ทำไมจิตวิ่งมาที่หลวงพ่อกันหมด ให้จิตใจอยู่กับตัวเองไว้ ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติเลย พระพุทธเจ้าท่านบอก ท่านไม่เห็นธรรมะอะไรสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัว ที่จะนำเราไปสู่ การพ้นจากอาสวกิเลสทั้งหลาย ถ้าเราไม่รู้สึกตัวเสียอย่างเดียว เราจะแพ้กิเลสตลอดกาล แต่ถ้าเราหัดรู้สึกตัวให้ได้ เราจะค่อยๆ พัฒนาชนะกิเลสเป็นลำดับๆ ไป
อย่างเราจะถือศีล ศีลเป็นเครื่องมือสู้กิเลสอย่างหยาบๆ ถ้าเราไม่รู้สึกตัว เราก็ทำตามใจกิเลส เราก็ผิดศีล ฉะนั้นอย่างเราจะถือศีล เราต้องรู้สึกตัวไว้ อย่างเห็นคนอื่นมาก่อกวนเรา ทำให้เราโมโหอย่างนี้ โกรธ อยากชกอยากต่อยเขา เราลืมตัว เราก็ชกเขาแล้วก็ผิดศีล ฉะนั้นพยายามรู้สึกตัวไว้
เวลานั่งสมาธิ เป็นงานสำคัญทางจิตใจ มี 2 งาน สมถะกับวิปัสสนา เราจะทำสมาธิ ต้องรู้สึกตัว เกือบร้อยละ 100 ของคนนั่งสมาธิ ไม่รู้สึกตัว นั่งเอาสงบเอาเคลิ้ม อันนี้หลวงพ่อเห็นมานานแล้ว เมื่อก่อนไปภาวนาอยู่กับสำนักครูบาอาจารย์ เห็นคนภาวนาเยอะแยะ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เยอะแยะไปหมด แต่ว่าหาคนรู้สึกตัวได้ หาแทบไม่ได้เลย บางทีทั้งวัดก็มีแต่ครูบาอาจารย์องค์เดียวที่รู้สึก บางที่ก็มีมากหน่อย 2 – 3 ท่านอะไรอย่างนี้ แต่ฆราวาสญาติโยมนี่สิ หาที่รู้สึกตัวแทบไม่มีเลย
ตอนนั้นเห็นแล้ว จิตมันอุทานเลยว่า “ในโลกนี้มันมีแต่คนหลง” ไม่มีคนรู้สึกตัว พอเห็นแล้วก็ โห เมื่อไรมันจะพ้นทุกข์ได้ เมื่อไรมันจะสู้กิเลสไหว ไปนั่งสมาธิก็มุ่งไปที่ความสงบ ไปแต่งจิตให้เคลิ้มๆ บางคนก็เครียดๆ ไม่เคลิ้มก็เครียด ควายทั้งคู่ ไม่เคลิ้มก็เครียด ที่นั่งแล้วรู้สึกตัวมีน้อยจริงๆ
ฉะนั้นเราต้องหัด จะนั่งสมาธิก็นั่งด้วยความรู้สึกตัว อย่าให้ลืมเนื้อลืมตัว ทำกรรมฐานไปสักอย่างหนึ่ง ถนัดกรรมฐานอะไร เอาอันนั้นล่ะ แต่จับหลักของการทำสมาธิให้แม่นๆ หลักของการทำสมาธิจริงๆ คือการที่เราพาจิตใจของเรานี้ ให้ไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมีสติ ต้องเติมว่ามีสติด้วย
ไม่ใช่อย่างไปดูลมหายใจ ดูแล้วก็เคลิ้ม ลืมเนื้อลืมตัว ขาดสติไป อันนั้นล้มเหลวแล้ว หรือไปดูลมหายใจแล้วก็หลงคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ไป อันนั้นก็ล้มเหลวแล้ว หรือเราดูลมหายใจ ทำอานาปานสติ แล้วจิตไปเพ่งจ้องลมหายใจจนกระทั่งเราเครียดไปหมดเลย อันนั้นก็ล้มเหลวแล้ว ไม่ใช่รู้สึกตัว รู้สึกตัว จิตจะไม่เผลอแล้วก็ไม่เพ่ง
เมื่อก่อนตั้งแต่หลวงพ่อบวชใหม่ๆ หลวงพ่อจะสอนอยู่เรื่อยเลย ปฏิบัติ ต้องไม่เผลอไม่เพ่ง ถ้าเผลอ ย่อหย่อนเกินไป เป็นกามสุขัลลิกานุโยค ถ้าเพ่งก็เคร่งเครียดเกินไป เป็นอัตตกิลมถานุโยค เอาแค่รู้สึกๆ รู้สึก มันไม่เผลอแล้วมันก็ไม่ถึงขนาดเพ่ง เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด ที่เราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอันนั้นแล้วเรามีความสุข แต่ละคนไม่เหมือนกัน
อย่างหลวงพ่อเคยภาวนาผิดครั้งหนึ่ง ภาวนาแล้วจิตมันสว่างออกข้างนอกไป แล้วไปอยู่ข้างนอก อยู่อย่างนั้นได้เป็นปีเลย สว่างสบาย สงบสบายอยู่อย่างนั้น เราก็มาพิจารณาดู มันไม่ถูก พระพุทธเจ้าบอกว่าจิตไม่เที่ยง ทำไมเราเที่ยง สงบอยู่อย่างนั้น ท่านบอกมันเป็นทุกข์ ทำไมเรามีแต่ความสุข ภาวนาแล้ว โอ๊ย มันสุขจังเลย ท่านบอกเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ทำไมเราบังคับได้ มันผิด มันผิดตรงไหน ตรงนี้ดูไม่ออก
พอดีไปเจอหลวงตามหาบัว ไปกราบท่านบอกว่า พ่อแม่ครูอาจารย์ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิตอยู่ แต่ทำไมมันไม่พัฒนาเลย ท่านมองปราดแล้วท่านก็ตอบเลย ไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลง ครูบาอาจารย์มองเราปุ๊บเดียวก็รู้ไส้รู้พุงเราหมดแล้ว ท่านบอก “ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรา ตรงนี้สำคัญ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้”
