ความสมดุลของอินทรีย์ 5

นั่งสมาธิกันก็อย่าให้หลับไป สติอ่อนมันจะหลับ ตั้งใจมากก็แน่นๆ สังเกตเอาแค่ไหนพอดี ตรงที่รู้สึกตัวขึ้นมาเป็นธรรมชาติ ไม่ได้จงใจจะทำอันโน้นจะทำอันนี้ อินทรีย์ทั้ง 5 ต้องเสมอกัน

อย่างศรัทธาก็จำเป็น ในเบื้องต้นต้องมีศรัทธาก่อน ศรัทธา ความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าจะพาเราออกจากทุกข์ได้จริงๆ ถ้าเราไม่ศรัทธาตรงนี้ก็ไม่ปฏิบัติ วิริยะ ถ้าเรามีศรัทธาก็จะเกิดความเพียรขึ้นมา มีความเพียรก็พยายามมีสติ รู้สึกกายรู้สึกใจไป กำลังของสมาธิจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น มีสติว่องไว จิตเคลื่อนปุ๊บรู้ปั๊บสมาธิก็เกิด จิตมันตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้อะไร ปัญญาก็จะเห็นสิ่งที่สติไประลึกรู้ ทั้งหมดตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

เวลาเราภาวนา บางทีกำลังของพละ 5 อินทรีย์ 5 มันไม่สมดุล ในตำราจะบอกว่าสติยิ่งมากยิ่งดี ถ้าสติที่ถูกต้องยิ่งมากยิ่งดี สมาธิที่ถูกต้องยิ่งมากก็ยิ่งดี วิริยะถ้าถูกต้องก็ดีทั้งนั้น บางทีมันไม่สมดุลกัน เจริญปัญญามากไป ที่จริงคือคิดมากไป เจริญมากไปปัญญามาก ใจก็ฟุ้งซ่าน ทำความสงบมากใจก็เซื่องซึมไป

เราค่อยๆ สังเกตเอา เวลาเราภาวนาไป พละ 5 ตัวไหนอ่อนไป ตัวไหนแรงไป ค่อยๆ ดูค่อยๆ สังเกต ใจจะค่อยๆ ปรับสมดุล ตรงที่มันสมดุลจริงๆ มันจะหยุดความปรุงแต่ง ศรัทธามากก็งมงาย ศรัทธาล้ำไปปัญญาตามไม่ทัน งมงาย เชื่ออะไรงมงายก็ใช้ไม่ได้ มีปัญญาเดินปัญญามาก ไม่มีศรัทธาเซลฟ์จัด เชื่อแต่ตัวเองก็ใช้ไม่ได้ แพ้กิเลสอีก มีความเพียรมากไปใจก็ฟุ้งซ่าน ทำสมาธิมากไปก็ย่อหย่อนขี้เกียจ

 

“ใช้ความสังเกตเอา อะไรมากไปอะไรน้อยไป ตัวไหนที่มันมากมันก็ดีอยู่แล้ว เราก็เพิ่มตัวที่น้อยๆ ขึ้นมาให้สมดุลกัน มีสติเป็นตัวสอดส่องตัวเอง”

 

ตัวที่จะช่วยเราปรับสมดุลได้ดีที่สุด คือตัวสตินี่เอง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา สติมันอยู่กลางเป็นนัมเบอร์ 3 ใน 5 ตัวเป็นตัวคอยสอดส่อง ศรัทธาล้ำไปก็งมงาย เชื่ออะไรงมงาย เชื่ออะไรนอกคำสอนของพระพุทธเจ้า เกินเรื่องกรรมก็งมงาย อย่างนั้นไม่เรียกว่าศรัทธาที่แท้จริง เรียกว่างมงาย ค่อยสังเกตตัวเองไป มันรู้สึกงมงาย ใช้เหตุใช้ผลให้เยอะขึ้น เอาปัญญามาช่วย ปัญญาในการพิจารณา โยนิโสมนสิการพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล

อย่างบางช่วงเห็นแต่ละวัด แต่ละที่ทำวัตถุมงคลออกมา บอกมีวัตถุมงคลรุ่นนี้แล้วรวย รุ่นโคตรรวย รวยมหาเศรษฐี เอากิเลสของคนมาล่อ ส่วนใหญ่คนอยากรวย ถ้าเรามีสติมีปัญญาจริง เราจะรู้เลยมันรวยไม่ได้หรอก ไปจุดธูปเท่านั้นเท่านี้ดอกหวังว่าจะรวย รวยไม่ได้หรอก มันโง่ มันไม่มีเหตุผล อยากรวยก็ต้องรู้จักทำมาหากิน รู้จักเก็บออม รู้จักใช้เท่าที่สมควร ที่สำคัญรู้จักเลือกคบคนที่ดีๆ คนที่ชักพาเราเสียหายอย่าไปคบมัน ต้องมีเหตุมีผลอย่างนี้ถึงจะเป็นชาวพุทธ

ศรัทธางมงายใช้ไม่ได้ ก็เอาโยนิโสมนสิการ เอาตัวปัญญามากระหนาบ ศรัทธางมงายให้มันลดลง บางทีเดินปัญญามากใจมันเซลฟ์จัด นั่นก็รู้นี่ก็รู้ เซลฟ์จัดขึ้นมา ก็ต้องอาศัยศรัทธามาช่วย เพราะพระพุทธเจ้าไม่สอนเราให้กิเลสหนาอย่างนี้ ภาวนาแล้วต้องลดละกิเลส ไม่ใช่ภาวนาแล้วกูแน่ กูหนึ่ง กูเก่ง เจริญปัญญามาก โลกนี้ว่างเปล่าอะไรก็ว่างเปล่า ปัญญามันล้ำไปทั้งสิ้น

