ความไม่ทุกข์คือรางวัลอันยิ่งใหญ่

เมื่อวันศุกร์หลวงพ่อไปเทศน์ที่สุรินทร์ งานเปิดอุทยานธรรมหลวงปู่ดูลย์ อตุโล เมื่อก่อนไปทางอีสาน จะเห็นครูบาอาจารย์มีเยอะแยะเลย ตอนนี้ร่อยหรอ หาแทบไม่ได้ ฉะนั้นความแข็งแรงในการฝึกกรรมฐานอะไรนี่ลดลงไปมาก จะมีคนมาบวชในงาน มีคนมาบวช เป็นทหารเป็นอะไรพวกนี้ บวชถวายกุศลกับองค์ภาฯ ญาติโยมคนหนึ่งก็มานุ่งขาวห่มขาวอยู่วัด หลวงพ่อก็บอกเขาว่า การบวชจะบวชพระบวชชีอะไรนี่ มันก็เป็นบุญล่ะ แต่ว่าต้องระมัดระวัง มันเกิดบาปได้เสมอ

อย่างเราเป็นฆราวาสถือศีล 5 เราภาวนา ทำมรรคผลให้เกิดได้ โสดาบัน สกิทาคามีอะไรนี่ ฆราวาสถือศีล 5 ทำได้สบายๆ นี่มาบวชแล้วทำไม่ดี ติดอาบัติ ติดอะไร ภาวนาไม่ขึ้น มันไม่ขึ้นจริงๆ ไม่ใช่คำขู่ อย่างเคยอาบัติแรงๆ แล้วก็ไม่ได้แก้อาบัติ พอลงมือภาวนา จิตจะรวม จิตมันจะดีดออกเลย รวมไม่ได้แล้ว

ฉะนั้นเป็นฆราวาสภาวนา ทำได้ พวกเราแค่ถือศีล 5 เอาไว้เท่านั้น แล้วเราก็พัฒนาธรรมะ 4 อย่าง อันแรกเราสร้างความเห็นถูกให้เกิดขึ้น เรารู้ว่าเราศึกษาธรรมะ ไม่ใช่แค่เพื่อความดี ความสุข ความสงบอะไรหรอก ความดีเป็นของไม่เที่ยง ความสุขมันของไม่เที่ยง ความสงบมันก็ไม่เที่ยง เราสร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้น มันจะเห็นความจริงว่าทุกข์ ทุกข์มันอยู่ที่กายที่ใจนี่ ฉะนั้นถ้าถามว่าทุกข์อย่างไร ก็ทุกข์กายกับทุกข์ใจ ฉะนั้นทุกข์มันอยู่ที่นี่

 

ทุกข์ให้รู้

พระพุทธเจ้าบอกทุกข์ให้รู้ ไม่ได้บอกว่า ทุกข์ให้ละ มันฝืนกระแสโลก กระแสโลกอยากละทุกข์ อยากหาความสุข พระพุทธเจ้าบอกว่า ให้รู้ทุกข์ ทุกข์มันอยู่ที่กาย ทุกข์มันอยู่ที่ใจ เพราะฉะนั้นเราก็รู้ลงที่กาย รู้ลงที่ใจ ทุกข์มันไม่ไปอยู่ที่ต้นไม้หรอก ฉะนั้นพยายามรู้ลงที่กายที่ใจของเราเอง

แล้วค่อยๆ สังเกตไป ค่อยรู้สึกๆ ไป เราจะรู้ว่าความทุกข์ก็ไม่ได้ของลอยๆ มา ก็ต้องมีเหตุให้เกิด ความทุกข์ทางร่างกาย มันมีเหตุก็คือความเกิดของเรา พอเราเกิดมามีร่างกาย ร่างกายนี้มันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ความทุกข์ทางจิตใจมันเกิดจากความอยาก เราอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย อยากโน่นอยากนี่ เวลาความอยากเกิดขึ้น คนทั่วๆ ไปก็มองเห็นว่าเวลามันอยากแล้วไม่ได้อย่างอยาก มันทุกข์มาก ก็เลยพยายามแก้ทุกข์ด้วยการสนองความอยากไปเรื่อยๆ มันไม่มีวันจบสิ้น

เมื่อความอยากนั้นไม่มีที่สิ้นสุด การสนองความอยากไปเรื่อยๆ จึงไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดีจริง สิ่งที่เราต้องจัดการ จัดการทำอย่างไรกับตัณหา คือความอยากมันจะไม่เกิดขึ้นอีก ความอยากมันเกิดจากความไม่รู้ ไม่รู้ความจริงของร่างกายว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อย่างร่างกายเราเจ็บอยู่ตลอดเวลา เจ็บเล็กเจ็บน้อย นั่ง เดี๋ยวก็คัน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวก็ปวด เดี๋ยวก็เมื่อย เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวกระหาย เดี๋ยวปวดอึ ปวดฉี่อะไรนี่ ร่างกายมันก็แสดงความจริง คือแสดงความทุกข์ให้ดูอยู่ตลอดเวลา

ถ้าเราคอยรู้ลงที่กายเรื่อยๆ ดูมันไป อย่าหลงลืมมัน เมื่อไรขาดสติ มีกายก็ลืมกาย มีจิตใจก็ลืมจิตใจ ให้เรารู้สึกกาย รู้สึกใจของเราไป แล้วเราก็จะเห็นความจริง ร่างกายมันมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ทุกข์เล็กทุกข์น้อยมันมีตลอดวัน นอนอยู่ว่านอนสบายแล้ว ซื้อเตียงมาราคาเป็นแสน ที่นอนอย่างดีเลย นอนไปนอนมา ก็ปวดก็เมื่อย ต้องพลิกซ้ายพลิกขวา ความทุกข์มันไม่ได้อยู่ที่เตียง ความทุกข์มันอยู่ที่ร่างกายเราเอง

