อยากเป็นพระโสดาบัน

ช่วงนี้หลวงพ่อเห็นพวกเราหลายคน เยอะ ฟังยูทูปแล้วก็ไปปฏิบัติ ก็ทำสม่ำเสมอเข้า จิตก็มีกำลังขึ้นมา บางคนก็เรียนกับหลวงพ่อมานาน ฟังลูกเดียว ทำบ้างไม่ทำบ้าง มันไม่เข้าใจ ตั้งหลายปีมันก็ไม่เข้าใจ พอลงมือปฏิบัติสม่ำเสมอ ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ในเวลารวดเร็ว ไม่นาน ธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าทำถูก ทำให้พอ ไม่นาน จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง วิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง ไม่มีใครต้องมาบอกเรา เห็นความเปลี่ยนแปลง

ก็มีบางพวกขยันภาวนา ฟังเยอะแล้วก็ภาวนาเยอะ แต่อ่านจิตใจตัวเองไม่ออก ไปเดินจงกรมก็เดินเพ่ง นั่งสมาธิก็นั่งเพ่งเอาไว้ อย่างนี้เสียเวลา ทำให้เนิ่นช้า ฟังยูทูปแล้วก็ลงมือปฏิบัติ แล้วใช้ความสังเกตเอา ที่เราทำอยู่นี้มันใช่ไม่ใช่ ถ้าทำมาตั้งนานแล้วก็ กิเลสไม่สะเทือนเลย ไม่ใช่แน่นอน ถ้าทำแล้วก็เห็นกิเลสตัวเองไวขึ้น ชัดขึ้น เห็นแล้ววางได้เร็วขึ้น ความรู้สึกทั้งหลาย รู้แล้ววางๆ อันนี้ก็มีพัฒนาการ ให้ตั้งใจปฏิบัติ ให้เด็ดเดี่ยวลงไป

ชีวิตคนเราสั้น ไม่นานก็ตายแล้ว ถ้าเราตายตอนที่เรายังไม่ได้ธรรมะ เรายังไม่มีหลักประกัน ว่าอนาคตของเราจะพ้นทุกข์ได้ มันไม่มีหลักประกันจริงๆ ในสังสารวัฏนี้ ฉะนั้นเราประมาทไม่ได้เลย มีโอกาสฟังธรรมะก็ฟัง มีโอกาสลงมือปฏิบัติก็รีบปฏิบัติ อย่าผัดเวลา เมื่อนั้นเมื่อนี้ถึงจะทำ บางคนผัดจนกระทั่งชาตินี้ไม่ได้ทำเลย ตราบใดที่เรายังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน เรายังไม่มีหลักประกันที่แน่นอนในสังสารวัฏนี้ เป็นคนดีมีบุญวาสนามาก ดีมาก แต่ไม่ได้โสดาบัน ตายไปอาจจะไปทำชั่วอีกก็ได้ มันลืม ลืมความปรารถนาที่จะพ้นทุกข์

ไม่เฉพาะพวกเรา สมัยครูบาอาจารย์ก็มี อย่างท่านพระอานนท์ ท่านก็สร้างบารมีของท่าน ทำบุญทำอะไรก็ตั้งความปรารถนา เกิดมาชาติไหนก็ขอให้หล่อ อยากมีรูปหล่อ คราวนี้ทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้า บุญให้ผล เกิดทีไรหล่อทุกทีเลย แต่ลืมจุดมุ่งหมายสำคัญในชีวิต ความพ้นทุกข์ ลืม ก็เริ่มไปใช้ความหล่อให้เป็นโทษ ก็ไปเป็นชู้กับคนโน้นคนนี้ ท่านก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในนรกเป็นเวลานาน ขึ้นมาเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถูกตอนนับภพนับชาติไม่ถ้วน เกิดมาเป็นมนุษย์ก็เป็นบัณเฑาะว์ เรียกบัณเฑาะว์ คือไม่ปกติ

บัณเฑาะว์ มันไม่ใช่แค่ว่าเป็นเกย์ เกย์ก็เป็นชนิดหนึ่ง ไม่ห้ามการบวช ไม่ห้ามมรรคผล มีบัณเฑาะว์บางชนิดก็บวชไม่ได้ อย่างเกิดมามีอวัยวะเพศทั้ง 2 ชนิด อย่างนี้บวชไม่ได้ ผิดปกติ ถ้าแค่เป็นเกย์เป็นอะไร บวชได้ ไม่ห้ามมรรคผลหรอก ท่านบอกท่านไปเป็นกะเทยอยู่นาน 500 ชาติ กว่าจะกลับมาเป็นคนซึ่งใจแข็ง เป็นเกย์มันไม่ได้เป็นความผิด แต่ว่าจุดอ่อนมันมี ใจอ่อน ใจอ่อนรักง่ายหน่ายเร็ว มันก็พร้อมจะทำผิดซ้ำอีก รักง่ายหน่ายเร็ว

อย่างพวกเรายุคนี้เป็นเกย์เยอะแยะ ไม่แปลกหรอก ให้ถือศีล 5 ไว้ให้ดี เป็นเกราะป้องกันตัวไป อย่าเจ้าชู้เรี่ยราดไป จะมีแฟนผู้หญิงผู้ชายอะไร ไม่เป็นไรหรอก แต่ว่ารักษาศีล 5 อย่างนี้ก็ภาวนาได้ ไม่ห้ามมรรคผลหรอก ฉะนั้นถ้าเราเกิดมาแล้ว เราใจโลเล ใจอ่อน ฝึกตัวเองให้เข้มแข็ง ตั้งใจให้เด็ดเดี่ยว ความสุขในกามมันแวบเดียวเท่านั้นเอง แล้วทุกข์โทษที่ได้รับมันเยอะ วางใจให้ดี วางใจให้ถูก เราจะก้าวไปข้างหน้าได้สม่ำเสมอ ไม่ต้องทำผิดแล้วผิดอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก

