จิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา

วันเวลาผ่านไปเร็ว เดี๋ยวก็ปีหนึ่งๆ ชีวิตเราหมดไปเรื่อยๆ ถ้าเรารู้จักพิจารณาชีวิตเรา เรามีความตายรออยู่ข้างหน้า คนเราที่ทำอะไรวุ่นวาย มันคิดว่ามันจะไม่ตาย ถ้ามันรู้ว่าถึงวันหนึ่งมันก็ต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไป จะไม่คลุ้มคลั่งแย่งชิงอะไรกันมากมายนัก แต่คนที่คิดถึงความตาย บางคนก็เกิดอกุศล บางคนก็เป็นกุศล อย่างพวกที่เชื่อว่าตายแล้วสูญ คิดว่าเดี๋ยวก็ต้องตายแล้ว ฉะนั้นก่อนตายต้องเสพสุขให้เยอะที่สุด บริโภคให้มากที่สุด อันนี้พวกเชื่อว่าตายแล้วสูญ

พวกเราชาวพุทธ เราเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิด เวลาเราคิดถึงความตาย กิเลสมันจะไม่รุนแรง จะโลภมากอยากได้อะไรนักหนา มีเงินกี่พันกี่หมื่นล้าน สุดท้ายก็เอาไปไม่ได้ ใจมันจะคิดอย่างนี้ ตัวที่จะช่วยชี้ขาด ว่าในสถานการณ์อันเดียวกัน เราคิดถึงความตาย บางคนคิดแล้วกิเลสยิ่งเยอะกว่าเก่า บางคนคิดแล้วกิเลสลดลง อยู่ที่ความเชื่อพื้นฐานด้วย มีทิฏฐิ พวกตายแล้วสูญก็ไปแบบหนึ่ง พวกตายแล้วเกิดก็ไปอีกแบบหนึ่ง ที่จริงตายแล้วสูญก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ตายแล้วเกิดก็มิจฉาทิฏฐิอีกแบบหนึ่ง คิดว่าชีวิตเรามีสิ่งซึ่งเป็นอมตะอยู่ในตัวเรา พอตายปุ๊บสิ่งที่เป็นอมตะตัวนี้ คือจิตวิญญาณเรานี่จะออกจากร่าง ไปหาร่างใหม่อยู่ ไปเกิดใหม่ พอร่างใหม่ตายไป ก็ไปหาร่างที่ใหม่ต่อไปอีก อันนี้เรียกว่าเป็นชาวพุทธ เชื่อเวียนว่ายตายเกิด เวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ

ตรงที่บอกตายแล้วสูญเป็นมิจฉาทิฏฐินั้นเข้าใจง่าย ตรงที่บอกว่าตายแล้วเกิดก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เข้าใจยากกว่า เราจะเข้าใจได้จริงๆ ถ้าเราภาวนาแยกธาตุแยกขันธ์ออกไป เห็นว่าชีวิตเราจริงๆ ก็ประกอบด้วยขันธ์ 5 เท่านั้นเอง มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูป คือส่วนที่เป็นวัตถุ เนื่องด้วยวัตถุ เวทนา คือความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ สัญญา ความจำได้ ความหมายรู้ สังขาร ความปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงไม่ดี ไม่ชั่ว วิญญาณ ความรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราภาวนาเราแยกขันธ์ออกมาได้แล้ว เราจะเห็นขันธ์แต่ละขันธ์เกิดดับอยู่ในปัจจุบันนี้ เกิดดับสืบเนื่องกันไปตลอดเวลา จิตเองก็เกิดดับ จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน เห็นอย่างนี้

 

การดูจิตเกิดดับ

อย่างเวลาเราฝึก ก่อนที่เราจะเห็นว่า จิตทุกอย่างเกิดแล้วดับ เราเห็นจิตทีละอย่างก่อน จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตไม่สุขจิตไม่ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตไม่โลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธ จิตหลงเกิดแล้วก็ดับ ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไปหมด เห็นอย่างนี้ซ้ำๆๆ จะรู้ว่าจิตนี้เองเกิดดับอยู่ตลอดเวลา

บางคนเห็นจิตเกิดดับโดยเห็นผ่านอายตนะ เห็นว่าเดี๋ยวจิตก็ไปดู เกิดแล้วดับ จิตที่ไปฟังเกิดแล้วดับ จิตที่ไปดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกาย หรือไปคิดนึกทางใจ ล้วนแต่เกิดแล้วดับ ตัวนี้ดูยากกว่าจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว จิตสุข จิตทุกข์ เกิดขึ้นมาแล้วมันก็ดับให้ดูต่อหน้าต่อตา แต่ตรงที่เราจะเห็นจิตเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สมาธิเราต้องพอ สติเราต้องว่องไว ไม่อย่างนั้นเราจะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิได้ง่ายๆ เลย ดูจิตเกิดดับทางอายตนะ มันจะรู้สึกว่าจิตนี้มีดวงเดียว เดี๋ยวก็วิ่งไปที่ตาไปดูรูป แล้วก็วิ่งกลับมา แล้วก็วิ่งไปที่หู ไปฟังเสียงแล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปทางจมูกออกไปดมกลิ่น แล้วก็วิ่งกลับเข้ามา เห็นจิตเหมือนแมงมุม วิ่งไปทางซ้ายทางขวา วิ่งขึ้นข้างบน วิ่งลงข้างล่างอะไรอย่างนี้ แมงมุมมีตัวเดียววิ่งไปวิ่งมา

