จิตเป็นธรรมชาติที่บังคับไม่ได้แต่ฝึกได้

เมื่อวานหมอมาส่งการบ้านเป็นของขวัญตรุษจีน ถวายอั่งเปาด้วยการปฏิบัติ เป็นที่ถูกอกถูกใจ เรียนกับหลวงพ่อมาตั้งแต่อยู่สวนโพธิ์ เมื่อวันตรุษจีนวันเที่ยววันศุกร์ที่ 12 แกไปทำผม ไปนั่งทำผมพอช่างเอากรรไกรตัดผม ได้ยินเสียงดังมากเลยเหมือนเอากรรไกรตัดหญ้าอันใหญ่ๆ มาตัด เสียงดังเหมือนคนตัดหญ้าเลย ตัดครั้งที่ 2 เหมือนเขาตัดอะไรบางอย่างออกไปจากตัว บอกรู้สึกเหมือนเป็นแผ่นๆ ถูกตัดออกไป จิตใจก็สว่างไสวขึ้นมามีความสุข

การภาวนาเราก็สะสมของเราไปเรื่อยๆ เหมือนกินข้าวกินไปเรื่อยๆ ถึงเวลาก็อิ่มของมันเอง ที่รู้สึกเสียงกรรไกรมันดังมาก มันสะท้อนถึงว่าจิตมันเข้าสมาธิอยู่ เวลาจิตมันทรงสมาธิอยู่ แต่มันยังไม่ลึกจนกระทั่งหูดับลงไป เสียงเล็กๆ น้อยๆ จะรู้สึกดังมาก

เมื่อก่อนหลวงพ่อไปที่วัดครูบาอาจารย์แห่งหนึ่ง ท่านก็พูดไปเรื่อยๆ เราก็นั่งภาวนาไป ได้ยินเสียงเหมือนปืนใหญ่มาระเบิดอยู่ใกล้ๆ เสียงดังมากเลย เราก็สงสัยเขาปฏิวัติกันหรือไง ลืมตามาดูไม่มีอะไร ที่แท้มีคนที่อยู่ห่างๆ เขาผายลมเบาๆ แบบคนอื่นไม่ได้ยิน เราได้ยินเหมือนลูกปืนใหญ่ระเบิด พอจิตมันมีสมาธิแต่มันยังไม่ลึกมาก มันจะขยายความรับรู้ ให้มันชัดเจนมากกว่าความเป็นจริง จะขยายขึ้นหลายเท่าเลย

ฉะนั้นเวลาจิตมีสมาธิ ได้ยินเสียงแค่กรรไกรตัดผม รู้สึกเสียงดังมากนั้นเป็นเรื่องปกติ เรื่องของสมาธิ พอภาวนาอย่างนั้นก็จะเห็น ผมที่ถูกตัดออกไปมันก็ไม่ใช่ตัวเรา ที่หลวงพ่อพูดบ่อยๆ พวกเราภาวนา อย่างพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อย่างนี้ ผมพอถูกตัดออกไปก็ไม่รู้สึกว่าเป็นเราแล้ว ถ้าจิตทรงสมาธิอยู่ด้วยมันก็เห็น จิตที่เป็นคนรู้มันก็ไม่เป็นเราด้วย ตัวเรามันก็ไม่มี จะเห็นความจริงว่าที่ตัวเรามันไม่มีหรอก

 

“ถ้าเราทำของเราสม่ำเสมอ ถึงจุดหนึ่งสติมันอัตโนมัติ
ศีล สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติมันเกิดขึ้น มันจะเข้าถึงอริยมรรค”

 

ตัวเรามันเกิดจากการหมายรู้ผิด การคิดผิด จนกระทั่งเกิดเป็นความเห็นผิด หมายรู้ผิดซ้ำซาก เวลาคิดมันก็คิดผิดซ้ำซาก ในที่สุดมันก็เกิดความเห็นผิดขึ้นมา เราภาวนาอย่างเราดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ดูไปผมถูกตัดออกไปมันก็ไม่ใช่เรา แล้วผมมันก็เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตมันทำหน้าที่รู้ ไม่ได้หลงไปอยู่ในโลกของความคิด ความเป็นตัวตนก็ไม่มี ถ้าจิตมันหลงไปอยู่ในโลกของความคิด ความเป็นตัวตนมันก็มี ความเป็นตัวตนก็มีขึ้นมา

การภาวนาไม่ใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็ญ เกินวิสัยที่มนุษย์ธรรมดาๆ อย่างพวกเราจะทำได้ คนอื่นทำได้ เราก็ทำได้ มันอยู่ที่เราทำ หรือไม่ทำเท่านั้นล่ะ มันก็เหมือนกินข้าว มีหน้าที่กินไปเรื่อยๆ ถึงเวลามันก็อิ่มของมันเอง การภาวนานี้ก็เหมือนกัน มีหน้าที่ภาวนาให้สม่ำเสมอ แล้วทำทุกวันๆ ไป ถึงจุดที่ศีล สมาธิ ปัญญามันแก่กล้า อริยมรรคมันก็จะเกิดขึ้นโดยเราไม่ได้เจตนา เวลาที่มรรคผลมันจะเกิด เราไม่รู้ตัวล่วงหน้าหรอก ถ้าเรารู้ตัวล่วงหน้า โอ้ กำลังจะเกิดแล้วๆ อย่างนี้จิตจะถอนทันทีเลยไม่เกิดแล้ว จิตจะฟุ้งซ่านแทน ฉะนั้นเราไม่ได้คาดหวังว่า เมื่อไหร่จะได้ผลของการปฏิบัติ หน้าที่เรามีอันเดียวคือลงมือปฏิบัติสม่ำเสมอไป ไม่ต้องหวังว่าจะได้ผลเมื่อไร

