จิตเคลื่อนแล้วรู้

ธรรมะอยู่กับตัวเรา ธรรมะไม่ได้อยู่ที่อื่นหรอก แสวงหาออกไปข้างนอกเท่าไหร่ก็ไม่เจอ ย้อนกลับเข้ามา โอปนยิโก น้อมเข้ามาหาตัวเอง ธรรมะอยู่ที่ตัวเราเอง ฉะนั้นไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาไปที่โน่นที่นี่ ยิ่งแสวงหามาก ยิ่งเนิ่นช้า เสียเวลา ดูของจริงลงปัจจุบันไป ดูในกายในใจของเรา อย่างหลวงพ่อ หลวงพ่อเคยชินอยู่คนเดียว พอสอนตอนเช้า สอนเสร็จแล้ว เข้ากุฏิอยู่ของเราคนเดียว มีลมหายใจเป็นเพื่อน หายใจออก หายใจเข้า รู้สึกตัวไปเรื่อยๆ

พวกเราก็ต้องฝึกให้จิตใจมันมีเครื่องอยู่ อยู่กับลมหายใจ หรือลมหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เราจะบริกรรมบทอื่นก็ได้ เอาที่ถนัด หรือจะรู้ร่างกายก็ได้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน คอยรู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว เราทำงานบ้านอย่างนี้ กวาดบ้าน ถูบ้าน เห็นร่างกายมันทำงาน ใจเราเป็นคนรู้คนดูไป ฝึกทุกวันๆ ให้มากที่สุด ใจเราจะค่อยๆ มีพลังขึ้นมา มันจะตั้งมั่นโดยเราไม่ได้เจตนาให้ตั้งมั่น มันตั้งของมันได้เอง ขอให้ปฏิบัติให้สม่ำเสมอเท่านั้นล่ะ มีสติระลึกรู้ไป ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจมันทำงาน มันเคลื่อนไหว คอยรู้สึกไป แล้วเวลามันไปรู้ร่างกาย บางทีจิตมันไหลลงไปที่กายก็รู้สึกอีก อย่างเราหายใจออก หายใจเข้า จิตมันไหลลงไป ตามลมหายใจเข้าไป เรารู้ว่าจิตมันเคลื่อนไป เราเดิน บางคนหัดเดิน เท้ากระทบพื้นอะไรอย่างนี้ จิตไหลไปอยู่ที่เท้า ให้รู้ทันว่าจิตไหลไปอยู่ที่เท้าแล้ว

 

“ทำกรรมฐานแต่ไม่รู้ทันจิตของตัวเอง ยังไม่จัดว่าเป็นจิตตสิกขา”

 

ถ้าเราไม่รู้ทันจิตของตัวเอง ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แต่ไม่รู้ทันจิตของตัวเอง ยังไม่จัดว่าเป็นจิตตสิกขา เราจะได้สมาธินอกศาสนาพุทธไป เพ่ง นิ่ง จ้องก็ว่างๆ ไปอะไร หรือบางทีก็เครียดๆ ไปทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัดสักอย่างหนึ่ง แล้วพอจิตเรามันเคลื่อนไป รู้ทันมันไปเรื่อยๆ พอจิตเคลื่อนแล้วรู้ทัน การเคลื่อนนั้น จิตมันฟุ้งซ่าน มันฟุ้งไปหาอารมณ์ เช่น เราทำกรรมฐาน หายใจออก หายใจเข้า จิตฟุ้งซ่าน คือจิตมันไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ แค่นี้ก็ฟุ้งแล้ว

หรือเราพิจารณาร่างกาย เราดูลงไปในร่างกาย จิตเราไหลเข้าไปในร่างกาย อันนี้ก็ฟุ้งซ่านแล้ว ไหลไปในรูป ในกลิ่น ในเสียง ในรส ในโผฏฐัพพะ ไหลไปหาธรรมารมณ์ต่างๆ เช่น จิตมันมีความสุขแล้ว จิตมันก็ไหลเข้าไปนอนอยู่ในความสุข หรือจิตมีความโกรธเกิดขึ้น จิตมันไหลไปจมอยู่ในความโกรธ อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ยังใช้ไม่ได้ ต้องมีสติรู้ทันลงไปอีกชั้นหนึ่งว่าตอนนี้จิตมันไหลไป ไหลไปในร่างกาย หรือไหลไปในอารมณ์ที่เป็นนามธรรมต่างๆ อะไรอย่างนี้ รู้ทันไป หรือจิตเคลื่อนไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางทวารทั้ง 6 จิตมันเคลื่อนไป รู้ทันมัน

 

จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ ได้ทั้งสติ ได้ทั้งศีล ได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา

ถ้าเราทำตรงนี้ได้ การภาวนามันจะสั้นนิดเดียวเลย ไม่มีอะไร ทั้งวันจิตมีอยู่ 2 ชนิดเอง คือจิตรู้กับจิตหลง บางคนได้ยินอย่างนี้ก็สงสัยอีก เมื่อก่อนหลวงพ่อชอบพูดว่าเผลอไป รู้ แล้วก็เพ่ง ทำไมตอนนี้มาพูดว่ามีแค่จิตรู้กับจิตหลง จิตเพ่งก็เป็นจิตหลงชนิดหนึ่ง หลงไปเพ่ง มันเคลื่อนไปจมอยู่ในอารมณ์อันเดียว ฉะนั้นถ้าเราคอยรู้ทัน ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วเรารู้ทันว่าจิตมันเคลื่อนไป เรารู้ทัน พอรู้ทันแล้วจิตมันก็จะตั้งมั่นขึ้นมาเอง เราก็รู้ทันอีกว่าจิตมันตั้งมั่น พอจิตมันตั้งมั่น ก็อย่าไปประคองไว้ พอมันกระทบอารมณ์ใหม่ มันไหลไปอีก รู้อีก ไหลแล้วรู้ๆ ไปเรื่อยๆ อย่าไปกลัวจิตไหล แล้วก็ไปประคองให้นิ่งๆ ไว้ อันนั้นก็หลงเหมือนกัน หลงเพ่ง

ถ้าเราทำตรงนี้ได้ จิตไหลแล้วรู้ๆ ต่อไปพอไหลปุ๊บรู้ปั๊บเลย เพราะจิตมันจำการไหลได้ มันจำอาการที่จิตเคลื่อนไป มันจำได้ มันเห็นจิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ เห็นบ่อยๆ ในที่สุดมันก็จำได้ว่าจิตเคลื่อนเป็นอย่างนี้ ทันทีที่จิตเคลื่อน สติจะเกิดเอง เพราะสติเกิดจากถิรสัญญา การที่จิตมันจำได้แม่นยำถึงสภาวะ อย่างมันเคลื่อนแล้วเห็น เคลื่อนแล้วเห็นบ่อยๆ มันจำได้ว่าการเคลื่อนเป็นอย่างนี้ พอเคลื่อนปุ๊บ สติจะเกิดเองเลย ไม่ได้เจตนาให้เกิด เพราะฉะนั้นจิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ สิ่งแรกที่เราได้ สติ ถ้าจิตเคลื่อนแล้ว เรารู้ เท่ากับเราเจริญอินทรียสังวรอยู่ ถ้าเราไม่รู้ จิตก็หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฟุ้งซ่านไปทางทวารทั้ง 6 ถ้ามันเคลื่อนแล้วเรารู้ มันก็ไม่ไหลไปทางทวารทั้ง 6 ตั้งมั่นขึ้นมา อินทรียสังวรก็เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นอย่างเวลาคนทั่วๆ ไป ตาเห็นรูปอย่างนี้ เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่วอะไรไม่รู้ เรียกว่าไม่มีอินทรียสังวร ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด แล้วจิตใจมันเกิดอะไรขึ้นมา เช่น มันเคลื่อนไปหาอารมณ์ทั้งหลาย เรารู้ทัน จิตมันจะสงบตั้งมั่นขึ้นมา จิตก็เป็นปกติ จิตปกติก็คือจิตที่มันไม่หลงไปนั่นเอง มันตั้งมั่นอยู่โดยไม่ได้เจตนา ฉะนั้นเราฝึกเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตมันเป็นปกติ จิตที่เป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสครอบงำนั่นล่ะ จิตมันจะมีศีลอัตโนมัติขึ้นมา อย่างกิเลสมันเกิด เรามีสติรู้ทัน กิเลสดับ กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ รับรองว่าเราไม่ทำผิดศีล เรามีศีลที่เรียกอินทรียสังวรเกิดขึ้นอัตโนมัติเลย

ฉะนั้นการที่จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ อันแรกเราได้สติ เคลื่อนปุ๊บรู้ปั๊บๆ รู้เร็วขึ้นๆ จิตเคลื่อนแล้วรู้อย่างนี้ จิตก็ไม่ถูกกิเลสครอบงำ เราจะมีศีลอัตโนมัติเกิดขึ้น เรียกเป็นอินทรียสังวรศีล เป็นศีลสูง ศีลสูงกว่าศีลที่เราตั้งใจถือเป็นข้อๆ อินทรียสังวรไม่ได้เป็นข้อๆ มีข้อเดียว คือคอยมีสติรู้เท่าทันจิตตนเองเท่านั้น มันสังวรเอง สำรวมเอง ฉะนั้นเราคอยรู้ทัน จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ ไป นอกจากจะได้สติ ได้ศีลแล้ว ตรงที่เราเคลื่อนแล้วเรารู้ ขณะที่รู้การเคลื่อนจะดับ จิตจะไม่เคลื่อน จิตจะตั้งมั่นขึ้นโดยอัตโนมัติ ตัวนั้นคือตัวสมาธิ

