พูดเรื่องการภาวนา ตั้งอกตั้งใจทำไป โรคระบาดมันมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ พวกแรงงาน พวกลักลอบเอาแรงงานเข้ามาพวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งคือพวกสนุกไม่รู้จักเลิก ไม่รู้กาลเทศะ เที่ยวผับ เที่ยวบาร์อะไรอย่างนี้ พวกนี้อาจจะเอาเชื้อมากระจายให้พวกเราได้ ดีว่าเราฉีดวัคซีนกันแล้วก็ค่อยยังชั่วหน่อย แล้วพวกเราก็พยายามฝึกสติให้ดีๆ ฝึกจิตฝึกใจให้มันดี เรื่องอย่างนี้บางทีเราก็เครียด เรานี่ไม่รวมหลวงพ่อ พวกเราบางทีก็เครียด ทำมาหากินอะไรลำบากบางคน
มันมีกรรมร่วมกัน มาเกิดร่วมกันในสังคมแบบนี้ แล้วจริงๆ สถานการณ์อย่างนี้มันก็เกิดทั่วโลก แล้วก็ไม่ใช่เกิดครั้งแรก เมื่อปี 2461 ก็เคยมีโรคไข้หวัดสเปน ตอนนั้นระบาดไปทั่วโลก คนตายก็หลักสิบล้าน ในเมืองไทยตรงนั้นสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2461 สมัยรัชกาลที่ 6 ประชากร 6.8 ล้าน ติดไข้หวัดสเปน 2.8 ล้าน เป็นสัดส่วนที่เยอะ ตายไป 8 หมื่นกว่า ก็เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ติด ประมาณเกือบๆ 3 เปอร์เซ็นต์กระมัง แต่คราวนั้นโรคระบาดมันอยู่ไม่นาน ประมาณ 2 ปี เพราะยุคโน้นคนก็น้อย การเดินทางก็ยาก ทุกวันนี้เดินทางง่าย เคลื่อนไหวเร็ว เชื้อก็กระจายกว้างขวาง ก็กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ร้อยกว่าปี รอบนี้ระบาด พ.ศ. 2562 คราวก่อน พ.ศ. 2461 คือ 101 ปี
มองโลกในแง่ดีก็น่าภูมิใจ เกิดมาทั้งทีได้เจอโรคระบาดใหญ่ๆ อย่างนี้ บางคนไม่มีบุญ ตายเสียก่อน ไม่ทันจะเห็น อยู่กับมัน อยู่ให้เป็น อย่าให้เครียด พวกเราบางคนก็เครียด น่าสงสารอยู่ บางคนเป็นโรคซึมเศร้า อยู่ต่อหน้าหลวงพ่อก็มี เป็นโรคซึมเศร้า เครียด ทำมาหากินลำบากอะไรอย่างนี้ ซึมเศร้าอย่างไรก็อย่าฆ่าตัวตาย ไปหาหมอ หมอก็ยังพอช่วยได้อยู่ ถ้าเราทำใจได้ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด มันมีเหตุมีปัจจัยอย่างนี้ มันจะต้องเกิด ทำใจให้ได้ว่ามันต้องเกิด แล้วก็ปลอบใจตัวเองไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดไม่นานมันก็ผ่านไป มันไม่ผ่านเราไป เราก็ผ่านมันไป มี 2 ทางเลือก เราผ่านมันไป เช่น เราติดโรคตายไปเสียก่อน เราก็ผ่านมันไปแล้ว ไม่เป็นแล้ว ถ้าใจเรายอมรับความจริงได้ เราจะไม่ทุกข์
ถ้าใจยอมรับความจริงได้ จะไม่ทุกข์
ฉะนั้นพยายามฝึกตัวเอง ใจที่ยอมรับความจริงไม่ได้ มันทุกข์ พอยอมรับความจริงไม่ได้ มันก็จะเกิดความอยาก อย่างอยากให้มันไม่เกิดโรคระบาดอย่างนี้ ก็มันเกิดแล้ว อยากอย่างไรมันก็เกิด โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย มันเกิดจากเหตุปัจจัยประจวบกันขึ้นมา มันเกิดแล้วจะไปอยากให้มันไม่เกิดนี่ไร้เดียงสา มันเกิดแล้วอยากให้มันจบเร็วๆ มันจะจบหรือไม่จบ อยู่ที่เหตุปัจจัยของมัน ไม่ใช่อยู่ที่เราอยาก แต่ทันทีที่เราอยาก ใจเราจะทุกข์ทันทีเลย ฉะนั้นถ้าเราภาวนา เรายอมรับความจริงได้ ยอมรับความจริงได้ ความอยากมันก็ไม่เกิด ความอยากมันเกิดจากเราไม่รู้จักความจริง ยอมรับความจริงไม่ได้ ความจริงที่เราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายอย่างนี้ ยอมรับไม่ได้ อยากปลอดภัย อยากอายุยืน อยากมีความสุขตลอดเวลา อยากไม่ให้พลัดพรากจากคนที่เรารัก อยากเจอแต่สิ่งที่ชอบใจอะไรอย่างนี้ ความอยากทั้งหลายที่เกิดขึ้น มันทำให้ใจเราเป็นทุกข์ เพราะสิ่งทั้งหลายไม่ได้เป็นไปตามที่เราอยาก มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ถ้าเรายอมรับความจริงไม่ได้ เราก็อยาก
ในบททำวัตรในบทสวดมนต์ มันมีอยู่บทหนึ่ง ดีนะ เป็นบทพิจารณา บอก “เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้” เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งสิ้นไปอะไรนี่ก็ห้ามไม่ได้ อันนั้นก็คือการเตือนตัวเอง เวลาสวดมนต์ก็มีบทนี้ขึ้นมา ไว้เตือนตัวเอง อย่างไรเราก็ต้องแก่ อย่างไรเราก็ต้องเจ็บ อย่างไรเราก็ต้องตาย เราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก เราต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ถ้าใจยอมรับความจริงได้ เราสอนมันไปเรื่อยๆ มันยอมรับความจริงได้ เราจะไม่ทุกข์
อย่างคนที่ยอมรับความจริงไม่ได้ มันทุกข์ตั้งแต่ยังไม่ทันจะเป็นโรคเลย อย่างโรคยังมาไม่ถึงตัวเรา ก็เครียดไปก่อนแล้ว กังวลมาก เครียดมาก ทุกข์ไปตั้งแต่แรกแล้ว พอเป็นโรคเข้าจริงๆ ยิ่งทุกข์หนักใหญ่ ฉะนั้นพยายามเรียนรู้ความจริง สอนจิตสอนใจไปเรื่อยๆ สอนด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ล่ะ เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ เราจะต้องพลัดพรากจากของรัก ของเจริญใจทั้งสิ้นไปอะไรอย่างนี้ มันห้ามไม่ได้หรอก สิ่งที่เรารักที่สุดคืออะไร สิ่งที่เรารักที่สุดคือตัวเราเอง ตัวเราก็ร่างกาย จิตใจเรานี้ รักแค่ไหน ถึงวันหนึ่งเราก็ต้องพลัดพรากจากร่างกายนี้ไป นี่ของที่เรารักที่สุด ค่อยๆ สอนมันไป สวดมนต์แล้วก็แถมบทพิจารณานี้เข้าไป สอนๆๆ ไปเรื่อยๆ
อันนี้ยังใช้การคิดพิจารณา ดีกว่าไม่ทำเลย ดียิ่งกว่านั้นคือการเจริญสติ เจริญปัญญา เฝ้ารู้เฝ้าดูลงมาในกายในใจของเรานี้กายกับใจนี้มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูให้เห็นของจริง อย่างการดูอนัตตา มันดูได้หลายระดับ อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด อย่างหยาบเราก็พิจารณาว่าเรามีความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดาอะไรอย่างนี้ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตั้งแต่เกิดจนตายเห็นหนึ่งรอบ อันนี้หยาบมาก แต่ดีกว่าไม่ทำเลย