หลวงพ่อก็กราบท่าน ถอยออกมานิดหนึ่ง นั่งภาวนาพุทโธๆๆ ไป เพราะท่านบอกว่าบริกรรมมันดี พุทโธๆๆ ไป ใจอึดอัดเหมือนอกจะแตก รำคาญ ไม่ชอบ ไม่ชอบกรรมฐานอันนี้ ก็เลยพิจารณาดู ทำไมครูบาอาจารย์จะให้บริกรรม มันแสดงว่าสมาธิเราไม่พอแล้วล่ะ ฉะนั้นเราก็ทำสมถะด้วยกรรมฐานที่เราถนัด หลวงพ่อถนัดหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วก็นับเลขด้วย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุทออกโธ นับ 2 ฝึกอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก ท่านพ่อลีท่านสอนให้
เราถนัดก็มานั่งหายใจเข้าพุทออกโธ ก็นับๆ ไป ประมาณ 20 กว่าครั้ง จิตก็รวม พอจิตรวมแล้วจิตมันถอนออกจากสมาธิ แทบเขกหัวตัวเองเลยว่าที่ผ่านมาเราพลาดเพราะสมาธิเราไม่พอ เดินปัญญารวดไปเลย แล้วสมาธิไม่พอ มันเกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้นมา วิปัสสนูปกิเลสตัวที่หลวงพ่อไปติดอยู่ร่วมปีคือโอภาส สว่าง ว่าง สบาย
การทำสมาธิ เลือกอารมณ์ที่เราถนัด
การทำสมาธิ บอกว่าเลือกอารมณ์ที่เราถนัด ไม่ใช่หลวงพ่อใช้อานาปานสติแล้วพวกเราจะเรียนกับหลวงพ่อจะต้องทำอานาปานสติ ไม่ใช่ อารมณ์ของสมถกรรมฐานมีมากมายมหาศาลนับไม่ถ้วน การทำสมถะไม่เหมือนอารมณ์วิปัสสนา วิปัสสนา อารมณ์ที่ใช้ทำวิปัสสนามีแต่รูปนาม กายใจของเรานี้เท่านั้นล่ะ แต่อารมณ์ของการทำสมถะ อะไรก็ได้ คิดขึ้นก็ได้ เรียกอารมณ์บัญญัติ
อย่างเราคิดพุทโธ พุทโธเป็นอารมณ์บัญญัติ ถ้าเราพุทโธๆๆ ไป เรามีความสุขอยู่กับการพุทโธ แล้วเราก็มีสติอยู่กับการพุทโธ ไม่นานจิตจะสงบ จิตจะได้สมาธิทันทีเลย ฉะนั้นเราเลือกอารมณ์ที่ถูกจริตของเรา ไม่ต้องเลือกตามคนอื่น เราถนัดอะไรก็เอาอันนั้น อย่างเราดูท้องพองยุบ เราชอบดูท้องพองยุบก็ได้ ใช้ทำสมถะ ไม่เลือกอารมณ์ บอกแล้ว ดูท้องพอง ดูท้องยุบไป แต่มีสติ
ส่วนใหญ่พอดูท้องพอง ดูท้องยุบ จิตไหลไปอยู่ที่ท้องแล้วไม่รู้ อันนั้นไม่มีสติ หลงเรียบร้อยไปแล้ว หลงไปดูท้อง หรือคนส่วนใหญ่ไปนั่งหายใจ หายใจไปๆ บางทีก็หลงไปคิดเรื่องอื่น ไม่มีสติแล้ว หายใจไปๆ จิตถลำลงไปอยู่ที่ลมหายใจ ลงไปแนบอยู่ที่ลมหายใจ ไม่รู้ ไม่รู้เท่าทันจิตตนเอง อันนั้นไม่มีสติแล้ว
เพราะฉะนั้นเราจะทำสมถะ เราเลือกอารมณ์เลย อารมณ์อันไหนที่เราอยู่ด้วยแล้วเรามีความสุข เคล็ดลับอยู่ที่มีความสุข ถ้าเราไปเลือกอารมณ์ที่มีความทุกข์ จิตจะไม่มีวันสงบเลย จิตมันเหมือนเด็ก เด็กมันซน วิ่งไปโน้นวิ่งไปนี้ เราอยากให้เด็กมันอยู่กับที่สงบๆ เราก็หาของชอบมาให้เด็กอยู่ เด็กนี้ชอบกินขนม เราหาขนมมาให้ เด็กก็ไม่ไปไหน เด็กนี้มันชอบเล่นมือถือ ให้มันเล่นอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่ไปเที่ยวที่อื่น มันก็อยู่ตรงนี้
จิตนี้ก็แบบเดียวกัน ถ้าเราให้มันอยู่กับอารมณ์ที่มันชอบ อารมณ์ที่มันมีความสุข มันก็จะไม่ฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์โน้นอารมณ์นี้ สมาธิมันจะเกิดตรงนี้ แต่จุดสำคัญก็คือการที่เราอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน เราก็มีสติด้วย ถ้าอยู่กับอารมณ์กรรมฐานแล้วขาดสติ จิตจะถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ใจมันจะแน่นๆ
เวลาพวกเราปฏิบัติแล้วถ้าใจเราแน่นขึ้นมา ให้รู้เลยเราผิดแล้วล่ะ ภาวนาแล้วจิตมันแน่น อึดอัดอะไรอย่างนี้ แสดงว่าเราไปเพ่ง เราหลงไปเพ่ง ใช้ศัพท์ให้ถูกต้องก็คือหลงไปเพ่ง มีคำว่าหลง เพราะมันไม่มีสติ ถ้าเรารู้ลมหายใจอยู่แล้วจิตเราเคลื่อนไปที่ลม เราเห็น จิตมันจะดีดตัวขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานทันทีเลย หรือเราหายใจอยู่ หรือเราดูท้องพองยุบอยู่ หรือเราขยับมืออยู่ ที่เราถนัด แล้วจิตเราไหลไปคิด เรามีสติรู้ว่าจิตเราไหลไปคิด จิตที่ไหลไปคิดจะดับทันที จิตรู้จะเกิดขึ้นทันทีเลย จิตจะมีความตั้งมั่นเกิดขึ้น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีทั้งความสงบ มีทั้งความสุข มีทั้งความตั้งมั่นเกิดขึ้น
พอเราทำอย่างนี้บ่อยๆ ทำเรื่อยๆ ทำวันเดียวไม่พอ การทำสมถะ มันก็เหมือนเราชาร์จแบตเตอรี่มือถือ ชาร์จแล้วเราไปใช้ ใช้มือถือไปแล้ว เราก็ต้องมาชาร์จอีก มิฉะนั้นแบตเตอรี่ก็หมด อย่างที่หลวงพ่อเล่าให้ฟังเมื่อกี้ ที่หลวงพ่อผิดเพราะแบตเตอรี่หมด พอแบตเตอรี่หมดไปนั่งสมาธิ แล้วก็เห็นกิเลสมันผุด เดินปัญญาไปเรื่อย เห็นกิเลสเกิดดับๆๆ
