เข้าใจจิตก็เข้าใจโลก

พวกเราก็ตั้งอกตั้งใจภาวนากันมา ผ่านไปอีกเกือบปีแล้ว อีกไม่กี่วันก็หมดปีแล้ว ปีที่ผ่านมาก็ลำบากกันเป็นส่วนมาก ส่วนน้อยสบายขึ้น มันเป็นจังหวะของชีวิตแต่ละคน ไม่เท่าเทียมกัน ในสถานการณ์อย่างเดียวกัน บางคนลำบาก บางคนสบาย บางคนเสียเปรียบ บางคนได้เปรียบ คนที่เคยเสียเปรียบก็อย่าท้อใจ ลำบากยากเข็ญอะไร มันไม่เที่ยงหรอก ความลำบากยากเข็ญอะไรพวกนี้ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ส่วนพวกที่ทำมาหากินคล่องในยามที่คนอื่นเขาลำบาก มีหลายพวก หลายคนมาเล่าให้หลวงพ่อฟัง ก็อย่านึกว่ามันต้องดีตลอดไป อย่างช่วงนี้บางทีบางคนทำของขายทางอินเทอร์เน็ต ขายดี ประเภทขายต้นไม้ ขายดี ได้รายได้เยอะ บางคนทำขนมขาย ทำเก่ง ขายดี พอโควิดผ่านไป เปิดบ้านเปิดเมืองแล้ว คนก็เดินไปซื้อที่อื่นก็ได้

เพราะฉะนั้นไม่ว่าความสุขหรือความทุกข์ ความสบายหรือความลำบาก มันก็ไม่ยั่งยืนทั้งนั้นล่ะ ความจริงเท่านั้นถึงจะยั่งยืน เรื่องโลก ไม่มีความแน่นอน ไม่มีความยั่งยืน โลก มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เราพยายามศึกษาความจริงของชีวิต ความจริงของโลกที่เราอยู่ด้วย ให้มันเห็นความจริงไป ทุกอย่างไม่แน่นอน อะไรๆ ก็ไม่เที่ยง

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป ต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิต เราไม่ทุกข์เท่าไหร่หรอก คนอื่นทุกข์แทบเป็นแทบตาย เราไม่ทุกข์หรอก เพราะเราเข้าใจความจริงของชีวิตแล้ว เข้าใจความจริงของโลกแล้ว สิ่งที่เรียกว่าโลกๆ มันก็คือรูปธรรมนามธรรมนี้เอง ฝึกทุกวันๆ กิเลสอะไรยังไม่ละก็พยายามละเสีย กุศลอะไรยังไม่ได้เจริญก็เจริญเสีย เป็น กรอบกว้างๆ ที่เราจะพัฒนาตัวเองไป

การกระทำบางอย่าง เราไม่รู้หรอก เราดูไม่ออกว่ามันเป็นการสนองกิเลสเรา บางทีทำดีทำอะไรนี้ เราไม่เห็น มันมีกิเลสซ่อนอยู่ข้างใน ความดีของเราไม่สมบูรณ์ ดีนิดๆ หน่อยๆ มีอกุศลเจือเข้าไปด้วย พูดลำบากเรื่องอย่างนี้ เรียนกับหลวงพ่อ บางคนเราก็พูดตรงๆ ได้ บางคนเราก็พูดตรงๆ ไม่ได้ พูดแล้วมีโทษมาก บอกตรงๆ ไม่ได้ แต่บางคนบอกตรงๆ ได้

 

