ทางใครทางมัน

คนไทยเราเก่ง ฝรั่งติดกันทีหนึ่งหลายๆ แสน ประเทศหนึ่ง อเมริกา 8 แสน วันๆ พวกเรามีไม่มาก คนไทยเรายังเคยชินกับการใส่แมสก์ ระวังตัวดี ส่วนพวกขี้เหล้าเมายาเที่ยวผับเที่ยวบาร์ พวกอบายมุขอย่างไรก็ติด ก็เอาไปติดคนที่บ้าน คนที่บ้านก็ถือว่ามีกรรม มีคนในบ้านเป็นพวกติดอบายมุข ภาพรวมส่วนใหญ่ก็โอเค พวกเราช่วยกันป้องกันตัวเองได้ดี แล้วก็ฉีดวัคซีนกันได้เยอะแล้ว ช่วยได้เยอะ มันระบาดไม่รุนแรงมาก เราจะไปวาดภาพว่าอนาคตเราจะต้องกลับไปเหมือนเดิม คงต้องมีชีวิตแบบนิวนอร์มอลกันไปอีกนานล่ะ จนกลายเป็นเรื่องปกติไป ประเภททำอะไรก็ได้ตามใจชอบอย่างสมัยก่อนคงกลับมายากแล้ว

อย่างปีนี้คนไม่บ่นเรื่องพีเอ็ม 2.5 ไม่ค่อยมีใครพูดถึง เพราะเราใส่หน้ากากกัน มันก็เลยกลายเป็นอุปกรณ์ประจำตัวอันหนึ่ง เป็นวัตถุมงคลประจำตัวเรา ช่วยรักษาคุ้มครองตัวเราได้ สิ่งสำคัญคือสติ ใส่หน้ากากก็จริง แต่มือเที่ยวจับนู่นจับนี่ ไม่ระมัดระวัง เอามาป้ายหน้าป้ายตา ก็ติดจนได้ล่ะ สติก็สำคัญ มีทั้งวิทยาศาสตร์แล้วก็เป็นเรื่องของการฝึกจิตฝึกใจก็ช่วยเราได้ คุ้มครองเราได้ พวกเราที่เรียนกับหลวงพ่อ ติดโควิดก็มีตายเหมือนกัน ที่รู้ก็ตายแต่ก็ไม่มากหรอก ส่วนใหญ่ที่ตายก็เป็นพวกที่ใกล้จะตาย แก่มากๆ ไม่แข็งแรง เป็นโรคเยอะแยะอะไรอย่างนี้ เป็นอะไรนิดหน่อยก็ตายแล้ว

 

ภาวนาให้เห็นธรรมดาของโลก

ถ้าเราภาวนาเรื่อยๆ เราเห็นความจริงของโลกๆ โลกมันก็แปรปรวนอยู่อย่างนี้ ไม่เป็นไปตามใจอยาก ถ้าเราอยากให้โลกมันเป็นอย่างอื่น เราก็จะทุกข์ อย่างเราตอนนี้มันมีโรคระบาดทั้งโลก ถ้าเราเกิดอยากให้โรคนี้มันหมดไปในวันนี้ วันพรุ่งนี้อะไรอย่างนี้ ความอยากนี้ล่ะจะทำให้ความทุกข์เข้ามาที่ใจเรา เชื้อโรคไม่ได้ทำให้ใจเราทุกข์ เชื้อโรคอย่างมากก็ทำให้ร่างกายเราทุกข์ แต่ความอยากเป็นตัวที่ทำให้ใจเราทุกข์ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเลยไม่ได้บัญญัติว่าเชื้อโควิดเป็นสมุทัย ท่านบัญญัติว่าตัณหาเป็นตัวสมุทัย ตัวอยากนี้ล่ะ

สิ่งที่เราอยากล้วนแต่ของที่เป็นไปได้ยาก หรือเป็นของที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่างไรมันก็ไม่ค่อยจะสมอยากเท่าไหร่หรอก อย่างอยากไม่ให้แก่ อยากไม่ให้เจ็บ อยากไม่ให้ตาย มันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าทุกคนไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เราก็ไม่มีความอยากที่จะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย สิ่งที่อยากมันคือสิ่งที่ไม่มี หรือกำลังมีความทุกข์อยู่ อยากให้ความทุกข์หมดไปสิ้นไป ตอนนี้ความสุขมันไม่มี ความทุกข์มันกำลังโดดเด่นอยู่ ไปอยากให้ความทุกข์หายไป เราอยากในสิ่งที่ไม่มี

ความอยากในสิ่งที่ไม่มีเป็นความไร้เดียงสาของเรา อย่างอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย ไร้เดียงสาอย่างไร ก็ธรรมดาเกิดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อยากให้ไม่พลัดพรากจากสิ่งที่รัก อยากจะประสบแต่สิ่งที่รัก อยากจะสมปรารถนาทุกๆ เรื่องตลอดเวลา มันก็เป็นไปไม่ได้ เวลาอกุศลให้ผลมา อกุศลวิบากให้ผลมา เราก็ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก จากคนที่เรารัก เราต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รัก คนที่เราไม่รัก ไม่ชอบ มันเป็นเรื่องของวิบาก เรื่องของกรรม กรรมมันจะให้ผลแบบนี้ เราไปอยากให้มันไม่ให้ผล อยากให้มันให้ผลอย่างอื่น อยากเลือกให้กรรมดีเท่านั้นให้ผลอะไรอย่างนี้ ความอยากนี้มันเกิดจากความไร้เดียงสาทั้งนั้นเลย ไม่เข้าใจเรื่องกฎของกรรม

