ไม่สนใจตัวเองคือไม่ได้ปฏิบัติ

วันนี้มีโยมนั่งรถตู้กันมาจากอุบลฯ มาไกล ถามว่าจะไปไหน บอกจะมานี่ ไม่ไปไหน เมื่อก่อนหลวงพ่อก็ไปเรียนกับครูบาอาจารย์ ไปอิสาน ไปภาคเหนืออะไรอย่างนี้ ไกลๆ ตระเวนอย่างนี้ล่ะ แต่ว่าไม่ได้ไปรถตู้อย่างนี้ ไปรถทัวร์ ไปรถไฟ ยุคนี้มีรถตู้ให้เช่าเยอะ สมัยโน้นไม่มี ไปก็ลำบาก เดินทางไกล บางทีไปถึงครูบาอาจารย์ไม่อยู่ หรือไปถึงท่านอาพาธ ไม่ได้เข้าไปส่งการบ้าน ฉะนั้นสมัยก่อนไปหาครูบาอาจารย์ลำบากกว่ายุคนี้ แต่ยุคหลวงพ่อก็ง่ายกว่ายุคของหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่อะไรทั้งหลายท่านเดิน เราแค่นั่งรถทัวร์ไป นั่งรถไฟ เดี๋ยวนี้สบาย ถึงเวลาก็เปิดอินเทอร์เน็ต ดู ฟังธรรมะ แต่หลวงพ่อสังเกตอย่าง อะไรที่มันได้มาอย่างยากลำบาก เราเห็นคุณค่า อะไรที่ได้ง่ายๆ ไม่ค่อยเห็นคุณค่าเท่าไหร่ อย่างแต่ก่อนลำบากกว่าจะเจอครูบาอาจารย์ เก็บวันลาเอาไว้ ไม่ไปไหน เก็บวันลาเอาไว้ ถึงเวลาก็ไปกราบครูบาอาจารย์ทีหนึ่ง

เวลาไปนั่งเรียนอยู่กับท่าน ไม่ได้อัดเทป ไม่ได้จด ท่านไม่ค่อยยอม ท่านให้เรานั่งสมาธิไป แล้วท่านก็เงียบๆ ของท่านอยู่อย่างนั้น ถึงเวลาสมควรสอน ท่านก็สอนให้ แต่บางองค์ท่านเจอท่านก็เรียกให้นั่งสมาธิเลย แล้วท่านก็เทศน์เลย แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน หลวงปู่ดูลย์ท่านไม่เทศน์หรอก เข้าไปกราบท่าน ไปนั่งอยู่กับท่านนานๆ แล้วท่านก็พูดทีหนึ่ง การที่เราจะได้ยินได้ฟังธรรมะเลยกลายเป็นเรื่องลำบาก ฉะนั้นจิตใจมันจดจ่อในการฟัง ฟังแล้วก็เอามาพิจารณา เอามาปฏิบัติ

ถ้าไปฟังแบบรวมกลุ่ม อันนี้เราก็ต้องเลือก เวลาครูบาอาจารย์เทศน์แล้วญาติโยมฟังทีหนึ่งเป็นร้อย สมัยก่อนเป็นร้อย หลังๆ นี้เป็นพันแล้ว คนเป็นร้อยแต่ละคนก็นั่งสมาธิของตัวเองไป แล้วเวลาธรรมะที่ท่านแสดง ตรงจุดไหนมันกระทบใจเรา ใจเราจะตื่นตัวขึ้นมา มาฟัง ถ้าตรงนี้ไม่ใช่ธรรมะของเรา จิตก็รวมพักเงียบๆ อยู่ ภาวนาของเราไป แต่ก่อนเรียนธรรมะกันแบบนี้ ไม่ได้เรียนแบบมีเลคเชอร์สอน เป็นคอร์ส เป็นขั้นตอนอย่างนี้ๆๆ ไม่มีหรอก มีแต่ว่าเราภาวนาของเราไป ไปอยู่ต่อหน้าครูบาอาจารย์ เราก็ยังภาวนาของเราอยู่ แล้วเวลาท่านแสดงธรรม บางทีท่านก็แสดงให้คนนี้ฟัง แสดงให้กลุ่มนี้ฟังอะไรอย่างนี้ ยังไม่ตรงของเรา จิตของเราก็ยังสงบอยู่อย่างนั้น ภาวนาไป ตรงไหนมันตรงกับจุดที่เราสนใจ จิตมันจะตื่นขึ้นมา ไม่ได้นอนหลับ แต่ว่าจิตมันจะออกจากความสงบ ออกมารับกระแสธรรมะ มันเป็นการเรียนจากใจของครูบาอาจารย์มาสู่ใจของเราโดยตรง ฉะนั้นวัดกรรมฐานจริงๆ ไม่มีคอร์ส ไม่ได้จัดคอร์สกัน ไม่มีหลักสูตร

ถ้าเราขยันภาวนา ไปหาครูบาอาจารย์ หรือไปฟังครูบาอาจารย์ บางทีใจเราไปกระทบครูบาอาจารย์เข้า ใจกระทบไม่ใช่หมายถึงส่งจิตออกนอกไปกวนท่าน แต่เราภาวนาของเรานี้ล่ะ ถ้าใจสัมผัสกันกับใจของท่าน ท่านก็ถ่ายทอดธรรมะออกมาให้เรา ในจุดที่เราติดข้องอยู่หรือจุดที่เรากำลังเดินอยู่แล้วไม่แน่ใจว่าควรจะเดินต่อไปหรือเปล่า หลวงพ่อเรียนอยู่กับครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่ท่านก็สอนด้วยวิธีนี้ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ อวดอุตริอะไร ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นเลย เพราะครูบาอาจารย์ไม่เคยมาเรียกร้องอะไรจากเรา เราไปหาท่าน ไปด้วยใจที่อ่อนโยน อ่อนน้อม ด้วยความเคารพ ไปด้วยความอยากดี ไม่ได้เอากิเลสไปอวดว่า กูเก่งๆ ออกไป อย่างนั้นเราจะไม่ได้ของดี