ทีนี้กิเลสมันผุดขึ้นมา หลวงพ่อก็อยากดู มันจะทำงานอย่างไร ก็แค่รู้เบาๆ ตัวกิเลสมันก็เลื่อนไปอยู่ข้างนอก ตรงนี้เราไม่เห็น เราไม่รู้ว่าจิตเรามันแนบอยู่กับกิเลสแล้วมันเคลื่อนตามกิเลสออกไปข้างนอก แล้วกิเลสดับวับลงไป จิตก็ว่างอยู่ตรงนั้นเลย ไม่รู้ว่าจิตอยู่ข้างนอกแล้ว ที่พลาดตรงนี้ คือเราไม่มีสติรู้เท่าทันจิตใจตนเอง การทำสมาธินั้น ทิ้งการรู้จิตตัวเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นบทเรียนเรื่องสมาธิ ท่านถึงใช้คำว่า อธิจิตตสิกขา อธิ ยิ่งใหญ่ จิตตสิกขา ต้องเรียนกันจริงจัง ไม่ใช่เรียนเล่นๆ เรียนรู้จิตตัวเอง เรียกว่าจิตตสิกขา
ฉะนั้นเวลาเราจะทำสมาธิให้จิตสงบ อยู่กับอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข แล้วมีสติรู้ทันจิตตัวเองไว้ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไร นี่สมมติ แล้วจิตเราหนีไปคิด เรามีสติรู้ทัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ เรารู้ทัน ต้องฝึก ส่วนจะใช้กรรมฐานอะไร ก็เลือกเอาที่เราถนัด บางคนทำอะไรไม่ได้ สวดมนต์ สวดๆๆๆ ไป แล้วจิตสงบ อย่างนี้ใช้ได้ แต่ต้องมีสติ
ส่วนใหญ่พอสวดชำนาญแล้ว เริ่มไม่มีสติ มันสวดด้วยไขสันหลัง สวดไม่ผิดเลย ถูกทุกคำเลย แต่จิตเผลอไป สวดจนจบบท อ้าว จบแล้วหรือ ใครเคยเป็นไหม สวดๆ แล้ว โอ๊ะ จบแล้วหรือ หรือสวดๆ ไป เอ๊ะ ถึงไหนแล้ว อันนี้สวดแล้วไม่มีสติ ฉะนั้นถ้าเราจะทำสมถะด้วยการสวดมนต์ เราก็สวดมนต์ไป แล้วจิตเราหนีไปคิดเรื่องอื่น ลืมบทสวดมนต์ เรารู้ทันจิต สวดไปเรื่อยๆ จิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตสงบ รู้ว่าสงบ สวดแล้วรู้ทันจิตไปเรื่อยๆ จิตจะค่อยๆ ตะล่อมเข้าที่เรียบร้อย
จะดูท้องพองยุบก็ได้ จะขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียนก็ได้ กรรมฐานอะไรก็เหมือนกันหมดล่ะ ถ้าเราอยู่กับมันแล้วเรามีความสุข มันก็จะได้สมาธิชนิดสงบ แล้วถ้าเรามีสติกำกับอยู่ เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่นด้วย สงบด้วย สงบอย่างเดียวไม่พอ สงบอย่างเดียว มันโง่ เขาเรียกว่าสมาธิแบบฤๅษีชีไพร มีมาก่อนพระพุทธเจ้า
สมาธิที่ประกอบด้วยสติ
อย่างเจ้าชายสิทธัตถะ ออกมาบวช สิ่งแรกที่ท่านทำในการออกบวชก็คือไปหาฤๅษี ไปหัดนั่งสมาธิ มันคือความรู้สึกลึกๆ ของคนปฏิบัติทุกคนล่ะ พวกเราก็เหมือนกัน รู้สึกไหม เวลาเราคิดถึงการปฏิบัติ เราก็คิดถึงการไปนั่งสมาธิก่อน ไปนั่งสมาธิ ไปเดินจงกรม จะเดินท่าไหน จะนั่งอย่างไร จะไปคิดอย่างนี้
ตรงที่ท่านไปฝึกกับฤๅษี จิตมันก็สงบลงไป แล้วก็เคลิ้มเหมือนครึ่งหลับครึ่งตื่น เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ เหมือนๆ จะไม่รู้สึกตัว ความรู้สึกเหลือนิดเดียว แล้วท่านก็พบว่า เวลาจิตท่านถอนออกจากสมาธิ กิเลสก็เหมือนเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย เพราะฉะนั้นสมาธิอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ท่านเลยลาออกจากสำนักฤๅษี ทั้งอาฬารดาบส อุทกดาบส ท่านลาออกมา แล้วไปหาวิธีต่อไป
ในยุคของท่าน พวกทรมานกายมีเยอะ พวกนิครนถ์ พวกนิครนถ์เกิดก่อนพระพุทธเจ้า อย่างตัว ชื่ออะไร หลวงพ่อลืมแล้ว ปรมาจารย์ของศาสนาเชน เขามีศาสดาเยอะ หลายองค์ แต่องค์นี้เกิดร่วมสมัยพระพุทธเจ้า เกิดก่อนพระพุทธเจ้า แต่ทันกัน ตอนนั้นอิทธิพลความคิดของศาสนานี้ แพร่หลายอยู่ คนอยากพ้นทุกข์ก็ต้องทรมานกาย ที่มันทุกข์ก็เพราะมันมีกิเลส ที่มันมีกิเลสเพราะมันรักร่างกาย ฉะนั้นวิธีแก้ ก็ทรมานร่างกายไป อยากกินไม่กิน อยากนอนไม่นอน ท่านก็ทำ ทำจนสุดขีด ทำจนสลบแล้วสลบอีก แล้วก็พบว่ามันไม่ใช่ ไม่เห็นมันจะพ้นทุกข์ตรงไหนเลย สุดท้ายท่านนึกถึงสมาธิที่ท่านเคยทำตอนเด็กๆ ไม่มีใครสอนท่าน เป็นของเก่าที่ท่านสะสมของท่านมา
ตอนท่านเด็กๆ ไม่กี่ขวบ มีงานแรกนาขวัญ พี่เลี้ยงเอาท่านไปวางไว้ใต้ต้นไม้ ปล่อยท่านอยู่ใต้ต้นไม้ตามลำพัง แล้วพวกพี่เลี้ยงก็ไปดูพระเจ้าสุทโธทนะไถนา มันสะท้อนเลยว่ายุคนั้นเขาไม่ได้ดูแลเจ้านายแบบยุคของพวกเรารุ่นหลังนี้ เขาปล่อยอยู่ใต้ต้นไม้ อยู่คนเดียว ถ้ายุคของเรา ถูกจับตีตายเลย สมัยอยุธยา สมัยอะไร เอาเจ้านายไปทิ้ง ท่านอยู่ลำพัง ท่านก็ลุกขึ้นนั่งสมาธิ ทำอานาปานสติ ได้ฌานที่หนึ่งๆ ท่านระลึกถึงตัวนี้ได้