พอเราเห็นความจริงอย่างนี้ ร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษเลย มีแต่ความทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อยเท่านั้นเอง พอใจมันยอมรับความจริงได้แล้วว่า ร่างกายมันต้องทุกข์ ท่านถึงบอกให้รู้ทุกข์ จะได้รู้ร่างกายมันต้องทุกข์ ให้ละความอยากเสีย ความอยาก อยากให้มันไม่ทุกข์ มันเป็นไปได้ไหม อยากให้ร่างกายไม่หิวข้าวได้ไหม อยากให้มันไม่หนาวไม่ร้อนได้ไหม ไม่ให้ปวดอึปวดฉี่ได้ไหม ไม่ให้ปวดให้เมื่อยได้ไหม ทำไม่ได้สักอย่าง

พอเรารู้ว่าความอยากอันนี้มันไร้เดียงสา เพราะร่างกายมันคือตัวทุกข์ จะไปอยากให้มันไม่ทุกข์ เป็นไปไม่ได้ มันก็จะเข้าใจความจริง พอเราเข้าใจความจริงของกาย ว่ากายนี้คือตัวทุกข์ จิตมันก็ค่อยปล่อยวางกาย พอปล่อยวางกายแล้ว ต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในร่างกาย มันไม่ทุกข์ ถ้าทุกข์ ก็ทุกข์น้อยๆ ทุกข์เฉพาะร่างกาย แต่ความทุกข์นั้นเข้ามาไม่ถึงจิตใจ

อย่างเราภาวนา คนทั่วๆ ไป เวลาร่างกายไม่สบาย หรือร่างกายมันแก่อย่างนี้ ใจเราทุกข์ไปด้วย เราไม่อยากแก่ เราภาวนาให้ดี เข้าใจความจริงของร่างกาย ร่างกายไม่ใช่ของดี ร่างกายคือตัวทุกข์ พอเราเข้าใจอย่างนี้ จิตมันก็หมดความดิ้นรนหิวโหยที่จะให้ร่างกายมีแต่ความสุขอย่างเดียว หมดความดิ้นรนหิวโหยที่จะให้ร่างกายไม่มีความทุกข์ ใจมันก็ไม่ทุกข์ไปด้วย ต่อไปร่างกายจะแก่จิตใจไม่แก่ด้วย ไม่ทุกข์ ร่างกายจะเจ็บ จิตใจก็ไม่เจ็บด้วย ไม่ทุกข์ ร่างกายจะตาย จิตใจก็ไม่ได้ตายไปด้วย มันก็ไม่ทุกข์

พอเราเรียนรู้ความจริงของกายได้ เราจะไม่ทุกข์เพราะกายอีกต่อไป มันก็จะเหลือทุกข์ทางจิตใจของเรา ทุกข์เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์เพราะประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ทุกข์เพราะไม่สมปรารถนา ทุกข์เพราะความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกายไม่สบายใจอะไร มันพลอยทำให้จิตใจเป็นทุกข์ไปด้วย ถ้าเรามาเรียนรู้ความจริงของจิตใจบ้าง เหมือนที่เราเรียนรู้กายนั่นล่ะ เราเห็นความจริงของกาย ยอมรับได้ว่ากายคือตัวทุกข์ ความอยากให้กายไม่ทุกข์ไม่มี ความอยากให้กายมีความสุขไม่มี ความอยากเกี่ยวกับกายไม่เกิด ถ้าเราเห็นความจริงของจิตใจ ความอยากเกี่ยวกับจิตใจมันก็จะไม่เกิดขึ้น

 

ความอยากเกิดจากการที่เราไม่รู้ความจริง

เราหัดภาวนาไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นจิตใจเราเต็มไปด้วยความอยาก อยากอะไรบ้าง อยากเห็นรูปที่พอใจ อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้สัมผัสที่พอใจ อยากได้อารมณ์อะไรที่เพลิดเพลินพอใจ แล้วก็มีความอยากที่จะให้สิ่งซึ่งไม่ถูกอกถูกใจนั้นมันหายไป หรือมันไม่เกิดขึ้น มันก็อยากได้อารมณ์ที่ดี จิตใจมีตัณหา อยากได้อารมณ์ที่ดี อยากให้อารมณ์ที่ไม่ดีหมดไปสิ้นไป อยากได้อารมณ์ที่ดีเรียกว่ากามตัณหา อยากให้อารมณ์ที่ไม่ดีหมดไปสิ้นไป เรียกว่าวิภวตัณหา

พอเรามีอารมณ์ที่ดี ถูกอกถูกใจ อย่างเราได้อยู่กับคนที่เรารัก มีความสุข เราไม่อยากให้ความสุขนี้ผ่านไป อยากให้มันคงอยู่ตลอดไป อันนั้นเรียกว่าภวตัณหา ตัณหาเลยมี 3 ลักษณะ อยากได้อารมณ์ พอได้อารมณ์มาแล้ว เป็นอารมณ์ที่ชอบใจ ก็อยากให้มันอยู่นานๆ ได้แล้วได้อารมณ์ที่ไม่ถูกใจ อยากให้มันหมดไปสิ้นไป ใจเราที่มันทุกข์ก็เพราะความอยาก 3 ตัวนี้ล่ะ ไม่มีตัวที่สี่

