เป้าหมายสูงสุดคือความดับทุกข์

เราจะทำอะไร เราก็ต้องรู้วัตถุประสงค์ว่าเราต้องการทำอะไรเพื่ออะไร ต้องชัดเจน ไม่ใช่เห็นคนอื่นเขาอยากปฏิบัติก็อยากปฏิบัติตามเขาอะไรอย่างนี้ มันไม่ได้เรื่องหรอก เราต้องรู้ว่าการปฏิบัติธรรม วัตถุประสงค์จริงๆ เพื่อถอดถอนความทุกข์ออกจากใจเราให้ได้ จุดหมายสูงสุดก็คือความดับทุกข์ มี 2 ตัว ความดับทุกข์อันนี้เป็นวัตถุประสงค์สูงสุด เป้าหมายของเราอันแรกเลยก็คือต้องพ้นทุกข์ก่อน ต้องรู้ว่าทุกข์คืออะไร ฉะนั้นอริยสัจท่านจะเริ่มต้นจากทุกข์

สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือ รูป นาม กาย ใจของเรานี้เอง ไปจำแนกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกมาเป็นรูปกับนามก็ได้ เป็นขันธ์ 5 ก็ได้ ในขันธ์ 5 มันก็คือรูปนามนั่นล่ะ มีรูปเป็นตัวรูปธรรม นามก็มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นนาม แยกเป็นอายตนะ 6 ก็ได้ สิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี้ ที่เรารู้สึกว่าเป็นเรา แยกเป็นอายตนะ 6 ก็ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นฝ่ายรูปธรรม ใจเป็นฝ่ายนามธรรม แยกเป็นธาตุ 18 ก็ได้ เป็นอินทรีย์ 22 ก็ได้ แต่ย่อลงมาก็คือรูปธรรมกับนามธรรมนั่นเอง ท่านสอนบอกว่า ถ้าเรายังยึดถือในรูปธรรมนามธรรมอยู่ ก็คือเราหยิบฉวยตัวทุกข์เอาไว้ ดูให้ดี สิ่งที่ทุกข์ ไม่กายทุกข์ก็ใจทุกข์ ก็มีอยู่แค่นี้ล่ะ ถ้าเราหยิบฉวยเอากายขึ้นมาเป็นตัวเรา เป็นของเรา มันก็ทุกข์เพราะกาย หยิบฉวยจิตขึ้นมาก็ทุกข์เพราะจิต ยึดถืออะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้นล่ะ ถ้าไม่ยึดมันก็ไม่ทุกข์หรอก

เรารู้วัตถุประสงค์เราจะภาวนาเพื่อพ้นทุกข์ เราจะพ้นทุกข์ได้ เราต้องปล่อยวางความถือมั่นในกายในใจได้ ปล่อยรูปนามได้ เราจะปล่อยวางรูป นาม กาย ใจได้ จะทำอย่างไร ก็มีเหตุมีผลอีกล่ะ พระพุทธเจ้าบอกให้เราเห็นกายตามความเป็นจริง เห็นใจตามความเป็นจริง ท่านบอก “เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ชาติคือความเกิดสิ้นแล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายจบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว” จะรู้สึกอย่างนั้น ฉะนั้นจุดสำคัญก็คือการรู้ทุกข์ บอกทุกข์ให้รู้ เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย สุดท้ายก็คลายความยึดถือ ก็หลุดพ้น

 

เห็นตามความเป็นจริง คือเห็นไตรลักษณ์

ฉะนั้นเราจะภาวนาให้พ้นจากทุกข์จนถึงความดับสนิทแห่งทุกข์ในขั้นสุดท้าย ขั้นแรกก็ต้องพ้นทุกข์ให้ได้ก่อน พ้นทุกข์ได้ก็คือหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรม ที่มันรวมกันเข้ามาเป็นตัวเราของเรานี้ เราจะหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรมได้ ไม่ใช่สั่งจิตให้หมดความยึดถือ เราสั่งจิตไม่ได้ จิตก็เป็นอนัตตา จิตจะยอมปล่อยวางความยึดถือกาย ปล่อยวางความยึดถือจิตได้ จิตต้องเห็นความจริงก่อน ความจริงของกายคือมันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันบังคับไม่ได้ ความจริงของจิตก็คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้เหมือนกัน เป็นอนัตตา

ความจริง สิ่งที่เรียกว่าความจริงๆ ของรูป นาม กาย ใจ จริงๆ ก็คือไตรลักษณ์นั่นล่ะ เพราะฉะนั้นการเห็นไตรลักษณ์ของรูป นาม กาย ใจนี้ล่ะ เป็นทางเดียวที่จะทำให้เราปล่อยวางความถือมั่นในรูป นาม กาย ใจได้ เพราะเห็นแล้วมันไม่มีสาระแก่นสารหรอก กายมันก็ไม่เที่ยง มันก็ไม่มีสาระแก่นสาร กายนี้มีแต่ความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่สาระแก่นสาร ก็บังคับไม่ได้ เป็นสมบัติของโลก เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ถ้าเห็นอย่างนี้ มันก็ไม่ยึดถือกาย เห็นจิตก็เป็นแค่สภาพธรรมอันหนึ่ง เกิดดับ หมุนเวียน เปลี่ยนแปลงไป เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย หาสาระแก่นสารไม่ได้ เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง ของดีๆ ที่เกิดขึ้นกับจิตใจเราก็ทนอยู่ไม่ได้อีก ถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป แล้วก็จิตนี้เป็นของบังคับไม่ได้ สั่งให้สุขก็ไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้ สั่งให้ดีก็ไม่ได้ ห้ามชั่วก็ไม่ได้ เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป พอเห็นความจริง มันจะเบื่อหน่าย พอเบื่อหน่ายแล้วมันจะค่อยๆ คลายความยึดถือออกไป สุดท้ายมันก็หลุดพ้น ไม่ยึดถือ ไม่มีทางอย่างอื่นหรอก ต้องทำอย่างนี้

ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องนั่งสมาธิให้สงบ อันนั้นตื้นเกินไป เป็นแค่ขั้นต้นๆ เท่านั้นเอง ยังไม่ได้เดินปัญญาเลย ตรงที่เราเห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริงนั่นล่ะ เรียกว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก่อนหน้านั้นยังไม่ใช่ ก่อนหน้านั้นก็เป็นสมาธิ เป็นสมถะไป อย่างเราเห็นร่างกายอย่างนี้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน แล้วเราก็คิดเอาว่าร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้ยังไม่ถึงวิปัสสนา วิปัสสนาไม่ได้คิดเอา แต่ต้องเห็นเอา แต่เบื้องต้นก็ต้องคิดก่อนสำหรับบางคน ถ้าเคยอบรมเจริญปัญญามาแต่ชาติก่อนๆ อะไรอย่างนี้ ไม่ต้องคิดก่อน มันเห็นไตรลักษณ์เลย แต่ถ้ามันไม่เห็น อินทรีย์เรายังอ่อน ก็คิดก่อน เรียกว่ามีความคิด แล้วต่อไปก็มีความเห็นถูก คนส่วนใหญ่มันมีความคิด แล้วมันก็มีความเห็นผิด ความคิดห้ามไม่ได้ ไม่มีใครห้ามความคิดได้หรอก ถ้าคิดไปแล้วก็สำคัญมั่นหมายผิด สัญญาหมายผิดก็เกิดความเห็นผิด พอหมายผิด คิดผิด ก็เห็นผิด หมายถูก เห็นถูก ก็คิดถูก

อย่างเราพยายามศึกษาว่า เราจะต้องหมายรู้กายหมายรู้ใจว่าเป็นไตรลักษณ์ เสร็จแล้ว เราก็ดูของจริง เห็นของจริงกายนี้มันเป็นไตรลักษณ์จริงๆ ถึงจะปล่อยวาง จิตเป็นไตรลักษณ์จริงๆ ถึงจะปล่อยวาง ยังต้องฝึก ทำอย่างไรจะเห็นกายเห็นใจแสดงไตรลักษณ์ได้ นี่ก็เป็นโจทย์ที่สำคัญและก็ยากมากเลยในการปฏิบัติ บางคนก็พูดเอา ไปเรียนปริยัติมากๆ เรียนอภิธรรม รู้หมดเลย แต่มันไม่เห็น มันรู้อย่างเดียว มันรู้จากความจำ รู้จากความคิดเอา แต่มันไม่เห็น ทำอย่างไรจะเห็นได้ ก่อนจะเห็นได้ก็ต้องมีผู้เห็นเสียก่อน ผู้เห็นที่หลวงพ่อเรียกบ่อยๆ ว่าผู้รู้ๆ นั่นล่ะ ถ้าเราไม่มีผู้รู้ ไม่มีผู้เห็น การเห็นนั้นก็เพี้ยนๆ ไปหมดแล้ว แต่ถ้าเราฝึกให้ดี เราต้องฝึกเป็นลำดับๆ ไป ตามขั้นตามตอนอย่ากระโดดข้ามขั้น

 

จะเห็นกายเห็นใจแสดงไตรลักษณ์ได้ก็ต้องมีผู้รู้ผู้เห็น

อย่างบางคนลงมือปฏิบัติธรรม ไม่ถือศีล ล้มเหลว ไม่มีทางหรอก ขั้นต้นเลยต้องมีศีลสิกขา ต้องเรียนว่าทำอย่างไรศีลจะเกิด แล้วอยู่ๆ มีศีลแล้วจะไปเจริญปัญญาเลยก็ไม่ได้ บทเรียนที่สองชื่อจิตตสิกขา ต้องเรียนเรื่องจิต เรียนเรื่องจิตเพื่ออะไร เพื่อให้ได้จิตผู้รู้ผู้เห็นนั่นล่ะ ฉะนั้นจิตผู้รู้ผู้เห็นนั่นคือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้อง เขาเรียกว่าสมาธิชนิดลักขณูปนิชฌาน จิตผู้รู้ผู้เห็นจะมีสมาธิที่เรียกลักขณูปนิชฌาน สามารถเห็นไตรลักษณ์ของกายไตรลักษณ์ของใจได้ นึกออกหรือยังทำไมหลวงพ่อเคี่ยวเข็ญพวกเรา ฝึกต้องมีผู้รู้ขึ้นมาให้ได้ ถ้าเรามีผู้รู้ได้ เราจะเริ่มแยกรูปแยกนามได้ เราเริ่มเจริญปัญญาขั้นต้นแล้ว เราจะเห็นว่าร่างกายก็ของถูกรู้ ความสุขทุกข์ก็ของถูกรู้ กุศลอกุศลก็ของถูกรู้ สุดท้ายจิตก็ของถูกรู้อีก อะไรๆ ที่ถูกรู้ เรารู้ไปเรื่อย

เราจะรู้เลยสิ่งที่ถูกรู้ไม่ใช่ตัวเราหรอก จิตนั่นล่ะที่เป็นผู้รู้ผู้ดู เป็นสิ่งที่เรายึดว่าเป็นตัวเราเหนียวแน่นที่สุด พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างร่างกายนี้ ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ คือคนธรรมดาที่ไม่เคยได้ยินธรรมะสามารถเห็นได้ว่ากายไม่ใช่ตัวเรา เพราะมันเห็นคนโน้นก็ตาย คนนี้ก็ตาย ตัวเองเจ็บป่วย หิวโหยอะไร บังคับไม่ได้สักอย่างร่างกายนี้ แต่ท่านบอกว่ามีแต่สาวกของท่านถึงจะเห็นได้ว่า จิตนี้ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา จะเห็นได้ ทีแรกต้องฝึกจิตให้เป็นผู้รู้ผู้ดูให้ได้ก่อน

หลวงพ่อ พอลงมือเจริญปัญญา หลวงปู่ดูลย์พาเข้าที่จิตเลย ไม่ไปที่กายก่อน จนวันหนึ่งหลวงพ่อก็สงสัยไปถามท่าน “หลวงปู่ครับ ผมไปที่สำนักอื่น ที่วัดอื่น เขามีแต่เรื่องกายทั้งนั้นเลย” สายท่านพุทธทาสก็ทำอานาปนสติ มันก็กาย พองยุบ มันก็กาย ทางโกเอ็นก้าก็ทำสมาธิ ทำอานาปนสติแล้วก็มาพิจารณากาย หลวงพ่อเทียนขยับมือ มันก็กายอีกล่ะ วัดป่าก็พุทโธแล้วก็พิจารณากายอีก ที่ไหนๆ ก็มีแต่กายทั้งหมดเลย ก็เลยไปถามหลวงปู่ แล้วผมต้องไปพิจารณากายบ้างไหม ไปดูกายบ้างไหม ท่านมองหลวงพ่อด้วยสายตาสมเพช ท่านก็บอก “ที่เขาพิจารณากาย เขาดูกาย ก็เพื่อให้เห็นจิต ถ้าเข้าถึงจิตแล้ว จะเอาอะไรกับกาย กายเป็นของทิ้ง”

