การภาวนาต้องช่วยตัวเอง ใครก็มาช่วยเราไม่ได้ มาภาวนาแทนเราไม่ได้ ต้องอดทนเอา พากเพียร พอเรารู้หลักของการปฏิบัติ เราก็ทำให้มาก ภาวนา อย่ามัวแต่คิดมากว่าจะทำอย่างไรดีอะไรอย่างนี้ เริ่มต้นทำอะไรไม่เป็น พุทโธๆไป หายใจไปอะไรอย่างนี้ เริ่มลงมือก่อน เริ่มเดินก่อน เราภาวนาแล้วเราจะเรียนรู้จากสิ่งที่ผิด อย่างเราหัดภาวนาใหม่ๆ เราก็จะไปนั่งเพ่งเอา ถ้าเราเฉลียวใจ เราก็รู้มันไม่ถูก ไปนั่งเพ่ง จิตใจก็อึดอัด ร่างกายก็เครียด บางพวกบางคนเพ่งมาก คอเคล็ดเลย ภาวนาจนคอเคล็ด หลังยอก แข้งขาเดี้ยง ไม่ได้ทำอะไรเลย นั่งเฉยๆ นั่งดูๆไป เพ่งเสียแทบจะพิการ
ทีแรกเราลงมือทำก่อน แล้วเราค่อยสังเกตสิ่งที่ผิด ทำกรรมฐานอะไรสักอย่างหนึ่งก็ได้ เอาที่เราถนัด เราคอยดู ที่ทำอยู่นี้มันถูกหรือมันผิด ใช้ความสังเกตเอา อย่างหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อก็ใช้สังเกตเอา ถ้าทำอย่างนี้แล้ว สติที่ยังไม่เกิด มันเกิดได้บ่อย ได้เร็วขึ้นๆมันก็ดี ก็ถูก ถ้าทำแล้วมันก็นิ่ง ว่าง สว่างอยู่เฉยๆ เป็นเดือน เป็นปีอะไรอย่างนี้ เราก็ดู พระพุทธเจ้าสอนว่ากายนี้ใจนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา ทำไมเราภาวนาแล้วมันดูเที่ยง จิตใจเราดูเที่ยง สงบ สบายอยู่อย่างนั้น ดูแทนที่จะเห็นว่ามันทุกข์ ก็เห็นว่ามันเป็นสุข แทนที่จะเห็นว่าเราบังคับไม่ได้ กลายเป็นเราบังคับได้ เราอยากสงบอยู่นานแค่ไหน เราก็สงบอยู่อย่างนั้นล่ะ
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านสอนถึงสิ่งซึ่งมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ถ้าเราภาวนาแล้วมันเที่ยง มันเป็นสุข มันเป็นอัตตาสังเกตอย่างนี้แล้วเราจะพบว่า โอ ต้องทำอะไรผิดแน่นอน ค่อยๆ สังเกตเอาว่ามันผิดตรงไหน ช่วงเวลาที่สังเกตได้ดีที่สุด ง่ายที่สุดว่าเราผิดตรงไหน ก็คือตอนที่ตื่นนอนใหม่ๆ ตอนที่เราตื่นนอนมานี่ใจเรายังไม่มีมารยา ยังไม่ได้เป็นนักปฏิบัติ เป็นคนธรรมดา ตื่นขึ้นมาจากตอนหลับ แล้วพอเราคิดว่าวันนี้เราจะภาวนาอย่างไรดีหนอ พอคิดเท่านั้น จิตมันจะเริ่มปรุงแต่งการปฏิบัติขึ้นมา จะไหลไปตามความเคยชิน
อย่างเวลาเราปฏิบัติ เราภาวนา พอเราไปเพ่ง หรือเราไปไหลไปอยู่ในความว่างอะไรอย่างนี้ พอมันชินอย่างนี้ พอเราคิดถึงการปฏิบัติ จิตมันจะไหลไปตามความเคยชิน เวลาภาวนา เคยบังคับกาย บังคับใจ พอคิดถึงการภาวนา มันก็เริ่มบังคับกาย บังคับใจ บางคนภาวนา แต่ทำใจให้นิ่งให้ว่าง พอคิดถึงการภาวนาก็ดัดแปลงจิตใจให้นิ่งให้ว่าง ตรงนี้เป็นความปรุงแต่งทั้งสิ้น หน้าที่เรารู้ทันว่า จิตมันปรุงแต่งแล้ว นี้ถ้ามันปรุงแต่งจนชิน เราไม่รู้ว่าปรุงแต่ง เราคิดว่านี่เราปฏิบัติอย่างนี้ดีแล้ว ถูกแล้ว
เวลาตื่นนอน หัดสังเกตรู้กายรู้ใจไป ถ้าเมื่อไหร่มันตื่นขึ้นมา แล้วมันคิดว่าจะปฏิบัติอย่างไรดี จิตมันจะเริ่มปฏิบัติ มันจะทำอย่างโน้นจะทำอย่างนี้ ให้เรารู้ทันตรงนี้ แล้วเราจะแก้ไขสิ่งที่เราติดอยู่ได้ อย่างเราเคยติดส่งจิตเคลื่อนออกไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย หรือส่งจิตเคลื่อนไปคิดนี่ มันเคยชินอย่างนี้ พอเราคิดถึงการปฏิบัติปุ๊บ จิตก็เพ่งเลย ถ้าเราเคยทำกรรมฐาน อย่างถ้าเราเพ่งไฟ เพ่งพระพุทธรูปจนชิน ทันทีที่คิดเรื่องการปฏิบัติ จิตมันจะถลำลงไปเพ่งสิ่งที่มันเห็น มันถลำลงไป มันเคยชินอย่างไร มันก็จะไหลไปอย่างนั้น ถ้าชินจนกระทั่งดูไม่ออก นั่นล่ะมีปัญหา ทีนี้จะดูให้ออก ก็ดูตั้งแต่ตอนที่มันยังไม่ทันจะปรุง ตอนตื่นปุ๊บนี่ยังไม่ทันปรุง ตรงนี้เป็นจุดเป็นนาทีทองเลยที่จะสังเกตสิ่งที่เราติดข้องอยู่ ฉะนั้นการปฏิบัติต้องเริ่มตั้งแต่ตื่นนอน
