ปัญญาทำหน้าที่ล้างความเห็นผิด

ถึงวันสิ้นปีแล้ว อยู่กับโควิดมา 3 ปีแล้ว มันไม่มีอะไรยั่งยืน ความยากลำบาก 3 ปีมานี้ พวกเราก็อยู่กันมาจนได้ ลูกศิษย์วัดเราก็มีตายไปบางส่วน เป็นโควิด ส่วนใหญ่คนอายุเยอะๆ พวกเราเหลือรอดมาได้ ถือว่าเก่ง บุญรักษา ตัวสำคัญที่ช่วยรักษาเราก็สติกับปัญญา เรามีสติ จะไปไหนมาไหนคอยระวังตัวเอง มีปัญญารู้ว่าจะป้องกันตัวได้อย่างไร แล้วเอาตัวรอดมา ตามธรรมชาติธรรมดา โรคระบาดมันก็อยู่ประมาณ 4 ปี ที่ผ่านมาในอดีต ตอนนี้พวกเราก็คุ้นเคยกับมันแล้ว อยู่กับมันจนได้ ไม่ประมาท มีสติ มีปัญญารักษาตัวเองไว้

สิ้นปีทีหนึ่งคนก็อยากอวยพรกัน อวยพรทางโลกๆ มันก็อย่างนั้นๆ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ก็ดีเหมือนกัน แต่พรที่สำคัญที่สุดคือการทำความดี ท่านเจ้าคุณนรฯ ท่านเคยสอนไว้ ท่านบอกว่า “ทำดี ดีกว่าขอพร” เพราะการที่เราทำดีนั้น ชีวิตเรามันก็จะดี มันประเสริฐ พรแปลว่าประเสริฐ “วร” มันคำเดียวกับคำว่า “พระ” นั่นล่ะ ประเสริฐ ฉะนั้นพวกเราพยายามลดละความอกุศลทั้งหลาย สำรวจไป 1 ปีที่ผ่านมานี้ บาปอกุศลอะไรยังไม่ได้ละ ก็ไปละเสีย สำรวจต่อไป กุศลอะไรที่ยังไม่เจริญก็เจริญเสีย ที่เจริญแล้วอันไหนมันยังไม่ถึงพร้อม ก็พัฒนามันขึ้นไปเรื่อยๆ อย่ายอมแพ้

 

ต่อสู้กิเลสแรกๆ ก็ลำบากทุกคน

การอ่อนแอยอมแพ้ มันทำให้เราไม่มีที่ยืนในสังสารวัฏหรอก ต้องเข้มแข็ง ไม่ยอมแพ้ เราจะมีที่ยืนอยู่ในสังสารวัฏ ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงได้ ถ้าเราท้อแท้ อ่อนแอ ตามใจกิเลส ก็แพ้ไปเรื่อยๆ การสู้กิเลสแรกๆ มันก็ลำบากมาก กิเลสมันมีกำลังแรง เราสะสมมันมานาน แต่พอเราภาวนาไปเรื่อยๆ จิตใจเราเข้มแข็งขึ้นสูงขึ้นๆ กิเลสมันก็ละเอียดไปด้วย มันคล้ายๆ ยิงจรวดไป พลังงานแรกที่จะให้จรวดพ้นพื้น ใช้พลังงานเยอะ พอมันขึ้นไปได้แล้ว มันก็ใช้พลังงานน้อยลงๆ สุดท้ายไม่ต้องใช้อะไรมันก็วิ่งไปแล้ว

การภาวนานี้ก็เหมือนกัน การต่อสู้กิเลสแรกๆ มันก็ยากลำบาก มันลำบากทุกคน ไม่มีใครสบายหรอก อย่างเราเห็นครูบาอาจารย์ ท่านสบาย ท่านมีความสุข ถ้าไปดูประวัติแต่ละองค์ๆ ลำบากมาแล้วทั้งนั้น ต่อสู้มาหนักหนาสาหัส ที่ท่านพ้นทุกข์ไปได้ เพราะท่านทุกข์มาจนพอแล้ว อย่างหลวงปู่เทสก์ท่านเขียนหนังสือไว้ ก่อนจะมรณภาพไม่นาน ท่านบอกว่าท่านคงไม่เกิดแล้ว เพราะท่านเห็นแล้วว่าชีวิตนี้มันมีแต่ทุกข์ ท่านฝึกตัวเอง ทีแรกก็สู้กิเลสหยาบๆ ราคะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ก็ต้องสู้ให้ถูกวิธี มีสติ มีปัญญา เรียนรู้จนกระทั่งจิตค่อยๆ เป็นอิสระมากขึ้นๆ ต่อไปมันก็มาถึงกิเลสชั้นกลางๆ พวกนิวรณ์ทั้งหลาย เป็นตัวถ่วงความเจริญ

นิวรณ์เป็นกิเลสที่ทำหน้าที่ถ่วงความเจริญ จะทำสมาธิ มันก็ถ่วงความเจริญให้ขี้เกียจขี้คร้าน ทำไม่ได้ จะเจริญปัญญา มันก็ขวางทำให้ทำไม่ได้ มันไม่ใช่กิเลสหยาบๆ แบบราคะ โทสะ โมหะ ที่มันล้นออกมาทางกายทางวาจา นิวรณ์เป็นกิเลสชั้นกลาง อยู่ที่ใจเรา มันคอยกีดขวางเวลาจะทำความดีอะไร ก็ท้อแท้หดหู่ หรือฟุ้งซ่านไปเลย หรืออาลัยอาวรณ์ในความสุขความสบายอย่างโลกๆ หรือหงุดหงิดขัดข้อง สิ่งเหล่านี้มันทำให้สมาธิไม่เกิด แล้วก็เดินปัญญาไม่ได้ กิเลสอย่างหยาบเราต้องพยายามรักษาศีลไว้ กิเลสอย่างกลางคือตัวนิวรณ์ พยายามพัฒนาจิตของเราให้มันทรงสมาธิขึ้นมา

อย่างที่หลวงพ่อสอนพวกเราว่า ศีล 5 รักษาเอาไว้ อันนี้เป็นเครื่องมือต่อสู้กิเลสอย่างหยาบ คือราคะ โทสะ โมหะ แล้วบอกพวกเราฝึกทำกรรมฐานไป จิตเคลื่อนแล้วรู้ จิตเคลื่อนแล้วรู้ไปเรื่อย แล้วสมาธิมันจะเกิด ตรงที่สมาธิมันเกิด มันจะข่มนิวรณ์ได้ชั่วคราว ในขณะที่จิตทรงสมาธิขึ้นมา ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา กามฉันทะ นิวรณ์ ความรักใคร่ผูกพันกับเรื่องโลกๆ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่มี ความขัดเคืองในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่มี ขณะที่จิตเราตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ความฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญใจ ไม่มี ในขณะที่จิตเราตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา รู้เนื้อรู้ตัวเต็มที่ ความลังเลสงสัยไม่มี ความเซื่องซึมหงอยๆ ของจิตอะไรก็ไม่มี

เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตมันทรงสมาธิขึ้นมา มันกำราบนิวรณ์ราบคาบ เงียบ แล้วสมาธิเสื่อมเดี๋ยวนิวรณ์มันมาอีก ฉะนั้นเราก็อย่าไปปล่อยให้มันเสื่อม เราสะสมของเรา ทำทุกวันๆ ทำในรูปแบบไปแล้วรู้ทันจิตตนเองไป สมาธิจะเพิ่มขึ้นๆ หลวงพ่อเห็นคนทำสมาธิจำนวนมาก มันทำไม่ได้หลัก ส่วนใหญ่ก็ไปนั่งบังคับจิตตัวเอง บังคับกาย บังคับใจ ลำบาก ตรงนั้นความหงุดหงิดใจมันเกิด มันไม่สบาย นิวรณ์ยังไม่หมดหรอก เพราะสมาธิจริงๆ ยังไม่เกิด นี้จะฝึกสมาธิก็ฝึกง่ายๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไป วันแรก เดือนแรกอาจจะไม่เห็น แต่ 2-3 เดือนไปแล้วจะเริ่มเห็นแล้ว ถ้าเราปฏิบัติสม่ำเสมอทุกวันๆ 2-3 เดือนมันก็จะเริ่มเห็นผลแล้ว จิตใจเราจะอยู่กับเนื้อกับตัว ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ตรงนี้เราก็จะเดินปัญญาได้

 

ปัญญาเป็นเครื่องมือล้างกิเลสชั้นละเอียด

ปัญญาเป็นเครื่องมือล้างกิเลสชั้นละเอียด กิเลสละเอียดๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของความโง่ของเรา ความไม่รู้ของเรา ปัญญากับความโง่เขลาเป็นศัตรูกัน ตรงข้ามกัน ฉะนั้นเราพยายาม พอจิตเราตั้งมั่นแล้ว เราก็ต้องเรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจไป พอเราเห็นความจริงของกายของใจ มันจะล้างกิเลสส่วนลึกได้ อย่างถ้าเรามีจิตตั้งมั่น เราเห็นกายมันทำงาน เห็นจิตมันทำงาน เห็นว่ากายนี้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เห็นซ้ำๆๆ ไปเรื่อย สุดท้ายมันก็ล้างความโง่เบื้องต้น ความโง่อันแรกเลยคือตัวเรามีอยู่จริงๆ มันจะเห็นตัวเราไม่มีหรอก สิ่งที่เรียกว่าตัวเราๆ มันก็แค่ความจำ แค่ความคิดเท่านั้นเอง ของจริงๆ ไม่ใช่เราหรอก ร่างกายมันเป็นของเราที่ไหน มันเป็นวัตถุ มันก็วัตถุอันเดียวกับแผ่นดิน วัตถุอันเดียวกับน้ำ กับลม กับไฟทั้งนั้น ก็ไม่มีอย่างอื่น เราอาศัยวัตถุทั้งหลายนี้ มาประกอบกันด้วยกำลังของกรรม เกิดเป็นร่างกายนี้ขึ้นมา แล้วเราก็มีความหมายรู้ผิด ว่านี้คือตัวเราของเรา มีความเชื่อผิดๆ มีความคิดผิด มีความเชื่อผิดขึ้นมา เลยเกิดตัวเราขึ้นมา

ถ้าจิตเราตั้งมั่นเด่นดวง มันยังรู้สึกว่ากายนี้ใจนี้เป็นเราอยู่ แต่พอเจริญปัญญามากเข้าๆ มันจะเห็นกายไม่ใช่เรา เบื้องต้นจะเห็นกายไม่ใช่เรา ต่อไปมันก็เห็นจิตก็ไม่ใช่เรา กายไม่ใช่เราเพราะอะไร มันเป็นวัตถุเห็นๆ อยู่ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกตลอดเวลา เริ่มต้นของกายนี้มันก็จากวัตถุ คือเชื้อพันธุ์ของพ่อของแม่มาผสมกัน จิตหยั่งลงไปเกิด ชีวิตใหม่ขึ้นมา แล้วมีกรรมหล่อเลี้ยง มีอาหารจากพ่อจากแม่หล่อเลี้ยง ค่อยๆ โตขึ้นมาจนคลอดออกมา คราวนี้ก็กินอาหารเอง หายใจเอง อาหารที่กินเข้าไปมันก็เป็นวัตถุของโลก ลมหายใจมันก็เป็นวัตถุของโลก น้ำที่เราดื่มมันก็เป็นวัตถุของโลก

พอเรามีปัญญา จิตเราตั้งมั่น เรารู้สึกอยู่ในกาย จะเห็นร่างกายมันเป็นวัตถุของโลก ไม่ใช่ของเราหรอก แล้วมันก็ตกอยู่ใต้ความไม่เที่ยง แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา แล้วที่น่าสังเกตก็คือ ร่างกายนี้มันมีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะดูแลรักษาดีอย่างไร มันก็มีความทุกข์แฝงอยู่ตลอด อย่างเรานั่งเก้าอี้ตัวละแสน นั่งสบาย ซื้อรถยนต์คันหนึ่งตั้งหลายล้านมานั่ง ว่าสบายๆ สบายเดี๋ยวเดียว ความจริงของกายมันก็แสดงให้ดู นั่งนานๆ ก็ปวดก็เมื่อย ไปเดิน ไปยืน ไปนอน ซื้อเตียงแพงๆ มานอน นึกว่าจะสบาย สบายอยู่ประเดี๋ยวเดียว ความจริงมันก็ตามมาเบียดเบียนแล้ว มันก็มีแต่ทุกข์

ถ้าเรามีสติ จิตตั้งมั่น มีสติระลึกรู้กาย มันก็จะเห็นร่างกายมันเป็นของไม่เที่ยง ร่างกายหายใจออกก็ไม่เที่ยง ร่างกายหายใจเข้าก็ไม่เที่ยง ร่างกายยืน ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอนก็ไม่เที่ยง ร่างกายเคลื่อนไหวก็ไม่เที่ยง ร่างกายหยุดนิ่งก็ไม่เที่ยง ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา หายใจออกก็เพื่อจะหนีทุกข์จากการหายใจเข้า หายใจเข้าก็เพื่อหนีทุกข์จากการหายใจออก การที่เราต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ก็เพื่อต้องการหนีทุกข์ นั่งนานมันทุกข์ เราก็ต้องลุกขึ้นเดิน ลุกขึ้น หรือลงไปนอน

