เวลาอยู่ว่างๆ อย่าอยู่เฉยๆ หายใจไป พุทโธไปก็ยังดี อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ มีเวลา 5 นาที 10 นาที เก็บให้หมดเลย
ที่วัดพอถึงหน้าร้อน ตัวแมลงหวี่เยอะ มาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ ไม่รู้จัก อยู่ในกรุงเทพฯ เป็นแมลงเล็กๆ ไม่น่ากลัวอะไร เวลามันเกาะ ก็ดูมันเฉยๆ ปรากฏมันแทะเนื้อ แล้วเป็นแผลติดเชื้อ ต้องระวัง คนในเมืองไม่รู้จัก เห็นตัวเล็กๆ ฤทธิ์เยอะ พอหลวงพ่อพูดถึงแมลงหวี่ พวกเรารู้สึกไหมใจเราเริ่มระวังแล้ว
พยายามรวมการปฏิบัติเข้าในชีวิตจริงๆ ให้ได้ อย่าเก่งตอนนั่งสมาธิ ตอนเดินจงกรม เวลาที่เหลือปฏิบัติไม่เป็น ก็ไม่ได้ผลแล้ว เพราะวันหนึ่งๆ เรามีเวลาทำในรูปแบบ ไปนั่งสมาธิ เดินจงกรม ไม่มาก งานเราเยอะแต่ละวันๆ ไม่เหมือนคนโบราณ ทำไร่ทำนา พอพระอาทิตย์ขึ้นก็ไปทำ อาทิตย์ตกก็เลิก แล้วทำอยู่ช่วงเดียว ปีหนึ่งว่างตั้งหลายเดือน ฉะนั้นมีเวลา ถ้าสนใจการภาวนา มีเวลาเยอะแยะเลย ของเราทุกวันนี้ทำไม่ได้ งานเยอะแยะ ไม่รู้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นหรือเปล่า เรามีวัตถุเยอะขึ้น คนโบราณไม่ค่อยมีวัตถุ แต่เขามีเวลาเยอะกว่าเรา เราเลือกไม่ได้ เราเกิดในยุคนี้
ขาดสติไหม เออ เก่งเฉพาะในห้องปฏิบัติ ไม่ได้นะ ไม่ว่าทำอะไรมีสติไป อย่างหลวงพ่อแต่ก่อนมีพัดอยู่อันหนึ่ง พัดแบบนี้ นั่งพัดไปเรื่อยๆ เวลาหน้าร้อน สบาย พัด รู้สึก เวลาพัดอย่างนี้ พอมองลงมาเห็นแขน เห็นเหมือนหุ่นยนต์ เห็นร่างกายเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งเคลื่อนไหวไป มันไม่ใช่เรา เวลาที่เราอยู่ในชีวิตธรรมดา การปฏิบัติมันทำได้ 2 ระดับ อันหนึ่งเรามีสติแล้วก็เห็นร่างกายเคลื่อนไหวไป ถ้าเกิดปัญญา มีปัญญาในชั่วแวบเดียว มันจะเห็นตัวที่เคลื่อนไหว ไม่ใช่เรา มันเป็นแค่วัตถุ เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง
หัดหมายรู้ในมุมของความเป็นไตรลักษณ์
อย่างพวกเราถ้าจะปฏิบัติอย่างนี้ เรานั่งอยู่ รู้สึก ร่างกายมันนั่งอยู่ก็รู้สึก ไม่วอกแวกไปคิดโน้นคิดนี้ ลืมตัวเอง ตรงที่เรานั่งอยู่ รู้ว่านั่งอยู่นี่ เรียกว่าเรามีสติ เห็นร่างกายมันนั่ง แล้วตรงที่สัญญามันเข้าไปหมาย ความเป็นไตรลักษณ์ของร่างกาย อย่างหลวงพ่อจะหมายลงไปที่ตัวอนัตตา มันไม่ใช่ตัวเรา บางคนหมายอนิจจัง บางคนหมายทุกขัง หลวงพ่อจะหมายเป็นอนัตตา อันนี้เป็น แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ได้เลือกหรอก บางคนเห็นอนิจจัง บางคนเห็นทุกขัง บางคนเห็นอนัตตา
ตรงที่สัญญาเข้าไปหมายร่างกาย ว่าเป็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา ปัญญามันจะเกิด พอมันหมายรู้ร่างกาย ด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ปัญญามันก็จะเกิด มันเห็นร่างกาย มันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่ใช่เรา อาศัยสติระลึกรู้ความมีอยู่ของร่างกาย ร่างกายยืน ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน รู้สึก สติเป็นตัวรู้สึก สัญญาเป็นตัวเข้าไปหมายรู้ อย่างคนทั่วไปเวลารู้สึกในร่างกายนี้ สัญญาจะหมายรู้ว่านี่ตัวเรา พวกเรารู้สึกไหมเวลาเรานึกถึงร่างกาย นี่ตัวเรา หมายรู้ว่าเป็นตัวเรา ฉะนั้นคนทั่วๆ ไป มันไม่เกิดปัญญา เพราะมันไม่เคยหมายรู้ว่าไม่ใช่ตัวเรา