อาศัยองค์ธรรม 5 ตัวนี้ค่อยๆ พัฒนาขึ้น ตัวไหนมากไปก็ไม่ใช่ไปลดมันลง แต่ไปเพิ่มตัวอื่นขึ้นมาให้สมดุล อย่างมีความเพียรมากมาย รู้สึกความเพียรล้ำไปแล้ว ไปลดความเพียรลงอย่างนี้ไม่ใช่ ขยันภาวนาพิจารณาโน้นนี้ เจริญปัญญามาก มีความเพียรมาก มันล้ำสมาธิไปเราดูออก ตอนนี้ภาวนาขยันมากไปแล้ว จนดูมันฟุ้งซ่านไปหมดเลย เราก็กลับมาทำความสงบ ให้มันสมดุลกัน พอสงบใจสบายมีความสุข เริ่มขี้เกียจเจริญปัญญาแล้ว ไม่อยากเจริญปัญญา วิริยะย่อหย่อนลง กระตุ้นตัวเองขยันดูหน่อย อย่าเอาแต่สงบนิ่งเฉยโง่ๆ อยู่อย่างนั้น

ใช้ความสังเกตเอา อะไรมากไปอะไรน้อยไป ตัวไหนที่มันมากมันก็ดีอยู่แล้ว เราก็เพิ่มตัวที่น้อยๆ ขึ้นมาให้สมดุลกัน มีสติเป็นตัวสอดส่องตัวเอง ตอนนี้ศรัทธาล้ำหน้าไปแล้ว ตอนนี้วิริยะมากไปแล้วทำให้ฟุ้งซ่าน ตอนนี้สมาธิมากไปแล้วติดในความสุขความสงบ ตอนนี้เจริญปัญญาเยอะเกินไปแล้วจนฟุ้งซ่าน ปัญญาเจริญมากก็ฟุ้งซ่าน แล้วบางทีก็ทำให้เซลฟ์จัด นึกว่ากูรู้ไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เชื่อใครทั้งสิ้นเชื่อแต่ตัวเอง ขาดศรัทธาแล้ว สังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ แค่ไหนพอดี พัฒนาเป็นลำดับๆ ไป อดทนใช้ความสังเกตเอา

 

เส้นทางนี้ไม่ใช่เส้นทางที่คนขี้เกียจ คนท้อแท้ คนอ่อนแอจะเดินได้

 

ฆราวาส จุดอ่อนมากๆ คือสมาธิไม่พอนี้เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งก็คือปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ ทำบ้างไม่ทำบ้าง บางทีก็ผัดเอาไว้ก่อน เดี๋ยวขอทำอันนี้ก่อน อย่างตั้งใจว่าทุกวันเราจะภาวนา ทำในรูปแบบวันละชั่วโมง ตอนนี้กำลังมันดูซีรีส์ยังไม่จบ ขอก่อนเดี๋ยวดูหนังจบแล้วจะมาภาวนา ดูหนังจบก็หมดแรงแล้ว ไม่ได้เรื่องหรอก ใจไม่เด็ดเดี่ยวพอ ต้องอดทนจริงๆ

เส้นทางนี้ไม่ใช่เส้นทางที่คนขี้เกียจ คนท้อแท้ คนอ่อนแอจะเดินได้ วัดใจตัวเองเข้าไปเรื่อยๆ เลย อย่างโยมทุกวันทำในรูปแบบให้ได้ สมาธิจะได้เพิ่มขึ้น คอยรู้เท่าทัน ทำกรรมฐานแล้ว คอยรู้เท่าทันจิตตนเอง อ่านจิตตนเองเคลื่อนแล้วรู้ เคลื่อนแล้วรู้ไป สมาธิจะเพิ่มขึ้น

แล้วก็ต้องเตือนตัวเองทุกวันๆ เราใกล้ความตายเข้าไปทุกทีแล้ว เมื่อก่อนตอนเราเด็กๆ เราก็ไม่รู้จักความตายเป็นอย่างไรไม่รู้จัก เลี้ยงหมา เลี้ยงแมว เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เห็นมันตาย ค่อยๆ เรียนรู้ โตขึ้นมาก็เห็นผู้ใหญ่ตาย โตขึ้นมาเรื่อยๆ ก็เห็นเด็กๆ ก็ตายได้ เตือนตัวเองไปเรื่อยๆ ความตายมาถึงเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อย่าขี้เกียจ อย่าผัดเวลาโน้นค่อยทำ วันนี้ค่อยทำ

บางคนบอกว่าอายุ 50 แล้วจะค่อยภาวนา 50 เป็นวัยเรียกแย้มฝาโลงแล้ว จะไปภาวนาอะไร ยิ่ง 60-70 ไปแล้วภาวนาลำบาก ยิ่งแก่ยิ่งภาวนายาก ต้องอดทนมากเลย อย่างแก่ๆ แล้วพอเริ่มภาวนาก็นั่งหลับแล้ว ถ้านั่งสมาธิก็หลับ เดินจงกรมก็ปวดแข้งปวดขาเดินไม่ไหว ตอนที่ยังหนุ่มยังสาว เอาเวลาไปหลงโลก พอแก่ลงมาอยากปฏิบัติ มันไม่ได้เรื่องแล้ว เมื่อก่อนเคยมีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านบอกวัยหนุ่มสาวเป็นวัยแข็งแรงที่สุด เป็นวัยที่ดีที่สุด ยกถวายพระพุทธเจ้าเลย ของดีตั้งใจเลยว่า สิ่งที่ดีที่สุดเราจะถวายพระ ช่วงที่ยังหนุ่มยังสาวตั้งใจภาวนาเลย อดทนเข้า ไปรอทำตอนแก่ไม่ได้กินหรอก เพราะว่าสะสมความหลงไว้ตั้งหลายสิบปีภาวนายาก

