แสวงหาธรรมะ

จะหมดปีแล้ว เหลืออีกไม่กี่วัน สิ้นปีแล้ว อาทิตย์เดียว ปีหนึ่งเร็ว อายุเฉลี่ยของคนตอนนี้ 75 ปีประมาณนี้ เผลอแป๊บเดียวก็หมดแล้ว คนส่วนใหญ่ตกอยู่ในความประมาท ไม่มีใครเคยคิดว่า เราอาจจะตายเดี๋ยวนี้ ตายตอนนี้ วันนี้ ส่วนใหญ่ก็จะพยายามไม่คิดกัน จะรู้สึกคิดแล้วไม่เป็นมงคล ยังคิดแต่ว่าจะต้องอยู่อีกนานๆ นี้เรียกว่าประมาท ถ้าเราวางใจของเราให้ดี คิดดูสมมติว่าเราจะต้องตายวันนี้ เราอยากทำอะไรวันนี้ หรือจะตายพรุ่งนี้ เวลาที่เหลือจะทำอะไร

บางคนอาจจะกินเหล้าให้เพลินไปเลย ทำเลวให้สุดขีด อันนั้นพวกมิจฉาทิฏฐิ เขาก็คิดกันอย่างนั้น ก็คิดว่าชีวิตนี้ความตายก็คือจุดสิ้นสุดทุกสิ่งทุกอย่าง ก่อนตายก็หาความสุขให้เต็มที่ อยากทำอะไรก็ทำ พวกเราชาวพุทธเราไม่ได้คิดอย่างนั้น อันนั้นมันมิจฉาทิฏฐิ ความตายมันก็แค่เหมือนละครเปลี่ยนฉาก เดี๋ยวก็ขึ้นฉากใหม่

 

การแสวงหาออกไปข้างนอกนั้นไม่มีที่สิ้นสุด

ฉะนั้นก่อนที่เราจะตาย ก็รีบทำสิ่งที่มีประโยชน์ให้มากที่สุด ประโยชน์ไม่มีอะไรสำคัญเท่าการปฏิบัติ อันนี้ในสายตาหลวงพ่อในทัศนคติหลวงพ่อ พวกเราอาจจะไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร หลวงพ่อตั้งแต่เด็กๆ มันมีความรู้สึกตลอดเวลา ตอนเด็กๆ ก็รู้สึกว่า เราอยู่กับพ่อแม่อยู่บ้านเกิด รู้ว่าอยู่ตรงนี้ชั่วคราว ย้ายบ้านกี่ครั้งๆ ก็รู้สึกว่าเราจะอยู่ตรงนี้ชั่วคราว เดี๋ยววันหนึ่งเราก็ต้องไปจากที่นี่ ใจมันรู้สึกอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กๆ เพราะฉะนั้นมันจะไม่เกาะเกี่ยวผูกพันกับอดีต มันรู้ตรงนี้อยู่ประเดี๋ยวก็เลิกแล้ว คนๆ นี้เราเห็นอีกหน่อยก็ไม่เห็นแล้ว ใจมันรู้สึกอยู่เรื่อยๆ

บางทีไปซื้อบ้าน เราคิดว่าเราจะอยู่ตรงนี้ นี่คือบ้านที่แท้จริงของเราแล้ว ซื้อมาด้วยตัวเอง อยู่ไม่กี่วันก็รู้สึกตรงนี้ไม่ใช่ ย้ายบ้านกี่ครั้ง ซื้อบ้านกี่หลัง มันก็มีความรู้สึกซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า มันยังไม่ใช่บ้านที่แท้จริงของเรา มาภาวนา ค่อยๆ ฝึกมาตั้งแต่ปี 2502 ในใจก็รู้สึกว่าทุกอย่างมันของชั่วคราว รู้สึกอย่างนั้น ฝึกมาเรื่อยๆ มาเข้ามาถึงจิตถึงใจตัวเอง แล้วถึงรู้ว่าบ้านจริงๆ ของเราอยู่ที่ไหน ตราบใดที่จิตยังแสวงหาอารมณ์อยู่ ก็ยังไม่เจอบ้านที่แท้จริงของตัวเอง ค่อยภาวนาก็จะเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตไปรู้ไปเห็น มันของชั่วคราว พอเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก จิตมันก็คลายความยึดถือ เข้าสู่ความสงบสันติ ภาวนานะ แล้ววันหนึ่งเราจะได้กลับบ้าน

เราเหมือนคนหลงทางนับภพนับชาติไม่ถ้วน เวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ แสวงหาอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ใจมันรู้สึกว่าของที่มีที่เป็นอยู่ ยังไม่ใช่ของจริง ใจมันก็เที่ยวแสวงหา คนทั่วไปมันก็แสวงหา มันแสวงหาออกไปข้างนอก หาทรัพย์สินเงินทอง หาคู่ หาชื่อเสียงเกียรติยศ ก็เที่ยวแสวงหา การแสวงหาอย่างนั้นมันไม่มีที่สิ้นสุดหรอก เพราะทุกอย่างมันชั่วคราว มันได้มาแล้วเดี๋ยวมันก็หมดไป ในโลกไม่มีอะไร มีแต่ธรรมะประจำโลก โลกธรรม 8 อย่าง ได้รับผลประโยชน์แล้วก็เสียผลประโยชน์ มีตำแหน่งหน้าที่ยศศักดิ์ แล้ววันหนึ่งก็สูญเสียไป มีคนนินทาว่าร้าย มันก็ไม่นินทาตลอด บางทีมันก็มีการสรรเสริญ มีความสุขแล้วก็มีความทุกข์ นี่ธรรมะประจำโลก ของแค่นี้มันหลอกให้เราเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้น