ฉะนั้นเวลาดูจิตเกิดดับทางอายตนะ ถ้าสติสมาธิไม่พอ ดีไม่ดีกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิเอาง่ายๆ คิดว่าจิตมีดวงเดียววิ่งไปวิ่งมา แต่ดูจิตโลภ จิตไม่โลภอะไรอย่างนี้ มันจะเห็นมันเกิดดับง่าย ฉะนั้นเวลาเราจะดูจิตเกิดดับ ดูจิตเกิดดับพร้อมเจตสิก ง่าย พร้อมความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว เห็นจิตสุขก็ดวงหนึ่ง จิตทุกข์ก็ดวงหนึ่ง จิตไม่สุข ไม่ทุกข์ก็เป็นอีกดวงหนึ่ง คนละดวง ดูขาดจากกันง่าย จิตโกรธก็เป็นอีกดวงหนึ่ง พอเรามีสติรู้ทันจิตโกรธปุ๊บ จิตโกรธดับ เกิดจิตรู้ขึ้นมาแทน เป็นกุศล จิตอกุศลเกิดแล้วก็ดับไป จิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นมาแทน อยู่ชั่วคราวก็ดับ หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้อีก หรือหลงไปสุข ไปทุกข์ ไปดี ไปชั่วอะไรขึ้นมาอีก

การดูจิตเกิดดับโดยดูผ่านเจตสิกดูง่าย แต่ดูผ่านอายตนะดูยากกว่า ถ้าสติ สมาธิเรามากพอ เราจะเห็นว่าทีแรกจิตเราเป็นจิตรู้อยู่อย่างนี้ ต่อมาตาเราไปเห็นอะไรไหวๆ อยู่ ยังดูไม่ออกว่าคืออะไร จิตเกิดความสนใจอยากดู นี่อีกดวงหนึ่งแล้ว ทีแรกรู้เฉยๆ ทีนี้เป็นจิตอยากดูแล้ว พอจิตอยากดูเกิด ก็เกิดภพของการดูขึ้นมา ตัณหาไปสร้างภพ จิตไปดูเกิดขึ้น จิตไปดูอยู่ชั่วคราวก็ดับ มันมีจิตอีกดวงหนึ่งส่งสัญญาณเข้ามาที่ใจ แล้วก็มีจิตอีกตัวหนึ่งมาแปรสัญญาณ สิ่งที่เห็นคืออันโน้น คืออันนี้ คือคน คือสัตว์ คือตัวเรา ตัวเขา คือรูปที่สวย รูปไม่สวยอะไรอย่างนี้ หรือเสียงที่เพราะ เสียงไม่เพราะ มันมีตัวหนึ่ง จิตอีกดวงหนึ่งเป็นตัวตีความ ให้ค่า แล้วมีจิตอีกดวงหนึ่งเกิดขึ้นรับช่วง ตกลงใจแล้วต่อไปนี้ จิตจะสุข หรือจิตจะทุกข์ จิตจะดี หรือจิตจะชั่ว

ฉะนั้นตั้งแต่ผัสสะ มีผัสสะเกิดขึ้น จิตทำงานตั้งเยอะ ตั้งหลายดวง ถ้าสติเราไม่เร็วพอ เราจะไม่เห็นหรอกว่าจิตมันทำงานแล้วมันเกิดดับ สืบเนื่องกันตั้งเยอะตั้งแยะ มันมองไม่เห็น มันไปเห็นตอนจิตดี จิตชั่วไปแล้ว ฉะนั้นดูตรงที่จิตดี จิตชั่วนั้น ดูง่ายกว่า มันไม่ต้องรีบดู ไม่ต้องมีสติ สมาธิมากมายเพื่อจะเห็น จิตทำงานเป็นช็อตๆๆ พูดง่ายแต่ทำยาก ตาเห็นรูปรู้ไหม แค่ตาเห็นรูปรู้ไหม จิตเกิดไปตั้งเท่าไหร่แล้ว

ฉะนั้นง่ายๆ เลย ที่พระพุทธเจ้าสอนจิตตานุปัสสนา ท่านสอนจิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ จิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ อันนี้สำหรับคนไม่ได้ฌาน คนที่ไม่ได้เล่นสมาธิ อีก 8 ตัวหลังของจิตตานุปัสสนา เป็นจิตของคนเล่นสมาธิ ถ้าเราไม่ได้เล่นสมาธิ เราก็เล่น 4 คู่แรก จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ จิตมีโมหะ คือจิตหลงกับจิตไม่หลง จิตฟุ้งซ่านกับจิตหดหู่ เฝ้ารู้ เฝ้าดูไปเราก็จะเห็น จิตมีราคะเกิดแล้วดับ จิตไม่มีราคะเกิดแล้วก็ดับ จิตมีโทสะเกิดแล้วก็ดับ จิตไม่มีโทสะเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วก็ดับ จิตรู้เกิดแล้วก็ดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดแล้วก็ดับ จิตหดหู่เกิดแล้วก็ดับ ดูแค่นี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องละเอียดยิบหรอก