ฉะนั้นต้องอดทน มีความเพียรไป อาศัยศรัทธาเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้า ทีแรกมันเป็นการน้อมใจเชื่อ ปู่ย่าตายายเราก็นับถือพระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ๆ แต่ละรุ่น ท่านก็นับถือพระพุทธเจ้า ทำไมถ้าพระพุทธเจ้าไม่ดีจริงเขาคงไม่นับถือหรอก ทีแรกเราก็อาศัยศรัทธาที่เกิดจากการคิดเอา สังเกตเอา คนที่เขามีศีลมีธรรมทำไมดูเขาสะอาด ดูเขาหมดจด ดูเขามีความสุข บางคนไม่รวยแต่เขามีความสุข คนไม่มีศีลมีธรรม เราสังเกตไป คนไม่มีศีลมีธรรมรวย แต่ไม่เห็นจะมีความสุขเลย ใจเต็มไปด้วยความเร่าร้อน หิวโหยตลอดเวลา

อาศัยการสังเกตเอา สังเกตความจริงของโลก สังเกตเดี๋ยวคนนั้นก็ตาย เดี๋ยวคนนี้ก็ตาย ชีวิตมันไม่แน่นอน ไม่ควรจะประมาท ใจจะค่อยๆ มีกำลังภาวนาไป จนมันเห็นความจริงจะยิ่งศรัทธามากขึ้นๆ อย่างเราทำความเพียรไป พอเราทำความเพียร เราเห็นผลของความเพียร เราก็จะมีศรัทธามากขึ้น

อย่างแต่เดิมเราเคยทุกข์นาน ทุกข์มันก็สั้นลง แต่เดิมมันทุกข์หนัก เดี๋ยวนี้ก็ทุกข์น้อยลง จากการปฏิบัติ เราก็จะเริ่มมีศรัทธาในการปฏิบัติ รู้สึกการปฏิบัติมันดีจริงๆ ทำแล้วมันช่วยตัวเองได้ ความทุกข์เคยมากก็เหลือน้อย เคยนานก็เหลือสั้นลง ใจมีศรัทธาก็ยิ่งขยันภาวนามากขึ้น

เราค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ทำ ฝึกทุกวันๆ เรามีสติ มีสมาธิ อย่างสมาธิก็ต้องฝึก ทำในรูปแบบไปฝึกทุกวันๆ ทีแรกให้นั่งสมาธิ 5 นาทีเหมือนใจจะขาด รู้สึกเหนื่อยเหลือเกินนั่งสมาธิ 5 นาที อดทนทำทุกวันๆ มีความอดทน มีความเพียรไป ใจก็ค่อยๆ สงบเข้ามา มันเห็น เราภาวนาใจมีความสุข ความสุขไม่ต้องอิงอาศัยคนอื่น ไม่อิงอาศัยสิ่งอื่น ที่ไม่อิงอาศัยคนอื่น ไม่อิงอาศัยสิ่งอื่น ภาษาแขกเรียก ไม่มีอามิส เป็นความสุขที่ไม่มีอามิส มีความสุขด้วยตัวของตัวเอง ความสุขอย่างนี้ไม่เสียเงิน ไม่ต้องเอาเงินไปซื้อความสุข ไม่ต้องไปง้อใคร ไม่ต้องไปจีบใคร มันมีความสุข มันมีความอิ่ม มีความเต็มอยู่ในตัวเอง พอภาวนาแล้วมีความสุข ก็ยิ่งขยันภาวนา

ค่อยๆ ฝึกไป ภาวนาไป ภาวนาไปค่อยๆ สังเกต ศรัทธาเรายิ่งเยอะขึ้นๆ บางทีงมงายไปเลย สำรวจตัวเอง ตรงนี้มันงมงาย คิดว่านั่งสมาธิสงบไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งมันจะเกิดมรรคผล พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านสอนให้ทำวิปัสสนากรรมฐาน ให้เรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ ทำสมาธิเฉยๆ ไม่พอหรอก

 

ถ้าเทียบปัญญาเหมือนมีด การทำความสงบเป็นเครื่องลับปัญญา

 

ทั้งๆ ที่เราติดสมาธิ แต่เราอาศัยเราศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนให้เราทำวิปัสสนากรรมฐาน เราก็ทำ อดทนทำเอาปัญญามันก็เกิด ธรรมชาติของนักปฏิบัติ พอเจริญปัญญาแล้วมักไปทิ้งสมาธิอีกแล้ว เจริญปัญญามากเข้าๆ รู้ไปหมดเลย อะไรๆ ก็ไม่เที่ยง โน้นก็ไม่ใช่เรา นี้ก็ไม่ใช่เรา กลายเป็นกูไม่มีกู ยังมีกูอยู่ แต่คิดว่ากูไม่มีกู ปัญญามันล้ำหน้าไปแล้ว ฟุ้งซ่าน

เวลาที่เราเจริญปัญญา หรือทำวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าปัญญามันล้ำหน้าจะเกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้น จะเกิดความสำคัญผิดต่างๆ มี 10 อย่างไปถาม Google ดู ง่ายๆ ขี้เกียจเทศน์ ยาว ฉะนั้นเจริญปัญญาแล้วสมาธิไม่พอมันจะเกิดวิปัสสนูปกิเลส วิธีปฏิบัติไม่ใช่ทิ้งปัญญา วิธีปฏิบัติคือเพิ่มสมาธิขึ้น หันกลับมาทำสมาธิ เราไม่ทิ้งปัญญาหรอก แต่ว่าวางไว้ก่อน กลับมาทำสมาธิเพิ่มขึ้น พอจิตตั้งมั่นถึงฐานกลับไปเดินปัญญาใหม่ คราวนี้มันจะคมกริบเลย ปัญญาจะเหมือนมีดคมๆ ปัญญาจะทำหน้าที่ตัด ตัดกิเลส ตัดความเห็นผิด เป็นอำนาจของปัญญาทั้งหมด ปัญญาล้ำหน้าไปไม่มีสมาธิหนุนหลัง เหมือนมีดทื่อมีดไม่คมแล้ว เอามีดทื่อๆ ไปตัดไม้ปั๊บๆๆ ไม้ไม่เป็นไรเฉยๆ ก็ทำความสงบเข้ามา ปัญญาจะเป็นมีดคมขึ้นมา การทำความสงบเป็นเครื่องลับปัญญา

