อารัมมณูปนิชฌาน – ลักขณูปนิชฌาน

ภาวนาถ้าจิตมันถูกต้องแล้ว การภาวนามันก็ถูกแล้ว ใช้กรรมฐานอะไรมันก็ถูก ถ้าจิตมันยังไม่ตั้งมั่น ภาวนากรรมฐานอะไรมันก็ได้แต่สงบ อย่างมากก็ได้แค่สมถะ เราเรียนกรรมฐานกันจะเอาแค่สมถะมันไม่คุ้มค่า เรื่องการทำสมถะ การนั่งสมาธิอะไรอย่างนี้ มันมีมาก่อนพระพุทธเจ้า ตอนเจ้าชายสิทธัตถะออกจากวังไป งานแรกที่ท่านทำไปนั่งสมาธิกับฤๅษี ไปอยู่กับอาฬรดาบส ได้ฌานที่ 7 อาจารย์บอกว่าหมดภูมิแล้ว ก็ไปต่อกับอุทกดาบสได้ฌานที่ 8 บารมีท่านมากได้ฌาน 8 ท่านก็ยังสังเกตเห็นอีก พอจิตออกจากฌานมา จิตก็ยังทุกข์เหมือนเดิม มันมีความสุขตอนนั่งสมาธิ ออกจากสมาธิแล้วไม่มีความสุข ใจยังปรุงแต่งดิ้นรน พอฝึกทางจิตไม่สำเร็จ ท่านก็ไปฝึกทางกาย ทรมานกายต่างๆ นานาจนสลบแล้วสลบอีก

ครูบาอาจารย์ท่านเล่าว่าหลวงปู่มั่นบอกว่า เจ้าชายสิทธัตถะสลบไปตั้ง 3 รอบกว่าจะเดินสู่ทางสายกลางได้ ไปฝึกจิตให้สงบให้นิ่งมีความสุขยังไม่พ้นทุกข์ ไปบังคับกายบังคับใจตัวเอง ทรมานกาย ทรมานใจก็ไม่พ้น จนช่วงสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้ ท่านนึกถึงกรรมฐานตอนที่ท่านเด็กๆ ไปนั่งสมาธิของท่านเองใต้ต้นไม้ ต้นอะไรจำไม่ได้แล้ว ท่านนั่งแล้วก็สงบได้ปฐมฌาน เมื่อก่อนหลวงพ่อก็งง ปฐมฌานของท่านตัวนี้เป็นบุญบารมีของท่าน สะสมของท่านมา เข้าสมาธิ เข้าปฐมฌานได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้เรียนจากใคร ที่หลวงพ่องงก็คือไปเรียนกับฤๅษีได้ฌานที่ 7 ที่ 8 ก่อนจะถึงฌาน 7 ฌาน 8 มันก็ต้องผ่านปฐมฌาน ฌาน 1 2 3 4 5 6 7 8 ก็ไล่ ทำไมท่านมาบอกว่าสมาธิฤๅษีใช้ไม่ได้ สมาธิที่ท่านเอามาใช้จริงๆ เป็นสมาธิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตอนเด็กๆ แต่ก่อนงงว่ามันต่างกันอย่างไร ค่อยภาวนานานๆ ไปก็ค่อยเข้าใจ

 

สมาธิ 2 แบบ

เรื่องสมาธิหลวงปู่เทสก์ท่านสอนไว้ 2 อย่าง ท่านเป็นพระที่เชี่ยวชาญเรื่องสมาธิมาก ฉะนั้นจะสอนเอาไว้เยอะ ท่านพูดถึงสมาธิ 2 แบบ แบบหนึ่งเป็นสมาธิเพ่งอารมณ์ ใจมันสงบลงไปเฉยๆ อีกแบบหนึ่งเป็นสมาธิที่จิตมันเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา พร้อมที่จะเดินปัญญา ทีแรกได้ยินท่านสอนอย่างนี้ หลวงพ่อก็ค่อยๆ สังเกตเอา สมาธิที่จิตลงไปแนบอยู่ในอารมณ์อันเดียว มันได้แต่ความสงบ ได้แต่ความสุข ได้กำลัง ถามว่ามีประโยชน์ไหม มี ครูบาอาจารย์ไม่ได้บอกว่าอย่าทำ แต่ทำด้วยความมีสติ แล้วก็สมาธิอีกชนิดหนึ่งที่จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู มันเป็นอีกแบบหนึ่ง สมาธิที่จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ เป็นสมาธิที่เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน ตรงนี้ก็มีคนที่เรียนปริยัติก็งง เพราะในตำราจะแปลลักขณูปนิชฌานก็คือ concentrate เหมือนกัน เพ่งเหมือนกัน มันต่างอะไรกับการทำสมาธิชนิดสงบ มันก็เพ่งเหมือนกัน ฌานชนิดไหนมันก็เพ่ง รู้สึกอย่างนั้น

