หลักต้องแม่น ศิลปะต้องมี

การภาวนาไม่ใช่เรื่องยากอะไรนักหนาหรอก รู้ทันกิเลสที่มันเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ในใจเรา รู้ไปเรื่อยๆ กิเลสมันเกิดตอนไหน กิเลสมันเกิดตอนที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด กิเลสมันเกิดตอนมีผัสสะ แล้วในความเป็นจริงกุศลก็เกิดตอนที่มีผัสสะเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าไม่มีผัสสะจิตก็ไม่ทำงาน ก็ต้องอาศัยมีผัสสะ มีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอมันกระทบอารมณ์แล้วจิตมันก็ทำงานต่อ มองเห็นรูปอย่างนี้จิตพอใจมีความสุข เห็นรูปอย่างนี้จิตไม่พอใจ จิตไม่มีความสุข ตาเห็นรูป ตาไม่ได้มีความสุขหรือมีความทุกข์ เวลาที่ตาเห็นรูปไม่มีสุขไม่มีทุกข์หรอก เป็นอุเบกขาตลอด เวลาหูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส ตา หู จมูก ลิ้น มันก็เป็นอุเบกขาตลอด แต่กายเวลากระทบอารมณ์มันมีสุขมีทุกข์ได้ แต่เวลาตากระทบอารมณ์เป็นอุเบกขาอย่างเดียว หูกระทบอารมณ์เป็นอุเบกขาอย่างเดียว จมูกกระทบอารมณ์ ลิ้นกระทบอารมณ์ เป็นอุเบกขาอย่างเดียว เวลาลิ้นเรากระทบรส ลิ้นไม่เคยบ่นเลยว่าอร่อยหรือไม่อร่อย ตัวที่ชอบไม่ชอบ อร่อยไม่อร่อยคือจิตต่างหาก มันทำงานหลังการกระทบไปแล้ว

ฉะนั้นเวลาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ แล้วมันจะปรุงดี ปรุงชั่วอะไรนี้ มาปรุงที่จิตทั้งนั้น ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงได้ 2 ที่ ที่กายกับที่จิต ร่างกายกระทบอารมณ์อย่างนี้มันมีความสุขทางกาย กระทบอารมณ์อย่างนี้มีความทุกข์ทางกาย อย่างอากาศร้อนๆ ลมเย็นๆ โชยมาถูก ร่างกายมันสบาย แล้วร่างกายที่ร้อนจัดๆ มันจะตายเอาง่ายๆ เส้นเลือดจะแตก พอลมพัดมาร่างกายมันก็สบายผ่อนคลาย มีความสุขในร่างกาย หรืออากาศเย็นจัดลมยังมาพัดอีก ร่างกายจะทนไม่ไหว เพราะร่างกายมันเป็นตัวรูป ตัวรูปมันมีคุณสมบัติที่มันแตกสลายได้ ด้วยความเย็นความร้อน อย่างมันหนาวจัดๆ มันก็ตายเหมือนกัน ร่างกายนี้ก็แตกสลายเหมือนกัน

 

กระบวนการทำงานของจิต

ฉะนั้นในตัวกายนี้เวลากระทบอารมณ์ มีสุข มีทุกข์ ตัวจิตเวลากระทบอารมณ์ มีสุข มีทุกข์ มีเฉยๆ ได้ แต่ตา หู จมูก ลิ้น เวลากระทบอารมณ์มันเป็นอุเบกขาอย่างเดียว ตาเห็นรูป รูปจะดีหรือรูปไม่ดีตาก็แค่เห็น เสียงจะดีหรือเสียงไม่ดีหูมันก็แค่ได้ยิน กลิ่นจะหอมหรือกลิ่นจะเหม็น จมูกมันก็แค่ได้กลิ่น รสจะอร่อยไม่อร่อย เปรี้ยวหวานมันเค็มอะไรกระทบมา มันก็แค่รู้เท่านั้น คนที่ชอบไม่ชอบคือตัวจิต มันทำงานต่อจากกาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันกระทบมา มันส่งสัญญาณเข้ามาที่จิต จิตก็มาพอใจไม่พอใจ เฝ้ารู้เฝ้าดู เราจะเห็นกระบวนการทำงานของมัน

การที่จิตใจเราดิ้นรนปรุงแต่ง มีกิเลสขึ้นมา หรือมีกุศลขึ้นมา มันก็อาศัยผัสสะเป็นจุดตั้งต้น เรามีตาไปเห็นรูปก็เกิดการทำงานของจิตใจขึ้นมา ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วขึ้นมา แล้วก็เข้าไปยึดไปถือ ปรุงสุขก็ไปยึดสุข ปรุงทุกข์ก็ไปยึดทุกข์ คืออยากให้มันหายไป เกลียดชังมัน ไม่ได้เป็นกลางต่อสุขต่อทุกข์ เกิดกุศลก็ไม่เป็น กลาง พอใจ นักปฏิบัติจิตเป็นกุศลพอใจ จิตมีความโลภ โกรธ หลงขึ้นมาไม่พอใจ มันมาเกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นที่จิตเรานี้ทั้งหมด ฉะนั้นเราเฝ้ารู้เฝ้าดูเราเห็นกระบวนการที่จิตมันปรุงแต่งความทุกข์ กระบวนการนี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท หลวงพ่อตัดเอาท่อนท้ายตั้งแต่มีผัสสะ ก่อนจะมีผัสสะมันก็มีกระบวนการ มีอยู่อีกท่อนหนึ่งตั้งแต่อวิชชาขึ้นมา ตัวนั้นฟังยาก ค่อยภาวนาแล้วค่อยรู้ค่อยเห็นเอา

ตอนนี้ที่เราฝึกถ้าเราฝึกดูจิตดูใจ เรารู้ว่าความเปลี่ยนแปลงของจิตมันเริ่มตั้งแต่มีผัสสะ พอมีผัสสะมีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใจกระทบความคิด นี่มีผัสสะ ความคิดก็เป็นธรรมารมณ์อันหนึ่ง ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นาม ความคิด เป็นบัญญัติ พอใจมันกระทบอารมณ์ขึ้นมา จิตใจมันก็ทำงานต่อ เช่น มันคิดเรื่องนี้โทสะก็เกิด คิดเรื่องนี้ราคะก็เกิด สมมติเราคิดถึงนางงามสักคนหนึ่ง พอเรานึกถึงใจเราชอบผู้หญิง คำว่าเราหมายถึงได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ยุคนี้ผู้หญิงชอบผู้หญิงก็เยอะ เราเห็นผู้หญิงสวยๆ ใจมันชอบ รู้ทันลงไป เฝ้ารู้เลยใจเราเปลี่ยนแล้ว มันเปลี่ยนตามหลังการกระทบอารมณ์ ใจกระทบความคิดจิตมันก็เปลี่ยน ตากระทบรูปจิตก็เปลี่ยน หูกระทบเสียงจิตก็เปลี่ยน จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส จิตมันก็เปลี่ยน

ฉะนั้นเราจะดูจิตดูใจ เราไม่ได้หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ บางคนจะดูจิตก็เข้าถ้ำปิดหูปิดตาหมดเลย ไม่ให้กระทบอารมณ์แล้วจะดูจิต จิตก็ว่างๆ ไม่ได้กระทบอารมณ์หยาบๆ ถามว่ามีไหมจิตที่ไม่กระทบอารมณ์ ไม่มีหรอก เมื่อไรมีจิตเมื่อนั้นต้องมีอารมณ์ อารมณ์จะหยาบหรืออารมณ์จะละเอียดเท่านั้นเอง อารมณ์นั้นจะเป็นเรื่องราวที่คิด หรือจะเป็นรูปธรรม หรือจะเป็นนามธรรม ก็แล้วแต่ว่าจิตมันจะไปรู้อะไรเข้า มันจะมีผัสสะทางช่องทางไหน อย่างใจกระทบความคิด ตัวความคิดก็เป็นอารมณ์บัญญัติ อารมณ์บัญญัติทำวิปัสสนาไม่ได้ แต่ถ้าเราดูจิตเราทำได้ พอใจกระทบความคิดเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว เราเห็นสุข ทุกข์ ดี ชั่ว ตรงนี้ ตัวสุข ตัวทุกข์ ตัวดี ตัวชั่ว เป็นอารมณ์ปรมัตถ์ เป็นนามธรรม ตัวนี้ใช้ทำวิปัสสนาได้ แต่เรื่องราวที่คิดทำวิปัสสนาไม่ได้ ไม่มีไตรลักษณ์