ถ้าเราทำของเราสม่ำเสมอ ถึงจุดหนึ่งสติมันอัตโนมัติ ศีล สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติมันเกิดขึ้น มันจะเข้าถึงอริยมรรคอริยผลเป็นรอบๆ ไป มีทั้งหมด 4 รอบ เวลาเกิดมรรคผลหลวงปู่ดูลย์ท่านเรียก จิตยิ้ม จิตมันแสดงความมีอยู่ของตัวมันเอง ด้วยอาการยิ้มแย้ม มันไม่มีรูปร่าง เป็นความรู้สึกเบิกบานขึ้นมา ท่านยืมคำในตำรา คือคำว่า หสิตุปปาท หสิตะ อุบัติ อุปบาท ความเบิกบาน มันอุบัติมันเกิดขึ้น มันเป็นแค่ว่า อเหตุกจิต หมายถึงจิตซึ่งไม่มีเหตุ สิ่งที่เรียกว่าเหตุก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ สิ่งที่เรียกว่าเหตุมี 6 อันโลภ โกรธ หลง กับ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง จิตจำนวนมากก็เกิดด้วยความโลภ โกรธ หลง จิตบางดวงเกิดด้วยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง แต่ตัวอเหตุกจิต เกิดโดยไม่มีเหตุทั้งดีและชั่ว มันมี 3 อัน 3 ดวง เป็นวิบาก

ดวงที่หนึ่งชื่อ ปัญจทวาราวัชชนจิต อันนี้หลวงปู่ดูลย์สอน จะตรงตำราหรือเปล่าไปอ่านตำราเอาเอง ปัญจทวาราวัชชนจิต อันที่สองชื่อ มโนทวาราวัชชนจิต อันที่สามชื่อ หสิตุปปาท ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิตอัตโนมัติที่ทำหน้าที่สับสวิตซ์ เหมือนคนสับรางรถไฟ สับให้รถวิ่งซ้าย วิ่งขวา หรือวิ่งตรงๆ อะไรแบบนี้ ปัญจทวาราวัชชนจิต จะเป็นคนสับรางว่า ต่อไปนี้จิตจะไปเกิดที่ตา หรือจิตจะไปเกิดที่หู หรือจะเกิดที่จมูก ที่ลิ้น หรือจะไปเกิดที่กาย เราเลือกไม่ได้ มันมีจิตดวงหนึ่ง ชื่อปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นตัวเลือก อีกตัวหนึ่งเป็นมโนทวาราวัชชนจิต เป็นตัวเปิดทวารใจ ว่าจิตถัดจากนี้จะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล อันนี้เราก็เลือกไม่ได้ จิตที่ชื่อมโนทวาราวัชชนจิต มันเป็นคนเลือกให้

อย่างเราเจตนาจะไม่โกรธ อยู่ๆ มันก็โกรธ ห้ามมันไม่ได้หรอก จิตเจตนาจะไม่โลภ ตัวนี้มโนทวาราวัชชนจิตทำงาน เลือกที่จะโลภมันก็โลภ มันควบคุมไม่ได้ หลวงปู่บอกว่าปัญจทวาราวัชชนจิต จิตที่เปิดทวารทั้ง 5 ว่าจะเปิดไปทางทวารตา หู จมูก ลิ้น หรือกาย กับมโนทวาราวัชชนจิต จิตที่เปิดทวารใจเป็นสาธารณะ เกิดกับสัตว์ทั้งหลาย คนก็มี หมาก็มี แมวก็มี เลือกไม่ได้หรอก มันเป็นสาธารณะ แต่อเหตุกจิตตัวที่สามคือ หสิตตุปปาท มีเฉพาะในพระอริยบุคคล ถ้าในตำราเขาจะสอนกันบอกว่า เป็นจิตที่ทำให้เกิดอาการยิ้มแย้มของพระอรหันต์

ฉะนั้นพระอรหันต์จะยิ้มก็มีหสิตุปปาท จะยกตัวอย่างพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ อย่างพระโมคคัลลา ท่านไปเห็นเปรต ท่านเดินขึ้นเขาคิชฌกูฏแล้วไปเจอเปรต ท่านก็ยิ้ม พระที่ไปด้วยก็ถามว่าท่านยิ้มอะไร ท่านบอกเดี๋ยวไปเจอพระพุทธเจ้า ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อนแล้วค่อยเล่าทีเดียว ท่านเล่าว่าท่านเห็นเปรตตัวหนึ่ง แล้วจิตของท่านก็เบิกบานขึ้นมา ท่านก็ยิ้มออกมา ในตำราพูดถึงว่า เป็นจิตที่ทำให้เกิดอาการยิ้มแย้มของพระอรหันต์ บางตำราหนักกว่านั้นอีก ไปบอกว่าเป็นจิตที่พระอรหันต์ยิ้มแย้มเพราะเห็นเปรต ถ้าเห็นอย่างอื่นแล้วยิ้มไม่ใช่อีก ตำรามีเยอะ รวมความคือเป็นจิตที่ยิ้มแย้มของพระอรหันต์

