อินทรีย์แก่กล้าจึงสักว่ารู้ว่าเห็น

วันนี้ศรีราชาติดเชื้อคนหนึ่งแล้วเมื่อวาน ก็สัมผัสพวกที่ไปกินเบียร์ โรคนี้ถ้าเรามีศีลมีธรรม ไม่หลงอบายมุข เราจะไม่เป็นต้นตอการแพร่เชื้อ เป็นพวกหลงในอบายมุขก็เอามาแพร่คนอื่นต่อได้ คนที่ไปติดเชื้อมา บางทีก็ไม่ได้ไปทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข แต่ติดไปด้วย ก็มีกรรมต้องไปอยู่ใกล้คนที่ยุ่งกับอบายมุข เราพยายามมีสติเอาไว้ มันไม่มีทางที่โรคนี้มันจะสูญไป มันจะหมดไปทีเดียวเป็นไปไม่ได้ ต่อไปมันก็เหมือนไข้หวัดใหญ่เหมือนอะไรพวกนี้ ก็มีขึ้นมา แต่คนส่วนมากมันจะเริ่มมีภูมิต้านทาน เหมือนไข้หวัดใหญ่ก็มีทุกปี แต่ไม่น่ากลัวอะไร รับมือไหว

โควิดมันยังมาเป็นครั้งเป็นคราว แต่กิเลสมาทุกวันเลย ไม่หมด ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ภาวนา อดทนไว้ คนยุคเราไม่ใช่ว่าบุญบารมีเยอะ บุญบารมีเยอะคงไม่หล่นมาถึงยุคนี้หรอก พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปเกือบ 2,600 ปีแล้ว พวกเราก็คงไม่ค่อยมีบุญเท่าไหร่ ถึงตกค้างอยู่ พวกที่เคยเป็นเพื่อนเป็นญาติของเรา ส่วนหนึ่งก็คงนิพพานไปหมดแล้วล่ะ ตั้งแต่สมัยพุทธกาลสมัยอะไร ที่เรายังตกค้างอยู่บุญบารมีเรายังไม่พอ เราก็ไม่ท้อใจ เราก็ขวนขวายเข้า อดทน พยายามเรียนไปเรื่อยๆ ปฏิบัติไป

การปฏิบัติก็ไม่มีอะไรมากหรอก พยายามรักษาศีล 5 ไว้ ฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว อย่าให้มันหลง ร่อนเร่ไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ตลอดเวลา ถ้าจิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว มันจะสามารถเห็นความจริงของกายของใจได้ ตรงที่มันเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจ พอมันเห็นความจริง มันจะเบื่อหน่าย คลายความยึดถือ แล้วมันก็ปล่อยวาง จิตใจมันก็หลุดพ้นออกมา ไม่ได้เกาะเกี่ยวยึดถือ

จิตใจไปยึดถืออะไรก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้น ยึดถือกายก็ทุกข์เพราะกาย เพราะร่างกายเรามันมีแต่ความแปรปรวน มีความแก่ มีความเจ็บ มีความตาย เดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็กระหาย เดี๋ยวปวดอึ เดี๋ยวปวดฉี่อะไรนี้ ร่างกายไม่ใช่ของน่ารัก น่าพิศวาสอะไรนักหนา มันเป็นตัวทุกข์แท้ๆเลย หายใจออกก็ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์ ยืนก็ทุกข์ เดินก็ทุกข์ นั่งก็ทุกข์ นอนก็ทุกข์ มันมีแต่ทุกข์ทั้งนั้น เราก็ดิ้นรน หนีความทุกข์ไปเป็นระยะๆ อย่างนั่งนานมันเมื่อย มันปวด เราก็ขยับ หรือเปลี่ยนอิริยาบถ ลุกขึ้นยืน ลุกขึ้นเดิน ยืนนาน เดินนาน มันก็ทุกข์อีกแล้ว กลับมานั่งอีก นั่งนานก็เมื่อย ปวดเมื่อย ทุกข์อีกแล้ว ลงไปนอน นอนพลิกไปพลิกมา เพราะว่ามันทุกข์ เฝ้ารู้ร่างกายของเราไปเรื่อยๆ เราจะเห็นมันทุกข์อยู่ทุกๆ อิริยาบถ ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไรที่น่ารัก น่าหวงแหนหรอก

บางคนหลงรูป ยังหนุ่มยังสาว รู้สึกสวย รู้สึกงาม ผ่านวันผ่านเวลาก็ดูไม่สวยไม่งาม อย่างหลวงพ่อได้เห็นรูปดารา สมัยหลวงพ่อยังเด็กๆ หรือหนุ่มๆ ดาราคนนี้สวยๆ เขาถ่ายรูปสมัยใหม่มา ที่เพิ่งจะถ่ายมาดู ดูไม่ได้ ทรุดโทรม แก่เฒ่า เหี่ยวย่น มันหนีกันไม่พ้นเลยเรื่องนี้ บางคนบอกว่าอย่าอยู่จนแก่สิ ร่างกายจะได้สวยงามเหมือนเดิมก็ไม่จริงหรอก ตายตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว ไม่กี่ชั่วโมงมันก็ไม่สวยแล้ว ตอนยังเป็นๆ คนแย่งกัน พอตายแล้วยกให้เขาฟรี เขายังไม่เอาเลย มีแต่ของน่ารังเกียจ มันน่าดูตรงที่มันยังหายใจอยู่เท่านั้น พอมันหยุดหายใจก็ไม่มีคุณค่า คนเขากลัวรีบมัดตราสังใส่โลง ไม่อยากเห็นแล้ว เผาได้ก็เผาไปเลย ไม่อยากดูไม่อยากเห็นแล้ว มันไม่สวยไม่งามจริงแล้ว มันสวยอยู่ชั่วยังหายใจอยู่เท่านั้นเอง

เรามีสติเรียนรู้ลงไป ร่างกายไม่ใช่ของดีไม่ใช่ของวิเศษอะไรหรอก ไม่ใช่ของสวยของงามอะไรจริงหรอก พอเห็นแล้วมันจะน่าเบื่อ อิดหนาระอาใจ อย่างเราบางคนพออายุเยอะขึ้นเราก็จะรู้สึก เดี๋ยวนี้เราไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว เมื่อก่อนกินได้นอนหลับ พอแก่ขึ้นมา กินไม่ค่อยจะได้ นอนไม่ค่อยจะหลับอะไรอย่างนี้ เมื่อก่อนก็แสวงหาความสุขสารพัดรูปแบบ เราอยากได้โน่นอยากได้นี่ ไปเรื่อย พอแก่ลงมาจริงๆ วันไหนกินข้าวลง วันไหนถ่ายสะดวก วันไหนนอนหลับ แค่นี้ก็ดีถมไปแล้ว ความต้องการจริงๆ เหลือนิดเดียวเอง พวกคนแก่บางทีเจอกัน ก็หมู่นี้เบื่ออาหาร กินอะไรก็ไม่ลง มีเงินเยอะ แต่กินไม่ได้

