ทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมมันไม่ค่อยเอื้ออำนวยกับการภาวนา วัดทั้งหลาย มันก็ถูกบ้านโยมเข้ามาชิดวัดกันไปหมดเลย แต่เดิมวัดจะอยู่ห่างหมู่บ้าน อย่างวัดเรานี้ ตรงสเป็กครูบาอาจารย์เลย อยู่ห่างหมู่บ้าน 2 กิโล เพราะฉะนั้นมาอยู่แรกๆ สงัด เงียบ พอหลวงพ่อมาอยู่ตรงนี้ หมู่บ้านก็ขยาย คนก็มาเช่าบ้านบ้าง มาเช่าห้องพักบ้างอะไรบ้าง กิจการร้านค้าอะไรก็เยอะขึ้นๆ ต่อไปบ้านโยมก็คงเข้ามาชิดวัด นี่มาชิดอยู่หลังหนึ่ง ก็เวียนหัวอยู่เรื่อยๆ วัดทางอิสานเมื่อก่อนนี้อยู่ห่างทีตั้ง 4-5 กิโล บิณฑบาตกันไกลๆ ทีนี้หมู่บ้านมันก็เข้ามาชิดวัดไปหมด ฉะนั้นที่ที่พระจะหลีกเร้นนี่ยากมาก
ทางราชการเขาก็ไม่อยากให้พระเข้าไปอยู่ในป่า พอพระเข้าไปอยู่ในป่า แล้วโยมก็ตามเข้าไป แล้วไปสร้างหมู่บ้านในป่า เสียดายป่า พระหาที่อยู่ยาก คล้ายช้างเหมือนกัน ช้างมันไม่ใช่สัตว์อยู่บนภูเขาตลอดเวลา แต่ที่พื้นราบคนแย่งไปหมดแล้ว ช้างก็ลงมาบ้าง อะไรบ้าง ถึงเวลา ฤดูแล้งมันอดอยาก มันก็ต้องลงมาหาอาหาร ชาวบ้านทำไร่ มันก็มาช่วยกิน ยิงตายบ้าง อะไรบ้าง มันกระทบกระทั่งกันไปหมด อย่างพระเราก็ถูกห้าม ทำอะไรแทบไม่ได้เลย ไปธุดงค์ในป่าอะไรอย่างนี้ เขาก็ไม่อยากให้ไป
อยู่ในเมือง ไปบิณฑบาต เดี๋ยวนี้พอเป็นสังคมเมือง อย่างถ้าอย่าง หมู่บ้านนี้ เช้าขึ้นมารถโรงงานมารับคนไปหมดแล้ว ไม่รู้จะไป บิณฑบาตกับพระภูมิเจ้าที่หรืออย่างไร ไปบิณฑบาตตามตลาด โยมก็ว่าอีก ไม่ใช่ที่ของพระ จะไปบิณฑบาตในศูนย์การค้า ก็ห้ามเข้าอะไรอย่างนี้ นี่มันอยู่ยากๆ ความเป็นอยู่ก็ลำบาก หลวงพ่อก็เห็นใจ พวกพระเราลำบาก ความลำบากที่น่ากลัวที่สุดก็คือพวกเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตนี่ล่ะตัวร้ายเลย อยากดูอะไรก็ดูได้ ดูไปดูมาก็ไปดูรูปโป๊ดูอะไร มันก็เสียหมด มันภาวนาลำบาก ใจไม่สงบหรอก แล้วพระเราเยอะเลย แต่วัดนี้ยังไม่เห็น มีเฟซบุ๊กของตัวเอง คอยอัพเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ วันๆ ก็คิดจะหาอะไรมาเขียน ไม่ต้องพูด เรื่องภาวนาแล้ว แค่พูดเรื่องรักษาศีลให้ดีก็ยากแล้ว
ขนาดพระยังลำบากขนาดนี้ โยมจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้น โยมส่วนใหญ่จะภาวนาไม่ไหวหรอก วันๆ หนึ่งวุ่นวายเรื่องทำมาหากิน อะไรอย่างนี้ มีแต่เรื่องเครียดๆ เมื่อก่อนลำบากในเรื่องเดินทางด้วย จะไปทำงานทีในกรุงเทพฯ ต้องเตรียมเวลาล่วงหน้าเป็นชั่วโมงๆ เลย เหนื่อยในการเดินทาง ไปถึงที่ทำงานก็หมดแรงแล้ว ทำงานไม่ไหว ช่วงหลังๆ ก็ดีขึ้น ทำงานทางไกลได้ มีรถไฟฟ้ารถอะไรนี่เยอะแยะไปหมด แต่ชาวบ้าน ระดับล่างก็ยังใช้ไม่ไหว มันแพง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะต้องใช้รถไฟฟ้า รถไฟฟ้ามันก็รับไม่ไหวเหมือนกันถ้าทุกคนจะใช้ บางคนก็ใช้รถเมล์ไป แบ่งๆ กันไป ใครมีขีดความสามารถ มีความจำเป็นแค่ไหนก็ใช้ที่เหมาะ