เราลองหัดมองร่างกายเรานี้ ในมุมของความเป็นไตรลักษณ์ดูบ้าง ร่างกายถ้าถนัดอนิจจังก็ดู ร่างกายหายใจออก เกิดแล้วก็ดับ ร่างกายที่หายใจเข้า เกิดแล้วก็ดับ ร่างกายที่ยืน ที่เดิน ที่นั่ง ที่นอน เกิดแล้วก็ดับ ร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่หยุดนิ่ง เกิดแล้วก็ดับไป เรามีสติรู้เรื่อยๆ แล้วถ้าสัญญามันไม่หมายรู้ เราก็จะช่วยมันพิจารณา แต่ตรงที่มันหมายรู้ความเกิดดับ เรียกว่าเรามีสัญญาที่ดีเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เห็นอนิจจัง เรียกอนิจจสัญญา สัญญาที่ดีที่ใช้ทำวิปัสสนา ก็มีดูความเป็นอนิจจัง อนิจจสัญญา ทุกขสัญญา อนัตตสัญญา คือหมายรู้ความไม่เที่ยง ความถูกบีบคั้น ความไม่อยู่ในอำนาจบังคับ มองมุมใดมุมหนึ่งก็ได้ แล้วแต่ความถนัด
อย่างพวกมีศรัทธาเยอะๆ เห็นร่างกายก็จะรู้สึก ร่างกายมันเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ร่างกายที่หายใจเข้า เกิดแล้วดับ หายใจออก เกิดแล้วดับ ถ้าพวกมีปัญญาแก่กล้า มันมักจะหมายรู้อนัตตสัญญา มองในมุมของอนัตตา อย่างเรานั่งอยู่อย่างนี้ แล้วเห็นร่างกายมันนั่ง ไม่ใช่เรานั่ง ร่างกายมันหายใจ ไม่ใช่เราหายใจ ถ้าเรามีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น มันจะเดินวิปัสสนาได้ คือสามารถเห็นไตรลักษณ์ เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปธรรม ของนามธรรม อันนั้นคือตัววิปัสสนา ถ้ายังไม่เห็นไตรลักษณ์ ก็ช่วยมันหมายรู้หน่อย ถ้ามันไม่ยอมหมาย ก็ช่วยมันหมาย
อย่างครูบาอาจารย์วัดป่าท่านจะสอน ก่อนนี้ให้พุทโธ ให้พิจารณากาย ตรงพุทโธจิตสงบมีสมาธิแล้ว มันไม่มีสัญญาไปหมายรู้ ร่างกายว่าเป็นไตรลักษณ์ ท่านก็เลยให้พิจารณาร่างกายไป ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก แต่ละส่วนๆ เป็นแค่วัตถุธาตุ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มีแต่ความไม่เที่ยง อย่างผมเราก็ไม่เที่ยง เคยดำแล้วก็ขาว เคยสั้นแล้วก็ยาว ยาวแล้วก็หลุดออกไป ดูอย่างนี้ เป็นการกระตุ้นให้สัญญามันทำงาน สัญญาที่ดี แต่บางคนถ้าเคยเจริญปัญญามาตั้งแต่ชาติก่อนๆ หรือชาตินี้เคยได้ยินได้ฟัง จิตมันก็สามารถไปหมายรู้ไตรลักษณ์ โดยที่เราไม่ต้องเจตนา
เพราะฉะนั้นถ้าจิตเราหมายรู้ไตรลักษณ์ โดยไม่เจตนาได้ ก็ไม่ต้องไปช่วยมันหมาย เป็นการสร้างภาระให้จิตมากขึ้นไปอีก อย่างถ้าเรานั่งพัด สมมติเราพัดอย่างนี้ ถ้าอยู่ๆ ปุ๊บมันรู้สึกเลย นี่มันไม่ใช่เรา อย่างนี้สัญญามันหมายรู้ถูก ปัญญามันเกิดเลย ตัวนี้ไม่ใช่เรา ปัญญาเป็นตัวตัด ตัดอะไร ตัดความเห็นผิด ตัดความคิดผิด ตัดความยึดถือผิดๆ ยึดถือเมื่อไรก็ผิดนั่นล่ะ หน้าที่ของปัญญาเป็นตัวตัด ตัวสติเป็นตัวจับว่าในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ร่างกายเป็นอย่างไร ความรู้สึกนึกคิดเป็นอย่างไร เป็นตัวจับว่ามีอะไรเกิดขึ้นในร่างกาย ในจิตใจ พอสติจับแล้ว บางคนจับแล้วอยู่เฉยๆ ไม่เกิดปัญญา
อย่างเรามีสติจับ เห็นร่างกายหายใจแล้ว ก็ไม่คิดเรื่องอื่นเลย จ้องอยู่ที่ร่างกายหายใจ ปัญญาไม่เกิด สงบเฉยๆ สงบอยู่เฉยๆ ได้สมถะ ได้พักผ่อน แต่ถ้าสัญญามันเข้าไปหมาย อย่างเราหายใจอยู่ มันหมายรู้ลงไป ร่างกายที่หายใจเข้า ไม่เที่ยง ร่างกายหายใจออก ไม่เที่ยง หายใจเข้าก็เพื่อหนีทุกข์ หายใจออกก็เพื่อหนีทุกข์ กินอาหารก็เพื่อหนีทุกข์ ขับถ่ายก็เพื่อหนีทุกข์ ก็ดูอย่างนี้ ถ้ามันไปหมายรู้ได้เอง ดีที่สุด ถ้ามันไม่หมายรู้ มันไปรู้มีสติเฉยอยู่ ก็ต้องช่วยมันพิจารณาลงไป แต่ถ้ามันสามารถหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ โดยไม่เจตนาได้ อันนั้นดี ดีที่สุดเลย เรานั่งอยู่ เราเห็นตัวที่นั่งอยู่นี้เป็นแค่รูป รูปมันนั่งไม่ใช่เรานั่ง แต่ถ้าหมายรู้ผิด ตัวที่นั่งอยู่นี้คือเรานั่ง เวลาหายใจเข้า หายใจออก ถ้าหมายรู้ผิด มันก็เป็นเราหายใจ ถ้าหมายรู้ถูก ก็เห็นแค่รูปมันหายใจ ไม่ใช่เรา
หมายรู้ถูกบ่อยๆ เวลาคิดก็คิดถูก แล้วก็เกิดความเห็นถูกขึ้นมา