ไปดูตำราบอก อารัมมณูปนิชฌานก็คือการทำสมถกรรมฐาน ลักขณูปนิชฌานคือการทำวิปัสสนากรรมฐาน เกิดมรรค เกิดผล ตอนที่เกิดอริยมรรค เกิดอริยผล ตอนที่เห็นพระนิพพาน ตรงนี้เป็นลักขณูปนิชฌาน ตรงนี้ตำราเขาบอกไว้อย่างนี้ หลวงพ่อไม่ค่อยเห็นด้วยหรอก ลักขณูปนิชฌานมันเป็นสมาธิที่ใช้ตอนทำวิปัสสนา เป็นสมาธิตอนที่เกิดอริยมรรค เกิดอริยผล เป็นสมาธิตอนที่สัมผัสพระนิพพาน ตัวลักขณูปนิชฌานชื่อมันก็บอกว่าเป็นฌาน เป็นเรื่องของสมาธิ มันไม่ใช่แทนที่ด้วยวิปัสสนากรรมฐานได้ แทนที่ด้วยมรรคผลนิพพาน แทนที่กันไม่ได้ เวลาที่เราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน หรือตอนที่เกิดอริยมรรคเกิดอริยผล มันมีสมาธิชนิดลักขณูปนิชฌาน แต่ลักขณูปนิชฌานไม่ได้แปลว่าวิปัสสนา มรรค ผล นิพพาน ไม่ได้แปลอย่างนั้น ถ้าเกาะตำราแน่นมันก็แยกไม่ออกหรอก ว่าการเพ่ง 2 อย่างนั้น การที่เพ่งอารมณ์กับการที่เพ่งไปถึงลักษณะ มันแตกต่างกันอย่างไร

ลักขณูปนิชฌาน ท่านบอกว่ามันคือสมาธิขณะทำวิปัสสนา ขณะทำวิปัสสนาก็จะเห็นไตรลักษณ์ ท่านบอกตอนที่เห็นไตรลักษณ์คือลักขณูปนิชฌาน ความจริงถ้าเราดูให้ดี จิตที่เห็นไตรลักษณ์เป็นจิตที่มี ลักขณูปนิชฌาน เป็นจิตที่มี แล้วก็ไม่ได้มีแค่นั้น ยังมีองค์ธรรมอีกจำนวนมากที่เกิดร่วมกัน ตอนที่เกิดอริยมรรค อริยผล ก็ไม่ได้มีแค่ตัวลักขณูปนิชฌาน แต่ยังมีองค์ธรรมจำนวนมากที่เกิดร่วมกัน ฉะนั้นบางทีตำราเขียนรวบไป อธิบายรวบไป เรียนๆ ตามๆ กันว่าลักขณูปนิชฌาน คือวิปัสสนากรรมฐาน คืออริยมรรค คืออริยผล คือพระนิพพาน คนละเรื่องกัน มันคือเครื่องมือตัวหนึ่งเท่านั้นเอง เราท่องตำรามันก็ใช้คำเดียวกัน ใช้ concentrate เหมือนกัน แยกไม่ออก แต่ถ้าเราภาวนา อย่างหลวงพ่อเรียนเรื่องพวกนี้ หลวงปู่เทสก์ท่านสอนเราเลยแยกสมาธิ 2 ชนิดได้ อย่างสมาธิที่ใช้ทำสมถะก็ไม่ได้มีแต่สมาธิที่เป็นสมถะอย่างเดียว ยังมีองค์ธรรมตัวอื่นประกอบด้วย มีเอกัคคตา มีความเป็นหนึ่งของจิต มีสติระลึกรู้อารมณ์กรรมฐาน ฉะนั้นมีองค์ธรรมหลายตัว ยิ่งตอนที่จะเกิดอริยมรรคอริยผล มันไม่ใช่มีแต่ลักขณูปนิชฌาน มีองค์ธรรมจำนวนมากที่เกิดร่วมด้วย คือโพธิปักขิยธรรม 37 ตัว ตอนที่เกิดอริยมรรคจะต้องมี ฉะนั้นไม่ใช่สมาธิอย่างเดียว แยกให้ออก

 

ตำราคือแผนที่ ทิ้งไม่ได้

ตำรามันคือแผนที่ ไม่มีใครทำแผนที่ในสัดส่วน 1:1 มันก็ต้อง 1:20 1:100 1:1,000 อะไรอย่างนี้ แผนที่อย่างไรมันก็ไม่ละเอียด อย่างเรามีแผนที่เราจะเดินทางไกล อย่างไรมันก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้รู้รายละเอียดเหมือนคนที่เดินจริงๆ คนที่อ่านแผนที่ ฉะนั้นเราก็อย่าไปตีกรอบตัวเองแคบๆ ไว้จะภาวนายาก ค่อยๆ สังเกตเอา อย่างครูบาอาจารย์บอกอย่างนี้ เราลองดู ท่านไม่ได้บอกให้เราเชื่อ ท่านท้าให้เราพิสูจน์ ลองดูว่าสมาธิที่ดีมี 2 อย่างจริงหรือไม่จริง อย่างหนึ่งจิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว อย่างหนึ่งจิตตั้งมั่นเห็นสภาวธรรมที่ควรจะเห็น อย่างเวลาเจริญวิปัสสนา มันจะเห็นไตรลักษณ์ ตอนที่ทำวิปัสสนาจะเห็นไตรลักษณ์ ตอนที่ทำสมถะจะเห็นอารมณ์กรรมฐาน ไม่เหมือนกัน

