คอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง

รู้สึกตัวไว้ โอเค การปฏิบัติถ้าขาดความรู้สึกตัวเสียอย่างเดียว ไม่ได้ปฏิบัติแล้ว กิเลสมันเกิดตอนหลง ตอนไม่รู้สึกตัว ฉะนั้นเราต้องฝึก ต้องหัดรู้สึกตัวให้มากที่สุด หลวงพ่อพุธท่านสอนง่ายๆ บอกว่า “ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้รู้สึกตัวไว้ ให้มีสติไว้” อย่างเราเห็นร่างกายมันยืน เราก็รู้ร่างกายมันยืนอยู่ ร่างกายมันเดิน มันนั่ง มันนอน เรารู้สึกไป จะกินอาหารก็รู้สึกไป มันขับถ่ายก็รู้สึกไป มันจะพูด ร่างกายมันพูด รู้สึก

ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด มันออกมาจากคิด ฉะนั้นหลวงพ่อพุธจะสอน “ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด” ยืน เดิน นั่ง นอน ก็จิตมันสั่ง มันคิดขึ้นมาตอนนี้มีธุระแล้วต้องเดินไป เราก็เห็นร่างกายมันเดิน ตอนนี้ถึงเวลาพักผ่อนแล้ว เหนื่อยเต็มที ง่วงแล้ว จิตมันก็สั่งสมควรนอนแล้วก็นอน เวลาจะกินเราก็มีสติ สมควรกินเราก็กิน ไม่สมควรกินเราก็ไม่กิน กินพร่ำเพรื่อก็ไม่กิน มีสติกำกับตัวเองไป คอยรู้ทัน

 

จุดตั้งต้นของการปฏิบัติที่ลัดสั้น

ถ้าเรารู้เข้ามาได้ถึงตัวความคิดได้ มันจะครอบคลุมตัวอื่นๆ ไปหมดเลย เรายืนเพราะจิตมันเป็นคนสั่ง มันคิดให้ยืน ร่างกายมันยืน มันเดิน มันนั่ง มันนอน จิตมันสั่งทั้งนั้น มันจะกิน อยู่ๆ ร่างกายมันหยิบอาหารเข้าปากไม่ได้หรอก อย่างถ้าจิตมันไม่คิด ไม่สั่งให้มือหยิบอาหารเข้าปาก มันก็เข้ามาไม่ได้ ไปนั่งมองเฉยๆ ร่างกายไม่เคลื่อนไหว จะกิน จะดื่มเพราะจิตมันสั่ง ไม่ว่าทำอะไรจิตมันก็สั่ง ให้ทำดีจิตมันก็สั่ง ทำชั่วจิตมันก็สั่ง มันสั่งผ่านความคิดออกมา ฉะนั้นท่านลงท้าย “ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด” ตัวสุดท้าย “คิด”

ฉะนั้นเราหัดรู้ทันใจมันคิด มันคิดดี หรือมันคิดร้าย ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งของหลวงพ่อ ท่านสอนดี เหมือนกัน หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านบอก “คิดดีก็ใจเย็น” คือถ้าเราคิดไม่ดีมันก็ใจร้อน ท่านก็ให้รู้ทันความคิดเหมือนกัน หลวงปู่ดูลย์ก็สอนเรื่องความคิด อันนี้เป็นขั้นของวิปัสสนา ท่านบอก “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงจะรู้ แต่ก็อาศัยคิด” เห็นไหม ทิ้งความคิดไม่ได้ เพราะจิตมันมีหน้าที่คิดมันก็ต้องคิด ธรรมชาติของจิต มันรู้สึกนึกคิด เราไม่ได้ไปดัดแปลงมัน ให้จิตหมดความรู้สึก ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ไปนั่งปั้นจิตขึ้นมาแบบนั้น ก็ใช้ไม่ได้ เพียงแต่ว่าจิตมันคิด ให้เรารู้ทัน

มันคิดเพราะอะไร มันคิดดีๆ มันคิดเพราะกุศลไหม หรือว่ามันคิดชั่วๆ เพราะอกุศลไหม มันคิดไปด้วยความโลภหรือเปล่า คิดไปด้วยความโกรธไหม คิดด้วยความหลงหรือเปล่า หรือมันคิดด้วยจิตที่เป็นกุศล อย่างเราเห็นแมวเห็นหมาจรจัด สงสาร เอาข้าวให้กิน จิตมันเกิด อะไรอยู่เบื้องหลัง สิ่งที่เกิดคือความกรุณาเกิดขึ้นในจิต เราก็หาข้าวให้มันกิน พอมีคนมาดู เขารู้สึก แหม ดีจังเลย คนนี้ใจดี เอาข้าวให้หมาให้แมว เราเกิดคิดขึ้นมาอีก แหม เท่น่าดูเลย นี่คิดด้วยอำนาจกิเลสแล้ว หาของอร่อยๆ ไปให้มันกิน ตอนยังไม่มีคนเห็น ยังไม่ให้ มีคนเห็นแล้วถึงจะให้

พฤติกรรมอันเดียวกัน คือให้อาหารสัตว์ แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลัง มันคนละอันกัน ถ้ามันเป็นกุศล ให้ด้วยความกรุณา หรือด้วยความเมตตา นั้นก็เป็นบุญของเรา ถ้าให้โดยการเจือกิเลสลงไป บุญนั้นกระพร่องกระแพร่ง ไม่สมบูรณ์ ได้บุญเล็กน้อย แต่ก็สะสมกิเลสให้รุนแรงยิ่งขึ้น เหมือนบางคนทำบุญ เรียกทำบุญเอาหน้า ทำบุญแล้ว จะได้เข้าใกล้ครูบาอาจารย์ ถวายเงิน ถวายโน่นถวายนี่ สิ่งที่แฝงเร้นอยู่หลังความคิดที่จะทำบุญ มันกลายเป็นกิเลสไป

ฉะนั้นเราพยายามรอบคอบ สังเกตจิตใจของเราอย่างซื่อตรง ระมัดระวัง ค่อยๆ สังเกตไป อะไรมาอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา กุศลหรืออกุศล โลภหรือเปล่า โกรธหรือเปล่า หลงหรือเปล่า สังเกตไป ถ้าเราทำตรงนี้ได้ คำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตของเรา จะสะอาดหมดจดมากขึ้นๆ แล้วการที่เราคอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง เราไม่คิดไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แต่คิดไปด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ ขณะที่เราคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเองอย่างนั้นอยู่ สัมมาวายามะมันเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว

เพราะเราอาศัยมีสติรู้เนื้อรู้ตัว อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป พอความชั่วมันมาครอบงำความคิดเราไม่ได้ คำพูดเรามันก็ดี การกระทำของเรามันก็ดี การดำรงชีวิตของเราก็ดี แล้วทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นก็คือความเพียรชอบแล้วก็มีความเพียรชอบ ในขณะนั้นเรากำลังมีความเพียรละกิเลส ละอกุศลที่กำลังมีอยู่ แล้วก็ปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด ในขณะที่เรามีสติอ่านจิตใจตัวเองออก อะไรอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา ขณะนั้นเรามีสติ กุศลเกิด กุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิด ที่เกิดแล้วก็เกิดบ่อยขึ้น ชำนิชำนาญขึ้น

เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติที่ลัดสั้นมากเลย ทำแป๊บเดียวองค์มรรคทั้ง 8 มันสมบูรณ์ขึ้นมา อาศัยความคิดถูก แต่มันคิดถูกได้อย่างนี้ ก็เพราะมีความเห็นถูก ความเห็นถูกอย่างที่พวกเรานั่งฟังหลวงพ่อ มันเกิดความเห็นถูกในภาคปริยัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ ด้วยการรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังอโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือโลภะ โทสะ โมหะ อยู่เบื้องหลังความคิด ถัดจากนั้นองค์มรรคที่เหลือ มันจะก้าวกระโดด สัมมาวาจามันก็เกิดเอง เพราะเรารู้ทัน จิตเราโกรธ เราอยากด่าแล้วเรารู้ทัน ความโกรธก็ดับ เราก็ไม่ด่าใคร

หรือเราอยากประจบสอพลอ เราชอบเขา เราจะไปจีบสาว สาวจะจีบหนุ่ม ตอนจะจีบกัน มุสาวาทจะรุนแรงมากเป็นพิเศษ สังเกตให้ดีเถอะ อย่างเห็นสาว โอ๊ย สวยที่สุดในโลก แค่ประโยคเดียว มันก็มุสาแล้ว ไปประจบเขา รู้ได้อย่างไร ว่าสาวคนนี้สวยที่สุดในโลก สวยไม่มีสภาวะ เราว่าสวย คนอื่นเขาว่าน่าเกลียดก็ได้ คำพูดซึ่งมันไม่มีสติปัญญากำกับจิตใจอยู่ มันก็พูดไปตามราคะบ้าง โทสะบ้าง พูดเพราะหลงบ้าง การกระทำ พอความคิดเราไม่ดี การกระทำมันก็ออกมาในทางไม่ดี ความคิดเราดี การกระทำก็ออกมาในทางดี นั่นก็มีสัมมากัมมันตะ มีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ

 

สัมมาอาชีวะ

การเลี้ยงชีวิตของเรา เรารู้ว่าเราทำงานอาชีพนี้ ทำเพราะอะไร สังเกตเอา แต่เรื่องอาชีพ หลวงพ่อเห็นใจฆราวาส ฆราวาสไม่เหมือนพระ พระ อาชีพก็คือขอทาน ถึงเวลาก็เอาบาตรไปขอข้าวเขากิน อาชีพพระ ถ้าทำอย่างอื่นก็เป็นมิจฉาอาชีวะ ถ้าเป็นอาชีพของภิกขุ เป็นผู้ขออย่างมีมารยาท ขอแบบรู้ประมาณ ก็เป็นสัมมาอาชีวะของพระ แต่ฆราวาสมันทำยาก อย่างการทำมาหากิน จะให้มันสะอาดหมดจดจริงๆ ยากมากเลย อย่างเราจะขายของอะไรสักอย่าง เราต้องโฆษณา มีไหมใครโฆษณาบอกว่า ของๆ เราคุณภาพอย่างนั้นๆ ล่ะไม่มีหรอก มันก็ต้องบอกคุณภาพดี

หรือบางทีเรา อาชีพทางบ้านอาชีพเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาอะไรอย่างนี้ เราจำเป็นต้องทำ ยังเปลี่ยนอาชีพไม่ได้ มันจำเป็นต้องทำ มันก็ต้องทำไปก่อน ยังไม่สามารถอยู่ๆ ก็เลิกเลย แต่ก็วางใจให้ดี กรรมมันก็จะลดลง ความรุนแรงมันก็จะน้อยลง หรืออย่างพระหลวงพ่อนี้ก็มี เขาเป็นดาราเป็นนักแสดง เมื่อวานนี้ถามหลวงพ่อบอกว่า “เป็นนักแสดงมันขวางการปฏิบัติไหม” หลวงพ่อบอกว่าถ้าเป็นพระ หลวงพ่อก็จะบอกตรงไปตรงมา ถ้าเป็นโยมต้องบอกแบบประคับประคองมากหน่อย เป็นโยมก็บอกว่า “มันก็ไม่ค่อยดีหรอก อาชีพนี้มันไม่ยั่งยืน หาอาชีพอื่นทำได้ก็ทำไปเถอะ” ไม่อย่างนั้นจิตเศร้าหมอง

ถ้าเป็นพระมาถาม หลวงพ่อก็จะตอบอีกแบบหนึ่ง จะเล่าเรื่องพระตาลบุตรให้ฟัง พระตาลบุตรท่านเป็นนักแสดงมีชื่อเสียงในครั้งพุทธกาล ร้องเพลงก็เก่ง เต้นรำก็เก่ง เป็นดาราดังในยุคนั้น แล้วก็ท่านมีความอิ่มอกอิ่มใจ ว่าท่านได้สร้างความดีมากมาย ทำให้คนมีความสุข มีความคิดอย่างนี้ว่า ทำให้คนมีความสุข ตายไปน่าจะขึ้นสวรรค์ เพราะอาจารย์ของท่านบอก เราเป็นนักแสดงทำให้คนมีความสุข ตายแล้วเราขึ้นสวรรค์ ตาลบุตรก็มาถามพระพุทธเจ้าว่า “พระองค์เห็นด้วยไหมอันนี้”

พระพุทธเจ้าไม่ตอบ ไม่ตอบเพราะว่าเธอยังเป็นฆราวาสอยู่ พูดหักหาญนัก มันก็ไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร ถามครั้งที่หนึ่ง ไม่ตอบ ครั้งที่สอง ไม่ตอบ พอครั้งที่สาม ท่านรู้แล้วว่าอินทรีย์เขาแก่กล้าขึ้นแล้ว เขาตั้งใจอยากได้คำตอบจริงๆ แล้ว ท่านก็บอกว่า “การเป็นนักร้อง นักแสดง มันไปทำกิเลสของตัวเองที่ยังไม่เกิดให้เกิด ทำกิเลสของตัวเองที่เกิดแล้วให้แรงขึ้น ทำกุศลของตัวเองที่มีอยู่ให้มันไม่มี ให้มันหมดไปสิ้นไป แล้วก็กุศลใหม่มันก็ไม่เกิด”