หยาบปานกลางหรือละเอียดปานกลาง เราก็ดูชีวิตเรานี้มันผ่านช่วงชีวิตๆ แต่ละช่วงชีวิตนั้นก็ผ่านไปเรื่อยๆๆๆ ภาษาโบราณเขาเรียกชั้นแห่งวัย ฟังแล้วก็แปลไม่ออก ภาษารัชกาลที่ 5 ถ้าพูดให้พวกเราฟังก็คือ แต่ละช่วงชีวิตมันผ่านมาแล้วมันก็ผ่านไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ บังคับไม่ได้ อย่างชีวิตในวัยเด็กของเรานี้ มันผ่านมาแล้วมันก็ผ่านไป ชีวิตในวัยหนุ่มสาวผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ชีวิตช่วงกลางคนผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ชีวิตตอนแก่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
ดูละเอียดขึ้น เห็นมันผ่านมาผ่านไป เกิดดับๆๆ เป็นระยะๆ เป็นช่วงๆ ไป อันนี้ก็ยังเจือการคิดพิจารณาอยู่ อย่างเราคอยเตือนตัวเองใช่ไหม ชีวิตเราตอนเด็กๆ เอากลับคืนมาไม่ได้แล้ว ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปจริงๆ แล้ว เอาคืนมาไม่ได้แล้ว ชีวิตวัยรุ่นผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เอาคืนมาไม่ได้แล้ว ไม่อยู่ในอำนาจบังคับเลย จนถึงวัยแก่อะไรอย่างนี้ ตรงนี้เป็นการเจริญปัญญาในแบบที่ยังเจือการคิดพิจารณาอยู่ แต่ในขั้นละเอียด การเจริญปัญญาในขั้นละเอียดคือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เราไม่ได้ดูชีวิตมี 1 ช่วงคือตั้งแต่เกิดจนตาย หรือมีหลายๆ ช่วงตามชั้นของวัย ตามระดับของวัย แต่เราดูเป็นขณะๆ วิปัสสนากรรมฐานมันละเอียดกว่ากัน ไม่ใช่คิดเอาแล้ว แต่เป็นการเห็นเป็นขณะๆ ไป
ขณะนี้จิตเกิดขึ้นมาร่วมกับความรู้สึกสุขอะไรอย่างนี้ หรือร่วมกับกุศล ร่วมกับอกุศล สุข ทุกข์ กุศล อกุศล ภาษาปริยัติเขาเรียกว่าตัวเจตสิก คือองค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิต จิตที่เป็นกุศลมันก็เกิดร่วมกับองค์ธรรมที่เป็นกุศล เกิดขึ้นพร้อมกัน ดับพร้อมกัน จิตที่เป็นอกุศลก็เกิดร่วมกับองค์ธรรมฝ่ายอกุศล เกิดขึ้นพร้อมกันแล้วก็ดับพร้อมกัน อย่างจิตโกรธก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความโกรธ จิตโกรธดับพร้อมๆ กับที่ความโกรธดับ
ชีวิตที่มีอยู่ชั่วขณะจิต
ชีวิตเราแต่ละขณะๆ ประกอบด้วยร่างกาย ประกอบด้วยจิต ประกอบด้วยสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ชีวิตเราแต่ละขณะๆ ประกอบด้วยรูป จิต เจตสิก มีทั้งจิต เจตสิก รูปเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน เกิดมาด้วยกัน แล้วก็ทำงานไป แล้วเราก็มีสติตามระลึกไป ชีวิตเรามีทีละขณะเท่านั้นเอง ชีวิตเราไม่ได้ยืนยาวเท่าที่เราคิดหรอก ชีวิตเราเป็นขณะๆ ไป ชีวิตขณะนี้มีความสุข ชีวิตขณะนี้มีความทุกข์ ชีวิตที่สุขอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ชีวิตที่ทุกข์อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ชีวิตที่มีกุศล ชีวิตที่มีอกุศลก็อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ตรงที่เราทำวิปัสสนาเราก็จะเห็นอย่างนี้ เรามีชีวิตอยู่ชั่วขณะจิตเท่านั้นเอง