ฉะนั้นถ้าเราตัดตรงเข้ามาที่จิตได้เลยก็ไปเร็วหน่อย ลดขั้นตอนการทำงานลง แต่ถ้ากำลังของจิตเราไม่พอ เราก็ไปเริ่มที่กาย แต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก ถ้าจะดูกาย ก็ต้องมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้ดู ถ้าจะดูเวทนา ก็ต้องมีจิตตั้งมั่นเป็นผู้ดู จะดูสังขาร ก็ต้องมีจิตตั้งมั่นเป็นผู้ดู จะดูจิตที่เกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 ก็ต้องมีจิตที่ตั้งมั่น ถ้าไม่มีจิตที่ตั้งมั่นสักอย่างเดียว เราปฏิบัติไม่ได้จริงหรอก ทำสมาธิ ก็สมาธิที่เป็นมิจฉาสมาธิ เซื่องซึมไปเท่านั้นล่ะ หรือสงบเฉยๆ สงบโง่ๆ เขาเรียกสมาธิฤๅษี สงบโง่ๆ หรือสงบแล้วก็โมหะครอบซึมๆ อันนั้นครูบาอาจารย์ท่านเรียกว่าโมหสมาธิ

จริงๆ สมาธิมันเกิดกับจิตอกุศลได้ ไม่ใช่เกิดไม่ได้ ไม่เหมือนสติ สติเกิดเฉพาะจิตที่เป็นกุศล แต่สมาธิจิตอกุศลก็มีสมาธิ เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกจิตใจของเราแล้วจะได้สมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา มันมี 2 วิธีในการฝึกจิตให้เกิดสมาธิที่ถูกต้อง พอมีสมาธิที่ถูกต้อง เราจะแยกรูปนาม ขันธ์ 5 ได้ แล้วเห็นไตรลักษณ์คือเห็นความจริงของรูปนาม ขันธ์ 5 พอเห็นความจริงแจ่มแจ้ง จิตก็จะคลายความยึดถือและปล่อยวางได้ พอจิตปล่อยวางกาย ก็ไม่ทุกข์เพราะกาย จิตปล่อยวางจิต ก็ไม่ทุกข์เพราะจิต และก็ไม่ทุกข์เพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่งอีกเลย เส้นทางที่เราเดินทั้งหมดจะเป็นอย่างนี้

ทำอย่างไรเราจะมีจิตที่เป็นคนรู้คนดู ผู้รู้ผู้ดู มี 2 วิธีที่หลวงพ่อเคยผ่านมา อันแรกเลยนั่งสมาธิ เราทำสมาธิอย่างเราหายใจเข้า หายใจออก จะบริกรรมด้วยหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรนี่ ทำไปทุกวัน ไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบ ทำไปเรื่อยๆ แล้วคอยรู้ทัน อย่าให้ขาดสติไป พอหายใจ พอจิตมันเริ่มสงบ คำบริกรรมจะหายไปก่อน แล้วพอจิตสงบมากขึ้น ลมหายใจจะระงับ ลมหายใจจะแผ่วๆๆ เหมือนหยุด มาหยุดอยู่ที่นี่ (ชี้ที่ปลายจมูก) แล้วจากลมหายใจที่สติระลึกอยู่ มันจะเปลี่ยน ไม่มีลมให้ดูแล้ว มันจะเกิดเป็นแสงสว่างขึ้นมาแทน จิตก็ไปรู้ที่แสงสว่าง เสร็จแล้วมันก็กำหนดไปจนชำนิชำนาญ พอนึกถึงปุ๊บ มันก็สว่างทันทีเลย จนกระทั่งชำนาญมากขึ้น เราเล่นกับแสงได้ ย่อก็ได้ ขยายก็ได้ เวลาขยาย คล้ายๆ จิตเราเหมือนพระอาทิตย์พระจันทร์อย่างนี้ แผ่รัศมีออกไป ไม่มีที่สุด กว้างขวาง ย่อลงมาเหมือนกับปลายเข็ม เหลือเป็นจุดสว่างแค่ปลายเข็มเท่านั้น แต่มันเข้มมาก แสงมันจะเข้มสุดขีดเลย เข้มกว่าแสงพระอาทิตย์อีกเวลามันรวบลงมา พอเราเล่นได้

การที่จิตเราจดจ่ออยู่กับแสง เรียกว่าวิตก จิตเราเคล้าเคลียอยู่กับแสงโดยที่เราไม่ต้องเจตนาบังคับ เรียกว่าวิจาร จิตมันจะเริ่มสบาย เริ่มสงบ มันไม่ฟุ้งซ่านในหลายๆ อารมณ์ จิตพอมันอยู่ในอารมณ์อันเดียว มันมีความสุขด้วย อารมณ์นี้ มีความสุข มีความสงบ มันเพลิดเพลินพอใจอยู่ มันเกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความเป็นหนึ่ง คือไม่วอกแวกไปไหนเลย ภาวนาถัดจากนั้นมันจะเห็นว่า การที่จิตยังไปรู้อยู่ที่แสงเป็นภาระของจิต จิตมันก็วางแสง ละวิตกละวิจาร มันทวนกระแสเข้ามาที่จิตผู้รู้ ตัวจิตผู้รู้จะเด่นดวงขึ้นมาเลย

ในพระไตรปิฎกจะเรียกว่าจิตมันมี เอโกทิภาวะ คือภาวะแห่งความเป็นหนึ่งอย่างแท้จริง ไม่ใช่เอกัคคตา เอกัคคตามีตั้งแต่ปฐมฌานแล้ว เอโกทิภาวะเกิดในทุติยฌาน ฌานที่สอง ขึ้นไป ฉะนั้นคนละตัว ถ้าพวกเรียนปริยัติเขาแยกไม่ออก เขาไม่เคยเจอ เขาก็คิดว่า มันคือเอกัคคตาตัวเดียวกัน ไม่ใช่คนละตัวกัน เอกัคคตา ในฌานที่หนึ่งก็มี แต่ตัวความตั้งมั่น เป็นผู้รู้ มันเกิดในฌานที่สอง เรียกเอโกทิภาวะ คนละอัน พอมีเอโกทิภาวะแล้ว จิตจะเดินต่อไปถึงฌานที่สาม สี่ หรือเข้าอรูปฌานที่ห้า หก เจ็ด แปดก็ได้ แต่ว่าพอถอยออกมาแล้ว เอโกทิภาวะจะติดออกมานอกสมาธินี้ล่ะ ติดออกมาแล้วเราใช้เจริญปัญญาได้ เรียกเรามีจิตผู้รู้อยู่ในชีวิตอย่างนี้เลย แต่มันอยู่ได้ไม่เกิน 7 วัน มันก็เสื่อม เพราะมันก็ของเสื่อมเหมือนกัน ก็ต้องเข้าฌานอีก ผ่านฌานที่สอง เกิดเอโกทิภาวะขึ้นอีก

