ฝึกจิตที่ผ่องใสให้ผ่องแผ้ว

วันนี้วันมาฆบูชา ธรรมะที่พระพุทธเจ้าแสดงในโอวาทปาฏิโมกข์ เราก็ฟังกันมาเยอะแล้ว ที่เป็นใจความคำสอนของพระพุทธเจ้า ละบาปอกุศลทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ฝึกจิตให้ผ่องแผ้ว ธรรมะอื่นๆ ก็อยู่ในเรื่องของพวกนี้ทั้งหมด

เรียนกันมามากแล้วฟังมามากแล้ว อยู่ที่ทำหรือไม่ทำเท่านั้น บาปอกุศลทั้งหลาย จะละก็ต้องละด้วยตัวเราเอง กุศลทั้งหลายจะทำให้ถึงพร้อม ก็ต้องทำเอาเอง จะฝึกจิตให้ผ่องแผ้วก็ต้องฝึกเอาเอง เป็นธรรมะที่ต้องทำเอาเองทั้งหมดเลย ถ้าเราทำบาปอกุศลมาก เราก็มีความทุกข์ มีความเศร้าหมองรอเราอยู่ ทำกุศลก็มีความสะอาดหมดจด มีความสุขรอเราอยู่ จะฝึกจิตฝึกใจให้ผ่องแผ้วต้องฝึกให้หนัก จิตของเราแต่ละวันมีแต่ความวุ่นวาย ยุ่ง ปรุงเรื่องโน้นปรุงเรื่องนี้ เดี๋ยวก็ปรุงชั่วเดี๋ยวก็ปรุงดี เดี๋ยวก็ปรุงความไม่ปรุง อยากจะไม่ปรุง ปรุงความว่างๆ จิตที่มันหลงอยู่กับความปรุงแต่ง มันผ่องแผ้วไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆ ฝึก

ฝึกทีแรกก็ฝึกให้มันผ่องใสก่อน แล้วก็เจริญปัญญาไป จนมันบริสุทธิ์สะอาดผ่องแผ้วจริงๆ ตัวจิตที่มันผ่องใสเป็นจิตธรรมดาของพวกเรา ในขณะที่กิเลสยังไม่เข้ามา พระพุทธเจ้าท่านก็บอกจิตมันมีธรรมชาติเดิมของมัน มันผ่องใส ประภัสสรผ่องใส แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา เห็นไหมกิเลสเป็นของจรมา มาแล้วก็ไปๆ

เราจะฝึกจิตฝึกใจให้ผ่องใส ฝึกจิตให้ประภัสสร ก็อย่าไปหลงตามกิเลสไป ถ้าใจเราไม่ถูกกิเลสครอบงำ ใจมันก็ผ่องใสเอง อย่างเวลาเราฝึกสมาธิ ใจเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา ตรงนี้คือใจที่ผ่องใส เรียกว่าจิตประภัสสร จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตดวงนี้มีได้ทุกคน แต่ว่ามันถูกกิเลสย้อมจนมันหายไป มันแสดงตัวออกมาไม่ได้ กลายเป็นจิตโลภ จิตโกรธ จิตหลงไป ฉะนั้นเบื้องต้นเราก็มาฝึกจิตฝึกใจให้มันผ่องใส ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไป กรรมฐานมีเยอะแยะ จริตนิสัยแต่ละคนไม่เหมือนกัน ก็เลือกทำกรรมฐานที่เราทำแล้ว จิตมันสามารถถอนตัวออกมา จากโลกของความปรุงแต่ง มาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมาได้

อย่างกระทั่งในวัด พระบางองค์ในวัดสวนสันติธรรม หลวงพ่อก็ให้พุทโธ องค์ไหนช่างคิดก็พุทโธๆๆๆ ไปเรื่อยๆ ช่วงไหนฟุ้งมากก็พุทโธเร็วๆ ช่วงไหนจิตใจเริ่มสงบก็พุทโธๆๆ ไปสบายๆ พุทโธแล้วก็คอยรู้ทันจิตตัวเองไป พุทโธแล้วจิตฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน พุทโธแล้วจิตสงบรู้ว่าสงบ ตรงที่เรามีสติรู้ทันจิตตนเอง ว่าตอนนี้มันเป็นอย่างไรอยู่ ตรงนั้นจิตผู้รู้มันจะเกิดขึ้น จิตฟุ้งซ่านมันจะดับ จิตผู้รู้มันจะเกิดขึ้นแทน หรือในวัดนี้บางองค์ หลวงพ่อก็ให้ดูกระดูก ดูกระดูกไล่ตั้งแต่หัวกะโหลก ลูกนัยน์ตา ลงไปตามไขสันหลัง ตามกระดูกสันหลัง ออกไปกระดูกแขน กระดูกขาอะไรอย่างนี้ จิตเป็นคนดู จะเห็นกระดูกไปเรื่อยๆ ทีแรกก็เห็นบ้างไม่เห็นบ้าง ดูไปเรื่อยๆ มันจะเห็นชัดขึ้นๆ กระดูกใสขึ้นมา จิตใจก็สงบผ่องใส จิตเป็นคนดูกระดูก ตัวจิตผู้รู้มันก็เด่นชัดขึ้นมา เราก็จะได้จิตประภัสสรขึ้นมา

บางองค์ก็ดูร่างกายหายใจ เวลาทำกรรมฐานอย่ามัวแต่ไปดูลมหายใจ ให้ดูร่างกายหายใจ เห็นร่างกายหายใจเข้า เห็นร่างกายหายใจออกเรื่อยๆ ไป จิตเป็นคนเห็น ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ บางองค์ก็ทำอย่างนี้ บางองค์ก็เห็นอิริยาบถ เจริญในอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหวอะไรพวกนี้รู้สึกไปเรื่อย เห็นร่างกายยืน ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน มีองค์หนึ่งไปเช็ดกระจกหน้าต่างหลวงพ่อ เช็ดๆๆ ไป เห็นร่างกายมันทำงาน ร่างกายมันเคลื่อนไหว จิตมันเป็นคนรู้ขึ้นมา ตัวรู้มันเด่นดวงขึ้นมาเองโดยไม่ได้เจตนา ถ้าเจตนาทำไม่ได้หรอก เจตนามันก็เป็นโลภเจตนา กิเลสมันเกิด กุศลไม่เกิดหรอก

 

