อนุสติ 10

ที่เรามาฝึกกรรมฐานกัน มันเป็นการฝึกจิต ไม่ได้ฝึกอย่างอื่นหรอก เมื่อก่อนมีญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งก็ไปเข้าคอร์สที่เขาจัดกันทั่วๆ ไป เดินยกย่าง แกบ่นใหญ่ว่าจะฝึกอย่างนี้มันต้องฝึกมานานๆ มิฉะนั้นกำลังตกหมด ร่างกายเสีย แกคิดว่าฝึกกรรมฐานเป็นการฝึกเคลื่อนไหว ฝึกร่างกายให้แข็งแรง ความจริงไม่ใช่ มันเป็นงานฝึกจิต เราจะฝึกจิตใน 2 อย่าง เบื้องต้นเราฝึกจิตให้มันมีกำลัง ตั้งมั่น มีกำลังมันต้องสงบแล้วก็ฝึกให้ตั้งมั่น พอจิตเรามีกำลังตั้งมั่นดีแล้ว ก็ฝึกอย่างที่สอง ฝึกให้จิตเกิดปัญญา

หลวงพ่อสอนมานาน ที่จริงเริ่มสอนมาตั้งแต่ ปี 2527 หลายคนยังไม่เกิด หลวงพ่อก็ยังไม่ได้บวชตอนนั้น มาบวชปี 2544 ที่สอนอยู่สม่ำเสมอก็เรื่องการฝึกจิตนั่นล่ะ ทั้งเรื่องของสมถกรรมฐาน ทั้งวิปัสสนากรรมฐาน มีไฟล์ที่เทศน์สอนหลายพันกัณฑ์ ตอนนี้ทางมูลนิธิฯ เขาแจ้งมา จะทำแผ่นที่หนึ่งร้อย แล้วจะเลิกทำซีดีเพราะตกยุคแล้ว เพราะยุคนี้ไม่มีคนสนใจฟังซีดี ไม่มีเครื่องจะฟังแล้ว ก็ต้องปรับเปลี่ยนไป

หลวงพ่อสอนทีแรกก็แค่เขียนแล้วซีร็อกซ์แจก ขี้เกียจพูดซ้ำๆ ต่อมาก็พิมพ์เป็นหนังสือ นายนี่ตอนนี้เป็นพระแล้ว มาขออัดเทปแล้วบอกจะไม่เอาไปเผยแพร่ ไปทำเทปขึ้นมาแล้วก็ปั๊ม ห้ามเผยแพร่ โห มันไปเร็วมากเลย เพราะว่าห้ามเผยแพร่ ท่านบอกช่วยกันฟัง ไม่มีใครฟัง แล้วค่อยมาพัฒนามาเป็นซีดี ได้ 100 แผ่น ก็พอสมควรแก่เวลายกเลิก แล้วมูลนิธิฯ เขาก็ไปหาทางเผยแพร่เอาเอง เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่มันเป็นเรื่องออนไลน์ไปหมด ก็เปลี่ยนตามสถานการณ์

เทศน์มาเป็นพันๆ ครั้งหลายพันครั้ง แต่ทุกครั้งมันก็อยู่ในเรื่องของสมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ออกไปเรื่องอื่นหรอก เคยเทศน์นอกเหนือจากนี้ครั้งเดียวล่ะ ตอนที่หลวงปู่แสงถูกโจมตี เทศน์ออกนอกเรื่องไปนิดหนึ่ง แต่จริงๆ ก็เพื่อบอกให้รู้ว่าถึงเราจะภาวนาดีแค่ไหน แต่โดยธาตุขันธ์ของมนุษย์มันก็มีขีดจำกัดอยู่ ธาตุขันธ์ของเรามันเกิดจากวิบากกรรมเก่าให้ผลมา บางทีก็แข็งแรง บางทีก็ไม่แข็งแรง บางคนก็ป่วยอย่างโน้นอย่างนี้ ภาวนาดีแค่ไหน มันก็หนีไม่พ้นหรอก มันก็เป็นเรื่องพื้นฐาน ทำความเข้าใจ อย่าไปวาดภาพว่าเราปฏิบัติแล้วร่างกายเราจะเป็นอมตะ ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายอะไรนี่ คนละเรื่องกัน

ที่เทศน์ทั้งหมดที่เหลือส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของสมถะกับวิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐานในตำราเขาสอนไว้ 40 ชนิด ใน 40 ชนิดนี้จะเป็นเรื่องของกสิณสัก 10 อย่าง หลวงพ่อจะไม่ค่อยได้สอนเรื่องกสิณ หลวงพ่อก็ทำไม่ได้ทั้ง 10 อย่าง เล่นอยู่ไม่กี่อย่างแล้วก็เบื่อ ขี้เกียจเล่นเลยไม่เอา เล่นกสิณดิน น้ำ ไฟ ลม ปรุงธาตุได้ จะให้แข็งแรงก็ได้ แต่ไม่เอา อยู่นานๆ ก็คือทุกข์นานๆ นั่นล่ะ จะปรุงไปทำไม แล้วกสิณนั้นก็ทำให้ออกรู้ออกเห็นอะไรได้ รู้อดีต รู้อนาคต มีตาทิพย์ มีหูทิพย์ หลวงพ่อไม่สนใจ เบื่อ

ตอนยังไม่บวชก็เล่นเหมือนกัน ก็รู้ ได้ยินเสียง เสียงคน เสียงไม่ใช่คน ได้ยิน สุดท้ายมันทรมาน เราจะนอนก็ได้ยินเสียง รำคาญ หาทางแก้ไขไม่สำเร็จ เลยไปกราบหลวงปู่เทสก์ ไปบอกท่านมันทรมาน ผมไม่อยากได้ ทำอย่างไรมันจะปิดได้ คล้ายๆ เปิดได้ปิดได้ อันนี้มันเปิดอย่างเดียว ไม่ปิด ออกรู้ออกเห็นตลอดเวลา หลวงปู่เทสก์ท่านก็บอกว่ามันยังไม่แก่กล้าพอ ถ้าแก่กล้าพอมันก็เปิดได้ปิดได้ อย่างเราอยากรู้อยากเห็นอะไรก็เปิด ไม่อยากรู้ไม่อยากเห็นก็ปิดไป พอท่านบอกต้องแก่กล้าพอ โอ๊ย เราเมื่อไรจะแก่กล้า จะต้องทรมานอีกนาน เลยไม่เอาแล้ว นั่งสมาธิ เข้าสมาธิไป อธิษฐานๆ ขอต่อไปนี้ขอไม่ได้ยิน รำคาญเสียง

