การปฏิบัติต้องเห็นสภาวะ ถ้าไม่เห็นสภาวธรรม ก็ยังไม่ได้สาระแก่นสารของการปฏิบัติ สภาวะก็มีรูปธรรมกับนามธรรม ต้องเห็นให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็กลายเป็นคิดเอาอย่างเดียว คำว่า “เห็น” มันก็คล้ายๆ เราหลับตาอยู่ พอเราลืมตาขึ้นมา มันก็เห็น ไม่ต้องเจตนาเห็นก็เห็นเอง มีอะไรให้เห็นก็เห็นอันนั้น มันง่ายจนยาก เรานึกไม่ถึงว่ามันจะง่าย พอคิดถึงการปฏิบัติ ก็คิดว่าจะต้องทำอะไร สิ่งที่ คิดว่าจะต้องทำนั้น มันล้วนแต่เกินจริงทั้งนั้น เกินความจำเป็น แค่เห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตใจอย่างที่จิตใจเป็น มันจะยากอะไร ก็เห็นด้วยใจธรรมดา ไม่ได้ใจมีความโลภ อยากเห็น อยากรู้ให้ชัด อยากรู้ไม่ให้คลาดสายตา แบบนั้นจงใจมากไป เคร่งเครียด ของง่ายๆ มันเลยยาก เพราะเรานึกไม่ถึงว่ามันจะง่ายขนาดนี้ ดูเหมือนไม่มีอะไรเลย
เคยมีคนถามท่านเว่ยหล่าง ไม่เว่ยหว่างก็ฮวงโป จำไม่ได้แล้ว น่าจะท่านเว่ยหล่าง ว่าวิธีปฏิบัติเป็นอย่างไร ท่านบอกก็ไม่มีอะไร ลืมตาแล้วก็ตื่นขึ้นมา เห็นสภาวะอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่ว่าต้องกำหนดจิตแบบนั้น จะดูก็ต้องมีมาดมากมาย จะต้องดู ทำจิตให้นิ่งๆ ขรึมๆ แล้วค่อยไปรู้สภาวะ ของง่ายมันก็เลยยาก มันเคยชินที่จะไปทำจิตให้นิ่งๆ แล้วติดอยู่อย่างนั้น บางคนก็แก้ได้ บางคนก็แก้ไม่ได้ ต้องไปรอพระเมตไตรยท่านมาดูให้ ฉะนั้นภาวนาจับหลักให้แม่นๆ เราต้องรู้สภาวะให้ได้ ถึงจะเจริญปัญญาได้
ต้องรู้สภาวะให้ได้ ถึงจะเจริญปัญญาได้
สิ่งที่เรียกว่าสภาวะก็มีรูปธรรมกับนามธรรม นิพพานก็เป็นสภาวะอีกอันหนึ่ง แต่เราไม่เห็น ยังไม่ต้องไปสนใจ แขวนไว้ก่อน คราวนี้ถ้าเราจะทำจิตให้สงบ เราก็ดูสภาวะ เช่น การหายใจ เห็นลมมันไหลเข้ามา เห็นลมมันไหลออกไปทางจมูก ถ้าจิตมันซนนัก ฟุ้งซ่านนัก ก็มัดจิตด้วยการกำหนดรายละเอียดของการหายใจ เช่น หายใจเข้าไปลึกๆ แล้วลมไหลเข้าไปลึกๆ ก็รู้ ลมค่อยๆ เคลื่อนขึ้นมาก็รู้ ดูเป็นจุดๆๆๆ ขึ้นมา จะกำหนดกี่จุดก็ได้ตามความถนัด แต่พอเราชำนาญในการปฏิบัติจริง ไปไล่มันทำไม เสียเวลา เหนื่อยเปล่าๆ เราเฝ้าอยู่ที่ประตูที่จมูกนี้ ลมไหลเข้าไปก็รู้สึก ลมไหลออกไปก็รู้สึก รู้อยู่ที่ตัวลมที่กำลังไหลเข้า ลมที่กำลังไหลออก
ตัวลมเป็นธาตุ มีสภาวธรรมเป็นธาตุลมเป็นรูปธรรม การที่เรารู้รูปธรรม รู้อย่างต่อเนื่องไปเรื่อย จิตเราก็สงบได้ เพราะหลักของการทำความสงบหรือสมถกรรมฐาน ก็แค่น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ไม่ชอบลมหายใจ ก็ใช้อารมณ์ทางนามธรรมอย่างอื่นก็ได้ อย่างใจเรามีความสุขก็รู้ ใจเรามีความทุกข์ก็รู้ ใจเราเฉยๆ ก็รู้ เห็นความเปลี่ยนแปลงของความรู้สึก ดูสบายๆ ใส่ใจไปที่ตัวความรู้สึก ถ้าเราใส่ใจไปที่ตัวรูปธรรมหรือนามธรรม เราจะได้สมถกรรมฐาน ถ้าเราภาวนา จิตเราตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นจริงๆ มันจะอัปเกรดการปฏิบัติ ขึ้นสู่วิปัสสนากรรมฐาน
อย่างถ้าเราเห็นลมเข้าเห็นลมออกก็เป็นสมถะ เราดูธาตุลม นี้ถ้าเราเห็นธาตุลม มันเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดู จิตเริ่มเดินปัญญาแล้ว เริ่มเดินปัญญาขั้นต้น แยกรูปธรรมคือธาตุลม กับนามธรรมคือจิตที่เป็นคนรู้ธาตุลม อันนี้เริ่มเดินปัญญา แต่ยังไม่ถึงวิปัสสนา ดูไปเรื่อยๆ เราก็เห็น เออ ธาตุลมนี้มันไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็ไหลเข้า เดี๋ยวมันก็ไหลออก เรายังเห็นโดยเจือการคิดอยู่ ก็เป็นการเจริญปัญญาที่สูงกว่าเมื่อกี้นิดหนึ่ง สูงขึ้นอีกนิดหนึ่ง ไม่ใช่รู้ลมเฉยๆ แต่รู้ว่าลมเดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก ไม่เที่ยง ลมนี้มันไม่เที่ยงนี่ ลมนี้มันไม่ใช่ตัวเรา ลมไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ถ้ายังเจือการคิดอยู่ ก็เป็นการเจริญปัญญาขั้นต้น
ต่อมาถ้าเห็นร่างกายมันหายใจปุ๊บ แล้วมันเห็นตัวลม มันรู้สึกเลย มันรู้สึกเอง ตัวลมไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มีแต่ความไม่เที่ยง มีแต่การบังคับไม่ได้ ไหลไปไหลมา ตรงที่มันเห็น มันถึงจะขึ้นวิปัสสนา ตรงที่ยังคิดถึงไตรลักษณ์อยู่ ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา เพราะวิปัสสนาแปลว่าเห็น เห็นอย่างถูกต้อง เห็นแจ้ง ฉะนั้นการที่หลวงพ่อบอกว่า ต้องเห็นสภาวะให้ได้ เราถึงจะทำวิปัสสนาได้ ถ้าเรายังเห็นสภาวะไม่ได้ก็ยังทำวิปัสสนาไม่ได้ ไม่ใช่คิดเรื่องสภาวะ ไม่ใช่เพ่งสภาวะ อย่างเพ่งอยู่ที่ลมหายใจเป็นสมถะ คิดถึงลมหายใจ เดินปัญญานิดๆ หน่อยๆ ว่ามันเป็นไตรลักษณ์ คิดไปๆ จิตก็สงบ เป็นสมถะอีกแล้ว ต่อเมื่อเราเห็นลมนี้ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ลมนี้ไม่เที่ยง เฝ้าสังเกตลงไป นี่ยกตัวอย่างธาตุลม
