ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการฟัง ฟังอย่างไรก็ตีความเข้าข้างตัวเองไปเรื่อยๆ ธรรมะเรียนได้ต้องเห็นสภาวธรรม คำว่าสภาวธรรมเป็นรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่เรื่องราวที่เราคิดๆ ขึ้นเอง เรื่องราวที่เราคิดขึ้นเอง เราก็คิดตามใจกิเลสของเรา เข้าข้างตัวเอง ฉะนั้นการเรียนธรรมะเราเรียนด้วยการฟัง เราก็ตีความเข้าข้างตัวเอง เรียนด้วยการคิด ก็คิดเข้าข้างตัวเอง มันเข้าไม่ถึงความจริง จะเข้าให้ถึงความจริง ต้องเห็นสภาวธรรมให้ได้ คือของที่มีอยู่จริงๆ ไม่ใช่ของที่เพ้อฝันคิดเอาเอง
ธรรมะคือความจริง
สิ่งที่พวกเรามีอยู่จริงๆ คือร่างกายเรามีอยู่จริงๆ ความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ในร่างกายมีอยู่จริงๆ ความรู้สึกสุขทุกข์เฉยๆ ในจิตใจมีอยู่จริงๆ ความจำ ความจำได้หมายรู้ของจิตใจมีอยู่จริงๆ ความปรุงแต่ง ปรุงดีปรุงชั่วปรุงไม่ดีไม่ชั่วอะไรต่างๆ นานา ก็มีอยู่จริงๆ อย่างความโลภความโกรธความหลงเป็นของมีอยู่จริงๆ แล้วก็จิตใจ จิตที่ออกไปรับอารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ เรียกว่าวิญญาณ คือจิตนั่นล่ะมีอยู่จริงๆ
ร่างกายเรา เราไม่ต้องคิดไม่ต้องฝัน ร่างกายขณะนี้มันก็มี เราไม่ได้คิดขึ้นเอง ความรู้สึกสุขทุกข์ในร่างกาย สุขทุกข์เฉยๆ ในจิตใจ เราไม่ต้องคิดมันก็มีอยู่เอง ความจำได้หมายรู้ เราไม่ได้เจตนาจะจำมันก็จำได้เอง บางทีเจตนาจะจำก็จำไม่ได้ บังคับมันไม่ได้ ความปรุงดีปรุงชั่ว เราไม่ได้คิดเอา แต่มันมีอยู่ อย่างความโกรธเราไม่ได้เจตนาจะโกรธ มันก็มีขึ้นมา เราไม่ได้คิดเอา เป็นของที่มีอยู่จริงๆ จิตใจเรา เราก็ไม่ได้คิดเอาว่าจิตมีหรือไม่มี แต่ว่ามันก็มีอยู่จริงๆ เรียนรู้จากของจริง เราถึงจะได้เห็นธรรมะ ธรรมะคือความจริง
อย่ามัวแต่หลงอยู่ในโลกของความคิดความฝัน ให้มีสติคอยระลึกรู้ขันธ์ 5 นี้ ร่างกาย ความสุข ความทุกข์ ความจำได้หมายรู้ ความปรุงดีปรุงชั่ว จิตใจที่เกิดดับทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ จิตเป็นตัวรับรู้ เดี๋ยวก็ไปรับรู้ทางตา เดี๋ยวก็รับรู้ทางหู เดี๋ยวรับรู้ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รับรู้ทางใจ ส่วนมากรับรู้ทางใจ เราคิดทั้งวัน จิตเป็นคนไปรับรู้ความคิด เรื่องราวที่คิด แต่เรื่องราวที่คิดเป็นเรื่องที่เราจินตนาการขึ้นมา
อย่างเราคิดว่าเราเป็นประธานาธิบดี คิดได้ แต่ความจริงไม่ได้เป็น ที่พูดถึงประธานาธิบดีเพราะว่าคนจีนมาเยอะ เมืองจีนมีประธานาธิบดี เมืองไทยมีนายกมีพระเจ้าแผ่นดิน เราคิดว่าเราเป็นนายก เราก็คิดได้ แต่ความจริงไม่ได้เป็น ฉะนั้นความคิดไม่ใช่ความจริง เวลาเราคิดถึงตัวเอง เราก็คิดว่าเราเป็นคนดี คิดเข้าข้างตัวเองอีกแล้ว เวลาขัดแย้งกับคนอื่น เราก็เข้าข้างตัวเองว่าเราถูกคนอื่นผิด ฉะนั้นความคิดเชื่อถืออะไรไม่ได้หรอก เวลาฟังธรรมะก็ตีความเข้าข้างตัวเอง เวลาคิดก็คิดเข้าข้างตัวเอง ฉะนั้นเราเรียน ต้องหัดดูสภาวะให้ได้