แล้วก็เป็นการทำอกุศลของคนที่มาดู ที่ยังไม่เกิดให้เกิด คนที่มีกิเลสเยอะอยู่แล้ว มาดูแล้วก็ยิ่งกิเลสเยอะกว่าเก่าอีก กุศลที่มีอยู่ เช่น จิตใจกำลังสงบ สบาย จิตใจเป็นธรรมะธัมโมอยู่ พอมาดูการละเล่นของเรา เดี๋ยวจิตก็มีราคะ เดี๋ยวจิตก็มีโทสะ อย่างผู้แสดงเองก็ต้องบิลด์อารมณ์ของตัวเอง ให้เศร้า ให้รัก ให้โกรธอะไรต่ออะไร หมุนอยู่อย่างนี้ แล้วก็ครอบงำความรู้สึกนี้ให้คนอื่นด้วย ฉะนั้นตัวเองก็เป็นอกุศล แล้วคนอื่นก็เป็นอกุศลด้วย ท่านฟันธงเลยว่า “ตกนรก ไม่ใช่ขึ้นสวรรค์”

มันเป็นเรื่องพิถีพิถัน อย่างฆราวาสเขาเป็นนักแสดง เซ็นสัญญาไว้แล้ว ยังต้องแสดงอยู่ก็แสดงไปก่อน แล้วก็หาทางทำมาหากินอย่างอื่นไป ค่อยปรับค่อยเปลี่ยน เคยเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา ก็หาทางปรับเปลี่ยนอาชีพเสีย ทำอยู่อย่างนี้รู้ว่ามันไม่ดี รู้ว่ามันไม่ถูก อันนี้ดี ถือว่าดี รู้ผิดชอบชั่วดี อย่างถ้าเราเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่เอาไว้ขาย เอาไว้ฆ่า แล้วเรารู้สึกไม่ผิด อันนี้จิตประกอบด้วยโมหะ เพราะฉะนั้นอกุศลมันรุนแรง เป็นอกุศลที่มีโมหะกำกับอยู่ ร้ายกาจที่สุดเลย ร้ายกว่าราคะ โทสะอีก

ไม่มีอกุศลตัวไหนร้ายเท่าตัวโมหะ ตัวหลง ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ฉะนั้นอย่างเราทำอาชีพ เรารู้อาชีพนี้มันยังไม่ดี รู้ว่ามันไม่ดี รู้ว่ามันไม่ถูก อันนี้ถือว่าอย่างน้อยก็ยังรู้ผิดชอบชั่วดี อกุศลที่มีอยู่ไม่แรง แต่ถ้าทำโดยมีโมหะประกอบด้วย อกุศลนั้นรุนแรง แล้วก็เรารู้ว่ามันไม่ถูกไม่ดี ก็ค่อยๆ หาทางปรับ หาทางเปลี่ยนไป เรื่องสัมมาอาชีวะของฆราวาส ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่อย่างนั้นอดตาย ใครจะเลี้ยง อย่างพระไปบิณฑบาต คนเขาก็ยังให้ข้าวกิน แต่ว่าทุกวันนี้พระก็ลำบาก คนก็ชอบมีแต่ข่าวพระไม่ดี พระดีๆ ไม่เคยมีข่าวหรอก

คนจำนวนมากบอกไม่ใส่บาตรแล้ว ไม่ใส่บาตรพระก็อยู่ไม่ได้ พระอยากอยู่ พระก็ต้องทำอะไรพิลึกๆ ไป ทำไอ้โน้นขาย ทำไอ้นี่ขาย รดน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก ขากเสลด ก็ต้องทำไป วุ่นวาย ลำบาก อาชีพมันเกินสัมมาอาชีวะของพระไปแล้ว หรือต้องสร้างเทวรูปไว้ตามวัด ให้คนมาไหว้ แล้วหวังจะขายดอกไม้ ธูป เทียน ตอนนี้เข้าวัดไหนก็เจอ ปั้นกันเต็มไปหมดเลย แทบทุกวัด ทำไมต้องทำอย่างนั้น ก็เพื่อความอยู่รอดแล้ว แต่เดิมเราชาวพุทธ เราเลี้ยงวัด เลี้ยงพระ ทุกวันนี้เราไม่ได้สนใจ ไม่ได้สนใจธรรมะ คนส่วนใหญ่ทิ้งไปแล้ว มันเป็นพุทธแต่ชื่อหรอก แต่ว่าศาสนาพุทธสอนอะไรบ้างไม่รู้ รู้แต่ว่าถ้ามีคนตายก็ไปเผาที่วัด อย่างพระบางวัด ท่านก็ยังหากินอยู่กับการเผาศพ แต่อาชีพนี้ไม่ยั่งยืนแล้ว ต่อไปมันจะมีธุรกิจเผาศพ ใช้เงินน้อยกว่าไปเผาที่วัดอีก

ฉะนั้นเรื่องสัมมาอาชีวะ มันจะกระทบหนักกับโยม ก็หากินลำบาก ทุกวันนี้พระก็หากินยาก แค่บิณฑบาตให้พออิ่มวันหนึ่งๆ ไม่ใช่ง่ายแล้ว มีเงื่อนไขอะไรขึ้นมาควบคุมมากมายเลย อย่างบอกห้ามพระไปบิณฑบาต ไปยืนที่ตลาด เพราะว่าพระวินัยบอกให้เดินไปตามลำดับบ้าน ถ้าพระเดินไปตลาดแล้วก็ผ่านตลาดไปเลย คนก็ใส่บาตรได้หนึ่งราย แล้วก็ไม่มีแล้ว อย่างในหมู่บ้านนี้ ไปเดินตามลำดับบ้าน ไม่มีคน เช้าขึ้นมาคนเข้าโรงงานไปหมดแล้ว พออาหารไม่พอ ครูบาอาจารย์ท่านเคยบอกไว้ อย่างนักปฏิบัติหรือพระ ถ้าอาหารไม่พอ มันภาวนาไม่ไหว เรียกว่ามีปลิโพธ เรื่องอาหารปลิโพธ อาหารไม่พอ