สภาวธรรมตัวอื่นๆ ก็เหมือนกัน อย่างตอนหลวงพ่อหัดเจริญปัญญา หลวงพ่อมาหัดเจริญปัญญาจริงๆ เมื่อปี 2525 ก่อนนั้นตั้งแต่ 2502 ทำแต่ความสงบ เดินปัญญาไม่เป็น ทำแต่จิตสงบ แล้วมาเจอหลวงปู่ดูลย์ เข้าไปกราบท่านวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2525 เข้าไปกราบท่านครั้งแรก ไปบอกท่าน “หลวงปู่ครับ ผมอยากปฏิบัติ” หลวงปู่ท่านก็นั่งสอบประวัติหลวงพ่อ นั่งหลับตาทำสมาธิของท่านไป ไม่บอกอะไรเรา เราก็นั่งรอไป ในใจก็ยังไม่รู้จักครูบาอาจารย์ เพิ่งเคยเห็นท่านครั้งแรก แล้วท่านก็อายุตั้ง 95 ปีแล้ว เลยคิดว่าท่านฉันข้าวเสร็จแล้ว ท่านนั่งหลับไปแล้ว ก็สักเกินครึ่งชั่วโมง แต่ไม่ถึงชั่วโมง ท่านก็ลืมตามา แล้วท่านก็สอน “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง”
กิริยาที่ท่านใช้คือ “อ่าน” อ่านอะไร อ่านจิตตนเอง หลวงพ่อก็เลยใช้การเจริญปัญญา ด้วยการอ่านจิตตัวเอง จิตเราสุขก็เห็น จิตมันทุกข์ก็เห็น จิตไม่สุขไม่ทุกข์ก็เห็น จิตเป็นกุศลก็เห็น จิตโลภก็เห็น จิตโกรธก็เห็น จิตหลงก็เห็น ทีแรกเวลาเห็นจิตโกรธ จิตมันก็ถลำลงไปที่ตัวโกรธ อันนี้ยังไม่เห็น เวลาเราเห็น อย่างเห็นความโกรธ จิตถลำลงไปที่ความโกรธ อันนี้ยังไม่ใช่ผู้เห็นที่แท้จริง จิตมันจมลงไปกับความโกรธ ต่อมาสังเกตเห็น จิตมันไหลเข้าไปในความโกรธ อาศัยกำลังของสมาธิที่เคยฝึกมา จิตมันก็ถอนตัวออกจากความโกรธ จิตอยู่ส่วนหนึ่ง ความโกรธอยู่ส่วนหนึ่ง เห็นจิตกับความโกรธเป็นคนละอันกัน ตรงนี้เริ่มเดินปัญญาขั้นต้นๆ แล้ว
แล้วต่อมาก็เห็นความโกรธ เมื่อกี้ไม่โกรธ ตอนนี้โกรธ เมื่อกี้โกรธ ตอนนี้ไม่โกรธ เออ มันไม่เที่ยง แล้วจิตจะโกรธ หรือจิตจะไม่โกรธ โกรธแล้วจะหายหรือไม่หาย สั่งไม่ได้ อันนี้เป็นอนัตตา อย่างนี้เรียกว่าเราเห็น จิตโกรธขึ้นมาเราเห็นแล้ว ความโกรธไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความโลภเกิดขึ้นก็เห็นอีก ความโลภไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความหลง เช่น หลงไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ มันหลงได้เอง อันนี้เป็นอนัตตา หลงไปแล้ว พอเรามีสติรู้ มันก็ดับ ความหลงก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน
หลวงพ่อเจริญปัญญาด้วยวิธีดูนามธรรม แต่จะทำอย่างนี้ได้ จิตต้องทรงสมาธิอยู่แล้ว จิตต้องตั้งมั่น เพราะฉะนั้นที่หลวงพ่อนั่งฝึกมาแต่เด็ก ฝึกสมาธิ มันไม่ใช่ของสูญเสีย ไม่ได้เสียเปล่า มันทำให้จิตเราตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แต่เดิมตอนเด็กๆ ฝึกจนจิตมันตั้งมั่น แล้วไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้อะไรต่อ เมื่อปี 2502 ไปเรียนกับท่านพ่อลี ท่านสอนหายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับหนึ่ง นับสอง นับสามไป เอามาทำจิตมันก็สงบลงไป ทีแรกมันก็ออกรู้ออกเห็นอะไรข้างนอก ฟุ้งซ่าน ต่อมาก็รู้ว่ามันไม่มีประโยชน์ แล้วมันมีโทษ ออกไป ไปเจอผีเข้าจะทำอย่างไร เห็นนรกเข้าจะทำอย่างไร ตอนนั้นเด็กๆ ก็กลัว ไม่เอาแล้ว ต่อไปนี้ไม่ให้จิตออกแล้ว ก็หายใจไป พอจิตจะไหลตามแสงสว่างไป รู้ทัน ไม่ไหลตาม ตั้งมั่นขึ้นมา
แล้วยังไม่รู้หรอก ตอนนั้นเด็ก ไม่รู้ว่าจิตมันตั้งมั่นหรือไม่ตั้งมั่น จน 10 ขวบถึงเจอจิตที่ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาจริงๆ ตอนนั้นไฟไหม้ใกล้ๆ บ้าน บ้านเป็นตึกแถว ห้องใกล้ๆ กันห่างไป 4 – 5 ห้อง ไฟไหม้ เห็นควัน เห็นไฟพุ่งออกมา เห็นคนวิ่งหนีออกมา เห็นทีแรกตกใจ พอตกใจก็วิ่งจะไปบอกพ่อ ก้าวที่ 1 ตกใจ ก้าวที่ 2 ตกใจ ก้าวที่ 3 สติมันเห็นปั๊บ เข้ามาที่ความตกใจ ความตกใจขาดสะบั้น จิตดีดตัวขึ้นมา ผางขึ้นมาเลย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ผู้ตกใจอีกแล้ว ไม่ใช่ผู้หลงตกใจ ก็เดินไปบอกผู้ใหญ่ว่าไฟไหม้ข้างบ้านแล้ว คราวนี้เราก็เห็นคนโน้นตกใจ คนนี้ตกใจ เราเป็นแค่คนวงนอก เราเป็นคนดูปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น นี่คือสภาวะที่จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาจริงๆ แล้ว ไม่ได้เจตนา จิตมันตั้งมั่นของมันเอง