เคยเล่าให้พวกเราฟังหลายเรื่อง เวลาติดข้องอะไรอยู่ ไปเจอครูบาอาจารย์ยังไม่ทันถามเลย ท่านก็ตอบให้แล้ว หลายองค์ก็สอนอย่างนั้น อย่างหลวงปู่สุวัจน์อย่างนี้ หลวงพ่อภาวนา ตอนนั้นยังไม่ได้บวช ภาวนาถึงจุดหนึ่ง จิตมันปล่อยวางจิต พอจิตมันวางจิตแล้วสักครู่หนึ่ง จิตก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก ตรงที่จิตวางจิตแล้วจิตหยิบฉวยจิตขึ้นมา ถ้าไม่ได้ภาวนา ไม่เข้าใจคำนี้เลย คิดว่าพูดเรื่องอะไร ไม่เห็นมีในพระไตรปิฎกอะไรอย่างนี้ มี ไม่ใช่ไม่มี ฟังไม่รู้เรื่องเอง พอจิตมันวางแล้วมันก็หยิบ วางแล้วก็หยิบ ทำอย่างไรหนอมันจะวางแล้วไม่หยิบขึ้นมาอีก

ในบทสวดมนต์ก็มี ขันธ์ทั้ง 5 เป็นภาระ บุคคลแบกภาระไว้ ก็ไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง พระอริยเจ้าคือพระอรหันต์วางภาระลงแล้ว แล้วก็ไม่หยิบฉวยขึ้นมาอีก ท่านก็พ้นจากทุกข์ ตัวจิตมันก็อยู่ในขันธ์ 5 นั้นล่ะ แต่มันเป็นของที่วางยากที่สุด วางยากกว่ากาย จิตมันละเอียด กายโดยตัวมัน มันก็ทุกข์ ฟ้องอยู่ทนโท่อยู่แล้วว่ามันทุกข์ แต่จิตพอมันสุข มันสงบ มันสุขจริงๆ มันสงบจริงๆ จะให้มันวางของดีของวิเศษขนาดนี้ ไม่ใช่ของง่าย แต่บางทีจิตก็วาง วางจิตลงไป ขันธ์ทั้ง 5 เป็นภาระ บุคคลวางภาระลงไปแล้ว มีแต่พระอริยเจ้าคือพระอรหันต์ที่วางแล้วไม่หยิบฉวยอีก นี่อยู่ในบทสวดมนต์ “ภารา หะเว ปัญจักขันธา” บทนี้

เราก็นึก เอ้อ ทำไมมันวางแล้วมันหยิบอีก วางภาระไป ตัวจิตนี่มันมีตัวภาระแท้ๆ เลย เช่นเดียวกับขันธ์ตัวอื่นๆ มันเป็นภาระ อย่างร่างกายมันก็เป็นภาระ ตื่นเช้ามาก็มีภาระมากมาย ตื่นมาก็ต้องเก็บที่หลับที่นอนอะไรนี่ไว้ปรนนิบัติร่างกายวันต่อไป ไปขับถ่าย ไปอาบน้ำ ไปแปรงฟัน ล้างหน้าอะไรอย่างนี้ ไปหาข้าวกิน เป็นภาระทั้งนั้นเลย ก็พาร่างกายไปทำงาน ก็เป็นภาระอีก พาร่างกายไปขึ้นรถเมล์ ขึ้นรถทัวร์อะไร ขึ้นรถไฟ บางคนก็ขึ้นรถไฟ บางคนก็มีภาระเอาร่างกายขับรถไป ไปนั่งทำงาน ก็ร่างกายเป็นคนทำงานอีก เหน็ดเหนื่อยแสนสาหัส กลับมาบ้านก็มาอาบน้ำมาอะไรอีก สุดท้ายก็ต้องนอน

นอนก็เพื่อบำบัดความทุกข์ของร่างกาย พอร่างกายไม่ได้พักเลย มันเหน็ดเหนื่อย มันทุกข์ เพราะฉะนั้นเรามีร่างกายนี่ มันมีความทุกข์ตั้งแต่ตื่นจนหลับ หลับไปแล้วยังทุกข์อีก ถ้าเรามีสติจริงๆ เราจะเห็นว่าเวลานอนหลับมันยังปวดยังเมื่อย มันก็ต้องพลิกซ้ายพลิกขวาไปเรื่อย คืนหนึ่งพลิกตั้งหลายสิบครั้ง พลิกไปพลิกมา นี่ร่างกายมันเป็นตัวทุกข์จริงๆ ทำไมเราต้องทำมาหากิน เพื่อจะได้มีเงินไปซื้อข้าวมากิน ร่างกายทำงานหนัก ร่างกายต้องมานั่งกินข้าว ร่างกายจะต้องไปขับถ่าย นี่เห็นอย่างนี้มันดูง่าย คนที่ไม่ใช่ชาวพุทธ ไม่เคยฟังธรรมของพระพุทธเจ้า สามารถเห็นได้ว่าร่างกายเป็นตัวทุกข์ เป็นภาระ

