การภาวนาจุดตั้งต้นเลย รู้สึกตัวขึ้นมาให้ได้ ถ้ายังไม่รู้สึกตัว ไม่มีทางภาวนา รู้สึกตัวได้แล้ว ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ขั้นต่อไปคือการแยกขันธ์ แยกธาตุแยกขันธ์ พอแยกธาตุแยกขันธ์ได้แล้ว งานต่อไปคือการทำวิปัสสนาแล้ว การเห็นธาตุเห็นขันธ์แต่ละอย่างๆ แสดงไตรลักษณ์ หน้าที่เราก็มีแค่นี้ ขั้นแรกเรารู้สึกตัวให้ได้ก่อน
ในโลกมันไม่มีคนรู้สึกตัว มีแต่คนหลง ตื่นขึ้นมา มันตื่นแต่ร่างกาย แต่จิตใจก็หลงไปในความคิดความฝันตลอดเวลา คิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ไป มีกายก็ลืมกายมีใจก็ลืมใจไป คนในโลกเกือบทั้งหมดเป็นแบบนั้น กระทั่งคนเข้าวัด นั่งสมาธิ เดินจงกรม ส่วนใหญ่ที่นั่งสมาธิกัน มันก็เป็นมิจฉาสมาธิ นั่งแล้วไม่เคร่งเครียดเกินไป ก็ย่อหย่อนหลงลืมตัวเองไป แล้วก็เข้าไปเพ่งไปแช่ นิ่งๆ อยู่กับอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ไม่รู้ว่าจิตมันจมลงไปแล้ว ไม่มีสติรู้เท่าทันจิตใจของตัวเอง ไหลจมลงไปในอารมณ์กรรมฐาน เกือบร้อยละร้อยของคนนั่งสมาธิก็เป็นมิจฉาสมาธิอย่างนี้ มันไม่ได้อะไรขึ้นมา ถ้าบังคับตัวเองรุนแรงก็ได้ความเหน็ดเหนื่อย ความทรมาน อึดอัด แน่น แน่นเหมือนหน้าอกจะแตกเลยถ้าเพ่งแรงๆ ถ้าย่อหย่อนเกินไปก็เผลอ ฝันไปอยู่ในโลกของความฝันความคิด ไม่รู้สึกกาย ไม่รู้สึกใจ ฉะนั้นเราจะต้องฝึกตัวเองให้อยู่ในโลกของความรู้สึกตัวให้ได้ ตรงนี้มันฝืนความเคยชินอย่างร้ายแรง เพราะคนในโลกเคยชินที่จะหลง ไม่เคยชินที่จะรู้สึกตัว
มีอยู่คราวหลวงพ่อไปเทศน์ในกรุงเทพฯ ออกไปเร็วเลย ไปแวะที่มอเตอร์เวย์ ไปนั่งพักอยู่ที่มอเตอร์เวย์ คนเดินผ่านเดินริมถนน เดินผ่านไปผ่านมาเยอะแยะเลย ชี้ให้พระอาจารย์อ๊าดู บอกหลวงพ่อไม่เห็นมีใครมันรู้สึกตัวสักคนเลยที่มันเดินอยู่นั่น กระทั่งคนภาวนาก็ไม่ค่อยรู้สึกตัวหรอก นั่งเพ่งนั่งจ้องจนเคร่งเครียด มันใช้ไม่ได้ ความรู้สึกตัวที่แท้จริงมันเป็น กลาง เป็นทางสายกลาง ไม่ย่อหย่อนเกินไป ย่อหย่อนเกินไปก็คือลืมกายลืมใจไป หลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน ก็ไม่ตึงเกินไปจนแน่นๆ ภาวนาจนแน่นหน้าอกเลย เหมือนอกจะแตก บางคนภาวนาเหมือนคอจะเคล็ด หลังเคล็ด คอเคล็ด บังคับตัวเองมากไป ถ้าย่อหย่อนเกินไปคือลืมกายลืมใจ หลงไปคิดไปฝันกับตึงเครียดเกินไป อึดอัดแน่น บังคับตัวเองมาก 2 อันนี้ยังไม่เข้าทางสายกลาง มันยังไม่ได้เริ่มต้นเลย เข้าทางสายกลางไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องฝึก
งานขั้นแรก: รู้สึกตัวให้ได้
วิธีฝึกทำได้หลายแบบ อันหนึ่งถ้าเราชำนาญในสมาธิ เราก็เข้าฌานไป เช่น เราหายใจไป หรือหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป พอจิตมันเริ่มสงบลง คำบริกรรมมันจะหาย เหลือแต่การหายใจ พอจิตมันสงบลงไป ลมหายใจมันจะหายไป กลายเป็นแสงสว่างอยู่แถวๆ จมูก แถวๆ หน้าเรา เป็นความสว่างขึ้นมา ดูลงไป ให้จิตมันตรึกตรอง เคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่างจนกระทั่งมันเชื่อง มันไม่หนีไปที่อื่น ฉะนั้นจิตมันจับแสงสว่างเป็นอารมณ์ เรียกว่ามันวิตก มันเคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่างโดยที่เราไม่ได้จงใจ ไม่หนีไปไหน เรียกว่าวิจาร ปีติมันจะเกิด ปีติสุข แล้วจิตก็รวมเป็นหนึ่ง จิตก็เข้าปฐมฌาน