ที่เราเปลี่ยนอิริยาบถอยู่ตลอดเวลา เพื่อหนีทุกข์ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นหรอก ถ้าดูให้ดี ยกเว้นแต่เวลาเรามีหน้าที่ต้องทำงาน ใช้ร่างกายไปทำงาน แต่ตอนทำงานไปๆ ความทุกข์มันก็มีอีก อย่างสมมติเราไปล้างรถ ก้มมากๆ มันก็เมื่อย ก็ขยับไปขยับมา เพราะว่ามันมีความทุกข์ เรามีสติระลึกรู้ในกาย มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของเป็นทุกข์ ดูไปๆ ไม่ใช่ตัวเราหรอก มันเป็นสมบัติของโลก เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ถึงจุดหนึ่งก็ต้องคืนให้โลกไป ไม่มีใครครอบครองเอาไว้ได้ตลอดหรอก

คน แต่ไหนแต่ไรก็หวงแหนร่างกาย หวงแหนชีวิต กลัวตาย อยากจะเป็นอมตะ จิ๋นซีฮ่องเต้มีอำนาจมาก มันอยากเป็นอมตะ ก็เลยถูกนักพรตหลอกให้กินปรอทเข้าไป เลยตายเลย หลายคน อย่างพวกฟาโรห์ก็อยากเป็นอมตะ ตายแล้วอุตส่าห์ทำมัมมี่ไว้ อันนี้ร่างกายของเรา เห็นไหม กระทั่งจะตายแล้วยังร่างกายของเราเลย จะได้เป็นอมตะ วันหนึ่งจะได้ฟื้นขึ้นมาอีก ความคิดนี้มันมาจากความหวงแหนนั่นล่ะ มันไม่ได้ยอมรับความจริง

พวกเราชาวพุทธส่วนใหญ่ตายก็เอาไปเผาทิ้ง เผามันก็ไล่ธาตุน้ำ ธาตุลม อะไรมันก็ไล่ออกไป ธาตุไฟมันก็เผาผลาญเข้าไป ก็เหลือแต่ซากเศษธาตุดินอยู่ แล้วเราก็เห็นเขาเรียกแปรธาตุใช่ไหม เผาศพเสร็จแล้ว ไปดูตอนเช้าๆ ตอนเย็นเผาศพแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นไปเก็บกระดูก เราก็เห็นมันเป็นธาตุ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขาหรอก อันนี้วิธีของเราชาวพุทธ ส่วนใหญ่เราก็เอาศพไปเผา ไม่ได้เอาไปเก็บไว้ รักษาเอาไว้ เพราะรู้มันไม่ใช่ของเรา มันเป็นสมบัติของโลก ก็คืนโลกเขาไป

ถ้าเรามาดูในทางจิตใจ เราก็จะเห็นจิตใจนี้ก็เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็หลง มีแต่ความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ด้วย เป็นของห้ามไม่ได้ เป็นของบังคับไม่ได้ สั่งให้ดีก็ไม่ได้ ห้ามชั่วก็ไม่ได้ สั่งให้สุขก็ไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้ สั่งให้รู้ตัวตลอดเวลาก็ไม่ได้ ห้ามหลงก็ไม่ได้ เฝ้ารู้เฝ้าดูจิตใจของเรา นี้คือการเจริญปัญญา ก็จะเห็นความจริง จิตมีแต่ความไม่เที่ยง จิตไม่ใช่ตัวเรา เราสั่งมันไม่ได้

พอเราเห็นความจริงของกาย มันก็จะไม่ยึดกาย เห็นความจริงของจิต มันก็ไม่ยึดจิต ขั้นต้นมันก็ละความเห็นผิดเบื้องต้นไปก่อน เห็นกายไม่ใช่เรา เห็นจิตมันไม่ใช่เราหรอก จิตมันก็เป็นแค่ธาตุอันหนึ่งของโลก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เรียกว่าธาตุรู้ ธาตุมี 6 ธาตุ ธาตุในทางศาสนาพุทธ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ คือช่องว่าง Space แล้วก็วิญญาณธาตุ ธาตุรู้ พวกเรามี 6 ธาตุนี้ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มันก็ดูง่าย มันสมบัติของโลก ตรงธาตุรู้นี้ค่อยๆ สังเกตไป ธาตุรู้ ตัวรู้ของเรานี้มันดีจริงไหม มันเที่ยงหรือมันไม่เที่ยง ก็จะเห็น ดูไปเรื่อยๆ ก็เห็นมันไม่เที่ยงหรอก มันก็บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา

คือความเป็นตัวเราๆ มันอยู่ที่ไหน ความเป็นตัวเรามันอยู่ที่การหมายรู้ผิด คือสัญญาวิปลาส หมายรู้ผิดๆ ว่า กายนี้เป็นเรา จิตนี้เป็นเรา มันเกิดจากการคิดผิดๆ คิดทีไรก็เป็นเราทุกที แล้วมันก็เลยเชื่อฝังลึกอยู่ในจิตใจ เชื่อผิดๆ เรียกว่ามีมิจฉาทิฏฐิ ว่ากายนี้คือตัวเรา จิตใจนี้คือตัวเรา ที่เรามาเจริญปัญญาก็เพื่อมาล้างกิเลสละเอียด ก็คือความหลงผิดทั้งหลายนั่นล่ะ เรามีศีลเพื่อสู้กับราคะ โทสะ โมหะ อย่างหยาบ ไม่ให้มันมาควบคุมจิตใจ จนกระทั่งเราทำความชั่วทางกาย ทางวาจา แล้วเรามาฝึกจิตให้มีสมาธิตั้งมั่นขึ้นมา เพื่อข่มกิเลสอย่างกลางคือนิวรณ์ นิวรณ์เป็นกิเลสที่ขัดขวางคุณงามความดี เวลาจะทำความดี นิวรณ์เกิดขึ้นมันก็ไม่มีแรงทำแล้ว

ส่วนกิเลสละเอียด คือความไม่รู้ทั้งหลาย อาศัยปัญญา ไม่มีตัวอื่นจะมาช่วยได้ ศีลก็ไม่ได้ทำให้หายโง่ สมาธิก็ไม่ได้ทำให้หายโง่ เพียงแต่ศีลนั้นเกื้อกูลให้เกิดสมาธิ สมาธิเกื้อกูลให้เกิดปัญญา แล้วปัญญาเป็นตัวทำให้หายโง่ ฉะนั้นพวกเราต้องฝึก