เราเที่ยวแสวงหาไปเรื่อยๆ หาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เมื่อเจอความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ทนไม่ได้ ก็อยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่เป็นนิรันดร เราอยากได้ของนิรันดร ที่มันในสิ่งที่มันไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นหาเท่าไรมันก็หาไม่ได้ เที่ยวแสวงหาไปเรื่อยๆ แทนที่จะแสวงหาออกข้างนอก ให้เราแสวงหากลับเข้าข้างใน เข้ามาเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองไป ถ้าเราอยากพ้นทุกข์จริงๆ อยากพบบ้านที่แท้จริงของตัวเอง ให้ค้นคว้าพิจารณาเข้ามาภายใน โอปนยิโก น้อมเข้ามาหาตัวเอง ทำกรรมฐานอย่าให้เกินกายออกไป รู้สึกอยู่ที่กายที่ใจของเรา ไม่ต้องออกเที่ยวแสวงหาข้างนอกหรอก

อย่างตอนนี้คนจีนมาที่นี่เยอะมาก แต่ละวันๆ คนจีนมาเยอะแยะเลย เขามาไกลจากเมืองจีน ถามว่ามาทำอะไร มาแสวงหาธรรมะ แล้วมันจะเจอไหม ไม่เจอหรอก ธรรมะไม่ได้อยู่เมืองไทย ธรรมะไม่ได้อยู่ที่วัดสวนสันติธรรม ธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ถ้ามาแสวงหาธรรมะที่หลวงพ่อ ก็ยังแสวงหาออกนอกอยู่ อยากเข้าใจธรรมะจริงๆ ให้ค้นคว้าเข้าไปในกายในใจของตัวเอง อย่าให้เกินร่างกายออกไป เรียนรู้ลงไปเรื่อยๆ หลวงพ่อไปเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2525 ท่านบอกให้ดูจิตตัวเอง หลวงพ่อก็พยายามมาดู จิตอยู่ที่ไหน จิตต้องไม่อยู่ข้างนอก จิตต้องอยู่ในร่างกายนี้

 

โอปนยิโก น้อมเข้ามาหาตัวเอง

เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เราจะเรียนกรรมฐาน เรียนไม่ให้เกินร่างกายออกไป ไม่หลงไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสิ่งที่สัมผัสภายนอก จะรู้อยู่ที่กาย รู้อยู่ที่จิตใจ อย่างร่างกายเราสัมผัสอากาศเย็น ร่างกายมันหนาว เราไม่ได้ไปเรียนที่อากาศเย็น เราเรียนที่ร่างกาย ก็ร่างกายมันหนาว ร่างกายเป็นตัวรูป มีธรรมชาติที่แตกสลายได้เพราะความร้อนความเย็นพวกนี้ เป็นธรรมชาติของรูป มันแตกสลายด้วยความร้อน ด้วยความเย็น เป็นต้น เขาบอกอย่างนี้ มีเป็นต้นด้วย อย่างอื่นก็ได้ เวลาเรียนกรรมฐาน อย่างอากาศเย็นมากระทบ ร่างกายเราทนไม่ไหว เราเห็นร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ เรียนเข้ามาตรงนี้ ไม่ใช่เรียนเรื่องอากาศข้างนอก

ได้ยินเสียง เมื่อก่อนอยู่เมืองกาญจน์ฯ ชาวบ้านจนแต่ชอบจัดงาน เวลามีงานทียอมกู้เงินไปจัดงาน จ้างเครื่องเสียงมา มีลำโพงตัวใหญ่ๆ เปิดทีหนึ่งแผ่นดินสะเทือน ตอนนั้นหลวงพ่ออยู่ที่สวนโพธิ์ฯ มันเป็นร่องของลมพอดีเลย ที่ไหนจัดงาน เสียงมันมาที่สวนโพธิ์ฯ ขนาดกระจกหน้าต่างสั่นกราวๆ โอ้ เสียงรุนแรงมาก มันไม่ใช่ระดับเสียงธรรมดา มันเป็นคลื่นที่กระแทกเข้ามา ไม่เฉพาะกระทบหูหรอก มันกระทบเข้าที่ร่างกายด้วย ขนาดตู้เหล็กยังสั่นเลย สั่นกราว หน้าต่างสั่น แล้วเราก็นั่งนึกว่าเมื่อไรมันจะเลิกเสียที ถ้านึกอย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไร มันก็เปิดเครื่องเสียงไป ก็เขาจ้างมาให้เปิด เราก็เห็นความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย เสียงกระทบหูรุนแรงจนปวดหู ปวดหูเป็นผัสสะทางกาย ไม่ใช่ทางหู ผัสสะทางหูมันได้ยินเสียงสูงๆ ต่ำๆ

แต่ถ้าหูมันบาดเจ็บ อันนี้เกิดจากผัสสะทางร่างกายแล้ว คลื่นเสียงที่รุนแรงกระแทกร่างกายบาดเจ็บได้ แล้วอย่างตา ตามีหน้าที่เห็นรูป แต่ถ้าเดินไม่ระวังถูกไม้ทิ่มตา อันนั้นตาในฐานะของตัวรูป ตัวกาย ไม่ใช่ในฐานะของประสาทตา ประสาทตาทำหน้าที่เห็นรูป ประสาทหูทำหน้าที่ได้ยินเสียง แต่ถ้าตาบาดเจ็บ หูบาดเจ็บ นี้เป็นการกระทบทางร่างกาย พอมันกระทบเข้ามา เราดู โอ้ ร่างกายเป็นที่ตั้งของความทุกข์ ตราบใดที่ยังมีร่างกายอยู่ มันก็มีความทุกข์อยู่ ทุกข์กระทบกระทั่งด้วยความเย็นความร้อนความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความตึง ความไหวอะไรพวกนี้ กระทบเข้าที่กาย หลีกเลี่ยงไม่ได้