เราค่อยๆ เรียนรู้ลงที่จิตใจของเรา เราจะรู้เลยความอยากมันเกิดจากอะไร อย่างทางร่างกาย ความอยากเกิดจากการที่เราไม่รู้ความจริงของร่างกายว่าร่างกายมันคือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันก็เลยเกิดความอยากให้ร่างกายมีความสุข อยากให้ร่างกายไม่ทุกข์

ถ้าเรามาดูจิตดูใจ เราก็จะเห็นว่าความอยากมันก็เกิดจากการที่เราไม่เข้าใจความจริงของจิตใจนั่นเอง จิตใจเราไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก จิตใจเรามันก็ไม่เที่ยง มันก็ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา แล้วมันก็ควบคุมบังคับไม่ได้ ถ้าเราบังคับจิตใจของเราได้ เราก็สั่งเลยว่าจงมีแต่ความสุข สั่งไม่ได้ จงอย่าทุกข์ สั่งไม่ได้ จงคิดแต่เรื่องดีๆ สั่งไม่ได้ จงอย่าคิดความชั่ว อย่าคิดเรื่องชั่ว ก็สั่งไม่ได้ นี่เรียกอนัตตา

การที่เรามีสติ เราคอยเรียนรู้จิตใจของเราไปเรื่อยๆ ต่อไปเราก็จะรู้ จิตใจเราก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เช่นเดียวกับร่างกายนั่นล่ะ จิตใจนั้นมีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่ทุกข์กับสุข คนที่ไม่ได้ภาวนาจะรู้สึกว่าจิตใจมีทุกข์กับสุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็สุข พอมีทางเลือก มีทุกข์กับสุข ก็ดิ้นรนอยากได้ความสุข ดิ้นรนหนีความทุกข์ ก็เกิดความอยากอีกแล้ว แต่ถ้าเมื่อไรเราเห็นจิตใจของเรานั่นล่ะ ก็คือตัวทุกข์ตัวหนึ่งเหมือนร่างกายนั่นล่ะ มันทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง มันทุกข์เพราะมันถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา มันทุกข์เพราะว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเรา ไม่เป็นไปตามใจอยาก

พอเราเห็นซ้ำๆๆ มันจะเข้าใจความจริงเลย จิตใจก็ไม่ใช่ของวิเศษอะไรหรอก ถ้าเห็นถึงจุดนี้ จิตจะปล่อยวางจิต เมื่อจิตปล่อยวางกาย เราก็จะไม่ทุกข์เพราะกาย เมื่อจิตปล่อยวางจิต ก็จะไม่ทุกข์เพราะจิตใจอีกต่อไปแล้ว จิตก็เป็นแค่ธรรมชาติที่รู้อารมณ์อันหนึ่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เหมือนร่างกายเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เราจะเห็นโลกทั้งหมด พอเราเห็นกายเห็นใจเรา มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราแล้ว เราไม่ทุกข์กับมันแล้ว มองออกไปที่โลกข้างนอก มันก็เป็นเนื้อเดียวกันกับกายกับใจเรานั่นล่ะ

ในโลกข้างนอกจะมีอะไร ก็มีแต่วัตถุ มีธาตุ 4 ในร่างกายเราก็มีธาตุ 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม ข้างนอกก็มีจิตใจของสัตว์จำนวนมาก ของคนจำนวนมาก ในกายเราก็มีจิตใจของเราเหมือนกัน พอเราเข้าใจความจริง จิตใจเรานี้น่าสงสาร มันตัวทุกข์ตัวหนึ่ง มองออกโลกข้างนอก เห็นสัตว์ทั้งหลาย มันก็น่าสงสารเหมือนกัน ความเมตตากรุณามันจะเกิดขึ้นมาเต็มหัวใจ แต่สงสารแล้วก็เข้าใจความจริงอยู่เรื่องว่า สัตว์โลกมันเป็นไปตามกรรม สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม

อย่างบางคนฐานะร่ำรวยอยู่แล้ว ก็ยังอยากรวยต่อไปอีก พออยากรวยมากๆ บางทีก็ทำผิด ทำบาป ทำอะไร ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นอะไร แค่จะรวยเพิ่มขึ้น มีเงินล้านหนึ่งก็พอกิน อยากรวยเพิ่มขึ้น หมื่นล้านแล้วยังไม่พอเลย อยากได้แสนล้าน ล้านล้าน เท่าไรมันก็ไม่พอกับความอยาก ถามว่าแล้วมันจำเป็นกับชีวิตจริงๆ ไหม ไม่จำเป็นหรอก มีเงินพอซื้อข้าวกินอิ่มกับมีเงินมากมาย มันก็กินอาหารได้เท่าๆ กัน มีเงินซื้อเสื้อผ้าได้เยอะ มันก็ใส่ได้แค่นี้ล่ะ ร่างกายมันมีอยู่แค่นี้ จะเอาเสื้อผ้าอะไรมากมาย

