มีฉันทะในการภาวนา

การปฏิบัติธรรม ไม่มีใครมาบังคับใครให้ทำได้หรอก มันต้องมีฉันทะ พอใจที่จะทำ ทำของตัวเอง บังคับกันไม่ได้ ทีนี้บางคนปฏิบัติธรรมไม่ได้ทำด้วยฉันทะ แต่ทำด้วยตัณหา ทำด้วยความอยาก อยากดี อยากเด่น อยากโน้น อยากนี้ อยากได้มรรคผล อันนั้นทำด้วยตัณหาแล้ว

ตัณหากับฉันทะ ไม่เหมือนกัน ฉันทะ พอใจที่จะทำเหตุที่ดี แล้วผลมันเป็นผลพลอยได้ มันตามมาเอง ตัณหานี่อยากได้ผล ไม่อยากทำเหตุหรอก อยากบรรลุมรรคผล ประเภทนั่งๆ นอนๆ แล้วก็บรรลุได้ ดีที่สุด ถ้าไม่มีฉันทะ ไม่ภาวนาจริง อยู่ๆ อย่างอยู่วัดนี่ บางทีถ้ามีฉันทะ ก็ตั้งใจภาวนาของเราเอง ไม่ต้องให้ใครสั่ง ถ้าไม่มี มีแต่ความอยาก ภาวนาแล้วอยากจะได้โน่น อยากจะได้นี่ อยากได้อภิญญา อยากมีฤทธิ์ อยากมีความรู้มากมายอะไรอย่างนี้ อย่างนั้นตัณหา หวังผล การภาวนา ถ้าหวังผล ไม่ได้ผลหรอก มันโลภ

ตอนเด็กๆ หลวงพ่อภาวนาตั้งแต่ 7 ขวบ มัน innocent ไม่รู้เรื่องหรอก แค่ใจมันชอบที่จะภาวนา มันก็ตั้งอกตั้งใจฝึกทุกวันๆ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรอย่างนี้ ทำอยู่ทุกวันๆ ก็ได้ยินคนเขาพูดถึงนิพพานๆ ก็อยากได้นิพพานเหมือนกัน แต่ไม่รู้มันคืออะไร อยากไปอย่างนั้น เรียกว่าอยากตามแฟชั่นของคนเข้าวัด จริงๆ ก็คือไม่รู้ว่ามันคืออะไร ไม่ได้อยากจริง แต่มันอยากปฏิบัติ ทุกวันได้นั่งสมาธิ ไม่ได้เดินจงกรม เดินไม่เป็น นั่ง หรือทำอะไรก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไปเรื่อยๆ ฝึกอยู่อย่างนั้น ไม่ได้หวังว่าจะได้อะไรขึ้นมา

ฝึกไม่นาน ไม่กี่วัน จิตก็รวมเป็นครั้งแรกเลย ว่าง สว่างขึ้นมา นี้พอมันสว่างก็คราวนี้โลภแล้ว สนใจอยากรู้ว่า มันสว่างแล้วมันจะเป็นอย่างไรอีก ก็ไปดูที่แสงนี่ พอดูแสงจิตมันก็เคลื่อนไปที่แสง คราวนี้มันก็เคลื่อนออกไปเที่ยวข้างนอก ไปรู้ไปเห็นอะไรข้างนอก จริงหรือเท็จ ไม่รู้หรอก ไปเห็นเทวดา เทวดาจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้หรอก แต่ว่ามันเห็น เห็นสวรรค์ มันก็เห็น แต่ว่าสวรรค์ที่เห็นนี้มันจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ไปดูๆ อยู่ช่วงหนึ่ง ใจมันก็รู้สึกไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย แล้วมีโทษด้วย การที่จิตออกไปเที่ยวรู้เที่ยวเห็นข้างนอก นอกจากไม่เกิดประโยชน์ เพราะเราไปเห็นสวรรค์ เราก็อยู่สวรรค์ไม่ได้ เห็นอะไรต่ออะไร เราก็เอามาเป็นเจ้าของไม่ได้ มีโทษก็คือ เกิดไปเห็นอะไรที่มันไม่น่าดู ไปเห็นผีอย่างนี้จะทำอย่างไร เพราะอย่างนั้นใจมันก็เริ่มเห็นโทษของการที่ตามแสงสว่างออกไปข้างนอก

หลวงพ่อก็มาฝึกใหม่ มาหายใจเข้าพุทออกโธ พอใจมันจะเคลิ้มๆ มันจำได้ พอเคลิ้มๆ อย่างนี้แล้ว เดี๋ยวก็ไหลออกไป พอมันจะเคลิ้ม หลวงพ่อหายใจแรงขึ้นนิดหนึ่ง 2-3 ครั้ง ปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมา ไม่ให้เคลิ้ม ปลุกอย่างนี้ ใจมันก็ค่อยๆ มีกำลังขึ้น ภาวนาไปเรื่อยๆ ประมาณ 3 ปี ก็เจอตัวรู้มันขึ้นมา ตอนที่เจอตัวรู้ทีแรกนี่ ไฟมันไหม้ข้างบ้าน หลวงพ่อเป็นเด็กก็เล่นอยู่หน้าบ้าน บ้านเป็นตึกแถว เล่นอยู่กับเพื่อนๆ เล่นกันอยู่หลายคน เล่นลูกหิน มองไปเห็นไฟไหม้ ห่างออกไปสัก 4-5 ห้อง ตกใจก็คว้าลูกหิน ไม่ขาดสติจนทิ้งลูกหิน หวง ตัวนี้เก่ง คว้าได้ก็วิ่งเลยด้วยความตกใจ จะไปบอกพ่อ

ก้าวที่ 1 ตกใจ ก้าวที่ 2 ตกใจ ก้าวที่ 3 มันเหมือนเปิดสวิตช์ขึ้นมาจากข้างใน มันสว่างพรึบขึ้นมา จิตมันเป็นผู้รู้ผู้ตื่นขึ้นมา มันไปเห็นความตกใจเข้า ความตกใจก็ดับ ตัวรู้ก็เกิดขึ้นมา ตรงนั้นตัวรู้มันโผล่ขึ้นมาทีแรก แต่ว่าไม่รู้จักมัน มันเป็นแค่ภาวะอะไรที่แปลกๆ ความตกใจหายไป เดินไปบอกพ่อ ไฟไหม้ แล้วก็ยืนดูผู้ใหญ่เขาตกใจ เราเป็นแค่คนดู เห็นเขาตกใจวิ่งไปวิ่งมา เสร็จแล้วก็ลืมสภาวะอันนี้ไป ไม่รู้ว่ามันสำคัญ ไม่รู้ แล้วก็ไม่รู้ว่ามันขึ้นมาได้อย่างไร

