จับหลักให้แม่น

ช่วงนี้มีคนต่างชาติเข้ามาเรียนเยอะ หลายประเทศ แต่ละคนก็มีพื้นฐานแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ของคนปฏิบัติจะสนใจว่านั่งสมาธิแบบไหนถึงจะถูก หายใจอย่างไรถึงจะถูก เดินแบบไหนถึงจะถูก แล้วแต่ละที่ก็จะแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน อย่างหายใจ บางแห่งเขาสอนหายใจให้กระทบ 7 จุดบ้าง 6 จุดบ้าง พอเรียนหลายที่ก็เลยงง อันไหนมันถูก อันไหนไม่ถูก อันไหนดีกว่าอันไหน หรือเดินจงกรม เดินจะเอามือไว้ที่ไหน ความเร็วควรจะเร็วแค่ไหน มีข้อสงสัยได้ตลอดเลย เพราะว่าแต่ละแห่งสอนไม่เหมือนกัน

ที่จริงแล้วสิ่งที่สอนๆ กัน ส่วนใหญ่มันแค่รูปแบบของการปฏิบัติ แค่เปลือก รูปแบบ แก่นสารสาระจริงๆ ก็คือสติกับสมาธิ 2 ตัวนี้ เราจะต้องพัฒนาสติกับสมาธิขึ้นมา ส่วนรูปแบบการปฏิบัติ วิธีปฏิบัติอะไร ก็แล้วแต่จริตนิสัยแต่ละคน ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเราจะต้องเรียนให้ได้แก่น มิฉะนั้นเราสับสน เข้าวัดนี้สอนอย่างหนึ่ง เข้าวัดนี้สอนอีกอย่างหนึ่ง อันนั้นมันเป็นแค่เปลือก ถ้าเทียบกับผลไม้ มันเหมือนเปลือกของทุเรียน ไม่มีเปลือกได้ไหม ไม่ได้ แต่เราไม่ได้กินเปลือกมัน เราจะกินเนื้อในมัน ฉะนั้นเราต้องเรียนให้ได้เนื้อใน ให้ได้แก่นสารสาระจริงๆ

 

พัฒนาสัมมาสติ พัฒนาสัมมาสมาธิขึ้นมาให้ได้

เครื่องมือในการปฏิบัติที่สำคัญมี 2 ตัว สัมมาสติตัวหนึ่ง สัมมาสมาธิตัวหนึ่ง ฉะนั้นในองค์มรรคทั้ง 8 ไปดูให้ดี จะลงท้าย องค์มรรคอันที่เจ็ดคือสัมมาสติ อันที่แปดคือสัมมาสมาธิ ถัดจากนั้นไม่มีแล้ว ฉะนั้นเราจะต้องพัฒนาเครื่องมือ 2 ตัวนี้ขึ้นมาให้ได้ สัมมาสติกับสัมมาสมาธิ สัมมาสติมันเป็นเครื่องระลึกรู้รูปนาม กายใจของเรา พระพุทธเจ้าอธิบายสัมมาสติด้วยสติปัฏฐาน 4 รู้กาย อันนี้เป็นส่วนของรูป รู้เวทนาเป็นส่วนของนาม รู้จิต อันนี้รู้จิตที่เป็นกุศลอกุศล อันนี้เป็นส่วนของสังขารแล้วก็ธัมมานุปัสสนา มีทั้งรูป มีทั้งนาม ขั้นแอดวานซ์

สติเป็นอนัตตา สั่งให้เกิดไม่ได้ เราทำเหตุของสติแล้วสติจะเกิด เหตุของสติก็คือการที่เราเห็นสภาวะเนืองๆ เห็นบ่อยๆ เห็นถี่ๆ สภาวะอันนั้นก็คือรูปธรรมกับนามธรรม ถ้าเราไปเห็นสภาวะอย่างอื่น เช่น เราเห็นลมพัดใบไม้ไหวอะไรอย่างนี้ มันออกข้างนอกไป ให้เรียนรู้อยู่ที่รูปธรรมนามธรรม เบื้องต้นให้เรียนที่ตัวเองก่อน ถ้าเราชำนิชำนาญจริงแล้ว รูปนามภายใน รูปนามภายนอกก็ใช้ได้เหมือนกันหมดล่ะ แต่เบื้องต้นให้เรียนที่รูปนามภายในก่อน

สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น อย่างเราจะจำใครได้แม่นสักคนหนึ่ง เราต้องเห็นเขาบ่อยๆ อย่างเรามีญาติพี่น้องแต่เราไม่ได้เจอกัน 20 ปี เจอกันจำไม่ได้ เรามีเพื่อนเจอกันทุกวันตั้งแต่เด็กจนแก่ เห็นที่ไหนเราจำได้เลย ฉะนั้นสติมันจะเกิดได้ ถ้าเราเห็นสภาวะบ่อยๆ การที่ท่านสอนสติปัฏฐาน บอกให้เรารู้กายเนืองๆ รู้เวทนาเนืองๆ รู้จิตเนืองๆ รู้ธรรมเนืองๆ เนืองๆ ก็คือรู้ถี่ๆ รู้บ่อยๆ การรู้บ่อยๆ ทำให้สติเกิดขึ้น

อย่างหลวงพ่อหัดหายใจ หายใจแล้วรู้สึกตัวๆ เวลาเราเผลอ อย่างเห็นผู้หญิงสวยๆ สมัยหนุ่มๆ ตอนนี้เห็นก็เหมือนเห็นต้นไม้แล้ว เห็นผู้หญิงสวยๆ ใจเราชอบ มันก็เห็นใจมันเกิดความชอบขึ้นมา หรือบางทีเราเคยฝึกร่างกายเคลื่อนไหว เรารู้สึก ร่างกายขยับอะไร เรารู้สึก พอเราเผลอๆ เราก้าวเท้าไป เวลาฝึก ฝึกมือขยับ ตอนขาดสติ เราขยับเท้า แค่ร่างกายเคลื่อนไหว สติเกิดเองเลย รู้ตัวขึ้นมา เห็นร่างกายเคลื่อนไหว เห็นรูปมันเคลื่อนไหว จิตก็ตั้งมั่น สมาธิก็เกิดขึ้นทันที

