หลวงพ่อนั่งดูพวกเรา แต่ละคนก็พยายามภาวนา อยากภาวนากัน ปัญหาใหญ่ก็คือเราไม่รู้ทันความปรุงแต่ง เราก็หลงความปรุงแต่งไป ถ้ารู้เท่าทันความปรุงแต่ง รู้ว่าความปรุงแต่งมีอยู่ ความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนแต่เกิดแล้วก็ดับ เรียนเท่านี้ล่ะ แล้วจิตมันก็จะพ้นความปรุงแต่ง ภาษาบาลี สิ่งที่ปรุงแต่งเรียกว่าสังขาร สังขารก็มีทั้งร่างกายทั้งจิตใจ เป็นความปรุงแต่งทั้งหมด คนหลงสังขาร มันก็เลยเข้าไม่ถึงวิสังขาร วิสังขารแปลว่าสภาวธรรมที่มันพ้นความปรุงแต่งคือนิพพาน ฉะนั้นนิพพานกับความปรุงแต่งมันตรงข้ามกัน พอเราหลงแต่ความปรุงแต่ง อย่างไรก็ไม่เจอนิพพาน พยายามแต่งปรุงให้ดีที่สุดเลย มันก็นิพพานไม่ได้ ฉะนั้นหัดรู้เท่าทันสังขาร รู้เท่าทันความปรุงแต่งไว้ให้ดี เราจะเห็นสภาวธรรม ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม เรียกว่าสังขาร เป็นความปรุงแต่ง ร่างกายก็ปรุงขึ้นมาด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศธาตุ คือช่องว่างที่บรรจุดิน น้ำ ไฟ ลมอยู่ ช่องว่างที่ขั้นระหว่างดิน น้ำ ไฟ ลม ร่างกายนี้มันยังเป็นคนอยู่ เป็นสัตว์อยู่ เพราะมันมีวิญญาณธาตุเป็นธาตุที่ 6 มาประกอบกัน ก็เลยเป็นสิ่งมีชีวิตขึ้นมา
วิธีเรียนรู้ความปรุงแต่ง
การจะเรียนรู้ความปรุงแต่ง ถนัดที่จะรู้ของหยาบ ดูของละเอียดไม่ได้ ดูของหยาบไปก่อน ของหยาบคือตัวร่างกายเรานี้ล่ะ ร่างกายเราเกิดจากเซลล์ของพ่อของแม่มารวมกัน อาศัยอาหาร อาศัยน้ำ อาศัยอากาศหล่อเลี้ยง แล้วเติบโตขึ้นมา ค่อยๆ เรียนรู้ลงไป จริงๆ ร่างกายของเรานี้จริงๆ มันก็เป็นวัตถุธาตุ วัตถุธาตุทั้งหลายมันก็เป็นสมบัติของโลก มันมีอยู่แล้ว ดินมันก็มีอยู่แล้วในโลกก่อนเราจะเกิด น้ำมันก็มีอยู่แล้ว ลมมันก็มีอยู่แล้ว ไฟมันก็มีอยู่แล้ว ร่างกายที่บอกของเราๆ มันเป็นการตู่เอา ที่จริงมันไม่ใช่ของเราหรอก มันเป็นวัตถุธาตุ ยืมของโลกมาใช้
ฉะนั้นเวลารู้สึก ทำความรู้สึกลงไปในร่างกาย มองให้เห็น มันก็เป็นแค่ก้อนธาตุเท่านั้นเอง มีธาตุไหลเข้าไป มีธาตุไหลออกมา อย่างอาหารที่แข็งๆ ทั้งหลายมันก็เป็นธาตุดิน กินเข้าไปแล้วก็ขับถ่ายออกมา น้ำดื่มเข้าไปแล้วก็ขับถ่ายออกมาทางเหงื่อ ทางปัสสาวะ ลมหายใจเข้าแล้วก็หายใจออกมา มันเป็นแค่ธาตุที่หมุนอยู่ ธาตุไฟ อย่างในร่างกายเรามันมีความอบอุ่นอยู่ บางทีธาตุไฟมันก็ทำงาน ถ้าไฟร้อนเกินไป เราเป็นไข้ ไข้ขึ้น ธาตุไฟน้อยเกินไปก็ตัวเย็นไม่สบาย ธาตุไฟไม่ทำงาน ย่อยอาหารไม่ได้ ท้องอืด ดูลงไปมันก็เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุเท่านั้น ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ดิน เราก็ยืมของโลกมาใช้ น้ำ ลม ไฟ สมบัติของโลก เราเกิดมาว่างเปล่าไม่มีอะไรโดยตัวของตัวเอง
พยายามดูลงไปในร่างกาย ร่างกายนี้เป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ของเรา ค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ สอนมันไปเรื่อยๆ มันจะได้ไม่หลง ไปยึดสมบัติของคนอื่นมาเป็นตัวกูของกู หัดสังเกตไป เราเรียนรู้ทันสังขาร อันนี้เป็นรูป สังขารที่เป็นรูป เป็นก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก ไม่คงที่ สุดท้ายไม่ว่าเราจะรักษาดีแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องคืนเจ้าของ คืนโลกไป อย่างเลือดเนื้อของเราเราคิดว่านี่เราๆ ก่อนจะเป็นเลือดเนื้อของเรา มันเป็นเลือดเนื้อของใครมาเราไม่รู้เลย เรากินสัตว์เข้าไป ก็ได้มาเป็นเลือดเนื้อของเรา จริงๆ เมื่อก่อนมันเป็นของสัตว์
อากาศที่เราหายใจ ก็หายใจซ้ำซากกันมาไม่รู้ตั้งเท่าไรแล้ว ก็แบ่งๆ กันหายใจ น้ำทุกหยดที่เราดื่ม เมื่อก่อนมันเป็นน้ำเลือดน้ำหนองของคนของสัตว์ ก็เป็นไปได้ อาจจะเป็นน้ำตาของใครก็ได้ มาถึงวันนี้เราก็เอามาดื่มมากิน รู้สึกน้ำนี้สะอาด ที่จริงมันผ่านอะไรต่ออะไรมามากมายแล้ว ถ้าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมมันพูดได้ มันบรรยายประวัติของมันได้ เราจะรู้เลย ธาตุเหล่านี้เดินทางมายาวนานมากแล้ว เราก็แค่มาอาศัยธาตุเหล่านี้อยู่ชั่วครั้งชั่วคราว สุดท้ายก็ต้องคืนเจ้าของเดิม คืนให้ธรรมชาติไป
