กรรมฐานในยุควุ่นวาย

เมื่อก่อนหลวงพ่อจะพูดเรื่อย ว่าการปฏิบัติมันง่าย มาดูพวกเราปฏิบัติแล้วทำไมมันยากนัก ศีลให้มันดีๆ หน่อย สมาธิให้มันมากพอ ศีลไม่รักษา คล้ายๆ ความชั่วก็ทำ กรรมฐานก็ทำ มันไปสู่ความบริสุทธิ์หมดจดไม่ได้หรอก ฉะนั้นศีลต้องตั้งใจรักษาไว้ สมาธิก็ต้องฝึก แต่เราไม่จำเป็นต้องฝึกถึงขนาดต้องเข้าฌาน คนรุ่นนี้ที่เข้าฌานได้นับตัวได้เลย สมัยครูบาอาจารย์ สังคมเป็นสังคมชนบท เป็นป่า เป็นเขา ไม่ค่อยมีข้อมูลข่าวสารอะไร วันๆ หนึ่งอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ตลอดชีวิตแทบไม่มีอะไรให้ตื่นเต้น ทำนา หมดหน้านาเกี่ยวข้าว เดือนธันวาคมเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ก็ว่าง ว่างงาน ก็ว่างไปหลายเดือนเลย จนฝนตกถึงจะทำงาน

ชีวิตของคนสมัยก่อนมันเรียบง่าย เวลาว่างๆ มีเยอะ คนไหนรักดีก็ทำสมาธิ ทำฌานไป คนไหนไม่รักดีก็กัดปลา ตีไก่ เล่นการพนันไป ฉะนั้นมันจะไม่แปลก ว่าคนรุ่นครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์หลวงพ่อรุ่นโน้น ท่านทำฌานกันเก่ง ทำสมาธิกันเก่ง สังคมบ้านเมืองมันสงบ ข่าวสารอะไรก็ไม่วุ่นวายใจ เวลาก็เหลือเฟือที่จะทำ พอถึงฤดูทำนา ถ้าภาวนาเป็นก็เห็นร่างกายมันทำนาไป ร่างกายมันไปไถนา ไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ไปหว่านข้าว ไปเกี่ยวข้าว ภาวนาเป็นมันก็ทำได้ทั้งวันเลย เพราะไม่ได้ทำงานที่ต้องคิดอะไรมาก สังคมแบบนั้นมันก็หมดไปแล้ว ทุกวันนี้กระทั่งชาวไร่ชาวนาจริงๆ ไม่ใช่เกษตรกรอย่างสมัยก่อนแล้ว ก็เป็นผู้ประกอบการ เริ่มตั้งแต่ไปเช่าที่ดินมา ไปจ้างเขามาไถ ตัวเองก็เอาข้าวไปหว่านๆ หน่อย พอข้าวขึ้นมาแล้วก็ไปจ้างเขามาเกี่ยว แทบไม่ได้ทำอะไร ก็นั่งเล่นมือถือไป

คนในเมืองทำมาหากินกัน ใช้ความคิดทั้งวันเลย ค้าขาย ขายออนไลน์ ขายกันอยู่นั่นล่ะ ไม่รู้ใครจะซื้อ มีแต่คนขายเต็มไปหมด ชอบงานสบายๆ งานที่ลำบากใช้แรงงานคนไทยไม่ทำแล้ว เราบ่นว่าเราว่างงาน จริงๆ เราไม่อยากทำงาน เราอยากสบาย ทำงานเบาๆ ทำงานนิดหน่อยได้เงินเยอะๆ บริโภคให้เยอะ นี่คือความสำเร็จในชีวิต เราตั้งเป้ากันแบบนี้ ถึงต้องเอาต่างด้าวมาทำงานแทนที่คนไทย ตั้งหลายล้านคนทั้งประเทศ แล้วเราบอกเราว่างงานไม่เราไม่อยากทำงาน รับสารภาพแล้วไม่อยากทำ มันลำบากไปก็ไม่อยากทำ อยากสบาย ทำงานง่ายๆ ได้เงินเยอะๆ บริโภคให้เยอะ

การเมืองก็วุ่นวาย การเมืองมีปัญหาเยอะแยะเลย ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับอินเตอร์ มีแต่เรื่องกระทบกระทั่งกันตลอดเลย แย่งผลประโยชน์กัน เศรษฐกิจก็หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเหลือเกิน แต่เดิมโบราณทำนา พันปีผ่านไปก็ยังทำเหมือนเดิม เดี๋ยวนี้ทุกอย่างเปลี่ยนเร็ว ธุรกิจเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเลย อย่างหลวงพ่อเคยอยู่ทีโอที เมื่อก่อนนี้ทีโอทีมีรายได้แค่โทรศัพท์สาธารณะเดือนหนึ่งได้หลายสิบล้าน ได้เยอะมากเลย ถึงจุดหนึ่งโทรศัพท์สาธารณะก็หายไป โทรเลขเคยทำก็หายไป ค่อยๆ หายไปทีละอย่างสองอย่าง ต่อไปมือถือก็อาจจะหายไป เปลี่ยนรูปลักษณ์ไป

 