 

ฝึกตัวเองให้ได้ครบทุกอย่าง

พยายามฝึกตัวเองให้มันได้ครบทุกอย่าง ศีลต้องรักษา ทุกวันต้องทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราคุ้นเคย แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง อย่าจ้อง ไม่เพ่งไม่จ้องจนเครียดเกินไป นั้นไม่ใช่ สมาธิจะไม่เกิด สมาธิจะเกิดได้ จิตใจต้องสบายๆ ชิลๆ สมาธิถึงจะมี แต่ชิลมากไปก็หลงไปเลย ใช้ไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องมีเครื่องยึดเครื่องผูก คือเอาสติระลึกรู้ในวิหารธรรมของเรานั่นล่ะ เป็นเครื่องผูกจิตเอาไว้ ไม่ให้มันเตลิดเปิดเปิงไป ผูกไว้แล้วก็ผูกหลวมๆ ให้มันเคลื่อนไหวได้ ผ่อนเชือกยาวๆ หน่อย ไม่ใช่มัดมันจนกระดุกกระดิกไม่ได้ อันนั้นมันเครียด เมื่อไรจิตเครียดสมาธิจะไม่เกิด จิตต้องสบายๆ แต่ไม่สบายจนเอ้อระเหย เครื่องที่จะช่วยให้เราไม่สบายจนเอ้อระเหย คือการหมั่นระลึกถึงอารมณ์กรรมฐานของเราไว้ จะหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จะเดินจงกรมเห็นร่างกายเคลื่อนไหว ใจเป็นคนรู้สึก จะขยับเขยื้อน ก็ร่างกายเคลื่อนไหว จิตรู้สึก

เหมือนที่หลวงพ่อพุธท่านสอน ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด อันนี้มันมาจากร่างกายทำงาน แล้วคำพูดนี้มันก็มาจากความคิดด้วย ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด ก็มาจากจิตมันสั่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการทำงาน มันก็เป็นเรื่องกายกับจิตมันทำงาน ให้เราเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ลงที่กายที่จิต นั่นล่ะคือการเจริญปัญญาที่แท้จริงแล้ว การเจริญปัญญาไม่ใช่การนั่งคิดเอา นั่งคิดคือความฟุ้งซ่าน แต่บางทีจิตเรามันไปติดนิ่ง ทำสมาธิมากไปแล้ว จิตมันติดนิ่งติดเฉย ครูบาอาจารย์ให้คิดพิจารณา อันนั้นเป็นอุบายแก้จิตที่มันติดเฉย

แต่ถ้าจิตเราตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัว อย่าเสียเวลาคิด ให้รู้สึกเอา อย่างร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหว รู้สึกไป ทำกรรมฐานไป มีเครื่องอยู่ของจิตอยู่ อย่างเราหายใจเข้าพุท ออกโธ สมมติถ้าเราถนัดอันนี้ เราก็ใช้อย่างนี้ ถนัดอย่างอื่น เราก็ใช้กรรมฐานอันอื่น กรรมฐานมีตั้งเยอะตั้งแยะไป กรรมฐานเป็นเครื่องผูกจิตไม่ให้เตลิดเปิดเปิงไปไกลเท่านั้นล่ะ แต่กรรมฐานบางอย่าง ต้องระมัดระวัง อย่างพวกกสิณ กสิณเวลาดูมันจะดูออกข้างนอก ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจิตมันตามไป จิตมันไปข้างนอก มันไม่ย้อนมาที่กายที่ใจ อย่างนั้นไม่ดี แต่ถ้าทำเป็นมันก็ใช้ได้

อย่างเราเล่นกสิณไฟ ทีแรกก็อาจจะใช้หลอดไฟ ไม่ต้องแรงมาก แสบตา หลอดไฟเล็กๆ ดูแสงสว่าง สมัยโบราณเขาจุดเทียนเอา เราใช้ไฟดวงเล็กๆ ที่ไม่แสบตา มองมันจนเป็นภาพติดตาเรา หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น ค่อยๆ ทำไป ใจ จ้องๆ ออกไป ในที่สุดจิตมันก็สงบ ตรงจิตสงบบางทีเห็นเป็นไฟเลย เห็นเป็นไฟลุกโพลงๆ ส่วนใหญ่พอเห็นอย่างนั้น ก็จะดูออกข้างนอกไป อยากเห็นนรกก็ได้ อยากเห็นสวรรค์ก็ได้ ตามแสงไป แต่ถ้าจะให้ดี อย่างมันสว่าง หรือมันเป็นไฟผุดขึ้นมา พุ่งขึ้นมา น้อมเอาไฟนี้กลับเข้ามาในตัวเอง น้อมเข้ามา หรือหายใจเอาไฟเข้ามา เข้ามาข้างใน แล้วกำหนดจิตลงไปเผามันเลย คล้ายๆ เผาศพ เผาๆๆ ลงไป ร่างกายก็ไหม้ไปหมด

มันไม่ไหม้จริงหรอก ร่างกายไม่เป็นอะไรเลย แต่ว่ามันเห็นด้วยจิต สุดท้ายร่างกายมันก็เป็นธาตุให้เราดู เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ เป็นขี้เถ้า เป็นเศษกระดูก ตรงนี้ยังไม่ใช่วิปัสสนา ตรงนี้เป็นเรื่องอาการของสมาธิ แต่ว่าพลิกจากสมาธิข้างนอก เข้ามาข้างในเสียก่อน พอร่างกายมันถูกเผาหมดแล้ว เหลือแต่จิตดวงเดียว เด่นดวง สว่าง รู้ตื่นอยู่ ก็ทรงตัวอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องรักษามัน แล้วถึงจุดหนึ่ง จิตมันจะค่อยๆ ถอนออกมา มันจะมีร่างกาย

ถ้าเราเคยภาวนา จนถึงขนาดเหลือแต่จิตดวงเดียว ไม่มีกาย พอกลับมามีกาย เราจะเห็นชัดเลยว่า กายกับจิตมันคนละอันกัน เมื่อกี้ไม่มีกายแล้ว เหลือแต่จิต ตอนนี้มีกายขึ้นมา ฉะนั้นกายกับจิตมันคนละอันกัน ถ้าเราทำกรรมฐาน จนกระทั่งเหลือแต่จิตดวงเดียวได้ เรียกว่าได้อรูปฌานแล้ว ตรงที่ได้อรูปฌาน พอรูปปรากฏขึ้นมันจะเห็นรูปกับนามมันคนละอันกัน แล้วตั้งแต่นั้นจนวันตายของเรา ชาติต่อไปไม่รู้ แต่ว่าเห็นอย่างหนึ่งว่า ถ้าจิตมันเข้าถึงจุดนี้แล้ว พอมันถอนออกมาแล้ว มันจะเห็นเลยกายกับจิตคนละอันกัน ขาดจากกันเด็ดขาดเลย ไม่กลับมารวมกันอีกแล้ว

