อนัตตลักขณสูตร

กรรมฐานเป็นงานฝึกจิต จิตเป็นใหญ่เป็นหัวหน้า เป็นประธานของธรรมะทั้งปวง การฝึกจิต ฝึกเพื่ออะไร สูงสุดก็เพื่อให้จิตพ้นจากความทุกข์ ฉะนั้นจุดหมายปลายทางในคำสอนของพระพุทธเจ้าคือความดับสนิทแห่งทุกข์ ไม่ใช่เรื่องอื่น ความทุกข์มันมีได้ก็เพราะว่าจิตมันไม่ฉลาด ก็ต้องมาฝึกมัน จิตเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้ แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้

ฉะนั้นงานกรรมฐาน เป็นงานฝึกจิต ไม่ใช่ฝึก นั่งแบบไหน เดินแบบไหน จะนั่งท่านั้นท่านี้ จะเดินมีกี่จังหวะ หายใจจะมีกี่จังหวะอะไร อันนั้นเป็นแค่รูปแบบของการปฏิบัติ มันเป็นเปลือก แก่นแท้ของงานกรรมฐานคือการฝึกจิตตนเอง สูงสุดสิ่งที่เราจะได้จากการที่เราฝึกจิตใจตัวเอง คือความพ้นทุกข์

 

รากเหง้าของความอยากทั้งหลาย คือเราไม่เห็นความจริงของกายของใจ

ความทุกข์ในจิตใจเราเกิดจากอะไร เกิดจากความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตมันเกิดจากตัณหา คือความอยาก อยากได้มาซึ่งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อยากได้มา ก็ดิ้นรนปรุงแต่งเพื่อจะเอามาให้ได้ อยากให้สิ่งที่มีอยู่คงอยู่ ก็มีความดิ้นรนปรุงแต่งที่จะรักษาเอาไว้ อย่างเราพยายามรักษาจิตให้นิ่งๆ อะไรอย่างนี้ มันก็เป็นตัณหาอันหนึ่ง เกิดภพ ภพอะไรที่ทำให้จิตนิ่งๆ อยู่ ภพของพรหม มีภพ มันก็มีความยึดถือในจิตในใจขึ้นมา

ตัณหา ความอยาก รากเหง้าของมันจริงๆ ก็คือความไม่รู้ความจริงของชีวิต ไม่รู้อริยสัจ 4 นั่นล่ะ เราอยากพ้นทุกข์ แต่เราไปสร้างเหตุให้เกิดความทุกข์ คนในโลกเป็นอย่างนั้นทั้งนั้นล่ะ อยากพ้นทุกข์ อยากไม่ทุกข์ แต่สิ่งที่ทำคือทำเหตุให้เกิดทุกข์ ทำไมจิตมันถึงเกิดตัณหา ไปทำเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อกี้บอกแล้วว่าพอมีตัณหา มีความอยาก ก็เกิดความดิ้นรน คือการสร้างภพขึ้นมา ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ มีภพก็มีชาติ คือการที่เราไปหยิบฉวย ไปยึดไปถือเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา โดยเฉพาะการหยิบฉวยเอาจิตขึ้นมา

คนทั่วไปมองไม่เห็นว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือตัวทุกข์ คิดว่าเป็นของดีก็ไปหยิบฉวยเอาไว้ ไปนอนกอดตัวทุกข์อยู่ มันก็เลยไม่พ้นจากทุกข์ มันน่าสงสาร ใครๆ ก็อยากพ้นทุกข์ แต่สิ่งที่ทำคือทำเหตุให้เกิดทุกข์ ทำอย่างไรเราจะละตัณหาได้ เราต้องรู้ตัณหา ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากให้ไม่มี ไม่เป็นอะไรอย่างนี้

ความอยากทั้งหลาย รากเหง้าของมัน ลึกที่สุดเลยคือเราไม่เห็นความจริงของกายของใจ เราไม่เคยรู้หรอกว่าร่างกายนี้คือตัวทุกข์ อย่างเก่งที่สุด เราก็เห็นแค่ว่า ร่างกายนี้ทุกข์บ้างสุขบ้าง เราไม่เคยเห็นว่าตัวจิตนั้นคือตัวทุกข์ อย่างเก่งก็เห็นว่าจิตนี้ทุกข์บ้างสุขบ้าง พอมันมี 2 ช้อยส์ให้เลือก มี 2 ทางเลือก ระหว่างสุขกับทุกข์ มันก็เกิดอยากได้อารมณ์ที่มีความสุข อยากให้กายเป็นสุข อยากให้ใจเป็นสุข พอมันรู้สึกสุขแล้วก็อยากรักษาเอาไว้