ขันธ์ที่ละเอียดเข้าไป เวทนาขันธ์มีความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ เวลามีความทุกข์ เรารู้สึกทุกข์ เวลาสุขเราไม่รู้สึกว่ามันทุกข์ เวลาเฉยๆ ก็ไม่รู้สึกว่าทุกข์ อันนี้เริ่มดูยากแล้ว ร่างกายนี้มันทุกข์ให้เห็นอยู่ทนโท่เลย แต่เวทนานี่เราจะไม่รู้สึกว่ามันเป็นตัวทุกข์ตลอด เราจะเห็นว่าเวลามีทุกขเวทนาเกิดขึ้นนี่ทุกข์ แต่พอมีสุขเวทนาหรือโสมนัสเวทนากับอุเบกขาเวทนา เราเห็นว่ามันไม่ทุกข์ ภาวนาไปนานเลย มันจะเห็นเลย เวลาที่จิตมีความสุข จิตก็เสียสมดุล เสียความสงบ เสียความปลอดโปร่ง เวลามีความสุข ถ้าความสุขนั้นหยาบ อย่างพวกกามสุข จิตจะโคลงเคลงกวัดแกว่งเพราะกามสุข ถ้าเราภาวนาเป็นเราจะเห็นเลย มีความสุขเกิดขึ้นแท้ๆ เลย จิตมันก็ยังทุกข์อยู่ เพราะฉะนั้นความสุขนี่ไม่น่าหลงใหลเลย จริงๆ มันก็เป็นตัวที่นำความทุกข์มาให้ตัวหนึ่ง หรือตัวอุเบกขาก็เหมือนกัน ยิ่งละเอียดยิ่งกว่าตัวสุขอีก กว่าจะเห็นตัวอุเบกขาเป็นตัวทุกข์นี่ไม่ใช่ตัวง่าย

ตัวสังขาร สังขารขันธ์ ก็ดูยากเหมือนกัน สังขารขันธ์มันมีทั้งส่วนที่เป็นกุศลและอกุศล เวลาที่จิตมันเป็นอกุศล จิตมันทุกข์ มันดูง่าย แต่เวลาจิตมันเป็นกุศล มันมีความสุข มันไม่อยากดู ฉะนั้นความยากของการดูจิตสังขาร มันก็มีอยู่ อย่างเวลาจิตเป็นกุศลขึ้นมา บางทีเราก็เพลิน ยินดีพอใจในความสุข ความสงบ ไปทำบุญมาแล้วก็ปลื้ม บางคนก็หยาบๆ ไปทำบุญหรือเห็นหน้าครูบาอาจารย์ก็เกิดปีติ ปีติก็เป็นสังขารตัวหนึ่ง เวลาปีติเกิด จิตก็โคลงเคลงๆ กระเพื่อมหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของปีติ แล้วดูมัน โอ้ ปีตินี่ไม่ได้มีสาระอะไรเลย เกิดขึ้นมานี่ทำให้จิตใจเราเสียสมดุล แกว่งไปแกว่งมา

เฝ้ารู้เฝ้าดู เวลาจิตมันโกรธขึ้นมา เราเห็นมันโกรธขึ้นมา จิตไม่มีความสุข พอโทสะเกิด มันเห็นเลย จิตไม่มีความสุข แต่คนที่จะเห็นก็คือคนที่ปฏิบัติ คนส่วนใหญ่มันไม่เห็นหรอก เวลาจิตมันโกรธขึ้นมา มันก็ไปดูคนที่ทำให้โกรธหรือสิ่งที่ทำให้โกรธ มันไม่ดูว่าจิตกำลังโกรธ เวลามันโลภขึ้นมา มันก็ไปดูคน หรือดูสิ่งของ หรือดูสิ่งโน้นสิ่งนี้ที่ทำให้มันโลภ ไม่เห็นว่าจิตกำลังโลภ เวลาโลภบางทีมันมีความสุข หรือไม่ก็มีอุเบกขาเวลาจิตโลภ แต่ถ้าจิตโกรธมีทุกข์ เพราะฉะนั้นจิตโกรธมันมีทุกข์ มันเลยดูง่าย ตัวโกรธดูง่ายที่สุด ตัวโลภดูยากกว่าตัวโกรธ

เวลาเราดูจิตดูใจ ดูสังขารมันทำงาน รู้เลย ตัวโกรธดูง่าย เพราะมันทุกข์ เวลามันทุกข์ เราจะรู้สึกไม่อยากทุกข์ แต่เวลามีตัวโลภะ มีราคะ บางทีมีความสุข หรือบางทีก็เป็นอุเบกขา มีอยู่ 2 อย่าง ไม่มีความสุขก็มีอุเบกขา จิตที่มีโลภะ พอมีความสุขมันเลยเพลิน มันไม่ดูหรอกว่าจิตกำลังมีความสุข จิตเสียความเป็นอิสระ เสียสมดุล แกว่งไปแกว่งมาเพราะอำนาจของราคะ พอจิตมีราคะมันก็ไปสนใจสิ่งที่ถูกอกถูกใจ อย่างเห็นคนสวยอย่างนี้ จิตมันก็มุ่งไปดูคนสวย คนหล่อ มุ่งไปดูดอกไม้สวยอะไรอย่างนี้ อะไรที่ชอบจิตก็ไหลเพลินไปดูอันนั้น หรือฟังเพลง เพลิดเพลิน เพลงนี้เพราะจิตมันก็ไหลไปฟังเพลง มันไม่เห็นว่าจิตกำลังมีราคะ

 

การปฏิบัติไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ

หลวงปู่ดูลย์ท่านเลยสอน “การปฏิบัติไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” ผู้ไม่ปฏิบัติคือผู้ที่หลงเพลินไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย ในเรื่องราวที่คิดนึกทางใจ มันหลงอย่างนี้ เวลาที่เราปฏิบัติ เราไม่ได้ต่างอะไรกับคนที่ไม่ปฏิบัติหรอก ตาเราเห็นรูป เราก็เกิดสุขบ้าง เกิดทุกข์บ้าง เกิดพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เกิดโลภ โกรธ หลงอะไรอย่างนี้ ไม่ว่าคนปฏิบัติหรือคนไม่ปฏิบัติ มันก็เกิดอย่างเดียวกัน แต่คนที่ไม่ปฏิบัติพอมันเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว มันไปสนใขของข้างนอก สนใจรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สนใจเรื่องราวที่คิดนึกเอง มันไม่สนใจตัวเอง ไม่สนใจที่จะอ่านตัวเอง อ่านว่าจิตใจตอนนี้เป็นอย่างไร พอไม่ได้สมใจก็คือไม่ได้ปฏิบัติแล้ว ไม่ได้เรียนรู้กาย ไม่ได้เรียนรู้ใจ