อย่างพวกเรา กายกับจิตมันชอบรวมเป็นก้อนเดียวกัน ไม่ค่อยแยกกันเท่าไร นานๆ จิตมีสมาธิทีก็จะแยกที แต่ถ้าเขาเดินทางสายฌานเต็มรูปแบบ เข้าอรูปมาแล้ว ไม่ต้องรักษาเลย มันจะเห็นตลอดเวลา ร่างกายกับจิตมันคนละอันกัน ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา มันเห็นทันทีเลย ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา สุขทุกข์ไม่ใช่ตัวเรา ดีชั่วไม่ใช่ตัวเรา เพราะในขณะที่จิตรวมเข้าไปอย่างนั้น สุขทุกข์ไม่มี มันเป็นอุเบกขาอยู่เฉยๆ มันเลยรู้สุขทุกข์ไม่ใช่ตัวเราอะไรหรอก ดีชั่วอะไรตรงนั้นก็ไม่มีอะไร

ถ้าเราทำอย่างที่หลวงพ่อบอกนี้ไม่ไหว ก็ไม่เป็นไร ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อย่าไปเล่นพวกกสิณ เล่นกสิณเดี๋ยวลวดลายมันเยอะ อย่างที่เล่าให้ฟัง ลีลาจากการเล่นกสิณ หรืออานาปานสติ จริงๆ แทรกกสิณเข้าไปเยอะเลย ในอานาปานสติ อย่านึกว่าไม่มีกสิณ อย่างเราหายใจ เรารู้ลม ลมไหลผ่านช่องจมูก อันนี้กสิณลม ถ้าสติไปจับอยู่ที่รูจมูก เป็นกสิณช่องว่าง แล้วถ้าเห็นลมเข้ามันเย็น ลมออกมันร้อน อันนี้เล่นกสิณไฟ สุดท้ายมันก็วางพวกนี้กลายเป็นดวงสว่าง ก็เป็นกสิณแสงสว่างขึ้นมาอีก

เพราะฉะนั้นอานาปานสติมันจะพลิกไปทางอภิญญาก็ได้ เป็นกรรมฐานที่กว้างขวาง แต่พวกเราอย่าไปเล่นอย่างนั้น อยู่ไกลครูบาอาจารย์เดี๋ยวเพี้ยน เราแค่หายใจเข้า รู้สึกตัว หายใจออก รู้สึกตัว เอาที่ความรู้สึกตัวนี้ ไม่ต้องเล่นเยอะหรอก แล้วก็จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน จิตฟุ้งซ่าน รู้ทัน จิตสงบ รู้ทัน จิตทุกข์ รู้ทัน จิตสุข รู้ทัน คอยรู้ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสมาธิมันจะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ มันจะเด่นดวงขึ้นมา พูดคำว่า “เด่นดวง” จริงๆ ไม่มีดวงอะไรหรอก มันเป็นความรู้สึก มันเด่นขึ้นมา พอมันมีตัวนี้แล้ว ก็ถึงขั้นเดินปัญญา ดูความจริงของกาย ดูความจริงของจิตใจไป

 

โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ

กรรมฐานไม่ใช่เรื่องยากหรอก ถ้ารู้หลักแล้ว ทำง่าย อย่างถ้าเรารู้หลักของการทำสมถะ ใช้กรรมฐานอะไรก็ทำความสงบได้ จะหายใจก็สงบ จะพุทโธก็สงบ จะดูท้องก็สงบ จะขยับมือก็สงบ จะดูกสิณดิน น้ำ ไฟ ลมอะไรก็สงบ กสิณสี สีเขียว สีขาว สีเหลือง สีแดง ก็ใช้ได้ จะดูกสิณแสงสว่างก็ใช้ได้ จะดูช่องว่าง Space ก็ใช้ได้ ขอให้มันได้อันหนึ่ง แล้วอันอื่นง่ายไปหมดเลย ได้สักอย่างหนึ่งก่อน แล้วอันอื่นได้หมด อย่างถ้าเราได้กสิณ สมมติเราได้กสิณไฟอันหนึ่ง อีก 9 อันมันจะมาง่ายๆ เลย ไปฝึกไม่นานมันก็ได้

ถ้าเราฝึกจิตให้ตั้งมั่นได้ ดีกว่า ไม่เสียเวลามาก ให้จิตมันตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัว แล้วก็โน้มน้อมจิตอันนี้ไปเพื่อญาณทัศนะ ในพระไตรปิฎกก็พูด พระพุทธเจ้าท่านก็สอนไว้เยอะแยะเลย ทำกรรมฐานไปจนจิตได้ฌานที่ 4 ฌานที่ 4 ก็คือจิตนี้มีความตั้งมั่นเป็นหนึ่ง เป็นอุเบกขา ลักษณะของฌานที่ 4 เสร็จแล้วก็โน้มน้อมจิตไป ในพระไตรปิฎกก็ใช้คำนี้ “โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ” “โน้มน้อมจิตไป” ไม่ได้หมายความว่าส่งจิตออกไป แต่หมายถึงว่าให้จิตมันทำงาน อย่าให้มันติดนิ่ง ติดเฉย ว่างๆ อยู่อย่างนั้น ไม่เกิดปัญญา

เพราะฉะนั้นพอจิตเรามีกำลังตั้งมั่นดีแล้ว ต้องโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ ทำอย่างไร ก็ระลึก สติระลึกรู้กายด้วยจิตที่ตั้งมั่น มันก็จะเห็นกายแสดงไตรลักษณ์ อันนั้นล่ะโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ ญาณทัศนะ “ญาณะ” แปลว่าปัญญา “ทัศนะ” แปลว่าการเห็น “ญาณทัศนะ” เห็นอย่างมีปัญญา เห็นด้วยปัญญา เห็นด้วยปัญญาก็คือเห็นไตรลักษณ์ ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ อันนั้นเป็นวิปัสสนาญาณ ญาณมีตั้งเยอะ ตั้ง 70 กว่าชนิด ไม่ใช่มีแค่โสฬสญาณ โสฬสญาณมันตำราชั้นหลัง ในพระไตรปิฎกพูดถึงญาณตั้ง 70 กว่าอย่าง มันเยอะจนกระทั่งเราไม่ต้องเรียนทั้งหมดหรอก