ค่อยๆ ภาวนามาเรื่อยๆ คราวหนึ่งได้ยินเขาพูดกันเรื่องพิจารณากาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนังอะไรอย่างนี้ หลวงพ่อก็ลองพิจารณาดู ดูลงไปที่ผม ผมมันก็หายไป เห็นหนังศีรษะ ดูหนังศีรษะ หนังศีรษะก็หายไป เห็นหัวกะโหลก ดูหัวกะโหลก หัวกะโหลกก็ดับไป แตกสลายไป หายไปเฉยๆ ไม่ได้แตก หายไปเลย แล้วดูลงมาที่ตัวเอง เนื้อหนังก็หายไป เห็นแต่กระดูก ดูกระดูกแล้วกระดูกมันระเบิด มันแตกเป็นก้อนกรวดเล็กๆ พอแตกอย่างนี้แล้ว ยังดูต่อไปอีก ก็เห็นกระดูกเล็กๆ สลายตัวเป็นคลื่นแสง รู้สึกมันเป็นคลื่นๆ ออกไป เป็นแสงสว่าง มันเหลือแต่ตัวรู้อันเดียว พอกลับมามีร่างกาย จิตถอนออกจากสมาธิ กลับมามีร่างกาย หลวงพ่อแยกขันธ์ได้แล้ว จะเห็นว่ากายเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่จิต จิตเป็นคนรู้กาย กายเป็นของถูกรู้ถูกดู กายกับจิตเป็นคนละอันกัน อันนั้นแยกขันธ์เป็นขึ้นมา ก็ไม่รู้อีกว่ามันสำคัญ ดูสิ ได้ตัวรู้มา ก็ไม่รู้ว่าสำคัญ แยกขันธ์ได้ ก็ไม่รู้ว่าสำคัญ เพราะอยู่ห่างครูบาอาจารย์ ตอนนั้นครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่อยู่ทางอีสาน เราเด็กๆ ไม่มีปัญญาจะไป ท่านพ่อลีอยู่บางปู ไปทางนี้ ท่านก็สิ้นไปแล้ว

ทำสมาธิมาเรื่อยๆ ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ อย่างนั่งสมาธิ มันเห็นเป็นแสง เราไม่ตามแสงไป เราก็เล่นกับแสงได้ ใจมันก็สงบ มีปีติ มีความสุขขึ้นมา เราเห็นจิตมันไปจับอยู่ที่แสง ไปเคล้าเคลียอยู่ที่แสง พอรู้ทันว่าจิตมันเคลื่อนไปอยู่กับแสง การเคลื่อนนั่นดับ จิตก็ทวนกระแสเข้ามาๆ มาเจอตัวรู้ อ๋อ ตอนเด็กๆ ตอนที่ไฟไหม้บ้าน ใกล้ๆ บ้าน ตกใจแล้วตัวรู้มันดีดขึ้นมา แต่ไม่รู้มันขึ้นมาได้อย่างไร พอมานั่งสมาธิ จิตมันวางอารมณ์ลงไปแล้ว วางแสงสว่าง ไม่เคล้าเคลียกับแสงสว่างแล้ว ตัวรู้มันก็เกิดขึ้น มันทวนกลับเข้ามา เลย อ๋อ ตัวรู้มันเกิดด้วยวิธีนี้เอง ทีแรกไม่รู้หรอก

ทีนี้พอได้ตัวรู้แล้ว ก็มาดูร่างกาย ร่างกายหายไป ขันธ์มันแยกได้ คราวนี้เหลือแต่จิต นี่ค่อยๆ คลำ คลำการปฏิบัติมาเรื่อยๆ แล้วก็จนปัญญา ไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ ไปนั่งอ่านพระไตรปิฎก อ่านตั้ง 2-3 รอบ อ่านพระวินัยกับพระสูตร อภิธรรม อ่านไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จะเอามาปฏิบัติได้อย่างไร ขึ้นต้นก็ กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพยากะตา ธัมมา จบแล้ว ไม่รู้ว่าบอกมาทำอะไร ไม่เข้าใจ

 

หัดดูจิต

มาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนให้ดูจิตตัวเอง ค่อยๆ ดูไปเรื่อย ทีแรกก็ไปหลงแทรกแซงจิต การดูจิต ไม่ใช่ไปนั่งดู ไม่ใช่ไปนั่งเฝ้า นั่งดู นั่งรักษาจิต ทีแรกก็ไม่รู้ว่าดูจิตเขาดูกันอย่างไร พอหลวงปู่สอนให้ดูจิต ก็ไปบอก จะดูแล้ว ขึ้นรถไฟกลับจากสุรินทร์ ตั้งใจจะมาลงโคราช จะมาแวะกราบหลวงพ่อพุธ ตอนนั่งรถไฟมาก็สงสัย ตกใจเลยว่า หลวงปู่ให้ดูจิต เราดูไม่เป็น จิตเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จิตอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จะเอาอะไรไปดูก็ไม่รู้ จะดูอย่างไรก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรสักอย่างเลย พอไม่รู้อะไรสักอย่าง หลวงพ่อก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ อันนี้ก็เป็นหลักของการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ทำอะไรไม่ได้ ทำสมถะไว้ก่อน นี้เป็นหลักของการปฏิบัติเลย ทำอะไรไม่ถูกแล้ว ทำสมถะไว้ก่อน ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้ใจฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ

พอหายใจๆ ไป ใจมันสงบลงมา มันก็เริ่มเกิดปัญญา เป็นปัญญาขั้นต้นๆ เป็นโลกิยปัญญา จิตมันควรจะอยู่ที่ไหน จิตมันไม่ไปอยู่ข้างนอกหรอก ไม่ไปอยู่ในท้องนา ไม่ไปอยู่ในต้นไม้หรอก จิตต้องอยู่ในร่างกายนี้ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้หลวงพ่อจะเรียนรู้ไม่ให้เกินกายออกไป นี้ก็เป็นหลักของการปฏิบัติอีกข้อหนึ่ง ข้อแรก ทำอะไรไม่ได้ทำสมถะไว้ก่อน ข้อที่ 2 การปฏิบัตินี่ อย่าให้เกินกายออกไป เกินกายออกไป เช่น ส่งจิตไปดูโน่นดูนี่ กระทั่งไปดูจิตคนอื่นอะไรนี่ ตอนนั้นหลวงพ่อทำไม่เป็นหรอก เห็นแต่ผีสางนางไม้อะไรพวกนั้น เห็น แต่ว่าบอกไม่ได้ว่า มันของจริงหรือของปลอม มันไม่มีอะไรพิสูจน์ได้เลย ในขณะที่ธรรมะของพระพุทธเจ้าพิสูจน์ได้จริงๆ ถ้าเรามีตัณหา เราก็มีทุกข์อะไรอย่างนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ แต่เรื่องนิมิตเอาเป็นสาระแก่นสารอะไรไม่ได้

พอคิดว่าต่อไปนี้เราจะรู้อยู่ในกายนี่ หลวงพ่อก็เริ่มแสวงหา จิตอยู่ตรงไหนในกาย รู้แล้วว่าจิตอยู่ในกาย ดูลงไปที่ผม ผมก็หายไป ไม่เห็นมีจิตโผล่ขึ้นมา ดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกนี่ ไล่อยู่ในร่างกาย ทีละส่วนๆ ตั้งหัวถึงเท้า เท้าถึงหัว ไล่ขึ้นไล่ลง แต่ละส่วนที่จิตมันไปเห็นเข้า มันก็สลายตัวไป ก็ไม่เห็นมีจิตโผล่ขึ้นมาเลย ก็เลยได้ความรู้อีกข้อหนึ่ง จิตอยู่ในกาย แต่ไม่ได้อยู่ตรงไหนของกาย เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องเอาจิตไปตั้งไว้ตรงนั้นตรงนี้ ตั้งไว้ที่จมูก ตั้งไว้ที่หน้าอก ตั้งไว้ที่ท้อง ตั้งไว้ที่สะดือ ตั้งไว้เหนือสะดืออะไรอย่างนี้ นั่นจงใจทำขึ้นมาทั้งสิ้นเลย จิตอยู่ในกาย แต่ว่าไม่ได้อยู่ตรงไหนของกาย ขนาดกายหายไปหมด จิตยังไม่หายเลย จิตยังอยู่

ค่อยๆ ดูไป จิตไม่ได้อยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย หรือว่าจิตอยู่ในเวทนา หลวงพ่อก็นั่งสมาธิให้มันมีความสุข เรานั่งตั้งแต่เด็ก นั่งให้มีความสุข นั่งปุ๊บ มันก็มีความสุขแล้ว แล้วก็ดูลงไปที่ความสุข ความสุขดับ ความสุขดับก็ไม่เห็นมีจิตโผล่ขึ้นมา เออ จิตไม่ได้อยู่ในตัวความสุข ทีแรกรู้ว่าจิตไม่ได้อยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย นี้จิตไม่ได้อยู่ในตัวความสุข หรือจิตอยู่ในตัวความทุกข์ คราวนี้จงใจนั่งไม่เคลื่อนไหวเลย นั่งนิ่งๆ อยู่นานเลย จนกระทั่งมันเมื่อย มันเมื่อย ดูลงไปที่เมื่อย ความเมื่อยก็หายไป ก็ไม่มีจิตโผล่ขึ้นมา “เอ้อ จิตไม่ได้อยู่ที่ตัวสุขทุกข์แฮะ” ตอนนั้นเรียกไม่เป็นหรอกว่า เวทนา เวทนาไม่ใช่จิต ถ้าพูดย่อๆ

หรือจิตอยู่ในความคิด คราวนี้ค่อยๆ หา หลวงพ่อจงใจคิด คิดบทสวดมนต์ที่ชอบที่สุดเลยบทหนึ่ง พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดั่งห้วงมหรรณพ พอสวดบทนี้ขึ้น มันเห็นกระแสของความคิดนี่ไหลออกมาจากกลางอก พุทโธ สุสุทโธ นี่ไหลขึ้นมา ทันทีที่สติระลึกรู้กระแสของความคิด ไม่ใช่เรื่องที่คิด แต่เห็นกระแสของความคิด มันไหลขึ้นมา ไหวตัวขึ้นมาจากกลางหน้าอกนี่ ไหว สติระลึกรู้ กระแสของความคิดนี่มันดับ พอมันดับปุ๊บ ตัวรู้เกิดขึ้นเลย ฉะนั้นไม่ใช่รู้เรื่องที่คิด แต่รู้ว่าจิตคิด ตัวรู้ถึงจะเกิด

ตรงนี้ต้องระวังให้ดี รู้เรื่องที่คิด แมวมันก็รู้ หมามันก็รู้ ถ้ารู้เรื่องที่จิตคิดแล้วก็ตัวรู้เกิดนี่ หมาแมวบรรลุมรรคผลไปหมดแล้ว เรารู้ว่าจิตคิด ไม่ใช่รู้เรื่องที่จิตคิด ไม่เหมือนกัน หลวงพ่อเห็นกระแสของความคิด จิตมันคิดขึ้นมา ตัวคำว่า พุทโธ สุสุทโธ มันมาประกอบตัวนี้เท่านั้นเอง พอเรารู้ถึงกระแสของความคิด ตัวนี้คือ ตัววิตก จิตมันตรึกขึ้นมา ทันทีที่รู้ มันดับ ตัวรู้ก็เกิดขึ้น เอ้า ตัวนี้เคยเจอมาตั้งแต่ 10 ขวบแล้ว แล้วตอนนั่งสมาธิก็เคยเจอตัวนี้ รู้ว่ามันเกิดจากการนั่งสมาธิ แต่วันนี้ได้ความรู้เพิ่มขึ้น รู้ว่าเราเห็นสภาวะอย่างที่มันเป็นนี่ ตัวรู้ก็เกิดขึ้น แต่มันเกิดขึ้นคนละลักษณะ ตรงที่เราเห็นสภาวะไหลปรื้ด แล้วเรารู้นี่ มันได้สมาธิชนิดชั่วขณะ ชั่วขณะแวบเดียวสั้นๆ แล้วเดี๋ยวจิตก็ทำงานต่ออีก พอเรารู้ทันว่าจิตไปทำอะไร ตัวรู้ก็เกิดขึ้นอีกขณะหนึ่ง ทีละขณะๆ เป็นสมาธิสั้นๆ แต่สั้นๆ นั้นก็อย่าดูถูก ถ้ามันเกิดบ่อยๆ มันก็เหมือนสมาธิยาวๆ เหมือนกัน

ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ เรียน หลวงพ่อเรียนมาอย่างนี้ เรียนด้วยการสังเกตตัวเองมาเรื่อยๆ ไม่ได้เรียนด้วยการตั้งหน้าตั้งตาไปถามครูบาอาจารย์อะไรหรอก ทีนี้พอได้ตัวรู้แล้ว คราวนี้นึกถึงว่า หลวงปู่บอกให้ดูจิต ตัวรู้นี้ล่ะคือตัวจิต ก็ไปนั่งดู ทีแรกมันก็ดูได้แวบเดียวก็ไหล ตัวรู้มันก็ไหลไปรวมเข้ากับอารมณ์ มารวมเข้ามาเป็นกลุ่มเป็นก้อน อยู่กลางอกนี่ ก็เพ่งลงไป มันก็ระเบิด แล้วกลับมาเป็นตัวรู้อีก เดี๋ยวมันก็ลงไปรวมๆ อีก เพ่ง คราวนี้ไม่แตกแล้ว ไม่ระเบิดแล้ว กำหนดจิตเหมือนเข็มแหลมๆ แทงมัน เหมือนเราเอาเข็มแทงลูกโป่ง พอแตกโป้ง ตัวรู้ก็เกิดอีก นี่ทำอย่างนี้ แก้ หาวิธีทุกวันๆ เลย แล้ววิธีไหนเคยใช้ได้ผลแล้ว เอามาใช้อีกไม่ได้ผล กิเลสมันก็พัฒนาตัวของมันตลอดเวลา ไวกว่าโควิดอีก อันนี้กว่าจะกลายพันธุ์ต้องใช้เวลาเป็นเดือน กิเลสเรานี้กลายพันธุ์เร็วมากเลย พลิกแพลงตลอดเวลา ดูไปๆ จนกระทั่งจิตมันชำนาญขึ้น พอเห็นมันก่ออารมณ์นี่ หลวงพ่อใช้เวลาไม่เกิน 3 วินาที จิตจะปล่อยจากอารมณ์ขึ้นมาเป็นตัวรู้

เราฝึกของเราไปเรื่อยๆ เสร็จแล้วพอมีตัวรู้ เราก็ไปนั่งเฝ้าตัวรู้ไว้ ท่านให้ดูจิต เราก็ดู จ้องไว้อย่างนี้เลย พอดูเรื่อยๆ ฝึกอยู่อย่างนี้อยู่ 3 เดือน มาเจอหลวงปู่ดูลย์อีก ไปส่งการบ้านท่าน ท่านบอกผิดแล้ว จิตมีธรรมชาติคิด นึก ปรุง แต่ง เราไปทำจนมัน ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ผิดแล้วล่ะ ไปดูใหม่ ท่านสั่งว่าทำผิด ท่านบอกว่าทำผิดแล้วสั่งให้ไปดูใหม่ หลวงพ่อก็ไปดู ครูบาอาจารย์สั่งแล้ว เรารู้ว่าตรงนี้ การที่เราไปเฝ้าผู้รู้ไว้นี่ผิด แต่ไม่ได้เพ่ง ถ้าเพ่งผู้รู้นี่ ไปใหญ่เลย ติดสมถะที่แก้ยากที่สุดเลย แค่เฝ้ามันไว้ มันจะหนีแล้วรู้ๆ เฝ้าไว้ไม่ให้มันหนี

ทีนี้มานึกถึงคำท่านบอกว่า ให้ดูจิต เราก็คิดถึงการดูหนัง เราจะไม่เข้าไปแทรกแซงหนัง เราเป็นแค่คนดู เหมือนเราดูทีวีอย่างนี้ เราก็ไปแทรกแซงทีวีไม่ได้ มันมีอะไรให้ดู เราก็ดูอย่างนั้น ก็เลยจับหลักได้ว่า ดูจิตนี่จิตเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น นี่ก็เป็นหลักของการปฏิบัติ จิตมันเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น พอดูชำนาญขึ้น ก็เลยจับหลักของการดูจิตได้ 3 สเต็ป ก่อนจะดู อย่าอยากดู แล้วเที่ยวแสวงหาว่าตอนนี้จิตเป็นอย่างไร พวกเราเวลาดูจิตชอบแสวงหาจิต นั่งดู จิตมันเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหน นี่ไม่ถูก นั่นทำด้วยความโลภ ฉะนั้นการดูจิต ก่อนจะดูจิต ไม่ต้องไปเที่ยวแสวงหาจิต เอาไว้ให้ความรู้สึกเกิดแล้วก็ค่อยรู้เอา ความสุขเกิด ก็รู้ว่าจิตมันสุข ความทุกข์เกิด ก็รู้ว่าจิตมันทุกข์ จิตมันโลภ จิตมันโกรธ จิตมันหลง ให้โลภ โกรธ หลงเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้

 

กฏ 3 ข้อของการดูจิต

เพราะฉะนั้นการดูจิต หลักข้อแรกเลยก็คือ อย่าเที่ยวแสวงหา อย่าเที่ยวพยายามดู ให้ความรู้สึกเกิดแล้วค่อยรู้  ข้อที่ 1 ก่อนดูอย่าเที่ยวแสวงหา ให้ความรู้สึกเกิดแล้วค่อยรู้  ข้อ 2 สเต็ปที่ 2 ก็คือ ระหว่างดู อย่าชะโงกลงไปดู อย่าถลำลงไปดู มันจะหัวทิ่มลงไป เหมือนเราดูอะไรสักอย่างหนึ่งในบ่อน้ำอย่างนี้ เคยเห็นบ่อน้ำในหนังจีนไหม มันเป็นกลมๆ ก่อผนังไว้ แล้วชะโงกลงไปดู ชะโงกมากๆ หัวทิ่มลงบ่อไปเลย คราวนี้ขึ้นไม่ไหวแล้ว

