คนมาวัดหลวงพ่อก็เห็นใจ อยากมาเรียนธรรมะ อยากฟังธรรม อยากได้บุญ หวังว่าชีวิตจะได้มีความสุข จริงๆ สิ่งที่คนเราต้องการในชีวิต ก็คือความสุข ทุกคนก็อยากมีความสุขทั้งนั้น แต่ละคนก็หาความสุข ด้วยวิธีที่แตกต่างกันไปตามสติปัญญา บางคนก็เห็นว่าถ้าสามารถสนองกิเลสได้ สนองความอยากได้ เวลามีความอยากเกิดขึ้น สนองความอยากได้ จิตใจก็มีความสุข พวกที่คิดอย่างนี้ก็เลยพยายาม เพิ่มความสามารถในการสนองตัณหา เช่นอยากรวยมีเงินเยอะๆ อยากได้อะไรก็ซื้อได้อะไรอย่างนี้ สนองตัณหาสำเร็จก็มีความสุข ความสุขจากการตอบสนองความอยาก เป็นความสุขพื้นๆ
สัตว์เดรัจฉานก็เป็น หิวขึ้นมาก็ออกไปเดินล่าตัวโน้นตัวนี้มากินอะไรอย่างนี้ ล่าสัตว์ได้อย่างพวกแมว พวกเสือ ล่าสัตว์ได้ก็มีความสุขแล้ว ได้กิน การตอบสนองความอยาก แล้วก็มีความสุข มันไม่ใช่เรื่องแปลก กระทั่งสัตว์เดรัจฉานก็ทำได้ อย่างอยากสืบพันธุ์ อย่างหมาอยากสืบพันธุ์ กัดกันเลือดโชกเลยแผลเหวอะหวะทั้งตัว ก็ยังไปสู้กัน ต่อสู้กันเพื่อจะได้สืบพันธุ์ สืบพันธุ์ได้แล้ว รู้สึกตอบสนองความต้องการได้แล้ว มีความสุข ฉะนั้นการแสวงหาความสุข ด้วยการตอบสนองความต้องการ เป็นเรื่องพื้นๆ ใครๆ ก็เป็น สัตว์ทั้งหลายก็เป็น
บางคนมีสติปัญญามากขึ้น ก็เห็น เอ๊ะ ถ้าใจเรามีความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์มันก็เกิดขึ้นทุกที ก็หาทางละความอยากไม่ให้เกิดขึ้นในใจเรา วิธีละความอยากก็มีหลายแบบ บางสำนัก บางอาจารย์ บางลัทธิศาสนา เวลามีความอยากขึ้นมาก็ต่อต้านปฏิเสธ อยากกินก็ไม่กิน อยากนอนก็ไม่นอน อยากสุขอยากสบายก็ทำตัวให้ลำบาก นั่งบนหนามนอนบนหนาม คิดว่าถ้าเราไม่ตอบสนองความอยากแล้ว ต่อไปความอยากมันก็หมดไปเอง มันไม่หมดหรอก ตอนที่เราทรมานตัวเองอยู่ มันก็ตอบสนองความอยากของตัวเอง อยากดี แต่ก็ไม่มีวิธีการที่ถูกต้อง ใช้วิธีข่มใจเอา ข่มเรื่องนี้เดี๋ยวก็ไปโผล่ทางโน้นแทน ห้ามไม่ได้จริง
บางคนก็หาความสุข เห็นว่าโลกนี้วุ่นวาย ก็พากันฝึกสมาธิจิตเข้าฌานมีความสุข มีความสงบ ก็คิดว่านี่ละทางพ้นทุกข์
เจ้าชายสิทธัตถะท่านก็เคยเป็นเคยทำแบบนั้น ออกจากวังมาบวช ไปเข้าสำนักอาฬารดาบส อุทกดาบส ฝึกเข้าฌาน ตอนที่เข้าฌานไปร่างกายหายไปเลย ท่านเข้าถึงอรูปฌาน จิตมีความสุขมีความสงบ ประณีต สงบ ความสุขที่ประณีตก็เป็นอุเบกขาไป มีความสุขยิ่งกว่าจิตมีความสุขธรรมดาเสียอีก แต่พอออกจากสมาธิ ความสุขอันนั้นก็หายไปอีก ฉะนั้นความสุขจากการเข้าสมาธิอะไรก็เลยไม่ยั่งยืน ท่านก็พบว่ามันไม่ใช่ ความสุขจากการทรมานกายก็ไม่มีหรอก ลำบาก
ที่จริงแล้วก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านผ่านการลองผิดลองถูกมาสารพัด อย่างตอนเป็นเจ้าชายอยู่ มีความอยากเกิดขึ้น ก็ตอบสนองความอยากได้ทุกอย่าง ชีวิตถ้าเทียบกับทางโลก ก็คือมีความสุขที่สุดแล้ว หาคนมีความสุขอย่างนี้ยาก แต่ท่านก็ยังเห็นว่าความสุขจากการตอบสนองกิเลส ตอบสนองความอยากนั้น หาสาระแก่นสารไม่ได้ เพราะว่าคนเรายังไม่พ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย มีสิ่งบริโภคใช้สอยมากมาย ก็หนีความแก่ ความเจ็บ ความตายไม่พ้น ผู้มีสติมีปัญญาสูงจะรู้ การตอบสนองความอยากไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีสาระแก่นสารที่แท้จริง ท่านถึงออกบวช