ภาวนามาเรื่อยๆ เรียนกับหลวงปู่ดูลย์ก่อน มาเจริญปัญญา พอเรามีจิตที่ตั้งมั่น พอความสุขเกิดขึ้น เรารู้ความสุขด้วยจิตที่ตั้งมั่น ทีแรกก็ไม่เป็นกลาง ยินดี โอ้ จิตมีความสุข ยินดี ต่อมาก็เห็นอีก เออ จิตเข้าไปหลงยินดีอีกแล้ว พอรู้ว่าจิตหลงยินดี ความหลงยินดีก็ดับ จิตก็เข้าสู่ความตั้งมั่นและเป็นกลาง เวลามีความทุกข์เกิดขึ้น จิตก็หลงยินร้าย ก็มองเห็น จิตมันหลงยินร้าย ไม่ชอบ รู้ทันว่าจิตยินร้าย ความยินร้ายก็ดับ จิตก็ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตมันตั้งมั่นอยู่แล้วมันเห็น แล้วมันก็เลยเป็นกลาง คราวนี้ก็เลยสามารถรู้สภาวะ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นนามธรรม ก็เห็นสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เรารู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ไม่นาน ไม่กี่เดือนก็เข้าใจแล้ว ว่าทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับหมด มันไม่ได้มีตัวมีตนอะไรสักอย่างเดียว
เวลาออกไปกราบครูบาอาจารย์ หลวงพ่อฝึกจิตมันเป็นคนรู้คนดู มันตั้งมั่น ครูบาอาจารย์บางองค์เจอหน้าหลวงพ่อ ท่านไม่รู้จักชื่อ ท่านเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ หลวงปู่สิมเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ๆ เวลาเจอท่าน ไม่ต้องถามกรรมฐาน เจอท่าน ท่านบอกเลย “ผู้รู้อย่าทำอย่างนี้ อย่างนี้ผิด ผู้รู้ทำอย่างนี้ๆ ถึงจะถูก” อะไรอย่างนี้ ท่านจะบอกเอง เรียกผู้รู้ๆ ฉะนั้นจิตที่เป็นผู้รู้สำคัญมาก มันคือจิตที่ทรงสัมมาสมาธิ ส่วนจิตที่เป็นผู้หลง ผู้หลงไปคิด ผู้หลงไปเพ่ง เอาไปทำอะไรได้ ก็เอาไปสร้างภพสร้างชาติ สร้างทุกข์ขึ้นมาแผดเผาตัวเองไป ฉะนั้นต้องพยายามฝึก ให้จิตเราตั้งมั่นขึ้นมาให้ได้
วิธีฝึกให้จิตตั้งมั่น
วิธีฝึกให้จิตตั้งมั่นทำได้ 2 ทาง อันหนึ่งฝึกเข้าฌาน แต่ต้องเป็นฌานชนิดที่เป็นสัมมาสมาธิ คือประกอบด้วยสติ พอถึงฌานที่ 2 ตัวผู้รู้มันจะเด่นดวงขึ้นมา ในพระไตรปิฎกจะเรียกตัวนี้ว่าเอโกทิภาวะ ฝ่ายปริยัติเขาจะแปลเอโกทิภาวะว่าสมาธิ ไม่รู้ไปแปลว่าสมาธิ แล้วมันจะไปทำอะไรได้ เพราะขณิกะมันก็เป็นสมาธิ อุปจาระมันก็เป็นสมาธิแล้ว เอโกทิภาวะอยู่ในฌานที่ 2 ก็เป็นสมาธิอีก มันแยกไม่ออก เอโกทิภาวะคือสภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง จิตมันเป็นหนึ่งขึ้นมา มันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เป็นหนึ่งไม่เป็นสอง เป็นสองก็คือเดี๋ยวรู้เดี๋ยวหลง โคลงเคลง คลอนแคลน เดี๋ยวฟูเดี๋ยวแฟบไป ฉะนั้นเราต้องฝึก ให้จิตเราตั้งมั่นขึ้นมาให้ได้
คราวนี้ถ้าเราเข้าฌานไม่เป็น ก็มีอีกวิธีหนึ่ง ฝึกสมาธิชั่วขณะคือขณิกสมาธินี่ล่ะ ฝึกให้มาก เจริญให้มาก สุดท้ายจิตมันก็ตั้งมั่นได้เหมือนกัน ก็ได้ตัวรู้ขึ้นมาได้เหมือนกัน อย่างบางท่าน ท่านสอนว่าให้ทำกรรมฐานไป จิตหลงแล้วรู้ จิตหลงแล้วรู้ ทีแรกก็หลงยาวๆ แล้วถึงจะรู้ ถ้าไม่ได้ภาวนามันหลงวันละครั้ง ตั้งแต่ตื่นจนหลับ แต่ถ้าเราภาวนา เราหลงไปสักพักหนึ่ง เรารู้ หลงไปแล้ว หลงแล้วพอรู้ตัว แป๊บเดียวหลงอีกแล้ว หลงอีกรู้อีก หลงอีกรู้อีกไปเรื่อยๆ ตัวหลงมันจะอายุสั้นลงเรื่อยๆ จะหลงแคบลงเรื่อยๆ ตัวรู้มันจะเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ก่อนหัดใหม่ๆ วันหนึ่งบางทีได้ตัวรู้ครั้งสองครั้ง นอกนั้นเป็นตัวหลงหมด หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ ฝึกไป ในที่สุดตัวรู้เด่นดวงขึ้นมา รู้ขึ้นมาถี่ยิบเลย พอฝึกไปช่วงหนึ่ง จิตมันจะมีกำลังขึ้นมา
อย่างพวกโยมหลายคน จิตมันจะมีกำลังตั้งมั่นขึ้นมา รู้เนื้อรู้ตัวโดยไม่เจตนา ก็จะดีอยู่พักหนึ่ง ไม่เกิน 7 วันก็เสื่อม กำลังมันไม่พอหรอก ที่จริงไม่ถึง 7 วันหรอก ดีให้หลวงพ่อเห็นแป๊บเดียว เดี๋ยวก็เสื่อมแล้ว กำลังมันไม่แข็งแรง แต่ถ้าฝึกกรรมฐาน จิตหลงแล้วรู้ จิตหลงแล้วรู้ รู้ซ้ำๆๆ ไปทุกวันๆ มีเวลาเมื่อไรทำเมื่อนั้น ไม่ต้องรอก่อนนอนถึงจะทำ ไม่ได้กินหรอก มีเวลาขึ้นรถไฟฟ้า ไปรอรถเข้าแถวอยู่ ก็ดูกายดูใจของเราไป จิตหลงไปก็รู้ จิตรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ก็รู้ ฝึกไป 5 นาที 10 นาที ก็อย่าทิ้งเปล่าๆ อย่าเอาแต่เล่นมือถือ มือถือนี้ศัตรูตัวร้ายเลย นั่งจ้องกันอย่างนี้