ปฏิบัติรู้ทันจิต รู้ทันใจของตัวเองไป ดูเรื่อยๆ ไป ถึงวันหนึ่งเราก็จะชนะมาร มารตัวแรกคือตัวกิเลสมาร ถ้ามองลงไปในปฏิจจสมุปบาท ในปฏิจจสมุปบาทมีมารทั้ง 5 ตัวอยู่ คือในตัวเราเองนี่เองมีมารครบ ตัวอวิชชาเป็นปัจจัยของสังขาร ตัวอวิชชานั้นเป็นตัวกิเลสมาร สังขารคือความปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงความว่าง ปรุงการไม่ปรุงอะไรอย่างนี้ 3 อย่างนี้เรียก ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ตัวนี้คืออภิสังขารมาร ตัวปรุง มีกิเลส มีอวิชชาอยู่ กิเลสมารก็ปรุงสังขารขึ้นมา ทำให้แต่งเรื่องดีๆ แต่งเรื่องชั่วๆ หรือพยายามจะไม่แต่ง นี่คือตัวอภิสังขารมารตัวนี้ตัวร้าย อย่างเรานักปฏิบัติ เราคิดว่าต้องดี ตรงที่คิดว่าจะต้องทำให้ดี นั่นหล่ะพยายามปรุงปุญญาภิสังขารขึ้นมา มันก็เป็นมารตัวหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าปรุงดีก็ดีกว่าปรุงชั่ว ปรุงชั่วก็เป็นมารเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราไปปรุงดีนี่ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาจิตใจต่อไปได้ ถ้าปรุงชั่วไม่พัฒนาแล้ว ลำบาก
สังขารเป็นปัจจัยของวิญญาณ ตัววิญญาณนั่นล่ะตัวเทวปุตตมาร ตัวนี้เนรมิตรูปนาม ขันธ์ 5 ขึ้นมาได้ วิญญาณ เป็นปัจจัยของนามรูป วิญญาณมันก็คือตัวเทวปุตตมารนี่เอง เป็นปัจจัยของนามรูป นามรูปคือตัวขันธมาร นี้มันทำงานไป พอมีรูปมีนาม จิตก็ไปปรุงแต่ง ไปยึดถือ ไปทำงาน ตัวทุกข์มันก็เกิด ตัวทุกข์ ชาติ ชรา มรณะ ตัวนี้คือตัวมัจจุมาร ทำลายเราในจุดสุดท้าย ภพที่มีอยู่ มันทุกข์มันทนอยู่ต่อไปไม่ได้ มันก็แตกสลายไป หน้าที่ของมัจจุมารทำให้ตาย ไม่ได้ตายเฉพาะร่างกายนี้ เกิดมาแล้วหลายสิบปีตาย ไม่จำเป็นหรอก มันปรุงภพภายในจิตใจเรานี่ รู้ไม่ทันมันก็ตายแล้ว ภพที่ดีก็ตายไป เกิดภพที่ชั่ว ภพที่ชั่วตายไป ก็เกิดภพอย่างอื่น วุ่นวาย
กว่าจะได้เป็นมนุษย์ กว่าจะได้พบพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เรื่องง่าย
เฝ้ารู้เฝ้าดู มันอยู่ในตัวเรานี้ทั้งหมด ธรรมะ ฝึกมากๆเรียนรู้มากๆ จะรู้คุณค่าของพระพุทธศาสนา อย่างพวกเราอยู่ในวัด ในวัดสวนสันติธรรม สัตว์เยอะ มีนก มีสัตว์นานาชนิดเลย เยอะแยะไปหมดเลย เช้าๆมาก็เสียงนก เสียงไก่ เสียงอะไรระงมไปหมดจนถึงกลางค่ำกลางคืน ไม่ขาดจากเสียงของสัตว์ ไปดูสัตว์ โอมันน่าสงสาร จากสัตว์นี่มันทำกรรมอะไรไว้หนอ มันมาเป็นสัตว์ สังเกตไปๆ จิตของสัตว์นี่มันยืนพื้นด้วยโมหะ มันหลง ฉะนั้นจิตหลงๆ ตายไปมาเป็นสัตว์
จากคนไปเป็นสัตว์นี่ไม่ยากเลย แต่จากสัตว์นี่กว่าจะขึ้นมาเป็นคนนี่ยากมาก เพราะสัตว์มันมีโมหะเยอะ อย่างเราดูมันน่ารักน่าชังอะไร จริงๆ มันน่าสงสาร สัตว์ส่วนใหญ่ตายแล้วไปอบาย เพราะมันประกอบด้วยโมหะ ตกนรกบ้าง อะไรบ้าง กว่าจะพัฒนาการขึ้นมาเป็นคนได้นี่ ลำบากมาก เป็นคนแล้วนี่กว่าจะได้เจอพระพุทธศาสนา ก็ลำบาก เจอพระพุทธศาสนาแล้ว จะมีศรัทธาที่จะเข้ามาฟังมาเรียนก็ยากอีก มีศรัทธาเข้ามาฟังมาเรียน ลงมือปฏิบัติแล้วจะปฏิบัติได้ถูก ก็ยากอีก ปฏิบัติถูกแล้วจะให้เกิดมรรคเกิดผล ก็ยากอีก เพราะฉะนั้นอย่าไปปล่อยตัวให้ตกต่ำลงไป ตกต่ำลงไปเป็นสัตว์เป็นอะไร ลำบาก เวียนอยู่ในอบายนาน ครูบาอาจารย์ท่านก็เคยเล่า นี่หลวงพ่อไม่ได้ฟังเองหรอก ท่านสิ้นไปก่อนหลวงพ่อจะเกิดเสียอีก ท่านบอกท่านเคยเกิดเป็นหมาตั้ง 500 ชาติ ซ้ำๆๆ อยู่อย่างนั้น กว่าจะค่อยกระเถิบๆ ขึ้นมา เวลาลง ลงเร็ว