ฝึกให้จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

ฉะนั้นเบื้องต้นบางองค์ก็เดินจงกรม เดินไม่เป็นก็เดินเคร่งเครียด หรือเดินเอาเวลา เดินเอาจำนวนว่าจะเดินกี่รอบ เดินกี่ชั่วโมงกี่นาที พวกนี้เดินไม่เป็น เดินจงกรมไม่ได้เดินท่าสวย แต่เดินเพื่อความมีสติ อย่างเราเดินจงกรมไป ใจเราฟุ้งซ่านหนีไปแล้ว รู้ทันว่าใจมันหนีไป ตรงที่รู้ทันว่าจิตมันหนีไปนั้น จิตผู้รู้มันจะเกิดขึ้น เมื่อใดรู้สภาวะถูกต้องตามความเป็นจริง เมื่อนั้นตัวรู้จะเกิดขึ้นอัตโนมัติ เราไปสั่งตัวรู้ให้เกิดไม่ได้ แต่ว่าเราไม่ไปเป็นตัวหลงเท่านั้น ตัวรู้มันก็มาเอง เพราะมันเป็นธรรมชาติเดิม

ธรรมชาติเดิมของจิต มันเป็นจิตที่ผ่องใสคือจิตรู้ ฉะนั้นในตำราก็จะบอกเลย ลักษณะของจิตนั้นก็คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จริงๆ แล้วตัวจิตเองเป็นตัวรู้อยู่แล้ว แต่มันปนเปื้อนด้วยกิเลสต่างๆ คือมันถูกธรรมะที่เรียกว่า เจตสิก เป็นสภาวธรรมที่เข้ามาปรุงแต่งจิต เลยทำให้กลายเป็นจิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ จิตอิจฉาริษยา จิตกลัว จิตกังวล สารพัดจะเป็น อันนี้เกิดจากสิ่งที่มาปรุงแต่งจิต จิตนั้นโดยตัวของมันเอง เป็นแค่ผู้รู้เท่านั้นเอง เราฝึกตั้งนาน ฝึกแทบเป็นแทบตายทำกรรมฐาน เพื่อจะกลับมาทำความรู้จักกับตัวผู้รู้ ซึ่งมันมีอยู่ มันเป็นธรรมชาติของจิตเราอยู่แล้ว ตัวผู้รู้ไม่ใช่ของวิเศษ ของประหลาดอะไรเลย

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เริ่มต้นจะทำอะไรก็ได้ เอาให้มันได้สักอย่างหนึ่งก่อน ทำกรรมฐานไป แล้วก็ทำสม่ำเสมอ ตัวนี้สำคัญมาก ฆราวาสที่เอาดีไม่ได้ เพราะทำไม่ค่อยสม่ำเสมอ ทำบ้างไม่ทำบ้าง ผัดวันประกันพรุ่ง เบี้ยวไปเบี้ยวมาไม่ได้เรื่อง ต้องอดทน อย่างทุกวันแบ่งเวลาไว้เลย ทุกวันต้องเดินจงกรม อย่างพระเราต้องเดินจงกรม ต้องนั่งสมาธิ บางองค์บอกว่านั่งสมาธิแล้วหลับทุกทีเลย ถ้าแบบนั้นก็ไปเดินเอา ถ้านั่งแล้วหลับก็ไปเดินเอา ยังเดินไหวอยู่ก็เดิน เดินไม่ต้องหวังว่ามันจะดี แต่เดินแล้วก็คอยรู้สึกตัว เดินไปๆๆ จิตมันไหลลงไปอยู่ที่เท้ารู้ทัน ว่าจิตมันไหลไปอยู่ที่เท้า เดินไปเรื่อยๆ จิตหนีไปคิด รู้ว่าจิตหนีไปคิด

เบื้องต้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ต้องทำ จะเดินจงกรม จะพุทโธ จะหายใจ หรืออะไรก็ทำไป ทำให้สม่ำเสมอ ทำแรกๆ ยังไม่เห็นผล แต่ว่าทำไปนานๆ จิตจะเริ่มมีกำลัง ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา ตรงที่จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว มันเป็นจิตผู้รู้ขึ้นมา จิตดวงนี้ล่ะที่เรียกว่าจิตประภัสสร ตัวรู้มันประภัสสร มันผ่องใส เพราะตอนนั้นไม่มีกิเลสจรมา มีแต่กุศลจรมา คือเรามีสติอยู่ มันเป็นกุศล กิเลสมันไม่มา สติมันมา เราฝึกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ นานๆ บางคนฝึกไม่นาน บางคนต้องฝึกนาน แล้วแต่บุญวาสนา บารมี ของเก่าเราเคยสร้างมาแค่ไหน อย่างการที่เคยมีบุญมาก่อน ก็ถือว่าช่วยเราให้เราภาวนาง่าย ถ้าเราไม่ได้มีบุญมาก่อนเราก็ภาวนายาก บุญในอดีตมันยังไม่พอ ถ้าพอคงบรรลุมรรคผลไปแล้ว เราก็ต้องมาสร้างกุศลให้มากขึ้นๆ

รักษาศีล ฝึกสมาธิ ฝึกจิตให้ประภัสสรผ่องใสเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่หลงตามกิเลสไป แล้วก็มาฝึกจิตให้ผ่องแผ้วด้วยการเจริญปัญญา จิตผ่องแผ้วได้ด้วยการเจริญปัญญา จิตจะเจริญปัญญาได้ จิตต้องประภัสสรต้องเป็นผู้รู้ก่อน มันถึงจะเจริญปัญญาได้ ฉะนั้นในสติปัฏฐาน มีเรื่องการเจริญปัญญาอยู่เยอะแยะ ท่านจะสอนให้เราเห็น เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม ท่านให้เห็นเอา จิตที่มันประภัสสรจิตผู้รู้นั่นล่ะมันเป็นผู้เห็น ถ้าเรายังไม่มีจิตที่เป็นผู้รู้ ไม่มีจิตผู้เห็น เรายังเดินปัญญาไม่ได้ ทำไม่ได้จริงหรอก