สภาวธรรมฟังแล้วเหมือนยาก แต่จริงๆ ก็ไม่ได้ยากอะไรหรอก อย่างรูปธรรมของพวกเรา ขณะนี้เรานั่งอยู่รู้สึกไหม ต้องคิดไหมว่านั่งหรือยืน นั่งอยู่ก็รู้สึกลงไป เราเห็นร่างกายที่นั่งอยู่ หรือขณะนี้เรามีความสุขหรือมีความทุกข์ในจิตใจ รู้ได้ไหม จะรู้ก็รู้ได้ อย่างขณะนี้ส่วนใหญ่ความรู้สึกทางใจจะเป็นอุเบกขาเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ กำลังตั้งอกตั้งใจฟัง เกือบทั้งหมดจะเป็นอุเบกขาอยู่ เฉยๆ เฉยๆ รู้ว่าเฉยๆ หรือเวลาจิตใจเรามีความสุข เราไม่ต้องคิดว่ามันสุขหรือไม่สุข เพราะจริงๆ มันสุข นี่ของจริง สภาวธรรมเป็นของที่มีอยู่จริงๆ ไม่ต้องคิดเอา คิดเอาก็ไม่เห็นของจริง หรือใจเราโกรธ ความโกรธเป็นสภาวธรรม ความโลภเป็นสภาวธรรม ไม่ได้คิดเอา อย่างโกรธนี่ไม่ต้องคิดเอาว่าโกรธหรือไม่โกรธ โกรธก็คือโกรธ โลภก็คือโลภ หลงก็คือหลง
พวกเราในขณะนี้หลง รู้สึกไหมเราลืมร่างกายลืมจิตใจของตัวเองอยู่ อันนั้นคือหลง ไม่เห็นสภาวะแล้ว เวลาฟังหลวงพ่อเทศน์ เดี๋ยวเราก็หลงฟัง พอฟังแล้วเราก็ไปหลงคิด เราไม่ได้เห็นสภาวะในขณะที่นั่งฟังธรรมะอยู่นี่ เวลาเราไปตั้งใจฟัง เราไม่รู้ว่ากำลังตั้งใจฟัง สังเกตให้ดีขณะที่ฟังนี่ไม่ได้ฟังเฉยๆ แต่ฟังไปคิดไป ถ้าเราอยากรู้เรื่องที่หลวงพ่อพูดซึ่งมันไม่ใช่ธรรมะของจริง อยากรู้เรื่องที่หลวงพ่อพูดก็ตั้งใจฟัง ในขณะนั้นที่ตั้งใจฟัง มีกายก็ลืมกาย มีใจก็ลืมใจตัวเอง พอฟังแล้วไม่ได้ฟังเฉยๆ ฟังปุ๊บสลับไปคิดปั๊บ เดี๋ยวฟังอีกแล้วคิดอีก ฟังแล้วก็คิดสลับกันไปเรื่อยๆ
ในขณะที่เราคิด มีกายเราก็ลืมกาย มีจิตใจเราก็ลืมจิตใจ แต่ถ้าจะฟังให้รู้เรื่องก็จำเป็นต้องฟังอย่างนั้นล่ะ ตั้งใจฟัง ไม่สามารถรู้สึกกายรู้สึกใจได้ ฟังแล้วก็เอามาคิดไตร่ตรอง ตรงนี้ที่จะพลาด ตอนที่ฟังทุกคนได้ยินเสียงหลวงพ่อเหมือนกันหมดเลยทุกคน หลวงพ่อพูดประโยคเดียวกันเหมือนกันหมดที่ได้ยิน แต่พอถึงขั้นคิดนี่ตีความไม่เหมือนกันแล้ว
มีสติก็คือมีการปฏิบัติ
ฉะนั้นแทนที่เราจะคอยหลงไปฟังหลงไปคิดอะไรอย่างนี้ นั่นจะรู้เรื่องในทางปริยัติ แต่ถ้าเราอยากปฏิบัติ จิตวิ่งมาฟังหลวงพ่อรู้ว่าจิตวิ่งมาฟังหลวงพ่อ จิตวิ่งไปคิดรู้ว่าจิตวิ่งไปคิด นี่ถึงจะเรียกว่าปฏิบัติ ร่างกายนั่งอยู่รู้ว่าร่างกายนั่งอยู่ นี่เรียกว่าปฏิบัติ ถ้าเมื่อไรลืมกายเมื่อไรลืมใจ เมื่อนั้นไม่ใช่การปฏิบัติ ให้นั่งสมาธิโต้รุ่งก็เงียบๆ เฉยๆ อยู่ อันนั้นก็ยังไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนา ได้สงบเฉยๆ ไม่เกิดปัญญาอะไร เพราะฉะนั้นเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำหรือนั่งสมาธิหามรุ่งหามค่ำ ก็ยังไม่เรียกว่าการปฏิบัติที่แท้จริง เราต้องมีสติรู้สึกกายมีสติรู้สึกจิตใจ ถึงจะเรียกว่ามีการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาที่แท้จริง ฉะนั้นขาดสติก็คือขาดการปฏิบัติ มีสติก็คือมีการปฏิบัติ จับหลักตัวนี้ไว้