ฉะนั้นถ้าเรามาภาวนา มาปฏิบัติธรรม เพื่อให้เราให้จิตมันเข้าใจความจริงของร่างกาย ของจิตใจ ของธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างที่แวดล้อมเราอยู่ ที่เราภาวนาไม่ใช่เพื่อเอาดี เอาวิเศษ เอาสุข เอาอย่างโน้นอย่างนี้หรอก เราภาวนากันเพื่อให้เห็นความจริง เพื่อให้เห็นว่าธรรมดาของโลกมันเป็นอย่างไร ธรรมดาของกายเป็นอย่างไร ธรรมดาของจิตใจมันเป็นอย่างไร ถ้าเราฉลาดพอ เราเข้าใจถึงความเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ตัณหามันไม่เกิด เพราะตัณหาที่เกิดล้วนแต่อยากในสิ่งซึ่งมันไม่ธรรมดาทั้งนั้น อยากไม่ให้แก่ มันไม่ธรรมดา อยากไม่ให้เจ็บ มันไม่ธรรมดา อยากไม่ให้ตายไม่ใช่เรื่องธรรมดา สิ่งที่อยากทั้งหลาย ของไม่ธรรมดาทั้งนั้น

เราเรียนธรรมะจนมันเห็นความเป็นธรรมดา ธรรมดาของร่างกายเป็นอย่างนี้ ธรรมดาของจิตใจเป็นอย่างนี้ ธรรมดาของโลกเป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรคงที่ ไม่มีอะไรยั่งยืน ไม่ได้เป็นไปตามใจอยาก พอเข้าใจความเป็นธรรมดา ตัณหามันจะไม่เกิด ความอยากมันจะไม่เกิด เมื่อความอยากไม่เกิด ความทุกข์ทางใจจะไม่เกิด ความทุกข์จะมีเฉพาะความทุกข์ทางร่างกายเท่านั้น เช่น เราแก่แล้วเราก็ไม่แข็งแรง เจ็บไข้ ช่วยตัวเองไม่ได้ นอนซม หรือเป็นคนติดเตียงอะไรอย่างนี้ ร่างกายมันก็ทุกข์ มันแก่ มันเจ็บ มันตาย มันทุกข์ แต่ใจที่ฉลาด เข้าใจธรรมะ คือเข้าใจความจริงแล้ว มันก็ไม่ได้มีความอยากที่มันผิดธรรมชาติ ผิดธรรมดา มันก็ไม่ทุกข์ มันทุกข์ก็ทุกข์แต่กาย แต่ใจเราจะไม่ทุกข์

พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า คนทั่วๆ ไป พอความทุกข์เข้ามาถึงร่างกาย หรือเป็นความทุกข์ทาง Physical มันจะตามด้วยความทุกข์ทางใจ แต่สาวกของท่าน ความทุกข์มันกระทบได้แต่ร่างกาย แต่ใจไม่ทุกข์ ท่านบอกเหมือนคนถูกลูกธนู ถูกยิงดอกที่หนึ่งแล้วก็ต้องถูกซ้ำดอกที่สอง คือทุกข์กายแล้วก็ต่อด้วยทุกข์ใจ แต่พวกสาวกของพระพุทธเจ้า ถ้าถูกธนูก็ถูกดอกเดียว คือทุกข์อยู่ที่กาย ไม่ทุกข์ที่ใจ

ฉะนั้นเราหัดภาวนา ไม่ได้มุ่งเอาดี เอาสุข เอาสงบ แต่มุ่งให้จิตใจมันเห็นธรรมดา ให้เห็นความจริงนั่นล่ะ ธรรมะคือตัวสัจจะ ตัวความจริง ธรรมดาของโลกเป็นอย่างนี้ล่ะ อย่างเราอ่านข่าวเรื่องนั้นเรื่องนี้ ใจเราก็กระเพื่อมหวั่นไหว ข่าวโน้นข่าวนี้ ข่าวหมูแพงอะไรอย่างนี้ โทสะเราก็ขึ้น หาคนรับผิดชอบ โมโหโทโส โลกมันเป็นอย่างนั้น โลกมันไม่แน่นอน โลกมันไม่ยั่งยืน

 

เชื้อเกิด

ภาวนาทุกวันๆ จนวันหนึ่งเห็นความจริง พอเห็นความจริง เห็นธรรมะแล้ว เราจะไม่ทุกข์ทางใจ เหลือแต่ทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางกายถึงวันหนึ่งก็หมดไปสิ้นไป พอร่างกายแตกสลายไป ความทุกข์ในกายนี้ก็หมดไปด้วย จิตซึ่งยังมีเชื้อเกิดคือมีอาสวกิเลส มันเป็นเชื้อเกิดอยู่ในจิตแฝงอยู่ เหมือนเป็นต้นอ่อนของต้นไม้ที่อยู่ในเมล็ด อย่างในเมล็ดมะม่วง เราเอามาผ่าดู ข้างในมีต้นอ่อนอยู่ เชื้อเกิดคือตัวอาสวะ มันก็คือต้นอ่อนของความเกิดที่อยู่ในจิตเรานี่เอง ถ้าเรายังทำลายเชื้อเกิดนี้ไม่ได้ ทำลายอวิชชานี้ไม่ได้ อาสวะ ตัวหนึ่งคืออวิชชา อวิชชาสวะหัวโจกเลย ถ้ายังทำลายตัวนี้ไม่ได้ เชื้อเกิดยังมี เมื่อร่างกายนี้แตกดับลง จิตมันก็เกิดใหม่ มันไม่ใช่จิตดวงเดิมไปเกิด จิตดวงสุดท้ายในชีวิตนี้ดับลง อำนาจของกรรมมันดึงดูดให้เกิดจิตดวงใหม่เกิดขึ้นในภพใหม่ มันเป็นอัตโนมัติอย่างนั้น ไม่ใช่จิตดวงนี้ไปเกิด