กรรมฐานที่เหมาะกับพวกฟุ้งซ่าน

คนทำมาหากินเคยทำมาหากินอย่างนี้ ทำอาหารอร่อยขายดี ทีนี้ก็ต้องไปหาพวกบล็อกเกอร์มา รีวิว โฆษณา ใครไปติดสินบนจ้างเขามาได้ก็ขายดี ดูมันวุ่นวายไปหมด มันไม่ใช่ตรงไปตรงมาหรอก แต่ละเรื่องๆ ธุรกิจอย่างนี้เคยดี อยู่ๆ ก็พังไปเฉยๆ อย่างธุรกิจโทรคม พอถึงจุดหนึ่งก็จะอยู่ยากแล้ว การบินเคยเฟื่องฟูถึงจุดหนึ่งก็ล้มละลายเยอะแยะเลย สายการบิน เป็นหนี้เป็นสินมากมาย กระทั่งอาชีพหมอเรานึกว่ามั่นคง มีแนวโน้มที่หมอก็ไม่มั่นคงแล้ว ต่อไปมันก็จะใช้ AI ( Artificial Intelligence) ตรวจคนไข้ ตรวจได้เก่งข้อมูลมันเยอะ อาชีพที่เคยทำได้มันทำไม่ได้ขึ้นมาต่อไป มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว เมื่อก่อนสำนักพิมพ์มีเยอะแยะเลย ขายหนังสือกันรวย เดี๋ยวนี้ก็พากันเจ๊ง ไม่มีคนอ่านหนังสือ มันเปลี่ยนเร็ว ธุรกิจนี้เคยทำเงินได้ ไม่กี่ 10 ปี 10 ปี 20 ปี บางที 5 ปีอะไรอย่างนี้ ก็อยู่ไม่ได้แล้ว พลาดนิดเดียวก็แพ้ไปแล้ว มันเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว คนมันเครียด ชีวิตที่สโลว์ไลฟ์ มันไม่มีอีกต่อไปแล้ว มีแต่ชีวิตที่เร่งรีบ

ฉะนั้นที่จะมาคิดว่าจะนั่งสมาธิ เดินจงกรมทั้งวัน จะปฏิบัติให้ดี สงบ สงัด วิเวก มันไม่มีหรอก มันหมดยุคไปแล้ว ยุคนี้คือยุควุ่นวายไม่ใช่ยุควิเวก เมื่อมันวุ่นวายเราก็ต้องดูกรรมฐานที่มันทำได้ เราไม่ต้องไปฝันหรอกเรื่องจะเข้าฌานได้ เรื่องมีอภิญญา ทำโน้นทำนี้ได้ ทุกวันนี้อภิญญาก็ไม่ค่อยเห็น ส่วนมากก็เล่นไสยศาสตร์กันแทนอภิญญา สะกดคนอะไรต่ออะไร เราต้องมาดูอะไรที่เราทำได้ อะไรที่เรามี แล้วกรรมฐานแบบไหนที่เราทำได้ ทุกวันนี้สิ่งที่พวกเรามี คือเราสามารถใช้เหตุผลได้เยอะ คนแต่ก่อนจะศรัทธาสูง พอมีศรัทธามากก็มีวิริยะมาก พอศรัทธามากขยันนั่งสมาธิ เดินจงกรม ยุคเราไม่ค่อยศรัทธาแล้ว ศรัทธาเราจำกัดแล้ว สิ่งที่พวกเรามีคือการคิด ใช้เหตุใช้ผลมาก ฉะนั้นธรรมะที่เราจะยอมรับได้ เราต้องรู้เหตุรู้ผล

อย่างสมัยที่หลวงพ่อเรียนจากครูบาอาจารย์ ท่านไม่บอกเหตุผล ท่านสั่งเลยคนนี้ไปพุทโธ ไม่ต้องมาถามมาก อย่างหลวงพ่อหลวงปู่ดูลย์ท่านสั่งไปดูจิตเอา ท่านบอก “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” สอนอย่างนี้ ท่านให้การบ้านเรา เราก็มีหน้าที่มาทำ ทำด้วยความอดทน ยุคนี้หรือถ้าหลวงพ่อบอกว่าไปดูจิต ก็จะต้องถามแล้วดูทำไม ดูแล้วจะได้อะไร สงสัยไปหมดทุกเรื่อง ได้ยินธรรมะอะไรก็สงสัยไว้ก่อน งง สงสัย คิดไปไม่เลิก มันแหวกวงล้อมของความคิดไม่ออก มันถูกความคิดห่อหุ้มไว้ ใจก็ไม่เคยสงบหรอกฟุ้งซ่านตลอดเวลา ในเมื่อเราฟุ้งซ่าน เราก็จะค่อยๆ มาฝึกเอา

กรรมฐานที่เหมาะกับพวกฟุ้งซ่าน พวกคิดมาก คือสังเกตจิตใจของเราไป เราคิดเรื่องนี้มีความสุข รู้ว่ามีความสุข คิดเรื่องนี้มีความทุกข์ รู้ว่ามีความทุกข์ เรื่องที่คิดไม่สำคัญหรอก แต่พอคิดอย่างนี้แล้วความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น ตัวความรู้สึกทั้งหลายนั่นสำคัญ ถ้าพูดแบบปริยัติ ตัวความคิดมันเป็นเรื่องของอารมณ์บัญญัติ เป็นเรื่องที่คิดๆ ลอยๆ เพ้อฝัน แต่ความรู้สึกทั้งหลายมันเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ มันมีจริงๆ ในการที่จะเจริญปัญญานั้นต้องใช้อารมณ์ปรมัตถ์ ส่วนการทำสมถะใช้อารมณ์บัญญัติก็ได้ อารมณ์ปรมัตถ์ก็ได้ อะไรก็ได้สมถะ ง่าย

ถ้าเราสังเกตตัวเองไป ใจมันคิดเรื่องนี้ปุ๊บมีความสุข รู้ทัน ใจมันคิดไปเรื่องนี้ เรื่องไหนก็ตาม เรื่องอะไรก็ไม่สำคัญหรอก แต่ว่าพอมันคิดแล้วมันทุกข์ขึ้นมา รู้ทัน พอคิดแล้วใจเฉยๆ รู้ทัน คิดแล้วใจเป็นบุญ อิ่มเอิบ มีศรัทธา มีความฮึกเหิมที่จะปฏิบัติก็รู้ทัน ใจมันฮึกเหิมที่จะปฏิบัติแล้ว ส่วนใหญ่ฟังที่หลวงพ่อเทศน์แล้วใจมันจะฮึกเหิมที่จะปฏิบัติ แต่มันอยู่ได้แป๊บเดียวเดี๋ยวมันก็ฟุ้งอย่างอื่นต่อไปแล้ว ฉะนั้นต้องอดทน ต้องขยันดูจริงๆ การปฏิบัติมันไม่ยากหรอก เหมือนที่หลวงปู่ดูลย์บอก มันไม่ยากหรอกแต่มันต้องอดทน ดูแล้วดูอีก

