หัวใจของการปฏิบัติคือการมีสติในชีวิตประจำวัน

ตั้งแต่วันเสาร์หน้าเราจะเปิดวัด ทีมงานก็ลำบากเวลาจะเปิดทำงานแบบนี้ พวกเราหลายคนก็เรียกร้องสูง เอาแต่ใจ ทีมงานที่ช่วยงานหลวงพ่อไม่ได้มีผลประโยชน์อะไร เป็นอาสาสมัครเสียส่วนใหญ่ เวลาให้บริการเราเขาก็ทำเต็มที่ บางคนต้องตอบโทรศัพท์เรา เราก็ด่าเอาๆ ไม่ไหว เขาไม่ใช่ขี้ข้าเรา ถึงเป็นขี้ข้าเรา เราก็ไม่ควรหยาบคายอย่างนั้น บางคนหยาบคายมาก เขาก็บันทึกเสียงไว้ด้วยเวลาโทรศัพท์มา มีหลักฐาน ไม่ได้เอาไปฟ้องหรอก แต่ว่าเก็บเรคคอร์ดไว้ ว่าสังคมไทยในวันนี้ หน้าตาจริงๆ ค่อนข้างอัปลักษณ์ หยาบคายใส่กัน เอาแต่อารมณ์ เอาแต่กูแน่ กูหนึ่ง กูเก่ง เรียกร้องสูง จะมาเรียกร้องอะไรนักหนา มาเรียนกับหลวงพ่อ จะมาเรียกร้องกับหลวงพ่อไม่ได้ เพราะหลวงพ่อไม่เคยร้องเอาผลประโยชน์อะไรจากทุกคน เรียกร้องข้อเดียว เรียนแล้วก็ไปปฏิบัติเอา ไม่ได้อยากได้อย่างอื่น อยากให้พวกเราปฏิบัติเพื่อเราจะได้ทุกข์น้อยลงๆ ถ้าพวกเราเข้าใจธรรมะแล้ว ต่อไปก็ได้ช่วยกันรักษาสืบทอดธรรมะออกไป ต้องการแค่นี้

 

ใจที่กระด้าง ถือตัว เรียนธรรมะไม่ได้

เวลาหลวงพ่อไปเรียนจากครูบาอาจารย์ หลวงพ่อไม่เคยเรียกร้องอะไรเลย บางทีเข้าไปในวัดครูบาอาจารย์ท่านเห็นหลวงพ่อท่านจำได้ ท่านก็บอกพระอุปัฏฐาก ให้ไปจัดกุฏิพระในป่าให้หลวงพ่อพัก ไม่ให้ไปพักกับญาติโยมส่วนใหญ่ที่เขามาวัดกัน ท่านให้แยก เพราะท่านรู้ว่าเราภาวนาจริงจัง พระอุปัฏฐากไม่ว่าง บอกให้หลวงพ่อไปขอลูกกุญแจจากพระ เรียกพระเวรอยู่ที่ศาลาใหญ่ พอไปขอท่านก็เวรจริงๆ ท่านบอกเป็นโยมจะมาพักเขตพระได้อย่างไร บอกครูบาอาจารย์สั่งอย่างนั้น ไม่ฟัง บอกให้ไปพักกุฏิรวมที่โยมมาพัก พวกขี้เมาพวกอะไรนี้เพียบเลย มันนั่งรถทัวร์มาวัดกัน แล้วมากินข้าวที่วัด มานอนที่วัด ไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นการทัวร์ สมัยโน้นเขาเรียกอรหันต์ทัวร์ ลือกันวัดไหนมีพระอรหันต์ แห่กันขึ้นรถทัวร์ไป ร้องรำทำเพลงเมากันไป

เราอยู่กับเขาไม่ไหว ทั้งเหม็นเหล้า ทั้งเอะอะโวยวาย เราไปวัดเราจะไปภาวนา ไม่ได้กุฏิอยู่หลวงพ่อไปอยู่ในป่า อยู่ใต้ต้นไม้ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย แล้วไม่ฟ้องครูบาอาจารย์เลย ไม่บอก เงียบ ถ้าฟ้อง วัดกรรมฐาน คำสั่งครูบาอาจารย์ถือเป็นที่สุด ไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา ครูบาอาจารย์สั่งแล้วกระด้าง เอาความเห็นตัวเองเข้ามาใช้แทนคำของครูบาอาจารย์ โทษก็คือไล่ออกจากวัด หลวงพ่อไม่ยุ่งด้วย อยากทำอะไรก็ช่าง เราไม่ไปเรียกร้อง ไม่ไปเพิ่มภาระให้ครูบาอาจารย์ เพราะเราจะมาภาวนาลดละกิเลสของเราเอง ตั้งใจอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่เป็นฆราวาส