ออกมาบวชแล้ว สิ่งแรกที่ทำก็คือ ไปฝึกสมาธิ ก็คือคอนเซ็ปต์ คือความรู้สึก ความเชื่อเหมือนๆ กัน กับที่พวกเราทั้งหลายในยุคนี้เชื่อ คิดว่าถ้าจะปฏิบัติธรรม สิ่งแรกที่ต้องทำคือนั่งสมาธิ เข้าฌานให้ได้เจ้าชายสิทธัตถะท่านก็ทดลอง มันก็มีความสุข มีความสงบได้จริง ในขณะที่จิตทรงสมาธิอยู่ พอจิตออกจากสมาธิ กิเลสตัณหาอะไรก็เกิดขึ้นอีก มันก็แก้ปัญหาไม่ได้จริง คล้ายๆ ปวดหัวตัวร้อนอะไรก็กินพาราฯ แต่ต้นเหตุของการเจ็บป่วยยังไม่ได้ถูกแก้ แก้ได้ชั่วคราว เป็นคราวๆ ไป เดี๋ยวก็ทุกข์อีก
ถัดจากนั้นท่านก็มาทรมานกาย ก็พยายามต่อสู้กับกิเลสตัณหา กิเลสตัณหาอยากสุข อยากสบาย ก็ทำให้มันทุกข์เสีย ก็ฝึกอยู่นานเป็นปีๆ พบว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมา เป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่า เป็นความลำบากเปล่า ท่านก็เลยค้นพบเส้นทางอีกเส้นหนึ่ง ท่านกล้าที่จะปฏิเสธความเชื่อเดิมๆ ความเชื่อเดิมๆ ของท่านเอง ท่านทดลองมาแล้วการบริโภคกามมากๆ ก็ไม่ได้ทำให้มีความสุข การเข้าฌานมากๆ ก็ไม่ได้ทำให้มีความสุข การทรมานตัวเองก็เหนื่อยเปล่า ไม่เกิดประโยชน์อะไร กิเลสตัณหาไม่ได้ลดลง ดีไม่ดีกิเลสเพิ่มขึ้นอีก จะรู้สึกว่ากูเก่งๆๆ ขึ้นมา กูเก่งมากเลย ไม่ต้องกินข้าวตั้งหลายเดือนอะไรอย่างนี้ เหนือกว่าคนธรรมดา
เส้นทางที่ท่านค้นพบ คือทางสายกลาง ไม่สุดโต่งไปข้างตามใจกิเลส สนองกิเลสตัณหาไปเรื่อยๆ ไม่สุดโต่งไปในทางต่อต้านกิเลส ต่อต้านด้วยการไม่ทำตามมัน หรือกดข่มมันด้วยการเข้าฌาน ทางสายกลางของท่าน พวกเราก็เรียนมาเยอะแล้ว เรื่องของอริยมรรคมีองค์ 8 ประการ หรือทางสายกลางย่อลงมา จากมรรคมีองค์ 8 ก็คือเรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ เรื่องของปัญญา
พวกเราก็เรียนกันมาเยอะแยะแล้ว จุดสำคัญก็คือลงมือปฏิบัติให้ได้เท่านั้น เรียนอย่างเดียว ฟังอย่างเดียว ไม่ได้อะไรขึ้นมาหรอก กิเลสไม่กลัวคนที่เรียนเยอะ ไม่กลัวเลย อย่างเราท่องตำราได้เยอะแยะเลย กิเลสไม่กลัว อย่างเราเป็นพระ สมมติเราเป็นพระเราสวดปาฏิโมกข์ได้ กิเลสก็ไม่กลัวคนสวดปาฏิโมกข์ได้ เรียนธรรมะแตกฉาน เรียนอภิธรรมจบถึงมหาปัฏฐานจบอะไร กิเลสก็ไม่กลัว เรียนธรรมะเยอะ กิเลสก็ไม่กลัว มันกลัวอะไร มันกลัวสติ กลัวปัญญา
ต้องฝึก ค่อยๆ ฝึกตัวเองไป พัฒนาสติขึ้นมา พัฒนาสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา แล้วถึงจะเกิดปัญญา เพราะปัญญานั้น มีสมาธิที่ถูกต้องเป็นเหตุใกล้ให้เกิด สมาธิทั่วๆ ไปไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา สมาธิบางทีทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิก็ได้ สมาธิเกิดกับปัญญาก็ได้ เกิดกับมิจฉาทิฏฐิก็ได้ ต้องฝึกสมาธิที่ถูกต้อง ทุกสิ่งทุกอย่างที่หลวงพ่อสอนมาตั้งหลายปี มันก็วนเวียนอยู่ในเรื่องนี้ ทำอย่างไรเราจะมีสติที่ถูกต้อง ทำอย่างไรเราจะมีสมาธิที่ถูกต้อง แล้วทำอย่างไรเราจะเกิดปัญญา วิธีที่จะเจริญปัญญา เรียนแล้วเรียนอีกก็เรียนอยู่ในเรื่องเหล่านี้ ถ้าเรียนแล้วลงมือทำจะไม่ยากเท่าไหร่ ถ้าเรียนแล้วนั่งคิดว่าอย่างไหนถูกๆ มันจะไม่มีวันถูกหรอก