ฉะนั้นตรงที่อาศัยการหมายรู้ถูก ต่อไปปัญญามันก็ล้างความเห็นผิดได้ พอหมายรู้ถูกบ่อยๆ เวลาคิดมันก็คิดถูก แล้วก็มันก็เกิดความเห็นถูกขึ้นมา หมายรู้ผิด เวลาคิดถึงร่างกาย มันก็เป็นเรา เรานั่ง แล้วก็เกิดความเห็นผิดว่าเรามีอยู่จริงๆ ฉะนั้นอาศัยสติรู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย อาศัยสัญญามองร่างกายในมุมของไตรลักษณ์ มุมใดมุมหนึ่งก็ได้ รู้มันไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งปัญญาคือความเข้าใจ ปัญญาเป็นตัวความรู้ถูก ความเข้าใจถูกก็จะเกิด เมื่อปัญญาเกิดมันก็จะล้างความเห็นผิด หมายรู้ผิด คิดผิด ก็เลยเกิดความยึดถือ พอหมายรู้ถูก เวลาคิดถึงร่างกาย มันไม่ใช่เราแล้ว มันแค่วัตถุ มันก็ไม่ยึดถือ นี่กระบวนการทำงาน
อาศัยสติ อาศัยสัญญา พัฒนาจนเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญาไม่ใช่เรื่องคิดเอา ถ้าคิดเอาเป็นจินตามยปัญญา ยังเจืออยู่กับการคิด แต่ปัญญาที่ล้างกิเลสได้จริง มันเป็นวิปัสสนาปัญญา วิปัสสนามาจากคำว่า “วิ” กับ “ปัสสนะ” “ปัสสนะ” คือการเห็น “วิ” แปลว่าเห็นแจ้ง เห็นจริง เห็นถูกต้อง คือเห็นไตรลักษณ์นั่นเอง เห็นว่าไม่ใช่ตัวใช่ตน ฉะนั้นอาศัยสติระลึกรู้รูป ระลึกรู้เวทนา ระลึกรู้สังขาร ระลึกรู้จิตก็ได้ แบบเดียวกัน นัยยะอย่างเดียวกัน หลวงพ่อยกตัวอย่างร่างกายก่อน ในความเป็นจริงแล้ว จะเริ่มจากการดูกายก็ได้ เวทนา หรือดูจิต หรือเจริญธัมมานุปัสสนาก็ได้ แล้วแต่ความถนัด
สติระลึกรู้กาย สัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย ปัญญาก็เกิด สติระลึกรู้เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญาหมายรู้อย่างถูกต้อง ปัญญาก็เกิดก็วาง พอปัญญาเกิดมันจะละ มันจะวาง มันจะเป็นตัวตัด ปล่อยวาง มันวางของมันเอง ไม่มีใครสั่งปัญญาให้เกิดได้หรอก อาศัยการเจริญสติ แล้วก็หมายรู้ให้ถูกไปเรื่อยๆ นั่งอยู่อย่าไปคิดว่าเรานั่ง พยายามรู้สึกไป ถ้ามันมองไม่เห็นด้วยตัวเอง พยายามรู้สึกว่ารูปมันนั่ง ร่างกายมันนั่ง ดูอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไป ไม่ได้เจตนา เวลาร่างกายเคลื่อนไหว มันเห็นรูปมันเคลื่อนไหว ไม่ใช่เราเคลื่อนไหว พอมีความหมายรู้ถูก เกิดความคิดถูก ต่อไปก็เกิดความเห็นถูก ตัวความเห็นถูกนั้น ตัวปัญญา ฉะนั้นหมายรู้ให้ถูก แล้วก็ความเห็นถูกคือตัวปัญญามันก็จะเกิด
นักปฏิบัติบางคนรังเกียจสัญญา บอกสัญญานี้ไม่ดี เป็นศัตรูของปัญญา สัญญาจำเป็น แล้วในความเป็นจริง สัญญาเกิดร่วมกับจิตทุกดวง ไม่มีหรอกจิตที่ไม่มีสัญญา เพียงแต่เป็นสัญญาที่ถูก หรือสัญญาที่ผิดเท่านั้นเอง องค์ธรรมบางอย่างเกิดร่วมกับจิตทุกดวง อย่างเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ เฉยๆ อะไรนี้ เกิดร่วมกับจิตทุกดวง จิตพระอรหันต์ก็มีเวทนา จะมีโสมนัสเวทนา มีความสุข กับอุเบกขาเวทนา ถ้าจิตของคนทั่วไปที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็จะมี 3 อย่าง เวทนา จะมีโสมนัส มีความสุข มีโทมนัส มีความทุกข์ แล้วก็มีอุเบกขา ไม่สุขไม่ทุกข์ เวทนาก็เกิดร่วมกับจิตทุกดวง สัญญาก็เกิดร่วมกับจิตทุกดวง เพียงแต่สัญญาของคนทั่วๆ ไป ที่ไม่ได้ฟังธรรมะ มันเป็นสัญญาที่วิปลาส สัญญาของคนที่ได้ยินได้ฟังธรรมะแล้ว เป็นสัญญาที่ถูกต้อง จะเห็นไตรลักษณ์ หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ อย่างนี้เป็นสัญญาที่วิเศษ