เสียงเป็นศัตรูของปฐมฌาน กวน ถ้าเราจะเข้าฌานตั้งแต่ฌานที่หนึ่ง เสียงจะเป็นเครื่องกวน ฌานที่สอง ตัววิตกวิจารจะเป็นเครื่องรบกวน อย่างจะขึ้นฌานที่สองแต่ใจยังพะวงอยู่กับปฏิภาคนิมิต ห่วงวิตก ห่วงวิจารอยู่ มันทำไม่ได้ ฌานที่สาม ศัตรูของมันคือตัวปีติ ใจก็จะหวือหวาๆ ไป ไม่มีความสุข ศัตรูของฌานที่สี่คือความสุข จิตเราเป็นอุเบกขาอยู่ พอมันเกิดความสุขขึ้นมา จิตมันถอยออกมา จากฌานที่สี่ มันมีศัตรู ศัตรูตัวที่หนึ่งเลยที่ทำให้เราทำสมาธิลึกๆ ยาก คือเสียง หลวงพ่อใช้วิธีอธิษฐาน ต่อไปนี้ขอไม่ได้ยินเสียงแล้วก็ทำความสงบลึกเข้าไป ถอยออกมาอธิษฐานซ้ำ เข้าออกๆ ตั้งแต่นั้นไม่ได้ยินเสียงอีกแล้ว ตอนนี้สบาย เงียบๆ

สิ่งเหล่านี้มันเป็นผลจากกสิณ หลวงพ่อไม่แนะนำให้พวกเราเล่น ถ้าเล่นแล้วมักจะเตลิด แต่บางอย่างมันก็มีประโยชน์ อย่างเรามีทิพยจักษุอย่างนี้ เราเห็นนรกมีจริง สวรรค์มีจริง ตายแล้วไม่สูญ เห็นอย่างนี้ ใจเราจะกลัวบาป ไม่อยากทำบาป อยากทำบุญ ใจเราก็จะไม่ตกต่ำ เดินทางไกลในสังสารวัฏแล้วก็ไม่ตกต่ำ เพราะมันไม่กล้าทำบาป มันเห็นสัตว์ทำบาปแล้วลำบาก ก็มีประโยชน์ แต่ว่าโทษมันเยอะ พอรู้พอเห็นมันก็จะซน ควบคุมตัวเองไม่อยู่ ตั้งแต่นั้นก็จะดูกายดูใจของตัวเองยาก เพราะมันจะดูออกนอก เลยไม่ได้สอนไม่ได้แนะนำให้พวกเราเล่นกัน

 

พุทธานุสติ ธัมมานุสติ

กรรมฐานที่ไม่มีโทษไม่มีภัยแล้วก็ไม่ยากเกินไป กสิณยาก ของที่ไม่มีโทษไม่มีภัย เรื่องของสมถกรรมฐาน คือเรื่องของอนุสติ อนุสติ 10 ข้อ ไปดูพจนานุกรมของท่านสมเด็จประยุทธ ไปดูอนุสติ 10 ข้อ อย่างพุทธานุสสติ เราคิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงคุณของท่าน พุทธานุสติไม่ใช่พุทโธๆๆ อันนั้นเป็นบริกรรมเฉยๆ พุทธานุสติจริงๆ คือคิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า ถ้าละเอียดก็ไปอยู่ในบท อะสังวิสุโลปุสะพุภะ 9 ข้อ ท่านเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ที่ไม่มีกิเลส ก็ไปดู พิจารณา 9 ประการ ถ้าอย่างละเอียด

อย่างหยาบพุทธคุณ พุทธคุณของท่านก็มีเรื่องมีบริสุทธิคุณ มีปัญญาธิคุณ มีกรุณาธิคุณ บทนะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ สัมมาสัมพุทธัสสะเป็นปัญญา ท่านตรัสรู้ด้วยตัวท่านเองได้ ภะคะวะโต ผู้จำแนกแจกธรรม อะระหะโต ผู้บริสุทธิ์ มีกรุณาแจกธรรมะ มีความบริสุทธิ์ แล้วตรัสรู้ได้ด้วยตัวเอง มีพระปัญญาธิคุณ คิดถึงพระพุทธเจ้า จิตใจเบิกบาน อย่างหลวงพ่อเวลาคิดถึงพระพุทธเจ้า จิตใจจะเกิดปีติอย่างง่ายๆ เลย คิดถึงคุณของท่าน โอ้ ท่านสงเคราะห์สัตว์โลกมากมาย ตัวเองลำบาก ยอมลำบากมากมาย คิดถึงคุณของท่านก็เป็นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ อะไรก็มีหลักอยู่แล้วในบทสวด

ธัมมานุสติก็คิดถึงสวากขาโต ภะคะวาตาธัมโม พระธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ดีแล้ว สันทิฏฐิโก เห็นตามได้ ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวของพระพุทธเจ้าคนเดียว แล้วพวกเราสามารถเห็นตามได้ สันทิฏฐิโก อะกาลิโก ไม่จำกัดด้วยเวลา เพราะฉะนั้นธรรมะไม่เคยเสื่อม ธรรมะไม่เคยสูญ จะมีพระพุทธเจ้าหรือไม่มีพระพุทธเจ้า ธรรมะก็ยังมีอยู่ พระพุทธเจ้าท่านแค่เป็นผู้ไปค้นพบเป็นคนแรกเท่านั้นเอง

โอปะนะยิโก สวากขาโต ภะคะวาตาธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก ธรรมะเป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาที่ตัวเอง ไม่ใช่ไปอัญเชิญพลังพระธรรมมาที่ตัวเอง อันนั้นไม่ใช่ศาสนาพุทธ น้อมเข้ามาที่ตัวเองก็คือหันมาเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองนี้ ไม่ต้องไปเรียนที่อื่น เอหิปัสสิโก พึงกล่าวกับผู้อื่นว่ามาลองดูเถิด โอปะนะยิโก น้อมเข้ามาหาตัวเอง ถ้าเราน้อมเข้ามาหาตัวเองแล้วเราก็จะรู้ด้วยตัวเองว่าความทุกข์มันเกิดจากอะไร ความพ้นทุกข์มันเกิดจากอะไร มันจะรู้ 6 ประการ สะวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม ธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ดีแล้ว สันทิฏฐิโก เห็นตามได้ อะกาลิโก ไม่จำกัดด้วยเวลา