หลวงปู่ดูลย์ท่านยืมศัพท์นี้มาใช้ ท่านแปลไม่ตรงกับปริยัติหรอก ท่านภาวนาท่านพบว่า ตอนที่บรรลุมรรคผลแต่ละชั้นๆ ในขณะที่อริยผลเกิดขึ้น มันมีความเบิกบาน มีความยิ้มแย้มแจ่มใส เบิกบานเกิดขึ้นในจิตด้วย ท่านหาศัพท์มาใช้ไม่ได้ ท่านเลยยืมคำว่า หสิตุปปาท มาใช้ หสิตุปปาทของท่านมี 4 ครั้ง ตอนที่เกิดโสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล อรหัตตผล แต่หสิตุปปาทตามตำรามีได้เรื่อยๆ เวลาพระอรหันต์ท่านเห็นอะไรท่านก็ยิ้ม ที่ยิ้มไม่ได้ยิ้มเยาะเย้ยเปรต ท่านยิ้มว่าเราพ้นแล้ว เมื่อก่อนเราก็เป็นอย่างนี้ แต่ตอนนี้พ้นไปแล้ว หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกหสิตุปปาทเป็นจิตที่มันยิ้มเยาะเย้ยกิเลส ไม่ได้เยาะเย้ยเปรตอะไรหรอก อันนี้เป็นศัพท์ที่ท่านยืมมาใช้ จิตมันยิ้มเยาะเย้ยกิเลส เพราะว่าต่อไปนี้กิเลสตัวนี้ หลอกลวงเราไม่ได้อีกต่อไปแล้ว อย่างพอได้พระโสดาบัน ก็จะยิ้มเยาะกิเลส ยิ้มเยาะสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลพรตปรามาส ว่าสิ่งเหล่านี้หลอกลวงเราไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เมื่อก่อนเราหลงทางอยู่ เดี๋ยวนี้เรารู้แล้ว

ตรงนี้ก็คล้ายๆ ตอนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ แล้วท่านอุทานทักตัณหานั่นเอง เย้ยหยันตัณหาว่า “นายช่างผู้สร้างเรือน เจ้าเคยสร้างเรือน สร้างภพ สร้างชาติให้เรามานานแสนนาน เดี๋ยวนี้เรารู้จักเจ้าแล้ว เจ้าทำอะไรเราไม่ได้แล้ว สร้างภพ สร้างชาติให้เราไม่ได้อีกแล้ว” จิตมันจะเยาะเย้ยกิเลสแบบนี้ ไม่ใช่ไปด่าหยาบคายอะไร เป็นความร่าเริงของจิตที่เอาชนะกิเลสได้ ทั้งๆ ที่เคยแพ้มาตลอด

หลวงปู่ท่านยืมศัพท์ หสิตุปปาท มาใช้ ศัพท์จริงๆ จะเรียกว่าอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน หลวงพ่อเคยถามท่าน “หลวงปู่ครับ เราภาวนาเราจะต้องมีจิตยิ้มกี่ครั้ง” ท่านก็ยกมือนับ “1 2 3 ไม่ใช่ 1 2 3 4 ครั้ง คือเกิดโสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล อรหัตตผล 4 ครั้ง” ท่านว่าอย่างนี้ คราวหนึ่งหลวงปู่ดูลย์ท่านไปเยี่ยมหลวงปู่เทสก์ที่วัดหินหมากเป้ง ผู้เฒ่าไปเยี่ยมกัน หลวงปู่เทสก์ก็อาราธนาให้ท่านแสดงธรรม มีพวกโยมอยู่ในวัดหลายคน อยู่กันเยอะยุคที่หลวงปู่เทสก์ท่านยังอยู่ บางช่วงอยู่กันเป็นร้อยเลยญาติโยม มีสร้างกุฏิไว้เยอะแยะ หลวงปู่ดูลย์ท่านก็พูดเทศน์เรื่อง อเหตุกจิต 3 ตัวนี้ ตัวสุดท้ายพูดถึง หสิตุปปาท จิตมันยิ้มเยาะเย้ยกิเลส เสร็จแล้วหลวงปู่ดูลย์ท่านก็กลับสุรินทร์ ในวัดหินหมากเป้งก็ภาวนากันใหญ่เลย คึกคัก ได้เจอหลวงปู่ดูลย์กัน พวกญาติโยม อีกช่วงหนึ่งกี่วันหลวงพ่อจำไม่ได้แล้ว คุณป้าท่านหนึ่งคนนี้รู้จักกับหลวงพ่อ คุ้นเคยอยู่ คุณป้าท่านนี้ก็เข้าไปหาหลวงปู่เทสก์บอก “หลวงปู่เจ้าคะ ดิฉันภาวนา จิตมันยิ้มแล้วค่ะ” หลวงปู่ถาม “จิตเจ้ายิ้มอย่างไร” บอก “มันยิ้มเยาะเย้ยกิเลส เห็นใครมีกิเลส มันยิ้มเยาะเย้ยหมดเลย” หลวงปู่บอก “ไม่ใช่นะ ยิ้มเยาะเย้ยคนอื่น มันไม่ใช่ มันยิ้มเยาะเย้ยกิเลสตัวเองถึงจะถูก”

 