เมื่อเช้าก็มี คนมาถามหลวงพ่อ คือตั้งใจมากจะมาเขาก็บอกว่าอยากได้โสดาบัน บอกว่าดีนะ อันนี้อยากได้โสดาบัน ดี ตั้งเป้าไว้เลย ชาตินี้ขั้นต่ำขอเป็นพระโสดาบันให้ได้ ส่วนอีกคนหนึ่งก็ต้องปรับเรื่องสมาธินิดหน่อย ยังไปติดปรุงแต่งจิตให้มันนิ่งๆ อยู่ อีกคนหนึ่งใช้ได้เลย แค่ฟังยูทูปภาวนาถูกต้องเป๊ะๆ เลย ขันธ์แยก จิตตั้งมั่น อาศัยการสังเกตเอา ฟังที่หลวงพ่อเทศน์แล้วก็ไปสังเกตของจริงเอา ว่าที่เราทำอยู่มันถูกหรือมันไม่ถูก ไม่ต้องถามใครก็ได้ แต่ใช้ความสังเกตเอา

 

อาศัยการสังเกตของจริง
ถ้าผิดหลักอริยสัจ สิ่งที่ทำนั้นผิดแน่นอน

ถ้าสิ่งที่เราทำอยู่มันขัดกับเรื่องของอริยสัจ ผิดแน่นอน ขัดกับเรื่องไตรลักษณ์ ผิดแน่นอน ขัดเรื่องอริยสัจ เช่น เราภาวนา เราเห็นทุกข์ เราอยากละทุกข์ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ละทุกข์ หลักของอริยสัจท่านสอนให้รู้ทุกข์ ไม่ได้ละทุกข์ ที่ละ ละความอยาก แต่พวกเรากลับมีความอยาก อยากอะไร อยากละทุกข์ มันตรงข้ามหมดเลย ท่านบอกให้รู้ทุกข์ ให้ละสมุทัย ของเรามีสมุทัยที่จะละทุกข์ เราสังเกตตัวเองไป ที่เราภาวนานี้ เรามุ่งที่จะรู้ทุกข์ หรือมุ่งที่จะละทุกข์ ใช้สังเกตตัวเองเอา ที่เราภาวนาอยู่นี้ เราตามใจกิเลสตัณหา หรือเราคิดจะเป็นอิสระจากมัน

อย่างความอยากเกิดขึ้น ก็ตามใจมันตลอดเวลา อยากทำอะไรก็ตามใจ อยากทำอะไรก็ตามใจ ให้สังเกต ความต้องการที่เกิดขึ้นนั้นมันมี 2 ชนิด อันหนึ่งความต้องการจากกิเลส อีกอันหนึ่งเป็นความจำเป็นทางร่างกาย อย่างร่างกายเราหิวข้าว เราก็ต้องหาอาหารกิน อันนี้ไม่ใช่กิเลส เราทำงานเหน็ดเหนื่อย ร่างกายต้องการนอน เรานอน ไม่ใช่กิเลส แต่อย่างอิ่มๆ อยู่ อยากกินโน่นกินนี่ อันนี้กิเลส นอนจนไม่รู้จะนอนอย่างไรแล้ว ก็ยังอยากนอนอีก อย่างนี้กิเลส มันขี้เกียจ

เราสังเกตเอา เราอยู่ในหลักที่ถูกต้องไหม เรารู้ทุกข์ไหม หรือเราอยากละทุกข์ เราคิดจะสู้กิเลส หรือเราคิดจะตามใจกิเลส เวลาตามใจกิเลส เราจะหาข้ออ้าง เพื่อปกป้องการกระทำที่ผิดของเรา มีข้ออ้างมากมาย เช่น เราเดินจงกรม เราตั้งใจเดินจงกรม 2 ชั่วโมง เดินไปๆ เบื่อ ก็หาข้ออ้าง ถ้าเราเบื่ออย่างนี้ ยังจะไปฝืนเดิน มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค ทำกายทำใจให้ลำบาก ฉะนั้นไปนอนดีกว่า อันนี้แก้ตัวให้กิเลส พวกเราพร้อมจะแก้ตัวให้กิเลสเสมอ เวลาเราจะทำอะไรผิด หาข้ออ้างได้เรื่อยๆ ยิ่งฉลาดมากก็ยิ่งข้ออ้างเยอะ ฉลาดทางโลก แต่มันโง่ทางธรรม คือปกป้องกิเลส

เราค่อยดูไป ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้ มันถูกหลักของอริยสัจไหม ถ้ามันผิดหลักอริยสัจ ที่ทำนั้นผิดแน่นอน หรือดูมันผิดหลักไตรลักษณ์ไหม ถ้ามันผิดหลักไตรลักษณ์ ก็ผิดแน่นอนเหมือนกัน หลวงพ่อก็อาศัย 2 สิ่งนี้ สังเกตดู ว่าเราเดินอยู่ในเส้นทางอริยสัจหรือเปล่า เราหลุดออกจากเรื่องไตรลักษณ์หรือเปล่า

อย่างมีช่วงหนึ่ง ตอนนั้นนานมากแล้ว ยังไม่ได้บวช ภาวนาแล้วหลวงพ่อเห็น กิเลสมันผุดขึ้นมาจากกลางอก พอมองเห็นปั๊บมันดับปั๊บ เห็นปั๊บมันดับปั๊บ ก็เลยสงสัย ถ้าเราไม่ดูให้มันดับ ปล่อยให้มันทำงาน แล้วมันจะเป็นอย่างไร ก็ปล่อย รู้มันแบบแผ่วนิดเดียว แตะแผ่วๆ เบาบางที่สุด ถ้าดูด้วยจิตที่ตั้งมั่นมีกำลัง มันขาดสะบั้นเลย กิเลสผุดขึ้นมา เรารู้แผ่วๆ ขึ้นมา เราก็รู้ไปอย่างนี้ ปรากฏว่ากิเลสมันเคลื่อนออกไป เคลื่อนออกไปข้างหน้า แล้วมันก็ดับไป หลวงพ่อยังนึกว่าจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่ ที่แท้ตัวรู้มันเคลื่อนตามกิเลส ออกข้างนอกไปแล้ว แล้วจิตมันก็ไปว่างสว่าง อยู่กับความสว่าง อยู่กับโอภาส อยู่นาน อยู่เป็นปีเลย จนกระทั่งสังเกตว่า เอ๊ะ ทำอย่างนี้มันถูกหรือเปล่า พระพุทธเจ้าบอกว่าจิตของเราไม่เที่ยง ทำไมจิตเที่ยง จิตเราสว่างไสวคงที่มีความสุขอยู่อย่างนั้น นานเลย ทำไมจิตมันเที่ยง พระพุทธเจ้าว่ามันไม่เที่ยง ทำไมมันเที่ยง ท่านบอกว่ามันเป็นทุกข์ ทำไมเรามีแต่ความสุข จิตใจเต็มไปด้วยความสุข