สังคมมันเปลี่ยน เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว แต่เดิมคนไทยไม่ลำบากมาก มาทำงานในเมือง พอเกิดวิกฤตอะไรขึ้นมา กลับบ้านนอก มีท้องไร่ท้องนาอยู่ ไปทำไร่ทำนาปลูกผักปลูกอะไรหากินได้ เลี้ยงปลาเลี้ยงอะไร ยิ่งนานวัน สังคมเกษตรแบบเก่ามันหมดไปแล้ว คนที่เข้ามาทำงานในเมืองนี่มันตัดขาด ถึงจุดหนึ่งมันจะขาดจากสังคมเกษตร ถ้าตกงานจะทำอย่างไร มันจะไม่มีกิน ไปหาอะไรกิน หาไม่ได้หรอก
สังคมที่เปลี่ยนแปลง ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ถ้าเราไม่เข้าใจมัน มันจะเครียด เราสร้างตึกสูงไว้เยอะแยะ เวลาวิกฤตคนก็โดดตึกกัน ถ้าทำความเข้าใจ โลกมันต้องเปลี่ยน จะไปคร่ำครวญถึงโลกในอดีตมันไม่มี มันไม่ย้อนกลับแล้ว คิดถึง แหม บ้านเมืองยุคเก่าดีอย่างโน้นดีอย่างนี้ อันนั้นก็เป็นภาพลวงตา อย่างพวกคนแก่ ชอบคิดว่าสมัยก่อนดี ร่มเย็นเป็นสุข ไม่จริงหรอก ยุคโน้นหลัง สงครามโลกเต็มไปด้วยโจร อยู่บ้านโจรปล้นอยู่ได้เรื่อยๆ ตำรวจอะไร ปราบไม่ไหว หมดยุคโจรเยอะแยะ ก็มายุคอันธพาลเยอะแยะ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วไม่ว่ายุคใดสมัยใดก็เต็มไปด้วยความทุกข์ อย่างโรคระบาด ในเมืองไทยก็ไม่ใช่เพิ่งแค่มีโควิดนี่หรอก สมัยก่อนก็มีทั้งกาฬโรค มีทั้งอหิวา ตายกันเยอะแยะ โบราณถึงขนาดบอก ปีระกาห่าลง ทำไมต้องปีระกาก็ไม่รู้ คงจำไว้ว่าถึงปีระกาทีอหิวาระบาดอะไรอย่างนี้
ฉะนั้นจริงๆ แล้วชีวิตไม่ว่ายุคใดสมัยใด มันก็ทุกข์ เข้าใจมันแล้วก็ปรับตัวให้ได้ เราก็จะอยู่กับมัน คนไหนปรับตัวได้ก็อยู่รอด คนไหนปรับตัวไม่ได้ก็อยู่ไม่ได้ มันหลักที่ชาร์ลส์ ดาร์วินบอกไว้เลย ความอยู่รอดของพวกที่มันเหมาะสม Survival of the fittest ฉะนั้นเราจะไม่ คร่ำครวญถึงอดีต อดีตดีอย่างโน้นดีอย่างนี้ ไม่เพ้อฝันถึง อนาคตที่ยังมองไม่เห็น แต่ว่าอยู่กับปัจจุบัน แล้วประเมินสถานการณ์ให้ดี ก็จะอยู่รอดกับเขาได้
มันไม่เฉพาะบุคคล ประเทศก็เหมือนกัน อย่างบางประเทศอยากพัฒนา ก็พยายามพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาอะไรไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งก็ตัน ตอนนี้หลายประเทศถึงจุดที่ตัน อยู่อย่างเดิมไม่ได้แล้ว อย่างญี่ปุ่นนี่ทำมาหากินลำบาก คนลำบากมาก เศรษฐกิจที่ว่าดีๆ ก็ตกลงมาเรื่อยๆ ข้างบ้านเราก็มี เดิมเป็นที่ท่องเที่ยว เศรษฐกิจบูมเศรษฐกิจดีมากๆ เข้าถึงจุดหนึ่งก็หยุดชะงัก อยู่ในกฎของ อนิจจังเหมือนกัน บ้านเราตอนนี้ก็เป็นแล้ว ค่อยๆ เริ่มแล้ว เศรษฐกิจดีๆ ถึงจุดหนึ่งก็ตัน ไม่รู้จะทำมาหากินอะไรกัน ก็ต้องย้ายฐาน การลงทุนไปหาประเทศอื่นต่อ คนไทยเองก็ย้ายการลงทุน ไปอยู่ประเทศอื่น ไม่ใช่น้อย แล้วคนที่เหลือ พวกไม่มีทางจะไปนี่ลำบาก
รู้จักคำว่า “พอ” ก็จะพออยู่ได้
เพราะฉะนั้นวันข้างหน้าชีวิตเราต้องเตรียมพร้อมที่จะลำบาก อันแรกเลย ทำความเข้าใจก่อน ทุกสิ่งทุกอย่างไม่คงที่หรอก ในหลวงองค์ก่อน ท่านสมเป็นพระโพธิสัตว์ใหญ่ ครูบาอาจารย์ท่านว่าอย่างนั้น ท่านเป็นไม่เป็น หลวงพ่อไม่มีปัญญารู้หรอก ครูบาอาจารย์มักจะพูดว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านสอนธรรมะสำคัญให้ลูกหลานทั้งหลายคือคำว่า พอเพียง ถ้าเราอยู่ อย่างพอเพียง เราจะพออยู่กันได้ แต่ทุกวันนี้เราถูกเร้าให้บริโภคเยอะๆ แข่งกันบริโภค มันอยู่ไม่ได้หรอก ถึงจุดหนึ่งก็ตัน เอาเงินที่ไหนไปบริโภค ก็มีแต่หนี้เต็มไปหมด เมืองไทยที่บอกว่าหนี้เยอะๆ เทียบกับประเทศอื่นแล้ว หนี้น้อย หนี้ยังไม่เยอะหรอก อยู่ในระดับกลางๆ ล่างๆ ด้วยซ้ำไป ประเทศอภิมหาอำนาจบางประเทศหนี้สิน เป็นสองเท่าของรายได้ประชาชาติ ในแต่ละปี มีหนี้สองเท่า