ตอนที่เกิดอริยมรรค จะเห็นการทำลายล้างสังโยชน์ลงไป เห็นกระบวนการที่จิตล้างสังโยชน์ เห็นการแหวกตัวออกของ อาสวกิเลส เรียกว่ายังกิจ ยังกิจของมรรคให้สำเร็จ ตำราบอกอย่างนี้ ลักขณูปนิชฌาน มรรคเรียกว่าลักขณูปนิชฌาน เพราะว่ายังกิจที่ควรทำให้สำเร็จ ไม่รู้เรื่อง อ่านแล้วก็ยังไม่รู้เรื่องอยู่ดี พอผลตำราเขาบอกว่าเป็นลักขณูปนิชฌาน เพราะได้ยังกิจให้สำเร็จ ยังกิจของมรรคให้สำเร็จ ฟังแล้วก็ไม่รู้เรื่อง ตำราต้องรักษา แต่อย่าเอาเป็นเอาตาย สังเกตสภาวะจริงๆ ถ้าเมื่อไรจิตเราไปทรงสงบอยู่กับสภาวะอันใดอันหนึ่ง หรือกระทั่งอารมณ์บัญญัติเรื่องที่คิดต่างๆ อันนั้นเป็นสมถะ ถ้าเมื่อไรจิตเราทรงตัวขึ้นมา แล้วเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม เมื่อนั้นเกิดวิปัสสนา ดูจากของจริงๆ แล้วจะเห็น ไม่ใช่คิดเอา

ตำราเรียนเอาไว้เป็นแผนที่ไกด์ไลน์ ทิ้งไม่ได้ มันจะบอกจุด เป็นจุดๆ ไป ตำรามันบอกไม่ละเอียดหรอก เป็นช่วงๆๆ ไปจนสุดท้ายก็บอกเกิดอริยมรรคอริยผล เห็นพระนิพพาน ก็บอกคร่าวๆ ภาวนาจริงๆ ก็ดูของจริงเอา แต่ถ้าดูของจริงแล้วมันผิด อย่างเราเห็นแทนที่เราเห็นไตรลักษณ์ของรูปของนาม กลับไปเห็นว่ารูปเที่ยง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเที่ยง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของควบคุมได้ บังคับได้อะไรอย่างนี้ อย่างนี้เห็นผิดแล้ว ตำราบอกว่าผิดมันคือผิดจริงๆ หรือตำราบอกนิพพานเป็นอนัตตา นิพพานเป็นอนัตตามีลักษณะของอนัตตาอยู่ ตัวนิพพานคือตัวความสงบ สันติ คือนิพพาน สงบจากกิเลส สงบจากความปรุงแต่งทั้งปวง

ถ้าเราภาวนา นิพพานเป็นโลกๆ หนึ่ง กำหนดจิตเข้าไปอยู่ในพระนิพพาน อันนี้แสดงว่าภาวนาผิด ฉะนั้นตำราก็มีประโยชน์ มันเป็นแนวทางให้เราดู แต่เวลาลงมือทำอย่ามัวแต่คิดถึงตำรา ดูจากของจริง ถ้ามัวแต่คิดถึงตำรา มันจะคิดฟุ้งไปเรื่อยๆ มันภาวนาไม่ได้หรอก เพราะการทำวิปัสสนามันต้องเห็นเอา ไม่ใช่คิดเอา เราพยายามฝึกตัวเองค่อยๆ ฝึก สมาธิ 2 แบบฝึกไว้ดีทั้งคู่ วิธีฝึกให้สมาธิสงบก็คือสังเกตตัวเอง จิตใจเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานชนิดไหนแล้วมีความสุข พึงพอใจ เราก็อยู่กับอารมณ์กรรมฐานอันนั้น

 

สมถกรรมฐาน: สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว

เมื่อวานซืนก็มีแม่ชีคนหนึ่งมา บ้านอยู่แถวนี้ มาเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า ช่วงนี้ภาวนาดีขึ้นแล้ว รู้ตัวเลย แกพิจารณาอสุภกรรมฐาน อสุภกรรมฐานเป็นการคิดพิจารณา ร่างกายเหมือนซากศพ เป็นซากศพ ตั้งแต่มันตายไปแล้วมีอาการอย่างไร จนกระทั่งมันแตกสลายเหลือแต่กระดูก บอกว่ามีความสุข ได้พิจารณาอสุภกรรมฐานไม่สวยไม่งาม เป็นของโสโครก สกปรกร่างกายนี้ พอเขาพิจารณาอย่างนี้แล้วเขามีความสุข จิตมันชอบ ฉะนั้นสมาธิชนิดสงบเกิดขึ้นทันทีเลย เพราะจิตมันพอใจอยู่ในอารมณ์อันเดียว อารมณ์อันเดียวก็คือพิจารณาลงในกาย ให้เห็นเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ

ฉะนั้นเราก็ต้องเข้าใจอย่างหนึ่ง เรื่องของสมถกรรมฐาน รู้จักเลือกอารมณ์ที่พอดีกับตัวเราเอง ที่เหมาะกับตัวเราเอง แต่ละคนไม่เหมือนกัน มีคนหนึ่งเขาเล่าให้ฟัง เขาทำกรรมฐานอย่างโน้นอย่างนี้มานาน แล้วไม่ได้เรื่องเลย หลวงพ่อบอกลองเปลี่ยนเสีย อย่าพยายามจะดูจิตเลย ดูไม่ได้หรอกฟุ้งซ่านมาก ดูจิตไม่ออกหรอก มันคิดอย่างเดียวเลย ให้ดูจิตก็ไปนั่งคิดเอา บอกดูของที่มันไม่คิดเลย มีสติระลึกรู้หัวกะโหลกของตัวเองลงไป ดูหัวกะโหลกลงไป แล้วก็ไล่ลงไปตามกระดูกสันหลังทีละข้อๆ ลงไปที่ก้นกบ ไล่ขึ้นไล่ลงอยู่อย่างนี้ ปรากฏว่าไล่อยู่แป๊บเดียว จิตมีปีติมีความสุขเกิดขึ้น สมาธิเกิดขึ้นเลย อันนี้เรื่องของสมถกรรมฐาน ที่จะสรุปให้พวกเราฟังก็คือ เราต้องรู้จักฉลาดในการเลือกอารมณ์กรรมฐาน ที่เราอยู่แล้วเรามีความสุข