เสียงกระทบที่หู เลือกไม่ได้ว่าจะได้ยินเสียงอะไร มีเสียงมันก็ได้ยิน มีจิตไปรับรู้ก็ได้ยิน เราเลือกไม่ได้ ดูไปๆ ในอายตนะทั้งหลาย ตัวตามันก็ไม่ใช่ของเรา เราสั่งไม่ได้ ตัวหูเราก็สั่งไม่ได้ ได้ยินเสียง ไม่ชอบใจ เสียงหนวกหู เราไม่ชอบ เราสั่งว่าอย่าได้ยิน ก็สั่งไม่ได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ เราสั่งไม่ได้ แล้วสิ่งที่มันมีอยู่ก็คือทุกข์ ร่างกายก็ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา จิตใจก็ถูกความทุกข์บีบคั้น เฝ้าดูเรื่อยๆ แล้วเห็น ร่างกายมันไม่ใช่เรา เราสั่งไม่ได้ นี่เป็นอนัตตา จิตใจเราก็สั่งไม่ได้ ก็เป็นอนัตตา เรียนรู้อยู่ที่กาย เรียนรู้อยู่ที่จิตใจ ไม่ไปเรียนรู้ข้างนอกหรอก ไปเรียนรู้ที่รูป ที่เสียง ที่กลิ่น ที่รส ที่สัมผัสทางกาย ที่เรื่องราวที่คิด ไม่มีประโยชน์เท่าไร

แต่ถ้าเราภาวนาเก่งๆ จริงๆ รูปภายนอกกับรูปภายในก็เสมอกัน เห็นรูปภายนอกก็เห็นไตรลักษณ์ เห็นไตรลักษณ์แล้วก็จิตมันย้อนเข้ามาดูรูปภายใน ก็เห็นไตรลักษณ์ ได้ยินเสียงภายนอกก็เห็นไตรลักษณ์ รู้ลงที่หูก็เห็นไตรลักษณ์ สั่งไม่ได้ ได้ยินหรือไม่ได้ยิน สั่งไม่ได้ ถ้าฝึกชำนาญจริงๆ จะดูธรรมะภายใน คือในกายในใจของเรา หรือดูธรรมะภายนอก ก็ใช้ได้เหมือนกันหมด ฉะนั้นในสติปัฏฐาน 4 ก็พูดถึงธรรมภายใน ธรรมภายนอก ธรรมในที่ใกล้ ธรรมในที่ไกล

แต่ว่าในทางปฏิบัติจริง อินทรีย์เรายังไม่แก่กล้า ออกไปเรียนธรรมภายนอกในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสภายนอก มันไม่ค่อยเห็นไตรลักษณ์ มันเผลอเพลิน เพราะฉะนั้นที่จะปลอดภัยคือย้อนเข้ามา มาเรียนรู้ธรรมภายใน คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นธรรมภายใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลายเป็นของนอก ค่อยๆ เรียนไปทั้งข้างนอกทั้งข้างใน สิ่งภายนอกมากระทบ ก็เกิดทำงานภายใน เกิดการทำงานภายใน ตาเห็นรูป จิตก็เกิดสุขเกิดทุกข์ เกิดยินดียินร้าย เกิดกุศลอกุศลขึ้น หูได้ยินเสียงก็เกิดสุขเกิดทุกข์ขึ้นที่จิต ไม่เกิดที่หูหรอก เพราะตา หู จมูก ลิ้น กระทบอารมณ์ไม่มีทุกข์หรอก มันเฉยๆ แต่อย่างเสียงดังๆ แล้วหูเจ็บ กระทบที่กาย ที่กายนี้มีสุขมีทุกข์ได้ ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น มันไม่มีสุขมีทุกข์หรอก มันอุเบกขาตลอด

พอมีการกระทบอารมณ์แล้ว มันส่งสัญญาณเข้ามาที่จิตอีกทีหนึ่ง ตาเห็นรูปก็เกิดความสุขความทุกข์ขึ้นในจิตใจ ถ้าเห็นรูปแล้วตีความได้ว่ารูปนี้ถูกใจ มีความสุขเกิดขึ้น ถ้าตีความว่ารูปนี้ไม่ถูกใจ อย่างคนเขาด่า ได้ยิน แปลได้ว่าเขาด่า เกิดความไม่ชอบใจ เป็นอนิฏฐารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ไม่ชอบ อารมณ์ที่ชอบเกิด ก็มีความสุขขึ้นมา อารมณ์ที่ไม่ชอบเกิด ก็มีความทุกข์ขึ้นมา พอมีความสุขความทุกข์ จิตมันก็ทำงานต่อ ถ้าเราไม่มีสติ พอความสุขเกิดขึ้นในใจ ราคะมันจะแทรก มันจะยินดีพอใจ พอความทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ โทสะมันจะแทรก พอมันเป็นอุเบกขา เฉยๆ โมหะมันเอาไปกิน เพราะดูไม่ออกว่าอันนี้ดีหรือไม่ดี จับอารมณ์ได้ไม่ชัดเจน จะหลง จับอารมณ์ได้ไม่ชัด ไม่รู้ ไม่ได้รัก ไม่ได้โกรธอะไร นี่กระบวนการที่จิตมันทำงาน