รวมความแล้วก็คือที่ไหนมันก็ลำบาก ก็พยายามฝึกตัวเอง รู้จักคำว่า พอ มันก็จะพออยู่ได้ คนเรากินข้าววันหนึ่งกี่จาน อาหารที่กินจริงๆ ไม่มากหรอก เสื้อผ้าชุดหนึ่งใช้ได้ตั้งหลายปี รู้จักใช้ ไม่ใช่ตามแฟชั่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยาจำเป็นต้องใช้ต้องซื้อ ที่อยู่อาศัยไม่ต้องหรูหรา หลายคนสร้างบ้าน ใหญ่โตแล้วไม่มีคนอยู่ บางคนมีบ้านตั้งหลายหลัง ไม่มีคนอยู่หรอก บ้านเอาไว้ทำอะไร มีเศรษฐีคนหนึ่ง บ้านหลังนี้เอาไว้เก็บเสื้อผ้า เสื้อผ้าเยอะ เก็บในบ้านหลังเดียวไม่พอ ต้องทำบ้านไว้หลังหนึ่ง ซื้อที่ ซื้อบ้าน คนเราใช้เสื้อผ้าเท่าไรกัน อาหารกินเท่าไรกัน
ในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิ เกี่ยวกับจักรพรรดิ พระเจ้าจักรพรรดิซึ่งตอนหลังก็คือ มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเรา ท่านบอกท่านเคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีอาหารที่จะเสวยได้วันหนึ่งเป็นพันๆ จาน ท่านก็กินได้วันละจาน กินได้นิดเดียว อาหารมื้อหนึ่งที่คนจะกินได้ใน 1 วัน เสื้อผ้าเครื่องประดับมีมากมาย ก็ใช้ได้ครั้งละชุด มีสนมกำนัลเยอะแยะ ท่านก็อยู่กับผู้หญิงได้ครั้งละคนอะไรอย่างนี้ ท่านบอกว่าท่านเห็นแล้ว ถึงจะมีมากก็เป็นภาระมาก แต่ว่าไม่ได้บริโภคจริง
อย่างเราแข่งกันรวย แล้วก็หวังว่าจะได้บริโภคเยอะ มันบริโภคไม่ได้จริง เพราะขีดจำกัดของร่างกายเรามันได้แค่นี้ มีเงินซื้อของกินเยอะ มันก็กินได้แค่นี้ ถ้าเป็นพระก็กินวันละบาตร มีบาตรอยู่ใบเดียวก็กินแค่นี้ วันละบาตรเท่านั้น ใครกินหมดบาตรก็ท้องแตกตายแล้ว ที่จริงกินนิดเดียว กินสลึงเดียว เทียบในบาตรนั้น กินก้นบาตรนิดเดียวเอง ทำไมพระกรรมฐานใช้บาตรใหญ่ๆ ท่านไม่อยู่ติดที่ ท่านย้ายที่เร็ว บาตรนั้นคือกระเป๋าเดินทาง มีบาตรไปไหน เอาข้าวของใส่ในบาตรหิ้วไป มีกลดอีกอันหนึ่ง กาน้ำอีกใบหนึ่งก็ไปแค่นั้น ไปกางกลด
เคยมีคนไปฟ้องพระสังฆราชองค์หนึ่ง ท่านสิ้นไปนานแล้ว บอกพวกพระกรรมฐานทำผิดศีลผิดธรรม ไม่อยู่วัด เที่ยวมาร่อนเร่ อยู่อะไรอย่างนี้ ท่านฉลาด ท่านไม่ได้ฟังที่เขาฟ้องแล้วก็เล่นงานพระกรรมฐาน ท่านออกมาเดินธุดงค์ด้วยเลย มาอยู่กับพระป่า อยู่ทางเมืองจันท์นี่กระมัง อาจารย์กงมาอะไรพวกนี้ ทีนี้ฝนตกท่านก็นั่งอยู่ในกลดท่าน พอฝนหยุด ท่านออกจากกลดมา มาเจอเณร เณรองค์นั้นตอนหลังก็โตขึ้นมาก็เป็นสมเด็จฯ อีกองค์หนึ่ง เพิ่งสิ้นไม่นานนี้เอง เห็นเณรนี่ผ้าผ่อนไม่เปียกเลย ถามว่าทำอย่างไร เณรบอกมีคาถากันฝน คาถากันฝน พอเห็นฝนจะตกจริงๆ ก็เปลี่ยนไปนุ่งผ้าอาบน้ำฝน สบง จีวร สังฆาฏินี่ยัดใส่บาตรเอาไว้ปิดฝาเอาไว้ แค่นี้ไม่เปียกแล้ว พอฝนหยุดท่านก็มาเปลี่ยน เอาผ้าแห้งๆ มาใส่