ชีวิตที่มีอยู่ชั่วขณะจิตแล้วเรามีสติมีปัญญาระลึกรู้ลงตรงนี้ได้ จิตไม่หลงไปอดีต จิตไม่หลงไปอนาคต เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่กับปัจจุบันได้จริงๆ เราจะไม่คร่ำครวญถึงอดีต เราจะไม่เพ้อฝันกังวลถึงอนาคต บางทีก็ใฝ่ฝันปลื้ม บางทีก็กังวลถึงอนาคต เราอยู่กับปัจจุบันซึ่งเป็นความจริง ไม่ใช่ความจำในอดีต ไม่ใช่ความคิดในอนาคต ชีวิตที่อยู่กับความจริงในปัจจุบัน เป็นชีวิตที่ทุกข์ไม่ได้หรอก ไม่ทุกข์หรอก ฉะนั้นพยายามฝึกตัวเอง จนเราอยู่กับปัจจุบันได้จริงๆ มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน
ถ้าใจเราหลงไปอดีต เรารู้ทัน อย่างคนพออายุเยอะขึ้น ชอบคิดถึงอดีต สมัยก่อน แหม มีความสุขจังเลยอะไรอย่างนี้ หลวงพ่อเวลานึกถึงอดีต หลวงพ่อไม่ได้รู้สึกว่ามันมีความสุข หลวงพ่อก็รู้สึกว่าอดีตมันก็ทุกข์อย่างหนึ่ง มันก็มีย่อๆ ลงมา ก็ทุกข์กายกับทุกข์ใจนั่นล่ะ อนาคตหลวงพ่อก็ไม่ได้คิดว่ามันจะต้องดีวิเศษ อนาคตมันก็มีทุกข์ ทุกข์กายกับทุกข์ใจ ตราบใดที่ยังมีอดีต ตราบใดที่ยังมีอนาคตอยู่ ไม่มีทางพ้นจากความทุกข์ได้หรอก แต่การที่จิตเราอยู่กับปัจจุบันไปเป็นขณะๆ ไป เราจะรู้ว่าตัวเราไม่มี ชีวิตหนึ่งขณะนี่ตัวตนไม่มีหรอก มีขึ้นมาไม่ได้หรอก
สังเกตดูให้ดีอย่างความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน มันผ่านกระบวนการตั้งมากมาย กว่าความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนมันจะเกิดขึ้น ผ่านจิตเป็นจำนวนมากทำงานร่วมกันขึ้นมา ผ่านเจตสิกจำนวนมากทำงานร่วมกันขึ้นมา ถึงจะเกิดความรู้สึกว่าตัวเรามีอยู่ แต่ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันจริงๆ เห็นแต่สภาวะรูปธรรมเกิดแล้วดับ นามธรรมทั้งจิตทั้งเจตสิก เจตสิกคือสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต เกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น เฝ้ารู้เฝ้าดูอยู่อย่างนี้ มันเห็นสภาวะเกิดดับ อะไรเกิดอะไรดับ รูปมันเกิด รูปมันดับ เจตสิกเกิด เจตสิกดับ จิตเกิด จิตดับ ไม่มีเราสักที่หนึ่งเลย
ถ้าอยู่กับปัจจุบันได้จริงๆ ร่างกายนี้ไม่ใช่เราหรอก ร่างกายเป็นวัตถุธาตุ เป็นสมบัติของโลก ยืมโลกมาใช้ ไม่นานก็ต้องคืนให้โลกไป ไม่ใช่เรา ฉะนั้นร่างกายมันแก่ ร่างกายมันเจ็บ ร่างกายมันตาย จิตที่ฝึกดีแล้วจะเห็นว่าร่างกายต่างหากที่แก่ ที่เจ็บ ที่ตาย ไม่ใช่เราแก่ ไม่ใช่เราเจ็บ ไม่ใช่เราตาย ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกดี ความรู้สึกชั่ว เรียกเป็นกลุ่มของเจตสิกคือสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต มันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป มันจะเกิด มันจะตั้งอยู่ หรือมันจะดับไป เราสั่งไม่ได้ ลองทบทวนดูจริงไหม ความสุขเกิดแล้วดับจริงไหม