เข้าใจความจริงแล้วจะวาง

เราค่อยๆ ภาวนาไป มีอะไรให้เรารู้ เราเห็น เราเข้าใจมากมาย ของไม่เคยรู้จะได้รู้ ของไม่เคยเห็นจะได้เห็น ของไม่เคยเข้าใจก็จะได้เข้าใจ พอมันเข้าใจซะแล้วมันก็จะวาง เข้าใจแล้วไม่ได้ไปยึดไว้หรอก เข้าใจแล้วก็จะวาง เข้าใจความจริงของร่างกายก็จะวางร่างกาย เข้าใจความจริงของจิตมันก็จะวางจิต พอมันปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิตได้ ก็ปล่อยวางขันธ์ 5 ได้ มันก็เหลือแต่ความไม่ทุกข์ เพราะตัวขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ เมื่อวางตัวทุกข์ซะแล้ว มันก็เป็นตัวไม่ทุกข์ มันพ้นทุกข์ เมื่อภาวนาไปเรื่อยๆ มีชีวิตที่ไม่ทุกข์ ลักษณะของชีวิตที่มันไม่ทุกข์แล้ว แต่ยังไม่ตาย ยังไม่เข้านิพพาน แต่ว่าล้างกิเลสไปหมดแล้ว จิตมันจะไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงตามโลกธรรมทั้ง 8 อย่างมีลาภก็ไม่ฟู มียศ มีสรรเสริญ มีสุขอะไรอย่างนี้ จิตก็ไม่ฟูขึ้น เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา มีความทุกข์ในร่างกายอะไรเกิดขึ้น จิตใจก็ไม่แฟบลง

ฉะนั้นภาวนาจนกระทั่งมันล้างกิเลสไปแล้ว จิตจะไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงไปตามโลก จิตจะไม่มีความเศร้าโศก ถึงคนที่เรารักจะตายไป สิ่งที่เรารักจะสูญหายไป กระทั่งชีวิตร่างกายนี้จะแตกดับ จิตก็ไม่เศร้าโศก จิตไม่มีธุลี ไม่มีกิเลส สะอาดหมดจดโดยไม่ต้องระวังรักษา จิตจะเข้าถึงความปลอดภัย ปลอดภัยก็คือพ้นจากอำนาจของมาร มาร อย่างขันธมาร ร่างกายนี้จะแตกดับ จิตก็ไม่เดือดร้อน จิตมันจะปรุงแต่ง ขันธ์มันปรุงแต่ง จิตก็ไม่เดือดร้อน ไม่หวั่นไหวไปกับความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ

ถามว่าพระอรหันต์มีความคิดนึกปรุงแต่งไหม มีไม่ใช่ไม่มี จิตต่างหากที่พ้นไป แต่ขันธ์ยังอยู่ ขันธ์มันก็ปรุงของมันไปตามเรื่อง ตามราว กิเลสไม่มี อภิสังขารมารไม่มี มาทำอะไรจิตใจเราไม่ได้ จิตของผู้บริสุทธิ์ เทวปุตรมาร พวกจิตดวงจิตริษยาทั้งหลายอะไรพวกนี้ ก็เข้ามากล้ำกรายอะไรไม่ได้ ความตายก็มากล้ำกรายไม่ได้ มารทั้ง 5 ตัวมาทำร้ายจิตใจดวงนี้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นจิตเข้าถึงความเกษม เกษมแปลว่า ปลอดภัย ไม่ได้แปลว่าสุข คนไทยมาแปล เกษม ว่ามีความสุข เกษมแปลว่าปลอดภัย secure ฉะนั้นเราภาวนาจะเข้าถึงความปลอดภัย คือพ้นจากอำนาจของมาร แล้วฝึกทุกวันๆ ไป ทีแรกก็ล้มลุกคลุกคลาน เป็นเรื่องปกติ ค่อยฝึกทุกวันๆ ไป

หมอเรียนกับหลวงพ่ออยู่ร่วม 20 ปี ใช้เวลานานอยู่ 20 ปี ค่อยๆ ฝึกไป แล้วเราจะรู้ด้วยตัวเอง เราไม่ได้รู้หรอกว่าเป็นพระอริยะหรือเปล่า คนที่พยากรณ์ได้คือพระพุทธเจ้า สาวกก็แค่อนุมานกัน ที่จริงแล้วคนที่รู้ได้คือเจ้าตัวนั่นล่ะ อย่างเวลาเราภาวนา เราคิดว่าเราได้เป็นพระโสดาบัน เราค่อยๆ สังเกตจิต สังเกตตอนไหน ตอนที่จิตเผลอ พระโสดาบันมีจิตเผลอไม่ใช่ไม่มี ตอนที่จิตเผลอแล้วมันมีความรู้สึกว่า จิตนี้คือตัวเราไหม ตัวเรายังมีอยู่ไหม ใช้สังเกตอย่างนี้เอา ถ้าได้โสดาบันจริงมันจะไม่มีเงา กระทั่งเงาอย่าว่าแต่ตัวมันเลย แค่เงาของตัวตนก็ยังไม่มี ถ้าได้โสดาบันแล้ว

ถ้าได้สกิทาคามี สติมันจะเร็วมากเลย กิเลสเกิดปั๊บก็ดับๆ ไปเลย จะเห็นด้วยตัวเอง ถ้าเป็นพระอนาคามี จิตมันจะไม่หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มันจะไม่เพลิดเพลินไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางร่างกาย มันจะหลงอยู่ในทางใจเท่านั้น จะไม่หลงไปดูนางงามแล้วก็ตื่นเต้นกับนางงาม หรือไปเห็นสิ่งที่ถูกใจ ก็เพลิดเพลิน ยินดี พอใจ มีกามราคะเกิดขึ้น หรือไปกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วหงุดหงิดไม่พอใจอะไรอย่างนี้จะไม่มี แต่ต้องดูให้ดีว่าเป็นเรื่องของจิตหรือขันธ์ แยกกันให้ออก จิตนั้นไม่มีกามราคะ ไม่มีปฏิฆะ แต่ขันธ์มันแสดงออกตามความเคยชินเป็นวาสนา ฉะนั้นบางองค์อย่างทำท่าหงุดหงิดๆๆ ทำไปอย่างนั้น แต่จิตไม่ได้เป็น แล้วภาวนาถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว จะรู้เลยว่าจิตมันปล่อยวางจิตไปแล้ว เพราะมันรู้แจ่มแจ้งว่าตัวจิตนี้คือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 นี้คือตัวทุกข์ แตกหักลงที่จิตดวงเดียวนั่นล่ะ เพราะมีจิตดวงเดียวก็สร้างขันธ์ 5 ขึ้นมาได้ ถ้ายังยึดถือจิตอยู่แม้แต่ดวงเดียว เวลาตายไปจิตมันก็จะไปสร้างขันธ์ 5 ขึ้นมาใหม่ไม่รู้จักจบ