พอมันทำงานเข้ามาถึงจิตแล้ว มันก็ปรุง ปรุงดีปรุงชั่วขึ้นมา ตรงมันปรุงสุขปรุงทุกข์ ยังไม่มีกิเลสหรอก กิเลสมันแทรกตามความสุข ตามความทุกข์มา ตรงนี้จิตมันปรุง ปรุงดีปรุงชั่วขึ้นมา ฉะนั้นปรุงดีปรุงชั่วขึ้นมาแล้ว จิตก็จะดิ้นรนไป อย่างมันปรุงดี จิตก็ดิ้นรน อย่างฟังธรรม มันปรุงดี อยากฟัง จิตก็ โอ้ อยากฟัง อยากขึ้นมาแล้ว ก็ตะเกียกตะกายอยากฟัง มาแล้วก็เข้าศาลาไม่ได้ จิตใจหดหู่ มีความอยากเกิดขึ้น ใจก็ดิ้นรน ตรงที่ใจมันดิ้นรน ใจมันทุกข์ ความดิ้นรนของจิตเรียกว่าสังขารก็ได้ เป็นสังขารคือความปรุงแต่งของจิต ดิ้นแบบชั่ว ปรุงชั่ว ปรุงดี พยายามจะไม่ปรุง แล้วความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต จะเรียกว่าภพก็ได้ เป็นภพ การทำงานของจิต กรรมภพ ตัวนี้ตัวร้ายเลย

เวลาเราจะตาย กิเลสตัณหามันจะผลักให้จิตเราปรุงภพขึ้นมา เราตายด้วยจิตชนิดไหน เราก็จะไปเกิดใหม่ด้วยจิตชนิดนั้น ไม่ใช่จิตดวงเดิม ถ้าเราตายด้วยจิตที่เศร้าหมอง ถ้าจิตที่เศร้าหมองในภพนี้ดับ เกิดจิตในภพใหม่ ดวงแรกที่เกิดนั้นก็เป็นจิตที่เศร้าหมอง มันข้ามไปเรื่อยๆ

 

เรียนรู้รูปนามกายใจให้มากจนกระทั่งแจ่มแจ้ง

ฉะนั้นเราภาวนาจนกระทั่งเรียนรู้ความจริงลงไป จนกระทั่งจิตมันพ้นจากความปรุงแต่ง ถามว่าความปรุงแต่งมีไหม ความปรุงแต่งมี เป็นการทำงานของขันธ์ แต่จิตมันพ้นความปรุงแต่ง ที่จิตมันพ้นความปรุงแต่งได้ เพราะมันรู้อริยสัจ 4 รู้แจ้งเห็นจริง ที่เราปรุงแต่ง เราก็ปรุงเพราะว่าเราอยากได้สิ่งนี้ เราไม่อยากได้สิ่งนี้ ถ้าเราเห็นด้วยปัญญาอันยิ่ง ทุกสิ่งที่เราอยากได้ ทุกสิ่งที่เราไม่อยากได้ ก็ล้วนแต่ของไม่มีแก่นสารสาระทั้งสิ้น แล้วมันเป็นตัวทุกข์ ไม่มีอย่างอื่นเลย ถ้าภาวนาจนเห็น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป ถ้าเห็นแจ้งตรงนี้ จิตก็จะหมดความอยาก ถ้าจิตหมดความอยาก จิตก็หมดความดิ้นรนปรุงแต่ง

เมื่อจิตหมดความดิ้นรนปรุงแต่ง จิตจะไม่มีการหยิบฉวยเอาอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา โดยเฉพาะการหยิบฉวยจิต มันหยิบฉวยอยู่ตลอดเวลา แล้วเราไม่รู้เลย อย่างพวกเราจิตมันหยิบฉวยจิตอยู่ แต่เราไม่เคยเห็น มันคล้ายๆ เราเกิดมา เราก็แบกอะไรไว้อันหนึ่ง ตลอดชีวิตเราก็ถือสิ่งนี้เอาไว้ เราก็เลยไม่รู้ว่านี่เป็นส่วนเกิน ถ้าเราภาวนา เราก็เห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็คือแต่ทุกข์ทั้งนั้น ก็มีแต่ทุกข์ มีแต่ภาระทั้งนั้น มันเห็นอย่างนี้จิตมันถึงจะวาง พอมันข้ามความปรุงแต่งได้ มันก็จะวาง วางความหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ตอนหลวงพ่อเป็นฆราวาส หลวงพ่อภาวนามาถึงจุดหนึ่ง พบว่าจิตมันปล่อยวางจิต แต่มันปล่อยได้ชั่วคราว มันก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก มันวางได้ไม่เด็ดขาด พอดูไปเรื่อย จิตมันเป็นไตรลักษณ์ เห็นไตรลักษณ์ก็วางอีก แล้วเดี๋ยวก็หยิบอีก พอเห็นไตรลักษณ์อีกก็วางอีก แล้วก็หยิบอีกอยู่อย่างนั้น เพราะว่ามันยังไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ มันไม่รู้หรอก สิ่งที่เราหยิบฉวยคือตัวทุกข์ อย่างที่เรายึดถือตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะเราไม่เห็นว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย คือตัวทุกข์ เราหยิบฉวยจิตใจ เพราะเราไม่เคยเห็นว่าจิตใจคือตัวทุกข์ เรียกว่าเรามีอวิชชา เราไม่รู้ความจริง

ฉะนั้นเราภาวนาเรื่อยๆ จนเห็น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป ฝึกเรื่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งเห็น ถ้าเห็นแล้วคราวนี้มันไม่หยิบ ไม่ต้องหาทางให้มันวาง สั่งให้มันวางไม่ได้ แต่ถ้าจิตมันฉลาด มันรู้ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันคือตัวทุกข์ มันไม่หยิบ เพราะฉะนั้นมันไม่ต้องวาง ถ้ามันหยิบ มันก็มีหยิบแล้วก็วาง หยิบแล้วก็วาง เดี๋ยวก็หยิบอีก แต่ถ้ามันรู้แจ้งแทงตลอด ว่านอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป มันก็ไม่หยิบ เมื่อมันไม่หยิบก็ไม่ต้องคิดเรื่องการปล่อยวาง