หลวงปู่เทสก์ท่านเคยสอน น่าฟังมากเลย ท่านบอกให้เราลองนึกทบทวนดู ตรงไหนในชีวิตเราที่คิดว่ามีความสุขมากที่สุด ลองทบทวนตรงนี้ดู ตรงไหนที่ว่ามีความสุขมากที่สุด สมมุติว่าเรานึกได้แล้ว ตอนนี้ ตอนเป็นเด็กๆ ไปวิ่งเล่นว่าวอยู่ข้างถนนหรือข้างสนามหลวงอะไรอย่างนี้ ตรงนี้มีความสุขที่สุด เห็นไหมว่ามันผ่านไปแล้ว ตอนที่เรากำลังกระโดดโลดเต้นมีความสุขอยู่ เหมือนจริงจัง แต่พอมาถึงวันนี้ย้อนมองไป มันเหมือนความฝันเท่านั้นเอง มันจบไปหมดแล้ว ฉะนั้นความสุขที่เกิดขึ้น ถ้าเราพิจารณาอย่างที่ท่านสอน เราก็จะเห็น ไม่ยั่งยืน
ฉะนั้นถ้าเราทำวิปัสสนาเราก็จะเห็นความสุขเกิดขึ้นชั่วขณะเท่านั้นเอง เดี๋ยวก็ดับ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นชั่วขณะ เดี๋ยวก็ดับ โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นชั่วขณะแล้วก็ดับ กุศล ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เกิดขึ้นชั่วขณะแล้วก็ดับ เฝ้ารู้เฝ้าดูไปมันจะเป็นกลางขึ้นมา มันจะเป็นกลางต่อสุขและทุกข์ เป็นกลางต่อดีและชั่วด้วยปัญญาอันยิ่ง เมื่อจิตมันเป็นกลาง มันก็ไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง ไม่ฟูไม่แฟบ จิตก็เข้าสู่ความสงบสุข มีความสุข จิตที่มันไม่กระเพื่อมตามโลกไป ดูรูปก็เห็น รูปมันก็ไม่ยั่งยืน เกิดแล้วดับ เจตสิกเกิดแล้วก็ดับ บังคับก็ไม่ได้
องค์ธรรมอีกตัวหนึ่งก็คือจิต มีองค์ธรรมอยู่ 3 ตัวที่เราใช้ทำวิปัสสนา คือจิต เจตสิก รูป เจตสิก เช่น สุข ทุกข์ ดี ชั่ว เราก็จะเห็นจิตเองก็เกิดดับ ดูอย่างไรจิตเกิดดับ จิตเดี๋ยวก็เกิดที่ตา ไปดูรูป ดูรูปอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ เดี๋ยวก็ไปเกิดที่หู ไปฟังเสียง ฟังเสียงอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ เดี๋ยวก็ไปเกิดที่จมูก ไปดมกลิ่น ไปเกิดที่ลิ้น ไปกระทบรส ไปเกิดที่ร่างกาย ไปกระทบสิ่งที่มาสัมผัสร่างกาย เดี๋ยวก็ไปเกิดทางใจ ไปคิดนึกทางใจ นี่จิตมันเกิดดับๆ อยู่ เราจะเห็นเลยจิตนี้เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จิตนี้จะเกิดหรือจะดับทางทวารใด เราเลือกไม่ได้ เราสั่งไม่ได้ นี่คืออนัตตา ฉะนั้นเวลาที่เราทำวิปัสสนากรรมฐาน สติระลึกลงในกายก็เห็นร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นร่างกายในขณะนี้ ถึงจะเป็นวิปัสสนา เห็นเจตสิกในขณะนี้ เห็นจิตในขณะนี้ ต้องเป็นปัจจุบัน ถึงจะเห็นไตรลักษณ์