ตอนหลวงพ่อเด็กๆ หลวงพ่อเคยงง เอ๊ะ ท่านไปทำสมาธิกับฤๅษีได้ถึงฌานเจ็ด ฌานแปด มันก็ผ่านฌานที่หนึ่งมาแล้ว แล้วทำไมท่านว่ามันผิด แล้วทำไมท่านมาทำฌานที่หนึ่ง ท่านว่าตัวนี้ถูก แล้วทำขึ้นไปถึงฌานที่สี่ก็ยังถูกอีก มาภาวนาถึงเข้าใจ สมาธิมันมีหลายแบบ สมาธิที่มีสติกับสมาธิที่มุ่งไปที่ความสงบ ไม่เหมือนกัน เป้าหมายในการทำสมาธิมันไม่เหมือนกัน สมาธิที่มุ่งไปที่ความสงบ ก็น้อมจิตไป ทำให้จิตเคลิ้มๆ สบายๆ ไป ส่วนสมาธิที่ทำไปด้วยความมีสติ เราใช้อารมณ์กรรมฐานนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิต เครื่องระลึกของสติ หลวงพ่อพุธชอบใช้คำนี้ ให้จิตมีเครื่องอยู่ มีเครื่องอยู่ของจิต มีเครื่องระลึกของสติ
ฉะนั้นสมาธิที่ท่านได้ด้วยตัวของท่านเอง เป็นสมาธิที่ประกอบด้วยสติ จะต่างกับสมาธิที่เอาเคลิ้ม เพราะฉะนั้นเวลาจิตท่านรวมเข้าฌาน ท่านก็ยังมีสติอยู่ พอท่านนึกถึงสมาธิที่ประกอบด้วยสติได้ ท่านก็ลงมือปฏิบัติเลย ทำอานาปานสติด้วยความมีสติ หายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้า รู้สึกตัว พอจิตหลงก็รู้ จิตไปเพ่งอะไรก็รู้ รู้สึกตัวไว้ ถ้าเรารู้สึกตัวก็คือจิตมันจะไม่เผลอ แล้วมันไม่เพ่ง มันรู้สึก ท่านก็ทำจนผ่านไปถึงฌานที่สี่
เวลาที่ผ่านฌานที่สอง สิ่งที่จะได้มาคือเอโกทิภาวะ คือภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง คือตัวจิตผู้รู้นั่นเอง มันจะเกิดขึ้นตั้งแต่ฌานที่สอง ทำไมฌานที่หนึ่งยังไม่มี เพราะฌานที่หนึ่ง จิตยังไปตรึก จิตยังไปตรอง ไปเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ในฌานที่สอง จิตวางอารมณ์กรรมฐานทวนกระแสเข้ามาหาจิต ก็เลยเจอจิตผู้รู้ขึ้นมา ท่านก็ทำต่อไปจนกระทั่งจิตเป็นอุเบกขาในฌานที่สี่
พอจิตท่านเป็นอุเบกขา ตั้งมั่นแล้ว ท่านถึงจะเดินปัญญา โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ พิจารณาธรรมะลงไป อะไรมีอยู่ ทุกข์ถึงมีอยู่ ชาติมีอยู่ ชาติคืออะไร ชาติคือการที่จิตมันไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา มีอยู่ มีอาการอย่างนี้ขึ้นมา ความทุกข์จะเกิดทันทีเลย อะไรมีอยู่ ชาติถึงมีอยู่ ท่านก็ดูไปเรื่อยๆ มีอุปาทาน มีตัณหา มีเวทนา ไล่ๆๆๆ ไปจนถึงอวิชชา ความไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ 4 พอท่านทวนมาตรงนี้ ทวนขึ้นลง ทบทวนไปมา ในที่สุดท่านก็บรรลุพระอรหันต์ ท่านยังบรรลุไม่ได้ ถ้าอยู่ๆ ท่านก็ไปนั่งคิดเรื่องปฏิจจสมุปบาท จิตไม่มีกำลัง แต่ว่าท่านทำสมาธิมาก่อนจนจิตท่านเป็นหนึ่งแล้ว ตั้งมั่นเป็นหนึ่งแล้วท่านถึงเจริญปัญญา มรรคผลมันถึงจะเกิดได้
ทิ้งการทำสมาธิไม่ได้
เพราะฉะนั้นเราทิ้งการทำสมาธิไม่ได้ แต่เราเลือกวิธีทำสมาธิที่เหมาะกับเรา ทางใครทางมันไม่เหมือนกันหรอก อย่างบางคนพิจารณาความตายแล้วจิตสงบ จิตมันชอบพิจารณาความตาย บางคนมันชอบพิจารณาร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เวลาไล่ ไล่อย่างนี้ จิตใจมีความสุข แล้วมีสติด้วย ให้มันมีความสุขด้วย ให้มันมีสติกำกับไปด้วย แล้วมันจะได้สมาธิ หรือเราทำกสิณอย่างนี้ เราเพ่งไฟ จนกระทั่งหลับตา เราก็เห็นกลายเป็นแสงสว่างขึ้นมา เวลาเราเพ่งน้ำ สุดท้ายมันก็กลายเป็นแสงสว่าง เพ่งดิน เพ่งลม เพ่งสีเหลือง สีเขียว สีแดง สีขาวอะไร สุดท้ายมันก็กลายเป็นแสง เหมือนกันหมดเลยทั้ง 10 อย่าง ได้อันหนึ่งแล้วไปฝึกอันอื่นต่อ จะไม่ยาก
เวลาเราดู อย่างเราจุดเทียนแล้วเราดูไฟ ให้เรามีสติ ถ้าเราไม่มีสติ มันจะออกไปทางเล่นอะไรต่ออะไร วุ่นวายขึ้นมา ให้เรามีสติกำกับไว้ จิตเราสงบ ให้รู้ จิตเราฟุ้งซ่าน ให้รู้ มันไปอยู่กับแสงไฟ ให้รู้ จิตมันไหลไปอยู่ที่แสง ให้รู้ทัน คอยรู้ทันจิตไว้ แล้วจิตจะตั้งมั่นขึ้นมา ทันทีที่เรารู้ว่าจิตมันเคลื่อนไป ความเคลื่อนไปหรือความฟุ้งซ่านของจิตจะดับอัตโนมัติ จิตจะตั้งมั่นขึ้นโดยอัตโนมัติ
