ภาวนาเหมือนปลูกต้นไม้

วันนี้ฝนตกแต่เช้าเลย ช่วงนี้ฝนตกทุกวัน เกือบๆ ทุกวัน พระก็สบายหน่อย ที่วัดพระไม่ได้อยู่เฉยๆ นอกจากภาวนาแล้วก็ทำประโยชน์ด้วย ไปปลูกต้นไม้ สร้างป่า ป่าจริงๆ ไม่ค่อยเหลือแล้ว บนภูเขามีแต่ต้นหญ้า ไม้ไผ่อะไรพวกนี้ แห้งแล้ง สัตว์ลำบาก ไม่มีที่อยู่ที่กิน ที่นี่เลยปลูกป่า ปลูกต้นไม้เยอะแยะเลย ทางโน้นก็ปลูกไปได้ 30 กว่าไร่แล้ว เราปลูกป่าจนต้นไม้งาม ป่าไม้มาเห็น เขาให้ที่มา 5 ไร่ มันเป็นเศษที่เหลืออยู่ เอามาปลูกป่า ทางนี้แต่เดิมก็เป็นไร่มัน ข้างโน้นก็ไร่มัน ใช้เวลาทางด้านนี้ 18 ปี เปลี่ยนไร่มันเป็นป่าทึบ

สัตว์เข้ามาอยู่เยอะแยะเลย งูจงอางมีหลายตัว ตัวใหญ่ๆ พระก็ต้องคอยหลบหลีกเอา อย่าไปเหยียบมัน งูดุๆ เยอะเลยที่นี่ มีงูทับสมิงคลา มีงูเห่า มีงูกะปะ มีเยอะ น่าอยู่ไหม ดีนะ มันเหมาะกับพระ ฝึกให้เรามีสติ เดินใจลอยซุ่มซ่ามไป เดี๋ยวก็โดนงูกัดเอา ฉะนั้นป่ากับพระไม่ได้เป็นศัตรูกัน แล้วพระก็ไม่ใช่นักถางป่าด้วย แล้วพระกรรมฐานชอบป่า ชอบต้นไม้ ต้นไม้มันไม่มีกิเลส คนมันกิเลสเยอะ อยู่ในป่า อยู่กับต้นไม้ก็สงบง่าย มันไม่กระทบกระทั่ง อยู่กับมนุษย์ โอ๊ย ยุ่งที่สุดเลย วุ่นวาย แต่ละคนก็มีความวุ่นวายนานาชนิด บางทีก็จะเผื่อแผ่ความวุ่นวายเข้ามาในวัด แต่วัดเราเข้มงวด พระไม่ค่อยยุ่งกับโยม ไม่ค่อยให้ติดต่อ

 

การปฏิบัติอย่ารีบร้อน
รดน้ำมากไป ต้นไม้ก็เน่าตาย

หลวงพ่อสอนกรรมฐาน แล้วก็ดูการปลูกต้นไม้ ดูๆ มันก็มีส่วนที่คล้ายกันอยู่ อย่างเราจะปลูกต้นไม้ให้งดงาม ออกดอกออกผล บางคนก็ใจร้อนรดน้ำมากไป ต้นไม้ก็เน่าตาย หรือใส่ปุ๋ยมากไปต้นไม้ก็ตาย คล้ายๆ การภาวนาเหมือนกัน อยากได้ผลเร็วๆ แล้วรีบลุกลี้ลุกลนภาวนา จะเอาให้ได้ จะเอาให้ได้ รับรองไม่ได้ ตายเปล่า เมื่อก่อนมีพี่คนหนึ่ง คุ้นกันทั้งทีมนี้ ทีมผู้เฒ่า เคยได้ยินครูบาอาจารย์ชมว่าหลวงพ่อภาวนาเร็ว แกเป็นคนเก่ง แกบอกเดี๋ยวแกจะเร็วกว่า แกจะใช้เวลาทำความรู้แจ้งใน 3 เดือน เดี๋ยวนี้ผ่านมา 40 – 50 ปีแล้วยังไม่ได้

ฉะนั้นการปฏิบัติ การภาวนา อย่าใจร้อน อยากได้ผลเร็วๆ เหมือนใส่ปุ๋ยเข้าไปเรื่อยๆ เช้าก็ใส่ เย็นก็ใส่ รดน้ำตลอดเวลา ต้นไม้เราก็ตาย จิตใจเราก็เหมือนกัน เราเร่งอยากได้มรรคผลเร็วๆ ก็ตายเปล่า ไม่ได้ธรรมะ ฉะนั้นการภาวนาต้องใจเย็นๆ ครูบาอาจารย์ท่านเคยสอนว่า การปฏิบัติเขาทำกันทั้งชีวิต ไม่ใช่ทำ 1 – 2 เดือน เดี๋ยวนี้หนักข้อหนักเข้าไปอีก มาบวช 15 วัน 7 วัน อยากได้มรรคผล