เข้าไปอยู่ตามวัดครูบาอาจารย์ บางที่ โอ๊ย ร้อนมากเลย กลางวันนี้แทบหาที่อยู่ไม่ได้เลย ร้อนจัด เวลาลมพัดผ่านมา ทางอีสานหน้าร้อนเอาเรื่องนะ ลมพัดผ่านมาเหมือนลมพัดผ่านเตาไฟมา กลางวันร้อนอย่างนั้นเลย ลงไปอยู่ใต้ถุนกุฏิ หมามันมาขุดหลุมไว้ พื้นดินข้างล่างมันเย็น หมามันมาขุดไว้ ขอแบ่งกับมันอยู่กับหมา แล้วก็ภาวนาอยู่อย่างนั้น ในหลุมอย่างนั้นก็ภาวนาได้ ไม่มาเรียกร้องโน้นเรียกร้องนี้ตลอดเวลา ไปวัดครั้งแรกๆ บางที่ไม่คุ้นหาข้าวกินไม่ได้ ก็ไม่เรียกร้องอะไร ไม่มีก็ไม่กินก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย อดข้าวสักวันสองวันจะเป็นอะไร

ฉะนั้นสิ่งที่เราปรารถนาจริงๆ จากการไปวัด สำหรับหลวงพ่อคือไปเรียนธรรมะ พอเราเข้าใจหลักของการปฏิบัติแล้ว ที่ไปวัดเพื่อหาที่วิเวก ที่สงบ ไปนั่งภาวนาตามป่า ตามเขา ตามถ้ำ แต่ถ้ำส่วนใหญ่หลังๆ นี้อยู่ไม่ได้ หมู่บ้านมันเข้าไปใกล้วัด น้ำเน่าน้ำอะไรเยอะแยะ ยุงเพียบเลย ยุงไปอยู่ในถ้ำเพียบเลย ไปนั่งในถ้ำนั่งลำบาก ฉะนั้นหลวงพ่อไม่เคยเรียกร้องจากครูบาอาจารย์ ถือว่าเราไปรับความเมตตาจากท่าน เราอยากได้ธรรมะ เราอยากพ้นทุกข์ ไม่ได้ไปถือตัวว่ากูภาวนาเก่ง กูแน่ กูหนึ่ง ไม่ได้ถืออย่างนั้น ไปด้วยใจที่อ่อนน้อม กิริยาวาจาอ่อนน้อม

บางวัดมันก็มีเจ้าพ่อเจ้าแม่แบบผีบ้านผีเรือน พวกนี้ โอ๊ย มันดุมากเลย สกปรก อยู่กับครูบาอาจารย์แต่ว่าร้ายกาจ มีแทบทุกวัด ถ้าครูบาอาจารย์ท่านยังไม่แก่มาก ท่านก็ควบคุมอยู่ พอท่านแก่มากคุมไม่อยู่ ท่านบอกพวกผีพวกเปรตมาอยู่เต็มวัดเลย พวกนี้มาเบ่งมาอย่างโน้นอย่างนี้ หลวงพ่อไม่ไปทะเลาะด้วย เคยเจอกระทั่งยายชี อยู่วัดมาหลายสิบปี กูเก่ง ได้ยินพระได้ยินโยมมาเล่า ว่าครูบาอาจารย์ชมว่าหลวงพ่อภาวนาดี แกมาลุยเลยจะแน่สักแค่ไหนประเภทนั้น มาถึงยื่นหน้าถามเลย “ไหนเธอภาวนาอย่างไรว่ามาซิ” เล่าให้ฟัง แกหน้าซีดเลย แล้วตั้งแต่นั้นเลยไม่มายุ่งกับหลวงพ่อ เราไม่ไปยุ่งกับใคร เราไปของเราภาวนา หลวงพ่อไม่ค่อยได้เรียกร้องจากครูบาอาจารย์ พวกเราก็อย่ามาเรียกร้องกับหลวงพ่อ

มาเรียนธรรมะ มาด้วยใจที่อ่อนโยน มาด้วยใจที่อ่อนน้อม ใจที่กระด้าง ถือตัว มันเรียนธรรมะไม่ได้หรอก มันทำอะไรก็สนองกิเลสหมด เวลาคิดก็กูแน่ กูหนึ่ง เวลาพูดก็อวดดี อวดเบ่ง เวลาทำอะไรก็น่าเกลียด ฉะนั้นเราอยากได้ธรรมะ อยากดี สำรวมระวังจิตใจของเรานี้เป็นเรื่องสำคัญ ระมัดระวังจิตใจของเราอย่าให้มันกระด้าง ถือตัว อวดดี ระรานคนอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ทีมงานของหลวงพ่อ หลวงพ่ออบรมมาดี เพราะพื้นฐานเขาก็ดี พวกเราด่าตั้งครึ่งค่อนชั่วโมงแล้วเขาก็ยังเฉยๆ โกรธนะ โกรธแน่นอนแต่ไม่ได้ตอบโต้ จะบอกว่าไม่โกรธมันเป็นไปไม่ได้หรอก อยู่ๆ แล้วก็มาทำให้เขาเจ็บช้ำ เขาก็ต้องโกรธล่ะ แต่เขามีศีลเขาไม่ตอบโต้คำพูดที่ไม่ดี