เราโน้มน้อมไปดูกายแล้วก็เห็นไตรลักษณ์ เรียกโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ เห็นจิตใจมันทำงาน จิตเราเป็นคนดู ก็เห็นจิตมันทำงานได้ ตั้งมั่นอยู่ หายใจพุทโธๆๆ เดี๋ยวหนีไปคิดได้ เห็นมันทำงาน อย่างนี้ก็เป็นญาณทัศนะ ได้เห็นอย่างมีปัญญา ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็เกิด ปัญญาเกิดมันก็ล้างความเห็นผิด ล้างความเห็นผิดนั้น คือตัวปัญญาที่สำคัญ ปัญญาทำหน้าที่ล้างความโง่เขลา แล้วกิเลสตัวละเอียดถูกทำลายไป กิเลสอย่างกลางมันก็ถูกทำลายด้วย กิเลสอย่างหยาบมันก็ถูกทำลายไปด้วย เพราะฉะนั้นตัดลงที่จิตอันเดียวนี้ เห็นแจ้งลงที่จิตอันเดียว ก็ล้างหมดเลย

ยากไปไหม ยาก ถ้าไม่ทำ ถ้าทำแล้วยากไหม ยากทีแรก อะไรไม่เคยทำแล้วต้องทำก็ยากล่ะ แต่ถ้าทำไปตามลำดับมันก็ไม่ยาก อย่างคนไม่เคยเรียนหนังสือเลย ให้ไปเรียนดอกเตอร์มันก็เรียนไม่ไหว มันก็เรียนตั้งแต่ ป.1 ไป เรียนมัธยมต้น มัธยมปลาย เรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก สุดท้ายมันก็เรียนจนได้ เรียนไปตามลำดับ ที่ว่ายากๆ เพราะอยากข้ามขั้น อย่างจบ ป.4 แล้วจะไปเรียนแบบดอกเตอร์เรียน ไปไม่ไหว ถ้าเรียนไปตามขั้นตอนมันก็ไม่ยากเท่าไร

ตามขั้นตอน ถือศีล 5 ทุกวันแบ่งเวลาทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไป แล้วสมาธิจะเกิด ตรงที่คอยรู้ทันจิตนั้น เรียกว่าจิตตสิกขา สิ่งที่เราได้จากจิตตสิกขา คือสมาธิที่ถูกต้อง ถ้าเราไม่ได้สนใจจิต เราทำสมาธิไปแล้วไม่สนใจจิตเลย เช่น หายใจไปเรื่อยๆๆๆ เห็นแต่ลม สุดท้ายก็กลายเป็นแสง สุดท้ายก็เล่นเตลิดเปิดเปิงออกไปข้างนอก ไม่ได้สนใจจิตตัวเอง ไม่เรียกว่าจิตตสิกขา เข้าฌานเก่งก็ไม่เรียกว่าจิตตสิกขา เพราะฉะนั้นจะได้สมาธิที่ดี ก็ต้องมีจิตตสิกขา

ทำกรรมฐานแล้วก็คอยรู้ทันจิตตนเองไว้ จิตจะตั้งมั่นขึ้นมา ค่อยๆ ตั้งๆๆ ขึ้นมา สุดท้ายมันตั้งอยู่ได้ทั้งวัน โดยที่ไม่ต้องดูแล ไม่ต้องรักษา พอจิตตั้งมั่นแล้วก็ถึงขั้นเดินปัญญา งานเรามีเท่านี้ ก็รักษาศีล 5 ไว้ ทำในรูปแบบไว้ ตอนที่เดินปัญญา จะเดินปัญญาในระหว่างทำในรูปแบบก็ได้ ออกจากสมาธิในรูปแบบมา มาทำข้างนอกนี้ก็ได้ ที่เรียกว่าการเจริญสติในชีวิตประจำวัน อย่างตอนทำในรูปแบบ เราคอยรู้ทันจิต จิตเคลื่อนไปแล้วรู้ จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว เราคอยรู้ไป

ทำกรรมฐานเราไปเรื่อย แล้วรู้ทันจิตเรื่อยๆ ต่อไปพอเรามาอยู่ในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ จิตมันจะเคลื่อนไปทางไหนเราก็เห็น จิตมันจะปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว เราก็เห็น อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปเห็นทั้ง 6 ช่องหรอก คอยรู้ทันจิตตนเองไว้อันเดียวเท่านั้นเอง แล้ว 6 ช่องทางสุดท้ายมันรวมลงที่จิตอันเดียว ตาเห็นรูป ใครเป็นคนยินดียินร้าย จิตเป็นคนยินดียินร้าย หูได้ยินเสียง ใครยินดียินร้าย หูไม่เคยยินดียินร้าย จิตต่างหากยินดียินร้าย เพราะฉะนั้นไม่ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์อย่างไร สุดท้ายลงที่จิตอันเดียวนั่นล่ะ

ถ้าเราเคยฝึกกรรมฐานทุกวันในรูปแบบ แล้วรู้ทันจิตตัวเอง พอออกมาอยู่ในชีวิตประจำวัน เราจะดูจิตตัวเองได้ ตาเห็นรูปอันนี้ เห็นผู้หญิงสวย จิตเกิดราคะ เรารู้ หูได้ยินเสียงเขาด่าเรา จิตเกิดโทสะ เรารู้ นี้คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ถ้าเราทำได้ 3 อย่างนี้ คือรักษาศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ แล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไว้ แล้วก็ที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ถ้าทำอย่างที่หลวงพ่อบอกได้ มรรคผลนิพพานไม่ได้อยู่ไกลเลย มรรคผลไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัย ที่คนธรรมดาอย่างพวกเราจะทำได้ คนที่ทำไม่ได้ก็คือคนที่ไม่รู้วิธีทำ กับคนที่รู้วิธีทำแล้วไม่ค่อยอยากทำ ขี้เกียจ ถูกนิวรณ์ขวางกั้นความเจริญ เช่น อยากจะสุข อยากสบายอย่างเดียว อยากจะเพลินๆ อย่างเดียว

 

ชีวิตที่มีคุณค่า

บางคนบอกให้ภาวนา บอกไม่รู้จะภาวนาไปทำไม บอกภาวนาจะได้พ้นทุกข์ เขาบอกหน้าตาเฉยเลย เขาไม่เห็นเคยทุกข์เลย ตั้งแต่เกิดมามีแต่ความสุข เออๆ ก็บุญ อนุโมทนา พูดกันไม่รู้เรื่องแล้ว แล้วไม่นานก็วิ่งมาหาพระอีกแล้ว เมียไม่สบาย พ่อแม่ป่วยหนัก ทุกข์ไหม ทุกข์แล้ว อันนี้ทุกข์แล้ว ทุกข์แล้วทำอย่างไร เรียกหลวงพ่อช่วยแผ่เมตตาหน่อย ช่วยแผ่ส่วนบุญหน่อย ตอนนี้อยู่ไอซียู หลวงพ่อจะไปแผ่อะไร ทุกคนมันมีกรรมของตัวเอง หลวงพ่อก็ได้แต่แผ่ความปรารถนาดีให้