เรียนกรรมฐานบางอย่าง เมื่อเข้าใจจะเข้าใจโลก

อดทน อดทนเข้า พากเพียรทุกวันๆ ภาวนาของเราไป สังเกตตัวเองไป อยากรู้โลกอย่างแจ่มแจ้งก็เรียนรู้จิตของตัวเองให้แจ่มแจ้ง ถ้าเข้าใจจิตของตัวเองก็เข้าใจโลก จิตของเราแสดงไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา โลกข้างนอกก็แสดงไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา แต่โลกข้างนอกนั้นมีตัวอย่างให้เราศึกษามากเกินไป เรามาเรียนอยู่ที่กายที่จิตของเรานี้ ไม่มีอะไรมากมาย อย่างเราเรียนที่กาย ก็เห็นกายที่หายใจออกไม่ใช่ตัวเรา กายที่หายใจเข้าไม่ใช่ตัวเรา แค่นี้ก็เห็นแล้ว รูปธรรมทั้งหมดไม่มีตัวเรา หรือเราเห็นจิตใจเรา เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เกิดดับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถึงจุดหนึ่งก็รู้ว่ากระทั่งจิตมันก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เรียนอยู่ในกายในจิตของตัวเอง ไม่ต้องเรียนเยอะ เรียนนิดเดียว

อย่างเราจะเรียนจิตของเรา ถ้าเราเป็นคนขี้โมโห เราก็ดูไป จิตเดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ ดูอยู่แค่นี้ แค่นี้ก็พอแล้ว ใจขี้โลภ เราก็รู้ไป ใจมันโลภขึ้นมาก็รู้ ใจมันไม่โลภก็รู้ ทั้งวันจิตใจเราก็มีอยู่แค่นี้ล่ะ คือจิตที่โลภกับจิตที่ไม่โลภ ถ้าพวกขี้โกรธทั้งวัน มันก็มีแต่จิตโกรธกับจิตไม่โกรธ เราเรียนกรรมฐานบางอย่างเท่านั้นเอง แต่เวลาเข้าใจจะเข้าใจโลกเลย อย่างพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ท่านเรียนเข้ามาที่ตัวท่านเอง เรียนที่รูปนาม คือท่านดูลงมาที่ปฏิจจสมุปบาท ก็คือรูปกับนามทั้งนั้นล่ะ ในปฏิจจสมุปบาทไม่มีอย่างอื่น พอท่านเข้าใจรูปนามตัวนี้แจ่มแจ้งแล้ว ท่านเข้าใจโลกทั้งหมด เลยได้ชื่อว่า โลกวิทู รู้แจ้งโลก ผู้รู้แจ้งโลก

ทำไมหลวงพ่อไม่แนะนำให้เราไปเรียนรู้ที่โลกโดยตรง โลกมันมีเรื่องที่ให้เรียนเยอะเหลือเกิน แค่ตามข่าวแต่ละวันก็ตามไม่ไหวแล้ว วุ่นวาย ทุกวันๆ ไม่มีอะไรคงที่เลย เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เศรษฐกิจก็เปลี่ยน การเมืองก็เปลี่ยน สังคมก็เปลี่ยน วัฒนธรรมก็เปลี่ยน การเมืองภายใน การเมืองภายนอกประเทศ การเมืองท้องถิ่น การเมืองระดับชาติ ระดับโลก มีเรื่องที่ให้เรียนเยอะเกินไป เราไม่สามารถเรียนอะไรที่มากมายขนาดนั้นแล้วให้รู้แจ่มแจ้งขึ้นมาได้ เราถึงเรียนลงมาที่รูปที่นาม ที่กายที่ใจของตัวเองนี้ เรียนไม่มาก

อย่างถ้าเราเห็นว่าร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา ก็เห็นเลยทั้งหมดไม่มีเราหรอก เราเห็นจิตใจเดี๋ยวก็สุข จิตที่สุขก็ไม่ใช่เรา เกิดแล้วก็ดับ บังคับไม่ได้ จิตที่ทุกข์ก็ไม่ใช่เรา จิตทั้งหมดก็ไม่ใช่เราแล้ว เรียนนิดเดียว อย่างเมื่อกี้บอกแล้ว อย่างคนขี้โกรธก็เรียนไป จิตมี 2 อย่างเท่านั้นทั้งวัน จิตโกรธกับจิตไม่โกรธ ถ้าเห็นว่าจิตโกรธไม่ใช่เรา จิตไม่โกรธก็ไม่ใช่เรา จิตทั้งหมดก็ไม่ใช่เราแล้ว ฉะนั้นเรียนจุดเล็กๆ นี้ล่ะ เรียนให้ถ่องแท้ เรียนแล้ว เรียนอีก