ท่านบอกมันเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ แต่ทำไมเราบังคับได้ เราจะทรงความรู้สึกอย่างนี้ สงบ สบายอย่างนี้ อยู่นานเท่าไรก็ได้ ทรงอยู่ได้ บังคับได้ มันขัดกับหลักไตรลักษณ์ ที่ทำอยู่นี้ผิดหลักไตรลักษณ์แล้ว ก็พยายามสังเกต มันผิดตรงไหน สังเกตไม่ออก ที่สังเกตไม่ออก เพราะว่าจิตมันพลาดไปแล้ว จิตมันไปอยู่ข้างนอก จิตไม่เข้าฐาน มันสังเกตอะไรไม่ได้หรอก ปัญญามันไม่เกิด แต่เราไม่รู้ว่าจิตออกนอกฐานไปแล้ว มันตามกิเลสออกไป กิเลสมันมาล่อ ล่อให้จิตเคลื่อนตามมันออกไปแล้ว กิเลสมันก็ดับวับไป จิตก็ค้างอยู่ข้างนอก แล้วไม่รู้ว่าตอนนี้จิตอยู่ข้างนอก สังเกตอยู่นาน สังเกตไม่ออกว่ามันผิดตรงไหน

วันหนึ่งขึ้นไปหินหมากเป้ง แล้วก็กลางวัน ตอนเช้านั่งรถมาบ้านตาด สมัยนั้นคนยังเข้าไปบ้านตาดน้อย สมัยที่หลวงปู่เทสก์อยู่ ถนนทุกสายก็วิ่งไปหินหมากเป้ง ที่บ้านตาดไม่ค่อยมีคน หลวงพ่อลงมาบ้านตาด หลวงตายังฉันข้าวอยู่ บนศาลาไม้เล็กๆ หลังไม่โตหรอก อยู่ชั้นบน อยู่ชั้น 2 ไม่มีใครห้าม ไม่มีใครกัน ขึ้นไปได้ ก็ขึ้นไป เห็นท่านกำลังนั่งพิงเสาอยู่ กำลังเอะอะสั่งพระองค์นั้นทำนั้น องค์นี้ทำนี้ ให้จัดอาสนะเตรียมฉันข้าว ท่านควบคุมละเอียดมากเลย เอะอะๆ อยู่ หลวงพ่อเข้าไปกราบท่าน ท่านก็หันมาถาม “ว่าอย่างไร” บอก “ขอโอกาสพ่อแม่ครูอาจารย์”

อันนี้ธรรมเนียมของนักปฏิบัติ ทำอะไรเกี่ยวกับครูบาอาจารย์ จะขอโอกาสก่อน จะเปิดพัดลมก็ต้องขอโอกาส ถาม “ผมจะเปิดได้ไหม” จะเปิดประตูหน้าต่างอะไรก็ถาม อันนี้มีอยู่ในพระวินัย พระวินัยไม่ใช่เรื่องพัดลม เป็นเรื่องเปิดหน้าต่าง เปิดประตู หลวงพ่อก็บอกหลวงตา “ขอโอกาสครับ” ท่านหันมามอง “เดี๋ยว เรายังไม่ว่าง เดี๋ยวก่อน” ก็นั่งอยู่ใกล้ๆ ท่าน พอท่านจัดอาสนะอะไร ให้ลูกศิษย์จัดเรียบร้อยแล้ว ท่านก็หันมา “ว่าอย่างไร” ก็เรียนท่านบอก “พ่อแม่ครูอาจารย์ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิต แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่พัฒนาเลย มันผิดตรงไหน” ท่านตอบทันที “ที่ว่าดูจิตนั้น ดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรา ตัวนี้สำคัญ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้”

หลวงพ่อฟังท่านก็เก็ต ท่านให้กลับมาบริกรรม เราดูจิตรวดไปเลย จนกระทั่งจิตมันเที่ยง มันมีแต่ความสุข มันบังคับได้ บังคับได้สิจิตทรงสมาธิ จะอยู่อย่างไรก็ได้ อยู่นานแค่ไหนก็ได้ จิตมันทรงสมาธิอยู่ แต่เราผิด ท่านบอก “ดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรา ตรงนี้สำคัญ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” ก็เลยกราบท่าน แล้วก็ถอยหลังมานิดหนึ่ง ห่างท่านมาสัก 2 เมตร 3 เมตร 2 เมตร แล้วก็มานั่งพุทโธๆๆ พอพุทโธๆ ไป จิตใจอึดอัด หลวงพ่อไม่ชอบพุทโธอย่างเดียว พุทโธแล้วรำคาญ รู้สึกมานั่งคิดอยู่ได้พุทโธๆๆ

อันนี้เหมาะกับจริตนิสัยบางท่าน หลวงตามหาบัวท่านพุทโธลูกเดียวเลย ท่านบอกท่านพุทโธตั้งแต่ต้นจนจบ หลวงพ่อไปพุทโธตามท่าน ไม่เข้ากัน ไม่ถูกกับจริต ก็เลยพิจารณาว่า เอ๊ะ ทำไมท่านให้บริกรรมเพื่ออะไร ปกติการบริกรรมก็คือเพิ่มสมาธินั่นเอง เพราะฉะนั้นแสดงว่าปัญหาที่เราเจออยู่นี้ คือสมาธิเราไม่พอ หลวงพ่อก็มาทำสมาธิที่ตัวเองถนัด หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ถนัดอย่างนี้ แล้วก็นับเลขด้วย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับหนึ่ง หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับสอง กลับมาทำกรรมฐานเบสิก ที่ทำมาตอน 7 ขวบเลย กลับมาทำใหม่