ครูบาอาจารย์ท่านก็เคยเล่า หลวงพ่อไปเรียนกับท่าน ตอนหลวงพ่อยังหนุ่มอยู่ เรากินอะไรก็อร่อย ท่านก็เล่าว่า สมัยท่านยังหนุ่มท่านเดินธุดงค์กัน มีแรงกินแต่มันไม่มีจะกิน อดๆ อยากๆ ตอนท่านแก่แล้ว คนก็มาหาเยอะแยะเลย ขนของกินมาถวายเยอะแยะเลย ท่านบอกว่าพอมีของกินเยอะก็ไม่มีแรงจะกิน ไม่มีแรงจะฉันแล้ว ฉะนั้นท่านไม่เห็นว่ามันจะสุขตรงไหนเลย ตอนยังหนุ่มยังสาว มันก็ไม่ได้เสพสิ่งที่ต้องการทุกอย่างหรอก ตอนแก่มีให้เสพก็เสพไม่ไหว ชีวิตมันมีแต่ข้อบกพร่อง ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวของมัน

เราคอยมีสติรู้กาย รู้อะไรไปเรื่อย สุดท้ายมันก็เห็น ร่างกายนี้มันเป็นของน่าอิดหนาระอาใจ ไม่ใช่ของดีของวิเศษ อย่างที่เราเคยรักเคยหวงแหน พอมันเบื่อ มันก็อยากจะพ้นออกไป ตรงที่มันอยากจะพ้นออกจากกายนี้ มันยังพ้นไม่ได้ มันยังมีกายอยู่ ถ้าไปฆ่าตัวตาย กายจะหมดไปไหม กายก็ไม่หมดไป ทันทีที่ฆ่าตัวตาย ร่างกายเดิมนี้มันแตกสลายไปจริง แต่จิตนั้นมันไปเกิดในภพภูมิใหม่ จุติจิต จิตที่ตาย พอดับลงปุ๊บนี่มันจะเหนี่ยวนำ ให้เกิดปฏิสนธิจิต ในภพภูมิใหม่ขึ้นมาทันทีเลย เพราะฉะนั้นร่างกายนี้ตายไป จิตนี้ดับไป แต่มันยังมีพลังงานเหนี่ยวนำ ให้เกิดจิตดวงใหม่ในภพใหม่ อย่างจิตดวงเดียวที่เกิดขึ้น ก็ไปสร้างร่างกายใหม่ขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่วิธีว่า เห็นร่างกายน่าเบื่อแล้วจะหนี ด้วยการไปฆ่าตัวตาย ฆ่าตัวตายมันก็ได้กายใหม่ขึ้นมาอีก ก็ทุกข์อีก

ท่านสอนให้เราภาวนาดูความจริงลงในร่างกาย ร่างกายไม่ใช่ ของสวยของงาม ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง ร่างกายถูกความทุกข์ บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ร่ายกายของเรานี้ของมนุษย์นี้เป็นแค่วัตถุธาตุ เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ส่วนที่เป็นธาตุดินก็เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกอะไรพวกนี้ เป็นส่วนของธาตุดิน ธาตุน้ำก็เช่นน้ำเลือด น้ำหนอง น้ำมูก น้ำลายอะไรอย่างนี้ ธาตุลม มีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมในกระเพาะ ลมในลำไส้อะไรอย่างนี้ ลมก็เคลื่อนไปเรื่อยๆ ลมสะอาดๆ ข้างนอกนี้พอไปผ่านลำไส้เราออกมา ทุกคนเขาก็เบือนหน้าหนี มันผ่านเข้ามาในกายนี้ สิ่งที่ออกมานี่ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่ารักแล้ว

อย่างลมที่ออกจากท้องเรานี่หอมไหม ไม่มีใครรู้สึกว่าดีหรอก อาหารวิเศษเหลือเกิน เลือกกินของดี ของแพงหรูหรา กินเสร็จแล้วขับถ่ายออกมา มันก็ไม่สวยไม่งามเหมือนกัน จะกินอะไรมันก็น่าเกลียดเหมือนๆ กัน อะไรที่ผ่านเข้ามาในร่างกายนี้แล้ว ล้วนแต่สกปรกโสมมทั้งนั้น ร่างกายมันเป็นที่สะสม เหมือนโรงงาน ผลิตสิ่งโสโครกออกมาสู่โลก ฉะนั้นถ้าเรามีสติ มีปัญญาลง ไปในกายแล้วก็เห็นความจริงของกาย ไม่ใช่ของดีเลย ของน่าเกลียด

ตอนหลวงพ่อเด็กๆ หลวงพ่อยังเคยนึกเลยว่า ถ้าเราตายปุ๊บนี่อยากให้เขารีบเผาๆ เราไปเลย เพราะมันเน่า แล้วน่าเกลียด อายเขา ตอนเด็กมันคิดอย่างนั้น มันอายเขา ตัวมันเน่าเหม็น น่าเกลียดอะไรอย่างนี้ เพราะสิ่งที่เคยรัก พอมันหยุดหายใจเข้าก็ไม่เอาแล้ว หาทางขจัดแล้ว เป็นหมา เป็นแมว เราก็เอาไปฝังไปอะไร เป็นคนก็รีบเอาใส่หีบใส่โลง เอาไปไว้วัด ไม่อยากไว้บ้านแล้ว แล้วก็สั่งไว้ด้วยให้ไปที่ชอบๆ อย่ากลับมาหากันอีก นี่รักมากเลย บอกไปที่ชอบๆ ไปให้พ้นๆ เสียเถอะ นี่ความจริงของโลก ความรักความผูกพันอะไร มันไม่แน่นแฟ้นยั่งยืนจริงหรอก แต่ละคนมันก็รักตัวเองทั้งนั้น อะไรจะเป็นภาระเป็นของไม่ดี ขึ้นมาก็ไม่อยากได้

พอเราเห็นความจริงของร่างกาย พิจารณาลงไปบ่อยๆ จิตใจมันเอือมระอา จะฆ่าตัวตายมันก็หนีไม่พ้น ทำอย่างไรเราจะไม่ทุกข์เพราะร่างกาย เรามาเรียนรู้ความจริงของร่างกาย ความจริงของร่างกายคือมันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เฝ้ารู้เฝ้าดูไป จนกระทั่งจิตมันเป็นกลางต่อร่างกาย คราวนี้เราก็อยู่กับร่างกายได้ จิตอยู่กับร่างกายได้ ร่างกายจะแก่ ร่างกายจะเจ็บ ร่างกายจะตาย ร่างกายจะมีแผลเน่าเปื่อย เหม็นหึ่งแค่ไหน จิตมันสักแต่ว่าอาศัยอยู่ สักแต่ว่ารู้ สักว่าเห็น มันเป็นกลาง จิตมันก็ไม่ทุกข์ แต่วิธีที่บอกว่า ร่างกายไม่ดีแล้วก็ไปฆ่าตัวตายอะไรนี่ จิตมันทุกข์ ตอนที่มันจะฆ่าตัวตาย จิตมันเต็มไปด้วยโทสะ เพราะฉะนั้นตายไปด้วยโทสะ ไม่พ้นหรอก ก็จะเกิดใหม่ ด้วยอำนาจของโทสะ