ถ้าเรียนรู้โลกภายนอก สตาร์ตจากโลกภายนอก มันเรียนไม่รู้จักจบจักสิ้นหรอก มันไปเรื่อยๆ บอกว่าการศึกษาต้องทำตลอดชีวิต ทำอย่างไรก็ไม่จบหรอก คนโบราณยังมีโอกาสเรียนรู้โลกข้างนอกแล้วพอดูได้ อย่างมีหลวงพ่อเคยอ่าน พวกนักวิชาการเขาวิจัยกัน บอกว่าคนสมัยอยุธยา ตลอดชีวิตรับข้อมูลข่าวสารเท่ากับพวกเรายุคนี้รับ 2 – 3 วันเอง เขารู้ได้อย่างไรก็ไม่รู้ ฟังก็แปลกๆ สงสัยในวิธีการศึกษา แต่ความเป็นไปได้มันมี ยุคก่อนเคยอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ปู่ย่าตายายทำอะไรมา ก็ทำต่อกันอย่างนั้น ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลง นานๆ จะมีข่าวสารอะไรแปลกปลอมเข้ามา

เพราะฉะนั้นคนไม่มีเรื่องที่วุ่นวายมาก เรียนรู้โลกข้างนอกยังพอเรียนรู้ได้ ก็เห็นในหมู่บ้านนี้ เดี๋ยวก็มีคนเกิด เดี๋ยวมีคนแก่ เดี๋ยวมีคนเจ็บ เดี๋ยวมีคนตายอะไรอย่างนี้ มันดูอย่างนี้ก็ยังดูง่าย หรือเห็นโลก ปีนี้น้ำเยอะ ปีนี้น้ำแล้งอะไรอย่างนี้ จะเห็นมันไม่มีเรื่องอะไรที่ซับซ้อนมากมาย ทุกวันนี้โลกมันซับซ้อนมาก ข้อมูลข่าวสารซับซ้อนมาก เราไปเรียนข้างนอก ไม่รู้จักจบจักสิ้นหรอก เรียนไม่ทัน แค่อ่านข่าวก็อ่านไม่ทันแล้ว อย่างคนที่ดูอินเทอร์เน็ต ดูวันหนึ่ง 10 ชั่วโมง ยังอ่านได้ไม่หมดเลย เท่าไหร่ก็ไม่หมด ข้อมูลวันหนึ่งๆ เราใช้เวลา ถ้าศึกษาข้อมูลทั้งวัน ของ 1 วันที่มีอยู่ตอนนี้ ใช้เวลาปีหนึ่งยังไม่หมดเลย

 

ธรรมะแสดงอยู่ที่กายที่ใจของเราเอง

ฉะนั้นเราไม่ต้องไปเรียนอะไรมากมายข้างนอก เรียนลงมาที่กายที่ใจของตัวเองนี้ อย่าละทิ้งมัน ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมะที่อื่น ธรรมะแสดงอยู่ที่กายที่ใจของเราแล้วล่ะ ถ้าเราเห็นว่ากายนี้ใจนี้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ตัวเราของเราไม่มี ในกายในใจนี้ทุกอย่างมันก็ไม่มีไปด้วย บ้านเรามันจะมีได้อย่างไร ตัวเรามันยังไม่มีจริงเลย คนสัตว์อะไรพวกนี้มีโดยสมมติ ที่จริงร่างกายมันก็เป็นแค่วัตถุ จิตใจก็เป็นแค่นามธรรมที่เกิดดับหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป มีเหตุ ไม่ใช่ไม่มี