การดูจิตก็เหมือนกัน อย่าชะโงกลงไปดู ดูแบบคนวงนอก ดูห่างๆ ดูเหมือนอย่างเราอยู่บนตึกริมถนนอย่างนี้ เห็นรถวิ่งอยู่ในถนน เราไม่โดดลงไปอยู่กลางถนน ถ้าเราลงไปอยู่กลางถนน เราดูอะไรไม่รู้เรื่องหรอก คอยหลบรถก็วุ่นวายเต็มทีแล้ว ต้องคอยหลบรถ นี้เราไม่ต้องคอยหลบรถ เราอยู่บนตึก เราก็ดูลงไป เห็นรถวิ่งอยู่ คันโน้นมา คันนี้ไป คันนี้ปาดคันโน้นอะไรอย่างนี้ เหมือนเราดูจิต จิตเราไม่ถลำลงไปในปรากฏการณ์ เราก็จะเห็นปรากฏการณ์แบบคนวงนอก แบบไม่มีส่วนได้เสีย เราจะเห็นได้ชัด เหมือนเราอยู่บนตึก เราก็จะเห็นรถในถนนได้ชัดเจน แต่ถ้าเราตกอยู่ในถนนนี้ เราดูอะไรไม่รู้เรื่องแล้ว ยิ่งถนนเยาวราช สมัยโน้น เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไรไม่รู้ ใครข้ามถนนเยาวราชได้นี่ เก่งจริงๆ เลย ไม่รู้มันจะหลบทางไหนเลย ทางนี้ก็มีๆ อะไรนี่ วุ่นวายไปหมดเลย

ถ้าเราถอนตัวออกมาเป็นคนดู ดูห่างๆ ดูแล้วไม่ถลำลงไปอยู่ในสถานการณ์ ในปรากฏการณ์อันนั้น เราจะเห็นสภาวะทั้งหลายโดยที่เราไม่มีส่วนได้เสีย เราก็ดูสบายๆ หรือเหมือนเรายืนอยู่บนบก อยู่ริมตลิ่ง เห็นอะไรต่ออะไรผ่านมาในคลองในแม่น้ำ เห็นเรือผ่านมา เห็นแพผ่านมา เห็นหมาเน่าตายลอยน้ำมาอะไรนี่ เราไม่ได้โดดลงไปอยู่ในน้ำ อยู่บนบก เราก็จะเห็นว่าทุกอย่างไหลมาแล้วก็ไหลไป ทุกอย่างไหลมาแล้วไหลไป แต่ถ้าเราตกลงไปอยู่ในน้ำหรือไหลไปพร้อมๆ กัน สมมติว่ามีหมาเน่าอยู่ตัว แล้วเราตกลงไปอยู่ข้างๆ หมาเน่าแล้วลอยไปด้วยกัน หมาเน่าจะเที่ยงแล้วคราวนี้ มันไม่มาแล้วไม่ไป เพราะมันไปด้วยกัน ฉะนั้นอย่าให้จิตมันไปด้วยกัน จิตมันถอนตัวออกมา อย่าจมลงไปในปรากฏการณ์

ข้อ 1 การดูจิต ให้สภาวะเกิดแล้วค่อยรู้ อย่าเที่ยวแสวงหา
อันที่ 2 ระหว่างรู้ อย่าถลำลงไปรู้ ดูแบบคนวงนอก
ข้อที่ 3 ก็คือพอรู้แล้ว จิตมันเกิดความยินดียินร้าย ให้มีสติรู้ทัน ให้รู้สภาวะ พอรู้ ระหว่างรู้ อย่าถลำลงไป พอไม่ถลำแล้ว คราวนี้มีปฏิกิริยาขึ้นมา เช่น เห็นอันนี้มีความสุข เห็นอันนี้มีความทุกข์ เห็นอันนี้ชอบ เห็นอันนี้ไม่ชอบอะไรอย่างนี้ รู้ทัน รู้ทันสิ่งที่ปรากฏขึ้น

ฉะนั้นดูจิตๆ ไม่ใช่ตะบี้ตะบันดู ดูต้องรู้หลัก กว่าจะจับหลักได้ หลวงพ่อใช้เวลาอีก 4 เดือน จากที่ไปรักษาตัวรู้ไว้เฉยๆ ไปคอยดูตัวรู้ อันนี้ปล่อยให้จิตทำงาน ในที่สุดก็ได้หลักว่า ให้ความรู้สึกมันเกิดแล้วค่อยรู้ นี่ข้อที่ 1 อย่าไปดักรู้ อย่าไปรอรู้ ดักรู้ เช่น เฝ้าอยู่ที่จิตนี่ จ้องเอาไว้ ดูสิตัวอะไรจะโผล่ กิเลสตัวไหนจะโผล่ ไม่มีตัวไหนโผล่เลย เหมือนเราจะไปดักจับแย้ จับกระต่ายอย่างนี้ อยู่ในรู ไปถือไม้เฝ้าอยู่หน้ารู ตัวอะไรมันจะโผล่ขึ้นมาให้จับ ไม่มีหรอก เราก็ต้องทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้อยู่ห่างๆ เดี๋ยวมันค่อยโผล่ขึ้นมา เราก็รู้ อ้อ แย้มันโผล่มาแล้ว กระต่ายมันโผล่มาแล้ว หรือหนูมันโผล่มาแล้ว ต้องใช้อย่างนี้

เพราะฉะนั้นอย่าไปดักดู สภาวะเกิดแล้วค่อยรู้ พอมันเกิดแล้ว เวลารู้ รู้แบบคนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดูอย่างคนวงนอก แต่ไม่ใช่จงใจเอาจิตไปไว้ที่อื่น บางคนบอกให้อยู่อย่างคนวงนอก ถอดจิตขึ้นมาอยู่บนหลังคาแล้วย้อนลงมาดู นี่ไม่ใช่ ดูอย่างคนวงนอกก็คือ ดูไปสบายๆ อย่างเวลาเราอยู่บนตึกอย่างนี้ เราเห็นรถวิ่งอยู่บนถนนนี้ ดูอย่างคนวงนอกก็คือ ดูอย่างที่ดูอยู่นั่นล่ะ วงนอกแล้ว ไม่ต้องปีนขึ้นไปอยู่บนหลังคา อยู่บนหลังคาแล้ว ดูแบบวงนอกเลย เห็นอยู่ไกลลิบๆ อันนี้ไม่ใช่แล้ว จงใจมากไป