มีโยมคนหนึ่ง เขานอนอยู่ในบ้านเขา แต่เขาภาวนาหูตาว่องไว คืนหนึ่งเขาเห็นผู้หญิงคนหนึ่ง เดินผ่านหน้าบ้าน ผู้หญิงคนนี้เดินผ่านหน้าบ้าน แต่ว่าเท้าไม่ติดพื้น ลอยเหนือพื้นอยู่คืบหนึ่ง เดินร้องไห้ไปเรื่อยๆ พอตอนเช้ามา เพื่อนบ้านก็บอกว่า ข้างๆ บ้านนี่มีผู้หญิงผูกคอตาย เป็นทุกข์มาก ไปซื้อบ้านไว้ สามีห้ามก็ไม่ฟัง อยากได้บ้าน มันเกินกำลัง สุดท้ายบ้านก็จะถูกยึด สามีก็โมโหหนีไป เหลือผู้หญิงคนนี้ตัวคนเดียว เลยไม่รู้จะอยู่อย่างไรแล้ว อยู่ต่อไปบ้านก็จะถูกยึด อะไรๆ ก็รู้สึกสูญเสียหมดเลย กระทั่งสามีก็หนีไปแล้ว ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย ฆ่าตัวตายแล้วก็เกิดใหม่ ก็เดินร้องไห้ไปเรื่อยๆ ไม่ยอมหันกลับไปดูบ้านที่เคยอยู่เลย คล้ายๆ ตัดใจเด็ดขาดจะไปแล้ว ก็เดินไปเรื่อยๆล่ะ ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก ไม่รู้ว่าอีกกี่ร้อยปี ก็กรรมมันหนัก ฆ่าตัวตายเป็นกรรมหนัก

 

อยู่กับกองทุกข์ได้โดยไม่ทุกข์

อย่างเราเป็นคน เราตกระกำลำบาก มันจะลำบากสักกี่ปีเชียว คนลำบากมันลำบากไม่นานหรอก อย่างหลวงพ่อตอนเด็กๆ หลวงพ่อสังเกตอย่างหนึ่ง หลวงพ่อจะลำบากไม่เกิน 3 วัน ใจมันจะรู้สึกอย่างนี้ มันเห็น ลำบากไม่เกิน 3 วันหรอก อย่างไปเรียนรด. ไปฝึกรด. อะไรอย่างนี้ วันแรกๆ รู้สึกลำบาก ลำบากอยู่ 3 วัน พอวันที่ 4 ใจมันยอมรับสภาพแล้ว มันต้องเป็นอย่างนี้ ใจไม่ปฏิเสธแล้ว ต้องอยู่อย่างนี้ ต้องกินอย่างนี้ ต้องนอนอย่างนี้ ได้อาบน้ำวันละครั้ง ครั้งหนึ่ง 10 ขัน ไม่ให้เกิน ลำบากทุกอย่าง อาหารการกินก็แย่ กำลังกินอยู่ พวกนายสิบครูฝึกมันก็แกล้งอีก โวกวากๆ ให้หยุดกิน เอ้า ให้กินต่อ เอ้าให้หยุดอีกอะไรอย่างนี้ มันแกล้ง เราก็มีโทสะ รู้สึกลำบากจังเลย กลางวันก็เที่ยวฝึกเที่ยวอะไรอยู่ ความลำบากมันอยู่ 3 วัน พอวันที่ 4 ปรับตัวได้แล้ว

มาบวชครั้งแรก ยังเรียนหนังสืออยู่ไปบวช ก็ลำบากอยู่ 3 วัน แล้วใจมันก็ยอมรับสภาพได้ มันก็ไม่ลำบากอีกแล้ว ต้องเป็นอย่างนี้ล่ะ ก็เลยรู้เลยว่า ความยากลำบากอะไรที่เราเกลียดชังมัน อยากหนีไปจากมันอะไรนี่ เพราะใจเราไม่เป็นกลาง ถ้าใจเราเป็นกลาง เห็นมันเป็นเรื่องธรรมดา มันก็แค่นั้น อย่างนั้นๆล่ะ ฉะนั้นเราจะสามารถอยู่กับกองทุกข์ อยู่ได้โดยไม่ทุกข์

ร่างกายนี่มันเป็นตัวทุกข์ เป็น กองทุกข์ แต่เราอยู่กับมันได้ โดยไม่ทุกข์ ถ้าเราภาวนาเป็น รู้หลักที่พระพุทธเจ้าสอน ดูความจริงของมันไปเรื่อย อย่าไปดูแค่ร่างกายเฉยๆ ดูให้เห็น ร่างกายนี้มันไม่เที่ยง ร่างกายนี้มันมีธรรมชาติที่จะถูกความทุกข์บีบคั้น ร่างกายนี้เป็นแค่วัตถุ มีธาตุไหลเข้า ธาตุไหลออก ตอนที่ธาตุไหลเข้าไป มันก็ยังดูดีอยู่ ตอนที่ไหลออกมา ดูไม่ได้แล้ว แค่ลมหายใจ เราหายใจ ไปในที่ๆ ออกซิเจนเยอะ อากาศดี อย่างที่วัดหลวงพ่อนี่ต้นไม้เยอะ ถ้าไม่มีควันไฟข้างนอก ไม่มีกลิ่นขี้ไก่จากโรงเลี้ยงไก่อะไรพวกนี้ ในวัดนี้อากาศดีมาก ออกซิเจนเยอะ แล้วก็หอมดอกไม้ ทั้งวันหอมทั้งคืนเลย หายใจเข้าไป แหมมันสดชื่น แต่ลมหายใจที่ออกมานี่มันเหม็นแล้ว ของดีๆ ไหลเข้าไปอยู่ ในร่างกายเราแป๊บเดียว ออกมาเป็นของไม่ดีแล้ว อย่างเราจะไปหายใจให้คนอื่นดมอย่างนี้ เขาจะเอาไหม ดีไม่ดี เขาถีบเอาใช่ไหม บอกมานี่ๆ มา จะหายใจให้ดมอย่างนี้ ไม่มีใครเอาหรอก