ค่อยๆ ดู จะได้หมดความคลุ้มคลั่ง ความหลงใหลว่านี่คือร่างกายของเราอย่างแท้จริง รักใคร่หวงแหนแทบตายสุดท้ายก็ทรยศ สุดท้ายก็แตกสลาย ประคบประหงมอย่างดี สุดท้ายก็แตกสลาย ค่อยๆ ดูไป ใจมันจะค่อยๆ คลายความหลง มันจะเห็นความจริงของร่างกาย เป็นแค่วัตถุธาตุ ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้จริง นี่คือการเรียนรู้ความจริงของสังขารที่เป็นรูปธรรม
บรรดานามธรรมทั้งหลาย ความรู้สึกนึกคิดเรียกความรับรู้ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์เรียกว่าเวทนา ความจำได้หมายรู้เรียกว่าสัญญา ความปรุงดีปรุงชั่วเรียกว่าสังขาร บางท่านท่านจะพูดง่ายว่า คิด นึก ปรุง แต่ง ความคิดนึกปรุงแต่ง ถ้าเป็นส่วนของนามธรรมบวกเข้าไปกับความรับรู้คือจิต ก็เป็นนามธรรม
นามธรรมมี 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งคือจิต ซึ่งทำหน้าที่รู้อารมณ์ จิตโดยตัวของมันเอง ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ แต่ว่ามันมีความรู้สึกดี รู้สึกชั่ว รู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ เพราะนามธรรมอย่างอื่น เข้ามาประกอบ จิตอยู่โดดๆ ตัวคนเดียวไม่ได้ มีจิตเมื่อไรก็ต้องมีนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิตมาประกอบด้วยเสมอ ก็คือตัวความรู้สึกสุขทุกข์ เฉยๆ ความจำได้หมายรู้ ความปรุงดีปรุงชั่ว สิ่งเหล่านี้เข้ามาเกิดร่วมกับจิต พอเราไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง เราไปสำคัญผิดว่าจิตใจนี้คือตัวเรา เวลาความสุขเกิดขึ้น เราก็สำคัญมั่นหมายว่าเราสุข เวลาความทุกข์เกิดขึ้นก็สำคัญมั่นหมายว่าเราทุกข์ ที่แท้ความสุขความทุกข์มันก็เป็นสภาวธรรมต่างหากอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าเวทนาขันธ์ ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่จิตใจ จิตใจเป็นแค่คนไปรู้ความสุขความทุกข์ แล้วรู้แบบโง่ๆ ก็ถูกความสุขความทุกข์ครอบงำ เราก็เลยรู้สึกว่าเราสุข เราทุกข์ เราไม่สุขไม่ทุกข์ เราเฉยๆ บางทีก็ถูกความดี ความดีก็เป็นความปรุงแต่ง เป็นสังขารขันธ์
คำว่าสังขาร มันมีหลายอย่าง สังขารขันธ์หมายถึงความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วของจิต ถ้าสังขารเป็นคำใหญ่ครอบคลุมความปรุงแต่งทั้งหมด ทั้งรูปธรรมนามธรรม ถ้ารู้แจ่มแจ้งในสังขารทั้งหมด จิตวางทั้งหมด ก็พ้นทุกข์กันตรงนั้นก็ถึงวิสังขาร
จิตเป็นแค่คนรู้คนเห็น
ทีนี้เรามาเรียน ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์สอนให้ดูกายก่อน เพราะมันดูง่าย มันเป็นของหยาบ ร่างกายไม่เคยหนีไปไหนเลย มีแต่จิตเราหนีไปจากร่างกาย หนีไปคิดเรื่องอื่น ฉะนั้นถ้าจิตใจเราอยู่กับร่างกายเรื่อยๆ เรียนความจริงของร่างกายไป มันแค่ก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เรียนมันเข้าไป แล้วมันก็มีความสุข มีความทุกข์มาอาศัยอยู่ในร่างกายนี้ ก็เรียนรู้มันเข้าไป แล้วก็จะเบื่อ ต่อไปก็หมดความยึดถือในร่างกาย ร่างกายไม่เห็นมีอะไรดีเลย มีแต่ทุกข์ ตรงที่ว่าเราสุขๆ มันเป็นตอนที่ทุกข์น้อยๆ เท่านั้นเอง เรียนให้เห็นความจริง แล้วมันจะหมดความยึดถือ
พอเรารู้ความจริงของร่างกาย มันเป็นของไม่เที่ยง มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา มันบังคับควบคุมอะไรไม่ได้ มันเป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง พอใจมันเห็นความจริง ใจมันก็จะหมดความยึดถือในร่างกาย คราวนี้ร่างกายจะแก่ จะเจ็บ จะตาย จิตไม่หวั่นไหวแล้ว ร่างกายจะตาย ร่างกายมันเป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ของเรา มันจะตาย มันก็เรื่องของมัน วัตถุที่เป็นร่างกายของเรานี้มันเคยเป็นสัตว์อย่างอื่นมามากมายแล้ว มันก็ตายมาหลายรอบแล้ว ดูลงไปเรื่อยๆ ใจมันก็จะคลายความยึดถือในร่างกาย ร่างกายแก่ ไม่ใช่เราแก่แล้ว เป็นวัตถุ ร่างกายเจ็บ มันไม่ใช่เราเจ็บแล้ว มันเป็นวัตถุ แค่มีเวทนาแทรกเข้ามา ร่างกายจะตายก็แค่ธาตุมันจะแตก มันจะแยกออกจากกัน แล้วเดี๋ยวมันก็ไปรวมกับอย่างอื่นต่อ สมบัติผลัดกันชม รู้อย่างนี้ เราจะไม่ทุกข์เพราะความแก่ เพราะความเจ็บ เพราะความตาย เพราะเราเห็นความจริงของร่างกายแล้ว