อย่างเราตอนเป็นหนุ่มเป็นสาว เรี่ยวแรงดี ทำอะไรคล่องแคล่ว ก็อยากให้มันหนุ่ม มันสาวตลอดกาล อันนี้เรียกว่า ภวตัณหา อยากให้มันคงอยู่ เวลาเราไม่เห็นความจริงว่ากายนี้ใจนี้คือตัวทุกข์ เราก็เลยอยากให้มันเป็นสุข เราไม่เห็นความจริงว่ากายนี้ใจนี้คือตัวทุกข์ เราก็เลยอยากให้มันไม่ทุกข์ ความอยากทั้งหลายแหล่ รวมลงมาก็คืออยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ จะอยากกี่ร้อยกี่พันอยาก ย่อลงมาแก่นกลางของมันก็คืออยากให้ตัวเรามีความสุข อยากให้ตัวเราไม่ทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าเรา มันคือกายกับใจนี่ล่ะ

เพราะฉะนั้นเราจะทำลายตัณหาได้ ไม่ใช่ไปสั่งว่าตัณหาจงอย่าเกิด ตัณหาเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกัน มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ เหตุของมันก็คืออวิชชา อวิชชาก็เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน ความยึดถือ เกิดภพ คือความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต เกิดชาติคือความหยิบฉวย การหยิบฉวยเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมาเป็นตัวกูของกู โดยเฉพาะการหยิบฉวยจิตร้ายกาจที่สุดเลย ยาก ดูยากที่สุด

การที่ไปหยิบฉวยเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตัวมันคือตัวทุกข์ เท่ากับเราไปหยิบเอาตัวทุกข์ขึ้นมากอดเอาไว้ เหมือนมันคืองูเห่า เราไปอุ้มมันเล่น มันก็อันตราย เพราะฉะนั้นเราพยายามเรียนรู้ลงที่กายที่ใจจนเราเห็นความจริง กายนี้คือตัวทุกข์ ใจนี้คือตัวทุกข์ เราอย่าไปเข้าใจผิดว่ากายนี้คือตัวทุกข์บ้างสุขบ้าง

เวลาเจ็บป่วยก็ทุกข์ เวลาไม่เจ็บไม่ป่วยก็ไม่ทุกข์ มีความสุข หรือเวลาหิว ทุกข์ใช่ไหม กินข้าวอิ่มแล้ว อิ่มแล้วไม่ทุกข์ มันมี 2 ทางเลือก พอมี 2 ทางเลือก เราก็เลือกทางที่ดี เราก็ปฏิเสธทางที่ไม่ดี ตรงนั้นล่ะเกิดตัณหาขึ้นมา อยากได้อันนี้ อยากให้อันนี้คงอยู่ อยากให้อันนี้หายไป เพราะฉะนั้นพยายามมาเรียนรู้ลงที่กายที่ใจของเราเอง ดูสิจริงๆ ร่างกายนี้มันเป็นตัวสุขหรือตัวทุกข์ ดูอย่างนี้ จิตใจนี้เป็นตัวสุขหรือตัวทุกข์

 

อนัตตลักขณสูตร

พระพุทธเจ้าสอนพระปัญจวัคคีย์ บอกเห็นไหมว่ารูป อย่างร่างกายเรานี้เป็นตัวรูป เห็นไหม รูปมันไม่เที่ยง ท่านบอก เห็นพระเจ้าข้า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เป็นทุกข์พระเจ้าข้า สิ่งที่เป็นทุกข์นั้นควรจะยึดถือว่าเป็นตัวเราของเราไหม ไม่ควรยึดถือพระเจ้าข้า เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า

เราอยากได้ความสุขนิรันดรใช่ไหมทั้งๆ ที่ความสุขมันไม่เที่ยง เราปฏิเสธความทุกข์ทั้งที่ความทุกข์มันก็ไม่เที่ยง ไปเกลียดอะไรมันหนักหนา พระพุทธเจ้าก็ถามปัญจวัคคีย์ว่า เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านไม่ได้คิดเอาแต่ท่านเห็นว่ามันไม่เที่ยงจริงๆ สุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง เฉยๆ ก็ไม่เที่ยง ก็ตอบพระพุทธเจ้าว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าท่านถามต่อ ถ้าเวทนาไม่เที่ยง เวทนาเป็นสุขหรือทุกข์

ทุกข์ตัวนี้หมายถึงสภาวะที่ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ความสุขก็เป็นสิ่งที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ความทุกข์เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย เหมือนร่างกาย เมื่อเกิดขึ้น ก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย อันนั้นเรียกว่าทุกขตา มีทุกขลักษณะ ของที่ไม่เที่ยงแสดงว่ามันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ของที่ถูกบีบคั้นให้แตกสลายควรจะรักใคร่ยึดถือ ควรจะหวงแหนมันไหม ท่านก็ตอบ ไม่ควรพระเจ้าข้า

แล้วก็ถามสัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็จำได้ เดี๋ยวก็จำไม่ได้ เดี๋ยวก็หมายรู้ถูก เดี๋ยวก็หมายรู้ผิด มันไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นมันเป็นสิ่งที่ถูกบีบคั้นให้แตกสลายหรือเปล่า อย่างเรามีความจำดีๆ แล้ววันหนึ่งก็ถูกบีบคั้น จำไม่ได้ ของที่มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ คือมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ของที่ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย เราควรจะไปยึดถือมันไหม ไปยึดถือของที่จะต้องพังในเวลาอันรวดเร็ว จะไปยึดมันทำอะไร