ฉะนั้นสิ่งที่ออกจากกายนี้ สกปรกใช่ไหม ไม่น่ารัก ไม่น่าหวงแหน ตัวมันเองก็เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เต็มไปด้วยทุกข์ นั่งอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ กินข้าวตอนไม่มีสติ กินข้าวรู้สึกมีความสุข ยัดใส่ปากเคี้ยวตุ้ยๆๆ เคี้ยวไม่ทัน กลืนไปเลย คำใหม่แล้ว รู้สึกมีความสุขจัง พอมีสติขึ้นมาจะรู้เลย กระทั่งการกินข้าว ยังเป็นภาระเลย เป็นภาระมากมาย ตั้งแต่ไปบิณฑบาตหาข้าวมากิน ไม่ได้มาเลยก็ลำบาก ได้มา มานั่งฉันนั่งอะไร เคี้ยวไปนี่ มันเป็นงานทั้งนั้นเลย เป็นงานที่จำเป็นต้องทำ หรือจะอึจะฉี่อะไรอย่างนี้ มันเป็นของต้องทำ มันเต็มไปด้วยความลำบาก บางคนอึยาก ไม่ยอมอึ กลุ้มใจอีก ลำบาก บางคนอึเก่ง อึไม่ยอมเลิกเลย เดินไม่กี่ก้าวก็จะอึอีกแล้ว ก็ลำบากอีกแล้ว

เพราะฉะนั้นในร่างกายนี้ มันมีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย อยากหนีมันก็หนีไม่ได้ อยู่เมืองไทยรู้สึก มันทุกข์เหลือเกิน ร่างกายนี้หนีไปอยู่ดูไบ มันก็ยังทุกข์อีก ไม่เกี่ยวกับการเมือง นี่ยกตัวอย่าง หนีไปอยู่ไหน มันก็ยังทุกข์อีก เพราะมันเอาตัวทุกข์ไปด้วย เอาร่างกายที่เป็นตัวทุกข์ไปด้วย นี้ถ้ามีสติมีปัญญาเข้าจริงๆ จะรู้เลย นี่มันตัวทุกข์ เราก็อย่าไปทุกข์กับมันสิ ดูลงไปจนกระทั่งมันเห็นว่า ร่างกายนี้ มันทุกข์อย่างนี้ มันธรรมดา พอมันเห็นว่าธรรมดามันทุกข์ ธรรมดามันเป็นอย่างนี้ ใจยอมรับได้ ใจจะไม่ทุกข์อีกแล้ว

เหมือนหลวงพ่อเล่าเมื่อกี้ ไปฝึกรด. ร้อนจะตาย หน้าหนาวก็ไม่ฝึก ต้องฝึกหน้าร้อนด้วย ร้อนจัด เมืองกาญจน์นี่ ตอนนั้นตั้งใจไว้เลยเมืองกาญจน์นี่จะไม่มาอยู่ สุดท้ายกรรมจัดสรร บวชแล้วต้องไปอยู่เมืองกาญจน์ ร้อนๆๆ ทุกข์ อะไรๆ ก็ลำบากไปหมด ในที่สุดจิตมันยอมรับ มันธรรมดาอย่างนี้ล่ะ พอรู้สึกว่ามันธรรมดาเท่านั้น กายมันก็ยังทุกข์ของมันอยู่ มันยังหิว มันยังหนาว มันยังร้อน มันยังเจ็บ มันยังป่วยอะไรของมันอยู่ แต่จิตที่มันรู้สึกว่าธรรมดามันเป็นอย่างนี้ จิตมันไม่พลอยทุกข์ไปด้วย

ฉะนั้นเราจะเรียนจนใจมันยอมรับธรรมดา ถ้าใจมันเห็นว่าเป็นธรรมดาแล้ว ใจมันก็ไม่ดิ้นรน ใจมันก็ไม่ดิ้นรนแล้ว ใจมันก็ไม่ทุกข์ ก็แค่นั้นเอง วิธีที่เราจะพ้นทุกข์ จะพ้นทุกข์ด้วยการฆ่าตัวตาย ไม่พ้นหรอก เดี๋ยวมันก็เกิดกายใหม่ขึ้นมา ยิ่งเกิดเป็นกายของสัตว์นรก เป็นกายของอสูรกายอะไรอย่างนี้ ยิ่งอายุยืนหนักกว่ากายมนุษย์เสียอีก แล้วมันแย่กว่ากายมนุษย์อีก ก็ต้องทนอยู่กับมัน เพราะหนีมันไม่ได้

เพราะฉะนั้นพยายามดู จนกระทั่งเราเห็นธรรมดา ร่างกายนี้ธรรมดามันต้องแก่ มันต้องเจ็บ มันต้องตาย มันไม่สวย มันไม่งาม ไม่น่าหลงใหล ธรรมดามันเป็นอย่างนี้ล่ะ หันมาดูจิตดูใจ เราแต่ละคนตื่นนอนขึ้นมา ก็คิดถึงอยากจะดิ้นรนหาความสุขทันทีเลย วันนี้จะกินอะไรดีหนอเช้านี้ นี่พวกมีเงิน ตื่นนอนมาคิดว่าวันนี้จะกินอะไรดี บางคนไม่มีเงิน ตื่นขึ้นมาปุ๊บ วันนี้จะมีอะไรกินหรือเปล่า คิดไม่เหมือนกันแล้ว พวกที่คิดว่าวันนี้จะมีอะไรกินหรือเปล่า ก็ทุกข์ไปแบบหนึ่ง พวกที่กลุ้มใจนอนคิด คิดไม่ตกก็นอนอยู่อย่างนั้นล่ะ กลุ้มใจไม่รู้วันนี้จะกินอะไรดี เบื่อไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างเลย ไอ้โน่นก็เคยกิน ไอ้นี่ก็เคยกิน น่าเบื่อๆ เหมือนที่พระเราเบื่อน้ำปานะ วัดเรา ปานะ ไม่ได้ให้กินของอะไรวิเศษพิสดาร ก็กินน้ำหวานเท่านั้น ใหม่ๆ โอ๊ย ฉันกันเอร็ดอร่อย พอบวชได้อาทิตย์หนึ่งเริ่มมอง สังเกตไหมพวกพระบวชนานๆ ไม่ฉันหรอก เห็นก็คลื่นไส้แล้ว มันซ้ำๆ ซากๆ นี่มีฉันมีให้กิน แต่เบื่อ กินทุกวันเลย เบื่อ เบื่อเป็นทุกข์ไหม เบื่อก็ทุกข์ ใจมันไม่เป็นกลาง