ถ้าเราเข้าฌานไม่เป็น พูดถึงฌาน หลวงพ่อก็พูดให้พวกเราฟังไปอย่างนั้นล่ะ ลูกศิษย์หลวงพ่อที่เข้าฌานได้จริงๆ เป็นวสีจริงๆ มีนับตัวได้เลย บางคนบอกมีนับคนได้ เรียกเป็นตัวๆ ก็ดูแปลกๆ มีนับคนได้เลย ส่วนใหญ่ทำไม่ได้ คนรุ่นนี้มันฟุ้งซ่าน มีแต่เรื่องคิดทั้งวัน ไปให้นั่งเข้าฌาน มันไม่เข้าหรอก พอไปนั่งเข้าฌานจริง ไปนั่งหลับเพราะว่ากลางวันฟุ้งเต็มที่แล้ว พอไปนั่งสมาธิก็หลับเลย ไม่ได้มีฌานอะไรหรอก หลับเคลิ้มๆๆ ไป บอกเข้าฌานที่แปดแล้ว เกือบจะไม่รู้สึกตัวแล้ว โอ้โห ได้ยินแล้วอยากเขกกบาลเลย ฌานแปดบ้าบออะไร มันนั่งหลับ คล้ายๆ หลับ ไม่ใช่หรอก

ถ้าเราใช้วิธีสร้างผู้รู้โดยการผ่านฌานไม่ได้ อีกวิธีหนึ่งก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ แล้วสังเกตที่จิตตัวเองไว้ เช่น เราหายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบ แต่มุ่งที่ความรู้สึกตัวไว้ หายใจไปๆ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ลืมการหายใจแล้ว หรือเราบริกรรมพุทโธๆๆๆ เล่นๆ ไป แล้วจิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่น ลืม พุทโธอย่างนี้ ให้เรามีสติรู้ว่าลืมพุทโธไปแล้ว เผลอไปแล้ว ทันทีที่รู้ว่าเผลอ จิตเผลอจะดับ จิตผู้รู้จะเกิดอัตโนมัติ แต่จะเกิดสั้นๆ เป็นขณะๆ ไป เป็นขณิกสมาธิ ไม่เหมือนอย่างคนทรงฌาน ออกมาจิตยังค้างออกมา ทรงอยู่ในอุปจารสมาธิ ทรงอยู่ในอะไร อยู่ได้ทั้งวัน

 

จิตตสิกขา คือบทเรียนที่จะพัฒนาจิตผู้รู้

ฝึก ฉะนั้นหลวงพ่อแนะนำพวกเรา ทุกวันต้องทำกรรมฐาน ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง นี่ล่ะเรียกว่าจิตตสิกขา จะชอบดูจิตหรือจะไม่ชอบดูจิตก็ตาม อย่างไรก็ต้องเรียนจิตตสิกขา แล้วจะไปเจริญปัญญาด้วยการดูกายก็ได้ ดูเวทนา หรือดูจิต หรือเจริญธัมมานุปัสสนา อะไรก็ได้ แต่จะต้องเรียนรู้จิตของตัวเองจนกระทั่งเกิดจิตผู้รู้ขึ้นมาเสียก่อน ฉะนั้นบทเรียนชื่อจิตตสิกขา คือบทเรียนที่จะพัฒนาผู้รู้นั่นเอง พัฒนาจิตผู้รู้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตมันทิ้งอารมณ์กรรมฐานนั้นไป รู้ว่าจิตมันทิ้งอารมณ์กรรมฐาน จิตมันไหลเข้าไปจมแช่ ไปเพ่งนิ่งอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน รู้ว่าจิตไหลเข้าไปแช่อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน รู้ทันจิตไปแล้วผู้รู้จะเกิดเอง

จิตที่มันไหลไป ไม่ว่ามันจะไหลไปแบบไหน มันไหลไปด้วยตัณหา ด้วยความอยากทั้งสิ้นล่ะ อยากได้อารมณ์โน้นอารมณ์นี้ มันก็เที่ยวไหลไป เรามีสติรู้ทันจิตที่ไหล จิตที่ไหลมันก็ดับ กิเลสตัณหามันดับ แล้วจิตก็เป็นคนรู้ขึ้นมา พอจิตมันเป็นคนรู้แล้ว งานต่อไป แยกขันธ์ ฉะนั้นต้องทำให้ได้ ถ้าเราไม่ได้จิตผู้รู้ ไม่ได้กินหรอก กล้าพูดเลย อย่างหลายคนไปฝึกกรรมฐานอะไร มีแต่จิตผู้หลง มันจะไปเจริญปัญญาอะไรได้ โมหะครอบมืดตื้ออยู่ทั้งวัน เมื่อก่อนก็มีในนี้ แอบมาสอนกันอยู่ในนี้ เรียนกันจนมืดไปหมด หลวงพ่อต้องไล่ไปให้หมดเลย มาทำให้คนหลงทาง

เรียน จิตมันจะรู้ตื่นเบิกบานขึ้นมา มันตื่น มันไม่หลับหรอก มันไม่มืดหรอก จิตมันสงบ สว่าง มันไม่สะอาด แต่มันสงบ มันสว่าง แล้วไปเจริญวิปัสสนานั่นล่ะ จิตถึงจะสะอาด เคยได้ยินไหม สายท่านพุทธทาสท่านสอนเรื่อย สงบ สว่าง สะอาด อะไรนี่ มันจะสะอาดได้ด้วยปัญญา สงบ สว่างได้ มีศีล มันก็สงบได้แล้ว อย่างสว่างขึ้นมา มันต้องมีสมาธิ มันจะสว่างขึ้นมา แล้วก็มีปัญญา มันจะสะอาดขึ้นมา ฉะนั้นสงบ สว่าง สะอาด ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญานั่นล่ะ เป็นผลจากศีล สมาธิ ปัญญา

ฉะนั้นเราฝึก ทุกวันต้องทำ ถ้าอยากได้ดี ทุกวันต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ๆ ไม่ได้ทำเพื่อความสุข ไม่ได้ทำเพื่อความสงบ ไม่ใช่ทำเพื่อความดี แต่ทำไปเพื่อความรู้เนื้อรู้ตัว เช่น เราหายใจเข้า หายใจออก รู้สึกไป หรือเราพุทโธๆๆ ไป สัมมาอะระหังก็ได้ นะมะพะทะ พุทธังสะระณัง คัจฉามิอะไรก็ได้ บริกรรมอะไรก็ได้ หรือจะทำกรรมฐานอย่างอื่นก็ได้ ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก หรือดูร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหวๆ ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก อะไรก็ได้ หรือรู้ความสุข ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในร่างกายก็ได้ หรือรู้ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจก็ได้ หรือรู้กุศลอกุศลที่เกิดขึ้นกับใจก็ได้ อะไรก็ได้ แล้วถ้าเก่งจริงๆ ก็จะเห็นจิตมันเกิดดับทางทวารทั้ง 6 ก็ได้ เห็นจิตมันเกิดดับทางทวารทั้ง 6 ก็ได้

ทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตนเอง ไม่ใช่จิตผู้อื่น รู้ทันจิตผู้อื่นกิเลสงอกงาม ให้รู้ทันจิตตัวเอง แล้วเราจะได้จิตผู้รู้ นี่ล่ะเรียกว่าจิตตสิกขา จิตตสิกขา ไม่ได้นั่งเรียนเรื่องจิต ว่าจิตมี 89 ดวง จำแนกอย่างละเอียดได้ 121 ดวงอะไรอย่างนี้ แต่ละดวง ประกอบด้วยองค์ธรรมอย่างนี้ๆ อันนั้นไม่เรียกว่าจิตตสิกขา อันนั้นเรียกว่าเรียนตำราเฉยๆ สิ่งที่ได้คือได้ความจำ หรือจิตมีทั้งกุศล ทั้งอกุศล ทั้งไม่ใช่กุศล ทั้งไม่ใช่อกุศล จิตมีทั้งจิตที่เป็นกิเลส จิตที่กระทำกรรม จิตในวิบากอะไรอย่างนี้ อย่างนี้ไม่เรียกว่าเรียนเรื่องจิตตสิกขา

เรียนเรื่องจิตตสิกขา เราภาวนาไป แล้วจิตมันแสดงอะไรให้ดู รู้ทันมันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วจิตมันหนีไปจากอารมณ์กรรมฐาน อย่างเราพุทโธๆ หนีไปคิดเรื่องโอมิครอนอะไรอย่างนี้ รู้ทันไป เอ๊ย หลงไปแล้ว ทันทีที่รู้ว่าจิตหลงไป จิตรู้จะเกิดอัตโนมัติเลย หรือบางทีเรารู้ลมหายใจ แล้วจิตมันไหลไปอยู่ที่ลม เรารู้ว่าจิตไหลไปอยู่ที่ลม การไหลไปอยู่ที่ลมจะดับ เกิดจิตผู้รู้ขึ้นมา

ฉะนั้นสิ่งที่ผิดมี 2 อัน อันหนึ่งเผลอไปคิดเรื่องอื่น อันหนึ่งไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน สิ่งที่ผิดที่หลวงพ่อย้ำแล้วย้ำอีก มี 2 ตัวนี้ล่ะ ไม่เผลอก็เพ่ง เผลอก็คือลืมอารมณ์กรรมฐาน เพ่งก็คือไปจ้องอารมณ์กรรมฐานแบบเอาเป็นเอาตาย แล้วไม่ได้รู้ทันจิตตัวเอง ถ้ารู้ว่าจิตไปจ้องอารมณ์กรรมฐาน อันนั้นล่ะ ผู้รู้มันจะเกิดขึ้นมา ฉะนั้นต้องรู้ทันจิตตัวเอง มิฉะนั้นไม่ได้ผู้รู้หรอก รู้ทันจิตตัวเองก็ไม่ยอมรู้ เข้าฌานก็ไม่เป็น ไม่มีทางได้จิตผู้รู้เลย มันมี 2 วิธีที่หลวงพ่อเคยเห็นมา ยังไม่เห็นวิธีที่สาม ประเภทไปจุดธูปไหว้ต้นโพธิ์แล้วก็เกิดจิตผู้รู้อะไรอย่างนี้ ไม่เคยเห็น มีแต่ต้องทำอย่างนี้ล่ะ

ฉะนั้นฝึกไป แล้วเราได้จิตผู้รู้แล้ว ความยากที่สุดอยู่ตรงนี้ล่ะ เพราะในสังสารวัฏสิ่งที่เรามีคือจิตผู้หลง แล้วลงมือปฏิบัติเราก็มีจิตผู้เพ่ง เราไม่เคยมีจิตผู้รู้ ฉะนั้นต้องฝึกกันพักหนึ่งเลย อย่างพวกมาบวชกับหลวงพ่อ ตอนเป็นโยมก็ว่าเจ๋งๆ แล้ว มาบวชกับหลวงพ่อรื้อเริ่มต้นใหม่ นับหนึ่งใหม่เลย ประมาณ 2 – 3 เดือน จึงจะได้ผู้รู้ขึ้นมาจริงๆ แล้วถึงจะมาเจริญปัญญาได้ พอมีจิตผู้รู้แล้ว มันจะเจริญปัญญาได้ จิตมันเป็นคนรู้คนดูอยู่ พอร่างกายขยับอย่างนี้ มันจะรู้สึก ไม่ใช่คิด มันจะรู้สึกเลย มันไม่ใช่เรา อย่างบางคนแปรงฟันอยู่ แปรงฟันอยู่ ปุ๊บ จิตผู้รู้มันเกิด มันเห็น อันนี้มันท่อนๆ อะไรท่อนหนึ่งเท่านั้นเอง เป็นแค่วัตถุ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา พอสติระลึกรู้รูป ก็เห็นรูปเป็นไตรลักษณ์เลย เห็นเป็นอนัตตา เป็นต้น เอ๊ะ ไม่ใช่เราเคลื่อนไหว

ถ้ามีจิตผู้รู้ มันจะเห็นไตรลักษณ์ได้ ถ้าไม่มีจิตผู้รู้ อย่างมากที่สุดก็คือคิดเรื่องไตรลักษณ์ ไม่เป็นวิปัสสนาหรอก บางทีก็คิดเอา ตาเห็นรูปๆ รู้ รู้อะไร ตรงตาเห็นรูปแล้วบอก กำหนดลงไปๆ ตรงนี้กำหนดได้ตั้งหลายแบบซึ่งผิดทั้งหมดเลย บางคนไปกำหนดที่รูป ที่มองเห็นว่านี่เป็นสักแต่ว่าสี คิดเอาทั้งหมดล่ะ บางทีกำหนดที่ประสาทตา รับรู้ได้เฉพาะประสาทตา อันนี้ก็คิดเอา หรือกำหนดผัสสะตอนที่มันกระทบ มันกระทบกันๆ จิตมันถลำลงไปอยู่ตรงที่มันกระทบกัน ปัญญาไม่เกิดหรอก ได้แต่ความคิด บางทีก็เพ่งไปที่ความรับรู้ทางตา เพ่งวิญญาณทางตา เพ่ง อันนี้ไม่ใช่ๆ ไม่มีทางเป็นวิปัสสนาอะไรจริงขึ้นมาหรอก