การปฏิบัติมันคือการเรียนรู้ความจริงของกายของใจ คนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ปฏิบัติกับผู้ปฏิบัติไม่ได้ต่างกัน ตาก็มองเห็นเหมือนกัน หูก็ได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวอะไรพวกนี้ พอใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง กระทบเหมือนกัน แต่คนไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่เป็น พอกระทบแล้วมันสนใจไปที่สิ่งที่มากระทบ สนใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ สนใจในเรื่องราวที่คิด ส่วนผู้ปฏิบัติที่ตั้งอกตั้งใจภาวนา พอกระทบอารมณ์แล้วไม่ได้สนใจของนอก แต่สนใจย้อนเข้ามาดูตัวเอง สนใจเข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเอง ถึงกายถึงใจตัวเอง ความต่างมันมีเท่านี้เอง

การกระทบ กระทบเหมือนกัน กระทบอารมณ์ที่ดี กระทบอารมณ์ที่เลว ก็แล้วแต่บุญแต่บาปให้ผลมา มีบุญ บางคนไม่ได้ภาวนา แต่เขามีบุญเก่า เขากระทบอารมณ์ที่ดีตลอดเลย อยู่ก็อยู่กับคนที่ดี บ้านช่องสบาย อาชีพการงานทำสบาย หาเงินง่าย อยากได้อะไรก็ได้อะไรอย่างนี้ เขาทำบุญเก่ามาดี แต่ถ้าไม่ได้ภาวนาก็คือไม่ได้ต่อยอด บุญเก่าที่ดีแล้วให้มันดีกว่านี้อีก พวกเราเป็นนักปฏิบัติ เราไม่ได้ทำตัวแบบคนไม่ได้เรียนธรรมะ เพราะฉะนั้นเวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้ว คอยอ่านตัวเอง ดูกายดูใจของตัวเอง

อย่างกระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจ มันเริ่มโกรธแล้ว เห็นหน้าคนนี้เราโกรธแล้ว ถูกเขาด่า ถ้าเราถนัดดูจิต เราก็จะเห็นจิตมันโกรธผุดขึ้นมา ถ้าถนัดรู้กาย จะเห็นหน้าตาเราเริ่มเปลี่ยนจากสายพันธุ์มนุษย์เป็นสายพันธุ์ยักษ์แล้ว บางทีก็เป็นสายพันธุ์หมาบ้าแยกเขี้ยวยิงฟันอะไรอย่างนี้ รู้สึกร่างกายแล้วมันจะเห็นเลย หน้าตามันเปลี่ยน มันเปลี่ยนไปตามอารมณ์ของเรา อย่างบางคนเห็นหน้าเรารู้เลย ไอ้นี่หื่น นิสัยขี้หื่น เพราะหน้าตามันให้ เพราะฉะนั้นใจมันเป็นอย่างไร มันก็ปรุงออกมาทางหน้าตาของมัน บางคนถ้าดูกาย อย่างโกรธขึ้นมานี่ เราเคยดูกายบ่อยๆ โกรธขึ้นมาเราจะชกแล้ว มันเห็นมือมันเริ่มกำแล้ว เกร็งตัวขึ้นมาแล้ว ถ้าเคยเจริญสติด้วยการดูกายแล้วพอร่างกายเปลี่ยนเท่านั้นเอง เกร็งขึ้นมาปุ๊บ สติเกิดเลย มันรู้ว่าร่างกายเป็นอย่างนี้ เห็นทะลุเข้ามาถึงจิตเลย นี่มันโกรธแล้ว แต่ถ้าดูจิตชำนาญก็ไม่ต้องไปดูผ่านกาย จิตมันโกรธขึ้นมาก็รู้เลย มันโกรธขึ้นมา

ฉะนั้นการดูจิตมันยากตรงที่ส่วนใหญ่ละเลยที่จะดู โกรธขึ้นมาก็ไปดูสิ่งที่ทำให้โกรธ โลภขึ้นมาก็ไปดูสิ่งที่ทำให้โลภ สิ่งที่ทำให้รัก มันก็หลงไปเลย ไม่ดู ฉะนั้นถ้าเราดูจริงๆ คอยรู้คอยดูไป มันไม่ยาก มันยากตรงที่ไม่ปฏิบัติ ไม่ดู หลวงปู่ดูลย์ท่านถึงสอน “การปฏิบัติไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” สังเกตจิตตนเองไป อันนี้สำหรับพวกเจริญจิตตานุปัสสนา เห็นจิตมีโลภะ จิตไม่มีโลภะ จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ จิตหลงไป จิตรู้ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่นี่ มีอยู่ 4 คู่นี่ เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ ให้เห็น ตัวร่างกายดูง่าย ร่างกายดูไปเถิด แป๊บเดียวก็เห็นแล้วตัวทุกข์ เวทนาบางตัวดูง่าย ทุกขเวทนาดูง่าย ใจไม่เอา แต่สุขเวทนากับอุเบกขาเวทนาจะดูให้วางไม่ใช่ง่าย ตัวจิตตสังขารจะดูให้วางก็ยากเหมือนกัน เพราะมันไม่อยากดู ไม่ค่อยยอมดู มัวแต่ดูของข้างนอก ไม่ยอมดูตัวเอง ไม่ยอมอ่านใจตัวเอง