บางที่เขาอาจจะให้ ให้มรรคผล ตั้งให้ แล้วจ่ายเงินเท่านั้นเท่านี้ แล้วในเวลาเท่านี้ จะได้โสดาบัน ได้พระอรหันต์ โดนเขาต้ม ตัวโลภก็เลยกลายเป็นเหยื่อของคนโลภ โลภอยากได้ธรรมะก็โดนเขาหลอก เยอะแยะไป ฉะนั้นถ้าเราภาวนา สังเกตให้ดี อยากได้ผลเร็วๆ โอ๊ย ดิ้นรนมากมาย ก็ตกเป็นเหยื่อ ต้องรู้อย่าง ธรรมะที่แท้จริงที่เราจะเรียนกัน เราไม่เสียเงิน พระพุทธเจ้าไม่เคยเก็บเงินเลย อันนี้หลวงพ่อพูดมาหลายสิบปีแล้ว ฉะนั้นอย่างมาที่นี่ไม่มีการเก็บเงิน คนจนคนรวยก็มาได้ทั้งนั้น บางคนอยู่ไกลไม่มีค่ารถมา มีคนใจบุญจัดรถตู้ให้มา นั่งฟรีไม่ได้เก็บเงิน มาถึงวัดก็มีข้าวให้กิน ไม่มีเสียเงิน ไม่ต้องเสียสตางค์เลย

ฉะนั้นธรรมะแท้ๆ สะอาดหมดจด ไม่เจือด้วยความโลภ ถ้าเรามาเรียนด้วยความโลภ คืออยากโน้นอยากนี้ เราก็จะตกเป็นเหยื่อของคนที่เขาโลภ เขาก็จะเรียกร้องโน้นนี้ตลอดเวลา ถูกเรียกร้องมากๆ จิตใจก็ไม่สบาย เครียด จะหาเงินที่ไหนมาทำบุญ การภาวนาจริงๆ ไม่มีเรื่องเงินเรื่องทองเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ตอนหลวงพ่อออกไปภาวนา ช่วงแรกที่ออกไปตามวัด หลวงพ่อเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยซี 3 เพิ่งเริ่มทำงานซี 3 ซี 4 ซี 5 อะไรอย่างนี้ เงินเดือนนิดเดียว เวลาเข้าไปหาครูบาอาจารย์ ท่านประคบประหงมอย่างมากเลย คนเอาเงินไปให้ท่านเป็นล้านๆ ท่านก็เฉยๆ แต่หลวงพ่อไปส่งการบ้าน ท่านร่าเริง เราไปเรียนธรรมะ แล้วก็เอาผลการปฏิบัติไปรายงานท่าน ท่านก็ร่าเริงใจ เอาเงินเอาทองไปให้ท่าน ท่านเฉยๆ ครูบาอาจารย์ที่ดี จะเป็นอย่างนั้น ไม่ได้หิว

วิธีดูว่าครูบาอาจารย์ดีหรือไม่ดี ดูที่ว่าหิวหรือไม่หิว ดูง่ายที่สุดแล้ว เรียกร้องตลอดเวลานี่ไม่ใช่หรอก พระแท้ไม่หิวแล้ว เหมือนอย่างหลวงปู่มั่น ตอนท่านเผยแพร่ยุคแรกๆ คนก็ต่อต้านเยอะ เพราะว่าเป็นของแปลก คนเขานับถือผีกัน ออกไปเผยแพร่จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ จังหวัดเล็กๆ ก็ไม่ค่อยมีปัญหา พอท่านเข้ามาโคราชมีปัญหาแล้ว มันจังหวัดใหญ่ คนก็ไปถามท่าน คนใหญ่คนโตไปถาม ท่านมาโคราช ท่านจะมาเอาอะไร บอกท่านจะมาเอาอะไร ท่านบอกท่านไม่หิว ท่านไม่ได้มาเอาอะไร ท่านมาให้ธรรมะ เพราะฉะนั้นเวลาเข้าวัด อย่าเข้ามาด้วยใจที่โลภ อยากได้ผลเร็วๆ ยอมทุ่มเงินทุ่มทอง คิดว่าจ่ายมากแล้วจะได้ธรรมะมาก ไม่ใช่เลย นั่นเป็นความโง่อย่างยิ่งเลย

ถ้าเจริญสติปัฏฐานให้มาก ทำให้ถูก ทำให้ดีถึงจะได้ผล มันก็เหมือนปลูกต้นไม้ ใส่น้ำมากไป ต้นไม้ก็เน่าตาย ใส่ปุ๋ยมากไปต้นไม้ก็ตาย แล้วแค่ไหนพอดี ก็ดูตัวเองแค่ไหนพอดี อย่างบางคนได้ยินว่าคนอื่นภาวนาดี เขาไม่ค่อยกินข้าว อดข้าวแล้วภาวนาดี บางท่าน ท่านอดนอนภาวนาดี พอเราได้ยินเราอยากเอาอย่าง ไม่ได้ประเมินตัวเอง ต้นไม้แต่ละต้น แต่ละชนิดมันก็ต้องการดิน ต้องการน้ำ ต้องการปุ๋ยไม่เหมือนกัน เราก็เป็นต้นไม้ต้นหนึ่ง เราก็ดูตัวเอง เราจะอยู่ เราจะกินอย่างไรที่พอดี จะนอนแค่ไหนถึงจะพอดี บางคนนอนตั้ง 12 ชั่วโมงถึงพอดี ตื่นขึ้นมาแล้วสดชื่น มีสติเข้มแข็ง บางคนนอน 3 ชั่วโมงแล้วพอดี อันนี้มันพอดีของแต่ละคน ไม่เหมือนกัน