หายใจอยู่ไม่กี่ที จิตก็รวมแล้ว จิตรวมแล้ว พอจิตถอยออกจากสมาธิ อยากเขกหัวตัวเองเลย ตลอดเวลาเป็นปีที่ผ่านมา เสียเปล่าๆ เพราะจิตเราไม่เข้าฐาน จิตมันไปอยู่ข้างนอก มันไม่ย้อนเข้ามาที่กายที่ใจ มันเลยว่างๆ สบาย สว่าง อยู่ข้างนอก ที่รู้ว่าผิดเพราะว่าจับหลักได้ ที่เราทำอยู่นี้มันผิดหลักไตรลักษณ์ มันเที่ยง จิตมันเที่ยง มันเป็นสุข มันบังคับได้ มันผิด เวลาเราอยู่คนเดียว แล้วไม่มีครูบาอาจารย์อยู่ ให้เราสังเกตเอา สิ่งที่เราปฏิบัตินั้น มันถูกหลัก หรือมันผิดหลัก บางทีเราก็ดูหลักของอริยสัจ อันนี้เป็นตัวแม่บทเลย หรือเราภาวนาอยู่ แล้วเราไม่เห็นไตรลักษณ์ ไม่เจริญหรอก แสดงว่าไปติดสมาธิบางอย่างเข้าแล้ว ถ้ากลับมาทำสมาธิชนิดจิตตั้งมั่น เข้าฐาน พอจิตตั้งมั่นเข้าฐานแล้ว ก็เดินปัญญาต่อได้ เห็นจิตเกิดดับแสดงไตรลักษณ์แล้ว

 

เครื่องหมายแรกของอริยมรรค

หลวงพ่อใช้วิธีอย่างนี้ ในการสังเกตตัวเอง เพราะเราเป็นคนเมือง รับราชการ ไม่ใช่มีเวลามาก ไม่ใช่มีเงินมาก นึกจะไปหาครูบาอาจารย์ ก็บินไปอะไรอย่างนี้ เราทำไม่ได้ จะไปหาครูบาอาจารย์ที ขึ้นรถไฟ ขึ้นรถทัวร์ไปทั้งคืน ไปถึงบางทีก็ต้องรอ ท่านอายุเยอะ บางทีท่านก็อาพาธต้องรอ ไปอยู่บางทีต้องรอ ฉะนั้นเราไม่มีโอกาสอยู่กับครูบาอาจารย์ สิ่งที่จะช่วยเราได้ดี ก็คือหลักปริยัตินั่นล่ะ หลักของการปฏิบัตินั่นล่ะ ที่เราทำอยู่นั้นผิดหลักอริยสัจ หรือถูกหลักอริยสัจ เรารู้ทุกข์ หรือเราอยากละทุกข์ ที่เราทำอยู่นั้น เราเห็นรูปนามกายใจนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือเห็นมันเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา เราสังเกตตัวเองเอา

หลวงพ่อใช้วิธีสังเกตอย่างนี้ ดูตัวเองเรื่อยๆ ก็ประคับประคองการปฏิบัติของตัวเองไปได้ ในภาวะที่เราอยู่ห่างครูบาอาจารย์ ถ้าอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ ทำผิด ท่านก็บอกให้รวดเร็ว มีครั้งหนึ่งไป หลวงปู่ดูลย์สิ้นไปแล้ว ไปภาวนาอยู่วัดหน้าเรือนจำ ตอนเช้ากินข้าวเสร็จแล้ว พระท่านก็ฉัน เราก็กินข้าวเสร็จแล้ว ออกมาเดิน หาที่ภาวนา ไปเห็นมีเก้าอี้อยู่ตัวหนึ่ง เป็นไม้ยาวๆ อยู่ใต้ต้นไม้ ใจก็คิด โอ้ ตรงนี้น่านั่ง เราจะนั่งตรงนี้ได้ยาว อยู่ใต้ต้นไม้ มานั่งกลางวันก็นั่งได้ ใจอยากปฏิบัติ ไม่เห็นว่าเกิดความอยากขึ้นแล้ว หลวงพ่อคืนตะโกนมาบอก “ปราโมทย์ อยากปฏิบัติก็ผิดแล้ว”

อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์มันมีข้อดี ผิดปุ๊บบอกปั๊บ แต่ถ้าเราไม่ได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ อะไรๆ ก็สู้การสังเกตเอาไม่ได้ คือโยนิโสมนสิการนั่นเอง สังเกตอย่างแยบคาย โยนิโสมนสิการไม่ใช่คิดเพ้อเจ้อ เป็นการคิดอย่างมีหลัก สิ่งที่เราทำอยู่นี้ มันถูกหลักที่พระพุทธเจ้าสอนไหม ถูกในหลักธรรมหรือเปล่า หรือไม่ถูก นี้เรียกโยนิโสมนสิการ ถ้าคิดฟุ้งๆ คิดเหตุ คิดผลอะไรของตัวเอง อันนั้นไม่ใช่โยนิโสมนสิการ อันนั้นฟุ้งซ่าน

มีสิ่ง 2 สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านยกย่องมาก ว่าเป็นจุดเบื้องต้นเลยให้เกิดอริยมรรค บางครั้งท่านก็บอกว่า “ภิกษุทั้งหลาย กัลยาณมิตรเป็นเบื้องต้นของอริยมรรค” ท่านบอกว่า “พระอาทิตย์ก่อนที่มันจะขึ้น มันจะมีแสง แสงเงินแสงทอง” คนกรุงเทพฯ ไม่เคยเห็นหรอก เห็นแต่แสงไฟฟ้า คนต่างจังหวัดอย่างพระจะไปบิณฑบาต ต้องเห็นแสงนี้ขึ้นก่อน ถึงจะออกจากวัดไปบิณฑบาตได้ เรียกแสงเงินแสงทอง สว่างเรืองๆ ขึ้นมา บอกว่า ตรงแสงสว่างเรืองๆ นี้ โบราณเรียกแสงอรุณ แสงอรุณเป็นเครื่องหมายแรก เรียกเป็นบุพนิมิต ที่บอกว่าพระอาทิตย์กำลังจะมา เราเห็นแสงขึ้นทางตะวันออก เป็นเครื่องหมายแรก แสดงว่าพระอาทิตย์กำลังจะมา