อย่างบ้านเรา เรามีบ้าน บ้านเราสวยๆ สร้างใหม่ๆ บ้านเราก็ถูกบีบคั้นให้เก่า ถูกบีบคั้นให้ผุพัง ถ้าบ้านเราเก่า บ้านเราผุพังแล้วเรายอมรับไม่ได้ เราก็ทุกข์ แต่ถ้าเราเห็นความจริงว่าบ้านเราก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย วันหนึ่งไม่ว่าจะสร้างดีสร้างวิเศษอย่างไร วันหนึ่งมันก็ต้องพังไป ต้องแตกสลายไป เราจะไปยึดไปถืออะไรกับของที่มันไม่ยั่งยืนอย่างนี้

ตัวรูป ตัวเวทนา ตัวสัญญาเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่เที่ยง ก่อนจะดับ กำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป นี่คือตัวทุกข์ แล้วท่านก็ถาม แล้วสัญญาความจำได้หมายรู้ที่มันเป็นตัวทุกข์ ควรยึดถือไหมว่าเป็นตัวเราของเรา พระปัญจวัคคีย์บอกว่าไม่ควรยึดถือหรอก ไม่รู้จะยึดทำไม มันแตกสลาย เราควบคุมมันไม่ได้ พระพุทธเจ้าถามต่อ ภิกษุทั้งหลาย คือปัญจวัคคีย์ สังขารทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง สิ่งที่เรียกว่าสังขาร คือความปรุงแต่งทางใจของเรา ปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง ปรุงกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วบ้าง

ปรุงดี เช่น ปรุงความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ปรุงศรัทธาที่ถูกต้อง ปรุงวิริยะ ปรุงสติ ปรุงปัญญา นี่ความปรุงแต่งฝ่ายดี ปรุงความอดทนต่อความลำบาก ปรุงความข่มใจ ข่มใจควบคุมใจของเรา พยายามคุม นี่เป็นธรรมะฝ่ายดี ธรรมะ ขันติ ธรรมะ จาคะ ความรู้สึก ความอยากเสียสละ พอใจที่ได้เสียสละ อันนี้เป็นความปรุงแต่งฝ่ายดี ความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว หัวโจกมันก็คือโลภ โกรธ หลง โลภก็แตกแขนงออกไปได้อีกเยอะแยะ โลภมาก โลภน้อย

อย่างเรายึดถือในความคิดความเห็นของเรา ตัวทิฏฐิ ตัวความคิดความเห็นผิดๆ มันก็อยู่ในตระกูลโลภะ เพราะเรายึดถือเหนียวแน่นเลยว่าอันนี้ของดีของวิเศษของเรา พวกโลภะ อย่างตระกูลโทสะมีเยอะแยะ โกรธ งอน ใครรู้จักงอนไหม งอน ผู้หญิงขี้งอนแต่ก่อน ยุคนี้ผู้ชายขี้งอน ผู้ชายก็ขี้งอนเหมือนกัน งอนตุบป่องๆ ขี้งอน ตระกูลโทสะ อิจฉา ตระกูลโทสะ เห็นใครเขาดีกว่าไม่ได้ อิจฉา ขี้เหนียว ความตระหนี่ เวลาเราเกิดความขี้เหนียวขึ้นในใจ ใจไม่มีความสุข มีความทุกข์เกิดขึ้น เวลามันหวงอะไรต่ออะไร ใจมีความทุกข์ ตัวนั้นตระกูลโทสะ ตระกูลโมหะก็มีเยอะแยะ ฟุ้งซ่าน หดหู่อะไรพวกนี้ ซึมๆ ไป ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี นี่คือความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว

ความปรุงแต่งกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ก็มีหลายอย่าง อย่างสมาธิ สมาธิโดยตัวมันไม่ดีไม่ชั่ว แต่มันไปเกิดร่วมกับจิตที่ชั่ว มันก็เป็นสมาธิที่ชั่ว ไปเกิดร่วมกับจิตที่ดี มันก็เป็นสมาธิที่ดี เพราะฉะนั้นสมาธิ เวลาพูดถึงสมาธิ เราจะเติมคำว่าสัมมาเสมอ มันเป็นสมาธิที่ดี เกิดร่วมกับสติ ถ้าเป็นสมาธิที่ไม่ได้เกิดร่วมกับสติ ก็เป็นสมาธิที่ไม่ดี เป็นสมาธิที่ชั่ว เพราะฉะนั้นตัวมันเข้าได้ทั้งฝ่ายชั่วฝ่ายดี ตัวจิตก็เป็นธรรมชาติที่เข้าได้ทุกฝ่าย ชั่วก็ได้ ดีก็ได้ พ้นจากชั่ว พ้นจากดี คือถึงโลกุตตระก็ได้ นี่สภาวธรรมแต่ละอย่าง