ถ้าเทียบปัญญาเหมือนมีด ทำความสงบเข้ามามีดมันก็คม พอมีดมันคมเดินปัญญาต่อไป โดยที่ไม่ได้เจตนา สติระลึกรู้รูป ระลึกรู้นาม มันจะเห็นปัญญาจะสอดส่องลงมาเห็น รูปนี้ก็แสดงไตรลักษณ์ นามก็แสดงไตรลักษณ์ ในที่สุดมันก็ตัด สติเป็นตัวจับ จับว่ามีอะไรเกิดขึ้น ปัญญาเป็นตัวตัด เหมือนเรารวบ อย่างชาวนาเขาเกี่ยวข้าว เดี๋ยวนี้ใช้เครื่องเกี่ยวแล้ว แต่ก่อนเกี่ยวด้วยมือ เอามือรวบข้าวเอาเคียวตัด สติเป็นตัวรวบ ปัญญาเป็นตัวตัด ทำงานร่วมกัน

มีความเพียร มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา สะสมของเราทุกวันๆ ไป แล้วจะเข้าใจโลก เข้าใจชีวิตมากขึ้นๆ อันนี้เป็นการที่จะช่วยตัวเอง เวลาเราภาวนา แล้วเราอยู่ไกลครูบาอาจารย์ อย่างหลวงพ่อเรียนจากครูบาอาจารย์ เดือนหนึ่งขึ้นไปหาหลวงพ่อพุธครั้งหนึ่ง 3 เดือน 4 เดือนถึงจะได้ไปหาครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ที่สูงขึ้นไปอีก ไปหาหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่สิม ฯลฯ หลายๆ เดือนจะได้เข้าไปทีหนึ่ง

 

“มีความเพียรในการเจริญสติปัฏฐานให้มากขึ้น ลดละกิเลสของเรา ไม่ใช่นอนแช่จมกิเลสอยู่”

 

ระหว่างที่เราไม่ได้อยู่กับครูบาอาจารย์ สิ่งที่หลวงพ่อใช้มากเลยคือโยนิโสมนสิการ การสังเกตตัวเอง มีความแยบคายสังเกตตัวเอง ตอนนี้ศรัทธาไม่มีแล้ว ต้องเร้าศรัทธาขึ้นหน่อย ตอนนี้ศรัทธามากจนงมงายแล้ว รู้ทันว่างมงาย ใช้เหตุใช้ผลให้มากขึ้น ใช้ปัญญาให้มากขึ้น ตอนนี้ทำแต่สมาธิ ใจขี้เกียจแล้ว ติดสมาธิ ติดสุข ไม่อยากจะภาวนาอย่างอื่นแล้ว อยากสงบอย่างเดียว สมาธิมากไปแล้ว ต้องออกมาเจริญปัญญา

มีความเพียรในการเจริญสติปัฏฐานให้มากขึ้น ลดละกิเลสของเรา ไม่ใช่นอนแช่จมกิเลสอยู่ ทำสมาธิมากๆ จิตติดความสงบ นั่นมันจมอยู่ในกิเลส เพลินติดอยู่ในราคะ ติดอยู่ในโมหะ เราสังเกตตัวเอง ตรงนี้มากไปแล้ว เราก็ออกมาเดินปัญญา ออกมาดูกายดูใจ ออกมาดูทีแรกมันก็จะไม่ยอมดู มันรู้อยู่ที่กายเฉยๆ นิดเดียว เดี๋ยวจะกลับไปหาความสงบแล้ว หรือออกมาดูจิต 2- 3 แวบเดียว หนีกลับเข้าไปสงบแล้ว อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ก็ต้องถอยออกมาเจริญปัญญา ค่อยๆ ปรับตัวเองไป ดูสังเกตตัวเองไปเรื่อย ศรัทธาน้อยไปก็เพิ่มมันขึ้น ศรัทธาล้ำหน้าใช้เหตุผลให้มากขึ้น มีความเพียรมากจนใจมันจะฟุ้งซ่าน ก็ทำความสงบเข้ามา ทำสมาธิเข้ามา ทำสมาธิมากใจติดในความสุข ความขี้เกียจขี้คร้าน กระตุ้นตัวเองให้ต่อสู้กิเลส ให้มีความเพียรขึ้นมา

คำว่า วิริยะ คือมีความเพียรแผดเผากิเลส ต่อสู้กิเลส มีความเพียรเจริญกุศล เรียกว่ามีความเพียร ไม่ใช่นั่งนาน นอนนาน เดินนาน นานๆ อะไรแบบนี้ แล้วบอกมีความเพียรเยอะ ไม่ใช่หรอก ถ้านั่งสมาธิโต้รุ่งเลย มันติดในความสุข นั้นไม่ใช่เรียกว่ามีความเพียร เพราะทำแล้วกิเลสไม่สะเทือนเลย ตรงที่มีความเพียร มีวิริยะ คำว่าวิริยะ คือมีความเพียรละกิเลสที่มีอยู่ มีความเพียรปิดกั้นกิเลสใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น มีความเพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด มีความเพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น อย่างเราติดสมาธิอยู่ เราก็สังเกตไม่เห็นเจริญตรงไหน ว่างๆ นิ่งๆ หลวงพ่อก็เคยเป็นแบบนี้