หลวงพ่อดูสิ่งเหล่านี้ ดูมาจากการปลูกต้นไม้ มันสอนอะไรเราเยอะ บางคนจะปลูกต้นไม้ เห็นที่ดินอยู่ นึกอยากปลูกก็ขุดดินเอาต้นไม้ไปฝัง แถวนั้นวัชพืชเยอะเลย ต้นไม้ที่เราไม่ชอบ ขึ้นเก่ง ต้นไม้ที่เราอยากให้ขึ้น ไม่ค่อยขึ้นหรอก ต้นไม้ที่ไม่ได้อยากให้ขึ้น ขึ้นเอาๆ เยอะแยะไป บางทีอุตส่าห์ไปหาวัชพืชต่างประเทศเข้ามา อย่างต้นไมยราพยักษ์ เอาเข้ามา โห มาแพร่ออกไปตามแม่น้ำลำคลอง วุ่นวาย

 

ความคิดทั้งหลายเป็นวัชพืช
ความรู้ความเข้าใจเก่าๆ จะปิดกั้นการเรียนรู้สิ่งใหม่

อย่างเราจะปลูกต้นไม้ เคลียร์วัชพืชออกไปก่อน วัชพืชมากต้นไม้งามไม่ได้หรอก อันนี้ถ้าเทียบกับการปฏิบัติ อะไรเป็นวัชพืชเรา ตัวทิฏฐิ ความรู้ความเห็นมากเหลือเกิน มีความเห็นมากมาย มีความรู้มากมาย เรื่องนี้ก็รู้ เรื่องนี้ก็รู้

ยิ่งพวกที่เรียนมากๆ เรียนอภิธรรม ไม่ใช่ไม่ดี แต่เรียนแล้วเอามาปฏิบัติจะดีมากๆ เลย ถ้าเรียนแล้วก็กูรู้ กูเก่ง ก็ความรู้ความคิดของตัวเอง มันปิดกั้นความจริงเอาไว้ ฉะนั้นเวลาจะภาวนา ขจัดวัชพืช ความคิดทั้งหลายนั่นล่ะ เป็นตัวเบียดเบียน ความคิดทั้งหลาย คิดถูกคิดไม่ถูกอะไรก็ตามเถอะ อย่าเอาความคิดเข้ามาใช้ ความคิดมันเป็นตัวเบียดเบียนจิต คือต้นไม้ของเราไม่ให้เติบโต ฉะนั้นการภาวนาไม่คิดเอา รู้สึกเอา ความคิดทั้งหลายมันเป็นศัตรูพืช เป็นศัตรูของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คอยเฝ้ารู้เฝ้าเห็นไป ดูกายอย่างที่กายเป็น ดูใจอย่างที่ใจเป็น ไม่ใช่คิดเอา มีความคิด มีความเห็นมาก ภาวนายาก คิดว่าทำอย่างนี้จะดี ทำอย่างนี้จะดี ต้องอดข้าวเยอะๆ ถึงจะดี มันดีกับบางคน ไม่ใช่ดีกับทุกคน อดนอนแล้วจะดี มันดีกับบางคน ไม่ใช่ดีกับทุกคน

ต้องมีเงื่อนไข ต้องกินเจถึงจะดี มียุคหนึ่งมีกระแสว่า นักบวชที่ดีต้องกินเจ ไม่กินเนื้อสัตว์ ฟังแล้วดูดี พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้พระกินเจ หรือกินเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าบอกให้พระกินอาหาร อาหารก็ได้มาอย่างไร พระเป็นขอทาน ก็ตามมีตามได้ ไม่เรื่องมาก ถ้ายังกังวลใจ จะฉันอาหาร โอ๊ย มีเนื้อกินไม่ได้ วันๆ คิดแต่เรื่องอาหาร ใจมันจะสงบได้อย่างไร เพราะฉะนั้นพระไม่ได้ฉันพืชหรือฉันสัตว์ พระฉันอาหารเพื่อให้ร่างกายมีกำลังอยู่ได้ จะได้เอาเวลามาภาวนา ถ้ามัวแต่คิดเรื่องอาหาร ก็ไม่ได้ภาวนา สิ่งเหล่านี้พวกความคิดพิสดารทั้งหลาย โยนมันทิ้งไปให้หมดเลย อย่าทำตัวเป็นชาล้นถ้วย โยนความคิดความรู้ทั้งหลาย เรียนมา ปริยัติเรียนมามากแล้ว เวลาจะภาวนาจริงๆ วางเสีย ลืมมันไปเลย

หลวงพ่อก่อนจะเจอหลวงปู่ดูลย์ ตอนเด็กๆ ก็นั่งสมาธิ อยากปฏิบัติ แล้วก็หาวิธีปฏิบัติไม่ได้ นั่งสมาธิมันก็ไม่รู้ ว่าจะไปอย่างไร ก็ไปอ่านพระไตรปิฎก อ่านหลายรอบ อ่านพระวินัยกับพระสูตร อภิธรรมอ่านไม่รู้เรื่อง อ่านแล้วอ่านอีก อ่านแล้วอ่านอีก อ่านตั้งหลายรอบ หาวิธีปฏิบัติ ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร พระไตรปิฎกมีตั้งเยอะตั้งแยะ ลองดูในตู้นั้น ที่นี่ก็มี มีหลายตู้ ข้างในก็มีในโซนพระ ตำรับตำรามีตั้งเยอะ ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร พอไปเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนบอกว่า “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” หลวงพ่อวาง วางอะไรบ้าง อันแรกเลยวางตัณหา อยากเข้าใจธรรมะ อยากรู้ อยากเห็น อยากได้มรรคได้ผล วางหมดเลย