เพราะฉะนั้นท่านถามปัญจวัคคีย์ ภิกษุทั้งหลาย สังขารคือความปรุงแต่งทางใจ เที่ยงหรือไม่เที่ยง พระปัญจวัคคีย์ก็ตอบว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า ตัวสังขาร อย่างตัวโลภมันก็ไม่เที่ยง โกรธมันก็ไม่เที่ยง หลงมันก็ไม่เที่ยง ดีก็ไม่เที่ยง อย่างขยันภาวนาก็ไม่เที่ยง ความปรุงดี ความปรุงชั่ว สังขารคือความปรุงของจิต ไม่ว่าดีหรือชั่ว มันก็ไม่เที่ยง อย่างอยากฟังธรรม ไม่นานก็เลิกอยาก อยากนอนแทน ทีแรกก็อยากปฏิบัติ จะนั่งสมาธิโต้รุ่ง นั่งไปเดี๋ยวเดียว เปลี่ยนอิริยาบถไปนอนดีกว่าอะไรอย่างนี้ ความเพียรก็ไม่ยั่งยืน มันไม่เที่ยง

ท่านก็ถามต่อสังขารมันไม่เที่ยงแล้ว มันเป็นสุขหรือมันเป็นทุกข์ มันถูกบีบคั้นไหมเวลาจิตเราเป็นกุศล มันถูกบีบคั้นให้แตกสลายไหม จิตที่เป็นกุศล บางทีก็เป็นกุศล บางทีก็หมด บางทีมีศรัทธากับพระพุทธเจ้า บางทีก็หมดศรัทธาไปเฉยๆ บางทีศรัทธาต่อคำสอน คือพระธรรม บางทีก็หมดศรัทธาไปเฉยๆ ศรัทธาของปุถุชนกลับกลอก เชื่อถือไม่ได้

เพราะฉะนั้นสังขารทั้งหลายมันไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นกำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลาย สิ่งที่มันจะต้องแตกสลาย เราควรจะยึดถือไหม เราควรจะยึดถือในตัวดีไหม เพราะดีมันไม่เที่ยง จะยึดมันทำอะไร เพราะมันไม่เที่ยง เราจะเกลียดตัวชั่วไหม ไปเกลียดมันทำไม ถ้าเกลียดมันก็เพราะยึดมัน เพราะฉะนั้นภาวนาถึงจุดหนึ่ง มันพ้นจากดีพ้นจากชั่ว มันพ้นจากความปรุงแต่งทั้งปวง เพราะไม่ยึดถือ

ท่านบอกว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร 4 ขันธ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ คือถูกบีบคั้น เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ สุดท้ายก็มาถึงขันธ์สุดท้าย พระพุทธเจ้าก็ถาม ภิกษุทั้งหลาย หมายถึงปัญจวัคคีย์ ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง คำว่าวิญญาณ ก็คือจิตนั่นล่ะ คือคำว่าจิต คือคำว่าใจ คือคำว่าวิญญาณ เป็นความหมายอันเดียวกัน คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จิตนั้นจะเป็นคำกว้างๆ ครอบคลุมสารพัด ถ้าใจก็คือจิตที่ไปรู้พวกธรรมารมณ์ทั้งหลาย อารมณ์ทางใจ

แล้วก็พวกวิญญาณทางตาก็ไปดูรูป ก็คือจิตที่ไปรู้รูป เรียกเป็นจักขุวิญญาณจิต จิตที่เกิดทางตา ก็เป็นวิญญาณทางตา จิตที่ไปฟังเสียงก็เป็นโสตวิญญาณจิต จิตที่ไปรับรู้อารมณ์ทางหู เพราะฉะนั้นจิตมันไปรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกวิญญาณ ถ้ามันไปรู้ธรรมารมณ์ ก็เรียกเฉพาะเจาะจงลงไปว่าใจ เรียกว่ามโน ส่วนจิตเป็นคำกลางๆ ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง มันคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์

จิตนั้นทำหน้าที่ได้ 14 ชนิด แต่เราไม่ต้องเรียนขนาดนั้นหรอก เรียนมากก็ยุ่ง เราดูจิตใจของเราไป อย่างเราพัฒนาจิตให้เป็นผู้รู้ขึ้นมา ทำไมเราต้องพัฒนาจิตให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คือจิตที่ทรงสมาธิตั้งมั่น หรือจิตที่ประภัสสร ทำไมเราต้องพัฒนาตัวนี้ขึ้นมา เพราะตั้งแต่เกิดมาเราเต็มไปด้วยจิตที่หลง เราไม่มีจิตที่รู้สึกตัวเลย ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตั้งแต่เกิดจนตายของคนในโลก มันคือจิตหลงแทบทั้งนั้น มันไม่เคยมีจิตที่รู้สึกตัว