ตรงนี้ตัวรู้ยังไม่เด่นชัด ให้สังเกตจิตใจของเราไปเรื่อยๆ ภาวนาไป ต่อไปๆ มันจะเห็นว่าการที่จิตยังตรึกยังตรองอยู่ในแสง มันเป็นภาระ การที่จิตต้องคอยจับอยู่กับแสงสว่าง คอยเคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่าง ถึงจะมีความสุขก็จริง แต่มันเป็นภาระของจิต พอเห็นตรงนี้จิตมันวางวิตกวิจาร วางแสงสว่าง ไม่ยกเอาแสงสว่างมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน แล้วก็ไม่เคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่าง จิตจะทวนกระแสเข้ามา มันจะเจอตัวผู้รู้ขึ้นมา
ในพระไตรปิฎกเรียกว่า เอโกทิภาวะ ภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง อันนี้ปริยัติก็แปลว่าสมาธิ แปลแล้วก็คือไม่เข้าใจอยู่นั่นว่าสมาธิมีตั้งเยอะตั้งแยะ หมามันก็มีสมาธิ แมวมันก็มีสมาธิ จิตทุกดวงมีสมาธิทั้งนั้น แต่สมาธิมันมีหลายแบบ เอโกทิภาวะจะไปแปลว่าสมาธิเฉยๆ มันไม่ถูก มันเป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่ง จิตเป็นหนึ่ง อารมณ์เป็นหนึ่งอยู่แล้ว อันนี้จิตเป็นหนึ่ง อารมณ์เป็นหนึ่ง แล้วค่อยๆ สังเกตไป จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา เห็นปีติเกิดขึ้น ที่จริงปีติเกิดตั้งแต่ปฐมฌานแล้ว ความสุขมันก็มีตั้งแต่ปฐมฌานแล้ว แต่ในปฐมฌาน จิตยังสนใจ ยังใส่ใจอยู่ที่แสงสว่าง
พอมันเห็นว่าการที่จิตยังไปอยู่กับแสงสว่างเป็นภาระ มันวางแสง พอวางแสงสว่างแล้วทวนเข้ามา เข้ามาเห็นองค์ธรรมที่ละเอียดมากขึ้น ตัวแสงนั้นมันเป็นรูป พอวางตัวแสงไป ก็มารู้สึก ตัวที่มันเด่นขึ้นมาคือตัวความสุข แต่จิตเป็นหนึ่ง มันเห็นว่าความสุขเป็นของถูกรู้ถูกดูอยู่ อันนี้จิตจะเดินเข้าสู่สมาธิที่ถูกต้อง บางคนตรงนี้ไม่สังเกต ดูไม่ออกว่าตอนนี้จิตมันตั้งมั่นเป็นหนึ่ง เป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ มีเอโกทิภาวะ มองไม่เห็น จิตมันถลำไปจ้องอยู่ที่ความสุข อันนั้นก็เป็นสมาธิแบบฤๅษีต่อไป จิตยังหลงไปอยู่ที่ตัวอารมณ์
สมาธิของพระพุทธเจ้า ในฌานที่สองจิตตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว เห็นความสุขถูกรู้ถูกดูแล้วความสุขก็ดับไป ความสุขยังเป็นของหยาบ ปีติดับไปก่อน จะเห็นปีติมันเป็นความหวือหวาของจิตดับไป มีความสุข เห็นความสุขก็ยังเป็นภาระ ความสุขก็ดับไป จิตก็เป็นอุเบกขา ถ้าไม่มีเอโกทิภาวะขึ้นมา ก็จะเป็นฌานแบบฤๅษีไป แต่ถ้ามันมีเอโกทิภาวะ ภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง คือจิตนั้นล่ะเป็นหนึ่ง เป็นคนรู้คนดู อารมณ์เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป
ทีแรกเห็นปีติ ปีติถูกรู้ จิตก็วางปีติ เห็นความสุข ความสุขถูกรู้ จิตก็วางความสุข เห็นความสุขกับจิตเป็นคนละอันกัน มีอุเบกขา ก็เห็นอุเบกขามันก็ของถูกรู้ จิตมันก็ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ อย่างนี้เป็นสมาธิของพระพุทธเจ้า พอเราถอยออกจากฌานนี้มา ถอยออกจากสมาธิที่ถูกต้องนี้มา กำลังของสมาธิมันยังทรงอยู่ อยู่ได้หลายวันถ้าเข้าไปตรงนี้ แต่ไม่เกิน 7 วันก็เสื่อม มันจะตั้งมั่นขึ้นมาแค่ผู้รู้ผู้ดู เห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดูได้
“ถ้าเราไม่มีจิตที่เป็นคนรู้ เราจะทำงานขั้นต่อไปไม่ได้”
ถ้าเราไม่ชำนาญในเรื่องของฌานสมาบัติอะไรพวกนี้ วิธีที่ง่ายๆ ที่หลวงพ่อสอนพวกเราบ่อยเพราะพวกเราพอจะทำได้ ก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง กรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง ไม่เลือกเลย กรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วเราคอยรู้เท่าทันจิตของตัวเองไป เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่มีคำพูดอื่นเลยนอกจากคำว่า พุทโธ พอจิตมันหลง มันจะไปคิดเรื่องอื่น มันลืมพุทโธ พอจิตมันหลง เรารู้ทันว่าจิตหลง ตรงที่เรารู้ทันว่าจิตมันหลงไป จิตรู้จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
ฉะนั้นอย่างที่ครูบาอาจารย์หลายองค์ท่านสอนว่าทำกรรมฐาน อย่างสายหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเทียนท่านก็สอนขยับมือ ขยับมือไม่ได้บังคับจิต ถ้าบังคับจิตมันก็ไปสู่ความสุดโต่งข้างเคร่งเครียดไป แล้วก็ไม่ใช่ขยับไปแล้วเพลินไป อันนั้นสุดโต่งข้างหลง แต่ขยับแล้วรู้สึกๆ พอจิตมันหลงไปคิดเรื่องอื่นมันจะลืมมือ มือยังขยับอยู่อย่างนี้แต่จิตหนีไปที่อื่นแล้ว การที่มือมันยังเคลื่อนไหวอยู่ จิตมันเคยชินที่จะรู้สึกมือที่เคลื่อนไหว มันจะหลงไม่นาน หนีไปคิดไม่นาน มันจะรู้สึกขึ้นมา แป๊บขึ้นมา กลับเข้ามาเป็นผู้รู้ขึ้นมา
เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิด เรารู้ว่าจิตหนีไปคิด จิตหนีไปคิดจะดับ จิตผู้รู้ก็จะเกิดขึ้น ฉะนั้นทำได้ง่ายๆ ที่จะทำให้เราได้ตัวจิตที่เป็นผู้รู้อยู่ในทางสายกลาง เดินอยู่ในทางสายกลาง ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป หรือคนไหนขี้โมโห เราก็คอยสังเกตจิตใจตัวเอง จิตใจโมโหขึ้นมาก็รู้ โกรธแล้วรู้ ทันทีที่เรารู้ว่าจิตโกรธ จะเห็นจิตโกรธมันของถูกรู้ จิตผู้รู้มันก็เกิด หรือเรารู้ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายมันนั่ง เราก็ทำความรู้สึกไป ร่างกายที่นั่งอยู่ นั่งท่านี้ๆ ท่าไหนก็ได้ มันเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดู อย่างนี้มันก็จะแยกเอาตัวรู้ออกมาได้ มันจะเห็นว่าร่างกายมันถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ร่างกาย หรือเดินจงกรม เราก็เห็นร่างกายมันเดิน จิตเป็นคนรู้ร่างกายที่เดิน