ในส่วนนามธรรมเราก็ดูไป จิตใจของเราเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เพราะความสุขเกิดขึ้น เรารู้ไม่ทัน เราก็ไปยึดถือความสุขเอาไว้ เราก็รู้สึกว่าเราสุข จิตมันเข้าไปยึดถือ ความทุกข์เกิดขึ้น จิตเข้าไปยึดถือ มันก็กลายเป็นเราทุกข์ ความเฉยๆ เกิดขึ้น เข้าไปยึดถือ ก็เป็นเราเฉยๆ ความดีเกิดขึ้น เข้าไปยึดถือ มันก็เป็นเราดี ความชั่วเกิดขึ้น อย่างโลภ โกรธ หลงเกิดขึ้น ก็เป็นเราชั่ว เราโลภ โกรธ หลง
ถ้าเรามาหัดภาวนา เราค่อยๆ แยกสภาวธรรม แยกให้มันละเอียดขึ้น เราจะเห็นว่าจิตนั้นก็เป็นสภาวะอันหนึ่งไม่ดีไม่ชั่ว ไม่สุขไม่ทุกข์โดยตัวของมันเอง มันดีมันชั่ว มันสุขมันทุกข์ เพราะมีธรรมะอย่างอื่น มีขันธ์อย่างอื่น นามขันธ์อันอื่นที่ไม่ใช่จิตเข้ามาปรุงแต่ง ความสุขมาปรุงแต่งขึ้นมา มันก็เป็นเราสุข ความทุกข์ปรุงแต่งก็เป็นเราทุกข์ ความดีปรุงแต่งก็เป็นเราดี ความโลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นมา เราโลภ เราโกรธ เราหลง กลายเป็นเราทุกทีไป ถ้าหัดแยกได้ เราก็จะเห็นเวลาความสุขเกิดขึ้น เราจะเห็นว่าจิตก็เป็นอันหนึ่ง ความสุขก็เป็นอันหนึ่ง ความสุขกับจิตเป็นสภาวธรรมคนละชนิดกัน เกิดด้วยกัน แต่ว่ามันเป็นคนละอย่างกัน
ความสุขทั้งหลายล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ จิตที่ไปรู้ความสุขเข้า ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้เหมือนกัน ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดูไป ทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งดีทั้งชั่ว อย่างความโกรธเกิด คนทั่วไปก็รู้สึกเราโกรธ นักปฏิบัติก็เห็นว่าจิตโกรธ ถ้าปฏิบัติเก่งๆ เราก็เห็นว่าจิตก็อันหนึ่ง ความโกรธก็เป็นอีกอันหนึ่ง คนละอันกัน ความโกรธไม่เกี่ยวกับจิต จิตเป็นคนรู้เฉยๆ ก็เห็นความโกรธมันผ่านมาผ่านไป เหมือนเห็นคนเดินผ่านหน้าบ้าน แค่นั้นเอง ไม่ว่าความสุขหรือความทุกข์ ความดีหรือความชั่วที่เกิดขึ้นมาสู่ความรับรู้ของจิต ถ้าเราภาวนาเป็น เราจะรู้ว่ามันมีสภาวะเหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้านไป มันมาแล้วมันก็ไป มาแล้วก็ไป ใจเราอยู่ในบ้าน รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ สบาย ไม่ปนเปื้อน
ค่อยฝึก แล้วจะเห็นสังขารที่เป็นนามธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปทั้งสิ้น ความสุขเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ความทุกข์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ความจำได้ เดี๋ยวก็จำได้ เดี๋ยวก็จำไม่ได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป การหมายรู้เป็นสัญญา ส่วนใหญ่ก็หมายรู้ผิด หมายรู้ทีไรเป็นเราทุกทีเลย ทั้งๆ ที่มันเป็นของโลก ไม่ใช่ของเรา ก็หมายรู้ผิด ถ้าลองมาภาวนา ทำวิปัสสนาเรื่อยๆ ค่อยๆ หัดหมายรู้ถูก ก็เห็นสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หมายรู้ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไป
ตัวนี้เข้าใจยากนิดหนึ่ง ตัวสังขารขันธ์ ตัวดีตัวชั่ว อย่างเราเกิดศรัทธาอยากฟังธรรม มีศรัทธา คนทั่วไปก็รู้สึกเรามีศรัทธา เรานี้เป็นคนดีมีศรัทธา ถ้าภาวนาดีๆ เราจะเห็นว่าศรัทธามันก็อันหนึ่ง จิตที่ไปรู้ก็อันหนึ่ง ศรัทธาไม่ใช่จิต มันเป็นสังขารที่ผ่านเข้ามาอีกชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง ก็จะเห็นว่าศรัทธาเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป จิตเป็นแค่คนรู้คนเห็น
วิริยะเกิดขึ้นขยันหมั่นเพียรภาวนา ทีแรกเราก็คิดว่า แหม วันนี้จิตเราดี จิตเราขยันจะปฏิบัติ ภาวนาเป็นแล้วก็จะเห็นว่า จิตมันก็อันหนึ่ง ความขยันหมั่นเพียรก็เป็นอีกอันหนึ่ง ไม่ใช่จิตหรอก เป็นความปรุงแต่งอีกอย่างหนึ่ง ตัววิริยะมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ขยัน สักพักหนึ่งก็ขี้เกียจอีกแล้ว มันไม่ยั่งยืน ไม่แน่นอน จิตมันเป็นคนรู้ ถ้าขยันอยู่ จิตเป็นคนรู้ แล้วไปหลงดีใจว่ากูเก่ง กูขยัน กูดี อันนี้โง่ซ้อนเลย โง่ซ้ำซ้อน ถ้าฉลาดก็คือเห็นว่าความรู้สึกขยันอยากปฏิบัติมันเกิดขึ้น จิตเป็นแค่คนรู้คนเห็น แล้วเราก็จะเห็น มันเกิดได้มันก็ดับได้ จิตก็เป็นแค่คนรู้คนเห็นเอง ไม่ถูกย้อม ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยความปรุงแต่งทั้งหลาย ไม่ถูกนามธรรมหลอก ไม่ถูกรูปธรรมหลอก ค่อยๆ เรียนไป