 

ต้องอดทนตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิต

ขนาดครูบาอาจารย์รุ่นเก่า หลวงปู่มั่นท่านยังสอนเลยว่า “การปฏิบัติเหมือนการทำนา” ตัวอย่างที่ท่านยกคือเรื่องทำนาทำไร่อะไรพวกนี้ สังคมท่านยุคนั้นเป็นแบบนั้น ท่านบอก “การปฏิบัติก็เหมือนการทำนา” เรามีที่นาอยู่แปลงหนึ่ง ปีนี้ก็ทำ ปีหน้าก็ทำ ปีโน้นก็ทำ ทำไปเรื่อยๆ ก็ได้ผลประโยชน์ ได้ข้าวได้อะไรขึ้นมา พออยู่พอกินไป ภาวนาไปเรื่อยๆ จิตกับใจก็สูงขึ้นๆ ในที่สุดก็หลุดจากโลก ได้โลกุตตรธรรม เขาก็สอนกันอย่างนี้ อดทนทำแล้วทำอีก

ในยุคของพวกเรานี้ สิ่งที่ต้องทำ ต้องอดทนมากๆ เลย คือดูแล้วดูอีก ดูอะไร ก็ดูจิตดูใจเรามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดูกายมันเล่นยาก จะดูกายให้เกิดปัญญา จิตต้องทรงสมาธิจริงๆ ถ้าได้ฌานแล้วมาดูกายไม่ใช่เรื่องยากหรอก อย่างพอเราได้ฌานจริงๆ แล้วมาดูกาย ดูผม ผมสลายเลยหายไปเลย เห็นหนังศีรษะ ดูหนังศีรษะ หนังศีรษะเปิดเลยเห็นหัวกะโหลก ดูหัวกะโหลกหัวขาดกระเด็นไป ดูตัวลงมา ร่างกายนี้ จิตที่มีกำลังของสมาธิมากๆ ดูลงไปเนื้อหนังอะไรนี้สลายไปหมด เหลือแต่กระดูก ดูกระดูก กระดูกระเบิดเลย กำลังสมาธิเรามากพอ ในที่สุดกายก็หายไปหมด กายมันสลายตัวไปเหลือแต่จิตดวงเดียวอยู่

ยุคนี้เราทำไม่ได้อย่างนั้น ทำไม่ได้เราอดทน ต้องอดทนเอา ดูความเปลี่ยนแปลงของจิต พูดง่ายๆ คีย์เวิร์ดที่จะสอนก็คืออดทน ตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิต ดูได้ทั้งวันยิ่งดี ตื่นนอนมาจิตใจเราเป็นอย่างไร เช่นวันนี้เป็นวันที่จะต้องไปทำงาน ตื่นขึ้นมาใจแห้งแล้ง เบื่อ เพราะว่าอยากจะนอนสบายอยู่กับบ้าน Work From Home จนชินแล้วไม่อยากไปไหนแล้ว ถึงเวลาต้องไปทำงาน เขาจะไม่ให้ Work From Home แล้วตอนนี้ ฉะนั้นต้องออกจากบ้านไปทำงาน ใจไม่อยากไป เห็นเลยใจไม่อยากไป อยากจะนอนต่ออีกสัก 1 – 2 ชั่วโมง ช่วง Work From Home นอนไปถึงเที่ยงทุกวันเลย พอจะต้องออกไปทำงานแต่เช้า มันทรมาน ใจไม่ชอบรู้ว่าไม่ชอบ ใจที่ไม่ชอบนั้นคือใจมีโทสะ เราก็รู้ว่าใจมันมีโทสะเกิดขึ้น ดูสิโทสะจะยั่งยืนสักแค่ไหน ไม่ใช่ดูให้มันดับ แต่ดูสิมันจะอยู่ได้นานแค่ไหน ไม่ต้องไปลุ้นให้ดับ เวลากิเลสเกิดไม่ได้ไปดูเพื่อให้มันดับ แต่ดูเพื่อให้เห็นความจริงว่ามันไม่เที่ยง มันทนอยู่ไม่ได้หรอก แล้วบังคับมันไม่ได้ กิเลสจะมา กิเลสจะไป สั่งไม่ได้บังคับไม่ได้ ดูเพื่อให้เห็นความจริงคือไตรลักษณ์นี้

ฉะนั้นเวลาภาวนานั้นดูจิตดูใจของเรานี้ ตั้งแต่ตื่นนอนแล้วดูไปเรื่อยๆ เลย วันนี้ใจสดชื่นเบิกบาน รู้ว่าใจเบิกบาน วันนี้ใจเศร้าหมองรู้ว่าเศร้าหมอง จะอาบน้ำ จะกินข้าว จะขับถ่าย รู้ไปเรื่อยๆ รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของใจ อย่างพวกผู้หญิงเสื้อผ้าเยอะ วันนี้จะใส่ชุดอะไรก็เครียดมาก มีให้เลือกเยอะ กระเป๋าก็มีหลายใบ รองเท้าก็มีหลายคู่ คิดมาก ใจกังวลวันนี้ใส่ชุดไหนมันจะสวยที่สุด ใจกังวลรู้ว่ากังวล ปฏิบัติไม่เลือกกาลสถานที่ ปฏิบัติได้ทุกกาลเทศะ ภาวนาไป อดทนตามรู้ตามเห็น ไม่ต้องไปหวังว่าดูแล้วจะได้อะไร เมื่อนั้นเมื่อนี้ ถ้าดูด้วยความอยาก ดูแล้วเมื่อไรจะได้มรรคผล ไม่ได้หรอก ก็ดูด้วยความอยากตัณหามันยังอยู่ กิเลสมันยังอยู่ มันจะไปบรรลุมรรคผลได้อย่างไร