เพราะความไม่ฉลาด มันก็อยากโน่นอยากนี่ไปเรื่อย ไม่มีที่สิ้นสุด อยากแล้วก็ดิ้นรน บางทีดิ้นรนแล้วก็เบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนสัตว์อื่นต่อไปอีก แล้วก็ได้มาแล้วก็นึกว่าตัวเองกำไรแล้ว ชีวิตนี้รวยเหลือเกิน พวกนี้ไม่เข้าใจกฎแห่งกรรม ไม่เข้าใจสังสารวัฏ อย่างการทำมาหากินอะไร ถ้าเบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนสัตว์อื่น ผลที่ตามมานั้น มีแน่นอนเกิดผลแน่นอน แต่ว่าสัตว์โลกมันมืดบอด มันไม่รู้มันไม่เห็น มันก็รวยไว้ก่อน ได้ไว้ก่อนแล้วจะดี คิดอยู่แค่นี้ เราเห็นแล้วเราก็สงสาร สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม

 

ภาวนาเพื่อวันหนึ่งจิตใจเราจะเกิดความมั่นคงขึ้นมา

พวกเราก็อย่าไปโง่ไปเขลา เหมือนคนที่ไม่ได้ยินได้ฟังธรรมะ เราเคยได้ยินได้ฟังธรรมะแล้ว อย่าไปหลงกับโลกมาก เราทำมาหากิน พออยู่พอกินได้ในวันนี้ พออยู่พอกินวางแผนไว้เผื่อสำหรับอนาคตแล้ว เวลาที่เหลือพยายามมาทุ่มเทพัฒนาจิตใจของตัวเองให้มันสูงขึ้นๆ ค่อยๆ ฝึกตัวเอง แล้วจิตใจเราจะร่มเย็น มีความสุข เวลาแก่ก็แก่อย่างมีความสุข เวลาเจ็บก็เจ็บอย่างมีความสุข เวลาจะตายก็ตายอย่างมีความสุข เวลาเราพลัดพรากจากคนที่เรารักที่พอใจ ก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา

อย่างพวกเราที่ไม่ได้ภาวนา คนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ภาวนา คนที่รักตายไป หรือลูกของตัวเองตายไป มันทุกข์แสนสาหัส ทุกข์มาก แต่ถ้ามันเคยภาวนา เคยรู้ความจริงว่าโลกมันไม่ยั่งยืน โลกมันไม่เที่ยง คนที่เรารักมันตายไปก็เห็นธรรมดา เขาอยู่มาช่วงหนึ่งแล้ว เขาก็ต้องตายไป บางคนพ่อแม่ติดโควิดตายในวัน 2 วัน ก็มีให้ได้ยินอยู่เรื่อยๆ คนที่ไม่ได้ภาวนาก็กลุ้มใจ เสียอกเสียใจ คนภาวนาก็เสียใจนิดหน่อย สลดสังเวชใจ ชีวิตนี้ไม่ยั่งยืน ชีวิตนี้ไม่แน่นอน ประมาทไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้นคนซึ่งภาวนากับคนที่ไม่ได้ภาวนามันจะต่างกัน มีส่วนที่เหมือนกันแล้วก็มีส่วนที่ต่างกัน ระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้ไม่ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติและผู้ไม่ปฏิบัติเหมือนกัน ร่างกายนี้เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เหมือนกัน ทางจิตใจ บางทีก็สมหวัง บางทีก็ผิดหวัง บางทีก็พลัดพรากจากคนที่เรารักอะไรอย่างนี้ บางทีก็เจอกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ หมุนเวียนตลอดเวลา เปลี่ยนแปลง เหมือนๆ กัน

อย่างพระอรหันต์ๆ บางทีท่านไม่ได้มีกิเลสแล้ว มีวิบากเก่าๆ บางทีถูกทำร้ายก็มี แต่ว่าคนทั่วไปจะต่างกับผู้ปฏิบัติแล้ว คนทั่วไปพอแก่ก็ทุกข์ใจ พอเจ็บก็ทุกข์ใจ พอตายก็ทุกข์ใจ พอพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็ทุกข์ใจ พอเจอสิ่งที่ไม่รักก็ทุกข์ใจอีก แต่ผู้ภาวนาเข้าใจความจริงของชีวิตแล้ว แก่ก็เรื่องของกาย เจ็บมันก็เรื่องของกาย ตายมันก็เรื่องของร่างกาย คุณงามความดีไม่ได้ตายไปด้วย เวลาประสบกับสิ่งที่ไม่รักก็เรื่องธรรมดา มีตา มันจะเห็นแต่รูปที่สวยที่พอใจได้อย่างไร มีหูมันก็ได้ยินทั้งสิ่งที่พอใจสิ่งที่ไม่พอใจ ใจมันเป็นกลาง กระทบอารมณ์แล้วจิตใจมันเป็นกลาง กระทบอารมณ์ที่ไม่ดี ใจก็ไม่ห่อเหี่ยว กระทบอารมณ์ที่ดี ใจก็ไม่ฟูหลงระเริงไป คนภาวนามันจะเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นชีวิตมันจะเสถียร มั่นคง

ฉะนั้นที่เราพยายามมาฝึกตัวเอง มาภาวนาเพื่อวันหนึ่งจิตใจเราจะเกิดความมั่นคงขึ้นมา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในร่างกาย จิตใจเราจะไม่ทุกข์ ไม่ว่าเราจะต้องประสบกับอารมณ์ที่ดีหรืออารมณ์ที่เลว จิตใจของเราก็ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่ทุกข์ นี่คือรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่เราจะได้ คือความไม่ทุกข์ เห็นไหมว่าความไม่ทุกข์มันเกิดจากเราละตัณหา ละความอยากได้ เราละความอยากได้เพราะเราเห็นความจริงของกายของใจ ท่านถึงสอนบอกทุกข์ให้รู้ นี่คือต้นทางของการปฏิบัติเลย พอเรารู้ทุกข์จริงๆ แล้ว กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ มันละสมุทัยเอง ท่านถึงบอก ทุกข์ให้รู้สมุทัยให้ละ ทันทีที่สมุทัยถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นทันทีเลย พร้อมๆ กับที่อริยมรรคเกิดขึ้น นี่คือเส้นทางที่พวกเราจะต้องเดินไปสำหรับพวกเราชาวพุทธ