อย่างบางคนจิตมีราคะมาก เห็นอะไรก็ชอบไปหมดเลย เห็นผู้หญิงก็ชอบ เห็นหมาก็ชอบ เห็นแมวก็ชอบ เห็นอะไรๆ ชอบไปหมด จิตมันขี้โลภ คนไม่ได้ภาวนามันไม่รู้หรอกว่าตัวเองกำลังโลภอยู่ มันชอบหมา มันก็ไปมองหมา ชอบผู้หญิงไปมองผู้หญิง อันนี้คนทั่วๆ ไป พอเรามาหัดภาวนา เราเห็น อุ๊ย ตอนนี้จิตของเราชอบหมา คล้ายเป็นเราชอบหมา อันนี้ก็ดีขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ถ้าภาวนาได้ดีจริงๆ เราจะเห็น หมามันก็เป็นแค่สิ่งที่เราไปรู้ไปเห็น เป็นอารมณ์ของจิตเท่านั้นเอง เป็นสิ่งที่ถูกรู้ แล้วความชอบที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่จิต ความชอบหมารักหมาก็ไม่ใช่จิต มันเป็นสภาวธรรมอีกชนิดหนึ่ง เป็นตระกูลราคะ โลภะเกิดขึ้น จิตเป็นแค่คนรู้คนเห็น
วิธีที่เราจะเห็นว่าจิตเกิดดับ
ฉะนั้นพอฝึกดีแล้ว เวลาโกรธ มันจะไม่รู้สึกว่าจิตโกรธ ไม่รู้สึกว่าเราโกรธ แต่มันจะรู้ว่าความโกรธเกิดขึ้น ไม่ใช่จิตโกรธ ไม่ใช่เราโกรธ จิตเป็นคนเห็นว่าความโกรธเกิดขึ้น แล้วความโกรธก็แสดงความจริง ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ความโลภ โกรธ หลงก็เหมือนกันหมด ความสุข ความทุกข์ก็เหมือนกัน เป็นสิ่งที่จิตไปรู้ไปเห็น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา หัดรู้หัดดู หัดแยกสภาวะไปเรื่อยๆ ฉะนั้นต่อไปนี้เวลาความสุขเกิดขึ้น ให้เห็นว่าความสุขก็ของถูกรู้ ความสุขไม่ใช่จิต ความสุขตั้งอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป เวลาความทุกข์เกิดขึ้นก็ให้เห็นว่า ความทุกข์ก็เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่จิต ความทุกข์นั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป หัดดูไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ความโลภเกิดขึ้น ก็เห็นความโลภไม่ใช่จิต ความโลภเป็นของถูกรู้ถูกดู ความโลภเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ความโกรธ ความหลงก็แบบเดียวกัน ไม่ใช่จิต เป็นของถูกรู้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป
หัดดูอย่างนี้เรื่อยๆ ไป แล้วต่อไปพอจิตใจเราประณีตมากขึ้น เราจะเห็นว่ากระทั่งตัวจิตเองก็เกิดดับ จิตไม่ได้มีดวงเดียว จิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา พวกที่เห็นว่าจิตมีดวงเดียว เรียกว่าสันตติยังไม่ขาด ถ้าใครบอกว่าจิตมีดวงเดียว ต้องรู้เลยว่ายังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ อันนั้นคือสัสสตทิฏฐิ มีดวงเดียวแล้วก็เที่ยงอยู่อย่างนั้น นิรันดร เราจะเห็นอย่างไรจิตเกิดดับ เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ตัวของมันว่าง ตัวของมันไม่มีรูปร่าง ตัวของมันมีอาการปรากฏอย่างเดียว คือการรู้ รู้อารมณ์ ทีนี้เราจะเห็นของซึ่งไม่มีตัวตน ไม่มี แทบจะไม่มีร่องรอยให้รู้เลย มีร่องรอยอันเดียวคือมันเป็นตัวที่รู้อารมณ์ นิดเดียวเอง มันดูยากที่จะเห็นว่าจิตก็เกิดดับ
วิธีที่เราจะเห็นว่าจิตเกิดดับ เราอาศัยองค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิต เราจะเห็นว่า เออ เวลาที่มันมีความสุขเกิดขึ้นมา จิตที่ไปรู้ความสุข มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับความสุข แล้วถ้าความสุขดับ จิตที่ไปรู้ความสุขก็ดับ เวลาความทุกข์เกิดขึ้น จิตที่รู้ความทุกข์ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความทุกข์ พอความทุกข์ดับ จิตที่ไปรู้ความทุกข์ดวงนั้นก็ดับ อาศัย เขาเรียกว่าอาศัยเจตสิก องค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ทำให้เราจำแนกได้ว่าจิตนั้นมีความวิจิตรพิสดาร
จิตบางขณะทีแรกเรายังไม่เห็นว่าจิตบางดวง เราเห็นว่าจิตบางขณะมันก็มีความสุข จิตบางขณะบางช่วงเวลามันก็มีความทุกข์ จิตบางช่วงเวลามันเฉยๆ จิตบางช่วงเวลามันโลภ มันโกรธ มันหลง มันฟุ้งซ่าน มันหดหู่ แล้วเราเห็นว่ามันเกิดดับไปพร้อมๆ กัน อันนี้ก็ยังดูพอดูได้ จิตเรามีความสุข เรารู้ แล้วเราเห็นว่าจิตที่สุขมันก็ดับไปพร้อมกับความสุขล่ะ กลายเป็นจิตที่มีความทุกข์ขึ้นมาแทน จิตมีความทุกข์มันก็ดับไปพร้อมๆ กับความทุกข์ มันเกิดด้วยกัน ดับด้วยกัน รับอารมณ์อันเดียวกัน