ฉะนั้นเวลาเราอยากปฏิบัติ ให้เรามีสติ รู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ สูงกว่านั้นรู้ถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของร่างกาย รู้ถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตใจ ตรงที่เรามีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกายของจิตใจ จิตจะได้สมาธิ จิตไม่หลงลืมตัวเองไป เที่ยวไปที่อื่น ตรงที่เรามีสติแล้วก็มีปัญญาเห็นความเป็นจริงของร่างกายของจิตใจ อันนั้นคือการทำวิปัสสนากรรมฐาน ฉะนั้นวิปัสสนาไม่ใช่รู้ร่างกายเฉยๆ แต่เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ทำวิปัสสนาไม่ใช่ไปจ้องจิตไว้นิ่งๆ เฉยๆ แต่เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตใจ
ฉะนั้นเวลาที่เราจะปฏิบัติ มีสติคือมีการปฏิบัติ ขาดสติคือขาดการปฏิบัติ นี่เป็นหลักที่สำคัญมาก บางคนอุตส่าห์นั่งสมาธิ หรือคนจีนหลวงพ่อเห็นเดินมา เดินมาหลายกิโลที่จะมาที่วัดนี่ เดิน ถ้าเดินแล้วก็รู้สึกร่างกายเดิน รู้สึกอยู่ อันนี้เรียกว่ามีการปฏิบัติ รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย ได้สมาธิ อีกคนหนึ่งเดินมาด้วยกัน เดินตามกันมา เห็นร่างกายเดินใจเป็นคนดู เห็นร่างกายเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา คนนี้ได้ปัญญา
เห็นไหม คนที่เดินมาวัดด้วยกันมี 3 จำพวก พวกหนึ่งเดินมาแล้วก็ โอ๊ย ธรรมชาติสวยงาม พระอาทิตย์กำลังจะขึ้น อากาศยังไม่ร้อน สบาย เพลินๆ อันนี้เรียกว่าเดินเรื่อยเปื่อยเดินขาดสติ คนส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น ในโลกนะถ้าไม่เคยฝึกกรรมฐาน เดินมาวัดก็เดินใจลอยเพลินๆ ดูโน้นดูนี่ ดูนก ดูอะไรไป ดูพระอาทิตย์ ดูเมฆ ดูภูเขา ดูต้นไม้ ไม่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายที่กำลังเดินอยู่ ไม่รู้สึกถึงจิตใจตัวเองว่ากำลังเพลิน อันนี้คือไม่ได้ปฏิบัติ นี่คนที่หนึ่ง เดินมาด้วยกัน 3 คน ไม่ได้ปฏิบัติ คนแรกเดินชมนกชมไม้ไป
คนที่สอง เดินรู้สึกถึงร่างกาย จ้องร่างกาย ร่างกายขยับขาซ้ายก็รู้ ขยับขาขวาก็รู้ จ้องนิ่งอยู่อย่างนี้ รู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย หรือเดินแล้วก็เพ่งจิตใจให้นิ่งให้สงบ เพ่งนิ่งๆ อยู่ รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ อันนี้ได้สมถะได้สมาธิ ถ้าเรารู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ เราจะได้สมาธิที่จิตตั้งมั่น
คนที่สาม เดินอยู่ด้วยกัน เห็นร่างกายกำลังเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป เดินไปไกลๆ ร่างกายนี้ทีแรกก็ปกติตอนนี้เมื่อยแล้ว ร่างกายนี้ไม่เที่ยง ร่างกายมีความทุกข์เกิดขึ้น ร่างกายเป็นของที่เราบังคับไม่ได้ เราสั่งไม่ได้ว่าอย่าเมื่อย เราสั่งไม่ได้ ตรงที่เราเห็นร่างกายไม่เที่ยงเป็นทุกข์สั่งไม่ได้ควบคุมไม่ได้ เรียกว่าเราเจริญวิปัสสนาอยู่
3 คนทำในสิ่งเดียวกัน แต่สิ่งที่ได้นั้นแตกต่างกัน
คน 3 คน เดินมาด้วยกัน คนแรกไม่รู้กายไม่รู้ใจ อันนี้หลงไม่ได้ปฏิบัติ เดินมาตั้งหลายกิโล เดินมาส่งเดช ไม่ได้ปฏิบัติ คนที่สอง เดินรู้สึกกายเดินรู้สึกใจ รู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ จิตใจไม่หนีไปที่อื่น สงบอยู่กับกาย สงบอยู่กับใจ คนนี้ได้สมาธิ คนที่สาม เดินมาวัด เห็นร่างกายไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ก้าวขาซ้าย เดี๋ยวก็ก้าวขาขวา เห็นร่างกายเป็นทุกข์ เดี๋ยวก็ปวดก็เมื่อย เห็นร่างกายเป็นของบังคับไม่ได้ สั่งว่าอย่าเมื่อยก็ไม่ได้ สั่งว่าอย่าเหนื่อยก็ไม่ได้ อันนี้เดินปัญญา