ค่อยๆ ฝึกของเรา เห็นเลยใจมันดิ้นรนหาความสุข ตะเกียกตะกายหาความสุข ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงนอนก็ยังหาความสุขอยู่ ตอนนอนนอนท่าไหนมันจะสุข บางคนก็นอนหงายไม่ได้ หายใจไม่ออก ต้องนอนตะแคง นอนตะแคงก็เมื่อย ลำบากอีก ไปๆ มาๆ พอมีสติ มีปัญญาเข้าจริงๆ ร่างกายตอนนอนก็ทุกข์อีก ไม่ต้องไปหาความสุขจากการนอนหรอก ไม่มีหรอก การนอนนั้นมันก็เหมือนการกิน คือเรากินเพื่อบำบัดทุกข์ เรานอนเพื่อบำบัดทุกข์ ไม่ใช่เพื่อมีความสุข มันไม่สุขหรอก

 

ความสุขก็เป็นภาระ

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป เราหิวความสุข บางทีก็เป็นเรื่องทางใจล้วนๆ เลย อยากเข้าสมาธิได้จะได้มีความสุข ตรงที่อยากนั่นล่ะ มันทุกข์เรียบร้อยแล้ว อยากให้จิตสงบ ตรงที่อยากให้จิตสงบนั่นล่ะ มันทุกข์ไปแล้ว ความอยากเกิดทีไร ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที แล้วก็พยายามอดทน ดิ้นรนเพื่อจะปรุงแต่งจิตให้มันดี ให้มันสุข ให้มันสงบ อย่างพยายามฝึกเข้าฌานอย่างนี้ พอเข้าฌานได้ จิตมันก็ดี มันก็สุข มันก็สงบ แต่มันดี มันสุข มันสงบอยู่เฉพาะชั่วเวลาที่เข้าฌานอยู่ พอออกจากฌานมันก็เริ่มเสื่อมแล้ว แต่ก็เสื่อมช้าๆ ถ้าเข้าฌานมา ความสุขในใจเราที่มันมีอยู่ค่อยๆ ลดๆๆ ระดับลงทีละน้อยๆ สุดท้ายก็หายไป พอใจเราอยากได้ความสุขขึ้นมาอีก อยากได้ความสงบขึ้นมาอีก ใจก็ดิ้นรน ใจก็ทุกข์อีกแล้ว

เพราะฉะนั้นจิตใจเรานี่ ค่อยๆ ฝึกไป แล้ววันหนึ่งเราจะเห็นเลย การที่จิตจะต้องไปรู้รูปก็เป็นภาระ จิตจะไปฟังเสียงก็เป็นภาระ จิตจะไปดมกลิ่น จะไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสที่กายก็เป็นภาระ จิตจะต้องคิดนึกต่างๆ นานา ก็เป็นภาระ ตรงที่จิตคิดนึกแล้วเป็นภาระนี่ดูง่าย อย่างเราคิดอะไร คิดไม่ออก คิดแล้วคิดอีก วนเวียนอยู่อย่างนั้น ใจมันเครียด

อย่างคิดข้อสอบอย่างนี้ ทำข้อสอบอยู่ คิดไม่ออก พยายามคิดใหญ่เลย มันเครียดนะ การที่จิตต้องคิด จิตก็เครียดเหมือนกัน แต่ถ้าคิดไปเรื่องหลงๆ เผลอๆ เพลินๆ อะไร จิตก็เพลินไป จิตก็หลงไป ทุกข์อย่างประณีตแล้วมองไม่เห็น เวลามันมีทุกขเวทนาเกิดขึ้นในจิตใจ เรารู้สึกไม่ดีเลย ทุกข์มาก ตรงที่มีความสุขเกิดขึ้นในใจ มีโสมนัสเวทนาเกิดขึ้นในใจ คนไม่มีสติไม่มีปัญญา ก็รู้สึกว่าตรงนี้มีความสุข แต่ถ้าเราภาวนา เราจะรู้เลยว่าความสุขที่เกิดขึ้นก็เป็นภาระทางใจ

อย่างเรานั่งสมาธิ ทีแรกจิตมันรวมลงไป สว่างขึ้นมา จิตเราเคล้าเคลียอยู่กับความสว่าง มีวิตกคือตรึกอยู่ในแสงสว่าง มีวิจารณ์คือเคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่าง มีปีติเกิดขึ้น มีความสุขเกิดขึ้น เรารู้สึก มีความสุขจังเลย ภาวนาไปเรื่อยๆ เราก็จะเริ่มเห็น การที่จิตมันต้องคอยดู คอยเคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่างเป็นภาระ มันเป็นภาระ จิตก็วางภาระ คือวางแสงสว่างที่เป็นอารมณ์กรรมฐาน วางทิ้งไป มันทวนเข้ามาที่ตัวจิตตัวใจของตัวเอง จิตก็เป็นผู้รู้ขึ้นมา มันก็เห็นเลย จิตมีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งอยู่ ดูไปๆ สติปัญญาแก่กล้าขึ้นอีก มันเห็นตัวปีตินี่เป็นเครื่องเสียดแทงใจ ปีติมันหวือหวาเกินไป ปีตินี้ไม่ใช่ตัวดีตัววิเศษแล้ว มันเป็นตัวทุกข์แท้ๆ เลย นี่ดูทางนามธรรม มันก็ค่อยๆ เห็นไป นามธรรมแต่ละตัวซึ่งครั้งหนึ่งเคยว่าดี สุดท้ายมันก็ไม่ดี มันก็เป็นตัวทุกข์อยู่จนได้ อย่างปีติเกิดขึ้นในจิตเรามีสติรู้ไปเรื่อย เป็นภาระแท้ๆเลย ดลบันดาลให้ร่างกายนี้หวั่นไหวแปรปรวน เช่น ขนลุกขนพอง บางทีก็ให้ความรู้สึกว่าร่างกายเราใหญ่เท่าภูเขาเลย ตัวใหญ่แล้วก็หนักมากเลย

นี่เรื่องของปีติ มีรูปแบบต่างๆ นานาหลายแบบ กรุ๊ปใหญ่ๆ ก็แบ่งเป็น 5 กรุ๊ปตามตำรา แต่ในทางปฏิบัตินี้มีเยอะแยะไปหมดเลย ขนลุกขนพองอะไรอย่างนี้ ตัวลอย ตัวเบา รู้สึกตัวเบา ตัวลอย ตัวโคลงๆ ตัวอย่างนู้น ตัวอย่างนี้ ปีติเกิด ตอนยังไม่เคยเห็นก็รู้สึกว่าดี เท่ดีๆ ตัวเรานี่ใหญ่เป็นภูเขาเลย หนักอึ๊ดเลย อย่างมีอะไรแปลกๆ เยอะตรงปีตินี่ ต่อมาสติปัญญาแก่กล้าขึ้น เราก็เห็น ปีตินี้เป็นภาระของจิต ไม่เห็นจะดีไม่เห็นจะวิเศษตรงไหนเลย มันมาทำให้จิตวุ่นวาย จิตมันก็วางปีติลง มันก็ย้อนเข้ามาอยู่กับความสุข