สมัยก่อนมีโทรศัพท์มือถือแบบกดปุ่ม เล่นอะไรไม่ได้หรอก กดปุ่มส่งข้อความได้นิดๆ หน่อยๆ หลวงตามหาบัวท่านยังเรียกว่าเทวทัตเลยตัวนี้ ถ้ามาเจอมือถือรุ่นนี้ ต้องสุดที่ท่านจะบัญญัติแล้ว ท่านบัญญัติเทวทัตไปแล้ว แย่กว่านั้นหาไม่ได้แล้ว มือถือรุ่นนี้ทำลายสติได้เฉียบขาดที่สุดเลย ดูได้ทั้งวัน หลวงพ่อออกไปธุระข้างนอก เห็นคนขับมอเตอร์ไซด์ มันยังดูเลย มันยังดูเลยนะ ยิ้มไปยิ้มมา นานๆ เงยหน้าขึ้นมาทีหนึ่ง โอ๊ย พวกนี้ มันทำลายสติไปหมด
เพราะฉะนั้นพยายามฝึกตัวเอง มีเวลาหัดรู้ตัวไว้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปแล้วรู้ จิตหลงแล้วรู้ ฝึกบ่อยๆ จิตจะมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มีพวกเราหลายคน จำนวนมากเลยที่ทำอย่างที่บอกนี้ ถึงเวลาก็มาส่งการบ้านหลวงพ่อ จิตดี จิตตั้งมั่นมีกำลัง ผ่านไปอีกวัน 2 วัน เสื่อมหมดแล้ว เพราะอะไร สมาธิมันยังไม่พอ ต้องฝึกอีก ฝึกจนมันตั้งมั่นได้จริงๆ ตั้งได้อดทนหน่อย ตั้งทนๆ หน่อย ไม่ใช่ตั้งได้แวบเดียว ตั้งได้แวบเดียวยังเอาไปเจริญปัญญาไม่ทัน ต้องฝึกจนมันกระทั่ง มันเป็นผู้รู้ให้ได้ ถ้าจิตเราตั้งมั่นขึ้นมาได้อย่างแท้จริงแล้ว การเจริญปัญญาถึงจะทำได้จริง ถ้าจิตเราตั้งมั่น แค่สติระลึกรู้ร่างกาย มันจะเห็นร่างกายเป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ร่างกาย
อย่างขณะนี้ร่างกายนั่ง มันเห็นร่างกายที่นั่งอยู่ เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่จิตหรอก จิตเป็นคนไปเห็นมันเข้า แล้วร่างกายที่มันนั่งอยู่นี่ มันไม่ใช่ตัวเราหรอก มันเป็นแค่ก้อนธาตุ เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง เอามาตั้งไว้บนเก้าอี้นี้ มันจะรู้สึก มันไม่ใช่เราหรอก มันไม่ใช่คนหรอก มันเหมือนแค่หุ่นยนต์ตัวหนึ่งเท่านั้นเอง อย่างขณะนี้นั่งอยู่ ถ้าใจเราตั้งมั่น เราจะเห็นร่างกายที่นั่งอยู่นี้ ไม่ใช่เรา แต่ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น ได้ยินหลวงพ่อพูดว่า ร่างกายไม่ใช่เรา แต่จิตเราไม่ตั้งมั่น เราก็มองไปที่กาย แล้วเราก็คิดเอา กายไม่ใช่เรา อันนี้ยังไม่ใช่วิปัสสนา ยังคิดอยู่ แต่ถ้าเราจิตตั้งมั่นจริง ดูลงที่กายนี้ ไม่ใช่เรา ไม่ต้องคิดเลยว่าเราหรือไม่เรา เพราะมันไม่ใช่เรา มันเห็นอยู่ต่อหน้าต่อตา
ความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย อย่างนั่งแล้วคัน สังเกตไหมทีแรกนั่ง นั่งฟังหลวงพ่อไม่คัน หลวงพ่อพูดคำว่าคัน สังเกตไหมเริ่มคัน จิตมันเริ่มไปสนใจจะคันตรงไหนดี บางคนชักร้อนแล้วอะไรอย่างนี้ เมื่อกี้ฟังธรรมเพลิดเพลินไม่รู้สึก มีความคันเกิดขึ้นในร่างกาย ถ้าจิตเราตั้งมั่น เราจะเห็นว่าร่างกายกับความคันนั้นเป็นคนละอันกัน ร่างกายมันตั้งอยู่ก่อน ความคันมันแทรกเข้ามา ความคันไม่ใช่ร่างกาย คันขึ้นมาก็เกาๆ เอ้า หายคันแล้ว แต่ร่างกายก็ยังอยู่นี้ เพราะฉะนั้นร่างกายกับความคัน คนละอันกัน แต่ร่างกายก็เป็นของที่จิตรู้ ความคันก็เป็นของที่จิตรู้ เป็นของที่เกิดขึ้นมา ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป มันจะเห็น ร่างกายไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นแค่สภาวะของรูปธรรมอย่างหนึ่ง ความคันไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นเวทนา เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง
ดูอย่างนี้ หรือมันปวดมันเมื่อย มันปวดมันเมื่อยขึ้นมา เราเห็นร่างกายก็อันหนึ่ง ความปวดความเมื่อยก็อันหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้ก็อีกอันหนึ่ง ร่างกายไม่ใช่จิต ไม่ใช่ความปวดเมื่อย ความปวดเมื่อยไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่ความปวดเมื่อย หัดดู มันจะแยกขันธ์ออกไปเรื่อยๆ แล้วขันธ์แต่ละตัวๆ มันจะไม่เป็นเรา ทีนี้บางทีสิ่งที่เกิดในจิตเรา ไม่ได้มีแต่ความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกสุขทุกข์เกิดที่กายก็ได้ เกิดที่จิตก็ได้ บางทีร่างกายเรา เรานั่งอะไรเพลินๆ คิดอะไรเพลินๆ ไป ร่างกายเรามีอยู่เราก็ลืม ร่างกายกำลังถูกยุงกัดเราก็ไม่รู้ แต่ใจเรากำลังมีความสุข คิดถึงสาวสวยแฟนเรา เพิ่งเป็นแฟนใหม่ๆ มีความสุข กระดี๊กระด๊าขึ้นมา จิตใจมีความสุข ถ้าคนไม่ได้ภาวนา มันก็หลงไปเลย