ขจัดตัณหาทิ้งไปแล้ว ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่เร่งร้อนเกินไป ไม่รดน้ำมากไป วางทิฏฐิ ความรู้ความเห็นที่เล่าเรียนมา ลืมมันไปเลย หลวงพ่อลืมเลย แล้วก็ลงมืออ่านจิตตนเองไปเลย ตามรู้ตามเห็น อย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ ทีแรกก็อ่านไม่เป็น ดูไม่เป็น จิตอยู่ไหนก็ไม่รู้ จะดูอย่างไรก็ไม่รู้ จะเอาอะไรไปดูก็ไม่รู้ ดูแล้วจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลย แต่เมื่อครูบาอาจารย์บอกให้อ่านจิตตนเอง โยนความรู้ความเข้าใจเก่าๆ ทิ้งไปเลย แล้วก็เริ่มมาสังเกตจิตใจตัวเองไป จิตใจไม่ใช่ร่างกาย ฉะนั้นร่างกายกับจิตมันคนละอันกัน จิตใจไม่ใช่ความสุขความทุกข์ เพราะฉะนั้นความสุขความทุกข์ไม่ใช่จิตใจ กุศลอกุศลก็ไม่ใช่จิตใจ

ค่อยๆ แยกๆๆ ไป โอ้ จิตก็คือสภาวธรรมที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์ จิตคือตัวที่รู้อารมณ์ เรียกว่าเป็นผู้รู้อารมณ์ อารมณ์แปลว่าอะไร อารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้ คำว่าอารมณ์ในศาสนาพุทธ อารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้ ส่วนของเราก็เป็นเรื่องอารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี อารมณ์รัก อารมณ์ใคร่ อารมณ์โกรธ นี่เรายืมคำว่าอารมณ์มาใช้ แล้วความหมายมันเคลื่อน ฉะนั้นเวลาภาวนา เราก็เห็นอันนี้จิต อันนี้อารมณ์ คนละอันกัน เห็นเวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต มีสติรู้ทัน

รู้แล้วก็ลืมหมดเลย ว่าจะรู้ไปเพื่ออะไร ลืมหมดแล้วว่าเราอยากได้มรรคผลอะไร ไม่มีเลย ในใจลืมเรื่องมรรคผลไปเลย รู้อยู่เฉพาะหน้าเท่านั้น เห็นแต่สภาวธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ไม่เอาความรู้เป็นตู้ๆ เอามาใช้ ไม่เอา ดูจากของจริงเอา เรียกว่าเราภาวนาจริงๆ ไม่ได้เอาความรู้ ความคิดเห็น ความเข้าใจอะไรของตัวเองมาใส่เข้าไป เรียกเราขจัดวัชพืชได้แล้ว มันมาแย่งอาหารของต้นไม้ วัชพืชนี้ถ้าเราปล่อยให้ความรู้ความเข้าใจเก่าๆ เข้ามา มันจะปิดกั้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ เพราะฉะนั้นเราขจัดมันทิ้งไป เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ อยู่กับปัจจุบันไป รู้สึกกายอย่างที่กายเป็น รู้สึกจิตใจอย่างที่จิตใจเป็น ค่อยๆ ฝึกไปอย่างนี้

การปลูกต้นไม้ ก็ต้องรู้จักจะรดน้ำแค่ไหน ต้นไม้ชนิดนี้จะรดน้ำแค่ไหน จะใส่ปุ๋ยแค่ไหน เหมือนเรา เราเป็นต้นไม้ชนิดไหน เป็นต้นไม้ที่จะต้องเร่งความเพียรมาก หรือเป็นต้นไม้ที่ภาวนาไปเรียบๆ ง่ายๆ สังเกตตัวเองเอา อย่าทำไปด้วยความอยาก เห็นเขาภาวนาก็อยากอย่างเขา อย่างได้ยินว่าหลวงพ่อดูจิต เราก็อยากดูจิต เรายังไม่มีกำลังจะดูจิต เราก็ดูกายไป มันต้นไม้คนละชนิดกัน เพราะฉะนั้นดูตัวเอง

 

ความคิดความเห็นปิดบังความจริง

แล้วก็อย่าเอาความคิดความเห็นอะไร เข้ามาใช้ในการปฏิบัติ เพราะความคิดความเห็นนั้นปิดบังความจริง เราเห็นว่ามันน่าจะอย่างนี้ น่าจะอย่างนี้ กระทั่งคิดเรื่องไตรลักษณ์ อย่างความโกรธเกิดขึ้น รีบคิดเลย “ความโกรธเป็นอนัตตา เกิดเองเดี๋ยวก็ดับเอง” เอาความคิดเข้ามาใส่แล้ว อันนี้ไม่ถูกเลย เพราะฉะนั้นจะโดนกิเลสหลอก ดูไปๆ แล้วมันจะกลายเป็นกูเก่งขึ้นมา มานะอัตตามันจะแรงขึ้นๆ