อย่างแม่ชีนั้นแกมีความสุข ที่ได้ดูร่างกายเป็นอสุภะ เป็นของไม่สวยไม่งาม หนุ่มคนนี้เขามีความสุขที่ได้ดูกระดูก ไล่อยู่ตามกระดูกสันหลัง หัวกะโหลกอะไรอย่างนี้ มันคือการเพ่งกสิณ คือกสิณ เพ่งแล้วได้ความสุขความสงบ จิตก็ได้สมาธิขึ้นมา แต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก ทางใครทางมัน อย่างหลวงพ่อไม่ได้เล่นอย่างนั้น หลวงพ่อใช้หายใจ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ครูบาอาจารย์ท่านพ่อลีท่านสอนมาตั้งแต่เด็ก 7 ขวบก็เริ่มหายใจเข้าพุท หายใจออกโธแล้ว ฉะนั้นจิตมันชอบ ชอบหายใจแป๊บเดียวมันก็สงบ ไม่ได้บังคับจิตให้สงบ มันสงบของมันเอง

เวลาเราทำสมาธิ เราอยากให้จิตสงบจิตจะไม่สงบ จำไว้เลย ทำอย่างไรจิตก็ไม่สงบถ้าไปอยากให้มันสงบ แต่ตรงที่เราไม่ได้เจตนาให้สงบ เราทำกรรมฐานที่จิตมันชอบ มันจะสงบเอง หลวงพ่อพุธท่านถึงสอน “สมถะเริ่มเมื่อหมดความจงใจ” ไม่ได้เจตนาให้สงบมันสงบเอง แต่พอเราฝึกชำนิชำนาญ พอเราอยากสงบ เราก็วางจิต วางจิตรู้สึกลงไปในอารมณ์กรรมฐานนั้น วางจิตหมายถึงว่าไม่ได้ไปบังคับจิต ว่าต้องอยู่กับอารมณ์อันนี้อย่างอื่นไม่ได้ ไม่บังคับ ชำนิชำนาญพอกำหนดปุ๊บสมาธิมันจะเกิดเองเลย มันสว่างขึ้นมาเลย สงบ สว่างขึ้นมา สมถะทำให้จิตสงบ จิตสว่าง แต่จิตไม่สะอาด ตัวที่ทำจิตให้สะอาดคือตัวปัญญา เกิดจากการทำวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น ฉะนั้นเวลาเราภาวนาถ้าเรายังทำแต่สมถะอยู่ จิตสงบได้ไหม สงบได้ สว่างไหม สว่าง บางทีสว่างครอบโลกธาตุเลย สว่างทั้งจักรวาลนี้มีแต่ความสว่าง แผ่ไม่มีที่สิ้นสุด มันไม่สะอาด กิเลสมันยังอยู่

 

วิปัสสนากรรมฐาน: ฝึกให้จิตสะอาดด้วยการเรียนรู้ความจริง

วิปัสสนากรรมฐานจะมาช่วยทำให้เราเกิดปัญญา ตัวที่ทำให้จิตสะอาดคือตัวปัญญา ส่วนสมาธินั่นจิตสงบ จิตสว่าง แต่ตรงที่เกิดปัญญาจิตก็สว่าง สว่างยิ่งกว่าตอนทำสมถะอีก พระพุทธเจ้าถึงบอก “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี” มันมีความแตกต่างกัน ถ้าเราทำแต่สมถะให้จิตนิ่ง สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว สว่าง สงบ สว่าง แต่กิเลสไม่สะเทือน บางทียิ่งฝึกสมถะมากๆ กิเลสยิ่งแรง อย่างคนติดสมถะพอจิตถอนออกจากสมาธิปุ๊บ กระทบอารมณ์นิดเดียวเหมือนภูเขาไฟระเบิดเลย อารมณ์รุนแรงมาก อันนั้นเพราะติดความสุขในสมาธิ

ฉะนั้นเราฝึกนอกจากให้มันสงบสว่างแล้ว ต้องฝึกให้มันสะอาดด้วยการเรียนรู้ความจริง การทำวิปัสสนาไม่ใช่เรียนว่ากายนี้ไม่ดี ลองดูเข้าไปเรื่อยร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เลยคำว่าดี คำว่าไม่ดีไปแล้ว จิตใจนี้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ได้มุ่งให้ดี ให้สุข ให้สงบอะไรอีกต่อไปแล้ว แต่มุ่งดูความจริงของกายของใจ นั่นก็คือตัววิปัสสนา เราจะทำได้ถ้าจิตเราเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู ถ้าจิตเรายังเป็นผู้แสดงเองก็ไม่ได้เรื่อง อย่างตอนสมถะจิตเป็นผู้แสดง จากจิตฟุ้งซ่านแสดงความสงบสว่างขึ้นมา สบาย แต่ตอนที่เดินวิปัสสนาจิตไม่ใช่ผู้แสดงอีกต่อไปแล้ว แต่จิตเป็นผู้เห็น เห็นกายอย่างที่มันเป็น คือเห็นไตรลักษณ์ของกาย เห็นใจอย่างที่ใจมันเป็น คือเห็นไตรลักษณ์ของใจ

เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ตรงที่เห็นไตรลักษณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก มันจะเริ่มเห็นร่างกายนี้เป็นแค่วัตถุธาตุ มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ก็จะเห็นความจริงของมัน พอมันดูนามธรรมเราจะเห็นเลย ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่วทั้งหลาย มันเกิดขึ้นเราสั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ มันอยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับไป มันเป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา โดดเด่นขึ้นมา ดูเวทนา ดูสังขารแล้ว ต่อไปก็ดูวิญญาณ เราจะเห็นว่าจิตไปเกิดที่ตาแล้วก็ดับ จิตไปเกิดที่หูแล้วก็ดับ เรียกว่าวิญญาณทางตาเกิดขึ้นแล้วดับ วิญญาณทางหูเกิดแล้วดับ จิตกับวิญญาณมันตัวเดียวกัน แต่ตอนที่มันออกไปรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีศัพท์เทคนิคเรียกวิญญาณ เป็นตัวหยั่งรู้อารมณ์ จิตมักจะใช้กับตัวที่มันเสวยอารมณ์อะไรอย่างนี้ ศัพท์มันมีหลายตัว ใจ ใจใช้รู้ธรรมารมณ์ ไม่ต้องกังวล จิต ใจ วิญญาณ หรือจิต มโน วิญญาณ คือตัวเดียวกันล่ะ หลวงปู่เทสก์ท่านก็สอน “จิตอันใด ก็ใจอันนั้น” คือจิตมันเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ใจมันเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี้สำนวนท่าน

เราค่อยๆ ฝึก จนจิตมันฉลาด แล้วมันเห็นไตรลักษณ์ของกายของใจ ซ้ำแล้วซ้ำอีก พอมันเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก มันจะเริ่มเป็น กลาง แต่เห็นทีแรกไม่เป็นกลาง อย่างเห็นร่างกายเห็นจิตใจแสดงไตรลักษณ์ ช่วงแรกๆ มันจะเบื่อ แล้วก็รู้สึกกายนี้เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ ใจนี้เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ เป็นที่ที่ไม่ปลอดภัย ตรงที่เห็นมันไม่ปลอดภัยเรียก ภยตูปัฏฐานญาณ ไม่ต้องเรียกชื่อมันหรอก เป็นความรู้สึกของเรา เราก็ไม่ต้องรู้ชื่อหรอก บางคนเห็นกายเห็นใจแสดงไตรลักษณ์แล้วก็เบื่อ รู้สึกไม่ดีเลยอยากพ้นไป บางคนเห็นว่ามันเป็นทุกข์ เป็นโทษ ไม่สมบูรณ์ อย่างร่างกายนี้ก็ไม่มีความสมบูรณ์หรอก ช่วงนี้สุขภาพแข็งแรง อีกช่วงหนึ่งก็ไม่แข็งแรงอีกแล้ว ช่วงนี้สบาย อีกช่วงหนึ่งก็ไม่สบายแล้ว เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวปวด เดี๋ยวเมื่อยอะไรอย่างนี้ เห็นความบกพร่องอยู่เป็นนิจ จิตใจนี้ก็เห็นมันหิวโหยอยู่ตลอดเวลา มันบกพร่องอยู่เป็นนิจ ไม่สมบูรณ์

บางคนดูไตรลักษณ์ของกายของใจแล้วก็เห็น บางคนมันเกิดอาการเบื่อ บางคนมันเกิดรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สมบูรณ์ บางคนก็เห็นว่ามันเป็นทุกข์ เป็นโทษ เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ เห็นอย่างไรก็ได้ รวมความก็คือเห็นความบกพร่องของกายของใจ พอมันเห็นอย่างนี้แล้วใจมันจะอยากหนีให้พ้นไป อยากจะพ้นจากร่างกาย อยากจะพ้นจากจิตใจนี้ไป มันเป็นกระบวนการ เป็นกลไกที่จิตมันพัฒนาของมันไปเอง ตรงที่มันเห็นความน่าเบื่อนั้น มันเบื่อทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดเลย เขาเรียกว่า นิพพิทาญาณ มีปัญญาเห็นความน่าเบื่อ เห็นความบกพร่องของมัน เรียกอาทีนวญาณ เราไม่ต้องจำชื่อหรอก ตรงที่เห็นว่ามันเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ เรียกภยตูปัฏฐานญาณ 3 ตัวนี้มันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน คือกลุ่มที่เห็นความบกพร่องของกายของใจ แล้วอาการถัดจากนั้นก็อาการอย่างเดียวกัน คืออยากจะพ้นจากกายจากใจ พออยากจะพ้นจากกายจากใจ ทำอย่างไรมันก็พ้นไม่ได้ หนีไปอยู่วัดก็เอากายเอาใจไปอยู่ ออกไปบวชมันก็เอากายเอาใจไปบวชอีก เพราะไปไหนมันก็มีกายมีใจไปด้วยตลอดเวลา

 

เห็นไตรลักษณ์แล้วจิตยอมรับได้ จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลาง

ค่อยๆ ภาวนาไป ในที่สุดก็รู้ถึงไม่ดี ถึงไม่ชอบก็หนีไม่ได้ ต้องอยู่กับมัน พออยู่กับมันแล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้มันไป ไม่ใช่อยู่กับมันแบบหนีมันไปไม่ยอมสนใจมัน เราก็ดูกายดูใจของเราไปเรื่อยๆ หนีไม่ได้ก็ต้องดู คล้ายๆ สู้แบบหมาจนตรอก ถอยไม่ได้แล้วเอาหลังพิงกำแพงแล้ว ก็ยังดูอยู่ คู่ต่อสู้มันจะแทงเราตรงนี้ มันจะชกเราตรงนี้ เราก็คอยจับตาดูอยู่ สังเกตไป เห็นทุกข์เห็นโทษของธาตุของขันธ์ไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันเกิด ทุกอย่างมันของชั่วคราวทั้งหมดเลย ทุกอย่างมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งหมดเลย ทีแรกเห็นไตรลักษณ์แล้วจิตดิ้นรนหนี จิตไม่ยอมรับ ตอนหลังพอพัฒนาขึ้นมา เห็นไตรลักษณ์แล้วจิตยอมรับ เราหนีมันไม่ได้ เห็นกายมันไม่ดีจะหนีกายก็ไม่ได้ เห็นจิตมันไม่ดีจะหนีจิตก็ไม่ได้ ก็เฝ้ารู้เฝ้าดูมันไป ในที่สุดใจมันก็เข้าสู่ความเป็นกลาง มันจะเห็นว่ากายทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตจะสุข จิตจะทุกข์ จิตจะดี จิตจะชั่ว จิตจะดูรูป จะฟังเสียง จะดมกลิ่น จะลิ้มรส จะรู้สัมผัสทางกาย จะคิดนึกทางใจ ก็ของชั่วคราวทั้งหมดเลย ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้

ฉะนั้นพอมันยอมรับตรงนี้ได้ จิตมันจะเป็นกลาง จะเข้าสู่ความเป็นกลาง เป็นกลางต่อร่างกาย ร่างกายจะสุขหรือร่างกายจะทุกข์ก็อย่างนั้นล่ะ ก็มันเป็นอย่างนี้ล่ะ จะให้มันเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร ก็จะเห็น อ๋อ มันอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ เห็นความเป็นอย่างนี้ล่ะ ยอมรับได้จิตก็ไม่ดิ้น กายจะสุขหรือกายจะทุกข์ จิตก็ไม่ดิ้นรน จิตใจจะสุขหรือจะทุกข์ ก็ยังเห็นว่ามันเสมอกัน จิตสุขอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตทุกข์อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตจะเป็นกุศล หรืออกุศล มันก็เสมอกัน จิตจะโลภ หรือจิตไม่โลภ จิตจะโกรธ หรือจิตไม่โกรธ จิตจะหลง หรือจิตไม่หลง มันก็เกิดแล้วดับ มันบังคับไม่ได้เหมือนๆ กัน ก็จะเห็นสภาวะทั้งหลายล้วนแต่ของไม่เที่ยง ล้วนแต่ของทนอยู่ไม่ได้ ล้วนแต่ของบังคับไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา คือใจมันยอมตรงนี้ ใจจะเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา ตัวนี้เป็นจุดสุดยอดของวิปัสสนากรรมฐานที่ยังเป็นโลกิยะอยู่ คือสภาวะที่จิตมีปัญญา จนกระทั่งเป็นกลางต่อความปรุงแต่งทั้งปวง

ร่างกายก็เป็นความปรุงแต่งอย่างหนึ่ง ความสุข ความทุกข์ก็เป็นความปรุงแต่ง ความดี ความชั่วก็เป็นความปรุงแต่ง จิตที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นความปรุงแต่ง เกิดแล้วดับทั้งสิ้น นี้จิตมันเห็น มันเป็นกลาง พอจิตมันเป็นกลางจิตก็จะหมดความอยาก อย่างร่างกายไม่สบาย จิตจะไม่ได้อยากให้มันหายป่วย แล้วก็ไม่ได้เกลียดมันอยากให้มันตายเร็วๆ อย่างไม่สบายเยอะๆ บางคนอยากตายให้พ้นๆ ไป อันนั้นจิตไม่เป็นกลาง ถ้าจิตเป็นกลาง ก็คือไม่รักกับไม่เกลียดมัน ไม่ชอบกับไม่ไม่ชอบ ไม่มีทั้งชอบทั้งไม่ชอบ มันเป็นกลางด้วยปัญญา จิตจะหมดความอยาก ไม่อยากให้จิตเป็นสุข ไม่อยากให้จิตพ้นทุกข์ ไม่อยากอะไรเลย ไม่อยากดี ไม่อยากให้จิตดี ไม่อยากให้จิตไม่ชั่ว ไม่มีความอยากใดๆ เกิดขึ้น เมื่อจิตไม่มีความอยาก เพราะมีปัญญาแก่รอบอย่างนั้น มันก็จะไม่เกิดการดิ้นรน

จิตไม่รู้ความจริงของธาตุของขันธ์ จิตก็จะเกิดความอยาก ถ้าจิตเกิดความอยากจิตก็เกิดความดิ้นรน ความปรุงแต่ง ทำอย่างไรจะได้สิ่งที่ดี ทำอย่างไรจะพ้นจากสิ่งไม่ดี ถ้ายังคิดจะทำอย่างโน้นจะทำอย่างนี้อยู่ จิตยังไม่เป็นกลางจริง ภาวนาจนกระทั่งมันเข้าถึงความเป็นกลาง แล้วตรงนี้ล่ะที่มันสักว่ารู้ว่าเห็น มันเห็นความสุขเกิดขึ้นมันก็เป็นกลาง เขาเรียกสักว่ารู้ว่าเห็น ไม่ได้อยากได้ เห็นความทุกข์เกิดขึ้นมันก็เป็น กลาง สักว่ารู้ว่าเห็นไม่เกลียดความทุกข์ ฉะนั้นคำว่าสักว่ารู้ว่าเห็นอะไรนี้พูดง่ายแต่ทำยาก ถ้าปัญญาไม่พอสักว่ารู้ว่าเห็น รู้แบบซังกะตาย อันนั้นรู้แบบสมถะ เพ่ง จิตนิ่งๆ บอกสักว่ารู้สักว่าเห็นไม่ได้กินหรอก สู้กิเลสไม่ได้จริงหรอก จิตก็ยังโสโครก ยังโง่งมงายอยู่กับกิเลสอยู่อย่างนั้น ต้องเดินวิปัสสนา ในที่สุดจิตก็ฉลาด