เฝ้ารู้เฝ้าดูจนเราเห็นความจริง ความจริงของร่างกาย ความจริงของจิตใจไป อย่างถ้าเราเป็นพวกคิดมาก จิตใจเราเปลี่ยนแปลงทั้งวัน จิตใจเรากระทบกระทั่งทั้งวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ จิตใจก็หวั่นไหวเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย มันเปลี่ยนถี่ยิบเลย เราเฝ้ารู้ลงไปเลย จิตใจสุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ โลภก็รู้ โกรธก็รู้ หลงก็รู้ ฟุ้งซ่าน หดหู่ อิจฉา กลัว กังวล อะไรเกิดขึ้นค่อยรู้ค่อยดูไป

 

สังเกตความรู้สึกของตัวเอง

คนไทยเรามันมีศัพท์ที่เกี่ยวกับความรู้สึก 200 – 300 ตัว หลวงพ่อเคยรวมไว้ได้ 200 ตัว มีโยมคนหนึ่งเขาไปทำต่อ เขารวมมาได้ 300 กว่าตัว ศัพท์ที่เกี่ยวกับความรู้สึก เบื่อ เซ็ง เอียน เอียนกับเซ็งก็ไม่เหมือนกัน มีความรู้สึกมีดีกรีที่ต่างกัน จะเบื่อ จะเอียน จะเซ็งนี่กลุ่มโทสะทั้งหมด แต่คนไทยแยกย่อยได้ละเอียดยิบเลย วันนี้เอียนมากเลย เบื่อหน้าคนนี้ เห็นแล้วเอียน เดี๋ยวนี้เขามีศัพท์แปลกๆ เยอะ หลวงพ่อตามไม่ทันแล้ว ศัพท์ใหม่ๆ มากมาย เด็กรุ่นนี้ ก็จะมีศัพท์เฉพาะกลุ่มของเขา ศัพท์พวกนี้มันสะท้อนความรู้สึก

เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เราเบื่อขึ้นมาเรารู้ว่าเบื่อ เราเกลียดรู้ว่าเกลียด เบื่อกับเกลียดไม่เหมือนกัน โกรธกับเกลียดก็ไม่เหมือนกัน ความรู้สึกอย่างนี้มันเกิด เราก็รู้ไปความรู้สึกอย่างนี้ๆ หยาบที่สุดเลย ความรู้สึกที่สุขทุกข์กลุ่มหนึ่ง ความรู้สึกที่ดีชั่วกลุ่มหนึ่ง ชั่วอย่างหยาบๆ ก็แยกเป็นโลภ โกรธ หลง โลภนี่เราคนไทยเราจะมีศัพท์เยอะแยะเลยที่เกี่ยวกับความโลภ เราก็เห็น ความยึดถือในความคิดความเห็น เซลฟ์จัดขึ้นมา มีมานะอัตตารุนแรง นี่ตระกูลโลภทั้งนั้น ตระกูลโกรธก็มีเยอะแยะที่ว่าเมื่อกี้ อิจฉาก็ตระกูลโกรธ เวลาอิจฉาจิตใจไม่มีความสุขหรอก เวลาตระหนี่ ขี้เหนียว ขี้เหนียวบางคนคิดว่าเป็นราคะ เป็นตระกูลโลภะ แต่สังเกตดูเวลาใจเรารู้สึกขี้เหนียว รู้สึกหวงแหน ใจเราไม่มีความสุข เราอยากดึงอันนี้ไว้ที่ตัวเรา เราไม่อยากให้คนอื่นไป นี่ขี้เหนียวหวงแหน เราดูๆ เผินๆ ดึงเอาไว้น่าจะราคะ แต่สังเกตดูตอนที่เราหวงอะไรต่ออะไร ทั้งหวงทั้งห่วง ใจเราไม่มีความสุข ถ้าใจเราไม่มีความสุข รู้ได้ทันทีเลยจิตดวงนั้นเป็นโทสะ อยู่ในตระกูลโทสะ

ถ้าใจเรามีความสุข จิตนั้นอาจจะอยู่ในตระกูลราคะก็ได้ หรือเป็นจิตที่เป็นกุศลก็ได้ ถ้าเป็นจิตที่เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์อาจจะเป็นจิตที่มีโมหะก็ได้ เป็นจิตที่มีราคะก็ได้ เป็นจิตที่เป็นกุศลก็ได้ ถ้าตัวสุขอะไรพวกนี้มันยังเกิดได้ทั้งกุศล อกุศล แต่ความรู้สึกทุกข์ในใจเป็นโทสะ จิตตระกูลโทสะทั้งสิ้นเลย เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไรใจเราไม่แช่มชื่นเมื่อนั้นเป็นตระกูลโทสะ อย่างเราหวงของ หวงของนอนไม่หลับเลย กังวล หวง กลัวว่าคนมันจะมาเอาไป กลัวนี่ก็ตัวโทสะ เวลากลัวไม่สบายใจใช่ไหม หวงข้าวหวงของ ตระหนี่ไม่อยากให้ใครก็ตระกูลโทสะ ใจไม่มีความสุข

สังเกตความรู้สึกของตัวเองไป ทีแรกก็รู้ได้หยาบๆ โลภแล้วก็รู้ โกรธแล้วก็รู้ หลงแล้วก็รู้อะไรอย่างนี้ ต่อมาก็รู้ความรู้สึกได้ละเอียดๆ ขึ้น แต่ละตัวก็แยกย่อยออกไปเยอะแยะ ไม่ต้องรู้ทุกตัว รู้ตัวที่เรามี อย่างคนไหนขี้อิจฉา พอใจมันอิจฉารีบรู้เลย นี่อิจฉาแล้วรู้แล้ว ไม่ได้ดูให้หาย ดูให้รู้ว่าความอิจฉามันผุดขึ้นมาแล้ว มันตั้งอยู่แล้วมันก็ดับไป ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เฝ้ารู้เฝ้าดู อดทนดูแล้วดูอีก ดูทั้งวันเท่าที่ทำได้ ยกเว้นเวลาทำงานที่ต้องคิดเท่านั้นล่ะดูไม่ได้ ไม่มีใครดูได้หรอกเวลาทำงานที่ต้องคิด เพราะธรรมชาติของจิตรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว ถ้าจะรู้อารมณ์รูปนาม มีสัญญาหมายความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ก็จะไปรู้อารมณ์บัญญัติเรื่องที่ต้องคิด ต้องคำนวณ ต้องคาดคะเน รู้ไม่ได้ อันนั้นเป็นอารมณ์บัญญัติจิตมันต้องไปรู้อารมณ์บัญญัติ ก็มารู้อารมณ์ปรมัตถ์คือรู้รูปนามไม่ได้