ฉะนั้นเบื้องต้นฝึกกันแทบเป็นแทบตายอย่างนี้ ฝึกเพื่อจะให้จิตมันหลุดออกจากโลกของความปรุงแต่ง มาเป็นจิตผู้รู้ จิตผู้รู้จริงๆ ก็ยังเป็นจิตที่ปรุงแต่งอยู่ แต่เป็นปรุงแต่งฝ่ายดี ไม่หลงตามกิเลสไป เราฝึกทุกวันๆ หลายๆ องค์ บางองค์ก็มีบุญเก่าเยอะฝึกได้เร็ว บางองค์ไม่ค่อยมีก็ทำเอาใหม่ สะสมไป อย่าทำชั่วเท่านั้น ถ้าทำบาปทำอกุศลมันก็เศร้าหมอง มันก็หมดลงไปเรื่อยๆ ภาวนาจนหมดบุญ

 

เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็ทำสม่ำเสมอ
ตัวนี้สำคัญมาก ฆราวาสที่เอาดีไม่ได้ เพราะทำไม่ค่อยสม่ำเสมอ

 

แต่ถ้าเรารักษาศีล ทุกวันแบ่งเวลาไว้ภาวนา เจริญสติไปเรื่อยจนจิตมันมีกำลัง เป็นคนรู้ เป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมาแล้ว คราวนี้เราถึงเจริญปัญญาได้ เวลามีจิตที่เป็นผู้รู้ เราจะรู้เลยว่าในชีวิตเราเพิ่งจะตื่น แต่เดิมเราหลับตลอดไม่เคยตื่นเลย จิตอยู่ในโลกของความคิด อยู่ในโลกของความฝันตลอดเวลา มาฝึกอยู่ตั้งนานค่อยๆ ฝึกกรรมฐานไป ในที่สุดจิตมันตื่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผ่องใสในตัวของมันเอง เราจะรู้ว่า โอ๊ย ตายแล้ว อยู่มาตั้งนานเพิ่งจะเคยตื่น มนุษย์ในโลกมีตั้งหลายพันล้าน มีจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น มีนิดเดียวมีไม่มากหรอก คนมันหลงกันทั้งโลกเลย

เมื่อก่อนหลวงพ่อไปข้างนอกกับพระอาจารย์อ๊า ชี้ให้พระอาจารย์อ๊าดู ในโลกมีแต่คนหลง ไม่มีผู้รู้ผู้ตื่นเลย มีแต่ผู้หลง หลงดู หลงฟัง หลงดมกลิ่น หลงลิ้มรส หลงรู้สัมผัสทางกาย หลงคิดนึกทางใจ เพราะมันเป็นผู้หลงแล้ว มันจะไปเจริญปัญญาได้อย่างไร จิตมันหลงอยู่ คือจิตมันมีอกุศลอยู่ มีโมหะ โมหะตรงข้ามกับปัญญา ปัญญาบางทีเราเรียกว่าอโมหะ ถ้าได้ยินคำว่าอโมหะ ก็ต้องรู้ว่านั่นคือตัวปัญญา ปัญญามีหลายชื่อ อโมหะก็เป็นอีกชื่อหนึ่ง

ฉะนั้นใจต้องฝึก บางคนก็กังวลจะเริ่มฝึก ทำอย่างไรดี ทำอย่างไรดี มัวแต่คิด ลงมือก้าวแรก ก้าวมันไปเลย ก้าวมันไป อย่างเดินจงกรมเดินก้าวแรกให้มันเกิดขึ้นก่อน เดินไปๆ แล้วใจมันเครียดขึ้นมา ก็รู้ทันว่าใจมันเครียดเกินไปแล้ว หรือเดินไปๆ มันเอ้อระเหยคิดเรื่องโน้น คิดเรื่องนี้ บางคนเดินโทรศัพท์ เดินแล้วโทรศัพท์เรื่อยๆ แล้วบอกเดินจงกรม เดินแป๊บเดียวก็คว้าโทรศัพท์มาดูเฟซบุ๊ก ดูไลน์ ดูอินสตาแกรม ดูอะไรต่ออะไร อย่างนั้นอย่าไปเดินเลยเสียเวลา ประเภทกรรมฐานลวงโลกไม่ได้อะไรขึ้นมา

ทำกรรมฐานจริงๆ เวลาที่เราปฏิบัติในรูปแบบนี้ อย่างอื่นวางไว้ทิ้งมันก่อนเลย เมื่อก่อนหลวงพ่อไปเรียนกับหลวงพ่อพุธ ท่านก็เล่าให้ฟังมีพระภาวนา แล้วพอจิตมันจะรวมได้เวลาทำวัตรเย็นพอดี ได้ยินเสียงระฆัง รีบเลิกภาวนาเลยจะรีบไปทำวัตรแล้ว หลวงพ่อพุธบอก “โอ๊ย มันไม่ฉลาดเลย ทำวัตรสวดมนต์เป็นเรื่องดี แต่จิตรวมมันดีกว่า” คล้ายๆ ทิ้งของใหญ่ไปเอาของเล็ก แต่พูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าให้หนีทำวัตร ถ้าจิตมันไม่รวม จิตมันหลงๆ อยู่รีบมาสวดมนต์ไว้ อย่ามาเป็นข้ออ้างไม่ได้นะ อ้างที่อื่นได้ อ้างกับหลวงพ่อไม่ได้กินหรอก เรียกว่าเห็นไส้

 

ทำกรรมฐานไปแล้วสังเกตเอา

เบื้องต้นทำกรรมฐานอะไรก็ทำไปสักอย่างหนึ่งก่อน มันเหมือนเราใช้ GPS เราไปจอดรถตรงทิศไหนอะไรก็ไม่รู้เลย แล้วอยู่ๆ พอเราเปิดเครื่องมันบอกให้มุ่งหน้าทางตะวันออก เราไม่รู้ว่าทางไหนตะวันออก ไม่รู้ทางไหนตะวันออกขับมันไปก่อนเลย พอผิดทางเดี๋ยวมันบอกเอง “เอ้า กลับรถ” แสดงว่าผิดทางแล้ว

กรรมฐานก็เหมือนกัน มัวแต่คิดมากทำอย่างไรจะถูกๆๆ คิดเท่าไหร่ก็ไม่ถูกหรอก ลงมือทำไปเลย เดินจงกรมไป นั่งสมาธิไป พุทโธไป หายใจไป เบื้องต้นอะไรก็ทำไปเถอะ พอทำไปแล้วก็ใช้ความสังเกตเอา ถ้าเราไม่ได้อยู่กับครูบาอาจารย์ ถ้าอยู่กับครูบาอาจารย์ก็สะดวกหน่อย ไม่หลงนาน ไม่ติดนาน เราไปติดสภาวะอะไรครูบาอาจารย์เห็นก็จะบอกให้ ไม่ต้องถามก็บอกให้