ฉะนั้นพวกเราต้องทำ ทุกวันแบ่งเวลาไว้เลย ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด ทำไป แล้วก็รู้ไปสบายๆ มีสติอยู่ ไม่ไปโน้มไปน้อมจิตให้เคร่งเครียด ไม่ไปน้อมจิตให้เคลิ้มๆ เผลอไป เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึกจนชำนิชำนาญ เวลาเราอยากทำสมาธิ อึดใจเดียว เราก็ทำแล้ว ทำเรียบร้อยแล้ว ค่อยๆ ฝึก ทีแรกไม่ชำนาญ กว่ามันจะรวม กว่าจิตจะรวมก็ใช้เวลา หัดใหม่ๆ บางทีตั้ง 3 เดือนถึงจะรวมอะไรอย่างนี้ แต่พอชำนิชำนาญแล้วมันอยากรวมตอนไหนก็รวมได้เลย เราก็เข้าที่พักได้เลย
พอจิตมันมีกำลัง แล้วมันมีสติ อย่าอยู่เฉย ตอนนี้เราชาร์จแบตเตอรี่เต็มแล้ว ออกไปเจริญปัญญา งานหลักของเราจริงๆ คือการเจริญปัญญา เพราะเราถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา นี่พระพุทธเจ้าบอก “บุคคลถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา” ไม่ใช่ด้วยสมาธิ แต่สมาธิ สัมมาสมาธิ สมาธิที่ถูกต้องเป็นสมาธิที่ประกอบด้วยสติ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ถ้าเราไม่มีสมาธิที่ประกอบด้วยสติ ไม่มีทางเกิดปัญญา
ฉะนั้นพวกเราทำกรรมฐานไปสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตัวเองไว้ ทีแรกก็ อุ๊ย หลงไปตั้งชั่วโมงถึงจะรู้ ต่อมาหลง 5 นาทีก็รู้ ต่อมาจิตหลงปุ๊บรู้ปั๊บเลย ค่อยทำๆๆ ทุกวัน ทำไปเรื่อยๆ มีเวลาเมื่อไรทำเมื่อนั้น ไม่ต้องรอตอนค่ำ กลางวันนี้เราว่างๆ อยู่ มีเวลาว่างอยู่ก็ทำเลย ทำกรรมฐานไป แล้วก็คอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ ในที่สุดจิตจะค่อยๆ ทรงสมาธิขึ้นมา มันจะมีกำลัง จิตมันจะมีแรงขึ้นมา มองปร๊าดเดียวก็รู้แล้วว่าคนไหนจิตมีแรง
อย่างหนุ่มแว่น จิตมันมีกำลังแล้ว เรา รู้ใช่ไหม นั่นล่ะ มันไม่เหมือนมนุษย์ มันไม่เหมือนคนทั่วๆ ไป จิตมันมีกำลัง เพราะเราทำสม่ำเสมอ อย่างจะมาหลอกหลวงพ่อ ไม่ได้กินเลย บอกหนูขยันปฏิบัติค่ะ พูดออกมา แค่เห็นเราก็รู้แล้ว ภาวนาหรือไม่ภาวนา ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ไม่ใช่อิทธิปาฏิหาริย์หรอก เพราะถ้าเราเคยภาวนาจนกระทั่งจิตเราตั้งมั่นแข็งแรง มองกัน มันก็มองกันออก คนนี้จิตมันมีสมาธิแล้ว คนนี้ยังไม่มีสมาธิ เพราะถ้าเราฝึกของเราให้ดี ไม่ได้เรื่องอิทธิฤทธิ์เลย
มันเหมือนเราเรียนหนังสือ เราเรียนทางการแพทย์ จบด็อกเตอร์ทางแพทย์ เราฟังคนเขาคุยกัน เราก็รู้แล้ว คนนี้เป็นหมอหรือไม่เป็น พวกหมอเขาจะคุยกันด้วยภาษาที่มนุษย์ไม่รู้เรื่อง ชอบคุยอะไรก็ไม่รู้ ถ้าเจอกัน คุยอะไรฉอดๆ ฉอดๆ เราฟังไม่รู้เรื่อง ก็แบบเดียวกัน นักปฏิบัติมันมองกันออก ไม่ใช่ปาฏิหาริย์เลย แต่มันมองปุ๊บก็รู้แล้ว ทำไมจิตถึงมีสมาธิ จิตถึงตั้งมั่นได้ เพราะทำเสมอ ทำให้สม่ำเสมอ ทำให้ต่อเนื่อง
หลวงพ่อย้ำอยู่เรื่อยๆ ว่า ฆราวาสสิ่งที่ขาดที่สุดคือสมาธิ ขาดสมาธิที่ถูกต้อง มิจฉาสมาธิ มีถมไป นั่งแล้วเห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นมิจฉาสมาธิ เราขาดสมาธิที่ถูกต้อง แล้วต่อมาหลวงพ่อก็สังเกต ทำไมมันไม่มีสมาธิที่ถูกต้องเสียทีวะ มี วะ ด้วย เพราะนิสัยหลวงพ่อมันดุ ก็สังเกต อ้อ มันทำบ้างไม่ทำบ้าง มันทำไม่ต่อเนื่อง มันทำแล้วก็หยุดๆ จิตมันก็ไม่มีกำลัง เพราะฉะนั้นต้องทำตลอด มีเวลาเมื่อไรก็ทำ ไม่ต้องรอจนค่ำหรอก ตอนค่ำก็ไปทำตามปกติของเรานั่นล่ะ มีเวลาเมื่อไรก็ทำไป ทำกรรมฐานไปแล้วก็คอยรู้ทันจิตตัวเองไป
ผ่านไปประมาณเดือน 2 เดือน 3 เดือน จิตเราจะเปลี่ยน เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง จิตจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเลย หนุ่มแว่นนั่นทำนานเท่าไร ใช้เวลาเท่าไรที่จิตมาตรงนี้ 5 เดือน หรือ 5 ปี หรือ 5 วัน 5 วัน ดี แสดงว่าของเก่าเยอะ เสื่อมได้ เพราะมันยังเป็นโลกิยธรรมอยู่ เจริญได้ก็เสื่อมได้ ดี เพราะฉะนั้นเราฝึก หลวงพ่อทำสมาธิใช้เวลาไม่กี่วันเหมือนกัน ตั้งแต่เด็กๆ อันนี้เราต้องทำ ของฟรีไม่มี จะไปนั่งบนบานศาลกล่าว ขอให้จิตมีสมาธิ ไม่ได้กินหรอก ต้องฝึกเอา
วิธีฝึกก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด ที่ทำแล้วสบายใจ แต่ทำไปด้วยความมีสติเท่านั้นล่ะ คอยรู้ทันจิตของตัวเอง มีสติ คอยรู้ทันจิตตัวเองไป เช่น พุทโธๆ ไป จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น ลืมพุทโธแล้วรู้ทันอย่างนี้ พุทโธๆ แล้วจิตซื่อบื้อไปเลย รู้ทัน เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตเรื่อยๆ ไป แล้วสมาธิจะเกิดขึ้น