เอหิปัสสิโก เป็นธรรมะท้าพิสูจน์ ไม่ใช่ธรรมะขอร้องให้เชื่อ ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้อ้อนวอนว่าจงเชื่อเถิด จงศรัทธาแล้วเชื่อเถิด ชาวพุทธเราไม่โง่อย่างนั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะที่ห้าวหาญ ไม่กลัวการพิสูจน์ ท้าทายให้พิสูจน์ บอกว่าลองมาดูเถิด ลองมาดูด้วยตัวเองว่าจริงหรือไม่จริง ไม่ต้องเชื่อ อย่างเราลองมาภาวนา เราก็จะเห็นด้วยตัวเราเอง ไม่ต้องเชื่อเลยว่าถ้าตัณหาเกิดทีไร ความทุกข์ก็เกิดทุกที ไม่ต้องเชื่อ แต่มันจะเห็นด้วยตัวเอง แล้ววิธีที่เราจะเห็นได้ โอปะนะยิโก น้อมเข้าหาตัวเอง มาเรียนรู้อยู่ที่ตัวเอง เรียนรู้ที่กายที่ใจ กรรมฐานไม่เรียนเกินกายเกินใจออกไป วนเวียนเรียนอยู่ที่กายที่ใจนี้ล่ะ ถนัดรู้กายก่อนก็รู้ไป ถนัดรู้จิตก่อนก็รู้ไป ไม่เป็นไร แล้วแต่ทางใครทางมัน

สุดท้ายก็จะมาที่ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องถามใคร ส่วนมากชอบมาถามที่ภาวนาได้โสดาบันหรือยัง โอ๊ย ตัวเองยังไม่รู้อีกหรือ วิธีจะดูว่าตัวเองได้ธรรมะขั้นไหน ไม่ต้องไปถามใครเขา ให้ดูกิเลสตัวเอง วัดใจตัวเอง ใจของเราตอนนี้พ้นจากกิเลสตัวไหนบ้าง พ้นจากกิเลสหรือยัง ละกิเลสตัวไหนได้เด็ดขาดแล้ว กิเลสตัวไหนยังเหลืออยู่ กิเลสบางตัวที่ว่าละได้ๆ ก็ดูอีก เด็ดขาดจริงหรือเปล่า วัดใจ เวลาเราวัดความก้าวหน้า ของการปฏิบัติ ไม่ได้วัดที่อื่นหรอก เราวัดใจของเราเองว่ายังมีกิเลสอยู่สักเท่าไร

อย่างหลวงพ่อภาวนาก่อนนี้ หลวงปู่ยังอยู่ หลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อรู้เลย กิเลสของเราละได้เท่าไร ยังเหลืออีกเท่าไร รู้ ไปเล่าให้หลวงปู่ฟังท่านก็ยิ้ม คนมีปัญญาก็วัดใจตัวเองออก ไม่ต้องถามใคร วิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง แต่วิธีจะรู้อันแรกสุดเลย อย่าอคติ อย่าลุ้น ได้ไม่ได้ๆ ไม่ได้หรอก ได้ไม่ได้ๆ ไม่ได้หรอก ไม่ต้องถามต่อเลย มันยังลังเลสงสัยอยู่

แล้วที่ว่าได้ๆ เชื่อมั่นว่าได้ อ่านจิตลงไป บอกว่าไม่เห็นสักกายทิฏฐิเลย ไม่เห็นว่าจิตเป็นตัวเราเลย ไม่เห็นขันธ์ 5 เป็นตัวเรา ไม่เห็นตัวเราตรงไหนเลย เพราะฉะนั้นเป็นโสดาบันแล้ว ต้องรู้อย่าง สักกายทิฏฐิเป็นชื่อของกิเลสชนิดหนึ่ง มันก็คือทิฏฐิ เป็นกิเลสตัวหนึ่ง กิเลสก็เกิดดับ ไม่ได้มีตลอดเวลา ฉะนั้นบางทีดูลงไปก็ไม่เห็นตัวเรา ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่มันยังไม่เกิด ฉะนั้นเวลาที่เราจะดูกิเลสตัวเองเราต้องดูด้วยจิตปกติ จิตธรรมดาอย่างขณะนี้ถึงจะดูออกว่ากิเลสมีหรือไม่มี ถ้าเราไปเข้าฌาน ดูลงไป มีแต่ว่างๆๆ เอ๊ะ ไม่เห็น โทสะก็ไม่มีแล้ว ตัวตนอะไรก็ไม่มี ดับไปหมดเลย อันนั้นใช้ไม่ได้ ฉะนั้นเวลาจะวัดกิเลส วัดด้วยใจปกติของมนุษย์ปกติอย่างพวกเราอย่างนี้ล่ะ ดูสิ ตอนนี้ยังมีกิเลสอะไรอยู่ ตอนนี้ไม่มีกิเลสอะไร

เมื่อก่อนมีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ชื่อหลวงพ่อกิม หลวงพ่อกิมเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ แล้วเป็นพระที่จิตใจมีพลังเยอะ มีความสามารถพิเศษมาก รู้อะไรต่ออะไรเยอะแยะไปหมดเลย ท่านเคยบอกหลวงพ่อบอกว่าถ้าหากดูไม่ออก ให้บอกคนที่มาเรียนด้วย ให้สังเกตเอา 3 เดือน กิเลสตัวที่คิดว่าหายไปแล้วจะกลับมาไหม ให้ดูสัก 3 เดือน อย่างเราภาวนา จิตรวมปุ๊บ สว่างขึ้นมา เราบอกเราได้โสดาบันแล้ว เราไม่เห็นว่าขันธ์ 5 เป็นตัวเรา ไม่มีตัวเราในขันธ์ 5 ไม่มีตัวเราที่ไหนเลย ท่านบอกว่าให้ดูด้วยจิตใจปกติสัก 3 เดือน อย่างไรมันก็ต้องโผล่ขึ้นมา ถ้ามันไม่ใช่ของจริง เดี๋ยวมันก็มีตัวเราขึ้นมาจนได้แล้ว ท่านให้เวลาตั้ง 3 เดือน จริงๆ ถ้าสังเกตจริงๆ แป๊บเดียวก็เห็นแล้ว

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะสังเกตจิตใจตัวเองว่ามีกิเลสแค่ไหน อันไหนละแล้ว อันไหนยังไม่ละ ให้สังเกตในสภาวะที่จิตใจเป็นธรรมดาๆ จิตใจปกติอย่างนี้ล่ะ อย่าไปเข้าสมาธิทรงฌานแล้วบอก โอ๊ย ไม่มีโทสะ มันก็ไม่มีโทสะนั่นล่ะ เพราะโทสะก็ไม่ได้เกิดตลอด บางทีจิตก็สงบลงไป ว่าง บอกว่าไม่มีตัวตน จิตไม่ใช่เรา จิตไม่ใช่เราๆ เราก็ด่ามันเสียทีหนึ่ง แค่นี้มันก็เป็นเราขึ้นมาอีกแล้ว ฉะนั้นบางทีครูบาอาจารย์ท่านก็เล่นงานเอา

อย่างมีพระองค์หนึ่งท่านคิดว่าท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ไปหาหลวงปู่ดูลย์ จะไปสอนหลวงปู่ดูลย์ คิดว่าตัวเองบรรลุแล้ว คนอื่นไม่มีใครบรรลุแล้วในโลกนี้ นี่เป็นความวิปลาส มีวิปัสสนูปกิเลส หลวงปู่ดูลย์ก็พยายามแก้ให้ แก้เท่าไรก็ไม่ยอม ไม่เชื่อเลยเพราะคิดว่าหลวงปู่ดูลย์ไม่เข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้งอย่างนี้ ก็เลยมองไม่ออกว่าท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว หลวงปู่แก้อยู่พักใหญ่ กี่วันจำไม่ได้แล้ว