แต่พอเราชำนิชำนาญในการดูจิตมากขึ้นๆ สติเราว่องไว สมาธิเราดี เราก็จะเห็น จิตเกิดดับทางอายตนะ เกิดที่ตา ดับที่ตา เกิดที่หู ดับที่หู เกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เกิดที่ไหน ก็ดับที่นั่น ไม่ใช่มีจิตดวงเดียวแล้วก็วิ่งไปที่ตา แล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปที่หู แล้วก็วิ่งกลับมา นี่เจริญปัญญาไม่ถูกหรอก ทำไม่ได้จริง สันตติไม่ขาด เห็นว่าจิตมันมีดวงเดียว มันเที่ยง มันเที่ยวร่อนเร่ไป เป็นจิตอย่างโน้น เป็นจิตอย่างนี้ เป็นจิตดู จิตฟัง จิตคิดอะไรอย่างนี้ สุดท้ายก็เลยกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ว่าจิตนี้เป็นอมตะ พวกนี้เรียกว่าสัสสตทิฏฐิ ส่วนพวกที่เชื่อตายแล้วสูญนั่น พวกอุจเฉททิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ตายแล้วสูญเป็นมิจฉาทิฏฐิที่ดูง่าย ตายแล้วเกิด อะไรเกิด ถ้าเห็นว่าจิตมีดวงเดียว พอร่างกายตายจิตดวงเดิมออกจากร่างไปเกิดใหม่ อันนี้มิจฉาทิฏฐิ ชื่อสัสสตทิฏฐิ กระทั่งนักดูจิตก็ต้องระวังที่หลวงพ่อบอก ดูจิตผ่านอายตนะ แล้วสมาธิไม่พอ สติไม่พอ มันจะรู้สึกจิตมีดวงเดียว เดี๋ยวก็วิ่งไปที่ตา เดี๋ยวก็วิ่งไปที่หู วิ่งไปที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ สุดท้ายก็เกิดความเห็นผิดนะ ว่าจิตนี้มันเที่ยง จิตเป็นอมตะ ก็กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว พวกนี้ดูง่าย ดูไปเรื่อยๆ ดูในมุมของเวทนาอย่างเดียวก็ได้ จิตเราเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็เฉยๆ ดูแค่นี้พอ หรือดูในมุมของสังขารก็ได้ เราขี้โกรธเราก็ดูจิตเดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ เราขี้โลภ เดี๋ยวจิตก็โลภ เดี๋ยวจิตก็ไม่โลภ ดูแค่นี้ละพอแล้ว หรือชำนิชำนาญขึ้น ต่อไปมันจะปิ๊งขึ้นมา มันจะรู้เลยจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ ไม่มีหรอกจิตที่เกิดแล้วไม่ดับ ตรงที่เห็นจิตมันเกิดแล้วดับนั่น มันจะค่อยๆ ล้างสัสสตทิฏฐิได้ ล้างสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าจิตนี้เป็นอมตะเที่ยงแท้ถาวร อันนี้ไม่ใช่ศาสนาพุทธ เป็นความเชื่อมีมาก่อนพระพุทธเจ้าอีก ผู้ที่สามารถสอนจนพวกเราเห็นได้ว่า จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน มีแต่พระพุทธเจ้า เป็นเรื่องละเอียดอ่อนจริงๆ ที่จะเรียน ฉะนั้นเวลาภาวนา เราก็อย่าทำอะไรที่เกินตัว สติยังไม่ว่องไว สมาธิยังไม่เข้มแข็ง ก็ไม่ต้องไปดูจิตเกิดดับทางทวารทั้ง 6 หรอก เดี๋ยวมันจะเข้าใจผิด มันจะไม่เห็นว่าจิตแต่ละดวงเกิดแล้วดับ จะเห็นว่ามีดวงเดียว ค่อยๆ ฝึก เดี๋ยววันหนึ่งก็เห็น

 

 

ชีวิตเรามันสั้นนิดเดียว ชีวิตเราไม่ได้ยืนยาว 10 ปี 20 ปี 30 ปี 50 ปี 100 ปี ชีวิตเราเกิดดับอยู่ทุกๆ ขณะ เดี๋ยวชีวิตที่สุขเกิดแล้วก็ดับ ชีวิตที่ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ ชีวิตที่ไม่สุข ไม่ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ ชีวิตที่โลภเกิดแล้วก็ดับ ชีวิตไม่โลภเกิดแล้วก็ดับ ดูไปเรื่อย จะเห็นว่าจริงๆ เรามีชีวิตอยู่ชั่วขณะเท่านั้นเอง ที่เห็นยาวๆ นั้นอาศัยสัญญา ถูกสัญญามันหลอกว่าเราอายุยืน 70 80 90 ปี 100 ปีอะไรอย่างนี้แล้วถึงจะตาย อยู่ตั้งนานแล้วถึงจะตาย ถ้าภาวนาเป็นจะเห็นว่าตายอยู่ตลอดเวลาเลย ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิดอยู่อย่างนี้ ค่อยๆ ฝึกไป ไม่ได้ยากนะแต่ต้องอดทน ขั้นแรกเลยฝึกรักษาศีลให้ดีก่อน เป็นพื้นฐานเบสิกเลย ถ้าเราไม่มีศีล 5 สมาธิมันจะไม่ยั่งยืน