ถ้าเราไม่ได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ ใช้ความสังเกต เรียกสังเกตอย่างแยบคาย พิจารณาอย่างแยบคาย เช่นเราเดินจงกรมแล้ว แหมมันแน่นอึ้ดเลย จิตที่แน่นๆ จิตที่หนักๆ มันจิตอกุศลนะ จิตที่เป็นกุศลมันเบา มันนุ่มนวลอ่อนโยน คล่องแคล่วว่องไว ควรแก่การงาน ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เรียกว่าจิตที่เป็นกุศล เรียกมหากุศลจิต ฉะนั้นเรามาลงมือเดินจงกรมแล้วแน่นอึ้ดเลย หรือลงมือนั่งสมาธิแล้วแน่นอึ้ดเลย เครียดไปหมดเลยอึดอัดไปหมดเลย เรารู้เลยว่าจิตกำลังเป็นอกุศลอยู่ แล้วทำอย่างไรดีหาทางแก้หรือ ยิ่งหาทางแก้ยิ่งวุ่นวายหนักกว่าเก่า จิตเป็นอกุศลรู้ว่าเป็นอกุศล จิตมันแน่นรู้ว่าแน่น ค่อยๆ ดูไป ต่อไปมันจะเห็นเองว่าจิตที่แน่นๆ เกิดจากอะไร เกิดจากโลภะอยากจะปฏิบัติ อยากจะดี อยากรู้ตัวตลอดเวลา จิตมันมีโลภะ จิตเป็นอกุศล แล้วถ้าลงมือปฏิบัติด้วยจิตที่มีโลภะ ในขณะที่ปฏิบัติตลอดสายของการปฏิบัติ โลภะก็ยังอยู่ มันอยากจะดีแล้วมันไม่ได้อย่างที่มันอยากจะดี

คราวนี้มันก็ทุกข์ โทสะก็ขึ้นใจไม่มีความสุข ไม่มีความแช่มชื่น นั่งสมาธิแล้วแน่นไปหมดเลย อึดอัดไปหมด เครียดไปหมดเลย อันนั้นจิตมีโทสะเรียบร้อยแล้ว มันเริ่มต้นมาจากโลภะ อยากดี อยากปฏิบัติ แล้วก็ลงมือภาวนาแบบบังคับตัวเองไปเรื่อย มันก็เครียดขึ้นมา มันแน่นๆ เราลงมือก่อนทีแรก มันเครียดก็ช่างมันเถอะ ให้ลงมือไปก่อน พอมันเครียดแล้วก็สังเกตเอา นี่จิตมันเครียดนี่ ต้องมีอะไรผิดแล้ว ไม่ต้องค้นคว้า รู้ว่าตอนนี้จิตเครียด รู้เฉยๆ แล้วต่อไปมันจะเห็นต้นตอ ต้นตอของมันก็คือตัวโลภ อยากดี อยากปฏิบัติ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี อยากได้มรรคผล เริ่มไปบังคับตัวเอง พอมันเห็นแล้ว โอ๊ย จิตที่อึดอัดนี่มันเป็นผลจากการเพ่ง การเพ่งเป็นผลมาจากความอยากดี จะเห็นแล้ว ค่อยๆ เห็นไม่ต้องคิด ถ้าคิดเอายิ่งฟุ้งกว่าเก่า

ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดูไป ใช้เวลา ภาวนาไม่ต้องรีบร้อนหรอก ทำไม่เลิกแต่ว่าไม่ต้องลุกลี้ลุกลน ค่อยๆ สังเกตไป ก็จะเห็นต้นตอของมัน มันโลภนี่เอง มันอยากดี อยากปฏิบัติ พอมันอยากดี อยากปฏิบัติ มันก็ไปเพ่ง พอเพ่งแล้วมันก็เครียด เครียดแล้วมันก็แน่นๆ อึดอัดไป โทสะมันขึ้นแล้วตรงเครียด ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตไปไม่ต้องกลัวผิด แต่ใช้โยนิโสมนสิการสังเกตเอา ตรงนี้ถูกหรือตรงนี้ผิด ถ้าทำไปแล้วอึดอัดขัดข้องแสดงว่าไม่ถูกแล้ว หรือบางทีทำไปได้ยินหลวงพ่อพูดว่า ทำถูกแล้วจิตมันสบาย มันเบา นุ่มนวล อ่อนโยน ก็ไปแต่งจิตให้นุ่มนวล อ่อนโยน แต่งจิตให้เบาๆ ทำได้นะ เห็นแล้วจะเขกกบาลเอา อย่างนั้นก็ใช้ไม่ได้ แกลังดี แกล้งทำเป็นดีไปแต่งจิต ก็ของปลอมอีกแล้ว เราไม่ต้องแต่งจิตให้ดี

ถ้าเมื่อใดภาวนาไปแล้วจิตมันถูก มันดีของมันเอง แต่ถ้าไปแกล้งแต่งให้ดี ความปรุงแต่งฝ่ายดีไม่ได้เรื่องอะไร ก็ยังปรุงแต่งอยู่ ฉะนั้นกรรมฐานเบื้องต้นลงมือทำเสียทีฟังมากแล้ว ไม่ทำสักทีก็ไม่ได้เรื่องอะไรหรอก ทำไปแล้วสังเกตตัวเองไป ถ้าไม่ได้อยู่กับครูบาอาจารย์ สังเกตไปที่ทำอยู่กุศลเจริญ หรืออกุศลเจริญ ค่อยๆ สังเกตเอา ถ้าทำไปแล้ว รู้ตัวได้เร็วขึ้นๆ เห็นความทุกข์มันสั้นลงๆ พอมันทุกข์ปุ๊บ มีปัญหาชีวิตอะไรอย่างนี้ เคยทุกข์ยาวทุกข์นาน คราวนี้ทุกข์สั้นลงๆ ทุกข์เบาลงๆ ค่อยๆ สังเกตเอา ถ้าภาวนาถูกแล้วมันไม่ทุกข์มากหรอก มันจะค่อยๆ ทุกข์น้อยลง ค่อยๆ ฝึกค่อยๆ สังเกตเอา แล้วต่อไปเราก็จะรู้เลยว่า ถ้าเรามีสติ ทำกรรมฐานไปด้วยความมีสติ ไม่ได้ทำด้วยความโลภ จิตเราจะค่อยๆ ผ่องใส สว่าง สงบ สว่างขึ้นมา จิตมันสงบ จิตมันสว่างด้วยกำลังของสมาธิ มันจะสะอาดได้ด้วยปัญญา ตรงนั้นล่ะคือตัวจิตผ่องแผ้ว