ฉะนั้นมันคล้ายๆ คนอยู่กับกองขยะตั้งแต่เกิดเลย บ้านอยู่ริมกองขยะ ไม่รู้สึกเหม็น แต่ถ้าแยกตัวออกไปอยู่ที่อื่นสักช่วงหนึ่งกลับมา โอ้ มันเหม็นแล้วคราวนี้ แต่เดิมพวกเราจมแช่อยู่ในกิเลส เราไม่รู้ เราอยู่กับความหลงมาตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นเราต้องมาฝึกจิตให้มันตั้งมั่นขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวก็ยังดี พอมันตั้งมั่นก็คล้ายๆ เราย้ายบ้านห่างกองขยะออกมาแล้ว พอย้ายออกมาแล้ว พอเราหลงเข้าไปปุ๊บ เราจะรู้เลยว่าตอนนี้อยู่กับความหลงแล้ว

ถ้าหลงตลอดชีวิต เราไม่เคยรู้ว่าหลง แต่ถ้าเราเคยรู้สึกตัวได้จะพบว่า เออ ตอนนี้รู้สึก ตอนนี้หลง มันจะแยกออก แล้วมันจะเห็นว่าจิตมันเกิดดับได้ จิตที่รู้เกิดแล้วก็ดับ จิตที่หลงเกิดแล้วก็ดับ แต่ถ้าจิตมีอย่างเดียวคือหลง มองความเกิดดับไม่ออก มันมีแต่หลงๆ หลงๆๆ หลงอย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้นมันจะไม่มีทางเห็นเลยว่าจิตขณะนี้หลงอยู่ เพราะฉะนั้นการที่เราฝึกจิตให้ตั้งมั่นขึ้นมา คล้ายๆ เราตัดตอนชีวิตเราให้ขาดแล้ว ชีวิตที่มีแต่ความหลงได้ขาดสะบั้นออกไปช่วงหนึ่งแล้ว แล้วพอมันหลงใหม่ เราจะรู้สึกเลย เอ๊ย ตรงนี้มันไม่เหมือนเมื่อกี้แล้ว เมื่อกี้มันรู้ มันตื่น มันเบิกบาน มันผ่องใส ตอนนี้มันเศร้าหมอง มันหลง มันเพ้อ มันฝันไป มันแยกออกจากกันได้

พระปัญจวัคคีย์ท่านก็ดู วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง วิญญาณที่ไปรับรู้ทางตา คือจิตที่เกิดทางตาก็ไม่เที่ยง จิตที่เกิดทางหูก็ไม่เที่ยง จิตที่เกิดทางจมูก ทางลิ้น ทางกายก็ไม่เที่ยง จิตที่เกิดทางใจก็ไม่เที่ยง อย่างจิตที่เกิดทางใจ บางทีก็เป็นจิตรู้ บางทีก็เป็นจิตหลง บางทีก็เป็นจิตเพ่ง ล้วนแต่ของไม่เที่ยง บางทีก็เป็นจิตสุข บางทีก็เป็นจิตทุกข์ ล้วนแต่ของไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าก็ถามต่อแล้วของไม่เที่ยงมันเป็นสุขหรือมันเป็นทุกข์ คือมันถูกบีบคั้นหรือเปล่า มันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย

อย่างจิตผู้รู้ของเรา มีผู้รู้ขึ้นมา จิตผู้รู้ดวงนี้กำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลายไปในที่สุด จิตหลง ถ้าเราเคยมีจิตผู้รู้ เราก็จะเห็นว่าจิตหลงก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย แต่ถ้าเราไม่เคยมีจิตรู้ เรามีแต่จิตหลงๆๆ ถึงจิตหลงแตกสลายไป ดวงใหม่ที่เกิดมามันก็เหมือนเดิม คือมันเป็นจิตหลงเหมือนเดิม มันเลยแยกไม่ออกว่าจิตหลงมันเกิดดับ เพราะฉะนั้นการที่เรามีจิตรู้ขึ้นมา เพื่อตัดตอนให้จิตใจ ให้ความรู้สึกนึกคิด ให้ชีวิตเราขาดออกเป็นช่วงๆ เพื่อเราจะได้เห็นความไม่เที่ยงของมัน

 

ใจไม่ยึดถือ ใจก็หมดความดิ้นรน
พอไม่ดิ้นรน ใจก็ไม่ทุกข์

ฉะนั้นที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรา ต้องฝึกให้มีจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หลวงตามหาบัวเรียกว่าจิตผู้รู้ ครูบาอาจารย์สายวัดป่าแต่เดิมเรียกว่าจิตผู้รู้ มันคือจิตประภัสสรนั่นเอง จิตที่ผ่องใส แต่ไม่บริสุทธิ์ ยังมีอวิชชาซ่อนอยู่ พระพุทธเจ้าถามว่าจิตทั้งหลาย พูดง่ายๆ จิตทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง พระปัญจวัคคีย์บอกไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าถามต่อ แล้วสิ่งที่ไม่เที่ยงมันสุขหรือมันทุกข์ มันถูกบีบคั้นไหม ให้แตกสลาย ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ควรยึดถือไหม ของซึ่งมันไม่ยั่งยืน ไม่ควรยึดถือ พระปัญจวัคคีย์ ท่านได้ยินอย่างนี้ก็เข้าใจธรรมะชั้นสูง บรรลุพระอรหันต์กัน