มีวิธีที่จะทำขึ้นมาได้หลายแบบ แบบที่หนึ่ง สำหรับคนทรงฌานซึ่งยุคนี้ไม่ค่อยมีแล้ว แบบที่สอง รู้สภาวะที่กำลังปรากฏ เห็นสภาวะทั้งหลายเป็นของถูกรู้ถูกดูไป ตัวผู้รู้มันก็จะดีดตัวขึ้นมา เด่นดวงขึ้นมา อย่างเราเห็นร่างกายมันนั่ง หรือกลุ้มใจอยู่ ถอนใจเฮือกๆ กลุ้มใจๆ แล้วสติเราระลึกเห็นร่างกายกำลังถอนใจอยู่ ร่างกายที่ถอนใจอยู่นี้เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตมันเป็นคนรู้คนดูขึ้นมา พอมันทำได้อย่างนี้ ตัวผู้รู้มันจะเกิด เราต้องฝึก ถ้าเราไม่สามารถฝึกจิตให้ทำหน้าที่ที่ถูกต้องของจิต คือทำหน้าที่รู้ ก็คือฝึกไม่ได้ จิตมันก็จะไปปนเปื้อน ปนเปื้อนอยู่กับความสุขความทุกข์ ปนเปื้อนอยู่กับความจำได้หมายรู้ ปนเปื้อนอยู่กับความปรุงดีปรุงชั่ว ไม่สามารถเห็นได้ว่าความสุขความทุกข์ก็ถูกรู้ ความจำได้หมายรู้ก็ถูกรู้ ความปรุงดีปรุงชั่วก็ถูกรู้ ฉะนั้นถ้าเราไม่มีจิตที่เป็นคนรู้ เราจะทำงานขั้นต่อไปไม่ได้
งานขั้นที่สอง: แยกธาตุแยกขันธ์
งานขั้นที่สอง คือการแยกขันธ์ ขั้นแรกคือฝึกจิตให้ตื่นขึ้นมาให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา พอจิตเป็นผู้รู้แล้ว ไม่ใช่รู้อยู่เฉยๆ เมื่อก่อนมีคนแอบอ้างหลวงพ่อ บอกหลวงพ่อปราโมทย์สอน บอก ให้รู้อยู่เฉยๆ รู้อยู่เฉยๆ ยังไม่ได้เดินปัญญาเลย ใช้ไม่ได้ รู้ตัวอยู่เฉยๆ ไม่ใช่ทาง มันเป็นแค่จุดตั้งต้นที่จะเดินปัญญาเท่านั้นเอง การเจริญปัญญาจะเริ่มต้นตั้งแต่การแยกธาตุแยกขันธ์ได้ จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา แล้วมันจะแยกได้ ร่างกายเป็นของถูกรู้ จิตเป็นผู้รู้ อย่างนี้เรียกแยกธาตุแยกขันธ์ได้ แยกรูปแยกนาม ร่างกายหายใจ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน จิตเป็นคนรู้ ความสุข ความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย จิตเป็นคนรู้ ความสุข ความทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ จิตเป็นคนรู้ กุศล อกุศลเกิดขึ้นในจิตใจ จิตเป็นคนรู้ ค่อยๆ ดูไป เราจะค่อยๆ แยกได้
ขั้นแรกที่ง่ายๆ อย่างเรานั่งอยู่ เห็นร่างกายมันนั่ง ใจเป็นคนรู้ อันนี้เราแยกกายกับจิตออกจากกัน ละเอียดต่อไปอีก เราเห็น นั่งไปๆ มันเมื่อย พอมันปวดมันเมื่อย เราก็เห็นร่างกายทีแรกมันนั่งอยู่ ไม่ปวด ความปวดความเมื่อยมาทีหลัง เพราะฉะนั้นความปวดความเมื่อยไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่คิดเอา แต่มันเห็นเอา จะเห็นว่าความปวดความเมื่อยที่เกิดขึ้นในร่างกายไม่ใช่ร่างกาย มันเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาทีหลัง แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา มันเป็นของถูกรู้ถูกดูอยู่ อย่างนี้เราแยกได้ เราแยกร่างกายก็อันหนึ่ง ความปวดความเมื่อยก็อันหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้ก็เป็นอีกอันหนึ่ง หรือพอร่างกายมันปวดมันเมื่อย จิตใจเริ่มกระสับกระส่าย เร่าร้อน หงุดหงิด ร่างกายมันเจ็บปวดแล้ว จิตใจมันหงุดหงิด เราจะเห็นเลยว่า ความหงุดหงิดไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายมีมาแล้ว ความหงุดหงิดไม่ใช่ความปวดเมื่อย ความปวดเมื่อยมีมาแล้ว ความหงุดหงิดมาเกิดทีหลัง แล้วมันก็ไม่ใช่จิต จิตมันเกิดคนรู้มาแต่แรกแล้ว แล้วก็จะแยกได้ ความปวดความเมื่อยอันหนึ่ง ความทุรนทุรายของจิตก็เป็นอีกอันหนึ่ง