บางคนสมาธิดี บุญบารมีสูง อย่างเทวทัตสร้างบารมีมามหาศาลเลย ทำชั่วด้วย แต่ก็ทำดีด้วย ไม่ใช่คนโง่เป็นคนเก่ง ถึงเป็นคู่ต่อสู้กับเจ้าชายสิทธัตถะได้ ถ้ามันกระจอกมันสู้ไม่ได้หรอก ไม่ใช่คู่ต่อสู้ เทวทัตเก่งนะ ได้ฌานสมาบัติ ได้สมาบัติ ได้อภิญญา 5 เหาะเหินเดินอากาศได้ แปลงตัวได้อะไรได้ มีฤทธิ์มาก เสียศีล มีความอิจฉาริษยาพระพุทธเจ้า พยายามฆ่าพระพุทธเจ้า ถึงฆ่าไม่สำเร็จศีลก็ขาดแล้ว มีใจประทุษร้ายผู้อื่น สัตว์อื่น จิตก็เศร้าหมองแล้ว เสียศีลไปส่วนหนึ่งแล้ว แกเสียศีล สมาธิแกก็เริ่มเสื่อม จนกระทั่งไม่สามารถเดินทางได้ด้วยตัวเอง สำนึกผิดตอนแก่ จะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ให้ลูกศิษย์หามมานอนใส่แคร่หามมา จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จะไปขอขมาพระพุทธเจ้า ก็มาไม่ถึงไปตายอยู่หน้าวัดเสียก่อน ยังไม่ได้เข้ามาพบพระพุทธเจ้า กรรมมันตัดรอนตอนนั้น ตอนจะตายจริงๆ ถูกแผ่นดินดูดลงไป มือไม้อะไรนี้จมไปหมดแล้ว ไม่สามารถไหว้พระพุทธเจ้าได้ เหลือแต่หัว เอาลูกคางแตะลงที่พื้น ขอกราบพระศาสดาด้วยกระดูกลูกคางนี้ แสดงว่าจริงๆ ก็ไม่ใช่คนโง่ หัวใจรู้สึกสำนึกผิด ก็รู้สึกพยายามจะปรับตัว พยายามแก้ตัว เขาถึงจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า บารมีสูงกว่าพระสารีบุตรเสียอีก ระดับพระปัจเจกพุทธเจ้าได้

ถ้าเรามีศีลไม่ดี ถึงเคยมีสมาธิดี สมาธิก็จะเสื่อม ส่วนใหญ่ศีลมันบกพร่องไปก็เพราะกาม กามกับสมาธิเป็นศัตรูกัน บกพร่องเพราะกาม เช่น อยากได้ของเขา อยากได้ลูกเมียเขาอะไรอย่างนี้ ปลิ้นปล้อนหลอกลวงเขาเพื่อจะหาผลประโยชน์ ก็ปล้นฆ่าทำร้ายเขาหวังจะได้ผลประโยชน์ ส่วนใหญ่ก็คือแย่งชิงผลประโยชน์ ก็คือแย่งชิงกามนั่นเอง กามกับสมาธิเป็นศัตรูกัน ถ้าจิตยังชุ่มอยู่ด้วยกาม สมาธิไม่ยั่งยืนหรอกเดี๋ยวก็เสื่อม อย่างพระเราภาวนาเดินจงกรมอยู่ ค่ำๆ หิวข้าว คิดถึงเมื่อไหร่จะเช้าจะได้ไปบิณฑบาต บิณฑบาตพรุ่งนี้จะได้อาหารหรือเปล่า จะได้ฉันไหม บางทีก็ฝันเฟื่องนะอยากฉันโน้นอยากฉันนี้ จะมีโยมเอาพิซซ่ามาใส่บาตรไหม เวลาหิวใจมันก็คิดถึงกาม ถามว่าตอนนั้นสมาธิจะอยู่ไหม ไม่อยู่หรอกแตกหมดแล้ว สู้กามไม่ไหว

ฉะนั้นเราพยายามต่อสู้อย่ายอมแพ้กิเลส กิเลสอะไรเกิดขึ้นมีสติรู้ทัน รู้ไปเรื่อยกิเลสจะหมดแรงไป พอเรามีสติรู้ทันสภาวะที่กำลังปรากฏ อย่างโลภ โกรธ หลงปรากฏอย่างนี้ เรามีสติรู้ทันมันจะดับ กิเลสมันจะดับ จิตมันจะเป็นกุศลขึ้นมา จิตที่มันเป็นกุศลมันมีสมาธิแถมมาในตัวเอง ใจมันจะค่อยๆ ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เพราะโดยปกติสมาธิเป็นองค์ธรรม ที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง จิตอกุศลก็มีสมาธิแบบอกุศล จิตที่เป็นกุศลมันก็มีสมาธิที่เป็นกุศล สมาธิที่จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู สมาธิไม่เหมือนสติ ไม่เหมือนปัญญา ไม่เหมือนวิริยะ ไม่เหมือนศรัทธา สิ่งเหล่านั้นมันเกิดกับจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น แต่สมาธิเกิดได้ทั้งจิตที่เป็นกุศลและจิตอกุศล อย่างเราจะไปดักยิงคน ก็ต้องมีสมาธิใช่ไหม แต่มันเป็นสมาธิออกนอก