เมื่อก่อนครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ซึ่งท่านมีฤทธิ์มากคือหลวงปู่ชอบ ท่านเดินธุดงค์ไปทะลุชายแดน ออกไปประเทศเพื่อนบ้านเราประเทศหนึ่ง ประเทศนี้พระทั้งประเทศเลย พระเยอะแยะเลย ผู้ชายหนึ่งในสามเป็นพระ ชาวบ้านใส่บาตรก็ใส่ช้อนเดียว บ้านหนึ่งเขาใส่นิดเดียว พระไทยไป หาที่บิณฑบาตไม่เจอ พระประเทศนั้น บางทีขึ้นไปบิณฑบาตบนบ้าน บ้านฆราวาส บ้านโยม เขาไม่ลงมาใส่บาตรหน้าบ้าน พระไทยเราไป ท่านพ่อลีท่านก็เคย ไปทีแรกงงเลย เดินบิณฑบาตไม่มีคนใส่ ไม่รู้วิธี 2 วัน 3 วัน พระพม่าสงสาร บอกตามมาเดี๋ยวพาไป ก็พาขึ้นในบ้าน ก็ขึ้นบ้านเขาๆ ถึงใส่

หลวงปู่ชอบท่านก็บอกว่า ประเทศนี้พระเยอะ คนมีศรัทธาในศาสนาพุทธเยอะ แต่พระเยอะจนชาวบ้านเลี้ยงไม่ไหว อาหารไม่พอ มีอาหารปลิโพธ ยากที่จะทำมรรคผลให้เกิด ท่านบอกอย่างนี้ ของเราทุกวันนี้ก็ใกล้แล้ว พระวัดหลวงพ่อ พระเกือบ 30 องค์ 20 กว่าองค์ ไปบิณฑบาตพอฉันอยู่สัก 3 องค์เท่านั้น ที่เหลือก็ต้องปรับเปลี่ยน มีแม่ครัวมีอะไร หรือพวกเรามาวัด บางวัดไม่มีโยมมา ไม่มี มีแต่เอาหมามาปล่อย เอาข้าวมาให้พระไหม ไม่เอา

 

“อันไหนมันไม่ถูก ค่อยปรับค่อยแก้เสีย
ถ้าไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ก็ไม่มีวันได้ดีหรอก
เพราะว่ามันทำชั่วโดยไม่รู้ว่าชั่ว มันเอาดีไม่ได้”

 

ฉะนั้นเรื่องการเลี้ยงชีวิต ต่อไปมันจะเป็นอุปสรรคใหญ่ของการปฏิบัติ พระหิวข้าวภาวนาก็ไม่ไหวเหมือนกัน โยมทำมาหากิน เครียดจะตายไป จะให้นั่งภาวนา เครียด ก็ภาวนายาก ฉะนั้นเรื่องอย่างนี้ เราก็ต้องดูว่าทำอย่างไร เราจะอยู่รอดได้ อย่างโยมทำมาหากินอย่างไร ส่วนพระก็ต้องพากเพียรภาวนาเข้า เป็นพระดีๆ คนเขาไม่ทิ้งหรอก ชาวพุทธยังไม่ทิ้งอยู่ เราเป็นพระเหลวไหล ก็หลอกเขากินไปวันๆ หนึ่ง ทุกคำที่กินเข้าไป ที่ฉันเข้าไป กินโทษเข้าไป กินภัยเข้าไปแล้ว คล้ายๆ หลอกเขา

เราต้องรู้ว่า อะไรอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา ทำไมเราทำมาหากินอย่างนี้ ทำไมพระต้องไปปั้นเทวรูป ปั้นพญานาค ปั้นอะไรให้คนมาไหว้ ถูก ไม่ถูก ต้องรู้ผิดชอบชั่วดี ไม่อย่างนั้นก็ทำให้ชาวบ้านโง่มากขึ้นๆ แล้วเขาไม่เห็นคุณค่าของศาสนา แล้วศาสนาพุทธจะต่างอะไรกับศาสนาอื่นๆ ที่เขานับถือเทพเจ้า เราก็นับถือแบบเทพเจ้า หรือเราไปไหว้พระพุทธรูป เราก็ไหว้แบบไหว้เทพเจ้าอีก ไปหาหลวงพ่อโสธร ก็ไปขอให้ช่วยโน่นช่วยนี่ หลวงพ่อโสธรทำไมยกองค์นี้ อยู่ใกล้ๆ แล้วก็คนไปบนเยอะเลย เอาไข่ต้มไปถวายทีหนึ่งตั้ง 1,000 ฟอง ไข่เยอะแยะเลย นี้คือการพยายามไปติดสินบน ระบบติดสินบน เคยชินการติดสินบน ก็เอาไปติดสินบนพระ มันไม่ใช่ธรรมะเลย

ศาสนาพุทธเราสอนให้พึ่งตัวเอง ให้ช่วยตัวเองด้วยสติด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยการร้องขอ พอเราลำบากในการหาอยู่หากิน เราไม่รู้จะทำอย่างไร เราก็เที่ยวขอโน่นขอนี่ไปเรื่อยๆ หลอกตัวเองไปวันๆ หนึ่ง บางคนก็เลยมีอาชีพหลอกเราซ้ำเข้าไปอีกที ให้ทำโน้นทำนี้ เพราะฉะนั้นเราจะทำอะไร กระทั่งจะทำมาหากิน ต้องดูว่า เราทำอันนี้เพราะอะไร อย่างเป็นพระ แล้วไปทำอะไรหลอกชาวบ้านเขา ต้องรู้ทันว่าทำเพราะอะไร ทำเพราะอยากได้เงินเขาอะไรอย่างนี้ ต้องรู้

ฆราวาสทำเพราะอะไร ต้องรู้ แล้วอันไหนมันไม่ถูก ค่อยปรับค่อยแก้เสีย ถ้าไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ก็ไม่มีวันได้ดีหรอก เพราะว่ามันทำชั่วโดยไม่รู้ว่าชั่ว มันเอาดีไม่ได้ แต่ถ้าเรายังต้องทำผิดอยู่ เรารู้ว่ามันผิด มันยังมีทางเอาดีได้ ฉะนั้นอย่างเราเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา เรารู้ว่ามันผิด เราก็ค่อยๆ หาทาง หาลู่ทางเปลี่ยนเสีย ไปดู ค่อยๆ ทำชีวิตให้สะอาดหมดจดมากขึ้นๆ แล้วการที่เราพากเพียร ฝึกตัวเองให้สะอาดหมดจดนั่นล่ะ คือตัวสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ

 

หลงรู้ๆ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
จะทำมรรคผลให้เกิดขึ้นก็ได้

แล้วการที่เราคอยอ่านจิตอ่านใจตัวเอง อะไรอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา อันนั้นจะเกิดสัมมาสติ เพราะเวลาจิตเรามีอกุศลเกิดขึ้น เรามีสติรู้ทัน อกุศลก็ดับ นั่นคือตัวสัมมาสติ แล้วทันทีที่อกุศลเกิดขึ้น เรามีสติรู้ทันอกุศลดับไป สัมมาสมาธิก็จะเกิดอัตโนมัติ อย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านชอบสอน หลงแล้วก็รู้ๆ อาจารย์กฤชท่านไปสอนในคอร์ส ท่านสอนหลงรู้ๆ สอนดี ถ้าหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ไป สติรู้ทันว่าหลง ความหลงจะดับ แล้วสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต จะเกิดอัตโนมัติเลย เป็นขณะๆ ไป