อย่างท่านพระอานนท์ ในประวัติท่าน ท่านเคยทำบุญกับพระที่ออกจากนิโรธสมาบัติ แล้วก็ตั้งความปรารถนา ขอให้มีรูปงาม เกิดมาเลยรูปงามมากทุกชาติเลย มีรูปงาม กิเลสมันยังไม่ได้ลดได้ละ ก็ไปทำผิดศีล ไปเป็นชู้กับเขาอะไรอย่างนี้ ตายไปตกนรกอยู่ตั้งนาน จากนรกขึ้นมาเป็นอสูรกาย มาเป็นเปรต สุดท้ายมาเป็นสัตว์เดรัจฉาน ท่านเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นวัว เกิดเป็นวัวรูปหล่อ เพราะบุญที่อธิษฐานขอให้รูปงามยังให้ผลอยู่ ท่านเป็นวัวรูปหล่อ เวลาเทียมเกวียนไปไหนมาไหน วัวสาวๆ คอยวิ่งตาม เจ้าของก็รำคาญ จับตอนเลย ท่านบอกท่านถูกตอนอยู่นับชาติไม่ถูกเลย เป็นอย่างนั้น มาเป็นคน ท่านก็เป็นกะเทย ท่านบอกท่านเป็นกะเทยอยู่อีกตั้งนาน กว่าจะกลับมาเป็นคนสมบูรณ์เหมือนเดิม วนเวียนไปตั้งนานแสนนานเพื่อจะกลับมาอยู่ที่จุดเดิม ได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นี้บุญของท่านสะสมมาพอ ได้เจอพระพุทธเจ้า ได้ปฏิบัติอะไรอย่างนี้ ท่านพ้นไป
กว่าจะได้เป็นมนุษย์ไม่ใช่เรื่องง่าย การเป็นมนุษย์เป็นของยาก เป็นมนุษย์แล้วจะอยู่ในยุคที่มีพระพุทธศาสนาก็ยาก นานๆจะเกิดพระพุทธศาสนาสักครั้งหนึ่ง ในเวลาอันยาวนาน อย่างตลอดเวลา 91 กัปที่ผ่านมา มีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งชื่อพระวิปัสสี แล้วก็เว้นไป 60 กัปมีพระพุทธเจ้าอีก 2 องค์ ชื่อพระสิกขีกับพระเวสสภู แล้วเว้นมา 30 กัปถึงมาถึงกัปของเรานี้ เพราะฉะนั้นกว่าที่จะมีพระพุทธเจ้าสักองค์หนึ่งๆ นี่นานมากเลย
แล้วธรรมะของพระพุทธเจ้านี่อยู่ไม่นาน จะอยู่ไม่นาน เพราะมันฝืนกระแสโลกมาก โลกมันจะไหลตามกิเลส ธรรมะของท่านมันฝืนโลก ฝืนกิเลส ฝืนความเคยชินของสัตว์ ก็จะดำรงอยู่ไม่นาน อย่างพระพุทธเจ้าเก่าๆ พระสิกขี พระเวสสภูอะไรพวกนี้ พอท่านปรินิพพานแล้ว พระรุ่นหลังไม่สามารถสืบทอดศาสนาต่อได้แล้ว ศาสนาก็สิ้นไปพร้อมๆ กับสาวกรุ่นที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ มายุคเรา พระพุทธเจ้าท่านมีปัญญามาก มีความสามารถมาก ท่านสอนจนศาสนาเราสืบทอดมาตั้งหลาย generations แล้ว แต่ถ้าคิดดูก็แค่ 2,000 กว่าปี ช่วงเวลาที่ไม่มีพุทธศาสนานี่มากกว่า นับไม่ถ้วน ฉะนั้นการที่เราจะเกิดมา ในยุคที่ยังมีพระพุทธศาสนานี่เป็นเรื่องยาก
เรามาดูสิ ในบ้านในเมืองเราหรือในโลกนี้มีคนตั้งหลายพันล้าน คนที่ได้เคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามีเท่าไหร่ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของคนส่วนน้อยมาตลอด เพราะเป็นศาสนาที่พึ่งตัวเอง ไม่ได้พึ่งสิ่งอื่น ไม่ได้พึ่งเทวดาพึ่งอะไร การพึ่งตัวเองนั้นคนส่วนใหญ่ไม่อยากทำ อยากจะพึ่งคนอื่น ฉะนั้นการที่จะต้องอดทน พากเพียร ร่ำเรียนอะไรนี่ทำไม่ไหว ที่ทำไม่ไหวเพราะไม่อยากจะทำ พวกหนึ่งไม่มีโอกาสเจอพระพุทธศาสนาเลย อย่างคนในหลายๆประเทศนี่ไม่รู้จักพุทธศาสนา คนในเมืองไทยรู้จักพุทธศาสนา เคยเห็น เห็นพระ ธรรมะก็มีตามหนังสือ ตามโทรทัศน์แต่ก่อนก็มีธรรมะ แต่ไม่สนใจ นี่ขนาดเจอพระพุทธศาสนาแล้ว ซึ่งเจอได้ยาก วันเวลาที่มีพระพุทธศาสนามีน้อย เมื่อเจอแล้วก็ยังไม่เอา ไม่สนใจจะศึกษาเล่าเรียน
ศึกษาอยากสนใจ อยากศึกษาเล่าเรียนนี่ ไม่รู้จะเรียนอย่างไร นี้ก็เป็นปัญหา ขาดครูบาอาจารย์ที่เชื่อถือได้ก็ลำบาก เราจะเห็นหลายๆคนอยากปฏิบัติเข้าวัด เข้าสำนักปฏิบัติที่โน่นที่นี่ ภาวนาแล้วบ้าไปตั้งเยอะตั้งแยะ เพี้ยนไปตั้งเยอะตั้งแยะ นี่ขนาดได้เกิดในยุคที่มีพระพุทธศาสนา มีศรัทธาที่จะปฏิบัติ เข้ามาเล่าเรียน ยังไม่ได้ครูบาอาจารย์ที่สอนได้ถูกต้อง ฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่าย หรือเจอครูบาอาจารย์แล้ว ที่จะลงมือปฏิบัติตามจนกระทั่งได้ผล ลดละกิเลสได้ พ้นทุกข์ได้ เหลือนิดเดียว จากคนที่ปฏิบัติจำนวนมาก คนที่ได้ธรรมะก็มีจำนวนน้อย