ท่านบอก “เออ ฉลาดนะ” พระกรรมฐานนี่ไม่ได้ดูอะไรโง่งมงาย นึกว่าพระกรรมฐานจะบอกว่า พอฝนมาก็ท่องคาถาฝนไม่ตกใส่อะไรอย่างนี้ถึงไม่เปียก ท่านมาคลุกคลีท่านก็เข้าใจ พระกรรมฐานไม่ได้โง่งมงาย อยู่ไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ภาวนา ฝึกตัวเอง ต่อไปมันก็จะมีสติ มีปัญญา มีปัญหาเกิดขึ้นก็ไม่ร่ำร้องคร่ำครวญ มีปัญหาเกิดขึ้นก็แก้ไขด้วยสติปัญญา จะเปียกฝนต้องเอาผ้าใส่ในบาตร แก้ปัญหาด้วยสติปัญญา ไม่ได้จุดธูป บอกพระพิรุณให้ไปตกที่อื่นอะไรอย่างนี้ ไม่ได้ทำ
วิธีที่จะฝึกให้พอก็คือคอยรู้เท่าทันใจของตัวเอง
ตรงที่ไม่พอ เพราะความอยากมันมาก ความอยากมันครอบงำ
ถ้าเราอยากมีความสุขต้องรู้จักพอ มีชีวิต Basic minimum needs มีแค่นั้นจริงๆ ก็พอแล้ว พระพุทธเจ้าสร้างสังคมพระขึ้นมา สังคมพระเป็นตัวอย่างที่ว่าอยู่อย่างไรแล้วพอ พวกเราไปบิณฑบาตมา ข้าวไม่พอก็มีแม่ครัวช่วยทำให้ เราก็ยังฉันได้วันละครั้งอยู่อย่างนั้น มันก็ได้แค่ ก็อยู่ได้ จีวรชุดหนึ่งๆ หลวงพ่อใช้ตั้งหลายปี ไม่ได้สิ้นเปลือง ถ้าเราอยู่อย่างนี้มันก็ไม่ต้องเป็นหนี้ อยู่อย่างสบายๆ ถ้าเป็นโยมอย่างนี้ มีเสื้อผ้า 2 ชุด 3 ชุดอะไรแค่นี้ก็พอแล้ว กินก็ไม่ต้องไปกินหรูหราอะไร กินอาหารพออยู่ได้ ก็ไม่สิ้นเปลืองมาก พยายามฝึกตัวเองให้รู้จักพอ
วิธีที่จะฝึกให้พอก็คือคอยรู้เท่าทันใจของตัวเอง ตรงที่ไม่พอ เพราะความอยากมันมาก ความอยากมันครอบงำเรา ฉะนั้นเราหัด รู้เท่าทันใจของเราไว้ ใจมันมีความอยากอะไรเกิดขึ้น รู้ทันมัน ถ้าเรารู้ทันตัณหา คือความอยากที่เกิดขึ้นในจิตใจเรา พอเรารู้ทัน ตัณหามันเป็นโลภะ มันเป็นกิเลส ตรงที่เรารู้ทันคือเรามีสติ ตัณหามันจะดับ พอความอยาก มันดับแล้วจิตมันจะมีสติมีปัญญาขึ้นมา จิตมันเป็นกุศลแล้ว มันก็จะ รู้อะไรควรอะไรไม่ควร ไม่ใช่ทำตามอยากไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักลิมิต ฉะนั้นชีวิตเท่าไรก็ไม่พอก็จนตลอด มีเงินเดือนตั้งหลายหมื่น หรือมีเงินเดือน เป็นแสนก็ยังเป็นหนี้อีก เพราะบริโภคเกิน
แต่ถ้าเราภาวนาเป็น เราวัดใจตัวเองเลย ความอยากมันเกิด เราห้ามมันไม่ได้หรอก แต่เรารู้ทันมัน ความอยากนี้สมเหตุสมผลไหม ถ้ามันไม่ สมเหตุสมผล สติเราระลึกรู้ไปที่ความอยาก มันดับแล้ว สติปัญญามันก็ พิจารณาควรทำ หรือไม่ควรทำตามที่มันอยาก พิจารณาดูอย่างมัน อยากกินข้าวอย่างนี้ มันหิว ใจมันอยากกินข้าวขึ้นมา ร่างกายมันก็อยาก มันต้องการ ท้องร้องจ๊อกๆ ใจก็อยากได้อาหาร เรามีสติรู้ลงไปเลย แต่สังเกตเวลาหิวข้าว ชอบคิดถึงอาหารโน้น อาหารนี้อุตลุดเลย คิดอาหาร นานาชนิดเลย ไอ้โน่นก็อยากกินไอ้นี่ก็อยากกิน เยอะแยะไปหมดเลย ตรงนี้มีสติรู้ลงไป พอเรามีสติเท่านั้น กิเลสมันจะดับ ตัณหามันดับ มันจะเหลือ แต่เหตุผลแล้ว สมควรกินก็กิน คือถ้ามันหิวก็กิน
หรือเรานั่งสมาธิอยู่ หรือเดินจงกรมอยู่ ดึกมากมันง่วง ง่วงใจมันจะอ่อนล้า ร่างกายมันเพลียแล้ว ใจมันจะอ่อนไปด้วย มันขี้เกียจอะไรอย่างนี้ เรามีสติรู้ลงไปเลย รู้ลงไปที่ความขี้เกียจ ความขี้เกียจดับ ถ้าร่างกายยังอิดโรย ยังง่วงอยู่ อันนั้นร่างกาย ต้องการพักผ่อน ก็ไปนอนเสีย หัดดูตัวเอง ไม่ใช่ง่วงขึ้นมาก็นอนเลย ไม่มีสติมีปัญญา มันขี้เกียจ เราก็นอนลงไปเลย ตะกละแล้วก็กินเข้าไปเลย อันนั้นเรียกว่าเราไม่รู้จักการปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติ การนอนมากก็คือโลภมาก กินมากก็โลภมากเกินจำเป็น นอนเกินจำเป็นก็คือโลภมาก กินเกินจำเป็นก็โลภมาก ฉะนั้นมีสติ มีปัญญาไว้ เราก็จะกินเท่าที่จำเป็น ใช้เท่าที่จำเป็น จะอยู่สบายๆ