ธรรมะเข้าใจไม่ได้ด้วยการคิดเอา ด้วยการดิ้นรนค้นคว้าอย่างโน้นอย่างนี้ พวกเราอยู่ในกลุ่มของสาวกภูมิ อาศัยฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เรียนให้ดี เรียนแล้วก็ลงมือพัฒนาสติของตัวเอง สติที่เราจะพัฒนา ไม่ใช่สติธรรมดาที่เป็นสาธารณกุศล เขาเรียกสาธารณกุศล คือสติที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศลทุกๆ ดวง อย่างนั้นธรรมดา สติที่พวกเราต้องฝึก เรียกว่าสติปัฏฐาน สัมมาสติที่พระพุทธเจ้าสอน สัมมาสติในองค์มรรค พระพุทธเจ้าอธิบายไว้ คือสติปัฏฐาน ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็ยังไม่ใช่ตัวสัมมาสติ
มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง
วิธีฝึกสติปัฏฐานทำอย่างไร ขั้นแรกเลยเราต้องมีเครื่องอยู่ เราจะรู้กายก็ได้ รู้เวทนาก็ได้ รู้จิตก็ได้ ส่วนธัมมานุปัสสนานั้นยาก เอาไว้ทีหลัง
รู้กาย – เวลารู้กายเราไม่ต้องรู้ทุกอย่างในร่างกาย เราไม่ได้เรียนแพทย์ ไม่ต้องรู้ว่ากระดูกแต่ละท่อนชื่ออะไร กล้ามเนื้อแต่ละมัดชื่ออะไร ทำงานอะไรอย่างไร เราไม่ได้เรียนแบบนั้น เราเรียนแบบสุ่มตัวอย่าง เรียนกายนี้แบบสุ่มตัวอย่าง เช่น เราเรียนร่างกายที่หายใจออก เรียนร่างกายที่หายใจเข้า เรียนอยู่ 2 อย่างนี้ เรามีจิตเป็นคนดู มีร่างกายหายใจออก มีร่างกายหายใจเข้า พอจิตมันตั้งมั่นเป็นคนดูอยู่ แล้วสติระลึกรู้ลงในร่างกายที่หายใจออก ปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นว่าร่างกายที่หายใจออก ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก จิตมันยอมรับความจริงเลย ร่างกายทั้งหมดนี่ละไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เรียนแค่ร่างกายหายใจออก เรียนแค่ร่างกายหายใจเข้า สุดท้ายจะเกิดความรู้ว่าร่างกายทั้งหมดไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
หรือจะเรียนร่างกายในมุมอื่นก็ได้ เรียนร่างกายในมุมที่ว่าร่างกายยืน ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน จิตเป็นคนรู้คนดูอยู่ มันจะเห็นว่าร่างกายที่ยืนไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ร่างกายที่นั่ง ที่นอน ที่เดินนี่ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา รู้ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งมันจะปิ๊งขึ้นมา ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย เป็นสมบัติของโลก ยืมโลกมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว เรียกว่าเราใช้กายในกาย คือเรียนกายบางอย่าง พอเข้าใจมันก็จะเข้าใจกายทั้งหมด แต่เราจะเรียนกายบางอย่างได้ เรียนกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิตได้ เราต้องมีสมาธิที่ถูกต้อง จิตต้องตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูให้ได้ก่อน ฉะนั้นเวลาที่จะเดินปัญญาจริงๆ ต้องมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ แล้วสติระลึกรู้กาย สติระลึกรู้ใจที่เราเลือกเป็นอารมณ์กรรมฐานของเรา พอเรารู้กาย รู้ใจด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง ปัญญามันจะเกิด