 

ไม่หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์

เราอย่าหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็กระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหวไป มีใจก็ไม่ได้ห้ามความคิด ไม่ห้ามอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ต้องสำรวม ตรงนี้ฟังเข้าใจยาก บอกให้สำรวมอินทรีย์ คือสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หลวงพ่อก็บอกว่าให้มันกระทบเข้าไป แล้วมันจะสำรวมตรงไหน การสำรวมอินทรีย์ไม่ใช่ว่ามีตาแล้วไม่ดู มีหูแล้วไม่ฟัง มีใจก็ไม่คิด สำรวมอินทรีย์ ก็คือตากระทบรูปจิตเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว มีสติรู้ทัน นี่ล่ะความสำรวมจะเกิดขึ้น หูได้ยินเสียงถ้าไม่สำรวมมันก็เกิดราคะ เกิดโทสะอะไรขึ้นมา เสียงอย่างนี้ชอบ เสียงอย่างนี้ไม่ชอบ ถ้าเราสำรวม หูได้ยินเสียงจิตมันชอบ จิตมันไม่ชอบขึ้นมา เกิดราคะ เกิดโทสะขึ้นมา เรารู้ทัน เราก็ไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ นี้เราสำรวมแล้ว ตาเห็นรูปไม่พอใจโทสะแทรกเข้ามา เห็นหน้าคนนี้จิตมันโทสะขึ้นแล้ว ตาเห็นรูปของคนที่ไม่ชอบ โทสะขึ้น สติมันรู้ไม่ทันก็ไปชกเขาอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นการสำรวมอินทรีย์ ไม่ใช่ว่าไม่ดู ไม่ฟัง ไม่ดม ไม่รู้รส ไม่รู้สัมผัสทางร่างกาย ไม่คิดนึก

สำรวม ก็คือกระทบอารมณ์แล้วอะไรเกิดขึ้นที่จิตที่ใจ มีสติรู้ทัน นั่นล่ะเรียกว่าสำรวมอินทรีย์ สำรวมที่ใจอันเดียว ไม่ได้ไปสำรวมที่ตาหรอก สำรวมที่ตาจะสำรวมได้อย่างไร ตาจะเห็นรูปใครจะห้ามได้ รูปจะดีหรือรูปไม่ดีใครจะห้ามได้ เป็นวิบากทั้งหมด จะเห็นรูปที่ดีเพราะว่ากุศลวิบากมันให้ผล เห็นรูปที่ไม่ดีเพราะอกุศลวิบากให้ผล มันจะสำรวมได้อย่างไร กรรมมันจะให้ผลจะไปปิดกั้นมันได้อย่างไร ฉะนั้นการกระทบอารมณ์เราไม่เลี่ยงหรอก แต่กระทบอารมณ์แล้วจิตใจเราเป็นอย่างไร เรามีสติรู้ไว้ คราวนี้ความคิดเราก็จะดี คำพูดของเราก็จะดี การกระทำของเราก็จะดี ไม่ถูกสิ่งเร้าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มายั่วให้สติแตก นี่เรียกว่าการสำรวม ตัวนี้ล่ะเป็นศีลชั้นสูง ไม่ใช่ศีลเป็นข้อๆ ศีลเป็นข้อๆ ก็ดีเหมือนกัน แต่ศีลที่จิตอันเดียวที่การสำรวมอินทรีย์ สูงกว่าอีกชั้นหนึ่ง