การปลูกต้นไม้ ต้นไม้บางที่ก็ปลูกแล้วงดงาม ต้นใหญ่ ออกดอกออกผล ที่ดินบางแห่งปลูกต้นไม้ใหญ่ๆ ไม่ขึ้นเลย อย่างในวัดก็มีบางส่วน มันเป็นหิน มันไม่ใช่ดิน บางที่เป็นทราย บางที่เป็นหิน ดินไม่ค่อยมี ดินไม่ค่อยมีก็ต้องปลูกต้นไม้ที่เหมาะกับมัน อย่างที่เป็นก้อนหิน แข็งกระด้าง ก้อนหินมันแข็ง รากไม้ก็ไชไม่ไหว ฉะนั้นคล้ายๆ จิตของเรา ถ้าจิตเราเซล์ฟจัด มีมานะมาก กูแน่ กูหนึ่ง กูเก่ง กูรู้ พวกนี้ภาวนาไม่ขึ้นหรอก เหมือนต้นไม้ไม่งอกหรอก

อันนี้คือธรรมะ 3 ประการ เรียกว่าปปัญจธรรม ที่ขวางการปฏิบัติของเรา ทำให้เนิ่นช้า ต้นไม้โตได้ไหม ได้แต่ช้า อันแรกก็คือตัณหา ความอยากของเรา อยากได้ผลเร็วๆ ลุกลี้ลุกลนภาวนา ไม่ได้ผลหรอก อีกอันหนึ่งก็เอาความคิดความเห็นเข้ามาใช้ตลอดเวลา แทนที่จะดูความจริงของกายของใจ อันนี้ก็ไม่ได้ผลหรอก

อีกพวกหนึ่งนี้แสนสาหัสเลย พวกนี้ยากที่สุดเลย กูเก่ง กูเก่งแล้ว กูรู้หมดแล้ว พอครูบาอาจารย์จะขยับจะพูดประโยคนี้ต่อ ประโยคนี้ได้เลย อย่างฟังหลวงพ่อบ่อยๆ จะรู้เลยว่า ขึ้นประโยคนี้เดี๋ยวต่อประโยคนี้ รู้หมดแล้ว รู้หมดแล้วทำไมสู้กิเลสไม่ได้ เพราะมันรู้ด้วยสมอง มันไม่ได้รู้ด้วยใจ ธรรมะไม่กลัวความรู้ในสมอง ธรรมะกลัวความเข้าใจ คำว่า “เข้าใจ” คนโบราณเก่งจริงๆ ต้องเข้าถึงใจจริงๆ ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ถึงอกถึงใจ

ฉะนั้นบางคนเซล์ฟจัด ใครเห็นเขาก็ส่ายหน้า ไปขอเรียนกับผู้ช่วยสอนคนนี้ เขาสอนไม่ไหว มาขอเรียนกับพระองค์นั้นองค์นี้ สอนไม่ไหว สู้ไม่ไหว มาเรียนกับหลวงพ่อ แต่เดิมหลวงพ่อก็พยายามช่วย แต่บางคนมันจัดจริงๆ มันเซล์ฟจัดจริงๆ ยุคแรกๆ ที่สอน คล้ายๆ เรายังเป็นพระใหม่ ความน่าเชื่อถือน้อย บางคนเป็นโยมมาด้วยกัน กระทบไหล่กันมา บอกอะไรไม่เชื่อหรอก ไม่เชื่อ กูรู้ไปหมดแล้ว กูเก่ง กูแน่

เพราะฉะนั้นเราสังเกตที่ใจเรา ถ้าเราอยากภาวนาให้ได้ผลเร็ว อย่าทำธรรมะที่เนิ่นช้า วัดใจตัวเองเลย ที่นั่งสมาธิ มีความอยากแทรกไหม อยากสงบ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดีอะไรไหม เดินจงกรมอยู่ มีความอยากอะไรบงการอยู่เบื้องหลังไหม สังเกตไป ฉะนั้นบางคนนั่งสมาธิแล้วเครียดไปหมดเลย อยากสงบก็เลยไปบังคับจิตเอา

ฉะนั้นสังเกตตัวเอง ถ้าภาวนาเริ่มต้นด้วยความอยาก ไม่ได้ผลหรอก เหนื่อย เหนื่อยเปล่า ถ้าเริ่มด้วยมีความรู้มากมาย อะไรก็รู้ อะไรก็รู้ สภาวธรรมมีกี่ตัวรู้หมดเลย สภาวธรรมมีนิพพาน 1 จิต 1 จิตหนึ่งคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ รูปแท้มี 18 ชนิด เจตสิกมี 52 ชนิด รวมได้เท่าไร 72 ถ้าแยกละเอียดเข้าไปได้ 121 โอ๊ย รู้หมดเลย มันรู้แต่ตำรา ไม่เคยเห็น ไม่เคยเห็นความจริง รู้อย่างนี้ไม่ไหว สู้กิเลสไม่ได้หรอก ได้แต่ตำรา