ถ้าเมื่อไรมีสัมมาสติ เมื่อนั้นจะต้องมีสัมมาสมาธิอัตโนมัติเลย สัมมาๆ ทั้งหลาย เวลาเกิด มันเกิดร่วมกัน มันไม่เกิดทีละตัวหรอก ฉะนั้นเมื่อไรเรามีสติ ระลึกรู้กายอย่างถูกต้อง ระลึกรู้นามธรรม สุข ทุกข์ ดี ชั่ว หรือระลึกรู้เท่าทันจิต สมาธิก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ 2 ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ ถ้าเรามีสัมมาสติ เรามีสัมมาสมาธิ การเจริญวิปัสสนากรรมฐานจะทำได้ เรียกว่ามีสัมมาญาณะ มีการหยั่งรู้สภาวธรรมได้ถูกต้อง คือเห็นไตรลักษณ์ของมัน พอเราทำวิปัสสนาได้ หรือมีสัมมาญาณะได้แล้ว สัมมาวิมุตติ คืออริยมรรค อริยผลก็จะเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำ พัฒนาสัมมาสติ พัฒนาสัมมาสมาธิขึ้นมาให้ได้ องค์มรรคก่อนหน้านั้นอีก 6 องค์ องค์มรรคอีก 6 อันเป็นพื้นฐานที่จะสนับสนุนให้เราพัฒนาสัมมาสติและสัมมาสมาธิขึ้นมา อย่างมีสัมมาทิฏฐิ เราเรียนรู้ทฤษฎีที่ถูกต้อง รู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าทุกข์คือรูปนาม คือกายใจของเรานี้ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ สิ่งที่เราต้องละคือความอยาก ไม่ใช่อยากละทุกข์ แต่ท่านให้รู้ทุกข์ เราต้องรู้หลักอย่างนี้ให้แม่น มิฉะนั้นเวลาภาวนาจะผิดเลย

อย่างเวลาจิตเราฟุ้งซ่านขึ้นมา เราอยากละ อยากให้จิตสงบ อยากละ อันนี้ผิดแล้ว จิตที่ฟุ้งซ่าน มันอยู่ในกองทุกข์ อยู่ในขันธ์ ในสังขารขันธ์ที่เป็นกองทุกข์ หน้าที่คือรู้ ไม่ใช่ละ นี่คือตัวสัมมาทิฏฐิ รู้ว่าเราต้องรู้ทุกข์ ละอะไร ละความอยากของเราเสีย อันนี้เป็นพื้นเลยที่จะต้องเข้าใจ การรู้ทุกข์จนกระทั่งละความอยากได้ นั่นล่ะคือการเจริญมรรค แล้วผลก็คือความพ้นทุกข์ หรือนิโรธ เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้ทุกข์ ละสมุทัยให้ได้

สิ่งที่เรียกว่าทุกข์คือรูปนาม คือกายคือใจของเรา นี่คือทฤษฎีพื้นฐาน เป็นสัมมาทิฏฐิในภาคปริยัติ พวกเราไม่สามารถรู้ได้ด้วยตัวเอง เพราะเราไม่ใช่ภูมิของพระปัจเจกพระพุทธเจ้า หรือสัมมา สัมพุทธเจ้า เราเป็นระดับสาวก เราก็อาศัยฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้รู้ทุกข์ คือรู้กายรู้ใจของตัวเองนี้ ให้ละความอยากเสีย ดูลงไปในกายนี้ทุกข์จริงไหม จิตนี้ทุกข์จริงไหม ดูอย่างนี้ พอมันเห็นจริงแล้วมันก็ละความอยากของมันไปเอง

อย่างพอมันเห็นจริงว่าร่างกายนี้คือตัวทุกข์ มันก็ไม่มีความอยากที่จะให้กายพ้นทุกข์ ไม่มีความอยากที่จะให้กายมีสุข เพราะมันเห็นจริงแล้ว มันคือตัวทุกข์ เราเห็นจิตตามความเป็นจริงแล้วเรารู้ จิตคือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย พอเห็นจริงอย่างนี้ก็ละสมุทัย เมื่อไรรู้ทุกข์ เมื่อนั้นละสมุทัย แล้วเมื่อนั้นคือการเจริญมรรค แล้วขณะนั้นล่ะ เราแจ้งนิโรธในขณะเดียวกันเลย นี่คือสัมมาทิฏฐิ

เวลาลงมือปฏิบัติ ให้เราสังเกตความคิดของเราให้ดี ความเห็นของเราถูกแล้ว ความคิดเราก็ต้องถูก สังเกตดู เรื่องราวที่เราคิดแต่ละเรื่องๆ อะไรอยู่เบื้องหลัง กุศลอยู่เบื้องหลัง หรืออกุศลอยู่เบื้องหลัง อย่างเราคิดไปอย่างนี้ คิดด้วยความโลภ หรือคิดด้วยความโกรธ หรือคิดด้วยความหลงผิด ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี หรือเราคิดเป็นบุญเป็นกุศล รู้ทันจิตใจของตัวเอง มันคิดอย่างนี้อะไรอยู่เบื้องหลัง ถ้าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเป็นกุศล มันก็เป็นสัมมาสังกัปปะ เป็นองค์มรรคที่ดีตัวที่สอง ถ้าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเราเป็นกิเลส มันก็เป็นมิจฉาสังกัปปะ ฉะนั้นเราสังเกตเอา ที่เราคิดเราคิดเพราะกุศล หรือคิดเพราะอกุศล สังเกตเรื่อยๆ ไป ฉะนั้นรู้อยู่ที่จิตตนเองนั่นล่ะ

พอเราสังเกตตัวนี้ได้ สัมมาวาจาจะเกิดขึ้นเอง พอจิตใจเราคิดแล้วเราไม่ถูกกิเลสครอบงำ คำพูดของเรามันก็เป็นสัมมาวาจา พูดความจริง พูดด้วยเมตตา พูดเพราะมีเหตุสมควรพูด ไม่ใช่พูดเพ้อเจ้อ องค์ประกอบ 5 ตัวไปถามกูเกิ้ลเอา รายละเอียดมันเยอะ สัมมาวาจาเกิดขึ้นได้ ถ้าความคิดของเราถูกต้อง ไม่ถูกกิเลสครอบงำความคิด