เพราะฉะนั้นจิตเคลื่อนแล้วเรารู้ สิ่งที่เราจะได้คือสมาธิที่ดี เป็นสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่น แต่ถ้าจิตเคลื่อนแล้วไม่รู้ จิตก็ไปจมอยู่กับอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ไปแช่อยู่กับอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ไม่ใช่สมาธิที่ดี เป็นสมาธิที่จมที่แช่ นอนนิ่งอยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง สงบ แต่ไปไหนต่อไม่ได้ มันก็ซื่อบื้อ อยู่อย่างนั้น มันเหมือนงู งูมันจับเหยื่อได้ มันกินเหยื่อไปเสร็จแล้ว มันก็ไปนิ่งๆ นอนนิ่งๆ อยู่อย่างนั้นจนกว่าจะย่อยหมด จิตซึ่งมันไม่ค่อยฉลาด ไม่มีความตั้งมั่น มันไปกินอารมณ์ เข้าไปเสพอารมณ์ แล้วมันก็นอนแน่นิ่งอยู่กับอารมณ์อย่างนั้น คล้ายๆ งู ดูไปๆ จิตที่หลงไปนอนนิ่งๆ อยู่กับอารมณ์ มันเหมือนงูที่กินเหยื่อแล้ว ท้องยังป่องอยู่ นอนอยู่อย่างนั้น เสียเวลา หาความเจริญก้าวหน้าอะไรไม่ได้หรอก

ฉะนั้นเวลาจิตมันเคลื่อน เรารู้ไปเรื่อยๆ สติก็จะเกิด ศีลก็จะเกิด แล้วจิตก็จะตั้งมั่น ตั้งมั่นคือไม่เคลื่อนโดยไม่ได้บังคับ ถ้าบังคับให้มันไม่ตั้งมั่น คือเพ่ง หลงเหมือนกัน จิตไหลเหมือนกัน แต่ไหลไปจมอยู่ในอารมณ์อันเดียว เหมือนงูไปกินเหยื่อเรียบร้อยแล้ว นอนนิ่งๆ อยู่อย่างนั้น ถ้าเรารู้ทัน จิตก็ไม่จมลงไปในอารมณ์ จิตจะดีดตัวขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมา เป็นผู้รู้ผู้ดู

การที่เรามีสติเรารู้ จิตไหลแล้วรู้ๆ ก็มีสติ มีศีล มีสมาธิแล้ว เรายังมีปัญญาด้วย เราจะเริ่มเห็นความจริง จิตที่มันตั้งมั่น มันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจใหม่ ไหลทางใจ ส่วนใหญ่ก็ไหลไปทำกรรมฐานนี่ล่ะบางที ถ้าคนที่ไม่ได้ฝึกก็คือไหลไปคิด พวกที่ฝึกกรรมฐานมาแล้ว ไหลไปจมอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน นิ่งสงบอยู่ในใจ ฉะนั้นเราจะไม่รักษาจิตผู้รู้ เรามีสติจนจิตตั้งมั่นขึ้นมา มีสมาธิที่ถูกต้อง เราจะได้จิตผู้รู้ขึ้นมา

จิตผู้รู้ก็คือจิตชนิดที่เป็นกุศล คือมีสติอยู่ ไม่ได้เจตนาให้มี มีเอง มีความตั้งมั่นพร้อมที่จะเจริญปัญญา คือพร้อมที่จะทำงาน เห็นสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปได้ นั่นจิตที่ดี จิตผู้รู้ที่ดี ไม่ได้เจตนาให้เกิด ถ้าเป็นจิตผู้รู้ที่เจตนาทำให้เกิดขึ้นมา มีกำลังอ่อน ดีไหม ก็ดีเหมือนกัน แต่กำลังอ่อน เกินกว่าจะเจริญปัญญาจริง ถ้าพูดอย่างอภิธรรม จิตผู้รู้ สิ่งที่หลวงพ่อเรียกว่าจิตผู้รู้ๆ มันคือมหากุศลจิตญาณสัมปยุต คือประกอบด้วยปัญญา เดินปัญญาได้ มหากุศลจิตญาณสัมปยุตอสังขาริกัง ไม่เจตนาให้เกิด เราจงใจทำให้เกิด ยังไม่ใช่จิตที่ดีจริง