นามธรรมทั้งหลายพวกเราหัดรู้มันไปเรื่อยๆ มีความสุขก็รู้ ปลื้มใจ ปลื้มใจรู้จักไหม ภาษาไทยมีเยอะ ปลื้มใจ ปลื้มใจ ใจมันปลื้ม วันนี้หลวงพ่อคุยด้วยใจมันปลื้ม บางคนปลื้มมากน้ำหูน้ำตาไหล รู้ทันลงไป ใจมันกลัว รู้ มันขี้เกียจ รู้จักขี้เกียจไหม ใครเคยขี้เกียจบ้างมีไหม ถามผิด ใครไม่เคยขี้เกียจมีไหม ไม่มีหรอก ขี้เกียจเกิดขึ้นแล้วรู้ว่าขี้เกียจ ดูเข้าไปตรงๆ เลย ความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นแล้วรู้เข้าไปตรงๆ เลย แล้วเราจะเห็นไตรลักษณ์ ไม่ได้ดูให้มันดับแต่มันดับของมันเอง อย่างเราคิดถึงสาวสักคนแล้วเราก็ชอบ จิตเรามีราคะเราชอบๆ พอเราเห็นหมาบ้าวิ่งมา เราตกใจหันไปดูหมาบ้าลืมคิดเรื่องสาว ราคะนั้นดับไปแล้ว ดับทันทีเลยพอเราเลิกคิดที่จะกระตุ้นให้เกิดราคะ คิด อุ๊ย หมาบ้ามา ราคะหายเลยจิตเปลี่ยนเป็นโทสะแล้ว กลัว ความรู้สึกขยะแขยง รู้จักไหมขยะแขยง วันนี้พวกที่แปลเป็นภาษาต่างด้าว ต้องลำบากนิดหนึ่ง เพราะศัพท์พวกนี้คนไทยเรามีเยอะมาก แสดงความรู้สึก

เพราะฉะนั้นถ้าใจเรารู้สึกอะไร อ่านมันไปเรื่อย ดูมันไปเรื่อยๆ ทีแรกมันก็จะเห็นว่า อารมณ์ตัวที่หนึ่งเกิดแล้วก็ดับ ตัวที่สองเกิดแล้วก็ดับ ตรงที่มันจะเกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอด มันจะรู้ว่าสิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ ทุกตัวที่เกิดแล้วดับทั้งสิ้น แต่ก่อนที่จิตมันจะมาถึงตรงนี้ มันต้องเห็นตัวที่หนึ่งเกิดแล้วดับ ตัวที่สองเกิดแล้วดับ จนถึงตัวที่ล้านเกิดแล้วดับ ดูซ้ำๆ ทุกวันๆ ถึงจุดหนึ่งจิตมันปิ๊งขึ้นมา มันแจ้งขึ้นมา มันรวมเข้ามาแล้วมันแจ้งขึ้นมา “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา” ก็รู้ธรรมะขึ้นมา ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวรหรอก เพราะมันมีแต่สิ่งที่เกิดดับ สิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเราอย่างถาวร ไม่มีจริง

อย่างปุถุชนจะรู้สึกว่ามีเราอยู่คนหนึ่ง เราคนนี้กับเราตอนเด็กๆ ก็เป็นคนเดิม เราตอนนี้กับเราปีหน้าก็เป็นคนเดิม หรือเราตอนนี้ เราชาตินี้กับเราชาติก่อนก็คนเดิม เราชาตินี้กับเราชาติหน้าก็คนเดิม ปุถุชนจะรู้สึกอย่างนี้ แต่ถ้าเราเห็นว่าทุกอย่างเกิดแล้วดับๆ โดยเฉพาะความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ดูง่ายมันเกิดดับทั้งวัน จะดูร่างกายให้เกิดดับไม่ใช่ดูง่าย ถ้าจิตไม่ทรงฌานจริงๆ ดูยาก เพราะร่างกายเปลี่ยนแปลงช้า จิตนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ร่างกายเปลี่ยนแปลงช้ากว่าจิต รูปหนึ่งอายุของรูปหนึ่งตำราเขาบอก 17 ขณะจิต ในขณะที่จิตวับเดียวเท่านั้น เกิดแล้วดับเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นถ้าเราดูจิตก็คือเราทำการบ้านบ่อย ทำการบ้านเยอะเลย เห็นมันเกิดดับๆๆ ทั้งวันเลย เห็นตัวนี้จิตชอบ เห็นตัวนี้จิตไม่ชอบ

 

ทุกอย่างเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆๆ ในที่สุดก็จะรู้ว่า ทุกอย่างเสมอกันหมด ความสุขหรือความทุกข์ก็เสมอกัน เพราะเกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน ควบคุมบังคับเอาไว้ไม่ได้เหมือนกัน ความดีและความชั่วเกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดีกับชั่วเวลาเราบอกว่ามันเสมอกัน ต้องต่อด้วยคำว่า เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ เพราะดีกับชั่วมันไม่เสมอกันในเรื่องของเหตุกับผล เหตุที่จะทำดีก็อันหนึ่ง เหตุที่จะทำชั่วมันก็อันหนึ่ง ผลจากการทำดีมันก็อันหนึ่ง ผลจากการทำชั่วก็อันหนึ่ง มันไม่เท่ากันหรอก อย่างคนชั่วมีความทุกข์รออยู่ข้างหน้า คนซึ่งใจเป็นกุศลใจเป็นบุญมีความสุขรออยู่