เมื่อความคิดถูกต้อง คำพูดเราถูกต้อง การกระทำของเราก็ถูกต้อง การเลี้ยงชีวิตของเราก็ถูกต้อง องค์มรรคทั้งหลายมันสมบูรณ์ขึ้นมาเอง อาศัยการรู้ทุกข์ การที่เราคอยรู้ทันจิตใจว่ากุศลหรืออกุศลผลักดันอยู่ นั่นคือการรู้ทุกข์ เพราะจิตของเรานั้นคือตัวทุกข์ ฉะนั้นเราคอยรู้ลงไปเลย มันลัดสั้นที่สุดแล้วตรงนี้

พอเรามีความเห็นถูก มีความคิดถูก มีคำพูดถูก การกระทำถูก การเลี้ยงชีพถูก ตรงนั้นล่ะจะทำให้กุศลเจริญขึ้น ทำให้อกุศลที่มีอยู่ลดลง ตัวนั้นคือองค์มรรคตัวที่เท่าไร ตัวที่ห้าใช่ไหม เท่าไร ตัวที่หกๆ เรียกสัมมาวายามะ ความเพียรชอบมันเกิดขึ้น ฉะนั้นการที่เรามีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง เราคอยรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา คำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตก็จะเกิดความถูกต้อง แล้วอันนั้นล่ะ จะทำให้สัมมาวายามะคือความเพียรชอบเกิดขึ้น

 

ความเพียรชอบ

ความเพียรชอบไม่ใช่การนั่งสมาธินานๆ ไม่ใช่การเดินจงกรมหลายๆ ชั่วโมง ความเพียรชอบอยู่ที่ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นไปเพื่อลดละกิเลส หรือเป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส อย่างเราเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ เราคิดว่าเราต่อสู้กิเลส แต่เดินไปด้วยความหวัง อยากพ้นทุกข์ อยากดี อยากเหนือคนอื่น นั่งได้นานกว่าเขา เดินได้นานกว่าเขาอะไรนี่ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดคือมันคือเซลฟ์ทั้งนั้นเลย มานะอัตตา เป็นราคะ อยากดีอยากเด่นอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจะไปนั่งให้นานเท่าไร มันก็ไม่ได้เป็นสัมมาวายามะ ไม่ใช่ความเพียรที่ชอบ

ความเพียรชอบจะเกิดได้ถ้ามีความเห็นชอบ มีความคิดชอบ ความเพียรชอบมันถึงจะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นอย่างเราเดินจงกรม เราเดินไปด้วยความมีสติ ในขณะที่เราเดินด้วยความมีสตินั้น กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว อกุศลได้ถูกละแล้ว ทุกก้าวที่เราเดินด้วยความมีสติ เราได้ทำสัมมาวายามะอยู่ อาจจะเดินไม่นานหลายๆ ชั่วโมง เดินได้ครึ่งชั่วโมง เมื่อย เราลงมานั่ง นั่งด้วยความมีสติ เห็นกายเห็นใจมันทำงานได้ อันนั้นเรียกว่าเรามีความเพียรชอบ ไม่ได้วัดที่ระยะเวลา หรือระยะทาง แต่วัดที่ใจของเราว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นไปเพื่อลดละกิเลส หรือเป็นไปเพื่อส่งเสริมกิเลส เราอ่านใจตัวเองออก เราก็จะได้สัมมาวายามะที่ถูกต้อง

หลวงพ่อเคยเล่าให้พวกเราฟังว่าเวลาไปส่งการบ้านครูบาอาจารย์ พระอุปัฏฐากนั่งฟังอยู่ แล้วตอนเย็นพระอุปัฏฐากเจอหลวงพ่อ ท่านก็ถามว่าโยมทำได้อย่างไร พระปฏิบัติ 10 ปี 20 ปียังไม่ได้เท่าโยมภาวนาปีหนึ่ง ที่ท่านใช้ 1 ปี เพราะว่าปีหนึ่งหลวงพ่อไปกราบครูบาอาจารย์องค์นี้ครั้งหนึ่ง ท่านจำได้มาทุกปี ทำไมเราปฏิบัติได้รวดเร็ว หลวงพ่อตอบท่าน หลวงพ่อปฏิบัติทั้งวันตั้งแต่ตื่นจนหลับ ยกเว้นเวลาที่ทำงานที่ต้องคิด เวลานอกนั้นคือการปฏิบัติ มีสติทั้งนั้นเลย ร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเราเคลื่อนไหว เราคอยรู้สึก นี่เรามีความเพียรชอบ

ถามว่าเดินจงกรมเยอะไหม เดินไม่เยอะหรอก เพราะบ้านเป็นบ้านไม้แบบโบราณ เวลาเดินทีลั่นเอี๊ยดๆๆ เดินจงกรม แล้วมันหนวกหูคนอื่นเขา ส่วนใหญ่หลวงพ่อก็นั่งเอา การเดินจะไปเดินตอนอยู่นอกบ้าน กลางวันกินข้าวกลางวันเสร็จ ก็เดินไปไหว้พระวัดโน้นวัดนี้ เมื่อก่อนทำงานอยู่ในทำเนียบรัฐบาล พอกินข้าวเสร็จหลวงพ่อก็เดินไปวัดโสมนัสวิหารบ้าง ไปวัดเบญจมบพิตรบ้าง มันไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป สามารถกลับมาทันบ่ายโมงได้

ทุกก้าวที่เดิน ถ้าดูจิตใจได้ก็เห็นจิตใจมันทำงานไป ถ้าดูไม่ได้ เห็นร่างกายมันทำงานไป เห็นร่างกายมันเดิน เราก็เห็นมันเดิน ใจมันเป็นคนรู้ เดินไปๆ เห็นหมาขี้เรื้อนอะไรอย่างนี้ ใจรังเกียจ จิตมันเกิดความรังเกียจแล้ว ก็เห็นความรังเกียจที่เกิดขึ้น ไปถึงวัดไปไหว้พระๆ นึกถึงพระพุทธเจ้า จิตใจมีความสุข มีความเบิกบาน มีสติรู้ว่าจิตใจมีความสุขความเบิกบาน ปฏิบัติอย่างนี้ ในเวลาสั้นๆ มันถึงก้าวกระโดดได้เยอะแยะ ไม่ใช่เรื่องของการนั่งนาน เดินนาน แต่นั่งด้วยความรู้สึกตัว มีสติ เดินด้วยความรู้สึกตัว มีสติ เมื่อไรขาดสติ เมื่อนั้นขาดการปฏิบัติ