ค่อยๆ แยกๆๆ ในที่สุดเราก็แยกขันธ์ 5 ได้ ตรงที่เราแยกขันธ์ได้ แยกรูปแยกนาม นามธรรมก็ยังแยกเป็นเวทนา สัญญา สังขาร ส่วนหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้เป็นอีกส่วนหนึ่ง นี้เป็นส่วนของนาม ส่วนของร่างกายก็เป็นส่วนของรูป ส่วนของเวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญาคือความจำได้ความหมายรู้ ตัวนี้เข้าใจยากนิดหนึ่ง หลวงพ่อเว้นไปก่อน สังขารคือความปรุงดีปรุงชั่ว เช่น เกิดศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาอะไรพวกนี้ เป็นความปรุงแต่ง เป็นเจตสิกธรรมทั้งหมดเลย บางตัวก็เป็นเวทนา อย่างความรู้สึกสุขทุกข์ บางตัวก็เป็นตัวสัญญา อันนี้เว้นไปก่อนเข้าใจยาก แล้วตัวสังขาร สังขารมีเยอะที่สุดเลย มีทั้งสังขาร คือความปรุงฝ่ายดีของจิต กับความปรุงฝ่ายชั่วของจิต ถ้าปรุงไม่ดีไม่ชั่ว ปรุงกลางๆ อย่างสมาธิอย่างนี้ เป็นธรรมะที่เป็นกลางๆ เกิดกับจิตทุกชนิด จิตชั่วก็มีสมาธิได้ จิตดีก็มีสมาธิได้
เราจะค่อยๆ ดู ค่อยๆ แยกไปเรื่อย อย่างนี้เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้ วิธีที่หลวงพ่อบอกให้ง่ายแล้ว มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง หลวงพ่อเพิ่งอ่านประวัติท่าน คนเขาไปสัมภาษณ์ท่าน ท่านแยกขันธ์ได้ด้วยการนั่งสมาธิ นั่ง แต่เดิมนั่งสมาธิ 10 ชั่วโมง จิตเข้าฌาน 10 ชั่วโมง นั่งทีเดียวยันสว่าง ไม่ปวดไม่เมื่อยมีแต่ความสุข ท่านไปเจอครูบาอาจารย์ที่ดีองค์หนึ่ง ครูบาอาจารย์ก็สอนท่านว่าอย่างนี้ไม่ได้หรอก ไม่เจริญหรอก ต่อไปนี้อย่าให้จิตเข้าสมาธิ ให้นั่ง 10 ชั่วโมง ไม่กระดุกกระดิก 10 ชั่วโมง แต่อย่าให้จิตรวม ไม่ต้องสวดมนต์ ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น นั่งรู้สึกไป ท่านบอกนั่งไปชั่วโมงสองชั่วโมง โหย มันทรมาน ร่างกายแทบจะแตกเลย ทุกข์ทรมานมาก ถ้าเข้าฌานไม่ทรมาน
พอท่านใช้วิธีไม่ให้เข้าฌาน ก็นั่งทนไป อย่างพวกเราลองดูก็ได้ นั่งสักชั่วโมงหนึ่ง ไม่กระดุกกระดิก มันทุกข์ นั่งๆๆๆ ไป เห็นแต่ความทุกข์สุดขีด พอทุกข์สุดขีด จิตมันเกิดปัญญา มันไม่รู้จะหนีไปทางไหนแล้ว ถ้าแต่เดิมก็จะหนีเข้าสมาธิไป เข้าฌานไป อันนี้ครูบาอาจารย์ไม่ให้เข้าฌาน ดูๆๆ จิตมันก็ดีดตัวออกมาเป็นผู้รู้เลย เห็นว่าร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง ความปวดความเมื่อย ทุกข์ทรมานเป็นอีกส่วนหนึ่ง ความทุรนทุรายของจิตเป็นอีกส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนรู้คนดูอยู่ ท่านแยกขันธ์ แยกขันธ์ได้แล้ว แต่วิธีของท่าน โอ้โห โหดมากเลย คนใจเสาะทำไม่ได้
งานขั้นที่สาม: การเจริญวิปัสสนา
ฉะนั้นวิธีแยกขันธ์ก็ทำได้เยอะแยะ ค่อยๆ ฝึกไป ทำอย่างไรได้ก็เอาอย่างนั้นล่ะ นี่งานที่สอง งานแรก คือตื่นขึ้นมา หลุดออกจากโลกของความคิดความฝันโดยที่ไม่เผลอไม่เพ่ง อันที่สอง คือ แยกขันธ์ออกมาให้ได้ งานที่สามของเรา คืองานเจริญวิปัสสนา พอเราแยกขันธ์ได้ เราก็จะเห็นรูปแต่ละรูป นามแต่ละนามเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีแต่ความไม่เที่ยง มีแต่การทนอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา แล้วบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจอยาก นี่คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อนิจจังก็คือสิ่งซึ่งมันเคยมี ถึงจุดหนึ่งมันไม่มี สิ่งที่เคยไม่มี ถึงจุดหนึ่งมันเกิดมี ไม่คงที่ ทุกขังก็คือสิ่งที่กำลังมี กำลังถูกบีบคั้นให้หมดไปสิ้นไป อย่างมีความสุขเกิดขึ้น ความสุขเป็นสุขเวทนา แต่ความสุขอยู่ในทุกขตา เป็นทุกขังก็คือความสุขที่เกิดขึ้นในกายในใจของเรานี้ พอเกิดปุ๊บมันก็เริ่มถูกบีบคั้นให้หมดไปสิ้นไป อย่างนี้เรียกว่าเห็นทุกข์ เห็นอนิจจัง ของเคยมีแล้วไม่มี ทุกขังก็คือของที่กำลังมี กำลังถูกบีบคั้นให้หมดไปสิ้นไป ให้มันไม่มี อนัตตาก็คือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะมี จะตั้งอยู่ หรือจะดับไป เป็นเพราะเหตุ ไม่ใช่เพราะเราสั่ง นี่คือเห็นอนัตตา
การเจริญวิปัสสนานั้นไม่ใช่เห็นรูปนาม การเห็นรูปนามแยกรูปแยกนามได้เป็นปัญญาขั้นต้นเท่านั้น แต่จะเจริญวิปัสสนาได้ต้องเห็นไตรลักษณ์ ถ้าไม่เห็นไตรลักษณ์ไม่ใช่วิปัสสนา จับหลักตัวนี้ให้แม่นเลย ฉะนั้นเราเห็นท้องพอง เราเห็นท้องยุบ เราเห็นร่างกายขยับมือ เราเห็นร่างกายเดินจงกรม ยังไม่เป็นวิปัสสนา เห็นร่างกายหายใจ ยังไม่เป็นวิปัสสนา เห็นร่างกายหายใจอยู่ในกลุ่มที่สอง คือแยกได้ ร่างกายที่หายใจเป็นของถูกรู้ แยกขันธ์ได้ ถ้าเป็นขั้นที่หนึ่ง หายใจอยู่ จิตไหลไปรวมเข้ากับลมหายใจเลย สงบนิ่ง แล้วก็รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ถ้าไม่รู้เนื้อรู้ตัวก็เป็นมิจฉาสมาธิ ถ้ารู้เนื้อรู้ตัวอยู่ก็นิ่งอยู่อย่างนั้น ก็เป็นสัมมาสมาธิ สงบ สบาย เพลินๆ ไป ยังไม่ดี ต้องแยกขันธ์ให้ได้ แยกขันธ์ให้ได้นี่เป็นสเต็ปที่สอง
พอแยกขันธ์ได้แล้ว ดูไตรลักษณ์ ร่างกายที่นั่งอยู่ ไม่ใช่เรานั่ง อะไรมันนั่งอยู่ รูปมันนั่งอยู่ ร่างกายที่มันเดิน มันไม่ใช่เราเดิน ไม่ใช่คนเดิน ไม่ใช่สัตว์เดิน ไม่ใช่เราเดิน ไม่ใช่เขาเดิน แต่ว่ารูปมันเดินอยู่ มันจะเห็นอย่างนี้ ไม่ใช่คิด เห็นนะ เห็นกับคิดไม่เหมือนกัน ถ้าคิดอยู่ยังไม่ใช่วิปัสสนา มันเป็นญาณตัวหนึ่ง เรียกสัมมสนญาณ แต่ถ้าจะเป็นวิปัสสนาจริง ต้องเห็นเอา เห็นร่างกายที่กำลังปรากฏอยู่เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา อย่างนี้ถึงจะขึ้นวิปัสสนา เห็นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ เดี๋ยวก็มา เดี๋ยวก็ไป ตรงนี้เราเห็นอนิจจัง มันมาแล้ว มันก็ไป เราเห็นอนัตตา เราบังคับมันไม่ได้ จะสุข หรือจะทุกข์ จะดีหรือจะชั่ว เราสั่งมันไม่ได้
ถ้าเมื่อไรเห็นลงมาถึงไตรลักษณ์ อันนั้นเป็นวิปัสสนา ถ้าไม่เห็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่วิปัสสนา กระทั่งคิดเรื่องไตรลักษณ์ ก็ยังไม่ใช่วิปัสสนา อย่างนั่งคิดร่างกายนี้ไม่เที่ยง ร่างกายนี้เป็นทุกข์ ถูกบีบคั้น ไม่นานเราก็ตาย ร่างกายเน่าเปื่อย สกปรก โสโครก ต่อไปตายลง เนื้อหนังเน่าไป เหลือแต่กระดูกอะไรนี้ อันนี้คิดเอายังไม่ขึ้นวิปัสสนา ตรงที่ขึ้นวิปัสสนาเห็นเอา