ฉะนั้นต้องฝึกให้ได้จิตที่เป็นคนรู้ เป็นผู้รู้ผู้เห็นแล้วพอร่างกายเคลื่อนไหว สติระลึกรู้ร่างกายที่เคลื่อนไหว จิตมันเห็น เรามีจิตผู้รู้ผู้เห็นด้วยการฝึกจิตตสิกขา จิตเคลื่อนแล้วรู้ จิตไปเพ่งแล้วรู้ นี่แบบหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งคือฝึกสติ เครื่องมือที่เราจะใช้เดินปัญญา มี 2 ตัวหลัก สติตัวหนึ่งกับสมาธิที่ถูกต้องอีกตัวหนึ่ง วิธีฝึกให้ได้สมาธิที่ถูกต้อง ก็คือฝึกจิตตสิกขานั่นล่ะ แล้วจะได้จิตผู้รู้ คือจิตผู้ทรงสมาธิที่ถูกต้อง วิธีที่ให้สติเกิดก็ต้องฝึก ไม่ใช่ว่าฝึกจิตตสิกขา แล้วไม่ต้องฝึกให้เกิดสติ วิธีฝึกให้เกิดสติ ทำสติปัฏฐานไป ในขั้นต้นล่ะ ทำให้เกิดสติ เช่น คอยรู้สึกไว้ รู้สึกร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก รู้สึกเรื่อยๆ ไป พอร่างกายมันเผลอ พอใจมันเผลอ ร่างกายมันหายใจปุ๊บ สติมันระลึกได้เอง ต้องฝึก

สติเกิดจากถิรสัญญา ถิรสัญญาแปลว่า การจำได้อย่างแม่นยำ การจำสภาวะได้อย่างแม่นยำ สติจะเกิด สติตัวนี้คือสติปัฏฐาน ไม่ใช่สติธรรมดาอย่างโลกๆ สติธรรมดาอย่างโลกๆ ก็มี สติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นมา เป็นสัมมาสติ พวกที่เรียนตำราเฉยๆ จะบอก ไม่มีหรอกคำว่า สัมมาสติ เพราะสติทุกตัวเป็นสัมมา ไม่ใช่ พระพุทธเจ้ากำหนด scope ไว้ ตัวที่เป็นสัมมาสติจริงๆ คือสติปัฏฐาน 4 มีสติระลึกรู้กายเนืองๆ รู้เวทนาเนืองๆ รู้จิตเนืองๆ รู้สภาว ธรรมเนืองๆ ไม่ใช่ไม่ดื่มสุรา การดื่มสุราทำให้ขาดสติ อันนั้นสติอย่างโลกๆ ท่านเรียกว่าสติธรรมดา คำว่าสัมมาสติ คำว่ามิจฉาสติยังมีเลย ในพระไตรปิฎก มีคำว่ามิจฉาสติด้วย ไม่ใช่ว่ามีแต่สัมมาสติ มิจฉาสติคือสติ โลกๆ นี้ล่ะ เดินไม่ตกถนนเรียกมีสติ แต่ถ้าจะเป็นสัมมาสติจริงๆ คือสติระลึกรู้รูปนาม สติระลึกรู้ สติปัฏฐาน 4 ก็คือรูปกับนามนั่นล่ะ

 

วิธีรวบยอด ฝึกให้ได้ทั้งสติและสมาธิด้วยวิธีเดียวกัน

ฉะนั้นเราก็จะฝึก แต่ว่าเรามีวิธีรวบยอด ย่อลงมาเลย สามารถฝึกให้ได้ทั้งสติ ทั้งสมาธิด้วยวิธีเดียวกัน อย่างเราทำกรรมฐาน อันนี้เป็นวิธีลัดเลย ไม่ต้องแยกฝึก ไม่ใช่มาเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้เกิดสติแล้วก็มาแบ่งเวลามาทำในรูปแบบ เพื่อให้เกิดสมาธิที่ถูกต้องอะไรอย่างนี้ ไม่จำเป็น มีวิธีที่ลัดสั้นกว่านั้นอีก รวบ 2 อันนี้เข้าด้วยกัน ทำได้ วิธี อย่างเราหายใจเข้า รู้สึก หายใจออก รู้สึก แล้วจิตมันหนีไป เรารู้สึก ต่อไปพอจิตมันหนีปุ๊บ มันจะระลึกได้เอง มันจำได้ว่าจิตที่หลงไปคิดเป็นอย่างไร นี่เรียกว่ามันมีถิรสัญญาแล้ว มันจำได้แล้ว พอจิตหลงไปคิดทีแรกไปคิดตั้งชั่วโมง ยังไม่รู้เลย พอฝึกมาคิด 5 นาทีรู้แล้ว คิด 1 นาทีรู้แล้ว ต่อไปจิตเคลื่อนปั๊บ รู้ปั๊บเลย ยังไม่รู้ว่าจะไปคิดเรื่องอะไร แค่มันจะไหลไปคิด สติระลึกแล้ว เพราะว่าอะไร เพราะเราเกิดถิรสัญญาแล้ว เราจำได้แม่นแล้วว่า จิตที่มันเคลื่อนไป มันจะเคลื่อนไปคิด มันเป็นอย่างไร

เพราะฉะนั้นถ้าเราหัดทำกรรมฐานอย่างที่หลวงพ่อบอก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเคลื่อนแล้วรู้ อาจจะเคลื่อนไปคิด หรือเคลื่อนไปเพ่งก็รู้เอา ตรงไปเพ่งคือหลงเหมือนกัน ถ้าว่าไปจริงๆ คือจิตมันเคลื่อนออกจากฐานไป เพราะฉะนั้นบางทีเราดูในร่างกายเราอยู่ จิตมันไหลเข้าไปในร่างกาย อันนี้จิตไม่ตั้งมั่นแล้ว เรียกจิตส่งออกนอกแล้ว แต่ส่งเข้าไปข้างในก็เรียกออกนอกเหมือนกัน ออกนอกจากฐานของความรับรู้ ของตัวรู้