เราเป็นคนส่วนน้อยของโลก ชาวพุทธเรา ชาวพุทธในทะเบียนตอนนี้ก็เหลือน้อยแล้ว ไม่กี่เปอร์เซ็นต์แล้ว ในโลก 5 – 6 เปอร์เซ็นต์เอง แต่เดิมเราว่าชาวพุทธมีเยอะ ประชากรส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธมีมาก ทุกวันนี้เหลือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ เหลือแค่นี้ แล้วใน 5 เปอร์เซ็นต์นี้ก็เป็นพุทธแบบอย่างนั้นๆ เป็นพุทธที่ไม่ได้เข้าในแก่นของธรรมะจริงๆ ไม่ต้องดูที่ประเทศอื่นหรอก ลองดูในเมืองไทย คนเป็นพุทธ มีชื่อว่าเป็นพุทธๆ เยอะแยะเลย แต่ถือศีล 5 ได้มีกี่คน เบื้องต้นของความเป็นมนุษย์คือศีล 5 ยังรักษาไม่ได้เลย แล้วจะไปรักษาอะไรที่ดีกว่านั้นได้

ฉะนั้นเราเป็นคนส่วนน้อยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะชาวพุทธที่สนใจปฏิบัติ ยิ่งน้อยหนักเข้าไปอีก แล้วพวกที่สนใจปฏิบัติเข้าสำนักนั้นสำนักนี้ เลอะเทอะเปรอะเปื้อน หลงทาง บางทีภาวนาแล้วเป็นบ้าเป็นอะไร เยอะแยะไปหมดเลย ที่เดินตรงทางจริงๆ เดินในเส้นทางของสติ ทำสติปัฏฐาน ทำอะไร มีไม่มาก ที่สามารถแยกได้ว่าอันนี้คือสมถะ หรืออันนี้คือวิปัสสนา หรืออันนี้ไม่ได้ปฏิบัติ แยกไม่ค่อยเป็น

 

ความเพียรชอบ

อย่างไปเดินจงกรมบอกนี่ปฏิบัติธรรม เดินทีหนึ่งตั้งหลายชั่วโมง อาจจะไม่ได้ปฏิบัติเลย มันก็แค่เดินเท่านั้น ถ้าเดินไปแล้วจิตใจก็หนีเตลิดเปิดเปิงไป ไม่ได้ปฏิบัติ หรือเดินแล้วก็ยืนเพ่งร่างกาย เห็นร่างกายมันเดิน จ้อง จ้องจนใจเครียดไปหมดเลย อันนั้นก็ไม่ได้ปฏิบัติ อันนั้นกำลังทรมานตัวเองอยู่ ส่วนถ้าเดินแล้วใจลอย เขาเรียกเดินเรื่อยเปื่อย ไม่ได้ปฏิบัติ นั่งสมาธิแล้วก็เคลิ้ม เห็นโน่นเห็นนี่ หรือสบายเพลินๆ ไม่ได้ปฏิบัติ กำลังขาดสติอยู่ กำลังหลงอยู่ หรือนั่งสมาธิแล้วก็เพ่งเอาๆ จนเคร่งเครียด นั่นก็ไม่ได้ปฏิบัติ นั่นกำลังทรมานจิตใจ ทรมานร่างกายตัวเองอยู่

ฉะนั้นคนที่ว่าปฏิบัติๆ มันอยู่ในทางสายกลางจริงๆ มีนิดเดียวเลย นิดเดียวจริงๆ ไม่ต้องดูอื่นดูไกล เราดูตัวเราเอง เวลาเราลงมือปฏิบัติ เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตเราหนีไปคิด เรารู้ไหม ถ้าจิตเราหนีไปคิด เรารู้ ใช้ได้ ส่วนใหญ่หนีไปแล้ว หนีไปนานเป็นชั่วโมงๆ เลย ป่วยการ นั่งให้เมื่อยเปล่าๆ จิตใจหนีไปแล้ว ไม่รู้เรื่อง ไม่ต้องคนอื่นคนไกล พวกเราเหมือนกัน อย่างเวลาเราภาวนา จิตใจเราก็หนีไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วเราไม่เห็น ถ้าไม่เห็นคือไม่ได้ปฏิบัติ ถ้าเห็นได้ปฏิบัติ ฉะนั้นจุดสำคัญก็คือให้เรารู้เราเห็นเท่าทันจิตใจของเราเองไว้ แล้วถึงจะเรียกว่าเราปฏิบัติได้จริง

สิ่งที่เรียกว่าความเพียร ไม่ใช่ว่านั่งสมาธินานแล้วมีความเพียร ไม่ใช่เดินจงกรมนานแล้วมีความเพียร คำว่าสัมมาวายามะ คำว่าความเพียรชอบ ไม่ใช่นั่งนาน ไม่ใช่เดินนาน แต่เพียรลดละกิเลส เพียรเจริญกุศล กิเลสเกิดที่จิตใจของเรา กุศลก็เกิดที่จิตใจของเรา ฉะนั้นเราทำกรรมฐาน แล้วเราคอยรู้เท่าทันจิตใจของเรา จิตใจเรามันคิดไปในทางชั่ว เรารู้ทันปุ๊บ ที่ชั่วมันก็ดับ นั่นล่ะเรียกว่าเรามีความเพียรชอบ