สุดท้ายท่านใช้ไม้ตาย ท่านด่าเอาว่า “ไปไอ้สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน” พระอรหันต์ถูกด่า โกรธ เลย โกรธ คว้าไม้กวาดพาดบ่า นึกว่าเป็นกลด พาดบ่า เดินออกไปจากวัดบูรพาราม เดินไปทางใต้ ลงไป 3 กิโลเมตร ไปถึงวัดป่าโยธาประสิทธิ์ แล้วเพิ่งนึกได้ เฮ้ย นี่โกรธ โอ้ ไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว ก็เข้าไปพักที่วัดป่าโยธาประสิทธิ์แล้วก็วันหลังก็ขึ้นมาขอขมาหลวงปู่ หลวงปู่ไม่ได้ว่าอะไร ที่ท่านด่า ท่านไม่ได้โมโห ท่านกระตุ้นให้เห็นกิเลส

เพราะฉะนั้นเวลาเราจะดูกิเลสตัวเอง ต้องดูด้วยจิตที่ปกติ ตอนที่จิตใจเราธรรมดาอย่างนี้ล่ะ ตากระทบรูป กิเลสมันก็เกิด หูได้ยินเสียง กิเลสก็เกิด จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด กิเลสก็เกิด เรามาดู แล้ววิญญูชนมันรู้ด้วยตัวเอง ทรชนไม่รู้หรอกต้องวิญญูชน ถึงจะรู้ด้วยตัวเองได้ว่าเราเข้าใจธรรมะแค่ไหน ระดับไหนถ้าเข้าใจแล้ว มันก็จะฟังปุ๊บ อย่างเราได้ยินใครพูดธรรมะอะไร เราฟังปุ๊บเรารู้แล้วว่าเป็นธรรมะระดับไหน รู้ด้วยตัวเอง

 

สังฆานุสติ

คุณของพระสงฆ์ บทสุปะฏิปันโน ปฏิบัติดี อุชุปะฏิปันโน ปฏิบัติตรงทาง ไม่นอกลู่นอกทาง นอกลู่นอกทาง เช่น แวะไปเล่นไสยศาสตร์ ออกรู้ออกเห็นอะไรต่ออะไร อันนั้นเรียกว่าไม่ใช่อุชุปะฏิปันโนแล้ว เตลิดเปิดเปิง ญายะปะฏิปันโน ปฏิบัติในธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ สามีจิปะฏิปันโน ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว นี่ลักษณะ

แล้วท่านก็บอกเลย คนที่เป็นสาวกของท่านก็คือพระอริยบุคคล 8 จำพวก คือพระโสดาปัตติมรรคบุคคล พระโสดาปัตติผลบุคคล คู่หนึ่ง สกิทาคามีมรรคบุคคล สกิทาคามีผลบุคคล อีกคู่หนึ่ง อนาคามีมรรค อนาคามีผล อีกคู่หนึ่ง อรหัตตมรรค อรหัตตผล อีกคู่หนึ่ง นี่คือสาวก ท่านไม่ได้บอกว่าคนที่บวชคือสาวะกะสังโฆ เพราะฉะนั้นเราเป็นฆราวาส เราก็สามารถเป็นสังโฆได้ เป็นสังฆะได้ เป็นพระตัวจริงได้ อย่างหลวงพ่อใส่จีวร หลวงพ่อเป็นพระสมมติ เป็นพระสมมติ สงฆ์ลงมติว่ารับนายคนนี้ รับนายปราโมทย์มาเป็นพระ นายปราโมทย์ก็เลยเป็นพระสมมติ

ส่วนจะเป็นพระแท้หรือไม่แท้ อยู่ที่ว่าเราอยู่ในกลุ่ม 4 คู่ 8 บุคคลที่ว่า เราอยู่ในกลุ่มนั้นไหม แล้วคนเหล่านี้เป็นคนที่เราควรต้อนรับ ทำบุญทำทาน สมควร ถ้ายังไม่ใช่แล้วก็ไม่มีศีลมีธรรม ครูบาอาจารย์ท่านสอน บอกข้าวทุกคำที่กินเข้าไป ตัวเองเป็นอลัชชี เหมือนกินลูกเหล็กเผาไฟ กินของร้อนเข้าไป แต่ถ้าเราตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ เรายังไม่ได้เป็นอริยบุคคลก็จริงแต่ว่าตั้งใจทำความดีไป ก็ไม่เป็นหนี้มาก เพราะเราก็มีคุณงามความดี มีบุญมีกุศลเกิดขึ้น คนมาทำบุญกับคนดี เขาก็ได้บุญเยอะ แต่เราถ้าเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมา ก็สมควรรับทักษิณาทาน เต็มร้อย

คุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ดูอย่างนี้ พิจารณาไปแล้วจิตใจชุ่มชื่นเบิกบาน อย่างเวลาหลวงพ่ออ่านพระไตรปิฎก อ่านเรื่องว่าพระพุทธเจ้าท่านไปทำอันนี้ๆ โอ๊ย ท่านมีคุณเหลือเกิน จิตใจเบิกบาน หรือฟังเรื่องพระสาวก อ่านเรื่องพระสาวก พระอรหันตสาวก พระอริยสาวก ครั้งพุทธกาล อ่านแล้วจิตใจฮึกเหิม เบิกบาน คุณของพระสงฆ์

ยังมีอันหนึ่ง เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ตอนนั้นท่านปกครองเมืองอะไรจำไม่ได้แล้ว ท่านก็คอยบอกพวกพ่อค้าที่เดินทางข้ามเมือง บอกถ้าได้ข่าวว่ามีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกเมื่อไร ถ้าได้ข่าวนี้ให้มาบอก แล้ววันหนึ่งมีพ่อค้าคนหนึ่งมาบอก “พุทโธ โลเก อุปปันโน” พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก พระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นจิตใจสั่นสะเทือน สะเทือนอย่างแรง หา พูดว่าอะไร บอก “พุทโธ โลเก อุปปันโน” พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก พระเจ้าแผ่นดินนั้นปีติมากมาย หลวงพ่ออ่านตรงนี้ หลวงพ่อก็ปีติมากมายเหมือนกัน โอ้ พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระธรรม ธัมโม โลเก อุปปันโน พระธรรมเกิดขึ้นแล้วในโลก สังโฆ โลเก อุปปันโน พระสงฆ์เกิดขึ้นแล้วในโลก พอเราอ่านอย่างนี้ จิตใจมันมีกำลังฮึกเหิมขึ้นมา นี่คุณ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณเป็นแบบนี้