พอจิตมีกำลัง เจริญปัญญา
เมื่อสมาธิเกิดขึ้น เราจะรู้สึกเหมือนเราตื่นขึ้นมา เหมือนเราเพิ่งจะตื่น ตั้งแต่เด็ก ทุกวันก็ตื่นอยู่แล้วล่ะ แต่มันไม่ได้ตื่นจริง มันตื่นเฉพาะร่างกาย จิตมันหลับ จิตมันเคลิ้ม จิตมันฝันตลอดเวลา พอเราทำกรรมฐานไป ในที่สุดถึงจุดหนึ่งจิตมันตื่นขึ้นมา มันมีกำลัง มันรู้สึกเลย มันมีแรง พอจิตมันมีกำลัง มันมีแรงแล้ว อย่าเฉยอยู่แค่นั้น มันถึงจุดที่เราจะเจริญปัญญาแล้ว
การเจริญปัญญาก็คล้ายๆ เรื่องสมาธิเมื่อกี้ สมาธิเลือกอารมณ์กรรมฐานที่เราถนัด การเจริญปัญญาก็เหมือนกัน อารมณ์กรรมฐานที่เราใช้ทำวิปัสสนากรรมฐานมีตั้งแต่ตัวรูป อยู่ในกายานุปัสสนาหลายบรรพ อยู่ในเรื่องรูป เวทนาหรือความรู้สึกสุขทุกข์ ก็ใช้ทำวิปัสสนาได้ จิตตสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วทั้งหลาย เช่น โลภ โกรธ หลงอะไรนี่ ก็เอาไปทำวิปัสสนาได้ วิญญาณ คือตัวจิตเอง ก็ทำวิปัสสนาได้ เพราะจิตมันก็เกิดดับ แต่ตัวนี้ดูยาก เพราะมันไว มันละเอียด ดูของที่ดูง่ายไปก่อน
อย่างถ้าจิตเรามีกำลัง อย่างขณะนี้พวกเราแทบทุกคนๆ จิตกำลังมีกำลังอยู่ รู้สึกไหม ขณะนี้มีกำลัง อันนี้ไม่ใช่กำลังของเรา มันกำลังหลวงพ่อ พอคล้อยหลังหลวงพ่อ มันก็แตกหมด ต้องฝึกเอง แต่ตอนนี้ฟังธรรมะจากหลวงพ่อ จิตมันมีแรง สังเกตลงไป เห็นไหมร่างกายที่นั่งอยู่ๆ มันถูกรู้อยู่ มันไม่ใช่เราหรอก รู้สึกไหม มันไม่ใช่เรา แต่ถ้าคิดเมื่อไร มันจะเป็นเรา ถ้ารู้สึกจะไม่ใช่เรา ถ้าคิดจะเป็นเรา ลองรู้สึกสิ เวลาที่จิตมันทรงสมาธิจริงๆ มันหลุดออกจากโลกของความคิด มันอยู่ในโลกของความรู้เนื้อรู้ตัว
ฉะนั้นสติระลึกรู้กาย อันนี้ไม่ได้คิดเรื่องกาย แต่มันรู้สึกเลย ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา พอจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้เวทนาสุขทุกข์ทั้งหลาย ในกายบ้าง สุข ทุกข์ เฉยๆ ในใจบ้าง มันจะเห็นเลยว่าเวทนาทั้งหลายถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เราอีกล่ะ หรือกุศล อกุศล ที่เกิด อย่างโลภ โกรธ หลง แต่เดิมเวลาโกรธใช่ไหม ถ้าคนทั่วไป เวลาโกรธก็คือไม่รู้เลยว่ากำลังโกรธ ถ้าพัฒนาขึ้นมาหน่อย โกรธแล้วเห็น อุ๊ย เรากำลังโกรธอยู่ มีเรากำลังโกรธ แต่ถ้าจิตตั้งมั่นจริงๆ เราจะเห็นเลย ความโกรธมันผุดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วมันดับไป ไม่ใช่เราโกรธ มันเป็นสภาวธรรมอันหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ถ้าจิตเรามีกำลังพอแล้ว มันถึงจะเห็นได้ ถ้าจิตไม่มีกำลังพอ มันจะยังวนเวียนอยู่ในโลกของความคิด รู้สึกร่างกาย นี่ก็กายเรา รู้สึกเวทนา ก็เวทนาเรา รู้สึกสังขาร ก็สังขารเรา รู้สึกจิต ก็จิตเราอีก อันนั้นเพราะว่าจิตไม่มีกำลัง ถ้าเราฝึกสมาธิขึ้นมาได้ จิตเรามีกำลัง ตั้งมั่น เรียกว่าจิตมันมีสมาธิ ตั้งมั่น พอสติระลึกรู้อะไร มันจะเห็นทันทีว่าสิ่งนั้นไม่ใช่เรา สิ่งนั้นเป็นของถูกรู้
อย่างแก้วน้ำนี้เป็นของถูกรู้ พวกเราเห็นไหม เห็นแก้วน้ำนี้ไหม ถ้าอยู่ข้างหลังอาจจะไม่เห็น ไม่ต้องชะโงกหรอก แก้วน้ำเหมือนๆ กันทุกใบล่ะ ใครเห็นแก้วน้ำเป็นตัวเราบ้าง อาจจะมี แต่ต้องไปหาจิตแพทย์ทันทีเลย บ้าแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจิตเราตั้งมั่น มันเห็นทันที ร่างกายไม่ใช่เรา ความสุขความทุกข์ไม่ใช่เรา กุศล อกุศลไม่ใช่เรา มันเหลือจิตเป็นเราอย่างเดียว
วิธีที่จะล้างความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา ก็เห็นความเกิดดับของจิต จิตนี้เกิดดับอยู่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางใจก็มีหลายอาการ เช่น หลงไปคิด เป็นการหลงทางใจ หรือบางทีเราทำกรรมฐานแล้วเคลิ้มลงไป เพ่งลงไปอย่างนี้ เข้าไปข้างใน อันนี้ก็หลงทางใจ บางทีก็หลงไปดูรูป ขณะที่เราไปดูรูป สังเกตไหม เราลืมตัวเอง นั่นหลง ขณะที่ได้ยินเสียง ลืมตัวเอง นั่นหลง เรียกว่า ไม่รู้สึกตัว ไม่รู้สึกตัวเมื่อไรก็หลงเมื่อนั้น หลวงพ่อถึงบอกตอนเริ่มต้น ความรู้สึกตัวสำคัญ ก็คือมีสติ ไม่หลงนั่นล่ะ