สิ่งเหล่านี้พวกเราอย่าไปนึกว่ามันไม่ใช่การปฏิบัติ เราอย่าไปคิดว่าการปฏิบัติคือการนั่งสมาธิ การเดินจงกรม อันนั้นตื้นเกินไป ตื้นอย่างยิ่งเลย การปฏิบัติจริงๆ หัวใจของมันคือ “การมีสติอยู่ในชีวิตธรรมดานี้เอง” ครูบาอาจารย์ใหญ่ท่านอาจารย์มั่น ท่านก็สอนบอก “ทำสมาธิมากก็เนิ่นช้า คิดพิจารณามากก็ฟุ้งซ่าน หัวใจของการปฏิบัติ คือการมีสติในชีวิตประจำวัน” ตัวนี้สำคัญ นี้เรายังถือว่าการปฏิบัติคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ทุกวันเราทำอยู่แล้ว แต่เวลาที่เหลือเราก็อวดดี อวดเบ่ง เที่ยวระรานคนอื่น ไม่ได้ดูกิเลสตัวเอง อันนั้นเรียกว่านักปฏิบัติไม่ได้

 

ต้องปฏิบัติในชีวิตธรรมดาให้ได้

จุดสำคัญของการปฏิบัติ ก็คือในชีวิตธรรมดานี่ล่ะต้องปฏิบัติให้ได้ กิเลสมันเกิดขึ้นมารู้ทัน ถ้ามันไม่รู้ทัน มันก็บงการความคิดของเราให้ชั่ว ถ้ามันบงการความคิดของเราแล้ว เรามีสติรู้ทันเราก็ไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา ถ้ารู้ไม่ทันความชั่วมันก็ล้นออกมาทางกาย ทางวาจา อย่างคนพูดชั่ว รู้ได้เลย มันมาจากจิตที่ชั่ว คนที่พูดไม่ดี ระรานคนอื่นด้วยวาจา มันก็ถ่ายทอดออกมาจากจิตที่ชั่วนั่นล่ะ แล้วก็มองไม่เห็น ฉะนั้นการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ที่ว่าเป็นหัวใจของการปฏิบัติ คือเรามีสติรู้เท่าทันจิตใจของตัวเองไว้ เวลาตามองเห็นรูป ใจเราเกิดกุศล เกิดอกุศล เกิดยินดี เกิดยินร้าย ให้รู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันกิเลสมันจะทำงาน มันจะครอบงำความคิดเรา มันล้นออกมาจากใจเรา แล้วครอบงำความคิด ถัดจากนั้นก็ครอบงำคำพูดและการกระทำ

พอตาเห็นรูปจิตเรายินดียินร้าย จิตเราสุข จิตเราทุกข์ จิตเราโลภ โกรธ หลงขึ้นมา อย่างเราเห็นคนที่เราเกลียด จิตมันก็เกิดโทสะ ตาเห็นรูปจิตก็เกิดโทสะ ให้เรามีสติรู้ว่าตอนนี้จิตมันมีโทสะเกิดขึ้นแล้ว โทสะนั้นจะไม่สามารถมาครอบงำความคิดของเราได้ เมื่อความคิดของเราไม่ถูกโทสะครอบงำ คำพูดและการกระทำของเรา ก็จะไม่เป็นไปตามอำนาจของโทสะ หรือเราเห็นผู้หญิงสวยๆ ใจเราเกิดราคะ เกิดชอบ เมียคนอื่นแท้ๆ เลยสามีเขาก็มาด้วยยังไปชอบเขาอีก ราคะมันเกิด ราคะมันจะเกิดห้ามมันไม่ได้ ห้ามมันไม่ได้หรอกแต่ให้มีสติรู้ทัน อย่างเราเห็นผู้หญิงสวยเขามากับสามีเขา เราเกิดรักขึ้นมา ราคะเกิดขึ้นให้มีสติรู้ทัน ฉะนั้นตาเห็นรูปเกิดปฏิกิริยาอะไรขึ้นที่จิต ให้มีสติรู้ทัน ความคิดของเราก็จะไม่ถูกราคะบงการ คำพูดและการกระทำของเราก็จะไม่เป็นไปตามอำนาจราคะ นี่คือการปฏิบัติในชีวิตจริง เมื่อตาเห็นรูปจิตเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล เกิดอกุศล เกิดยินดี เกิดยินร้าย ให้มีสติรู้ทัน

เมื่อหูได้ยินเสียงก็ใช้หลักอันเดียวกัน เมื่อหูได้ยินเสียงแล้วเกิดสุขก็รู้ เกิดทุกข์ก็รู้ ปรุงกุศลก็รู้ ปรุงอกุศลก็รู้ ยินดีก็รู้ ยินร้ายก็รู้ ถ้าเรารู้ทันอย่างนี้กิเลสมันจะทำงานไม่ได้ กิเลสพอถูกรู้ทัน กิเลสมันเหมือนความมืด พอเรามีสติไปรู้ทันมัน เหมือนเราจุดแสงสว่างขึ้นมา เปิดหลอดไฟขึ้นมา ความมืดมันก็หนีไป ความมืดมันหายไปไหม มันยังไม่หายหรอก แต่มันซ่อนตัวอยู่ใต้แสงสว่างนั่นล่ะ เราภาวนาเราจะเข้าใจเลย กิเลสมันซ่อนตัวอยู่ในจุดที่ดีที่สุด มันอยู่ในจิตผู้รู้นั่นล่ะ สว่างไสว หัวโจกกิเลสนั่นล่ะซ่อนอยู่ในจิตผู้รู้ ก็เหมือนความมืดมันซ่อนอยู่ในห้องที่สว่างๆ พอไฟดับเมื่อไรความมืดมันก็ปรากฏออกมาเลย คือสติเราขาดเมื่อไร อกุศลที่มันสะสมไว้มันก็ทำงานขึ้นมาทันทีเลย