วิปัสสนามันทำให้จิตเกิดความรู้ถูกเข้าใจถูก ว่าธาตุ ขันธ์นี้ อายตนะ ขันธ์อะไรนี้เสมอกันหมดแต่ละอย่าง ธาตุแต่ละธาตุ ขันธ์แต่ละขันธ์ อายตนะแต่ละตัว เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับบังคับไม่ได้ เหมือนๆ กันหมด จิตก็หมดความดิ้นรน หมดความอยากที่จะสุข หมดความอยากที่จะให้มันไม่ทุกข์ หมดความอยากที่จะให้มันดี หมดความอยากที่จะให้มันไม่ชั่ว จิตหมดความอยาก จิตก็หมดความดิ้นรน หมดความปรุงแต่ง เมื่อจิตหมดความปรุงแต่ง มันก็ทรง ลักขณูปนิชฌาน มันยังมีอยู่ทรงตัวอยู่ จิตมันเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่นั่นล่ะ เพราะอำนาจของลักขณูปนิชฌาน พอมันหมดความปรุงแต่ง มันก็เข้าไปเริ่มไปสัมผัสสิ่งซึ่งไม่ปรุงแต่ง สิ่งที่ไม่ปรุงแต่งเขาเรียกว่า วิสังขาร ก็เป็นชื่อหนึ่งของพระนิพพาน ตรงนั้นไม่ได้มีความอยาก ก็เป็นวิราคะ ก็เป็นชื่ออันหนึ่งของพระนิพพานเหมือนกัน จิตจะสัมผัสพระนิพพาน พระนิพพานไม่ใช่อะไรประหลาดเลย คือสภาวะที่จิตหมดความอยากนั่นล่ะ สภาวะที่จิตหมดความดิ้นรนปรุงแต่ง

อย่างถ้าเราภาวนาในที่สุดจิตฉลาดขึ้นมา จิตก็หมดความดิ้นรนปรุงแต่ง สัมผัสพระนิพพาน พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนว่า ไม่มีใครทำจิตให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้หรอก แต่จิตที่มีศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์แล้ว มันบรรลุมรรคผลนิพพานเอง โดยเฉพาะมีปัญญา ศีล สมาธิ ปุถุชนก็มีได้ แต่ตรงที่มีปัญญาถึงขนาดเห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม จนกระทั่งเป็นกลางกับมัน ถัดจากนั้นก็จะเกิดกระบวนการของอริยมรรค อริยผลขึ้น ระหว่างที่มีอริยมรรคเกิดขึ้น ลักขณูปนิชฌานก็ยังอยู่ จิตมันทรงตัวอยู่ ก็เห็นอาการที่จิตมันทำลายสังโยชน์ลงไป มันแหวกอาสวะออกไป ถัดจากนั้นเกิดอริยผล ตรงอริยผลจิตมันก็ยังเห็นว่า พอพ้นจากกระบวนการของอริยมรรค จิตมันสัมผัสพระนิพพานอยู่ ทรงสภาวะอยู่ ไม่นานหรอก ไม่นานจิตจะถอนออกมาสู่โลกภายนอกนี้

หลังจากนั้นแล้วถ้าเราภาวนาชำนิชำนาญ พอเรามนสิการถึงพระนิพพาน แค่มนสิการ ไม่ใช่เพ่ง ไม่ใช่ค้นหา ไม่ใช่กำหนดจิตที่จะเข้าๆ ออกๆ มนสิการคือแค่ระลึกถึงพระนิพพาน จิตก็จะทรงลักขณูปนิชฌานไว้ เห็นพระนิพพาน อาการที่จิตมันเดินไปมันก็เดินอย่างนี้ ตรงที่มันทำสมถะมันมีอารัมมณูปนิชฌาน ตรงที่มันเจริญวิปัสสนา ตอนที่มันเกิดอริยมรรค เกิดอริยผล ตอนที่เห็นพระนิพพาน ตอนทำผลสมาบัติเห็นพระนิพพาน จิตจะมีลักขณูปนิชฌาน ฉะนั้นลักขณูปนิชฌานไม่ใช่แค่ตัววิปัสสนา ไม่ใช่แค่ตัวอริยมรรค ไม่ใช่แค่ตัวอริยผล ไม่ใช่แค่เห็นพระนิพพาน เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ในนั้นยังประกอบด้วยเครื่องมือดีๆ อีกจำนวนมาก

 

 