หรือเห็นจิตใจเดินๆ อยู่ ตาแวบไปเห็นธรรมชาติสวยงาม จิตใจเกิดความเปลี่ยนแปลงยินดีพอใจ มีสติรู้ว่าจิตใจยินดีพอใจ อันนี้ดี เราจะเห็นว่าความยินดีพอใจเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เหมือนกัน นี่เราทำวิปัสสนาอยู่ เราเดินๆ อยู่ อากาศเย็นๆ สบายใจ สบายใจรู้ว่าสบายใจ แล้วก็รู้ไป เราก็เห็นว่าความสบายใจเป็นของแปลกปลอมเข้ามา เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป กำลังสบายใจอยู่ดีๆ มีรถวิ่งเฉียดเราไป เราตกใจ ความสบายใจหายไป กลายเป็นความตกใจขึ้นมาแทนที่ เราก็มีสติเห็นจิตใจนี่มันไม่เที่ยง เมื่อกี้สบายใจ ตอนนี้ตกใจ อย่างนี้เรียกว่าเราเดินปัญญาอยู่
เพราะฉะนั้นคน 3 คนที่เดินมาวัดนี่จะมีคุณภาพทางจิตใจไม่เหมือนกัน คนแรกเดินแล้วก็ชมนกชมไม้เพลินๆ ไป ก็ได้ความสุขอย่างโลกๆ คนที่สอง เดินไปรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกายของจิตใจ ไม่หนีไปไหนเลย จ้องอยู่ที่กายจ้องอยู่ที่จิตใจ คนนี้ได้สมถะ ได้สมถกรรมฐาน ได้ความสงบ ได้ความสุขใจ สงบ คนที่สาม เดินไปแล้วก็เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตใจ นี่ทำวิปัสสนากรรมฐาน สิ่งที่ได้คือปัญญา
ฉะนั้น 3 คน ทำในสิ่งเดียวกัน เดินเหมือนๆ กัน ระยะทางก็เท่าๆ กัน แต่สิ่งที่ได้นั้นแตกต่างกัน เพราะจิตนั้นแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการปฏิบัติไม่ใช่อยู่ที่ว่าจะเดินนานแค่ไหน จะเดินไกลแค่ไหน จะนั่งนานแค่ไหน จะนั่งท่าไหน ไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้นหรอก แต่อยู่ที่คุณภาพของจิตใจ ถ้านั่งสมาธิอยู่แล้วใจล่องลอยหนีเคลิ้มๆ ไปบ้าง คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้บ้าง อันนั้นก็ไม่ได้อะไร ทรมานตัวเองโดยไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมา เดินจงกรมแล้วใจก็ล่องลอยไป หรือใจก็เคร่งเครียดไป อันนั้นก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ได้ทรมานตัวเองเท่านั้น
ฉะนั้นเวลาภาวนาตัวสำคัญ อันแรกเลยมีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย มีสติรู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ เราจะได้สมถะ ได้สมาธิชนิดสงบ แล้วถ้าเรารู้กายรู้ใจ เราได้สมาธิที่ยกระดับถึงขั้นตั้งมั่นได้ อย่างใจเรามีความสุขขึ้นมา แล้วเราไปเพลินอยู่กับความสุข ก็สุขอยู่อย่างนั้น ถ้ายกระดับขึ้นมาอีกหน่อย เราก็จะเห็นความสุขไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ได้เจตนาสุข มันสุขได้เอง อันนี้เราขึ้นวิปัสสนา ขึ้นเดินปัญญา
การทำสมถะเราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว จะรู้สึกกายรู้สึกใจก็ได้ ถ้าน้อมไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว เช่นเราไปดูพระพุทธรูป แล้วก็สงบอยู่กับพระพุทธรูป เราได้สมาธิชนิดจิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว แต่ถ้าเราเห็นสภาวะ เห็นรูป เห็นนาม ที่กำลังมีกำลังเป็น เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่น เช่นจิตเราหลงไปคิด เรารู้ว่าหลงไปคิด จิตที่หลงคิดดับ จะเกิดจิตที่ตั้งมั่น เราโกรธ เรารู้ว่าโกรธ ความโกรธจะดับ จิตจะตั้งมั่น ทีนี้ถ้ายกระดับสูงขึ้นไปให้เป็นวิปัสสนา มีความสุขรู้ว่ามีความสุข เห็นลงไปความสุขก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่ขึ้นวิปัสสนา มีความโกรธเกิดขึ้นก็มีสติรู้ลงไป มีปัญญาหยั่งรู้ลงไป ความโกรธนี้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ฉะนั้นตัววิปัสสนากรรมฐานไม่ใช่มีสติรู้กายรู้ใจอยู่เฉยๆ ต้องมีปัญญา มีสัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจ แล้วปัญญาคือความรู้ถูกความเข้าใจถูกว่าร่างกายจิตใจของเราไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะเกิดขึ้น เกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น ฉะนั้นเวลาเรามาวัด เราก็ดู เราเป็นบุคคลประเภทที่หนึ่ง มาแล้วมีความสุขเพลิดเพลิน หรือเป็นบุคคลประเภทที่สอง มาแล้วก็คอยรู้สึกอยู่ที่ร่างกาย คอยรู้สึกอยู่ที่จิตใจให้มันนิ่งๆ อยู่ หรือเป็นประเภทที่สาม มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในร่างกาย มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในจิตใจก็รู้ แล้วเราก็จะเห็นไตรลักษณ์
นี่บุคคลที่มาวัดด้วยกัน 3 ประเภท เราจะเป็นประเภทไหนก็ดูเอา ที่จริงมีประเภทอีกอย่างหนึ่ง พวกเปรต มาวัดไม่ได้คิดถึงอะไรดีๆ หลวงพ่อเคยเจอบ่อยๆ เมื่อก่อนนี้ มากะจะรีบมาตักข้าว ขนของที่คนบริจาค ขนเอากลับบ้านไปเยอะๆ เลย เอาไปขายเอาไปอะไร อันนี้ไม่ได้ประโยชน์อะไร มาด้วยใจที่มีความโลภ ใจโลภก็คือใจของเปรต
ฉะนั้นเรา พวกนี้หลวงพ่อตัดทิ้ง พวกเราไม่เป็นหรอก พวกเราจิตสูงกว่านั้น แต่เราจะเป็นประเภทที่หนึ่ง มาแล้วสบายใจ เฉยๆ มีความสุข ประเภทที่สอง มานี่รู้สึกกายรู้สึกใจอยู่ให้ได้ความสงบ ประเภทที่สาม มาแล้วเห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของร่างกายของจิตใจ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้ได้ปัญญา ปัญญาชั้นสูงเลยเรียกว่าวิปัสสนาปัญญา
เพราะฉะนั้นอย่างต่ำ อย่าใจลอย รู้สึกกายรู้สึกใจ ร่างกายนั่งอยู่รู้สึก คอยรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เราก็จะเป็นคนแบบที่สอง อย่างน้อยจิตใจเราก็สงบสุขได้ ถ้าสูงกว่านั้นก็คือเห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของร่างกายของจิตใจไป เราจะได้ปัญญา เราจะพ้นทุกข์ได้ก็เพราะปัญญา ที่จริงพ้นได้ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา แต่ตัวตัดสินเด็ดขาดคือตัวปัญญา ความรู้ถูกความเข้าใจถูก พอเรารู้ถูกเข้าใจถูกในร่างกายในจิตใจว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ลังเลสงสัยอีก เราก็เข้าถึงธรรมะ ตัวเราไม่มีหรอก ร่างกายไม่ใช่เรา สุขทุกข์ไม่ใช่เรา ความจำได้หมายรู้ไม่ใช่เรา ความดีความชั่วไม่ใช่เรา จิตใจก็ไม่ใช่เรา รู้ๆ ไปเรื่อยๆ
วัดสวนสันติธรรม
27 ธันวาคม 2566