เห็นร่างกายนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันตาย ร่างกายเดี๋ยวนี้ก็เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เต็มไปด้วยความทุกข์ ร่างกายหายใจออกอยู่ชั่วคราวก็ดับ ร่างกายหายใจเข้าอยู่ชั่วคราวก็ดับ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ต้องเห็นเอา หรือเห็นความสุขความทุกข์ในร่างกายเกิดขึ้น เราไม่ได้เจตนาเลย ไม่ได้เจตนาให้มันปวด มันเมื่อยเลย มันเกิดขึ้นได้เอง มันไม่ใช่ตัวเรา เราสั่งมันไม่ได้ ถ้าเห็นก็เป็นวิปัสสนา
“ตราบใดที่ยังเจริญวิปัสสนากรรมฐานกันอยู่
โอกาสที่จะเกิดผู้บรรลุมรรคผลนิพพานก็ยังมีอยู่”
เราชาวพุทธไม่ได้ไปยึดติดการปฏิบัติอยู่แค่ความรู้สึกตัว ไม่ได้ทำแค่แยกธาตุแยกขันธ์ แค่นั้นยังไม่พอ ต้องเห็นไตรลักษณ์ของธาตุของขันธ์แต่ละตัวๆ ด้วย ถึงจะสมกับเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เว้นจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้วก็ไม่เห็นทางที่สอง เพื่อจะสร้างความบริสุทธิ์หลุดพ้นขึ้นมาได้ ฉะนั้นตราบใดที่ยังเจริญวิปัสสนากรรมฐานกันอยู่ โอกาสที่จะเกิดผู้บรรลุมรรคผลนิพพานก็ยังมีอยู่
ถ้าไม่มีวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ก็จะได้อย่างมากที่สุดก็ไปพรหมโลก ไปเป็นพระพรหม สงบ สว่าง แต่มันไม่สะอาด เพราะมันยังโง่อยู่ ตรงที่จะหายโง่ก็คือ เห็นธาตุเห็นขันธ์มันเป็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ มันหายโง่ ถ้ายังไม่ได้เห็นธาตุเห็นขันธ์เป็นไตรลักษณ์ เรียกว่ายังโง่อยู่ ถ้าเห็นเฉพาะตัวธาตุตัวขันธ์ เห็นร่างกายหายใจแล้วจดจ่ออยู่กับการหายใจ ก็ไปเป็นรูปพรหม ถ้าดูจิตดูใจแล้วเพ่งลงไปในความนิ่ง ความว่าง ความสว่างไสวอะไรนี่ ก็ไปเป็นอรูปพรหมได้ เพ่งไปในความไม่มีอะไร ไปเป็นพรหม สงบไหม สงบ สว่างไหม สว่าง แต่ไม่สะอาด เพราะยังโง่อยู่ ยังสกปรกอยู่
ตัวที่จะทำให้จิตใจเราสะอาดได้ ก็คือตัววิปัสสนากรรมฐาน การเห็นรูปเห็นนามตามความเป็นจริง คือเห็นมันเป็นไตรลักษณ์ มันมีไตรลักษณ์ เราจะเห็นรูปนามตามความเป็นจริงได้ เราต้องมีจิตที่ถูกต้อง ทรงสมาธิที่ถูกต้อง คือจิตที่ตั้งมั่นและก็เป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นคือตัวที่สอง จิตมันตื่นขึ้นมาแล้วก็ฝึกให้มันตั้งมั่นเป็นแค่คนรู้คนดู สภาวะอารมณ์ทั้งหลายจะไหลผ่านมาเรื่อยๆ จิตเป็นแค่คนรู้คนดู นี่สเต็ปที่สอง แล้วถ้าเห็นทุกสิ่งที่ไหลผ่านมาผ่านไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตที่เป็นคนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาด้วย เราขึ้นวิปัสสนาชั้นเลิศเลย
ถึงจุดหนึ่ง มันจะรู้ความจริง ตัวเราไม่มี มีแต่รูปธรรม มีแต่นามธรรม เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ตัวเราไม่มี ได้พระโสดาบัน ภาวนาต่อไปเรื่อยๆ ภาวนาต่อไปๆ ในที่สุดเกิดปัญญาขั้นกลาง ปัญญาขั้นต้นจะได้โสดาบัน สกิทาคามี ปัญญาขั้นกลางเป็นปัญญาที่จะทำให้เราเป็นพระอนาคามี ปัญญาขั้นกลางคือการที่จิตมันเห็นความจริงของกาย ร่างกายนี้มันเป็นตัวทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะควบคุมบังคับไม่ได้ จะเห็นร่างกายนี้เป็นไตรลักษณ์อย่างแจ่มแจ้ง จิตมันจะปล่อยวางกาย เป็นภูมิของพระอนาคามี