สิ่งที่เรียกว่ามีความเพียรชอบมีองค์ธรรม 4 อย่าง อันที่หนึ่ง เป็นความเพียรที่จะละอกุศลที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพียรเจริญกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น อันนี้ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย มีสติรักษาจิตไว้อันเดียวเลย ถึงจะทำได้ ส่วนจะรูปแบบ การทำกรรมฐานอะไรก็ได้ ถนัดอะไรก็ใช้ได้หมด หายใจเข้าพุธ หายใจออกโธ หรือถนัดเดินจงกรมก็เดินไป ถนัดดูท้องพองยุบก็ดูไป ถนัดทำจังหวะอย่างหลวงพ่อเทียนก็ทำไป แต่ไม่ว่าทำกรรมฐานอะไร ต้องรู้ทันจิตตนเอง

อย่างเราขยับอย่างหลวงพ่อเทียน ขยับไปๆ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น หรือไปคิดเรื่องมือ ท่านี้แล้วท่าต่อไปเป็นอย่างไร ให้รู้ว่าจิตกำลังหลงคิดอยู่ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเรารู้ทันแล้ว จิตมันหลงคิด จิตหลงมันเป็นอกุศล ทันทีที่เรารู้ว่าจิตหลงอกุศลดับทันที กุศลเกิดทันที คือทันทีที่สติเกิดนั่นล่ะ กุศลเกิดแล้ว ทันทีที่สติเกิดนั่นล่ะ อกุศลที่มีอยู่ดับแล้ว เพราะฉะนั้นความเพียรชอบ มันเพียรอยู่ที่จิตนี่เอง ไม่ได้เพียรอยู่ที่กายหรอก เดินไปเดินมาอย่างนี้แล้วไม่มีสติ ไม่มีประโยชน์อะไร ทรมานตัวเอง

อย่างเราเดินชอปปิง สมมติว่าเราไปเดินชอปปิง เราเห็นอันนี้ เห็นกระเป๋าแบรนด์เนม อยากได้ เรารู้ทันใจที่อยาก อันนี้คือการปฏิบัติ นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว ไม่ได้เดินในกระบวนท่าตามหลักสูตรเป๊ะๆๆ หรอก ขืนไปเดินยกเท้าย่างเท้าอะไรในห้าง คนเขาคงถอยแหวกทางให้ เขานึกว่าคนบ้ามา เดินธรรมดานี่เอง แต่ตัวสำคัญคือสติเราต่างหาก เดินไปแล้วเห็นผู้หญิงสวย ใจมันชอบ รู้ว่าชอบ เดินแล้วเห็นศัตรูคู่แค้น เห็นแล้วโกรธขึ้นมา รู้ว่าโกรธ

เวลาอยู่ในชีวิตธรรมดา อยู่ในชีวิตประจำวัน รู้ทันจิตตัวเองไป เวลาทำในรูปแบบ ก็ทำกรรมฐานที่เราถนัด แล้วรู้ทันจิตตัวเอง ฉะนั้นงานรู้ทันจิตตัวเอง ทั้งในรูปแบบก็ต้องรู้ทันจิต ทั้งอยู่ในชีวิตประจำวันก็ต้องรู้ทันจิต มิฉะนั้นเราไม่ได้ปฏิบัติหรอก เพราะว่าอกุศลเกิดแล้วเราไม่เห็น เราอยากปฏิบัติ อยากได้มรรคผล แหม ฟังแล้วดี ขยันภาวนาหามรุ่งหามค่ำ มันทำด้วยความอยาก ความอยากเขาเรียกว่ามันเป็นสหชาตปัจจัยของกรรม มันเกิดร่วมกับการกระทำกรรม ฉะนั้นพอเราอยากปุ๊บแล้วเราลงมือทำ ความอยากนั้นยังอยู่ จิตยังเป็นอกุศลอยู่ อยากนั่งสมาธิแล้วก็นั่งโดยไม่รู้ทันว่าจิตกำลังอยากอยู่ อกุศลยังอยู่ ฉะนั้นนั่งอย่างไรจิตก็ไม่เป็นกุศลขึ้นมา

สิ่งที่จะทำให้จิตเราเป็นกุศลได้ คือตัวสตินั่นล่ะ ในตำราเขาก็สอนไว้ชัดว่าสติทำหน้าที่อารักขา คือคุ้มครองรักษาจิต เวลาจิตมันชั่ว มีกิเลสมีบาปเกิดขึ้น พอสติรู้ทันเท่านั้น อกุศลดับทันที แล้วขณะที่เรามีสติอยู่ อกุศลใหม่จะเกิดไม่ได้ ขณะที่เรามีสติอยู่ กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว แล้วการที่เรามีสติบ่อยๆ ศีล สมาธิ ปัญญาก็จะสมบูรณ์ขึ้น กุศลเจริญงอกงามขึ้น เห็นไหมครบองค์ธรรมของสัมมาวายามะ องค์ธรรมก็คือละอกุศลที่มีอยู่ ปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด ทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด ทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญ เราทำอันนี้ได้ด้วยการมีสติรักษาจิตของเรานั่นเอง คอยรู้ทันมันไป