เราจะฝึกดูจิตดูใจ ก็ต้องรู้มีตาก็ดู หูก็ฟัง แต่พอสัมผัสอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้ว จิตเรามีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น มีสติรู้ทัน ตัวนี้ตัวสำคัญ แต่ก็มีข้อยกเว้น บางครั้งกำลังของสติ สมาธิ ปัญญาเราไม่พอ เราก็ต้องพยายามเลี่ยงการกระทบอารมณ์บางอย่างที่เราแพ้ คล้ายๆ เราจะชกมวยเราก็ต้องเลือกคู่ชก คู่ชกตัวนี้เก่งเกินไปเราเลี่ยงก่อน เราไปฝึกชกกับพวกที่ยังไม่เก่งมากก่อน เวลาที่เราจะกระทบอารมณ์ อย่างเป็นพระโดยเฉพาะเป็นพระ จะมาใช้หลักว่ามีตาก็ดูมีหูก็ฟังไม่ได้ เดี๋ยวมันแพ้ เพราะกำลังของเรายังไม่พอ กิเลสมันยังมีกำลังมาก มากกว่าสติ สมาธิ ปัญญาของเรา ฉะนั้นบางทีก็ต้องเลี่ยง ครูบาอาจารย์ท่านก็มี ท่านไปเห็นผู้หญิงสวยๆ เดินธุดงค์อยู่ในป่าแท้ๆ คิดว่าจะหลีกเลี่ยงผัสสะ หนอยไปเจอผู้หญิงสวยอยู่ในป่า ที่จริงมันอาจจะไม่สวยเท่าไรหรอก แต่ว่าตอนนั้นไม่เห็นผู้หญิงมานานแล้ว เห็นลิงก็อาจจะรู้สึกสวยขึ้นมาก็ได้ มันไม่ได้เห็นอะไรสวยๆ จริงๆ อันนี้ท่านไปเห็นผู้หญิงสวยจริงๆ จิตก็มีราคะขึ้นมา ท่านก็พิจารณาปฏิกูลอสุภะ ทำอะไรก็ไม่ลงเลย จิตมันเห็นแต่หน้าผู้หญิงคนนั้น แล้วก็สวยอยู่อย่างนั้น สู้ไม่ไหวจะสึกแล้ว ท่านก็หนี

 

“ถ้ายังสู้ไม่ไหวหนีไว้ก่อน หลบไว้ก่อน
แต่ถ้าพอสู้ไหวแล้วอย่าหนี หนีตลอดไม่มีทางชนะ
สู้แบบไม่ประเมินตัวเองก็แพ้แน่นอน
นี่มันเป็นศิลปะการปฏิบัติ”

 

เพราะฉะนั้นบางทีสู้ไม่ไหวก็ต้องถอยเหมือนกัน ต้องรู้จัก ไม่ใช่ว่าจะสักว่ารู้ว่าเห็น กระทบอารมณ์แบบห้าวหาญตลอดเวลา ต้องประเมินตัวเองเหมือนกัน ถ้าสู้ไม่ได้ต้องถอยเหมือนกัน เจอผู้หญิงสวยๆ อย่าไปมองหน้า มองเล็บเท้าแทน เดี๋ยวก็เห็นสิ่งสกปรกอะไรอย่างนี้ ก็ต้องรู้จักเอาตัวรอดเหมือนกัน จะมาห้าวหาญเห็นผู้หญิงสวยก็ดู สักว่ารู้ว่าเห็น แป๊บเดียวก็ตามเขาไปแล้ว ก็ต้องรู้ว่าเรามีจุดอ่อนอะไร อย่างมีผู้หญิงบางคน เป็นคนชอบซื้อของ เจออะไรมันก็อยากซื้อหมด วันหนึ่งก็ไปเดินที่ห้าง กะว่าจะไม่ซื้ออะไร ไปเดินเอาแอร์เฉยๆ ดูโน่นดูนี่พอสบายใจเดี๋ยวก็จะกลับบ้าน เดินไปเห็นกระเป๋า กระเป๋าสวยๆ พอเห็นปุ๊บจิตอยากได้ จิตอยากได้รู้ว่าอยากได้ เก่งไหม แล้วขาดสติอีกทีหนึ่งกระเป๋ามาถึงบ้านแล้ว ขาดยาว ถ้ายังสู้ไม่ไหวหนีไว้ก่อน หลบไว้ก่อน แต่ถ้าพอสู้ไหวแล้วอย่าหนี หนีตลอดไม่มีทางชนะ สู้แบบไม่ประเมินตัวเองก็แพ้แน่นอน นี่มันเป็นศิลปะการปฏิบัติ

 