มีอยู่คราวหนึ่ง ภาวนาแล้วเห็นกิเลส เฝ้ารู้เฝ้าดูเห็นมันเกิดดับ เกิดดับไปเรื่อยแล้วทิ้งสมาธิไป นี้เห็นโทสะมันเกิดขึ้นมา เราดูมัน โทสะนี้มันเคลื่อนออกไป เคลื่อนออกไปอยู่ข้างหน้า เราไม่เห็นว่าจิตมันเคลื่อนแล้ว สมาธิเราไม่พอแล้ว มันเคลื่อนไปข้างหน้าแล้วมันดับไป จิตเราก็ว่างอยู่ข้างหน้า แล้วมันก็ว่างอยู่อย่างนั้นเป็นปีเลย รู้สึกตรงนี้ดีกิเลสไม่มี นี่แหละกิเลสไม่มี กิเลสใหม่ก็ไม่มีเกิดขึ้น กิเลสเก่าก็ดับไป ตรงนี้ท่าจะดี ทำอยู่อย่างนั้น มีแต่ความสุขอยู่ช่วงหนึ่งยาวเป็นปีเลย แล้วก็สังเกตมันไม่มีกิเลสหรือ ไม่เห็นกิเลส แต่มันก็ไม่มีกุศลอะไรเพิ่มกว่านี้ด้วย ไม่มีกิเลสแล้วก็ไม่มีกุศลด้วย อันนี้มันไม่ใช่แล้ว แต่ดูไม่ออกว่ามันไม่ใช่ตรงไหน ดีไปเจอพ่อแม่ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งคือหลวงตามหาบัว

สมัยนั้นคนยังน้อยเข้าถึงองค์ท่านได้ ไปถามท่านบอก “พ่อแม่ครูบาอาจารย์ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิต แต่ผมสังเกตว่ามันไม่พัฒนาเลย” ท่านบอกว่า “ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรานะ ตรงนี้สำคัญนะ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” ท่านบอกอย่างนี้ หลวงพ่อก็เอ๊ะ ท่านให้บริกรรม เราก็พุทโธๆๆ ใจมันไม่ชอบพุทโธ

พิจารณาดูท่านให้บริกรรม เรื่องของสมาธิ แสดงว่าสมาธิเราไม่พอ ทั้งๆ ที่จิตไปนิ่ง ไปว่าง ไปสว่างอยู่เป็นปีแล้ว ที่แท้ไม่ใช่สมาธิที่ถูกต้องเลย หลวงพ่อก็มาทำกรรมฐานที่เราถนัด หลวงตาท่านให้พุทโธ หลวงพ่อพุทโธอย่างเดียวแล้วอึดอัด หลวงพ่อก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เคยฝึกกับท่านพ่อลีตั้งแต่เด็ก หายใจอยู่ไม่กี่ทีจิตรวม แทบจะเขกหัวตัวเองเลย เรามันโง่จริงๆ เราไปหลงในความว่าง ในความสว่าง ใช้ไม่ได้ บุญท่วมหัวเลย ครูบาอาจารย์ชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดของตัวเอง ค่อยๆ สังเกต บางทีสมาธิไม่พอ เจริญปัญญาอยู่มันไปติดในความว่าง สว่าง ในโอภาส ตัวนั้นคือวิปัสสนูปกิเลส วิปัสสนูปกิเลส 10 ตัว ตัวแรกเลยชื่อโอภาส นักดูจิตทั้งหลายจะติดโอภาส เพราะว่าจิตมันว่าง มันสว่างขึ้นมา แล้วติดอยู่ในว่าง ในสว่าง

ติดอยู่กับโอภาสแก้อย่างไร นึกว่าตรงนี้สมาธิดี ใจนิ่งว่าง สว่าง ที่แท้มันสมาธิออกนอก ไม่เข้าฐาน สมาธิที่แท้จริงไม่มี ก็กลับมาทำความสงบเข้ามา พอจิตเข้าฐานเท่านั้น รู้เลยว่าที่ผ่านมาไม่ใช่แล้ว หลงผิดไปแล้ว อาศัยความสังเกตเอาว่า ปัญญาล้ำไปสมาธิไม่พอ ถ้าปัญญานั้นเป็นการเดินวิปัสสนา วิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้น อาศัยความสังเกตไปทุกวันๆ ตัวไหนมาก ตัวไหนน้อย บางครั้งเราสังเกตเองไม่ออก ได้ครูบาอาจารย์ท่านบอกให้ ถ้าครูบาอาจารย์ไม่ได้บอกหรือไม่เจอท่าน ต้องใช้ความสังเกตเอา ครูบาอาจารย์นั้นเขาเรียกว่า กัลยาณมิตร เดี๋ยวนี้ชอบเจอใครก็เรียกกัลยาณมิตรๆ เราดูหน้าแล้วไม่ใช่กัลยาณมิตร มันปาปมิตร มันหลอกลวง อย่างอยู่ดีๆ เดินอยู่ดีๆ ก็บอก “จิตของเธอเป็นอย่างนี้” หลอกให้เรานับถือ มันใช้ไม่ได้ ถ้าเราไม่มีกัลยาณมิตร สิ่งที่จะช่วยเรา คือโยนิโสมนสิการ ธรรมะคู่นี้เป็นของใหญ่ของสำคัญ โยนิโสมนสิการอย่างเดียวก็ไม่พอ เพราะว่าเราเป็นสาวกภูมิ เราต้องมีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเราอาจจะคือพระไตรปิฎกก็ได้ อ่านพระไตรปิฎก อ่านอะไรตรวจสอบ