เคยมีคนหนึ่งภาวนา ดูคนที่กำลังจะตาย ตอนเขาจะตายจริงๆ เขาตัดความรับรู้ทางร่างกายออกไปก่อนแล้ว เหลือกระบวนการทำงานของจิตแล้ว ร่างกายก็ชักกระแดกๆ ไปอย่างนั้น ไม่รับรู้อะไรแล้ว จิตมันก็เกิดนิมิตขึ้นมา เหมือนมันฝันไป มันจะไปเกิดในภพใด มันมีนิมิตขึ้นมาก่อน นิมิตก็มีหลายแบบ 3 แบบหลักๆ ถัดจากนิมิต จิตมันจุติ จุติแปลว่าเคลื่อน มันเคลื่อนจริงๆ มันหมุนติ้วๆๆๆ หมุนสุดขีดเลย หมุนเร็วกว่าลูกข่างอีก มันทุกข์จนไม่รู้จะทุกข์อย่างไรเลย จิตที่มันจุติ มันทุกข์ๆ เหมือนที่ท่านบอกเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ มันทุกข์จริงๆ แล้วตอนตายคือตัวจุติจิตมันจะดับลงไป เพราะมันทุกข์

ถ้าเราไม่เคยเห็นตรงนี้ เราก็จะคิดว่า ตอนแก่ ตอนเจ็บมันทุกข์ แต่ตอนตายไม่ทุกข์ ตอนตายพ้นทุกข์ มันคิดอย่างนั้น ขณะที่ตายมันคือขณะที่เกิดจุติจิต จุติจิตนั้นดับลงไป ตรงนั้นล่ะตาย มันทุกข์จริงๆ เหมือนเราถูกจับไปอยู่ในภาชนะอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วมันหมุนอย่างรวดเร็ว มันทุกข์ทรมานมาก มันทุกข์จนทนไม่ไหว ดับลงไปเลย ปฏิสนธิจิตก็หมุนขึ้นมาในภพใหม่แล้ว ทำไมมันต้องหมุน เพราะมันเป็นวัฏฏะ มันหมุนจี๋ๆๆ ขึ้นมา เกิดในภพใหม่เรียบร้อยแล้ว ตกภวังค์ ร่างกายนี้ตายไปแล้ว ไม่ทุกข์ทางกายเพราะธาตุขันธ์ตัวเก่านี้ แต่จิตที่ยังมีเชื้อเกิด มันก็ไปสร้างร่างกายใหม่ขึ้นมาอีก มันก็ไปทุกข์ต่ออีก ฉะนั้นตราบใดที่ยังทำลายเชื้อเกิดคืออาสวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอวิชชา ทำลายมันไม่ได้ก็ยังเกิดอีก จิตในภพนี้ก็ดับไป กายในภพนี้ก็ดับไป แต่กรรมส่งผลให้เกิดจิต เกิดกายในภพใหม่ขึ้นมาอีก ก็ทุกข์ต่อไปอีก ก็เวียนว่ายไปไม่รู้จักจบจักสิ้น

เราค่อยภาวนาเรื่อยๆ วิธีที่จะทำลายเชื้อเกิด คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนี้ล่ะ จะทำลายได้ หลวงพ่อตอนเป็นโยม ภาวนาไปช่วงหนึ่งแล้ว หลวงพ่อเห็นจิตซึ่งมันเป็นต้นกำเนิดตัวนี้ มันมีเชื้อเกิดอยู่ข้างใน แต่เราทำลายมันไม่ได้ ไปกราบหลวงปู่เทสก์ “หลวงปู่ครับ ผมเห็นจิตที่เป็นต้นกำเนิดแล้ว แต่ผมทำลายมันไม่ได้ ทำอย่างไรถึงจะทำลายมันได้” ท่านบอกให้ภาวนาไปปฏิบัติไป ถึงเวลาที่อินทรีย์มันแก่รอบจริงๆ มันทำลายของมันเองล่ะ เห็นตัวนี้ แล้วก็ต่อสู้ยาวนานมากเลย ก่อนจะบวช

เจอหลวงพ่อพุธเมื่อปี 2525 – 2526 ช่วงนั้น หลวงพ่อเจอหลวงพ่อพุธปี 2526 เจอท่านทีแรกปี 2525 คุ้นกับท่าน เคยถามท่านว่า “ผมจะทำลายเชื้อเกิดนี้ได้อย่างไร” ท่านบอกภาวนาไปเถอะ ตอบแบบ เดียวกับหลวงปู่เทสก์ จนใกล้ๆ เวลาหลวงพ่อจะบวช ก่อนหลวงพ่อจะบวชไม่นาน หลวงพ่อพุธก็ใกล้จะมรณภาพแล้ว หลวงพ่อเจอท่านครั้งสุดท้ายที่ TOT ท่านมาเทศน์ พอท่านเทศน์จบก็รีบเข้าไปหาท่านเลย ไปกราบท่าน “หลวงพ่อครับ ผมไม่ได้เจอหลวงพ่อนานแล้ว” ท่านบอกว่า “หลวงพ่อจำได้ นักปฏิบัติมีไม่มากหรอก” ท่านเรียกหลวงพ่อว่านักปฏิบัติ ท่านไม่รู้จักชื่อ บอกนักปฏิบัติมีไม่มากหรอก หลวงพ่อจำได้ ถามท่านบอก “หลวงพ่อครับ ผมยังทำลายผู้รู้ไม่ได้เลย” จิตผู้รู้นั่นล่ะ คือจิตอวิชชา หรือจิตต้นกำเนิด ผมยังทำลายมันไม่ได้เลย