ทีนี้อยู่ๆ จะรู้ในชีวิตประจำวัน มันรู้ยาก เพราะเวลาเราอยู่ในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันกระทบอารมณ์ตั้ง 6 ทวาร มันดูยาก เราก็ต้องฝึกทำในรูปแบบ เวลาทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด เคล็ดลับอยู่ตรงที่ทำแล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง อย่างเราไปนั่งสมาธิ แล้วจิตเราฟุ้งซ่าน อย่าไปโมโหมัน อย่าไปอยากสงบ ถ้าอยากสงบไม่มีวันสงบ เหมือนเราอยากนอนหลับ มันจะไม่หลับหรอก พอนอนเล่นๆ มันหลับ อยากให้จิตสงบ จิตจะไม่สงบ ฉะนั้นเราภาวนาไป จิตสงบ เราก็รู้ จิตไม่สงบเราก็รู้ จิตมันฟุ้งซ่านอยู่ เราไม่ชอบ รู้ว่ามันไม่ชอบ รู้ทันจิตตัวเองไป พอจิตเป็นกลางปุ๊บ สงบทันทีเลย พอเราฝึกในรูปแบบชำนิชำนาญ เราจะรู้ทันจิตตัวเองได้ชำนาญ ทุกวันจะต้องทำ

อย่างหลวงพ่อ แต่ก่อนหลวงพ่อหายใจเอา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำไปเรื่อยๆๆ จิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน หายใจไป ไม่ได้อยากให้สงบ ไม่ได้อยากหายฟุ้งซ่าน ก็แค่รู้ว่ามันฟุ้งซ่าน นี่ทุกข์ให้รู้แล้ว หายใจไปๆ มันสงบก็รู้ว่ามันสงบ ฝึกอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก พอเรามาอยู่ในชีวิตประจำวัน เราจะเจริญสติในชีวิตประจำวันได้

 

ถ้าจิตเราถูก การปฏิบัติมันก็ถูก

คำว่า เจริญสติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ของเล่น ถ้าเราไม่เคยฝึกในรูปแบบจนกระทั่งรู้เท่าทันจิตตัวเอง มาอยู่ในชีวิตประจำวันมีแต่หลงกับหลง เพราะอยู่ในรูปแบบ เราก็มีแต่แค่กายกับใจของเรา ไม่ได้สนใจอย่างอื่น แต่อยู่ในชีวิตจริง มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย เรื่องราวทางใจ ระดมเข้ามาตลอดเวลาเลย เดี๋ยวตาเห็น เดี๋ยวหูได้ยิน เดี๋ยวจมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด อุตลุดเลย แล้วจะลงมือปฏิบัติอย่างไร ตั้ง 6 ช่องทางที่ความวุ่นวายจะเข้ามา มันมีตั้ง 6 ช่องทาง เอาช่องเดียว คือมีสติรู้ทันจิตตนเองไว้

พอตาเห็นรูป จิตเราเกิดราคะ ให้รู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตเกิดโทสะให้รู้ทัน จมูกได้กลิ่น จิตมันชอบ ให้รู้ทัน อากาศกำลังหนาว ลมก็พัดมาอีก ใจไม่ชอบเลย รู้ว่าไม่ชอบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ ให้มันกระทบไป แต่พอกระทบแล้ว จิตใจของเราเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว เกิดชอบเกิดไม่ชอบขึ้นมา มีสติรู้ทัน นี่ล่ะเรียกว่าการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ว่าจะเดินก็ต้องกำหนดไปเรื่อย เดี๋ยวก็รถทับตาย มันทำไม่ได้อย่างนั้น มันไม่ใช่ทาง มันไม่ได้อยู่ที่ร่างกายการปฏิบัติ ไม่ใช่กายเดินท่าไหนถึงจะดี ไม่ใช่ มันอยู่ที่ว่าจิตของเราถูกหรือไม่ถูก ถ้าจิตเราถูก นั่นล่ะการปฏิบัติมันก็ถูก ถ้าจิตเราไม่ถูก ทำอย่างไร เดินสวยอย่างไรมันก็ไม่ถูกอยู่นั่นล่ะ ทำไปแล้วกิเลสยิ่งแรง

ฉะนั้นเราพยายามฝึก คอยรู้ทันจิตใจของตนเองเรื่อยๆ จะฝึกในรูปแบบก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็คอยรู้ทันจิตใจตนเอง พอมาอยู่ในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้ว จิตใจของเราเกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เรารู้ทัน

ถ้าทำได้อย่างนี้ เราจะเข้าใจธรรมะอย่างรวดเร็วเลย มันจะเห็นร่างกายที่เคลื่อนไหว ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่ตัวเรา เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ยืมโลกมาใช้ วันหนึ่งก็ต้องคืนเจ้าของ ก็คือคืนโลกไป กายตายลงไป ดินส่วนดิน น้ำส่วนน้ำ ลมส่วนลม ไฟส่วนไฟ เป็นอย่างนั้นไป ส่วนจิตใจ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย มันเป็นไปตามการกระทบอารมณ์ กระทบอารมณ์นั้นก็เกิดความรู้สึกอย่างนี้ กระทบอารมณ์นี้เกิดรู้สึกอย่างนั้น ไม่ได้มีอะไรจริงจัง เหมือนกำลังฝันอยู่ทั้งวันทั้งคืน หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้