อย่างหลวงพ่ออ่านพระไตรปิฎก อ่านตั้งหลายรอบ แต่อ่านได้ 2 ปิฎก อ่านพระวินัย กับพระสูตร อภิธรรมอ่านไม่รู้เรื่อง อ่านได้ 2 ปิฎกแล้วเวลาเราไปเจอ ไปสำนักโน้นสำนักนี้ เรารู้ว่าใช่หรือไม่ใช่ มันดูออก ยิ่งเราภาวนาประกอบกันกับทฤษฎีที่เรียนจากพระไตรปิฎก ประกอบกับการภาวนารู้เท่าทันจิตใจตนเอง ถ้าเรารู้เท่าทันจิตใจตนเอง มันไม่ยากหรอกที่จะรู้เท่าทันจิตใจคนอื่น เพราะมันเหมือนกัน จิตเขาจิตเรามันก็เหมือนกัน ก็มีกิเลสเหมือนๆ กัน แบบนี้เราเคยรู้ทันมาแล้ว พอเราไปเห็นคนที่เขายังติดตัวนี้อยู่ เราก็รู้ว่า อ๋อ ติดตรงนี้ล่ะ

อาศัยโยนิโสมนสิการจากการอ่าน แล้วก็จากการสังเกต เทียบเคียงดู แล้วก็รู้นี่ไม่ใช่ๆ นี่ไม่ใช่อันนี้ใช่อะไรอย่างนี้ เจอใครสอนเรา สอนสติปัฏฐาน 4 กางตำราสอนก็สอนเหมือนกันหมด แต่พอถึงตัวสภาวะแท้ๆ แล้วไม่เหมือนกันหรอก แต่ละองค์แต่ละคนสอนธรรมะอันเดียวกัน พูดเหมือนกัน แต่เนื้อในไม่เหมือนกัน เพราะความเข้าใจภายในจิตใจ ของคนที่สอนมันไม่เหมือนกัน แต่ภาษาเหมือนกัน ฉะนั้นภาษาบางทีดูไม่ได้ ถ้าเราดูจิตเขาไม่เป็น เราใช้ความสังเกตนานๆ ใช้ความสังเกตระยะยาว เข้าไปอยู่ใกล้ๆ สังเกตเอา แต่ไม่ใช่ไปจับผิดเขา ที่สำคัญคือดูตัวเอง แต่ถ้าจะไปฟังใครเขาว่า องค์นี้ดี ท่านนี้ดี อาจารย์นี้ดี เราฟังแล้วไม่ยอมรับ แล้วก็ไม่ปฏิเสธ แขวนไว้ก่อนจนกว่าจะรู้ถ่องแท้ ไม่ฉะนั้นก็โดนเขาหลอกไปเรื่อยๆ

เมื่อก่อนตอนหลวงพ่ออยู่เมืองกาญจน์ฯ มีผู้ชายคนหนึ่งป่านนี้อยู่หรือเปล่าไม่รู้ แกแก่กว่าหลวงพ่ออีก แกมาบอกแกมีอาจารย์เยอะเลย หาอาจารย์แต่ละองค์ แต่ละองค์ของแกนี่ ทีแรกก็ว่าดีๆ ดังมากเลยแต่ละองค์ สุดท้ายปาราชิกทั้งนั้นเลย หลวงพ่อเลยบอก “เออๆ คุณก็ไปเรียนที่อื่นนะ อย่ามาเรียนที่เราเลย” ประวัติไม่ดี เข้าสำนักไหนอาจารย์ปาราชิกหมด เพราะดูไม่เป็น ไม่รู้จักแยกแยะ บางทีเชื่อตามๆ กันบ้าง อะไรบ้าง คือไม่รู้จักสังเกต ไม่มีโยนิโสมนสิการ ไม่มีปัญญา ไม่แยบคาย ฉะนั้นการที่คอยสังเกต โดยเฉพาะการสังเกตตัวเองสำคัญที่สุด ศรัทธาล้ำหน้า ก็เจริญปัญญาขึ้นมาช่วย ปัญญาล้ำหน้าไปแล้วก็อาศัยศรัทธามาช่วย

อย่างเคยมีพระไปภาวนาอีท่าไหนก็ไม่รู้ สำนักไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน เขาเคยเล่าแต่หลวงพ่อไม่ฟัง ขี้เกียจจำ ไปภาวนาอยู่ไม่กี่วันเขาบอกได้โสดาบันแล้ว พอได้โสดาบันแล้วก็มาหาหลวงพ่อ จะมาอวดว่าได้โสดาบัน ท่านก็เล่าว่าอาจารย์รับรองแล้ว หลวงพ่อว่าอย่างไร? หลวงพ่อไม่ว่าหรอก ก็เค้นเรา เค้นๆๆ หลวงพ่อบอก “สังเกตสิ เรายังเห็นขันธ์ 5 นี้เป็นตัวเราของเราไหม เห็นไหมว่ามันเป็นตัวเรา ของเรายังไม่เท่าไหร่ เห็นว่ามันคือตัวเรา” “ไม่เห็นเลยครับ” ไม่ยอมดู “ไม่เห็นๆๆ ไม่มี” อย่างนี้ไม่ดีแล้วแก้ยาก หมดศรัทธาแล้ว โมโหหลวงพ่อเลย เลิกศรัทธาเลย เพราะว่าอาจารย์โน้นเขาบอกได้โสดาบัน มาหาหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกให้ไปดูยังมีตัวเราอยู่ไหม ฟังแล้วทำไมไม่บอกว่าหมดแล้ว ทำไมไม่บอกว่าผมเป็นพระโสดาบันแล้ว