ศิลปะการปฏิบัติ

หลักของการปฏิบัตินั้น พระพุทธเจ้าสอนแต่ละคนมีหลักของการปฏิบัติ หลักของสติปัฏฐาน ของสมถะ ของวิปัสสนา สอนอะไร สอนเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 ปฏิจจสมุปบาท 24 อะไรอย่างนี้ ท่านก็สอนใครๆ ก็ได้ยิน แต่ตอนที่ลงมือปฏิบัติมันมีศิลปะ ศิลปะว่าตอนนี้ควรจะทำสมถะ หรือควรจะทำวิปัสสนา ถ้าจะทำสมถะ สมถะชนิดไหนเหมาะกับเรา ชนิดไหนไม่เหมาะ จะทำวิปัสสนาจะใช้กรรมฐานอะไร แล้วจะมองในมุมของอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตาอะไรอย่างนี้ มันเป็นศิลปะเฉพาะตัวที่เราสังเกตตัวเอง ถ้าจะทำสมถะ เราสังเกตตัวเอง ทำกรรมฐานชนิดไหนแล้วจิตสงบ จิตสบายจิตรวมอะไรอย่างนี้ เราก็รู้เราถนัดอย่างนี้ อย่างหลวงพ่อถนัดอานาปานสติแล้วบวกพุทโธเข้าไปด้วย เพราะเรียนกับครูบาอาจารย์ตั้งแต่เด็ก ท่านก็สอนมาอย่างนี้ ฉะนั้นอยากสงบก็หายใจ สงบแล้ว

ฉะนั้นเราก็รู้เราจะใช้กรรมฐานอะไร หรือจะทำวิปัสสนา จะเดินปัญญาจะใช้กรรมฐานอะไร ก็สังเกตเอา อย่างหลวงพ่อสมาธิ ทำสมถะใช้อานาปานสติบวกกับพุทธานุสสติ เพราะว่าเป็นคนรักพระพุทธเจ้า คิดถึงพุทโธๆ อย่างนี้จิตมีความสุข เบิกบาน เวลาทำวิปัสสนาหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนให้ดูจิต ท่านไม่ได้สอนส่งเดชหรอก ก่อนที่ท่านจะสอนท่านพิจารณาเกือบชั่วโมง ไปกราบท่านบอก “หลวงปู่ผมอยากปฏิบัติ” ท่านพยักหน้าทีหนึ่ง แล้วท่านก็นั่งหลับตาของท่านนิ่งๆ ไปอย่างนั้น นานเลยเรานึกว่าท่านนอนหลับไปแล้ว ลืมตาขึ้นมาท่านก็สอนให้ดูจิตเอา ท่านบอกว่า “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” คำว่า “อ่านหนังสือมามากแล้ว” ของท่านหมายถึงหลวงพ่ออ่านพระไตรปิฎกมามากแล้ว อ่านหลายรอบพระไตรปิฎก แต่อ่านเฉพาะพระวินัยกับพระสูตร อภิธรรมอ่านไม่รู้เรื่อง ค่อยมารู้ทีหลังหรอก ภาวนาไปเรื่อยๆ

ค่อยๆ ฝึก ฉะนั้นพวกเราได้ยินว่าหลวงพ่อทำสมถะ ด้วยอานาปานสติบวกพุทธา นุสสติแล้วจะต้องเอาอย่าง ไม่ใช่ ทางใครทางมันไปดูตัวเอง ทำอย่างไรแล้วสงบเอาอันนั้นล่ะ ได้ยินว่าหลวงพ่อเจริญปัญญาด้วยการดูจิต ทำจิตตานุปัสสนาเห็นจิตเกิดดับ เห็นจิตตสังขาร จิตที่มีราคะเกิดดับ จิตที่มีโทสะเกิดดับ จิตหลงเกิดดับ ก็ไม่ใช่ว่าพวกเราทุกคนจะต้องดูจิต ทางใครทางมัน แล้วแต่สะสมมาทางไหนก็ทำทางนั้น ค่อยๆ ฝึกเอา แต่หลักต้องแม่น ดูจิตก็ไม่ใช่บังคับจิต ดูกายก็ไม่ใช่บังคับกาย หลักมันต้องแม่น ดูจิตก็ต้องรู้จิตตามที่จิตเป็น จิตเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น ดูกายก็ต้องกายเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ไปดัดแปลงกายดัดแปลงจิต เห็นไหมหลักนี้อันเดียวกัน แต่จะดูอะไรเอาที่เราถนัด ที่มันเหมาะกับจริตนิสัยเรา