คือก่อนหน้านี้ท่านเคยบอกหลวงพ่อไว้ เมื่อปี 2526 บอกว่า “คุณกับอาตมามาทำกติกากันไว้ ใครทำลายได้ก่อนให้บอกกัน” ท่านว่าอย่างนี้ เจอท่านไปบอกท่าน ผมยังทำลายไม่ได้ ท่านก็สอนอย่างองอาจห้าวหาญมากเลย เห็นแล้วประทับใจไม่ลืมเลย ท่านกำลังเหนื่อยอยู่ เทศน์เสร็จ ท่านเหนื่อยๆ พอได้ยินคำถาม ผมทำลายผู้รู้ไม่ได้เลย ท่านสง่างามมากเลย ฟึบขึ้นมาเลย แล้วท่านก็สอน “จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง” ฟังเท่านี้จบแล้ว เข้าใจแล้ว รู้จักฟองไข่ไหม ภาษาโบราณ เหมือนไข่ไก่อะไรอย่างนี้ ไข่ไก่ที่มันมีเชื้อของลูกไก่อยู่ข้างใน ลูกไก่โตเต็มที่แล้วมันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง เราไม่ต้องไปทำลายตัวผู้รู้ แต่เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์แล้ว มันจะทำลายผู้รู้ของมันเอง ไม่มีใครทำลายผู้รู้ได้ อริยมรรคเท่านั้นที่จะทำลายมันได้ อรหัตมรรคเท่านั้นที่จะทำลายมันได้

 

จิตผู้รู้

เราค่อยๆ ภาวนาเป็นลำดับๆ ไป เบื้องต้นยังไม่ต้องคิดเรื่องทำลายผู้รู้หรอก ให้มีผู้รู้ไว้ก่อน ถ้าเราไม่มีจิตที่เป็นผู้รู้ เราก็มีแต่จิตที่เป็นผู้หลงหรือจิตที่เป็นผู้เพ่ง เดินปัญญาไม่ได้ ฉะนั้นต้องมีจิตที่เป็นผู้รู้ไว้ให้ได้ก่อน พอได้แล้ว ใช้จิตที่เป็นผู้รู้ทำงาน ทำอะไร ทำหน้าที่รู้ อ้าว จิตอื่นไม่รู้หรือ จิตอื่นก็ทำหน้าที่รู้เหมือนกัน เพราะธรรมชาติของจิตมีลักษณะคือรู้ จิตทุกดวงก็ทำหน้าที่รู้ แต่ทำไมต้องมีจิตผู้รู้ จิตตัวอื่นๆ นั้น มันปนเปื้อนสูง มันปนเปื้อนด้วยกิเลสสูง มันถูกกิเลสครอบงำอยู่ เวลารู้อะไร มันก็รู้แบบมีอคติ

อคติก็คือมีฉันทาคติ มีอคติเพราะราคะ เพราะความรัก มีโทสาคติ มีอคติเพราะว่าความโกรธ มีโมหะ มีอคติทั้งหลาย มีกระทั่งภยาคติ มีอคติเพราะความกลัว แต่จิตผู้รู้ไม่ได้มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่ได้มีความกลัวอะไรทั้งสิ้น ฉะนั้นเป็นจิตที่ไม่มีอคติในขณะนั้น เพียงแต่ว่ามันเป็นของที่เกิดได้ชั่วคราว พอมันเกิดมาชั่วคราว เราก็ใช้ประโยชน์จากมัน อาศัยจิตผู้รู้นี่ล่ะไปเจริญปัญญาไปรู้ความจริงของกาย ไปรู้ความจริงของใจ กายเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ใจเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น รู้โดยไม่มีอคติ ฝึกกันนานกว่าเราจะได้จิตผู้รู้ขึ้นมาจริงๆ แต่ถ้าได้จิตผู้รู้แล้ว การเจริญปัญญาไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมันจะไม่เจือปนด้วยอคติ