ฉะนั้นหลวงพ่อสอนพวกเรา เรื่องของวิปัสสนากรรมฐานพูดแล้วมันยาว ย่อลงมาเหลือนิดเดียว ให้เรา “มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง” มีสติไปรู้กายรู้ใจ คือรู้รูป รู้นาม ไม่ต้องรู้ทั้งรูปทั้งนาม ไม่ต้องรู้ทั้งหมดหรอก รู้อารมณ์กรรมฐานอันใดอันหนึ่งที่เราถนัด จะรู้กายในกาย หรือเวทนาในเวทนา หรือจิตในจิต หรือธรรมในธรรม อะไรก็ได้ แต่มีจิตเป็นผู้รู้ แล้วทั้งหมดนั้น กายทั้งหมดจะไม่มีตัวเรา เวทนาทั้งหมดจะไม่มีตัวเรา สังขาร จิตสังขารทั้งหมดจะไม่มีตัวเรา สภาวธรรมทั้งหลาย ทั้งกุศล ทั้งอกุศลทั้งหลาย ก็จะไม่เป็นตัวเรา เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ
ฉะนั้น “มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง” คำว่าตามความเป็นจริงคือเห็นไตรลักษณ์ เพราะความจริงของรูปนามคือไตรลักษณ์ ถ้าไม่เห็นไตรลักษณ์ก็เรียกว่ายังไม่ได้ทำวิปัสสนา ฉะนั้นประโยคสั้นๆ นี้ล่ะที่หลวงพ่อรวมมาจาก หลักการปฏิบัติที่กว้างขวางมากมาย ถ้าพวกเราตีความตรงนี้แตก พวกเราทำวิปัสสนาได้แน่นอน
อันแรก มีสติไประลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจ หลวงพ่อไม่ได้บอกให้มีสติไปเพ่งกาย เพ่งใจ แค่มีสติไปรู้เท่านั้น ไปเห็น ร่างกายเคลื่อนไหวก็เห็นว่ามันเคลื่อนไหว ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายหายใจออก หายใจเข้าก็เห็น เห็นร่างกายมันทำงานไป ความสุขความทุกข์เกิดขึ้น ก็เห็นว่ามีความสุข ความทุกข์เกิดขึ้น กุศล อกุศลเกิดขึ้น ก็เห็นว่ามีกุศล อกุศลเกิดขึ้น นี่ล่ะมีสติรู้ มีสติเห็นกาย เห็นใจ การเห็นกาย เห็นใจตามความเป็นจริง ก็คืออย่าเข้าไปแทรกแซงกาย อย่าเข้าไปแทรกแซงใจ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น ฝึกให้มากๆ พอเฝ้ารู้มากๆ ต่อไปมันก็จะเข้าใจความจริง จะเห็นความจริงร่างกายที่เราดูอยู่ ไม่มีตัวเรา ตัวเวทนา ตัวสุข ตัวทุกข์ ตัวดี ตัวชั่วอะไรนี่ ไม่มีตัวเรา เฝ้าดูเรื่อยๆ ไป สุดท้ายมันจะล้างความเห็นผิดว่ามีตัวเราได้
หลวงปู่ดูลย์ท่านก็สอน “จงทำญาณเห็นจิต ให้เหมือนตาเห็นรูป” อันนี้ท่านสอนการปฏิบัติในแง่ของการดูจิต แต่ที่หลวงพ่อบอกว่า “มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง” อันนี้มันจะคลุมหมด คลุมกรรมฐานทุกๆ อย่างไว้ แต่ว่าหลวงพ่อนี่หลวงปู่ท่านพิจารณาว่าสมควรดูจิต ท่านก็เลยเจาะเรื่องดูจิตมาให้เลย เรียนตามที่ท่านสอนมา แล้วก็จิตใจมันก็มีความสุข มีความสงบมากขึ้นๆ ยิ่งฝึกไปเรื่อยๆ ก็เห็นเลย โลกนี้ว่างเปล่า โลกนี้ไม่มีสาระแก่นสารอะไรหรอก แต่เดิมเราไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็รู้สึกโลกนี้น่าสนใจ ใจก็หมกมุ่นวุ่นวายตามโลกไป ตอนเด็กๆ คนอื่นเขาเรียนหนังสือ เราก็ต้องเรียนหนังสือตามโลกไป โตขึ้นมาทำงาน ก็ทำตามโลกไป มีงานมีการทำ อยากมีเมีย อยากมีลูกอะไรอย่างนี้ ก็มีตามโลกไป
วันนี้หัวเราะอยู่เย็นนี้อาจจะร้องไห้แล้วก็ได้
ความสุขในโลกมันหลอกๆ เราแวบเดียวเท่านั้นเอง
ในโลกเราไม่ได้มีความสุขอย่างที่คิดที่ฝันหรอก
โลกเต็มไปด้วยความทุกข์