ถ้าคนภาวนาเราก็เห็น ความสุขมันเกิดขึ้นในใจ เออ ความสุขที่เกิดขึ้นในใจเรา เป็นคนละอันกับความสุขที่เกิดในร่างกาย เป็นคนละอันกับร่างกาย เป็นคนละอันกับจิตใจ จิตใจเป็นคนรู้ ค่อยๆ แยกๆๆ ไปเรื่อย กุศลเกิดขึ้น อกุศลเกิดขึ้น ก็ดูแบบเดียวกัน ใจโกรธขึ้นมา เราก็เห็นความโกรธไม่ใช่ร่างกาย ความโกรธไม่ใช่ร่างกาย ความโกรธไม่ใช่ความรู้สึกสุขทุกข์ในกาย ความโกรธไม่ใช่ความสุขทุกข์ในใจ มันเป็นอีกสภาวะอย่างหนึ่ง ความโกรธมันผุดขึ้นมา มันผุดจากไหน มันผุดขึ้นมาจากกลางอกนี่ล่ะ กลางอกเรามันเป็นที่เกิดของนามธรรมจำนวนมาก มันผุดขึ้นมา มันมีศัพท์อยู่คำหนึ่ง คำว่า “หทย” เราชอบไปแปลว่า “หัวใจ” “หทยรูป” แปลว่ารูปคือหัวใจ นิยามของหทยรูป ก็คือเป็นรูปที่เป็นที่เกิดของนามธรรมจำนวนมาก
ฝ่ายปริยัติก็เลยคิดว่าหทยคือหัวใจ ก็เลยคิดว่านี่ล่ะ หัวใจเป็นที่เกิดของความรู้สึกทั้งหลาย ความรู้สึกดี ความรู้สึกชั่ว ที่จริงหทยตัวนี้ ไม่ได้แปลว่าหัวใจหรอก หทยตัวนี้คือกลาง อยู่กลางๆ เป็นความรู้สึกกลางๆ จุดที่กลางๆ เวลามันผุด อยู่ตรงไหน ความรู้สึกมันผุดขึ้นตรงไหน นั่นล่ะ อยู่ตรงนั้นล่ะ มันเป็นที่เกิดของนามธรรม ถ้าหทยรูปมันคือหัวใจ ถ้าคนเปลี่ยนหัวใจ นิสัยใจคอก็ต้องเปลี่ยนไปหมดเลย นี่ไม่ใช่ ไม่ใช่เลย มันผุดขึ้นมาจากความกลางๆ มันผุดขึ้นมา
ใครเคยเห็นไหม ความโกรธมันพุ่งขึ้นมา ถ้ามันแรง มันพุ่งขึ้นถึงหัวเลย ถ้ามันพุ่งขึ้นถึงหัว นี่ก็คือความโกรธมันกดหัวเราแล้ว ความรักเกิดขึ้น มันก็พุ่งขึ้นมา ขึ้นมาครอบหัวเราอีก แต่ถ้ามันพุ่งขึ้นมา เราเห็น มันหมดสภาพไป ไม่ครอบงำ ถ้ามันขึ้นราคะ โทสะ โมหะ ขึ้นมาถึงครอบหัวเราได้ มันบงการความรู้สึกนึกคิดของเราได้หมดแล้ว สมองกลายเป็นเครื่องมือของมันไปหมดแล้ว เป็นลูกมือมันหมด แต่ถ้ากิเลสมันผุดขึ้นมา เรามีสติเห็น มันดับต่อหน้าต่อตาเลย ไม่ทันบงการเข้ามาให้เกิดพฤติกรรมทางความคิด ทางคำพูด ทางการกระทำ ถ้ามันขึ้นมาถึงนี่ได้ มันบงการความคิดได้แล้ว มันขึ้นสมอง
ฝึกจิตให้ตั้งมั่นแล้ว ก็ค่อยแยกขันธ์ไป
แล้วเราจะพบว่าตัวเราไม่มีหรอก
เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ ถ้าจิตเราตั้งมั่นจริง เราเห็นความโกรธผุดขึ้นมา ความโกรธเกิดเอง ไม่ได้เจตนาจะโกรธ มันโกรธได้เอง ความโลภ ไม่ได้เจตนาจะโลภ มันโลภได้เอง มันโกรธขึ้นมาแล้ว สั่งมัน เฮ้ย หายโกรธ สั่งไม่ได้ นี่คืออนัตตา ตรงที่มันเกิดขึ้นเอง แล้วมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับ นี่เรียกว่าเราเห็นอนัตตา เราทำวิปัสสนาอยู่นะอันนี้ หรือเราเห็นจิตเมื่อกี้ไม่โกรธ จิตตรงนี้โกรธ เออ จิตที่ไม่โกรธนี้ก็ไม่เที่ยง จิตตรงนี้โกรธ มันกลายเป็นอดีตแล้ว มันกลายเป็นจิตเมื่อกี้โกรธ จิตตรงนี้ไม่โกรธ เป็นตัวรู้ว่าจิตเมื่อกี้โกรธ เออ จิตโกรธนี้ก็ไม่เที่ยง จิตไม่โกรธก็ไม่เที่ยง มันจะเห็น ถ้าเห็นความไม่เที่ยง มันจะเห็นจิตที่โกรธ เกิดแล้วก็ดับไป จิตที่ไม่โกรธ เกิดแล้วก็ดับไป มีแต่เกิดแล้วดับไป เกิดแล้วดับไป ไม่เที่ยง
แล้วมันเกิดมันก็เกิดตามเหตุปัจจัยของมัน อย่างเรากระทบอารมณ์ที่ไม่ดี เราตรึกไปในทางพยาบาทวิตก โทสะก็พุ่งขึ้นมา ขึ้นมาครอบหัวเรา มันมีกระบวนการทำงานของมัน มันไม่ใช่เราหรอก มันทำงานของมันได้เอง มันโกรธแล้วสั่งให้หายโกรธก็ไม่ได้ มันรักแล้วสั่งให้หายรักก็ไม่ได้ มันเสียใจสั่งให้หายเสียใจก็ไม่ได้ นี่คืออนัตตา
เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนา ต้องเห็นสภาวะ ถ้าเห็นสภาวะของรูปธรรม เราก็จะเห็นว่าตัวรูปธรรม ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มีแต่ของไม่เที่ยง เป็นแต่วัตถุ เป็นแต่ก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก แล้วก็ร่างกายนี้เป็นทุกข์ มันถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา หายใจเข้าก็ทุกข์ หายใจออกก็ทุกข์ นั่งอยู่ก็ทุกข์ ยืนอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ มีแต่ความทุกข์บีบคั้นอยู่ ถ้าเห็นก็เป็นวิปัสสนา ถ้าคิดอยู่ก็ยังไม่เป็นวิปัสสนา