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป จิตจะเป็นกลาง ตั้งมั่น เป็นกลาง รู้ ตื่น เบิกบาน เบา อ่อนโยน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ มีอะไรก็รู้ซื่อๆ หลวงพ่อเทียนชอบสอน รู้ซื่อๆ รู้ซื่อๆ ไม่ใช่รู้แบบเซื่องๆ รู้เซื่องๆ ไม่ใช่ รู้ซื่อๆ คือรู้ตามที่มันเป็น รู้แล้วเป็นกลาง ไม่เข้าไปแทรกแซง พอรู้อย่างไม่มีอคติ เราก็จะเห็นทุกสิ่งชัดเจนตรงตามความเป็นจริง แต่ถ้าเรารู้โดยมีอคติ อย่างจิตทั่วๆ ไป มันจะมีอคติอยู่ มันก็เหมือนเรามีลูกตาดีๆ ของเรา แต่เราเอาแว่นสีมาใส่ ใส่แว่นดำก็คือ โมหะมันครอบใจเรามืดเชียว โลกไม่ได้มืดหรอก ใจเราต่างหากมืด ใส่แว่นสีชมพู แหม โลกนี้สวยไปหมดเลย เพราะราคะ ก็มองโลกผิดความจริง รู้สึก โลกนี้สวยงามเหลือเกิน ไปใส่แว่นสีชมพูเข้า หรือไปใส่แว่นสีแดงโกรธ ไม่พอใจ เร่าร้อน ดูที่ไหนก็ร้อนไปหมดเลย ดูน้ำทะเล น้ำทะเลยังร้อนเลยในความรู้สึก ฉะนั้นจิตที่มีอคติเหมือนคนที่ใส่แว่นสีต่างๆ นั่นล่ะ ส่วนจิตผู้รู้เหมือนคนไม่ได้ใส่แว่น ใส่แว่นก็ใส่แว่นที่ไม่มีสี มันก็จะเห็นทุกอย่าง ตามความเป็นจริงได้

ฉะนั้นเราต้องพัฒนาให้ได้ตัวจิตผู้รู้ขึ้นมา สอนไว้มากแล้ว มี 2 วิธีหลักๆ อันนี้ในตำราไม่มี ไม่ได้แยก 2 วิธี ในพระไตรปิฎกพูดไว้อันหนึ่งก็คือ การทำฌานจนถึงฌานที่สอง ละวิตกวิจารได้ เอโกทิภาวะ คือภาวะที่เป็นหนึ่ง จิตที่มีภาวะเป็นหนึ่งนั่นล่ะ ไม่เป็นสอง ไม่ติดในสิ่งที่เป็นคู่ๆ ตัวนั้นล่ะจิตผู้รู้เกิดขึ้นมา อันนี้วิธีหนึ่ง เข้าฌาน คนรุ่นเราเข้าฌานไม่ค่อยเป็น มันก็จะต้องไปใช้อีกวิธีหนึ่ง อาศัยสตินี้คอยรู้ทันเวลาจิตผู้หลงมันเกิด หรือจิตผู้เพ่งมันเกิด อย่างจิตผู้หลงมันเกิด มันหลงไปคิดอย่างนี้ เรามีสติรู้ทันจิตผู้หลง จิตผู้หลงก็ดับ แล้วเกิดจิตผู้รู้ขึ้นมาแทน

 

วิธีพัฒนาให้ได้ตัวจิตผู้รู้

เราคอยฝึก อย่างจิตเรามันไปทำงาน มันไปคิดอย่างนี้ เป็นการทำงานที่เกิดบ่อยที่สุด จิตหนีไปคิดปุ๊บรู้ปั๊บ จิตคิดจะดับ จิตรู้จะเกิด พอมีจิตรู้แล้วเราจะทำอย่างไรต่อ เราจะพัฒนาตัวเองอย่างไรต่อ วิธีที่จะใช้จิตรู้ไปทำงาน เจริญปัญญาทำอย่างไร ก็แยกขันธ์ให้ออก ถ้าไม่มีจิตผู้รู้ จะแยกขันธ์ไม่ออก ถ้าไม่มีจิตผู้รู้ จะแยกขันธ์ไม่ออก มันจะมีกลุ่มก้อนของขันธ์ที่รวมกันเป็นตัวเราอยู่อย่างนี้ แต่ถ้ามีจิตผู้รู้แล้ว จะแยกขันธ์ได้

อย่างพอจิตเราเป็นผู้รู้ เรารู้สึกลงไปในร่างกาย ร่างกายกำลังนั่ง มันเห็นร่างกายนั่งเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ต่างหาก จิตกับกายคนละอันกัน ขันธ์มันแยกแล้ว หรือเวทนาเกิดขึ้นในร่างกาย จิตผู้รู้มีอยู่ก็จะเห็นกายก็ส่วนหนึ่ง เวทนาทางกายก็ส่วนหนึ่ง จิตก็ส่วนหนึ่ง หรือเกิดกุศล อกุศล เกิดชอบเกิดไม่ชอบอะไรขึ้นมาในใจ มันจะเห็นร่างกายก็อันหนึ่ง เวทนาในกายก็อันหนึ่ง เวทนาในใจก็อันหนึ่ง ความชอบความไม่ชอบทางใจก็อันหนึ่ง จิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูก็เป็นอีกอันหนึ่ง ขันธ์มันจะกระจายตัวออก

หลวงตามหาบัวท่านได้พูดอยู่ประโยคหนึ่ง ฟังแล้วประทับใจมากเลย ท่านบอกว่า “ถ้าแยกธาตุแยกขันธ์ไม่ได้ อย่ามาคุยอวดเรานะว่าเจริญปัญญา” เพราะฉะนั้นการเจริญปัญญา เริ่มต้นจากการแยกธาตุแยกขันธ์ ภาษาปริยัติก็คือนามรูปปริจเฉทญาณ มีปัญญาที่จะแยกรูปนามได้ ปัญญาก็เกิดจากสมาธิ สมาธิที่แยกรูปแยกนาม ที่จะเดินวิปัสสนาได้ คือสมาธิชนิดที่เรียกลักขณูปนิชฌาน ภาษาปริยัติ สำหรับนักปฏิบัติ เรารู้เลย ลักขณูปนิชฌานคือสมาธิที่ประกอบกับจิต แล้วจิตนั้นกลายเป็นจิตผู้รู้ขึ้นมา ไม่ใช่ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ผู้เพ่ง ผู้เผลอ เป็นผู้รู้