เราบอกไม่ได้ หน้าที่พยากรณ์เป็นของพระพุทธเจ้า เราบอกได้อย่างเดียวว่าไปดูกิเลสตัวนี้ยังมีไหม ถ้าบอกได้โสดาบัน แต่ว่าเราอย่างโน้นเราอย่างนี้ มันมีความรู้สึก ไม่ใช่คำพูด อย่างพระท่านพูดอาตมาอย่างโน้น อาตมาอย่างนี้ ยังมี 2 โทน ไม่ใช่ตัวเสียง แต่ตัวความรู้สึกที่ใจของคนพูดเอง อย่างบอก “อาตมาอย่างโน้น อาตมาอย่างนี้” มันยังมีตัวกูขึ้นมา มีตัวเราอยู่จริงๆ อันนี้ยังเป็นปุถุชนอยู่ เพราะว่าสักกายทิฏฐิยังไม่ขาด มันยังมีเราอยู่ อีกท่านหนึ่ง ท่านพูด “อาตมาอย่างโน้น อาตมาอย่างนี้” เป็นแค่โวหาร ในใจท่านไม่รู้สึกว่ามีตัวเรา ไม่เหมือนกัน ภาษาพูดเหมือนกันแต่คุณภาพของจิตไม่เหมือนกัน ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ทางที่ดีที่สุด คืออย่าไปยุ่งคนอื่น เรียนของเราเองดูของเราเอง กิเลสคนอื่นไม่สำคัญ กิเลสที่สำคัญคือกิเลสของเราเอง ดูไปเรื่อยๆ สังเกต

ขนาดหลวงพ่อว่าช่างสังเกต บางครั้งติดอยู่ตั้งนาน ติดในความว่าง ความสว่าง ติดอยู่ตั้งนาน เพราะเราอยู่ไกลครูบาอาจารย์ ค่อยๆ ภาวนามาเป็นลำดับๆ ยิ่งเราภาวนา เราเห็นผลของการปฏิบัติมากขึ้นๆ เราจะยิ่งศรัทธา ตรงที่ได้เป็นพระโสดาบันนั่นละ ศรัทธาของเราถึงจะบริบูรณ์ ศรัทธาว่าพระพุทธเจ้ามีจริง พระพุทธเจ้าสอนธรรมะของจริง คนที่ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า สามารถเห็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนมีจริง คือพระสงฆ์สาวกก็มีจริง พระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมมีจริง พระสงฆ์มีจริง ทำไมถึงเชื่อว่ามีจริง เพราะรู้ด้วยตัวเองแล้ว จิตของตนเองเป็นจิตพระสงฆ์แล้ว ทั้งๆ ที่ยังนุ่งกระโปรงอยู่หรือนุ่งกางเกงอยู่ จริงๆ เป็นพระสงฆ์ไปแล้ว เห็นความจริงแล้วตัวตนไม่มี จะยิ่งศรัทธา รู้เลยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์มีจริงๆ จะไม่มีความลังเลสงสัย

ละสักกายทิฏฐิได้ ก็หมดความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย แล้วก็จะไม่ปฏิบัติแบบลูบๆ คลำๆ ถือศีลบำเพ็ญพรตแบบงมงาย บำเพ็ญพรตงมงาย คิดว่าทำอย่างโน้นแล้วดีทำอย่างนี้แล้วดี ก่อนจะนั่งกรรมฐานต้องจุดธูปเท่านี้ดอก ปักทางนี้ทิศนี้ วันนี้เป็นวันอาทิตย์ วันเสาร์ ถ้าวันเสาร์จุดธูปเท่านี้ วันอาทิตย์จุดธูปเท่านี้ วันเสาร์นั่งหันหน้าทิศนี้ วันอาทิตย์อยู่ทิศนี้จะได้ไม่เจอกับผีหลวง ผีอะไรก็ไม่รู้ อย่างนี้งมงาย ถ้ายังงมงายอยู่ไม่ใช่พระโสดาบัน

 

“ภาวนาเป็นจะรู้สึกอย่างนั้นเลย ถ้าเราไม่ได้พบธรรมะของพระพุทธเจ้า เราเสียชาติเกิดแล้ว”

 

เราสังเกตตัวเองเวลาวัดความก้าวหน้า อย่างอื่นเราพัฒนา ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ค่อยๆ พัฒนา พัฒนาไป ศรัทธาเราก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ถ้างมงายขึ้นมาสังเกตเอา เชื่องมงาย เชื่อว่าเขาบอกว่าเราเป็นพระโสดาบัน ไม่เชื่อเขา แล้วสังเกตจริงๆ ละกิเลสที่พระโสดาบันละได้ไหม ถ้าละไม่ได้ก็ไม่ใช่

บอกว่าได้อนาคามีแล้ว ละกามราคะกับละปฏิฆะได้จริงไหม ละด้วยปัญญาอันยิ่ง ละได้หรือเปล่า อาจจะมีราคะผุด แต่มาไม่ถึงจิตหรอก จิตไม่มีราคะ สังเกตดู มีแต่ขันธ์มันทำงานไหวตัวขึ้นมา แต่เข้ามาไม่ถึงจิต

ค่อยรู้ค่อยดูสังเกตไป นานๆ ไปเราจะรู้สึกเลย ถ้าเราไม่ได้พบธรรมะของพระพุทธเจ้า เราเสียชาติเกิด ภาวนาเป็นจะรู้สึกอย่างนั้นเลย ถ้าเราไม่ได้พบธรรมะของพระพุทธเจ้า เราเสียชาติเกิดแล้ว เราไม่ได้ของดีของวิเศษที่สุดยอดอย่างนี้ เราจะได้อะไรเหลวๆ ไหลๆ ไป ของในโลกได้มา ก็เพื่อจะเสียไปในวันหนึ่ง ไม่มีอะไรที่ได้แล้วได้ตลอด ของในโลกไม่มีอะไรเที่ยงสักอย่างเลย มีลูก มีเมีย มีสามี ก็ของชั่วคราวทั้งหมด ถ้าเราคิดว่ามันจริงจังว่ามันหายไป มันก็ทุกข์มาก เราภาวนาเรารู้ความจริง ใจก็ไม่ทุกข์ ลดละกิเลสเป็นลำดับๆ ไป