ฉะนั้นอย่าไปเกลียดสัญญา สัญญานั้นเกิดร่วมกับจิตทุกดวงอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันจะหมายรู้ผิด หรือมันจะหมายรู้ถูกเท่านั้นเอง ส่วนใหญ่ถ้าไม่เคยภาวนา ไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมะ เวลาดูร่างกาย มันจะหมายรู้ว่านี่คือตัวเรา นี่ร่างกายมันนั่ง ร่างกายมันคัน ร่างกายมันอย่างนั้นอย่างนี้ หรือจิตใจมันสุข จิตใจมันทุกข์ ใครสุข เราสุข ใครทุกข์ เราทุกข์ ใครโลภ เราโลภ ใครโกรธ เราโกรธ ใครหลง เราหลง ถ้าหมายรู้ถูกก็จะเห็น ร่างกายมันก็ไม่ใช่เรา สุขทุกข์มันก็ไม่ใช่เรา ดีชั่วมันก็ไม่ใช่เรา จิตใจก็ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา รูปไม่ใช่เรา เวทนา สัญญา สังขาร ไม่ใช่เรา จิตก็คือตัววิญญาณ ก็ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา อันนั้นเป็นปัญญา แล้วเป็นปัญญา ถ้ากำลังของศีล สมาธิ ปัญญาของเราแก่กล้า ตรงนั้นจะเกิดเป็นโลกุตตรปัญญาขึ้นมา ก็จะล้างกิเลส ล้างสังโยชน์ออกจากใจได้เด็ดขาด
ฉะนั้นอย่าไปรังเกียจสัญญา แต่หัดหมายรู้ หัดหมายรู้ให้ถูก เวลา สมมติเราเห็นแฟนเราเดินมา คนทั่วไปหมายรู้ผิดบอก โอ๊ย แฟนเรามาแล้ว ถ้าหมายรู้ถูกก็เห็นมันเป็นแค่ปรากฏการณ์ เป็นรูปที่เคลื่อนไหวมา เหมือนวัตถุเคลื่อนที่มา แต่อันนี้ต้องภาวนาละเอียดแล้ว เอาแค่ดูตัวเองก่อน ไปดูคนอื่นมันดูลำบาก ดูลงที่ตัวเอง ตัวอะไรนั่งอยู่ ลองถามใจตัวเอง ตัวอะไรที่มันนั่งอยู่ตอนนี้ เรานั่งหรือร่างกายมันนั่ง ให้เวลานิดหนึ่งในการถามใจตัวเองว่า ตัวอะไรที่นั่งอยู่ตรงนี้ ใครเห็นว่าเรานั่ง ยกมือ ซื่อๆ เลย ดีมาก ใครเห็นว่ารูปมันนั่งอยู่ วัตถุมันตั้งอยู่ ใครเห็นตรงนี้ ยกมือ พวกที่เหลือคือไม่เห็นใช่ไหม ส่วนใหญ่ งง บอกแล้วว่าให้ถามใจตัวเอง ถามใจตัวเองดู ตัวที่นั่งอยู่นี้ เรารู้สึกว่าเป็นตัวเรานั่ง หรือเป็นแค่รูปมันนั่งอยู่ ถ้ามันเป็นเรานั่ง อันนั้นแสดงว่าสัญญาของเรายังเพี้ยนอยู่ เรียกสัญญาวิปลาส
“สัญญาวิปลาส” ไม่ใช่แปลว่าคนบ้า แต่เป็นหมายรู้ที่ผิดจากความเป็นจริงนั่นเอง สัญญาวิปลาส ร่างกายมันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นวัตถุ เบื้องต้นก็ยืมเชื้อเกิด ของพ่อของแม่มาคนละครึ่งเซลล์ แล้วอาศัยน้ำ อาศัยอากาศ อาศัยอาหาร ซึ่งเป็นของโลกทั้งหมดเลย เลี้ยงจนตัวโตขึ้นมา มันเป็นของใคร มันเป็นของโลก มันไม่ใช่ของเรา อย่างบางคนเลี้ยงหมู ก็เลี้ยงหมูไป ให้ข้าวกิน ให้รำกิน แล้วหมูตัวโตขึ้นมา ถามว่าเป็นหมูของใคร ก็หมูของเรา เห็นไหมคนในโลกก็จะเป็นอย่างนั้น ร่างกายนี้เหมือนกัน เหมือนหมูตัวหนึ่ง เราเลี้ยงไว้ก็เป็นหมูของเรา ตัวนี้ แต่ถ้าหมายรู้ถูก เราก็จะเห็น ก็แค่วัตถุก้อนหนึ่งเท่านั้นเอง เป็นวัตถุที่มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นหัดมีสติรู้สึกอยู่ที่ร่างกาย ถ้าสติระลึกอยู่ที่ร่างกาย ก็หัดลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง หัดมองร่างกายในมุมของความเป็นไตรลักษณ์บ้าง อย่าเอาแต่ว่านี่คือเรา นี่คือเรา แล้วต่อไปปัญญา ความรู้ถูก ความเข้าใจถูกมันก็จะเกิดขึ้น มันจะล้างกิเลสได้ กิเลสก็คือความรู้ผิด ความเข้าใจผิดทั้งหลายนั่นล่ะ ตัวอวิชชา ความรู้ผิด ก็ล้างด้วยตัววิชชา วิชชาก็เป็นปัญญาชั้นสูง ฉะนั้นมีสติ ถ้าสติระลึกรู้ร่างกาย หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย
เครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ
ถ้าจิตมันไม่หมายรู้ ก็ช่วยมันพิจารณา ว่าร่างกายเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา นั่งนานๆ ก็ทุกข์ เดินนานๆ ก็ทุกข์ ยืนนานๆ ก็ทุกข์ นอนนานๆ ก็ทุกข์ หิวไปก็ทุกข์ อิ่มไปก็ทุกข์ ปวดอึปวดฉี่ก็ทุกข์ ดูไปเรื่อยๆ อย่างนี้ก็เรียกว่าเราหมายรู้ถูก หมายรู้ความเป็นทุกข์ของมัน ถ้าหมายรู้ความเป็นก้อนธาตุ เป็นวัตถุ อันนี้หมายรู้ความเป็นอนัตตา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา หมายรู้ความไม่เที่ยงก็ได้ เวลาระลึกถึงร่างกาย หมายรู้ลงไป มีหลายระดับ อย่างหยาบเราก็ดู ร่างกายตอนนี้เป็นหนุ่มเป็นสาว แต่ก่อนเป็นเด็ก หรือถ้าอายุเยอะขึ้นหน่อย ร่างกายตอนนี้แก่ เมื่อก่อนก็เป็นหนุ่มเป็นสาว เมื่อก่อนนั้นก็เป็นเด็ก ร่างกายนี้ไม่เที่ยงเลย นี่ดูแบบหยาบๆ
ถ้าดูอย่างละเอียดก็เห็น ร่างกายที่หายใจออก ก็ไม่เที่ยง ร่างกายหายใจเข้า ก็ไม่เที่ยง ดูได้หลายระดับ อย่างหยาบที่สุด ก็ดูเป็นช่วงเวลายาวๆ ลองไปดูรูปถ่ายของเรา ที่ถ่ายเมื่อ 2 – 3 ปีก่อน กับ 5 ปีก่อน 10 ปีก่อน ลองไปดู แล้วมันจะสอนเรา ร่างกายนี้ไม่เที่ยง หรือเมื่อก่อนตัวเล็กนิดเดียว ตอนนี้ตัวโต เมื่อก่อนหน้าตาสวย ตอนนี้เหี่ยว อย่างนี้ช่วยมันพิจารณา เอารูปมาดูแล้วพิจารณา เป็นการหัดกระตุ้น ให้ดูความไม่เที่ยงของร่างกาย ดูได้หลายระดับ อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด อย่างละเอียด ก็ดูเป็นขณะๆ ไปเลย
อันนี้เป็นการดูกาย สติระลึกรู้กาย หมายรู้กายอย่างถูกต้องว่าเป็นไตรลักษณ์ หมายไปเรื่อยๆ ระลึกรู้กาย แต่จะไปหมายรู้โดยไม่มีของจริงมารองรับไม่ได้ อย่างเราต้องมีสติระลึกรู้กายที่กำลังนั่งอยู่ แล้วหมายรู้ลงไป ขณะนี้ ตัวนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้ปัญญามันจะเกิด ปัญญาจากวิปัสสนามันจะเกิดขึ้น แต่ถ้าอยู่ๆ แล้วก็นั่งคิด ลืมร่างกายนี้ไป แต่นั่งคิด ตอนเด็กๆ เราหน้าตาอย่างนี้ ตอนนี้หน้าตาอย่างนี้ แก่แล้วหน้าตาจะเป็นอย่างนี้ ไม่มีของจริงรองรับ อันนั้นใช้ไม่ได้ ฟุ้งซ่าน คิดไปแล้วก็ฟุ้งซ่านในธรรมะ
บางทีคิดไปเพลินๆ จิตรวม คิดอย่างนั้นได้สมถะ แต่มันไม่เป็นวิปัสสนา วิปัสสนามันต้องมีของจริงมาแสดงให้ดู เรียนจากของจริง เห็นจากของจริง แล้วก็เข้าใจความจริงจากของที่มีอยู่จริง ไม่ใช่ของในมโนภาพ ฉะนั้นบางที่เขาก็สอนกัน ให้คิดพิจารณาร่างกายลงเป็นไตรลักษณ์ตลอดเวลา คิดไปเรื่อยๆ แต่สติหนีไปที่อื่น หนีไปอยู่ในโลกของความคิด จิตจะจมอยู่ในโลกของความคิด แล้วก็ไปคิดเรื่องร่างกายไม่ใช่ตัวเรา อย่างมากที่สุดได้แค่สมถะ ได้ความสงบ ฉะนั้นเราต้องมีของจริงมารองรับ มีเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ
หลวงพ่อพุธสอนเรื่อยๆ ว่า “ต้องให้จิตมีเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ” อย่างเรามีร่างกายเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ระลึกอยู่ในกาย พอระลึกอยู่ในกาย อย่างขณะนี้กายมันนั่งอยู่ เราระลึกร่างกายที่นั่ง ร่างกายขยับเราระลึกอยู่ ถ้าระลึกอยู่เฉยๆ ได้สมถะ ถ้ามันเกิดไปหมายรู้ขึ้นมา เฮ้ย ตัวนี้มันไม่ใช่เรา หมายรู้ถูก ต่อไปปัญญามันจะเกิด ปัญญาเกิดมันก็จะล้างกิเลสได้ เป็นวิปัสสนาปัญญา แต่ถ้าไม่มีของจริงมารองรับ มันเป็นจินตามยปัญญา จินตนาการเอาเอง
ถ้านั่งฟังหลวงพ่อเทศน์แล้วก็ถ้าคิดตาม ตรงที่นั่งฟังเอา เข้าใจด้วยการฟัง อันนั้นก็เป็นสุตมยปัญญา ถ้าคิดเอา ไม่มีความจริงมารองรับ ก็เป็นจินตามยปัญญา แต่ถ้ามีที่ตั้งของสติ ที่ตั้งของสติก็เรียกว่าสติปัฏฐานนั่นล่ะ จิตต้องมีเครื่องระลึก หลวงพ่อพุธท่านใช้คำ ให้มีเครื่องรู้ของจิต ให้มีเครื่องระลึกของสติ ท่านใช้คำนี้ “ให้มีเครื่องรู้ของจิต” เห็นไหม ร่างกายนี้ถูกรู้ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ เรียก “เป็นเครื่องรู้” ภาษาของท่าน ฉะนั้นร่างกายก็เป็นเครื่องรู้ของจิต แล้วเป็นที่ระลึกของสติ สติตามระลึกร่างกายนี้ไป