พอดูแล้วมันเกิดปฏิกิริยาอะไรขึ้นมา มีสติรู้ทัน ดูด้วยความเป็นกลาง มันยินดี รู้ทัน มันยินร้าย รู้ทัน อย่างเราเห็นความโกรธเกิดขึ้น เราเป็นนักปฏิบัติ ความโกรธเกิดขึ้น เราไม่ชอบ รู้ว่าไม่ชอบ กุศลเกิดขึ้น วันนี้จิตสงบ สบาย สว่าง สติว่องไวอะไรอย่างนี้ ใจมันชอบ ใจมันชอบ รู้ว่าชอบ นี่คือกฎข้อที่ 3 ของการดูจิต

อันที่ 1 ก่อนดูอย่าดักดู ให้สภาวะเกิดแล้วค่อยดู ค่อยรู้
อันที่ 2 ระหว่างรู้ อย่าถลำลงไปรู้ รู้แบบคนวงนอก
อันที่ 3 รู้แล้วเกิดปฏิกิริยายินดียินร้ายอะไรขึ้นมา ให้รู้ทัน ไม่ใช่รู้ไปแล้ว ก็ยินดี พอใจ เพลิดเพลินไป หรือยินร้าย พยายามแก้ไขมัน มันจะรู้อย่างเป็นกลาง ข้อที่ 3 ก็คือ รู้อย่างเป็นกลาง ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย วิธีที่จะเป็นกลางคือ รู้ว่ามันไม่เป็นกลาง รู้ว่ามันยินดี รู้ว่ามันยินร้าย

ถ้าเราทำอย่างนี้ได้เรียกว่า เราดูจิตเป็นแล้ว เราก็จะเห็นเลย จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดี จิตชั่วเกิดแล้วดับหมดเลย ถึงจุดหนึ่งปัญญามันก็จะเกิดขึ้น มันจะรู้ว่า จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ พอเห็นตรงนี้ มันจะรู้ว่า จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ถ้ามันเป็นตัวเรา มันต้องอมตะ ต้องเที่ยงแท้ถาวร นี่มันไม่อมตะ มันเกิดแล้วดับๆๆ อย่างรวดเร็ว พอเราเห็นตรงนี้แล้ว จิตมันรู้ความจริง มันจะปล่อยวางสิ่งที่มันรู้ อย่างเราดูจิตๆ อยู่ จิตรวมลงไป แล้วจิตจะไปเดินปัญญาอยู่ข้างใน คือไปเห็นเกิดดับอยู่ข้างใน 2-3 ขณะเท่านั้น แล้วมันก็วางจิต มันทวนกระแสเข้ามาที่ตัวธาตุรู้ ทวนเข้ามาถึงธาตุรู้ อาสวะกิเลสซึ่งมันห่อหุ้มอยู่ มันจะแตกสลายออกไป ธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ก็จะปรากฏตัวขึ้นมา

ที่นักปฏิบัติบางท่านพูดถึงว่า จิตที่มันไม่ตาย อันนั้นก็เป็นโวหาร ที่จริงมันก็คือตัวอมตธาตุ ตัวธาตุๆ ตัววิญญาณ วิญญาณธาตุ ตัวนี้ไม่ใช่ตัวจิตผู้รู้ จิตผู้รู้ยังเกิดแล้วตายอยู่ อันนี้เป็นอมตธาตุ อมตธรรม ถ้าพูดอย่างนี้ ถ้าเรียนปริยัติอย่างเดียวนี่รับไม่ได้เลย แต่มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ในทางปริยัติท่านก็เก่งสุดขีด ในทางปฏิบัติท่านก็เก่งสุดขีด คือสมเด็จพระญาณสังวรฯ พระสังฆราชองค์ก่อน สมเด็จพระญาณสังวรฯ ท่านพูดถึงสภาวะตัวนี้ ท่านเรียกว่า วิญญาณธาตุ ตัววิญญาณธาตุไม่ใช่ตัวจิตผู้รู้ มันเลยไปอีก วางจิตผู้รู้ลงไป มันก็จะเข้าถึงธาตุ ธาตุรู้ตัวนี้ เที่ยงหรือไม่เที่ยง จิตใจไม่ได้กังวล สนใจแล้ว ถ้าจิตใจสนใจขึ้นมาว่าเที่ยงหรือไม่เที่ยง จิตตกจากตัวธาตุตัวนี้แล้ว กลับมาอยู่ในสภาวะธรรมดา ใช้ไม่ได้อีกแล้ว

 

จากที่มืดออกไปสู่ที่สว่าง

เราค่อยๆ ฝึกของเราไปเรื่อยๆ หัดดูๆ ไป ธรรมะก็ละเอียดประณีตลึกซึ้ง ทีแรกเราเหมือนคนหลงป่า ป่าที่รกทึบมากเลย ไม่เห็นแสงเดือน แสงตะวันเลย ป่าที่ทึบจริงๆ มืดตลอดปีเลย กลางวันก็มืด กลางคืนก็มืด ไม่รู้ทิศเหนือ ทิศใต้ ไม่รู้อะไรเลย มันเหมือนพวกเรางมอยู่ในสังสารวัฏ ไม่รู้ทางออก พระพุทธเจ้าท่านหาทางออกเจอแล้ว ท่านก็จุดโคมไฟขึ้น แกว่งเรียกเรา เราเห็นแสงตรงนั้นวับแวบๆ ขึ้นมา ก็พยายามเดินไป หูย ฝ่าขวากหนามมากมาย ยิ่งเดินไปๆ เรื่อยๆ ป่ามันก็ค่อยโล่งขึ้นๆ มันไม่รก ไม่ทึบอย่างทีแรกแล้ว ค่อยรู้แสงเดือน แสงตะวัน รู้ทิศเหนือ ทิศใต้อะไรอย่างนี้