ที่จริงความสุขมันมีมาตั้งแต่ต้นแล้ว ตั้งแต่ปฐมฌาน มันก็มีความสุขอยู่แล้ว แต่มันไม่เด่น มันไม่เห็น เพราะมันมัวไปดูของที่เด่นกว่า อย่างตอนปฐมฌาน เรามัวแต่ไปดูแสง ดูดวงสว่าง ตอนฌานที่สอง เรามัวไปดูปีติอยู่อะไรอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ความสุขก็มีอยู่แต่เราไม่เห็น ทีนี้พอวางปีติได้ ความสุขที่หวือหวา ปีติใช้ไม่ได้ จิตใจก็มาถึงความสุขที่ประณีตมากขึ้น ตรงนี้ส่วนใหญ่ก็ติดกัน จนกระทั่งวันหนึ่งสติปัญญาแก่กล้า มันจะเห็นว่า ความสุขตรงนี้ก็เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยอะไรไม่ได้ เป็นของไม่ยั่งยืน พอออกจากสมาธิ ความสุขตัวนี้ก็เสื่อม หรือบางทีเข้าสมาธิลึกกว่านี้ ความสุขนี้ก็หายไป เป็นอุเบกขา ความสุขนี้ก็เป็นของไม่ยั่งยืน ถ้าเราเอาของไม่ยั่งยืนมาเป็นที่พึ่งที่อาศัย เราหาความสุขที่แท้จริงไม่ได้ ตราบใดที่ยังเอาของที่ไม่ยั่งยืนมาเป็นที่พึ่งที่อาศัย ยังใช้ไม่ได้หรอก มันไม่อิ่ม มันไม่เต็มหรอก จิตมันก็วางความสุข มันเห็นว่าความสุขก็เป็นภาระ

พวกเราหลายคนเข้าฌานไม่เป็น แต่ว่ามีสติคอยรู้ไปเรื่อย จิตเป็นสุขก็รู้ จิตเป็นทุกข์ก็รู้ จิตไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ รู้แล้วรู้อีกอยู่อย่างนี้ ถึงวันหนึ่งเราจะเห็นเอง ลูกศิษย์หลวงพ่อที่เรียนแล้วดูเวทนาทางใจ จำนวนมากก็สามารถเห็นได้ว่าความสุขนั้นมันเป็นตัวทุกข์ มันไม่ใช่ตัวดีตัววิเศษหรอก มันเป็นตัวที่เสียดแทงใจเหมือนกัน เป็นภาระทางใจเหมือนกัน เพราะฉะนั้นความสุขไม่ใช่ที่พึ่งที่อาศัย เพราะมันคือตัวทุกข์ จิตมันก็วางความสุขลงไป มันก็เข้าไปสู่อุเบกขา

พอจิตมีอุเบกขาแล้ว ตั้งมั่น มีอุเบกขา เป็นกลาง ต่อสุข ต่อทุกข์ ต่อทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว งานต่อไปก็คือโน้มน้อมจิตนี้ไปเพื่อญาณทัศนะ ก็คือใช้จิตซึ่งเป็นกลางแล้ว เป็นอุเบกขาแล้ว มาเรียนรู้ความจริงของรูป นาม กาย ใจต่อไป ค่อยๆ มาเรียนต่อ ในพระไตรปิฎกท่านจะบอกว่า เมื่อจิตอ่อนควรแก่การงาน มีประโยคยาวเลย จิตอ่อน เบา คล่องแคล่ว ว่องไว ควรแก่การงาน ก็โน้มน้อมจิตนี้ไปเพื่อญาณทัศนะ โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ ญาณทัศนะแปลว่า การเห็นแบบมีปัญญา การเห็นอย่างมีปัญญา ไม่ใช่เห็นโง่ๆ แต่เห็นอย่างมีปัญญา คือเห็นความจริงของสิ่งที่เราไปเห็นเข้า อย่างเราเห็นร่างกายนี่ จิตเราตั้งมั่นเป็นหนึ่งแล้ว

ถ้าเข้าฌานมาเราก็มาดูกาย หรือมาดูอะไรก็ได้ มันก็จะเห็นเลยว่า ทุกอย่างก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ แต่ถ้าเข้าฌานไม่ได้ก็ไม่ต้องตกใจ ฝึกขณิกสมาธิ อย่างที่หลวงพ่อสอนแทบทุกวัน จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ ดูบ่อยๆ เดี๋ยวมันก็ได้ขณิกสมาธิ ได้ตั้งมั่นขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราว พอมันตั้งมั่นบ่อยๆ เราก็โน้มน้อมจิตนี้ไปเพื่อญาณทัศนะบ้าง คือตรงที่มันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ตรงนั้น มันจะมีลักษณะสงบ ตั้งมั่น แล้วก็เป็นกลาง จุดสำคัญคือมันตั้งมั่นและมันเป็นกลาง นั่นคือตัวผู้รู้ ทำมาจากการทำขณิกสมาธิบ่อยๆ จิตเคลื่อนแล้วรู้บ่อยๆ อย่างนี้ มันก็มีขึ้นมา หรือเข้าฌานมา ตั้งแต่ฌานที่สอง เป็นต้นไป ถอยออกจากฌานมา ตัวรู้นี้จะเด่นดวงอยู่ ตัวนี้จะเข้มแข็งอยู่ได้นาน แต่ไม่เกิน 7 วันหรอกก็เสื่อม ไม่มีอะไรที่เกิดแล้วไม่เสื่อมหรอก กระทั่งสมาธิที่ผ่านการเข้าฌานมา ก็เสื่อมเหมือนกัน แต่เสื่อมช้ากว่าขณิกสมาธิ

ฉะนั้นขณิกสมาธิต้องฝึกทุกวัน ฝึกเยอะๆ เลย จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ พุทโธๆๆ ไป เคลื่อนไปหนีเป็นพุทโธ่พุทโถอะไรต่อไปแล้ว รู้ทันเลย หลงแล้ว พอรู้ทันปุ๊บ จิตมันก็ตั้งมั่นขึ้นมา พอมันตั้งมั่นขึ้นมา ก็พุทโธของเราต่อไปอีก มันหนีอีก รู้อีก หนีอีก รู้อีกไปเรื่อย ในที่สุดจิตมันก็จะมีสมาธิตั้งมั่นจริงๆ พอมันตั้งมั่นอย่างแท้จริง เราก็มาเรียนรู้กายมาเรียนรู้ใจ พอมาเรียนรู้กายมันก็จะเห็นเลย กายไม่สวย ไม่งาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่จิตเป็นกลาง จิตไม่เกลียด พอมาเห็นจิตมันตั้งมั่นเป็นกลางอยู่นี่ พอสติระลึกรู้นามธรรมทั้งหลาย ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่วทั้งหลาย เกิดขึ้นแล้วล้วนแต่ดับไปทั้งสิ้น ล้วนแต่เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น เป็นภาระทั้งสิ้น จิตก็ไม่สะเทือนหวั่นไหว จิตเป็นกลาง เพราะฉะนั้นเราจะรู้กายก็รู้ด้วยจิตที่เป็นกลาง รู้จิตก็รู้จิตด้วยเป็นกลาง พอรู้อย่างนี้ รู้แล้วไม่ดิ้นรนต่อ มันจะยอมรับความจริง มันจะค่อยเห็นความจริงซ้ำแล้วซ้ำอีก พอเห็นความจริงซ้ำแล้วซ้ำอีก สุดท้ายมันก็ยอมรับความจริง จิตจะเข้าถึงความเป็นกลาง เพราะว่าเห็นความจริง ของความปรุงแต่งทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรมอย่างถ่องแท้แล้ว นี่สักว่ารู้ว่าเห็น จิตก็จะไม่ดิ้นรนต่อ