ส่วนท่องพุทโธ ธัมโม สังโฆอะไร เป็นคำบริกรรม เสียหายไหม ไม่เสียหาย แต่ว่ามีความต่างกับ ก. เอ๋ย ก. ไก่ ข. ไข่อยู่ในเล้าไหม ไม่ต่าง มันคือคำบริกรรม คืออุบายผูกจิตเราไม่ให้ดิ้นรนซนไปที่อื่น ไม่ว่าเราจะบริกรรมคำอะไร ชอบคำไหน ก็บริกรรมคำนั้น ชอบพุทโธก็บริกรรมพุทโธ ธัมโม สังโฆอะไรก็ว่าไป ชอบนะ มะ พะ ทะ ก็ได้เหมือนกัน จะสัมมาอะระหังก็ได้ จะบริกรรมอะไรก็ได้

เคยมีพระที่วัดป่าสาละวันองค์หนึ่งบวชอยู่กับหลวงพ่อพุธ ท่านมีแฟนแล้ว มาบวชชั่วคราว หลวงพ่อพุธท่านก็บอกให้พุทโธไป ท่านก็ไปหายใจเข้าพุทออกโธ ฝึกพุทโธๆ ไปแล้วใจมันห่วงแฟน คิดถึงแฟนแล้ว พระหนุ่มๆ ไม่รู้ว่ามาบวชเพราะอะไร อาจจะบวชเพราะว่าพ่อแม่บอกว่าถ้าไม่บวชจะไม่ให้แต่งงาน ก็ไม่รู้เหมือนกันองค์นี้ แต่สมัยโบราณถ้าไม่บวชไม่ได้แต่งงาน องค์นี้ท่านก็ท่องพุทโธๆ ไป บอกว่าอยู่ๆ จิตมันเปลี่ยนคำท่อง ไปท่องชื่อแฟน ท่องแต่ชื่อแฟนของตัวเองแล้วนึกขึ้นได้ตกใจ มาบอกหลวงพ่อพุธว่าผมทำบาปมหาศาลแล้ว แทนที่จะท่องพุทโธตามที่หลวงพ่อบอก มันไปท่องชื่อแฟนเฉยเลย

หลวงพ่อบอกว่าท่องไปเลย ท่องชื่อแฟนของเรานั่นล่ะต่อไป เพราะอะไร จิตมันชอบคำนี้ ใช้ตัวนี้เป็นเครื่องผูกจิตไม่ให้หนีเตลิดเปิดเปิงไปที่อื่น ท่านก็ไปท่องชื่อแฟนของท่าน ท่องๆๆ ไป จิตรวมลงไป แล้วอาศัยที่จิตมันนึกถึงแฟน มันก็เห็นภาพแฟนโผล่ขึ้นมา ภาพสีกาโผล่ขึ้นมา ก็ยังท่องๆๆ ไปเรื่อยๆ เป็นนิมิตขึ้นมา ก็เห็นผู้หญิงคนนี้ค่อยๆ แก่ๆๆ ลงไป สุดท้ายก็ตาย เน่าๆ ไป ใจก็รวม สงบเข้ามาอีก

เห็นไหมว่าจริงๆ แล้วจะท่องคำว่าอะไร มันก็แค่บริกรรมเป็นเครื่องผูกจิต เราก็รู้หลักก็ดูตัวเอง ชอบคำไหนก็เอาคำนั้น อย่างหลวงพ่อชอบพุทโธ เพราะว่าฝึกมาแต่เด็ก ตั้งแต่ปี 2502 หายใจเข้าพุทออกโธ ทำอย่างนี้ ใจมันชอบพุทโธ เวลาพุทโธ หลายคนบอกว่าท่องพุทโธทีไรหลับทุกที ตรงข้ามกับหลวงพ่อ ถ้าท่องพุทโธไม่หลับ นอนไปกี่ชั่วโมงยันสว่าง นอนอยู่อย่างนั้นก็ไม่หลับหรอก ท่องพุทโธไปเรื่อยๆ แล้วจิตมันมีกำลัง อันนี้อยู่ที่พวกเรา กรรมฐานนี่ ฉะนั้นถ้าจะทำพุทธานุสติ ก็ต้องคิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า ธัมมานุสติ ก็คิดถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสติก็คิดถึงคุณของพระสงฆ์ ส่วนบริกรรมก็เป็นอุบาย เป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง ก็ใช้ได้เหมือนกัน

 

เทวตานุสติ

อนุสติข้ออื่นก็ยังมีอีกหลายอย่าง เทวตานุสติ คิดถึงเทวดา ทีนี้เรานึกไม่ออกเทวดาหน้าตาเป็นอย่างไร คิดไม่ออก เราคิดถึงคุณ ธรรมะที่ทำให้คนเป็นเทวดา ธรรมะที่ทำให้คนธรรมดาเป็นเทวดา คือเขามีศีล 5 แล้วเขามีหิริโอตัปปะ หิริก็คือมีความละอายใจที่จะทำชั่ว โอตัปปะก็คือเกรงกลัวผลของการทำชั่ว เราคิดถึงคุณของเทวดา ยุคนี้ชอบคิดถึงเทวดา แต่คิดแล้วกิเลสเกิด เจ้าประคุณ ขอเชิญเทพองค์นั้นองค์นี้มาช่วยเราอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้คิดถึงความดีของเขา แต่คิดอยู่ๆ ก็อยากให้เขามาช่วยเรา เขาจะมาช่วยอะไรเรา สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม ช่วยกันไม่ได้จริงหรอก ช่วยให้กำลังใจได้ หรือว่าถ้าเรามีกรรมดีพอ เขาก็พอช่วยได้ ถ้าเราไม่มีกรรมดีของเราเลยก็ช่วยไม่ได้

อย่างไปขอพรทุกวัน อู๊ย ไปขอตามวัดตามวา สร้างเทวรูป สร้างอะไรกันไว้เยอะแยะไปหมด เลย คนก็เข้าไปกราบไปไหว้ไปขอพร มันไม่เป็นพุทธเลย ไม่ได้คิดจะพึ่งตัวเอง คิดจะพึ่งคนอื่น พุทธะแปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรมะ นิสัยขี้ขออ้อนวอน ร้องขอให้ช่วยไม่ใช่ชาวพุทธหรอก อย่างมีมาเรื่อยๆ มีสินค้าตัวใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวก็นับถือองค์นี้ๆ เดี๋ยวก็นับถือพระราหู ช่วงหนึ่งก็ราหูทั้งบ้านทั้งเมืองเลย

