว สมน้ำหน้ามัน ไม่ได้เสียอกเสียใจอะไร อย่างพระโสดาบันรู้แล้ว ขันธ์ 5 นี่ยืมโลกมาใช้ ถึงพระอนาคามีจะรู้เลย ตัวรูป รูปขันธ์นี่เป็นตัวทุกข์
อะไรที่ประกอบกันเป็นรูป ก็ตา หู จมูก ลิ้น กายนี้เป็นตัวรูป ตามันทุกข์ไหม ต้องกระพริบตาปริบๆๆ อยู่ตลอดเวลา ตรงที่กระพริบตานี่แก้ตาเจ็บ ตาแดงนี่ตัวนี้ไม่ใช่จักษุประสาท ไม่ใช่ตัวตา มันเป็นตัวกาย อย่างถ้าคนเอาไม้มาทิ่มตาเราเป็นสัมผัสทางตาหรือสัมผัสทางกาย เอาไม้มาแทงตาเราเป็นสัมผัสทางกาย สิ่งที่เรียกว่าตาจริงๆ ก็คือประสาทตา สิ่งที่เรียกว่า หู จริงๆ คือประสาทหู แล้วก็ทั้งตัวเรา อย่างกระทั่งในลูกตา มีประสาททางกายอยู่ กายประสาท ฉะนั้นทิ่มลูกตานี่เจ็บนั้นเจ็บทางกาย
เรียนรู้ลงในกายจะเห็นเลย ไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย ประสาทตาเที่ยงหรือไม่เที่ยง ถ้าประสาทตาเที่ยงก็ไม่มีคนสายตายาว สายตาสั้น ตาสั้นแค่นี้ อยู่ไปนานๆ ตาสั้นมากขึ้น ความรับรู้ทางตานี่แปรปรวนไปเรื่อยๆ บางทีก็ประสาทหลอนทางตา เห็นผี เห็นสาง เห็นโน่นเห็นนี่ สารพัดจะเห็น ประสาทหลอน ก็เห็นไป บางทีหู พอแก่ลงมาหูตึงแล้วไม่ค่อยจะได้ยินแล้ว ประสาทหูมันก็ไม่เที่ยง ประสาทจมูกก็ไม่เที่ยง ประสาทลิ้นก็ไม่เที่ยง อย่างคนแก่ประสาทลิ้นมันก็รับรสได้ยากขึ้น เด็กๆ กินอะไรก็อร่อย พอแก่แล้วกินอะไรก็ไม่ค่อยจะอร่อยแล้ว ความรับรู้ทางลิ้น ประสาทลิ้นมันเสื่อม แต่ประสาทสัมผัสทางกาย ตัวกายมันเสื่อมช้า จะเสื่อมช้ากว่าจิต จิตนี่เกิดดับๆ ถี่ยิบเลย แต่ทางกาย ตัวรูปอายุมันยืนกว่าตัวจิต แต่ถามว่ามันเสื่อมไหม มันก็เสื่อม
เฝ้ารู้เฝ้าดูไป พวกเราบางคนอาจจะสงสัย เราดูจิต ดูจิตแล้วเราจะเห็นว่ากายเป็นตัวทุกข์ได้หรือ ดูแล้วเห็นได้ เราดูจิตมาตั้งแต่เริ่มต้น พอถึงจุดที่สมควรแก่ธรรมะแล้ว มันจะเห็นของมันเองว่ากายนี้เป็นตัวทุกข์ จิตเป็นตัวไม่ทุกข์ แต่กายเป็นตัวทุกข์ มันจะเห็นอย่างนี้ ภาวนาไปเลยแล้วมันจะรู้ว่า จิตอยาก จิตยึด จิตทุกข์ จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ พวกที่ดูจิตมันจะเห็นตรงนี้ จิตอยาก อยากอะไร อยากเห็นรูป อยากได้ยินเสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้สัมผัส มีความอยากที่จะเสพอารมณ์ทางทวารทั้ง 5 ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แค่มีความอยากเกิดมันก็ทุกข์แล้ว ยังไม่ทันจะดูเลยว่ารูปสวยไม่สวย แค่อยากดูรูปก็ทุกข์แล้ว ก็เห็นแล้ว ฉะนั้นใจมันก็ไม่มีกาม ไม่มีปฏิฆะ มันก็วางไป กายนี้หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้เลย
แต่เดิมเรารักร่างกาย เรารักตาของเรามากเลย เพราะว่าเราคิดว่าตานำความสุขมาให้ พาเราดูรูปสวยๆ ได้ เรารักหู เพราะคิดว่าหูนำความสุขมาให้ ที่จริงมันนำมาทั้งสุขทั้งทุกข์ เวลาถูกด่านี่มันก็ได้ยินมาทางหู มันก็ไม่ได้มีความสุข จมูกได้กลิ่น รักจมูกมากเลย เพราะจมูกนำความสุขมาให้ ทำให้เราได้กลิ่นที่ชอบใจ รับกลิ่นที่ชอบใจได้ ก็รับกลิ่นที่ไม่ชอบใจได้ใช่ไหม นี่มันบกพร่องอยู่เป็นนิจ มันจะเห็นเลยว่า การแสวงหาความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กายนี่ ไม่มีสาระแก่นสาร มันทำให้ใจกระเพื่อมหวั่นไหวโดยใช่เหตุ ใจยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสอย่างนี้ เรานึกว่าดีวิเศษนักหนา ที่จริงเป็นภาระของจิต ก็ไม่ได้มีความสุขอะไรจริง