เหมือนเราภาวนา ถ้าเราได้ธรรมะแล้ว เราจะรู้ว่าทางอยู่ตรงไหน ถ้าได้โสดาบัน จะรู้แล้วว่าทางอยู่ที่ไหน ในตำราชอบเทียบเหมือนคนตกน้ำอยู่ในทะเล ตอนที่วนอยู่ในสังสารวัฏเหมือนตกอยู่กลางทะเล ไม่รู้ว่าฝั่งอยู่ทางไหน ทีนี้พระพุทธเจ้าก็เหมือนกับประภาคารอย่างนี้ เห็นแสงวับๆ รู้แล้วว่าฝั่งอยู่ทางนี้ ตรงที่รู้ว่าฝั่งอยู่ตรงไหนนี่ ทางอยู่ที่ไหน นี่คือพระโสดาบัน ตอนที่เริ่มว่ายน้ำเข้าฝั่ง หรือเริ่มแหวกป่าเข้าไปหาที่อิสระนี่ ตอนที่เริ่มเดินทาง เริ่มลดละกิเลสลงไปเป็นลำดับๆ นั่นคือพระสกิทาคามี ตอนที่ว่ายน้ำมาจนถึงเขตที่น้ำตื้นแล้ว เท้าเหยียบพื้นได้แล้ว ถ้าคลื่นแรงๆ ซัด ก็ลอยขึ้นมาหน่อยหนึ่ง เดี๋ยวก็ลงไปเหยียบได้อีก ท่านเทียบตรงนี้เหมือนพระอนาคามี ตอนที่ขึ้นฝั่งได้แล้ว นี่เหมือนพระอรหันต์

ถ้าเราดูเหมือนป่า ทีแรกเราไม่รู้ทิศทางนี่ ถ้าเรารู้ทิศทางขึ้นมา คือได้โสดาบันแล้ว แล้วตอนที่เริ่มแหวกป่าออกมา คือ สกิทาคามี ตอนที่เข้าถึงป่าโปร่ง ชายหมู่บ้านแล้วนี่ ก็คือพระอนาคามี ตอนที่เข้ามาถึงบ้านถึงเมืองได้ คือพระอรหันต์ อันนี้โดยการเปรียบเทียบ เพราะให้เราไปว่ายน้ำอยู่กลางทะเล เราคงไม่ค่อยทำเท่าไหร่หรอก ยกเว้นเรือแตกจริงๆ แต่เวลาหลงป่านี่เอาเรื่อง หลงป่านี่น่ากลัวเชียวล่ะ

เราค่อยๆ ฝึกไป ค่อยๆ คลำไป จากที่มืดก็ออกไปสู่ที่สว่าง จากที่รกทึบก็ออกไปสู่ที่โล่ง จากที่ที่สกปรกไปสู่ที่สะอาด ค่อยๆ ฝึก สบาย เราเห็นผลของการปฏิบัติด้วยตัวของเราเอง ทีแรกก็สับสน ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ถ้าสับสน ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ทำอย่างไรดี ทำสมถะ ถ้าตอบไม่ได้ อยากเขกกระบาลมากเลย ทำอะไรไม่ถูก ทำสมถะไว้ก่อน แต่ไม่ใช่ทำสมถะให้เคลิบเคลิ้ม เห็นผีสางนางไม้ เห็นนรก เห็นสวรรค์ ทำสมถะให้ใจมันสงบ ใจมันสงบแล้ว มันจะได้มีสติ มีปัญญา รู้วิธีที่จะค่อยๆ คลำทางต่อไป

การปฏิบัตินี่ถ้าเราเข้าถึงจิตถึงใจได้แล้ว การปฏิบัติก็จะสะดวกแล้ว ไม่ยุ่งยาก ถ้ายังไม่ได้จิตได้ใจตัวเอง มัวแต่ดูโน่นดูนี่ไปเรื่อย ฟุ้งซ่าน ยังไม่ได้หลัก ยังไม่ได้แก่น ให้ได้จิตก็คือได้หลัก ได้แก่นแล้ว เพราะหลวงปู่ดูลย์ ท่านบอกว่า ธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ ออกมาจากจิตที่บริสุทธิ์นี้เอง ฉะนั้นได้จิตก็ได้ธรรมะ ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ อกุศลเกิดที่จิต ถ้าอยากรู้อกุศล ก็ต้องรู้ที่จิต กุศลก็เกิดที่จิต อยากรู้กุศลก็ต้องรู้ที่จิต มรรคผลก็เกิดที่จิต ไม่ได้เกิดที่อื่นเลย เพราะฉะนั้นจิตนั้นเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานในธรรมทั้งปวง

ค่อยๆ ฝึกจนเราได้จิตมา แล้วก็ใช้จิตนี่เจริญปัญญาไป เรียนรู้ความจริงไป พอได้จิต ก็คือจิตผู้รู้มาแล้วก็เดินปัญญา ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึกไป เราเป็นแค่คนรู้สึก คอยรู้สึกไป ถ้าจะดูจิต ก็ให้ความรู้สึกเกิดแล้วค่อยรู้ โกรธขึ้นมาแล้วค่อยรู้ว่าโกรธ อย่าไปดักดูว่าเมื่อไหร่จะโกรธ ถ้าไปจ้องอยู่ เมื่อไหร่จะโกรธ ไม่โกรธหรอก ให้ความโกรธมันเกิดขึ้นมาก่อน แล้วค่อย อ้อ โกรธแล้ว ความโลภมันเกิดขึ้นมา แล้วเราก็รู้ อ้อ โลภแล้ว ใจมันลอยไป อ้าว หลงไปแล้ว ให้สภาวะเกิดแล้วค่อยรู้ ไม่ดักรู้ รู้ก็รู้สบายๆ รู้แบบคนวงนอก รู้แล้วก็เป็นกลาง ไม่เข้าไปแทรกแซงมัน นี่คือหลักของการปฏิบัติ