ฉะนั้นถ้าเราภาวนา เรายังคิดว่าทำอย่างไรจะปล่อยวาง ทำอย่างไรจะปล่อยวาง ยังไม่ได้ผลจริง เรียนรู้ทุกข์ให้มาก ไม่มีเส้นทางอื่นเลย ทุกข์ให้รู้ รู้อะไร อะไรเป็นทุกข์ ขันธ์ 5 เป็นทุกข์ แล้วรูปนามกายใจนี้ เรียนรู้ให้มาก จนกระทั่งมันแจ่มแจ้ง นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป อย่างถ้าเราภาวนาไม่เป็น เราก็จะเห็นร่างกายนี้เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็สุข จิตใจนี้เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็สุข มันมี 2 อัน มีสุขกับทุกข์ ถ้าภาวนาเรื่อยๆ ดูมันเป็นไตรลักษณ์ไปเรื่อย ในที่สุดวันหนึ่งมันก็เข้าใจแจ่มแจ้ง ที่เกิดมาทั้งหมดมันเป็นทุกข์ทั้งหมด

อย่างความรู้สึกสุข คนหลงก็รู้สึกว่ามันเป็นสุข เวลาจิตใจเรามีความสุข อย่างเราฟังเทศน์ฟังธรรม หรือเราภาวนา โอ๊ย จิตใจมีความสุขขึ้นมา เรารู้สึกมันสุข แต่ถ้าเรามีความละเอียดประณีตพอในการปฏิบัติ เราจะเห็นความสุขก็เป็นของเสียดแทง เป็นของเสียดแทง ทำให้จิตเสียสมดุล ทำให้เกิดความดิ้นรนของจิต อย่างมีความสุขขึ้นมา เราก็อยากให้ความสุขคงอยู่นานๆ ความสุขหายไปเราก็เศร้าโศก เสียดาย อยากให้ความสุขกลับมา พอสติปัญญามันมากพอ มันเห็นกระทั่งความสุขก็คือตัวทุกข์ มันเป็นภาระ แล้วก็เป็นของที่ไม่ยั่งยืนอะไร แสวงหาแทบตาย แล้วสุดท้ายก็ไม่เหลืออะไร เหมือนบางคนแสวงหาเงินเยอะแยะ สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้ มีเงินหลายหมื่นล้าน สุดท้ายคนอื่นเขาเอาไปใช้ กระทั่งร่างกายเรา หวงแหนถนอมอย่างดี สุดท้ายเขาก็เอาไปเผา เอาไปฝัง

สติปัญญานะ เรียนรู้ลงในกาย เรียนรู้ลงในใจ ซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้ววันหนึ่งจะเห็นกายนี้คือทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตใจนี้ก็มีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย กระทั่งความรู้สึกสุข จริงๆ ก็เป็นของเสียดแทง เวลามีความสุขเกิดขึ้น สังเกตไหม บางทีถ้าเราหลงๆ ความสุขเกิดขึ้น เราเหมือนคนบ้าหัวเราะเอิ๊กอ๊ากๆ ดีอกดีใจ มันอาการของคนวิกลจริตแล้ว จิตมันขาดสติอย่างแรงเลย ถ้าเป็นฆราวาสก็ยังไม่น่าเกลียดเท่าไร เพราะเป็นธรรมดาของฆราวาส มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น มันหลง แต่ถ้าพระหัวเราะเอิ๊กอ๊ากๆ น่าเกลียด น่าเกลียด มันควรจะดีกว่านั้น ฉะนั้นเวลาหลวงพ่อได้ยินพระหัวเราะก๊ากๆๆๆ รู้สึก โอ้ สังเวชใจ ต้องเรียนอีก ต้องฝึกอีกนานเลย

เพราะฉะนั้นเราเรียนกรรมฐาน ไม่ได้เรียนที่อื่น เราเรียนลงที่กายเรียนลงที่จิตใจของตัวเอง ตามรู้ตามดูลงไป ก็เห็นมันเป็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปมันเกิดปัญญารวบยอดแจ่มแจ้งขึ้นมา กายนี้ก็เป็นทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตนี้ก็เป็นทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย คนเขลาเวลามันทุกข์น้อยก็รู้สึกมันสุข แต่คนที่มีสติมีปัญญา จะรู้เลยว่าเวลากระทั่งความสุขเกิดขึ้น จิตก็เสียความสมดุล จิตก็กวัดแกว่งกระเพื่อม จิตกระเพื่อม จิตดิ้นรนปรุงแต่งขึ้นมา ความปรุงแต่งเกิดทีไรความทุกข์ก็เกิดทุกทีเลย ต้องเห็นอย่างนี้จิตมันถึงจะวาง ไม่มีใครทำจิตให้บรรลุมรรคผลได้หรอก จิตบรรลุมรรคผลของจิตเอง เรามีหน้าที่พาจิตให้เรียนรู้ความจริงของกายของใจ คือเรียนรู้ทุกข์นั่นเอง พอเรียนรู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว จิตก็วางของจิตเอง ปล่อยวางกายก่อน พอถัดไปก็จะปล่อยวางจิตได้