เพราะฉะนั้นมันยากแสนยากในเส้นทางนี้ ยากตั้งแต่จะได้เป็นมนุษย์หรือเปล่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้เป็นมนุษย์ ต้องมีศีล อย่างน้อยมีศีล 5 เป็นมนุษย์นี่บางทีเป็นมนุษย์ซึ่งมีโมหะมาก เขาเรียกเกิดมาเป็น ทวิเหตุก เกิดด้วยอโลภะ อโทสะ แต่ว่าพื้นจิตนี่มีโมหะเยอะ พวกนี้ถึงจะมีศรัทธาแค่ไหน ถึงจะเจอครูบาอาจารย์ดีแค่ไหน พวกนี้ก็เรียนไม่สำเร็จ เพราะจิตมันเต็มไปด้วยโมหะ ลงมือภาวนาก็หลับเลยอะไรอย่างนี้ หรือฟุ้งซ่านไปเลย ไม่สามารถรวมจิตรวมใจให้ตั้งมั่นขึ้นมาได้ ในตำราเขาสอนบอก ถ้าพวกทวิเหตุกนี่เกิดด้วยเหตุ 2 จะเข้าฌานไม่ได้ มารุ่นพวกเรา ดูสิคนเข้าฌานได้มีสักกี่คน แต่มันไม่จำเป็นว่าต้องเข้าฌานหรอก ถ้าสามารถเจริญวิปัสสนาได้นี่แสดงว่าเกิดด้วยเหตุ 3 เกิดด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ ฉะนั้นถ้าเราสะสมโมหะมากๆ หรือซึม หลง ฟุ้งซ่านตลอดเวลา ถึงเจอพระพุทธเจ้าเองก็ไม่สำเร็จหรอก ใช้ไม่ได้
เห็นไหมมันยาก มันมีเงื่อนไขมากมายเลยกว่าเราจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ที่พร้อมจะเรียนธรรมะ เราพร้อมแล้ว ในยุคนั้นไม่มีธรรมะให้เรียนก็ยุ่งไปอีก ในขณะนี้ ในยุคนี้ ธรรมะของพระพุทธเจ้ายังดำรงอยู่ เราบอกว่าพระพุทธเจ้าไม่อยู่แล้ว ท่านให้ใช้พระธรรม พระวินัยเป็นศาสดาแทน เราก็ศึกษาพระธรรม พระวินัยดู ธรรมะมันก็ยากเหมือนกัน ตอนที่หลวงพ่อภาวนานี่ เราเป็นเด็กๆ ท่านพ่อลีท่านสอนให้หายใจเข้าพุทออกโธ เราก็ทำแต่เราไปต่อไม่เป็น ก็พยายามช่วยตัวเอง ตอนนั้นยังไม่เจอหลวงปู่ดูลย์ พยายามช่วยตัวเองด้วยการไปนั่งอ่านพระไตรปิฎก ตัวพระไตรปิฎกมี 45 เล่ม ตอนนั้นชุดนั้นมี 45 เล่ม บางรุ่นเขาก็พิมพ์ตั้ง 80 เล่ม นั่งอ่านอยู่นั่นล่ะ อ่านๆๆ อ่านรอบหนึ่งไม่รู้เรื่อง รอบที่ 2 รอบที่ 3 อ่านหลายรอบ จับหลักไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะเริ่มภาวนาอย่างไร ตำราเต็มตู้เลย แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน
กุญแจของการภาวนา
มาเจอหลวงปู่ดูลย์ เจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านชี้เข้ามาที่จิต ให้เริ่มต้นการปฏิบัติที่จิตตัวเองนั่นล่ะ ไม่ได้เริ่มที่อื่นหรอก ตรงนี้คล้ายๆ มีธรรมะ เปรียบเทียบธรรมะเหมือนพระไตรปิฎกเต็มตู้ แต่เราเปิดตู้ไม่ได้ เราไม่มีกุญแจ หลวงปู่ดูลย์ท่านให้กุญแจ กุญแจของการภาวนาก็คือจิตนั่นเอง ท่านให้ฝึกที่จิตที่ใจตัวเอง
การฝึกจิตมี 2 อย่าง หนึ่งฝึกจิตให้มันมีความตั้งมั่น มีกำลัง มีเรี่ยวมีแรง อันนี้เป็นเรื่องของสมถกรรมฐาน อีกอย่างหนึ่งคือฝึกให้จิตมีปัญญาด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน อย่างหลวงพ่อนั่งสมาธิมาแต่เด็กมันก็เคยชิน พอท่านบอกให้ดูจิต เราก็ไปดูเพื่อจะให้จิตมันนิ่ง ให้ว่าง จากที่เรียนจากท่าน 3 เดือน มาทำจิตให้นิ่งๆ ว่างๆ อยู่ ไปส่งการบ้าน ท่านบอกว่าผิดแล้ว ท่านให้ไปดูจิต จิตมีธรรมชาติ คิด นึก ปรุง แต่ง เราไปฝึกเสียจนมันนิ่งๆ ว่างๆ ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ผิดแล้ว ท่านว่าอย่างนี้ผิดแล้ว ไปทำใหม่ไปดูใหม่ ท่านบอกไม่ได้ไปทำ ท่านบอก ผิดแล้ว ไปดูใหม่ กลับมาดู