พอเราเห็นจิตมันเคลื่อนแล้วรู้ๆ ต่อไปมันจะรู้ จิตผู้รู้ก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เคลื่อนไป เกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน จิตที่หลงไปทางตาก็ไม่เที่ยง ทันทีที่เรารู้ว่าจิตหลงไปทางตา จิตที่หลงทางตาก็ดับ เกิดจิตผู้รู้ขึ้นแทน พอจิตมันหลงไปทางหู ไปฟังเสียง เรามีสติรู้ทัน จิตมันหลงไปทางหู จิตหลงไปทางหูก็ดับ เกิดจิตผู้รู้ขึ้นมาแทน ทางทวารทั้ง 6 มันเป็นอย่างนี้ เราจะเห็น จิตมันเกิดดับสลับกันไป เดี๋ยวก็เป็นจิตที่ส่งไปทางทวารทั้ง 6 เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ขึ้นมาตรงนี้ปัญญามันจะเกิด จะเห็นว่าจิตผู้รู้ก็ไม่เที่ยง จิตผู้หลง ไม่ว่าจะหลงชนิดไหน ก็ไม่เที่ยง เฝ้ารู้เฝ้าดู

 

ฝึกให้มาก สุดท้ายอริยมรรคเกิดเอง

มันก็จะเห็นไตรลักษณ์ของจิตมีปัญญาเกิดขึ้น ถ้าเราฝึกได้ การปฏิบัติเราจะสั้นนิดเดียว ไม่มีอะไรมากเลย ไม่ต้องคิดอะไรเยอะเลย จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ ไป ได้ทั้งสติ ได้ทั้งศีล ได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา ทำให้ชำนิชำนาญมากๆ เข้า สุดท้ายวิมุตติมันก็เกิดขึ้น เกิดมรรคเกิดผลขึ้น ไม่มีใครทำจิตให้บรรลุมรรคผลได้ ต้องจำไว้เลย เพราะฉะนั้นอย่าพยายาม ยิ่งพยายามยิ่งไม่บรรลุ หน้าที่มีสติรู้สภาวะไปด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางนี่ล่ะ กำลังของศีล ของสมาธิ ของปัญญา มันสมบูรณ์ขึ้นมา อริยมรรคก็เกิดเอง เราสั่งอริยมรรคให้เกิดไม่ได้ เพราะเราสั่งศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่ได้เหมือนกัน

อย่างเราฝึกสติให้มากๆๆ ศีล สมาธิ ปัญญา มันอัตโนมัติขึ้นมา กำลังมันพอ อริยมรรคก็เกิด เกิดเอง ไม่ได้จงใจให้เกิด คนที่เคยเกิดอริยมรรคแล้ว 1 ครั้ง 2 ครั้งอะไรอย่างนี้ บางคนสติปัญญามันแก่กล้า มันเห็นกระบวนการที่จิตเกิดอริยมรรค มันเห็นมีช็อตๆๆๆ ขึ้นไป มีทั้งหมด 7 ช็อต ที่มันเกิดขึ้น บางคนเห็น ส่วนใหญ่ไม่เห็น ส่วนใหญ่เวลาเกิดอริยมรรคก็เกิดฟึบ ขาดไปแล้ว ไม่ทันรู้เลยมันขาด ลีลาแห่งการขาดมันเป็นอย่างไร ไม่ทัน ถ้าจิตทรงฌานชำนิชำนาญถึงจะเห็น ถ้าจิตไม่ทรงสมาธิอย่างชำนิชำนาญจะไม่เห็น ขาดไปเฉยๆ ที่จริงไม่ได้มีใครขาดเฉยๆ หรอก ก็ผ่านกระบวนการเหมือนกันล่ะ แต่ไม่เห็น

ฝึกให้มาก ฝึกรู้สภาวะไป จิตไหลแล้วรู้ๆ ฝึก สุดท้ายมรรคผลมันก็เกิด พอมรรคผลมันเกิด เราจะเห็นนิพพาน ตัวนี้ฟังภาษาให้ดี นิพพานไม่มีเกิด อริยมรรค อริยผล เป็นโลกุตตระที่เกิดแล้วก็ดับ นิพพานเป็นโลกุตตระชนิดเดียวที่ไม่เกิดแล้วก็ไม่ดับ ฉะนั้นโลกุตตระก็มีแบบที่เกิดดับ คืออริยมรรค อริยผล อริยมรรค 4 ตัว โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค แล้วผลอีก 4 อย่าง โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล พวกนี้เกิดแล้วดับๆ ไป พอเวลาที่อริยมรรคเกิด อริยผลเกิด จะเห็นนิพพาน เห็นพระนิพพาน ฉะนั้นเราไม่ได้ไปทำนิพพานให้เกิด เราพยายามพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาให้เกิด

วิธีพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาให้เกิดคือการเจริญสตินั่นเอง สติจะเกิดได้ต้องเห็นสภาวะจนกระทั่งจิตจำสภาวะได้แม่น สภาวะสักอย่างหนึ่งที่เกิดประจำ สภาวะที่เกิดประจำเยอะแยะไป เช่น ความสุข ความทุกข์อะไรนี่ มันเกิดประจำอยู่ในร่างกาย ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ เกิดประจำอยู่ในจิตใจ กุศล อกุศล พวกนี้ก็เกิดประจำอยู่ในใจเรา จะเห็น เดี๋ยวก็จิตโลภ เดี๋ยวก็ไม่โลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธอะไรนี่ แต่ถ้าจะเรียนให้สั้นที่สุด เรียนเข้ามาที่ตัวจิตเลย จิตรู้กับจิตหลง 2 ตัวนี้ เล่นคู่นี้ได้ มันคล้ายๆ เข้ามาที่รังโจร จิตผู้รู้ที่เราพัฒนาขึ้นมาอย่างลำบากยากเย็น ที่จริงคือรังของโจร ซ่องโจร ตัวอวิชชา มันซ่อนอยู่ในตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะ

ตอนหลวงพ่อยังไม่ได้บวช หลวงพ่อเห็นผู้รู้ไม่สะอาด ตัวผู้รู้สงบ ตัวผู้รู้สว่าง แต่ตัวผู้รู้ไม่สะอาด จากตัวผู้รู้ซึ่งมีกิเลสซ่อนอยู่ภายใน สุดท้ายกิเลสมันก็งอกงามขึ้นมา จิตผู้รู้ก็ตายไป เกิดจิตผู้หลงนานาชนิด หลงรัก หลงโกรธ หลงโลภอะไรพวกนี้ หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ เกิดตัวนี้ขึ้นมา งอกขึ้นมาออกมาจากตัวจิตผู้รู้นี่ล่ะ ตอนนั้นก็ไปกราบหลวงปู่เทสก์ ตอนนั้นหลวงปู่ดูลย์สิ้นไปแล้ว ไปกราบหลวงปู่เทสก์ว่า “ผมเห็นจิตที่เป็นต้นกำเนิดทั้งหมดแล้ว วัฏสงสารทั้งหลาย มันออกไปจากจิตดวงนี้ล่ะ ผมจะทำลายมันได้อย่างไร ผมจะทำลายเชื้อเกิดได้อย่างไร” ท่านบอกว่าภาวนาไป มีสติไป มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ฝึกไป เมื่อมันแก่กล้าแล้ว มันทำลายของมันเอง

ฉะนั้นเราภาวนา ครูบาอาจารย์หลายองค์ท่านก็พูดตรงกัน การดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด ไม่ต้องอ้อมไปที่กาย ไม่ต้องอ้อมไปที่เวทนา ไม่ต้องอ้อมไปที่จิตตสังขาร ตัดตรงเข้าที่ตัวจิตเลย เราจะเห็นจิตมี 2 อย่างเอง จิตผู้รู้ กับจิตผู้หลง ถ้าหยาบกว่านั้นหน่อยหนึ่ง จะเห็นจิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ เห็นเป็นคู่อย่างนี้ จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ จิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ จะเห็นอย่างนี้ อันนั้นยังเป็นกิริยาอาการ เป็นความรู้สึก เป็นจิตตสังขารที่แทรกเข้ามาในตัวจิตอีกทีหนึ่ง ถ้าเราเห็นจิตผู้รู้ได้ จะเห็น เดี๋ยวก็มีจิตผู้รู้ เดี๋ยวก็มีจิตผู้หลง หลงฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ก็ได้ หลงเพ่งอยู่ทางทวารใจก็ได้ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ศีล สมาธิ ปัญญา เราแก่รอบ มรรคผลเกิดเองล่ะ ไม่ได้ยากอะไรหรอก

 

พุทโธตัวจริง

บางคนสงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมไม่ค่อยมีใครพูดถึงจิตผู้รู้ สมัยที่หลวงพ่อเข้าไปเรียนกับครูบาอาจารย์ 30 กว่าปีก่อน เรียนกับองค์ไหนท่านก็พูดแต่คำว่าจิตผู้รู้ รุ่นหลังๆ คนลืมคำว่าจิตผู้รู้ไป จะเอาแต่พุทโธให้จิตสงบ เสียแก่นสารสาระไปแล้ว เรียนไม่ได้แก่น ได้แต่ผิวๆ เปลือกๆ มัน นั่งท่องพทุโธไปเรื่อยๆ หวังว่าจิตจะสงบ จิตจะดี จิตวันหนึ่งจะบรรลุมรรคผล มันยังไม่มีเหตุมีผลพอ