อย่างหลวงพ่อเป็นพวกช่างคิดไม่ยอมง่ายๆ หรอก คำว่าศรัทธานี่ไม่มากหรอก มีศรัทธาแน่นแฟ้นในพระพุทธเจ้า แต่ศรัทธาไม่มากในพระรุ่นหลังๆ เห็นแล้วก็ชาวบ้านแค่ห่มเหลืองเท่านั้นเอง ไม่ค่อยยอมหรอก ใจ เขาไหว้ผีไหว้เจ้าไหว้อะไร ไม่เอาหรอก ไม่เชื่อ เราไหว้แต่พระ ให้ไปไหว้เจ้าไหว้อะไรใจมันไม่เอา ดูถูกไหมไม่ดูถูก แต่ใจมันไม่เอา มันรู้ว่าไม่ใช่สรณะ ถ้าไปไหว้ผีไหว้เจ้า ทำบุญให้แผ่ส่วนบุญให้ บางทีบ้านหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ลูกครึ่งจีน บรรพบุรุษเขาไหว้เจ้าไหว้อะไรกัน เราก็จุดธูปเขาให้ปักก็ปักไป แต่ในใจไม่เชื่อหรอกว่า ผีมันจะมากินขนมเข่งของเราอะไรอย่างนี้ มีแต่เดี๋ยวเราจะกินเอง ฉะนั้นใจมันจะไม่งมงายเรื่องพวกนี้ หลวงปู่ดูลย์ท่านคงดูแล้ว หลวงพ่อไม่ใช่พวกศรัทธาจริต เราเป็นพวกพุทธิจริต แล้วเป็นพวกทิฏฐิจริต เจ้าความคิดเจ้าความเห็น ท่านสอนให้ดูจิตเลย ถ้าเป็นพวกตัณหาจริต รักสุข รักสบาย รักสวย รักงาม ไปดูกาย เรียกรู้จักเลือกกรรมฐานที่มันเหมาะกับตัวเราเอง

 

ค่อยฝึกไป มันก็ค่อยพัฒนาไปได้เอง ไม่ใช่เรื่องยากหรอก เพราะฉะนั้นเราไปดูตัวเอง เราจะทำสมถะ เราจะใช้กรรมฐานอะไร เราจะทำวิปัสสนาเราจะใช้กรรมฐานอะไร แล้วเราจะดูในมุมอะไร อนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา ไตรลักษณ์ไม่ได้เห็นทีเดียว 3 อัน เห็นอันใดอันหนึ่งพอแล้ว แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรจะดูอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา ตัวนี้สนุกมากเลยในการหาคำตอบตัวนี้ ไปหาเอาเองไหม ท่าทางไม่ยอม ดูสภาวะที่เป็นปัจจุบันไป ดูกายดูใจลงปัจจุบันไปเรื่อยๆ ถ้าจิตเราตั้งมั่นเป็นกลาง สติระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจไป แล้วมันจะเห็นเอง ว่ามันจะเห็นกายเห็นใจในมุมของอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา ไม่จำเป็นจะต้องไปหาก่อนว่าควรจะดูอะไร ดูอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา จิตมันเลือกของมันเอง อย่างบางทีเราดูจิตมันเกิดดับ จิตมีราคะเกิดแล้วดับ จิตมีโทสะเกิดแล้วดับอะไรอย่างนี้ เฝ้ารู้เฝ้าดูเห็นมันเกิดดับๆ มีแล้วไม่มีคือเห็นอนิจจัง อนิจจัง เห็นว่าสิ่งที่มีแล้วมันก็ไม่มีคืออนิจจัง เวลาตัดสินความรู้จิตมันเลือกเอง บางทีดูจิตเกิดดับๆๆ อย่างนี้ เวลาที่มรรคผลเกิด มันเห็นอนัตตาเฉยเลยก็ได้ เห็นเลยทั้งหมดนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา มันเห็นเอง