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานไป ย่อๆ เลย ง่ายๆ เลย ทุกวันต้องทำ มีเครื่องอยู่อย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเองไว้ จิตหนีไปคิดทิ้งเครื่องอยู่ เช่น ทิ้งพุทโธไปคิดเรื่องอื่น คิดเรื่องโควิดอะไรอย่างนี้ รู้ทันว่าจิตไหลไปแล้ว หรือหายใจอยู่ จิตไหลไปอยู่ที่ลม รู้ว่าจิตไหลไปอยู่ที่ลมแล้ว จิตผู้รู้ก็เกิด ต่อไปพอจิตมันไหล มันเคยเห็นจิตไหลบ่อยๆ วันหนึ่ง ไหลร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้งแล้ว ยิ่งฝึกจะยิ่งเห็นว่ามันไหลบ่อยที่สุดเลย ถ้าไม่เคยฝึก วันหนึ่งไหลไม่กี่ครั้งหรอก บางคนครั้งเดียววันหนึ่ง ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่เคยกลับมาเลย นี่หลงวันละครั้ง ไม่ได้เรื่องเลย บางคนหลง วันละ 2 ครั้ง หลงวันละ 2 ครั้งคือประเภทไหน หลงยาวเลยแล้ว รู้สึกตัวได้แวบหนึ่งแล้วหลงอีกยาวเลย ทั้งวันรู้สึกตัวครั้งเดียว ก็หลง 2 ครั้ง ก็เลยมีสมการ หลงเท่ากับรู้บวกหนึ่งๆ ฉะนั้น ต่อไปพอเราหลงแล้วเรารู้ๆ เราจะหลงบ่อย แต่หลงสั้นยิ่งหลงบ่อย ยิ่งหลงปุ๊บรู้ปั๊บ หลงบ่อยมากเลย วันละแสนครั้งอะไรอย่างนี้ แสดงว่าสติเกิด หนึ่งแสนลบหนึ่งครั้ง ไปเฝ้ารู้ แล้วสติจะเกิดถี่ขึ้นๆๆ

หัดรู้สภาวะไป พอจิตมันหนีไปที่อื่นรู้ทัน จิตมันถลำไปที่สภาวะรู้ทัน เราก็จะจำ ถึงจุดหนึ่ง เราจะจำสภาวะที่จิตเคลื่อนได้ พอจิตมันเคลื่อนปุ๊บ สติจะเกิดอัตโนมัติ แล้วสมาธิตั้งมั่นก็จะเกิดอัตโนมัติด้วย นี่เป็นวิธีที่รวบเลย ทำอย่างเดียว ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว คือได้สติที่ถูกต้องและสมาธิที่ถูกต้อง ทำกรรมฐานไปแล้วรู้ทันจิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ เคลื่อนไปคิดก็รู้ จะเคลื่อนไปเพ่งก็รู้ จิตไปเพ่งก็เคลื่อน ไม่ใช่ไม่เคลื่อน

เมื่อก่อนมีหลานหลวงพ่อคนหนึ่ง อายุ 9 ขวบตอนนั้น มันก็หัดภาวนา ฟังหลวงพ่อเทศน์ก็ภาวนา วันหนึ่งมันก็ไปบอกคุณแม่ชี บอก “อาโกๆ รู้แล้วว่าจิตเพ่งคืออะไร” มันรู้จักว่าจิตเพ่งก็คือจิตหลงแบบมีปัญญา จิตหลงแบบฉลาด ไม่ใช่หลงโง่ๆ หลงอย่างฉลาด มันพูดแบบเด็ก มันสื่อแบบเด็ก แต่จุดสำคัญก็คือมันรู้ว่าจิตเพ่ง มันหลง หลงเพ่ง ตรงนั้นสำคัญ ส่วนภาษาที่มันจะสื่อ สื่อแบบเด็กไม่ถูกตำรับตำรา ไม่เป็นไร

เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐานแล้วจิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ เคลื่อนไปคิดแล้วรู้ เคลื่อนไปเพ่งแล้วรู้ ฝึกให้ชำนาญ พอจิตมันจำการเคลื่อนได้ พอมันเคลื่อนปุ๊บสติจะเกิดเอง ทันทีที่สติเกิด สติที่ถูกต้องเกิดเมื่อไร สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดเมื่อนั้น ฉะนั้นในพระไตรปิฎกจะสอนไว้ สัมมาสติต่อด้วยสัมมาสมาธิ มีสัมมาสติเมื่อไร สัมมาสมาธิจะมาเองเลย ฉะนั้นเราฝึกไปเรื่อยๆ เราจะได้ควบ 2 อันนี้เลย

 

“เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาวายามะอยู่ การฝึกจิตของเราจะพัฒนา
สัมมาญาณะคือการหยั่งรู้อย่างถูกต้องจะเกิดขึ้น”

 

พอมีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ มีสัมมาวายามะ สัมมาอื่นๆ เป็นโซนของศีล เป็นโซนของปัญญาเบื้องต้นอะไรอย่างนี้ ปัญญาในขั้นต้น แล้วก็โซนของศีล โซนที่ฝึกจิตมี 3 โซน 3 ตัว สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาวายามะเป็นตัวกรอบ เป็นตัวชี้นำให้เรารู้ว่าที่เราปฏิบัติทำไปเพื่อลดละกิเลส เพื่อเจริญกุศล ไม่ได้ทำเพื่อความสุข ความสงบ ความดีใดๆ ทั้งสิ้น ทำไปเพื่อสิ่งนี้ แล้วถ้าเรามีเป้าหมายที่ถูก แล้วเราเจริญสติปัฏฐานไป เราจะได้สัมมาสติขึ้นมา สติที่ระลึกรู้อัตโนมัติโดยไม่เจตนาระลึก แล้วสติที่ถูกต้องสมบูรณ์ขึ้นมา จะส่งผลให้สัมมาสมาธิสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นถ้าจะสอน สัมมาวายามะที่สมบูรณ์ที่บริบูรณ์ก็จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ สัมมาสติที่บริบูรณ์ก็จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์

พอเรามีสัมมาสมาธิแล้ว มีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาวายามะอยู่ การฝึกจิตของเราจะพัฒนา สัมมาญาณะคือการหยั่งรู้อย่างถูกต้องจะเกิดขึ้น คือเริ่มเห็นเกิดวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ขึ้นมา สุดท้ายสัมมาวิมุตติก็เกิดขึ้น เกิดอริยมรรค อริยผลขึ้นมา เห็นไหมวิมุตติยังมีคำว่าสัมมาเลย เพราะมันมีมิจฉาวิมุตติด้วย มิจฉาวิมุตติ เช่น เราทำสมาธิ จิตสว่างว่างแล้วเราก็อยู่ตรงนี้ อันนี้มันเป็นนิพพานพรหม นิพพานแบบพรหม จิตไปติดความว่าง ติดความสว่างหลายที่เขาสอนกัน

ฝึกจิตให้ว่าง ฝึกจิตให้ว่างก็คือไปฝึกมิจฉา มิจฉาสมาธิ มิจฉาวิมุตติ ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ฝึกจิตให้ว่าง ท่านสอนให้รู้ทุกข์ คือเรียนรู้ความจริงของกายของใจ ท่านไม่ได้บอกให้ทำกายทำใจให้ว่าง แต่เมื่อเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว ปล่อยวางแล้ว มันว่างเองไม่ต้องร่ำร้องหาความว่าง ไม่ต้องฝึกให้เห็นความว่าง มันเห็นอัตโนมัติ เพราะว่าจริงๆ โลกนี้มันว่างแต่ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ไปฝึกจิตให้ว่าง อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นไปเป็นพรหม เป็นมิจฉาสมาธิเลย เป็นพรหม