ถ้าดูนามธรรมก็มีเวทนาทางกาย เวทนาทางใจ สังขารคือความปรุงดีปรุงชั่วทางใจ สัญญาคือความจำได้หมายรู้ ตัวนี้เข้าใจยากนิดหนึ่ง ความจำได้ยังพอเข้าใจ การหมายรู้นี่เข้าใจยากขึ้นไปนิดหนึ่ง จำได้ เช่น เราจำได้ว่านี่สีเขียว นี่สีแดง นี่คือต้นไม้ นี่คือคนชื่อนี้ๆ นี่คือหมา อย่างนี้จำได้ หมาตัวนี้ชื่อนี้ จำได้ อันนี้เป็นความจำ ความจำนี้เที่ยงไหม ไม่เที่ยง บางคนก็เป็นอัลไซเมอร์ ลืม จำไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นความจำก็ไม่เที่ยง ไม่ต้องอัลไซเมอร์หรอก เคยเป็นไหม บางทีเห็นหน้าเพื่อนปุ๊บ นึกชื่อมัน นึกไม่ออก คุยกับมันไปประเดี๋ยวหนึ่ง คิดออก จะจำได้จำไม่ได้ ยังสั่งไม่ได้เลย บางทีเราสั่ง จำคนนี้ ต้องจำ คนนี้มันก่อกวนมาก ต้องระวังมัน จำไม่ได้ สุดท้ายก็จำไม่ได้ ความจำมันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็จำได้ เดี๋ยวก็จำไม่ได้ บางทีบางเรื่องลืมไปตั้ง 10 ปีแล้ว อยู่ๆ ก็นึกขึ้นมาได้
ความจำอีกลักษณะหนึ่ง เป็นการจำสัญลักษณ์ อย่างทีแรกเราเห็นไฟเขียว เรารู้ว่านี่ไฟเขียว อันนี้เป็นสัญญาความจำเบสิก จำได้ต่อไป ไฟเขียวแปลว่าให้ขับรถไปได้ นี่จำสัญลักษณ์แปลความหมายได้ นี่เรื่องของความจำ บางทีก็จำได้ บางทีก็จำไม่ได้ แต่ตรงหมายรู้ เข้าใจยากนิดหนึ่ง หมายรู้มี 2 ชนิด หมายรู้ถูกกับหมายรู้ผิด ปุถุชนหมายรู้ผิด ที่ว่ายากก็ยากตรงนี้ เพราะเราไม่เคยหมายรู้ถูก ปุถุชนมันมีมานะ มีความถือตัว มีมานานุสัย มีอนุสัยกิเลสที่จะถือตัว มีกิเลสหลายตัว ที่มันจะทำให้เราหมายรู้ผิด อย่างเราเห็น เรามีอัตตวาทุปาทานด้วย เราคิดว่าตัวเรามีจริงๆ ตัวตนมีจริงๆ อันนี้มันมาจากการหมายรู้ผิดทั้งนั้น หมายรู้ผิดก็เลยคิดผิด แล้วก็เลยเชื่อผิด หมายรู้ผิดเรียกว่าสัญญาวิปลาส คิดผิดเขาเรียกจิตตวิปลาส เชื่อผิดๆ เรียกว่าทิฏฐิวิปลาส ปุถุชนมีทิฏฐิวิปลาส อย่างเห็นว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ นี่คือทิฏฐิวิปลาส
ต้องภาวนาแยกธาตุแยกขันธ์ไป เรียกว่าวิภัชชวิธี จากสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา มาแยกเป็นส่วนๆ ร่างกายก็ไม่ใช่เรา เวทนาคือความสุขทุกข์ ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลไม่ใช่เรา จิตเองก็ไม่ใช่เรา เกิดๆ ดับๆ บังคับไม่ได้เหมือนกัน พอแยกๆๆ ออกไปแล้วพบว่าเราไม่มี ฉะนั้นวิธีเรียนวิปัสสนากรรมฐาน จะเป็นวิธีเรียนที่เรียกว่าวิภัชชวิธี วิภัชคือการจำแนก จำแนกสิ่งที่เราเรียกว่าตัวเรานี้ ออกเป็นส่วนๆ แล้วพบว่าแต่ละส่วนไม่ใช่ตัวเรา เหมือนเรามีรถยนต์ 1 คัน เราคิดว่ารถยนต์มีอยู่จริงๆ พอเรามาถอดรถยนต์เป็นชิ้นๆ ลูกล้อไม่ใช่รถยนต์ พวงมาลัยไม่ใช่รถยนต์ ตัวถังไม่ใช่รถยนต์ เบาะไม่ใช่รถยนต์ แยกๆๆ ไปหมด สายไฟไม่ใช่รถยนต์ สกรูว์ น็อตอะไรไม่ใช่รถยนต์ สุดท้ายรถยนต์หายไปแล้ว ไม่มีรถยนต์
ก็เช่นเดียวกับสิ่งที่เรานึกว่าตัวเรา พอเราแยกสภาวะได้ รูปธรรมส่วนหนึ่ง เวทนาส่วนหนึ่ง สัญญาส่วนหนึ่ง สังขารคือความปรุงดีปรุงชั่วส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนรู้อยู่อีกส่วนหนึ่ง แล้วเราจะพบว่าตัวเราไม่มีหรอก แบบเดียวกับที่จับรถยนต์แยกเป็นชิ้นๆ แต่นี่เราไม่ได้แยกรถยนต์ เราแยกตัวเอง วิธีอย่างนี้เรียกว่าวิภัชชวิธี วิภัชชวิธี วิภัช ตัวเดียวหรือ 2 ตัวก็ตามใจ ถ้า 2 ตัวก็เขียนเต็มยศ ถ้าตัวเดียวก็คือตัดตัวสะกดทิ้ง เหลือแต่ตัวตาม เหลือ ช ช้างตัวหลังไว้ ก็แล้วแต่ภาษา พอแยกได้แล้ว มันจะไม่มีเรา
ดูไตรลักษณ์ของขันธ์ 5 จนปัญญาแก่รอบ
ฉะนั้นเราต้องพยายามฝึก พยายามฝึก หัดรู้สภาวะให้ได้ จะรู้สภาวะได้ จิตต้องตั้งมั่น ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นก็รู้สภาวะไม่ได้ มองลงมาในร่างกายนี่คือตัวเรา ถ้าจิตตั้งมั่น มองลงมานี้ เออ นี้เป็นรูป เป็นวัตถุ มีเวทนาแฝงอยู่ในวัตถุนี้ มีเวทนาแฝงอยู่ในจิตใจ มีความจำแฝงอยู่ในจิตใจ มีความปรุงดีปรุงชั่วแฝงอยู่ในจิตใจ แยกๆๆ ออกไป สุดท้ายก็เห็น รูปมีแต่ความไม่เที่ยง รูปถูกบีบคั้นให้แตกสลาย รูปไม่ใช่ตัวเรา ขันธ์ 5 ดูไป รูปไม่ใช่เราไปหนึ่งแล้ว เวทนา สุขทุกข์ เวทนาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ ไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นถึงจะเห็นจริง ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นก็ยังคิดเอา
สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว ล้วนแต่ไม่เที่ยง โกรธก็โกรธชั่วคราว รักก็รักชั่วคราว ที่สาบานจะรักกันนิรันดร เป็นไปไม่ได้ ไม่ต้องนิรันดรตอนไหนหรอก ตอนนี้เจอผู้หญิงเราก็รัก ตอนนี้หันมากินข้าว นั่งกินข้าวด้วยกัน ตอนนี้เรามาสนใจที่ข้าว เราลืมผู้หญิงคนนั้นแล้ว เราลืมรักไปแล้ว เห็นไหมความรักมันสั้นนิดเดียว ฉะนั้นความรักที่ว่าอมตะๆ ล้วนแต่ความรักชั่วขณะเท่านั้นล่ะ สั้นๆ ไม่มีหรอก เพราะอมตะไม่มีจริง มีแต่ชื่ออะไร อมตนคร พอจะมี ในความจริงไม่มี อะไรๆ ที่อมตะ มีแต่เกิดแล้วดับ
เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป เราจะรู้เลย กายก็ไม่ใช่เรา เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เวทนา ความสุขทุกข์ทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สัญญา ความจำได้ ความหมายรู้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สังขารคือความปรุงดีปรุงชั่ว ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตที่ออกรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตรงจิตเป็นอนัตตาดูอย่างไร ดูยากนิดหนึ่ง เราต้องฝึกจิตจนกระทั่งเป็นผู้รู้ให้ได้ก่อน แล้วเสร็จแล้วเราจะเห็นว่า ผู้รู้เรารักษาไม่ได้ พอมีรูปอะไรผ่านมา จิตมันก็ไปดูรูป จิตที่เป็นผู้รู้อยู่เฉยๆ ดับ เกิดเป็นจิตที่ดูรูปขึ้นมาแทน จิตดูรูปนิดหนึ่งแล้วก็ดับ เกิดเป็นจิตคิดขึ้นมาแทน คิดเรื่องรูป
พอรู้ทันว่าจิตหลงคิด อ้าว จิตหลงคิดดับเกิดจิตรู้ขึ้นมาอีกแล้ว จิตแต่ละดวงก็เกิดดับๆ สุดท้ายเราจะรู้ จิตทั้งหมดไม่เที่ยง เกิดแล้วดับทั้งหมด จะจิตดีหรือจิตชั่ว หรือจะจิตผู้รู้ ก็เกิดแล้วดับทั้งหมด แล้วก็ไม่ใช่ตัวเรา บังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้ ถ้าลงเห็นขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา ดูซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ ไม่เฉพาะโสดาบันที่จะได้ ที่สุดแห่งทุกข์ก็มาเพราะการเห็นขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ
ตอนที่พระพุทธเจ้าสอนปัญจวัคคีย์ ท่านสอนอนัตตลักขณสูตร ท่านสอนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญจวัคคีย์พิจารณาแล้วเห็นตาม ไม่ใช่คิด ท่านเห็น ต้องเห็นสภาวะ แล้วปัญจวัคคีย์ก็รู้แจ้งแทงตลอด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือสิ่งที่เคยว่าเป็นเราๆ จริงๆ แล้วไม่ใช่เรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ท่านหมดความยึดถือในรูปนามขันธ์ 5 นี้ก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์ บรรลุพระอรหันต์ไป การที่เราเห็นขันธ์ 5 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี่ล่ะ เป็นทางที่จะทำให้เราบรรลุมรรคผลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป อย่างเราเห็นใจเดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ ปิ๊งขึ้นมารู้เลย จิตก็ไม่ใช่เรา จิตไม่ใช่เรา มันจะรู้ขันธ์ทั้งหมดไม่ใช่เรา มันจะรู้แจ้งลงไป ตัวเราไม่มี ปัญญาเบื้องต้นตัวเราไม่มี เป็นปัญญาของพระโสดาบัน
แต่สุดท้ายเห็นแจ้งทะลุลงไปอีก ขันธ์ 5 ทั้งหมดไม่ใช่แค่ว่าไม่ใช่ตัวเรา เอาเข้าจริงๆ มันคือตัวทุกข์ มันทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง มันทุกข์เพราะมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันทุกข์เพราะมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับ อันนี้เรียกว่าทุกขสัจ ทุกขสัจจะ ไม่ใช่สัตวะ เรียกว่าเห็นทุกขสัจ เห็นทุกขสัจแจ่มแจ้งก็คือพระอรหันต์ เพราะทันทีที่เห็นทุกขสัจแจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละอัตโนมัติเลย สัจจะอันที่สองคือสมุทัยดับทันที สัจจะอันที่สามคือนิโรธ คือนิพพาน ปรากฏขึ้นทันที ทันทีที่จิตสิ้นตัณหา จิตสิ้นตัณหาเพราะจิตรู้แจ้งในกองทุกข์ พอรู้แจ้งในกองทุกข์ก็สิ้นตัณหา พอสิ้นตัณหาก็สัมผัสพระนิพพานเลย พระนิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา และขณะนั้นคือขณะแห่งอริยมรรค
เพราะฉะนั้นการที่หลวงพ่อสอนพวกเรา หัดแยกขันธ์ไป ทีแรกฝึกจิตให้ตั้งมั่นแล้ว ก็ค่อยแยกขันธ์ไป ร่างกายกับจิตคนละอันกัน สุขทุกข์ในกายเป็นคนละอันกับร่างกาย เป็นคนละอันกับจิต สุขทุกข์ทางจิตใจเป็นคนละอันกับร่างกาย เป็นคนละอันกับจิต ความจำได้หมายรู้ เป็นคนละอันกับร่างกาย เป็นคนละอันกับความสุขความทุกข์ เป็นคนละอันกับจิต สังขารก็เป็นคนละอันกับร่างกาย กับความรู้สึกสุขทุกข์ คนละอันกับจิต สุดท้ายแยกเข้ามาจนถึงตัวจิต แล้วก็เห็นตัวจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เช่นเดียวกับขันธ์อย่างอื่นนั่นเอง คราวนี้ล่ะจิตก็จะได้โสดาบัน