แล้วถ้ามันเคยได้ยินได้ฟังเรื่องไตรลักษณ์อะไรนี้มา หรือเคยภาวนามาก่อน เคยเจริญปัญญามาก่อน มันจะเห็นไตรลักษณ์ โดยไม่ได้เจตนา ถ้ามันไม่เห็นไตรลักษณ์ ช่วยมันคิดพิจารณาลงไป แต่คิดพิจารณาตัวนี้มีของจริง มีเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ มีร่างกายนี้ หรือมีเวทนา หรือมีสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว อันนี้วันนี้หลวงพ่อยกตัวอย่างเรื่องกาย ถ้าพูดทีเดียวหลายๆ ตัวเดี๋ยวงง จับหลักไม่ได้ อันนี้พอจับหลักได้หรือยัง เวลาสติระลึกรู้กาย กายเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นสิ่งที่รองรับความรับรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เคลื่อนไหว สติเป็นเครื่องระลึก ระลึกรู้ไป แล้วถ้ามีสัญญาหมายลงไปปุ๊บ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างหลวงพ่อจะเห็นอนัตตา ไม่ใช่เรา เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ จิตมันก็ตัดกิเลสลงไป ตัวที่ตัดกิเลสลงไปนั้น ตัวปัญญา
ครั้งหนึ่งเข้าไปกราบหลวงพ่อพุธที่วัดป่าสาลวัน แต่เข้าทางหลังวัด เดินเข้าไป ถนนนั้นเต็มไปด้วยหมา แล้วหมามาอึไว้เต็มเลย แทบจะทุกย่างก้าว ถ้าเดินไม่ดีเหยียบแน่นอนเลย เราก็เดินไป ใจก็ขยะแขยง แต่ก็ยังพอทนได้ ไปเจอขี้หมากองแชมป์เข้า ยังเปียกๆ อยู่แล้วก็มีหนอนด้วย แมลงวันหัวเขียวตัวโตๆ มาเกาะแล้วบินขึ้นมาบ้าง เราก็หวาดเสียว มันบินขึ้นมาเดี๋ยวมันมาเกาะเรา ใจนี้รู้สึกรังเกียจอย่างร้ายแรงเลย เสร็จแล้วสติมันระลึกลงไปในกองขี้หมา จิตตั้งมั่น สติระลึกลงไปที่กองขี้หมา แล้วมันจัดแจงแยกขี้หมา ปัญญามันแยกแยะกองขี้หมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นกลิ่นของมัน มาตามลม ส่วนที่มันเปียกๆ ก็เป็นธาตุน้ำ
แล้วเราดูลงไป ตัวของมัน พอกำลังของจิตมันแก่กล้าจริง จิตมันทะยานเข้าไปใส่กองขี้หมา แล้วมันไปแยกกองขี้หมา ไม่ใช่ไปคุ้ยเขี่ย มันเข้าไปดูกองขี้หมา ธาตุน้ำส่วนธาตุน้ำ น้ำแยกให้เราดูเลย ธาตุลมส่วนธาตุลม ธาตุไฟส่วนธาตุไฟ สุดท้ายมันกลายเป็นดินเฉยๆ ไม่มีคำว่าสะอาดหรือคำว่าสกปรก อันนี้เป็นกระบวนการ ที่จิตมันลงไปหมายรู้ ความเป็นธาตุของขี้หมา แล้วปัญญาเกิด รู้ถูก เข้าใจถูก ว่าจริงๆ ก็เป็นแค่วัตถุธาตุ ไม่น่ายินดี ไม่น่ายินร้ายอะไรทั้งสิ้นเลย เป็นกลางเสมอกับแผ่นดินที่เรียบร้อยสวยงามนั่นล่ะ
กระบวนการนี้ยกตัวอย่างให้ดู เห็นขี้หมาใจขยะแขยง รู้ทันใจที่ขยะแขยง สมาธิเกิด จิตพุ่งลงไปที่กองขี้หมา แล้วก็สัญญาลงไปหมายรู้ความเป็นธาตุของมัน สุดท้ายปัญญาตัดความรู้สึกรังเกียจออกไปหมด ก็เดินสบายใจ ไม่กลัวขี้หมา แต่ไม่เหยียบเลยเพราะสติดี เรื่องอะไรจะเหยียบ แล้วก็ไม่ต้องเหยียบ ไม่ใช่อุเบกขาแล้วก็ย่ำมันไปทุกกอง เพื่อเป็นการฝึกจิตให้ไม่รังเกียจ อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นไม่รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ย่ำไปแล้วไม่มีใครเขาอยากเข้าใกล้ หลวงพ่อก็ดูขี้หมานี้ แยกขี้หมาเสร็จ ก็เข้าไปกราบหลวงพ่อพุธ หลวงพ่อพุธบอก “โอ้ นักปฏิบัติ วันนี้ผ่องใส ทำอะไรมา” บอก “ไปดูขี้หมามา” ที่ยกตัวอย่างขี้หมา เป็นตัวอย่างให้พวกเราดู
พวกเราดูกายของเรานี้ ให้เหมือนกองขี้หมาให้ได้ ร่างกายนี้มีดินไหม มีน้ำไหม มีลมอยู่ไหม มีไฟอยู่ไหม ถ้าเราหมายรู้ลงไปว่า ร่างกายมันก็แค่วัตถุธาตุ มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่ในร่างกาย แล้วปัญญามันก็ตัดความหลงผิด นี่มันไม่ใช่ตัวเราของเรา มันเป็นธาตุ เป็นของประจำโลก ไม่น่ายึดถืออะไร เพราะมันไม่ใช่ของเรา ยึดมันทำไม ลองดูร่างกายของตัวเอง โดยเทียบกับกองขี้หมาที่หลวงพ่อเล่าให้ฟัง จิตต้องตั้งมั่น อย่างพอหลวงพ่อเห็นขี้หมาแล้วจิตรังเกียจ สติระลึกรู้ความรังเกียจ ความรังเกียจดับ จิตทรงสมาธิขึ้นมาทันที พอจิตมีสมาธิ ตามองเห็นขี้หมา พอตามองเห็นปุ๊บ สัญญาหมาย รูปนี้จริงๆ เป็นแค่วัตถุธาตุ กองนี้ ไม่น่ารังเกียจอะไร ไม่น่ารักไม่น่าชัง ฉะนั้นเวลาเราเดินปัญญา เวลามันพ้นไป มันไม่รักแล้วมันไม่ชัง ไม่มีอภิชฌา ความรักใคร่ยินดีพอใจ ไม่มีโทมนัส ความไม่พอใจ