พอปล่อยวางจิตแล้ว คราวนี้มันไม่หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีกแล้ว มันไม่เหมือนตอนที่เราภาวนา หัดฝึกทีแรก บางทีจิตก็วางจิตลงไป แล้วจิตก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก พอเห็นไตรลักษณ์ก็วาง พอขาดสติไม่เห็นไตรลักษณ์ ก็หยิบฉวยอีกแล้ว มันยังแก้ปัญหาชั่วคราวเป็นคราวๆ แต่วันใดเรารู้แจ้งแทงตลอด กายนี้ทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ กายนี้คือตัวทุกข์ เห็นแจ่มแจ้งมันก็จะไม่หยิบขึ้นมาอีก เราก็ไม่ต้องคิดว่าทำอย่างไรจะปล่อยวางได้ นักปฏิบัติก็จะคิด ทำอย่างไรจะปล่อยวางได้ ทำอย่างไรจะบรรลุชั้นนั้นชั้นนี้ได้ คิดแต่จะทำ ไม่มีทางให้ทำหรอก พระพุทธเจ้าบอกแล้ว ไม่มีใครทำจิตให้บรรลุมรรคผลได้หรอก จิตบรรลุของจิตเอง เมื่อจิตมีศีล สมาธิ ปัญญาแก่รอบ

 

ไม่ใช่หาทางปล่อยวาง ไม่ใช่ฝึกจิตให้ว่าง

ปัญญาแก่รอบคือเห็นอริยสัจนั่นล่ะ เห็นอริยสัจก็คืออะไร เห็นขันธ์ 5 นี้คือตัวทุกข์ ถ้าเห็นอย่างนี้จิตก็ไม่หยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา ไม่มีการปล่อยวาง ไม่ได้เกิดการปล่อยวางอะไรทั้งสิ้นเลย แต่จิตมันไม่ไปหยิบฉวยภาระขึ้นมา ก็ไม่ต้องปล่อย ไม่หยิบก็ไม่ต้องปล่อย ถ้าหยิบก็ยังต้องปล่อย ที่หยิบเพราะอะไร เพราะโง่ ไม่เห็นอริยสัจ ไม่รู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็หยิบขึ้นมา เดี๋ยวพอดูไปๆ มันเป็นไตรลักษณ์ก็ปล่อย เดี๋ยวก็หยิบอีก

เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยเด็ดขาด ไม่ใช่หาทางปล่อย ไม่ใช่ฝึกจิตให้ว่าง ฝึกจิตให้ว่างก็คือความปรุงแต่ง เรียกอเนญชาภิสังขาร ความปรุงแต่งมี 3 แบบ ปรุงชั่วเรียกอปุญญาภิสังขาร ปรุงดีเรียกปุญญาภิสังขาร พยายามจะไม่ปรุงเรียกอเนญชาภิสังขาร อย่างพยายามทำจิตว่างๆ อันนี้เป็นอเนญชาภิสังขาร จะพ้นสังขารได้ต้องทำลายอวิชชา เรียนรู้ลงมาที่กาย เรียนรู้ลงมาที่จิตใจ เรียนรู้จนเห็นว่าจริงๆ กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ แล้วเขาวางของเขาเอง ที่เขาวางของเขาเอง เพราะเขาไม่หยิบฉวยขึ้นมา การวางอันนี้ไม่เหมือนเวลาที่เราปฏิบัติ เรายึดแล้วปล่อย ยึดแล้วปล่อย แต่ตรงที่จิตรู้แจ้งแทงตลอด มันวางในขณะที่รู้แจ้งแทงตลอดเลย ในขณะจิตนั้นเลย เพราะฉะนั้นรู้ทุกข์เมื่อไร ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น ละสมุทัยเมื่อไร ก็แจ้งนิโรธเมื่อนั้น แจ้งนิโรธเมื่อไร มรรคก็เจริญขึ้นเมื่อนั้น

เห็นไหม รู้ทุกข์ก็แจ้งนิโรธเลย ไม่ใช่รู้ทุกข์อันหนึ่ง แจ้งนิโรธอันหนึ่ง เกิดในขณะจิตเดียวกันเลย เพราะฉะนั้นการรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ 4 เกิดในขณะจิตเดียวกันนั่นล่ะ เพราะฉะนั้นถ้าเห็นทุกข์เมื่อไร จิตก็ไม่มีความดิ้นรนปรุงแต่ง ไม่มีตัณหา พอจิตไม่มีตัณหา จิตก็ไม่หยิบฉวยอะไร จิตในขณะนั้นก็แจ้งนิโรธเลย ในขณะจิตเดียวกันนั่นเอง แล้วขณะนั้นก็คือขณะแห่งอริยมรรค ค่อยฝึกนะ ฟังแล้วยากนิดหนึ่ง

สรุป เรียนกรรมฐานไม่ใช่เรียนที่อื่น ไม่ใช่มารอรับธรรมะจากหลวงพ่อ ไม่ใช่รอมาวัด ธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ธรรมะไม่ได้อยู่กระทั่งกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านจะตรัสรู้หรือไม่ตรัสรู้ ธรรมะก็มีอยู่แล้ว ฉะนั้นธรรมะเป็นของประจำโลกอยู่แล้ว ไม่ได้อยู่ที่ใคร มันอยู่ที่เราจะต้องฝึกจิตใจตัวเองให้เห็นธรรมะ ไม่ใช่ทำให้ธรรมะเกิดขึ้นหรอก ฝึกจนกระทั่งมันเห็น เห็นความจริง สูงสุดนั้นก็คือตัวอริยสัจ 4 ตราบใดที่ไม่รู้อริยสัจ 4 เรายังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิดหรอก

เพราะฉะนั้นพยายามเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ ดูมันลงเป็นไตรลักษณ์เรื่อยๆ ไป ช่วงไหนดูไม่รู้เรื่อง ดูจิตไม่รู้เรื่องให้ดูกาย ดูกายแล้วจิตมีกำลังขึ้นมา ก็กลับไปเห็นจิตได้ บางช่วงดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องพยายามดู ทำสมถะ ทำความสงบเข้ามาเลย ให้จิตได้พัก เมื่อจิตพักผ่อนพอแล้ว จิตก็จะตั้งตัวขึ้นมา ทรงตัวขึ้นมารู้กายรู้ใจต่อได้ ทุกวันให้พยายามทำอย่างนี้ ถือศีล 5 ไว้ ทุกวันทำในรูปแบบ จิตจะได้มีแรง ทำไปเรื่อยๆ อย่างนั่งอยู่เห็นร่างกายมันนั่ง หายใจอยู่ เห็นร่างกายมันหายใจ รู้อารมณ์อันเดียว คือรู้ร่างกายที่นั่ง รู้ร่างกายที่หายใจ จิตก็จะมีกำลัง ได้สมาธิขึ้นมา พอจิตได้สมาธิ จิตก็ทรงตัวขึ้นมา

พอจิตมันเคลื่อนไปจากการรู้ร่างกาย จิตมันเคลื่อนไปจากการรู้ลมหายใจ เราก็รู้ทัน รู้ทันจิตที่เคลื่อนปุ๊บ จิตที่เคลื่อนดับ จิตที่ตั้งมั่นก็เกิดทันทีเลย ฝึกเรื่อยๆ จิตก็จะตั้งมั่นทรงตัวเด่นดวงขึ้นมา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เมื่อจิตเราตั้งมั่นแล้ว ต่อไปก็น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ คือพาจิตมาเรียนรู้ความจริงของกายของใจ ไม่ใช่น้อมไปที่อื่นหรอก พาจิตมาเรียนรู้ความจริงของกายของใจไป ทีแรกมันยังรู้ไม่จริง รู้ได้ครึ่งๆ กลางๆ มันก็จะเห็นทั้งกายทั้งใจนั้น มีแต่ของที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป อันนี้ยังรู้ไม่ตลอด รู้ตรงนี้เอาไปก่อน ทำวิปัสสนาไป

ตอนที่ปัญญาชั้นสูง คือปัญญาในอริยมรรคเกิด ไม่ได้รู้ไตรลักษณ์ตรงนี้แล้ว ปัญญาในอริยมรรค รู้อริยสัจ 4 แต่ก่อนจะเกิดปัญญาในอริยมรรคที่รู้อริยสัจ 4 แจ่มแจ้ง ก็อาศัยวิปัสสนาปัญญานี้ ดูเห็นไตรลักษณ์ รูปนี้แสดงไตรลักษณ์ นามธรรมแสดงไตรลักษณ์ ดูตรงนี้ไปเรื่อยๆ จิตมันหยุดความปรุงแต่งไปชั่วคราว จิตรวมเข้าอัปปนาสมาธิ แล้วจิตไปเดินปัญญาภายในนิดหน่อย แล้วจิตก็รู้แจ้งอริยสัจขึ้นมา แล้วจิตก็วางจิต

 

การปฏิบัติอย่าข้ามขั้น

หลวงพ่อเคยถามหลวงปู่ดูลย์ ท่านเรียกว่า “จิตยิ้ม” ตรงที่จิตมันปล่อยวางจิตไปแล้วนั้น ท่านเรียกว่า “จิตยิ้ม” มันเบิกบานขึ้นมาในตัวของมันเอง เคยถามท่านว่าต้องเกิดกี่ครั้ง ท่านบอก 4 ครั้ง เกิด 4 ครั้ง เราทำให้เกิดไม่ได้ บอกแล้ว เจริญวิปัสสนาไป ถึงจุดหนึ่งจิตมันจะรู้แจ้งอริยสัจ ไม่ยากหรอก ถ้าทำไปตามขั้นตอน ถ้าทำข้ามขั้น ยาก

เมื่อไม่นานนี้ หลวงพ่อไปเจอธรรมะของครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง คือหลวงปู่แสง จำหลวงปู่แสงได้ไหม ที่มีเรื่องอึกทึกครึกโครมเมื่อสัก 2 ปีมานี้ ที่คนจะไปเล่นงานท่าน หลวงปู่แสงสอนดีบอกว่าการปฏิบัติยาก ท่านบอก “การปฏิบัติยาก แต่บางคนไม่ยากเพราะมีปุพเพกตปุญญตา คือมีของเก่าทำมาดีแล้ว” อย่างเคยภาวนามานานๆ มาภาวนาต่อ ไม่ยาก ถ้ายังไม่เคยสะสมมา ยาก ท่านบอกยาก ฉะนั้นสตาร์ตจุดตั้งต้นที่ท่านบอก การปฏิบัติยาก เว้นแต่ผู้ที่มีบุญเก่า คือสะสม สะสมศีล สมาธิ ปัญญา มาแต่ชาติก่อนๆ อะไรอย่างนี้ ก็จะไม่ยาก เรื่องการปฏิบัติท่านบอก “ให้เรียนรู้ลงที่กายที่ใจของเราเองนี้ล่ะ” สอนดีจังเลย เรียนรู้ลงที่กาย เรียนรู้ลงที่ใจ จนปัญญามันแจ้ง