ส่วนตัวจิตนี่ดูยากที่สุดเลย เราภาวนาไปเรื่อยๆๆ ถึงจุดหนึ่ง จิตวางจิตลงไป วางลงไปประเดี๋ยวหนึ่ง หยิบขึ้นมาใหม่แล้ว แล้วทำอย่างไรๆ ก็ไม่ยอมวาง ตอนนั้นหลวงพ่อยังไม่ได้บวช พอจิตมันวางจิต แล้วคิดจะเอาจิตดวงนี้ล่ะไปถามหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ท่านกลับมาจากอเมริกา มาพักอยู่ที่สวนทิพย์ที่ซอยวัดกู้ เราก็ขึ้นรถไปเลย รีบขับรถออกจากบ้านไป จะไปถามท่านว่าจิตวางจิตแล้วทำอย่างไรจะวางได้ตลอด พอเริ่มขับรถเท่านั้น จิตก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก คราวนี้ทำอย่างไรก็ไม่ยอมวาง นั่งเพ่งมัน เพ่งๆๆ มันก็ไม่สลายไป มันวางไม่ได้ ไม่ปล่อย ทำอย่างไรๆ มีอุบายอย่างไรมากมาย ก็ไม่ปล่อย จนขับรถจากเมืองนนท์ไปถึงปากซอยวัดกู้ที่ปากเกร็ด ใจมันก็ถอดใจ ถอดใจแล้วว่า โอ้ จิตมันเป็นอนัตตาหนอ เราสั่งมันไม่ได้จริงๆ มันหยิบขึ้นมาแล้วเราก็สั่งให้มันวางไม่ได้ จิตมันเป็นอนัตตา จิตมันเห็นตรงนี้ พอเห็นปุ๊บมันวางปั๊บเลย พอมันวาง อ้าว วางแล้ว เดี๋ยวจะรีบไปถามหลวงปู่ว่าทำอย่างไรจะวางตลอด

ก็เข้าไปถึงที่ท่านพักอยู่ เป็นศาลาเล็กๆ เป็นกุฏิเล็กๆ เอง เข้าไปนั่งรอ สักพักหนึ่งพระก็เข็นรถเข็นท่านออกมา ท่านเป็นอัมพาต รถคว่ำเลยเป็นอัมพาต พอเข็นท่านออกมา เราก็กราบ คนที่เข้าไปก็เยอะเหมือนกัน เต็มห้องเลย นั่งกันแน่นเลย กราบไหว้ท่าน ท่านก็ยิ้มไปยิ้มมา หัน เรานั่งอยู่ทางซ้ายมือท่าน ท่านมองไปทางนี้ยิ้มหวาน มองไปอีกทางหนึ่ง แล้วอยู่ๆ ท่านก็พูดว่า “การปฏิบัตินั้นบางทีจิตก็ปล่อยวางจิต พอจิตปล่อยวางจิตแล้วมันก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่ยอมวาง จนกระทั่งสติปัญญามันรู้ทันว่า โอ้ จิตมันก็เป็นอนัตตา มันก็วางของมันเอง” พอท่านพูดจบท่านก็หันมายิ้มใส่เรา เราก็รู้ อ้อ หลวงปู่ตอบคำถามเราแล้ว กะจะถามท่านว่าทำอย่างไรมันจะวางตลอด ก็ได้คำตอบแล้ว คือเราต้องเห็นไตรลักษณ์ ฉะนั้นเราก็ต้องดูจิตว่าเป็นไตรลักษณ์ไปจนมันพอ มันถึงจะวาง

ฉะนั้นเราสั่งมันไม่ได้ ตรงที่มันวางจิตลงไปได้ มันก็จะวางขันธ์อื่นๆ ไปหมดแล้ว เพราะขันธ์อื่นๆ มันเกิดมาจากจิตดวงเดียว วิญญาณะ ปัจจะยา นามะรูปัง อาศัยจิตดวงเดียวนี้ล่ะ ก่อให้เกิดนามรูป เกิดขันธ์ 5 ขึ้นมา ถ้าวางจิตได้ก็คือวางขันธ์ 5 ได้หมด นี้ถ้าเราอยากจะวางแล้วก็ไม่หยิบขึ้นมาอีก เราก็จะต้องเห็นแจ้งในขันธ์ 5 ทุกๆ ขันธ์ ว่ามันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

โดยเฉพาะตัวจิต ตัวนี้ประณีตที่สุด ละเอียดที่สุด ดูยากที่สุด มันดูยากกว่าตัวเวทนา ตัวจิตดูยากกว่าตัวสังขาร เพราะตัวจิตโดยตัวของมันเอง ในขณะที่ยังไม่ปนเปื้อน มันผ่องใส มันประภัสสร จิตโดยตัวของมันเอง เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันอัตโนมัติอยู่อย่างนี้ ดูดีๆ เพราะฉะนั้นยากมากที่จะเห็นว่าตัวจิตนี่เป็นตัวทุกข์ เป็นของไม่ดีอะไรอย่างนี้ เราจะเห็นว่าตัวจิตผู้รู้นี่ล่ะ จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนี่ มันผ่องใสจริงๆ มันสว่าง มันผ่องใส มันประภัสสร มันสงบ มันสว่าง เรายังมองทะลุเข้าไปไม่เห็นว่ามันไม่สะอาด ตัวจิตผู้รู้หรือจิตประภัสสรนี่ มันได้แค่สงบ สว่าง สงบเพราะอะไร เพราะยังไม่มีอะไรมาปนเปื้อน ไม่มีอะไรเข้ามาปรุงแต่งมัน โดยตัวของมันเองมันสงบ โดยตัวของมันเองมันสว่าง ผ่องใส มันผ่องใส ผ่องใส สว่าง เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนา พอเราเห็นตัวนี้เข้า ไม่มีใครปล่อยหรอก

 