ถ้าเรามีสติรู้สภาวะที่มันกำลังปรากฏ จิตมันจะเกิดสมาธิตั้งมั่นขึ้นมาอัตโนมัติ ครูบาอาจารย์สอนพวกเราให้ฝึกจนกระทั่งจิตตั้งมั่น วิธีฝึกส่วนใหญ่ท่านจะสอนให้รู้ทันจิตที่คิด อย่างหลวงพ่อเทียนสอนให้ขยับมือ จิตหนีไปคิดแล้วรู้ ตรงที่จิตหนีไปคิดแล้วรู้ จิตคิดจะดับ จิตรู้จะเกิด นี่คือจิตที่มีสมาธิที่ถูกต้อง เป็นจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานจะเกิด หลวงปู่ดูลย์ท่านก็สอน “คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็อาศัยคิด” ท่านไม่ได้บอกว่าห้ามคิด “คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็อาศัยคิด” ปล่อยให้จิตมันคิดไปตามธรรมชาติ จะไปห้ามจิตไม่ให้คิด ห้ามไม่ได้ ผิดธรรมชาติ แต่ตอนที่จิตมันคิดอยู่ เราหลงอยู่กับโลกของความคิด ตรงนั้นไม่มีจิตรู้หรอก ถ้าเมื่อไหร่จิตมันคิดแล้วเรามีสติรู้ทันว่าจิตคิด จิตคิดจะดับ จิตรู้จะเกิด นี้ก็อาศัยจิตคิด ท่านถึงบอกต้องอาศัยคิด ให้จิตมันคิด แล้วเรามีสติรู้ว่าจิตคิด จิตรู้มันก็เกิด

หลวงพ่อภาวนาทีแรกก็ทำอย่างที่ท่านบอก ต่อมาค่อยๆ สังเกตว่าถ้าจิตโกรธแล้วรู้ว่าโกรธ จิตรู้ก็เกิด ถ้าโลภก็รู้ว่าโลภ จิตรู้ก็เกิด สุดท้ายก็เลยปิ๊งขึ้นมาว่า อ๋อ ถ้าเมื่อไรจิตรู้สภาวธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว รู้เป็นปัจจุบันได้จริงแล้ว จิตรู้มันเกิดอัตโนมัติเลย เพราะจิตดวงนั้นเป็นจิตที่เป็นกุศลเรียบร้อยไปแล้ว จิตเป็นกุศลยังมี 2 ชนิด ชนิดหนึ่งประกอบด้วยปัญญา ชนิดหนึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นบางทีเรามีจิตรู้เกิดขึ้นมา แล้วรู้อยู่อย่างนั้น อันนั้นจิตเป็นกุศล แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ฉะนั้นตรงนี้บางทีครูบาอาจารย์ก็มีอุบาย พอจิตเป็นผู้รู้ขึ้นมาแล้ว ท่านบอกให้คิดพิจารณาร่างกายว่าเป็นไตรลักษณ์ การพิจารณาร่างกาย แต่ละองค์ท่านก็มีลีลาไม่เหมือนกัน บางองค์ท่าน survey สำรวจทั้งตัวก่อน แล้วตรงไหนเด่นก็ไปเรียนตรงนั้นเลย เจาะทีละส่วน บางองค์ท่านก็ไล่ตามสูตร ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ค่อยๆ ดูไปทีละส่วน ไม่รีบร้อน ดูแต่ละเรื่องใช้เวลานานเป็นเดือน ใช้เวลาเยอะกว่าจะดูได้ทั่วตัว อันนี้เป็นลีลาของท่าน เพื่อกระตุ้น ต่อไปเวลาสติระลึกรู้กาย จิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว มันจะมองไตรลักษณ์ของกาย

พวกเราถ้าชอบดูจิต พอรู้ตัวขึ้นมาแล้วจิตมันเฉยอยู่อย่างนั้น ให้พิจารณาจิตเหมือนกัน จิตที่รู้ตอนนี้เป็นจิตรู้ มันจะรู้ได้นานสักแค่ไหนเชียว เดี๋ยวมันก็กลายเป็นจิตคิดแล้ว เห็นไหมจิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตคิดก็ไม่เที่ยง แล้วแต่มันจะเป็นจิตรู้หรือจะเป็นจิตคิดเราก็สั่งไม่ได้ นี้เป็นอนัตตา ถ้าหากจิตเรามีสติรู้สภาวะถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว เกิดจิตรู้ขึ้นมา มีสมาธิถูกต้องแล้ว จิตตั้งมั่นแล้ว ดูลงไปอีกจิตมันเดินปัญญา หรือมันไม่เดินปัญญา รู้อยู่เฉยๆ ใช้ไม่ได้ มีบางคนเขาสอนกันให้รู้เฉยๆ รู้เฉยๆ คือเป็นจิตที่เป็นกุศล แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา จิตที่เป็นกุศลมี 2 อย่าง บอกแล้วเป็นกุศลที่ไม่มีปัญญากับมีปัญญา

ปัญญาที่ดีที่สุดเลย คือวิปัสสนาปัญญา ดูไตรลักษณ์ ถ้ามันไม่ยอมดูกายว่าเป็นไตรลักษณ์ มันไม่ยอมดูจิตว่าเป็นไตรลักษณ์ ก็สอนมันไปเลย เทศน์ให้จิตมันฟัง เทศน์เรื่องร่างกายเป็นไตรลักษณ์ เทศน์เรื่องจิตเป็นไตรลักษณ์ เทศน์ให้มันฟัง สอนมันไป แต่สอนพอประมาณ สอนไปช่วงหนึ่งก็หยุด กลับมาทำความสงบใหม่ สลับกันไปอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นถ้าสอนเยอะไป จิตจะฟุ้งซ่าน เอาแต่คิดอย่างเดียวเลย มีบางที่สอนกันให้คิดอย่างเดียวเลย ไม่ให้ทำสมาธิ พิจารณาไปเรื่อย พิจารณาไตรลักษณ์ไปเรื่อย ร่างกายเป็นไตรลักษณ์อย่างโน้นอย่างนี้ เวลาสมาธิเกิด มันเป็นสมาธิที่ออกข้างนอกไม่เข้าฐานหรอก เข้าฐานไม่ได้จริงหรอก