เมื่อวันพฤหัสก่อน หลวงพ่อไปงานศพพี่ที่รู้จักกัน ก็ไปเจอพี่คนหนึ่ง เกษียณแล้วไม่มีอะไรทำ ไปเรียนอภิธรรม เขาก็เข้ามาหาแล้วเขาบอกว่า วันหลังเขาจะมาขอเรียนกรรมฐานด้วย เพราะเขารู้ว่าที่เขาเรียนมันคือตำรา เหมือนตำรายา ยังไม่ได้ปรุงยาเลย ปรุงไม่เป็น รู้แต่ตำรา อย่างนี้เป็นคนฉลาด แต่ถ้าคิดว่ารู้หมดๆๆ ไอ้นั่นก็รู้ ไอ้นี่ก็รู้ อาสวะมีอย่างนี้ มีอย่างนี้ ทำงานอย่างนี้ รู้หมดเลย แต่ไม่เคยเห็นสักตัว อุปกิเลสมีเท่านี้ รู้หมดเลย มี 16 ตัว รู้หมด อินทรีย์มี 22 รู้หมด แต่ไม่เห็นสักตัว ไม่ได้เรื่อง สู้กิเลสไม่ได้ ยิ่งเรียนก็ยิ่งเซล์ฟจัด

เพราะฉะนั้นเรา เวลาเรียนกรรมฐาน อย่าไปคิดเอา ให้รู้สึกเอา อย่าคิดเอา ให้รู้สึกเอา อย่างนั่งสมาธิให้รู้สึกเอา รู้สึกอะไร รู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของร่างกาย รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตใจ ถ้ารู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจได้ก็รู้ตรงนี้เลย ถ้ารู้ไม่ได้มารู้กายไว้ก่อน ไม่ต้องฝืน อย่างหลวงพ่อเริ่มต้น หลวงพ่อก็ดูจิตใจเลย หลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิตไปเลย แต่ไม่ใช่ทุกคนจะต้องมาทำอย่างนี้ ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ส่วนใหญ่ดูกาย รู้ไว้เลย ไม่ใช่ดูจิต จุดตั้งต้นดูกาย เพราะอะไร ยังไม่ได้มีกำลังที่จะขึ้นมาดูจิต

หลวงพ่อทำสมาธิมาแต่เด็ก จิตมันตั้งมั่นอยู่แล้ว พอท่านสอนดูจิต มันดูได้เลย ใช้เวลา 3 เดือนก็ดูเป็นแล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่จำเป็นว่าสตาร์ตแล้วต้องดูจิต เราเป็นต้นไม้คนละพันธุ์กับหลวงพ่อ ต้นไม้คนละชนิดกัน เราก็ดูกรรมฐานที่มันเหมาะกับเรา เหมือนต้นไม้แต่ละต้น เวลาจะใส่น้ำ จะใส่ปุ๋ยก็ต้องดู ต้นไม้ต้นนี้ต้องการน้ำมาก ก็ให้น้ำมาก ต้นนี้ต้องการน้ำน้อย ก็ให้น้ำน้อย ต้นนี้ต้องการปุ๋ยอย่างนี้ เราเอาปุ๋ยอีกอย่างไปใส่ มันก็ไม่โต ดีไม่ดีตาย ฉะนั้นต้นไม้แต่ละชนิดต้องการน้ำ ต้องการปุ๋ยไม่เหมือนกัน เราแต่ละคนก็ดูตัวเอง เราต้องการกรรมฐานชนิดไหนที่เหมาะกับเรา เรารู้จักประเมินตัวเอง ว่าเราเป็นต้นไม้ชนิดไหน ค่อยๆ ฝึกเอา

แล้วก็เวลาลงมือภาวนา อย่าคิด ให้รู้สึกเอา อย่าคิดเอา แล้วถ้าภาวนาไป เกิดความรู้สึก โอ้ กูเก่งชมัดเลย ไอ้โน่นกูก็รู้ ไอ้นี่กูก็รู้ กูเก่งกว่าคนอื่น ให้รู้ว่าเราเสียท่ากิเลสแล้ว เสียท่าตัวมานะแล้ว ตัณหา มานะ ทิฏฐิ 3 ตัวนี้ เป็นธรรมะที่ทำให้เราเนิ่นช้า เพราะฉะนั้นเราพยายามสังเกตตัวเอง อย่าตกอยู่ใต้อิทธิพลของตัณหา มานะ ทิฏฐิพวกนี้ มานะเหมือนก้อนหิน กระด้าง กระด้างมาก ก้อนหิน เอาน้ำไปรด น้ำก็ไม่ซึม เอาต้นไม้ไปปลูกรากมันก็ไม่ไช ลำบาก ฉะนั้นทำตัวให้ดีๆ แล้วการภาวนามันจะเรียบง่าย ดูตัวเอง ยากไหม ดูสิที่วัดนี้ปลูกต้นไม้ขึ้นมาเยอะแยะเลย มีต้นไม้ตายไหม มีเยอะแยะเลย ค่อยๆ เรียนรู้ไป อย่างทีแรกก็ปลูกต้นไม้เล็กๆ สวยงาม ต้องการให้ต้นไม้ขึ้นเร็วๆ พอปลูกต้นไม้ใหญ่ๆ ขึ้นมา ต้นไม้เล็กๆ ก็ตายหมดเลย มันไม่ได้แดด