อย่างเห็นผู้หญิงหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว เหมือนยักษ์ขมูขี หน้าตาอย่างไรไม่รู้ยักษ์ขมูขี หรือเหมือนผีเสื้อสมุทร พอเห็นภาพ แถวระยองปั้นไว้เยอะเลย ว่าเหมือนนางผีเสื้อสมุทร เห็นแล้วไม่ชอบเลย แล้วมาจีบเราเสียอีก ใจเห็นรูป รูปที่ไม่ถูกใจ โทสะเกิด ไม่ชอบอย่างนี้ เราจะเห็นโทสะ จิตเป็นคนไปเห็นเข้า โทสะมันก็อาศัยรูปของนางผีเสื้อสมุทรเกิดขึ้น จิตที่มีโทสะก็เพราะว่ามันไปเห็นนางผีเสื้อสมุทร เพราะฉะนั้นจิตกับเจตสิกที่เกิดด้วยกันมันรู้อารมณ์อันเดียวกัน เป็นจุดตั้งต้นอันเดียวกัน ทำให้เกิดสภาวะอันนี้ขึ้นมา
อันนี้หลวงพ่อพูดละเอียดไปนิดหนึ่ง ถ้าหัดใหม่ๆ ไม่ต้องละเอียดขนาดนี้ หัดดูไปว่าจิตโลภก็ชั่วคราว จิตโกรธก็ชั่วคราว จิตหลงก็ชั่วคราว จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ก็ชั่วคราว จิตสุขก็ชั่วคราว จิตทุกข์ก็ชั่วคราว จิตเฉยๆ ก็ชั่วคราว หัดดูอย่างนี้ แล้วเราจะเห็นว่าจิตทุกชนิดมันชั่วคราวหมดล่ะ ดูอย่างนี้ก็ได้ หรือถ้าสติสมาธิของเราดีพอ เราเห็นจิตเกิดดับ คราวนี้จิตเกิดดับจริงๆ แล้ว ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างเราฝึกจนกระทั่งจิตของเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้แล้ว แป๊บเดียวหลงไปคิดแล้ว จิตผู้รู้ดับ กลายเป็นจิตผู้คิด จิตผู้รู้กับจิตผู้คิดมันคนละดวงกัน เกิดแล้วดับ แล้วก็เกิดแล้วดับทั้งคู่ จิตผู้รู้ก็เกิดแล้วดับ จิตผู้คิดเกิดแล้วก็ดับ
ทีนี้เรามีจิตผู้รู้ เราก็เห็น อ้าว ตอนนี้จิตผู้รู้หายไปแล้ว กลายเป็นจิตผู้หลงไปดู หรือกลายเป็นจิตผู้หลงไปฟัง ตัวผู้รู้มันดับ พอเรารู้ว่าจิตหลงไปดู รู้ว่าจิตหลงไปฟัง จิตที่หลงไปดู จิตที่หลงไปฟังก็ดับ จิตผู้รู้ก็เกิด เพราะฉะนั้นเราต้องมีจิตผู้รู้ก่อน เราถึงจะเห็นจิตเกิดดับได้ มิฉะนั้นจิตมันจะมีแต่ผู้หลง มันจะโคจรร่อนเร่ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทั้งวันแล้วดูไม่ออก ดูไม่ออกว่ามันเกิดดับ
ล้างความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา
เพราะฉะนั้นเราต้องมีจิตผู้รู้ให้ได้ ตัวนี้ที่มันเป็นเคล็ดลับ ถ้าไม่มีจิตผู้รู้ เจริญปัญญาไม่ได้จริงหรอก ดูกายก็ใช้ไม่ได้จริง เวลาดูกาย อย่างจะดูท้องพองท้องยุบ ไม่มีจิตผู้รู้ จิตก็จมลงไปที่ท้อง คราวนี้มันคือการเพ่งท้อง เดินจงกรมยกเท้าย่างเท้า ไม่มีจิตที่เป็นผู้รู้ มันก็จะไปเพ่งเท้า จิตมันจมลงไป เพราะฉะนั้นเราต้องมีจิตผู้รู้ให้ได้ เราถึงจะเจริญปัญญาได้จริง พอเรามีจิตผู้รู้แล้ว จิตผู้รู้มันจะตัดจิตผู้หลงให้ขาดออกเป็นท่อนๆ จิตผู้หลงไปดู จิตผู้หลงไปฟัง จิตผู้หลงไปดมกลิ่น จิตผู้หลงไปลิ้มรส จิตที่หลงไปรู้สัมผัสทางกาย จิตที่หลงไปคิดนึกปรุงแต่งทางใจ กับจิตผู้รู้ มันคนละอันกัน
เรามีจิตผู้รู้อยู่ แวบเดียวหลงไปคิดแล้ว จิตผู้รู้ดับ เกิดจิตผู้หลงไปคิด นั่นคือจิตมีอุทธัจจะ ฟุ้งซ่าน พอเรารู้ทันจิตที่ฟุ้งซ่าน สติรู้ทันจิตที่ฟุ้งซ่านปั๊บ จิตที่ฟุ้งซ่านดับทันที จิตผู้รู้เกิดทันที พอมีจิตผู้รู้อยู่ได้แป๊บเดียว เห็นอะไรสวยๆ เดินมา เอ้า จิตวิ่งไปหาเขาแล้ว ไปหลงชอบเขาเสียอีกแล้ว กลายเป็นจิตผู้หลงไปดู หลงไปนิยมยินดี ชอบ ถ้าเราเห็นเป็นช็อตๆๆ เราก็จะเห็น จิตผู้รู้ก็ไม่เที่ยง จิตที่ไปดูรูปก็ไม่เที่ยง จิตที่ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจก็ไม่เที่ยง
จิตที่ไปเห็นรูปมันเกิดชั่วขณะ แวบเดียวก็ดับไปแล้ว จิตที่ได้ยินเสียงก็เกิดแวบเดียว แต่จิตผู้รู้มันเป็นจิตที่ทรงสมาธิอยู่ มันเกิดแล้วก็ดับๆ ก็จริง แต่มันเกิดดับซ้ำๆ ซ้ำๆ กัน เราจะรู้สึกว่าจิตผู้รู้มันยาว มันมีอายุยาวๆ ที่จริงมันเกิดดับถี่ยิบเลย พอเรารู้สึกจิตมันทรงตัวได้ยาวๆ จิตผู้รู้เกิดขึ้น เรารู้จิตผู้รู้ แล้วเราจะเห็นว่าจิตผู้รู้ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ทนอยู่ไม่ได้ เราต้องอาศัยช่วงเวลาที่จิตผู้รู้เกิดถี่ๆ แล้วรู้สึกว่าเป็นผู้รู้ยาวๆ นิดหนึ่ง แล้วเราจะเห็นว่าจิตผู้รู้กำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลาย
เพราะฉะนั้นคนที่จะเห็นว่าจิตเป็นทุกขตาหรือถูกบีบคั้น จะต้องทรงฌาน ต้องทรงสมาธิดีพอ ถึงจะเห็นว่าตัวจิตเป็นทุกข์ ถ้าคนทั่วไปก็จะเห็นจิตไม่เที่ยง จิตผู้รู้อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตผู้ดูผู้ฟัง ผู้ได้กลิ่น ผู้ลิ้มรสอะไรนี่ เกิดแล้วก็ดับ เราจะเห็นมันไม่เที่ยง หรือเห็นอีกมุมหนึ่ง เออ จิตมันจะเป็นผู้รู้ เราก็สั่งให้เกิดไม่ได้ ไม่มีใครสั่งจิตให้เป็นผู้รู้ได้ ต้องทำเหตุของมันคือมีสติที่ถูกต้องแล้วจิตมันจะเป็นผู้รู้ขึ้นมา แล้วก็จิตจะไปคิดอย่างนี้ เราก็สั่งไม่ได้ มันแอบไปคิดได้เอง จิตมันจะไปดูรูป เราก็สั่งไม่ได้ บางทีเราลืมตาอยู่ คนเดินผ่านมาทั้งๆ ที่เราลืมตา แต่ใจเรามัวคิดเรื่องอื่น ในขณะนั้นเรียกว่าเราไม่มีจิตทางตา แต่เรากำลังมีจิตไปรู้เรื่องที่คิดอยู่ คนเดินผ่านต่อหน้าต่อตา เราไม่เห็นหรอก ไม่เห็น ไม่รับรู้ ไม่สนใจ
ฉะนั้นจิตมันเกิดดับทีละดวงๆ แล้วเราจะเห็นจิตที่จะไปดูรูป เราก็สั่งไม่ได้ จงดูแต่รูป สั่งไม่ได้ จงได้ยินแต่เสียง สั่งไม่ได้ จงอย่ารู้กลิ่น ตอนนี้มีกลิ่นเหม็นมา จงอย่าได้กลิ่น เวลาไปหาหมอ ไปทำฟันอะไรอย่างนี้ แหม เจ็บ จงอย่าเจ็บ สั่งไม่ได้ อย่าไปรับรู้ความเจ็บปวดทางร่างกาย สั่งไม่ได้ อันนี้เรียกว่าเห็นอนัตตา จิตเป็นของสั่งไม่ได้ มันเป็นเกิดดับหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง นอกเหนืออำนาจบังคับของเรา ฉะนั้นเวลาเจริญปัญญาด้วยการดูจิต ดูเห็นมันเกิดดับได้ จิตผู้รู้เกิดแล้วก็ดับ จิตผู้คิดเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปดูรูปเกิดแล้วก็ดับ ดูอย่างนี้ก็ได้ ก็จะล้างความเห็นผิดได้ว่าจิตเป็นเรา
แล้วสังขารทั้งหลายทั้งความสุขความทุกข์ ความดีความชั่วอะไรก็เกิดดับพร้อมๆ กับจิตนั่นล่ะ หรือเห็นว่าเป็นอนัตตา จิตจะสุข สั่งไม่ได้ จิตจะทุกข์ก็ห้ามไม่ได้ จิตจะดี สั่งให้เกิดก็ไม่ได้ จิตจะชั่ว ห้ามมันก็ไม่ได้ จิตจะไปดูรูป จิตจะไปฟังเสียง จิตจะไปดมกลิ่น จิตจะไปลิ้มรส จิตจะไปรู้สัมผัสทางกาย หรือจิตจะไปคิดนึกทางใจสั่งไม่ได้ ห้ามไม่ได้ แล้วทุกอย่างเกิดแล้วดับๆ อันนี้คนทั่วๆ ไปจะเห็นอนิจจัง เห็นอนัตตา ถ้าเวลาดูจิต
ส่วนคนซึ่งทรงฌานได้ ถึงจะเห็นทุกขตาของจิตได้ชัดเจน เพราะว่าจิตมันจะเกิดในลักษณะเดิมซ้ำๆ เป็นจิตผู้รู้ๆ ผู้รู้ๆ ผู้รู้ๆ ของเราหรือ จิตผู้รู้ ผู้หลงๆ หลงๆๆ ผู้รู้ หลงๆ หลงๆๆ ผู้รู้ มันจะเกิดอย่างนี้ มันจะไม่เห็นหรอกว่ากระทั่งตัวจิตผู้รู้ก็บังคับไม่ได้ แล้วก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันดูไม่ออกหรอก แต่ถ้าเรามีจิตผู้รู้ๆ ผู้รู้ๆ เราจะเห็นว่าจิตที่ว่ามันรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ มันทนอยู่ไม่ได้ มันถูกบีบคั้น ถูกยั่วยุ ถูกกระตุ้นให้กลายเป็นจิตชนิดอื่น ค่อยๆ เห็นไป
เพราะฉะนั้นเวลาภาวนา ถ้าเบื้องต้นเราเห็นความจริงของสังขารทั้งหลายของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ตัวเราหรอก ร่างกายก็เป็นวัตถุ เรายืมโลกมาใช้ นามธรรมทั้งหลายมันก็เป็นแค่สภาวธรรม จิตก็เป็นแค่สภาวธรรมอันหนึ่งที่รับรู้อารมณ์ สุขทุกข์ก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ความจำได้หมายรู้ก็สภาวธรรมอันหนึ่ง ความปรุงดีปรุงชั่วก็เป็นสภาวธรรมอีกอย่างหนึ่ง แล้วสภาวธรรมทั้งหลายเกิดและดับทั้งหมดเลย ก็ไม่มีตัวเราตรงไหนเลย
ถ้าภาวนาเป็น อย่างมีความสุขขึ้นมา ในตัวความสุขไม่มีเรา ในตัวความทุกข์ก็ไม่มีเรา ในตัวโลภ ในตัวโกรธ ในตัวหลงก็ไม่มีเรา จิตที่ไปรู้ก็ไม่ใช่เรา มันเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ เป็นสภาวธรรมอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราสามารถเห็นได้ว่าขันธ์ 5 ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งจิต ไม่ใช่เรา อันนี้คือพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นถ้าบางคนภาวนาแล้วก็รักษาจิตให้เที่ยงอยู่อย่างนี้ แล้วก็บอกเจริญปัญญา เห็นทุกอย่างผ่านมาผ่านไป ทุกอย่างเกิดดับ ลืมเห็นว่าตัวที่ไปรู้มันเที่ยง อันนี้ยังเป็นโสดาบันไม่ได้ พระโสดาบันก็ต้องเห็นไม่มีอะไรเลยที่คงที่อยู่ ไม่มีอะไรเลยที่เป็นตัวเราที่แท้จริง ต้องเห็นทั้งหมด ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งจิต ทั้งเจตสิก อย่างนี้ได้โสดาบัน
ปล่อยวางจิตได้ ก็ปล่อยวางขันธ์ทั้งหมดได้
ปล่อยวางขันธ์ทั้งหมดได้ ก็ปล่อยโลกทั้งหมดได้