ให้เรียนไปตามลำดับ อย่าข้ามขั้น ท่านบอกเหมือนลูกมะละกอ ครูบาอาจารย์ท่านเป็นคนบ้านนอก ท่านก็เปรียบเทียบอะไร เราก็นึกภาพลูกมะละกอไม่ออก ก็เห็นที่มันมาขายอยู่ตามศูนย์การค้าแล้ว ลูกมะละกอกว่ามันจะสุก ก็มันเป็นลูกเล็กๆ เท่ากับหัวแมลงวัน เล็กๆ ขึ้นมา แล้วค่อยๆ โตๆ ขึ้นมา การปฏิบัตินี้ก็เหมือนกัน อย่าข้ามขั้น มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา สะสมไปเรื่อยๆ แล้ววันที่ปัญญาเกิด มันเป็นแสงสว่าง ท่านบอกแสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี ท่านพูดไม่กี่ประโยค หลวงพ่อมาพูดแล้วมันยาวขึ้น ท่านพูดนิดเดียว 2 – 3 บรรทัดเท่านั้นเอง แต่มันครอบคลุมการปฏิบัติไว้หมดเลย ตอบโจทย์ได้เยอะเลย

อันแรกเลย การปฏิบัติยากหรือง่าย การปฏิบัติจะยากหรือง่ายอยู่ที่ตัวเราเองต่างหาก ถ้าเราสะสมมาน้อยมันก็ยาก ถ้าทำมาเยอะแล้วมันก็ง่าย เพราะฉะนั้นการปฏิบัติจะบอกว่าง่ายหรือยาก อันนั้นยังไม่ชัดเจน พูดยังไม่ครอบคลุม ฉะนั้นจริงๆ มันไม่ใช่ยาก หรือมันไม่ได้ง่าย มันอยู่ที่เราสะสมมาได้แค่ไหน แล้วการปฏิบัติก็ไม่มีอะไรหรอก เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจของตัวเองไป แล้วเรียนไปตามลำดับ ตามขั้นตามตอนไป

อย่างเราภาวนาไม่ต้องไปคิดหรอก ว่าทำอย่างไรจะปล่อยวางจิตได้ ก็ปล่อยวางกายยังไม่ได้เลย จะไปปล่อยวางจิตได้อย่างไร หรือยังละสักกายทิฏฐิ ละความเห็นผิดว่าตัวเรามีอยู่ ละตัวนี้ไม่ได้ ยังไม่ต้องไปพูดเรื่องการปล่อยวางร่างกายหรอก เรายังหลงผิดว่าเรายังมีตัวเราอยู่เลย เพราะฉะนั้นสู้ไปตามลำดับ เป้าหมายแรกที่เราต้องสู้ สู้กับความเห็นผิดของตัวเอง ที่ว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ สิ่งที่เรียกว่าตัวเราก็คือรูปนาม คือกาย คือใจ คือขันธ์ 5 นั่นเอง เรียนรู้ลงที่กายแล้วก็เห็น ร่างกายก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่มีตัวตนถาวร สุขทุกข์ ดีชั่ว หรือกระทั่งตัวจิตเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ก็ไม่มีตัวตนถาวร

เอาตรงนี้ก่อน ไม่ต้องข้ามขั้นไปถึงว่า ทำอย่างไรจะปล่อยวางร่างกายได้ ทำอย่างไรจะปล่อยวางจิตได้เด็ดขาด เรียกสู้ไปตามลำดับ ถ้าอยู่ๆ กระโดดเลย ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง มีวิธีอันหนึ่งก็คือทำจิตให้ว่าง ทำจิตให้ว่างก็เหมือนกับไม่ได้ยึดถืออะไรเลย แต่จริงๆ คือยึดถือจิตที่ว่างนั่นล่ะ เพราะฉะนั้นเรียนอย่าข้ามขั้น ทำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบร้อน บรรลุเมื่อไรไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราทำเหตุ เจริญสติเจริญปัญญาเรื่อยไป ถ้าเหตุสมบูรณ์แล้วผลมันก็มาเอง รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร มันก็ละสมุทัย มันก็เข้าถึงพระนิพพานในขณะเดียวเลย เกิดขึ้นพร้อมๆ กันเลย ฉะนั้นค่อยๆ ฝึก ไม่ต้องรีบร้อนหรอก หลวงปู่แสงสอนดีจริงๆ

ครูบาอาจารย์ปีนี้ก็เสียไปหลายองค์ ปี 2566 หลวงปู่หาก็ไม่ธรรมดา ไม่ธรรมดา เคยไปเยี่ยมท่าน ท่านนอน คุยกัน 2 – 3 ประโยคก็ไม่คุยแล้ว ต่างคนต่างเงียบๆ หลวงพ่อก็นั่ง ท่านก็นอน จิตของท่านปกติ แล้วมันก็เบิกบานขึ้นมา ทรงตัวขึ้นมาเอง ไม่ได้ทำ ทางสุรินทร์ตอนนี้ก็หลวงปู่เอียน สิ้นไปองค์หนึ่งเหมือนกัน ครูบาอาจารย์หลายองค์ปีนี้ที่เสียไป ฉะนั้นเรารีบภาวนา เวลามีน้อย ไม่ใช่เวลามีไม่จำกัด แต่หลวงปู่เทสก์ท่านเคยบอก “เวลามีไม่จำกัดหรอก สำหรับคนที่มีกิเลส” ถ้าเราอยากพ้นทุกข์ อยากพ้นอะไร เวลามีจำกัด รีบๆ ภาวนา

เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังแค่นี้ ยากไปหรือเปล่า มันก็ไม่ยากนะ ฟังแล้วเข้าใจง่าย แต่ทำยาก ทำไมยาก ยังไม่มีปุพเพกตปุญญตา ถ้ามันเคยภาวนามาก่อน มันไม่ยาก ชาตินี้ยาก แต่ชาตินี้เราภาวนา ชาติหน้าง่าย มันจะง่ายขึ้นๆ ชาตินี้ยากแล้วก็ไม่ทำต่อ ชาติหน้ายิ่งยากหนักเข้าไปอีก เพราะใจมันจมลงไปมากกว่าเก่า จมกิเลสหนักกว่าเก่า

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 ธันวาคม 2566