เพราะฉะนั้นต้องฝึก ฝึกให้ได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาแล้วไปเดินปัญญา การเจริญปัญญานั้นจะสั้นนิดเดียว ขอให้จิตมันมีพลังพอเท่านั้นล่ะ การเจริญปัญญาจะไม่ใช่เรื่องลึกลับยากเย็นอีกต่อไปแล้ว ถ้าสมาธิไม่พอแล้วไปเดินปัญญา มันจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ มันจะเกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้นมา เจอพวกบ้าน้ำลาย พูดธรรมะแล้วก็ฟุ้งแบบคุมตัวเองไม่อยู่ พวกเราบางคนก็เป็น พอพูดธรรมะแล้ว โอ้โห ตาเหลือกขึ้นมาเลย ธรรมะไหลเทมาท่วมท้นอะไรอย่างนี้ ไม่มีสติๆ ต่างหาก เวลาพูดธรรมะแล้ว โอ้โห มันส์ ลืมเนื้อลืมตัวเลย อันนั้นเจริญปัญญาโดยที่ไม่มีสมาธิหนุนหลัง ไม่ดี จะเกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้นมา
สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ
ฉะนั้นเราต้องทำสมาธิ อย่าไปรังเกียจมัน ฝึกทุกวันๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่พวกเราถนัด ที่เราอยู่ด้วยแล้วสบายใจ แล้วก็ทำไปด้วยความมีสติ ไม่ได้ทำเพื่อความสงบ อยู่กับอารมณ์กรรมฐานนั้นด้วยความมีสติ พอเราอยู่ด้วยความมีสติในอารมณ์อันเดียว จิตเป็นหนึ่ง อารมณ์เป็นหนึ่ง สมาธิจะเกิดขึ้นทันทีเลย ความสงบจะเกิดขึ้นทันทีเลย แล้วการที่เราสงบนิ่งประกอบด้วยสติ ความตั้งมั่นก็เกิดขึ้นด้วย อันนี้เป็นวิธีรวบเลย ไม่ต้องไปทำสมาธิแบบเคลิ้มๆ เมาความสุข แล้วค่อยมานั่งแก้ทีหลัง เสียเวลา เอาสติกำกับลงไปเลย คอยรู้ทันจิตไว้
เวลาจิตมันพลาดตอนทำสมาธิ พลาด 2 อันเท่านั้น ไม่เผลอก็เพ่ง ไม่เคลิ้มก็เคร่งเครียด ควายทั้งคู่ๆ ถ้าเราไม่สุดโต่งไป 2 ฝั่ง จิตก็อยู่ในทางสายกลาง สมาธิที่ดีจะเกิดขึ้น มีสติ ถัดจากนั้นก็เดินปัญญา แล้วการเดินปัญญาจะไม่ยากอีกต่อไป แล้วจะไม่ใช้เวลาเยอะ ไม่ใช่การนั่งคิด พิจารณาอะไรทั้งสิ้น การคิดพิจารณานั้นยังเป็นสมถะอยู่ เป็นวิธีทำจิตให้สงบ
อย่างพิจารณาร่างกาย เกิดมาแล้วก็ตาย ตายแล้ว 1 วัน ตัวก็เริ่มแข็ง พอเลย 24 ชั่วโมง ความแข็งในตัวก็เริ่มลดลง ตัวเริ่มนิ่มลง เตรียมเน่าแล้ว 2 วันเป็นอย่างนี้ 3 วันเป็นอย่างนี้ 7 วันเน่าแบบนี้ อันนี้พิจารณาไปแล้วข่มราคะได้ เป็นสมถะ ส่วนการเดินวิปัสสนานั้น ไม่ได้คิดเอา จิตเราตั้งมั่น หลุดออกจากโลกของความคิด มาอยู่ในโลกของความรู้สึกตัวแล้ว แล้วเราเห็นเอา
เพราะฉะนั้นวิปัสสนาคือการเห็น ปัสสนะ แปลว่าการเห็น ตรงตัวเลย วิ แปลว่าแจ้ง คือเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เราเห็นกายถูกต้องตามความเป็นจริง คือเห็นกายเป็นไตรลักษณ์ เห็นจิตถูกต้องตามความเป็นจริง ก็คือเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ เราจะเห็นตามความเป็นจริงได้ จิตต้องไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด มิฉะนั้นผิดทันที จิตต้องตื่น ตื่นขึ้นมาให้ได้
เพราะฉะนั้นเรื่องภาวะที่จิตเราตื่นขึ้นมา มีสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา เป็นเรื่องใหญ่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่พวกเราขาดมากที่สุดเลย ฆราวาสทั้งหลายขาดสัมมาสมาธิ ขาดสมาธิที่ถูกต้อง มีสมาธิเคลิ้มๆ สมาธิเห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นไม่ได้เรื่องอะไร ไปทำสมาธิแล้วก็มีสติคอยรู้ทันจิตเอาไว้ แล้วเราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาๆ ทั้ง 8 ประกอบด้วยสติทั้งสิ้น ขาดสติตัวเดียว สัมมาทั้งหลายหายหมด กลายเป็นมิจฉาหมดเลย ฉะนั้นสติจำเป็น จำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ
อย่างเราจะมีความคิดถูก ความคิดถูกคือสัมมาสังกัปปะ มันจะคิดถูก มันก็ต้องมีสติ ถ้าไม่มีสติ มันก็คิดไปตามกิเลส ก็คิดผิด เพราะฉะนั้นเราจะพูด ถ้าเราไม่มีสติ เราก็พูดผิด เป็นมิจฉาวาจา ถ้าเราจะทำอะไร ทำงานการอะไร หรือเราเจอสัตว์ลำบากแล้วเราไม่มีสติ เราก็อาจจะไปตีสัตว์ หมาตัวนี้มาเดินเกะกะ เตะเสียเลย หรือเราขับรถอยู่ หมามาเกะกะบนถนนนี้ ชนมันเลย เพื่อสั่งสอนมัน ชาติหน้ามันจะได้ไม่ทำอย่างนี้อีก ถ้าเรามีสติกำกับ เรารู้เลยโมโหหมา จะไม่ผิดศีล