ช่วงนี้ก็ท้าวเวสสุวรรณ ถามว่าท้าวเวสสุวรรณ ถ้าเรานึกถึงจะดีไหม ดี อะไรที่ทำให้ท่านได้เป็นท้าวเวสสุวรรณ ท่านสร้างคุณงามความดีอะไร แล้วท่านเป็นเทพ ท่านมีหิริโอตัปปะ เราอยากดีอย่างท่านไหม ถ้าอยากดีอย่างท่าน เราก็ทำอย่างท่าน อย่างนี้ถึงจะชาวพุทธ ถ้าเรียกให้ท่านช่วยโน่นช่วยนี่ ท่านเป็นเทพ ท่านจะมาช่วยอะไรเรา เราต้องช่วยตัวเอง เดินไปในกฎแห่งกรรม เทวดาเก่งแค่ไหนก็ไม่ละเมิดกฎแห่งกรรมได้

ขนาดพระพุทธเจ้าแก้กรรมให้ใครก็ไม่ได้ ไม่ใช่พอเจอพระพุทธเจ้าแล้วท่านจะแก้กรรมให้เราได้ ท่านเองยังไม่พ้นกรรมเลย ท่านก็ยังมีกรรม อย่างเคยวางยาเขา ถึงวันที่จะปรินิพพานท่านก็ถ่ายเป็นเลือด เป็นวิบากของท่าน วันสุดท้ายแล้วช่วงเดินทางจะรีบไปนิพพานที่กุสินารา หิวน้ำ อยากฉันน้ำ ยังไม่ได้ฉันเลย น้ำมันขุ่น นี่ก็เป็นกรรมที่ท่านต้องรับ ท่านก็ไม่ได้โอดครวญ โอ๊ย ฉันเป็นพระพุทธเจ้าแล้วทำไมยังต้องรับกรรม ไม่มีใครใหญ่เกินกรรม

ฉะนั้นชาวพุทธเราต้องเป็นชาวพุทธจริงๆ ไม่ใช่พุทธแต่ในทะเบียนบ้าน พุทธแต่ชื่อ ใช้อะไรไม่ได้จริง ที่จริงแล้วนับถือผี นับถือเทพ พรหมอะไรอย่างนี้ ถ้าจะนับถือให้นับถือคุณงามความดีของเขา อย่างนับถือผีบรรพบุรุษก็คิดถึงคุณของบรรพบุรุษ บรรพบุรุษดำรงชีวิตยากลำบาก อย่างพ่อแม่เรามีชีวิตยากลำบาก ทำมาหากิน บางคนอดมื้อกินมื้อเพื่อให้ลูกอิ่มอย่างนี้ นี่เป็นคุณใหญ่หลวง คิดอย่างนี้ มันถึงจะเป็นชาวพุทธ ถ้าอ้อนวอนให้มาช่วยเราๆ ใครมันจะไปช่วย แต่ละคนก็มีความทุกข์ แต่ละคนก็มีกรรมของตัวเอง

เพราะฉะนั้นเทวตานุสติ ก็คิดถึงธรรมะที่ทำให้คนเป็นเทวดา อนุสติตัวอื่นๆ ก็มีอีกเยอะ สีลานุสติ จาคานุสติ อย่างเราได้บริจาคทาน ถ้าทำด้วยใจบริสุทธิ์ ทุกวันนี้ทำทานก็ไม่บริสุทธิ์ ทำทานแล้วหวังผลตอบแทน ทำด้วยใจที่โลภ เป็นบุญเล็กน้อย เป็นบุญที่เจือด้วยอกุศล ฉะนั้นบุญก็ทำ กรรมชั่วก็ทำไปพร้อมๆ กันนั่นล่ะ ทำทานแล้วก็หวังรวย เอาสัตว์ไปปล่อย ปล่อยวัวปล่อยควาย ปล่อยปลา หวังว่าจะอายุยืน ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ประเภทนี้ยังไม่ใช่พุทธหรอก ถ้าทำทานก็ทำด้วยใจที่บริสุทธิ์ ทำด้วยเสียสละ ทำเพราะเห็นว่าสมควรจะทำ อย่างนั้นเราก็จะได้บุญสูงขึ้นไปอีก ก็ต้องรู้จักอย่างนี้

 

จาคานุสติ สีลานุสติ มรณสติ

ตอนหลวงพ่อบวชครั้งนี้ล่ะ ตอนบวชช่วงแรกๆ อยู่ที่เมืองกาญจน์ มีผู้หญิงคนหนึ่ง เขามาใส่บาตร ตักหลายทัพพี ตักทัพพีที่หนึ่ง ขอทุกข์ออกไปด้วย อันนี้โศก อันนี้โรค อันนี้ภัย แหน่ะ มายกทุกข์ โศก โรค ภัยให้พระ ตัวเองจะเอาดีๆ เอาข้าวมา เรียกเอากุ้งฝอยตกปลากะพง หลวงพ่อก็นึก พิลึกเว้ย ทำบุญ เอาของไม่ดี ทุกข์ โศก โรค ภัย ขอมอบถวายให้พระเอาไป ตัวเองจะได้เหลือแต่ดีๆ โอ๊ย อย่างนี้ไม่ถูก ไม่ใช่ ไม่ได้มีปัญญาที่จะพ้นทุกข์อะไรเลย ก็แปลกดี อีกวันหนึ่งหลวงพ่อเลยอาพาธไปไหนไม่ได้เลย ไม่เกี่ยวกันหรอก อันนี้มุก แต่ว่าป่วยไปเลย

เพราะฉะนั้นเวลาเราคิดถึงสิ่งต่างๆ ต้องรู้จักคิดไปในทางที่ลดละกิเลส อย่างเราทำทานด้วยใจบริสุทธิ์ หลายคนไปบริจาคโลหิตๆ อยากช่วยเพื่อนมนุษย์อะไรอย่างนี้ มันดูสะอาดกว่าไปบริจาคโลหิตแล้วหวังว่าจะได้ผลอย่างนั้นผลอย่างนี้ ถ้าทำด้วยใจที่บริสุทธิ์ บุญมันก็จะเต็มมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นทำทานก็ไม่ใช่ว่าต้องจ่ายเงิน ทานที่ไม่ต้องจ่ายเงินเยอะแยะเลย วัตถุทานมันทานชั้นต่ำ ถ้าทานอย่างบริจาคอวัยวะ บริจาคโลหิตอะไรอย่างนี้ เป็นบารมีระดับกลาง ถ้ากล้ากระทั่งสละชีวิตเพื่อสร้างคุณงามความดี เป็นปรมัตถบารมี บารมีชั้นสูง ฉะนั้นเวลาทำความดีทำให้มันได้บารมีสูงๆ หน่อย ถ้าทำแล้วเจือกิเลส ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร นี่จาคานุสติ