ฉะนั้นแค่หลงรู้ๆ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มันจะทำมรรคผลให้เกิดขึ้นก็ได้ ถ้าอินทรีย์เราแก่กล้า อย่างเราคอยรู้ทันจิตใจตัวเองไว้ มันหลง มันหลงก็รู้ มันโลภก็รู้ มันโกรธก็รู้ แล้วคราวนี้มันจะคิดไป เพราะโลภ เพราะโกรธเพราะหลง มันก็รู้ มันจะพูดเพราะโลภ เพราะโกรธ เพราะหลง มันก็รู้ มันจะทำเพราะโลภ เพราะโกรธ เพราะหลง มันก็รู้ มันจะทำมาหากินเพราะโลภ เพราะโกรธ เพราะหลง มันก็รู้อีก คอยรู้ทันจิตใจตัวเองไว้ มีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองบ่อยๆ จิตโลภก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตหลงก็รู้

รู้ไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปพอเรารู้เชี่ยวชาญขึ้น จิตเราโกรธขึ้นมา แล้วมันจะเริ่มคิดไปตามความโกรธนี้ ความคิดไปตามความโกรธ ที่เรียกว่าพยาบาทวิตก มันจะดับทันที ไม่เกิดหรอก ถ้าเรารู้ต้นตอ พยาบาทวิตกมันก็มาจากโทสะ กามวิตก มันก็มาจากราคะ วิหิงสาวิตก มันก็มาจากโมหะ ถ้าเราฝึกจิตฝึกใจเรา สังเกตจิตเราไปเลย ราคะเกิดเรารู้ โทสะเกิดเรารู้ โมหะเกิดเรารู้ ทันทีที่ราคะเกิดแล้วเรารู้ ราคะจะดับ จิตก็เป็นอโลภะ ไม่มีราคะ เป็นกุศลแล้ว ทันทีที่มันมีโทสะเกิดขึ้น เรามีสติรู้ โทสะมันก็ดับ พยาบาทวิตกก็มีไม่ได้ แล้วตรงที่โทสะดับ จิตมันก็เป็นอโทสะ อโทสะเป็นกุศล

ขณะที่มันหลง มันก็จะเกิดความคิดไปตามความหลง พูดไปตามความหลง ทำไปตามความหลง หากินไปตามความหลง พอเรารู้ทันว่านี่หลง หลงลืมตัวเอง หลงไม่รู้ผิดชอบชั่วดี หลงมีหลายอย่าง หลงลืมตัวเองนี้อันหนึ่ง หลงในความคิดความเห็น ทิฏฐิมานะว่า ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี นี้หลง หลงร้ายกาจเลย พอเรารู้ทันจิตที่หลง จิตที่มีโมหะก็ดับ เกิดจิตที่เป็นอโมหะ ความหลงเรียกโมหะ ความไม่หลงเรียกอโมหะ อโมหะนั่นล่ะคือตัวปัญญา เพราะฉะนั้นตัวที่จะสู้ความหลงได้ คือตัวปัญญา แล้วถ้าจิตเราหลงแล้วเรารู้ รู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา เราสะสมปัญญาด้วย ไม่ใช่สะสมแต่สมาธิ เพราะตัวอโมหะนั่นล่ะ คือชื่อของปัญญา

เพราะฉะนั้นเราพยายามฝึกตัวเอง อ่านจิตอ่านใจตัวเองเรื่อยๆ ไป จิตมีราคะก็รู้ มันก็จะเกิดราคะดับ ก็จะเกิดจิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะเรารู้ มันก็จะเกิดจิตที่ไม่มีโทสะ จิตมีโมหะเกิดขึ้น เรารู้ มันก็จะเกิดจิตไม่มีโมหะ เป็นคู่ๆ กัน ถ้าไปดูในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราจะเห็น ท่านสอนเอาไว้ชัดเจน “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะ ให้รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้ว่าไม่มีราคะ” เห็นไหมเป็นคู่กัน ในขณะที่สติเรารู้ว่าจิตมีราคะ จิตมีราคะดับ มันจะเกิดจิตไม่มีราคะขึ้นมาแทน แล้วเราก็มีสติรู้ว่า อุ้ย จิตตอนนี้ไม่มีราคะแล้ว

ภาวนาเราทำกันอย่างนี้ หรือจิตมีโทสะ “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะให้รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะ ให้รู้ว่ามันไม่มีโทสะ” อย่างจิตมันโกรธขึ้นมา ให้เรารู้ทัน ความโกรธมันจะดับ กลายเป็นจิตไม่มีโทสะขึ้นมา จิตหลง จิตหลงมันโง่งมงาย ไม่ได้เรื่องได้ราว มันเกิดขึ้นมา เรารู้ทัน จิตมีโมหะก็ดับ เกิดเป็นจิตไม่มีโมหะ ฉะนั้นในสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนา ท่านจะสอนเป็นคู่ๆ “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะ ให้รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ ให้รู้ว่าไม่มีราคะ” “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะ ให้รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะ ให้รู้ว่าไม่มีโทสะ” “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จิตมีโมหะ ให้รู้ว่ามีโมหะ จิตไม่มีโมหะ ให้รู้ว่าไม่มีโมหะ”

จิตไม่มีราคะ โทสะ โมหะ มันเกิดจากเรามีสติรู้ทันจิตที่มีราคะ โทสะ โมหะ รู้สิ่งที่ผิด เมื่อไรไม่ผิด เมื่อนั้นถูก สังเกตไหมพระพุทธเจ้าสอน ท่านไม่ได้เริ่มบอกว่า ภิกษุทั้งหลาย จิตไม่มีราคะ ให้รู้ว่าไม่มีราคะ จิตมีราคะ รู้ว่ามีราคะ ไม่ได้สอนอย่างนี้เลย ท่านไม่ได้สอนว่า ภิกษุทั้งหลาย จิตไม่มีโทสะ ให้รู้ว่าไม่มีโทสะ จิตมีโทสะ ให้รู้ว่ามีโทสะ ไม่ได้สอนอย่างนี้ ท่านสอนเริ่มต้นมาจากกิเลส “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะ ให้รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้ว่าไม่มีราคะ” “จิตมีโทสะ” เห็นไหมเริ่มจากกิเลส “ให้รู้ว่ามีโทสะ” แล้วโทสะมันก็จะดับทันทีที่เรารู้ กลายเป็นจิตไม่มีโทสะ