แล้วเรียนจากนั้นก็เรียนอย่างเดิม ดูไตรลักษณ์ของขันธ์ 5 ต่อไปอีก จนปัญญามันแก่รอบ มันก็พัฒนาขึ้นไปเป็นลำดับ จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ จุดที่เป็นจุดสิ้นสุดแห่งทุกข์ ก็คือจุดที่ปล่อยวางจิตได้นั่นล่ะ เพราะจิตดวงเดียวนี่ล่ะ เป็นตัวสร้างขันธ์ 5 เอามาหลอกจิตที่ไม่ฉลาด จิตดวงเดียวนี้เอง ถ้าเข้าใจจิตแจ่มแจ้ง ไม่สามารถสร้างขันธ์ให้เราได้อีกต่อไปแล้ว จิตมันจะเข้าถึงความเป็นธาตุ ธาตุตัวนี้เขาเรียกว่าวิญญาณธาตุหรือธรรมธาตุ ก็แล้วแต่จะเรียก เป็นสภาวะที่ว่าง เป็นสภาวะที่ไม่มีอะไรปรุงแต่ง มันพ้นจากความปรุงแต่งสิ้นเชิง ตัวนี้ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายอะไรกับใครเขาหรอก เพราะตัวที่แก่ ตัวที่เจ็บ ที่ตาย มันคือตัวขันธ์ 5 ตัวที่มันพ้นจากขันธ์ 5 มันก็พ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตายไปด้วยในตัวเอง
ไปฝึกเอา ฟังครั้งแรกยาก ก็ไปฟังหลายๆ ครั้ง เดี๋ยวมันก็รู้ ฟังแล้วก็ลองมาดูของจริงไป ถึงวันหนึ่งก็รู้ นักปฏิบัติร้อยละร้อยไม่เข้ามาตรงนี้ ส่วนใหญ่มัวแต่ทำอย่างไรจิตจะนิ่ง ทำอย่างไรจิตจะสงบ สงบแล้วก็ทำอย่างไรจะรักษาเอาไว้ คิดอยู่แค่นั้น มันก็เลยได้แค่นั้น เลยได้แค่ไปพรหมโลก ไปเป็นพรหม พรหมก็ทุกข์ ทุกข์มากเลย ยิ่งรูปพรหมทุกข์เยอะ คนโน้นเรียก คนนี้เรียก เรียกมาเฝ้าโรงแรม ตอนเช้าก็ให้กินมะพร้าวอ่อนทุกวันๆ คอเลสเตอรอลขึ้นเลย เป็นพรหมลำบากจริงๆ
สังเกตไหมใจเราเป็นอย่างไร ตอนที่นั่งฟังหลวงพ่อเทศน์ ใจเราเป็นแบบหนึ่ง ตอนที่หลวงพ่อตรวจการบ้านทางซูม 8 คน ใจของเราก็เป็นอีกแบบหนึ่ง มันเป็นนักฉวยโอกาส นึกออกไหม พอหลวงพ่อมาสนใจ 8 คนนี้ พวกเราฉวยโอกาสหนี ใจเราก็แอบวอกแวกๆ คิดโน่นคิดนี่ไป สติสำคัญนะ ขาดสติตัวเดียว ไม่ต้องพูดถึงศีล สมาธิ ปัญญาหรอก ฉะนั้นมีสติรู้สึกกาย มีสติรู้สึกใจไปเรื่อยๆ อย่าเว้นวรรค อย่าขาดช่วงขาดตอน ช่วงไหนอ่านจิตใจได้ อ่าน อ่านจิตใจไม่ได้ รู้สึกกายไป ถ้าจิตยังมีกำลังอยู่ ตอนที่รู้สึกกาย มันก็เดินปัญญา เห็นกายเป็นไตรลักษณ์ ถ้าแรงไม่พอ รู้สึกกายไปจะได้สมถะ จิตก็มีแรง แล้วกลับมารู้สึกกาย รู้สึกจิตได้อีกรอบหนึ่ง
ต้องอดทน เส้นทางนี้ไม่ยาก แต่บางคนทนไม่ไหว เพราะมันน่าเบื่อ คล้ายๆ อ่านหนังสือเล่มเดิมทุกวันๆ อ่านแรมเดือนแรมปี อ่านหลายๆ ปี อย่างหลวงพ่ออ่านจิตตัวเอง หลายปีไม่เบื่อ หรือตอนนั่งสมาธิ เมื่อก่อนรู้ลมหายใจ 22 ปี ไม่เบื่อ หลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต ดูมันทุกวัน ไม่เบื่อ มีเวลาเมื่อไรก็ดูเมื่อนั้นเลย ถ้าใจเรามีฉันทะอย่างนี้ มันจะมีวิริยะ ขยันดู ขยันปฏิบัติ จิตใจเราก็จะมีสมาธิขึ้นมา มีจิตตะ เพราะเราสนใจอยู่ในอารมณ์เดียว อย่างถ้าหลวงพ่อตอนนั้น หลวงพ่อก็สนใจอยู่ที่จิตตัวเอง มีความพึงพอใจที่จะเรียนรู้จิตตัวเอง เรียกว่าฉันทะ
เมื่อมันพอใจมันก็ขยันรู้ขยันดูจิตตัวเอง เป็นวิริยะ การที่เราจดจ่อคอยรู้จิตใจตัวเอง ไม่วอกแวกไปที่อื่น นั่นคือจิตตะ แล้วคราวนี้มันก็จะค้นคว้า พิจารณาใคร่ครวญ จิตมันทำเอง มันก็ค่อยรู้แจ้งแทงตลอดในจิตมากขึ้นๆ เรียกว่าวิมังสา ธรรมะอันนี้ชื่ออิทธิบาท 4
เพราะฉะนั้นถ้าพวกเราคนไหนภาวนาแล้วเดี๋ยวก็เบื่อ เดี๋ยวก็อย่างโน้น เดี๋ยวก็อย่างนี้ เรียกว่ายังไม่มีฉันทะ ถ้าไม่มีฉันทะทำอย่างไรดี อดทน อดทนไปก่อน อาศัยศรัทธา อาศัยศรัทธาเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เดิมพระอริยสาวกทั้งหลาย ท่านก็มีกิเลสเหมือนพวกเรา ท่านก็อดทนต่อสู้มา จนฝ่าด่านต่างๆ มาได้ เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริงได้ เราก็เป็นคนเท่ากับท่าน อยู่ที่ว่าจะเป็นคนใจถึงจริงอย่างท่านไหมเท่านั้นล่ะ
อย่ายอมแพ้ อย่าอ่อนแอ อดทนไว้ ขยันรู้ ขยันดูไป ขี้เกียจ วันนี้เกิดขี้เกียจขึ้นมา ขี้เกียจก็ไม่ว่า เออ เอ็งขี้เกียจไป แต่ข้าจะดูของข้าต่อ ท้อใจก็ได้ เออ เอ็งท้อไป ข้าจะดูต่อ ต้องอย่างนี้ มันถึงจะใช้ได้ พอเราดูไปเรื่อยๆ กิเลสมันทนสติ ทนปัญญาไม่ได้หรอก ดูมันไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะเข้าใกล้พระพุทธเจ้ามากขึ้นๆ วันใดที่เราเข้าใจจิตตนเองแล้ว เราก็จะเข้าใจถึงพระพุทธเจ้า วันใดที่ปล่อยวางจิตตนเองได้ เราก็จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพุทธะ จิตนั้นล่ะคือพุทธะขึ้นมา
วัดสวนสันติธรรม
6 เมษายน 2567