จิตนี้คือตัวทุกข์

วันหนึ่งหลวงพ่อนั่งอยู่กับหลวงปู่ดูลย์ นั่งภาวนาของเราไป แล้วท่านก็พูดขึ้นมา “เราพิจารณาแล้ว นักปฏิบัติส่วนมากไปได้แค่เป็นผีใหญ่” ท่านพูดอย่างนี้ นักปฏิบัติส่วนมากไปได้แค่เป็นผีใหญ่ ผีใหญ่คืออะไร ผีใหญ่คือพรหม เป็นพรหม พระอนาคามี พระอนาคามีไม่ได้เป็นพรหมสุทธาวาสทุกองค์ พระอนาคามีบางองค์เป็นพรหมชั้นต่ำที่สุดเลย พรหมปาริสัชชา สูงขึ้นไปชื่อพรหมปุโรหิตา แล้วก็มหาพรหมา ในบรรดาพรหม 16 ชั้น พระอนาคามีไม่ไปเกิดเป็นพรหมลูกฟัก แต่พรหมอื่นๆ ไปเกิดได้ตั้งแต่พรหมชั้นที่หนี่งเลย ไม่ใช่ทุกองค์เป็นพรหมสุทธาวาส ผู้ที่จะไปเป็นพรหมสุทธาวาส ท่านต้องได้ฌาน 4 แล้วก็มีอินทรีย์แก่กล้า สุทธาวาสมี 5 ชั้น ก็คือความแก่กล้าของอินทรีย์ 5 ตัวนั้นเอง ถ้ามีศรัทธาแก่กล้า ก็เป็นสุทธาวาสที่หนึ่ง มีวิริยะแก่กล้า ก็เป็นสุทธาวาสเบอร์สอง มีสติ สมาธิ ปัญญาแก่กล้าก็เป็นสาม สี่ ห้า

อย่างมีศรัทธาแก่กล้า จากพระอนาคามีขึ้นไปเกิดก็ยังเป็นพระอนาคามีอีกนานเลย เพราะศรัทธามันทำให้บางทีความขวนขวายที่จะพิจารณาจิตให้เห็นความเป็นไตรลักษณ์มันไม่เข้มข้น มันศรัทธามันมัวแต่ปลื้มๆ อยู่ หรือมีวิริยะจะไม่ค่อยมีปัญญา อย่างนี้ก็ต้องใช้เวลา อย่างพรหมสุทธาวาสชั้นล่างสุด วันนี้กว่าจะบรรลุพระอรหันต์นี่ปลายๆ อายุขัยแล้ว ใกล้ๆ จะตายแล้ว ไม่เหมือนชั้นที่ห้า สูงสุด ชื่ออกนิฏฐา อกนิฏฐานี่เป็นพระอนาคามีที่ได้ญาน 4 แล้วก็มีปัญญา ปัญญินทรีย์แก่กล้า เพราะฉะนั้นบางทีท่านนึกว่าจบ พอขึ้นไปปุ๊บ เพราะว่าไม่จบ พอไม่จบนี่เฉลียวใจเลย ทำไมไม่จบ จิตยังติดยังข้องอะไรอยู่ ดูเข้าไปเลย แล้วก็บรรลุพระอรหันต์ตั้งแต่ขึ้นไปใหม่ๆ เลย เพราะอาศัยปัญญาที่แก่กล้า ถ้าปัญญาไม่แก่กล้าก็ใช้เวลา

ฉะนั้นการจะดูจิตว่ามันเป็นตัวทุกข์นี่ไม่ใช่ตัวง่ายเลย ดูกายดูง่าย เวทนาสังขารอะไรพวกนี้ดูไม่ยาก ไม่เรียกว่าง่าย แต่เรียกว่าดูไม่ยากถ้าจะดู ที่ยากเพราะไม่ยอมดู เวลามีความสุขก็เพลินไป เวลามีความทุกข์ก็เศร้าโศกไป ไม่ยอมดูว่าใจกำลังเศร้า เวลาจิตเป็นกุศลก็เพลินสบายใจ เวลาจิตเป็นอกุศล ถ้าจิตโกรธขึ้นมา หงุดหงิด ไม่ชอบ ไม่เป็นกลาง จิตโลภขึ้นมา มีความสุขเลยคราวนี้พอใจไม่ยอมดู จิตหลง ดูไม่ได้ ฉะนั้นพวกนี้ยังดูง่าย แต่ดูตัวจิตประภัสสรให้เห็นว่าเป็นตัวไม่ดีนี่ไม่ใช่ดูง่ายเลย เพราะมันดีที่สุดเลยที่สัตว์โลกทั้งหลายในฝ่ายโลกิยะ จิตที่เป็นตัวผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั้นเป็นจิตที่ดีที่สุดในฝ่ายของโลกิยธรรม ฉะนั้นการจะเห็นว่าไม่ใช่ของดีนี่ยาก ต้องเฝ้ารู้เฝ้าดูจริงๆ กล้าหาญจริงๆ ช่างสังเกตจริงๆ ถึงจะเห็น

เฝ้ารู้เฝ้าดู ค่อยๆ ฝึก พอมันเห็นจริงแล้วมันก็วาง ถ้ามันวางด้วยปัญญาอันยิ่ง เห็นความจริงแล้วจิตคือตัวทุกข์ มันวางแล้วมันจะไม่หยิบขึ้นมาอีกแล้ว ที่วางแล้วก็หยิบๆ เพราะมันยังไม่รู้จริงว่ามันเป็นทุกข์ มันยังคิดว่าเป็นของดี ยังเสียดายอยู่ หยิบขึ้นมาอีก เวลาภาวนาบางท่านภาวนาไปๆ ตัวจิตผู้รู้นี่อยู่ๆ มันแปรสภาพเป็นตัวทุกข์ขึ้นมาเฉยเลย จากจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีความสุขมหาศาลอยู่นั้น อยู่ๆ กลายเป็นตัวทุกข์เฉยเลย พอรู้ลงไป แทนที่มันจะดับ อย่างเวลามีกิเลสเกิดขึ้น จิตมีความทุกข์ พอรู้ปั๊บมันดับปั๊บเลย แต่ตัวจิตผู้รู้พอมันกลายเป็นตัวทุกข์แล้ว มันไม่ยอมดับ ยิ่งดูมันยิ่งทุกข์ ทุกข์มากขึ้นๆ มันทุกข์เหมือนถูกภูเขาทั้งลูกลงมาขยี้ๆ มาบดๆ ไม่ใช่ทับเฉยๆ มันบดด้วย มันขยี้ๆ ลงไป มันทุกข์ถึงขนาดนั้น จิตมันถึงยอมวาง มันรู้ความจริง จิตไม่ใช่ของดี จิตนี้คือตัวทุกข์ บางท่านเห็นว่ามันทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง เห็นไหมตัวผู้รู้ว่ามันมีความสุข อยู่ๆ มันกลายเป็นตัวทุกข์ขึ้นมาได้ ฉะนั้นตัวผู้รู้นี่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ มันไม่เที่ยง บางท่านก็เห็นว่ามันยังถูกบีบคั้นอยู่ เหมือนถูกภูเขาลงมาขยี้ๆ เลย บางท่านเห็นความไม่มีสาระแก่นสารของมัน ท่านก็วางทิ้ง

ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งที่หลวงพ่อไปเรียนด้วย ท่านบอกว่าภาวนาๆ ไป จิตมันเหมือนกับมันรวบเอาจิตผู้รู้ขึ้นมาแล้วมันขว้างลงเหวไปเลย มันขว้างทิ้งไปเลย ท่านเปรียบเทียบบอก เหมือนเราเห็นกอหญ้า จิตมันก็เหมือนมือ มันรวบเอาหญ้าขึ้นมาแล้วมันถอน ถอนหญ้าขึ้นมาทั้งกอเลย แล้วก็โยนลงเหวไปเลย ขาดสะบั้นตรงนั้นเลย แล้วท่านก็เล่าให้ฟังว่า ท่านก็มีความสุข น้ำตาไหลเลย มีความสุขอยู่ปีกว่าๆ พอปีกว่าๆ จิตมันก็ชินกับสภาวะที่ปล่อยวางจิตได้แล้ว ท่านบอก “เรามีความสุขอยู่ปีกว่าๆ แล้วจิตเราก็เป็นอุเบกขา เราก็เป็นอย่างนี้ล่ะ เราไม่เป็นอะไร ไม่มี ไม่เป็นอะไร เป็นอย่างนี้” ท่านสอนมา ก็เลยเอามาบอกต่อไว้ เผื่อพวกเราวันหนึ่งจะได้ใช้ วันนี้ยังไม่ได้ใช้ ไม่เป็นไร

ถือศีล 5 เอาไว้ ปฏิบัติในรูปแบบ อย่าละเลย ต้องทำทุกวันๆ แล้วก็ฝึกให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ พอจิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว ก็เรียนรู้ความจริงของกายของใจไป พอจิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว เราก็ดูเอา ร่างกายตอนนี้เป็นอย่างไร รู้ไป จิตใจเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร รู้ไป จะรู้กายก็ได้ จะรู้ใจก็ได้เบื้องต้น จะเอาอะไรก็ได้ตามใจ ตามถนัด อย่างหลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ท่านไม่ได้เริ่มจากกาย ท่านให้เริ่มที่จิตเลย หลวงปู่ดูลย์ไม่ได้สอนอย่างนี้ทุกคน พระหลายองค์ โยมหลายคน ท่านให้ดูจากกายก่อน พระบางองค์ โยมบางคน ท่านให้พุทโธ ให้หายใจ ให้พิจารณากระดูกอะไรอย่างนี้ แต่ละองค์ แต่ละคน ไม่เหมือนกันหรอก ฉะนั้นหลวงปู่ดูลย์ไม่ได้สอนดูจิตอย่างเดียว ถ้าบอกว่าหลวงปู่ดูลย์สอนดูจิตอย่างเดียวละก็ดูถูกหลวงปู่ดูลย์เกินไปแล้ว ภูมิปัญญาของหลวงปู่กว้างขวางมหาศาลเลย เราภูมิปัญญาน้อย ท่านก็หยิบยื่นธรรมะให้พอดีกับที่เราจะรับได้ ฉะนั้นแต่ละคนท่านสอนไม่เหมือนกัน

ก่อนจะสอน เข้าไปหาท่าน ไปกราบ “หลวงปู่ครับ ผมอยากปฏิบัติ” อะไรอย่างนี้ ท่านจะหลับตาเงียบไปเลย นานเป็นชั่วโมงเลย บางทีก็เกือบๆ ชั่วโมง พอลืมตาขึ้นมา ท่านก็สอนทำอย่างนี้ๆ อะไรอย่างนี้ แต่ละคนสอนไม่เหมือนกัน สอนคนละประโยคสองประโยคเท่านั้น ท่านสอนหลวงพ่อ 3 ประโยค ครั้งแรกท่านบอกว่า “การปฏิบัตินี่ไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” สอนเท่านี้ล่ะ

บางท่านหลวงปู่ก็สอนบอกให้พิจารณาผมเส้นเดียว เส้นเดียวนะ 2 เส้นก็ไม่ได้ ต้องเส้นเดียว องค์นั้นท่านไปดูผมทั้งศีรษะเลย ไปดูร่างกายทั้งร่างกายเลย จิตไม่รวมเลย ทำอยู่ 3 เดือน ไม่ได้ผล นึกถึงว่าหลวงปู่สอนอย่างนี้ ได้เวลาจะต้องเข้าไปกราบหลวงปู่แล้ว เลยรีบทำการบ้านที่หลวงปู่สอน ดูผมเส้นเดียวจิตรวมปุ๊บเลย เดินปัญญาต่อได้เลย ดูผมไม่ได้เป็นวิปัสสนา ได้สมาธิ จิตรวมแล้ว บางองค์ท่านก็ดูกระดูก เวลาท่านเดินจงกรม ท่านเห็นเป็นกระดูกเดินจงกรม มีกระดูก 5 โครง 1 โครงคือตัวเก่านี้ ก็มีนิมิตอีก 4 โครงล้อมตัวเอง 4 ทิศอยู่ ไปไหนก็เดินกันไป 5 โครงนี้ไปด้วยกัน ไม่ต้องกลัวผี ผีเห็นแล้วผีกลัวเลย ผีมีกระดูกอันเดียว นี่มีตั้ง 5 ฉะนั้นแต่ละองค์ๆ ท่านสอนไม่เหมือนกัน บางองค์ท่านก็ให้พุทโธเอา