ที่หลวงพ่อบอกให้พวกเราคอยรู้สึกกายรู้สึกใจ ไม่ใช่โมเมพูด มันก็คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน สอนตั้งแต่ปัญจวัคคีย์ ในอนัตตลักขณสูตร สูตรที่สอง ต่อจากธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ก็ขึ้นมาสู่ อนัตตลักขณสูตร สอนถึงความเป็นอนัตตา อนัตตาก็คือมันเป็นของที่ไม่ควรยึดควรถือ รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นมันทุกข์ สิ่งซึ่งมันเป็นทุกข์ คือมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ไม่ควรยึดถือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ไม่ควรยึดถือ พระปัญจวัคคีย์ ท่านรู้แจ่มแจ้งด้วยจิตใจอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่รู้ด้วยการฟังแล้วก็คิดเอา แต่ท่านเห็นความจริงเอา ของขันธ์ทั้ง 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ทั้ง 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ท่านก็หมดความยึดถือในขันธ์ทั้ง 5

อย่างถ้าพวกเราซื้อรถมาคันหนึ่ง รถคันแรกที่มีในชีวิตผ่อนตั้งนาน หวงที่สุดเลย อะไรกระทบนิดกระทบหน่อยไม่ได้ ต่อมารถก็เก่าไป พังไป ไปซื้อรถคันที่สอง ก็ยังหวงนิดหน่อย พอหลายๆ คันเข้า มันเฉยๆ มันของใช้ อย่างไรมันก็พัง ใจมันไม่ยึดถือ มันใช้ประโยชน์จากรถยนต์ แต่มันไม่ยึดถือ เหมือนเราใช้ประโยชน์จากขันธ์ 5 ของเราไปสร้างคุณงามความดี แต่เราไม่ได้ยึดถือมัน แบบเดียวกัน

ถ้าเราไม่เคยเห็นความจริงของร่างกายว่าต้องแตกสลาย ไม่ควรยึดถือ เหมือนเรามีรถคันแรก ก็หวงมาก มีมือถืออันแรก เครื่องแรก ก็หวงมาก ถ้าทำตกน้ำบ้าง ตกส้วมบ้าง ทำหายบ้าง ซื้อมาเรื่อยๆ ตกรุ่นบ้าง บางทีไม่ได้ตกพื้นแต่ตกรุ่น ก็ต้องเปลี่ยนแล้ว มันเฉยๆ รู้ว่ามันอยู่ชั่วคราวเดี๋ยวมันก็ไป ถ้าเมื่อไรเราเห็นร่างกายเราเหมือนโทรศัพท์มือถือที่เปลี่ยนกันเป็นว่าเล่น เหมือนเปลี่ยนซิมอะไรอย่างนี้ เป็นของชั่วคราว ซิมนี้ก็ชั่วคราวๆ

เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นร่างกายเราก็ของที่ชั่วคราว มันจะแตกสลาย มันจะเสียหาย ใจมันไม่หวั่นไหว เราเห็นว่าสุขทุกข์ทั้งหลาย มันก็แตกสลายได้ ไม่น่ายึดถือ ใจก็เป็นกลาง รูปจะดีหรือไม่ดี เวทนาจะดีหรือไม่ดี สัญญา สังขาร จิต จะดีหรือไม่ดี มันก็ล้วนแต่เกิดแล้วดับ ใจมันไม่ยึดถือ ตรงนั้นล่ะ ใจมันก็หมดความดิ้นรน หมดความอยาก หมดตัณหา

พอมันรู้ความจริงแล้ว รูปนามขันธ์ 5 ของเรา รวมทั้งสิ่งที่อยู่แวดล้อมตัวเราด้วย ทรัพย์สินเงินทอง ลูกเมีย ครอบครัว หน้าที่การงาน ชื่อเสียง เกียรติยศ ของชั่วคราว มีอยู่ก็ใช้ประโยชน์ไป ถึงวันหนึ่งก็ต้องแตกสลาย จะไม่อยากให้แตก มันก็จะแตก ถึงเวลา ห้ามมันไม่ได้ ถ้าใจเป็นอย่างนี้ ใจไม่กังวล ใจไม่ทุกข์ รูปจะต้องแก่ก็ไม่ทุกข์ สุขเวทนาหายไป ก็ไม่ทุกข์ ความจำ บางทีก็จำได้ บางทีก็จำไม่ได้ ช่วยไม่ได้ มันเป็นของไม่ยั่งยืน