พุทโธจริงๆ คืออะไร พุทโธจริงๆ คือผู้รู้ พุทโธแปลว่าอะไร แปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เรามัวแต่เรียกชื่อมัน แต่เราไม่เห็นตัวมัน มันก็ยังไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่หรอก เหมือนเราท่องตำรา ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ท่องได้ แต่ฉันทะหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่เคยเห็น วิริยะหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่เคยเห็น จิตตะ วิมังสาเป็นอย่างไร ไม่เคยเห็น มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา เราท่องคำว่า พุทโธๆ แต่เราไม่เคยเห็นพุทโธ เราไม่เคยเห็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เรียกเรายังไม่ได้สาระอะไรเลย เราท่องได้แต่ชื่อ แต่เราไม่เจอตัว เหมือนเรารู้จักชื่อใครสักคนหนึ่ง ตัวจริงเป็นอย่างไรไม่รู้ไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้ มันผิวเผินเกินไป ฉะนั้นเราต้องเรียนให้ได้ พุทโธตัวจริง จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าท่านสอนเข้ามาที่ผู้รู้เลย

อย่างครูบาอาจารย์องค์หนึ่งที่หลวงพ่อเรียนกับท่าน ท่านอาจารย์บุญจันทร์ วัดถ้ำผาผึ้งท่านสอนบริกรรม ไม่ได้สอนหลวงพ่อหรอก ท่านสอนคนทั่วๆ ไป สอนบอก “พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ” ไม่ใช่พุทโธเฉยๆ พุทโธเป็นสิ่งที่ใจมันไปรู้เข้า พุทโธแล้วก็รู้ใจของตัวเองให้ได้ ตัวใจตัวนั้น ตัวผู้รู้ เรามีผู้รู้เพื่ออะไร ก็ต้องรู้เหตุผล ไม่ใช่มีผู้รู้แล้วก็จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ฟังแล้วยังไม่มีเหตุผลพอ ที่เรามีจิตผู้รู้ขึ้นมา เพื่อจะตัดชีวิตเราให้ขาดเป็นท่อนๆ ชีวิตช่วงนี้หลง ชีวิตช่วงนี้รู้ ชีวิตช่วงนี้หลง ชีวิตช่วงนี้รู้ ชีวิตมันจะขาดเป็นท่อนๆๆๆๆ ไป สันตติมันขาด สันตติคือความสืบเนื่องมันขาด ถ้าเราไม่มีจิตผู้รู้ สันตติจะไม่ขาด ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง

อย่างคนหลงอย่างนี้ มันหลงทั้งวัน มันหลงตั้งแต่ตื่นจนหลับ หลับแล้ว มันก็หลงฝันไปอีก ชีวิตมีอันเดียวคือหลง มันไม่มีทางเงยหน้าอ้าปากขึ้นมาเห็นธรรมะได้เลย แต่อย่างเราหลงอยู่ แล้วเราเกิดจิตผู้รู้ ชีวิตที่หลงเป็นอดีตไปหมดแล้ว ตายไปหมดแล้ว ชีวิตปัจจุบันรู้ ชีวิตปัจจุบันที่รู้ อยู่ชั่วคราวก็ตาย กลายเป็นชีวิตที่หลงขึ้นมาอีกแล้ว พอชีวิตที่หลงเกิดขึ้น เกิดสติรู้ทันอีก ชีวิตที่หลงก็ตายไป เกิดชีวิตที่รู้ขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นที่เรามีจิตผู้รู้ เพื่อจะตัดตอนสภาวะอันนั้นให้มันขาดเป็นช่วงๆๆๆ ไป เรียกว่าสันตติมันขาด ถ้าสันตติไม่ขาด ไปทำวิปัสสนายังไม่ได้หรอก

เข้าใจหรือยังว่าทำไมต้องมีจิตผู้รู้ จิตผู้รู้จะทำให้สันตติขาด ถ้ามีจิตผู้หลง มีแต่สันตติ คือหลงๆๆๆๆ ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แต่พอมีผู้รู้ปุ๊บ ที่หลงๆๆ เราขาดสะบั้นเลย เกิดรู้แทรกขึ้นมา มันจะเหมือนเราเกิดใหม่อดีตที่หลงตายไปแล้ว ปัจจุบันรู้ แล้วมันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็หลงใหม่ ไม่ต้องห้าม ถ้าจะรักษาตัวผู้รู้ จะรู้ๆๆ ไปเรื่อยๆ ใช่ไหม ก็ไปสร้างสันตติตัวใหม่ขึ้นมา สร้างความสืบเนื่องชนิดใหม่ขึ้นมา ฉะนั้นเราเฝ้ารู้เฝ้าดู จะเห็นจิตหลงเกิดแล้วดับ จิตรู้เกิดแล้วดับ เฝ้ารู้เฝ้าดูอย่างนี้ สันตติขาด