ถ้ามีสติมีปัญญา เราก็จะบริโภคใช้ทรัพยากรลดลง แค่ล้างหน้า หลวงพ่อเห็นบางคนล้างหน้า ในวัดเราไม่มีหรอก แต่ว่าโยมมีเยอะเลย เปิดก๊อกไว้แล้วก็ล้างหน้าไปเรื่อยๆ น้ำที่เธอล้างหน้านี่ พอที่เราจะอาบวันหนึ่งเลย ก็จริงๆ ตักใส่ขันไว้ ล้างหน้า ใช้น้ำขันหนึ่ง สองขันแค่นั้นก็พอแล้ว แต่ว่าทรัพยากรที่เปิดทิ้งไปเรื่อยๆ อย่างบางคน แปรงฟันก็เปิดก๊อกทิ้งไว้ นั้นทำลายทรัพยากรของส่วนรวมไปเท่าไร น้ำมันไม่ค่อยจะมี เรียกบริโภคแบบไม่มีสติปัญญา ค่าน้ำก็แพงใช่ไหม
เพราะฉะนั้น เรามีสติมีปัญญารู้เท่าทันจิตใจตัวเองไว้ เวลามันจะ ทำอะไร ดู มีเหตุมีผลก็ทำ ไม่มีเหตุมีผลก็อย่าไปทำมัน ฝึกตัวเองให้มันชิน ถ้าเราฝึกแล้ว ต่อไปกระทั่งอย่างเปิดพัดลมทิ้ง เราก็ไม่เปิดหรอก ถ้าไม่จำเป็น เราไม่ได้ใช้ เราก็ไม่เปิดหรอก หลอดไฟเราก็ไม่ได้เปิด ถ้าเราไม่ได้ใช้แสง ในวัดเรากลางคืนจะสังเกต กลางคืนจะมืดๆ เพราะกลางคืนเรา ไม่ได้ทำอะไรที่ต้องใช้แสงสว่างมากมาย นั่งสมาธิอะไรอย่างนี้ ไม่ได้ใช้ไฟอะไร ถ้าเรารู้จักบริโภคตามความจำเป็น นั่นคือคำว่า พอ อันนี้พอ ในด้านบริโภค ก็ต้องมีพอในด้านการผลิต
การทำมาหากิน ทำอย่างไรจะเพิ่มความสามารถในการทำมาหากิน ของตัวเอง ค่อยๆ ฝึก นี้สำหรับโยม พระไม่ได้มีหน้าที่ทำมาหากิน พระมี หน้าที่ภาวนา เราฝึกตัวเองทุกวันๆ ที่ควรใช้ก็ใช้ ไม่ควรใช้ก็ไม่ใช้ หนี้สินอะไร มันก็จะลดลงได้ มิฉะนั้นบริโภคแข่งกันอย่างไรก็จน รายได้เฉลี่ย ต่อหัวสูงแต่คนเป็นหนี้เยอะ มันน่าภูมิใจไหมประเทศอย่างนั้น หนี้ครัวเรือน เยอะแยะไปหมด บางทีเป็นหนี้แล้วก็ไม่รู้จักเหตุผลอีก ตอนบริโภค บริโภคเพลิน แข่งกัน ตอนจะใช้หนี้ก็คร่ำครวญ บางพวกถึงขนาดประกาศเลย เมื่อก่อนมีพวกครูนี่เป็นหนี้เยอะ ประกาศว่าจะเลิกใช้หนี้ มันทำถูกหรือ ก็ไม่ถูก เพราะฉะนั้นทำอะไร มันมีเหตุมีผล คำว่า พอเพียง พอเพียงคือเรามีเท่านี้ เราขยายการผลิตของเราได้เท่านี้ เราก็อย่าบริโภคให้เกินนี้ บริโภคเท่าที่จำเป็น แล้วเราจะอยู่ได้
อย่างพวกเราอยู่ในวัดรู้สึกไหม เรากินอาหารนิดเดียว วันๆ หนึ่ง น้อยกว่าที่เราคิด ตอนเป็นโยมเราคิดว่าเรากินอะไรเยอะแยะ จริงๆ นิดเดียว เองที่กินได้ ฉะนั้นเรามีสติคอยรู้เท่าทันตัณหาเกิดขึ้นในจิตในใจ รู้ทันไป ตัณหาจะดับ ก็จะเหลือเหตุผล อะไรควรทำก็ทำ พระพุทธเจ้าไม่ได้ สอนให้เราอดอยากทรมานร่างกาย ไม่ได้สอนว่าต้องอดกิน อดนอนอะไรอย่างนั้น ให้ตัวเองลำบากแล้วภาวนาดี อันนั้นเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค แต่ท่านก็ไม่ได้ให้เราปรนเปรอ หาความสุขเสพไปเรื่อยๆ อันนั้นเป็นกามสุขัลลิกานุโยค ฆราวาสก็ต้องรู้จักกามสุขัลลิกานุโยค คล้อยตามกิเลสไปเรื่อยๆ ไม่ได้เรื่องหรอก จิตใจยิ่งอ่อนแอ พอบทบ้าเลือดขึ้นมา จะภาวนาก็บังคับตัวเองเคร่งเครียดไปเลย บางคนภาวนาผิด ภาวนาจนเป็นบ้าอะไรอย่างนี้ นั่นภาวนาผิด เคร่งเครียดเกินไป ทางสายกลางมันมีอยู่