ฉะนั้นเราก็ต้องกลับเข้าฐานเป็นระยะๆ หายใจเข้าพุท ออกโธอะไรก็ทำไป หรือดูกระดูก ดูกาย ดูอะไรก็ดูไป ดูลมหายใจก็ทำไป ทำกรรมฐานที่เราคุ้นเคยที่ทำแล้วจิตตั้งมั่นดีก็เอาอันนั้น ไปสำรวจตัวเองว่าทำกรรมฐานอะไรแล้วดีก็เอาอันนั้น ไม่ต้องเลียนแบบคนอื่น ไม่ต้องมาเลียนแบบหลวงพ่อ แต่เดิมหลวงพ่อใช้อานาปานสติ บวกกับพุทโธ พวกเราได้ยินหลวงพ่อพูดอย่างนี้ ก็ไม่ต้องมาเลียนแบบ บางคนไม่ชอบเรื่องลมหายใจเลย หายใจแล้วอึดอัด หายใจแล้วเครียด กรรมฐานอะไรก็ได้ ให้จิตมันอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง อารมณ์นั้นไม่ยั่วให้เกิดกิเลส ก็แค่นั้นละค่อยๆ ฝึก นี้ฝึกไปเรื่อยๆ ใจสงบขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้แล้ว ถ้ามันไม่เดินปัญญาก็พิจารณา พิจารณากาย พิจารณาจิต พิจารณานิดๆ หน่อยๆ นำร่องให้จิตมันเดินปัญญา

 

 

หลวงพ่อพุธท่านสอน “การคิดพิจารณา ไม่ใช่วิปัสสนา” ท่านพูดขนาดนี้เลย “การคิดพิจารณา ไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนาเริ่มเมื่อหมดความคิด แต่การคิดพิจารณานั้น เป็นการนำร่อง” ท่านใช้คำว่าเป็นการนำร่องให้จิตมันดูไตรลักษณ์ นำร่องให้จิตดูไตรลักษณ์ของร่างกาย นำร่องให้จิตดูไตรลักษณ์ของจิต ฉะนั้นเวลาที่จิตมันเคยชินที่จะดูไตรลักษณ์แล้ว พอสติระลึกรู้สภาวะถูกตามความเป็นจริง สมาธิเกิด จิตตั้งมั่นปั๊บ มันจะย้อนไปดู สติระลึกรู้กาย มันจะเห็นกายแสดงไตรลักษณ์ สติระลึกรู้จิต ก็จะเห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ แต่จิตนั้นตั้งมั่นเป็นคนรู้ คนดูอยู่ ค่อยๆ ฝึกอย่างนี้ นานๆ ไปก็เก่งเอง ใหม่ๆ ก็ล้มลุกคลุกคลานทุกคน

หัดใหม่ๆ สิ่งที่ผิด ไม่เผลอก็เพ่ง มันจะได้สมาธิที่ไม่ถูก สมาธิที่เพ่งเอาๆๆ ใจมันเครียด ไม่ได้จิตผู้รู้ที่แท้จริง ฉะนั้นเราหัดรู้สภาวะตามที่สภาวะเป็น กายเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น จิตเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น ถ้าดูกาย เช่นกายยืน เดิน นั่ง นอน กายกำลังยืน กายกำลังเดิน กายกำลังนั่ง กายกำลังนอน กายกำลังคู้ กายกำลังเหยียด กายกำลังหายใจเข้า กายกำลังหายใจออก ถ้าดูกายก็ดูอย่างนี้ ง่ายๆ พอสติมันระลึกรู้ว่าร่างกายขยับ สติรู้เข้ามาปุ๊บ จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเอง ตั้งมั่นแล้ว ถ้ามันเคยชินที่จะเดินปัญญา มันจะเห็นเลยร่างกายนี้เกิดแล้วดับ ร่างกายที่เคลื่อนท่านี้มันดับไปแล้ว ร่างกายที่หายใจออกมันดับไปแล้ว ร่างกายที่หายใจเข้าดับไปแล้ว ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ชั่วคราวแล้วก็ต้องดับไป หรือเห็นจิต เห็นใจ จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว เกิดแล้วก็ดับไป

เฝ้ารู้ เฝ้าดูเรื่อยๆ ไป เครื่องมือที่เราต้องพัฒนา คือสติที่ถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้อง แล้วก็เจริญปัญญาให้เป็น 3 ตัวนี้ต้องฝึก พอทำเป็นแล้วก็ต้องทำให้มาก ก็มีอีกตัวคือวิริยะ ทำให้มากๆ ทำให้เจริญขึ้น ถ้ามีวิริยะ มีสติ มีสมาธิถูกต้อง จิตเดินปัญญาได้ถูกต้อง สัมมาญาณะก็จะเกิดขึ้น ปัญญาที่ถูกต้องก็จะเกิดขึ้น สัมมาวิมุติก็จะเกิดขึ้น สัมมาๆๆ ที่พวกเราคุ้นมีสัมมา 8 ตัว สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ มีสัมมาสมาธิถูกต้องแล้ว จิตมันเคยเดินปัญญา มันจะเกิดสัมมาญาณะ เกิดญาณทัสสนะ คือเกิดปัญญาที่ถูกต้อง ปัญญาที่ผิดมีถมเถไป อย่างภาวนาที่หลวงพ่อบอก สันตติไม่ขาด เห็นจิตนี้วิ่งไปวิ่งมาบอกเกิดปัญญาแล้ว จิตเที่ยง อันนี้ไม่ใช่ปัญญาของพุทธหรอกสัมมาญาณะ มีปัญญาที่ถูกต้องเกิด สัมมาวิมุติ คือมรรคผลมันก็จะเกิด