อย่างจิตบางคนทำไมกุศลเกิดบ่อย จิตบางคนอกุศลเกิดบ่อย ไม่ใช่ฟลุก ไม่ใช่บังเอิญ ไม่ใช่เทวดาลิขิต เป็นเรื่องของกรรมทั้งสิ้นเลย อย่างเราสะสมความขี้บ่น สะสมความขี้บ่นไว้ บ่นทุกวันๆ พอแก่บ่นเก่งติดอันดับโลกเลย เราทำของตัวเราเอง ทำไมใจมันหงุดหงิดเก่ง ทำไมใจมันขี้บ่นอะไรอย่างนี้ ก็เพราะเราสะสมของเราเอง ทำไมใจบางคนมันเย็น วันๆ คิดแต่เรื่องสร้างคุณงามความดี เสียสละอะไรอย่างนี้ ก็เพราะเขาฝึกของเขามาอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นใจเราที่มันเปลี่ยนแปลงไปอะไรนี่ อย่าไปโทษคนอื่นเลย โทษตัวเอง เรียนรู้อยู่ที่ตัวเองนี้ล่ะให้แจ่มแจ้ง เข้าใจจิตใจตัวเองก็จะเข้าใจชีวิตของตัวเอง เข้าใจสิ่งที่แวดล้อมชีวิตของเราอยู่ ครอบครัวเราอย่างนี้แวดล้อมเราอยู่ ที่ทำงานเรา เพื่อนร่วมงานเราแวดล้อมเราอยู่อีกชั้นหนึ่ง สังคมข้างนอกก็แวดล้อมเราอยู่อีกชั้นหนึ่ง สังคมระหว่างประเทศก็แวดล้อมเราอยู่อีกชั้นหนึ่ง ถ้าชั้นในสุดก็คือที่จิตของเราเอง เขยิบกว้างออกมาก็มีที่กายด้วย ที่จิตด้วย กว้างกว่านั้นก็เป็นครอบครัว เป็นสังคม เป็นชั้นๆ ไป เรียนจากแกนกลางของมัน เรียนรู้อยู่ที่จิตได้ง่ายที่สุดเลย ถ้าเมื่อไรเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา โลกทั้งโลกมันก็ไม่เป็นตัวเราหรอก

ง่ายๆ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป แล้วการที่จะเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่นึกเอา แต่ดูของจริงเอา จิตใจมันเป็นตัวเรา เป็นของเราจริงไหม เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป จิตมีแต่ของเกิดดับ จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วดับ จิตโลภ โกรธ หลงเกิดแล้วก็ดับ เฝ้ารู้ลงไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นอีก จิตจะสุขหรือจิตจะทุกข์ จิตจะดีหรือจิตจะชั่ว สั่งไม่ได้ ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ นี้เรียกเห็นอนัตตา เรียนรู้อยู่เท่านี้ล่ะ รู้ อ่านจิตอ่านใจของตัวเอง ขั้นแรกก็รู้ว่ามีสภาวะอะไรเกิดขึ้น ขั้นต่อมาก็เห็นเลยว่าสภาวะทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ถ้าดูจิตดูใจ ในไตรลักษณ์มันจะมี 2 ตัวที่เด่นสำหรับคนทั่วๆ ไป คืออนิจจังกับอนัตตา อย่างเราเห็นจิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตดี จิตชั่วเกิดแล้วดับ อันนี้เห็นอนิจจัง เราเห็นว่าจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว เราสั่งให้เกิดไม่ได้ เราห้ามมันไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เฝ้ารู้เฝ้าดู จะเห็นว่าเราบังคับมันไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ นี้เราเห็นอนัตตา เรียนรู้ลงไปให้มากๆ เรียนรู้ลงที่จิตตัวเองให้มากๆ แล้วต่อไปมันก็จะเข้าใจ ความเข้าใจมันแจ่มแจ้งขึ้น กระทั่งจิตยังไม่เป็นตัวเรา กายมันจะเป็นตัวเราได้อย่างไร เราค่อยภาวนา เราจะเห็นอย่างนั้นเลยกายเป็นของข้างนอกๆ เป็นเปลือก เป็นถ้ำ เป็นอุโมงค์ เป็นโพรงที่จิตอยู่ข้างใน กระทั่งจิตซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน กายเป็นบ้าน เจ้าของบ้านยังไม่ใช่ตัวเราเลย บ้านจะมาเป็นตัวเราได้อย่างไร เรียนอยู่ที่จิตอย่างนี้

หลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนให้หลวงพ่อดูจิต แต่ไม่ใช่ท่านสอนทุกคนดูจิต ลูกศิษย์ท่านดูกายก็มีเยอะแยะ ลูกศิษย์ที่ดูจิตก็มีส่วนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นคนในเมือง เป็นพวกมีการศึกษาอะไรนี้ ใจมันชอบคิดอะไรอย่างนี้ ท่านให้ดูจิตเอา หลวงพ่อก็ดูจิตไปด้วย เห็นจิตมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกครั้งที่มีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตมันก็เปลี่ยนแปลง สุดท้ายมันก็เข้าใจจิตขึ้นมา จิตไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก เป็นแค่ธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลกเท่านั้นเอง พอหลวงพ่อเข้าใจตัวนี้แล้ว ไปกราบหลวงปู่ หลวงปู่บอกว่าช่วยตัวเองได้แล้ว

พอท่านบอกอย่างนี้ หลวงพ่อก็ออกไปศึกษาที่โน้นที่นี้ เข้าสำนักครูบาอาจารย์ต่างๆ เรามั่นใจแล้วว่า เราไปฟังครูบาอาจารย์หลายองค์ เราก็ไม่หลงทางแล้ว ใจมันคิดอย่างนั้น เพราะเรารู้วิธีปฏิบัติแล้ว เข้ามาที่จิตได้ ไปที่วัดโน้นวัดนี้ สำนักโน้นสำนักนี้ เห็นเขาสอนกันแต่เรื่องกาย สำนักหลวงพ่อพุทธทาส ท่านสอนเรื่องอานาปานสติ มันก็กาย โกเอ็นก้า สายโกเอ็นก้า เขาสอนดูเวทนาก็อยู่กับกายนั่นล่ะ ทีแรกก็ทำอานาปานสติก่อน นี่ก็กาย พอจิตสงบ จิตรวมแล้วมาดูเวทนาในร่างกายก็กายอีกล่ะ พวกพองยุบใช่ไหม เห็นท้องพอง เห็นท้องยุบมันก็กายอีกล่ะ สายวัดป่า พุทโธ เสร็จแล้วก็พิจารณากาย ดูไป ตระเวนดูที่นู้นที่นี้ไป มีแต่เรื่องกาย ไม่มีใครสอนเรื่องจิตเลย หลวงพ่อเทียนก็ขยับมือๆ มันก็กาย ร่างกายเคลื่อนไหว ใจรู้สึก สายอภิธรรมเขาก็เห็นรูปมันยืน นามมันรู้ รูปมันเดิน นามมันรู้ รูปมันนั่ง รูปมันนอน นามมันรู้ ส่วนใหญ่ก็มามุ่งเข้าที่กายนั่นล่ะ ไปเดินจงกรมอะไรอย่างนี้ แล้วให้จิตเป็นคนรู้ ไปที่ไหนๆ ก็มีแต่คนสอนเรื่องกาย

 

การดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด

หลวงพ่อก็กลับมาหาหลวงปู่ดูลย์ ไปสำรวจมาพอสมควรแล้ว ไปถามท่าน “หลวงปู่ครับ ผมจะต้องกลับมาดูกายไหม เพราะว่าไปที่อื่นๆ เห็นเขาสอนกันแต่เรื่องกาย หลวงปู่สอนผมเข้ามาที่จิตอย่างเดียวเลย” หลวงปู่ท่านมองหลวงพ่อด้วยสายตา เรารู้เลยท่านมองแบบสังเวช มองแต่ท่านไม่ว่า ท่านมองแบบสังเวชเลย ท่านบอกว่า “ที่เขาดูกายเพื่อให้เห็นจิต ถ้าดูกายแล้วมันจะเห็นจิต เมื่อเข้าถึงจิตแล้วจะเอาอะไรกับกาย กายเป็นของทิ้ง” ท่านใช้คำนี้ว่า กายเป็นของทิ้ง เรามาดู ก็จริง เพราะจิตมันเป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านอย่างไรมันก็สำคัญกว่าตัวบ้าน บ้านพังก็ไปหาบ้านใหม่อยู่ แต่เจ้าของบ้านมันตายไป มันจะเอาอะไรไปทำอะไรอีก