ศีล 5 รักษาเอาไว้ ทางสายกลาง ทุกวันพยายามฝึก ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ให้จิตใจได้สงบพักผ่อนบ้าง ไม่อย่างนั้นใจดิ้นเร่าๆ วิ่งพล่านไปเรื่อยๆ เหมือนหมาขี้เรื้อน วิ่งไปเรื่อยๆ วิ่งแล้วก็เกาๆๆ แล้วก็วิ่งต่อไปอีก ใจของคนซึ่งไม่ได้ภาวนาเหมือนหมาขี้เรื้อน คันทั้งวัน มันคันด้วยอะไร ด้วยตัณหา มันอยาก ใจมันคัน อยากโน่นอยากนี่ไปเรื่อย มันคันยุบยิบๆ ไปเรื่อย มันก็วิ่งพล่านไปทั้งวัน สิ่งที่ได้มาก็คือความทุกข์ เราคอยรู้เท่าทันไป ตัณหาความอยากอะไรเกิดขึ้น รู้ทัน ความอยากอะไรเกิดขึ้น รู้ทัน ถ้าฝึกแค่นี้ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย
บางคนหลวงพ่อสอนแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนหลวงพ่อก็บอก ให้ดูเวทนา 3 อย่างเอง สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ เฉยๆ ก็รู้ ฝึกอย่างนี้ วันนี้เหลืออันเดียว ใจมันอยากก็รู้ อยากก็รู้ๆ ไปเรื่อย ใจมันก็จะค่อยๆ ฉลาดขึ้น เหลือเหตุผลในการดำรงชีวิตอยู่ ค่อยๆ ภาวนาไป ฝึกทุกวันๆ เดี๋ยววันหนึ่งมันก็ดี ถ้าเราไม่อดทน ตามใจกิเลสไปเรื่อยๆ ไม่มีวันดี อยู่ในทางโลกก็เต็มไปด้วยความทุกข์ วุ่นวาย อย่างต้องแข่งกันแต่งตัว รวยมากๆ จะออกงานสังคม เครื่องเพชรก็ต้องใช้ชุดเดิมไม่ได้ อายเขา เดี๋ยวเขาว่าจนอะไรอย่างนี้ ก็ต้องมีหลายๆ ชุด ยุ่ง สู้พวกเราไม่ได้ ไม่มีสักเม็ดหนึ่ง ไปไหนเราก็แต่งชุดของเราอย่างนี้ สบาย
เพราะฉะนั้นเวลาจะพัฒนาตัวเอง ขั้นแรกถือศีล 5 ไว้ แล้วก็ฝึกจิตฝึกใจให้มันอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วเวลาที่เหลือก็คอย อ่านใจตัวเองไป ใจมีความอยากอะไรเกิดขึ้น รู้ทัน มันอยากแล้วก็รู้ทันไป ถ้ามันอยากแล้วไม่รู้ทันมันจะไปยึด อย่างเมื่อวานพูดเรื่องยึดให้ฟัง ยึด 4 อย่าง ถ้ามันยึดเมื่อไหร่ มันก็จะดิ้นแล้วคราวนี้ ตรงที่ดิ้นเรียกว่าภพ ใจมันก็สร้างภพขึ้นมา พอมีภพขึ้นมา มันจะมีตัวเราขึ้นมา มีตัวทุกข์ มีเราเป็นผู้แบกหามความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้าเรามีตัณหา เรารู้ทันตรงนี้ ไม่ปรุงต่อ ปฏิจจสมุปบาทตรงนั้นก็หยุดตรงนั้น แต่ว่าการภาวนา จะมาหยุดตรงแค่รู้ตัณหาเรื่อยๆ ไม่พอหรอก ค่อยๆ พัฒนาไป ถึงจุดหนึ่งมันจะเข้ามาถึงจิตถึงใจ มาละอวิชชาได้ ตราบใดที่ยังมีอวิชชา ตัณหาก็ยังเกิดอีก ถ้าทำลายอวิชชาไป ตัณหาก็ไม่เกิดอีก เพราะไม่มีเชื้อที่จะเกิด
ตรงหลวงพ่อเห็นเชื้อเกิด หลวงพ่อยังเป็นโยมอยู่ หลวงปู่ดูลย์สิ้นไปแล้ว ก็ไปกราบเรียนหลวงปู่เทสก์ กระผมเห็นจิตที่เป็นต้นกำเนิดแล้ว จิตตัวรู้นี่เอง แล้วเสร็จแล้วมันก็ปรุงความคิดขึ้นมา มันปรุงความคิดขึ้นมา กิเลสมันก็แรงขึ้น มีตัณหาเกิดขึ้น มีความอยากที่จะทำตามใจกิเลส ตัณหาไม่ใช่ของดีอะไรหรอก มันทำตามใจกิเลส โลภะเกิดก็เกิดตัณหา อยากมี อยากได้ อยากเป็น โทสะเกิดก็เกิดตัณหา อยากไม่เป็น อยากไม่มีอะไรอย่างนี้ ภาวนาไปเห็นเลย โอ้ ใจมันมีเชื้ออยู่ในตัวจิตนี่เอง มันผลักดันให้เกิดความปรุงแต่ง