คอยรู้ๆๆ ไป สุดท้ายปัญญาแก่กล้าขึ้น ค่อยวาง เพราะรู้ตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อเหนื่อยจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้น จึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว แล้วจะรู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มี คำว่าชาติสิ้นแล้วก็คือจิตมันไม่เกิดอีกแล้ว

ถ้าเราภาวนา เราจะเห็นจิตเราเกิดอยู่เรื่อย เดี๋ยวก็เกิดเป็นเปรต อยาก ใจโลภขึ้นมา จิตเราขณะนี้ก็เป็นจิตเปรตขึ้นมา เดี๋ยวก็โมโหโทโส เดี๋ยวก็กลุ้มใจก็เป็นสัตว์นานาชนิดไป นี่ความเกิด ถ้าเราภาวนาจนเข้าใจความจริงของรูปนาม กายใจ จิตมันไม่ไปหยิบฉวยอะไรขึ้นมาอีก ไม่เกิด ไม่เข้าไปเกาะไปเกี่ยว

เวลาเกิด จิตมันเข้ามาเกาะรูปธรรมนามธรรม กลุ่มก้อนนี้เกาะขึ้นมา กรรมทำให้เรามีตัวนี้ขึ้นมา มีร่างกาย เกิดจิต ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในร่างกาย กายนั้นเริ่มต้นตั้งแต่เซลล์ของพ่อแม่ผสมกัน แล้วจิตหยั่งลงตรงนั้นเลย ปฏิสนธิเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้นเลย เป็นสัตว์เรียบร้อยแล้วตั้งแต่อยู่ในท้อง เพราะฉะนั้นทำแท้งก็คือฆ่ามนุษย์ ไปทำแท้งมนุษย์ แล้วเสร็จแล้วก็อาศัยเลือดของแม่ อาศัยออกซิเจนผ่านแม่ ค่อยๆ ตัวใหญ่ขึ้นมา อาศัยน้ำ อาศัยอาหาร อาศัยอากาศจากแม่ คลอดออกมาก็มาอาศัยธาตุของโลกอีก กินอาหาร ขับถ่าย หายใจเข้าออก ค่อยตัวใหญ่ขึ้น ถึงวันหนึ่งก็แตกสลายคืนสภาพเดิม ก็ไม่มีสาระแก่นสาร

ค่อยๆ ดู ค่อยๆ ภาวนา ร่างกายไม่มีอะไร ที่นั่งอยู่ มีสติอยู่ ทุกข์ตลอดเลย ทุกข์ เช่น เดี๋ยวก็คัน เวลานั่งฟังหลวงพ่อเทศน์ไม่คันรู้สึกไหม หลวงพ่อพูดคำว่าคัน เริ่มรู้สึกคันหรือยัง คันไหม เห็นไหมทำไมทีแรกไม่รู้สึก จิตมันไม่ได้มาจับ เพราะจิตมันสนใจในธรรมะอยู่ พอมันคัน จิตมาจับ มันคันแล้ว คราวนี้อยู่นิ่งไม่ได้แล้ว กระยุกกระยิกล่ะ

ฉะนั้นจิตเรียนรู้มันไว้ให้ดี จิตนี้พาเราไปนรกก็ได้ พาเราไปเป็นเปรต อสุรกาย ไปเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ พามาเป็นมนุษย์ก็ได้ พาไปเป็นเทวดา เป็นพรหมก็ได้ พาไปนิพพานก็ได้ ก็อาศัยจิตนี้ล่ะ ฉะนั้นเรามีของดีของวิเศษ ก็คือจิตตนเอง พยายามดูแลรักษาของดีของเราไว้ให้ดี คนทั่วไปเขาไม่เห็นคุณค่าของการรักษาจิต ก็ปล่อยจิตใจเตลิดเปิดเปิงไป ก็จมอยู่ในความทุกข์ เวียนว่ายตายเกิด ไม่รู้จักจบจักสิ้น

เราดูแลรักษาจิตของเราด้วยสติ จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว เรามีสติคอยรู้ๆๆ ไป นั่นล่ะจิตได้รับการดูแลรักษาแล้ว อกุศลที่มีก็จะดับ อกุศลใหม่ก็จะไม่เกิด กุศลที่ยังไม่เกิด ก็จะเกิด ที่เกิดแล้วก็เจริญขึ้นไป งอกงาม สุดท้ายก็เข้าถึงโลกุตตรกุศล อย่างพวกเราทำบุญทำทานอะไร เรียกว่าโลกิยกุศล ตอนที่เกิดอริยมรรคมันเป็นโลกุตตรกุศล

ฉะนั้นค่อยๆ พัฒนา ก้าวไปเรื่อยๆ เราไม่ต้องบรรลุมรรคผลในวันนี้พรุ่งนี้หรอก ก้าวไปให้ใกล้จุดหมายปลายทางให้มากขึ้นๆ อย่าหลงทิศหลงทางเท่านั้น อย่าหลงโลก ถ้าหลงโลกก็คือหลงทางแล้ว ถ้าเราไม่หลงโลก แบ่งเวลาไว้ดูแลรักษาจิตใจตัวเอง ฝึกในรูปแบบทุกวันต้องทำ แล้วต่อไปจิตขยับเขยื้อน จิตสุข ทุกข์ ดี ชั่วอะไร รู้หมดเลย จิตหลงไปคิดก็รู้ หลงไปดู หลงไปฟังอะไร ก็รู้หมด อย่างนี้เราพร้อมจะเจริญสติในชีวิตประจำวันแล้ว ฝึก ทำไปเรื่อยๆ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 ธันวาคม 2565