เพราะฉะนั้นการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ใช้หลักนี้เลย เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบธรรมารมณ์ เช่น เราคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ขึ้นมา เมื่อมันมีการกระทบอารมณ์ มีผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้ว มันเกิดความรู้สึกสุขให้รู้ทัน เกิดความรู้สึกทุกข์ให้รู้ทัน มันเกิดกุศลให้รู้ทัน มันเกิดโลภ โกรธ หลงให้รู้ทัน ถัดจากนั้นมันก็จะยินดียินร้าย อย่างมันมีความสุข ช็อตถัดมามันก็ยินดี เวลามันกระทบอารมณ์แล้วมันมีความทุกข์ ช็อตถัดมาก็คือไม่พอใจยินร้าย หรือมันกระทบอารมณ์แล้วจิตเป็นกุศลเราก็ยินดี ไม่เป็นกลาง ยินดีในกุศลก็ยังเรียกว่าไม่เป็นกลาง แล้วถ้าจิตเกิดอกุศลแล้วยินร้าย นักปฏิบัติเห็นตัวเองมันโลภ มันโกรธ มันหลง ก็ยินร้ายไม่ชอบ ก็ใช้ไม่ได้ไม่เป็นกลาง

อันนี้ไม่ได้พูดถึงคนทั่วไป คนทั่วไปกุศลเกิดไม่ได้ยินดี เฉยๆ ไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก อกุศลเกิดภูมิใจ เช่น โทสะเกิด โมโหขึ้นมาก็รู้สึก กูนี่ล่ะไม่กลัวใครในโลกนี้ กูนี่กระทั่งมองหน้าหมาๆ ยังหางจุกก้นเลย ภูมิใจนะ ที่จริงก็คือความอำมหิต แหม มันแผ่ออกมา หมายังกลัวเลยเอาหางจุกก้น วิ่งหนี เรากลับไปภูมิใจ นี่คนทั่วๆ ไปที่เขาไม่ภาวนา ไม่รู้เท่าทันกิเลส เวลามีกิเลสบางทีภูมิใจ อย่างพวกเซลฟ์จัด ด่าคนอื่นฉอดๆๆๆ เลยมันรู้สึกภูมิใจ มันรู้สึกว่ากูแน่ กูหนึ่ง กูไม่กลัวใคร มีบางคนหลวงพ่อไปเห็น มีคลิปอันหนึ่งคนมันขับรถ รถหรูๆ เลย คงรำคาญพวกขับรถกระจอกๆ รถถูกๆ แล้วมาวิ่งอยู่ข้างหน้า รำคาญ มันขับปาดเลย ปาดแล้วไม่หนีไปนะ ขวาง ลงจากรถมาเอาอะไรไปทุ่มกระจกรถเขาแตก รู้สึกกูนี่แน่มากเลย อย่างมากก็เสียสตางค์ไม่เห็นจะเป็นไร กูรวย รถคันเล็กมันถอยๆๆๆ เลยเก่งใหญ่ มันขับพุ่งชนเลย ตอบสนองความชั่วร้ายด้วยความชั่วร้ายที่ยิ่งกว่า ในโลกมันเป็นอย่างนี้ เวลามีกิเลสแล้ว แหม มันสะใจ มันภูมิใจ ที่แท้ก็คือมันแพ้กิเลสกันทั้งคู่ คนแรกที่เต้นก๋าๆ ทีแรกวิ่งหนีหัวซุกหัวซุนเลย ถูกเขาเอารถไล่ชนเอา ไปเต้นอยู่กลางถนน ดูแล้วคนในโลกมันเป็นอย่างนั้น