ตอนนั้นยังไม่รู้จัก อวิชชาปัจจยา สังขารา ตอนนั้นภาวนาอย่างเดียว ไม่ได้เรียนปริยัติ อ่านแต่พระไตรปิฎกแต่ว่ามันไม่แจ้งหรอกว่า นี่มันคือปฏิจจสมุปบาท ก็เห็นมันมีที่จิตเรานี้ มันมีอะไรอยู่ข้างใน มันผลักดันให้เกิดความคิดปรุงแต่งขึ้นมา พอมีความคิดปรุงแต่งขึ้นมา ใจมันก็เกิดกิเลสขึ้นมา เกิดตัณหาขึ้นมา เกิดความดิ้นรนของใจขึ้นมา เกิดความทุกข์ขึ้นมา ก็ไปกราบเรียนหลวงปู่เทสก์ บอกผมเห็นจิตต้นกำเนิดแล้ว จะทำลายมันได้อย่างไร หลวงปู่บอกภาวนาไป ถึงเวลามันก็ทำลายเอง ถึงเวลาที่มันพอ มันยังไม่พอมันก็ทำลายไม่ได้ อยู่ๆ ไปสั่งให้ทำลาย ทำลายไม่ได้
เพราะฉะนั้นจริงๆ กิเลสมันจะผลักดันให้เราคิดโน่นคิดนี่ ยิ่งคิดกิเลสก็ยิ่งแรง ยิ่งอนุสัยต่างๆ ผลักดันให้เราคิด กระตุ้น คิดแล้วกิเลสก็แรงขึ้นมา กิเลสแรงขึ้นมาเรารู้ไม่เท่าทัน ตัณหาก็เกิด ตัณหาเกิดแล้วรู้ไม่เท่าทัน อุปาทานคือความยึดถือก็เกิด ยึดถือร่างกายกับสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย ยึดถือความคิดความเห็น ยึดถือระเบียบแบบแผนวิธีปฏิบัติต่างๆ ยึดถือว่ามีตัวเราของเรา สิ่งเหล่านี้มันตามมา ทันทีที่ยึดถือใจมันจะดิ้น อย่างมันมีความยึดถือในกาม ในกามคุณ ใจมันก็จะดิ้นแสวงหากามที่ชอบใจ เจอที่ไม่ชอบใจก็ดิ้นจะหนี หรือเรามีความคิดความเห็นอย่างนี้ ใจมันก็ดิ้น ดูหลายๆ คนน่าสงสาร อย่างถ้าดูข่าว เห็นแล้วสงสารเลย มีอยู่ มีกิน มีอนาคต เรียนหนังสืออะไรอย่างนีได้ดีกว่าคนอื่นเขา มีโอกาส แต่มีความคิดรุนแรงขึ้นมา ก็ดิ้นรนทำอะไรวุ่นวาย สุดท้ายไปนั่งในคุก ไปนอนในคุก ความทุกข์นี้มันหามาเอง หามาด้วยความคิดของตัวเอง ด้วยความยึดถือในความคิดความเห็น
ใช้ชีวิตด้วยความมีเหตุผล ไม่ใช่ใช้ชีวิตตามความอยาก แล้วชีวิตจะดีขึ้น
ที่จริงเรามีความคิดความเห็นอย่างนี้ เราก็นำเสนอไป ถ้าสังคมเขาเห็นด้วย วันหนึ่งมันก็เปลี่ยน แต่ถ้าเราคิดอยู่คนเดียว สังคมเขาไม่เห็นด้วย มันฝืน อยู่ไม่ได้หรอก อยู่กับคนอื่นเขาไม่ได้ ก็ต้องไปอยู่ในที่จำกัดคือในคุก อยู่ในสังคมกว้างๆ อย่างนี้ไม่ได้ เพราะใจมันทนไม่ได้ ใจมันอยากมากเลยที่จะให้ทุกคนยอมรับ ความเห็นของเรา ความคิดของเราถูก คนอื่นคิดผิด คนอื่นหลงผิด คิดอย่างนี้ขึ้นมาได้อย่างไร คนอื่นมันโง่ทั้งประเทศ เราคิดถูกอะไรอย่างนี้ นี่ยึดถือความเห็นของตัวเอง พออยากอย่างโน้นอยากอย่างนี้ก็ดิ้นเร่าๆๆๆ ไป ความวุ่นวายมันก็เกิด คนที่วุ่นวายคนแรกคือตัวเองนั่นล่ะ หาความสงบสุขไม่ได้
พระพุทธเจ้าจริงๆ ก็เป็นนักปฏิวัติสังคม ท่านปฏิวัติด้วยวิธีของท่าน ท่านเกิดมาในสังคม ท่านเห็นสังคมนี้เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ มีระบบวรรณะ มีอะไรที่แตกต่างกันมากมาย แล้วเป็นสังคมที่ไม่มีเหตุมีผลอะไร เชื่ออะไรงมงาย ท่านก็ปฏิวัติสังคม การศึกษา จนได้แจ่มแจ้งในธรรมะขึ้นมา แล้วท่านก็พบว่าท่านไปแก้สังคมใหญ่ทั้งหมดไม่ได้หรอก เพราะมนุษย์มันมี ความแตกต่างกันมากมาย แต่ละคนนั้นมีกรรมเป็นของตน กรรมจัดสรรมา มันคิดได้อย่างนี้ มันทำได้แค่นี้ แต่คนไหนซึ่งอินทรีย์มันแก่กล้า ท่านก็ดึงพวกนี้ออกมา สร้างสังคมพระ สร้างอะไรขึ้นมา ขยายไปที่อุบาสกอุบาสิกาอะไรขึ้นมา ก็เกิดความเปลี่ยนแปลง มันเป็นการปฏิวัติในสังคมเลย ระหว่างสังคมที่คิดว่ามีพระเจ้า ท่านปฏิวัติมาสู่การไม่มีพระเจ้า ทำไมท่านทำได้ ระหว่างสังคมที่เหลื่อมล้ำ ท่านบอกว่า ทุกคนเสมอภาคกัน อย่างเกิดในวรรณะไหนมาบวชก็เสมอภาคกัน มันเป็นการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ แต่ทำไมสังคมไม่จลาจล ท่านมีวิธีการของท่าน