ฉะนั้นตัวจิตตัวผู้รู้ มันมีเชื้อเกิดอยู่ข้างในคืออวิชชา เป็นเชื้อเกิดที่อยู่ในจิตผู้รู้ มันเหมือนต้นอ่อนของเมล็ดมะม่วง ต้นอ่อนมันอยู่ในเมล็ดมะม่วง เราเอาเม็ดมะม่วงไปเพาะ เดี๋ยวต้นมันก็งอกขึ้นมาอีก กลายเป็นมะม่วงต้นใหญ่ ออกลูกออกหลานขึ้นมาได้อีก จิตที่ยังมีอวิชชาอยู่ มันก็ไปงอกขันธ์ 5 ขึ้นมาได้อีก จะทำลายอวิชชา ต้องรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ เพื่อรู้ทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์เมื่อไหร่ก็จะละสมุทัยเมื่อนั้น ถ้าละสมุทัยเมื่อไหร่ก็แจ้งนิโรธ คือแจ้งพระนิพพานเมื่อนั้น ถ้าแจ้งนิโรธเมื่อไหร่ ก็เกิดอริยมรรคเมื่อนั้น ฉะนั้นการรู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคนั้น เกิดขึ้นในขณะจิตเดียวกันเท่านั้นเอง พอเกิดแล้วรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง จิตก็เข้าถึงพระนิพพาน เกิดอริยมรรคเข้าถึงพระนิพพาน จิตต่อไปนี้ไม่มีอะไรปนเปื้อนได้ แต่จิตยังทำงานปกติ จิตที่ไปมองเห็นรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ก็ทำงานตามปกติ

พระอรหันต์ไม่ใช่เป็นมนุษย์พิการเหมือนหุ่นยนต์นั่งแข็งทื่อทั้งวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็กระทบอารมณ์ ใจก็ยังคิดอยู่ ไม่ใช่ไม่คิด บางทีใจก็พิจารณาธรรมะ ประณีตลึกซึ้ง เวลามีผู้มาขอฟังธรรมะ ใช้คำว่ามีผู้มาขอฟัง ไม่ได้ใช้คำว่ามีคนมาขอฟัง เวลามีผู้มาขอฟังธรรมะ จิตมันก็ถ่ายทอดธรรมะออกมา ฉะนั้นการทำงานของขันธ์ ตัวจิตนั้นมันว่าง มันไม่มีตัว มีตน ไม่มีขอบ มีเขตอะไร พระอรหันต์แต่ละองค์ เครื่องอยู่ท่านก็ไม่เหมือนกัน แล้วต้องมีเครื่องอยู่ ไม่ได้ติดในภพ แต่ก็ยังมีเครื่องอยู่ อยู่แบบไม่ติด แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน

บางองค์อย่างพระอนุรุทธ เครื่องอยู่ของท่านคือการใช้ทิพยจักษุ ดูสัตว์ตามโลกธาตุต่างๆ ท่านบอกท่านเห็นสัตว์ในโลกธาตุต่างๆ ตั้งพันโลก เกิดดับในเวลาครู่เดียวเอง เครื่องอยู่ของท่านคือดูออกข้างนอก ท่านไม่กลัวจิตออกนอก เพราะจิตออกไปก็ไม่เดือดร้อนอะไร บางองค์ก็อยู่กับการเจริญเมตตา บางองค์ก็เจริญปัญญา บางองค์มีกรรมฐานแปลกๆ เฉพาะตัวของท่าน อยู่กับความไม่มีศัตรู ไม่ทำสงครามอะไรกับใคร อยู่ภายในสบาย เครื่องอยู่แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน เป็นไปตามจริตนิสัย วาสนาบารมีที่สะสมมาแตกต่างกันไป ของเล่นของแต่ละองค์ก็ไม่เหมือนกัน บางองค์ก็ไม่ค่อยมีของเล่น บางองค์ของเล่นเยอะ พวกของเล่นเยอะคนก็จะนับถือ คนที่เข้าไปหาส่วนมากก็ไม่ค่อยได้ดี เพราะไม่เอาของจริงจัง เอาแต่ของเล่น

 

“ศีลต้องรักษา ถ้าเราไม่รักษาศีล สมาธิก็จะเสื่อม
ถ้าไม่มีสมาธิที่ถูกต้องก็ไม่มีปัญญา”

 

ค่อยภาวนา ค่อยทำทุกวันๆ ภาวนาจะต้องทำอะไรบ้าง รักษาศีล 5 ไว้ให้ดี ศีล 5 สำคัญที่สุด ศีล 227 ก็ว่าสำคัญ แต่ศีลที่เป็นหัวใจจริงๆ คือศีล 5 นั่นล่ะ ในอริยมรรคมีองค์ 8 เรื่องของศีล 5 สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ เรื่องของศีล 5 จริงๆ ก็คือศีล 4 ด้วยซ้ำไป สัมมาวาจาก็ศีลข้อ 4 สัมมากัมมันตะ คือการที่เรามีศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น ในชีวิตร่างกาย ในทรัพย์สิน ในสิ่งที่รัก ไม่เบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่น มีสัมมาวาจา ถ้าเราไปดูในกุศลกรรมบถ 10 ข้อ เราจะทึ่งเลย สัมมาวาจากว้างขวางมาก สัมมาวาจา ครอบคลุมกุศลตั้งหลายข้อ อย่างเราไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม เป็นกุศลแต่ละข้อ แต่ละข้อ แต่ตัววาจาที่ดี ตัวไม่มุสาวาท มีตั้งแต่ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ปาเข้าไปอีก 4