ฉะนั้นเวลาทีมงานหลวงพ่อจะแปลสิ่งที่หลวงพ่อสอน พอมาเจอคำว่าฌานไปแปลว่าเพ่ง เป็น concentrate ไปหมดแล้ว มันไม่ใช่ มันไม่ได้ตรงกับสภาวะทีเดียว หลวงพ่อไม่ได้สอนปริยัติ ถ้าสอนปริยัติต้องสอนให้ตรงปริยัติเป๊ะๆ เราสอนปฏิบัติ เราก็จะชี้ให้ดูในแผนที่อันนี้ถึงจุดนี้เราจะเจออันนี้ ในแผนที่ไม่ได้บอกไว้ มันคล้ายๆ เดี๋ยวนี้มันมีพวก Google Map คนที่เคยผ่านพื้นที่นี้แล้ว มันก็ไปเขียนเอาไว้ มีรีวิว เราอยากรู้พื้นที่นี้ plot ลงไป ดูรีวิวได้ อันนี้คนมีประสบการณ์ ถ้าลำพังดูแผนที่เฉยๆ ยังไม่ได้อ่านรีวิวเขา ยังไม่รู้จริง รีวิวก็ไม่รู้จริงหรือเปล่า บางคนมันก็มั่วเหมือนกัน อย่างร้านอาหารเจ้าของร้านก็มารีวิว ร้านนี้อร่อยที่สุด ดีที่สุด สะอาด อย่างโน้นอย่างนี้ พอลูกค้าไปรีวิว สกปรก ล่าช้า อย่างโน้นอย่างนี้ อันนี้ทางโลก

ทางธรรมเราก็ดูของเรา ในทางธรรมมีไหมที่รีวิวหลอก มีเยอะแยะเลย ภาวนาไปแล้วไปเจอสภาวะอย่างนี้ เชื่อเลย นี่ถูกหลอก ไปเห็นรีวิวอันนี้ของเก๊ เห็นพระพุทธเจ้าเป็นองค์ๆ ของปลอม พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้เองว่าเมื่อท่านปรินิพพานแล้ว มนุษย์และเทวดาจะไม่เห็นท่านอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะมีฤทธิ์มีเดชแค่ไหน ก็จะมองไม่เห็นท่านอีกต่อไปแล้ว เหมือนรอยเท้านกในอากาศ ใครจะไปมองเห็นรอยเท้านกในอากาศใช่ไหม อย่างถ้ายังเห็นพระพุทธเจ้าเป็นองค์ๆ อยู่ ยังไม่ใช่หรอก จิตยังปรุงอยู่ อันนี้รีวิวผิด กลับมาเขียนนั่งสมาธิอย่างนี้แล้วเห็นพระพุทธเจ้า นี่รีวิวผิดต้องระวัง มีเหมือนกันรีวิวผิด แล้วมีเยอะด้วย

ฉะนั้นเราสังเกต เวลาเราภาวนาเราจะบรรยายได้ เหมือนเราเขียนรีวิวได้ ว่าพื้นที่ตรงนี้ถ้าทำสมาธิ มาตรงนี้มันจะเกิดอย่างนี้ๆ เราเกิดอย่างนี้ คนอื่นเขาเกิดอย่างอื่น หรือที่เราเกิดจิตมันหลอน มันก็เป็นได้ ค่อยๆ ระมัดระวัง ค่อยๆ สังเกต ดูแผนที่หลักของเรา ถ้าเราภาวนาแล้วเห็นพระพุทธเจ้าเป็นองค์ๆ ขึ้นมาเทศน์ให้เราฟังเป็นองค์ๆ ถ้าเราเรียนแผนที่มาแล้ว เรียนปริยัติมาแล้ว ไม่ใช่หรอกมันเป็นนิมิต ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนหลวงพ่อ เวลาท่านภาวนาบางทีท่านก็เห็นพระพุทธเจ้ามาเทศน์ให้ท่านฟังอะไรอย่างนี้ บางองค์ท่านก็เล่าให้ฟัง แต่ท่านบอกว่าเป็นพุทธนิมิต เป็นนิมิต ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็ไม่หลง ถ้าไม่เข้าใจนั่งสมาธิเห็นพระพุทธเจ้า ทำไมพระพุทธเจ้าต้องมียอดแหลมๆ ด้วย เพราะเราเห็นพระพุทธรูปมีเกศแหลมๆ อยู่เรื่อย พระพุทธเจ้าก็ต้องเหมือนพระพุทธรูปอะไรอย่างนี้ อันนั้นจิตมันหลอน เราจะรู้จักพระพุทธเจ้า เราภาวนาไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งเราจะรู้จักพระพุทธเจ้าจริงๆ พระพุทธเจ้าเป็นความบริสุทธิ์ ถ้าจิตเราบริสุทธิ์มันก็เป็นความบริสุทธิ์อันเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านบริสุทธิ์นั่นล่ะ ก็จะสัมผัสคล้ายๆ เป็นอันเดียวกันไปหมดเลย ความบริสุทธิ์

ไปสังเกตใจเรา ตอนนี้ควรทำสมถะก็ทำสมถะ ตอนนี้จิตมีเรี่ยวมีแรงแล้วก็เจริญวิปัสสนา ดูไตรลักษณ์ของรูปนาม จะดูไตรลักษณ์ของรูปนามได้ จิตต้องมีลักขณูปนิชฌาน คือมีความตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้เห็น เห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ถ้าลำพังเห็นรูปเห็นนามเรียก อารัมมณูปนิชฌาน เพ่งตัวอารมณ์ ใช้รูปเป็นอารมณ์ ใช้นามเป็นอารมณ์ ใช้บัญญัติเป็นอารมณ์ หรือกระทั่งใช้นิพพานเป็นอารมณ์ อันนั้นเป็นอารัมมณูปนิชฌาน แต่ตรงที่เห็นนิพพานจริงๆ มันเป็นลักขณูปนิชณาน ต้องระมัดระวัง ค่อยๆ ดูเอา.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 ตุลาคม 2564