ฉะนั้นถ้าเข้ามาถึงจิตถึงใจได้ ก็ลัดสั้นที่สุดแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนว่าการดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด แต่บอกแล้วว่าไม่ใช่ทุกคนที่เริ่มต้นด้วยการดูจิตได้ บางคนต้องดูกายไปก่อน เพราะว่ายังไม่เห็นจิต ถ้าเห็นจิตแล้วก็ดูจิตมันทำงานไป ที่จริงการดูจิต การเห็นจิตไม่ใช่เรื่องลึกลับ ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดหรอก เหมือนอย่างบางคนสอนกันบางสถานที่ บางสำนักเขาสอนกันว่าต้องมีจิตผู้รู้ แต่จิตผู้รู้ ไม่รู้วิธีสร้างขึ้นมาได้อย่างไร ที่จริงมีวิธีทั้งนั้น ไม่มีอะไรเกิดโดยบังเอิญหรอก

อย่างจิตผู้รู้ วิธีง่ายๆ เลย คอยรู้ทันจิตที่หลงนั่นล่ะ เช่น จิตหลงไปคิด รู้ทันๆ จิตผู้รู้ก็เกิด มันมีวิธีทั้งนั้นล่ะ ให้รู้เหตุรู้ผลเท่านั้น ไม่ใช่อยู่ๆ ตัวผู้รู้ก็ลอยๆ มาอัตโนมัติมา ไม่มีหรอก ถ้าเรารู้เหตุรู้ผล การภาวนาไม่ใช่เรื่องยากเลย การจะดูจิตดูใจก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย พอเรามีจิตที่เป็นคนรู้คนดูแล้ว เราก็จะดูลงไป ถ้าเราดูจิตดูใจไม่ออก เราก็ดูกาย เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน มีตัวหนึ่งเป็นคนรู้อยู่ ไม่ต้องไปหาว่าตัวรู้อยู่ที่ไหน ถ้าพยายามหา แสวงหาตัวรู้ หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนเลยว่า “ใช้จิตแสวงหาจิต อีกกัปหนึ่งก็ไม่เจอ”

เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปเที่ยวหาว่าตัวรู้อยู่ที่ไหน ร่างกายมันนั่งอยู่ รู้สึกไหมร่างกายมันนั่ง รู้สึกไหมว่าร่างกายที่นั่งอยู่มันถูกรู้อยู่ เอาแค่นี้พอ ร่างกายมันยืน มันเดิน มันนั่ง มันนอน ร่างกายมันหายใจออก รู้ไหมร่างกายหายใจเข้า รู้ไหมไม่ต้องไปเที่ยวหาว่าตัวรู้อยู่ที่ไหน จะหาไม่เจอ หรือเวลาความสุข ความทุกข์เกิดขึ้น รู้สึกไหมความสุขความทุกข์ก็ถูกรู้ ไม่ต้องไปหาว่าตัวรู้อยู่ตรงไหน เวลาโลภ โกรธ หลงเกิดขึ้น รู้สึกไหมโลภ โกรธ หลงถูกรู้ ไม่ต้องไปหาว่าตัวรู้ โลภ โกรธ หลงมันอยู่ตรงไหน เฝ้ารู้อย่างนี้

ตัวที่ง่ายที่สุดเลย หลวงพ่อสรุปมาจากการปฏิบัติจริงๆ ถ้าเรารู้ตัวนี้ ตัวรู้เราจะดีดตัวเด่นชัดขึ้นมาเลย คือตัวหลง หลงที่เกิดบ่อยที่สุดคือหลงคิด หลงนั้นมี 6 ช่อง หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หลงทางใจเกิดบ่อยที่สุด รองลงมาสำหรับคนตาไม่บอด ก็คือหลงทางตา เป็นเบอร์ 2 แล้วคนที่หูไม่หนวก ช่องหูเป็นเบอร์ 3 อายตนะที่เราใช้บ่อยในวันหนึ่งๆ ก็คือตา หู กับใจ ระหว่างตา หู กับใจ อันไหนใช้บ่อย ใจเป็นของใช้บ่อย ตาเห็นรูป ใจก็คิด หูได้ยินเสียง ใจก็คิด ใจมันก็ปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงสุขปรุงทุกข์อยู่ตลอดเวลา

 

เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดบ่อยๆ

เพราะฉะนั้นเรียนรู้ลงมาที่ตัวที่เกิดบ่อยที่สุด เรียนรู้ลงที่ใจเรานี่ล่ะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ ให้มันกระทบไป แต่กระทบแล้วมีอะไรเกิดขึ้นที่จิตใจ จิตใจมันเปลี่ยนแปลง เกิดสุขขึ้นมา รู้ เกิดทุกข์ขึ้นมา รู้ เฝ้ารู้ลงไปเรื่อยๆ แล้วตัวที่เกิดบ่อยที่สุดทางอายตนะใจก็คือตัวคิด สิ่งที่เกิดทางใจมีหลายอย่าง ตัวที่เกิดบ่อยคือตัวคิด แล้วสำหรับนักปฏิบัติ ตัวที่เกิดรองลงไปก็คือตัวเพ่ง สำหรับคนทั่วไป ตัวที่เกิดบ่อยที่สุดคือตัวเผลอ ตัวหลง ตัวใจลอย ตัวฟุ้งซ่าน พวกเราไปเฝ้ารู้เฝ้าดูเราจะเห็นเลย ในทางใจเราตัวที่เกิดบ่อยคือตัวคิด หรือตัวฟุ้งซ่านนั่นเอง

เรียนก็เรียนตัวที่มันเกิดบ่อยๆ นั่นล่ะ มันจะได้เรียนเก่งๆ คล้ายๆ ทำการบ้านบ่อยๆ บางคนบอกว่าเดี๋ยวจิตเข้าจตุตถฌาน ฌาน 4 แล้วจะรู้ เมื่อไรมันจะเข้า จิตหลงคิดมีทั้งวัน ดูของที่มีบ่อยๆ เมื่อก่อนหลวงพ่อสอนใหม่ๆ ตอนหลวงพ่อเพิ่งบวช หลวงพ่อก็สอนมีชายหนุ่มคนหนึ่ง เดี๋ยวนี้คงไม่หนุ่มแล้วล่ะ บอกว่าให้ดูจิตไป จิตมันเคลื่อนแล้วรู้ๆ แหม เราสอนตรงไปตรงมา มันบอกไม่เอาหรอก มันจะรอให้ถ้ามีเสียงฟ้าผ่าหรือเสียงฟ้าร้องแล้วจะรู้ โห ปีหนึ่งมันจะร้องให้เราฟังสักกี่ครั้ง นานๆ จะร้อง บางวันบางเดือนไม่ร้องเลย อย่างนั้นใช้ไม่ได้ เมื่อไรมันจะฉลาด คล้ายๆ นานๆ จะทำการบ้านทีหนึ่ง

เราเอาตัวที่เกิดบ่อย คือตัวหลงคิดนั้นเกิดบ่อย หรือตัวอุทธัจจะ ตัวฟุ้งซ่าน มันเกิดบ่อย วิ่งไปวิ่งมา จิตใจนี้ เราเฝ้ารู้ลงไปเลย จิตมันเคลื่อนแล้วรู้ๆ ไป ประเดี๋ยวก็เคลื่อนไปคิดนั่นล่ะ เรารู้เอา พอจิตหนีไปคิดแล้วรู้ ทันทีที่รู้ จิตคิดจะดับ จิตรู้จะเกิดขึ้น ฝึกอย่างนี้ให้มาก พอเรามีจิตรู้แล้ว ต่อไปเราก็จะเห็นจิตรู้ก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็คิดใหม่ อยู่ๆ มันก็คิดได้เอง มันเป็นอนัตตา ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ พอไหลไปคิดแล้ว พอเรารู้ทัน จิตคิดก็ดับ เกิดจิตรู้ เราไปดับจิตคิดได้ไหม ไม่ได้ แต่จิตคิดมันดับเอง เพราะสติรู้ทันแล้วก็เกิดจิตรู้ขึ้นมาแทนที่