ถ้าคนไม่เคยฝึกจิตฝึกใจ มันรับอะไรไม่ได้หรอก กิเลสมันกั้นหมด อย่างถ้าเราเคยฝึกภาวนา แค่เรานึกถึงหลวงพ่อ สมาธิก็เกิดแล้ว ไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย อย่างเมื่อวันสองวันนี้ก็มีพระคุยกับหลวงพ่อ บอกว่า “ทำไมอยู่ใกล้หลวงพ่อแล้ว จิตมันตั้งมั่นได้ มันเดินปัญญาได้” ก็ถ้าอยู่กับหลวงพ่อ มันไม่กล้าวอกแวกเท่านั้นล่ะ จิตใจมันก็อยู่กับเนื้อกับตัว สมาธิมันเกิด เกิดแล้วมันก็เดินปัญญาได้ นี้ก็บอกว่าถ้าเขาสึกไปแล้วจะทำอย่างไร ก็นึกถึง นึกถึงหลวงพ่อหรือนึกถึงครูบาอาจารย์ นึกถึงพระพุทธเจ้านึกยากหน่อย เราวาดภาพพระพุทธเจ้าไม่ออก นึกถึงครูบาอาจารย์ที่เราเคารพนับถือสักองค์หนึ่ง

อย่างหลวงพ่อเมื่อก่อนหลวงพ่อนึกถึงหลวงปู่ดูลย์ เวลาจิตใจเราอ่อนแอท้อแท้ นึกถึงหลวงปู่ดูลย์ เหมือนกับท่านมานั่งอยู่ต่อหน้าเรา เหมือนท่านมองเราอยู่ จิตใจมันจะมีแรงขึ้นมาทันที ตื่นตัว แรงนั้นเกิดจากความตื่นตัวของจิต คิดถึงครูบาอาจารย์มันก็ตื่นตัว จิตก็เกิดแรงขึ้นมา มีสมาธิขึ้นมา ก็เดินปัญญา ไม่ยากหรอก 3 ข้ออย่าลืม ศีล 5 ต้องรักษา ทุกวันแบ่งเวลาไว้ทำในรูปแบบ ต้องทำ ในรูปแบบนั้นทำกรรมฐานอะไรก็ได้ แต่ทำแล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไว้ เคล็ดลับอยู่ตรงนี้ เคล็ดลับอยู่ที่ทำกรรมฐานแล้วคอยรู้ทันจิต ไม่ใช่ทำกรรมฐานแล้วก็รู้แต่กรรมฐาน อันนั้นจะไปเป็นสมาธินิ่งๆ เฉยๆ ซื่อบื้อ

แต่ถ้าทำกรรมฐานแล้วรู้ทันจิต จะเป็นจิตตสิกขา จะได้สัมมาสมาธิ สมาธิในลักษณะที่ทำให้จิตตั้งมั่น ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นแล้วอย่าอยู่เฉย งานของเรายังไม่หมด งานของเราก็คือการเจริญปัญญา ฉะนั้นถามว่างานจริงๆ คืองานอะไร งานเจริญปัญญา เพราะว่าเราจะต้องใช้ปัญญาสู้กิเลสชั้นละเอียด คือความโง่ทั้งหลาย ถ้าไม่โง่เสียอย่างเดียว กิเลสหยาบ กิเลสกลางอะไรมันมีไม่ได้หรอก มันเกิดจากโง่เท่านั้นล่ะ ฉะนั้นปัญญาเป็นตัวที่ทำให้เราถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น

ฉะนั้นสะสมของเราทุกวันๆ ค่อยๆ ดูไป อย่างปีนี้กับปีกลาย ปีนี้กำลังจะหมดไปแล้ว อีกไม่กี่ชั่วโมงปี 2565 ก็จะหมดไปแล้ว ไม่มีใครเอาคืนได้แล้วด้วย น่าใจหายไหม 2565 หมดไปแล้ว เอาคืนไม่ได้แล้ว มันหมดไปพร้อมกับชีวิตของเรา สั้นลงเรื่อยๆ เหมือนจุดเทียนไว้เล่มหนึ่ง จุดไปสว่างไสวอยู่ ในที่สุดเทียนก็ค่อยสั้นลงๆ แล้วแสงมันก็หมด เทียนมันก็ดับ ฉะนั้นเราเข้าใกล้ความตายเข้าไปทุกทีแล้ว ตอนนี้เราได้ใช้ชีวิตของเรา เหมือนเทียนเล่มหนึ่ง ให้ความสว่างกับตัวเองไหม กับจิตใจตัวเองไหม ถ้าเราให้ความสว่างกับตัวเองได้ เผื่อแผ่ความสว่างไปสู่คนอื่น ทำประโยชน์ของตนเอง ทำประโยชน์ของผู้อื่นไปด้วย อันนั้นล่ะชีวิตเราก็จะมีคุณค่า เวลาเรานึกถึง

เวลาผ่านไปจนแก่แล้วเราทำอะไรไม่ไหว เรานึกถึงชีวิตที่ผ่านมา เป็นชีวิตที่มีคุณค่า ได้เคยฟังธรรม ได้เคยปฏิบัติธรรม ได้เคยรู้ ได้เคยเข้าใจ ได้ลด ได้ละกิเลส ได้ช่วยเหลือคนอื่นให้รู้ให้เห็นตาม แค่เรานึกถึงก็มีความสุขแล้ว มันจะอิ่ม มีความอิ่ม มีความเต็มเกิดขึ้น ชีวิตเราจะได้รับรางวัลสำคัญเลย คือความอิ่มอกอิ่มใจ มีความสุขในตัวเอง หลายคนก็ใช้วิธีไปเที่ยว อันนี้แบบชาวโลก ไปเที่ยว ตอนนี้หนาวๆ ดูแม่คะนิ้งไปดูหิมะดูอะไร พวกที่อยู่กับหิมะไม่อยากดูหิมะหรอก เบื่อ มีแต่ทุกข์ทรมาน