การมีกัลยาณมิตร เป็นเครื่องหมายแรกของอริยมรรค บางทีท่านก็ไม่ได้พูดเรื่องกัลยาณมิตร ท่านไปสอนคนอื่นอีก ท่านบอกว่า “แสงอรุณ เป็นบุพนิมิตของดวงอาทิตย์ฉันใด โยนิโสมนสิการก็เป็นบุพนิมิต เป็นเครื่องหมายแรกของอริยมรรคฉันนั้น” ท่านพูด 2 ที เหมือนกันทุกคำเลย ต่างกันตรงที่ครั้งหนึ่งท่านพูดถึงกัลยาณมิตร ครั้งหนึ่งท่านพูดถึงโยนิโสมนสิการ

“กัลยาณมิตร” ไม่ใช่กัลยาณมิตรที่พวกเราชอบคิดเอาเอง คนที่จะเป็นกัลยาณมิตรเราได้ หายาก ไม่ใช่ไปลงทะเบียนแล้วเป็นกัลยาณมิตรได้ บางคนไปภาวนามาพิลึกๆ มา หลวงพ่อถามว่าไปเรียนมาจากไหน บอก กัลยาณมิตรสอน ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่กัลยาณมิตรหรอก กัลยาณมิตรที่จะนำทางเรา ต้องเคยเดินในทางนั้นมาก่อนเรา ถึงจะพาเราเดินได้ กัลยาณมิตรที่เลิศที่สุดก็คือพระพุทธเจ้า รองลงมาก็คือพวกพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ยุคของเรา เรามีครูบาอาจารย์ เราก็โมเมองค์นั้นพระอรหันต์ องค์นี้อรหันต์ หันหรือไม่หัน เรายังไม่รู้เลย มั่วๆ เอา

ฉะนั้นต้องระมัดระวัง กระทั่งฟังหลวงพ่อ ฟังแล้วก็ต้องไปพิสูจน์ ว่าที่หลวงพ่อสอนนี้ มันลดละกิเลสได้จริงไหม สติเกิดบ่อยไหม ศีลดีขึ้นไหม เวลาจะทำผิดศีล ละอายใจไหม จิตตั้งมั่นได้หรือยัง แยกขันธ์ได้ไหม เห็นไตรลักษณ์ แสดงตัวในรูปธรรมนามธรรมได้ไหม เอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องพิสูจน์หลวงพ่อ ฉะนั้นอยู่ๆ ฟังหลวงพ่อแล้วเชื่อ ท่านว่าโง่ พระพุทธเจ้าบอกโง่เลย ถ้าเราฟังธรรมะแล้วเราเชื่อทันที ไม่ฉลาดหรอก สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าท่านชี้เลย องค์นี้เป็นพระอรหันต์ องค์นี้พระอนาคามี เพราะฉะนั้นคนยุคนั้นเขารู้ว่ากัลยาณมิตรคือใคร คนของเรายุคนี้ไม่มี ไม่รู้ ได้แต่เชื่อๆ เอา เชื่อถูกก็ได้ เชื่อผิดก็ได้

ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่จะมาชดเชยตัวนี้ให้ดี คือโยนิโสมนสิการ ฉะนั้นมี 2 สิ่งที่ท่านยกย่อง ให้เป็นเครื่องหมายแรกของอริยมรรค คือกัลยาณมิตรกับโยนิโสมนสิการ กัลยาณมิตรในยุคนี้พิสูจน์ยากแล้ว บางที่ถึงขนาดขึ้นทะเบียน ทำป้ายคัทเอาต์เลย บุคคลต่อไปนี้คือพระอรหันต์ คิดเอาทั้งนั้น เชื่อได้อย่างไร พิสูจน์ได้อย่างไร อำนาจ เอกสิทธิ์ในการพยากรณ์เป็นของพระพุทธเจ้า แต่ว่าเวลาผู้ภาวนา มันรู้ด้วยตัวเอง แต่คนอื่นจะมาวุ่นวายอะไร พยากรณ์อะไร อย่าเชื่อ สิ่งที่เราจะมาชดเชยกัลยาณมิตร ซึ่งมันไม่แน่นอน คือโยนิโสมนสิการ

เพราะฉะนั้นเราฟังธรรมะ หลักของการปฏิบัติต้องแม่น ที่หลวงพ่อย้ำแล้วย้ำอีก พวกเราหลักต้องแม่น อันแรกเลยก็คือ ต้องรู้หลักของอริยสัจ อริยสัจเป็นแม่บทเรียกมาติกา เคยได้ยินไหมสวดมาติกาบังสุกุล มาติกาเป็นแม่บทของอภิธรรม อริยสัจเป็นแม่บทสำหรับนักปฏิบัติ ท่านสอนเรื่องทุกข์ ทุกข์คืออะไร ขันธ์ 5 นั่นล่ะคือทุกข์ ที่จริงท่านใช้คำว่าอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์ มีคำว่า “อุปาทานขันธ์” ตัวนี้ ภาษาไทยทำให้เราสับสน เราคิดว่าอุปาทานขันธ์ คือขันธ์ที่เราเข้าไปยึด เป็นตัวทุกข์ ถ้าเราไม่ยึด ขันธ์นี้ไม่ทุกข์ ไม่ใช่ อุปาทานขันธ์ เป็น Technical Term คือขันธ์ซึ่งที่พวกเรามีนี่ล่ะ สิ่งที่พ้นจากอุปาทานขันธ์ ก็เช่น โลกุตตรจิตทั้งหลายนี้ พ้นจากอุปาทานขันธ์ ไม่ใช่อยู่ในกองทุกข์แล้ว อันนั้นอยู่ในกองนิโรธแล้ว

 