พอเราภาวนา เราจะเห็นสิ่งเหล่านั้นไม่ได้นำความสุขที่แท้จริงมาให้ ความสุขของโลกเป็นความสุขที่เจือด้วยทุกข์เสมอ อะไรที่ได้มาก็จะมีความทุกข์แฝงอยู่ เพราะสิ่งทั้งหลายในโลกนี้มันไม่ยั่งยืน เราได้มามันอยู่กับเราชั่วคราวมันก็ไป สมบัติของโลก สมบัติผลัดกันชม ถ้าเราคิดว่ามันจริงจัง เป็นของเราอย่างแท้จริง พอมันไปเราก็เสียใจ ถ้าเราเห็นว่ามันธรรมดา มันเป็นอย่างนี้ละก็ไม่เสียใจ ค่อยๆ ภาวนา ดูกาย ดูใจของตัวเองมาเรื่อยๆ ความหิวความกระหายความสุขในโลก ความหิวความสุขในโลก มันก็หายไป หมดไปตามลำดับๆ อย่างพระเรามาบวช อยู่กับหลวงพ่อบางองค์อยู่หลายปีแล้ว บวชช่วงแรกๆ ก็ยังอยากสึก คิดว่าโลกนำความสุขมาให้ วันหนึ่งกลับไปเยี่ยมบ้าน ไปได้ไม่กี่วันรีบกลับมาวัดเลย รู้สึกโลกมันไม่ใช่ที่ของเราอีกต่อไปแล้ว โลกมันมีแต่ความวุ่นวาย ก็เลยกลับมาภาวนา จิตใจก็เด็ดเดี่ยวมั่นคงขึ้น เข้มแข็งขึ้น ภาวนาก็ดีขึ้น
พอเห็นความจริงของโลก ใจมันก็คลายออกจากโลก เพราะฉะนั้นความจริงนั่นล่ะจะสอนเรา เราเห็นความจริงของโลก ดูสิคนในโลกมันสุข หรือมันทุกข์ ถ้าเราหลงดูแบบคนหลง อย่างเราเป็นพระเราไปดูโยมอย่างนี้ เราคิดว่าเขามีความสุข มีเงินใช้ มีแฟนสวย มีอย่างโน้นมีอย่างนี้ อันนี้พระพุทธเจ้าท่านเรียก ราคสังโยค แต่ถ้าเรามองแล้วเราเห็นความทุกข์ของคนในโลก ใจมันจะคลายออกจากโลกเอง คนในโลกที่หัวเราะๆ อยู่ วันนี้หัวเราะอยู่เย็นนี้อาจจะร้องไห้แล้วก็ได้ ความสุขในโลกมันหลอกๆ เราแวบเดียวเท่านั้นเอง ญาติโยมก็เหมือนกัน ในโลกเราไม่ได้มีความสุขอย่างที่คิดที่ฝันหรอก โลกเต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์ประจำโลกเลย ก็คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย นอกนั้นก็ทุกข์แบบชั่วครั้งชั่วคราว เช่น เจ็บไข้ได้ป่วยมาเป็นคราวๆ อะไรอย่างนี้ ทุกข์ ความตาย ความแก่อะไรพวกนี้ หนีไม่รอดหรอก
เกิดหนึ่งวันก็แก่ไปหนึ่งวัน เกิดหนึ่งขวบก็แก่ไปหนึ่งขวบ ใกล้ความตายเข้าไปทุกวันทุกปี สิ่งที่เราคิดว่าจะนำความสุขมาให้ เที่ยวแสวงหาอะไรต่ออะไรไว้เยอะแยะ เป็นเครื่องพะรุงพะรังเป็นภาระที่ต้องดูแลรักษามากมาย สุดท้ายก็ว่างเปล่า หาเงินมาตั้งเยอะแยะใช่ไหม สุดท้ายก็ว่างเปล่า ไม่ได้ใช้อะไร พอตายก็เป็นสมบัติของคนอื่นต่อ ความสุขในโลกอย่าไปหลงกับมันมาก เราอยู่กับโลก ต้องอาศัยโลกเท่านั้น อยู่แบบเป็นเจ้านายมัน ไม่ใช่เป็นขี้ข้ามัน อยู่อย่างฉลาด แล้วก็ฝึกสติของเราให้ดี มีสติรู้กาย มีสติรู้ใจตัวเองไป รู้อย่างที่กายเป็น รู้อย่างที่ใจเป็น รู้เรื่อยๆ ไป อย่าเข้าไปแทรกแซงกาย อย่าเข้าไปแทรกแซงใจ
อย่างร่างกายเรานั่งสมาธินาน มันปวด มันเมื่อย มันเป็นเหน็บอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ไปนั่งให้มันไม่เป็นเหน็บ แต่นั่งเพื่อให้เห็นว่าร่างกายมันจะเป็นเหน็บชาขึ้นมา มันเป็นของมันเองเราห้ามมันไม่ได้ ร่างกายมันจะแก่ มันจะเจ็บ มันจะตายอะไร ดูไปเรื่อยๆ มันเป็นของมันเอง เราห้ามมันไม่ได้ ดูมันไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ ไป ร่างกายจะหิว จะหนาว จะร้อน จะกระหายอะไรอย่างนี้ ห้ามมันไม่ได้ จะปวดอึ จะปวดฉี่อะไร ก็ห้ามมันไม่ได้ ดูลงไปเรื่อยๆ จะเห็นร่างกายมันไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริงหรอก มันเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ เลย