รัชกาลที่ 5 ต้องการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย เลิกทาส ท่านเริ่มการเลิกทาสตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ เลิกทาสสำเร็จตอน ครองราชย์มานานแล้ว ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ทำ อะไรที่ดีก็ค่อยๆ นำเสนอไป ค่อยพัฒนาไป อเมริกาต้องทำสงครามเลิกทาส ของเราไม่มี เมืองไทยจริงๆ เราไม่ได้กดขี่ทาสเท่าไรหรอก คำว่าทาสๆ นี่ฝรั่งมันกดขี่ คนไทยไม่ได้กดขี่ เพราะเรามีวัฒนธรรมของพุทธ ฉะนั้นจะวาดภาพว่าทาสถูกทำร้าย ทาสเมืองไทยจำนวนมากไปขายตัวเองเป็นทาส อยากเป็นทาส ตอนจะเลิกทาสนี่ทาสร้องไห้เลย ไม่อยากจะพ้นจากความเป็นทาส สังคมมันไม่ใช่ไปลอกฝรั่งมาแล้วบอกทาสไม่ดี ระบบทาสในเมืองไทย เลวร้ายเหมือนในยุโรปในอะไรอย่างนั้นซึ่งมันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นต้องรู้จัก มีสติมีปัญญาหน่อย ไม่ใช่เชื่ออะไรงมงายตามๆ กันไป แล้วการเปลี่ยนแปลงนี่อย่างไรก็เปลี่ยนแปลง เพราะไม่เคยมีอะไร หยุดนิ่งในโลกนี้ แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่เปลี่ยนตามใจ กิเลส ตามทิฏฐิมานะของตัวเอง ตามตัณหาของตัวเอง
ถ้ารู้จักใช้เหตุผล สังคมก็จะสงบสุขกว่านี้ บ้านเมืองมันก็จะร่มเย็นกว่านี้ ก็จะมีความสุขร่วมกัน การปกครองที่ดีที่สุดก็คือการปกครอง ที่ทำให้คนเรามีความสุขร่วมกันได้ มีความสุข มีความสงบ พระพุทธเจ้าก็สร้างสังคมพระขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ถ้าเราเป็นพระจริงๆ พระที่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริงๆ เราจะรู้เลยสังคมพระสงบสุขจริงๆ ที่ไม่สงบสุขก็คือที่จิตของเรานี่เอง อยู่ตรงไหนมันก็ไม่มีความสุข ไม่มีความสงบ มันเหมือนหมาขี้เรื้อน อยู่ตรงไหนก็คัน ถ้าใจเราฉลาด เรา อุ๊ย มีตัณหาแล้ว มีทิฏฐิมานะแล้ว รู้ทันเข้าไปเลย เราก็ไม่เป็นหมาขี้เรื้อน ไม่คัน ไม่ต้องดิ้นเร่าๆ อาละวาด เห่าโน่นเห่านี่ไปเรื่อย
ค่อยๆ ฝึกตัวเองไป ทำความเข้าใจชีวิต เข้าใจจิตใจตัวเอง มันจะเข้าใจโลก มันจะอยู่กับโลกได้โดยที่ไม่ทุกข์ หรือทุกข์ก็ทุกข์น้อย เคยทุกข์มากก็ทุกข์น้อย เคยทุกข์นานก็ทุกข์สั้นลงๆ ธรรมะช่วยเราตรงนี้ ต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตเรา เราก็ใช้เวลาไม่นานในการปรับตัวได้ ถ้าเราไม่มีธรรมะเราปรับตัวยาก จะสู้กิเลส ตัณหา มานะทิฏฐิอะไรพวกนี้ สู้มันไม่ไหว มันจะให้คนอื่นปรับตัวเข้าหาเราอย่างเดียว ไปดูใจของตัวเอง มันอยากอะไรขึ้นมาก็คอยรู้ อยากอะไรขึ้นมาก็คอยรู้ไปเรื่อยๆ แล้วก็จะใช้ชีวิตด้วยความมีเหตุผล ไม่ใช่ใช้ชีวิตตามความอยาก แล้วชีวิตจะดีขึ้น
วัดสวนสันติธรรม
7 มีนาคม 2564