ตรงที่เราคิดพิจารณาว่าชีวิตมีเป็นช่วง เป็นชั้น ช่วงวัยรุ่น ช่วงเด็ก ช่วงวัยรุ่นอะไรอย่างนี้ ช่วงหนุ่มสาว ช่วงกลางคน ช่วงแก่ อันนี้เป็นการเปรียบเทียบว่า ชีวิตเรามันไม่เที่ยง เมื่อก่อนมันเป็นเด็ก ตอนนี้มันไม่ใช่เด็กอะไรอย่างนี้ เมื่อก่อนมันเป็นวัยรุ่น ตอนนี้ไม่เป็นวัยรุ่นอะไรอย่างนี้ อันนี้เป็นการเห็นไตรลักษณ์ด้วยการคิดเปรียบเทียบ ตรงนี้ยังไม่เป็นวิปัสสนา เห็นไตรลักษณ์ด้วยการเปรียบเทียบสภาวะคนละอันกัน คนละช่วงเวลา คนละสภาวะกัน อันนี้ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา เป็นแค่ปัญญาที่เกิดจากการคิด เป็นปัญญา แต่เป็นปัญญาในระดับที่เรียกว่าสัมมสนญาณ ปัญญาระดับแค่ต้นๆ
ปัจจุบันขณะ และปัจจุบันสันตติ
ถ้าจะขึ้นถึงวิปัสสนา ดูสภาวะที่เป็นปัจจุบัน ปัจจุบันของร่างกายนี่เรียกว่าปัจจุบันขณะ ขณะนี้กำลังเคลื่อนไหว ขณะนี้กำลังหันซ้ายหันขวา ขณะนี้เรียกว่าปัจจุบันขณะ แต่การดูจิตดูใจ เรียกต้องใช้วิธีที่เรียกว่าปัจจุบันสันตติ สืบเนื่องกับปัจจุบัน เพราะจิตนี่เกิดดับรวดเร็วมาก แล้วเวลาที่จิตเป็นอกุศลอย่างนี้ สติไม่มีหรอก บางคนบอก เอ๊ะ สอนอย่างนี้ไม่เป็นปัจจุบัน ปัจจุบันไม่ได้มีอย่างเดียว ปัจจุบันมีปัจจุบันขณะกับปัจจุบันสันตติ
อย่างเราจะดูจิตโกรธอย่างนี้ หรือดูความโกรธที่เกิดร่วมกับจิต ในขณะที่โกรธ สติไม่เกิดหรอก เพราะว่าขณะที่เกิดความ โกรธขึ้นมา จิตมันต้องหลงด้วย จิตมีโมหะ ไม่มีสติหรอก พอมันเกิดความโกรธขึ้นมาแล้วสติระลึกได้ว่า อ้าว โกรธไปแล้ว เห็นไหมมีคำว่า แล้ว โกรธแล้ว โลภแล้ว หลงแล้ว อ้าว ใจลอยไปแล้วอย่างนี้ มีคำว่า แล้ว แต่ถ้าเมื่อวานโกรธแล้ววันนี้รู้ ไม่ใช่ปัจจุบันสันตติ ต้องต่อเนื่องกับปัจจุบันจริงๆ เห็นความโกรธมันเกิดแล้ว แล้วสติระลึกได้ว่า เอ๊ย โกรธแล้ว มีคำว่า แล้ว โกรธแล้ว อย่างนี้ใช้ได้ เราจะเห็นเลยว่าจิตเมื่อกี้โกรธ จิตตรงนี้รู้ว่าโกรธ คนละดวงกัน เราจะเห็นจิตมันเกิดดับด้วยวิธีอย่างนี้ เห็นอยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้นการทำวิปัสสนาก็ต้องเห็นรูปเห็นนามที่เป็นปัจจุบัน รูปธรรมที่เป็นปัจจุบันขณะ ขณะนี้กำลังยกมือ ขณะนี้กำลังขยับอย่างนี้ ถ้าเป็นจิตก็มีคำว่า “แล้ว” โลภแล้ว โกรธแล้ว หลงแล้ว ค่อยๆ ดู มันจะต่างกันนิดหนึ่ง
บางคนพยายามจะรู้ให้ทันตอนที่จิตโกรธ เทวดาก็ทำไม่ได้เพราะขณะที่จิตโกรธ จิตเป็นอกุศล จิตที่เป็นอกุศลจะมีสติไม่ได้ สติไม่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นอกุศล ทันทีที่สติเกิดจิตเป็นกุศลเรียบร้อยไปแล้ว อกุศลดับไปแล้ว ทีนี้พวกเราบางคนก็งงอีก โกรธรู้ว่าโกรธ แต่มันยังโกรธ เอ๊ะ ทำไมไม่ดับ ที่ไม่ดับเพราะสติตัวจริงยังไม่เกิด ยังไม่ทันปัจจุบันจริงๆ อย่างจิตมันโกรธ เรารู้ว่ามันโกรธ ตรงขณะที่รู้เป๊ะเลย มันโกรธอยู่ ตรงที่รู้ว่ามันโกรธ ตรงนี้ไม่ได้โกรธ แล้วสัญญามันไปคิด ไปหมายรู้ว่าเมื่อกี้มันโกรธอยู่ แต่มันไม่คิดว่าเมื่อกี้ มันคิดว่ากำลังโกรธอยู่ แล้วความโกรธนี้มันเป็นอนัตตา ถ้าเหตุของความโกรธยังมี ความโกรธก็มี เราโกรธขึ้นมาเพราะเรากระทบอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ อย่างเราเห็นหน้าคนที่เราเกลียดอย่างนี้ ความโกรธมันก็เกิดขึ้นมาตรงที่เรามีสติรู้ว่าจิตมันโกรธ ตรงนี้เราไม่ได้ดูหน้าศัตรูเราแล้ว แต่เราดูจิตของเรา เพราะฉะนั้นตรงนี้ไม่โกรธ เสร็จแล้วเรานึกถึงมันอีก สัญญาไปหมายรู้มันหรือว่าตาไปเห็นมันขึ้นมาอีก สัญญาก็ไปจำขึ้นมาได้ว่า นี่ล่ะศัตรูเรา หมายรู้อย่างนี้ขึ้นมา ความโกรธก็เกิดขึ้นใหม่
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราภาวนา บางทีเรารู้สึก โกรธก็รู้ ทำไมไม่หายโกรธ ที่จริงตรงที่รู้ ความโกรธเก่าดับไปแล้ว แต่ว่าขาดสติครั้งต่อไป อย่างรวดเร็ว สัญญาไปจำเรื่องราวเก่าๆ ที่ทำให้โกรธ มันไปตรึกในอารมณ์ที่ทำให้โกรธ เรียกว่ามีพยาบาทวิตกเกิดขึ้น คือไปตรึกไปคิดถึงเรื่องที่ไม่ชอบใจขึ้นมา ความโกรธก็เกิดขึ้นใหม่ ไม่ใช่ความโกรธตัวเดิม เป็นความโกรธอีกรอบหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนา สติเกิด ความโกรธดับแน่นอน ที่เรามองไม่ออกว่ามันดับไปแล้ว สติเราไม่ไวพอ มันมัวไปคิดถึงสิ่งที่เราโกรธต่อ มันเลยโกรธขึ้นมาใหม่
การภาวนา ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันไป แล้วก็จะเห็นรูปนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เจตสิกนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็ของที่เป็นอนัตตา มันไม่มีตัวเราของเราหรอก มีตัวเราของเรา เกิดจากความหลงผิดว่ามีตัวมีตน เกิดอัตตวาทุปาทาน เกิดวาทะว่ามีตัวมีตนขึ้นมา ไปยึดถือผิดๆ ขึ้นมา ฉะนั้นถ้าเราภาวนา ค่อยๆ ฝึกตัวเองให้มาอยู่กับปัจจุบัน จะเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดแล้วก็ดับ รูปไม่ใช่เรา เวทนาไม่ใช่เรา จิต สังขาร ไม่ใช่เรา ตัวจิตก็ไม่ใช่เรา จิต เจตสิก รูป ไม่ใช่เรา เฝ้ารู้เฝ้าดูเนืองๆ แล้วใครติดโควิด รูปมันติด รูปไม่ใช่เรา ไม่เป็นไร ถ้าหาย ยังไม่ถึงคราวจะตาย ก็ไปเจอหมอรักษาทันอะไรอย่างนี้ ไม่ตาย แล้วรักษาไม่ทันก็ตายไป รูปมันตายไม่ใช่เราตาย ไม่น่าตกใจ
เวลาอย่างคิดถึงเรื่องโควิดขึ้นมา จิตมันตรึกในอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ จิตใจมันก็ขุ่นมัวเศร้าหมอง กังวลขึ้นมา จิตกังวลอยู่ในตระกูลโทสะ อย่างเราคิดถึง โอ้โห โควิดรอบบ้านเลย จิตเศร้าหมองแล้ว จิตมีโทสะ เพราะว่าเกลียดโควิด มีพยาบาทวิตก ถ้าเราไม่เกลียดมัน ให้เห็นมันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มันเป็นสิ่งมีชีวิตอันหนึ่งซึ่งมัน ก็พยายามรักษาชีวิตมัน เพียงแต่ชีวิตมันกับชีวิตเราขัดแย้งกันเท่านั้นเอง แต่ถามว่าแล้วกินยาฆ่าเชื้อได้ไหม จะเป็น ปานาติบาตไหม แหม