ขนาดได้กุญแจมา ยังไขไม่เป็นเลย ได้กุญแจมาแล้วก็คือเรียนเข้ามาที่จิตนี้ล่ะ แล้วจะเข้าใจพระไตรปิฎกทั้งหมด หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกเลยว่า ธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ก็คือสิ่งที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนี่ ธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์นี่ ออกมาจากจิตที่บริสุทธิ์เท่านั้นเอง จิตที่บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์สาวกรุ่นพุทธกาล เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎก มีทั้งคำสอนของพระพุทธเจ้า มีทั้งคำสอนของพระสาวกในรุ่นนั้น ไม่ได้มีแต่ของพระพุทธเจ้าล้วนๆ แต่ว่าถามว่าถูกต้องไหม ถูกต้องเพราะท่านเหล่านั้นท่านภาวนาพ้นทุกข์ไปหมดแล้ว อย่างคนไปวิจารณ์ คำสอนเชื่อได้แต่ของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์สาวกอะไรก็ไม่เอาอะไรอย่างนี้ ไปวิจารณ์สิ่งที่เกินภูมิ ตัวเองยังทำไม่ได้อย่างท่าน ท่านพ้นทุกข์กันไปหมดแล้ว เราไม่พ้น เรายังมีกิเลสอะไรอย่างนี้ เราไปว่าของท่านไม่ดี ไม่ได้ ฉะนั้นธรรมะมีตั้งเยอะตั้งแยะ
รู้แล้วว่าจะต้องเรียนลงที่จิต เรียกว่าได้กุญแจมาแล้ว ได้กุญแจมาแล้วยังไขไม่เป็นอีก เปิดตู้ไม่เป็น ครูบาอาจารย์ท่านเคยสอนว่าให้ไปดูเอา ให้ไปเห็นเอา ดูจิตเอา เห็นจิตเอา เห็นมันทำงาน เห็นมันแสดงไตรลักษณ์ เลยเฝ้ารู้เฝ้าดู ก็จะเห็นจิตมันแสดงไตรลักษณ์ตลอดเวลา พอตามองเห็น ตาเห็นรูป รูปนี้น่าพอใจ จิตก็ยินดีขึ้นมา ยินดีติดอกติดใจ อยากให้รูปนี้อยู่นานๆ พอรูปนี้หายไปก็เสียดาย เศร้าโศก อยากให้รูปนั้นกลับมา อยากให้ได้รูปอันนั้นมา ตรงที่อยากให้ได้มา นี่เรียกว่ากามตัณหา ตรงที่อยากให้มันอยู่ถาวร เรียกว่าภวตัณหา
บางทีเห็นรูปที่ไม่พอใจ อยากให้มันหมดไป สิ้นไป ตรงที่อยากให้หมดไปสิ้นไปเรียกวิภวตัณหา มีตัณหาเกิดขึ้น ใจก็จะดิ้นรน ตรงนี้อภิสังขารมารจะทำงานได้เต็มที่เลย ตรงที่ใจมันดิ้นนั่นล่ะ ไปตามอำนาจของกิเลส ตัณหาคือตัวกิเลส ก็ผลักดันให้เกิดภพ ดิ้นรน กิเลสมารก็ผลักดันให้อภิสังขารมารทำงาน สุดท้ายก็จมลงไปในความทุกข์ ตายไปกับความทุกข์ ภพอันนั้นภพเล็กๆ นั้นตายไปในความทุกข์
เราเฝ้ารู้เฝ้าดูจิตใจของเรานี้ มันเป็นกุญแจสำคัญที่เราจะไขตู้พระไตรปิฎก แล้วก็รู้วิธีที่จะไขตู้อันนี้ ก็คือรู้ รู้อย่างที่จิตใจมันเป็น พอตามองเห็นรูป จิตยินดียินร้าย รู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตยินดียินร้าย รู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด จิตเกิดความยินดียินร้ายเกิดขึ้น มีสติรู้ทันไป เพราะฉะนั้นเราเฝ้ารู้ทันจิตใจของตัวเองไป เดี๋ยวมันก็สุข เดี๋ยวมันก็ทุกข์ เดี๋ยวมันก็โลภ เดี๋ยวมันก็โกรธ เดี๋ยวมันก็หลง เดี๋ยวมันฟุ้งซ่าน เดี๋ยวมันหดหู่ นี่มันหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
เฝ้ารู้เฝ้าดูนานๆ ไป เราอย่าไปแทรกแซง บางคนดูอย่างนี้ ก็เข้าใจธรรมะขึ้นมา บางคนจิตมันชอบของละเอียด ชอบรู้อะไรลึกซึ้งมากมาย ตาเห็นรูป แทนที่จะเห็นว่าจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว มันยังไม่เห็นตรงนั้น มันจะเห็นว่าพอมีตากระทบรูป มีความสะเทือนเกิดขึ้นกลางอก มันไหวสะเทือนขึ้นมากลางอก หูได้ยินเสียง ก็เห็นความไหวสะเทือนเกิดขึ้นกลางอก จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด ก็เกิดความไหวสะเทือนเกิดขึ้นในอก ขึ้นอยู่ตรงนี้ สะเทือนขึ้นมา
เฝ้ารู้เฝ้าดูไป อันนี้เป็นพวกที่ปฏิบัติอย่างละเอียด ก็จะเห็นเลยว่าตรงที่จิตมันกระทบอารมณ์แล้วมันสะเทือนขึ้นมานี่ มันทุกข์ ไม่มีอะไรเลย กระทบอารมณ์ที่ดี จิตก็กระเทือน กระทบอารมณ์ที่เลว จิตก็กระเทือน ที่จริงตัวนี้ไม่ใช่จิตหรอก ตัวนี้เป็นตัวสังขาร เป็นความปรุงของจิต มันกระเทือนขึ้นมา ไหวขึ้นมา หมุนติ้วๆๆ ขึ้นมา วัฏฏะสงสารหมุนอยู่ตรงนี้