แล้วมาเรียนรู้ความจริง มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางต่อไป สติระลึกรู้กายเห็นไตรลักษณ์ของกาย ระลึกรู้เวทนา สัญญา สังขารก็เห็นไตรลักษณ์ของเวทนา สัญญา สังขาร ระลึกรู้จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้คิด ผู้หลง ผู้ไปดู ผู้ไปฟัง เกิดดับก็เห็นไตรลักษณ์ของวิญญาณ หรือของจิต วิญญาณกับจิตเป็นสิ่งเดียวกัน เรียกชื่อต่างกัน เวลาอยู่ในบริบทอย่างนี้เรียกจิต อยู่ในบริบทอย่างนี้เรียกว่าวิญญาณ อยู่ในบริบทอย่างนี้เรียกว่ามโน ใจ ที่จริงก็คือสภาวธรรมอันเดียวกัน ธรรมชาติที่รู้อารมณ์
หัดรู้หัดดู แล้วต่อไปพอเราได้โสดาบันแล้ว สติระลึกรู้กาย เห็นไตรลักษณ์ รู้นามธรรมก็เห็นไตรลักษณ์ รู้จิตก็เห็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปปัญญามันจะแจ่มแจ้ง มันจะรู้แจ้งกายก่อน เพราะกายนี้มันเป็นของหยาบ มันจะแจ่มแจ้ง กายนี้ไม่มีอะไรเลย กายนี้คือก้อนทุกข์ พวกเรากระทั่งพระโสดาบัน พระสกิทาคามี ยังไม่แจ่มแจ้งว่ากายคือทุกข์ แต่จะรู้สึกว่ากายนี้เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง ต้องภาวนาไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่ง สติ สมาธิ ปัญญาแก่กล้าพอ ดูลงที่กาย ปัญญามันปิ๊งขึ้นมาเลย กายนี้เป็นก้อนทุกข์ จิตมันจะวางกาย พอวางกายก็คือวางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะตา หู จมูก ลิ้น มันก็ร่างกายนั่นล่ะ
พอวางสิ่งเหล่านี้ลง ไม่ยึดตา กระทั่งตายังไม่ยึดเลย มันก็ไม่ยึดรูป ไม่ยึดหู มันก็ไม่ยึดเสียง ไม่ยึดจมูก มันก็ไม่ยึดกลิ่น ไม่ยึดลิ้น มันก็ไม่ยึดรส ไม่ยึดร่างกาย มันก็ไม่ยึดสิ่งที่มาสัมผัสร่างกาย เมื่อมันไม่ยึดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส เวลารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ดีมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตก็ไม่หลงยินดี เพราะมันไม่ยึดกายเสียแล้ว สิ่งที่ไม่ดีมากระทบมันก็ไม่ยินร้าย เพราะมันไม่ยึดกายเสียแล้ว เวลาอายตนะมันกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอารมณ์ข้างนอก มันจะรู้สึกมันมีแต่ทุกข์ มันมีแต่ภาระที่เกิดขึ้นกับจิตใจ
ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดูเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็หมดความยึดถือในกาย ก็จะหมดความยึดถือในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสภายนอกด้วย มันจะไม่ยินดีมันจะไม่ยินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย เรียกว่ากามคุณอารมณ์ มันเป็นกามที่มายั่วให้ใจเราเกิดราคะ เกิดโทสะขึ้น พอเราไม่ยึดรูป เราก็จะละกามราคะคือความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสได้ เราไม่ยึดในรูปนี้ เราก็ไม่ยึด มันยากไปแล้ว จิตดับ
พอไม่ยึดในกาย ก็จะไม่ยึดตา หู จมูก ลิ้น กาย มันจะไม่ยึดรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่สัมผัสกาย มันก็หมดความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มันก็ละสิ่งที่เรียกว่ากามราคะ ความผูกพันรักใคร่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะคือสิ่งที่มากระทบกาย แล้วมันละปฏิฆะ ความยินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนาที่จะขึ้นสู่ความเป็นพระอนาคามี พระอนาคามีหมดความยึดถือกายแล้ว แล้วก็จิตจะไม่มีกามราคะ คือความรักใคร่ผูกพันในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่มี ปฏิฆะ ความไม่พอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะจิตมันพ้นโลกไปแล้ว พ้นจากกามโลก กามาวจรภูมิ ตรงนั้นเป็นภูมิจิตภูมิธรรมของพระอนาคามี ที่วางกายได้เด็ดขาดต้องเป็นพระอนาคามี
แล้วการภาวนาถัดจากนั้น มันจะบีบวงเข้ามาที่จิต คราวนี้อะไรกระทบมา จิตมันไม่มาเรียนที่กายแล้ว เพราะกายนี้เรียนจบแล้ว จืดชืด ไม่ตื่นเต้น ไม่เร้าใจอีกต่อไปแล้ว มันจะตัดตรงเข้ามาที่จิต มันจะบีบวงเข้ามาเรียนอยู่ที่จิตเลย แล้วมันจะเห็นว่าจิตทุกชนิดเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง บางท่านบรรลุพระอรหันต์ ปล่อยวางจิตได้ เพราะเห็นว่าจิตไม่เที่ยง บางท่านบรรลุพระอรหันต์ เพราะปล่อยวางจิตได้ เพราะว่าเห็นว่าจิตเป็นอนัตตา
ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งท่านเคยเล่าให้หลวงพ่อฟังว่าท่านภาวนาอยู่ แล้วท่านเห็นจิตมันไม่มีสาระแก่นสาร ท่านบอกท่านหยิบมันแล้วขว้างทิ้ง เหมือนเอามือไปรวบต้นหญ้า ถอนขึ้นมาแล้วโยนลงเหวไปเลย ไม่เกี่ยวข้องกันอีกต่อไปแล้ว องค์นี้ท่านเห็นอนัตตา ท่านวางทิ้งไปเฉยๆ เลย บางคนที่เห็นทุกขัง ทุกขตาของจิต ส่วนใหญ่ต้องทรงฌาน ที่บอกแล้วว่าจิตมันจะเป็นผู้รู้เด่นดวงอยู่ ทรงอยู่โดยที่ไม่ได้เจตนา ไม่ต้องรักษาเลยถึงตรงจุดนั้น ผู้รู้เด่น แล้วก็มีความสุขมหาศาล
แล้วอยู่ๆ เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาแก่รอบเต็มที่ มันไหวตัวนิดหนึ่ง จิตผู้รู้ที่เป็นบรมสุขกลายเป็นตัวบรมทุกข์แทน เราจะเห็นเลยว่ามันถูกบีบคั้น จิตนี้เป็นของที่ถูกบีบคั้นอย่างแสนสาหัส บีบคั้นจนแทบจะแตกสลายเลย ถ้าเรายังดำเนินจิตต่อไป จิตทำท่าจะระเบิดเอา เหมือนจะตายเลย มันเห็นทุกข์ คนที่จะเห็นอย่างนี้ต้องทรงสมาธิได้ดี มิฉะนั้นพอจิตเห็นทุกข์แวบเดียว หนีเลย จิตหนีไปแล้ว ไม่กล้าหาญ ไม่เด็ดเดี่ยวที่จะเผชิญหน้ากับตัวทุกข์ เพราะฉะนั้นสุดท้ายก็คือไม่ว่าจะเห็นจิตผู้รู้เป็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา สุดท้ายก็คือปล่อยวางจิต ปล่อยวางจิตได้ก็ปล่อยวางขันธ์ทั้งหมดได้ ปล่อยวางขันธ์ทั้งหมดได้ ก็ปล่อยโลกทั้งหมดได้ ก็ไม่ยึดถือสิ่งใดในโลกอีกแล้ว จิตก็พ้นจากความทุกข์ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
พวกเราเวียนว่ายตายเกิด อยากรู้ไหมวิธีพิสูจน์ว่าเราเวียนว่ายตายเกิดจริง สังเกตที่ใจเรา เดี๋ยวเราก็เกิดเป็นเปรต มีความโลภเกิดขึ้น เดี๋ยวเราก็หลง เผลอๆ เพลินๆ เราไปเกิดเป็นเดรัจฉานแล้ว นี่เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในจิตใจของเรานี้ตลอดเวลา เดี๋ยวก็จมลงไปในความทุกข์ เราก็ตกไปสัตว์นรกในขณะนั้นแล้ว เราไม่ต้องดูเวียนว่ายตายเกิดข้างนอกนี้หรอก ดูอยู่ที่จิตใจของเรานี้ล่ะ แล้วเราจะเห็นจิตใจเราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวเกิดในภูมินั้นภูมินี้ หมุนไปเรื่อยๆ บางทีนั่งสมาธิทรงฌานขึ้นมา ก็เกิดในภพของพรหมในภูมิของพรหมอะไรอย่างนี้
ค่อยๆ สังเกต เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ทุกขณะอยู่แล้ว ส่วนการที่จะรู้การเวียนว่ายตายเกิดข้างนอก อันนี้มีของเล่น ถ้าเราได้จุตูปปาตญาณ เราทรงสมาธิ ทรงอภิญญาแล้วเราสนใจจะรู้ มันจะรู้สัตว์เวียนว่ายตายเกิด ท่านที่เป็นแชมป์ในการรู้เรื่องนี้คือพระอนุรุทธะ พระอนุรุทธะจะเก่ง รู้การเวียนว่ายตายเกิดได้รวดเร็วมากเลย สัตว์ตัวนี้เกิดแล้วตาย ตายแล้วตอนนี้ไปอยู่ที่โน่น รู้หมด พวกเราส่วนใหญ่ไม่รู้ ก็ไม่ต้องไปเรียนการเวียนว่ายตายเกิดข้างนอก ให้มาเรียนความเวียนว่ายตายเกิดในจิตใจของเราเดี๋ยวนี้ มันเวียนว่ายตายเกิดอยู่แล้ว เดี๋ยวก็เป็นคนดี เดี๋ยวก็เป็นคนชั่ว เดี๋ยวก็เป็นคนมีความสุข เดี๋ยวก็เป็นคนมีความทุกข์ ดูของจริงอย่างนี้ไป แล้วเราจะรู้ว่าภพทั้งหลาย ล้วนแต่ไม่เที่ยง ภพทั้งหลายล้วนแต่เป็นทุกข์ ภพทั้งหลายควบคุมบังคับไว้ไม่ได้ ค่อยๆ เรียนไป
ยากไปไหม หลวงพ่อสอนตามหลักสูตรของหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์บอกว่าเวลาแสดงธรรมะ ต้องให้ถึงพร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ส่วนใหญ่ท่าน ส่วนหนึ่งท่านก็สอนปริยัติ ส่วนหนึ่งท่านก็สอนแต่เรื่องปฏิบัติ ปฏิเวธไม่มีใครบอก หลวงพ่อหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนไว้อย่างนั้น ก็สอนถึงปฏิเวธ ตรงที่หลุดพ้น มรรคผลอะไรพวกนี้ สอนให้รู้ร่องรอยไว้ เหมือนที่หลวงปู่ดูลย์เคยสอนหลวงพ่อไว้ ไปกราบท่านครั้งสุดท้าย ท่านบอกว่า “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” พบผู้รู้ ยึดผู้รู้อยู่ ก็ยังเกิดอยู่ พยายามจะให้ผู้รู้ทรงนิพพานอยู่ ก็ยังเกิดอยู่ ก็ปล่อยวางผู้รู้ลงไปอีกทีหนึ่ง
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ฉะนั้นทุกวันที่เทศน์เหมือนแผนที่แสดงตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ถ้าพวกเราปฏิบัติจริงๆ ฟังที่หลวงพ่อเทศน์ครั้งเดียว เอาไปทำได้ทั้งชาติเลย ไม่ต้องฟัง 2,000 กัณฑ์ ไม่จำเป็น ทำให้ได้เท่านั้นล่ะ ฟังแล้วทำให้ได้ ฟังแล้วไม่ทำไม่มีวันเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อบอก
วัดสวนสันติธรรม
31 มีนาคม 2567 (ช่วงเช้า)