บางคนคิดมาก ฆ่าเชื้อโรคจะบาปไหม เอ๊ะ ทำไมพระพุทธเจ้ายังเคยพอกยาเลย เป็นแผลที่หน้าแข้ง หรือบางทีท่านท้องไม่ดี หมอชีวกก็ให้ฉันยา อย่างนี้ฆ่าเชื้อโรค บาปหรือไม่บาป ไม่บาป เชื้อโรคเป็นสิ่งมีชีวิตก็จริง แต่มันไม่มีจิต มันไม่มีจิตหรอก มันมีเซลล์ มีโปรตีนมีอะไรนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง มีสารพันธุกรรมอยู่นิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง มันยังไม่เกิดจิตวิญญาณขึ้นมา เพราะฉะนั้นไม่บาปหรอก ไม่เหมือนทำแท้ง ทำแท้งเด็กมาอยู่ในท้องนี่ เด็กมันมีจิตแล้ว ฉะนั้นไม่เหมือนบอกว่าทำกินยาฆ่าเชื้อโรคอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ คนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นไม่สบายขึ้นมาไปหาหมอได้ ไปกินยาได้ ไปฉีดยาได้ ทำได้ ไม่ได้ผิดศีล 5 หรอก
หรือถ้าคิดมาก โอย กินยาไม่ได้หรอก ไม่สบาย ปล่อยมัน ไม่รู้จักรักษาสมบัติ สมบัติก็คือกายนี้ ไม่รู้จักรักษา มันไม่ใช่กายของเรา ร่างกายนี้เป็นสมบัติที่เรายืมพ่อยืมแม่มา เรายืมวัตถุธาตุของโลกมา ไม่ใช่ของเรา ของที่เรายืมใช้ เราต้องรักษา เหมือนอย่างเราไปยืมรถยนต์คนอื่นมาใช้ ไม่ใช่รถเรา ตะบี้ตะบันขับถนนพังๆ อะไรก็ลุยเข้าไปนี่ ไม่ต้องรักษา นั่นทำไม่ถูกเรื่อง ฉะนั้นเราก็มีหน้าที่ดูแลรักษาตัวเอง อย่าให้ร่างกายนี้มันพังก่อนเวลาอันสมควร เพราะโอกาสที่เราจะได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้านี่มีไม่มากหรอก รอบนี้ตายไป ไปเกิดใหม่ อาจจะไม่เจอศาสนาพุทธแล้วก็ได้ ไม่แน่ เพราะฉะนั้นตอนนี้เจอ อย่าเพิ่งรีบตาย อยู่ได้อยู่ไปก่อนแล้วภาวนาเอา แต่อยู่ได้แค่ไหนก็แค่นั้น ไม่ต้องมากลุ้มใจ กลัว กลัวมากไป เครียด
ศาสนาคริสต์ก็มีคำสอนดีๆ อยู่ อย่างสอนว่าชีวิตสำคัญกว่าอาหาร ร่างกายสำคัญกว่าเสื้อผ้าอะไรอย่างนี้ เขาก็สอนดี แต่เป็นการสอนแบบเปรียบเทียบ อย่างขณะนี้เรายังมีชีวิตอยู่ก็ดีกว่าไม่มีเลย เพราะมีชีวิตอยู่ ยังเอามาเรียนธรรมะได้ ยังทำประโยชน์ได้ ประโยชน์ให้ตัวเอง ประโยชน์ให้คนอื่นอะไรนี้ยังทำได้อยู่ มีไว้ก็ดีกว่าไม่มี ทีนี้เรากลุ้มใจ ยากจน ไม่ค่อยจะมีกินอะไรอย่างนี้ ไม่มีจะกินทำงานไม่ได้มาตั้งเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ชีวิตยังอยู่ก็ยังดีถือว่ายังมีบุญ ยังไม่ตาย อดๆ อยากๆ ก็ยังไม่ถึงตาย ถือว่ามีบุญแล้ว อย่าเพิ่งรีบตาย มานั่งคิดถึงความตายแบบนี้ ไม่ถูก ฉะนั้นยังมีชีวิตอยู่ ถึงจะอดๆ อยากๆ ก็ยังดี อย่างน้อยยังมีชีวิตเอาไว้ทำประโยชน์ได้ ไม่มีเสื้อผ้าสวยๆ ก็ไม่เป็นไร ร่างกายเรายังอยู่ ยังรักษามันไว้ได้ นี่พวกคริสต์เขาสอนกัน พระเยซูสอนก็เข้าท่าเหมือนกัน แต่ศาสนาอื่นไม่มีวิปัสสนา เขาสอนมันเป็นจริยธรรม เขาก็ดีของเขา ดีกว่าไม่มี.
วัดสวนสันติธรรม
27 มิถุนายน 2564