อันนี้พวกที่ภาวนาจิตมีสมาธิมากๆ แล้วมาดูจิตดูใจ มันจะเห็นมันไหวอยู่กลางอกนี่ บางคนเห็นมันไหวกระเพื่อมๆ บางคนเห็นมันหมุนติ้วๆๆๆอยู่ ก็แล้วแต่จะเห็น แต่ถ้าเห็นแบบนี้มันก็จะเห็นจิตนี้มันทุกข์ จะรู้สึกเลย จิตนี้มันกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบทีไร ไม่ว่าอารมณ์จะดี หรืออารมณ์จะเลว จิตก็กระเทือน ตรงที่จิตกระเทือน จิตเป็นทุกข์ มันจะเห็น ถ้าไม่เห็นตรงนี้ ก็ไม่เป็นไร ก็เห็นแค่ว่าจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตไม่สุขไม่ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตไม่โลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธ จิตไม่โกรธ จิตหลง จิตไม่หลงเกิดแล้วก็ดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดแล้วก็ดับ จิตหดหู่เกิดแล้วก็ดับ ดูอย่างนี้ก็ได้ ดูอย่างนี้ หยาบหน่อย
ถ้าดูจนเห็นความไหวในอก อันนี้ดูละเอียด ธรรมะที่หยาบหรือธรรมะที่ละเอียดสอนธรรมะอันเดียวกัน คือสอนไตรลักษณ์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นว่า เราเห็นตรงนี้แล้วทุกคนจะต้องเห็น บางคนไม่เห็นหรอก บางคนเห็นถ้าทำสมาธิเยอะๆ มันจะเห็น พอทำสมาธิเยอะๆ แล้วมันเห็นจิตมันทำงานขึ้นมา สังขารมันปรุง มันจะเห็นทุกข์ เพราะฉะนั้นมันจะพ้นไป
พวกที่ชำนาญในสมาธิ เก่งในเรื่องของสมาธินี่ เวลาหลุดพ้นจะหลุดพ้นด้วยการเห็นทุกข์ เรียกว่าอัปปณิหิตวิโมกข์ มันมีเหตุมีผลทั้งสิ้น ในตำราเขาก็พูด วิโมกข์หรือวิมุตติ มี 3 อนิมิตตวิโมกข์ หรืออนิมิตตวิมุต อัปปณิหิต แล้วก็สุญญต สุญญตนี่พวกปัญญากล้า มันจะเห็นสุญญตา เห็นว่างไป นี่พวกทรงสมาธิก็จะเห็นทุกข์ มันทุกข์อย่างไร มันก็ทุกข์อย่างนี้ล่ะ มันหมุนติ้วๆๆๆ ไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย น่าสงสาร
เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งเราก็จะพ้นจากบ่วงของมาร เครื่องล่อของมารก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย หรือกามธรรม คือเรื่องราวเกี่ยวกับกามคุณอารมณ์ เป็นเรื่องที่คิดเอา นั่นก็เป็นกามธรรม เป็นกามเหมือนกัน ก็ต้องอดทน ไหนๆชาตินี้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่บ้าใบ้บอดหนวก มนุษย์บางคนเกิดมา ไม่ได้เกิดด้วยจิตที่เป็นกุศลเต็มร้อย เกิดด้วยจิตซึ่งเป็นกุศลที่อ่อนๆ สันตีรณ เป็นวิบากอย่างหนึ่ง ละเอียดเกินไปเดี๋ยวเวียนหัว
เพราะฉะนั้นบางคนเกิดมาบ้าใบ้บอดหนวกไป บางคนเกิดมาไม่บ้าใบ้บอดหนวกแต่ไม่มีปัญญา หลงลูกเดียวเลย พวกหลงโลกทั้งหลายนี้ล่ะ เกิดมาโดยไม่ประกอบด้วยอโมหะ ก็หลงโลกเพลินๆ อยู่กับโลก เดี๋ยวก็กลับลงไปอีก เวียนอยู่อย่างนั้น ขึ้นๆ ลงๆ อยู่อย่างนั้น แหวกวัฏฏะออกไปไม่ได้ เพราะว่าหลงโลก ติดโลกอยู่
พวกเราไม่ได้หลงโลกอย่างนั้น เราศรัทธา เราได้พบพุทธศาสนา เรามีศรัทธาที่จะปฏิบัติ เราได้ฟังธรรมภาคปฏิบัติ ก็เหลืออันเดียว ลงมือปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติตั้งแต่ตื่น ตื่นนอนมาพอคิดถึงการปฏิบัติปุ๊บ จิตเริ่มทำงานแล้ว รู้ทันเลยส่วนพวกที่ไม่ได้ชอบปฏิบัติจริงๆ ตื่นมามันจะไปคิดเรื่องอื่น ไม่คิดเรื่องปฏิบัติหรอก อันนี้เราจะวัดตัวเองได้เลยว่า เราสนใจการปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน ถ้าตื่นมาคิด “จะปฏิบัติอย่างไรดีวันนี้” อย่างนี้เคยชินที่จะปฏิบัติแล้ว ถ้าตื่นมาแล้วคิดเรื่องอื่นไปเรื่อยๆ พวกนี้ยังไม่เคยชินที่จะปฏิบัติ ยังอีกนาน ตรงที่เราตื่นมาแล้วเราคิดถึงการปฏิบัติ มันเคยปฏิบัติผิดอย่างไรมันจะไหลไปตรงนั้น ต้องใช้ความสังเกตอีก ลีลามันเยอะ ต้องใช้ความสังเกตเอา กิเลสมันทนสติทนปัญญาไม่ได้หรอก ซักฟอกมันเข้าไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็ถูกล้างออกไปจากจิตจากใจ หรือถ้ายอมมันจมอยู่กับมันก็ไม่มีทางรอดหรอก ไปไม่รอด เป็นคนแล้วที่เคยภาวนากลับไปเป็นสัตว์ก็มี อย่านึกว่าภาวนาแล้วไม่เป็นสัตว์แล้ว