ฉะนั้นในกุศลกรรมบถ 10 เป็นเรื่องของศีลตั้ง 7 ข้อ แล้วอีก 3 ข้อก็คือเราไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของราคะ โทสะ ตัวสุดท้ายไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของโมหะ มีนิดเดียวเท่านั้นเอง 3 ตัวหลังนี้ 7 ตัวแรกเป็นเรื่องของศีลทั้งนั้นเลย ฉะนั้นการรักษาศีล จำเป็นต้องรักษานะ ถ้าเราไม่รักษาศีล ไม่มีทางที่จะเกิดสมาธิที่ดีได้เลย บางคนมีสมาธิดี เข้าฌานได้อะไรได้ เข้าฌานได้เสียศีล สมาธิเสื่อม สมาธิจะค่อยๆ เสื่อม ถ้าเก่งมากๆ ก็ใช้เวลานานหน่อยกว่าจะเสื่อมหมด ถ้าไม่ค่อยเก่งก็เสื่อมอย่างรวดเร็วเลย อย่างเทวทัตเคยมีฤทธิ์มาก ตั้งแต่สมัยต้นๆ พุทธกาล กว่าจะเสื่อมเต็มที่แก่แล้ว อายุเยอะแล้ว ขนาดเทวทัตทำชั่วเยอะ กว่าธรณีจะสูบ ช่วงปลายๆ พุทธกาลแล้ว ใช้เวลาเหมือนกัน เพราะอะไร บุญบารมีของเขาก็เยอะเหมือนกัน กว่ากรรมชั่วจะให้ผลเต็มที่ก็ใช้เวลา

ฉะนั้นพวกเรา ศีลต้องรักษา ถ้าเราไม่รักษาศีล สมาธิมันจะเสื่อม ไม่มีสมาธิที่ถูกต้องก็ไม่มีปัญญา ถ้าสังเกตให้ดี เวลาหลวงพ่อพูดถึงสมาธิที่จะทำให้เกิดปัญญา หลวงพ่อจะต้องมีคำสร้อยออกมาว่า สมาธิที่ถูกต้องคือสัมมาสมาธิ สมาธิส่วนหนึ่งไม่ทำให้เกิดปัญญา ทำให้เกิดความหลงผิดด้วยซ้ำไป ต้องสมาธิที่ถูกต้อง คือสภาวะที่จิตตั้งมั่น สภาวะแห่งความตั้งมั่นของจิต คำว่าสมาธิที่ถูกต้อง คือสภาวะแห่งความตั้งมั่นของจิต ตั้งมั่นโดยไม่เจตนาให้ตั้งมั่น ตั้งมั่นเพราะมันไม่ไม่ตั้งมั่น เวลามันไม่ตั้งมั่นก็คือมันไหลไปทางทวารทั้ง 6 ส่วนใหญ่ก็ไหลไปคิด พอเรามีสติรู้ทันจิตที่ไหลไป จิตที่ไหลคือจิตฟุ้งซ่าน ทันทีที่มีสติรู้ทันจิตฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านก็ดับ จิตตั้งมั่นก็เกิด มันตรงข้ามกันระหว่างจิตตั้งมั่น กับจิตฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านเป็นโมหะชนิดหนึ่ง จิตที่มีโมหะ จิตสงสัยเป็นโมหะอีกตัวหนึ่ง

ฉะนั้นเราต้องมีศีล แล้วฝึกสมาธิ ฝึกสมาธิเป็นงานของจิตแล้ว ศีลเป็นเรื่องการควบคุมกายวาจาให้เรียบร้อย สมาธิเป็นเครื่องควบคุมจิตใจให้เรียบร้อย เรียบร้อยนี้มี 2 ระดับ เรียบร้อยแบบสงบ กับ เรียบร้อยแบบสงบและตั้งมั่น ถ้าเวลาจะพักผ่อนก็สงบอยู่เฉยๆ เวลาจะเจริญปัญญาก็ใช้สมาธิชนิดที่ทั้งสงบทั้งตั้งมั่น ตัวนี้ที่ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านเรียกว่า ตัวจิตผู้รู้ จิตผู้รู้ไม่ใช่ตัวสมาธิ แต่จิตผู้รู้ คือจิตซึ่งมีสมาธิที่สงบและตั้งมั่น ไม่ถูกอกุศลทั้งหลายครอบงำ และที่สำคัญคือเกิดอัตโนมัติ อสังขาริกกัง จะมี 2 ดวงเท่านั้นจิตชนิดนี้