เรานักปฏิบัติ เราไม่ตามใจกิเลสอย่างนั้น ถือเป็นเรื่องน่าอับอาย ถ้าเราโทรศัพท์คุยกับใครแล้ว เราไม่ถูกใจเราก็ด่าๆๆ เขา โดยเฉพาะพวกที่ให้บริการ เป็นที่รองรับกิเลสของคนซึ่งไม่ได้ขัดเกลาจิตใจ ก็จะเที่ยวไปด่าๆ เขา ตามร้านอาหารเราจะเห็นพนักงาน แหม มันเป็นคนระดับล่าง ไม่พอใจก็ด่าเอาๆ อันนั้นฟังแล้วเหมือนกูเก่ง แต่สำหรับคนที่ภาวนาแล้ว ทุเรศ ทุเรศที่สุดเลย เที่ยวระรานเขาด้วยวาจา ด้วยการกระทำ มันสะท้อนจิตใจที่ไม่เคยฝึกปรือเลย ถ้าเราฝึกปรือจิตใจของเรา เราอดทนอดกลั้นกระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจ อย่างไรก็ต้องมี การกระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจ แต่เรารู้จักอดทน เรารู้จักอดกลั้น เรามองลงมาที่จิตที่ใจของเรา อย่างโดนเขาด่า เราก็ดูลงไปที่ใจของเรา ใจเราเป็นอย่างไรที่เขาด่า เขาด่ามีเหตุผลถือว่าเขาสอนเรา เขาด่าไม่มีเหตุผลก็เรื่องของเขา ปากเขา เราก็รักษาใจของเรา

หลวงพ่อก็ผ่านสิ่งเหล่านี้มาแล้วทั้งนั้น ก่อนจะบวชหลวงพ่อเคยไปขอหนังสือ ของครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่องค์หนึ่ง ท่านมีหนังสือสอนเกี่ยวกับกรรมฐาน เพราะพระอุปัชฌาย์ให้หลวงพ่อไปอยู่ที่สวนโพธิญาณอรัญวาสี ที่เมืองกาญจน์ฯ เป็นที่ของพระอาจารย์สุจินต์ พระอุปัชฌาย์ให้หลวงพ่อไปอยู่ที่นั้น เรารู้สึกว่า โอ้ ถ้าเราไปอยู่ตรงนั้น เราติดขัดการภาวนาเราจะถามใครได้ ต้องหาตำราไปมากกว่า ถ้าหาครูบาอาจารย์ตัวเป็นๆ ไม่เจอก็ต้องดูตำราเอา ก็เลยเข้าไปขอหนังสือฝึกกรรมฐานต่างๆ ของครูบาอาจารย์ พระที่ท่านคุมศาลาอยู่ ก็คงเป็นประเภทพระเวรอีกองค์หนึ่ง พระเวรมีไม่น้อยมีเยอะแยะเลยแทบทุกวัด

พระเวรนี้แกถามหลวงพ่อเลยว่า “จะเอาไปทำอะไรหนังสือกรรมฐาน เอาหนังสือทอดผ้าป่าดีกว่า” เราบอกเราจะไปบวช “แล้วจะอ่านรู้เรื่องหรือ” ว่าไปอย่างนั้น แล้วด่าหลวงพ่ออยู่สักครึ่งชั่วโมงได้ หลวงพ่อก็ไม่ว่าอะไร เราก็นั่งพับเพียบเรียบร้อยอยู่แล้ว คุยกับพระนั่งเรียบร้อยพนมมือ เราดูซิมือเราจะสั่นหรือยัง เฉยๆ ท่านก็ด่าๆๆๆ ยิ่งด่าน้ำลายฟอดเลย กระจาย มัน ท่าทางอย่างนี้เลย เราก็อยากด่าก็ด่าไปเดี๋ยวก็เหนื่อย เดี๋ยวเหนื่อยแล้วก็เลิกเองล่ะ ดูซิเธอจะด่าได้นานแค่ไหน ด่าจนหมดแรงเลย ด่าจนเหนื่อยเลย พระอีกองค์หนึ่งเป็นพระผู้น้อยลงไป ท่านก็ไปหยิบหนังสือมาให้หลวงพ่อ หนังสือชุดนั้นหลวงพ่อกะเอาไว้เลย เวลาถ้าเราภาวนาติดขัด เราจะมาอ่าน จะหาทางแก้ไขตัวเอง เพราะเราไม่สามารถตระเวนไปฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ หรือไปถามครูบาอาจารย์ตรงๆ ได้แล้ว เพราะธรรมเนียมพระบวชแล้ว 5 พรรษาแรก ไปเที่ยวร่อนเร่ที่วัดโน้นวัดนี้ตามใจชอบไม่ได้ ก็ต้องอยู่กับครูบาอาจารย์ เรียกว่าถือนิสสัยครูบาอาจารย์ อยู่ในปกครอง ทำตามใจชอบไม่ได้ ก็เลยต้องเตรียมตำรับตำราไว้

ตำรับตำราชุดนั้น หลวงพ่อกะว่าถ้าติดขัดแล้วจะไปดู นี่ 20 กว่าปีแล้วที่ผ่านมายังไม่ได้ไปดูเลย เพราะว่าไม่รู้สึกติดขัดอะไร ภาวนาแล้วก็สังเกตจิตสังเกตใจของเราไปเรื่อยๆ ทำอย่างนี้แล้วกุศลเจริญเราก็ทำ ทำอย่างนี้แล้วอกุศลเจริญเราก็ไม่ทำ เราคอยวัดจิตวัดใจตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะเราเชื่ออย่างหนึ่ง หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอก “ธรรมะทั้งหมดออกมาจากจิตนี้เอง” ธรรมะที่เป็นกุศลมันก็มาจากจิต ธรรมะที่เป็นอกุศลก็มาจากจิต ถ้าเราคอยรู้เท่าทันจิตตัวเอง กุศลเกิดเราก็รู้ อกุศลเกิดเราก็รู้ กุศลเกิดแล้วเรายินดีเราก็รู้ อกุศลเกิดแล้วเรายินร้ายเราก็รู้ เฝ้ารู้อยู่อย่างนี้เรื่อยๆ นี่ล่ะเรามีความเพียรชอบ