ถ้าฉลาดพอก็จะเห็นเลย ทันทีที่เราคิดจะทำบุญ จิตเริ่มมีความสุขแล้ว อย่างคิดว่าวันนี้เราจะใส่บาตรแล้ว แค่คิดใจมีความสุขแล้ว แล้วลุกขึ้นมาแต่เช้ามืด อากาศก็สดชื่น มาทำเตรียมอาหารใส่บาตร มีความสุข ไปใส่บาตรก็มีความสุข กลับมากรวดน้ำอีก มีความสุขอีก ใจที่เป็นบุญมันจะมีผลเป็นความสุข ส่วนใจที่มีบาปผลมันเป็นความทุกข์ อย่างถ้าเรามองผิวเผินเราไม่เห็น อย่างพวกโกงชาติ โกงบ้านโกงเมือง รวยเป็นหมื่นล้านแสนล้าน เรานึกว่าเขารวยเยอะๆ แล้วเขาจะมีความสุข เขาไม่ได้มีความสุขหรอก เขาเครียดตลอดเลย อย่างพวกที่ขี้โกง ก็กังวลกลัวจะถูกจับได้สักวันหนึ่ง หรือมีปัญหาอยู่บ้านอยู่เมืองไม่ได้อะไรต่ออะไร ใจไม่ได้มีความสุข

ความชั่วทำแล้วก็ความทุกข์เกิดขึ้นทันทีเลย แต่เจ้าตัวจะรู้หรือเปล่าเท่านั้น อย่างเราคิดจะไปปล้นเขา เราคิดชั่วแล้ว ขณะที่คิดจะไปปล้นจิตเศร้าหมองแล้ว จิตฟุ้งซ่านวุ่นวาย กังวลอะไรต่ออะไรสารพัด เริ่มรับบาปตั้งแต่คิดชั่วแล้ว พอพูดชั่วก็รับหนักขึ้นไปอีก พอทำชั่วก็รับเยอะๆ เลย เริ่มมาจากจิตมันชั่วก่อนแล้ว คำพูดมันก็ชั่ว การกระทำมันก็ชั่ว ทันทีที่แค่เริ่มคิดชั่วจิตก็ไม่มีความสุขแล้ว จิตที่เคยสงบก็เปลี่ยนเป็นจิตฟุ้งซ่านแล้ว ระหว่างจิตสงบกับจิตฟุ้งซ่าน ถ้าเราชำนิชำนาญภาวนาจนเรารู้จักจิตที่สงบแล้ว เราจะรู้เลยทันทีที่จิตฟุ้งซ่าน ความทุกข์ได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นแค่คิดชั่วความทุกข์มันมาแล้ว แค่คิดดีความสุขมันก็มาแล้ว

ถ้าเราคิดดี พูดดี ทำดี แล้วสำเร็จผลตามที่ต้องการ เราก็อิ่มอกอิ่มใจ ทำสำเร็จแล้วอย่างนี้ได้บุญเยอะ นึกทีไรก็ชื่นใจ ฉะนั้นเราพยายามดูตัวเอง อ่านตัวเองไปเรื่อยๆ จิตเป็นกุศลก็รู้ จิตเป็นอกุศลก็รู้ เราก็จะเห็นจิตเป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตเป็นอกุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ มันเท่ากันหมดเลย ทุกสิ่งทุกอย่างคือเกิดแล้วดับ แต่เวลาทำลงมือทำต้องทำดี ถ้าทำชั่วจะมีผลเป็นทุกข์ ดีกับชั่วไม่ได้เท่าเทียมกันในเรื่องของผล แต่ดีกับชั่วนั้นเท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ต้องแยกให้ออก ไม่ใช่เดี๋ยวบอกหลวงพ่อปราโมทย์บอกดีกับชั่วเท่ากัน เดี๋ยววันนี้เราแวะปล้นธนาคารก่อนจะกลับบ้าน ไม่ใช่ อันนี้ฟังคำสอนแล้วเพี้ยน หัดดูของจริงแล้วเราจะเห็นอย่างที่หลวงพ่อบอก สุขกับทุกข์มันก็เหมือนๆ กัน เกิดขึ้นมาแล้วก็ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ดีกับชั่วมันก็เหมือนกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

ฉะนั้นจะให้เราภาวนาเอาดี รู้สึกต่ำต้อย เพราะอะไร เพราะดีมันไม่เที่ยงที่หลวงพ่อพูดเรื่อยๆ เราไม่ได้ภาวนาเอาดี ไม่ได้ภาวนาเอาสุข ไม่ได้ภาวนาเอาสงบ เพราะอะไร เพราะดีมันไม่เที่ยง สุขมันไม่เที่ยง สงบมันไม่เที่ยง แล้วอะไรที่เที่ยง สัจจะมันเที่ยง เคยได้ยินไหม “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” สัจจะคือความจริง ไม่สูญหายไม่ตาย พระพุทธเจ้ากี่พระองค์ท่านก็สอนสัจจะอันเดียวกัน คืออริยสัจ ท่านก็สอนอย่างเดียวกัน ฉะนั้นไม่ตาย หรือกฎของธรรมะทั้งหลาย เรียกว่าธรรมนิยาม ว่าสังขารทั้งหลายคือสิ่งที่ปรุงแต่ง เกิดขึ้นมาทั้งหลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้เที่ยง หลักการนี้เที่ยง กี่ยุคกี่สมัยมันก็เป็นอย่างนี้ สังขารก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอยู่อย่างนี้ แต่หลักที่ว่าสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้มันเที่ยง

ไม่ใช่ว่าทุกอย่างไม่เที่ยงเลย สัจจะนั้นมันจริง มันจริงตลอด สมมติสัจจะมันไม่เที่ยง สมมติสัจจะไม่เที่ยงจริงโดยสมมติ ถามว่ามีไหมจริงโดยสมมติ มี อย่างสมมติว่านี่คือพ่อ นี่คือแม่ นี่ครูบาอาจารย์ นี่เรียกว่าบ้าน นี่เรียกว่ารถ ก็จริงของมันเหมือนกัน แต่ว่ามันจริงโดยสมมติไม่ยั่งยืนหรอก อาจจะเรียกพ่อว่าอย่างอื่นก็ได้ เรียกป๊า เรียกอะไรก็ได้ แต่ตัวความจริงตัวธรรมะแท้ๆ มันยั่งยืน เรียนก็เรียนให้ได้ของจริง ของที่ยั่งยืน เรียนให้เห็นความจริง เรียนให้เข้าถึงสัจจะ ว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นทั้งหมดดับแน่นอน เรียนเพื่อให้เห็นอย่างนี้