เรียนลงที่กายที่ใจของเรานี้
ดูมันเป็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ส่วนใหญ่ที่พวกเรามี มันก็คืออุปาทานขันธ์ ก็ขันธ์ 5 ของเรานี่ล่ะ ที่เรามีจริงๆ นี้ล่ะ ตัวนี้คือตัวทุกข์ หน้าที่ต่อทุกข์คือรู้ สมุทัยคือความอยาก หน้าที่ต่อสมุทัยคือละ สมุทัยมันคืออะไร คือตัวตัณหา ตัณหาคืออะไร คือโลภะที่มีกำลังแรง ถ้าเป็นโลภะ เป็นราคะธรรมดาๆ ก็อยู่ในกองทุกข์ รู้ปุ๊บดับปั๊บ แต่ถ้าราคะมันมีกำลังแรง มันเริ่มผลักดัน ให้เรามีความอยากโน้นอยากนี้ แล้วมีความยึดถือ มีตัณหา มีอุปาทานขึ้นมา ก็จะเป็นเหตุให้เราปรุงแต่ง คือสร้างภพ แล้วเราก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา เข้าไปยึดถือรูปนามกายใจ แล้วเราก็จะทุกข์ขึ้นมา ตัวนี้ให้ละเสีย

วิธีละตัณหา ทำได้หลายอย่าง แต่ที่ดีที่สุด ก็ละที่เหตุของตัณหา เหตุของตัณหาก็คืออวิชชา ความไม่รู้แจ้งอริยสัจ ไม่รู้ว่าขันธ์ 5 นี้คือตัวทุกข์ มันเลยเกิดความอยากให้ขันธ์ 5 เป็นสุข อยากให้ขันธ์ 5 ไม่ทุกข์ ก็เกิดจากความไม่รู้อริยสัจ ไม่รู้ความจริงว่าขันธ์ 5 คือทุกข์ ก็เลยเกิดความอยากขึ้น ฉะนั้นเราเรียนรู้ลง พยายามเรียนลงที่กายที่ใจของเรานี้ ดูมันเป็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก

เมื่อเช้าหลวงพ่อก็บอกหนุ่ม 2 คน เขาบอกเขาอยากได้เป็นโสดาบัน ตั้งเป้าไว้ บอกดี ตั้งเป้าอย่างนี้ดี แต่จะเป็นพระโสดาบันได้ ก็ต้องให้เห็นรูปนามกายใจ มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เราจะเห็นรูปนามกายใจ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราได้ ทำอย่างไรจะเห็นได้ จิตต้องตั้งมั่น ตรงที่เราสามารถเห็นรูปนามกายใจ ว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรานั้นเป็นตัวปัญญา ปัญญานั้นมีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ก็คือมีจิตที่ตั้งมั่น มีความตั้งมั่นของจิต ไม่ใช่มีจิตที่ตั้งมั่น

มีความตั้งมั่นของจิต คือตัวสมาธิ ก็ทำให้จิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นแล้ว ขันธ์มันแยกได้ อย่างเรานั่งอยู่อย่างนี้ จิตเราตั้งมั่นอยู่ เราก็จะเห็นเลยร่างกายมันนั่ง จิตเป็นคนรู้ คนละอันกัน ร่างกายไม่ใช่จิต ร่างกายมันถูกรู้ มันไม่ใช่ตัวเราด้วย เราจะรู้สึกเอาเอง ไม่ใช่คิด แค่รู้สึกเอา เวลาเดินอยู่ จิตเราตั้งมั่น เห็นร่างกายมัน สติรู้ร่างกายที่เดิน จิตตั้งมั่นมีสัมมาสมาธิอยู่ มันก็จะเห็นความจริง ร่างกายที่เดินไม่ใช่เรา

เพราะจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้ร่างกายที่นอน ที่ยืน ก็จะเห็นร่างกายที่นอน ที่ยืน ไม่ใช่เรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้ความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นในร่างกาย ก็จะเห็นสุขทุกข์ในกายมันถูกรู้ มันไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้สุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ มันก็จะเห็นสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เกิดในใจ ไม่ใช่เรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นอยู่ มันเกิดกุศลอกุศล โลภ โกรธ หลงอะไรเกิดขึ้น มันจะเห็นสิ่งเหล่านี้ถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา

ค่อยๆ รู้ไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปเราก็เห็นตัวจิตเองก็ถูกรู้ อะไรเป็นตัวรู้จิต จิตนั่นล่ะรู้จิต อย่าคิดว่าจิตมีดวงเดียว จิตเกิดดับตลอดเวลา อย่างจิตดวงหนึ่งมีราคะ แล้วเรามีสติขึ้นมา เป็นจิตที่เป็นกุศลแล้ว จิตที่เกิดสติขึ้นมาไม่มีราคะให้ละหรอก เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องละราคะ ไม่มีราคะให้ละ ทันทีที่สติเกิด จิตอกุศลที่มีราคะมันดับไปแล้ว อัตโนมัติ เราก็จะเห็นจิตเดี๋ยวก็เป็นกุศล เดี๋ยวก็เป็นอกุศล เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตหลงคิด เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตหลงดู เดี๋ยวเป็นจิตรู้ เป็นจิตหลงฟัง เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตหลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็จิตหลงคิดทางใจ เดี๋ยวเป็นจิตรู้ เป็นจิตไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานต่างๆ

เราจะเห็นกระทั่งตัวจิตเองก็เกิดดับ เป็นจิตสุขบ้างทุกข์บ้าง เป็นจิตดีบ้างชั่วบ้าง เป็นจิตที่เกิดทางตาบ้าง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ้าง จิตที่เกิดทางใจก็มีทั้งสุข ทั้งทุกข์ มีทั้งดี มีทั้งชั่ว ล้วนแต่ไม่เที่ยง เกิดแล้วดับทั้งสิ้น ล้วนแต่ทนอยู่ในสภาวะอันนั้นนานๆ ไม่ได้ จิตนั้นอายุสั้นนิดเดียว ชั่วขณะเดียวเท่านั้นเอง แล้วก็บังคับไม่ได้ สั่งให้จิตสุขก็ไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้ สั่งให้จิตดีก็ไม่ได้ ห้ามจิตชั่วก็ไม่ได้ สั่งว่าอย่าไปดูรูปก็ไม่ได้ อย่าไปฟังเสียงก็ไม่ได้ สั่งว่าจงดูรูปอย่างเดียว ห้ามฟังเสียง ก็ทำไม่ได้ ไม่มีอะไรที่เราสั่งมันได้เลย พอเราเห็นซ้ำๆ เราก็รู้แล้ว จิตไม่ใช่เราหรอก เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้

 