ฉะนั้นค่อยๆ ฝึก ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เรื่องจะข้ามวัฏฏะได้ ก็ต้องชำนิชำนาญในการปฏิบัติในเรื่องเหล่านี้ เราไม่จำเป็นต้องรู้ธรรมะทุกเรื่อง พระพุทธเจ้าแสดงธรรมะไว้มากมายมหาศาล บางเรื่องท่านก็แสดงให้เทวดาฟัง ไม่ได้แสดงให้มนุษย์ฟัง บางเรื่องท่านก็แสดงให้คนฉลาดฟัง พูดประโยค 2 ประโยคเขารู้เรื่อง บางเรื่องแสดงให้คนธรรมดา ก็ต้องมียกตัวอย่างมีอะไร บางเรื่องที่ท่านแสดงสำหรับคนซึ่งสติปัญญาไม่ค่อยมี ก็สอนอะไรที่ง่ายๆ เปรียบเทียบอะไรให้ฟังอะไรอย่างนี้ ยกตัวอย่างโน้นนี้อะไรไปเยอะแยะ เป็นวิธีสอนของท่าน พวกสอนไม่ได้ท่านก็ไม่สอน พวกแย่เต็มทีท่านก็ไม่สอน สอนทำไม สอนไปแล้วดีไม่ดีมันด่าท่านเสียอีก เดี๋ยวแทนที่มันจะได้บุญ ได้สติ ได้ปัญญา มันได้บาป ท่านก็ไม่สอน ฉะนั้นเวลาสอนธรรมะ เราไม่ได้สอนทุกคนหรอก คนไหนควรสอนถึงจะสอน คนไหนไม่ควรสอน เขาอยากเชื่ออะไรก็เรื่องของเขา ช่างเขา ตัวใครก็ตัวคนนั้น ไม่เกี่ยว ไปแบก ไปหามทุกคน ทำไม่ได้หรอก

 

เราค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ สังเกต แต่จะอย่างไรก็ไม่เลิกปฏิบัติ ป่วยหนักจะตายก็ไม่เลิกปฏิบัติ

 

ฉะนั้นอันแรกสุดถือศีล 5 อย่าลืม แบ่งเวลาไว้ปฏิบัติในรูปแบบทุกวัน ต้องทำ ถ้าอยากได้มรรคผล เอะอะจะมาอ้างเจริญสติในชีวิตประจำวัน ทำรวดไปเลยจิตไม่มีแรงหรอก สมาธิไม่พอ ฉะนั้นต้องทำในรูปแบบ นั่งสมาธิ เดินจงกรมอะไรนี่ทำ จนกระทั่งอย่างร่างกายมันเดิน จิตเป็นคนดู เราเดินจงกรมอยู่ ร่างกายเดิน จิตเป็นคนดู ทำในรูปแบบ ร่างกายนั่งอยู่ ร่างกายหายใจออก จิตเป็นคนดู ร่างกายหายใจเข้า จิตเป็นคนดู ดูไปดูมา จิตไม่ดูร่างกายแล้ว จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ก็รู้ทันว่าจิตหนีไป กลับมาหายใจต่อ มาพุทโธต่อ มาเดินจงกรมต่อ ทำไปอย่างนี้จนจิตมันชำนิชำนาญ ต่อไปพอมันเคลื่อนปุ๊บ สติเกิดเองเลย อย่างเราเคยเดินจงกรมทุกคืน ทุกวันอย่างนี้ เดินๆๆ แล้วรู้สึกๆๆ เลย เดินอยู่ในวัดเรานี้ เดินรดน้ำต้นไม้นี้ นั่นล่ะเดินจงกรม ทุกก้าวที่หิ้วถังน้ำไปรดต้นไม้ เดินไปมีสติรู้สึกกายไป เห็นร่างกายมันเดิน ถ้ามีกำลังพอมันจะเห็นเข้ามาที่จิต หรือว่าถ้ามีอารมณ์แรงพอ มันก็จะเห็นเข้ามาที่จิต เช่น จิตมีความสุข ไปรดน้ำต้นไม้มีความสุข หรือหงุดหงิด แดดมันร้อน หงุดหงิดขึ้นมา

การทำในรูปแบบสำคัญ จะทำให้เราสามารถปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ดี อย่างเราเดินจงกรมทุกวัน ซ้อมๆ ต่อไปไปเดินรดน้ำต้นไม้เราก็ทำได้ เรานั่งหายใจอยู่อย่างนี้ ต่อไปเราไปทำอะไรมันก็ยังหายใจอยู่ สติก็ยังเกิดได้อีก ฉะนั้นการทำในรูปแบบทำไป ทำไปจนกระทั่งจิตมันชินที่จะปฏิบัติ ชินที่จะมีสติ คือสติอัตโนมัติ ชินที่จิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติ ถึงตรงนั้นพร้อมแล้ว ออกไปลุยกับโลกข้างนอก มีผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเข้ามา เราพร้อมแล้ว กระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตเป็นอย่างไร สติรู้เองเลย ไม่ต้องเจตนาจะรู้ ฝึกตัวเองทุกวันๆ สุดท้ายทุกก้าวที่เดินคือการเดินจงกรม ตลอดเวลาที่นั่งอยู่คือการนั่งสมาธิ มันจะเป็นอย่างนั้น นอนอยู่เห็นร่างกายนอนหายใจอยู่ นี่คือการปฏิบัติ การปฏิบัติจะไม่มียกเว้น ไม่มีว่าตรงนี้ไม่ต้องทำอะไรอย่างนี้