 

“คนส่วนใหญ่คิดว่าการปฏิบัติคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ฉะนั้นอยู่ข้างนอกนี่ไม่ปฏิบัติ
พวกนี้บอกเลยไม่มีวันบรรลุมรรคผลหรอก ไม่ได้กินหรอก
เพราะอะไร ชีวิตส่วนใหญ่เราอยู่ข้างนอกนี้ ชีวิตส่วนใหญ่เราไม่ได้ไปนั่งสมาธิอยู่เสียเมื่อไร”

 

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ จิตเกิดสุข เกิดทุกข์ รู้ทัน จิตเกิดกุศล เกิดโลภ โกรธ หลง รู้ทัน จิตมีปฏิกิริยายินดี ยินร้าย รู้ทัน สังเกตอย่างนี้ในชีวิตจริงๆ นี่คือหัวใจของการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ถึงเวลาเราก็นั่งสมาธิ ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม มีเวลาเราก็ทำ ตั้งอกตั้งใจทำทุกวันๆ จิตจะมีพลัง แต่ว่าตัวสำคัญเลยที่จะแตกหักได้จริงๆ อยู่ในชีวิตธรรมดานี่ล่ะ คนส่วนใหญ่มันคิดว่าการปฏิบัติคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ฉะนั้นอยู่ข้างนอกนี่ไม่ปฏิบัติ พวกนี้บอกเลยไม่มีวันบรรลุมรรคผลหรอก ไม่ได้กินหรอก เพราะอะไร ชีวิตส่วนใหญ่เราอยู่ข้างนอกนี้ ชีวิตส่วนใหญ่เราไม่ได้ไปนั่งสมาธิอยู่เสียเมื่อไร

ฉะนั้นถ้าเราไม่สามารถปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ โอกาสจะบรรลุมรรคผลยาก เป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้หมายถึง เป็นไปได้ยากมากเลย เปอร์เซ็นต์ต่ำมากเลย แต่ถ้าเราเจริญสติในชีวิตประจำวันอยู่ มรรคผลจะเกิดเมื่อไรเราไม่รู้หรอก มันเกิดได้เมื่อไรก็ได้ นั่งอยู่ก็เกิดได้ นอนอยู่ก็เกิดได้ นั่งไม่ใช่นั่งสมาธิ นั่งเก้าอี้อย่างนี้มันจะเกิดก็เกิดได้ ครูบาอาจารย์บางองค์ ท่านได้ดิบได้ดีตอนท่านนั่งเทศน์อยู่บนธรรมาสน์ ท่านเทศน์ไปท่านก็อ่านจิตใจของท่านไป กระแสธรรมะก็ถ่ายทอดออกมาท่านก็พูดไปๆ ก็รู้ทันจิตใจของท่านไปเรื่อยๆ ถึงจุดที่บารมีท่านเต็ม จิตท่านรวมแล้วก็ตัดกิเลสตรงนั้นเลย

มีครูบาอาจารย์ที่ท่านล้างกิเลสตอนกำลังแสดงธรรม บางท่านก็ล้างกิเลสตอนฟังธรรม บางท่านก็ล้างกิเลสตอนปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมอยู่ในชีวิตธรรมดานี้ด้วย นั่งสมาธิเดินจงกรมด้วย ฉะนั้นปฏิบัติครอบคลุมทั้งการปฏิบัติในรูปแบบ และการปฏิบัติในชีวิตธรรมดานี้ ในรูปแบบก็ทำเท่าที่ทำได้ มีวินัยทำทุกวันๆ แล้วจิตจะได้มีกำลัง ส่วนในชีวิตประจำวันนี้ ต้องทำ แล้วเวลาเราอยู่ในชีวิตประจำวัน แล้วจะทำได้อย่างไร หลักมันก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้วก็อ่านจิตตนเองไป เวลาเราทำงานต้องคิด หรือเราจะคุยกับลูกค้าเราต้องคิด ตรงนั้นจะปฏิบัติได้อย่างไร ตรงนั้นปฏิบัติไม่ได้

ตอนที่เราทำงานที่ใช้ความคิด กับตอนที่เรานอนหลับปฏิบัติไม่ได้หรอก แต่พอมันคิดไปแล้วมันเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศลอะไรขึ้นมา มันคิดเรื่องงานหรือเราคุยกับลูกค้า เราก็ต้องคิด คิดไปแล้วก็คุยไปๆ เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศล เกิดยินดี เกิดยินร้ายอะไรขึ้นมา ถ้าเราเคยฝึกไว้จนชำนาญ มันจะรู้ได้เอง เช่นเราคุยกับคนนี้แล้วก็เกิดทะเลาะกัน จิตเรามีโทสะขึ้นมา เราไม่ได้เจตนาจะรู้ว่าจิตมีโทสะเลย แต่เราเคยฝึกอ่านจิตอ่านใจตนเองจนชำนาญ พอโทสะเกิดปุ๊บมันเห็นเองเลย ไม่ต้องไปตั้งอกตั้งใจดูเลย เพราะฉะนั้นต้องฝึกจนมันเป็นอัตโนมัติ หัดดูจิตดูใจตัวเองจนมันสามารถดูจิตดูใจได้อัตโนมัติ