“วัฏฏะน่ากลัว เวลาลงนี่ลงง่าย พลาดไปชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง”
เมื่อก่อนเคยเล่าให้ฟัง หลวงพ่อมีหมาตัวหนึ่งไปเก็บมาจากจุฬาฯเอามาเลี้ยงไว้ หมาตัวนี้ใจดีมีศีลหลายข้อ หมาตัวนี้ไม่กัด ไม่ทำร้ายกระทั่งแมวเข้ามาในบ้าน ก็ไม่ไล่ ไม่กัด บางทีมีสัตว์อื่น มีนก มีอะไรอย่างนี้ หรือแมวอื่นมากินอาหารในจานของมัน มันก็ปล่อยให้กิน พอเขาไปแล้ว มันถึงจะลงมือกิน นี่นอกจากมันไม่ทำร้ายสัตว์อื่น มันยังรู้จักทำทาน สละ หมาตัวนี้ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่ค่อยเห่า หมาบางตัวเห่าเก่งใช่ไหม เห็นใบไม้ไหว มันก็เห่าแล้ว เห็นพระจันทร์สว่างก็เห่าแล้ว หอนเลยบางที ทำให้คนกลัวเลย หมาไม่กลัวแต่คนกลัว เพราะหมาไม่ได้คิดเรื่องผี คนคิด หมาตัวนี้ไม่เห่าไม่หอน เงียบๆ ยกเว้นจำเป็นจริงๆ อย่างมีคนบุกเข้ามาในบ้านอะไรอย่างนี้ มันจะเห่าเป็นสัญญาณเตือนให้เรารู้ เพราะฉะนั้นหมาตัวนี้ ไม่มีมุสาวาท ไม่มีปาณาติบาต ไม่มีมุสาวาท แล้วไม่ขโมย ไม่ขโมยของ ไม่ขโมยของอะไรเลย อาหารตั้งไว้ อยากกินน้ำลายไหลก็ไม่เอา เราต้องเอามาให้ใส่จานของเขา เขาถึงจะกิน เห็นไหมของก็ไม่ขโมย มีศีล มีอทินนาทาน อทินนาทานาเวรมณี นี่มียกเว้น
แล้วก็หมาตัวนี้ไม่เคยกินเหล้า ไม่เคยสูบบุหรี่ด้วย ไม่สูบฝิ่น ไม่สูบกัญชา หมาตัวนี้ไม่ผิดศีลข้อ 5 ส่วนศีลข้อ 3 รับรองไม่ได้ เพราะไม่ได้เห็นตลอด มันไปยุ่งกับสามีของหมาตัวอื่นหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ไม่รู้ เพราะหมามันไม่มีระบบผัวเดียวเมียเดียวอะไรอย่างนี้ ถ้าสัตว์บางชนิดมี อย่างนกบางอย่างนี่มันผัวเดียวเมียเดียว แต่หมามันไม่เป็น หมาตัวนี้เราไม่รู้หรอก บางทีมันออกนอกบ้านไป มันไปท้องกับใครมา เราไม่รู้ มันเคยออกลูกเหมือนกัน หมาตัวนี้มันก็อยู่มาจนแก่ แล้วเสร็จแล้วตอนมันจะตาย มันนอนตาแป๋วเลย นอน สติดี เราเห็นแล้ว โอน่านับถือแฮะ สติดี ร่างกายมีทุกขเวทนาตามธรรมชาติ เวลาจะตาย ร่างกายมีทุกขเวทนา แต่มันมีสติ มันรู้เนื้อรู้ตัว ตายไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว
หลวงพ่อก็มาเดาๆเอาว่า ทำไมหมามันทำได้ มันไม่ได้เรียนกรรมฐานเสียหน่อยเลย ทำไมมันมีสติได้ ทำไมมันรู้จักรักษาศีล มันมีได้เพราะมันเคยมี นี่จะคิดอย่างนี้จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ มันคงเคยเป็นคน เป็นคนซึ่งมีศีลมีธรรม แต่ตอนตายพลาด ตายไปด้วยจิตที่เป็นอกุศล มาเกิดเป็นหมา แต่หมาตัวนี้เป็นสัตว์อยู่ไม่นาน เพราะของเก่าที่เคยภาวนามาดีอะไรอย่างนี้ มันก็ทำให้ตายแล้วก็น่าจะไปดี ตายไปด้วยความมีสติ แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นอย่างนั้นหรอก ส่วนใหญ่ตายไปด้วยโมหะอีก ก็กลับไปเป็นสัตว์อย่างเดิมอีก
ฉะนั้นวัฏฏะน่ากลัว เวลาลงนี่ลงง่าย พลาดไปชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง ตรงที่จุติจิตมันเกิด ก่อนจุติจิตเกิดมันจะมีช่วงหนึ่ง มันจะมีนิมิตเกิดขึ้น ช่วงนี้ล่ะเราเลือกไม่ได้ว่านิมิตดีหรือนิมิตเลวจะเกิด มันเหมือนเราเลือกความฝันไม่ได้ ตอนจะตายมันจะเหมือนฝันขึ้นมาก่อน จะมีนิมิตเกิดขึ้น แล้วจุติจิตคือจิตดวงสุดท้ายก็ดับลง เกิดจิตดวงใหม่ขึ้นมาในภพใหม่ ก็รับสืบช่วงบุญกรรม สภาวะก่อนที่มันจะตายมันเป็นอย่างไร เกิดมาใหม่ มันเป็นอย่างนั้นอีก ต้องมาพัฒนาเอา กว่าจะขึ้นมาได้ ไม่ใช่ง่าย เงื่อนไขเยอะแยะเลย กว่าจะได้เป็นคนที่สมบูรณ์ กว่าจะเจอพุทธศาสนา กว่าจะมีศรัทธา กว่าจะจับกุญแจของการเล่าเรียนได้ กว่าจะปฏิบัติแล้วเอาจริงเอาจังจนพ้นได้ เงื่อนไขมันมีเยอะ มีคำว่า ต้องอย่างนี้ๆๆ มีเงื่อนไขมากมาย กว่าจะพ้นทุกข์ได้คนหนึ่งๆ เพราะฉะนั้นคนที่พ้นทุกข์ได้จริงๆ ก็เลยมีไม่มาก กระทั่งชาวพุทธจริงๆ ยังมีไม่มากเลย ชาวพุทธที่ลงมือจริงๆ ยิ่งน้อยใหญ่