ในจิต 89 ดวง จิตทั้งหมดมี 89 ดวง มีอยู่ 2 ดวงที่เป็นตัวหัวโจกในการปฏิบัติ เป็นจิตซึ่งเป็นกุศลอย่างยิ่ง เรียกมหากุศลจิต ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นเอง โดยไม่ได้ชักชวน ชวนเชิญ เกลี้ยกล่อม บีบบังคับ ไม่ได้ทำอย่างนี้ มันเกิดอัตโนมัติ แล้วมี 2 ดวงได้อย่างไร เพราะดวงหนึ่งเป็นจิตที่มีความสุข อีกดวงหนึ่งเป็นจิตที่มีอุเบกขา ฉะนั้นตัวผู้รู้ยังมี 2 แบบ เป็นจิตผู้รู้ที่มีความสุขในตัวเอง กับเป็นจิตผู้รู้ที่มีอุเบกขาอยู่ในตัวเอง อย่างเราภาวนา พอจิตตั้งมั่นปุ๊บขึ้นมาบางทีมีความสุขผุดขึ้นมาเอง แรกๆ ที่หัดภาวนา พอจิตสงบปุ๊บความสุขก็จะผุดให้ดูเลย มันสุขของมันเอง แล้วก็พอฝึกมากๆ เข้ามันชิน มันก็เริ่มเป็นอุเบกขา

ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งท่านเคยเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า ท่านภาวนาแล้วจิตท่านมันรวบอาสวะกิเลสทั้งหลายถูกรวบมา แล้วท่านขว้างทิ้ง เหมือนถอนต้นหญ้ารวบต้นหญ้าแล้วขว้างลงเหวไปเลย แล้วบอกว่าจิตเราก็มีความสุขอยู่ปีกว่าๆ แล้วมันก็เป็นอุเบกขา เราก็เป็นของเราอย่างนี้ ท่านเล่าอย่างนี้ ฉะนั้นหัดทีแรกมันจะมีความสุขเยอะ แต่หัดไปๆ มันจะเป็นอุเบกขา กระทั่งตอนบรรลุมรรคผล บรรลุมรรคผลทีแรก มีความสุขเยอะ บางคนไม่นอนตั้งหลายวัน อย่างพระพุทธเจ้าเราตอนที่บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ท่านมีความสุขอย่างนี้ที่เรียกว่า เสวยวิมุตติสุข พลังของพระพุทธเข้ามากกว่าสาวก ท่านเสวยวิมุตติสุขทีหนึ่ง 49 วัน เสวยวิมุตติตั้ง 49 วัน มีความสุขอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน ของเราไม่ถึงขนาดนั้นหรอก พวกเราสาวก สมมุติเราได้ธรรมะขั้นต้น จิตยิ้มหนที่หนึ่ง บางคนเบิกบาน ไม่นอนตั้ง 3 วัน 3 คืนเลย สว่างไสวเบิกบาน มีความสุขอยู่อย่างนั้น แต่ระวังบางคนมีวิปัสสนูปกิเลส มันไม่นอน สว่างแบบเดียวกันเลย มันหลอกเอา ต้องระวังเหมือนกัน

 

รักษาศีล 5 ทุกวันต้องฝึกจิตฝึกใจ

ฉะนั้นเราอยากที่จะพ้นทุกข์ ถือศีล 5 ไว้ ทุกวันต้องฝึกจิตฝึกใจ อบรมจิตให้มีสมาธิ ถ้าต้องการสมาธิที่สงบ ก็ฝึกน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข อารมณ์นั้นต้องไม่ยั่วกิเลส ด่าคนแล้วมีความสุขอย่างนี้ไม่เอา ไม่ได้สมาธิที่ถูกต้องหรอก พุทโธๆๆ อะไรแบบนี้ ไม่ทำให้กิเลสกระเพื่อม หรือพิจารณาร่างกายผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พิจารณาปฏิกูลอสุภะ พิจารณาเนื้อ หนัง เอ็น กระดูก อะไรก็แล้วแต่ คิดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คิดถึงศีล คิดถึงทานที่ทำแล้วด้วยดี คิดถึงความสงบ คิดถึงความตาย คิดถึงลมหายใจ อะไรก็ได้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เลือกเอา บางคนถนัดเดิน เดินแล้วสติเกิดบ่อยก็เดินเอา บางคนถนัดนั่ง ก็นั่งเอา แต่ถนัดนอนมีเหมือนกันแต่น้อยเต็มที เท่าที่ได้ยินมามีไม่กี่องค์ที่ท่านได้ดีตอนนอน มีอยู่ไม่มาก ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ในอิริยาบถนอน ถ้าตามสถิติพวกเราก็อย่าขยันนอนภาวนา นอนภาวนาไม่ดี มันจะไม่ค่อยเข้มแข็ง มันจะหลับเอา กิเลสมันครอบ

ฉะนั้นเราเลือกกรรมฐานที่สบายใจ ที่อยู่แล้วสบายใจ กิเลสไม่กระเพื่อม ไม่ฟู เราอยู่กับตัวนั้น พอเราอยู่กับกรรมฐานที่มีความสุข จิตมันจะสงบอัตโนมัติ แล้วถ้าอยากได้จิตตั้งมั่น ก็มีสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่นไว้ จิตมันหลงไปดูรู้ท้น หลงไปฟังรู้ทัน หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย อะไรแบบนี้คอยรู้ทันไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่รู้ทัน จิตที่ฟุ้งซ่านไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจจะดับ จิตที่ตั้งมั่นจะเกิดขึ้นมาแทน ฝึกบ่อยๆ จนให้มันชำนิชำนาญ มีสติถี่ยิบขึ้นมาเลย จิตผู้รู้ก็จะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้น ที่จริงมันตั้งทีละขณะๆ แต่มันเกิดบ่อย มันก็จะรู้สึกตั้งมั่นมากๆ พอจิตตั้งมั่นแล้วก็อย่าอยู่แค่นั้น หน้าที่ต่อไปคือการเจริญปัญญา