ความปรุงของจิต เราก็ไม่ใช่บ้า จะบ้าบุญ พวกบ้าบุญคือพวกที่ไม่เห็นว่าจิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วดับ ไม่เห็นว่าความปรุงแต่งที่ดีเกิดแล้วดับก็เลยบ้าบุญ อยากได้บุญเยอะๆ จะได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี แต่ผู้มีปัญญาก็จะเห็น ดีมันก็ไม่เที่ยง ชั่วมันก็ไม่เที่ยง บางทีเป็นคนดีอยู่ดีๆ แป๊บเดียว ไปทำชั่วเข้าแล้ว พร้อมที่จะทำผิดได้เสมอแต่ละคน เป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้นอย่างเราเห็นคนทำชั่วก็อย่าไปเกลียดมัน มันชั่วเพราะมันหลงผิด วันใดที่มันสำนึก ก็รู้ว่าทำชั่วแล้วมีผลที่เจ็บร้อนมาก อย่างเราจะเห็น อย่างนักการเมืองโกงบ้านโกงเมืองอะไรนี่ ไม่ได้มีความสุข บางทีอยู่ในบ้าน อยู่ในเมืองไม่ได้ ต้องหลบหนี หนีคดีหนีอะไรต่ออะไร ถ้าเรามีสติปัญญา เราจะรู้เลย ที่แย่งๆ กันในโลก หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้จริงหรอก ยึดถือมันเมื่อไรก็ทุกข์เมื่อนั้นล่ะ

เพราะฉะนั้นที่เรามาเรียนรู้ความจริงของร่างกายของจิตใจ ทางจิตใจก็มีเรื่องของความรู้สึกสุขทุกข์ ความจำได้หมายรู้ ความปรุงดี ปรุงชั่ว ความรับรู้อารมณ์ คือจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราเรียนรู้ความจริงของสิ่งเหล่านี้จนเราแจ่มแจ้งว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่น่ายึดถือ จิตก็จะหมดความดิ้นรน จิตปล่อยวาง หมดความอยาก

อย่างเรารู้ความจริงแล้ว ร่างกายต้องแก่ ถ้ามันจะแก่ มันก็เป็นเรื่องของร่างกายแก่ เราไม่ทุกข์ ถ้าเรายอมรับไม่ได้ว่าร่างกายมันต้องแก่ มันไม่เที่ยง พอร่างกายมันจะแก่ เราก็ทุกข์มาก เพราะเรายอมรับไม่ได้ ตัณหามันเกิดจากเรายอมรับสภาวะที่มีที่เป็นอยู่ตามความจริงไม่ได้ อยากให้มันเป็นอย่างอื่น พอมีความอยากเกิดขึ้นก็เกิดความดิ้นรน มีความดิ้นรนเกิดขึ้นก็มีความทุกข์

เพราะฉะนั้นพวกเราต่อไปนี้ฝึกกรรมฐาน คอยเรียนรู้ความจริงของกาย ดูสิ ร่างกายของเรา มันเที่ยง ไม่เที่ยง ร่างกายเรามันสุขหรือมันทุกข์ มันถูกบีบคั้นอยู่เรื่อยๆ ไหม กินข้าวอิ่มๆ ก็ถูกบีบคั้นให้อึดอัด หายอิ่มแล้ว ประเดี๋ยวเดียวหิวอีกแล้ว ก็ถูกบีบคั้นให้ไปหาอะไรกินอีกแล้ว ไปดูความจริง เรานั่งอยู่ นั่งนานๆ ก็ถูกบีบคั้นให้ต้องลุกขึ้นมา ต้องขยับซ้ายขยับขวา โห ร่างกายนี้มีแต่ทุกข์ หายใจออกไปเรื่อยๆ ก็ทุกข์ ก็ต้องหายใจเข้าเพื่อแก้ทุกข์ เพื่อหนีทุกข์ หายใจเข้าไปเรื่อยๆ ก็ทุกข์อีก ก็ต้องหายใจออกอีก

รวมความแล้ว ความทุกข์ในกายมีอยู่ทุกๆ อิริยาบถ ความทุกข์ในร่างกาย มีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ปุถุชนไม่เคยเรียนไม่เคยรู้ ก็คิดว่าร่างกายนี้เป็นของดีของวิเศษ ถ้าพวกเราเรียนรู้ลงในกาย รู้กายไม่ใช่ของดีของวิเศษ ไม่เที่ยง มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา แล้วใจมันจะหมดความยึดถือ จะคลายความยึดถือไป พอใจมันไม่ยึดถือร่างกาย ร่างกายจะแก่ ใจไม่ทุกข์ ร่างกายจะเจ็บ ใจไม่ทุกข์ ร่างกายจะตาย ใจก็ไม่ทุกข์

หรือเราดูเวทนา เห็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไปเรื่อยๆ ความหิวในความสุข มันก็จะไม่มี ความชิงชังรังเกียจในความทุกข์ก็ไม่มี มันก็แค่ของผ่านมาแล้วผ่านไป เหมือนแดดออก หน้าร้อนแดดออก โหย ทรมาน ประเดี๋ยวก็เมฆมา เดี๋ยวก็สว่าง เดี๋ยวก็มืดอะไรอย่างนี้ มันไม่มีอะไรยั่งยืนสักอย่างเดียว ฉะนั้นใจมันก็จะเป็นกลาง มีความสุขก็ไม่หลงยินดี มีความทุกข์ก็ไม่หลงยินร้าย ก็เป็นกลาง ก็ไม่ดิ้นรน พอไม่ดิ้นรน ใจมันก็ไม่ทุกข์