ฉะนั้นเราต้องฝึก ทุกวันทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง พอจิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ ไปเรื่อยๆ ในที่สุด เราก็จะได้จิตผู้รู้ขึ้นมา จิตผู้รู้ดวงนี้ มันจะเกิดทีละขณะเท่านั้น มันเป็นขณิกสมาธิ เพราะเราทำฌานไม่ได้ ถ้าทำฌานได้แล้วก็ไปเจริญปัญญาในฌาน ในอัปปนาสมาธิก็ทำได้ สำหรับคนที่ชำนาญในฌาน มีวสีในฌาน แล้วก็ชำนาญในการดูจิต ก็จะไปเดินปัญญาในฌานได้ รองลงมาก็คือเข้าฌาน พอถอยออกจากฌาน จิตมันทรงในอุปจารสมาธิ เดินปัญญาอยู่ข้างนอก เรียกว่าใช้สมาธินำปัญญา ของเราก็เหมือนกันใช้ปัญญานำ จะใช้สมาธินำพวกเราทำไม่ได้ หรือใช้สมาธิกับปัญญาควบกันทำไม่ได้ จะควบกันได้ต้องมีวสีในฌาน ชำนาญในการดูจิตจะควบได้ สมาธิกับปัญญาควบกันอันหนึ่ง

อีกแบบหนึ่งก็คือเข้าสมาธิออกจากสมาธิแล้วมาเจริญปัญญา อันนี้ก็ใช้สมาธินำปัญญา เข้าสมาธิก่อน ออกมาแล้วเจริญปัญญาไป อีกอันหนึ่งก็ใช้ปัญญานำสมาธิ คือมีแค่ขณิกสมาธิแล้วเจริญปัญญาไป แล้วต่อไปอัปปนาสมาธิจะเกิดขึ้นเอง เกิดขึ้นเองอย่างแน่นอน พูดอย่างไม่กลัวใครเลย ขณิกสมาธิทำให้มากเถอะ แล้วเจริญปัญญาให้มาก ดูธาตุดูขันธ์แสดงไตรลักษณ์ไปให้มากๆ ถึงจุดหนึ่งจิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิโดยอัตโนมัติ มันรวมเอง ไม่ได้เจตนารวม มันรวมของมันเอง ฟึบเข้าไปเอง แล้วก็ไปดำเนินกระบวนการของอริยมรรค อริยผล ตรงนี้ในตำราเขาบอกมี 7 ขณะ มันก็ 7 ขณะจริง ค่อยๆ ดูไป

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องฝึกให้ได้ คือจิตที่เป็นผู้รู้ คอยรู้ทันเวลาจิตมันหลง หรือจิตมันไปเพ่งอะไร รู้ทันจิต การที่เราคอยรู้ทันจิต เราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง ฉะนั้นการฝึกสมาธิ ท่านถึงเรียกว่า จิตตสิกขา เรียนเรื่องจิตแล้วเราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง พอได้สมาธิที่ถูกต้อง เราเจริญปัญญา สติระลึกรู้กายบ่อยๆ ก็ใช้กายานุปัสสนาเป็นหลัก สติชอบระลึกรู้เวทนาเป็นหลัก เราก็ใช้เวทนานุปัสสนาเป็นหลัก สติชอบระลึกรู้จิตที่เป็นกุศล อกุศล เราก็ใช้จิตตานุปัสสนาเป็นหลัก

เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ทางใครทางมัน ไม่มีทางไหนวิเศษกว่าทางไหนทั้งสิ้นหรอก ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วจะรู้เลย มันมาได้ทุกทาง เพราะทุกทางนั้นพระพุทธเจ้าสอนทั้งนั้น ไม่ใช่มีทางเดียว ต้องอย่างนี้แล้วต้องไปอย่างนี้ หลักสูตรตายตัวไม่มีหรอก ทางใครทางมัน ขออย่างเดียว ให้เราได้จิตผู้รู้ขึ้นมาเสียก่อนเถอะ แล้วสติระลึกรู้กาย มันจะเห็นกายไม่ใช่จิต กายไม่ใช่เรา กายเป็นของถูกรู้ อย่างร่างกายนั่ง รูปนั่งเป็นของถูกรู้ นาม จิตเป็นตัวนาม เป็นตัวรู้ เรียกรูปมันเคลื่อนไหว นามเป็นคนรู้ หรือเจตสิกเกิดดับเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง นามเป็นคนรู้ มันแยกขันธ์ แยกออกไป แยกจิต แยกเจตสิก เจตสิกก็พวกเวทนา พวกสังขารอะไรพวกนี้ก็แยกออกไปต่างหาก

ตัวจิตนั้นคือตัววิญญาณ แต่วิญญาณเป็นจิตทุกๆ ชนิด เป็นจิตที่ไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปหลงไปทางโน้นทางนี้ จิตผู้รู้ก็อยู่ในกลุ่มของวิญญาณขันธ์เหมือนกัน เป็นจิตชนิดหนึ่งในหลายสิบชนิดของจิต จิตมันมีกลุ่มใหญ่ๆ จิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศล จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล อย่างเวลาเราไปงานศพ เราได้ยินพระสวด กุสะลาธัมมา อะกุสะลาธัมมา อัพยากะตา ธัมมา คือธรรมที่เป็นกุศล ธรรมที่เป็นอกุศล ธรรมที่ไม่เป็นกุศลไม่เป็นอกุศล เกิดที่จิตทั้งหมดเลยธรรมเหล่านี้