 

 

เข้าใจไหมที่สอนมานี้ สรุปถือศีล 5 ไว้ ทุกวันทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเองไว้ จิตเคลื่อนแล้วรู้ จะเคลื่อนไปคิดหรือเคลื่อนไปเพ่ง ก็ช่างมันเถอะ ให้รู้ทันอย่าไปห้ามมัน มันจะเคลื่อนให้รู้ทันเท่านั้น ไม่ต้องไปห้ามเคลื่อน ห้ามเคลื่อนจะเครียด เครียดใช้ไม่ได้ จิตที่เครียดๆ มันเป็นอกุศลจิต จิตที่เป็นกุศลจริงๆ มันเบา นุ่มนวล อ่อนโยน คล่องแคล่ว ว่องไว ซื่อตรงในการทำงาน รู้อารมณ์ซื่อๆ ถ้าจิตอกุศล ไม่ใช่

ฉะนั้นไปทำ รักษาศีล 5 ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเองไป ถัดจากนั้นพอได้จิตผู้รู้แล้ว สติระลึกรู้กาย ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของกาย สติระลึกรู้เวทนา ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของเวทนา สติระลึกรู้สังขาร เช่น โลภ โกรธ หลง ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของโลภ โกรธ หลง แต่ทั้งหมดมีจิตเป็นคนรู้ สุดท้ายมันจะรวบยอดลงมาที่จิตดวงเดียวนี้ล่ะ มันเห็นว่าจิตผู้รู้เองก็ยังตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์อีก สุดท้ายมันก็วางจิตผู้รู้

จิตผู้รู้แสดงไตรลักษณ์ได้อย่างไร ประเดี๋ยวมันก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้ไปดูรูป เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไปฟังเสียง เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ดมกลิ่น เป็นผู้ลิ้มรส เป็นผู้ไปรู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้ไปคิดทางใจ จิตมันไหลอยู่ทางอายตนะทั้ง 6 ตัว ไหลๆๆ จิตไม่ได้มีดวงเดียว จิตเกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 เฝ้ารู้ไป แต่ต้องมีจิตผู้รู้ ถ้าเราไม่มีจิตผู้รู้ จิตเรามีแต่ผู้หลง มันจะหลง เดี๋ยวก็หลงดู หลงฟัง หลงคิด มันมองไม่ออกหรอก แต่พอมีจิตผู้รู้มาคั่น มันก็จะเห็นว่าจิตผู้รู้กับจิตผู้หลง มันคนละแบบกัน จิตผู้หลง เขาเรียกหลงใหล ไม่ใช่หลงเฉยๆ หลงแล้วไหล ไหลไปไหน ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตผู้รู้มันตั้งมั่น มีสมาธิ

สมาธิแปลว่าความตั้งมั่น ไม่ใช่ตั้งนิ่งๆ สงบ อันนั้นสมาธิยังธรรมดามาก สงบอยู่เฉยๆ ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นั่นล่ะถึงจะตั้งมั่นจริง ฝึกไปเรื่อยๆ มันก็จะเห็นสภาวะทั้งหลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ว่ารูปหรือว่านาม จะแยกรูปนามเป็นขันธ์ 5 มันก็เกิดดับ จะแยกเป็นอายตนะ 6 มันก็เกิดดับ จะแยกเป็นธาตุ 18 มันก็เกิดดับ ลงไตรลักษณ์หมด จะแยกเป็นอินทรีย์ 22 มันก็เกิดดับ หรือจะเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นกระบวนการที่ว่าความทุกข์มันเกิดอย่างไร ความพ้นทุกข์มันเกิดอย่างไร ก็มีความเกิดดับตลอดเวลา ลงท้ายก็คือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ

พอเห็นจริง จิตก็จะคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น จิตหลุดพ้นก็คือ จิตไม่ยึดกาย พอจิตไม่ยึดกาย อะไรจะเกิดขึ้นกับกาย จิตจะไม่ทุกข์ ถ้าจิตเห็นความจริงของจิตว่าตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่ยึดจิต ต่อไปนี้ไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ที่จะมากระทบก็ไม่ได้ทำให้จิตเป็นทุกข์ไปด้วย แล้วความยึดถือว่าจิตเป็นของเรา เป็นตัวเรา ไม่มีๆ มันเป็นแค่ธรรมธาตุ เป็นธาตุเท่านั้น ใจเข้าถึงธรรมจริงๆ มีความสงบสุข ถ้าเข้าถึงธรรม แล้วสิ่งที่เราได้มา มันสงบสุข มีชีวิตที่สงบสุข หายาก ในโลกไม่มี ในโลกมีแต่ความกระเพื่อมไหว ไม่สงบหรอก มีแต่ความเสียดแทง มีแต่เรื่องวุ่นวายตลอดเวลา เราภาวนาจนถึงวันหนึ่ง เราเข้าถึงความสงบ ในความสงบนั้นมีบรมสุขอยู่ เพราะฉะนั้นนิพพานเป็นความสงบ เป็นความว่างอย่างยิ่งเลย เรียก นิพพานัง ปรมัง สุญญัง อันนี้เป็นผลที่เราฝึก อยู่ๆ จะไปทำจิตให้ว่าง แล้วบอกนิพพาน ไม่ใช่ แล้วท่านก็บอก นิพพานัง ปรมัง สุขัง เป็นบรมสุข ฉะนั้นสิ่งที่เราได้มา เราได้ความสงบสุขมา แต่ไม่มีเจ้าของหรอก ถ้ายังมีเราเป็นเจ้าของความสงบสุข ยังไม่ได้กระทั่งโสดาบัน

ค่อยๆ ฝึก เดี๋ยววันหนึ่งเราก็แจ้งที่หลวงพ่อบอกนี่ล่ะ พวกเรามาบอกหลวงพ่อเรื่อยๆ ว่าสามารถเป็นพยานคำสอนที่หลวงพ่อสอนได้ ในเรื่องนี้ๆ คือรู้เรื่องนี้แล้ว มันก็เหมือนที่หลวงพ่อบอกจริงๆ อะไรอย่างนี้ ถ้าเราภาวนา ต่อไปเราก็เป็นพยานให้คำสอนของพระพุทธศาสนาได้ว่าพระพุทธศาสนาสอนความจริง ถ้าเราภาวนาแล้วเราพ้นทุกข์ได้จริงๆ เราเป็นพยานได้.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 มกราคม 2565