 

“เรียนให้เข้าถึงสัจจะ ว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นทั้งหมดดับแน่นอน”

 

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป ถ้าเราดูทุกวันๆ เราก็จะเห็นทุกอย่างเกิดแล้วดับๆ อันแรกอันที่หนึ่งเกิดแล้วก็ดับ อันที่สองเกิดแล้วดับ อันที่ล้านหนึ่งเกิดแล้วก็ดับ ถึงจุดหนึ่งจิตมันสรุปทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทุกสิ่งที่เกิดดับทั้งสิ้น ภาวนาเรื่อยๆ ถ้าใจเราเข้าใจความจริงตรงนี้แล้วว่า สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ เราจะรู้ว่าเราไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวเราถาวรหรอก ความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนมันก็เกิดชั่วคราว แล้วมันก็ดับเหมือนกัน ฉะนั้นไม่มีอะไรที่เป็นตัวเรา ก็จะเห็นตัวเราไม่มี ล้างความเห็นผิดว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือตัวเราของเรา อย่างคนไม่เคยภาวนาก็เห็นว่า นี่ร่างกายของเรา นี่ตัวเราล่ะ ตัวเรานั่งอยู่ตรงนี้ ภาวนาเป็นมันก็เห็นนี่เป็นวัตถุธาตุ มันก็ธาตุเดียวกับโลกนั่นล่ะ ธาตุทั้งหลายยืมโลกมาใช้ มันเป็นอันเดียวกับโลก มันไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา มันสมบัติของโลก

ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายล้วนแต่เกิดแล้วก็ดับทั้งนั้นเลย เหมือนความฝัน เหมือนภาพลวงตา เหมือนพยับแดด ล้วนแต่เกิดแล้วก็ดับๆ ไม่มีสาระแก่นสารที่ควรจะยึดถือไว้ ตัวจิตใจเป็นตัวที่ดูยากที่สุด นี้เราฝึกทุกวันเราก็เห็นจิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้เพ่ง ในที่สุดปัญญามันก็แทงตลอด จิตทั้งหมดเกิดแล้วดับ จิตทุกดวง จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น พอเห็นอย่างนี้มันก็จะรู้เลย จิตก็ไม่ใช่ตัวเราหรอก เพราะว่ามันเกิดแล้วมันก็ดับไป ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวรสักอย่างเดียว ถ้าเราเห็นได้ถึงขนาดนี้ เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยเฉพาะถ้าเราเห็นเข้ามาที่ตัวจิตเลย จิตไม่ใช่เรา อันอื่นจะไม่ใช่เราแล้ว ขาดตรงนั้นเลย ไม่จำเป็นต้องมาไล่ทีละตัวๆ ให้ครบขันธ์ 5 หรอก

 

ถ้าเห็นความจริงได้ จิตจะวางเอง

ถ้าตัดเข้ามาที่จิตได้ จิตไม่ใช่เราสักอันเดียว ร่างกายมันก็แค่ของเรา เคยคิดว่าเป็นของเรา ถ้าเราไม่มีแล้วร่างกายเป็นของใครล่ะ ของโลกไปไม่ใช่ของเราแล้ว มันอัตโนมัติเลย มันจะวาง ถ้าละความเห็นผิดว่าจิตเป็นเราได้ มันจะละความเห็นผิดในขันธ์ 5 ทั้งหมดเลย ในขณะเดียวกันถ้าเราหมดความยึดถือในจิตได้ทีเดียว เราจะหมดความยึดถือในขันธ์ 5 ทั้งหมด หมดความยึดถือในโลกทั้งหมด เพราะฉะนั้นอย่างพระอรหันต์ท่านบรรลุพระอรหันต์ขึ้นมา ท่านแตกหักลงที่จิต แตกหักลงมาที่จิต ภาวนาจนวางตัวอื่น วางๆๆๆ ไปหมดแล้วเข้ามาที่จิตดวงเดียวนี่เอง สุดท้ายก็เห็นความจริงจิตไม่ใช่อะไรเลย ไม่ใช่ตัวเรา บางท่านก็เห็นว่าจิตไม่เที่ยง เกิดแล้วดับๆ ผู้รู้เองก็เกิดดับ ผู้รู้ไม่ได้เกิดแล้วก็อมตะ ถ้าเห็นว่าผู้รู้เกิดแล้วเป็นอมตะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ

ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านสอนไว้ชัด หลวงปู่หล้า ภูจอก้อ เก่งมากองค์นี้ แล้วฉลาดมากเลย ธรรมะท่านคมกริบเลย ท่านบอกว่า “ถ้าเห็นจิตผู้รู้มันเที่ยง ยังใช้ไม่ได้ ยังเห็นผิดอยู่” ดูลงไป เห็นจิตผู้รู้เกิดแล้วก็ดับ ไม่เที่ยงหรอก จิตผู้หลงเกิดแล้วก็ดับ จิตผู้เพ่งเกิดแล้วก็ดับ จิตทั้งหมดเกิดแล้วดับ อย่างนี้จิตท่านบรรลุพระอรหันต์ วางจิต ปล่อยวางจิตได้เพราะเห็นว่าจิตนั้น มันเป็นของไม่เที่ยง อันนี้เขาเรียกบรรลุพระอรหันต์แบบ อนิมิตตวิโมกข์ ไม่มีเครื่องสังเกต ไม่มีเครื่องหมายอะไรเหลืออยู่ เพราะว่าทุกอย่างเกิดแล้วดับหมดเลย ถ้าบางท่าน ท่านชำนาญในฌาน ทรงฌาน เวลาท่านดูจิตผู้รู้ มันมีความสุขมหาศาล ไม่เหมือนจิตพวกเราแกว่งไปแกว่งมา จิตของท่านเด่นดวงทรงตัวอยู่ได้ทั้งวัน ท่านรู้สึกว่านี่ล่ะดีเป็นที่พึ่งที่อาศัย