พวกเราคนไทยไม่เคยเห็น อยากเห็น ถ่ายรูปเอาไว้ เดี๋ยวตอนแก่ๆ ก็มานั่งดูรูป เคยไปเที่ยวที่นี่ นี่ๆ ไปกับคนนี้ คนนี้ตายแล้วๆ ดูไป มันอิ่มอกอิ่มใจไหม ไม่อิ่มอกอิ่มใจจริงหรอก ดูไปแล้วจะว้าเหว่ใจ ถ่ายรูปไว้ตั้งเยอะ เคยสนุกด้วยกัน มันไปไหนแล้ว หรือแก่เฝ้าบ้านอยู่ด้วยกัน คนละบ้าน เพื่อนๆ กันกระจัดกระจายไป มันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงหรอก ฉะนั้นถ้าเราอยากมีรางวัลของชีวิตเอาไว้ให้ตัวเอง ภาวนาให้ดี พอเราเข้าใจ รู้วิธีรู้อะไร แล้วก็เผื่อแผ่ให้คนอื่นไปด้วย แล้วชีวิตเราจะเต็ม ชีวิตเราจะอิ่ม มีความสุข นึกถึงทีไรก็มีความสุขทุกที

หลวงพ่อเคยรู้จักคุณป้าคนหนึ่ง ป้าคนนี้แกเคยอุปัฏฐากหลวงปู่เทสก์ ตั้งแต่หลวงปู่เทสก์อยู่จันทบุรี จากจันทบุรีท่านไปภูเก็ต ก่อนจะขึ้นไปอยู่หินหมากเป้ง ก็อุปัฏฐากนานเลย ใจของแกรักใคร่ผูกพันหลวงปู่เทสก์มากเลย แล้วก็ภาวนาของแกทุกวันๆ ขยัน พอแกแก่ แกเริ่มเดินก็ล้มเรื่อยๆ หกล้มเรื่อยๆ แต่ก็ไม่เป็นอะไรมาก เพราะล้มอย่างมีสติ ไม่ค่อยเป็นอะไร กระดูกอะไรไม่ได้หักหรอก แต่แกเป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคเบาหวานหมอก็ตัดนิ้วแก นิ้วเท้า คนก็ไปเยี่ยม “โถ ป้า ถูกตัดนิ้วแล้ว โถๆๆๆ” แกก็ยิ้ม “เบาลงไปนิดหนึ่งแล้ว ต้องแบกนิ้วตั้งเยอะ ตอนนี้นิ้วเหลือน้อยแล้ว เบาลงไปตั้งเยอะ” แกคิดอย่างนี้

พวกที่โถๆ ไม่นานก็ตายหมดเลย แกตัดนิ้วที่ 2 ก็มีคนมาโถๆ อีก เห็นว่าแกไม่สบาย แกท่าทางจะไปไม่รอด แกก็ยังอยู่ของแกอย่างนั้น คนที่สงสารเห็นอกเห็นใจ แสดงความเห็นใจ ไปก่อนเยอะเลย จนถึงช่วงที่แกจะตายจริงๆ ก็อยู่โรงพยาบาล แกขอให้ลูกหลานเอารูปหลวงปู่เทสก์มาตั้งไว้หัวนอน แกลุกไม่ได้แล้ว แล้วตอนแกจะตาย ไม่มีคนอยู่ด้วย คนเข้าไปเห็นก็แกตายแล้ว ไม่รู้แกไปเอารูปหลวงปู่เทสก์มากอดไว้ได้อย่างไร กอดไว้อย่างนี้แล้วตายไปเลย จิตใจมีแต่ความสุข อิ่ม เจอแก แกบอกอิ่มอกอิ่มใจ ชีวิตแกได้ทำความดีมาเยอะ ได้อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ได้ทำครัวของวัด ได้อะไรต่ออะไร มันอิ่ม มันเต็ม อย่างนี้มีสาระ มีแก่นสาร ถ้าเป็นคนอื่นเขาจะเสียอกเสียใจ ลูกไม่ดูแล คร่ำครวญ นี่จิตที่มันฝึก ฝึกมาดีแล้ว มันพึ่งตัวเองได้ มันอิ่มอยู่ในตัวเอง ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไรล่ะ มันอิ่ม มันเต็ม มันมีความสุข มันมีความสงบอยู่ในตัวเอง

เพราะฉะนั้นพวกเราก็พยายามฝึกตัวเอง ปีใหม่ก็ขออวยพร “ให้พวกเราขยันภาวนา เหมือนคำอวยพรไหม ขออวยพรให้พวกเราขยันภาวนา ให้รู้ธรรมเห็นธรรม ให้เจริญในธรรม”

 

 

ปีใหม่ พวกเราก็มีสติไว้ มีสติ มีปัญญา ทำอะไรก็มีสติ มีปัญญากำกับเอาไว้ ในทางโลกก็อยู่อย่างมีสติ มีปัญญา ในทางธรรมถ้าไม่มีสติปัญญา มันก็ทำอะไรไม่ได้หรอก พัฒนาสติปัญญาขึ้นมา เป็นเครื่องมือพัฒนาจิตใจของเรา ปัญญาก็ไม่งมงาย ทำอะไรก็ดูมันมีเหตุมีผลทั้งสิ้น มีสติคอยรู้กาย มีสติคอยรู้ใจ มีปัญญารู้เท่าทันใจที่อยากดี รู้ทันมันเข้าไป ใจมันจะดีขึ้นๆ ชีวิตจะมีความสุข

ชีวิตเป็นของไม่แน่นอน อย่างเราไม่ประมาท อย่างเราขับรถไม่ประมาท คนอื่นมันประมาท มันก็ชนเราได้ ถ้าเรายังมีวิบากจะให้ผล อกุศลวิบากจะให้ผล ทั้งๆ ที่เราก็ทำดีที่สุดแล้ว อกุศลวิบากให้ผลมา ก็รับหน้าชื่นตาบาน ไม่เสียอกเสียใจ ถ้าเราฝึกตัวเองดีแล้ว เราจะไม่เสียใจกับตัวเอง คนที่ไม่ได้ฝึกตัวเองให้ดี มักจะเสียใจทีหลัง อย่างเราเอาแต่สนุกสนาน ละเลยพ่อแม่ หรือมัวแต่วุ่นโลกข้างนอก ละเลยคนในครอบครัว เดี๋ยวก็เสียใจทีหลังได้

คอยรู้ คอยรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ จะทำอะไรแค่ไหน เมื่อไร ตัวนี้ตัวสัมปชัญญะ ตัวปัญญาที่เราต้องใช้ ไม่ได้มีชีวิตให้หมดเปลืองไปวันหนึ่งๆ แล้วสุดท้ายก็ว่างเปล่า ไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัว ไม่มีอะไรให้นึกถึงแล้วอิ่มใจทีหลัง สะสม แล้วเราจะอิ่มอกอิ่มใจของเราทีหลังได้ ขอให้มีความสุข

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
31 ธันวาคม 2565