สีลานุสติ นึกถึงศีลที่เราตั้งใจรักษามาดีแล้ว พอนึกถึงจิตใจจะอิ่มเอิบเบิกบาน สีลานุสติ ไม่ใช่นั่งท่อง ศีลๆๆ ไม่ใช่ นั่นบริกรรม มรณานุสติ คิดถึงความตายบ้าง คิดถึงความตายบ่อยๆ วันละหลายๆ รอบยิ่งดี

คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านถามภิกษุทั้งหลายว่าคิดถึงความตายวันละกี่ครั้ง ภิกษุจำนวนมากบอกคิดถึงวันละ 1 ครั้ง ก่อนจะนอนก็คิดว่าเดี๋ยวเราก็ต้องตายวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าบอกประมาท ถามมาเรื่อยๆ พระอานนท์บอกคิดวันหนึ่งเป็นร้อยครั้งเลย พระอานนท์ก็อิ่มอกอิ่มใจ คิดตั้งร้อยครั้ง พระพุทธเจ้าคงชม ท่านบอกยังประมาทอยู่ แล้วท่านก็เฉลยบอกตัวท่านเองท่านเห็นความตายทุกขณะจิต

ตอนที่หลวงพ่อยังภาวนาไม่ค่อยจะรู้เรื่อง หลวงพ่อไม่เชื่อ ถ้าท่านคิดถึงความตายทุกขณะจิต ท่านก็คิดเรื่องอื่นไม่ได้ ไม่ต้องทำอะไรแล้ววันๆ คิดแต่ความตาย พอภาวนาแล้วเข้าใจตรงนี้ ที่ท่านเห็นความตายอยู่ทุกขณะจิต คือสติท่านดี ท่านเห็นทุกอย่างเกิดดับๆๆ ตลอดเวลา ทุกขณะ ขณะล่วงไป ตลอดเวลาก็มีแต่สิ่งที่เกิดแล้วก็ดับๆ ท่านเห็นความตายอยู่ทุกขณะ เออ มันจริงของท่าน สมัยที่เราโง่ เราภาวนาไม่เข้มแข็ง เราก็สงสัย เอ๊ะ ท่านทำอย่างไร พิจารณาความตายได้ทุกขณะจิต พอภาวนา เข้าใจแล้ว

อย่างถ้าเรามีสติอยู่เรื่อยๆ เราเห็นสภาวธรรมเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เราเห็นความตายอยู่ทุกขณะจิต เห็นทุกอย่างเกิดแล้วดับๆๆ ไปเรื่อย ฉะนั้นค่อยฝึกมรณสติ ถ้าอย่างหยาบก็ดูว่า โอ้ คนนี้เกิดมาแล้วก็ตาย ต่อไปเราก็ตายตามเขา ถ้าอย่างกลางๆ อย่างหยาบๆ ก็คือคนหนึ่งคนเกิดแล้วก็ตาย นี่หยาบที่สุดแล้ว ถ้าอย่างกลางๆ ก็เห็นคนๆ เดียวกันนั้น มันก็ตายมาเป็นลำดับ ตายจากเด็กอ่อนมาเป็นเด็กโต ตายจากเด็กโตมาเป็นวัยรุ่น ตายจากวัยรุ่นมาเป็นหนุ่มสาว ตายจากหนุ่มสาวมาเป็นคนกลางคน ตายจากกลางคนมาเป็นคนแก่ นี่เห็นความตายที่ละเอียดขึ้น

แล้วถ้าละเอียดยิบเลยก็คือเห็นความตายอยู่ทุกขณะ เป็นขณะๆ ไป อย่างขณะนี้มีความสุข แหมเราเป็นผู้มีความสุข อยู่แป๊บเดียวความสุขดับ ผู้มีความสุขตายไปแล้ว กลายเป็นผู้มีความทุกข์ขึ้นมา เราเห็นความตายละเอียดมากขึ้นๆ สุดท้ายก็จะเป็นอย่างที่พระพุทธเจ้าบอก พระพุทธเจ้าท่านเห็นความตายอยู่ทุกขณะจิต เห็นไหมมรณสติไม่ใช่ตื้นๆ ไม่ใช่ตายๆ ตายๆ อันนั้นบริกรรม

ท่องตายๆ ดีไหม ดี จิตไม่วอกแวกไปที่อื่น จิตอยู่กับคำบริกรรม ฉะนั้นท่องคำว่า แมวๆๆ ได้ไหม ได้ บางคนชอบแมว ก็ท่องแมวๆ เหมือนกันหมดเลย คำอะไรก็ได้ที่จะผูกจิตไม่ให้ซนไป อันนั้นก็เป็นอุบายก็ใช้ได้

 

กายคตาสติ อานาปานสติ

อนุสติ 10 ข้อ มีกายคตาสติ พิจารณาลงในร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไล่ลงไปทีละส่วนๆ ผมมีรูปร่างอย่างนี้ มีสีอย่างนี้ มีกลิ่นอย่างนี้ ไม่สวยไม่งามอย่างนี้ ไม่เที่ยง ทีแรกสั้นๆ แล้วก็ยาว ยาวแล้วก็ร่วง ทีแรกสีดำตอนนี้สีขาว มีแต่ความไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ ถ้าบังคับได้ ในโลกมันก็ไม่มีคนหัวล้าน หรืออย่างหลวงพ่อถ้าบังคับได้ หลวงพ่อก็บังคับตัวเองให้หัวล้าน จะได้ไม่ต้องโกนผม เสียเวลา ตอนไปให้คีโมที่โรงพยาบาล ดีใจอยู่เรื่องหนึ่ง ไม่ต้องโกนผม ไม่มีผมให้โกน แหม มันเหมาะกับพระมากเลย ไม่มีผมนี่ ถ้าเป็นโยม เราก็อยากให้ผมเต็มหัว มันทำไม่ได้ มันสั่งไม่ได้ มันเป็นอนัตตา

พิจารณากายคตาสติ เบื้องต้นก็พิจารณาไปถึงความมีอยู่ของร่างกายแต่ละส่วนๆ สูงขึ้นมาก็พิจารณาถึงความเป็นไตรลักษณ์ของมัน ค่อยพิจารณาไป แล้วพอพิจารณาไปเรื่อยๆ จดจ่ออยู่อย่างนี้จิตรวม เพราะว่าร่างกายที่เราไล่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันคือธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ อะไรพวกนี้ แล้วถ้าเราจดจ่อลงไปที่ธาตุ มันคือกสิณ อย่างเราดูผม ดูผมไปเรื่อยๆ มันคือกสิณดิน เพราะฉะนั้นกายคตาสติ อนุสติในตัวนี้ สามารถทำได้ถึงรูปฌาน อีกตัวหนึ่งคืออานาปานสติ อานาปานสติ มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้าเรื่อยๆ ไป อันนี้ก็ทำได้ถึงรูปฌานเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นอย่างเราจะทำอานาปานสติ ใช้จิตธรรมดาไปทำ ไม่ใช่เอาจิตโลภไปทำ อย่างจิตเราฟุ้งซ่าน ขณะนี้ธรรมดาของเราคือฟุ้งซ่าน นี่ธรรมดา ไม่ต้องหาทางแก้ ใช้จิตธรรมดานี่ล่ะหายใจไป ใช้จิตที่กำลังฟุ้งอยู่นี่ล่ะ หายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้า รู้สึกตัว เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า จิตจะสงบ จิตจะไม่สงบเรื่องของมัน แต่จดจ่อ หายใจไปแล้วรู้ๆ เดี๋ยวเดียวจิตจะสงบเอง เพราะเราไม่ไปยุ่งกับมัน แต่ถ้าจิตเราฟุ้งซ่าน เราไปนั่งหายใจ เมื่อไรจะสงบๆ จิตยิ่งฟุ้งซ่านมากกว่า เพราะเราไปเคี่ยวเข็ญ ไปบังคับมันจะให้มันสงบ