ตัดความยึดถือได้ด้วยตัวปัญญา
ฉะนั้นในสติปัฏฐานจะเริ่มต้นจาก การมีวิหารธรรม มีเครื่องรองรับให้จิตรู้ ให้สติระลึก เรียกว่ามีวิหารธรรม อย่างใช้กายในกายเป็นวิหารธรรม ไม่ใช่เป็นวิหารธรรม ดูกายเฉยๆ หาแต่ความสุข อันนั้นไม่ใช่ ต้องมีอาตาปี มีความเพียรที่จะแผดเผากิเลส ไม่ใช่ดูร่างกายแล้วก็เฉยๆ สบายๆ ไป ต้องดูแล้วไม่ให้กิเลสงอกงาม มีสัมปชัญญะ รู้ว่าที่เราดูนี้เพื่อให้รู้ถูก เพื่อให้เข้าใจถูก ท่านบอกว่า “กาเย กายานุปัสสีวิหะระติ” “วิหะระติ” คือเป็นวิหารธรรม “อาตาปี” มีความเพียรแผดเผากิเลส “สัมปะชาโน” มีสัมปชัญญะ รู้ว่าเราทำอะไร เพื่ออะไร มีสติ
พอมีสติแล้ว ถัดจากนั้นก็เป็นคำว่า “วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง ถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้” ถ้าดูแล้วก็เห็นร่างกายแล้วยินร้าย เกลียดร่างกาย ไม่ใช่ ยังทำไม่ถึงขั้น ยังทำไม่ถูก ยังถูกอารมณ์ไม่พอใจครอบงำอยู่ ถ้าทำถูกแล้วมันจะเห็น อย่างที่หลวงพ่อเห็นขี้หมา ไม่รัก ไม่ได้รู้สึกรัก ก็ไม่ได้รู้สึกเกลียด ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย จิตก็เข้าสู่ความเป็นกลาง พอจิตเข้าสู่ความเป็นกลาง จิตก็ไม่ดิ้นรน จิตไม่ดิ้นรน จิตก็เข้าถึงสันติคือความสงบ จิตที่อยู่ ทรงอยู่กับสันติ มีความสุขอันมหาศาล ฉะนั้นนิพพานเป็นสภาวะที่ว่าง “นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานนั้นว่าง” “นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นบรมสุข” อะไรชื่อว่า “นิพพาน” ความสิ้นตัณหา เมื่อเราสิ้นตัณหา สิ้นความอยาก มันก็สิ้นความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต จิตก็เข้าถึงความสงบสุข
อย่างถ้าเราเห็นขี้หมา ใจเรารังเกียจ จิตเราก็ดิ้นขลุกขลักๆ แต่พอสติระลึกรู้ทันจิตที่ไม่เป็นกลาง ตามองเห็นรูป สติเห็นความไม่เป็นกลาง จิตตั้งมั่นเป็นกลาง หมายรู้ถูกลงไปถึงความเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ จิตก็หมดความยินดียินร้ายในกองขี้หมา ของเราดูกายจนหมดความยินดียินร้ายในกาย ดูกายเหมือนกองขี้หมากองหนึ่ง แต่กองนี้โตหน่อยเท่านั้นล่ะ หัดดูไป อันนี้ยกตัวอย่างกาย เวทนาก็เหมือนกัน เวลาความสุขเกิดขึ้น จิตยินดีพอใจ รู้ทัน ราคะเกิดแล้ว ราคะดับ จิตตั้งมั่น สัญญาหมายรู้ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ อะไรทั้งหลาย สัญญาหมายรู้ของไม่เที่ยง เป็นของที่เป็นอนัตตา มาเอง ไปเอง ต่อไปปัญญามันก็เกิด สัญญาทั้งหลายไม่มีสาระแก่นสารอะไร ใจมันไม่ยึดถือ ตัดความยึดถือออกไปได้ด้วยตัวปัญญา
ปัญญาเป็นตัวตัด สติเป็นตัวจับ จับสถานการณ์นี้ไว้ พอจิตตั้งมั่น สัญญาหมายรู้ลงไป แล้วปัญญามันเกิด มันก็จะตัดความเห็นผิดลงไปได้ จิตก็จะเข้าสู่ความเป็นกลาง หมดความดิ้นรนปรุงแต่ง ความสุขหรือความทุกข์ก็เสมอกัน เกิดแล้วดับเสมอกัน เวลามีความสุขจิตก็ไม่หลงยินดี ตัดอภิชฌา เวลามีความทุกข์ จิตก็ไม่ยินร้าย ตัดโทมนัสทิ้งไป มันละเอง จิตไม่มีอภิชฌา ไม่มีโทมนัส ไม่มียินดียินร้าย สิ้นความอยาก จิตก็ไม่มีความดิ้นรน จิตที่ไม่มีความดิ้นรน จิตก็เข้าถึงสันติ คือนิพพาน