ฉะนั้นเบื้องต้นเราต้องฝึกให้ได้จิตที่มันผ่องใสก่อน จิตที่เป็นผู้รู้ ทำกรรมฐานไปแล้วสังเกตเอา ทำแล้วเครียดไม่ใช่หรอก ทำแล้วก็เผลอฟุ้งซ่านไปอันนี้ก็ไม่ใช่ ทำแล้วรู้อารมณ์กรรมฐานไปอย่างสบายๆ รู้ไปเรื่อยๆ จิตมันจะมีกำลังขึ้นมา เราก็จะได้จิตผู้รู้ที่ดีขึ้นมา ตรงที่เราได้จิตประภัสสร จิตผู้รู้มันจะทำให้เราเห็นความปรุงแต่งได้ชัดเจน มันคล้ายๆ เราคลีน (clean) โต๊ะของเราสะอาดเลย ไม่มีฝุ่น ไม่มีผง มีอะไรนิดหนึ่งเดินเข้ามาเราก็เห็นแล้ว แต่บนโต๊ะเรารกมาก จิ้งจกมาตัวหนึ่ง หรือตุ๊กแกมาซ่อนแล้วไม่เห็น กิเลสมาในจิตเรา เราไม่เห็นหรอก แต่ถ้าจิตเราผ่องใส มันคล้ายๆ เราเช็ดโต๊ะ เช็ดพื้นเอาไว้สะอาด มีเศษผง เศษกระดาษอะไรนิดๆ หน่อยๆ ตกอยู่เราก็เห็นแล้ว เราจะเห็นสิ่งแปลกปลอม ที่เข้ามาในจิตได้ชัดเจน ถ้าจิตเราเป็นผู้รู้ ฉะนั้นต้องมี ต้องฝึกให้ได้จิตที่เป็นผู้รู้ แล้วคราวนี้ไม่ว่าสิ่งที่แปลกปลอมมา จะเป็นดอกไม้สวยงาม หรือจะเป็นจิ้งจก ตุ๊กแก งู เข้ามาเราก็จะเห็น คือกุศลมาเราก็จะเห็น อกุศลมาเราก็จะเห็น เราจะเห็นเลยมันมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามา ความสุขแปลกปลอมเข้ามา ความทุกข์แปลกปลอมเข้ามา ความเฉยๆ แปลกปลอมเข้ามา กุศลแปลกปลอมเข้ามา ความโลภ ความโกรธ ความหลงแปลกปลอมเข้ามา เราจะเห็นชัด

แต่ถ้าใจเราวุ่นวาย ใจเราสกปรกไม่มีผู้รู้อยู่ อะไรมาซ่อนอยู่เยอะแยะ เราไม่เห็นหรอก อย่างพวกเรา ถ้าเราไม่ได้มีจิตที่เป็นคนรู้จริงๆ เป็นผู้รู้จริงๆ เวลามีสิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้นในจิตในใจ เราไม่เห็นหรอก เราก็คิดว่าตอนนี้ไม่ปรุงแต่งแล้ว ตอนนี้กำลังดีเลย นั่งภาวนาไป นั่งปรุงไปเรื่อยๆ นึกว่าไม่ปรุง ความจริงปรุง ฉะนั้นเราต้องมีตัวจิตที่เป็นตัวรู้นี้ให้ได้ มีจิตที่ประภัสสรตัวนี้ให้ได้เสียก่อน ตรงนี้เรียกว่าเรามีสมาธิที่ถูกต้องแล้ว สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ถ้าเราไม่มีสมาธิที่ทำให้จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตเป็นผู้เห็นสภาวะทั้งหลาย เราเดินปัญญาไม่ได้จริงหรอก ฉะนั้นต้องฝึก

 

พอเราฝึกจนเราได้ตัวรู้แล้ว คราวนี้เราก็เดินปัญญาได้แล้ว จิตเราผ่องใสแล้ว แต่ยังไม่ผ่องแผ้ว

 

ช่วงเวลายาวนานในการทำกรรมฐาน เท่าที่หลวงพ่อสังเกต มันคือช่วงของการฝึกจิตให้มันเป็นผู้รู้นี่ล่ะยากที่สุดเลย เพราะจิตของเราเคยชินที่จะเป็นผู้หลง จิตเราไม่เคยชินจะเป็นผู้รู้หรอก อย่างที่หลวงพ่อบอกพระอาจารย์อ๊าตั้งแต่ท่านยังไม่บวช บอกว่า “หลวงพ่อดูในโลกนี้มันมีแต่คนหลง มันไม่มีคนรู้หรอก นับตัวได้เลย มันมีไม่กี่คนหรอก” พอเราฝึกกรรมฐานไปเรื่อยๆๆๆ อย่างบางคนดูร่างกาย ร่างกายมันขยับเขยื้อนรู้สึกๆๆ ไป ในที่สุดตัวรู้มันก็เกิดขึ้นเป็นคนรู้ รู้อะไร รู้ร่างกายที่เคลื่อนไหว รู้ร่างกายที่หายใจ รู้ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน รู้ร่างกายที่หยุดนิ่ง จะมีตัวผู้รู้ขึ้นมารู้ รู้ความสุขความทุกข์ที่เกิดในร่างกาย รู้ความสุขความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจ รู้ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง หรือรู้ความโลภ ความโกรธ ความหลงที่มันเกิดขึ้นในจิตใจ จะเห็นเลยสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกปลอมทั้งหมดเลย

อะไรที่เกินจากการรู้เป็นตัวที่เติมลงมาในจิตใจเราทั้งนั้น ทั้งดีและชั่ว ถ้าอันไหนที่เกินจากรู้แสดงว่าปรุงแต่งแล้ว ไม่ปรุงดีก็ปรุงชั่ว แต่ระหว่างปรุงดีกับปรุงชั่ว ปรุงดีก็ยังดีกว่าปรุงชั่ว เพราะปรุงดีมีสุคติเป็นที่ไป ปรุงชั่วมีทุคติเป็นที่ไป แต่ถ้าไม่ปรุง อยู่เหนือการปรุง แต่ไม่ใช่จงใจไม่ปรุง จงใจไม่ปรุงมันอเนญชาภิสังขาร เป็นความปรุงอีกแบบหนึ่ง ความปรุงมี 3 แบบ ปรุงชั่ว ปรุงดี แล้วก็ปรุงใจที่ว่างๆ ไม่รับรู้อะไร เข้าอรูปฌานไปอะไรไป แล้วติดว่างๆ อยู่ พอเราฝึกจนเราได้ตัวรู้แล้ว คราวนี้เราก็เดินปัญญาได้แล้ว จิตเราผ่องใสแล้ว แต่ยังไม่ผ่องแผ้ว