ไปสังเกตดู คำพูดของท่านสมบูรณ์มาก เพราะฉะนั้นไม่มีสาวกองค์ไหน ที่จะแสดงธรรมแล้วงดงามหมดจด ด้วยอรรถคือเนื้อหา และพยัญชนะ ด้วยถ้อยคำ มีแต่พระพุทธเจ้าที่สมบูรณ์ด้วยอรรถ เนื้อหา แล้วก็พยัญชนะ สิ่งที่สื่อออกมา สาวกก็จะกระพร่องกระแพร่ง อย่างฟังหลวงพ่อเทศน์ อรรถก็ได้ส่วนหนึ่ง เทศน์ได้ไม่ครบ ไม่ครบถ้วน นั่นมันภูมิของสาวก กับภูมิของพระศาสดานั้น คนละชั้นกัน ฉะนั้นเราดูที่พระพุทธเจ้าสอน อย่างฟังหลวงพ่อนั้น พอเป็นแนว

แล้วก็ลองไปอ่านพระไตรปิฎกดูบ้าง ที่สำคัญอ่านพระไตรปิฎกเท่าไรๆ ก็ยังไม่รู้ธรรมะหรอก เพราะหลวงพ่ออ่านมาตั้งหลายรอบแล้ว มันจะรู้ได้ก็ด้วยลงมือปฏิบัติจริงๆ พระไตรปิฎกเป็นแผนที่ เป็นไกด์ไลน์ พอเราอ่านแล้วเราต้องลงมือทำ แล้วตอนไปทำ เราจะพบว่าทำไอ้นี่ก็ผิด พอรู้ว่าผิดมันก็ถูกเอง เรียนจากสิ่งที่ผิดแล้วมันถูกเอง ค่อยๆ สะสมความรู้ถูก ความเข้าใจถูกไปเรื่อยๆ ไม่ยากแต่ต้องอดทน สังเกตจิตใจตัวเองได้ สังเกตไปเลย ถ้าสังเกตจิตใจไม่ออก รู้สึกร่างกายไว้ อย่าใจลอย ใจลอยลืมเนื้อลืมตัว ความไม่รู้สึกตัวมีโทษร้ายแรง นี่ตัวโมหะ ไม่มีอะไรมีโทษเท่าตัวโมหะ

 

อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป ไม่มีอะไรจะลัดสั้นกว่านี้แล้ว

ยากไปไหม สรุปให้ง่ายก็ได้ คอยรู้ทันจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ กิเลสอะไรเกิดก็คอยรู้ไป แล้วต่อไปความคิดของเราก็จะสะอาด คำพูดก็จะสะอาด การกระทำก็จะสะอาด การเลี้ยงชีวิตก็จะสะอาด แล้วการที่เราคอยมีสติรู้ทัน อ่านจิตอ่านใจตัวเองเรื่อยไปนั่นล่ะ คือสัมมาวายามะ การที่เราคอยรู้ทันจิตใจตัวเอง สติจะเกิดถี่ขึ้นๆ นั่นคือสัมมาสติ ทุกครั้งที่สติที่ถูกต้อง คือสัมมาสติเกิด สัมมาสมาธิจะเกิดร่วมด้วยอัตโนมัติ

เราพยายามฝึกตัวเองไปเรื่อยๆ อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป ตรงนี้ลัดสั้นที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรจะลัดสั้นกว่านี้แล้ว ครูบาอาจารย์ท่านสอนมาอย่างนี้ ตั้งแต่หลวงปู่มั่น หลวงปู่ดูลย์ ท่านบอกมาตลอด “การดูจิต เป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุดแล้ว” ฉะนั้นดูตรงนี้ ถ้าดูไม่ไหวก็ไปดูกาย ถ้าดูจิตก็ไม่ไหว ดูกายก็ไม่รู้เรื่อง เพราะจิตมันฟุ้งมาก ทำสมถะ ทำสมถะอะไรไม่เป็น ไหว้พระสวดมนต์ไปเรื่อยๆ ก็ยังดี ระวังนิดเดียวเวลาสวดๆ พอสวดชำนาญขึ้น มันสวดแต่ปาก ใจมันหนีไปคิดเรื่องอื่น แต่ปากมันก็สวดได้ ไม่ผิด ถ้าอย่างนั้นใช้ไม่ได้

จะสวดมนต์ ก็นึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บทอะไรก็สวดไป มีบทที่แนะนำให้สวด อันนี้แนะนำเลย บททำวัตรเช้า ขอแนะนำให้สวดบททำวัตรเช้า ที่เป็นสวดมนต์แปล ดูของสวนโมกข์ก็ได้ เล่มหนึ่งไม่กี่บาทหรอก สมัยก่อนขายกันเล่มละ 5 บาท ส่วนใหญ่ซื้อมาแจก วางเป็นตั้งๆ ไม่มีใครอ่านหรอก ลองไปหาอ่านดู บททำวัตรเช้า สวดมนต์แปล ดูอันนั้น ในนั้นมีธรรมะชั้นเลิศอยู่มากมายเลย หลวงพ่อเอาดีมาได้ ก็เพราะบททำวัตรเช้านี่ล่ะ

ตอนเป็นนักศึกษาไปบวชวัดชลประทานฯ สวดมนต์ทำวัตรเช้านี้ ก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ พอมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนบอกว่าให้ดูจิตตนเอง ก็เริ่มงงแล้วว่าดูจิตมันดูอย่างไร จิตมันอยู่ที่ไหน จิตมันเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จิตอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จะเอาอะไรไปดูก็ไม่รู้ จะดูอย่างไรก็ไม่รู้ รวมแล้วไม่รู้อะไรเลย ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก ก็ทำสมถะ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พอจิตสงบสติปัญญามันก็เริ่มเกิด ท่านให้ดูจิต จิตต้องอยู่ในกาย จิตไม่อยู่นอกกายหรอก แต่มันอยู่ตรงไหนของกาย ก็เริ่มดู ไล่ตั้งแต่หัวถึงเท้า เท้าถึงหัว ร่างกายสลายไป ไม่เห็นจิตเลย