การเจริญปัญญาก็มีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมที่กำลังปรากฏ มีสัญญาเข้าไปหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของรูปธรรม หรือนามธรรมอันนั้น มีการหมายรู้ ตรงนี้ก็ต้องให้สัญญานี้อัตโนมัติ ก็ต้องฝึกอีก ฝึกหมายรู้ อย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านชอบทำกัน คือออกจากสมาธิ แล้วมาพิจารณาร่างกายว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตรงนี้ไม่ได้วิปัสสนา แต่บางทีท่านก็ไปยืมคำว่าเป็นวิปัสสนา จริงๆ ยังไม่ใช่ เป็นการฝึกหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของร่างกาย เราจะหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของจิตก็ได้ จิตมันทำงานได้เอง จิตแต่ละดวงมันไม่เที่ยงอะไรแบบนี้ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตกายสังเกตจิตในมุมของไตรลักษณ์ แรกๆ จงใจสังเกต แล้วมีสติระลึกรู้กายระลึกรู้ใจ สัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจ แต่ในขณะนั้นจิตไม่ถลำลงไปที่กายที่ใจ จิตเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู จิตมันตั้งมั่น เป็นแค่คนรู้คนดู เป็นผู้รู้ผู้ดู สติมันออกไปทำงาน สัญญามันออกไปหมาย

ถ้าทำอย่างนี้ได้เรื่อยๆ ต่อไปสติก็อัตโนมัติ มีอะไรแปลกปลอมเกิดขึ้น สติรู้เองไม่เจตนาจะรู้ สัญญาเข้าไปหมายรู้ไตรลักษณ์ โดยไม่เจตนาหมายรู้ จิตก็ตั้งมั่นโดยไม่ได้รักษาเอาไว้ แล้วปัญญาตัวจริงจะเกิดขึ้น ไม่มีใครสั่งจิตให้เกิดปัญญาได้ ไม่มีใครสั่งจิตให้มีสติได้ ไม่มีใครสั่งจิตให้ดีได้ ไม่มีใครสั่งจิตให้บรรลุมรรคผลได้ เพราะจิตทั้งหมดนั้นเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ จิตเป็นธรรมชาติที่บังคับไม่ได้แต่ฝึกได้ ฝึกด้วยวิธีนี้ ฝึกมันด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา การเจริญปัญญาก็คือ มีจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู มีสติระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจที่กำลังปรากฏอยู่ แล้วก็หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของสิ่งที่กำลังปรากฏนั้น ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวปัญญามันจะเกิดเอง

ปัญญาคือความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ถ้าปัญญาชั้นสูง ก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ อยู่ในโลกุตตระ ปัญญาในโลกุตตระเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ปุถุชนไม่มีสัมมาทิฏฐิ ปุถุชนมีแต่ว่าเรียนเอาไว้ ท่องเอาไว้ จำเอาไว้ ลึกๆ ก็ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ เป็นพระอริยบุคคลขึ้นมา ถึงจะได้มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิเกิดในมรรค ไม่ได้เกิดข้างนอกอย่างนี้ ฉะนั้นถ้าได้เป็นพระโสดาบันอะไรขึ้นไป ก็เริ่มมีสัมมาทิฏฐิแล้ว มีความรู้ถูก มีความเข้าใจถูก ภาวนาไปจนถึงสุดขีดเลย เราจะรู้เลยว่าที่เราภาวนามาแทบเป็นแทบตาย ก็เพื่อจะได้มีสัมมาทิฏฐินี่ล่ะ ไม่ได้มีอะไร ไม่ได้อะไรมานอกจากสัมมาทิฏฐิ ไม่ได้เสียอะไรไปนอกจากมิจฉาทิฏฐิ เราได้ความรู้ถูกได้ความเข้าใจถูกมาจากการปฏิบัติ แล้วผลที่ตามมาก็คือการปล่อยวาง ปล่อยวางความยึดถือในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง

พอเราเห็นความจริงของกาย เราจะไม่ยึดถือกาย เราเห็นความจริงของจิต เราจะไม่ยึดถือจิต แล้วก็จะไม่ยึดถืออะไรอีก ถ้าไม่ยึดถือจิต จะไม่ยึดถืออะไรอีกแล้ว เพราะจิตเป็นหัวโจก จิตดวงเดียวมันสร้างขันธ์ 5 ได้ บอกแล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่ยึดถือจิต ปล่อยวางจิตไป เชื้อเกิดในจิต คือตัวอวิชชาถูกทำลายไป อันนี้ก็จะคล้ายเมล็ดของผลไม้ที่ตัวอ่อน ต้นอ่อนข้างในของมัน มันตายไปแล้ว มันเหมือนอย่างเม็ดมะม่วงอะไรแบบนี้ เก็บไว้หลายปีแล้ว เอาไปเพาะไม่ขึ้นแล้ว ตายไปแล้ว เชื้อเกิดมันดับ เราก็ฝึกจนเชื้อเกิดในจิตของเราดับ เชื้อเกิดจะดับได้ ต้องจิตยิ้ม 4 รอบ อย่างที่หลวงปู่ดูลย์บอก ถ้ารอบที่หนึ่งก็ปลอดภัยแล้วไม่ไปอบาย ค่อยๆ ฝึกไป

ธรรมะเป็นของกลาง คนไหนฝึกถูกต้อง ฝึกมากพอ ก็ได้รับประโยชน์ไป ไม่ใช่พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ธรรมะก็หายไปด้วย ธรรมะไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า ธรรมะมีมาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเพียงเป็นพระองค์แรกที่ไปตรัสรู้ธรรมะ แล้วเอาธรรมะมาสอนพวกเรา ให้เราเรียนรู้ตาม

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
20 กุมภาพันธ์ 2564