 

สวนสันติธรรม

ที่วัดนี้พวกเราชอบเอาต้นไม้มาให้ มันก็ดีหรอก ถวายต้นไม้วัด แต่ว่าที่นี่เอาต้นไม้ในร่มมาถวาย ไม่ค่อยได้กินหรอก มันอยู่ไม่ได้ มันร่ม ก็ต้นไม้อย่างนั้นมันไม่ได้เหมาะแล้ว หรือบางทีถวาย ศรัทธามาก ถวายทีหนึ่ง 100 ต้น 50 ต้น โอ๊ย จะเอาที่ที่ไหนไปปลูก ถวายก็ถวายพอดีๆ ถวายเยอะนัก พระก็ไม่รู้จะเอาไปปลูกที่ไหน เดี๋ยวก็ตาย ที่นี่ปลูกต้นไม้ พระอาจารย์อ๊าเก่ง เป็นผู้นำปลูกป่า แล้วต้นไม้ที่เห็นงดงามอะไรเยอะแยะ แต่ก่อนที่มันจะเป็นต้นไม้แบบนี้ มันมีต้นไม้สายพันธุ์อื่นๆ ที่มันล้มหายตายจากไปเยอะแล้ว

เวลาภาวนาก็เหมือนกัน คนจำนวนมากก็มาที่นี่ บางส่วนก็ล้มหายตายจากไป เพราะมันไม่เหมาะกับธรรมะที่นี่ ก็ล้มหายตายจาก ไม่ได้ตายจริง หมายถึงไม่มาแล้ว มาแล้วเรียนไม่รู้เรื่อง มาแล้วไม่สบายใจเลย ทำไมไม่บอกว่า โยมได้ทำบุญมาก แล้วโยมได้ขึ้นสวรรค์แน่นอน ไม่เห็นเคยพูดเลย หรือโยมมาทำบุญที่นี่ ได้บุญเยอะ โยมสร้างโน่นนะ สร้างนี่นะ บางคนมันต้องการแค่นั้นจริงๆ มันไม่ได้ต้องการสิ่งที่สูงกว่าสวรรค์ มันต้องการแค่สวรรค์ ที่นี่เลยไม่ตอบโจทย์ ไม่ได้ชวนทำบุญอะไรวุ่นวายมากมาย ฉะนั้นไม่ได้ตอบโจทย์

บางส่วนมาที่นี่แล้วก็หายไป คนที่พอเหมาะพอดี ที่ปรารถนาความพ้นทุกข์ ก็พากันเข้ามาแทนที่ ค่อยๆ เปลี่ยน มันเหมือนเปลี่ยนพันธุ์ไม้เหมือนกัน ช่วงแรกๆ ที่หลวงพ่อสอน มันจะเป็นเด็กอีกกลุ่มหนึ่งเลย ส่วนมากมันจะเป็นเด็กที่เล่นอินเทอร์เน็ต เด็กเล่นอินเทอร์เน็ตมันจะมีลักษณะเด่นคือฟุ้งซ่าน ให้เรียนธรรมะ ไม่เอา ชอบคิดธรรมะเอา พวกนี้มาเรียนอยู่ช่วงหนึ่งก็ล้มหายตายจากไป แล้วคนที่เข้ามาทดแทน มันก็เป็นต้นไม้สายพันธุ์ใหม่ เป็นคนที่อยากจะพ้นทุกข์จริงๆ อยากจะทุกข์น้อยๆ อย่างน้อยก็ทุกข์น้อยๆ ลง ทุกข์สั้นลง มันก็จะพากันเข้ามาแทนที่

คนอยากทำบุญก็ไปทำที่อื่น ไม่ว่ากันหรอก หรือบางคนอยากได้วัตถุมงคล จะมา อยากได้วัตถุมงคลที่นี่ ไม่ได้ผลหรอก เพราะหลวงพ่อไม่ได้ค่อยสร้างหรอก เคยให้เขาสร้างครั้งเดียว ตอนยกช่อฟ้ามีรุ่นเดียว นอกนั้นไม่ใช่หรอก นอกนั้นก็ประเภทคนอื่นสร้างเอามาถวาย เอามาถวายหลวงพ่อก็แจก หลวงพ่อจะเอาไว้ทำอะไรเยอะแยะ ก็แจกๆ ไป พวกเราเอาไปเล่นกัน ไปซื้อไปขายกันแพงๆ รุ่นนี้หลวงพ่อปราโมทย์เสก เสกหรือเปล่าเรายังไม่รู้เลย บางอย่างเอามาให้เรา เราก็เห็น ก็มีอยู่แค่นี้ อ้าว เวลาเอาไปโฆษณาขายมีเยอะแยะเลย ไม่รู้จักหมดจักสิ้น