หลวงปู่มั่นสอนไว้ดี “เมื่อไรมีสติ เมื่อนั้นมีความเพียร เมื่อไรขาดสติ เมื่อนั้นขาดความเพียร” ให้เดินให้ตายทั้งวันทั้งคืน แต่ใจลอย หรือเดินแล้วก็เครียด เพ่งจนเครียดไปหมดเลย อันนั้นไม่ได้ทำความเพียรอยู่ ถ้าเดินแล้วหลงไป อันนั้นทำกามสุขัลลิกานุโยค ย่อหย่อน ถ้าเดินแล้วก็เคร่งเครียด อันนั้นทำอัตตกิลมถานุโยค บังคับตัวเอง ทำตัวเองให้ลำบาก

เราคอยอ่านจิตอ่านใจตัวเอง มันจะคิดอะไร เราคอยรู้ทัน อะไรอยู่เบื้องหลัง แล้วคำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตเรา มันจะสะอาด แล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั่นล่ะคือสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ การที่เรามีความเพียรชอบ เราคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเองอยู่ ร่างกายเราเคลื่อนไหว เราก็รู้ จิตใจมันเคลื่อนไหว เราก็รู้ มีความเพียรอยู่ มันจะเห็นร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึกทันทีเลย

 

หัดรู้สึกกายเนืองๆ รู้สึกใจเนืองๆ
แล้วสติที่แท้จริงจะเกิด

เห็นเนืองๆ ซึ่งความเคลื่อนไหวของร่างกาย เห็นเนืองๆ ซึ่งความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของเวทนา คือความสุขทุกข์ทั้งหลาย เห็นเนืองๆ ซึ่งความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตที่เป็นกุศลบ้างอกุศลบ้าง เป็นอกุศลก็โลภ โกรธ หลงอะไรอย่างนี้ เป็นกุศลก็เป็นกุศลเฉยๆ หรือเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา หรือบางทีก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยความสุข บางทีเป็นกุศลที่ประกอบด้วยอุเบกขา เราเห็นไปเรื่อยๆ แล้วเราก็เห็นจิตใจมันทำงาน จิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลงไปดูรูป เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็หลงไปฟังเสียง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวหลงไปดมกลิ่น ลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ ไปเพ่งทางใจ ก็เห็นอย่างนี้

การที่เราเห็นบ่อยๆ เรียกเห็นเนืองๆ มันจะทำให้สติอัตโนมัติเกิดขึ้น หรือสัมมาสติตัวจริงมันจะเกิด อย่างหลวงพ่อหายใจ มีสติอยู่กับการหายใจ พอจังหวะการหายใจเปลี่ยนเพราะเราขาดสติ มันจะระลึกขึ้นได้เองเลย มันจะรู้สึก นี่มันหลงไปแล้ว หรือเราขยับ หัดขยับ พอร่างกายเรา ขาดสติ พอร่างกายเราขยับ สติเกิดเองเลย เพราะมันเคยรู้การหายใจเนืองๆ รู้ร่างกายที่เคลื่อนไหว หยุดนิ่งเนืองๆ รู้ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอนเนืองๆ พอร่างกายขยับสติจะเกิดเอง

หรือหลวงปู่ดูลย์สอนให้หลวงพ่อดูจิต ช่วงนั้นหลวงพ่อดูจิตทั้งวันทั้งคืนเลย มีเวลาเมื่อไรดูเมื่อนั้นเลย ก็จะเห็นจิตเดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ พอเห็นอย่างนี้ ต่อมาพอเราขาดสติ เราไปดูอะไรขำๆ สมมติเราดูหนังแล้วมันขำหรือฟังเพื่อนคุย ได้ยินเสียง ฟังเขาคุย เล่าอะไรตลก ขำขึ้นมา พอจิตมันขำขึ้นมา มันรู้สึกอยากหัวเราะแล้ว สติระลึกได้เอง จิตมันขำขึ้นมาแล้ว

การที่เราหัดดูจิตเนืองๆ แล้วสติมันอัตโนมัติ พอมีอะไรแปลกปลอมขึ้นที่จิต สติระลึกได้เอง เรารู้กายเนืองๆ พอร่างกายขยับนิดเดียว สติเกิดขึ้นเอง เพราะฉะนั้นการที่รู้กายเนืองๆ ทำให้เกิดสติ รู้เวทนาเนืองๆ ทำให้เกิดสติ รู้จิตเนืองๆ ก็ทำให้เกิดสติ อันเดียวกัน แล้วพอสติที่ถูกต้องเกิด สมาธิที่ถูกต้องเกิดอัตโนมัติเลย พร้อมกันนั้นเลย ไม่มีก่อนไม่มีหลัง เกิดขึ้นด้วยกันเลย

เพราะฉะนั้นเราพยายามรู้สึกกายเนืองๆ รู้สึกใจเนืองๆ ดูเรื่อยๆ ไป แล้วสติที่แท้จริงมันจะเกิด มันจะรู้ความเคลื่อนไหวของกายโดยไม่ได้เจตนาจะรู้ รู้ความเคลื่อนไหวของจิตใจโดยไม่ได้เจตนาจะรู้ รู้โดยไม่เจตนา นั่นล่ะของจริงล่ะ จงใจรู้ยังไม่ใช่ อันนั้นเจือด้วยโลภะ อย่างเราจงใจ หากเห็นท้องพอง เห็นท้องยุบ เราจงใจรู้อย่างนี้ หรือเราหายใจออกหายใจเข้า เราจงใจรู้ ตัวจงใจ ฟังแล้วมันโก้ดี เรียกเสียเพราะเลยว่าฉันทะ ที่จริงโลภะ อยากปฏิบัติ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี ที่แย่ที่สุดคืออยากเด่น อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี แล้วก็อยากเด่นอะไรอย่างนี้

 

“ถ้าเราดูขาด เวลาเราภาวนา นั่งสมาธิก็จะเป็นกุศล เดินก็เป็นกุศล
คือทำไปด้วยความมีสติ ไม่ได้ทำด้วยกิเลส
พอเข้าใจไหม นี่คือหลักเลย”

 