พอวางกายได้ มันก็คือวางตา หู จมูก ลิ้น กาย ลองมันวางตาได้ อย่างไรมันก็วางรูปที่ตาเห็นได้ พอมันวางหูได้ มันก็วางเสียงที่มันได้ยินได้ ที่มันรักตาก็เพราะว่าตานี้สนองกิเลสมัน พามันไปดูรูปได้ หู มันรักหู เพราะว่าเห็นว่าหูนำความสุขมาให้ เลยได้ยินอะไรที่ถูกอกถูกใจ แต่ถ้ามันมีปัญญาลงมา ตาก็ตัวทุกข์ หูก็ตัวทุกข์ จมูก ลิ้น กายก็ตัวทุกข์ เห็นแจ่มแจ้งอย่างนี้ มันจะวางกาย วางกายแล้วคราวนี้ จิตมันไม่ไปหลงเพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย ตามองเห็นแต่จิตไม่หลง ไม่หลงใหลไปในการเห็น ตรงที่หลงใหลไปเป็นอย่างไร คือหลงยินดี หลงยินร้าย หลงยินดีในรูป เรียกว่ามีกามราคะ หลงยินร้ายในรูป เรียกว่ามีพยาปาทะ ไม่พอใจ นี้เป็นปัญญาขั้นกลาง ฟังก็แล้วยาก เอาขั้นต้นก่อนก็แล้วกัน
ขั้นสุดท้ายจะต้องเห็นว่าตัวจิตนั่นล่ะก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ อย่างพวกเราแค่กาย เราก็ไม่เห็นแล้วว่ามันเป็นไตรลักษณ์จริงๆ ไม่เป็นของดีจริง อย่างร่างกายนี้ เราเห็นว่าร่างกายนี้เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ถ้าภูมิจิตภูมิธรรมของเราเข้มแข็ง ปัญญาเราแก่กล้าขึ้น เราจะไม่ได้รู้สึกว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง แต่เราจะรู้ว่าร่างกายนี้คือทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เวลาทุกข์น้อย คนเขลาก็คิดว่าร่างกายมีความสุข ผู้ไม่เขลามันจะเห็นร่างกายมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ตรงปัญญาขั้นสูงมันจะเห็นเลย จิตนี้คือตัวทุกข์ อย่างพวกเราไม่เห็น พวกเราเห็นว่าจิตใจเราเดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ สลับกันไปสลับกันมา แต่ถ้าสติปัญญาแก่รอบพอ มันจะเห็นเลยจิตนั้นล่ะคือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ตรงที่ทุกข์น้อยนั้น ผู้ไม่มีสติไม่มีปัญญาก็รู้สึกว่ามันเป็นสุข นี่ล่ะเรียกว่าเรารู้ทุกข์ ขันธ์ 5 คือตัวทุกข์ ไม่ใช่รู้ทุกขเวทนา ทุกขเวทนาก็ยังตกอยู่ใต้ตัวทุกข์อีก คือทุกขเวทนาก็ทนอยู่ไม่ได้
พยายามดูเข้าไป ฝึกทุกวันๆ ที่ หลวงพ่อสอนวันนี้ ลองไปฟังรีรัน ฟังหลายๆ ที ฟังแล้วก็พยายามฝึกตัวเอง ฟังอย่างเดียวไม่พอต้องฝึกด้วย ขั้นแรก ฝึกให้จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ให้ตื่นขึ้นมา หลุดจากโลกของความคิดความฝัน หลุดจากโลกของการเพ่ง เคร่งเครียด มาอยู่ในโลกของความรู้สึกตัว พอรู้สึกตัวได้แล้วก็ดูแยกธาตุแยกขันธ์ไป ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง สุข ทุกข์อยู่ส่วนหนึ่ง ดี ชั่วอยู่ส่วนหนึ่งค่อยๆ แยกไป แล้วถัดจากนั้นก็เห็นว่าทุกส่วนๆ ที่เราแยกออกไปนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฝึกอย่างนี้ นี่คือเส้นทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเดินมา.
วัดสวนสันติธรรม
31 ตุลาคม 2564