เมื่อเช้าหลวงพ่อได้ยินลูกศิษย์ล้างบาตรอยู่หลังศาลานี้ แกยังติดเพ่ง แกประกาศวาทะอันน่าตื่นเต้น “ผมจะหยุดปฏิบัติ 1 วัน” ฟังแล้วหลวงพ่ออยากจะออกไปเอาฝาบาตรโขกหัวให้ การปฏิบัติไม่ได้เสียหาย การปฏิบัติต้องทำตลอด ที่ผิดคือการเพ่งต่างหาก แล้วดูลงไปอะไรเป็นต้นเหตุของการเพ่ง ความโลภ อยากดี อยากรู้ตัวตลอดเวลา ความโลภต่างหากที่ผิด ไม่ใช่การปฏิบัติผิด ยกเว้นไม่ได้ เราต้องปฏิบัติจนทำให้ได้ทุกลมหายใจเข้าออกเลย ถ้าเราอยากพ้นทุกข์จริงๆ เพราะจิตมันไวมาก ยิ่งภาวนาจะรู้ว่าจิตว่องไวมากเลย สติสมาธิเราไม่พอ จิตจะหนีไปสร้างอกุศลทันทีเลย รวดเร็วมาก ที่ดีๆ ก็ไม่ยอมไวหรอก ที่ร้ายๆ นี่ไวชะมัดเลย

ฉะนั้นเราค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ สังเกต แต่ไม่เลิกปฏิบัติ อย่างไรก็ไม่เลิก ป่วยหนักจะตายก็ไม่เลิกปฏิบัติ เคยเดินจงกรมทุกวัน ป่วยมากลุกขึ้นเดินไม่ได้ ขยับตัว หลวงพ่อพุธท่านเคยสอนบอกว่า พระท่านเดินจงกรมทุกวัน ป่วยหนักลุกขึ้นเดินไม่ได้ ท่านนอนอยู่ที่พื้น นอนขยับตัว พลิกไปพลิกมาๆ เจริญสติไปเรื่อยๆ บอกนี่นักปฏิบัติ ถึงเวลาท่านก็รักษาข้อวัตร เคยกวาดวัดทุกวัน ป่วยหนักลุกขึ้นมากวาดวัดไม่ได้ ถึงเวลาจะต้องกวาดวัด ท่านกำหนดจิตของท่านว่า ต่อไปนี้ท่านจะรักษาข้อวัตรแล้ว รักษาเสนาสนะ ท่านเอามือกวาดขี้ฝุ่นข้างๆ ตัวท่าน ขยับมากกว่านั้นไม่ได้ ได้แค่นี้ ก็รักษาข้อวัตรไว้

ฉะนั้นต้องฝึกจนสติอัตโนมัติ ไม่มีย่อหย่อน ถ้าย่อหย่อนแล้วก็ถอยหลังไกลเลย ฝึกจนจิตตั้งมั่นอัตโนมัติ ต้องให้ได้สติอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ แล้วก็หัดเดินปัญญาให้ดี โดยการกระตุ้นมัน แต่บางคนไม่ต้องกระตุ้น บางคนจิตมันเคยเดินปัญญามาแต่ชาติก่อนๆ แล้ว พอจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ปุ๊บ มันเห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา เห็นความจริงแล้วร่างกายเป็นอะไรอย่างหนึ่ง เป็น something เป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา จิตที่มันเคยเดินปัญญา พอจิตตั้งมั่นปุ๊บ สติระลึกอะไรเห็นอันนั้นไม่เป็นเราเลย บางคนแปรงฟันอยู่ จิตตั้งมั่นปุ๊บขึ้นมา รู้สึกเลยนี่มันท่อนอะไร ท่อนนี้อะไร ไม่ใช่เราแล้วล่ะ แต่เดิมมันเป็นแขนเรา เป็นมือเราใช่ไหม พอจิตมันมีสมาธิตั้งมั่น สติระลึกรู้ปั๊บ แล้วจิตมันคุ้นที่จะเดินปัญญา ชาติก่อนอาจจะเคยเดินปัญญา หรือชาตินี้เรามาฝึก จะรู้สึกว่านี่มันไม่มีเรา ตรงนี้ก็ไม่มีเรา ไปเห็นทั้งตัวนี้มันก็ไม่มีเรา

สุข ทุกข์ ดี ชั่ว มันเป็นของข้างนอก เป็นของถูกรู้ มันก็ไม่ใช่เรา จิตที่เป็นคนรู้ก็เกิดดับ มันก็ไม่ใช่เรา สุดท้ายก็เลยเห็นว่า ขันธ์ 5 ไม่มีเราหรอก ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ไม่มีเราอยู่ในขันธ์ 5 นี้เลย ไม่มีเราที่ไหนเลย ตรงนี้เราก็จะได้ธรรมะขั้นต้นเป็นพระโสดาบัน อดทนนะ อดทนฝึกไปเรื่อยๆ ตั้งอกตั้งใจเข้า

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
13 มีนาคม 2564