ชาวพุทธเราเป็นคนส่วนน้อยอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่ในเมืองไทยอย่างนี้บอกว่าเป็นพุทธๆ เป็นแต่ปาก ถ้ายังกินเหล้าอยู่ มันก็ไม่ใช่หรอก ยังทำอะไรไม่ถูกต้อง มันก็ไม่ใช่หรอก นับถือพระพุทธเจ้า ถามว่านับถืออย่างไร เพราะตระเวนไปไหว้พระพุทธรูปวัดโน้นวัดนี้ อันนี้ไม่ได้นับถือพระพุทธเจ้า อันนี้นับถือพระแบบเทวรูป ไปขอโชคขอลาภอะไรอย่างนี้ เขาก็ยังไม่ใช่ ไม่ใช่ชาวพุทธแท้ๆ หรอก ยังมีความไม่เข้าใจ เขาไม่เข้าใจอะไร ไม่เข้าใจกฎแห่งกรรม อย่างไปขอโชคลาภอย่างนี้ ขอกันได้หรือ ถ้าขอได้ ในโลกนี้ไม่มีคนจนหรอก ไม่ต้องเรียนเศรษฐศาสตร์ วิชานี้ไม่จำเป็นเลย เพราะทุกคนไปขอจุดธูปขอนางตะเคียนแล้วรวยทุกคน ไม่ต้องไปเรียนเศรษฐศาสตร์อะไรอย่างนี้ แต่มันเป็นไปไม่ได้
ชาวพุทธต้องมีเหตุมีผล อย่างมงาย เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม เชื่อว่าการกระทำมีผล เรียกว่ากิริยา การกระทำนี้มีผล แล้วมีผลเป็นอย่างไร มีผลไปตามกฎแห่งกรรม เป็นกรรมวาที เป็นกิริยวาที แล้วก็เชื่อมั่นว่า เราจะต้องเพียรด้วยตัวของเราเอง มีวิริยวาที นี่เราถึงจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงได้ ฉะนั้นที่ลงทะเบียนเป็นชาวพุทธๆ มีน้อยหรอกที่เป็นชาวพุทธจริงๆ ถ้าเป็นชาวพุทธแล้ว ที่จะลงมือศึกษา ลงมือปฏิบัติ ทำให้สมควรแก่ธรรม ก็น้อยมากอีก
ฉะนั้นในเมื่อเรามีโอกาสแล้ว อย่าทิ้งโอกาสนี้ให้สูญเปล่าไป วันๆ หมกมุ่นแต่เรื่องของโลก เรื่องผัวเรื่องเมีย เรื่องโน้นเรื่องนี้อะไรอย่างนี้ เรื่องแย่งชิงทรัพย์สมบัติ แย่งมรดก เรื่องอะไรอย่างนี้ เรารู้สึกเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตเหลือเกิน มีเงินเยอะๆ มันกินได้หมดไหม บางคนมีเงินเป็นหมื่นล้านอะไรอย่างนี้ กินไม่หมด แล้วทำไมอยาก อยากไม่รู้จักหยุด อยากไปเรื่อย ไม่มีเวลาที่จะพัฒนาใจตัวเอง บางทีก็ห่วงคนอื่น ไม่ห่วงตัวเองห่วงคนอื่น ห่วงลูกห่วงเมีย ห่วงโน่นห่วงนี่อะไรไปเรื่อยๆ บางทีหวง ไม่ใช่ห่วงอย่างเดียว มีหวงด้วย ถ้าหวงนี่ทุกข์แล้วทุกข์หนักเลย ห่วงก็ทุกข์อยู่แล้ว น่าสงสาร จริงๆสัตว์โลกน่าสงสารมากๆเลย พระพุทธเจ้าท่านก็พยายามบอก ครูบาอาจารย์ท่านก็พยายามบอกเส้นทางที่จะเอาตัวรอด คนที่ตัดใจให้เด็ดขาด ทิ้งเครื่องพะรุงพะรังที่จะเอาตัวให้รอดจริงๆก็มีไม่มากเท่าไหร่ บางคนมีโอกาสดีแล้วก็ยังย้อนกลับไปวุ่นวาย อย่างเรื่องกามอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องเซ็กส์เรื่องเดียว กาม ละเอียดนะ กามสังโยชน์ ใจผูกพันอยู่กับกาม
ค่อยๆเรียนไป อะไรที่เราติดเราข้องก็รู้ทัน ค่อยๆลด ค่อยๆ ละไป เอาตัวไปจากที่สกปรกไปสู่ที่สะอาด ที่มอมแมมไปสู่ที่หมดจด ฝึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งก็ดีขึ้น ถ้าเราไม่ลงมือทำอย่างไรก็เลวลง เพราะธรรมชาติของจิตไหลลงต่ำ จะขึ้นสูงขึ้นมานี่ต้องอดทน ต้องพากเพียรฝึก ทำอะไรไม่ได้จริงๆ ถือศีล 5 ให้ได้ก็พอแล้ว สำคัญที่สุดเลย ถือศีล 5 ได้ ยังมีโอกาสกลับมาเป็นมนุษย์ที่จะมาพัฒนาจิตวิญญาณของตัวเองต่อไป ถ้าเราภาวนาได้มากกว่านั้นก็ยิ่งดี เป็นกำไรของชีวิต แล้ววันหนึ่งเราจะได้พ้นจากมารเสียที มารข้างนอกไม่น่ากลัวเท่ามารของตัวเอง ค่อยๆ ฝึกไป
วัดสวนสันติธรรม
7 กุมภาพันธ์ 2564