จิตอยู่ในกาย แต่ไม่ได้อยู่ตรงไหนของกาย แล้วมันจะดูอย่างไรต่อ นึกถึงบทสวดมนต์ทำวัตรเช้า มีอยู่บทหนึ่ง “รูปูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือรูป” เราดูรูปแล้ว ไม่เจอจิต “เวทะนูปาทา นักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือเวทนา” ดูซิ จิตอยู่ในเวทนาหรือเปล่า กำหนดจิตให้มีความสุข พอเราชำนาญเรื่องของสมาธิ ทำแล้วมันมีความสุขทันทีได้ แล้วเราดูไปความสุขดับไป ไม่เห็นจิต หรือจิตอยู่ในความทุกข์ ความทุกข์ทางจิต ไม่รู้จะทำอย่างไรให้มันเกิด ก็ต้องดูความทุกข์ในกาย ถ้าเรามีสติอยู่ ความทุกข์ทางจิตจะไม่มี ความทุกข์ทางจิตมีได้ต้องหลงเท่านั้น

หลวงพ่อก็นั่งไม่กระดุกกระดิก ให้เมื่อยๆ แล้วก็ดูลงไปในความปวดความเมื่อย ก็ไม่เห็นจิต ก็นึกถึงบทสวดต่อไป “สัญญูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือสัญญา” สัญญาดูอย่างไร เอาไว้ก่อน ดูไม่เป็น “สังขารูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือสังขาร” พอดูมาถึงตัวนี้ อะไรเป็นสังขาร ความปรุงแต่งของจิตคือสังขาร เราก็ดูลงไป แล้วก็สวดมนต์ในใจ “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว” บทนี้ก็อยู่ในทำวัตรเช้า เป็นบทที่เพราะมากเลย “พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดังห้วงมหรรณพ”

“พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว” เห็นกระแสความคิดเคลื่อนขึ้นมา ไม่ใช่เห็นความคิด ความคิดนี้เราคิดขึ้นเอง แต่ตรงที่เราคิดขึ้นเองนี้ จิตมันมีกระแสของความคิด เหมือนงูเลื้อยออกมาจากความว่าง จากกลางอก ว่างๆ ผุดขึ้นมา แล้วสติเราเห็นแล้ว ความคิดดับ การคิดดับ เรื่องราวที่คิดไม่มีนัยยะ ไม่ต้องไปดูมัน ให้รู้ทันว่าจิตมันคิด ตรงที่เราเห็นว่าจิตมันคิดปุ๊บ จิตคิดดับ จิตรู้เกิดทันทีเลย โอ๊ย เจอจิตแล้ว จิตก็คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนี่เอง อาศัยเรารู้ทันจิตมันปรุงแต่ง จิตมันคิดเรารู้ว่าจิตคิด ไม่ใช่รู้เรื่องที่จิตคิด รู้ว่าจิตคิด ตัวนี้ไม่เหมือนกัน รู้เรื่องที่จิตคิด หมามันก็รู้ แมวมันก็รู้ นกมันก็รู้ แต่รู้ว่าจิตคิด

ค่อยๆ สังเกตเอา นั่งอยู่ดีๆ จิตมันแอบไปคิดเอง ส่วนคิดเรื่องอะไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่สำคัญ สำคัญที่จิตมันแอบไปคิด พอรู้ตรงนี้ปุ๊บ ได้ตัวผู้รู้ขึ้นมาแล้ว อ๋อ ตัวนี้เอง ตัวนี้ได้มาตั้งแต่เด็กแล้ว ได้มาจากการนั่งสมาธิ จิตมันรวมแล้ว มันก็มาเจอตัวนี้ แต่ว่าไปต่อไม่เป็น แต่ตอนนี้รู้แล้ววิธีที่จะไปต่อ ดูที่จิตต่อไปเรื่อยๆ ก็มาดูจิตมันทำงานไป เห็นจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว สุดท้ายมันก็เห็น จิตทุกชนิดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ภาวนา ดูเข้าไปที่จิต มันก็สั้นๆ ถ้าดูจิตไม่ได้ ดูกายไปก่อน ดูจิตไม่ได้ ดูกายไม่ได้ ทำสมถะ ใช้หลักนี้แล้วจะเอาตัวรอด

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ก็แล้วกัน ฟังยากก็ไปรีรันเอา เดี๋ยวทีมงานเอาขึ้นยูทูป ไปฟังเอา คนฟังยูทูปแล้วได้ดิบได้ดี ไม่ใช่น้อยเลย เยอะมากเลย ฉะนั้นไปฟังแล้วก็ดูของจริงเอา

 

มีสติ รู้เนื้อรู้ตัว ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่

จิตฟุ้งซ่านก็ให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน คอยรู้ทันจิตใจตัวเองไป ถ้ารู้ไม่ได้ก็ดูกายไป ถ้ารู้ไม่ได้อีกก็หายใจเข้าพุท ออกโธไว้ ก็ยังดีที่สุดแล้ว ทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง สวดมนต์ไปเรื่อยๆ ก็ได้ หางานให้จิตทำ เราจะไม่ปล่อยจิตให้ร่อนเร่สะเปะสะปะ เราจะหางานให้จิตทำ งานที่ให้จิตทำเราเรียกว่ากรรมฐาน ถ้าทำวิปัสสนาได้ เราก็ทำวิปัสสนากรรมฐาน เห็นไตรลักษณ์ของจิต เห็นไตรลักษณ์ของกาย

ถ้าทำไม่ได้เราก็ทำสมถกรรมฐาน เช่น เห็นร่างกาย ไม่ได้มองไตรลักษณ์ เห็นร่างกายหายใจ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน หรือไหว้พระ สวดมนต์ บริกรรม “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” “นะ มะ พะ ทะ” อะไรก็ได้เหมือนกันหมด ให้จิตมันมีงานทำ อย่าปล่อยจิตไว้โดยที่ไม่พามันทำงาน มันจะหนีไปทำอย่างอื่นในทางอกุศลแทน ฉะนั้นสำหรับนักปฏิบัติเรา ยกเว้นเวลาที่ทำงานที่ต้องคิดแล้ว จิตเรามีงานทำตลอด ไม่ทำวิปัสสนาก็ต้องทำสมถะ ถ้าไม่ทำอะไรเลย จิตมันจะแอบไปปรุงแต่งความชั่วขึ้นมา