 

พาหิยสูตร

มีพระสูตรอยู่อันหนึ่งหลวงพ่อจำชื่อไม่ได้แล้ว เกี่ยวกับพระพาหิยะ พาหิยะนี่ยังไม่ได้บวช ทีแรกเป็นชีเปลือยอยู่ เดิมทีเดียวเป็นพ่อค้า ไปค้าขายทางเรือ เรือล่ม ผ้าผ่อนติดตัวสักผืนหนึ่งยังไม่มีเลย ชุดแขกมันรุ่มร่ามใช่ไหม ตกน้ำก็ต้องรีบสลัดทิ้ง มิฉะนั้นผ้าพันขาจมน้ำตาย ไม่มีเสื้อผ้าติดตัวเลย ก็เกาะไม้กระดานไปขึ้นที่เมืองอะไร หรือเกาะอะไร หรือท่าอะไร หลวงพ่อจำไม่ได้แล้ว ชาวบ้านมาเห็น นอนสลบไสลอยู่ริมหาด พอชาวบ้านมาเห็น อุ๊ยไม่นุ่งผ้า ก็รีบไปประกาศกัน มีพระอรหันต์มาขึ้นที่ชายทะเลแล้ว ชายฝั่ง ชาวบ้านตื่นเต้น พระอรหันต์ องค์นี้ต้องพระอรหันต์แน่เลย เพราะท่านไม่ยึดถืออะไรสักอย่างเลย กระทั่งผ้านุ่งท่านยังไม่มีเลย ไม่ยึด

อย่างพวกเรานี่พวกโลภมาก ยังมีผ้าตั้ง 3 ผืน นั่นเขาไม่มีเลย ชาวบ้านก็นี่พระอรหันต์ๆ ใครมาก็พระอรหันต์ จนท่านเคลิ้มว่า เออ เราท่าจะพระอรหันต์จริงๆ เชื่อประชามติ เพราะว่าถ้าพระอรหันต์ก็หันเหมือนกัน จนกระทั่งเทวดาเป็นพรหม เคยภาวนาด้วยกัน ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน แล้วองค์นี้เพื่อนของท่านนี่ ก็ไปเกิดเป็นพรหมสุทธาวาสได้อนาคามี ก็ลงมาเตือนบอกว่า เธอยังไม่ใช่พระอรหันต์นะ ตอนนี้พระอรหันต์เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว คือพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ให้รีบไปหา ก็บอกที่ไว้ พระพุทธเจ้าอยู่ที่นี่ๆ

พอพาหิยะได้ยินว่าตัวเองไม่ใช่พระอรหันต์ก็ไม่เสียใจ บางคนคิดว่า ตัวเองได้โสดาบันแล้ว พอรู้ว่าไม่ใช่เสียใจเลย เลิกภาวนาเลยก็มี เคยเจอ ทีนี้พาหิยะพอรู้ว่าไม่ใช่พระอรหันต์ก็ไม่เสียใจ รีบตะลุยมาเลย รีบเดินมาจะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เดินทั้งวันเดินทั้งคืน 7 วัน รีบมา เพราะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความคิด มีความเห็น มีความรู้สึกอยู่ว่า คนเรานี่ตายเมื่อไหร่ก็ได้ ตรงนี้คือบารมีของท่าน ท่านมีบารมียิ่งใหญ่มากเลย ท่านไม่ประมาท ท่านคิดว่าท่านจะตายเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องรีบไป เฝ้าพระพุทธเจ้าก่อนตาย ต้องเจอให้ได้สักครั้งหนึ่ง

มาถึงที่วัด พระที่วัดบอกให้นั่งรอ ตอนนี้พระพุทธเจ้าไปบิณฑบาต พาหิยะบอกท่านรอไม่ได้หรอก เพราะว่าท่านรออยู่นี่ ไม่แน่ว่าท่านจะตายเสียก่อน หรือพระพุทธเจ้าไปบิณฑบาต ไปเจออะไรเข้า อาจจะนิพพานไปเลยก็ได้ ฉะนั้นถ้าการนั่งรออยู่ตรงนี้ถือว่าประมาท ท่านเลยตามไปถึงในตลาด พระพุทธเจ้าไปบิณฑบาต ไปถึงก็ทูลให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้ฟัง พระพุทธเจ้าเห็นพาหิยะยังเหนื่อยอยู่ ใจก็เร่าร้อนอยากจะฟังธรรม ก็เลยพยายามถ่วงเวลา บอกว่าตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะแสดงธรรมหรอก เป็นเวลาที่ท่านจะบิณฑบาต

พาหิยะก็ขอครั้งที่ 2 ขอครั้งที่ 3 ตอนที่ขอครั้งที่ 2 ใจก็แป้วลงมาแล้ว รู้สึกพระพุทธเจ้าไม่ยอมเทศน์ อ้อนวอนครั้งที่ 3 ใจที่หิวโหยอยากจะฟังเต็มที่มันลดระดับลง ร่างกายที่เหน็ดเหนื่อยมาก มันก็ลดความเหน็ดเหนื่อยลงแล้ว พระพุทธเจ้าเห็นท่านพร้อมแล้ว ก็เทศน์ให้ฟัง ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ ในกาลนั้นแล ท่านย่อมไม่มี ท่านไม่มีในอดีต ท่านไม่มีในอนาคต ท่านไม่ยึดถืออยู่ในปัจจุบัน นี่ที่สุดแห่งทุกข์ นี่ท่านฟังสั้นๆ แค่นี้ ท่านบรรลุพระอรหันต์เลย เป็นพระอรหันต์ เป็นเอตทัคคะที่บรรลุเร็วที่สุด