แล้วภาวนาเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งมันก็ปล่อยวางกายไป เพราะกระทั่งตา หู จมูก ลิ้น กายยังนำความสุขมาให้ไม่ได้เลย แต่มีแต่นำภาระมาให้ ความรักในตา หู จมูก ลิ้น กายมันก็หมดไป ความรักความยึดถือในกายมันก็หมดไป เพราะสิ่งที่เรียกว่ากายก็ประกอบด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย พอวางได้มันก็สบาย ก็จะเห็นเลยว่าจิตอยาก จิตยึด จิตทุกข์ จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ มันไปเห็นตรงนั้น
อยากอะไร อันนี้หมายถึงอยากในกามคุณอารมณ์ อยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ 5 อันนี้ ที่เหลือถัดจากนั้นเป็นเรื่องงานของจิตล้วนๆ เลย ก็ไปภาวนาไป เราเห็นว่าจิตอยาก จิตยึด จิตทุกข์ จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ ภาวนาหนักๆ เข้ามันจะพบว่า จิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ จะอยากหรือจะไม่อยาก จะยึดหรือไม่ยึด จิตก็คือตัวทุกข์โดยตัวของตัวเอง ถ้าเห็นถึงตรงนี้ จิตจะปล่อยวางจิต ตรงนี้ที่หลวงปู่ดูลย์สอน “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง”
ทำลายผู้รู้พูดง่ายแต่ทำยาก ปล่อยวางมาเป็นลำดับๆ ทีแรกวางความเห็นผิด พระโสดาบันไม่ได้ทำอะไรมาก พระโสดาบันวางความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นตัวเราของเรา พอมาถึงพระอนาคามีนี่วางความยึดถือในกาย ถ้าจะเป็นพระอรหันต์ต้องวางความยึดถือในจิต เพราะฉะนั้นไม่เหมือนกันระหว่างความเห็นผิดกับความยึดถือ คนละอันกัน พระโสดาบันไม่เห็นผิดแล้วแต่ยังยึดถืออยู่ ยึดถือกาย เป็นของที่ยืมโลกมาใช้ก็จริงแต่หวง เพราะคิดว่านำความสุขมาให้ พระสกทาคาก็ยังหวงกาย พระอนาคามีจะเห็นกายนี้มันทุกข์ ไม่เห็นจะดีตรงไหนเลย แล้วภาวนาถึงที่สุดจะรู้ จิตเองก็ตัวทุกข์
จิตที่รับอารมณ์ทุกครั้งทุกข์ทั้งนั้นเลย สุดท้ายมันก็จะวางตัวจิตผู้รู้ลง มันจะเข้าถึงธาตุรู้ ธาตุรู้ตัวนี้ไม่มีขอบเขต มันว่าง ของที่ว่างมันก็ต้องไม่มีขอบเขต ถ้ามีขอบเขตมันก็ไม่ว่าง ยังมีรูปร่างอยู่ มีขอบ มีเขต มีจุด มีดวง มีที่ตั้ง มีการไป มีการมา จิตดวงนี้เป็นจิตที่อิสระ แต่ถามว่าพระอรหันต์มีแต่จิตชนิดนี้หรือ ไม่ใช่ พระอรหันต์ก็ยังมีจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างใจเวลาใจคิดอย่างนี้ ก็ยังมีจิตที่รับรู้ความคิด อันนั้นเป็นส่วนของขันธ์ ขันธ์ก็ยังเป็นขันธ์อยู่นั่นล่ะ ขันธ์มันยังไม่ถึงเวลาแตกดับ แต่อมตะธาตุ อมตะธรรม สุญญตาที่มันแจ่มแจ้งอยู่ในใจ ตัวนี้ไม่ตาย