ฉะนั้นเวลาอยู่เฉยๆ ไม่มีอะไรทำ เช่น สมมติเรานั่งรถเมล์ รถไฟฟ้าอะไร เราไม่ต้องขับเอง เราก็หายใจไป พุทโธไปก็ได้ อะไรก็ได้ หรือรู้สึกร่างกายก็ได้ แต่รู้สึกร่างกายจะลำบากนิดหนึ่ง เพราะร่างกายมันอยู่นิ่งๆ ทำอะไรไม่ได้ก็ขยับ ถ้าอยู่ในรถไฟฟ้า มือหนึ่งโหน มือหนึ่งขยับ คนเขาจะหวาดระแวง ไอ้นี่จะชักปืนมาไล่ยิงแบบที่ภูเก็ตหรือเปล่า เราก็ทำกรรมฐานที่คนเขาไม่รู้ นั่งเหมือนเคาะจังหวะเพลงเล่น (หลวงพ่อกำมือเคาะจังหวะ) ดูแล้วอารมณ์ดี แต่เรารู้สึกๆ หรือขยับเล่นๆ (หลวงพ่อแบมือแล้วขยับนิ้วต่างๆ) ขยับทำเล็กๆ (หลวงพ่อถูนิ้วโป้งเข้ากับนิ้วชี้) ถ้าอย่างนี้ (หลวงพ่อยกมือขึ้นแล้วกำแบมืออย่างจริงจัง) คนมันกลัว ขยับไปรู้สึกไป ขยับไปรู้สึกไป แค่นั้นก็ดีถมไปแล้ว

ขณะที่ขยับไป รู้สึกไป จิตไม่ไปทำชั่วหรอก อกุศลไม่มีหรอกขณะนั้น แล้วขณะที่เราขยับ ร่างกายเคลื่อนไหว เรารู้สึก อันนั้นมีสติ จิตเป็นกุศลเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นเราไปโหนรถไฟฟ้าอยู่ จิตเราก็เป็นกุศลได้ ทำอะไรจิตเราก็เป็นกุศลได้ ให้เรามีสติไป แล้วถ้าจิตเรามีแรงพอ ก็เห็นกายส่วนกาย จิตส่วนจิต เวทนาอีกส่วนหนึ่ง สังขารอีกส่วนหนึ่ง แยกออกไป

ถ้าจิตมีกำลังมากกว่านั้น ก็เห็นแต่ละอันมันมีไตรลักษณ์ ร่างกายที่กำลังโหนรถไฟฟ้า โหนรถเมล์อยู่ ไม่ใช่ตัวเรา มันถูกรู้ถูกดู ความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้น อย่างเราขึ้นรถไฟฟ้าเห็นผู้หญิงสวย ใจเรามีความสุข เห็นอะไรสวยๆ งามๆ มีความสุข รู้ว่ามีความสุข หรือจะรู้ลึกลงไปอีกอันหนึ่งก็ได้ ในความสุขนั้นมีราคะ ตรงที่เราเห็นผู้หญิงสวย นี่คือการเห็นรูป เห็นผู้หญิงเราเห็นรูป ที่จริงไม่ได้เห็นผู้หญิง เราเห็นรูปอย่างหนึ่ง แล้วมันมีความสุข รูปนี้มันเป็นที่พอใจ เรียกอิฏฐารมณ์ รูปที่พอใจ เรามีความสุขเกิดขึ้น นี่เข้ามาที่เวทนาแล้ว

จากตัวรูปมาเวทนา ในความสุขเราดูลึกลงไปได้ บางคนดูได้ บางคนดูไม่ได้ ก็ดูแค่นี้ ถ้าดูได้เราจะเห็นเลย ในความสุขนั้นมีราคะ ชอบอกชอบใจแฝงอยู่ ดูลึกลงมา ลึกลงมา สุดท้ายเราก็เห็นตัวรูปมันก็ของข้างนอก ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเวทนามันก็ของถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา ตัวราคะ ตัวสังขาร ก็ถูกรู้ไม่ใช่เรา มันจะเข้ามาที่จิต จิตก็ทรงสมาธิขึ้นมา คราวนี้พอจิตมันทรงสมาธิขึ้นมาแล้ว ถ้าจิตมันเคยเดินปัญญามาช่ำชอง มันจะเห็นโลกธาตุทั้งโลกธาตุนั่น รวมตั้งแต่ร่างกายนี้ออกไป ไม่มีตัวเรา แล้วตัวจิตเองที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็ไม่ใช่ตัวเรา

ค่อยๆ ฝึก ไม่ยากหรอก บางคนขึ้นรถทัวร์ เขาได้ดีมาแล้ว เคยมีมา นั่งรถทัวร์นี่ล่ะ นั่งภาวนาไปเรื่อยๆ จิตมันเบิกบานยิ้มแย้มขึ้นมา ก็มี บางคนนั่งฟังธรรม แล้วจิตเบิกบานขึ้นมา เข้าใจธรรมะขึ้นมา บางคนแสดงธรรมอยู่ แล้วจิตมันก็แจ่มแจ้งในธรรมะขึ้นมา หลวงพ่อพุธท่านเคยเล่า ท่านแจ้งพ้นทุกข์ขึ้นมาบนธรรมมาสน์ เทศน์ๆ อยู่ จิตมันกำลังเทศน์ๆ แล้วจิตมันพิจารณาธรรมะที่เทศน์อยู่ พิจารณาธรรมะแล้วถ่ายทอดไปเรื่อยๆๆๆ

เวลาครูบาอาจารย์เทศน์ ไม่ใช่ท่องมา แต่ธรรมะมันถ่ายทอดจากจิต ถ่ายทอดๆ ไป แล้วสติ สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์ในขณะนั้น จิตรวมลงในขณะนั้น ก็ล้างกิเลสในขณะนั้นเลย แล้วท่านบอกว่าจิตมันถอนขึ้นมา ใช้เวลาชั่วพริบตาเดียว จิตมันถอนกลับขึ้นมา ท่านรีบนึกเลยว่าเมื่อกี้เทศน์ถึงอะไร แล้วก็เทศน์ต่อ คนที่นั่งฟังไม่รู้หรอกว่าเกิดอะไรขึ้น มันใช้เวลาสั้นนิดเดียว ชั่ว 2 – 3 ขณะเท่านั้นเอง แวบเดียวเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นเราพยายามมีสติ รู้เนื้อรู้ตัว ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่ เวลาไหนถ้าเรามีสติ มีสมาธิอยู่ ก็อาจจะเกิดมรรคผลเวลานั้นได้ ไม่มีใครรู้ว่ามันจะเกิดตอนไหน ถ้าเราทำบ้างไม่ทำบ้างมันไม่ได้เรื่องหรอก สมมติว่าบารมีเต็มมันก็ไม่ตัดหรอก เพราะว่ามันหลงไปเสียก่อน อกุศลมันเกิดขึ้นแทนที่ไป ฉะนั้นเราอย่าประมาท พยายามรู้สึกตัวไว้ตลอดเวลา อ่านจิตอ่านใจตัวเองเรื่อยๆ ไป ไม่ได้หวังผลว่าจะดีเมื่อไร แต่มันมีโอกาสจะดี แต่ถ้าจิตใจเราล่องลอย ไม่มีโอกาสได้ดีเลย

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
11 กุมภาพันธ์ 2566