เพราะฉะนั้นธรรมะสำคัญกว่า วัตถุมงคลเอาไว้ให้คนที่เขาอินทรีย์อ่อนๆ เขาเอาไว้ยึดถือ เขามีวัตถุมงคล แล้วไม่ไปทำละเมิดศีล 5 เอ้า ก็ใช้ได้แล้ว แค่นั้น อันนี้มันเป็นกลุ่มหนึ่ง ถ้าอยากพ้นทุกข์ก็ตั้งอกตั้งใจ ทำสมถกรรมฐาน ทำวิปัสสนากรรมฐาน ทำไป แล้วเราจะได้พระตัวจริง พระที่เป็นวัตถุมันของข้างนอก ไม่นานมันก็กลายเป็นของคนอื่น ส่วนพระในใจเรา จะอยู่กับเราข้ามภพข้ามชาติ ถ้าเราได้โสดาบัน ชาติหน้าเราก็ไม่ต้องไปสตาร์ตใหม่แล้ว ก็ต่อยอดได้เลย

ฉะนั้นเวลาผู้หลักผู้ใหญ่จะมานิมนต์หลวงพ่อไปเสกพระ หลวงพ่อก็บอกตรงๆ เลยว่า หลวงพ่อทำไม่เป็นหรอก ไม่เคยเรียนมา เรียนมาแต่กรรมฐาน ไม่เคยเรียนเสกวัตถุมงคล เขียนเลข เขียนยันต์อะไร ทำไม่เป็นหรอก แล้วพระที่ท่านเก่งๆ เรื่องพวกนี้มีเยอะ อยากได้ก็ไปหาที่ท่านเหล่านั้น ส่วนพระที่สอนกรรมฐานเข้มข้นอย่างหลวงพ่อแทบไม่มี เพราะฉะนั้นสงวนหลวงพ่อ เอาไว้ทำงานตรงนี้ดีกว่า เอาหลวงพ่อไปยุ่งกับเรื่องวัตถุมงคลทั้งหลาย เสียเวลา

การปฏิบัติอย่ารีบร้อน รีบมันก็เหมือนเอาปุ๋ยไปใส่ต้นไม้เยอะเกินไป นึกถึงการปลูกต้นไม้ ที่หลวงพ่อเล่าวันนี้นะ ทำอย่างไรต้นไม้ของเราจะโต ไม่ตายเสียก่อน

หลวงพ่อเคยพูดให้พวกเราฟังมานานแล้ว หลวงพ่อสอนกรรมฐานพวกเรา หลวงพ่อมีความรู้สึกเหมือนตัวเองปลูกต้นไม้ ต้นไม้บางต้นมันไม่เหมาะ มันก็ตายไป บางต้นค่อยๆ โตช้าๆ บางต้นก็เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ ให้ร่มเงาของสัตว์อื่น ของนกกาได้มาอาศัย ต้นไม้ต้นไหนแข็งแรงเติบโตแล้ว หลวงพ่อก็ให้มาช่วยสอน มันเหมือนไม่ได้ต่างกับการทำสวนจริงๆ งานที่หลวงพ่อทำ มันเป็นงานปลูกต้นไม้ ที่นี่เลยชื่อสวน

เราจะเป็นต้นไม้ชนิดไหน ดูเอา ถ้าเป็นพวกคิดแต่จะทำบุญอย่างเดียว ที่นี่ไม่เหมาะ ถ้าคิดจะพ้นทุกข์ที่นี่เหมาะ ถ้าต้องการอยู่กับโลก อย่างมีความทุกข์น้อยๆ มาที่นี่ก็ได้ ถ้าต้องการรวย รวยแบบที่พระพุทธเจ้าสอน ที่นี่ก็มีสอน สอน รู้จักขยันทำมาหากิน รู้จักเก็บออม รู้จัก “อุ อา กะ สะ” (อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตา สมชีวิตา) ดำรงชีวิตพอดีๆ รู้จักคบคน ถ้าอย่างนี้ ถ้าจะรวยอย่างนี้ ที่นี่มีสอนให้เราทำ อันนี้เรื่องของธรรมะ แต่ถ้าจะรวยโดยการไปขอเทวดา ขอต้นตะเคียน ขออะไร ที่นี่ไม่มี ตะเคียนที่ปลูกไว้ ยังต้นไม่โตพอที่เราจะมาขูดเล่น เดี๋ยวตายหมด

การที่ปลูกต้นไม้แล้วเห็นต้นไม้เติบโต ก็ดีใจกับต้นไม้ บางต้นตายไป หลวงพ่อก็เฉยๆ อุเบกขา ธรรมดา ไม่ใช่ทุกคนจะบรรลุมรรคผลในชีวิตนี้หรอก มันมีเงื่อนไขหลายอย่าง แต่อย่างน้อยถ้าตั้งเป้าหมายถูกต้องแล้ว การเดินทางจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง ถ้าเป้าหมายเราจะพ้นทุกข์ หลักจริงๆ ก็คือเรื่องของอริยสัจ ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ

การจะรู้ทุกข์จะทำอย่างไร นั่นก็คือการทำสติปัฏฐาน ก็จะรู้ทุกข์ได้ ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ เดิน เดินช้าๆ ไม่เป็นไร แต่เดินไม่หยุด เหนื่อยก็พักนิดหน่อย พอมีแรงแล้วเดินต่อ บางคนก็เดินได้เร็ว บางคนก็เดินได้ช้า เป็นเรื่องธรรมดา ว่ากันไม่ได้ ฟังแล้วเครียดไหม เราเป็นต้นไม้ชนิดไหน

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
16 มีนาคม 2567