ครูบาอาจารย์อย่างสมเด็จญาณสังวรฯ ท่านเรียกตัวนี้ว่ามันเป็นวิญญาณธาตุ มันเป็นธาตุ ธาตุมันก็ไม่ได้ตายไป ขันธ์มันตายไป แต่ตรงนี้ถ้าฟังไม่ดี จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างรวดเร็วเลย คิดว่าพระอรหันต์นิพพานแล้วยังเหลืออะไรอยู่ พระอรหันต์ไม่คิดหรอกว่าเหลืออะไรอยู่ ถ้าถามว่าพระอรหันต์รู้สึกอย่างไร ก็จะรู้สึกว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ท่านไม่ได้สำคัญมั่นหมายธรรมธาตุหรือว่าวิญญาณธาตุอะไรนั่นหรอก ไม่ได้เข้าไปเพื่อความยึดถืออันนั้น แค่เห็น แค่สัมผัส
ค่อยๆ ภาวนาไป ตอนนี้มีโรคระบาด อยู่บ้านก็ภาวนาไปตามชั้นตามภูมิของเรา ไม่ต้องรีบบรรลุอะไรหรอก ภาวนาให้เต็มกำลัง สมควรจะได้มรรคผลในระดับใด มันก็ได้ของมันเอง เราสั่งไม่ได้ เลือกไม่ได้ ถ้าเราโลภ เราอยากโน่นอยากนี่ เราจะไม่ได้อะไร เพราะตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตัณหาไม่ใช่เป็นเหตุให้พ้นทุกข์ ฉะนั้นตราบใดที่เรายังอยากโน่นอยากนี่อยู่ ไม่พ้นทุกข์หรอก กระทั่งอยากได้มรรคผลนิพพานก็ไม่พ้น
ฉะนั้นพยายามฝึกตัวเองเรื่อยๆ ไป ต่อไปก็จะเห็นขันธ์มันก็ส่วนขันธ์ ขันธ์ก็ทำหน้าที่ของขันธ์ไป อย่างเมื่อก่อนครูบาอาจารย์หลวงตามหาบัวท่านเทศน์ๆ ท่านเล่าเรื่องท่านบรรลุธรรมะ น้ำตาท่านไหล ไหลออกมาจริงๆ เลย คนเข้าโจมตีท่าน พวกที่เรียนมากคิดมาก โอ๊ย นี่หรือพระอรหันต์ ยังนั่งร้องไห้อยู่เลย ไม่รู้จักปีติ ไม่รู้จักธรรมปีติ เป็นส่วนของขันธ์ มันไม่ใช่ตัวจิตที่บริสุทธิ์อันนั้น คนละเรื่องกัน
หลวงพ่อเคยไปกราบหลวงปู่เหรียญ ไปกับพระอาจารย์อ๊านี่ล่ะ ตอนนั้นพระอาจารย์อ๊ายังไม่ได้บวช ไปกับแม่ชีนี่ก็ยังไม่ได้บวชเหมือนกัน หลวงพ่อได้ 4 พรรษา เข้าไปกราบเรียนธรรมะกับท่าน ท่านเกิดปีติว่าเมื่อก่อนนี้ท่านต่อสู้มายากลำบากมาก เอาชีวิตเข้าแลกเลย ในที่สุดท่านก็บอกท่านก็มาถึงวันนี้ น้ำตาท่านคลอเลย แต่ไม่ถึงขนาดไหลออกมา นี่ถ้าพวกคิดมากเรียนมากก็บอก โอ๊ย ไม่จริงหรอก พระอริยะอะไรนั่งร้องไห้ มันเป็นธรรมปีติ เป็นเรื่องของขันธ์
เอ้า เทศน์อะไรก็ไม่รู้วันนี้ จะพูดเรื่องโควิดกลายเป็นเรื่องธรรมะจนได้ คนมาหาหลวงพ่อไม่มีคุยเรื่องอื่นเลย คุยแต่ธรรมะ มาชวนหลวงพ่อคุยเรื่องอื่น หลวงพ่อไม่ค่อยรู้เรื่องด้วยหรอก คุยเรื่องอื่นแล้วก็รู้สึกเสียเวลา ใครมาเจอหลวงพ่อรู้สึกต้องส่งการบ้าน เจอแล้วก็เครียด แต่ก็ยังอยากเจออยู่ เจอหลวงพ่อแล้วมาเครียดๆ อะไรอย่างนี้ พระอาจารย์อ๊าก็ตั้งข้อสังเกต ครูบาอาจารย์อื่นโยมมาคุยด้วยทั้งวัน ท่านก็คุยได้ แหม หลวงพ่อนี่ทนไม่ไหวเลย บอกหลวงพ่อคุยอยู่เรื่องเดียว เรื่องธรรมะ ใครมาชวนคุยเรื่องอื่น ไม่อยากคุยด้วย รู้สึกเสียเวลา ใครเสียเวลา ก็คนคุยนั่นล่ะเสียเวลา ไฟไหม้บ้านจะคลอกตายอยู่แล้ว ยังไม่รู้ตัว ยังไม่รีบหนี ยังมัวเพ้อเจ้อเล่นโน่นเล่นนี่ ไม่รู้ตัว ไฟจะคลอกอยู่แล้ว ไฟท่วมบ้านแล้วไม่รู้ตัว บ้านอยู่ที่ไหน ขันธ์ 5 นั่นล่ะ ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ยังไม่รู้เลย ไม่รู้ไม่เห็น ยังหลงโลก หลงเพลิน แล้วจะมาชวนหลวงพ่อคุย โลกดีอย่างโน้น โลกดีอย่างนี้ เราไม่เห็นด้วย ขี้เกียจคุย
วัดสวนสันติธรรม
21 กุมภาพันธ์ 2564