สังเกตใจของเรา กิเลสไม่ได้อยู่ที่อื่นหรอก กิเลสอยู่ที่เดียวคือที่ใจที่จิต สังเกตจิตใจตนเองก็จะรู้ กิเลสอะไรละแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ละ กิเลสที่ละแล้วละด้วยอะไร ด้วยสติ หรือด้วยสมาธิ หรือด้วยปัญญา หรือด้วยวิมุตติ ไม่เหมือนกัน ถ้าละเด็ดขาด ละด้วยวิมุตติ ละด้วยอริยมรรค ไม่ได้ละด้วยอริยผลด้วย ละด้วยอริยมรรค อริยผลจิตไม่ทำงานแล้ว จิตได้รับรางวัล เป็นช่วงรับรางวัล ช่วงที่ยังทำงานอยู่ เป็นช่วงของอริยมรรค

เฝ้ารู้เฝ้าดูไป อดทน อดทนทุกวันรักษาศีล 5 ไว้ให้ดี ตั้งใจรักษาศีล 5 ทุกวันต้องฝึกในรูปแบบ ใจจะได้มีสมาธิให้มากๆ ให้ใจตั้งมั่น แล้วเวลาที่เหลือเป็นเวลาเจริญสติในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่มีศีล 5 ล้มเหลว ถ้าไม่มีสมาธิ เจริญปัญญาไม่ได้ ถ้าไม่มีปัญญา ละกิเลสไม่ได้จริง เราพยายามสะสมของเราไป คุณงามความดีทั้งหลาย ศีลต้องมี สมาธิต้องมี มีความเพียร มีสติ มีปัญญา ศรัทธาจะยิ่งแก่กล้าขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายศรัทธาจะแน่นแฟ้นตอนที่เป็นพระโสดาบัน เพราะเห็นความจริงแล้ว เชื่อมั่นในพระพุทธเจ้าแล้ว รู้เส้นทางที่จะเดินแน่นอนชัดเจนแล้ว ศรัทธาจะเต็มเปี่ยมขึ้นมา

สมัยพุทธกาลเคยมี อยู่ในตำรามีคนยากจนคนหนึ่ง ยากจนประเภทเป็นขอทานหรืออะไร หลวงพ่อจำไม่ได้แล้วได้ฟังธรรมแล้วก็ได้เป็นพระโสดาบัน เทวดามาลองใจบอกว่าให้ว่าพระพุทธเจ้าเลย ถ้าว่าพระพุทธเจ้า ด่าพระพุทธเจ้าได้ จะให้เงินให้ทองให้สมบัติอะไรเยอะแยะเลย คนจนคนนี้ก็เลยด่าเทวดานั้น บอกอย่ามาหลอกลวงเรา เราไม่เชื่อหรอก เรามีศรัทธาจะเอาเงินเท่าไหร่มาแลก กับความนับถือพระพุทธเจ้าของเรานี้ทำไม่ได้หรอก เพราะใจเราศรัทธาเต็มร้อยไปแล้ว

เทวดานั้นคือพระอินทร์ พระอินทร์จะมาทดลองอยากรู้ ว่าคนคนนี้ศรัทธาแน่นแฟ้นจริงไหม เอาทรัพย์สมบัติอะไรมาล่อก็ไม่เอา ทั้งๆ ที่จนแสนจน จะกินแต่ละวันยังลำบากเลย พระอินทร์เลยไปทูลพระพุทธเจ้าบอกว่า ยาจกคนนี้เอาเงินไปล่อยังไม่กล้าตำหนิพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าบอกเป็นไปไม่ได้หรอกที่เขาจะตำหนิ เขาเป็นพระโสดาบันแล้ว ศรัทธาของเขาแน่นแฟ้นแล้ว อย่างศรัทธาของปุถุชน เป็นศรัทธากลับกลอก โบราณเรียกศรัทธาหัวเต่า หัวเต่าคือผลุบๆ โผล่ๆ เดี๋ยวก็ผลุบๆ โผล่ๆ

ศรัทธาปุถุชนยังไม่สมบูรณ์หรอก อาศัยความเพียร อาศัยศรัทธาในเบื้องต้น พระพุทธเจ้าน่าจะดี ถ้าไม่ดีคนก็ไม่นับถือมาตั้งหลายพันปี ครูบาอาจารย์ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าแล้ว ดูท่านมีความสุข ดูท่านสงบ ดูท่านผ่องใส น่าจะดี คำสอนของพระพุทธเจ้า

ค่อยๆ มีศรัทธา แล้วก็เร้า มีความเพียร อดทนภาวนาไป มีสติดูกายดูใจเรื่อยไป แล้วใจก็มีสมาธิมากขึ้นๆๆ สติ สมาธิสมบูรณ์ขึ้นมา ปัญญามันก็เกิด พอวิริยะ สติ สมาธิสมบูรณ์ ปัญญามันจะเกิด ถ้ามันสมบูรณ์เต็มที่แล้ววิมุตติจะเกิด เกิดอริยมรรคขึ้น

ฉะนั้นถ้าเราศรัทธาในพระพุทธเจ้าจริงๆ อะไรที่ท่านบอกให้ละก็ละเสีย อะไรที่ท่านให้เจริญก็เจริญเสีย อย่างความผูกพัน ยิ่งโดยเฉพาะพระ ถ้ายังผูกพันรักใคร่ในทางโลก แล้วก็ยังกลับกลอก ก็ต้องพยายามฝึกภาวนาให้มากๆ ตั้งใจให้เด็ดเดี่ยว ต่อสู้ให้เข้มแข็ง แล้ววันหนึ่งเราก็ก้าวพ้นด่านหลอกลวงของมารทั้งหลายได้ ถ้าเราไม่สู้เราก็จะแพ้มันตลอด

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
6 กุมภาพันธ์ 2564