ตรงเป็นพระอนาคามี รู้สึกผู้รู้เป็นที่พึ่งที่อาศัย ฌานสมาบัติเป็นที่พึ่งที่อาศัย ส่วนใหญ่มาติดอยู่ที่ตรงนี้แล้วไปไม่รอดแล้ว หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกไว้ ส่วนใหญ่ภาวนามาแล้วมาติดตรงนี้ เพราะฉะนั้นเครื่องอยู่ก็จะอยู่ในฌานอย่างนี้ แล้วอยู่อย่างนี้ทั้งวันแล้วบอกไม่มีกิเลส อย่างนั้นยังวางไม่ได้จริงหรอก ถ้าท่านทรงฌานแล้วท่านดูเห็นผู้รู้ มีความสุข อยู่ๆ มันจะไหวตัวพลิกทีเดียว มันคือตัวบรมทุกข์เลย ไม่มีตัวไหนทุกข์เท่าตัวจิตนี้เลย แล้วท่านก็วาง วางเพราะเห็นเลยตัวผู้รู้นี้มันเป็นตัวทุกข์ ตัวจิตนี้เป็นตัวทุกข์ อันนี้ท่านบรรลุพระอรหันต์ด้วยวิธีที่เรียกว่า อัปปณิหิตวิโมกข์ ถ้าพวกที่ปัญญาท่านกล้า มีสติปัญญาแรง ท่านก็เห็นมันว่างเปล่า เห็นมันว่างแล้วก็วาง อันนี้เรียกว่าสุญญตวิโมกข์ แต่ละคนแต่ละท่านเป็นของท่านเอง ท่านไม่ได้เลือกหรอกว่าท่านจะเป็นอย่างไร

พวกเราก็ไม่ต้องเลือก เรามีสติรู้อะไรได้ชัดเจน เห็นตัวนั้นเกิดดับได้บ่อยๆ เอาอันนั้นล่ะ อย่างเราเกิดมาบุญเราเยอะเรามีแต่ความสุข เราก็ดูไปความสุขเกิดขึ้นเรารู้ ความสุขตั้งอยู่เรารู้ ความสุขหายไปเรารู้ เดี๋ยวก็สุขอีกแล้ว คงทำบุญมาเยอะแหมมันสุขอยู่เรื่อย เราก็ใช้ความสุของเรานี่ล่ะทำกรรมฐาน ก็เห็นความสุขไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าเราความทุกข์เยอะ เดี๋ยวก็ทุกข์ๆ เดี๋ยวก็กังวล เดี๋ยวก็กลุ้มใจ นี่กิเลสแล้ว ตัวไม่สบายใจ ตัวทุกข์ใจเป็นตัวเวทนา ตัวกลุ้มใจเป็นโทสะ อยู่ในสังขาร คนละกลุ่มกัน สุข ทุกข์ อยู่ในเวทนาขันธ์ ดี ชั่ว อยู่ในสังขารขันธ์

เฝ้าดูลงไปสมมติว่าเราขี้โมโห เราก็ใช้ความโกรธเป็นอารมณ์กรรมฐาน จิตโกรธขึ้นมาก็รู้ จิตหายโกรธก็รู้ ดูมันทั้งวันอย่างนี้ อดทนดูแล้วดูอีก แล้วถ้าตัวอื่นมันเกิดเป็นครั้งคราว มันก็เห็นเอง ถ้าเราเห็นตัวหนึ่งได้แล้ว ตัวอื่นเกิดขึ้นมันก็เห็นได้เหมือนกัน แต่ตัวไหนเกิดบ่อยเอาตัวนั้นเป็นหลักไว้ เรียกว่าเป็นวิหารธรรมไว้ อย่างหลวงพ่อตอนทำสมถะ หลวงพ่อใช้ลมหายใจเป็นวิหารธรรม ตอนที่หลวงพ่อเดินปัญญา เรียนจากหลวงปู่ดูลย์หลวงพ่อใช้จิตเป็นวิหารธรรม เห็นจิตเกิดดับ จิตเป็นกุศลอกุศลเกิดดับทั้งสิ้น จิตสุขจิตทุกข์เกิดดับทั้งสิ้น ดูลงไปมันจะคาบเกี่ยวระหว่างเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา อันนั้นเครื่องอยู่แบบหลวงพ่อ ของเราก็แบบของเรา ไม่ต้องเลียนแบบใคร ถนัดอะไรเอาอันนั้น เลียนแบบคนอื่นไม่ได้ กรรมฐาน ทางใครทางมัน แต่ไม่ว่าจะใช้กรรมฐานอะไร ถ้าเป็นกรรมฐานรูปนาม มันก็ลงไตรลักษณ์เหมือนกันหมด จะเห็นไตรลักษณ์เหมือนกันหมด แล้วก็สุดท้ายก็ปล่อยวางเหมือนกันหมด จะเดินมาทางกาย หรือทางเวทนา หรือทางจิต หรือเดินมาด้วยธัมมานุปัสสนา สุดท้ายก็เข้าไปถึงธรรมะอันเดียวกัน เข้าไปถึงพระนิพพาน ถึงสุญญตาอันเดียวกัน เดินทางไหนก็เหมือนกันล่ะ

ฉะนั้นพวกเราพวกคิดมากทั้งหลาย ดูจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ อดทนไว้ ไม่ใช่วันนี้ดูแล้วก็ลืมไปอีก 3 วัน แล้วมาดูอีกที ไม่ได้กินหรอก ดูถี่ๆ เลย ดูให้เยอะที่สุดแต่อย่าโลภ ขยันดูแต่ไม่ต้องคาดหวังว่าดูแล้วจะได้อะไร ถ้าหวังว่าจะได้อะไร มันจะไม่ได้อะไรนอกจากความทุกข์ แต่ถ้าขยันดูแล้วไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องได้อะไร ดูแล้วจะได้เห็นความจริง ถ้าได้เห็นความจริงจิตมันจะวางของมันเอง.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
22 มกราคม 2565