เพราะฉะนั้นถึงจุดนั้นจิตมันเลือกเอง ว่ามันจะดูอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา แต่ก่อนจะถึงจุดนั้นเราพามันดูกายอย่างที่กายเป็น ดูใจอย่างที่ใจเป็น ดูไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเลือกหรอก ถึงจุดนั้นมันตัดสินเองว่ามันจะดูช่องไหน อย่างคนที่ภาวนาเป็นพวกที่ทรงสมาธิสูง จิตทรงสมาธิมาก ดูจิต จิตจะมีแต่ความสุข เพราะฉะนั้นจะไปดูว่าจิตบังคับไม่ได้ ก็ดูไม่ได้หรอก เพราะว่าจิตที่ทรงสมาธิมันเหมือนบังคับได้ มันจะทรงสมาธิอยู่นานเป็นวันๆ ก็อยู่ได้ จะไปดูอนิจจังมันก็ดูไม่ได้ เพราะมันคงที่อยู่อย่างนั้นล่ะเห็นว่ามันคงที่ ไม่เห็นว่ามันจะเป็นอนิจจังตรงไหนเลย จะไปดูว่าเป็นอนัตตาก็ไม่ได้ ก็เราทำขึ้นมาได้ จิตทรงสมาธิเราฝึกเรื่อยๆ ชำนาญแล้ว นึกจะทรงสมาธิก็ทรงเลย ดูอนัตตาก็ดูไม่ได้

แล้วทำอย่างไรจะปล่อยตรงนี้ได้ ถึงจุดหนึ่งที่อินทรีย์เราแก่กล้า บารมีเราแก่กล้าพอ จิตมันจะไปเห็นตัวทุกขตาเอง มันจะเห็นว่าตัวจิตผู้รู้ที่แสนวิเศษตัวนี้ ก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ ไม่มีอะไรทุกข์เท่าตัวจิตผู้รู้อีกต่อไปแล้วในโลกนี้ ทุกข์อย่างอื่นเรารู้ปุ๊บก็ดับปั๊บ จิตผู้รู้ดูลงไปยิ่งทุกข์ขึ้นๆๆ เหมือนโลกจะระเบิด เหมือนจิตจะแตกอะไรอย่างนี้ ในที่สุดจิตมันก็ฉลาด โอยมันทุกข์ จิตมันก็สลัดคืนจิตให้โลกไป อันนี้พวกที่เขาทรงฌาน มันจะหลุดพ้นด้วยการเห็นทุกขตา พวกที่ปัญญาแก่กล้าแล้วก็จะหลุดพ้นด้วยการเห็นอนัตตตา เห็นสุญญตา แล้วพวกทั่วๆ ไปก็จะเห็นเกิดดับ เห็นอนิจจัง เห็นอะไรไป เราเลือกไม่ได้หรอก ถึงจุดนั้นจิตเขาเลือกของเขาเอง

หลักต้องแม่น แต่เวลาเดินการปฏิบัติก็ต้องรู้จักเลือก จะใช้กรรมฐานอะไรจิตจะสงบ จะใช้กรรมฐานอะไรจะเห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ฝึกตัวนี้ ส่วนจะเห็นมุมของอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา ไม่ต้องเลือก จิตมันเลือกเองตอนที่มันตัด แต่บางคนครูบาอาจารย์เขาสอน ดูมุมนี้บ่อยๆ เพราะท่านรู้ว่ามันจะตัดด้วยมุมนี้ อย่างบางคนให้ไปดูกายเป็นอนิจจัง ดูไม่ได้ หรือไปดูจิตเป็นอนิจจังดูไม่ได้ ครูบาอาจารย์พิจารณาแล้ว ท่านก็บอกไปดูทุกอย่างไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา โลกธาตุนี้ว่างเปล่า ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขาอะไรอย่างนี้ อันนี้ท่านสอนให้ดูมุมของอนัตตา จิตเขาถ้ามองมุมอื่นแล้วมันขี้เกียจดู ถ้ามองมุมนี้แล้วมันขยันดู อย่างนี้ถ้าครูบาอาจารย์ท่านมองออก ท่านก็บอกให้ว่าเราควรจะมองมุมไหน แต่ทั้งๆ ที่ท่านบอกว่ามองมุมนี้ เราก็ฝึกพัฒนาตัวเอง แต่ตอนที่ตัดไม่มีใครบอกแล้ว จิตมันเลือกช่องที่จะตัดของมันเอง ฉะนั้นการปฏิบัติสนุก มีลีลา มีลวดลายอะไรน่าเรียนน่ารู้ สนุกมากเลย.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 ธันวาคม 2564