ฉะนั้นอย่างทำอานาปานสติ แนะนำเลยว่าใช้ใจธรรมดานี่ล่ะไปทำ ไม่ต้องไปทำเซื่องๆ ซึมๆ แข็งๆ ทื่อๆ อะไรหรอก ใช้ใจปกติแล้วหายใจไปสบายๆ เดี๋ยวจิตมันก็รวมเองล่ะ กิเลสมันก็หายไปหมดล่ะ สู้สติไม่ได้

วันนี้เทศน์ไปเทศน์มา มันกลายเป็นเรื่องของสมถะทั้งหมดเลย ฝึกไปแล้วจิตจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาได้ ค่อยๆ ฝึก จิตจะมีกำลัง ส่วนจิตจะตั้งมั่น ถ้าเมื่อไรเรารู้สภาวะ เห็นสภาวะ จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาอัตโนมัติ เช่น เราเห็นจิตหลง รู้ว่าหลงปุ๊บ สติรู้ทันปั๊บ จิตหลงดับ จิตตั้งมั่นอัตโนมัติเกิด เราโกรธ มีสติรู้ว่าโกรธ ความโกรธจะดับ จิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้สภาวะจริงๆ จิตตั้งมั่น ไม่เฉพาะว่าจิตหลงแล้วรู้ๆ หรอก รู้สภาวะตัวไหนจิตก็ตั้งมั่นได้ทั้งนั้นล่ะ

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ไปฝึกเอาๆ เลือกเอา อยากทำกรรมฐานอะไร แต่ไม่แนะนำกสิณ ขี้เกียจแก้ให้ เห็นโน่นเห็นนี่ บ้าไป ลำบาก

 

จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้

ตั้งอกตั้งใจภาวนา แล้วค่อยๆ พัฒนาตัวเองไป ให้มันสะอาดหมดจดมากขึ้นๆ แล้วชีวิตมันจะได้มีความสุข จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้ เราทำสมถะ จิตสงบลงไป จิตก็มีความสุข เราเดินปัญญา จิตเห็นความจริง จิตปล่อยวางได้ จิตก็มีความสุขใหญ่เลย

ฉะนั้นไม่ว่าเราจะฝึกทำสมถะ ฝึกจิตด้วยการทำสมถะ หรือฝึกจิตในขั้นของวิปัสสนา ลงท้ายมันจะมีความสุข จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้ แล้วเราจะพบว่าไม่มีอะไรมีคุณค่าในชีวิตเราจริงเลย เท่ากับการที่เราได้ปฏิบัติธรรม เป็นบุญนักหนาแล้วที่ได้ยินได้ฟังธรรมะ เป็นบุญอย่างมหาศาลที่ได้ลงมือทำ แล้วชีวิตจะได้ร่มเย็นเป็นสุขมากขึ้นๆ แล้วขั้นสุดท้ายค่อยไปวางความสุขอีกทีหนึ่ง ตอนนี้สุขไปก่อน ในโลกมันทุกข์เยอะ

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ สมถะก็จำเป็น เดินปัญญารวดไปเลยแล้วไม่ทำสมถะ จิตจะไม่มีกำลังเดินปัญญาจริงหรอก มันจะฟุ้งในธรรมะ เพราะฉะนั้นต้องแบ่งเวลาทุกวัน ตั้งอกตั้งใจไว้ จะต้องทำสมถกรรมฐาน เวลาจิตเราฟุ้งซ่าน เราก็ไม่ต้องไปดัดแปลงจิต เราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์กรรมฐานที่เราถนัด ที่อยู่แล้วสบายใจ เดี๋ยวมันสงบเอง ถ้าจิตมันสงบแล้ว เราก็ฝึกทำกรรมฐานของเราต่อไป รู้ทันจิตไว้ เดี๋ยวจิตก็หนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน จิตจะตั้งมั่น หายใจไป ทำกรรมฐานไปอะไรก็ได้ อย่างถ้าหลวงพ่อก็หายใจเอา ถ้าจิตไหลลงไปอยู่ที่ลมหายใจก็รู้ทัน จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาอีก

ฉะนั้นถ้าเรารู้ทันสภาวะ จริงๆ ไม่เฉพาะรู้ทันจิตหรอก ถ้ารู้สภาวธรรมเมื่อไร จิตก็ตั้งมั่นอัตโนมัติได้ แต่สภาวะที่เกิดบ่อยก็คือจิตหลง มันเกิดบ่อย ครูบาอาจารย์ก็เลยมาย้ำว่าหลงแล้วรู้ๆ ที่จริงถ้าโกรธแล้วเรารู้ว่าโกรธ จิตก็ตั้งมั่น เพียงแต่เราไม่ได้โกรธบ่อยขนาดนั้น แต่หลงมันหลงบ่อย ก็เลยมาเน้นที่หลง ในความเป็นจริง ไม่ว่าสภาวธรรมตัวใดเกิด สติระลึกรู้ได้ จิตจะมีสมาธิชนิดตั้งมั่นอัตโนมัติขึ้นมาทันทีเลย

ส่วนสมาธิสงบ ต้องฝึกเอา ทำกรรมฐานที่จิตใจพอใจไปอยู่กับมัน พักผ่อน จิตจะมีกำลัง พอมีกำลังแล้วคอยรู้ทันจิต จิตจะตั้งมั่น ฉะนั้นถ้าเรารู้อารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง จิตจะมีกำลัง ถ้าเรารู้เท่าทันจิตใจตนเอง จิตจะตั้งมั่น นี่คือสมาธิ 2 อย่าง อยู่ในเรื่องของจิตตสิกขา จะทำให้เราได้สมาธิที่ดี ส่วนปัญญาสิกขา แยกธาตุแยกขันธ์ไป ดูแต่ละธาตุแต่ละขันธ์แสดงไตรลักษณ์ไป แล้วแต่ความถนัด

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 ธันวาคม 2566