มาดูที่จิตที่ใจ แล้วก็จะเห็นเอง จิตนี้เดี๋ยวก็สุข จิตนี้เดี๋ยวก็ทุกข์ จิตนี้เดี๋ยวก็เฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ จิตนี้เดี๋ยวก็เป็นกุศล จิตเดี๋ยวก็เป็นอกุศล อกุศลก็เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธอะไรอย่างนี้ บางทีหลง เวลาหลง ตัวหลงนี้ ตัวพ่อตัวแม่กิเลส มันหลงไปแล้วสติเราไม่มี ประเดี๋ยวหนึ่งก็โลภ เดี๋ยวหนึ่งก็โกรธ ฉะนั้นความโลภ ความโกรธ จะเกิดไม่ได้ถ้าไม่หลง ถ้าเรามีสติอยู่เราไม่หลง ความโลภ ความโกรธมันเกิดไม่ได้หรอก ไม่มีช่องทางที่จะเกิด ความหลงมันคำว่าโมหะ ไม่รู้สภาวะตามความเป็นจริง สิ่งที่ตรงข้ามกับโมหะ คือปัญญา ปัญญา ก็คือการเห็นความจริง อันนี้หมายถึงวิปัสสนาปัญญา การเห็นความจริงของรูปนามกายใจ ฉะนั้นที่เราฝึกกรรมฐานกันแทบเป็นแทบตาย สุดท้ายเราได้ปัญญา คือเห็นความจริงของกายของใจ ตรงที่มีปัญญานั่นล่ะ โมหะมันดับ โมหะดับ ราคะ โทสะ ก็ไม่ต้องพูดถึง มันเกิดไม่ได้ มันเกิดได้เพราะมีโมหะเป็นพ่อเป็นแม่มัน เรียกว่าเราฆ่ามันตั้งแต่บรรพบุรุษมันเลย
โมหะ เป็นความมืด เป็นความมืดมัวของจิต อย่างบางคนภาวนานะจิตมืดตึ๊ดตื๋อเลย โอ๊ย โมหะครอบ ยิ่งภาวนายิ่งมืดๆ อย่างนั้นอย่าภาวนาดีกว่า ภาวนาแล้วกิเลสที่ยังไม่เกิดก็เกิด กิเลสที่เกิดแล้วยิ่งแรงกว่าเก่า โมหะเยอะอะไรอย่างนี้ อย่างนั้นอย่าไปทำเลย ทำผิด โมหะเป็นความมืดมัว ในขณะที่ปัญญาเป็นความสว่าง พระพุทธเจ้าบอก “แสงสว่าง เสมอด้วยปัญญาไม่มี” แสงสว่าง เทียบกับปัญญานี่ไม่มีหรอก อะไรที่จะสว่างกว่าปัญญา เพราะปัญญานี่สว่างได้ทั้งวันทั้งคืน เราค่อยๆ ฝึก พอเรามีแสงสว่างในใจของเรา มีปัญญาสว่างมาก โมหะมันก็มาไม่ได้ คือความหลงผิดมาเกิดไม่ได้ ใจก็มีแต่ความรู้ถูกความเข้าใจถูก สว่างไสวอยู่ในตัวเอง ตรงที่พูดเรื่องจิตสว่าง ใจสว่างอะไรนี่ บางคนก็หลงผิดอีก เวลาทำสมาธิจิตมันสว่าง แต่ความสว่างของจิตที่มีสมาธิ ไม่เหมือนความสว่างของจิตที่มีปัญญา ความสว่างแบบมีสมาธิ ยังมีความมืดมัวแฝงอยู่ แต่ความสว่างของปัญญามันใสกระจ่าง ทะลุทุกอณูเลย จะแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นนั่งสมาธิแล้วเกิดดวงสว่างขึ้นมา ตรงที่สว่างดีไม่ดีโมหะแทรกเข้าไปอีก คิดว่านี่ละที่พึ่งที่อาศัยที่แท้จริง ตรงนี้ใช้ได้ ดีแล้วอะไรแบบนี้ อันนี้หลงอยู่ ยังไม่เข้าใจ
เราเจริญสติ เจริญปัญญาเรื่อยๆ จนเห็นความจริง ตรงที่เห็นความจริงนั้นล่ะเรียกว่าปัญญามันเกิด เวลาเราเห็นความจริงอะไรขึ้นมา เวลาเราภาวนาบางทีจิตเกิดปัญญาขึ้นมาเป็นคราวๆ บางทีตั้งเดือน 2 เดือนถึงจะเกิดปัญญาทีหนึ่ง ไม่ใช่เกิดทุกวัน ไม่ใช่เกิดตลอดวัน เวลาปัญญาจริงๆ เกิดที่ไม่ใช่ความคิด อย่างเรานั่งภาวนาอยู่ เกิดเข้าใจขึ้นมา โอ้ ร่างกายนี้เราบังคับมันไม่ได้นี่ เกิดปัญญาอย่างนี้ พอมีปัญญาอย่างนี้ขึ้นมา จิตใจมันจะมีความสุข มีความเบิกบานขึ้นมา สว่างขึ้นมา สมาธิก็เกิด เป็นสมาธิที่ตามหลังการเจริญปัญญามา ใจมันสว่างไสว สงบ สบาย มีความสุขขึ้นมา แต่ความสุขอย่างนี้จากการเดินปัญญา อยู่ไม่เกิน 7 วันมันก็เสื่อม เพราะมันยังตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์อยู่