ฉะนั้นเรื่องสัมมากัมมันตะมันจะเกิดขึ้น สัมมาอาชีวะ สัมมาทั้งหลาย ต้องมีสติ ขาดสติตัวเดียว เป็นมิจฉาทั้งหมดเลย สัมมาสติ ตัวนี้มีลักษณะพิเศษ สัมมาสติคือสติที่ระลึกรู้รูปนาม กายใจ คือการเจริญสติปัฏฐาน จะต่างกับสติทั่วๆ ไป อันนี้เป็นสติชั้นสูงแล้ว ถัดจากสัมมาสติขึ้นถึงสัมมาสมาธิสุดขีดแล้ว ถัดจากนั้นมรรคผลจะเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกตัวเอง อย่าทิ้งการทำสมาธิที่ถูกต้อง
ยากไปไหม วันนี้ย้ำมากเลยเรื่องสมาธิ เพราะว่าฆราวาสขาดสมาธิ ปฏิบัติกันหลายสิบปี ไม่ได้มรรคผลเสียที บางทีฟุ้งซ่านแล้วก็บอกว่าเจริญปัญญา อันนั้นไม่ถูก ฉะนั้นฝึกตัวเอง ทุกวันทำกรรมฐานไปแล้วมีสติรู้ทันจิตตัวเองไว้ กรรมฐานอะไรก็ได้ ทำไปเถอะ แล้วคอยรู้ทันจิตไว้ ท่องสูตรคูณยังได้เลย สองหนึ่งสอง สองสองสี่ เดี๋ยวนี้เด็กมันท่องไหม หรือมันกดเครื่องคิดเลข ท่องสูตรคูณไม่เป็นแล้ว กดเอาอย่างเดียว ถ้าเราท่องสูตรคูณ สมัยหลวงพ่อเรียนยังท่องๆ สองหนึ่งสอง สองสองสี่อะไรอย่างนี้ ท่องๆ ไป แล้วเราท่องเก่ง ท่องไม่ผิดเลย แต่ใจเราหนีไปอย่างนี้ ให้เรารู้ทัน ได้สมาธิๆ
เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วการทำสมาธิไม่เลือกอารมณ์ อะไรก็ได้ แต่ว่าเราอยู่แล้วเราสบายใจ แต่ก็ต้องอยู่ด้วยความมีสติแค่นั้นล่ะ หลักของมัน เคล็ดลับของมันอยู่ตรงนั้น ต่อไปพอชำนาญอยากทำสมาธิ ทำได้ทันที อยู่ตรงไหนก็ทำได้ อย่างเราไปทำฟัน หวาดเสียว หมอมากรอฟันเรา เจ็บ เราทำสมาธิ ไม่ยากเลย เราก็ไม่สนใจฟัน เราเอาจิตไปไว้ที่หัวแม่เท้าแทน หมอไม่ยุ่งกับหัวแม่เท้าเรา หัวแม่เท้าเรากระดิกเล่น สบาย กระดิกๆ ไปเลย ย้ายที่ได้ เล่นได้สารพัดเลย
เรื่องสมาธิเอาไว้ใช้ทางโลกก็ได้เยอะแยะเลย อย่างเวลาเราทำงานที่ยุ่งยาก ซับซ้อนมาก คิดไม่ออก หรือเวลาเรามีปัญหาชีวิตที่คิดไม่ออก ซีเรียสมากเลย เรื่องนี้เอาอย่างไรดีๆ คิดวกไปวกมา ตัดสินใจไม่ได้เสียที เรื่องอะไรที่ยังคิดไม่ออก อย่าไปคิดมัน แขวนมันไว้ก่อน ทำความสงบเข้ามา พอจิตสงบแล้ว จิตมันกลับไปนึกถึงเรื่องนั้นปุ๊บ มันรู้คำตอบเลย มันรู้คำตอบอัตโนมัติเลย เรื่องนี้ทำอย่างนี้ๆ ที่ว่ายากง่ายทันทีเลย ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องของสมาธิ เอามาใช้ทางโลกก็ได้ประโยชน์เยอะแยะเลย
เวลาเกิดอุบัติเหตุจะตาย รถคว่ำ รถหงายอะไร ร่างกายเราขยับทางไหน สติมันเกิดเลย จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา มีสมาธิขึ้นมา มันเหมือนจิตมันถอดออกจากร่าง มันพร้อมที่จะทิ้งร่างนี้แล้ว เราก็เห็นร่างกายมันพลิกๆๆ ไป จิตมันเป็นคนดูอยู่ มันมีสมาธิอยู่ ถ้าจะตายตอนนี้ไม่เสียประโยชน์หรอก เพราะฉะนั้นเรื่องสมาธิ ใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางโลก ใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางธรรม ใช้ประโยชน์ในปัจจุบันก็ได้ ทำมาหากิน ใช้ประโยชน์ในอนาคตก็ได้ เตรียมตัวตายด้วยความมีสมาธิ ใช้ประโยชน์อย่างยิ่ง คือนิพพาน ถ้าไม่มีสมาธิ ไปนิพพานไม่ได้ แต่สมาธินั้นต้องถูก ถ้าสมาธิแบบอาฬารดาบส อุทกดาบส ไปนิพพานไม่ได้
ฤๅษีคู่นั้นพลาดนิดเดียว เขาไม่ได้รู้จักการเจริญสติปัฏฐาน ถ้ามีสติแล้วเห็นองค์ธรรมของสมาธิ เขาเดินปัญญาในฌานได้ เขาก็หลุดได้ ฉะนั้นตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา คนแรกที่ท่านคิดถึงคือฤๅษีคู่นี้ เพราะฤๅษีคู่นี้กิเลสเบาบางมากเลย ถ้าท่านไปสะกิดนิดเดียว เพิ่มสติลงไปสิ นั่งสมาธิอย่าเอาแต่เคลิ้ม อย่าเอาแต่สงบ นั่งสมาธิแล้วก็ดูไป เห็นไหม ปีติเกิดแล้วปีติก็ดับ สุขเกิดแล้วสุขก็ดับ อุเบกขาเกิดแล้ว อุเบกขาก็ดับ ค่อยๆ ดูไป สมาธิที่อยู่ในช่องว่างเกิดแล้วก็ดับ สมาธิที่เพ่งตัวจิตผู้รู้เกิดแล้วก็ดับ สมาธิที่ไม่เพ่งอะไรเลยเกิดแล้วก็ดับ สมาธิที่เคลิ้มลงไป เหมือนๆ จะรู้สึกตัว เหมือนๆ จะไม่รู้สึกตัว อันนั้นเนวสัญญา เกิดแล้วก็ดับ
ถ้าท่านได้สะกิดฤๅษีนี้นิดเดียว ฤๅษีนี้จะบรรลุพระอรหันต์ก่อนพระโกณฑัญญะอีก แต่ฤๅษีตายเสียก่อน ฤๅษีตาย พระพุทธเจ้าก็บอกว่าเสียโอกาสแล้วล่ะ พลาดจากคุณอันใหญ่ ท่านพุทธทาสท่านเลยแปลให้ฟังง่าย บอกพระพุทธเจ้าอุทานว่า ชิบหายแล้ว ถ้าในตำราก็บอกว่าพลาดจากคุณอันใหญ่แล้ว พลาดโอกาส เพราะฉะนั้นเรื่องสติสำคัญ ถ้าทำสมาธิ ทำด้วยความมีสติ
บ้านจิตสบาย
19 กุมภาพันธ์ 2566