มรรคผลนิพพาน ไม่เหลือวิสัยที่คนธรรมดาอย่างเราจะทำได้

อยากเป็นพระโสดาบัน ขั้นแรกเลยจิตต้องตั้งมั่นขึ้นมาก่อน พอจิตตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้กาย มันจะเห็นกายนี้ถูกรู้ ไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นแล้วสติระลึกรู้เวทนา มันก็เห็นเวทนาถูกรู้ ไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่น สติระลึกรู้สังขารทั้งหลาย ความดีชั่วทั้งหลายที่ปรุงขึ้นมา ก็จะเห็นสังขารทั้งหลายไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นแล้วก็ดับ เกิดจิตไม่ตั้งมั่น หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บางทีมีจิตตั้งมั่น แล้วก็หลงไปเกิดราคะ มีความสุข บางทีจิตตั้งมั่นแล้วก็ดับ หลงไป เกิดโทสะ มีความทุกข์ในใจ บางทีจิตตั้งมั่นอยู่ จิตก็มีความสุขอยู่ทั้งๆ ที่ตั้งมั่น บางทีจิตตั้งมั่นอยู่ แล้วก็เป็นอุเบกขาอยู่ก็มี

จิตมันมีหลายชนิด แล้วเราจะเห็น มันทำงานเอง มันถูกรู้ จิตเองก็ถูกรู้ จิตก็ไม่ใช่เราอีก ถ้าเราสามารถเห็นได้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณคือตัวจิตนั้นเอง ไม่ใช่เรา นั่นล่ะจะได้โสดาบัน เพราะฉะนั้นจะเป็นโสดาบัน ไม่ใช่มานั่งมโน ใส่บาตรพระวันหนึ่งให้ได้ 100 องค์ แล้วจะได้พระโสดาบัน ไม่เกี่ยวเลย หรือฟังเทศน์ทุกวัน ฟังซีดีหลวงพ่อทุกวันแล้วจะได้โสดาบัน ไม่เกี่ยวเลย อยากได้โสดาบันจริงๆ อันแรกเลย ฝึกให้จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาให้ได้ก่อน พอจิตมันตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้อะไร อันนั้นจะแสดงไตรลักษณ์ให้หมด ไม่มีตัวเราทั้งหมดเลย

ฉะนั้นที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรามาก คือการฝึกจิตให้ตั้งมั่น เมื่อก่อนหลวงพ่อบวชใหม่ๆ คนชอบบอก หลวงพ่อไม่ยอมสอนเรื่องสมาธิ หลวงพ่อสอนอย่าเผลอ อย่าเพ่ง นั่นล่ะตัวแก่นของตัวสมาธิ ถ้าเราเผลอ ใจก็ฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิ ถ้าเราเพ่งอยู่ ใจก็อึดอัด ไม่มีสมาธิหรอก ถ้าใจที่มันไม่เผลอ ไม่เพ่ง มันเดินอยู่ในทางสายกลาง สมาธิจะเกิดง่ายๆ เลย ทำไมสรุปออกมาเป็นไม่เผลอ ไม่เพ่ง หลวงพ่อทำสมาธิอยู่ 22 ปี อยากทำสมาธิเมื่อไรก็ทำได้ ชำนาญ แล้วก็ดูไปเรื่อยๆ มันจับหลักได้

ตอนที่หัดภาวนาทำสมาธิ ก็สังเกต บางวันทำไมทำสมาธิไม่ได้ โอ้ วันนี้มันฟุ้งซ่าน มันทำสมาธิไม่ได้ ฉะนั้นความฟุ้งซ่านนี้เป็นศัตรู จิตเราหลงไปคิดโน่นคิดนี่ มันเป็นศัตรูของสมาธิ บางวันอยากนั่งสมาธิ นั่งแล้วเกร็งไปหมดเลย เครียดไปหมดเลย ตึง ปวดขมับ ปวดหว่างคิ้ว ปวดคอ ปวดไหล่ สมาธิก็ไม่เกิด เค้นอย่างไรก็ไม่เกิด ดูไปเรื่อยๆ ก็จับหลักได้ ตึงเกินไปก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นหย่อนไป เผลอไป ไม่ใช่ เพ่งเอาไว้ ไม่ใช่ ที่เอามาบอกพวกเราไม่เผลอ ไม่เพ่ง ไม่ได้มั่วๆ มันคือบทเรียนจากประสบการณ์ แล้วสรุปออกมาได้

ฉะนั้นเวลาหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อจะมีข้อสรุป ที่เป็นครีมจริงๆ อย่างถ้าเราอยากทำสมถะ ทำอย่างไร ให้เรารู้อารมณ์ น้อมจิตไปรู้อารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง รู้ด้วยจิตที่มีความสุข แล้วขณะนั้นอย่าขาดสติ ฉะนั้นเวลาเราอยากทำสมาธิ เราหายใจ สมมติถ้าเราหายใจแล้วมีความสุข เราก็หายใจ บางคนพุทโธแล้วมีความสุข อย่างหลวงตามหาบัว ท่านบอกพุทโธดีที่สุด ดีของท่าน ไม่ดีของเรา ไม่ได้ถูกจริต ของหลวงพ่อต้องหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ถึงจะถูกใจ จิตชอบ

พอจิตมันมีความสุขที่จะได้เห็น ได้ทำกรรมฐานอย่างนี้ เราก็ทำกรรมฐานนั้นไป ด้วยจิตใจที่ธรรมดา ไม่เผลอ ไม่เพ่ง ใช้จิตใจปกติ ทำกรรมฐาน ทำสมาธิของเราไป ไม่ขาดสติ ตัวนี้สำคัญ ขาดสติเมื่อไร มันจะสุดโต่งไป ไม่เผลอก็เพ่งแล้ว ถ้ามีสติอยู่ มันถึงจะตั้งมั่นขึ้นมาได้จริงๆ เพราะฉะนั้นเวลาเราจะทำสมาธิ หลักก็ง่ายๆ น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมีสติ น้อมจิตไป ไม่ได้แต่งจิต ตึงเครียดนี่ไม่ใช่น้อมจิตไปรู้แล้ว นี้ไปแต่งจิตขึ้นมา