ตรงที่เราเห็นมันทำงานได้เอง เราเห็นอนัตตา ดูจิตจะเห็นอนิจจัง เห็นอนัตตาง่าย เห็นทุกขังยาก อันนั้นสำหรับคนที่ทรงฌาน ถึงจะเห็นจิตเป็นทุกข์ได้ ถ้าเราไม่ได้ทรงฌาน เห็นยาก อย่างเวลาจิตมันทรงอยู่ในฌานที่ 4 ทุกขตามันอยู่ตรงไหน ทุกขตาก็คือจิตในฌานที่ 4 นั้นกำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลาย เดี๋ยวก็กลายเป็นฌานที่ 3 ที่ 2 ที่ 1 หรือหลุดออกมาอยู่ข้างนอก อยู่กับโลกข้างนอกนี้ อย่างนี้ ถ้าเราทรงฌาน เราก็จะเห็นจิตแสดงทุกขตาได้ แต่ถ้าเราไม่ได้ทรงฌาน จิตเรามีแค่ขณะเดียวๆ ไม่เหมือนกันเสียด้วย เราไปดูทุกขัง ทุกขตาดูยาก ฉะนั้นดูอนิจจัง ดูอนัตตา ดูง่าย ดูของที่เกิดบ่อย หลักนะ ดูของที่เกิดบ่อยที่สุด เฝ้ารู้ลงไป

อย่างใจเราของคนพื้นๆ ทั่วๆ ไป คือจิตหลงคิดเกิดบ่อยที่สุด คิดทั้งวัน ฉะนั้นจิตไหลไปคิดแล้วรู้ๆ เดี๋ยวก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วถ้าพวกเราทั่วๆ ไปก็จะเห็นอนิจจัง อนัตตา ถ้าคนไหนขี้โมโห โมโหทั้งวันเลย ที่จริงก่อนที่จะโมโห ก่อนที่จะโกรธ จิตต้องหลงคิดก่อน ถ้าจิตไม่คิด จิตไม่โกรธหรอก หรือบางคนโลภมาก จิตโลภ จริงๆ ก่อนมันจะโลภ มันก็ต้องคิดก่อน

ฉะนั้นถ้าเรารู้ทันจิตคิดได้ รู้ไปเลย แต่ไม่ใช่รู้เรื่องที่จิตคิด ให้รู้ว่าจิตคิด ไม่ใช่รู้เรื่องที่จิตคิด รู้เรื่องที่จิตคิดไม่มีสาระอะไร ให้รู้ว่าจิตแอบไปคิดแล้ว ตรงนี้ถ้ารู้ไม่ทันว่าจิตแอบไปคิด เดี๋ยวก็เกิดจิตโลภ ถ้าไม่ได้อย่างใจก็เกิดจิตโกรธ พวกนี้บางคน เราดูจิตคิดไม่ทัน เราไปเห็นตอนจิตโลภ จิตโกรธ ก็ยังดีที่เห็น ก็ถือว่ายังพอใช้ได้ แต่ที่ดีที่สุดเลย หัวโจกมันเลย จิตคิด จิตไหลไปคิด รู้ไว้ ตัวนี้เกิดทั้งวัน กระทั่งเข้าสมาธิ บางทีจิตก็คิดขึ้นมาๆ สมาธิก็เสื่อม

เฝ้ารู้เฝ้าดูทุกวันๆ ดูจิตไม่ใช่เรื่องยากหรอก อย่าเอาตาไปดู จิตไม่มีรูปธรรม เอาตาไปดูไม่ได้ ตาเห็นแต่รูปธรรม จิตเป็นนามธรรม เราก็รู้ด้วยความรู้สึก ความรู้สึกมันก็เป็นนามธรรม อย่างเรารู้สึก ตอนนี้จิตไหลไปคิดแล้ว ตอนนี้จิตโลภแล้ว ตอนนี้จิตโกรธแล้ว รู้สึกเอา แค่รู้สึก ตอนนี้ชอบแล้ว ตอนนี้เกลียดแล้ว ตอนนี้มีสุข ตอนนี้มีความทุกข์ เฝ้ารู้ไปเรื่อยๆ ถ้าเก่งที่สุดก็รู้ว่าจิตคิด เกิดบ่อย ละเอียด ถ้ารู้ตัวนี้ไม่ทันก็เกิดจิตชนิดอื่นตามมา.

หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
19 ธันวาคม 2564