ประโยคที่พระพุทธเจ้าสอนนิดเดียวเอง เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เห็นสักว่าเห็นคือ สักว่าเห็นก็คือจิตไม่หลงยินดี ไม่หลงยินร้ายด้วย จิตเป็นกลางในการเห็น จิตเป็นกลางในการฟัง จิตเป็นกลางในการรู้อารมณ์ทางใจ มีอะไรเกิดขึ้นก็แค่ทราบเท่านั้นด้วยความเป็นกลาง ตรงจิตเป็นกลาง จิตไม่ดิ้นรนปรุงแต่งต่อ ท่านย่อมไม่มี เพราะจริงๆ ตัวเราไม่มีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว มันมีเพราะความปรุงแต่งเท่านั้นเอง ฉะนั้นพาหิยะก็ปิ๊งเลย ตัวเราไม่มี ท่านก็บรรลุพระอรหันต์ตรงนั้นเลย

บรรลุแล้วก็ขอบวช พระพุทธเจ้าบอกว่า ตามระเบียบของพระ จะบวชต้องมีบาตรและจีวร ท่านต้องไปหาบาตรหาจีวรก่อน นี่มาตัวเปล่าๆ ไม่มีอะไรเลย ตอนที่ท่านออกไปหาบาตรหาจีวรนี้ กรรมตัดรอน ท่านถูกวัวบ้าขวิดตาย ตอนท่านตายยังไม่ได้บวช พวกพระรู้ว่าพาหิยะตาย ก็มาทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าให้เอาศพมาเผา กระดูกก็เอาใส่สถูปไว้ด้วย พวกพระถามพระพุทธเจ้าว่า แบบนี้จะเรียกว่าอะไร เรียกว่าฆราวาส หรือเรียกว่าเป็นพระอะไรอย่างนี้ พระพุทธเจ้าบอกว่านี่เป็นพระ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้บวช แต่ว่านี่คือพระ เพราะฉะนั้นการเป็นพระ ไม่ได้อยู่ที่การบวชหรอก อยู่ที่ใจสะอาดบริสุทธิ์พอไหม

 

“เรียนจนมันเป็นกลาง เป็นกลางแล้วมันไม่ยึดถือ ไม่ยึดถือแล้วมันก็ไม่ทุกข์”

 

ถ้าใจมีสติปัญญาแล้วสักว่ารู้ว่าเห็น ทำไปเรื่อยๆ ทีแรกมันไม่สักว่ารู้ว่าเห็นหรอก เห็นอันนี้ ได้ยินอันนี้ ได้สัมผัสอันนี้ ได้คิดเรื่องนี้ ก็ยินดีบ้างยินร้ายบ้าง เรามีสติรู้ลงไปเรื่อยเลย จนเห็นเลยทุกสิ่งทุกอย่างมันหาสาระไม่ได้ รูปธรรมก็ไม่มีสาระ นามธรรมทั้งหลายก็ไม่มีสาระ พอเห็นอย่างนี้แล้ว มันจะสักว่ารู้ว่าเห็นได้

พวกเรายังไม่มีบารมีเท่าพระพาหิยะ ฉะนั้นเราต้องฝึกตรงนี้ก่อน จนกระทั่งจิตมันสามารถสักว่ารู้ว่าเห็นได้ แล้วมันถึงจะเห็นว่าตัวเราไม่มี ส่วนท่านพาหิยะท่านบารมีมากมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์ก่อนแล้ว ภาวนาจนตัวตาย บารมีท่านแก่กล้า มาฟังพระพุทธเจ้าสะกิดนิดเดียว ท่านก็เห็นแล้วตัวท่านไม่มีหรอก แล้วท่านไม่ยึดถืออะไรสักอย่างเลย ใจท่านก็พ้นทุกข์ไป

ก่อนที่พวกเราจะสักว่ารู้ว่าเห็นได้ มันไม่เป็นหรอก มันก็ต้องฝึก คอยรู้คอยเห็นไปเรื่อยๆ แล้วมันก็ยินดียินร้ายอะไรอย่างนี้ ไม่ห้ามมัน มันยินดี รู้ทัน มันยินร้าย รู้ทันไปเรื่อย สุดท้ายสติปัญญามันแก่กล้าขึ้นมา มันจะรู้เลยว่า ทุกสิ่งที่จิตไปรู้เข้านี่หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้เลย รูปธรรมนี่ไม่มีสาระแก่นสาร นามธรรมก็ไม่มีสาระแก่นสาร เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ อย่างเคยคิดว่าเอาฌานเป็นที่พึ่งที่อาศัย สงบสุขอะไรอย่างนี้ มันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็เสื่อม

เพราะฉะนั้น จิตมันเลยรู้สึกว่าพวกนี้ไม่ได้เรื่อง จิตมันก็เลยเป็นกลางกับสิ่งเหล่านี้ ทีแรกเกลียด ฝึกไปเรื่อยเลยรู้ว่าหนีไม่ได้ มันก็เป็นกลางขึ้นมา นี่คือเส้นทางที่พวกเราจะต้องเจอกัน เส้นทางที่นักปฏิบัติจะเจอ เส้นทางนี้ค่อยๆฝึกไป ถ้าอินทรีย์แก่กล้า เราก็อาจจะเข้าถึง ความเป็นกลางได้ จนสักว่ารู้ว่าเห็นอย่างพระพาหิยะได้ ถ้าบารมียังไม่แก่กล้าก็อาจจะได้โสดาบัน ได้สกิทาคามี ได้อนาคามี ไปตามลำดับ

ค่อยๆ ฝึกตัวเองทุกวันๆ อย่าละเลย อย่ามัวแต่หลงรูป ส่วนใหญ่หลงรูปคนอื่น บางคนหลงรูปตัวเอง ส่องกระจกทั้งวันเลย แต้มตรงโน้น แต้มตรงนี้ เติมตรงโน้น เติมตรงนี้อะไรอย่างนี้ บางคนก็ต้องไปแต่งหน้า ไปผ่าตัด ทำศัลยกรรม เคยอ่านข่าวเจอ ผู้หญิงคนหนึ่งมันเป็นโรคจิต มันชอบศัลยกรรมฉีดโน่นฉีดนี่เข้าไปที่หน้า สุดท้ายหน้าน่าเกลียดมากเลย หน้าใหญ่อย่างนี้เลย ก็ต้องไปหาหมอไปขูดเอาที่ฉีดออกไป หน้าที่เคยสวย น่าเกลียด ไม่มีใครมองอีกต่อไปแล้ว นี่หลงรูป อยากให้รูปสวยตลอดกาล สุดท้ายมันก็ทนไม่ไหว มันไม่ใช่ของวิเศษอะไร จิตใจดิ้นรนหาความสุข ความสุขก็ไม่ใช่ของวิเศษอะไร เรียนจนมันเป็นกลาง เป็นกลางแล้วมันไม่ยึดถือ ไม่ยึดถือแล้วมันก็ไม่ทุกข์ ก็แค่นี้ล่ะ ค่อยๆ ฝึกเอา

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
31 มกราคม 2564