 

 

เราค่อยๆ ฝึกไป ในขันธ์ 5 ของเรา ดูในร่างกาย ดูเวทนา ดูสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วในใจเรา ดูสิเที่ยงหรือไม่เที่ยง ทนอยู่ได้ไหม ความดีหรือความชั่วทั้งหลาย ทนอยู่ได้ไหม แล้วเราจะรู้เลยว่า ยึดเอาไว้ไม่ได้ ยึดไม่ได้ ฉะนั้นเราจะไม่บ้าบุญ เพราะรู้ว่าบุญปรุงแต่งจิตให้มีความสุข แต่มันก็ของไม่ยั่งยืน ตรงนี้ล่ะที่พระพุทธเจ้าท่านสอนคนทั่วๆ ไป เรียกอนุปุพพิกถา ท่านสอนให้ทำทาน ทำทานนี่มันก็ได้บุญ พอได้บุญ ทำทานรักษาศีล มีบุญ ก็ได้ขึ้นสวรรค์ ท่านเอาสวรรค์มาหลอกมาล่อเรา เสร็จแล้วท่านก็ชี้ให้เห็นว่า สวรรค์ก็ไม่ยั่งยืน สวรรค์นั้นก็คือตัวความสุข เป็นของไม่ยั่งยืน ไม่ควรจะยึดถือ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้อริยสัจ 4

ท่านสอนธรรมะสำหรับพวกที่อินทรีย์อ่อนๆ ท่านสอนไปทำทานไป ไปรักษาศีลไว้ แล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ เสร็จแล้วท่านก็เขยิบต่อ สวรรค์ก็ไม่ยั่งยืน ฉะนั้นสิ่งที่ดีกว่าสวรรค์คือการเรียนรู้อริยสัจ 4 เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจของเรานี่ล่ะ ก็จะรู้แจ้งอริยสัจได้ ฉะนั้นถ้าพวกเราขยันทำทานและจบลงแค่นี้ เรายังไม่ได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนา ไม่ได้ประโยชน์เท่าไร เราทำทานรักษาศีล แล้วเราได้ไปขึ้นสวรรค์ อันนี้ก็ยังไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้จริง เป็นประโยชน์พื้นๆ เราเป็นคนศาสนาอื่น ถ้าเราไม่กินเหล้า ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ผิดลูกผิดเมียใคร รู้จักบริจาคทานอะไรอย่างนี้ ก็ขึ้นสวรรค์ได้เหมือนกัน ศาสนาไหนก็ขึ้นสวรรค์ได้ ถ้าทำความดี แต่พระพุทธเจ้าท่านลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ความสุขในสวรรค์ก็ไม่ยั่งยืน

ทำไมเรามีบุญวาสนาได้เจอธรรมะที่ดี เราไม่แสวงหาสิ่งที่สูงกว่าสวรรค์ล่ะ สิ่งที่ยั่งยืนมีอยู่ อมตธาตุ อมตธรรม มีอยู่ สิ่งเป็นอมตธาตุ อมตธรรม อมตธาตุก็คือจิตซึ่งบริสุทธิ์หลุดพ้นแล้ว อมตธรรมก็คือพระนิพพาน จิตที่บริสุทธิ์นั้นสัมผัสพระนิพพาน ทรงพระนิพพานอยู่ ฉะนั้นจิตที่บริสุทธิ์ จริงๆ ก็เป็นธรรมะอันหนึ่ง ก็คือธรรมะนั่นล่ะ จิตกับธรรมะมันเป็นอันเดียวกันนั่นล่ะในขั้นสุดท้าย ฉะนั้นธรรมนั่นล่ะทรงธรรม พระนิพพานก็เป็นธรรม

ทีแรกเรามอง จิตมันทรงธรรมอยู่ จิตมันทรงพระนิพพานอยู่ แท้จริงแล้ว ธรรมนั่นล่ะทรงธรรมอยู่ จิตที่เราไม่ยึดถือแล้วก็กลายเป็นธรรม ของดีของวิเศษในพระพุทธศาสนามีอยู่ มีโอกาสเรียน มีโอกาสฝึกตัวเองก็ทำเสีย อย่าละทิ้งโอกาส เอาแต่สวรรค์ ไม่ยั่งยืน ถ้าภาวนาระลึกชาติได้ เคยเป็นเทวดา เคยเป็นอะไร ไม่ยั่งยืน หรือเรามีตาทิพย์ เราก็จะเห็น เทวดาก็ยังตาย พรหมก็ยังตาย ตายจากเทวดาตกนรกก็มี ตายจากพรหมตกนรกก็มี นี่ของไม่ยั่งยืน ประมาทไม่ได้ว่ามีแต่ความสุข ประมาทไม่ได้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 เมษายน 2566