น้อมจิตไปรู้ทำอย่างไร จิตเป็นอย่างไรรู้อย่างนั้นเลย อย่างขณะนี้จิตของเราเป็นอย่างนี้ เราเห็นร่างกายหายใจ ลองทำดูเลย ใช้จิตตอนนี้ รู้สึกถึงภาวะของความตื่นไหม แต่ถ้าเราไปดัดแปลงจิต ทำจิตให้ซึม ไม่ตื่น หรือทำจิตเคร่งเครียด จิตไม่ตื่นหรอก ใช้จิตธรรมดา จิตที่กำลังมีกำลังเป็นนี้ล่ะ แล้วไปรู้อารมณ์กรรมฐานไปสบายๆ รู้ไปด้วยจิตใจปกติ รู้เนื้อรู้ตัว มีสติกำกับอยู่ ถ้าชำนาญอึดใจเดียวก็สงบแล้ว จิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งขึ้นมาแล้ว ลองทำดู

แล้วถ้าเราจะทำวิปัสสนา หลวงพ่อก็ย่อลงมา “มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง” แล้วก็วงเล็บ ”ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” เราจะรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้ ต้องมีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือมีสัมมาสมาธินั่นเอง ฉะนั้นเวลาที่เราฝึก หลวงพ่อพยายามสอนพวกเราให้มีสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นสมาธิที่มีสติกำกับตลอดเลย ถ้าขาดสติก็เป็นมิจฉาสมาธิทันทีเลย เพราะฉะนั้นจะทำสมาธิต้องฝึก ของฟรีไม่มี น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมีสติ แล้วเราจะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา

แต่ละคนก็ใช้กรรมฐาน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน บางคนง่ายๆ ท่องพุทโธๆ จิตหลงไปคิดแล้วรู้ พุทโธจิตหลงไปคิดแล้วรู้ คือมีสติรู้ทัน ไม่นานจิตก็ตั้งมั่น หายใจอยู่ จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตหลงไปเพ่งลมหายใจแล้วก็รู้ มีสติคอยรู้ทันจิตอยู่ จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ที่บอกมีสติๆ มีสติรู้ทันจิตตัวเอง ไม่ตกไปข้างเผลอ ข้างเพ่ง ถ้าเราทำตัวนี้ได้ ทำบ่อยๆ ทำทุกวัน จิตเราจะมีกำลัง เมื่อจิตมีกำลังตั้งมั่นโดยไม่เจตนาแล้ว ถัดจากนั้นสติระลึกรู้กาย จะเห็นกายไม่ใช่เรา สติระลึกรู้เวทนา เห็นเวทนาไม่ใช่เรา สติระลึกรู้จิต ก็เห็นจิตไม่ใช่เรา สุดท้ายปัญญาแก่รอบ มันจะสรุป เกิดความรู้รวบยอด สรุป ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ไม่มีเราในขันธ์ 5 ไม่มีเราที่ไหนอีกแล้ว นอกเหนือจากขันธ์ 5 ก็ไม่มี นั่นล่ะพระโสดาบัน

เพราะฉะนั้นเมื่อเช้าหนุ่มคนนั้นมาถามหลวงพ่อ อยากได้โสดาบัน หลวงพ่อ เออ เดี๋ยวเทศน์ให้ฟัง จะเป็นโสดาบันเดินในแนวนี้ ฝึกจิตให้ตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นแล้ว โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ ดู สติระลึกรู้อะไรก็เห็นไตรลักษณ์ตรงนั้น แล้วดูไปๆ จิตหมดแรง จิตเหนื่อย กลับมาทำสมาธิให้จิตตั้งมั่นใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วมรรคผลนิพพาน ไม่เหลือวิสัยที่คนธรรมดาอย่างเราจะทำได้ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน เป็นธรรมะที่เหมาะกับมนุษย์ คนอย่างพวกเรานี่ล่ะ เหมาะกับธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว

ทำไมไม่ไปตรัสรู้ในพรหมโลก พระพรหมนิ่งๆ ว่างๆ อยู่อย่างนั้น ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลง เทวดาอย่างนี้ รูปท่านก็งามอยู่อย่างนั้น ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลง จิตใจก็มีแต่ความสุข สนุกสนาน เพลินๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ร่างกายของมนุษย์ เดี๋ยวเจ็บ เดี๋ยวปวด เดี๋ยวอย่างโน้นอย่างนี้ จิตใจของเราเดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นี่ล่ะเรามีของวิเศษ เรามีขันธ์ 5 ที่เหมาะจะรองรับธรรมะมากที่สุด

เพราะฉะนั้นมนุษย์เป็นสุคติภูมิสำหรับเทพ เทวดา พรหม อยากเกิดเป็นมนุษย์ ในขณะที่มนุษย์อยากเป็นเทวดา เป็นพรหม น่าสงสารจริงๆ เลย มีของดีแล้วไม่รู้ พวกเรามีของดีอยู่แล้ว เรามีร่างกายที่เปื่อยเน่า มีร่างกายที่แก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องอายุยืนเป็นหมื่นๆ ปีแล้วไม่เปลี่ยนแปลง เราเห็นไตรลักษณ์ง่าย จิตใจของเราก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ สุขก็ไม่สุขมากแบบเทพ จนกระทั่งหลงเพลิน เวลาทุกข์ก็ไม่ทุกข์มากเหมือนสัตว์นรก ทุกข์จนกระทั่งไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะฉะนั้นจิตมนุษย์เป็นจิตกลางๆ เหมาะแก่การปฏิบัติที่สุดแล้ว

สรุปขณะนี้เรามีทรัพยากรสำหรับการปฏิบัติที่พร้อมแล้ว เรามีกรรมเก่าส่งผลมาดีแล้ว คือมีขันธ์เป็นมนุษย์อย่างนี้ ที่สมบูรณ์อย่างนี้ แล้วเราก็มีบุญ ได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว อย่าทิ้งเวลาให้สูญเปล่า ความแก่ไม่รอท่า ความเจ็บไม่รอท่า ความตายไม่รอท่าเรา ลงมือปฏิบัติเสียแต่วันนี้ ก่อนที่ธรรมะนี้จะสูญหายไป แล้วก็คลำทางไม่เจอ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กุมภาพันธ์ 2566