ตรงที่เราลงมือปฏิบัติไปแล้วมีกิเลสอยู่เบื้องหลัง ตลอดสายของการปฏิบัตินั้นไม่ใช่กุศล อกุศลยังอยู่ อย่างเราเดินจงกรม 3 ชั่วโมง แต่เดินด้วยความอยากดี อยากสุข อยากสงบ ตัวนี้ซ่อนอยู่แล้วเราไม่เห็น เราอ่านจิตตัวเองไม่ขาด กิเลส ในอภิธรรมสอน กิเลสเป็นสหชาตปัจจัยของกรรม นี่พูดภาษาที่มนุษย์ไม่ค่อยรู้เรื่อง ถ้าพูดภาษาที่มนุษย์รู้เรื่องก็คือการกระทำทั้งหลายทั้งปวงที่มีกิเลสซ่อนอยู่เบื้องหลัง การกระทำนั้น ในขณะนั้นกิเลสยังมีอิทธิพลครอบงำอยู่ กิเลสยังครอบงำจิตใจเราอยู่

ฉะนั้นเราเดินจงกรมวันหนึ่งตั้งหลายชั่วโมง แต่เดินด้วยความอยากดี อยากเด่น อยากสุข อยากสงบอะไรนี่ โลภะยังอยู่ แล้วผลักดันให้เราไปเดินจงกรม ตลอดเวลาที่เดินจงกรมนั้น โลภะยังอยู่ จิตเป็นกุศลหรืออกุศล จิตขณะนั้นเป็นอกุศล ฉะนั้นดีไหม ก็ได้บางอย่าง ได้ขันติ ความอดทน มีสัจจะว่าจะเดินแล้วก็เดิน มีอธิษฐาน ตั้งใจจะเดินแล้วก็เดินอะไรอย่างนี้ ก็ดีเหมือนกัน แต่ก้าวมาไม่ถึงขั้นเจริญปัญญาหรอก

หรือเรานั่งสมาธิ นั่งด้วยการอยากให้มันสงบ มันฟุ้งซ่านอยู่แล้วรำคาญมัน ฟุ้งซ่านแล้วต่อด้วยรำคาญใจ เราก็พยายามไปนั่งหายใจเฮือกๆๆ กะจะให้สงบ อันนั้นทำด้วยกิเลส อย่างจิตใจเราฟุ้งซ่าน เรารำคาญใจ อันนี้โทสะ เราก็พยายามไปนั่งข่มใจตัวเองไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาที่นั่งอยู่นั้น โทสะยังทำงานอยู่ เพราะฉะนั้นเราจะต้องเข้าใจจิตใจตัวเองให้ชัดเจน ดูให้มันขาดเลย ขณะนี้มันกุศลหรืออกุศลกันแน่ ที่ครอบงำจิตใจเราอยู่ ถ้าเราดูขาด เวลาเราภาวนา นั่งสมาธิก็จะเป็นกุศล เดินก็เป็นกุศล คือทำไปด้วยความมีสติ ไม่ได้ทำด้วยกิเลส พอเข้าใจไหม นี่คือหลักเลย

 

รูปแบบของการปฏิบัตินั้นสำคัญ

แล้วรูปแบบของการปฏิบัตินั้นสำคัญไหม สำคัญ แต่ละคนจะต้องมีรูปแบบของการปฏิบัติ ไปดูตัวเองเลย ถ้าเราต้องการให้จิตได้พักผ่อน ต้องการให้จิตสงบ เราจะใช้วิหารธรรม ใช้อารมณ์กรรมฐานอะไรที่เหมาะกับตัวเราเอง อย่างหลวงพ่อ ถ้าต้องการสงบ หลวงพ่อใช้อานาปนสติมาก่อน ชำนาญในเรื่องอานาปานสติ หายใจที 2 ทีก็จิตรวมลง สงบแล้ว เราจะเอาอย่างหลวงพ่อไม่ได้ เราต้องดูตัวเองทำอะไรแล้วใจสงบ บางคนไหว้พระสวดมนต์ จุดธูปขึ้นมาได้กลิ่นธูปอะไรอย่างนี้ จิตใจมีความสุข จิตก็สงบแล้ว จิตใจสงบ แต่ความสงบมันมีดีกรีของมัน ก็ถือว่าสงบล่ะ

เพราะฉะนั้นกรรมฐานที่จะทำให้จิตใจสงบพวกเราควรจะมี ไปสำรวจตัวเองเราอยู่กับอารมณ์อะไรที่อยู่แล้วมีความสุข อันนั้นล่ะเอาไว้ทำสมถะ ต่อไปพอเราทำอันหนึ่งได้ชำนาญ แล้วเราภาวนาชำนิชำนาญ ใช้อะไรก็ได้ อย่างเราจะดูจิตให้เกิดความสงบ เราก็ทำได้ มันได้เนื่องกันไปหมด ได้อันหนึ่งก็ได้หมดล่ะ ถ้าค่อยๆ ฝึกไป จะไม่ยากแล้ว ฉะนั้นเราไปดูตัวเอง ไม่ต้องมาเลียนแบบคนอื่น ทางใครทางมัน ถ้าหายใจแล้วสบายใจ ก็หายใจไปด้วยความสุข แป๊บเดียวจิตก็สงบ ถ้าหายใจแล้วอึดอัด เครียด อย่าไปหายใจเลย ทำอย่างไรก็ไม่สงบ

บางคนนั่งถักโครเชต์ รู้จักไหม เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นแล้ว เมื่อก่อนเห็นทุกวันเลย เพราะคุณแม่ชีเขาถัก เป็นโยม ก็เห็นเขาถัก เออ ดี จิตมีสมาธิ แล้วมีสติด้วย เพราะเผลอเมื่อไรถักผิดทันที ผิด อุ๊ย เมื่อกี้เผลอไปแล้ว ขณะถักโครเชต์ยังเป็นการฝึกกรรมฐานเลย ไม่ได้นั่งสมาธิเดินจงกรมเลย เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ การปฏิบัติจะไม่ยาก อยากสงบหรือ อยู่กับอารมณ์ที่มีความสุข อยู่ไปสบายๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สบายจนเคลิ้ม รู้เนื้อรู้ตัวไป