 

หน้าที่ต่อไปก็คือเจริญปัญญาให้จิตผ่องแผ้ว

เมื่อก่อนหลวงพ่อเคยไปส่งการบ้านหลวงปู่เทสก์ บอกหลวงพ่อเห็นจิตซึ่งมันเป็นต้นกำเนิดแล้ว ที่มันสร้างภพ สร้างชาติ มันก็คือเรารู้อยู่ในตัวจิตผู้รู้นี้ แล้วเราเห็นเชื้อเกิดมีอาสวะที่แฝงอยู่ในตัวจิตผู้รู้ ฉะนั้นตัวจิตผู้รู้มันผ่องใส แต่มันไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ ระหว่างคำว่าผ่องใส กับคำว่าบริสุทธิ์ไม่เหมือนกัน คนละโลกเลย ผ่องใสคล้ายๆ ว่ามีตุ่มน้ำอยู่ น้ำมันนิ่งๆ ตะกอนมันตกลงไปอยู่ก้นตุ่ม น้ำมันก็ใส แต่ถามว่าตะกอนยังอยู่ไหม ยังอยู่ไม่ได้หนีไปไหนเลย พอมีผัสสะจิตก็กระเพื่อม พอจิตกระเพื่อม จิตก็มีตะกอนฟุ้งขึ้นมาวุ่นวาย ปรุงโน้นปรุงนี้ขึ้นมาตลอดเวลา ฉะนั้นจิตผ่องใส หน้าที่ต่อไปก็คือเจริญปัญญาให้จิตมันผ่องแผ้ว ตัวที่ทำให้จิตสะอาดหมดจด ถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นจริงๆ ก็คือตัวปัญญา จิตเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้ “บุคคลเข้าถึงความบริสุทธิ์ ได้ด้วยปัญญา” ไม่ใช่ด้วยศีล ด้วยสมาธิหรอก แต่อาศัยศีล อาศัยสมาธิ ทำให้สามารถเจริญปัญญาได้ ตรงที่เราฝึกมีศีลไว้ ใจเราก็มีสมาธิง่าย สมาธิเรามั่นคง

เราฝึกกรรมฐานไปใจก็เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ต่อไปก็รู้โดยไม่เจตนาจะรู้ เรียกว่าเราฝึกมาจนได้ตัวรู้ที่ดีแล้ว พอเรามีตัวรู้ที่ดีคราวนี้เราเดินปัญญา เราจะค่อยเรียนรู้ลงไป กิเลสอะไรมันแอบ มันแฝง มันซ่อนอยู่ รู้ทันมันเข้าไปเรื่อยๆ คล้ายๆ เรามองอยู่เหนือตุ่มน้ำ มองลงไปเราเห็นตะกอนที่ก้นตุ่ม เราไม่ใช่เอามือไปแกว่งๆ ตะกอนมันกระจายไม่รู้จะทำอย่างไรเลย ถ้าตะกอนมันอยู่ก้นตุ่มแล้วเราก็ค่อยตักน้ำที่ใสๆ เอาออกมา น้ำสกปรกก้นตุ่มทิ้งมันไป ล้างตุ่มซะ

เวลาภาวนาก็คล้ายๆ อย่างนั้น เราเจริญสติ เจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ก็เห็นสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อย่างเวลาดูกายจิตเราเป็นคนดู เราเห็นร่างกายหายใจจิตเป็นคนดู ไม่ใช่เห็นลมหายใจ เห็นร่างกายหายใจจิตเป็นคนดู ไม่เหมือนกันนะ เห็นลมหายใจก็จะไปทางกสิณ หลวงพ่อตอนเด็กๆ ตอนที่ทำอานาปานสติยังไม่เป็น หลวงพ่อดูที่ตัวลมหายใจ ลมมันค่อยระงับๆๆ เข้ามา ในที่สุดลมมันหยุดกลายเป็นแสง ตรงนี้มันเป็นกสิณ ตัวลมมันเป็นนิมิตเบื้องต้น เรียกบริกรรมนิมิต มันหยุดลงมากลายเป็นแสงสว่าง เรียกอุคคหนิมิต ต่อไปมันก็บังคับได้ เล่นกับแสงได้ ย่อได้ ขยายได้ แผ่รัศมีกว้างให้ออกไปเหมือนพระอาทิตย์ พระจันทร์ก็ได้ รวบแสงเข้ามาอยู่ในจุดเล็กๆ จุดเดียวก็ได้ หรืออย่างดูกระดูก ดูไปๆ ก็จะเป็นแสงไป แสงใสๆๆๆ สุดท้ายก็ไปแสงสว่างไป อันนั้นเป็นเรื่องของกสิณ

กรรมฐานที่หลวงพ่อแนะนำพวกเรา พวกเราเล่นกสิณลำบาก ยุคเราไม่ใช่ยุคของคนทรงฌานเท่าไหร่หรอก ยังมีแต่มีไม่มาก รุ่นเราบางคนฟุ้งซ่าน ฉะนั้นเวลาเราดูร่างกาย ใจเป็นคนเห็น ใจเป็นคนรู้ เห็นร่างกายหายใจ ไม่ใช่ดูลมหายใจ เห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนรู้ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ใจเป็นคนรู้ เป็นแค่คนรู้ไม่ใช่คนเพ่ง อย่างบางคนดูร่างกายทั้งตัว แล้วก็เพ่ง จ้องลงไปอย่างนี้ใจมันจะแน่นๆ ถ้าใจแน่นแสดงว่าไม่มีตัวรู้แล้ว เป็นตัวที่โลภขึ้นมาแล้ว ฉะนั้นรู้ไปสบายๆ รู้ด้วยใจที่ปกติ ใจที่ปกตินั่นคือใจที่ประภัสสร ใจธรรมดา เมื่อวานก็เห็นพระองค์หนึ่งเดินไปคลัง มีจิตเป็นประภัสสร เป็นธรรมดา ไม่ได้ทำอะไรแต่ว่าไม่ได้หลงตามกิเลสไปเท่านั้นเอง จิตก็ประภัสสรขึ้นมา มีจิตประภัสสรเรียกว่าเราได้เครื่องมือสำคัญเลย ต่อไปเวลาสติระลึกรู้ลงในร่างกาย ไม่ได้เพ่งกาย ระลึกรู้กาย จะเห็นร่างกายนี้ไม่ใช่เรา สติระลึกรู้ความรู้สึกสุขทุกข์ ดีชั่วทั้งหลาย ก็จะเห็นเลยสุขทุกข์ ดีชั่วทั้งหลาย ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายไม่ใช่เรา เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา

แล้วต่อไปเราก็ค่อยๆ เจริญไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นตัวผู้รู้เองก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง เป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่งไป ฉะนั้นจิตผู้รู้เรายังเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ เพราะยังเป็นของไม่เที่ยงอยู่ พอเราดูไปอย่างนี้ จิตผู้รู้ก็ไม่ใช่เรา ตรงนี้ไม่ใช่ความคิดแต่เป็นการประจักษ์ การเห็นแจ้งของจิต เราจงใจไปดูตัวผู้รู้นี่ผิดทันทีเลย กลายเป็นเพ่งตัวผู้รู้แล้วแก้ยาก จะติดสมถะที่แก้ยากที่สุดเลย ติดเพ่งตัวผู้รู้ ฉะนั้นเรามีตัวผู้รู้ แล้วเราก็ดูสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา อย่างไปเห็นร่างกาย ก็เห็นเลยร่างกาย เป็นของแปลกปลอมเข้ามาไม่ใช่ตัวเรา เห็นความรู้สึกสุขทุกข์ เป็นของแปลกปลอมเข้ามาไม่ใช่ตัวเรา เห็นความดีความชั่วทั้งหลาย เป็นของแปลกปลอมเข้ามาไม่ใช่ตัวเรา เฝ้ารู้เฝ้าดูถึงจุดหนึ่งมันทวนกระแสเข้ามา เวลาที่มันจะตัดสังโยชน์ เกิดอริยมรรค จิตมันจะทวนกระแส มันจะทวนเข้าหาตัวรู้

ทีแรกมันเป็นตัวจิตผู้รู้อยู่ แล้วก็เดินปัญญา เดินๆๆๆ ไปมันก็ตัดของภายนอก แล้วมันทวนเข้ามา แล้วถ้ามันรู้แจ้งเห็นจริงมันจะเห็น ตัวผู้รู้เองก็ไม่ใช่ตัวเรา ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกัน เห็นตรงนี้เราก็จะเข้าใจธรรมะแล้ว ได้ธรรมะเบื้องต้นแล้ว รู้ว่าตัวเราไม่มี นี้เป็นส่วนของการเจริญปัญญา ใจเราก็เริ่มผ่องแผ้ว เริ่มสะอาดไประดับหนึ่งแล้ว จิตที่ไม่สะอาด ก็คือจิตที่มันโง่ มันมีกิเลส มันมีโมหะ จิตที่มันฉลาดมีปัญญา อโมหะ ไม่โง่ ไม่หลงงมงาย เราค่อยๆ ฝึกเกิดปัญญาขั้นต้น ปัญญาขั้นต้นจะเห็นความจริงว่า กายนี้ ใจนี้ หรือขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่มีตัวเราของเราในขันธ์ 5 นี้ ขันธ์ 5 ก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่มีตัวเราของเรานอกเหนือจากขันธ์ 5 นี้อีก ไม่มีตัวเราของเราที่ไหนเลย ตัวนี้เป็นปัญญาขั้นต้น ใจเราก็สะอาดหมดจดถึงระดับหนึ่ง ประเภทมั่นคงต่อพระศาสนาแล้ว วันหนึ่งจะต้องถึงพระนิพพานแน่นอน แล้วถ้าจะตายไป บางคนเกิดอีกชาติเดียว บางคนเกิดอีก 2-3 ชาติ แต่มากที่สุดก็ไม่เกินอีก 7 ชาติ ก็จะถึงพระนิพพาน

ถ้าเราถึงตรงนี้แล้ว เราก็ฝึกจิตให้มันผ่องแผ้วขึ้นไปอีก ในที่สุดปัญญาอีกระดับหนึ่งเกิดขึ้น มันเห็นความจริงของรูป รูปธรรมทั้งหลายมันคือตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวดีตัววิเศษ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอมันเห็นอย่างนี้ มันเป็นปัญญาขั้นกลาง ใจเราก็จะได้ธรรมะอีกระดับหนึ่งขึ้นมา ใจที่ไม่ติดในตัวรูปมันก็จะพ้นจากโลก เพราะโลกนี้มันเป็นโลกของรูปทั้งหลาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เรียกว่ากาม กามภูมิ กามภพ จิตที่มันเห็นความจริงว่า รูปไม่มีสาระแก่นสาร ก็จะพ้นจากกามไป ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าเรามีหูมีตา อย่างครูบาอาจารย์รุ่นเก่าๆ ท่านเก่ง ท่านมองปุ๊บท่านรู้เลยว่าใครภาวนามาถึงตรงไหน อย่างพระโสดาบัน ท่านเห็นปุ๊บท่านก็รู้เลยว่าเป็นพระโสดาบัน เพราะไม่มีสักกายทิฏฐิแฝงอยู่เลย ไม่มีกระทั่งเงาของความเป็นตัวตนแฝงอยู่

อย่างท่านเห็นพระอนาคามีปุ๊บ ท่านรู้เลยนี่อนาคามี เพราะจิตมันหลุดออกจากโลกแล้ว โลกที่เรารู้จัก กามโลก กามภูมิ กามภพ จิตพระอนาคามีอยู่ในโลก แต่ไม่เกาะกับโลกเลย เหมือนดอกบัวอยู่ในน้ำ แต่ไม่เปียกน้ำอยู่อย่างนั้น แต่ยังมีดอกบัวอยู่ ขั้นสุดท้ายที่ปล่อยวางจิตลงไป นี่เป็นปัญญาขั้นสุดท้าย เห็นความจริงว่าตัวจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ตัวผู้รู้นั่นล่ะคือตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวดีตัววิเศษหรอก เห็นอย่างนั้นก็จะวางตัวรู้ลงไปอีกทีหนึ่ง

หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยสอนบอกว่า “แยกรูปถอดก็ถึงความว่าง แยกความว่างก็ถึงมหาสุญญตา เพิกความว่างออกไป ก็ถึงมหาสุญญตา” อะไรที่เรียกว่ารูปถอด คือความปรุงแต่งทั้งหลายนั่นเอง นี่ศัพท์ของท่านท่านไม่ได้เรียนปริยัติ ท่านก็ตั้งศัพท์ที่พอจะสื่อสารออกมา แยกรูปถอดก็ถึงความว่าง ค่อยๆ แยกๆๆ ไปในที่สุดจิตมันก็ว่างสว่างขึ้นมา เสร็จแล้วก็ต้องเพิกมันออกไปอีก หมายถึงต้องสามารถวางตัวผู้รู้ลงไปได้อีก จึงจะถึงมหาสุญญตาถึงพระนิพพานได้ ท่านพูดอยู่ 2-3 ประโยค ภาวนากันปางตายเลย หรือตายหลายชาติเลยกว่าจะเข้าใจ หลวงปู่ดูลย์บางทีท่านสอนสั้นนิดเดียว “แยกรูปถอดก็ถึงความว่าง เพิกความว่างไป ถึงมหาสุญญตา” อะไรที่เป็นตัวว่าง สว่าง ก็ตัวผู้รู้นั่นล่ะมันว่าง ส่วนสิ่งที่มาเติมลงในความว่าง คือความปรุงแต่ง หลวงปู่ท่านเรียกว่าเป็นรูปถอด รูปปรมาณู ไหวยิบยับๆๆ ท่านเรียกว่ารูปปรมาณู ก็แล้วแต่ศัพท์ของท่าน ที่จริงก็คือความปรุงแต่งทั้งหลายนั่นล่ะ ที่มันมาสู่จิต มันทำให้จิตไม่ผ่องใส พอมีจิตที่ผ่องใสแล้ว ต้องวางตัวนี้อีกทีหนึ่ง ถึงจะถึงมหาสุญญตา ถึงพระนิพพานได้

 

 

วันนี้เทศน์วันมาฆบูชา เทศน์ดุเดือด ที่สำคัญคือฟังแล้วต้องไปทำ ทำผิดทำถูกทำไปก่อน แล้วสังเกตเอา มีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ก็ง่ายหน่อย ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์อยู่ใกล้ก็ใช้ความสังเกตเอา หลวงพ่อใช้ความสังเกตเอา หลวงพ่อไม่ได้อาศัยครูบาอาจารย์มากหรอก เท่าที่จำได้เคยพึ่งพาถามครูบาอาจารย์ทั้งหมด หรือบางทีไม่ได้ถามท่านบอกให้ ทั้งหมด 7 ครั้ง เรียนจากครูบาอาจารย์หลายองค์ 7 ครั้งเท่านั้นเอง แล้วก็ไม่สงสัย ไม่สงสัยก็เพราะว่าใช้ความสังเกตเอา ทำไมพึ่งครูบาอาจารย์น้อย เพราะอยู่ห่างครูบาอาจารย์เราเป็นฆราวาส ในขณะที่ครูบาอาจารย์อยู่ภาคเหนือ ภาคอิสานอยู่ไกล เราไม่มีเวลาที่จะไปหาได้ตลอดเวลา แต่ว่าเราเอาธรรมะที่ท่านสอนมาทำไม่เลิก ทำไปแล้วก็สังเกตไป ทำอย่างนี้กุศลเจริญ หรืออกุศลเจริญ ค่อยๆ ดูตัวเองไป ทำแล้วเครียด ต้องอกุศลเจริญแล้ว เพราะเคร่งเครียดเป็นตัวโทสะแล้ว ใจเครียดใจเป็นทุกข์ สังเกตตัวเอง

ฉะนั้นหลวงพ่อจะย้ำพวกเราเรื่อยๆ ว่าต้องช่วยตัวเอง ทำไมย้ำอย่างนี้ เพราะหลวงพ่อผ่านมาด้วยวิธีนี้ด้วยการที่สังเกตเอา ไม่ชอบหรอกนะลูกศิษย์อ่อนแอหวังพึ่งตลอด อย่างบางคนมาถามสภาวะ ใหม่ๆ หลวงพ่อบอกให้ เพื่อให้เรารู้จักสภาวะ อย่างบางคนใจลอยไม่รู้จัก พอหลวงพ่อบอกเฮ้ยนี่ใจลอย พอเห็นสภาวะหนึ่งตัว สภาวะตัวอื่นๆ จะเห็นไม่ยากแล้ว ใครเคยเห็นสภาวะแล้วจะง่ายขึ้นๆ ใจลอยยังรู้เลย ถ้าใจลอยไปแล้วยังไม่รู้ เดี๋ยวมันก็โลภ เดี๋ยวมันก็โกรธต่อมา มันจะรู้ได้เอง ค่อยๆ สังเกตเอา ฝึกของตัวเองทุกวัน หลวงพ่อพากเพียรมาก อดทนมากเลยการฝึกตัวเอง ไม่ให้คนรู้เท่าไหร่หรอก ไม่ค่อยมีใครรู้หรอก อยู่เฉยๆ เหมือนกับไม่ได้ภาวนา งานภาวนาเป็นงานของจิต ใครจะมารู้ดีกว่าเรา เราก็รู้จิตเจ้าของเอาเอง

ค่อยฝึกๆๆ นะ ครูบาอาจารย์อย่างหลวงปู่สิม ท่านเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ ตั้งแต่หลวงพ่อเป็นโยม เจอท่านท่านเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ๆๆ ท่านไม่รู้จักชื่อเลยเรียกเราว่าผู้รู้ เป็นฉายาที่ท่านเรียก พอใจเป็นผู้รู้แล้วพอเดินปัญญาก็ผ่องแผ้วไม่ยากหรอก ใจมันสะอาดผ่องใสเสียก่อน ประภัสสร ผ่องใส แล้วเดินวิปัสสนา เดินปัญญาไป ในที่สุดมันก็ผ่องแผ้ว มันก็บริสุทธิ์ ทีแรกก็ประภัสสรก่อน แล้วก็เดินปัญญาไป ในที่สุดก็บริสุทธิ์ด้วยปัญญา

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
26 กุมภาพันธ์ 2564