มีคำอยู่ 2 ตัว ฆนะตัวหนึ่ง ฆนะ กับสันตติ ฆนะมันแตกตอนที่เรามีตัวผู้รู้ ขันธ์มันจะกระจายตัวออก ฉะนั้นตัวผู้รู้ทำให้ฆนะแตก ฆนะตัวนี้ อย่างนี้เรารู้สึกมีตัวเราเพราะฆนะไม่แตก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมอยู่ด้วยกัน ในขณะจิตเดียวกัน รูปนามรวมอยู่ด้วยกัน เรียกมันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ฆนะคือคำว่ากลุ่มก้อน พอมีตัวผู้รู้ขึ้นมามันจะเห็น รูปก็อยู่ส่วนรูป จิตอยู่ส่วนจิตที่เป็นผู้รู้ มีเวทนาเกิดขึ้น ผู้รู้อยู่อย่างนี้ จะเห็นเวทนากับจิตแยกออกจากกัน เรียกมันแตก แตกออกได้ แล้วพอแตกแล้ว ต่อไปสันตติก็ขาดด้วย โดยเฉพาะดูที่จิต เกิดดับๆ รวดเร็ว ทำอย่างนี้ได้ มรรคผลนิพพานไม่ไกลๆ ทำไม่ได้ มีแต่จิตหลงๆๆๆ กระทั่งจิตหลงเพ่ง เพ่งอยู่อย่างนั้นล่ะ จิตหลงเพ่งอยู่ได้เป็นกัปๆ เลย เป็นพรหมไปนั่งเพ่งไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาจิตของเรา ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง สรุป ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แต่ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร ให้มีจิตเป็นผู้รู้ผู้ดูกรรมฐานอันนั้น เช่น เราหายใจออก หายใจเข้า เราเห็นร่างกายที่หายใจออก ร่างกายที่หายใจเข้าถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ แล้วถ้าจิตมันไหลไปที่อื่น มันลืมร่างกายที่หายใจ สมมติเราใช้ร่างกายหายใจเป็นวิหารธรรม เป็นที่อยู่ของจิต พอจิตมันเกิดหนีไปคิดเรื่องอื่น เรามีสติรู้ทัน จิตหนีไปแล้ว ไม่ห้าม หนีได้ แต่หนีแล้วรู้

 

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว อันนั้นเรื่องของสมถะ เอาไว้ตอนไหนมันไม่มีแรงแล้ว จิตมันฟุ้งแล้ว ทำอย่างนั้นให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว แต่ตอนที่เราจะฝึกจิตของเราให้ดีขึ้นมา ให้พัฒนาก้าวหน้ารวดเร็ว ทำกรรมฐานไป แล้วพอจิตมันทิ้งจากอารมณ์กรรมฐาน รู้ทันมันไป อย่างเราท่องพุทโธๆ อยู่ดีๆ หนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว รู้ทันว่าจิตหนีไป จิตหลงเกิดขึ้น พอเรามีสติรู้ว่าจิตหลงเกิดขึ้น จิตหลงจะดับ จิตรู้จะเกิด มันจะอัตโนมัติเลย

พอจิตรู้เกิดบ่อยๆ มันจะสลับกับจิตหลง ครั้งแรกช่วงแรกๆ ที่ฝึก จิตหลงยาว ยาวมากๆ แล้วเกิดจิตรู้แวบเดียว แล้วจิตหลงก็ยาวๆ อีก แล้วเกิดจิตรู้อีกแวบหนึ่ง แต่พอเราฝึกชำนิชำนาญ จิตหลงแวบหนึ่ง จิตรู้แวบหนึ่ง จิตหลงแวบหนึ่ง จิตรู้แวบหนึ่ง หลวงพ่อไม่ได้บอกว่าจิตรู้ รู้ๆๆๆๆ เดี๋ยวก็รู้สึกอีกจิตเที่ยงขึ้นมา พวกที่ภาวนาแล้วเห็นว่าจิตเที่ยง มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ จริงๆ จิตมันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา

เราค่อยฝึกไปเรื่อย ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง พอจิตมันหลงไปจากอารมณ์กรรมฐาน เรารู้ ตรงที่เรารู้ปุ๊บ จิตรู้จะเกิดขึ้นอัตโนมัติเลย ฉะนั้นอารมณ์กรรมฐานเหมือนเหยื่อตกปลา จิตรู้คือตัวปลา ฉะนั้นเราไม่ได้เอาพุทโธ เราไม่ได้เอาลมหายใจหรอก เราไม่ได้เอายืน เดิน นั่ง นอน ไม่ได้เอาท้องพองยุบ ไม่ได้เอาขยับมือ 14 จังหวะอะไรอย่างนั้นหรอก อันนั้นเหยื่อตกปลา เหมือนไส้เดือนเท่านั้นเอง ที่เอาไปเกี่ยวเบ็ดตกปลา ตัวปลาคือตัวจิตตัวจิตรู้นี่ล่ะ

ฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง คล้ายๆ มีเบ็ดตกปลา มีเหยื่อตกปลาแล้ว กรรมฐานนี้เป็นเหยื่อตกปลา จิตเรามาอยู่ที่อารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน ปลาว่ายมาอยู่จะมากินเหยื่อแล้ว ปลาว่ายดุกดิกๆ มา รู้ทัน มันไม่ยอมกิน มันหนีไปแล้ว รู้ทัน หรือมันฮุบไปแล้ว รู้ทัน ตรงมันฮุบคือจิตมันจับอารมณ์เข้าไปแล้ว รู้ทัน มันไปเพ่ง หายใจเข้าพุท ออกโธ แล้วมันไปเพ่งลมหายใจ มันไปติดเบ็ดแล้ว

ดีไหมปลาติดเบ็ด ถ้าเราเป็นปลามันก็ไม่ดีหรอก ถ้าเป็นคนตกปลา ก็ดีสิ แต่เราจะเอาจิต เราเอาปลา ปลาเป็นตัวเอก ไม่ได้เอาเหยื่อ อารมณ์กรรมฐานคือเหยื่อตกปลา จิตคือปลา เรามีอารมณ์กรรมฐานเป็นตัวล่อ เดี๋ยวจิตมันเข้ามาหาอารมณ์กรรมฐาน บางทีมันมาแล้วมันก็ฮุบเข้าไป เสร็จแล้ว คือการติดเพ่ง ติดอยู่ในอารมณ์อันนั้น บางทีมันมาแล้วมันมามองๆ แล้วมันก็ไม่เอา ดูไปดูมา หนีไปที่อื่นแล้ว นี่คือจิตหลง หลงไปที่อื่นแล้ว ลืมอารมณ์กรรมฐาน เคยไหม หายใจเข้าพุทออกโธ คิดเรื่องอื่นไปแล้ว คิดไปถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปแล้ว นี่ปลาหนีไปแล้ว ปลาก็ไม่ได้ เสียเวลาตกปลา

คอยรู้ปลาคือจิตมันจะไปที่ไหน ถ้ารู้ทันมัน เราจะพัฒนาได้ เราจะได้จิตผู้รู้ขึ้นมา ถ้ารู้ไม่ทันก็จะมี 2 อัน คือจิตผู้เพ่งกับจิตผู้หลงไป ฉะนั้นให้ไปทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง หลงแล้วรู้ไปเรื่อยๆ พอเห็นบ่อยๆ จิตมันจำได้ว่าสภาวะหลงเป็นอย่างไร พอหลงปุ๊บ ความหลงจะดับทันที เพราะสติจะเกิดทันที ทันทีที่สติเกิด จิตจะเป็นกุศลแล้ว จิตหลงเป็นจิตอกุศล ทันทีที่สติเกิด จิตหลงก็จะดับทันที

เราจะได้สติขึ้นมา ถ้าเรามีสติอยู่เนืองๆ กิเลสครอบงำใจเราไม่ได้ ศีลเราจะดีขึ้นมา เรามีสติเนืองๆ รู้เท่าทันจิตใจตัวเอง จิตจะตั้งมั่นมากขึ้นๆ มันจะมีกำลังขึ้น อย่างบางคนหลวงพ่อบอก เออ ช่วงนี้จิตมีกำลังแล้ว ที่จิตมันมีกำลังไม่ใช่จิตมันไปยกอะไรได้หรอก จิตมันมีกำลังคือมันรู้ตัวได้ถี่ๆๆๆ อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้จงใจที่จะรู้สึก แต่ก่อนที่มันจะรู้ได้เป็นธรรมชาติโดยไม่จงใจ มันก็ต้องจงใจไว้ก่อน หัดเหมือนตกปลานี่ล่ะ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเคลื่อนมาที่อารมณ์นี้ก็รู้ จิตหนีไปก็รู้ รู้เรื่อยๆ ไป

ตรงที่เรารู้ทันจิตที่เคลื่อนไปเคลื่อนมา จิตที่เคลื่อนมาตรงนี้ก็หลง หลงเพ่ง หลงเผลอ หลงเพลิน ตรงที่รู้ทันว่าจิตหลง สติ ศีล สมาธิ ปัญญาจะเกิด จะสะสมไปเรื่อยๆ สุดท้ายวิมุตติก็เกิด มรรคผลก็เกิดขึ้น ยากไปไหม นี้ง่ายที่สุดล่ะนะ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันเวลาจิตมันหลง ไม่ได้รักษาจิต จิตมันหลงแล้วรู้ จิตเราหลงแล้วรู้ เอ๊ะ ทำไมหลวงพ่อบอกว่าให้มีสติรักษาจิต แต่ทำไมบอกเราว่าไม่ต้องไปรักษาจิต เราไม่ต้องรักษา สติมันรักษาให้เราเอง มีสติเถอะจิตไม่ชั่วหรอก มีสติเถอะ จิตไม่ฟุ้งซ่านหรอก มีสติเรื่อยๆ ไปแล้ว เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายของรูป ของนาม ปัญญามันก็เกิดเอง

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
12 ธันวาคม 2564