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป ตัวจิตผู้รู้เป็นจิตที่เป็นกุศลชนิดหนึ่ง ภาษาปริยัติเรียกว่า มหากุศลจิตญาณสัมยุต คือประกอบด้วยปัญญา พร้อมที่จะเจริญปัญญา มหากุศลจิตญาณสัมยุต อสังขาริกังๆ คือไม่ได้เจตนาให้เกิด เกิดขึ้นอัตโนมัติ แต่มันเกิดได้เพราะอะไร เพราะเราฝึกหลงแล้วรู้ๆ ไป มันจะได้จิตผู้รู้อัตโนมัติขึ้นมา ฉะนั้นเรามีมหากุศลจิตญาณสัมปยุต อสังขาริกังแล้ว มันยังมี 2 แบบ ดวงหนึ่งจะประกอบด้วยความสุขทางใจ ดวงหนึ่งประกอบด้วยอุเบกขาทางใจ เพราะฉะนั้นจิตผู้รู้มี 2 ลักษณะ บางดวงมีความสุขอยู่ในตัวเอง บางดวงเป็นอุเบกขาอยู่ในตัวเอง ผู้รู้จะมี 2 แบบนี้เท่านั้น

ฝึกเรื่อยๆ หลงแล้วรู้ๆ ไป ในที่สุดจะได้ผู้รู้ที่แข็งแรงขึ้นมา พอได้ผู้รู้ที่แข็งแรงแล้ว สติระลึกรู้กาย มันก็จะเห็นกายแยกออกจากจิต สติระลึกรู้เวทนา มันก็เห็นเวทนาแยกออกจากจิต สติระลึกรู้สังขาร กุศล อกุศลอะไรพวกนี้ กุศล อกุศล สังขารทั้งหลาย มันก็จะแยกออกจากจิต นี่ล่ะเรียกว่าเราแยกขันธ์ได้จริงๆ แยกรูปแยกนามได้จริงๆ พอเราแยกได้แล้ว เหลือเป็นตัวๆ แล้ว รูปส่วนหนึ่ง เวทนาส่วนหนึ่ง เราก็จะเริ่มเห็น รูปก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตรงนี้ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ดูเวทนาก็เห็นเวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นวิปัสสนาแล้ว ดูจิตตสังขาร จิตที่โลภ จิตที่ไม่โลภ จิตที่โกรธ จิตที่ไม่โกรธ จิตที่หลง จิตที่ไม่หลง ดูจิตตสังขาร โลภ โกรธหลงทั้งหลาย ก็เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่จิตอีก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นไตรลักษณ์

 

“ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ”

สุดท้ายมันลงมาที่จิต ตัวผู้รู้เองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เช่นเดียวกับขันธ์ตัวอื่นๆ นั่นล่ะ ไม่วิเศษกว่าตัวอื่นในเรื่องของการที่เกิดแล้วจะต้องดับ ผู้รู้เองก็เกิดแล้วก็ดับ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้เพ่ง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้โกรธ เดี๋ยวก็เป็นผู้โลภ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง เดี๋ยวเป็นผู้ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวเป็นผู้หดหู่ สารพัดจะเป็น ฉะนั้นจิตหลากหลาย วิจิตรพิสดาร แล้วจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น จิตไม่ได้มีดวงเดียว พระพุทธเจ้าสอน จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน บางท่านท่านก็บอก อุ๊ย จิตมีดวงเดียวล่ะ นั่นไม่ใช่พุทธหรอก นั่นฮินดู พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน เราค่อยๆ ภาวนา ถ้าจิตมันเที่ยงก็เป็นอัตตาตัวตน จิตผู้รู้เองก็ไม่เที่ยง ฉะนั้นตัวผู้รู้เองก็ไม่ใช่อัตตาตัวตน สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นควรหรือที่จะเห็นว่าเป็นตัวเราของเรา มันก็ไม่ควร คือประโยคที่พระพุทธเจ้าถามปัญจวัคคีย์

ฉะนั้นพวกเราต้องฝึกทุกวัน ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ ทำอย่างนี้ไม่นาน เราจะได้จิตผู้รู้ขึ้นมา พอได้จิตผู้รู้แล้วอย่าอยู่เฉยๆ สติระลึกรู้กาย ก็ให้รู้สึกลงไป กายนี้ของถูกรู้ จิตมันเป็นคนรู้ กายกับจิตมันคนละอันกัน สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นเวทนาก็ของถูกรู้ จิตที่เป็นคนรู้ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง คนละอันกัน ดูไป แยกๆๆ ไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปจะเห็นทุกตัวนั่นล่ะเกิดแล้วดับทั้งสิ้น กระทั่งตัวผู้รู้เองก็เกิดแล้วดับ สุดท้ายก็ปัญญาแจ่มแจ้ง ก็จะเข้าใจว่า ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ บทนี้ๆ มันจะขึ้นมา สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา เป็นองค์ธรรมที่พระโสดาบันเข้าถึง พระโสดาบันเห็นว่าสิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวร

เฝ้ารู้เฝ้าดูทำอย่างที่หลวงพ่อสอนนั่นล่ะ อันแรกเลยก็คือฝึกให้จิตมีสมาธิที่ถูกต้องเป็นผู้รู้ขึ้นมา ถัดจากนั้นก็แยกขันธ์ไป แล้วก็ดูขันธ์แต่ละขันธ์แสดงความเป็นไตรลักษณ์ไป ในที่สุดจิตมันสรุปว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา ก็เป็นพระโสดาบัน แล้วก็ถัดจากนั้นก็ภาวนาอย่างเดิมนั่นล่ะ ภาวนาไปเรื่อยๆ มันจะละเอียดประณีตขึ้นไปเรื่อยๆ พระโสดาบันก็ยังหลงโลกไม่ได้ต่างกับปุถุชนหรอก ยังหลงโลก แต่ไม่หลงรุนแรงถึงขนาดทำผิดศีล 5 ยังหลงโลกไหม ยังหลง เพราะฉะนั้นยังเวียนว่ายตายเกิดได้อีกตั้ง 7 ชาติ

พอเป็นพระสกิทาคามีความหลงโลกมันลดลงแล้ว มันไกลโลกออกมา มันห่างโลกออกมาแล้ว แต่จะขาดจากโลกเสียทีเดียวก็ยังเสียดายอยู่ แต่ว่าจะให้ไปคลุกกับโลกก็รู้สึกว่าไม่ไหว มันทุกข์เกินกว่าจะเข้าไปคลุกด้วย ประเภทคาบลูกคาบดอกอยู่ จะทิ้งโลกไปเลย ใจก็ยังไม่เด็ดพอ ยังเสียดายอยู่ จะให้ไปอยู่กับโลกก็ไม่ได้รู้สึกว่าโลกมีความสุขจริง เป็นความเคยชินที่จะอยู่กับโลกเท่านั้นล่ะ พระสกิทาคามีจะเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นไม่หลงโลก อยู่ห่างๆ ให้ไปคลุกกับโลกก็ไม่เอาหรอก แต่ให้ไปหนีโลกไปเลย ทิ้งโลกไปเลย ก็ยังใจไม่ถึง ยังยอมไม่ได้ จนกระทั่งเป็นพระอนาคามี จิตจะวางจากโลกข้างนอก เข้าไปสู่โลกภายในคือรูปโลก อรูปโลก โลกของฌาน โลกของรูปฌาน อรูปฌาน จิตจะไปพอใจอยู่ที่นั่น ค่อยๆ ดูไปเรื่อย ถึงจุดหนึ่ง ทำลายเชื้อเกิดได้ ทำลายตัวอวิชชาได้ จิตก็จะหลุดออกจากโลกเด็ดขาด ที่สำคัญจิตผู้รู้มันสลายตัว จิตนี้มันสลายตัว

อย่างถ้าพวกเราภาวนา เราจะรู้สึกจิตเรามีขอบเขตอยู่ มีขอบเขต คนซึ่งบุญบารมีน้อย จิตนี้เล็กนิดเดียว มีขอบเขตเล็กนิดเดียว ใจแคบๆ ภาวนาแล้วใจมันกว้างขึ้น แต่มีขอบเขตไหม มี ขอบนี้มันจะใหญ่ๆๆๆ ขึ้นไป ขอบนั้นคือกรอบของอาสวะที่ห่อหุ้มเราอยู่นั่นเอง ห่อหุ้มจิตเอาไว้ ถึงจุดนั้นอาสวะแตกสลายไป จิตไม่มีขอบเขต ไม่มีจุด ไม่มีดวง ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีการไป ไม่มีการมา มันกลายเป็นธาตุชนิดหนึ่งขึ้นมา เป็นธรรมธาตุ เป็นวิญญาณธาตุ ไม่ใช่จิตอย่างที่พวกเรารู้จัก บางท่านบอกว่าจิตมีอันเดียว ไปพูดถึงจิตดวงที่เป็นธรรมธาตุ จิตหนึ่ง จิตหนึ่งก็หนึ่ง จิตหนึ่ง จิตเดิมแท้อะไรนี่ ไปเอามาปนกับจิตทั่วๆ ไป แล้วบอกว่าจิตมีดวงเดียว ไม่ใช่ ยังไม่เข้าใจการปฏิบัติ

พยายามฝึก ถ้าไม่เลิกปฏิบัติเสียก่อน เราเดินอยู่ในเส้นทางที่ถูกแล้ว วันหนึ่งค่อยพิสูจน์ว่าที่หลวงพ่อบอกจริงไม่จริง ค่อยสรุป อย่าเพิ่งเชื่อตอนนี้ อย่าเพิ่งปฏิเสธตอนนี้ เชื่อตอนนี้ก็โง่ ปฏิเสธตอนนี้ก็โง่อีกล่ะ ภาวนาไปแล้วดูสิ จริงไม่จริง มีคนมาบอกหลวงพ่อเรื่อยๆ ว่า โอ๊ย ภาวนาแทบเป็นแทบตาย ฟังหลวงพ่อแล้วไปภาวนาตั้งนาน วันหนึ่งก็เข้าใจเลย ที่ทำอยู่มันผิด ที่ถูกคืออย่างที่หลวงพ่อบอกนั่น หลวงพ่อบอกธรรมดาๆ นี่ล่ะ แต่เราตีความเสียลึกซึ้งเกินไป ตีความแล้วเอาไปปฏิบัติ เอาไปทำ ทำอย่างโน้น ทำอย่างนี้ จนวันหนึ่งไม่ทำนั่นล่ะ เข้าใจขึ้นมา.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
16 มกราคม 2565