แล้วเราก็ต้องดูตัวเอง ถ้าเราจะเจริญวิปัสสนา เจริญปัญญา เราจะใช้อะไรเป็นวิหารธรรม ใช้รูป หรือกายานุปัสสนา อันนี้ในส่วนของรูป หรือใช้นามธรรม เช่น เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา หรือรู้ทันจิตใจที่ทำงานทางอายนตะทั้ง 6 ถ้าเห็นถึงระดับอายตนะ การทำงานของอายตนะ อยู่ในธัมมานุปัสสนาแล้ว มันสูงขึ้นไป ละเอียดขึ้นไปอีก แต่ว่าเบื้องต้นยังไม่แนะนำหรอก มันยาก เอาของที่ง่ายๆ ก่อน ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึกไป ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกไป ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึกไป ร่างกายมีความสุข ร่างกายมีความทุกข์ รู้สึกไป จิตใจมีความสุข จิตใจมีความทุกข์ จิตใจเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ รู้สึกไป จิตใจเป็นกุศล รู้สึกไป จิตใจโลภ โกรธหลง รู้สึกไป หัดรู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปจิตไปเกิดดับทางทวารทั้ง 6 ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็รู้สึกไป

พอรู้สึกบ่อยๆ สติจะเกิด ทุกครั้งที่สติเกิด สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดด้วย ในที่สุดพลังของสติและสมาธิก็จะเต็มขึ้นมา เราจะรู้สึกอย่างที่หลวงพ่อบอก มีพลังแล้ว จิตใจมีพลังแล้วตอนนี้ ฝึกมาตั้งหลายปี จิตเพิ่งจะตั้งมั่น เด่นดวง มีพลังขึ้นมาแล้ว อันนั้นจิตมันถึงพร้อมด้วยสติ ด้วยสมาธิแล้ว จิตมันตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมาแล้ว ตรงนั้นล่ะโน้มน้อมจิตไปเพื่อการเจริญปัญญา ตรงนั้นล่ะจิตพร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว ถ้าจิตยังกระปลกกระเปลี้ย ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรงแล้วไปเจริญปัญญา มันจะฟุ้งซ่าน

เมื่อวานมีพระองค์หนึ่งมา ภาวนาเก่งๆ มาส่งการบ้าน มาจากจังหวัดอะไรลืมไปแล้ว เห็นจิตเกิดดับทั้งวัน ดูสว่างผ่องใสเชียว ดูดี หลวงพ่อก็แหย่ให้ท่านพูดธรรมะ เราเห็น เรารู้ติดวิปัสสนูปกิเลสอยู่ เพราะอะไร เพราะเจริญวิปัสสนาโดยละทิ้งการทำสมถะ สมาธิไม่พอแล้ว แล้วไปเดินปัญญาจิตมันจะฟุ้งอย่างแรงในธรรมะ พอพูดธรรมะ เวลาไม่พูดธรรมะเหมือนคนปกติ แล้วเป็นคนปกติที่ดีเยี่ยมเลย แต่พอพูดถึงธรรมะ คิดถึงธรรมะ จิตจะกระโจนเหมือนหมาบ้าเลย กระโดดๆๆ อย่างนี้เลย นั่นล่ะบอกนี่ตัววิปัสสนูปกิเลสชนิดหนึ่ง ไปทำสมถะ ไม่ใช่จะดูจิตทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่เคยได้พักจิตเลย ไม่ได้ วิปัสสนูปกิเลสจะเอาไปรับประทานเอา เพราะฉะนั้นสมาธิทิ้งไม่ได้

พวกเราจะต้องไปหาเครื่องอยู่ เราอยู่กับอะไรแล้วจิตใจมีความสงบ มีความสุข รู้เนื้อรู้ตัวด้วย ไม่ใช่ไปสูบกัญชาแล้วบอกมีความสุข อันนั้นได้สมาธิไม่ได้ สูบกัญชาแล้วขาดสติ ฉะนั้นเราทำกรรมฐานอยู่กับอารมณ์กรรมฐานที่มีความสุข มีสติอยู่ด้วย ขาดสติไม่ได้ สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ อย่างถ้าหลวงพ่อฝึก หลวงพ่อหายใจ นี่ทำสมถะ ถนัดหายใจเอา หลวงพ่อก็หายใจด้วยความมีสติ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก หายใจแล้ว จิตใจมันวุ่นวาย ก็รู้สึก ไม่ได้ไปอยากให้มันสงบ วุ่นวายก็รู้ สงบขึ้นมา ก็ไม่ได้ดีใจกับมัน ดูไปเรื่อยๆ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่อยู่กับเครื่องอยู่ที่มีความสุข อยู่ด้วยจิตใจที่สบายๆ เป็นกลางๆ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่ถึงนาทีจิตก็รวมแล้ว สงบแล้ว ถ้าชำนาญ มันลงทันที มันเป็นทันทีเลย อยู่ที่เราฝึกเอา ของฟรีไม่มี

 

หลักอันเดียวกันทั้งหมด

เวลาเจริญปัญญา เบื้องต้นหลวงพ่อดูจิตเอา หลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต แต่เดิมดูกายมาก่อน ดูกายแล้วมันจืด มันไม่รู้สึก มันรู้สึกไม่ชอบเท่าไร ดูนิดเดียวร่างกายก็ระเบิดแล้ว เพราะสมาธิมันแรง แล้วไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ ที่จริงพอสลายกาย ก็ต้องดูจิตต่อ แต่ตอนนั้นยังดูจิตไม่เป็น พอดูกาย กายแตกสลาย หายไปหมดเลย กลายเป็นคลื่นแสง วัตถุทั้งหลาย พอแยกย่อยออกไปแล้วกลายเป็นคลื่นแสงไปหมดเลย ตรงนั้นไปต่อไม่เป็น

จนหลวงปู่ดูลย์ท่านมาสอนให้ดูจิต หลวงพ่อก็เห็นจิตมันเกิดดับ ใช้จิตเป็นวิหารธรรม จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตไม่หลงก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ จิตทำสมาธิก็รู้ จิตไม่มีสมาธิก็รู้ จิตยึดก็รู้ จิตปล่อยก็รู้ หัดรู้ไปเรื่อยๆๆ เดินปัญญาอย่างนี้ เดินไปเดินมา แป๊บเดียว ใช้เวลาไม่นานหรอก พอทำถูก ใช้เวลาประมาณ 4 เดือนก็เห็นแล้ว จิตไม่ใช่เราหรอก จิตมันเป็นแค่สภาวธรรมอันหนึ่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา

ทำไมมันดูอย่างนี้ได้ ทำไมเดินปัญญาอย่างนี้ได้ เพราะสมาธิมันพอ จิตมันตั้งมั่นเด่นดวง ฝึกมาตั้งเยอะแยะแล้ว ตั้งแต่เด็กแล้ว พวกเราส่วนใหญ่สมาธิมันไม่พอ เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำในรูปแบบทุกวัน ถนัดกรรมฐานอะไรก็ทำไป แต่อย่าทำด้วยความโลภ ทำด้วยความมีสติ อยู่กับกรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข ก็อยู่ไปด้วยความมีสติไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง วางใจอย่างนี้ แป๊บเดียวก็สงบแล้ว ถ้าอยากสงบ ไม่มีวันสงบหรอก เหมือนอยากนอนหลับมันจะไม่หลับ ไม่ได้เจตนาจะหลับมันหลับเก่ง

สมาธิก็เหมือนกัน ฝึกให้มันมีเครื่องอยู่ไว้ แล้วเวลาจะเจริญปัญญา ไปดูตัวเอง ถ้าดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกายแสดงไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ ดูไปช่วงหนึ่งเหนื่อย กลับมาทำสมถะ ดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ไหว ทำสมถะ เพราะฉะนั้นเราต้องฝึก สมถะเราก็ต้องฝึก เคล็ดลับมันมีนิดเดียว น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมีสติ ต่อท้ายหน่อย ต้องมีสติ

ถ้าเราจะเจริญวิปัสสนา จะดูกาย ดูเวทนา ดูจิตอะไรก็ได้ แต่ก็มีหลักอันเดียวกันทั้งหมด มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางนั่นล่ะคือจิตที่ทรงสมาธิ ถ้าไม่มีจิตที่ทรงสมาธิจะไม่เห็น จะไม่สามารถมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้ จะทำได้แค่ไหน จะทำได้แค่มีสติรู้กายรู้ใจได้ แต่จะไม่เห็นความจริง คือจะไม่เห็นไตรลักษณ์ถ้าไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง ตัวที่ทำให้เราเห็นไตรลักษณ์ได้คือสมาธิที่ถูกต้อง สัมมาสมาธิเป็นใกล้ให้เกิดปัญญา

อย่างมีสติ ร่างกายกระดุกกระดิก รู้ ท้องพองท้องยุบ รู้ อันนี้ยังไม่ได้ก้าวขึ้นมาสู่ขั้นการทำวิปัสสนา ขยับมือ รู้ เห็นมือเคลื่อนไหว รู้ อันนี้เห็นอะไร เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรมยังไม่ใช่วิปัสสนา ต้องเห็นไตรลักษณ์ในรูปธรรม ไตรลักษณ์ในนามธรรม ถึงจะเป็นวิปัสสนา จะเห็นไตรลักษณ์ได้จิตต้องตั้งมั่นจริงๆ จะต้องตั้งมั่นจริงๆ ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นโคลงเคลงๆ ไม่เห็นอะไร นี่คือหลักของการปฏิบัติทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา เครื่องมือคือสติกับสมาธิ สติเกิดจากการเห็นสภาวธรรมเนืองๆ เห็นบ่อยๆ ไม่ทำไปด้วยโลภ ทำไปเรื่อยๆ แล้วสติมันจะเกิดเอง รู้สึกกายก็ได้ รู้สึกจิตใจก็ได้ คอยรู้ไปเรื่อยๆ แล้วสติมันจะเกิด

สติที่แท้จริงเกิด สมาธิที่แท้จริง สัมมาสมาธิก็จะเกิดร่วมด้วย ดูท้องพองท้องยุบได้สมาธิไหม ดูท้องพองท้องยุบได้สมาธิ สมาธิชนิดสงบ แต่ถ้าจิตตั้งมั่น เห็นรูปที่พองเห็นรูปที่ยุบไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนั้นขึ้นวิปัสสนา ฉะนั้นแยกแยะให้ดี มิฉะนั้นจะเดินตุปัดตุเป๋แล้วรู้สึกธรรมะทำไมมันยากเหลือเกิน ธรรมะในตู้พระไตรปิฎกหลวงพ่อย่อมาให้เราเพื่อการปฏิบัติ ย่อลงมาเหลือเท่านี้ เอาไปทำให้ได้ แล้วชีวิตมันจะได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เรื่องยาก

ถ้าทำไม่ถูกหลักยาก ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เหนื่อยเปล่า เวลาลงมือทำทีไรก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค บังคับตัวเองทุกที เวลาไม่ได้ทำก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยค หลงโลกทุกที ไม่เข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทา ไม่เข้าสู่ทางสายกลางสักที ถ้าจิตเราเดินอยู่ในทางสายกลางได้ ไม่ย่อหย่อน ไม่ตึงเกิน จิตเดินอยู่ในทางสายกลาง จิตจะมีแนวโน้มไปสู่พระนิพพานอัตโนมัติ

เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านเปรียบท่อนไม้ลอยในแม่น้ำคงคา ลอยอยู่ตรงกลางกระแสน้ำ ไม่ติดฝั่งซ้าย ไม่ติดฝั่งขวา ไม่ไปเกยตื้น ไม่ไปโดนคนจับเอาไว้ ไม่โดนจระเข้งับเอาไป ท่อนไม้นี้ถึงวันหนึ่งจะออกไปสู่มหาสมุทรได้ หรือไม่ผุพังเน่าไปเสียก่อน ก็จะออกไปสู่มหาสมุทรได้ จิตที่เดินอยู่ในเส้นของมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เผลอไป ย่อหย่อน ไม่เพ่งเกินไป ตึงเครียด จิตอย่างนั้นล่ะมีแนวโน้มที่จะไปสู่พระนิพพาน เราทำพระนิพพานให้เกิดได้ไหม ไม่ได้ เดินอยู่ในทางสายกลางเถอะแล้วจิตมันไปนิพพานของมันเอง