 

ลูกศิษย์หลวงพ่อต้องเห็นกิเลสตัวเองได้

เราจะเห็นว่าจิตใจของเราเปลี่ยน เมื่อมีผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอมีผัสสะมันก็เกิดสุข เกิดทุกข์ คือเกิดเวทนาขึ้นมา แล้วก็จะปรุงกุศล ปรุงอกุศลขึ้นมา แล้วก็จะปรุงตัณหาขึ้นมา ปรุงความดิ้นรนของจิตก็คือภพขึ้นมา แล้วปรุงการหยิบฉวยอายตนะขึ้นมาเรียกว่าชาติ แล้วก็สร้างความทุกข์ขึ้นมา นี่กระบวนการของมัน อาศัยฝึก คอยรู้ทันตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้ว จิตใจเราเป็นอย่างไรคอยรู้เอา ไม่ใช่ได้ยินเขาด่าก็จะจ้องไปด่ากับเขา ไม่เห็นว่าโทสะเกิด อย่างนี้ใช้ไม่ได้ หรือโทร.มาจะเรียกร้องอยากจะมาฟังหลวงพ่อเทศน์ จะมาเรียกร้องสิทธิพิเศษ พอทีมงานเขาไม่ให้ก็โมโหด่าเขาฉอดๆๆๆ อันนั้นไม่ใช่ลูกศิษย์หลวงพ่อแน่นอนเลย ลูกศิษย์หลวงพ่อไม่เที่ยวไปด่าใครหรอก จะดูกิเลสตัวเอง

ลูกศิษย์หลวงพ่อไม่ต้องมาตั้งขันครู ไม่ต้องมาสมัครเป็นลูกศิษย์ เมื่อไม่กี่วันนี้ก็มี มีโยมคนหนึ่งเอาขันมีหมากพลู มีบุหรี่ มีผ้าหนึ่งผืน มาไหว้หลวงพ่อสมัครเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อก็รับไว้ให้ แต่ว่าก็บอกเขาว่าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อไม่ต้องทำพิธีกรรมหรอก ปฏิบัติธรรมไป ฟังหลวงพ่อเทศน์แล้วก็เอาไปลงมือปฏิบัติ นั่นล่ะเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นถ้าเราเห็นกิเลสตัวเองได้ เรียนกับหลวงพ่อแล้วเราเห็นกิเลสตัวเองได้ นั่นล่ะลูกศิษย์หลวงพ่อ ถ้าภาวนาเรียนกับหลวงพ่อแล้วไม่เห็นกิเลสตัวเอง เห็นแต่กิเลสคนอื่น บางคนเห็นแต่กิเลสคนอื่น มันมีหูตาว่องไวรู้จิตคนอื่น ใครเขามีกิเลสอะไรรู้หมดเลย ไม่เห็นกิเลสตัวเองเท่านั้นล่ะ อันนี้ไม่ใช่ลูกศิษย์หลวงพ่อ ลูกศิษย์หลวงพ่อต้องเห็นกิเลสตัวเองได้

พยายามฝึกตัวเองทุกวันๆ แล้วเราจะได้ดี บางคนชอบมาขอพร ขอบอกว่า “ธรรมใดที่หลวงพ่อเห็นแล้ว ขอให้กระผม ขอให้ดิฉันได้เห็นด้วย” หลวงพ่อก็อนุโมทนา สาธุ แต่ต้องมีอีกประโยคหนึ่ง “ธรรมใดที่หลวงพ่อปฏิบัติแล้ว เราต้องปฏิบัติด้วย” หลวงพ่อรักษาศีล หลวงพ่อฝึกสมาธิ หลวงพ่อเจริญสติ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ถ้าเราทำอย่างนี้ได้เราจะไม่ต้องมาขอหรอกว่า ว่าขอให้ได้ผลอย่างนั้นให้ได้ผลอย่างนี้ ให้เราทำเหตุ เราชาวพุทธไม่ขี้ขอ อย่าเป็นพวกขี้ขอ ขี้ขอมันลูกศิษย์เทวทัต ลูกศิษย์ชูชก ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เชื่อในกรรมและผลของการกระทำ