หรือเรารู้สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว อย่างโลภ โกรธ หลง เกิดขึ้น อย่างความโลภเกิดขึ้น สติระลึกรู้ปุ๊บ ความโลภดับไปเลย ดับทันที จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา สติระลึกลงไปอีก สังขาร ความโลภที่เกิดขึ้นเมื่อกี้ มันมาเอง มันไปเอง มันมาเอง มันไปเอง ตัวกิเลส เวลาดู ดูตามหลัง จะไม่เหมือนร่างกาย ร่างกายดูกายเดี๋ยวนี้ กำลังเคลื่อนไหว แต่ถ้าดูโลภ โกรธ หลง เมื่อกี้โกรธ แต่ตอนนี้จิตตั้งมั่น แล้วสัญญามันเข้าไปพิจารณา ไปดู มันจะเห็นเลย ความโกรธมันมาเอง ไปเอง ไม่ได้ดับมัน สติระลึกปุ๊บมันดับเอง เกิดเอง ดับเอง มาเอง ไปเอง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
นี่ดูสังขาร ดูอย่างเดียวกัน ใช้หลักอันเดียวกัน เครื่องมือก็คือมีสติ มีจิตใจตั้งมั่นคือสมาธิ มีสติ มีสัญญาหมายรู้ถูก ปัญญาเกิดก็ตัดความเห็นผิดทั้งหลาย ถ้าปัญญาแก่กล้ามากๆ ก็เป็นโลกุตตรปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดในอริยมรรค ถ้าปัญญาระดับที่เกิดในอริยมรรค เป็นโลกุตตรปัญญา สัญญาที่เกิดร่วมตรงนั้น ก็เป็นสัญญาในระดับโลกุตตระ ฉะนั้นในโลกุตตระไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย บอกแล้วว่าสัญญาเกิดร่วมกับจิตทุกดวง ในโลกุตตรจิตก็มีสัญญา ในโลกุตตรจิตก็มีเวทนา ในโลกุตตรจิตก็มีมนสิการ การที่จิตมันจะไปหมายรู้อารมณ์ ในโลกุตตรจิตก็มีความเป็นหนึ่ง เอกัคคตา รู้อารมณ์ได้อันเดียว ทีละอัน
ฉะนั้นในโลกุตตระ ไม่ได้แปลว่าไม่มีอะไรเลย จิตก็มีเป็นโลกุตตรจิต องค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิต เรียกว่าเจตสิก ก็เป็นโลกุตตรเจตสิก ก็ทำหน้าที่ของมัน กิเลสก็ทำหน้าที่สร้างภพสร้างชาติให้เรา มรรค อริยมรรคก็ทำหน้าที่ล้างภพล้างชาติให้เรา อริยผลไม่ทำหน้าที่ มันทำหน้าที่กันจบตรงที่อริยมรรค อริยผล คล้ายๆ ได้รับรางวัลแล้ว การต่อสู้อันเหน็ดเหนื่อยได้จบสิ้นลงแล้ว รับรางวัลใหญ่ แล้วก็รอรางวัลแจ็กพอตที่จะตามมา อย่างถ้าเราภาวนาจนถึงที่สุดแล้ว เราได้รับรางวัลยิ่งใหญ่ที่ได้ดำรงชีวิตอยู่ตอนนี้ ที่ยังเหลือชีวิตอยู่ แล้วเวลาคิดถึงนิพพาน คิดถึงว่าอีกไม่นานจะได้รับรางวัลพิเศษ ได้แจ็กพอตอันใหญ่เลย
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า พระอรหันต์เหมือนคนซึ่งทำงานเสร็จแล้ว แล้วกำลังรอรับค่าจ้าง รับรางวัลยิ่งใหญ่อยู่ ใจในระดับของอริยผล มันจะเป็นใจที่ไม่ได้ดิ้นต่อ ในขั้นอรหัตตผลก็มองวาระ ที่ธาตุขันธ์จะแตกจะดับ ไม่ได้กลัว เพราะว่าธาตุขันธ์ไม่เกี่ยวข้องอะไร กับจิตที่บริสุทธิ์ออกมาแล้ว คนละเรื่องกันเลย ไม่เกี่ยวกัน ขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ ของเราไม่เห็นว่าขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ เพราะฉะนั้นพอขันธ์เราจะแตก เราจะตาย เรากลุ้มใจ พระอรหันต์ท่านเห็นขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ ตัวทุกข์จะตาย ร่าเริง แทนที่จะเศร้าหมอง ร่าเริง หมดภาระแล้ว ไม่ต้องดูแลมันต่อไปแล้ว ตื่นเช้าไม่ต้องพามันเข้าส้วมแล้ว ไม่ต้องพามันแปรงฟันแล้ว ไม่ต้องหาข้าวมากินแล้ว หมดภาระ สบาย
ฉะนั้นเราภาวนาไป ไปทบทวนที่หลวงพ่อสอนวันนี้ ดูร่างกายเราเหมือนขี้หมากองหนึ่ง ดูไปเรื่อยๆ เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ว่าจะเทศน์ง่ายๆ รู้สึกยากทุกที เพราะเทศน์ง่ายๆ เทศน์มาเยอะแล้ว หลวงพ่อเทศน์มาประมาณ 2,000 กัณฑ์แล้ว หาพระที่เทศน์เยอะอย่างหลวงพ่อ หายาก เทศน์มา 2,000 กัณฑ์แล้ว ไม่มีตำรับตำรา ไม่ได้ท่อง วางสคริปต์อะไรมาเขียน มาดูหน้าพวกเราแล้วค่อยเทศน์เอา ขอให้ขี้หมาทั้งหลายเจริญสติไว้
วัดสวนสันติธรรม
29 เมษายน 2566