ค่อยๆ ฝึกเอา ละความเชื่อเก่าๆ เสียว่าต้องนั่งอย่างนั้น ต้องเดินท่านี้ เดินมีกี่จังหวะ ดีไหม ดีเหมือนกันล่ะ แต่ดีไม่มากหรอก ต้องเดินด้วยความมีสติ มีจิตตั้งมั่น อันนั้นดีเยี่ยม นั่งด้วยความมีสติ มีจิตที่ตั้งมั่น เห็นรูปมันนั่ง อันนั้นดี เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ยากเกินไปหรือเปล่าไม่รู้ วันนี้กะจะเทศน์ให้ง่ายๆ เพราะมีคนมาใหม่เยอะ มาจากหลายประเทศ เทศน์ไปเทศน์มา มาเข้าเรื่องนี้ แสดงว่า สมควรจะฟังเรื่องนี้แล้ว

 

 

พวกเราที่อยู่ในห้องนี้ฟังแล้วเอาไปทำ ทำ ไปทบทวนสิ่งที่หลวงพ่อสอนวันนี้ ถ้าหลักเราแม่น การภาวนามันจะไม่ยากหรอก อย่างบางคนจะทำสมาธิ ทำอย่างไรก็ไม่สงบ มันไม่รู้หลัก ไม่รู้เคล็ดลับ ไปเลือกอารมณ์กรรมฐานที่ไม่เหมาะกับตัวเอง ไปรู้อารมณ์อันนั้นแล้วก็ไม่ได้มีความสุข จิตใจที่ไปรู้ก็ถูกดัดแปลงให้มีโมหะบ้าง ให้เคลิ้มๆ อะไรอย่างนี้

ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ การปฏิบัติไม่ว่าสมถะหรือวิปัสสนาจะไม่ใช่เรื่องยาก สมถะเราเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วก็ต้องมีสติกำกับตลอด สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ต้องมีสติไว้ แล้วก็ทำกรรมฐานไปเรื่อยๆ ไม่นานจิตจะสงบ แล้วก็มีเรี่ยวมีแรง แล้วก็ไม่ขาดสติ สะสมไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้นมา สัมมาสมาธิก็จะเกิดด้วย

พอสะสมไปเรื่อยๆ พลังของสมาธิมันจะเพิ่ม จิตมันจะรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา มีแรง มันจะรู้ด้วยตัวเองเลยว่าจิตมันตื่นแล้ว จิตมันมีแรงแล้ว ถึงจุดนั้นเราถึงจะเดินปัญญาได้ดี ก่อนหน้านั้นยังไม่ได้จริงหรอก ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง ถ้าจิตไม่มีกำลัง ไม่ตั้งมั่น ที่หลวงพ่อสอน ไม่เผลอ ไม่เพ่ง เป็นวิธีที่จะฝึกให้เราได้สมาธิ บางคนก็สงสัยทำไมหลวงพ่อไม่สอนนั่งสมาธิ หายใจกำหนดอย่างไร เดินกำหนดอย่างไร นั่นมันเรื่องเฉพาะตัว ใครถนัดอะไรเอาอันนั้นล่ะ ไม่ผิดหรอก แต่ต้องมีสติ

คนแคนาดามันยังเพ่งอยู่ ยังบังคับตัวเองเยอะเกินไปนิดหนึ่ง ใจมันจะนิ่งๆ ทื่อๆ อยู่ เราไปบังคับตัวเองอยู่ เราก็รู้ทัน ทำไมบังคับ เพราะเราอยากปฏิบัติ เราอยากดีอะไรอย่างนี้ ให้เรารู้ต้นตอของมันเลย รู้ทันความคิดของเราเลย เราคิดอยากดี อยากปฏิบัติ มันก็คิดด้วยความโลภ ฉะนั้นเวลาเราลงมือทำ มันจะเริ่มด้วยการบังคับตัวเองตลอด อย่าไปบังคับตัวเอง แค่รู้สึก รู้สึกตัวเอง ไม่บังคับตัวเอง

ลองยกมือสิ ลองขยับมือสิ รู้สึกไปด้วยจิตใจที่ธรรมดา ใช้ใจปกติ ใช้ใจธรรมดา ใจอย่างนี้ดี ใจอย่างขณะนี้ แต่ตรงนี้ไม่ดีแล้ว ใจมันถลำลงไปที่มือ ใช้ใจปกติ พยักหน้า รู้ไปด้วยใจที่ปกติ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ทำกรรมฐานแล้วก็รู้อารมณ์กรรมฐานด้วยจิตใจที่ปกติ แล้วมันจะพัฒนาได้ง่าย ถ้าใจเราเต็มไปด้วยความอยาก มันจะไม่พัฒนา มันจะเคร่งเครียด เรารู้สึก โอ๊ย ทำกรรมฐาน ทำไมมันยากจัง

ตอนนี้จิตไหลไปคิดทราบไหม จิตหนีไปคิด เราก็รู้หนีไปคิดแล้ว ไม่ว่า ก็รู้สึกตัว ทันทีที่รู้ว่าจิตหนีไปคิด จิตก็มีสมาธิแล้ว จิตก็รู้สึกตัวขึ้นมาแล้ว แล้วเดี๋ยวหลงไปอีก หลงอีก รู้อีก หลงอีก รู้อีกไป ค่อยๆ ฝึก มาได้ดีแล้วล่ะ พื้นฐานฝึกมาดี ปรับนิดหนึ่งเรื่องการกำหนดจิต ใช้จิตปกติ ที่ทำมาดี แต่ว่าจิตมันไม่ปกติ มันบังคับมากไปนิดหนึ่ง

หลงกันอุตลุดแล้ว รู้สึกไหม หลงมี 2 หลง หลงออกไปข้างนอกกับหลงเข้าไปข้างใน ครูบาอาจารย์บางทีท่านเรียกจิตส่งออกนอก จิตส่งใน ส่งนอก ส่งใน ส่งเข้าไปข้างใน แต่หลวงปู่ดูลย์ท่านเหมา เรียกว่าจิตส่งออกนอกทั้งหมด อย่างเราไปดูไหวๆ กลางอกแล้วจิตไหลลงไปที่ไหวๆ อย่างนี้ อันนี้ส่งใน แต่หลวงปู่ก็เรียกว่าส่งนอก คือออกไปนอกจากรู้ ให้รู้ทันไว้ จิตจะได้ตั้งมั่นขึ้นมา ค่อยๆ ฝึก

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
12 กุมภาพันธ์ 2566