เราอยากได้มรรคผลนิพพาน เราก็ต้องทำเหตุให้เกิดมรรคผลนิพพาน คือเจริญองค์มรรค เจริญศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ต้องขอ ถ้าเรามีศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์แล้ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขอมรรคผลมันก็เกิดเอง มันมาได้เอง เพราะเราทำเหตุสมบูรณ์แล้วผลมันก็มา แต่ถ้าเราไม่ได้ทำเหตุเราเอาแต่ขอ ไปไหว้พระองค์โน้น ไหว้พระองค์นี้ ไหว้พระพุทธรูป แล้วก็ขอโน่นขอนี่ ไม่มีทางหรอก อะไรๆ มันก็ไม่เหนือกรรมไปได้หรอก อย่างเราไปไหว้พระ ไหว้พระพุทธรูป พระพุทธบาท ไหว้พระธาตุ เจดีย์อะไรต่ออะไร อธิษฐานขอให้เราบรรลุมรรคผลนิพพาน อันนั้นเป็นแค่การเตือนจิต ให้รู้เป้าหมายของชีวิตเท่านั้นเอง

เมื่อเป้าหมายของชีวิตเราต้องการมรรคผลนิพพาน บางคนต้องการสัพพัญญุตญาณ อยากเป็นพระพุทธเจ้า เวลาไปทำดีทำบุญอะไรก็ตั้งความปรารถนา อันนี้คือการเตือนตัวเองให้รู้เป้าหมายของชีวิต ไม่ใช่ว่าเราไปไหว้พระธาตุแล้ว เราจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ไม่ใช่ไหว้พระธาตุเฉยๆ แล้วเราจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ เป็นไปไม่ได้ ต้องทำเหตุ เหตุคือศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่เหตุคือการไหว้วานอ้อนวอนร้องขอใดๆ ทั้งสิ้น เหตุกับผลต้องตรงกัน

เพราะฉะนั้นอย่างเวลาเราไปไหว้พระธาตุ ไปไหว้พระบาท ไปไหว้พระพุทธรูป หรือไหว้ครูบาอาจารย์ เราตั้งความปรารถนาว่าเราจะทำดีอย่างนี้ๆ ท่านก็จะอนุโมทนาให้ ส่วนเราจะได้หรือไม่ได้ อยู่ที่ตัวเราเองแล้ว เราทำเหตุสมควรแก่ผล ผลมันก็มี ไม่ทำเหตุให้ดีผล มันก็ไม่ได้อย่างดีหรอก หลวงพ่อเคยเจอผู้หญิงคนหนึ่ง สงสารจังเลยเห็นแล้ว เขาจนมากเลยยากจน วันหนึ่งเขาเอาเสื่อไป เขาทอเองเลย เสื่อไม่ใหญ่เท่าไร เอาไปถวายครูบาอาจารย์ แล้วเขาก็ประกาศ “ด้วยผลของทานอันนี้ ขอให้เขาได้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต” ครูบาอาจารย์ก็ “สาธุ” ถ้าขออย่างนี้แล้วก็ไม่ทำคุณงามความดีอะไรต่อ ก็ไม่ได้หรอก ครูบาอาจารย์ “สาธุ” ก็ให้กำลังใจ

ฉะนั้นพวกเราต้องฉลาดอย่าขี้ขอ เราเชื่อเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม ฉะนั้นเราอยากได้อะไรที่ดี อยากได้ผลที่ดี เราต้องทำเหตุที่ให้เกิดผลดี ถ้าเราไปทำเหตุที่ชั่ว แต่เราร้องขอให้ได้อะไรที่ดี มันไม่ได้หรอก อย่าเพ้อฝัน คำร้องขอทั้งหลายเป็นการแค่การย้ำ การเตือนจิตใจตัวเองเท่านั้นว่าเรามีเป้าหมาย เป้าหมายของเรา เช่น อยากจะพ้นทุกข์ อยากได้มรรคผลนิพพาน อยากเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อจะมาสงเคราะห์สัตว์โลก ร้องขอเฉยๆ ไม่ได้ต้องทำเหตุ

 

ฉะนั้นพวกเราพยายามฝึก ฝึกให้ได้ ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึก จะฝึกสมาธิก็ฝึกในรูปแบบ ง่ายที่สุดนั่งสมาธิ เดินจงกรมอะไรไป ไปดูที่หลวงพ่อสอนไว้มีเยอะแยะ แล้วก็หัวใจสำคัญคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ถ้านั่งสมาธิก็สงบดี เดินจงกรมได้นาน พอออกมาแล้วก็โมโหโทโส ด่าคนโน้น ด่าคนนี้ อย่าหวังเลยเรื่องมรรคผลนิพพาน ไม่มีทาง ถึงไปเกาะชายจีวรพระพุทธเจ้าอยู่ก็ไม่ได้ อย่าว่าแต่จะมาฟังเทศน์หลวงพ่อเลย ไปเกาะจีวรพระพุทธเจ้าอยู่ มันก็ไม่ได้มรรคผลอะไรหรอกก็ต้องทำเหตุให้ดี

เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ รู้สึกว่าพวกเราตื่นตัวดี เทศน์เรื่องธรรมะธรรมดาๆ อย่างนี้รู้สึก แหม Alert จิตใจ ถ้าเทศน์ธรรมะลึกซึ้งก็จิตประณีต รวม จิตรวม รวมเข้ากับโมหะ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 มิถุนายน 2565