ส่วนที่จดๆ เอามาพิมพ์เป็นหนังสืออะไรนี่ แล้วก็เติมการอธิบายของตัวเองลงไป มันไม่คลีนหรอก มันก็ปนๆ ที่เอามาพิมพ์เป็นหนังสือขึ้นมาทีหลังนี่ มันมีการเจือปน การตีความเข้าไป ฉะนั้นถามว่าหลวงปู่สอนอะไร แต่ละคนสอนไม่เหมือนกัน อย่างเบื้องต้นท่านสอนหลวงพ่อแบบนี้ หลักๆ เลย ไปหาต่อมาท่านก็พูดเรื่องไม่ส่งจิตออกนอก แล้วก็จงทำญาณเห็นจิตให้เหมือนตาเห็นรูป อันนี้ตกไปคำหนึ่ง หนึ่งพยางค์ ท่านบอก “จงทำญาณเห็นจิตให้เหมือนดั่งตาเห็นรูป” มีคำว่า ดั่ง อีกตัวหนึ่ง ต่อไปก็สอน “เหตุต้องละ ผลต้องละใช้ หนี้ก็หมด พ้นเหตุเกิด” แล้วครั้งสุดท้ายที่ไปหาท่าน ท่านสอน “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” นี่ท่านสอน ถ้าฟังเป็นจะรู้ มันเป็นลำดับ เป็นลำดับๆ ขึ้นไป

 

 

ตรงจงทำญาณเห็นจิตให้เหมือนตาเห็นรูปนี่ไม่ได้ทำสติแต่ทำญาณ ญาณคือปัญญา เวลาที่ตาเห็นรูป เราดูจิตเหมือนตาเห็นรูป ตาไม่เลือกว่ารูปนั้นจะดีหรือไม่ดี จะสวยหรือไม่สวย มีรูป มีตา มีแสงสว่าง มีความใส่ใจสนใจที่จะดู รูปก็ปรากฏขึ้นมา ไม่ได้เจตนาว่ารูปดีรูปไม่ดีอะไร ไม่ได้เจตนา จิตนี้ก็เหมือนกัน มีองค์ประกอบต่างๆ คือมีอารมณ์ขึ้นมา มีผัสสะเข้าไปกระทบ มีมนสิการ มีผัสสะ มนสิการคือใส่ใจ สนใจ มีการกระทบอารมณ์ขึ้นมา อาจจะเป็นอารมณ์ที่ดีหรืออารมณ์ที่เลว จิตเลือกไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตก็เลือกไม่ได้ จิตเลือกไม่ได้แล้วทำอย่างไร ก็รู้อารมณ์ไปเหมือนที่ตาเห็นรูป ตาเห็นรูปแล้วจิตยินดี รู้ทัน จิตยินร้าย รู้ทัน

เวลาจิตรู้อารมณ์ก็เหมือนตาเห็นรูป คือพอรู้อารมณ์แล้ว จิตยินดีก็รู้ทัน จิตยินร้ายก็รู้ทันเข้าไปอีก ท่านสอน จงทำญาณเห็นจิตให้เหมือนตาเห็นรูป ไม่ใช่แค่เห็นด้วยสติ ถ้าเอาสติไปจ้องจิต สมถะ กลายเป็นสมถะ จ้องนิ่ง เฉยๆ ว่างๆ อยู่ ไม่ได้เรื่องหรอก เอาไว้พักผ่อนได้ ทีนี้พวกดูจิตๆ ส่วนใหญ่ มันไปเพ่งจิตให้นิ่งๆ อยู่ มันไม่เดินปัญญา ไม่ได้มีญาณเห็นจิตเหมือนตาเห็นรูป ตาเห็นรูป ตาไม่เลือกรูป พอเห็นรูปแล้วยินดีหรือยินร้ายไม่ได้เลือก มันเป็นไปเอง จิตกระทบอารมณ์แล้ว เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล อกุศลอะไร มันเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น นี้ล่ะญาณเห็นจิตให้เหมือนตาเห็นรูป ไม่เข้าไปแทรกแซง

ทำไมนักปฏิบัติส่วนใหญ่ชอบไปแทรกแซง ไปเห็นทุกข์ขึ้นมา ทำอย่างไรจะหาย เห็นสุขขึ้นมา ทำอย่างไรจะรักษาเอาไว้ได้ เห็นกุศลขึ้นมา ทำอย่างไรจะรักษาได้ ทำอย่างไรกุศลจะเกิดบ่อย เห็นอกุศลขึ้นมา ทำอย่างไรมันจะไม่เกิด ทำอย่างไรอกุศลที่เกิดแล้วจะดับ มันมีแต่คำว่า ทำๆๆๆ มันไม่มีคำว่า เห็น ท่านบอก จงทำญาณเห็น เห็นใช่ไหม verb คือเห็น ไม่ใช่อย่างอื่น เพราะฉะนั้นเราค่อยๆ ฝึกไป ฝึกไปแล้ววันหนึ่งมันก็จะเห็นความจริง ขันธ์ 5 เป็นทุกข์ เห็นเป็นลำดับๆ ไป พอเห็นแล้วก็วาง วางก็พ้นทุกข์กันตรงนั้น จิตเข้าถึงสันติสุข เข้าถึงความสงบ เข้าถึงความสุข บางทีท่านเรียก อมตธาตุ อมตธรรม ตรงนี้ถ้าไม่ได้ภาวนาก็ฟังแล้วก็จะเวียนหัว เรื่องธาตุเรื่องธรรมอะไรพวกนี้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
14 มีนาคม 2564