เราภาวนาไปอีกนานๆ บางทีเกิดปิ๊งขึ้นมา เกิดเข้าใจอะไรบางอย่างขึ้นมา จิตใจก็จะมีความสุขขึ้นอีก จะเป็นระยะๆ อย่างนี้ เวลาฝึกแล้วจะเห็น เวลามันเกิดเข้าใจอะไรขึ้นมาสักอย่าง จะมีความสุขอยู่ช่วงหนึ่ง นี้พอฝึกมากเข้าๆ ต่อไปปัญญาในโลกุตตระมันเกิด เป็นโลกุตตรปัญญาเกิด อันนั้นมันสว่าง มันเป็นความสว่างกว่าพระอาทิตย์พระจันทร์อีก เพราะบางทีตอนที่โลกุตตรปัญญาเกิด จิตบางท่านเข้าถึงอรูปฌาน มันเข้าอรูปอัตโนมัติ ไม่มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ ไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีร่างกาย ไม่มีอะไร ความสว่างไสวมันเกิดขึ้นมา สว่างกว่าพระอาทิตย์พระจันทร์ เพราะตรงนั้นไม่มีพระอาทิตย์ ไม่มีพระจันทร์แล้ว ออกมานี้ใจมีความสุขอยู่นาน อันนี้กำลังของปัญญาตัวนี้อยู่นาน ครูบาอาจารย์ท่านเคยเล่าตอนที่ท่านแตกหัก ท่านมีความสุขอยู่ปีกว่าๆ ท่านบอกอย่างนี้ ถัดจากนั้นก็เป็นอุเบกขา มันเฉยๆ มันชินแล้วเป็นอุเบกขา
ฉะนั้นความสุขที่คนในโลกแสวงหานี่ เขาไม่รู้จักความสุขของความสงบ ความสุขของโลกมันเป็นความสุขที่ไม่สงบ เป็นความสุขที่เร่าร้อน เสียดแทง แสวงหากามยิ่งไม่สงบใหญ่ แสวงหากระทั่งฌานสมาบัติก็ไม่สงบจริง ยังมีภาระต้องฝึกต้องซ้อม อย่างการเข้าฌาน ถ้าไม่ฝึกซ้อมก็เสื่อม อย่าว่าแต่พวกเราเลย ครูบาอาจารย์ที่ว่าท่านพ้นทุกข์แล้ว ท่านยังต้องซ้อมเลย มีคนถามครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่น ว่าท่านพ้นกิเลสไปแล้ว พ้นทุกข์ไปแล้ว ทำไมท่านยังนั่งสมาธิ เดินจงกรมอยู่ ท่านบอกว่าสมาธิมันต้องซ้อม เอาไว้ใช้ ถ้าไม่ฝึกไม่ซ้อมก็ไม่ชำนาญ
พัฒนาตัวเองให้มีความสุขในระดับที่สูงขึ้นๆ ไป
ฝึกนะค่อยๆ ฝึกไป เราจะรู้จักความสุขของความสงบ เป็นความสุขที่เราไม่ต้องทำอะไร แต่ก่อนจะไม่ทำอะไร หมายถึงทำมาเต็มที่แล้ว ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่รับดอกผล ของสิ่งที่เราได้ทำมาเต็มที่แล้ว อย่างในคัมภีร์ก็จะพูดถึงพระอรหันต์ บอกพระอรหันต์ท่านจะมีความรู้สึกว่า ท่านรอเวลานิพพาน เหมือนคนที่ทำงานที่ยากลำบากเสร็จแล้ว กำลังรอรับค่าจ้าง รอรับรางวัล ช่วงที่รออยู่ก็มีความสุขอยู่ มีความสุขเพราะไม่มีธุระ สบายอยู่ แต่ไม่ได้ติดในความสุขนี้ ท่านรอรางวัลใหญ่อยู่ คำว่า รอ ก็ภาษามนุษย์ จริงๆ ไม่ได้รอ พระอรหันต์ไม่ได้อยากนิพพาน พระอรหันต์ไม่ได้อยากอยู่ พระอรหันต์แค่เห็นว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป ท่านดำรงชีวิตอยู่อย่างสะอาดหมดจด มันผ่องใสอยู่โดยตัวเอง ผ่องใสถึงเนื้อหนังเอ็นกระดูกเลย มันใสไปหมด เราอยากได้ความสุข เราก็พยายามพัฒนาตัวเองให้มีความสุขในระดับที่สูงขึ้นๆ ไป ระหว่างกามสุขกับความสุขในฌาน ในสมาธิ ความสุขในกามต่ำต้อย ถ้าเราจิตเราเข้าสมาธิ เราพุทโธๆ จิตรวมสงบ ยังไม่ทันจะเข้าฌานเลย เราจะรู้เลยว่าตรงนี้ได้แค่อุปจาระได้แค่อะไรนี้ ก็มีความสุขมากกว่ากามสุขแล้ว
กามสุข คือความสุขจากการได้สัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สิ่งที่สัมผัสร่างกาย ฉะนั้นความสุขจากสมาธิสูงกว่า พอเราภาวนาเจริญวิปัสสนาได้ เราพบความสุขอีกชนิดหนึ่ง ความสุขจากการเกิดปัญญา เป็นอีกแบบหนึ่ง ความสุขของสมาธิกับความสุขของปัญญา ครูบาอาจารย์ของหลวงพ่อองค์หนึ่ง ท่านแยกแยะไว้ได้งดงาม หลวงปู่เทสก์ท่านเชี่ยวชาญเรื่องสมาธิ ในยุคของเรานี่หาพระที่เก่งสมาธิเท่าท่านนี่ยาก เพราะท่านเคยติดสมาธิอยู่ตั้ง 10 กว่าปี ฉะนั้นชำนาญมาก