หลวงพ่อบอกทางปฏิบัติให้แล้ว ที่เหลืออยู่ที่พวกเราต้องทำด้วยตัวเอง ถ้าเรามีฉันทะที่จะปฏิบัติ พึงพอใจที่ได้ปฏิบัติ เราจะปฏิบัติ แต่ถ้าเรามีแต่ตัณหา อยากจะโน้นอยากนี้ อยากได้มรรคได้ผล ไม่ได้หรอก มรรคผลไม่ได้เกิดจากตัณหา มรรคผลเกิดจากศีล สมาธิ ปัญญา การอบรมศีล สมาธิ ปัญญา แต่ถ้าเราพึงพอใจอย่างนี้ ได้ยินหลวงพ่อเล่าเรื่องการปฏิบัติ แหม ใจมันฮึกเหิม อยากปฏิบัติแล้ว ไม่ได้หวังผลว่าจะต้องได้โน้นได้นี้ ใจมีความสุข มีความพอใจ ทีแรกไม่ค่อยฉันทะเท่าไหร่หรอก แต่ภาวนาไปช่วงหนึ่งมันเริ่มเห็นผลของการปฏิบัติ มันจะมีฉันทะขึ้นมา

อย่างพวกหัดใหม่ๆ แต่เดิมหลวงพ่อสอน ขอนั่งสมาธิ เดินจงกรม ในรูปแบบให้หลวงพ่อวันหนึ่ง ขอแค่ 15 นาทีเท่านั้น พอเขาลงมือทำไปเรื่อยๆ รู้สึก 15 นาทีมันน้อยไป เขารู้สึกด้วยตัวเขาเอง บางคนนั่งได้หลายชั่วโมง เดินได้หลายชั่วโมงอะไรอย่างนี้ ทำไมมันทำได้ นั่งได้หลายชั่วโมง เดินได้หลายชั่วโมง เพราะมันมีความพอใจที่จะทำ มันมีฉันทะที่จะทำ ทำแล้วมันรู้สึกว่ามันดี มีความสุข มีความสงบขึ้นมา การปฏิบัติ เราภาวนาไปเรื่อย สติ สมาธิ ปัญญาแก่กล้าขึ้นมา เห็นผลของการปฏิบัติ เราเคยทุกข์นาน ก็เลยทุกข์สั้นลง เคยทุกข์หนักๆ ก็ทุกข์น้อยลงอะไรอย่างนี้ เคยหนักก็เบาลง ทุกข์นิดๆ หน่อยๆ เคยทุกข์นาน ก็ทุกข์แป๊บๆ เดี๋ยวก็หายแล้ว เออ การปฏิบัติมีผลจริงๆ เห็นได้ด้วยตัวเองแล้ว ศรัทธามันเกิด มันเกิดศรัทธาขึ้นมาเอง

มีศรัทธาแล้ว ฉันทะมันก็เยอะเอง มีความเพียรเกิดขึ้น มันมีความสุข มีความพอใจที่จะปฏิบัติ ความเพียรคือ ตัววิริยะ มันก็เกิด แล้วจิตใจนี้ มันคอยจดจ่อถึงการปฏิบัติ มีธุระต้องไปกินเลี้ยงอะไรอย่างนี้ เฮ้อ กินๆ เมื่อไหร่มันจะจบเสียที จะได้รีบเอาเวลาไปปฏิบัติอะไรอย่างนี้ ใจมันจดจ่ออยู่เรื่องการปฏิบัติ ตัวนี้คือ ตัวจิตตะ มันจดจ่อ แล้วเวลาลงมือปฏิบัติ มันก็ใช้ความสังเกต ใช้ความแยบคายสังเกต ทำอย่างนี้กุศลเจริญ หรือทำอย่างนี้อกุศลเจริญ ใคร่ครวญ ค้นคว้า พิจารณาจิตใจของตนเองอยู่อย่างนั้น ตัวนั้นคือ ตัววิมังสา

ถ้าเรามีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เรียกว่า มีอิทธิบาท อิทธิบาทนี้คือ ธรรมะที่ทำให้ประสบความสำเร็จ เราประสบความสำเร็จในการปฏิบัติ คือพ้นทุกข์ แต่ถ้าเรามีโลภะ ขี้เกียจ ไม่ได้มีวิริยะ ขี้เกียจ พอโลภะ ขี้เกียจปฏิบัติแล้ว จิตใจก็ฟุ้งซ่าน ไม่มีจิตตะ ไม่ใคร่ครวญในธรรมะ ไม่มีวิมังสา มัวแต่ใคร่ครวญในอธรรม วันๆ ก็คิดแต่จะด่า ใครเขาทำอะไรดีที่ไหนก็จะต้องคอยวิจารณ์ ค่อนแคะ ว่าเขาอะไรอย่างนี้ ไปดูในอินเทอร์เน็ตจะเห็นเลย รัฐบาลจะเตรียมวัคซีนมาฉีดให้ก็ด่า ทำไมไม่รู้จักทำเอง ที่ทำเองก็มีก็ด่าอีก บอกทำช้า มันด่าทั้งขึ้นทั้งล่องอย่างนี้ คนชนิดนี้ไม่มีวันเจริญในธรรมะหรอก เพราะใจมันอยู่แต่อกุศลทั้งวันเลย

พวกเราก็อย่าไปเอาอย่าง เราก็มีฉันทะ มีความพึงพอใจที่จะปฏิบัติของเรา แล้วพอมีความพอใจที่จะปฏิบัติ ความเพียรมันก็เกิดเอง วิริยะมันก็เกิดเอง มีวิริยะแล้ว สมาธิมันจะเกิดขึ้น ใจมันก็จะตั้งมั่น พอใจมันตั้งมั่น แล้วก็เวลามีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นในจิตใจ จิตใจมันจะพิจารณาว่า เอ๊ะ ที่เราทำอย่างนี้ เราทำมาแบบนี้ แล้วผลเป็นอย่างนี้ กุศลมันเจริญ หรือว่าอกุศลมันเจริญแน่ อย่างไหนถูก อย่างไหนผิด มันรู้ด้วยตัวเอง มันค้นคว้า ใคร่ครวญได้ด้วยตัวเอง ในที่สุดมันก็รู้ทาง จิตมันก็ฉลาดขึ้นมา รู้ทางที่เอาตัวรอดได้

ค่อยๆ ฝึกของเราอย่างนี้ ทุกวันๆ ไป ส่วนใหญ่ที่พวกเราทำไม่สำเร็จนี่พวกเราไม่มีฉันทะ มีแต่โลภะ อยากได้โน้นอยากได้นี้ ถ้ามีฉันทะ พึงพอใจที่จะได้ปฏิบัติธรรม เราก็จะประสบความสำเร็จ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
10 มกราคม 2564