ท่านบอกความสุขของสมาธิ มันเหมือนความสุขของเด็กเล่นดินเล่นทราย เด็กมันไปคุ้ยดินเล่น มันก็มีความสุขแล้ว ไปเล่นน้ำ เล่นโคลน เล่นอะไรมันก็มีความสุข ความสุขอย่างนั้นมันตื้นๆ ความสุขของปัญญาเป็นความสุขของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่ทำงาน ที่ยากลำบากสำเร็จ ความรู้สึกมันจะไม่เหมือนกัน อันหนึ่งสุขแบบหลงๆ สุขของสมาธิมันเป็นสุขแบบหลงๆ
สุขของปัญญา มีความสุขเหมือนผู้ใหญ่ ซึ่งทำงานที่ยากๆ สำเร็จ อย่างถ้าเราอยู่ในโลก เราเคยทำงานที่ยากๆ สำเร็จ รู้สึกไหมมันมีความสุข มันมีความอิ่มอกอิ่มใจ นี่ท่านเทียบให้ฟัง หลวงพ่อก็ เออ น่าฟังจริงๆ ตอนที่ไปได้ฟังท่าน หลวงพ่อยังเป็นฆราวาสอยู่ เราก็รู้จักความสุขทุกอย่างที่ฆราวาสเขารู้จักนั่นละ รวมทั้งความสุขจากการปฏิบัติ จิตมันมีปัญญาขึ้นเป็นคราวๆ ก็มีความสุข มันเหมือนเราได้รับรางวัล
แล้วช่วง 3 เดือนอะไรอย่างนี้ หลวงพ่อจะไปกราบครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ทีหนึ่ง ก่อนจะไปกราบ ถ้าช่วงนั้นจิตเกิดปัญญาอะไรขึ้นมาสักอัน มันอิ่มอกอิ่มใจมาก จะรีบเอาไปส่งการบ้าน บางครั้งภาวนาตั้ง 3 เดือนแล้ว ถึงเวลาจะต้องไปส่งการบ้านแล้ว ไม่มีอะไรใหม่ขึ้นมาเลย เรื่องสมาธิขี้เกียจไปคุยกับท่าน มันไม่มีประโยชน์ นึกว่า เอ๊ะ มีความรู้ความเข้าใจอะไรเกิดขึ้น ก็ไม่มีเลย ไปหาท่านใจมันจะแห้งๆ แห้งแล้ง คราวนี้ไม่มีอะไรไปส่ง อะไรอย่างนี้ แล้วพอเข้าใกล้วัดท่านปุ๊บ ปัญญามันเกิด มีเรื่องให้ส่งได้ทุกทีล่ะ ใจมันตื่นตัวขึ้นมา เข้าใกล้ครูบาอาจารย์ คล้ายๆ เรากำลังเข้าใกล้เสือร้าย ไม่ใช่คำเหยียดหยามนะ หมายถึงเป็นการเปรียบเทียบให้ฟัง ใจเราที่เคยลำพอง แหมเป็นกวางหนุ่มกระโดดโลดเต้น พอเข้าใกล้เสือใจมันสลดลงมา หดลงมา มันเคารพ มันยำเกรง แล้วปัญญามันก็เกิด ใจซ่าอยู่อย่างนั้นปัญญาไม่เกิดหรอก
ค่อยฝึกๆ ก็จะรู้จักความสุขของกาม ความสุขจากรูป จากเสียง จากกลิ่น จากรส จากสัมผัสอะไรอย่างนี้ ความสุขจากสมาธิ ความสุขจากปัญญา มันก็มีเป็นลำดับๆ ความสุขจากมรรคผล โดยเฉพาะตัวผล ตอนที่มีมรรคจิตมันไม่ได้ไปเพ่งเล็งที่ตัวสุขหรอก ตรงที่เป็นตัวผลจิตมันมีความสุข ความสุขตัวนี้มหาศาล เป็นสุขที่สัมผัสพระนิพพาน สุขของพระนิพพานเป็นสุขร่มเย็น เป็นสุขที่ไม่มีอะไรกระโตกกระตาก วุ่นวายอะไรอย่างนี้ไม่มี สงบ ร่ม เย็น ท่านถึงสอนว่า “สุขอื่น เสมอด้วยความสงบ ไม่มี” เพราะสิ่งที่เรียกว่าสงบ ก็คือตัวนิพพานนั่นล่ะสงบ นอกนั้นยังไม่สงบหรอก อย่างเวลาอริยมรรคเกิดก็เกิดชั่วขณะก็ดับ อริยผลเกิดอยู่ 2 ขณะ 3 ขณะ ก็ดับ แต่นิพพานไม่ดับ ไม่เกิด ไม่ดับ เวลาเข้าสัมผัสมันถึงจะมีความสุขได้เต็มที่ สุขนอกนั้น เป็นสุขเกิดๆ ดับๆ สุกๆ ดิบๆ เอาอะไรแน่นอนไม่ได้
แต่คนในโลกเขาไม่ได้เรียนธรรมะ ไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า เขาก็หาความสุขแบบสัตว์โลกไป หาอยู่หากิน หาเสพกาม หาอะไรอย่างนั้นไป พวกเราเป็นชาวพุทธ เราก็ฝึกตัวเอง ฝึกใจ ใจมีสมาธิเราก็มีความสุขของสมาธิ ใจเราเกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูกในสภาวธรรมทั้งหลาย เข้าใจขึ้นมาเป็นคราวๆ เป็นเรื่องๆ ไป ใจก็มีความสุข เข้าใจรวบยอด ตอนที่เกิดอริยมรรคก็ก่อให้เกิดความสุขมหาศาล ก็ฝึกไปเรื่อยๆ ปลายทางของเรามีความสุขรออยู่ข้างหน้า ไปหาความสุขเอาตามชั้นตามภูมิ
วัดสวนสันติธรรม
20 มีนาคม 2564